http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนกันยายน 2560)

 

สมคิดกดดันสศช.ปรับจีดีพี เงินเริ่มไหลออกฉุดบาทอ่อน ธปท.ชี้ศก.ยังฟื้นแบบกระจุก

"สมคิด" ส่งสัญญาณรัฐบาลอยากเห็น สศช.ปรับเพิ่มจีดีพีไทยปีนี้ หลังหลายหน่วยงานเริ่มขยับขึ้น ธปท.แจงดอลลาร์กลับมาแข็งค่า ดึงเงินทุนนอกไหลออกจากไทย ฉุดบาทอ่อนค่าลง ชี้เป็นเรื่องที่ดี มองเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวกระจุก กลุ่มผู้มีรายได้น้อยยังไม่ได้รับผลดีเต็มที่

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในงาน "สานพลังบริษัทจดทะเบียนเพื่อสังคมไทยยั่งยืน" ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า รัฐบาลมีความคาดหวังว่าสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะมีการปรับเพิ่มประมาณการอัตราขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปี 2560

หลังจากที่ผ่านมา กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับจีดีพีปีนี้ขึ้นไปแล้ว โดยได้รับแรงหนุนจากภาคการส่งออก การท่องเที่ยวที่เติบโตดีต่อเนื่อง และเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีกว่าที่คาด

"ในหลายๆ ภาคส่วนได้มีการปรับจีดีพีขึ้น แต่ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่ปรับทีเดียวเลย ปรับทำไม 2-3 รอบ แต่ตอนนี้รัฐบาลก็ไม่ได้ห่วงเรื่องตัวเลขจีดีพีแล้ว เพราะมองว่ายังไงปีนี้ก็โต และสามารถโตได้ดีมากด้วย โดยสิ่งที่รัฐบาลต้องแก้ต่อไป คือความเหลื่อมล้ำและการกระจายรายได้ไปสู่ฐานล่างให้ได้มากขึ้น" นายสมคิดกล่าว

สำหรับกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดจะเดินทางเยือนตามคำเชิญของผู้นำสหรัฐ ระหว่างวันที่ 2-4 ต.ค.นี้ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดมิติใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐ ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตจะส่งผลดีต่อการค้าและการลงทุน รวมถึงจะช่วยให้รัฐบาลทำงานได้ดีขึ้นอีกด้วย

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีการอ่อนค่าลงของเงินบาท โดยเคลื่อนไหวประมาณ 33.39 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากก่อนหน้านี้อยู่ที่ 33.19 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ว่าขณะนี้เงินดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่ามากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ ธปท.ไม่ได้รู้สึกกังวลหากจะมีเงินทุนไหลออกบางส่วน โดยเฉพาะหากเป็นเงินทุนจากต่างชาติที่เข้าเก็งกำไร มองว่าหากมีการไหลออกบ้าง ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี

“ธปท.มองว่าการไหลเข้าของเงินทุนในระยะนี้อาจจะน้อยลงบ้าง แต่ยังคงเห็นการไหลเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตรอยู่ เนื่องจากนักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อพื้นฐานเศรษฐกิจของไทย” นายดอนกล่าว

ส่วนกรณีที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับเพิ่มประมาณการจีดีพีปีนี้เป็น 3.8% จากเดิม 3.5% ถือเป็นอัตราที่ไม่น้อย และสอดคล้องกับข้อมูลของ สศช.ที่ประกาศจีดีพีไตรมาส 2 ปี 2560 มีอัตราการเติบโตที่ดี รวมทั้งภาพรวมเศรษฐกิจในเดือน ก.ค.-ส.ค.ที่ผ่านมา ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะเป็นการขยายตัวที่ไม่ทั่วถึง เนื่องจากกลุ่มผู้มีรายได้น้อยยังไม่ได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

สำหรับเศรษฐกิจไทยเดือน ส.ค.ยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยการส่งออกสินค้าขยายตัว 15.8% ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมยกเว้นยานยนต์ โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตดีขึ้นในอุตสาหกรรมเพื่อส่งออก ทำให้การผลิตขยายตัว 3.7% ส่วนการท่องเที่ยวขยายตัวที่ 8.7% อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามการใช้จ่ายภาคเอกชนที่ยังชะลอตัว ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง หรือประมาณต้นปี 2561 จึงจะเริ่มดีขึ้น.

จาก http://www.thaipost.net   วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2560

รมว.กษ.ค้านรัฐเก็บภาษีค่าน้ำทำการเกษตร ชี้อาชีพเกษตรเสี่ยงสูง

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงกรณีรัฐบาลเตรียมเก็บภาษีค่าน้ำทำการเกษตร ว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ อาชีพเกษตรกรมีความเสี่ยงสูง ทั้งจากภัยธรรมชาติ โรคระบาด และมีต้นทุนทำเกษตรที่สูงอยู่แล้ว หากมีการเก็บค่าน้ำทำเกษตรอีกจะทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงมากขึ้น

ด้านนายระวี รุ่งเรือง นายกสมาคมชาวนาไทย เปิดเผยว่า ไม่เห็นด้วยเช่นกัน เพราะจะกระทบต่อเกษตรกรทั้งประเทศ ชี้ว่าจะต้องทำประชาพิจารณ์อย่างทั่วถึงและเปิดกว้าง พร้อมระบุว่า ที่ผ่านมา ชาวนาและเกษตรกรยังไม่ทราบเรื่องการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าว

ส่วนนายเตชะพัฒน์ มะโนวงค์ เลขาธิการสภาลุ่มน้ำอิง เห็นว่า หากเป็นกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อธุรกิจและอุตสาหกรรม เห็นควรให้มีการจัดเก็บ แต่กลุ่มที่เกษตรกรรายย่อยทั่วไป เช่น ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ ที่ทำเพื่อยังชีพและบริโภคในครอบครัว และกลุ่มเกษตรกรควรได้รับการยกเว้นภาษีน้ำ

จาก https://mgronline.com  วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2560 

รับไม่ได้!! ชาวนาภาคกลางขู่วุ่นแน่ รัฐเก็บค่าน้ำทำการเกษตร ชี้ไม่ช่วยแล้วยังซ้ำเติม

วันที่ 29 กันยายน นายเสมียน หงส์โต ประธานเครือข่ายชาวนาภาคกลาง เปิดเผยว่า ขณะนี้แกนนำเครือข่ายชาวนาภาคกลางบางส่วนเริ่มเข้ามาพูดคุยเรื่องของการที่รัฐบาลจะมีการเก็บค่าน้ำกับเกษตรกรชาวนาแล้ว และเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ชาวนารับไม่ได้ เพราะเป็นการฆ่าชาวนาให้ตายแบบตรงๆ ไม่ได้ทางอ้อม 3 ปีที่ผ่านมาชาวนาก็ไม่รู้จะไปทางไหนถูกแล้ว ถามว่าถ้าจะเก็บค่าน้ำแล้วมีการบริการส่งน้ำให้ชาวนาจนถึงแปลงนาไหม ถ้าจะเก็บค่าน้ำต้องมีบริการที่เหมาะสมก็น่าจะเป็นไปได้ แต่ขณะนี้น้ำท่วมในแปลงนาหลายพันไร่ ชาวนาฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายผู้บริหารจัดการน้ำได้ไหม

 “ผมว่ารัฐบาลนี้ไม่ช่วยชาวนา ดันมาซ้ำเติมเสียอีกชาวนามีแต่ตายกับตายหรือเรียกให้สุภาพก็เสียชีวิตทั้งเป็นนั้นละถูกต้องที่สุดอย่างธุรกิจใหญ่ๆ ก็เก็บได้อย่างนั้นเห็นด้วยแต่ชาวนาที่เขาเรียกกันว่ากระดูกสันหลังของชาติผู้ผลิตข้าวกลับไม่ได้รับการเหลียวแลและยังถูกซ้ำเติมอีก ผมในฐานะประธานเครือข่ายชาวนาภาคกลางพร้อมสมาชิกพูดคุยเรื่องนี้ และถ้ายังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนคงต้องทำอะไรสักอย่าง เชื่อว่าศึกครั้งนี้ไม่ใช่เป็นการโยนหินถามทางอย่างแน่นอน และเรื่องนี้ต้องมีคำตอบที่ชัดเจนและเร่งด่วน ก่อนที่เรื่องราวจะบานปลายไปมากกว่านี้ ขณะนี้ชาวนาเริ่มรวมตัวเตรียมเคลื่อนไหวแล้วในขณะนี้”

นายพรม บุญมาช่วย ประธานสภาเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี เปิดเผยว่า สำหรับรัฐบาลนั้นเสนอเก็บค่าน้ำตาม ธุรกิจใหญ่ๆ นั้นเหมาะสม เพราะใช้น้ำมากกว่าปกติ แต่ชาวนานั้นใช้น้ำไม่มาก หมายถึงชาวนาจริงๆ ไม่ใช่นายทุนชาวนาที่ทำนาเป็นร้อยไร่ อย่างนี้ก็น่าจะจัดเก็บ เชื่อว่าไม่ใช่ชาวนาตัวจริง ส่วนตัวคิดว่ารัฐบาลก็ยังมีการสอบถามมาถึงเรื่องนี้ เราเองก็ชี้แจงไปแล้วถึงผลดีผลเสียเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าจะเป็นไปได้มากน้อยเพียงไร ส่วนตัวคิดว่าชาวนาจริงๆ ไม่ควรถูกจัดเก็บค่าน้ำและเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้อยู่แล้วเกี่ยวกับเรื่องนี้ ขอให้ดูๆ ไปก่อนดีกว่า อย่าเป็นกระต่ายตื่นตูม เชื่อว่ารัฐบาลต้องมีทางออกที่สวยหรูไว้ให้ชาวนาเสมอ

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2560 

เกษตรฯ วางเป้าปี 61 ขับเคลื่อนนวัตกรรมผ่านงานวิจัย มุ่งเกษตร 4.0

  กรมวิชาการเกษตร สนองนโยบายกระทรวงเกษตรฯ เร่งขับเคลื่อนนวัตกรรมงานวิจัยพัฒนาพืช และเทคโนโลยี แบบครบวงจร พร้อมก้าวสู่เกษตร 4.0

วันนี้ (29 ก.ย.) พล.อ.ประสาท สุขเกษตร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในปี 2560 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายให้เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน โดยเปรียบพื้นที่หรือทรัพยากรของประเทศที่มีจำกัดจำนวน 149 ล้านไร่ เป็นกระดาษ A4 โดยพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงบูรณาการงานสู่ 13 นโยบายหลัก นำนวัตกรรมเทคโนโลยีและองค์ความรู้เข้ามาช่วยขับเคลื่อนเพื่อไปสู่เป้าหมายปลายทาง คือ คุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น หนี้สินลดลง และมีความภาคภูมิใจในอาชีพเกษตรกรสร้างรายได้หลักให้ประเทศ

สำหรับในปี 2561 กระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดแผนบูรณาการแผนงานโครงการสำคัญที่จะดำเนินการให้เห็นผลชัดเจนมากขึ้น 15 แผนงานหลัก ได้แก่ 1.การบริหารจัดการน้ำ 2.เกษตรแปลงใหญ่ 3.ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) 4.การบริหารพื้นที่เกษตรโดย Agri map 5.การพัฒนาเกษตรกรสู่ Smart Farmer 6.พัฒนาสถาบันเกษตรกรในรูปแบบประชารัฐ 7.ธนาคารสินค้าเกษตร 8.เกษตรอินทรีย์ 9.เกษตรทฤษฏีใหม่ 10.การแก้ปัญหาประมงไอยูยู 11.พัฒนาศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว 12.การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และการใช้เครื่องจักรกลทดแทนแรงงาน 13.ตลาดสินค้าเกษตร 14.การพัฒนาสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน 15.การจัดการหนี้สินสมาชิกสหกรณ์ โดยทั้ง 15 แผนงานจะมีหน่วยงานหลักและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการทำงานร่วมกัน และมีการประเมินผลความสำเร็จในแต่ละช่วงเวลาโครงการ

เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า นอกจากนี้ ปี 2561 ยังได้กำหนดให้เป็นปีแห่งการยกระดับคนและการบริหารจั ดการมาตรฐาน สินค้าเกษตรสู่เกษตร 4.0 โดยมีเป้าหมายบริหารจัดการด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี Demand และSupply สมดุล มูลค่าสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นทั้งด้านคุณภาพ ราคา และจำนวนผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป ดังนั้นในฐานะที่กรมวิชาการเกษตรเป็ นหน่วยงานวิจัยหลักของกระทรวงเกษตรฯ ถ้าจะให้บรรลุเป้าหมายสู่เกษตร 4.0 ต้องทำงานวิจัยและพัฒนาด้านพืชในลักษณะกระบวนการผลิตแบบครบวงจรตลอด Supply Chain เพื่อให้ได้ผลงานวิจัยที่เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ให้ได้ผลผลิตและผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดโดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยใช้เทคโนโลยีนวัตกรรม องค์ความรู้ ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาบริหารจัดการ (Smart Production) และอีกส่วนหนึ่งที่จะต้องพัฒนาคือ นักวิจัย ซึ่งจะต้องพัฒนาตนเองเป็นนักคิด นักสร้างสรรค์ ที่รอบรู้ ปราดเปรื่องโดยเฉพาะต้องเป็น Smart

 Researcher รวมทั้งต้องมี Marketing Mind เพื่อสร้างผลงานวิจัยและขับเคลื่อนผลงานโดยมุ่งเน้นมูลค่าสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น ทั้งคุณภาพ ราคา และจำนวนผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปโดยใช้วิทยาการการผลิตการเกษตรสมัยใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างรายได้เพิ่ม เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและสังคมหรือชุมชนให้นำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

ทั้งนี้ งานวิจัยและพัฒนาปี 2561–2564 กรมวิชาการเกษตรภายใต้ Smart Agricultural Curve มี 19 โครงการ ได้แก่ การวิจัยและพัฒนาด้านพันธุ์และเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืช โดยผลิตพันธุ์พืชใหม่ที่ให้ผลผลิตสูงมีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการปรับปรุงพันธุ์ พัฒนาระบบการผลิตพืชอย่างยั่งยืนบนพื ้นที่สูงเขาหัวโล้นภูทับเบิก และเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่วิจัยเทคโนโลยีการจัดการดิน ปุ๋ย น้ำ อย่างเหมาะสมตามสมรรถนะของดิน เกษตรอินทรีย์ วิจัยและพัฒนาพืชท้องถิ่น วิจัยและพัฒนาเกษตรเฉพาะพื้นที่เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน อนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ วิจัยเทคโนโลยีด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์/หน่อพันธุ์พืชตามมาตรฐาน เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว การแปรรูปและบรรจุภัณฑ์ วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ วิจัยและพัฒนาระบบสารสนเทศสู่เกษตรดิจิทัล Climate Change วิจัยและพัฒนาชีวภัณฑ์เชิงพาณิชย์ ระบบการตรวจสอบรับรองมาตรฐานสินค้าพืช มาตรการสุขอนามัยพืชตามมาตรฐานสากล การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อลดการใช้สารเคมี วิจัยและพัฒนายางตามพระราชบัญญัติควบคุมยาง และวิจัยและพัฒนาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช

 “การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการในปี 2561 ตามนโยบายดังกล่าว จะเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาการเกษตรเร่งเครื่องสู่เกษตร 4.0 อย่างต่อเนื่องในปี 2562-2564 ตามแผนขับเคลื่อน Smart Agricultural Curve สอดรับกับยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ ระยะ 20 ปี และแผนพัฒนาการเกษตร ระยะ 5 ปี เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเพิ่มรายได้เฉลี่ยของเกษตรกรถึง 390,000 บาท/คน/ปี เป็ น Smart Farmer และ GDP ภาคเกษตรต้องเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 3% ต่อปี ตาม Roadmap ที่ได้กำหนดไว้ ทั้งนี้ ต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการดำเนินงานกับทุกภาคส่วนแบบประชารัฐที่จะทำให้ภาคเกษตรไทยเกิดการพัฒนาไปสู่เป้าหมายต่อไป” พล.อ.ประสาท กล่าว

จาก http://www.siamrath.co.th วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2560 

เงินบาทฟื้นตัวเล็กน้อยหลังอ่อนค่าสุดรอบ 2 เดือน ขณะที่หุ้นไทยผันผวนช่วงปลายสัปดาห์

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ (25-29 ก.ย. 2560) เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 2 เดือนที่ 33.48 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนจะฟื้นตัวขึ้นได้เล็กน้อยช่วงปลายสัปดาห์ โดยเงินบาทเผชิญแรงขายอย่างต่อเนื่องท่ามกลางปัจจัยหนุนของเงินดอลลาร์ จากถ้อยแถลงของประธานเฟดที่ระบุย้ำความจำเป็นของเฟดที่จะต้องทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ย แม้ทิศทางเงินเฟ้อจะไม่แน่นอน

นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ ยังมีปัจจัยบวกจากการเปิดเผยแผนปฏิรูปภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ เงินบาททยอยอ่อนค่าสอดคล้องกับแรงขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในตลาดพันธบัตรไทย ก่อนจะสามารถฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ เพื่อปรับโพสิชันก่อนสิ้นไตรมาสของนักลงทุน และอาจจะมีแรงขายเงินดอลลาร์ ของผู้ส่งออกด้วยเช่นกัน สำหรับในวันศุกร์ (29 ก.ย.) เงินบาทอยู่ที่ 33.32 บาทต่อดอลลาร์ จากระดับ 33.10 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (22 ก.ย.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (2-6 ต.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.25-33.55 บาทต่อดอลลาร์ โดยจุดสนใจของตลาดน่าจะอยู่ที่ถ้อยแถลงของประธานเฟดและเจ้าหน้าที่เฟดอื่นๆ รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญในระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร การจ้างงานภาคเอกชน ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนก.ย. และยอดสั่งซื้อของโรงงาน รายจ่ายด้านการก่อสร้างเดือนส.ค. นอกจากนี้ ตลาดอาจรอติดตามตัวเลขดัชนี PMI เดือนก.ย. ของประเทศชั้นนำอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

ดัชนีตลาดหุ้นไทยค่อนข้างผันผวนช่วงปลายสัปดาห์ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,673.16 เพิ่มขึ้น 0.85% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลงประมาณ 11.13% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 56,833.86 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ปิดที่ 570.66 จุด ลดลง 0.72% จากสัปดาห์ก่อน

ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นในช่วงต้น-กลางสัปดาห์ เนื่องจากนักลงทุนคาดการณ์ว่าผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนสำหรับไตรมาส 3/2560 ตลอดจนปี 2561 จะออกมาดี ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ช่วงปลายสัปดาห์ SET ค่อนข้างผันผวน แต่ปิดขยับขึ้นได้ในวันศุกร์ ตามแรงซื้อหุ้นของกลุ่มสถาบัน แม้ว่านักลงทุนต่างชาติจะขายสุทธิหุ้นไทยเพื่อปรับโพสิชันก่อนสิ้นไตรมาส ประกอบกับเงินดอลลาร์ ก็ได้รับแรงหนุนภายหลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ เปิดเผยมาตรการปฏิรูปภาษีสหรัฐ ด้วยเช่นกัน

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (2-6 ต.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,660 และ 1,645 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,680 และ 1,690 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ เดือนก.ย. ตลอดจนดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยเดือนก.ย.

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ สำคัญ ได้แก่ ดัชนี ISM ภาคการผลิตและบริการเดือนก.ย. และข้อมูลการค้าระหว่างประเทศเดือนส.ค. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ อาทิ รายงานการประชุมของธนาคารกลางยุโรป ผลการประชุมนโยบายการเงินออสเตรเลีย และดัชนี PMI ภาคการผลิตของประเทศแถบยุโรปและญี่ปุ่นเดือนก.ย.

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2560 

ก.อุตฯเร่งเคลียร์ชาวไร่-โรงงาน "สรุปกติกาลอยตัวราคาน้ำตาล" 

กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งสรุปความชัดเจนแนวทางปฏิบัติการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายหลังใกล้เส้นตาย 1 ธันวาคมนี้แต่หลายประเด็นยังไม่ตกผลึกโดยเฉพาะการยกเลิกเก็บเงิน 5 บาท

          แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ได้เร่งหารือชาวไร่อ้อย และโรงงานเพื่อ สรุปแนวทางการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายให้ทันตามกำหนดที่วางไว้วันที่ 1 ธันวาคมนี้โดยเฉพาะการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้น ปี 60/61 ที่ปกติจะต้องประกาศก่อนการเปิดหีบในช่วงสิ้นปี

          "กติกาเพื่อนำไปสู่การลอยตัวราคาน้ำตาลทรายขณะนี้ยังไม่ตกผลึก เพราะมีหลายเรื่องมีความเกี่ยวข้องกันและการที่กติกายังไม่ชัดเจนทำให้ผู้ซื้อชะลอการซื้อน้ำตาลเพื่อรอดูท่าทีของไทย"แหล่งข่าวกล่าว

          ทั้งนี้ ประเด็นที่ต้องชัดเจนคือการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายที่กำหนด ให้ราคาขายปลีกสะท้อนกลไกตลาดโลกจะต้องถอดเงินจากการขึ้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงาน 5 บาท/กิโลกรัม (กก.) ที่ปัจจุบันเงินส่วนนี้เป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่กำหนดให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) นำรายได้ดังกล่าวชำระหนี้เงินกู้เพิ่มค่าอ้อยในช่วงที่ผ่านมาซึ่งหากถอด 5 บาท/กก.หนี้กองทุนฯที่เหลือ 6,000 ล้านบาทจะนำเงินส่วนใดมาใช้หนี้

          นอกจากนี้ ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกตกต่ำเฉลี่ย 14 เซ็นต์ต่อปอนด์ ซึ่งจะมีผลต่อการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นฯให้ลดต่ำลงอีกโดยมีทิศทางจะไม่สูงเกิน 800 บาท/ตัน ซึ่งหลักการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายแล้วก็จะไม่สามารถกู้เงินเพิ่มค่าอ้อยได้อีกเช่นอดีตที่ผ่านมา ชาวไร่อ้อยต้องยอมรับ ในจุดนี้

          "กองทุนอ้อยฯ ยังคงมีหนี้จากการกู้เงินเพิ่มค่าอ้อย 160 บาทต่อตัน กับแบงก์กรุงไทยตามมติครม.โดยทยอยนำเงิน 5 บาท มาชำระหนี้ทุกเดือน และธันวาคมจะเหลือประมาณ 6,000 ล้านบาท และกำหนดจะชำระหนี้ ครบเดือนมิถุนายน 2561 ถ้าถอด 5 บาทออกจะเอารายได้จากไหนชำระหนี้ซึ่งอาจต้องกำหนดชำระหนี้จนครบหรือจะต้องตั้งงบประมาณมาใช้หนี้เหล่านี้ต้องหาข้อยุติ" แหล่งข่าวกล่าว.

จาก https://mgronline.com  วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2560 

ธปท.ชี้ค่าเงินบาทยังผันผวน   

          พรสวรรค์ นันทะ

          แม้ว่าทิศทางค่าเงินบาทในช่วงนี้จะ แข็งค่าชะลอลง ทำให้สบายขึ้นได้บ้าง โดยปรับอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ระดับ 33.30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากก่อนหน้านี้ที่แข็งค่า 7-8% เป็นอันดับหนึ่งของสกุลในภูมิภาค เกือบจะหลุดไปแตะระดับ 32 บาท บวกกับยังมีความผันผวนต่อเนื่อง โดยต้นปีถึงปัจจุบันค่าเฉลี่ยความผันผวนของค่าเงินบาทอยู่ที่ 3.45% ทำให้หน่วยงานภาครัฐพยายามหาช่องทางส่งเสริมให้เอสเอ็มอีเข้าถึงเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงค่าเงินให้มากขึ้น

          วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภาวะที่ VUCA ที่คาดเดายาก มีความไม่แน่นอน ซับซ้อน และคลุมเครือ มีอยู่ต่อไป ดังนั้น ความผันผวนของค่าเงินก็จะมีอยู่ต่อไป และผันผวนมากขึ้นในบางช่วงเวลา การป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนจึงจำเป็นสำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับค่าเงิน ซึ่งผู้ประกอบการในธุรกิจรายใหญ่เข้าถึงอยู่แล้ว แต่รายย่อยการเข้าถึงเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงยังเป็นความท้าทาย ทำให้ภาครัฐต้องการสร้างหน่วยงานมาดูแลเรื่องนี้

          ทั้งนี้ ธปท.ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) สมาคมธนาคารไทย และธนาคารพาณิชย์ที่ร่วมโครงการ 8 แห่ง ประกอบด้วย กรุงเทพ กรุงไทย กรุงศรีอยุธยา กสิกรไทย ซีไอเอ็มบี ไทย ทหารไทย ไทยพาณิชย์ และยูโอบี เปิดโครงการภายใต้มาตรการเพิ่มขีดความสามารถและส่งเสริมความรู้ให้กับเอสเอ็มอี

          เฉพาะรายที่เป็นสมาชิกกับ สสว.ที่มีประมาณ 1.7 หมื่นราย ให้เข้าถึงเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน ด้วยเครื่องมือทางการเงินประเภท FX Options

          วชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวว่า สาเหตุที่ให้สิทธิค่าธรรมเนียมได้รายละ 3 หมื่นบาท/ราย ซึ่งน่าจะเพียงพอในการให้กับผู้ประกอบการรายย่อย เพราะเป็นวงเงิน 1 แสนดอลลาร์ หรือประมาณ 3 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นค่า FX Options ในช่วง 3 เดือน ประมาณ 3 หมื่นบาท คิดเป็นต้นทุนประมาณ 1%

          จึงคาดว่างบประมาณที่ภาครัฐให้มาประมาณ 500 ล้านบาท จะเพียงพอ และคนที่ใช้สิทธิจะไม่ซ้ำกัน เพราะ ธสน.จะคัดกรองลูกค้าที่ธนาคารส่งเข้ามาไม่ให้ซ้ำรายกันอยู่แล้ว คาดว่าผู้ประกอบการรายเล็กจะเข้ามาทำมากขึ้น จากปัจจุบันที่สัดส่วนของผู้ส่งออกและนำเข้าทำกันเพียง 20% ของจำนวนผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้าทั้งระบบ

          "ในช่วงนี้ถึงดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น แต่ยังมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐ และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงของเรา ฉะนั้น โครงการนี้ยังดำเนินต่อเพราะเราอยากให้ผู้ประกอบการป้องกันค่าเงินไว้ตลอดเวลา เพราะค่าเงินจะขึ้นหรือลงก็ได้ ไม่ว่าผู้ส่งออกหรือนำเข้า บวกกับถ้าเข้าใจแล้วค่าเงินจะเป็นอย่างไรก็จะได้ไม่กังวล ไม่ตื่นตระหนก ค่าเงินมีโอกาสผันผวนได้ตลอด แต่การส่งเสริมให้ป้องกันความเสี่ยงค่าเงินครั้งนี้ จะไม่ไปซ้ำเติมหรือเป็นแรงกดดันค่าเงินบาทแม้จะมาทำกันมากขึ้น เพราะส่งเสริมให้ทำทั้ง ส่งออกและนำเข้า" วชิรา กล่าว

          ด้าน พิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธสน. กล่าวว่า ปัจจุบันลูกค้าของธนาคารมีอัตราการป้องกันความเสี่ยงค่าเงินต่ำมาก เหลือผู้ประกอบการประมาณ 50-60% ยังไม่ป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน เพราะส่วนใหญ่คิดว่าเป็นต้นทุนจึงไม่ทำ แต่โครงการนี้น่าจะทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กเข้ามาทำมากขึ้น

          ขณะที่ ปรีดี ดาวฉาย ประธานกรรมการ สมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการจะช่วยอบรมให้ความรู้เรื่องการบริหารความเสี่ยงค่าเงิน และคิดค่าธรรมเนียมในระดับที่เท่าต้นทุน ซึ่งค่าธรรมเนียมส่วนนี้ทาง สสว.จะเป็นผู้ออกให้ ผู้ประกอบการที่ร่วมโครงการไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายใดๆ แต่มีเงื่อนไขว่าก่อนจะใช้สิทธิ FX Options ได้จะต้องผ่านการอบรมเรื่องการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนก่อน ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จะปรับคาดการณ์จีดีพีขึ้นมากกว่า 3.5% ซึ่งภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตได้ดีขึ้นจะทำให้สินเชื่อของธุรกิจธนาคารเติบโตขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกและการท่องเที่ยว

          สำหรับเอสเอ็มอีที่เข้าข่ายตามคุณสมบัติของโครงการ คือมีรายได้ไม่เกิน 400 ล้านบาท/ปี โดยจะพิจารณาเอสเอ็มอีที่มีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท/ปีก่อน เพื่อให้เข้าอบรมสัมมนาให้ความรู้เรื่องการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และเรื่องอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ เช่น การบริหารความเสี่ยงด้านการค้าระหว่างประเทศ หลักบัญชี และภาษีเบื้องต้น ฯลฯ จากนั้นก็ได้สิทธิทดลองซื้อ FX Options ภายใต้วงเงิน 3 หมื่นบาท/กิจการ

          โครงการนี้เปิดให้ผู้ประกอบการสามารถใช้สิทธิได้ถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2561 ผ่านธนาคารพาณิชย์ที่ร่วมโครงการทั้ง 8 แห่ง และในระยะยาวจะขยายต่อไปที่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มจัดงานสัมมนาครั้งแรกได้ในเดือน พ.ย.ปีนี้

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2560 

เขื่อนลำตะคองระดับน้ำวิกฤติ l เร่งขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มปริมาณกักเก็บ

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำในเขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา ที่ยังมีปริมาณน้อยกว่าเขื่อนอื่นๆ ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บ พร้อมกับเขื่อนต่างๆ ทั่วประเทศ ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ เขื่อนคลองสียัด เขื่อนพระปรง เขื่อนแก่งกระจานและเขื่อนปราณบุรี โดยกรมฝนหลวงฯ ได้วางเป้าหมายในการเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนให้ไม่น้อยกว่า 20% จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ 10% ซึ่งทำให้ต้องระดมทุกภาคส่วนมาช่วยและต้องทำฝนในส่วนของเมฆชุดหลังฝนด้วย เนื่องจากหลังจากฝนตกแต่ละครั้ง จะมีเมฆอีกชุดตามมาสามารถทำฝนได้อีกครั้ง ทั้งนี้ ผลการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนลำตะคองที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม - 18 กันยายน 2560 กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนลำตะคองไปแล้วทั้งสิ้นจำนวน 102 วัน มีฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวงคิดเป็นร้อยละ 93 จำนวน 331 เที่ยวบิน จำนวนสารฝนหลวง 350.10 ตัน พลุแคลเซียมคลอไรด์ 21 นัด ซึ่งยังมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนที่ไม่เพียงพอต่อการใช้ในฤดูแล้ง ดังนั้น กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงเตรียมการวางแผนเติมน้ำในเขื่อนลำตะคองอย่างต่อเนื่องในเดือนกันยายนนี้ เพื่อให้แหล่งน้ำสำคัญของการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจหลากหลายชนิด ได้แก่ ข้าวนาปี มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน และพืชสวน และการใช้น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตรของจังหวัดนครราชสีมาเพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร

สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี 2560 กรมฝนหลวงฯตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม ถึง 18 กันยายน 2560 มีการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 182 วัน มีฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวงคิดเป็น 97.2 % ปฏิบัติการฝนหลวงจำนวน 3,049 เที่ยวบิน (4,412:32 ชั่วโมงบิน) จังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 56 จังหวัด ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บให้กับเขื่อนต่างๆ ทั่วประเทศจำนวน 10 เขื่อน ที่มีปริมาณน้ำกักเก็บน้อยกว่าตั้งแต่ 3 มี.ค.2560-18 ก.ย.2560 พบว่าฝนตกมีน้ำไหลเข้าเขื่อนภูมิพล 1,694 ล้านลบ.ม. เขื่อนแม่กวงอุดมธารา 40 ล้านลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ 341 ล้านลบ.ม.เขื่อนศรีนครินทร์ 854 ล้านลบ.ม. เขื่อนวชิราลงกรณ์ 457 ล้านลบ.ม.เขื่อนคลองสียัด 63.74ล้านลบ.ม. เขื่อนพระปรง 7.8 ล้านลบ.ม. เขื่อนแก่งกระจาน 73 ล้านลบ.ม. เขื่อนปราณบุรี 17.13ล้านลบ.ม. และ

 เขื่อนลำตะคอง 28 ล้านลบ.ม. เขื่อนลำพระเพลิง 19 ล้านลบ.ม.

จาก http://www.naewna.com วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2560 

จ่อเก็บเงินค่าใช้น้ำเกษตร ท่องเที่ยว-อุตสาหกรรม

อธิบดีกรมฯน้ำ เปิดแถลงแจงร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ  เผยการจัดสรรน้ำ 3 ประเภท เรียกเก็บเฉพาะการใช้น้ำด้านเกษตร-ท่องเที่ยว-อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ส่วนใช้เพื่อดำรงชีพยกเว้น มีผลบังคับใช้ ต.ค.-พ.ย.นี้ พร้อมออกกฎหมายลูกและรับฟังความเห็น ปชช. ก่อนออกกฎกระทรวงต่อไป

เมื่อวันที่ 28 ก.ย 60 นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในการ จัดแถลงข่าวการจัดทำร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ....ว่า ร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำที่รัฐบาลผลักดันอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในขณะนี้ หากมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายจะอยู่ภายใต้คณะกรรมการทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ(กนช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน 

ทั้งนี้หลักของกฎหมายได้กำหนดประเภทการใช้น้ำไว้ 3 ประเภท คือ

ประเภทที่ 1 ใช้นํ้าเพื่อการดำรงชีพ ไม่ต้องเสียค่าใช้นํ้า ประเภทที่ 2 ใช้นํ้าด้านการเกษตร เลี้ยงสัตว์เพื่อการพาณิชย์ เก็บค่าน้ำไม่เกิน 50 สตางค์ต่อลบ.ม.               

ด้านการท่องเที่ยว โรงแรม สถานที่พักผ่อน ร้านอาหาร เก็บค่าน้ำ 1-3 บาทต่อลบ.ม.               

ด้านธุรกิจสนามกอล์ฟ การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปาสัมปทาน เก็บค่าน้ำไม่เกิน 3 บาทต่อลบ.ม. ประเภทที่ 3 สำหรับภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ การผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ และกิจการอื่นๆ ที่ใช้น้ำในปริมาณมากตามมติของกนช. เก็บค่าน้ำไม่ต่ำกว่า 3 บาทต่อลบ.ม.

ทั้งนี้คาดว่าในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้  จากนั้นภายใน 180 วันจะมีการออกกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ โดยจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนทั่วประเทศอีกครั้งโดยเฉพาะเรื่องอัตราการเก็บค่าน้ำ ก่อนจะออกเป็นกฎกระทรวง

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2560 

โลกเหวี่ยงแรง'ธปท.'จับมือส.ธนาคารช่วยSMEทำเครื่องมือป้องเสี่ยงค่าเงิน 

           นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภายใต้มาตรการเพิ่มขีดความสามารถและส่งเสริมความรู้ให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน กับกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง เปิดตัวโครงการ เพราะตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันความเสี่ยง โดยใช้เครื่องมือทางการเงินสิทธิซื้อขายเงินตราต่างประเทศ (FX Option) เนื่องจากปัจจุบันโลกมีความผันผวนมากขึ้น มีความไม่แน่นอนสูงเพิ่มขึ้น หรือมีลักษณะเป็นวูค่า (VUCA) ส่งผลกระทบต่อตลาดเงิน ตลาดทุน และอัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้นการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเชื่อว่าเครื่องมือ FX Option นี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีให้ตระหนักและป้องกันความเสี่ยงจากปัจจัยต่างๆ ได้มากขึ้น

          นายปรีดี ดาวฉาย ประธานกรรมการ สมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า โครงการนี้จะจัดอบรมสัมมนาให้ความรู้เรื่องการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และเรื่องอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ เช่น การบริหารความเสี่ยงด้านการค้าระหว่างประเทศ หลักบัญชีและภาษีเบื้องต้น โดยจะให้สิทธิทดลองซื้อ FX Option ภายใต้วงเงิน 30,000 บาท/กิจการ คาดว่าจะรองรับเอสเอ็มอีได้ 17,000 ราย

จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2560 

แบงก์ชาติร่วมกับ5หน่วยงานเปิดโครงการป้องค่าเงินให้SMEs 

          ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดตัวโครงการภายใต้มาตรการเพิ่มขีดความสามารถและส่งเสริมความรู้ให้กับ SMEs ในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน วงเงินเบื้องต้น  500 ล้านบาท  รองรับผู้ประกอบการ 1.7 หมื่นราย  คิดเป็นมูลค่าการส่งออกประมาณ 5 หมื่นล้าน ให้เอสเอ็มอีใช้ป้องกันความเสี่ยง 3 หมื่นบาทต่อราย

          ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และธนาคารพาณิชย์ที่ร่วมโครงการ 8 แห่ง เปิดตัวโครงการภายใต้มาตรการเพิ่มขีดความสามารถและส่งเสริมความรู้ให้กับ SMEs ในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อให้ความรู้แก่ SMEs เรื่องการป้องกันความเสี่ยงที่เกิดจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันความเสี่ยงฯ รวมทั้งเสริมสร้างประสบการณ์ในการป้องกันความเสี่ยงฯ ด้วยเครื่องมือทางการเงินประเภท FX Options แก่ SMEs

          ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป็นโครงการที่ให้ความรู้และเสริมความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการ นำเข้าส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี กระตุ้นให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญของการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งมี แนวโน้มผันผวนมากยิ่งขึ้น โครงการดังกล่าวเป็นการนำร่องให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงความเสี่ยงค่าเงินบาทและควรที่จะป้องกัน โดยมีวงเงินที่ให้ทดลองไว้แล้วในเบื้องต้น

          นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าวว่า SMEs ที่เข้าข่ายตามคุณสมบัติของโครงการ คือ SMEs ที่เป็นสมาชิก สสว. และมีรายได้ไม่เกิน 400 ล้านบาทต่อปี โดยจะพิจารณา SMEs ที่มีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อปี เป็นลำดับแรก จะได้เข้าอบรมสัมมนาให้ความรู้เรื่องการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และเรื่องอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ เช่น การบริหารความเสี่ยงด้านการค้าระหว่างประเทศ หลักบัญชีและภาษีเบื้องต้น เป็นต้น หลังการเข้าร่วมสัมมนา SMEs จะได้สิทธิ์ทดลองซื้อ FX Options ภายใต้วงเงิน 30,000 บาทต่อกิจการ คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 3 ล้านบาท ซึ่ง SMEs สามารถใช้บริการได้ภายใน 30 มิถุนายน 2561 ณ ธนาคารพาณิชย์ที่ร่วมโครงการแห่งใดแห่งหนึ่งตลอดโครงการ ซึ่งประมาณการว่าโครงการนี้จะสามารถรองรับ SMEs ได้ 17,000 ราย การสัมมนาภายใต้โครงการจะจัดขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด  คาดว่าจะเริ่มจัดงานสัมมนาครั้งแรกที่กรุงเทพฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2560

          "วงเงินเริ่มต้นที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้ 500 ล้านบาท ที่จะสามารถครอบคลุมมูลค่าการส่งออกประมาณ 5 หมื่นล้านบาท เป็นการประเมินในเบื้องต้น โดยที่ผ่านมามีผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีให้ความสำคัญป้องกันความเสี่ยงน้อยมาก เฉลี่ยผู้ส่งออกอย่างเดียว ทำประกันอัตราแลกเปลี่ยนเพียง 20% ของผู้ส่งออกทั้งหมด"

          ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ธ.กรุงเทพ ธ.กรุงไทย ธ.กรุงศรีอยุธยา ธ.กสิกรไทย ธ.ซีไอเอ็มบี ไทย ธ.ทหารไทย ธ.ไทยพาณิชย์ และ ธ.ยูโอบี.

จาก https://mgronline.com  วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2560 

เกษตรฯ วางเป้าปี 61 ขับเคลื่อนนวัตกรรมผ่านงานวิจัย มุ่งสู่เกษตร 4.0

กรมวิชาการเกษตร สนองนโยบายกระทรวงเกษตรฯ เร่งขับเคลื่อนนวัตกรรมงานวิจัยพัฒนาพืช และเทคโนโลยี แบบครบวงจร พร้อมก้าวส่เกษตร 4.0

วันนี้ (29 ก.ย.) พล.อ.ประสาท สุขเกษตร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในปี 2560 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายให้เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน โดยเปรียบพื้นที่หรือทรัพยากรของประเทศที่มีจำกัดจำนวน 149 ล้านไร่ เป็นกระดาษ A4 โดยพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงบูรณาการงานสู่ 13 นโยบายหลัก นำนวัตกรรมเทคโนโลยีและองค์ความรู้เข้ามาช่วยขับเคลื่อนเพื่อไปสู่เป้าหมายปลายทาง คือ คุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น หนี้สินลดลง และมีความภาคภูมิใจในอาชีพเกษตรกรสร้างรายได้หลักให้ประเทศ

สำหรับในปี 2561 กระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดแผนบูรณาการแผนงานโครงการสำคัญที่จะดำเนินการให้เห็นผลชัดเจนมากขึ้น 15 แผนงานหลัก ได้แก่ 1.การบริหารจัดการน้ำ 2.เกษตรแปลงใหญ่ 3.ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) 4.การบริหารพื้นที่เกษตรโดย Agri map 5.การพัฒนาเกษตรกรสู่ Smart Farmer 6.พัฒนาสถาบันเกษตรกรในรูปแบบประชารัฐ 7.ธนาคารสินค้าเกษตร 8.เกษตรอินทรีย์ 9.เกษตรทฤษฏีใหม่ 10.การแก้ปัญหาประมงไอยูยู 11.พัฒนาศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว 12.การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และการใช้เครื่องจักรกลทดแทนแรงงาน 13.ตลาดสินค้าเกษตร 14.การพัฒนาสินค้า

 เกษตรสู่มาตรฐาน 15.การจัดการหนี้สินสมาชิกสหกรณ์ โดยทั้ง 15 แผนงานจะมีหน่วยงานหลักและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการทำงานร่วมกัน และมีการประเมินผลความสำเร็จในแต่ละช่วงเวลาโครงการ

เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า นอกจากนี้ ปี 2561 ยังได้กำหนดให้เป็นปีแห่งการยกระดับคนและการบริหารจั ดการมาตรฐาน สินค้าเกษตรสู่เกษตร 4.0 โดยมีเป้าหมายบริหารจัดการด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี Demand และSupply สมดุล มูลค่าสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นทั้งด้านคุณภาพ ราคา และจำนวนผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป ดังนั้นในฐานะที่กรมวิชาการเกษตรเป็ นหน่วยงานวิจัยหลักของกระทรวงเกษตรฯ ถ้าจะให้บรรลุเป้าหมายสู่เกษตร 4.0 ต้องทำงานวิจัยและพัฒนาด้านพืชในลักษณะกระบวนการผลิตแบบครบวงจรตลอด Supply Chain เพื่อให้ได้ผลงานวิจัยที่เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ให้ได้ผลผลิตและผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดโดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยใช้เทคโนโลยีนวัตกรรม องค์ความรู้ ภายใต้

 ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาบริหารจัดการ (Smart Production) และอีกส่วนหนึ่งที่จะต้องพัฒนาคือ นักวิจัย ซึ่งจะต้องพัฒนาตนเองเป็นนักคิด นักสร้างสรรค์ ที่รอบรู้ ปราดเปรื่องโดยเฉพาะต้องเป็น Smart

 Researcher รวมทั้งต้องมี Marketing Mind เพื่อสร้างผลงานวิจัยและขับเคลื่อนผลงานโดยมุ่งเน้นมูลค่าสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น ทั้งคุณภาพ ราคา และจำนวนผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปโดยใช้วิทยาการการผลิตการเกษตรสมัยใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างรายได้เพิ่ม เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและสังคมหรือชุมชนให้นำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

ทั้งนี้ งานวิจัยและพัฒนาปี 2561–2564 กรมวิชาการเกษตรภายใต้ Smart Agricultural Curve มี 19 โครงการ ได้แก่ การวิจัยและพัฒนาด้านพันธุ์และเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืช โดยผลิตพันธุ์พืชใหม่ที่ให้ผลผลิตสูงมีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการปรับปรุงพันธุ์ พัฒนาระบบการผลิตพืชอย่างยั่งยืนบนพื ้นที่สูงเขาหัวโล้นภูทับเบิก และเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่วิจัยเทคโนโลยีการจัดการดิน ปุ๋ย น้ำ อย่างเหมาะสมตามสมรรถนะของดิน เกษตรอินทรีย์

 วิจัยและพัฒนาพืชท้องถิ่น วิจัยและพัฒนาเกษตรเฉพาะพื้นที่เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน อนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ วิจัยเทคโนโลยีด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์/หน่อพันธุ์พืชตามมาตรฐาน เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว การแปรรูปและบรรจุภัณฑ์ วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ วิจัยและพัฒนาระบบสารสนเทศสู่เกษตรดิจิทัล Climate Change วิจัยและพัฒนาชีวภัณฑ์เชิงพาณิชย์ ระบบการตรวจสอบรับรองมาตรฐานสินค้าพืช มาตรการสุขอนามัยพืชตามมาตรฐานสากล การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อลดการใช้สารเคมี วิจัยและพัฒนายางตามพระราชบัญญัติควบคุมยาง และวิจัยและพัฒนาตามพระราชบัญญัติ

 คุ้มครองพันธุ์พืช

 “การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการในปี 2561 ตามนโยบายดังกล่าว จะเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาการเกษตรเร่งเครื่องสู่เกษตร 4.0 อย่างต่อเนื่องในปี 2562-2564 ตามแผนขับเคลื่อน Smart Agricultural

 Curve สอดรับกับยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ ระยะ 20 ปี และแผนพัฒนาการเกษตร ระยะ 5 ปี เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเพิ่มรายได้เฉลี่ยของเกษตรกรถึง 390,000 บาท/คน/ปี เป็ น Smart Farmer และ GDP ภาคเกษตรต้องเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 3% ต่อปี ตาม Roadmap ที่ได้กำหนดไว้ ทั้งนี้ ต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการดำเนินงานกับทุกภาคส่วนแบบประชารัฐที่จะทำให้ภาคเกษตรไทยเกิดการพัฒนาไปสู่เป้าหมายต่อไป” พล.อ.ประสาท กล่าว

จาก http://www.siamrath.co.th  วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2560 

แจงยิบ! “สิทธิประโยชน์ EEC” ใครได้-ใครเสีย?

สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) ชี้แจงประเด็นเกี่ยวกับ “สิทธิประโยชน์ต่อนักลงทุนในพื้นที่ EEC กับการดำเนินโครงการในมิติต่าง ๆ” ... โดยในวันนี้ (28 ก.ย. 60) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ 175 คะแนน รับหลักการ “ร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. ...” ซึ่งกำหนดกรอบเวลาทำงานต้องให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ก่อนส่งกลับมาให้ สนช. ลงมติอีกครั้ง

-“สิทธิในการใช้ที่ดิน” ของนักลงทุนต่างชาติ ที่ยาวถึง 99 ปี ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า “ระยะยาวเกินไป”-

“คำถามนี้อยู่บนความเข้าใจที่ผิด เพราะ พ.ร.บ.EEC กำหนดระยะเวลาที่ใช้สิทธิการเช่าใช้ที่ดินนั้น คือ ‘สูงสุด 50 ปี และต่อได้อีกไม่เกิน 49 ปี’ ซึ่งปัจจุบันนี้มีกฎหมายที่กำหนดการใช้ที่ดินระยะยาวอยู่แล้ว เช่น

1.พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชยกรรม พ.ศ. 2542 กำหนดระยะเวลาการเช่าไว้ 30-50 ปี และต่อให้ต่ออายุการเช่าอีกได้ไม่เกิน 50 ปี

2.คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 17/2558 กำหนดให้การเช่าที่ดินในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน มีระยะเวลาการเช่าไม่น้อยกว่า 50 ปี และอาจต่ออายุการเช่าได้อีกตามระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด

3.ในประเทศอื่น ๆ เช่น ‘มาเลเซีย’ กำหนดให้เช่าได้ไม่เกิน 99 ปี, ‘กัมพูชา-ลาว’ กำหนดระยะเวลาการเช่าที่ดินในเขตส่งเสริมได้สูงสุด 99 ปี ส่วน ‘เวียดนาม’ 70 ปี และต่อได้หลายครั้ง

4.ด้านการถือครองที่ดิน ปัจจุบัน พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 กำหนดให้ผู้ประกอบการต่างชาติ สามารถถือกรรมสิทธิในที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด รวมทั้ง พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฯ กำหนดให้ผู้ประกอบการมีสิทธิถือกรรมสิทธิที่ดินได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดตามอายุบัตรส่งเสริม”

-ปริมาณการใช้งบประมาณแผ่นดินในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของ “โครงการ EEC” นั้น ถือว่า มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย มากกว่ากรอบงบประมาณของรัฐบาลใด ๆ ก่อนหน้านี้-

“รัฐบาลที่ผ่าน ๆ มา เห็นความจำเป็นในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยกำหนดไว้ 1.5 ล้านล้านบาทบ้าง 2.0 ล้านล้านบาทบ้าง แต่ไม่ได้ดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะขยายให้ EEC เป็นประตูเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยสู่เศรษฐกิจโลก ก็อยู่บนความจำเป็นเดียวกับรัฐบาลที่ผ่านมา

 โครงการหลัก ๆ เกือบทั้งหมดใน EEC ที่จริงเป็นการ ‘ริเริ่ม’ และ ‘อนุมัติ’ จากรัฐบาลชุดก่อนหน้านี้อยู่แล้ว เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง, โครงการท่าเรือแหลมฉบัง, ท่าเรือมาบตาพุด และมอร์เตอร์เวย์ โดยโครงการเหล่านี้ผ่านการพิจารณาและบางโครงการก็ได้การดำเนินการทำ EIA แล้วเสร็จไปแล้ว ขณะที่ หลายโครงการก็อยู่ในกระบวนการทำ EIA กันมาโดยต่อเนื่อง

EEC ทำหน้าที่ประสานโครงการเหล่านี้ให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศโดยเฉพาะ

1.สนามบินอู่ตะเภา ต้องเป็นเมืองการบินภาคตะวันออก คือ เป็น ‘ฮับของธุรกิจการบินของไทย’

2.รถไฟความเร็วสูง ต้องเชื่อม 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์เต็มที่และสนับสนุนการท่องเที่ยว ลดความแออัดของสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ

3.3 ท่าเรือน้ำลึก ต้องมีรถไฟรางคู่เข้าเชื่อม เพื่อเพิ่มการขนส่งทางราง ลดการขนส่งทางถนนโดยเร็วที่สุด ให้ได้มากที่สุด เพื่อความสะดวกในการเดินทางและลดอุบัติเหตุ

 โครงการใหม่ที่เกิดขึ้นใน EEC คือ การพัฒนา ‘สนามบินอู่ตะเภา’ ให้เป็นเมืองการบินภาคตะวันออก

 อย่างไรก็ตาม เป็นความตั้งใจที่ยาวนานหลายทศวรรษ ตั้งแต่มีโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกครั้งนี้ คือ การทำให้วิสัยทัศน์และความตั้งใจที่จะให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ก็เห็นความจำเป็นในการนำ ‘สนามบินอู่ตะเภา’ มาใช้ประโยชน์ทางเชิงพาณิชย์ตลอดมา จึงเป็นความภูมิใจของ EEC ที่รัฐบาลชุดนี้สามารถผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมชัดเจน”

-การให้เอกชนเข้ามาบริหารพื้นที่ที่เกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ๆ เป็นการให้ประโยชน์แก่เอกชนบางราย?-

“ต้องเข้าใจว่า ทุกทางเลือกมีข้อจำกัด มีข้อดี ข้อเสีย ดังนั้น เพื่อเป็นการลดภาระงบประมาณแผ่นดินในการลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐาน และเพื่อเป็นการไม่ทำให้รัฐบาลต้องกู้เงินเพื่อลงทุนกับโครงการต่าง ๆ รัฐบาลได้เลือกที่จะใช้วิธีการร่วมทุนกับเอกชน หรือ PPP (Public Private Partnership) ที่รัฐบาลเองจะมีเอกชนเป็นคู่สัญญา

**การหาเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหาได้ 3 ทาง ซึ่งมีความเหมาะสมต่างกัน**

1.ใช้งบประมาณ ...ไม่เหมาะสม เพราะงบประมาณมาจากภาษีอากร ซึ่งควรนำไปช่วยเหลือประชาชนทางด้านการศึกษา การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย การป้องกันประเทศ และการสาธารณสุข

 หากใช้วิธีนี้ ไม่มีงบประมาณไปช่วยด้านสังคมและช่วยคนจน”

2.เงินกู้ ...เหมาะสมกับบางโครงการ เช่น รถไฟรางคู่-อ่างเก็บน้ำ เพราะเป็นโครงการที่ความจำเป็นสูง แต่มีผลตอบแทนทางการลงทุนน้อย และรัฐต้องลงทุนเอง เพื่อแก้ไขปัญหาการผูกขาด และเอกชนไม่สามารถร่วมลงทุนได้

 หากใช้วิธีนี้มาก ๆ เกินกำลัง จะเป็นหนี้สาธารณะไปถึงคนรุ่นต่อไป

3.การร่วมลงทุนรัฐ-เอกชน ...เหมาะสมสำหรับโครงการที่มีผลตอบแทนทางการเงินและเอกชนสนใจลงทุน โดยหากรัฐจะให้เงินชดเชยบ้าง ก็ได้ กรณีเหมาะสมสำหรับ รถไฟความเร็วสูง, สนามบินอู่ตะเภา และท่าเรือน้ำลึก ซึ่งจะเป็นการประหยัดเงินงบประมาณให้ประเทศสามารถไปหางานที่สำคัญให้กับประเทศและประชาชนผู้มีรายได้น้อย

 หากใช้วิธีนี้ ได้การลงทุนจากเอกชนมีเงิน เงินเหลือจำนวนมาก และได้ใช้ประโยชน์จากโครงการทันที โดยต้องดูแลกำกับโครงการตามสัญญาด้วย วิธีนี้ เอกชนผู้ร่วมลงทุนเองจะเข้ามาบริหารพัฒนาพื้นที่ต่าง ๆ รวมถึงสิทธิประโยชน์ที่ได้จากสัญญา ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล ย้ำว่า วิธีนี้เป็นการลดภาระทางงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลได้”

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

-การใช้จ่ายเงินงบประมาณจำนวนมากมายมหาศาล ควรกระจายไปในทุก ๆ พื้นที่ มากกว่าการลงกับจังหวัดเพียงแค่ 3 จังหวัดในภาคตะวันออกเท่านั้น-

“พื้นที่นี้ได้ถูกวางตำแหน่งและได้รับการพัฒนามาตั้งแต่ยุค Eastern Seaboard เมื่อ 3 ทศวรรษที่แล้ว ให้เป็น ‘ประตูของประเทศ’ ท่าเรือขนาดใหญ่ก็ตั้งอยู่ที่นี่ เป็นปากประตูของเศรษฐกิจทั้งประเทศ มิใช่เป็นพื้นที่ที่มีผลประโยชน์เป็นของตนเอง การลงทุนพัฒนากับประตูของประเทศ เป็นการลงทุนเพื่อคนทั้งประเทศ ที่ผู้ได้รับประโยชน์ คือ ประเทศไทยทั้งหมด มิใช่พื้นที่เดียว

คนในพื้นที่ 3 จังหวัด เขาคิดตรงกันข้ามว่า ทำไมต้องมาแบกรับภาระการเป็นประตูและเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจให้กับคนทั้งประเทศ

 นอกจากนี้ การวางแผนโครงสร้างพื้นฐานมิได้พิจารณาอย่างเป็นอิสระจากโครงข่ายอื่น ๆ ในภูมิภาคอื่น ๆ หากแต่ได้มีการวางแผนให้เชื่อมต่อกันอย่างสมบูรณ์แบบ เช่น การขนส่งระบบรางพื้นที่นี้ ที่จะต้องเชื่อมต่อกับรถไฟทางคู่จากหนองคายและเชียงใหม่ เป็นต้น

 สำหรับ ‘สนามบินอู่ตะเภา’ ที่ได้รับการพัฒนาเป็นสนามบินพาณิชย์ จะเป็นการลดภาระจากสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิที่แออัดอยู่แล้ว และเป็นการกระจายตัวออกมา”

-สิทธิพิเศษ “การลดภาษีนิติบุคคล” ให้แก่นักลงทุนที่ให้มากกว่าที่เคยเป็น-

“เป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะว่า สิทธิพิเศษที่มีการอ้างถึงว่า เป็นการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ที่มีอยู่ตามกรอบกฎหมาย BOI ที่มีอยู่เดิม เมื่อมีระเบียงของ BOI ระบุเอาไว้ และเป็นไปตามกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์ทั้งหมดมิได้มีอะไรที่มากเกินไปกว่าเพดานที่ BOI ได้มีการระบุเอาไว้

 กรณี ‘กระทรวงการคลัง’ ซึ่งได้เพิ่มสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดถึง 17% ‘เป็นการสร้างฐานภาษีใหม่’ เพราะเมื่อเราเก็บภาษีแพง ผู้บริหาร นักลงทุน ผู้เชี่ยวชาญ เหล่านี้ไม่เปิดบัญชีหรือยื่นภาษีในประเทศไทย แต่เปิดบัญชีเงินเดือนอยู่ต่างประเทศ เข้ามาทำงานโดยไม่เสียภาษี ดังนั้น การกำหนดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 17% ทำให้ประเทศไทยได้บัญชีเงินเดือนเหล่านี้มาอยู่ในประเทศไทย และเรากลับได้รับภาษีส่วนนี้ 17% เพิ่มเติมแทน”

-อุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่ดึงเข้ามา ไม่ได้ช่วยสร้างงานเพิ่มเติมให้กับคนไทย และยังเป็นอุตสาหกรรมเบา ที่อาจจะนำไปสู่การเคลื่อนย้ายการลงทุนได้ง่าย-

“ไม่มีอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานราคาถูกในการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายใน EEC ภูมิทัศน์ อุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงไปมาก อุตสาหกรรมมีการพัฒนาไปมาก EEC จึงวางพื้นฐานสำหรับ ‘อุตสาหกรรมใหม่’ ที่กำลังเติบโต และหากว่า เราไม่พัฒนาตาม ที่สุดก็จะโดนแซงไป ยกตัวอย่างเช่น

1.อุตสาหกรรมการบิน หากไม่มีการนำอุตสาหกรรมการบินเข้ามาในประเทศไทย ท่ามกลางการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินโลกและอุตสาหกรรมในภูมิภาค เราก็จะโดนทิ้งเอาไว้เบื้องหลัง

2.อุตสาหกรรมรถไฟฟ้า คือ อุตสาหกรรมที่จะมีบทบาทมากกว่าอุตสาหกรรมรถเครื่องยนต์สันดาป หากไม่วางพื้นฐานประเทศไทย ก็จะโดนทิ้งไว้เบื้องหลัง

3.อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และ Automation ก็คือ ทิศทางอุตสาหกรรมโลก เป็นการยกระดับอุตสาหกรรมที่จะมีประสิทธิภาพสูงขึ้น และทั้งหมดนี้ คนไทยจะอยู่เบื้องหลังในการขับเคลื่อนไปด้วย"

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2560

คลังเผยส่งออกไทยเดือน ส.ค.ขยายตัวสูงสุดในรอบ 55 เดือน เชื่อแบงก์ชาติดูแลค่าเงินบาทได้

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนสิงหาคม 2560 ว่า ได้รับแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวระดับสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 13.2 ต่อปี ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 55 เดือน โดยหมวดสินค้าสำคัญที่สนับสนุนการส่งออก เช่น ทองคำ อัญมณีและเครื่องประดับ เกษตรกรรม อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่ประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวได้ดี เช่น อาเซียน จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สำหรับมูลค่าการนำเข้าในเดือนสิงหาคม ขยายตัวที่ร้อยละ 14.9 ต่อปี โดยกลุ่มสินค้าที่สนับสนุนการขยายตัวของการนำเข้า เช่น วัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เชื้อเพลิง ทองคำ สินค้าทุน และสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่ดุลการค้าในเดือนสิงหาคม เกินดุลจำนวน 2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่การใช้จ่ายภาคเอกชนยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะการบริโภคเอกชน สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่มขยายตัวร้อยละ 14.7 ต่อปี และเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 54 เดือน (นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2556) และการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัวได้ดีสะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุน ในเดือนสิงหาคม ขยายตัวร้อยละ 5.5 ต่อปี

ด้านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม เดือนสิงหาคม 2560 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 62.4 เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคคาดหวังว่าเศรษฐกิจไทยในอนาคตจะปรับตัวดีขึ้นตามแนวโน้มการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี อีกทั้งมีโครงการลงทุนภาครัฐที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปี

ทั้งนี้ ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เติบโตต่อเนื่อง โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนสิงหาคม ขยายตัวร้อยละ 17.1 ต่อปี เป็นการขยายตัวได้ดีของหมวดพืชผลสำคัญ อาทิ ข้าวโพด กลุ่มไม้ผล ได้แก่ ลำไย เงาะ และมังคุด ตามฤดูกาลเก็บเกี่ยว รวมทั้งผลผลิตข้าวเปลือกที่ได้รับอานิสงส์จากการเหลื่อมเดือนเพาะปลูก และเหลื่อมเดือนเก็บเกี่ยว

สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทย ในเดือนสิงหาคม มีจำนวน 3.13 ล้านคน เร่งตัวขึ้นเป็นร้อยละ 8.7 ต่อปี และขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อเดือน โดยเป็นนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีจากจีน มาเลเซีย เกาหลี และอินเดีย เป็นสำคัญ ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี และเสถียรภาพภายนอกอยู่ในระดับที่มั่นคง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ร้อยละ 0.3 และ 0.5 ต่อปี ตามลำดับ ส่วนอัตราการว่างงานในเดือนสิงหาคม 2560 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงานรวม

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการ สศค. ไม่ขอแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับค่าเงินบาทในขณะนี้ โดยระบุว่าเคารพการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลอย่างใกล้ชิด ส่วนกรณีที่ ธปท.ประเมินว่าจีดีพีปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 3.8 นั้น มองว่ามีโอกาสเป็นไปได้ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง และการส่งออกในเดือนที่ผ่านมาสูงถึงร้อยละ 13 ส่วน สศค. จะมีการปรับตัวเลขประมาณการณ์เศรษฐกิจหรือไม่ ต้องติดตามตัวเลขอีกครั้งในเดือนหน้า

จาก https://mgronline.com  วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2560

เปิดตัว“โดรน”พ่นสารเคมี จุดเปลี่ยนประเทศไทยสู่การเกษตรสมัยใหม่

        ปัจจุบัน “เทคโนโลยี” ได้เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตมนุษย์ในทุกมิติ โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การอุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งเกษตรกรรม จนแทบกล่าวได้ว่า ปัจจุบัน “เทคโนโลยี” ได้เข้ามากลืนกินกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ และ “เทคโนโลยี” ก็ถือเป็นกุญแจดอกสำคัญดอกหนึ่งที่จะนำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าของประเทศได้อย่างยั่งยืน

        ดร.อรรชกา สีบุญเรืองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า สถานการณ์ในโลกปัจจุบันหากประเทศใดไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมได้อย่างต่อเนื่องแล้ว ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จในระยะยาว รัฐบาลจึงได้กำหนดนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเกิดความตื่นตัวต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตรกรรมระดับประเทศ

         ทั้งนี้ แนวทางหนึ่งที่ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ดำเนินการ คือ การจัดตั้ง “อุทยานวิทยาศาสตร์” ขึ้นในภูมิภาคต่างๆ เพื่อเป็นฐานสำหรับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ทั้งในด้านการพัฒนากำลังคน การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา รวมถึงสนับสนุนให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้สู่ภูมิภาคและระดับท้องถิ่น เช่น ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มอบหมายให้สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์  (สอว.) ร่วมกับ เครือข่ายมหาวิทยาลัยในภูมิภาค 4 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ดำเนินการจัดตั้ง “อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ขึ้น เพื่อสนับสนุนนโยบายข้างต้น

          โดยช่วงที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานของ “อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ถือว่ามีความคืบหน้าอย่างมาก มีการร่วมกับภาคเอกชนวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่น่าสนใจ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง รวมทั้งต่อยอดการพัฒนาได้ทั้งในเชิงอุตสาหกรรมและในเชิงพาณิชย์ โดยหนึ่งในนวัตกรรมที่น่าสนใจและน่าจับตาอย่างยิ่ง ก็คือ “อากาศยานไร้คนขับเพื่อการเกษตร” 

           “อากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน เพื่อการเกษตร เป็นโครงการร่วมมือระหว่าง อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กับ บริษัท ไลลา เอวิเอชั่น จำกัด เพื่อพัฒนานวัตกรรมระดับประเทศด้านผลิตภัณฑ์อากาศยานไร้คนขับเพื่อการเกษตร โดยอาศัยการออกแบบทางวิศวกรรมของโครงสร้างลำตัวเครื่อง ให้สามารถพ่นของเหลวไม่ว่าจะเป็นยาฆ่าแมลง ปุ๋ย หรือสารเคมีทางการเกษตร โดยแบกน้ำหนักได้ถึง 15 กิโลกรัม ทำให้มีประสิทธิภาพในการทำงานมากกว่าคนถึง 40 เท่า สามารถทำงานได้ถึง 15-20 ไร่ต่อชั่วโมง ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมที่มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับภาคการเกษตรกรรมของประเทศไทย”

          ดร.อรรชกา กล่าวต่อว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ทำการเกษตรมากกว่า 150 ล้านไร่ มีครัวเรือนเกษตรกรถึงกว่า 7.9 ล้านครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยและมีความต้องการเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ขณะที่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็มีนโยบายขับเคลื่อนการทำ “เกษตรแปลงใหญ่” โดยสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย ทั้งชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกันและทำการเพาะปลูกพืชผลชนิดเดียวกันมารวมกลุ่มทำการเพาะปลูกเป็นแปลงใหญ่ เพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสร้างอำนาจต่อรองทางการตลาด ซึ่งการนำ “อากาศยานไร้คนขับ” หรือ Unmanned Aerial Vehicle (UAV) มาใช้ในงานด้านการเกษตร จึงเท่ากับเป็นการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ และคุณค่าทางเศรษฐกิจให้กับเกษตรกรไทย ลดการใช้แรงงานในการผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของประเทศไทยสู่การแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          โดยอากาศยานไร้คนขับเพื่อการเกษตร ถูกออกแบบมาให้สามารถรองรับการฉีดพ่นสารต่างๆ ในพื้นที่ตั้งแต่ขนาดแปลงเล็กๆ ไปจนถึงแปลงขนาดใหญ่ สามารถทำงานได้ทั้งแบบชั่วคราวและแบบประจำการ หรือแบบตำแหน่งคงที่และตามแผนการบินแล้ว ยังมีการออกแบบระบบควบคุมการทำงานและการบินอัตโนมัติแบบฝังตัว รวมทั้งติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมระยะไกลที่มีความแม่นยำ ใช้ระบบการป้องกันการทำงานด้วย GPS 3 ชั้น ระบบพลังงานมีประสิทธิภาพสูงทำงานต่อเนื่องได้เป็นเวลานาน ขณะที่ตัวของอากาศยานก็ผลิตด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีโครงสร้างลำตัวเบาแต่แข็งแรงด้วยวัสดุคอมโพสิต อีกทั้งยังป้องกันความเสียหายของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากละอองน้ำหรือละอองฝนได้

          นอกจากนี้ตัวของอากาศยานยังมีเสถียรภาพในแง่ความแม่นยำสูงในการพ่นสารน้ำ สารชีวภาพ การให้ปุ๋ย และการพ่นยาฆ่าแมลง ซึ่งจะลดการฟุ้งกระจาย ทำให้เกษตรกรหรือผู้ใช้งานลดปริมาณการใช้ปุ๋ย ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ลดต้นทุนการผลิต ลดความเสี่ยงในการใช้ยาฆ่าแมลง เพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะปลูกได้อย่างเป็นรูปธรรม

     อากาศยานไร้คนขับเพื่อการเกษตร จึงนับเป็นสินค้าเชิง “นวัตกรรม” ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด Thailand 4.0 ที่อาจมีส่วนช่วยพลิกโฉมหน้าภาคเกษตรกรรมของประเทศไทย จากการทำการเกษตรแบบดั้งเดิม ไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ (Smart Farming) ที่เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยี สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้เกษตรกร ลดความเสี่ยงในการสัมผัสหรือผลกระทบจากสารเคมี ลดต้นทุน ประหยัดทั้งเวลาและแรงงาน ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

    “อากาศยานไร้คนขับเพื่อการเกษตร” จึงเป็นการบูรณาการองค์ความรู้ทั้งจากด้านเกษตรกรรมและวิศวกรรมเข้าด้วยกัน เพื่อพัฒนางานด้านการเกษตรให้มีความก้าวหน้าได้อย่างยั่งยืน

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2560

ดีเดย์ซื้อขายไฟฟ้า3ประเทศ นำร่อง100เมกะวัตต์ เริ่ม1ม.ค.61

วงถก รมว.พลังงานอาเซียน เดินหน้าโครงการซื้อขายไฟฟ้าไทย-ลาว-มาเลเซีย เชื่อมโยงระบบสายส่ง พร้อมตั้งเป้าเพิ่มพลังงานทดแทน23%

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน (ASEAN Ministers on Energy Meeting-AMEM) ครั้งที่ 35 ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ว่า เวทีพลังงานอาเซียนมุ่งเน้นความร่วมมือด้านพลังงานในภูมิภาค ผ่านการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน การบูรณาการผ่านการซื้อขายไฟฟ้าพหุภาคีและการเชื่อมสายส่งและระบบท่อก๊าซ โดยอาเซียนตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้ 23% ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายภายในปี 2568 จากปี 2558 อาเซียนมีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ 14%"

การประชุมครั้งนี้ได้หารือประเด็นการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในด้านพลังงาน เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด และความร่วมมือด้านก๊าซธรรมชาติ ขณะที่การเป็นเจ้าภาพจัดงานของฟิลิปปินส์ให้ความสำคัญเรื่องพลังงานใต้พิภพและชีวมวล" พล.อ.อนันตพร กล่าว

รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากยังมีการหารือถึงโครงการ LTM on Power Integration Project ซึ่งเป็นข้อตกลงการลงนามซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง 3 ประเทศ คือ ลาว ไทย และมาเลเซีย โดยจะมีผลให้เกิดการเริ่มซื้อขายไฟฟ้ากันในทางปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2561 ซึ่งมาเลเซียจะซื้อไฟฟ้าจากลาวผ่านระบบสายส่งของไทย จำนวน 100 เมกะวัตต์ ในราคารวมประมาณ 7.16 เซนต์/หน่วย ซึ่งแบ่งเป็นค่าไฟฟ้าที่ลาวจะได้รับประมาณ 6.3 เซนต์/หน่วย และเป็นค่าผ่านสายส่ง (Wheeling Charge) ที่ไทยจะได้รับ 0.86 เซนต์/หน่วย มีระยะเวลาการซื้อขายตามสัญญา 2 ปี

ทั้งนี้ หากความร่วมมือดังกล่าวประสบความสำเร็จ จะถือเป็นจุดเริ่มต้นของการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างอาเซียนที่มีระบบสายส่งเชื่อมโยงถึงกัน (อาเซียน พาวเวอร์ กริด)

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไทยเป็นผู้นำด้านการพัฒนาพลังงานทดแทนในอาเซียน ซึ่งได้ส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านแผนพัฒนายุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานระยะ  20 ปี (ปี 2558-2579) เช่น แผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558-2579 (EEP 2015) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2015) สอดคล้องนโยบายพลังงาน 4.0

สำหรับแผนพัฒนาพลังงานของไทย มีเป้าหมายสำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ 1.ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตามข้อผูกพันของการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 21 หรือ COP21 2.ลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล 3.การสร้างกลไกการแข่งขันไปสู่เสรีเพื่อราคาเป็นธรรมและ 4.การพัฒนาพลังงานชุมชนเพื่อสร้างรายได้ แก่ชุมชน

สำหรับรางวัล อาเซียน เอเนอร์จี อวอร์ดส์ 2017 (ASEAN Energy Awards 2017) ไทยคว้า 19 รางวัล สูงสุดในอาเซียน แบ่งเป็น รางวัลด้านพลังงานทดแทน จำนวน 9 ผลงานรางวัลด้านการบริหารจัดการพลังงานดีเด่น 6 ผลงาน รางวัลด้านอาคารอนุรักษ์พลังงานดีเด่น 3 ผลงาน และรางวัลด้านอาคารเขียวดีเด่น 1 ผลงาน ขณะเดียวกันไทยได้รับรางวัล อาเซียน โคล อวอร์ดส์ 2017 (ASEAN Coal Awards) จำนวน 6 รางวัล

จาก http://www.posttoday.com   วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2560

เกษตรฯเร่งถ่ายทอดเทคโนโลยี กำจัดศัตรูอ้อยด้วยวิธีผสมผสาน

นายวีระพงษ์ ฉ่ำมาก นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดสุพรรณบุรี เปิดเผยว่า ด้วงหนวดยาวเป็นศัตรูอ้อยสำคัญที่สร้างผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตและรายได้ของเกษตรกร การแก้ปัญหาของเกษตรกรมักใช้สารเคมีซึ่งนอกจากไม่ได้ผลแล้ว ยังทำให้เกิดอันตรายแก่เกษตรกรโดยตรง รวมถึงเพิ่มต้นทุนการผลิต และยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดสุพรรณบุรี จึงร่วมกับกลุ่มอารักขาพืชสำนักงานเกษตรจังหวัดกาญจนบุรี และคณะอนุกรรมการอ้อยระดับท้องถิ่นเขต 1 จังหวัดกาญจนบุรี ดำเนินโครงการป้องกันและกำจัดศัตรูอ้อยโดยชีววิธีภายใต้โครงการพัฒนาด้านอ้อยปี 2560 เพื่ออบรมถ่ายทอดความรู้วิธีการป้องกันกำจัดศัตรูอ้อยโดยวิธีผสมผสานให้เกษตรกรกาญจนบุรีในพื้นที่เป้าหมายรวม 300 ราย

สำหรับวิธีการป้องกันกำจัดด้วงหนวดยาวด้วยวิธีผสมผสานนั้น มีข้อปฏิบัติดังนี้ คือ 1.การไถพรวนดินในอ้อยที่จะปลูกใหม่ให้ไถ 1-2 ครั้ง แล้วเก็บตัวหนอนนำมาประกอบเป็นอาหารรับประทานหรือนำมาทำน้ำหมักชีวภาพ 2.ใช้เชื้อราเมตตาไรเซี่ยมฉีดลงดินในแปลงที่ปลูกใหม่หรืออ้อยตอที่มีความชื้นพอเหมาะ 3.ในช่วงประมาณเดือนเมษายน-มิถุนายน ด้วงหนวดยาวจะออกจากดักแด้เป็นตัวเต็มวัย ให้ใช้กับดักแสงไฟล่อเพื่อจับ ร่วมกับการขุดหลุมดักจับเพื่อจับมาทำลาย 4.ปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อเป็นการตัดวงจรการระบาด 5.ปรับปรุงดินโดยการใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยพืชสด 6.อาจใช้สารเคมีโรยในร่อยอ้อย อาทิ endosuldan+fenobucarb (Thiocotb 4.5% G) อัตรา 5 กก.ต่อไร่ แล้วจึงกลบร่องหรือฉีดพ่นด้วยสาร fipronil (Asscend 5% SC) อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดแล้วกลบดิน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2560

หนุนใช้พลังงานหมุนเวียน ‘อาเซียน’เพิ่มสัดส่วนเป็น23%ในปี’68

พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนครั้งที่ 35“ASEAN Energy Awards 2017” ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ว่า นายอัลฟอนโซ จี. คูซี (AlfonsoG. Cusi) เลขาฯกระทรวงพลังงานฟิลิปปินส์ ได้ตั้งเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้ 23% ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายภายในปี 2568 ซึ่งในปี 2558 อาเซียนสามารถเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนได้แล้ว 14% ซึ่งประเทศไทยทำได้ 14% เช่นกัน รวมทั้งยังมีการหารือถึงการนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้พร้อมหารือกันเรื่องการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือ LNG ซึ่งกลุ่มอาเซียนมีการใช้เพิ่มขึ้นอย่างมาก เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองในตลาดโลก หรือมีระบบการบริหารจัดการ LNG ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้จะมุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับภูมิภาคอาเซียน ผ่านการซื้อ-ขายไฟฟ้าในระบบพหุภาคีสำหรับการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนครั้งที่ 36 จะจัดขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ ในปี 2561

“เวทีพลังงานอาเซียนได้มุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงภูมิภาคและการบูรณาการด้านพลังงาน ผ่านการซื้อขายไฟฟ้าพหุภาคี การเชื่อมสายส่งและระบบท่อก๊าซ โดยหนึ่งในแผนสำคัญคือด้านพลังงานทดแทนและประสิทธิภาพ และอนุรักษ์พลังงานนั้นอาเซียนมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้ 23% ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายภายในปี 2568 จากปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ 14% เป็นต้น” รมว.พลังงาน กล่าว

ในการประชุมครั้งนี้มีการมอบรางวัลประเภทบุคคลที่มีความเป็นเลิศด้านการจัดการพลังงานของอาเซียนให้กับ นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน และนายดนัย เอกกมล รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ด้วย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2560

เร่งปรับโครงข่ายระบบชลประทาน แก้ปัญหาน้ำ9จังหวัด ตะวันตก เจ้าพระยา-ท่าจีน    

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้ศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทาน ในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน เพื่อแก้ปัญหานํ้าท่วมและน้ำแล้งซํ้าซากในพื้นที่ระหว่างแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำแม่กลอง โดยแบ่งเป็นพื้นที่ตอนบนของฝั่งตะวันตกของแม่นํ้าท่าจีนตั้งแต่เขื่อนเจ้าพระยาถึงคลองท่าผา-บางแก้ว และพื้นที่ตอนล่างของฝั่งตะวันตกของแม่นํ้าท่าจีนตั้งแต่ใต้คลองท่าผา-บางแก้ว ถึงทะเล ครอบคลุม 9 จังหวัด ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท อ่างทอง สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร

สำหรับพื้นที่ตอนบนของฝั่งตะวันตกของแม่นํ้าท่าจีน เป็นการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการชลประทาน เพราะส่วนใหญ่ใช้งานมานานแล้ว มีสภาพทรุดโทรม โดยจะทำการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบํารุงรักษากําแพงแสน และโครงการส่งน้ำและบํารุงรักษาดอนเจดีย์ หลังจากนั้นถึงจะทยอยปรับโครงการชลประทานที่เหลือ

ส่วนพื้นที่ตอนล่างของฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน เป็นการศึกษาความเหมาะสมในการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำออกสู่ทะเลและใช้เป็นพื้นที่รองรับน้ำนอง เนื่องจากระบบคลองเดิมมีสภาพตื้นเขินและมีการก่อสร้างบุกรุกเข้าไปในลำน้ำทำให้ประสิทธิภาพการระบายน้ำต่ำ จึงประสบปัญหาน้ำท่วมเกือบทุกปีในช่วงฤดูนํ้าหลาก นอกจากนี้ตั้งแต่คลองสุนัขหอนจนถึงทะเลจะมีปัญหาคุณภาพน้ำ และการรุกลํ้าของนํ้าเค็มจากทะเล ซึ่งการศึกษาพบว่าจะต้องดำเนินงานสำคัญๆ ดังนี้

1.งานปรับปรุงและขุดลอกคลอง เพื่อเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำ 68 คลอง โดยจะปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานระบายน้ำลงสู่ทะเล ร่วมกับการระบายน้ำลงสู่แม่นํ้าท่าจีน โดยผ่านทางคลองหนองนกไข่ คลองดําเนินสะดวก และคลองสุนัขหอน 2.งานปรับปรุงและก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ เป็นงานปรับปรุง ก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำทั้งในช่วงฤดูน้ำหลาก และฤดูน้ำแล้ง มีทั้งหมด 76 แห่ง โดยเป็นอาคารที่ก่อสร้างใหม่ 17 แห่ง และ 3.งานคันควบคุมน้ำทะเล พบว่าแนวทางที่เหมาะสมที่สุดคือ ตามแนวถนนเอกชัย-พระราม 2 เป็นการใช้แนวคันควบคุมน้ำทะเลแนวคันเดิม ร่วมกับถนนเพื่อลดปัญหาผลกระทบด้านสังคม และสิ่งแวดล้อม สามารถเพิ่มพื้นที่ป้องกันได้ประมาณ 48,000 ไร่ โดยเริ่มต้นจากบริเวณ ปตร.บางนกแขวก ไปสิ้นสุดที่ ปตร.บางยาง รวมความยาวแนวคัน ควบคุมนํ้าทะเลทั้งหมดประมาณ 62 กม.

จาก http://www.naewna.com วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2560

ดีเดย์ซื้อขายไฟฟ้า3ประเทศ นำร่อง100เมกะวัตต์ เริ่ม1ม.ค.61

วงถก รมว.พลังงานอาเซียน เดินหน้าโครงการซื้อขายไฟฟ้าไทย-ลาว-มาเลเซีย เชื่อมโยงระบบสายส่ง พร้อมตั้งเป้าเพิ่มพลังงานทดแทน23%

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน (ASEAN Ministers on Energy Meeting-AMEM) ครั้งที่ 35 ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ว่า เวทีพลังงานอาเซียนมุ่งเน้นความร่วมมือด้านพลังงานในภูมิภาค ผ่านการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน การบูรณาการผ่านการซื้อขายไฟฟ้าพหุภาคี และการเชื่อมสายส่งและระบบท่อก๊าซ โดยอาเซียนตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้ 23% ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายภายในปี 2568 จากปี 2558 อาเซียนมีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ 14%"

การประชุมครั้งนี้ได้หารือประเด็นการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในด้านพลังงาน เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด และความร่วมมือด้านก๊าซธรรมชาติ ขณะที่การเป็นเจ้าภาพจัดงานของฟิลิปปินส์ให้ความสำคัญเรื่องพลังงานใต้พิภพและชีวมวล" พล.อ.อนันตพร กล่าว

รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากยังมีการหารือถึงโครงการ LTM on Power Integration Project ซึ่งเป็นข้อตกลงการลงนามซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง 3 ประเทศ คือ ลาว ไทย และมาเลเซีย โดยจะมีผลให้เกิดการเริ่มซื้อขายไฟฟ้ากันในทางปฏิบัติ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2561 ซึ่งมาเลเซียจะซื้อไฟฟ้าจากลาวผ่านระบบสายส่งของไทย จำนวน 100 เมกะวัตต์ ในราคารวมประมาณ 7.16 เซนต์/หน่วย ซึ่งแบ่งเป็นค่าไฟฟ้าที่ลาวจะได้รับประมาณ 6.3 เซนต์/หน่วย และเป็นค่าผ่านสายส่ง (Wheeling Charge) ที่ไทยจะได้รับ 0.86 เซนต์/หน่วย มีระยะเวลาการซื้อขายตามสัญญา 2 ปี

ทั้งนี้ หากความร่วมมือดังกล่าวประสบความสำเร็จ จะถือเป็นจุดเริ่มต้นของการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างอาเซียน ที่มีระบบสายส่งเชื่อมโยงถึงกัน (อาเซียน พาวเวอร์ กริด)

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไทยเป็นผู้นำด้านการพัฒนาพลังงานทดแทนในอาเซียน ซึ่งได้ส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านแผนพัฒนายุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานระยะ 20 ปี (ปี 2558-2579) เช่น แผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558-2579 (EEP 2015) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2015) สอดคล้องนโยบายพลังงาน 4.0

สำหรับแผนพัฒนาพลังงานของไทย มีเป้าหมายสำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ 1.ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตามข้อผูกพันของการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 21 หรือ COP21 2.ลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล 3.การสร้างกลไกการแข่งขันไปสู่เสรีเพื่อราคาเป็นธรรม และ 4.การพัฒนาพลังงานชุมชนเพื่อสร้างรายได้ แก่ชุมชน

สำหรับรางวัล อาเซียน เอเนอร์จี อวอร์ดส์ 2017 (ASEAN Energy Awards 2017) ไทยคว้า 19 รางวัล สูงสุดในอาเซียน แบ่งเป็น รางวัลด้านพลังงานทดแทน จำนวน 9 ผลงาน รางวัลด้านการบริหารจัดการพลังงานดีเด่น 6 ผลงาน รางวัลด้านอาคารอนุรักษ์พลังงานดีเด่น 3 ผลงาน และรางวัลด้านอาคารเขียวดีเด่น 1 ผลงาน ขณะเดียวกันไทยได้รับรางวัล อาเซียน โคล อวอร์ดส์ 2017 (ASEAN Coal Awards 2017) จำนวน 6 รางวัล

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2560

เปิดแผนโลจิสติกส์ทางน้ำ4.6หมื่นล้าน

คมนาคม มอบ สนข. จัดทำแอคชั่นแพลนระยะ 20 ปี พัฒนาการขนส่งทางน้ำของประเทศ วงเงินลงทุน 4.6 หมื่นล้านบาท พร้อมจัดมาตรการจูงใจเอกชน ยกเว้นภาษี ลดต้นทุนให้ผู้ส่งออกสินค้า                   

นายพิชิต อัคราทิตย์ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การขนส่งทางน้ำของประเทศตามนโยบายเชื่อมโยงรูปแบบการขนส่งของประเทศ(Shift Mode) เพื่อเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันและลดต้นทุนโลจิสติกส์(ระบบการจัดการขนส่งสินค้า)ของประเทศ โดยมอบให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) จัดทำแผนปฎิบัติการเร่งด่วน หรือแอคชั่นแพลน ระยะ20ปี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและพัฒนาคุณภาพขนส่งเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคมากขึ้น สำหรับแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวต้องใช้วงเงินลงทุน46,286 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.แผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 40,260 ล้านบาท ได้แก่ โครงการก่อสร้างเขื่อนยกระดับแม่น้ำเจ้าพระยาและน่าน เพื่อการเดินเรือ วงเงิน 27,080 ล้านบาท โครงการเพิ่มศักยภาพการขนส่งทางน้ำเชื่อมจากแม่น้ำป่าสักผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาออกสู่ทะเล 11,180 ล้านบาท และโครงการพัฒนาท่าเรือสงขลาอีก 2,000 ล้านบาท

2.แผนก่อสร้างท่าเรือชายฝั่งใหม่ 3 แห่ง วงเงิน 4,447 ล้านบาท ได้แก่ โครงการท่าเทียบเรือ 20G บริเวณเขื่อนตะวันออก ท่าเรือกรุงเทพ1,000 ล้านบาท โครงการท่าเทียบเรือชายฝั่งA ท่าเรือแหลมฉบัง จ. ชลบุรี 1,864 ล้านบาท โครงการพัฒนาท่าเรือชายฝั่งที่สงขลา 1,500 ล้านบาท และการสร้างพื้นที่จอดเรือบริเวณสามแยกท่าทอง (ร่องน้ำบ้านดอน) แม่น้ำตาปี จ. สุราษฎร์ธานี และบริเวณปากแม่น้ำบางปะกงฝั่งสนามกอล์ฟ ร่องน้ำบางปะกง จ. ฉะเชิงเทรา วงเงิน 83 ล้านบาท 3.การลงทุนรักษาร่องน้ำทั่วประเทศ วงเงินรวม1,579ล้านบาท

นายพิชิต กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีมาตรการจูงใจเอกชน เช่น การยกเว้นภาษีเพื่อให้สิทธิพิเศษทางภาษีเพิ่มสำหรับผู้ส่งสินค้าทางน้ำ แต่ต้องขอความร่วมมือกรมศุลกากรให้ปลดล็อคข้อบังคับการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อลดต้นทุนการขนส่งให้กับผู้ส่งออกสินค้า โดยต้องอนุญาตให้ผู้ส่งออกสินค้าระหว่างประเทศสามารถใช้ตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้าในประเทศได้ เพื่อลดภาระต้นทุนจากเดิมต้องวิ่งคอนเทนเนอร์เปล่า เพื่อไปรับสินค้ามาขนส่งที่ท่าเรือ ส่งผลให้ราคาสินค้าในประเทศลดลงได้

จาก https://www.dailynews.co.th   วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2560

รัฐไฟเขียว8โครงการ บริหารน้ำรับ“อีอีซี”

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันที่ 26 ก.ย.60 มีมติอนุมัติงบกลางเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อดำเนินโครงการภายใต้แผนงานพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) พ.ศ.2560-2564 วงเงิน 77 ล้านบาทจากมูลค่าโครงการ 785 ล้านบาท ดังนั้นที่เหลืออีก 707.77 ล้านบาทกระทรวงเกษตรจะต้องใช้งบปกติของปี 2561 เพื่อดำเนิน 8 โครงการ

ประกอบไปด้วย 1.โครงการศึกษาเพื่อจัดทำแผนหลักการพัฒนาและจัดการทรัพยากรน้ำภาคตะวันออกเป็นการศึกษารวบรวมข้อมูลด้านต่างๆ มาวิเคราะห์เพื่อจัดทำแผนพัฒนา 2.โครงการปรับปรุงคลองชลประทานพานทองเพื่อรองรับระบบการผันน้ำจากคลองชลประธานพานทองไปยังอ่างเก็บน้ำบางพระ ต.บางนาง อ.บางพระ จ.ชลบุรี เป็นการดำเนินเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและเพิ่มความจุของคลองชลประทานพานทอง ที่จะช่วยลดปัญหาเกิดอุทกภัย รวมทั้งสามารถผันน้ำจากคลองชลประธานพานทองไปยังอ่างเก็บน้ำพระเพิ่มเพื่อเพิ่มปริมาณในการใช้อ่างเก็บน้ำบางพระ

 3.โครงการระบบสูบน้ำคลองสะพาน-อ่างเก็บน้ำประแสร์ ต.ชุมแสง อ.วังจันทร์ จ.ระยอง เป็นการเก็บน้ำสถานีสูบน้ำเพิ่มระบบสูบกลับ และอาคารประกอบเพื่อทดระดับน้ำให้เพียงพอต่อระบบสูบน้ำในคลองบางบางสภาพคล่องไปยังอ่างเก็บน้ำประแสร์ด้วยการสูบน้ำส่วนเกินในช่วงฤดูน้ำหลากไปเพิ่มเติมในอ่างเก็บน้ำประแสร์ปีละประมาณ 50 ล้าน ลูกบาศก์เมตร 4.โครงการอาคารอาบน้ำท้ายอ่างเก็บน้ำประแสร์ ต.ชุมแสง อ.วังจันทร์ จ.ระยอง เป็นการก่อสร้างอาคารชลประธานเพื่อคุมระดับน้ำบ่อสูบน้ำ ให้สามารถรองรับการสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ไปยังอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ และอ่างเก็บน้ำหนองปลาใหล ให้เสร็จภายใน 1 ปี

5.โครงการขุดลอกอ่างเก็บน้ำดอกกราย ต.แม่น้ำคู้ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง เป็นการขุดลอกตะกอนดินอ่างเก็บน้ำดอกปลายประมาณ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อรักษาความจุน้ำที่เก็บกักให้เต็มศักยภาพ 6.โครงการอาคารบังคับน้ำแม่น้ำระยอง ต.บ้านค่าย อ.บ้านค่าย จ.ระยอง เป็นการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำพร้อมติดตั้งฝายชนิดพับได้ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำในการใช้เพิ่มขึ้น 0.8 ล้านลูกบาศก์เมตร 7.โครงการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ต.ปลวกแดง อ.ปลวกแดง จ.ระยอง เป็นการก่อสร้างฝายชนิดพับได้บริเวณอาคารสะพานน้ำล้น อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ขุดลอกอ่างเก็บน้ำเพื่อให้ปริมาณน้ำใช้ในอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลเพิ่มอีก 24.8 ล้านลูกบาศก์เมตร

8.โครงการปรับปรุงระบบระบายน้ำหน้าพระธาตุระยะที่ 2 ต.หน้าพระธาตุ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี เป็นการก่อสร้างประตูระบายน้ำพร้อมอาคารประกอบและคลองระบายน้ำที่สามารถระบายน้ำได้ 80 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเพื่อลดการท่วมขังของน้ำและเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำใน อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี

นอกจากนั้น ครม.ยังเห็นชอบแนวทางการช่วยเหลือวิสาหกิจชุมชนเพื่อยกระดับการพัฒนากิจการผ่านโครงการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนวงเงิน 3,500 ล้านบาท เพื่อให้เป็นกลไกในการส่งเสริม สนับสนุน และสร้างเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนของประเทศ เพื่อนำไปสู่การพัฒนากระบวนการการเรียนรู้ การบริหารจัดการเทคโนโลยีด้านการผลิต การตลาด การรับรองคุณภาพและการพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งใช้เงินจำนวนดังกล่าวในการจัดสรรเป็นทุนหมุนเวียนในการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน

กำหนดระยะเวลาในการดำเนินงาน 3 ปีงบประมาณ รวม 3500 ล้านบาท แบ่งเป็นปีงบประมาณ 2561 จำนวน 300 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2562 จำนวน 1200 ล้านบาท และงบประมาณในปี 2563 จำนวน 2,000 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะขอจัดสรรจากกระทรวงการคลังตามลำดับต่อไป

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2560

กรมชลดัน18โครงการน้ำ สนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ‘สระแก้ว’

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้จัดทำแผนหลักการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำห้วยพรมโหดและพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว เพื่อรองรับการจัดตั้ง “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว” ซึ่งพบว่าหากต้องการแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอย่างยั่งยืน จะต้องดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำให้เต็มศักยภาพทั้งการสร้างแหล่งเก็บกักน้ำใหม่ การปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำเดิม รวมถึงผันน้ำมาจากลุ่มน้ำข้างเคียง โดยมีการกำหนดเป้าหมายแต่ละโครงการไว้ว่า เพื่อการเกษตรหรือการอุตสาหกรรมและอุปโภคบริโภค หรือเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย

ในการศึกษาแผนหลักการพัฒนาลุ่มน้ำดังกล่าวมีแผนงานสำคัญ 18 โครงการ จะสามารถกักเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้นอีก 62 ล้าน ลบ.ม. และยังมีปริมาณน้ำที่ผันจากพื้นที่ลุ่มน้ำใกล้เคียงอีกประมาณ 35 ล้าน ลบ.ม./ปี มีพื้นที่รับประโยชน์ด้านการเกษตรรวม 68,500 ไร่ โดยแยกเป็นโครงการจัดหาน้ำเพื่ออุตสาหกรรมและอุปโภคบริโภคในเขตเศรษฐกิจพิเศษ 2 โครงการ คือ โครงการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำคลองพระปรง ซึ่งจะ ได้น้ำใช้การเพิ่มขึ้น 10 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี และโครงการวางท่อผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองพระปรงสู่พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งทั้ง 2 โครงการอยู่ระหว่างก่อสร้าง

นอกจากนี้ ยังมีโครงการเพื่อบรรเทาอุทกภัยพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 3 โครงการ ได้แก่ คลองผันน้ำหลากอ้อมเมืองอรัญประเทศ โครงการประตูระบายน้ำพร้อมสถานีสูบน้ำปลายคลองพรมโหด และโครงการพนังกั้นน้ำคลองพรมโหด ส่วนที่เหลือ 13 โครงการ เป็นการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรสำหรับพื้นที่บริเวณใกล้เคียงเขตเศรษฐกิจพิเศษ รองรับการเจริญเติบโตเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิต แยกเป็นโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 8 แห่ง ก่อสร้างฝาย 2 แห่ง เพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำเดิม 1 แห่ง และขุดลอกอ่างเก็บน้ำ 2 แห่ง โดยมีโครงการที่พร้อมจะดำเนินการได้ทันที 1 แห่ง คือ โครงการอ่างเก็บน้ำแซร์ออ อำเภอวัฒนานคร ความจุ 2.34 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งกรมชลประทานมีแผนก่อสร้างในปี พ.ศ.2561

จาก http://www.naewna.com วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2560

จี้คลอดพ.ร.บ.อีอีซี หัวใจสำคัญดึงดูดนักลงทุน

ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกพ.ศ....(อีอีซี) ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาปรับปรุงแล้ว และจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระแรกวันที่ 28 กันยายนนี้

 ทั้งนี้ ความล่าช้าของข้อกฎหมายดังกล่าว จากเดิมที่คาดว่าจะสามารถนำมาใช้ได้ตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา ถือเป็นอุปสรรคใหญ่ของการขับเคลื่อนอีอีซี เนื่องจากนักลงทุนต้องการเห็นความชัดเจนในข้อกฎหมาย ที่จะนำไปสู่การตัดสินใจด้านการลงทุน

++พ.ร.บ.ปลดล็อกการลงทุน

 หากมาไล่เลียงสาระสำคัญของพ.ร.บ.ฉบับนี้ ถือเป็นกฎหมายฉบับแรก ที่จะมาปลดล็อกอุปสรรคด้านการลงทุน เพราะจะให้อำนาจเบ็ดเสร็จกับคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย ให้ความเห็นชอบแผนและแผนผัง อนุมัติแผนงาน โครงการและงบประมาณในการพัฒนารวมถึงออกระเบียบและประกาศตามที่กำหนดไว้ในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ รวมถึงมีอำนาจอนุมัติอนุญาต ให้สิทธิได้ตามกฎหมาย

 ขณะเดียวกันคณะกรรมการนโยบายฯดังกล่าวจะเป็นผู้กำหนด “เขตส่งเสริมพิเศษ”เพื่อวัตถุประสงค์ในการผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงสร้างนวัตกรรม และมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีอำนาจในการอนุมัติ อนุญาตออกใบอนุญาต หรือให้ความเห็นชอบตามกฎหมายต่างๆ เช่นเดียวกับหน่วยงานของรัฐหรือคณะกรรมการตามกฎหมายต่างๆ เพื่อให้การดำเนินงานเกิดความสะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

++สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น

 อีกทั้ง การกำหนดให้ผู้มาลงทุน ได้รับสิทธิประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง เช่น สิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ภายในเขตส่งเสริมฯได้โดยไม่ต้องรับอนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดินหรือภายใต้การจำกัดสิทธิของคนต่างด้าวตามกฎหมาย ว่าด้วยอาคารชุด เป็นต้น แต่ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายฯกำหนด

 รวมถึงการเช่าที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ในเขตส่งเสริมฯ สามารถทำสัญญาเช่าได้ถึง50 ปี และสามารถต่อสัญญาเช่าได้อีกไม่เกิน 49 ปี และยังสามารถนำคนต่างด้าว ซึ่งเป็นผู้มีความรู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหาร หรือผู้ชำนาญการ รวมถึงคู่สมรสและบุคคลในอุปการะเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว โดยจะได้รับอนุญาตให้มีสิทธิทำงานได้เฉพาะตำแหน่งหน้าที่การทำงานที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว

 อีกทั้งผู้ประกอบการที่อยู่ในเขตส่งเสริมฯจะได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน และได้รับประโยชน์เช่นเดียวกับผู้ประกอบการในเขตปลอดอากร คลังสินค้าทัณฑ์บน และเขตประกอบการเสรี ที่สำคัญยังได้รับสิทธิยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมและเปลี่ยนเงิน และสามารถใช้เงินตราต่างประเทศ เพื่อชำระสินค้าหรือบริการระหว่างผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมฯได้ ภายใต้หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายฯกำหนด ที่สำคัญกฎหมายฉบับนี้ จะช่วยสร้างความมั่นใจประชาชนหรือชุมชนในพื้นที่อีอีซี จะได้รับการดูแลหรือเยียวยาจากการได้รับผลกระทบจากการพัฒนา โดยจะมีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาอีอีซีขึ้นมา สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาพื้นที่หรือชุมชน ตลอดจนนำไปช่วยเหลือหรือเยียวยาประชาชนและชุมชนที่ได้รับผลกระทบรวมถึงใช้ในการสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาแก่ประชาชนที่อยู่อาศัยในอีอีซีหรืออยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงและได้รับผลกระทบจากการพัฒนา

++นักลงทุนรอกฎหมายคลอด

 นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ชี้ให้เห็นว่า หัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนอีอีซีในขณะนี้อยู่ที่พ.ร.บ.อีอีซีว่าจะประกาศใช้ได้เมื่อใด เพราะเท่าที่ได้พบปะนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และล่าสุดคณะนักลงทุนกว่า 500 รายที่เดินทางมาดูลู่ทางการลงทุนในอีอีซี ก็ยังไม่ทราบในรายละเอียดของข้อกฎหมาย หรือไม่สามารถหารายละเอียดมาศึกษาได้

 อีกทั้งถึงแม้ร่างพ.ร.บ.อีอีซีจะผ่านครม.แล้วก็ตามแต่ก็ยังติดขั้นตอนการพิจารณาของสนช.ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะมีการแก้ไขในรายละเอียดอีกหรือไม่ ดังนั้นนักลงทุนส่วนใหญ่จึงยังไม่กล้าตัดสินใจจะเข้ามาลงทุน เพียงแต่เป็นการแสดงความสนใจเท่านั้น รวมถึงภาคประชาชนในพื้นที่ ยังไม่มีความมั่นใจว่าจะได้รับการดูแลจากภาครัฐในการพัฒนาพื้นที่อีอีซีหรือไม่

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2560

ไทยติดอันดับ 32 ความสามารถทางการแข่งขันโลก

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแพร่ดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลกไทยติดอันดับ 32 ของโลก

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (27 กันยายน)  คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการของ WEF (World Economic Forum) ได้จัดเผยแพร่รายงานดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก (Global Competitiveness Index : GCI) ซึ่งเปรียบเทียบความสามารถการแข่งขันของ 137 ประเทศทั่วโลก ในปีนี้ประเทศที่ได้อันดับหนึ่งถึงสิบ คือ สวิตเซอร์แลนด์ ตามมาด้วย สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ฮ่องกง สวีเดน สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และฟินแลนด์ ตามลำดับ โดยประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 32 โดยมีคะแนน 4.7 จากคะแนนเต็ม 7 คะแนน

รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการของ WEF (World Economic Forum) ในประเทศไทย เผยว่า  “ทางคณะฯ เป็นผู้ทำการเก็บข้อมูลเชิงลึก จากแบบสอบถามกับผู้บริหารระดับสูง ขององค์กรขนาดใหญ่และขนาดย่อม ในทุกภาคส่วนอุตสาหกรรม ตามเกณฑ์ที่กำหนด โดย WEF ซึ่งนำไปคำนวณดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก โดยมีตัวชี้วัด 114 ตัว จัดแบ่งเป็น 3 กลุ่มใน 12 ด้าน ที่สะท้อนภาพความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศ ซึ่งปีนี้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 32 ด้วยคะแนน  4.7 ซึ่งนับว่าดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 34 และมีคะแนน 4.6

โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า ด้านที่มีอันดับที่ดีขึ้นและส่งผลบวกต่อดัชนีความสามารถทางการแข่งขันโดยรวม ได้แก่ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ที่ได้รับคะแนนเพิ่มขึ้นจาก 4.4 เป็น 4.7 โดยเฉพาะในตัวชี้วัดสัดส่วนการเป็นสมาชิกโทรศัพท์เคลื่อนที่ / มือถือ (Mobile - cellular Telephone Subscriptions) นั้น ได้รับอันดับดีขึ้นอย่างมากจากอันดับที่ 55 ในปีที่แล้ว เป็นอันดับที่ 5 ในปีนี้ สำหรับด้านการศึกษาขั้นสูงและการฝึกอบรม มีตัวชี้วัดของการเข้าศึกษาในระดับมัธยม จากอันดับที่ 84 ในปีที่แล้ว กระโดดขึ้นเป็นอันดับที่ 8 ในปีนี้ รวมถึงด้านที่บ่งชี้ถึงการพัฒนาของประเทศอย่างชัดเจน อย่างทางด้านนวัตกรรม (Innovation) และด้านความพร้อมเทคโนโลยี (Technological Readiness) ก็ได้รับการจัดอันดับที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปีนี้ด้วย

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นทางด้านการเงินและการตลาด ที่ประเทศไทยได้รับอันดับในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก นั่นคือ การจัดหาเงินทุนผ่านทางตลาดทุนในประเทศ (Financing through Local Equity Market) ความพร้อมของบริการทางการเงิน (Availability of Financial Services) ความแข็งแกร่งของระบบธนาคาร (Soundness of Banks) และ ความเพียงพอของทุนร่วมเสี่ยง (Venture Capital Availability) ซึ่งได้รับอันดับที่ 20  23  27 และ 27 ตามลำดับ ซึ่งบ่งชี้ถึงความพร้อมทางด้านตลาดการเงินของประเทศในการสนับสนุนการเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึง ปัจจัยด้านการตลาด (Extent of Marketing) และ ระดับการมุ่งเน้นตอบสนองลูกค้า (Degree of Customer Orientation) ได้รับอันดับที่ 21 และ 25 ตามลำดับ ที่แสดงให้เห็นถึงระดับการพัฒนาในแนวคิดด้านการตลาดเช่นเดียวกัน และเห็นได้ชัดว่าในประเด็นดังกล่าวนั้น  ประเทศไทยได้รับการยอมรับเป็นอย่างสูงในระดับโลก อีกทั้งเมื่อเปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศในกลุ่ม ASEAN + 3 ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีความใกล้ชิดกับไทยเป็นอย่างสูงนั้น ผลปรากฏว่า ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับในลำดับที่ 6  เมื่อเทียบกับกลุ่ม ASEAN+3 ทั้งหมด โดยเป็นรองประเทศ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ และ จีน ซึ่งได้รับอันดับเดียวกันกับปีที่ผ่านมา นับว่าเป็นการสะท้อนสถานะทางการแข่งขันที่มั่นคงของไทยในเวที ASEAN+3 ได้เป็น  อย่างดี”

รศ.ดร.พสุ เสริมว่า “จะเห็นได้ว่าขีดความสามารถทางด้านการแข่งขันของประเทศไทยในปีดีขึ้น เนื่องจากนโยบายของรัฐบาล ที่ได้เข้าไปแก้ไขปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และการดึงต่างชาติให้เข้ามาลงทุนภายในประเทศ รวมถึงการส่งอัพเดทข้อมูลของประเทศไปยังหน่วยงานที่เป็นองค์กรระดับโลก อย่าง WTO, IMF จะเห็นว่ามีตัวชี้วัดที่ปรับอันดับกระโดดขึ้นสูง ทั้งเรื่องโทรศัพท์มือถือ และการเข้าศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษา นอกจากนี้ยังมีในส่วนของการขับเคลื่อนของภาคธุรกิจ ที่ปีนี้ส่วนใหญ่ติด Top 30 ของโลกทั้งสิ้น

 สำหรับในส่วนที่ยังต้องพัฒนาต่อเนื่อง เพื่อยกระดับการจัดอันดับให้ดีขึ้น ได้แก่ การบริหารประเทศ  การเมือง กฎหมาย การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา การตรวจสอบ และเรื่องของนวัตกรรมที่จะต้องพัฒนาสู่ 4.0 และความพร้อมด้านเทคโนโลยี ที่จะต้องขยายไปสู่ภูมิภาคทั่วประเทศ”

ทั้งนี้ การจัดอันดับเปรียบเทียบในภาพรวมของความสามารถในการแข่งขันของแต่ละประเทศ ที่ปรากฏใน GCI ประกอบไปด้วยรายละเอียด 3 กลุ่มปัจจัย แบ่งเป็น 12 ด้าน (Pillars) ที่รวมเข้าเป็นดัชนีองค์รวมดังกล่าว ได้แก่ กลุ่มปัจจัยพื้นฐาน (Basic Requirements) ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญสู่การผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจประเทศ ประกอบด้วย 4 ด้าน คือ ทางด้านสภาพแวดล้อมด้านหน่วยงาน (Institutions) โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ด้านสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomic Environment) ด้านสุขภาพและการศึกษาเบื้องต้น (Health and Primary Education) กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มเสริมประสิทธิภาพ (Efficiency Enhancers) ซึ่งจะนำไปสู่ความมีประสิทธิภาพของประเทศ ประกอบด้วย 6 ด้าน คือ ด้านการศึกษาขั้นสูงและการฝึกอบรม (Higher Education and Training) ด้านประสิทธิภาพของตลาดสินค้า (Goods Market Efficiency) ด้านประสิทธิภาพของตลาดแรงงาน (Labor Market Efficiency) ด้านพัฒนาการของตลาดการเงิน (Financial Market Development) ด้านความพร้อมเทคโนโลยี (Technological Readiness) ขนาดของตลาด (Market Size)  และกลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มนวัตกรรมและระดับการพัฒนา (Innovation and Sophistication) ซึ่งมุ่งเน้นการการผลักดันระดับนวัตกรรมของประเทศ ประกอบด้วย 2 ด้าน คือ ระดับการพัฒนาของธุรกิจ (Business Sophistication) และด้านนวัตกรรม (Innovation)

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2560

เกษตรกรไทยรู้เท่าทัน ใช้ “พาราควอต” ถูกวิธี กำจัดวัชพืช ลดต้นทุน ห่างไกลโรคภัย

สังคมอุตสาหกรรมการเกษตรของบ้านเราเน้นการผลิตเพื่อการค้าขายเสียส่วนใหญ่มานานมากแล้ว การใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ และองค์ความรู้มาช่วยทดแทนแรงงานเกษตรกรที่ลดน้อยลงก็เป็นเรื่อง
ที่จำเป็นมากเช่นเดียวกัน หนึ่งในปัจจัยการผลิตพื้นฐานของเกษตรกรทั่วโลกก็คือสารกำจัดวัชพืชที่
ทำหน้าที่ช่วยลดต้นทุนได้อย่างมีนัยสำคัญ

สารกำจัดวัชพืช “พาราควอต” มีคุณสมบัติทำลายการสังเคราะห์แสงของใบไม้ เมื่อฉีดพ่นไปโดนส่วนที่เป็นใบสีเขียวจะทำให้วัชพืชแห้งเหี่ยวและตายภายใน 1-2 ชั่วโมง โดยไม่มีฤทธิ์ทำลายระบบรากและโคนต้น กลไกการทำงานของสารตัวนี้กำจัดเฉพาะศัตรูพืชเท่านั้น ด้วยคุณสมบัติที่มีประสิทธิภาพสูง โดยผ่านการขึ้นทะเบียนผู้ใช้อย่างถูกต้องกว่า 80 ประเทศทั่วโลก ในประเทศไทยนั้นใช้มานานกว่า 50 ปี นิยมใช้กับพืชเศรษฐกิจหลัก อย่างอ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ซึ่งมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 500,000 ล้านบาท บนพื้นที่เกษตรในไทย 149 ล้านไร่ในปัจจุบัน ด้วยต้นทุนที่ต่ำในการเลือกใช้สารพาราควอต จึงทำให้เกษตรกรรายย่อยสามารถควบคุมต้นทุนการผลิตได้อย่างดี ส่งผลให้มีรายได้เพิ่ม และนำไปสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นการลดแรงงานไปได้อย่างมาก

เป็นที่รู้กันดีว่าขณะนี้ยังไม่มีสารทดแทนที่มีประสิทธิภาพและต้นทุนต่ำเทียบเท่ากับสารพาราควอต หากจะใช้แรงงานคนหรือเครื่องทุ่นแรงกำจัดหญ้า ก็ดูเหมือนว่าจว่าจะต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลน
แรงงาน ท้ายที่สุดก็ทำให้เกิดต้นทุนที่สูงขึ้น ยกตัวอย่างให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น การใช้แรงงานถางหญ้าในพื้นที่ 1 ไร่นั้นต้องใช้แรงงาน 4-6 คนต่อวัน คิดเป็นค่าใช้จ่ายสูงถึงไร่ละ 1,200-1,400 บาท เมื่อเทียบกับการใช้พาราควอตกำจัดวัชพืชนั้นเสียค่าใช้จ่ายเพียงไร่ละ 160-190 บาทเท่านั้น

คงไม่ปฏิเสธว่าประเด็นในเรื่องความปลอดภัยในสุขภาพนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเรื่องการควบคุมต้นทุน สารพาราควอตได้รับการขึ้นทะเบียนและจัดจำหน่ายกว่า 80 ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศ
ที่เข้มงวดในการขึ้นทะเบียนอย่าง สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์

มาดูกันทีละประเด็นกับความปลอดภัยของสารพาราควอตปริมาณตกค้างของสารพาราควอตในอาหารและสิ่งแวดล้อม

หน่วยงานผู้เชี่ยวชาญขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and and Agriculture Organization-FAO) ตรวจสอบและยืนยันความปลอดภัยเรื่องปริมาณตกค้างในอาหาร
และสภาพแวดล้อม ในฝั่งประเทศไทยมีผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลรามาธิบดีกล่าวยืนยัน
ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นโดยกรมวิชาการเกษตรว่าการใช้สารกำจัดวัชพืชพาราควอตจะไม่ก่อให้
เกิดโรคพาร์กินสัน และโรคหนังเน่า

การดูดซึมผ่านผิวหนัง

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประเมินความเป็นพิษจากการซึมผ่านผิวหนัง และสรุปว่า พาราควอตจะซึมผ่านผิวหนังที่ปกติของมนุษย์ได้เพียง 0.25- -0.29% เท่านั้น ซึ่งถือว่ามีปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชอื่นๆ ที่ใช้โดยทั่วไป เสียงจากเกษตรกรส่วนใหญ่ที่ร่วมเสวนาวิชาการกับกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ล้วนยืนยันว่าพวกเขาใช้สารพาราควอตกำจัดหญ้ามานาน โดยไม่ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพแต่อย่างใด

นำมาสู่โรคอันตราย

ส่วนที่มีการกล่าวอ้างว่าสารพาราควอตก่อให้เกิดโรคมะเร็งในคน และมีอันตรายต่อแม่และเด็กนั้น องค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา (United States Environmental Protection Agency - US EPA) สรุปว่าสารพาราควอตไม่ใช่สารก่อมะเร็ง และไม่ขัดขวางการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อ นอกจากนี้ US EPA ยังได้สรุปว่าขนาดของละอองสารที่เกิดจากการฉีดพ่นพาราควอตในภาคการเกษตร ขนาด 400-800 ไมครอนนั้นมีขนาดใหญ่เกินกว่าจะเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ได้

หากใช้พาราควอตในปริมาณที่ถูกต้อง ควบคู่กับปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ปัญหาที่เกิดจากสารพาราควอตนั้นก็จะไม่เกิดขึ้นทั้งต่อผู้ใช้และพืชที่ปลูกเรียกว่าการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชให้ได้ประสิทธิภาพและปลอดภัยนั้นทำได้จริงในโลกแห่งการทำ
เกษตรกรรมยุคปัจจุบัน

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 27 กันยายน 2560

แผนพลังงานเชื้อเพลิงจีน

...นโยบายรัฐบาลจีนออกมาจากคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ ประกาศตั้งเป้าขยายการใช้เชื้อเพลิง “เอธานอล” ให้ได้ทั่วประเทศภายในปี 2563 เป้าหมายหลักคือ ต้องการลดมลภาวะทางอากาศตามเมืองใหญ่ และสนับสนุนใช้วัตถุดิบ “ข้าวโพด” ที่มีผลผลิตมากล้นเข้าสู่กระบวนการอุตสาหกรรมผลิตพลังงานเชื้อเพลิง

“เอธานอล” Ethanol หรือแอลกอฮอล์ที่ได้จากกระบวนการหมักพืชทุกชนิด รวมถึงอ้อย น้ำตาล กากน้ำตาล กากอ้อย บีทรูท (หัวผักกาดหวาน) แป้ง มันสำปะหลัง มันเทศ ธัญพืชต่างๆ เช่น ข้าวโพด ข้าว ข้าวสาลี ข้าวฟ่าง ผลไม้ ต้นไม้ ขี้เลื่อย และทุกส่วนของพืชสามารถผลิตแอลกอฮอล์ได้ทั้งสิ้น นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงด้วยการทำแอลกอฮอล์บริสุทธิ์

ปัจจุบัน จีนก้าวขึ้นอันดับ 1 ชาติผู้บริโภคพลังงาน ทั้งครองตำแหน่งตลาดรถยนต์รายใหญ่ ที่สุดของโลก แต่ยังมีสัดส่วนใช้เชื้อเพลิง“ชีวมวล”Biofuels เพียง 1 เปอร์เซ็นต์แต่ละปีจีนมีผลิตผลเฉพาะข้าวโพดล้นตลาดเหลือเฟือมากกว่า 200 ล้านตัน แม้รัฐบาลพยายามลดผลผลิตทั้งปีนี้และปีหน้า แต่ก็ยังมีผลผลิตเหลือเฟือ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทางแก้ปัญหาของรัฐบาลคือพยายามรักษาเสถียรภาพราคาและปรับเปลี่ยนสถานะพืชข้าวโพดมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิต “เอธานอล” ใช้ในประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนั้น เพื่อรักษาเสถียรภาพการผลิตใช้ “เอธานอล” ในระยะยาว รัฐบาลจะผันใช้เศษซากวัสดุจากธรรมชาติที่มีเหลือใช้อีกเฉลี่ยปีละมากกว่า 400 ล้านตัน เป็นวัสดุดิบเสริมภาคการผลิตเอธานอลได้เพิ่มขึ้นอีกมากกว่า 20 ล้านตัน จากปัจจุบันทั้งประเทศจีนยังใช้เชื้อเพลิง “เอธานอล” น้อยมากไม่ถึงปีละ 2.6 ล้านตัน

แม้ศักยภาพการผลิต “เอธานอล” ของจีนในอนาคตอันใกล้นี้จะมีสูงขึ้นเรื่อยๆ ศักยภาพการผลิตและใช้เชื้อเพลิงประเภทนี้ของจีนยังเป็นอันดับ 3 รองจากบราซิลและสหรัฐฯ ที่ใช้เชื้อเพลิงเอธานอลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจาก 10 กลายเป็นกว่า 85 เปอร์เซ็นต์

ขณะเดียวกัน การเร่งพัฒนาใช้เทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าก็มากและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วใกล้สู่เป้าหมายการเลิกใช้รถยนต์จากน้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิลและน้ำมันดีเซลให้ได้เร็วที่สุด

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 27 กันยายน 2560

ทุ่ม 77.5 ล้านบาท นำร่อง 8 โครงการน้ำในพื้นที่ EEC

วันที่ 26 ก.ย. 2560 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำต้วรองนายกรัฐมนตรี เศรษฐกิจ แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบงบกลางปี 2560 วงเงิน 77.5 ล้านบาท เพื่อให้สามารถเริ่มดำเนินโครงการสำคัญภายใต้แผนงานพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (2560-2564) นอกจากนี้ยังอนุมัติให้ก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ (2560-2561) สำหรับดำเนินการ 5 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการเพื่อจัดทำแผนหลักการพัฒนาและจัดการทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก 25 ล้านบาท 2.ระบบสูบผันน้ำคลองสะพาน-อ่างเก็บน้ำประแสร์ 5.7 ล้านบาท 3.อาคารอัดน้ำท้ายอ่างเก็บน้ำประแสร์ 4.2 ล้านบาท 4.ขุดลอกอ่างเก็บน้ำดอกราย 44.8 ล้านบาท 5.เพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล 154 ล้านบาท รวม 234.6 ล้านบาท

ทั้งนี้ งบประมาณในส่วนที่เหลือจำนวน 707.7 ล้านบาท กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน จะขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2561 ต่อไป จากทั้งหมด 8 โครงการ วงเงินรวม 787.3 ล้านบาท

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2560 

เลื่อนแล้ว..เปิดจุดผ่านแดนถาวรแห่งที่ 2 จ.สระแก้ว เหตุติดปัญหาขั้นตอน กม.ไทย

สระแก้ว - เลื่อนเปิดด่านถาวรแห่งที่ 2 จ.สระแก้ว หลังติดปัญหาขั้นตอนทางกฎหมายของไทย ที่ต้องรอมติเห็นชอบจาก ครม.เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก่อนเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ด้านนายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา เซ็ง..บอกเลื่อนเปิดช้ากระทบฤดูหีบอ้อย ที่ต้องใช้แรงงานต่างๆด้าวถึง 3 หมื่นคน

 วันนี้ (26 ก.ย.) นายณัฏฐชัย นำพูลสุขสันติ์ ปลัดจังหวัดสระแก้ว พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารและตัวแทนส่วนราชการ ได้ประชุมร่วมกับ นายเฮือง ซุ ฮอน รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระตะบอง และเจ้าหน้าที่ฝ่ายกัมพูชา ที่ห้องประชุม ที่ว่าการอำเภอคลองหาด อ.คลองหาด จ.สระแก้ว เพื่อหารือเกี่ยวกับการยกระดับจุดผ่อนปรนบ้านเขาดิน อ.คลองหาด ซึ่งอยู่ตรงข้ามบ้านพนมได อ.สำเภอลูน จ.พระตะบอง ราชอาณาจักรกัมพูชา ให้เป็นจุดผ่านแดนถาวรแห่งที่ 2 ของ จ.สระแก้ว ซึ่งผลการประชุมเบื้องต้น สรุปว่า ประเทศกัมพูชา มีความพร้อมที่จะเปิดให้บริการจุดผ่านแดนถาวรในวันที่ 1 ต.ค.นี้ แต่ในทางตรงกันข้าม กับมีปัญหาที่ส่วนราชการของไทย ที่ยังขาดความพร้อม และยังจะต้องรอดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย

 โดย นายณัฏฐชัย เผยว่าสาเหตุที่หน่วยงานราชการไทยยังขาดความพร้อม เป็นเพราะขั้นตอนการนำเสนอต่อสภาความมั่นคงแห่งชาติ และกระทรวงมหาดไทย ที่จะเป็นจะต้องให้มีการพิจารณาเพื่อขอความเห็นชอบ ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี

 “ซึ่งหลังจากคณะรัฐมนตรีอนุมัติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กระทรวงมหาดไทยก็จะออกประกาศเพื่อเข้าสู่คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงจะสามารถเปิดจุดผ่านแดนถาวรแห่งใหม่ได้อย่างเป็นทางการได้ ซึ่งในขั้นตอนของพื้นที่ขณะนี้พร้อมหมดแล้ว แต่ยังติดอยู่ระหว่างการนำเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบ”

 นายณัฏฐชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากขั้นตอนการดำเนินงานของส่วนราชการ กัมพูชา ไม่เหมือนกับส่วนราชการไทย จึงทำให้ยังไม่สามารถเปิดจุดผ่านแดนถาวรแห่งที่ 2 ได้ตามที่มุ่งหวัง แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าทั้งในส่วนกัมพูชา และไทย ย่อมต้องการที่จะให้มีการเปิดจุดผ่านแดนถาวรแห่งใหม่ในระยะเวลาอันรวดเร็ว โดยคาดว่าภายในเดือน ต.ค.นี้การดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ จะแล้วเสร็จ ส่วนจะกำหนดวันเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อใด จะต้องมีการประสานไปยัง จ.พระตะบอง อีกครั้ง

 ด้าน ร.อ.สุเทพ มากสาคร นายกเทศมนตรีคลองหาด กล่าวว่าเพิ่งได้รับทราบข้อมูลว่า การเปิดจุดผ่านแดนถาวรแห่งที่ 2 ของ จ.สระแก้ว มีปัญหาติดขัดที่ส่วนราชการไทย ซึ่งก่อนหน้านี้เทศบาลคลองหาด เพิ่งได้รับการประสานให้เตรียมรถน้ำ และส่งเจ้าหน้าที่เข้าทำความสะอาดบริเวณพื้นที่จัดงานในวันที่ 30 ก.ย.ก่อนจะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ต.ค.นี้ แต่เมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็จะต้องเลื่อนการทำความสะอาดออกไป

 ขณะที่ นายมนตรี คำพล นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา กล่าวว่าหากการเปิดจุดผ่านแดนถาวรเลื่อนออกไปช้ากว่าที่กำหนดไว้มาก ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อช่วง ฤดูหีบอ้อย ที่จะเริ่มประมาณกลางเดือน พ.ย. นี้ ซึ่งสมาคมไร่อ้อยและเกษตรกร ต้องใช้แรงงานต่างด้าวปีละ 20,000-30,000 คน และหากการวางแผนงานล้าช้าอ ก็จะส่งผลต่อการเข้ามาทำงานในพื้นที่ของแรงงานต่างด้าวด้วย

จาก https://mgronline.com วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2560 

ไทย เปิดบ้านเจ้าภาพเวที AMAF เสริมความร่วมมือ APTERR เดินหน้ายกระดับภาคเกษตร

 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เจ้าภาพจัดใหญ่ ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านเกษตรและป่าไม้ หรือ AMAF ณ จังหวัดเชียงใหม่ รุกยกระดับสินค้า แก้ปัญหาภาคเกษตร ด้าน สศก. เผย APTERR หนุนประเทศสมาชิกร่วมทำสัญญาซื้อขายข้าวล่วงหน้า ผลักดันแผนการเงินระยะ 5 ปี เพิ่มเงินทุนสำหรับดำเนินการช่วยเหลือประเทศสมาชิกกรณีประสบภัยพิบัติฉุกเฉินร่วมกัน

นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่ประเทศไทยโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ (AMAF) ระหว่างวันที่ 28 – 29 กันยายน 2560 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งประกอบด้วย การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 39 ซึ่งมีสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ กับรัฐมนตรีประเทศบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี) ( AMAF +3 ) ครั้งที่ 17 โดยมีพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน

การประชุมครั้งนี้ มีการพิจารณาและให้ความเห็นชอบต่อการดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่จะดำเนินการในปี 2561 ในด้านภาคเกษตร ประกอบด้วย 1.การกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยอาหาร 2.การพิจารณาให้ข้อเสนอแนะและให้ความเห็นชอบต่อยุทธศาสตร์ความร่วมมืออาเซียน + 3 ด้านอาหาร เกษตร และป่าไม้ 3.การพิจารณาแผนงานขององค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม หรือ APTERR ได้แก่ การผลักดันให้ประเทศสมาชิกร่วมดำเนินงานโดย การทำสัญญาซื้อขายข้าวล่วงหน้า และแผนบริหารการเงินของสำนักเลขานุการฯ ระยะ 5 ปี (2561 – 2565) และ 4.การผลักดันและติดตามการดำเนินการตามนโยบายประมงร่วมประชาคมอาเซียน

สศก. ในฐานะที่มีบทบาทในการสนับสนุนการดำเนินงานของสำนักเลขานุการ APTERR และรับผิดชอบหลักในการเป็นหน่วยงานประสานของประเทศไทย (Thailand’s APTERR Coordination Agency) รวมทั้งอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของสำนักเลขานุการ APTERR เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการดำเนินงานเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกในกรณีที่ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน พร้อมที่จะผลักดันให้ประเทศสมาชิกร่วมดำเนินงานโดยการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Forward contract) ตาม Tier 1 เพื่อให้ประเทศสมาชิกจับคู่ทำสัญญาซื้อขายข้าวในราคาที่เหมาะสม รวดเร็ว ทันต่อการช่วยเหลือ โดยขณะนี้ประเทศไทย เวียดนาม เกาหลี และญี่ปุ่น ได้เสนอตัวเป็นประเทศผู้ขายข้าว (Supplying Country) และยังอยู่ระหว่างการรอให้ประเทศเทศสมาชิกแจ้งประเทศผู้ซื้อข้าว (Demanding Country)

สำหรับการแก้ไขแผนบริหารการเงินของสำนักเลขานุการฯ สำหรับปี 2561 – 2565 ได้ดำเนินการตามมติคณะมนตรี APTERR ที่เห็นชอบให้มีการเพิ่มการบริจาคเงินทุนสำหรับการดำเนินการ สำหรับในช่วง 5 ปีข้างหน้า ในวงเงินรวมเท่าเดิม ซึ่งการดำเนินงานของ APTERR จะเกิดประโยชน์ต่อประเทศสมาชิก ในการมีระบบสำรองข้าวไว้ในยามฉุกเฉินเพื่อบรรเทาภาวะขาดแคลนอาหารในกรณีเกิดภัยพิบัติ หรือความยากจนในประเทศสมาชิกอาเซียน+3 รวมถึงให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารในระยะยาวต่อไป ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศไทยเองได้รับความช่วยเหลือในปี 2554 ในเหตุการณ์มหาอุทกภัย โดยประเทศญี่ปุ่นได้บริจาคข้าวผ่าน APTERR เป็นจำนวน 50,000 เหรียญสหรัฐฯ เพื่อซื้อข้าวของประเทศไทยจำนวน 50 ตัน และข้าวบรรจุกระป๋อง จำนวน 31,000 กระป๋อง และในคราวเกิดพายุไห่เยี่ยนที่ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศไทยได้ร่วมบริจาคข้าวให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแก่ฟิลิปปินส์ จำนวน 5,000 ตัน นับเป็นการส่งเสริมบทบาทของการประสานให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมร่วมกัน

จาก http://www.siamrath.co.th  วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2560

วอนเลิกนำเข้าเคมี 2 ชนิด 

          ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อวันก่อน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ได้มีกลุ่มประชาชนเครือข่ายวิสาหกิจฯ ชาวเขาเผ่าลีซอและไทยใหญ่บ้านกุงไม้สัก ต.ปางหมู อ.เมือง นำโดยนายประเสริฐ ประดิษฐ์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน  และนางณิชาภัทร ศรีสถิตธรรม ประธานเครือข่ายวิสาหกิจเกษตรอินทรีย์วิถีแม่ฮ่องสอน เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านนายสืบศักดิ์  เอี่ยมวิจารณ์ ผู้ว่าฯแม่ฮ่องสอน ขอให้รัฐบาลยกเลิกการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะการใช้สารพาราควอตทางการเกษตรและคลอร์ไพริฟอสใน บ้านเรือนและทางการเกษตร เนื่องจากสารเคมีดังกล่าวเมื่อนำมาใช้ในพืช ผักเป็นสารที่ก่อมะเร็งและทำลายสิ่งแวดล้อมเพราะปัจจุบันพบว่ามีการใช้สารเคมีเหล่านี้มากขึ้น จึงขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่ต่ออายุใบอนุญาตแก่สารพาราควอตและสารคลอร์ไพริฟอส และในระหว่างที่กระทรวงอุตสาหกรรมยังมิได้จัดประเภทให้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ให้กรมวิชาการเกษตรเพิ่มเติมเงื่อนไขลดจำนวนการนำเข้าสารทั้งสองชนิด และสั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมจัดประเภทให้สารเคมีดังกล่าวเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยเร็ว.

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2560 

เกษตรฯชี้ระบบเกษตรพันธสัญญามีผลต่ออุตสาหกรรมเกษตร

                         วันที่ 25 ก.ย. 60  เวลา 9.00 น. นางจินตนา ชัยยวรรณาการ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง แนวทางปฏิบัติตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 24 – 25 กันยายน 2560 โดยมี นายพีรพันธ์ คอทอง ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้กล่าวรายงาน ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนา ประกอบด้วย ผู้แทนส่วนราชการ ผู้แทนผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตร และผู้แทนเกษตรกรที่เกี่ยวข้อง จำนวน 300 คน

                        นางจินตนา ชัยยวรรณาการ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ระบบเกษตรพันธสัญญามีความสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรของประเทศ โดยเป็นระบบที่เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตทางการเกษตรและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรและเกษตรกรเข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญาจำนวนมาก

                         อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาโครงสร้างในระบบเกษตรพันธสัญญายังขาดความสมดุลและไม่เป็นธรรม โดยภาครัฐได้พยายามกำหนดนโยบายเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินการในระบบเกษตรพันธสัญญา รวมทั้งกำหนดมาตรการกำกับดูแลและคุ้มครองคู่สัญญาไม่ให้เกิดการเอาเปรียบในการทำสัญญาเพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบเกษตรพันธสัญญา แต่เนื่องจากการดำเนินงานดังกล่าวในอดีตไม่มีกฎหมายที่บังคับใช้โดยตรงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเกษตรพันธสัญญา นอกจากนี้ ยังไม่มีหน่วยงานหลักของรัฐที่จะเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงหรือมีหน้าที่ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา ตรวจสอบ ดูแล บังคับใช้และให้มีการปฏิบัติตามสัญญาด้วยความสุจริตและเป็นธรรม

                         นางจินตนากล่าวต่อว่า   รัฐบาลได้ตระหนักถึงสภาพปัญหาดังกล่าว จึงได้กำหนดแนวทางให้ภาครัฐ ทำหน้าที่เป็นกลไกสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตร และเกษตรกรเข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญา และการกำกับตรวจสอบ ควบคุม และพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรเพื่อให้มีความมั่นคงทางด้านรายได้ และได้รับการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการผลิต รวมทั้งผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรสามารถประกอบธุรกิจโดยได้รับผลผลิตที่มีคุณภาพมาตรฐานตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ โดยได้ตราพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์และกลไกการดำเนินงานให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ในอันที่จะส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาให้มีความเข้มแข็งและเกิดความเป็นธรรม

                         ทั้งนี้ ได้มุ่งเน้นให้ภาครัฐทำหน้าที่สนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรและเกษตรกรเข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญาที่เป็นธรรม ประกอบด้วย การรับแจ้งการประกอบธุรกิจและการเลิกการประกอบธุรกิจในระบบเกษตร     พันธสัญญา การจัดเก็บเอกสารสำหรับการชี้ชวนในระบบเกษตรพันธสัญญา การกำหนดรูปแบบสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา การกำหนดแบบสัญญากรณีสัญญาที่อาจมีผลกระทบอย่างสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อม การเสนอแผนการพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา และการกำหนดกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เป็นต้น

               โดยมีคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา คณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และคณะกรรมการเปรียบเทียบ เป็นกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงาน​​การขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 ดังนั้น ทุกภาคส่วนจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจในหลักการเหตุผล และสาระสำคัญของพระราชบัญญัติ รวมทั้งหลักเกณฑ์กลไกที่ใช้ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามกฎหมาย อันจะส่งผลให้ภาครัฐโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภาคเอกชน และภาคเกษตรกร ร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานตามบทบาทที่เกี่ยวข้องภายใต้กรอบของกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ    

                     นายพีรพันธ์ คอทอง ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง แนวทางปฏิบัติตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 ในครั้งนี้ จะเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ทราบแนวทางการปฏิบัติ สิทธิ และหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตร และเกษตรกร ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 ตามกรอบของพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 และกลไกการดำเนินงานร่วมกันของภาคส่วน   ต่าง ๆ

                    สำหรับกิจกรรมในการสัมมนา ประกอบด้วย การบรรยาย เรื่อง ชี้แจง Overview พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 การบรรยาย เรื่อง สาระสำคัญและผู้ที่เกี่ยวข้องตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 และการบรรยายเรื่อง แนวทางการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2560 

เกษตรฯถกแผนความร่วมมือเสนอที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียน

เกษตรฯถกแผนความร่วมมือเสนอที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนเห็นชอบ 28 – 29 ก.ย.นี้

          นายเลิศวิโรจน์  โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวในโอกาสเป็นประธานการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 39 ณ โรงแรมเลอเมอริเดียน ว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมเตรียมการเพื่อนำเสนอประเด็นต่าง ๆ ก่อนเสนอเข้าที่ประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 39 และรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ กับรัฐมนตรีประเทศ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ครั้งที่ 17 ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 28 -29 ก.ย.นี้  ซึ่งประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้จะทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเป็นรองประธาน

          สำหรับวาระสำคัญในการประชุมครั้งนี้มีหลายประเด็นที่สำคัญ  ทั้งที่เป็นการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานที่ผ่านมาของอาเซียน อาทิ  การจัดทำมาตรฐานฉลากสิ่งแวดล้อมสำหรับสินค้าปลาทูน่าและผลิตภัณฑ์ของอาเซียน เพื่อส่งเสริมการค้าสินค้าปลาทูน่าและผลิตภัณฑ์ระหว่างอาเซียนและตลาดโลก การจัดตั้งกลุ่มเจรจาด้านการเกษตรและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  และการรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือด้านอาหาร การเกษตร และป่าไม้ของอาเซียนกับประเทศจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี รวมถึงประเด็นที่ใหม่แต่ละประเทศยกขึ้นมาพิจารณาเพื่อหาข้อสรุปและบรรจุเป็นวาระการประชุมในระดับรัฐมนตรีให้ความเห็นขอบ เช่น การขับเคลื่อนนโยบายประมงอาเซียนที่ไทยผลักดันให้ประเทศสมาชิกอาเซียนดำเนินการร่วมกันภายใต้กลไกอาเซียน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางการประมงและความมั่นคงอาหารของประชาคมอาเซียน

           "การประชุมครั้งนี้ เราคาดหวังว่ากลุ่มอาเซียนจะใช้ประโยชน์จากจุดแข็งที่หลากหลายของเราประเทศสมาชิกในการทำงานร่วมกัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถในด้านความปลอดภัยด้านอาหารการเกษตรการประมงปศุสัตว์และป่าไม้  ซึ่งจะคำนึงถึงความจำเป็นในการประสานกิจกรรมต่างๆ ที่ต่างเห็นพ้องร่วมกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดความร่วมมือในการส่งเสริมความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคมกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เพื่อให้มั่นใจว่าผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมจะเข้าถึงเกษตรกรและประชาชนของประเทศสมาชิก ในขณะเดียวกันการลงทุนในภาคเกษตรที่แข็งแกร่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการจ้างงานเพิ่มความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบและสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างยั่งยืนด้วย" นายเลิศวิโรจน์ กล่าว

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2560 

เกษตรกร รวมพลปฏิญญายกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรสู่เกษตร 4.0

 เกษตรกรรวมพลร่วมปฏิญญาเดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาศพก.-แปลงใหญ่ สนองนโยบายปีแห่งการยกระดับคนการบริหารจัดการมาตรฐานสินค้าเกษตรสู่เกษตร 4.0

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวในการสรุปผลการสัมมนารวมพลคนศพก. –แปลงใหญ่ ตามโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเชื่อมโยงเครือข่ายศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) สู่การส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ว่า การรวมตัวกันประชุมเกษตรกรจากทั่วประเทศในครั้งนี้ นับว่าเป็นโอกาสสำคัญยิ่ง ที่ได้เปิดโอกาสให้เกษตรกรได้เสนอแนวคิดการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน รวมทั้ง แนวคิดการพัฒนาร่วมกัน ต้องเกิดการพัฒนาองค์ความรู้ การพัฒนาเกษตรกร และการพัฒนาสินค้าเกษตร

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า การสัมมนาฯ ครั้งนี้ ผู้แทนเกษตรกรสมาชิกศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร และผู้แทนเกษตรกรแปลงใหญ่ สมาชิกแปลงใหญ่ทั้งประเทศ ยังได้ประกาศปฏิญญาการขับเคลื่อนการพัฒนาศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรและการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาปฏิบัติดังนี้ การพัฒนาศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ข้อ 1 พัฒนา ศพก. ให้มีความพร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้ ฝึกปฏิบัติ เพื่อเชื่อมโยงไปสู่ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ข้อ 2 เป็นกลไกการขับเคลื่อนและประสานการทำงานร่วมกันระหว่าง ศพก แปลงใหญ่ และเครือข่าย ข้อ 3 สร้างและพัฒนาเครือข่ายของ ศพก. ให้ครอบคลุมกิจกรรมการเกษตรในพื้นที่ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการบริการทางการเกษตร การพัฒนาแปลงใหญ่ ข้อ 4 พัฒนากลุ่มให้เข้มแข็ง ปฏิบัติตามกฎระเบียบของกลุ่มอย่างเคร่งครัด รวมทั้งบริหารจัดการโดยยึดหลักการมีส่วนร่วม ข้อ 5 เชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างเกษตรกร ภาครัฐ และเอกชน ให้เป็นรูปธรรมและมีความยั่งยืนข้อ 6 ผลิตสินค้าให้มีคุณภาพและมาตรฐานภายใต้การดำเนินงานโดยใช้ตลาดนำการผลิตการเชื่อมโยงเครือข่าย ศพก. สู่การส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ข้อ 7 สร้างอุดมการณ์และแนวคิดในการพัฒนา กำหนดกติกาปละเคารพข้อตกลงร่วม เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย นำไปสู่การพัฒนา อย่างมีส่วนร่วม ข้อ 8 สร้างหลักสูตรการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การบริหารจัดการสินค้าเกษตร การสร้างมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตามอัตลักษณ์ ของสินค้าอย่างเหมาะสมร่วมกัน และข้อ 9 ยึดมั่นในหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 คือ เข้าใจ เข้าถึง และร่วมพัฒนา ทั้งหมดที่เกิดขึ้น จะเป็นแนวทางในการพัฒนาการเกษตรอย่าง มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ต่อไป

จาก http://www.siamrath.co.th   วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2560 

ม.ขอนแก่นผลิต “ก๊าซไฮเทน” จากน้ำอ้อย

ม.ขอนแก่นประสบความสำเร็จเปลี่ยนน้ำอ้อยเป็น “แก็สไฮเทน”พลังงานทดแทนใหม่ เผยผลทดสอบมีประสิทธิภาพใกล้เคียงน้ำมัน เพิ่มทางเลือกให้กับการใช้ประโยชน์จากอ้อย

ศ.อลิศรา เรืองแสง อาจาร์ยประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยถึงความสำเร็จในการวิจัย

ใช้ประโยชน์จากน้ำอ้อยเพื่อผลิตพลังงานว่า มุ่งเน้นให้เกิดพลังงานทดแทนที่สามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ และเป็นอีกทางหนึ่งทางเลือกของการเพิ่มมูลค่าอ้อยนอกเหนือจากการใช้ผลิตน้ำตาล โดยได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.)

ขั้นตอนการวิจัยเริ่มจากการผลิตไฮโดรเจนในถังหมักโดยใช้น้ำอ้อยเป็นวัตถุดิบ แล้วส่งไปใช้เป็นวัตถุดิบผลิตมีเทนที่ผลิตได้ถูกนำมาผสมกันเรียกว่า”ไฮเทน”(hythane)ซึ่งมีค่าพลังงานสูงกว่าแก๊สธรรมชาติ(CNG) เมื่อนำไปทดลองผลิตกระแสไฟฟ้าในเครื่องปั่นไฟขนาดเล็กพบว่าสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องปั่นไฟได้เป็นอย่างดี

อีกทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเครื่องยนต์ ช่วยให้ประหยัดเชื้อเพลิง และลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสารประกอบไฮโดรคาร์บอนลงได้มากกว่า 80% เมื่อเที่ยบกับการใช้แก๊สธรรมชาติ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของไฮเทนที่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกในอนาคตของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

นอกจากน้ำอ้อยแล้ว วัตถุดิบอื่นๆสามารถนำไปใช้ในการผลิตไฮเทนได้เช่นกันเช่น น้ำเสียจากโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง น้ำเสียจากโรงงานน้ำตาล และของเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรม เช่น ชานอ้อย ลำต้นปาล์มน้ำมัน เป็นต้น ดังนั้น งานวิจัยนี้จึงสามารถนำไปใช้เป็นต้นแบบสำหรับการผลิตไฮเทนจากชีวมวลชนิดอื่นๆได้อีกด้วย ซึ่งจัดว่าเป็นการต่อยอดวัตถุดิบที่มีอยู่ภายในประเทศและของเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมเกษตรให้เป็นเชื้อเพลิงที่มีประสิทธิภาพสูง ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2560 

เช็กแนวรบเขตเศรษฐกิจ EEC ธุรกิจไทย-เทศรวมหัวบุกลงทุนใหม่ 

          นับตั้งแต่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ได้ถูกประกาศขึ้นเป็นนโยบายสำคัญของประเทศ รัฐบาลและภาคเอกชนต่างเร่งเดินหน้าให้โครงการที่เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดเกิดเป็นรูปธรรมให้ได้ โดยนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวในงานสัมมนา "EEC แม่เหล็กเศรษฐกิจไทยเชื่อมโลก"จัดโดยเครือมติชน ว่าร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 28 กันยายนนี้ เพื่อมารองรับและสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน ขณะเดียวกันได้กำหนดระเบียบการลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือ PPP ในโครงการ EEC ที่เตรียมจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในสัปดาห์หน้านี้ด้วย

          ทั้งนี้ โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือ PPP จะประกอบไปด้วย 1) โครงการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภา มูลค่าลงทุน 160,000 ล้านบาท 2) โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เชื่อมต่อ 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา มูลค่าลงทุน 180,000 ล้านบาท 3) โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 มูลค่าลงทุน 60,000 ล้านบาท และ 4) โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 มูลค่าลงทุน 80,000 ล้านบาท ก็จะเข้าสู่กระบวนการร่าง TOR ในปลายปีนี้ จากนั้นจะเริ่มเปิดประมูลได้ในช่วงต้นปี 2561 "หลังจากนั้นเราจะใช้เวลาอีก 3-4 เดือนคัดเลือกผู้ลงทุน ก่อนจะประกาศรายชื่อผู้ชนะ โครงการลงทุนทั้งหมดในช่วงครึ่งปีหลัง" นายอุตตมกล่าว

          ใช้หุ่นยนต์เข้าสู่อุตฯ 4.0

          ขณะที่มุมมองของภาคเอกชนไทยตลอด 6 เดือนที่ได้ร่วมทำงานกับภาครัฐ ทั้งในเวที "ประชารัฐ" และเวทีอื่น ๆ นั้น นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การที่ประเทศไทยจะหลุดพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลาง EEC จะเป็นตัวเข้ามาช่วยขับเคลื่อนได้ โดยเฉพาะรายได้จากภาคบริการ ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนต่อ GDP ถึง 50% มีสัดส่วนการใช้แรงงาน 40%

          ดังนั้น แผนที่ได้ร่วมกันวางไว้ก็คือให้ จังหวัดชลบุรี เป็นศูนย์การจัดประชุม แสดงสินค้า และนิทรรศการ จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จังหวัดระยอง เป็นการท่องเที่ยวชุมชนเชิงธุรกิจควบคู่กัน โดยมีระบบคมนาคมเชื่อมแต่ละจังหวัดเข้าด้วยกัน และจะใช้ธุรกิจโรงแรม ศูนย์นิทรรศการ ที่มีอยู่เดิมเป็นแหล่งเทรนนิ่ง เรียนรู้เพื่อสร้างบุคลากรด้านบริการขึ้นมา

          ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ด้วยสภาวะของภาคอุตสาหกรรมที่กำลังก้าวสู่ยุค "อุตสาหกรรม 4.0" ซึ่งเป็นยุคของเทคโนโลยีแห่งการทำลายล้าง ส่งผลทำให้สมาชิกใน 45 กลุ่มของ ส.อ.ท. "ตื่นตัวเพราะกลัวสูญพันธุ์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ยังต้องพึ่งพาแรงงาน" ขณะที่สมาชิกส่วนใหญ่ยังคงอยู่ที่ "อุตสาหกรรม 2-2.5" ที่ยังใช้เครื่องจักรกลธรรมดาและกึ่งอัตโนมัติ มีเพียงรายใหญ่และบริษัทต่างชาติเท่านั้นที่อยู่ในระดับ "อุตสาหกรรม 3.5" ดังนั้น ไทยจำเป็นต้องมีแผน "เพราะไทยไม่สามารถไปถึงอุตสาหกรรม 4.0 ภายใน 1-2 ปีข้างหน้านี้ได้"

          ทาง ส.อ.ท.จึงกำหนดแผนไว้ว่า ในช่วง 5 ปีแรก คือ การผลักดันกลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังอยู่ระดับ 2 ไปสู่อุตสาหกรรมระดับ 3 โดยเริ่มจากการปรับปรุงกระบวนการผลิตด้วยการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้ได้ ในสัดส่วนถึง 75% เพื่อเข้ามาเพิ่มผลผลิต/หัวให้ได้ 3 เท่า การลดต้นทุน-ลดของเสีย-ลด การใช้พลังงานที่กระทบสิ่งแวดล้อม และในช่วงอีก 5 ปี ต่อมา จะผลักดันอุตสาหกรรมกลุ่มที่อยู่ระดับ 3 ให้ไประดับ 4 โดยการใช้ "อินเทอร์เน็ต" เชื่อมต่อกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ของรัฐบาล เพื่อสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ให้เกิดขึ้น

          ขณะที่เป้าหมายของประเทศไทยในอนาคต คือ การเป็นศูนย์กลางการผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ดังนั้น การสร้าง "ดีมานด์" ขึ้นมานั้น "รัฐบาลทำถูกต้องแล้วที่สนับสนุนเรื่องเงินกู้ ลดหย่อนภาษี 50% สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ต้องเริ่มต้นทำ จากปัจจุบันที่ไทยยังใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในอัตราที่ 53 ตัว/10,000 คน/ปีเท่านั้น เมื่อเทียบกับหลายประเทศอย่าง สิงคโปร์ อยู่ที่ 398 ตัว ไต้หวัน 190 ตัว แต่คนไทยจะไม่ตกงานเพราะจะเกิดอาชีพใหม่ขึ้นมา เวลาต่อสัปดาห์ของการทำงานจะลดลง ส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยวไปในตัวเช่นกัน" นายเกรียงไกรกล่าว

          ปตท.เนรมิต EECi วังจันทร์วัลเล่ย์

          นายสรัญ รังคสิริ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ใน EEC ปตท.จะใช้พื้นที่ "วังจันทร์วัลเล่ย์" จังหวัดระยอง 3,000 ไร่ จัดตั้งศูนย์ด้านการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม หรือ EECi ซึ่งได้เริ่มดำเนินการว่าจ้างบริษัทเพื่อออกแบบให้เป็นเมืองที่ทันสมัย มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อดึงนักวิจัยทำงานร่วมกัน โดย ปตท.จะลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ และแบ่งเป็นพื้นที่ของโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS), สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) และโครงการปลูกป่าวังจันทร์ รวมกันประมาณ 1,000 ไร่

          นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ที่รอการพัฒนาร่วมกันระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับบริษัท ปตท. เน้นอุตสาหกรรมหุ่นยนต์/ระบบอัตโนมัติ/ระบบอัจฉริยะ (ARIPOLIS) รวมถึงอุตสาหกรรมชีวภาพ (BIOPOLIS) การเตรียมเข้าสู่การให้บริการน้ำมันเชื้อเพลิงและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องบริเวณสนามบินอู่ตะเภากับกองทัพเรือ โดย ปตท.จะลงทุนปรับปรุงระบบท่อส่งน้ำมันอากาศยานและถังเก็บน้ำมัน ขณะเดียวกันจะเริ่มเข้าสู่อุตสาหกรรมไบโออีโคโน ที่ใช้วัตถุดิบจากพืชเกษตรมาต่อยอด นำไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ล่าสุดได้ลงทุนตั้งโรงงานไบโอเคมิคอล กับโรงงานไบโอพลาสติก นำร่องไปแล้ว

          ขณะที่ นายสมศักดิ์ กาญจนาคาร ผู้อำนวยการ บริษัท ฮิตาชิ เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า นักลงทุนญี่ปุ่นให้ความสนใจกับโครงการ EEC มาก เห็นได้จากการเข้าร่วมงานที่จัดขึ้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งรัฐมนตรี METI มองว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ญี่ปุ่นต้องการเข้ามาลงทุน ด้วยภูมิประเทศที่ดี สามารถเชื่อมโยงไปประเทศอื่นได้ ขณะเดียวกัน การที่รัฐสนับสนุนและเตรียมพร้อมพื้นที่ต่าง ๆ อย่างนิคมอุตสาหกรรม และที่สำคัญ อีอีซีน้ำไม่ท่วม

          แต่นักลงทุนญี่ปุ่นยังคงกังวลในเรื่องของนโยบายว่า "จะเดินตามแผนหรือไม่" กับปัญหาการขาดบุคลากร โดยเฉพาะ "ช่างฝีมืออาชีพ" สำหรับภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยก็ได้วางแผนการสร้างและพัฒนาบุคลากรขึ้นมาแล้ว ดังนั้น ทางฮิตาชิฯจึงมั่นใจที่จะลงทุนในโครงการวางระบบ IoT Platform Center หรือบิ๊กดาต้า

          สุดท้าย นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) กล่าวว่า ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ได้ร่วมกันทำงานระหว่างรัฐและเอกชน ทุกส่วนได้ช่วยกันทำแผนขึ้นมา และบางแผนกำลังจะเกิดเป็นรูปธรรม "เราจะไม่หยุดเดิน และต้องทำอย่างเต็มที่ เหมือนการสู้รบทำสงคราม และในอีก 6 เดือนข้างหน้าจะกลับมา update ให้เห็นสิ่งที่ EEC ได้เดินหน้าไปแล้วอย่างไร" นายคณิศกล่าว

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2560 

โรงงานภาคกลางไฟตกดับบ่อย เอกชนสบช่องร้องรัฐกลางวงครม.สัญจร 

          เอกชนร้องไฟตกดับบ่อยพื้นที่ภาคกลาง โดยเฉพาะในนิคม จี้รัฐเร่งแก้ไขหวั่นกระทบการผลิต "อุตตม สาวนายน" สั่ง กนอ.เร่งแก้ไข สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน เอกชนในพื้นที่พร้อมลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มอีก 2 ราย

          ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.สัญจร) เมื่อเร็ว ๆ นี้ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการหารือร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) รวมถึงหอการค้าไทย และผู้ประกอบการโรงงานต่าง ๆ ทั้งในและนอกพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ได้มีการนำเสนอปัญหาที่ต้องการให้ภาครัฐดำเนินการแก้ไขคือ ปัญหาไฟฟ้าตกและดับในพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (peak) ซึ่งแม้ว่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้น ๆ แต่เมื่อระบบไฟฟ้ามีปัญหา เครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ จะหยุดชะงักและต้องใช้เวลาในการเริ่มต้นระบบผลิตใหม่ โดยนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งหน่วยงานที่ดูแลคือ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) อุตสาหกรรมจังหวัด และการไฟฟ้าที่รับผิดชอบในพื้นที่ต่าง ๆ เร่งดำเนินการแก้ไข เนื่องจากในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีโรงงานรวมประมาณ 2,400 โรง และมีนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่รวม 3 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค (บ้านหว้า) และนิคมสหรัตนนคร ที่มีโรงงานตั้งอยู่อีกกว่า 200 โรง

          นายจักรรัฐ เลิศโอภาส รองผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ภายหลังจากลงพื้นที่ก็พบว่า กรณีปัญหาไฟฟ้าดับและไฟตกจะเกิดจาก 2 สาเหตุ คือ 1) อุบัติเหตุทั่วไปที่เกิดขึ้นจากระบบสายส่งไฟฟ้า และ 2) ในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ทำให้ระบบไฟฟ้ามีความตึงตัว จนกระทั่งเกิดไฟฟ้าตกหรือดับ ในแง่ของการป้องกันอุบัติเหตุนั้นสามารถทำได้ทันทีคือ การตัดแต่งต้นไม้ที่อาจจะเกี่ยวเกาะสายไฟฟ้าได้ ส่วนในแง่ของระบบไฟฟ้าก็จะประสานไปที่หน่วยงานเกี่ยวข้องต่อไปเพื่อแก้ไข ทั้งนี้ปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเพียงในพื้นที่ภาคกลางเท่านั้น ได้รับรายงานว่าเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเดิมทีก็มีปัญหาอยู่แล้ว เนื่องจากกำลังผลิตภาพรวมมีมากกว่าความต้องการใช้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น และยังต้องใช้วิธีส่งไฟฟ้าจากพื้นที่ภาคกลางลงไปเสริมด้วย รวมถึงนิคมอุตสหากรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) ที่เริ่มขยายตัวมากขึ้น จะต้องวางแผนระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคงเพื่อรองรับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน

          "อย่างในพื้นที่ภาคใต้ที่ยังไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ได้ตามแผนนั้น บางช่วงก็อาจจะต้องรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซียเข้ามาเสริม ซึ่งก็มีราคาค่าไฟฟ้าค่อนข้างแพงเมื่อเปรียบเทียบกับการซื้อไฟฟ้าจากระบบปกติ เมื่อพิจารณาพื้นที่ที่จะพัฒนาให้เกิดนิคมใหม่ ๆ ตามมา อย่างเช่น นิคมอุตสาหกรรมสะเดา จังหวัดสงขลา แต่ในช่วงเริ่มต้นของนิคมอาจจะยังไม่มีปัญหาเพราะผู้ประกอบการเป็นกลุ่มคลังสินค้าที่ไม่ได้มีความต้องการใช้ไฟฟ้ามากนัก รวมถึงขณะนี้ต้องดูนิคมอื่น ๆ ทั่วประเทศด้วยว่า มีความพร้อมด้านไฟฟ้าเพื่อรองรับการขยายตัวหรือไม่"

          ด้านแหล่งข่าวจากผู้ประกอบการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมกล่าวว่า ขณะนี้มีผู้สนใจที่จะเข้ามาลงทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าในพื้นที่ประเภทโรงไฟฟ้าขยะ ประเภท RDF พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร รวม 2 ราย เช่น บริษัทในเครือเบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) และบริษัท พีจี แอนด์ ซี 5714 จำกัด ซึ่งหากพัฒนาโครงการในพื้นที่ได้ก็จะช่วยแก้ปัญหาไฟฟ้าตกดับได้ ที่สำคัญจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนที่สนใจเข้ามาลงทุนด้วย

          ขณะที่นายวรวุฒิ อนุรักษ์วงศ์ศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า บริษัทเตรียมขยายการลงทุนเพื่อพัฒนาโรงไฟฟ้าในพื้นที่รองรับความต้องการใช้ของผู้ประกอบการที่จะเพิ่มขึ้นในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จากเดิมที่มีกำลังผลิตเพียง 117 เมกะวัตต์ ให้เพิ่มเป็น 235 เมกะวัตต์

          ด้าน กฟผ.รายงานถึงระบบไฟฟ้าในพื้นที่ภาคกลาง กรุงเทพฯ และปริมณฑลว่า เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ซึ่งในอนาคตจะเริ่มมี โรงไฟฟ้าที่หมดอายุลง ทำให้ กฟผ.ต้อง เตรียมสร้างส่วนโรงไฟฟ้าทดแทนเพื่อรักษาความมั่นคงให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานในช่วงปี 2562-2568 ซึ่งส่วนใหญ่เป็น โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง รวม 5 โรง กำลังผลิตโรงละ 1,300 เมกะวัตต์ รวมกำลังการผลิตใหม่ในช่วงดังกล่าว 6,500 เมกะวัตต์

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2560 

 ไทยจับมือญี่ปุ่นเร่งเครื่อง'อีอีซี'เดินหน้าลงทุน 

"เจโทร"ย้ำญี่ปุ่นพร้อม ขยายลงทุนอีอีซี เล็งฐานธุรกิจบริการ รับสังคมสูงวัย  "ไทย"ชู4.0 เปลี่ยนสู่อุตสาหกรรมใหม่  หนุนฮับเชื่อมการลงทุนภูมิภาค คาดปีแรกดึง 30 บริษัทใหญ่ลงทุน

          การเดินทางมาเยือนไทยของ คณะนักธุรกิจญี่ปุ่น  570 ราย ระหว่างวันที่ 11-13 ก.ย.ที่ผ่านมา  เพื่อศึกษาการลงทุนในไทยและร่วมเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ตามนโยบาย"ไทยแลนด์ 4.0" โดยเฉพาะการลงทุน ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)

          นายเทพชัย หย่อง ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมสนทนากับ นายฮิโรคิ มิทสึมะตะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) กรุงเทพฯ, นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ถึงมุมมองการเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่สำคัญของญี่ปุ่น ปัจจุบันลงทุนในไทยกว่า 7,000 บริษัท ถือเป็น นายจ้างต่างประเทศรายใหญ่ที่สุด มีการจ้างงานไทยกว่า 7 แสนคน

          เจโทรชี้ญี่ปุ่นเล็งขยายลงทุนอีอีซี

          นายมิทสึมะตะ กล่าวว่าการ มาเยือนไทยของนักธุรกิจญี่ปุ่น 570 คน ซึ่งนำทีมโดยนายฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (เมติ) ของญี่ปุ่น มีทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ และเอสเอ็มอีทั่วประเทศ ถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญ

          ปัจจุบันไทยกำลังเร่งนโยบาย "ไทยแลนด์ 4.0" และโครงการอีอีซี ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนยกระดับและศักยภาพอุตสาหกรรมไทย โดยเจโทร พร้อมสนับสนุนไทย และจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้นโยบาย ดังกล่าวสำเร็จเป็นรูปธรรมได้

          ในการเยือนไทยของนักธุรกิจญี่ปุ่น เจโทรได้จัดบิซิเนส แมทชิ่ง โดยมีธุรกิจไทยกว่า 200 บริษัทพบกับนักธุรกิจญี่ปุ่น เพื่อหา พาร์ทเนอร์พัฒนาธุรกิจร่วมกัน ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีจาก ผู้ประกอบการญี่ปุ่น

          จากการสำรวจของหอการค้าญี่ปุ่น ที่ทำแบบสอบถามไปยังสมาชิกบริษัทญี่ปุ่นใน จ.ระยอง ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พบว่า 40% ตอบว่าสนใจที่จะขยายการลงทุนเพิ่มเติมในอนาคตเมื่อโครงการอีอีซีเกิดขึ้น

          หนุนภาคบริการลงทุนไทย

          นายมิทสึมะตะ กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลไทยประกาศนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 และอีอีซีถือเป็น จุดเปลี่ยนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงยกระดับฐานะ การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในอนาคต ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมประเภทใหม่ ที่ไม่ใช่การผลิตเท่านั้น แต่ยังมีอุตสาหกรรมบริการ เช่น ร้านอาหาร โลจิสติกส์ การท่องเที่ยว ซึ่งญี่ปุ่นมีโนว์ฮาวในการพัฒนาร่วมกัน ดังนั้นนอกจากจะส่งเสริมภาคผลิต เจโทรจะส่งเสริมภาคบริการจากญี่ปุ่นมาไทยด้วย

          "บทบาทของบริษัทญี่ปุ่น จะมีส่วนผลักดันและส่งเสริมให้ ไทยแลนด์ 4.0 เป็นรูปธรรมได้มาก ในอนาคตอันใกล้นี้ไทยกับญี่ปุ่นต้องร่วมกันทำทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและการสร้างบุคลากร"

          นอกจากนี้ไทยจะเป็นฐานธุรกิจใหม่ที่สอดคล้องกับการก้าวสู่สังคมสูงวัยของไทย เช่นด้าน เฮลธ์ แคร์ หรือธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ ตลอดจนธุรกิจการดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ญี่ปุ่นสนใจเข้ามาลงทุนในไทยและอาเซียน

          ญี่ปุ่นส่งเสริม"ไทยแลนด์4.0"

          นายวีระศักดิ์ กล่าวว่าภายใต้ความร่วมมือผ่านคณะกรรมการ ร่วมระดับสูงของไทยและญี่ปุ่น ได้วางกรอบความร่วมมือหลายด้าน เช่น กระทรวงอุตสาหกรรมไทยกับเมติ เพื่อพัฒนาอีอีซี, การลงทุน ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาบุคลากร โดยจะปรับปรุงระบบการศึกษาของไทย เพื่อพัฒนาแรงงานที่มีทักษะ เช่น ด้านวิศวะที่สามารถสร้างนวัตกรรมได้ในอุตสาหกรรมต่างๆ

          การที่นักธุรกิจญี่ปุ่น 570 คน เดินทางมาเยือนไทย และลงพื้นที่ อีอีซี เป็นผลมาจากการวางพื้นฐาน ของรัฐบาลทั้ง 2ฝ่าย ที่ร่วมมือกันจะพัฒนาทั้งโครงสร้างพื้นฐานและด้านซอฟต์แวร์ รวมทั้งเข้ามามีบทบาท ในการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ ในอีอีซี และสนใจเส้นทางรถไฟจากกรุงเทพฯไปอีอีซี โดยญี่ปุ่นจะเข้ามาเป็น ดีเวลลอปเม้นต์ พาร์ทเนอร์ ในการพัฒนาอีอีซี ซึ่งเป็นการพัฒนาประเทศไทยตามนโยบาย 4.0

          "อีอีซี ถือเป็นหัวใจของการ ทรานส์ฟอร์ม ประเทศไทย ก้าวขึ้นไปสู่ประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว การที่ญี่ปุ่นเข้ามาเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาอีอีซี หมายความว่า เข้ามาเป็นหุ้นส่วนพัฒนาประเทศไทยไปสู่ 4.0"

          ดึงลงทุนเชื่อมเส้นทางภูมิภาค

          นายวีระศักดิ์ กล่าวว่านักลงทุน ญี่ปุ่น มองประเทศไทยเป็น "ฮับ" ของกลุ่ม CLMVT หรือในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 5 ประเทศ ที่มีเส้นทางเชื่อมต่อทางบก ซึ่งแนวทางการลงทุนของญี่ปุ่นไม่ได้มองการลงทุนรายประเทศ โดยมุ่งลงทุนระดับภูมิภาค ที่เป็นสายการผลิตเดียวกัน เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์หลัก อยู่ในไทย ขณะที่ชิ้นส่วน กระจายอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านไทย

          ดังนั้นในการหารือของ คณะทำงานกลุ่มอนุภาคลุ่มน้ำโขง เพื่อการจัดทำแผนเชื่อม 5 ประเทศ CLMVT อำนวยความสะดวก

          ให้กับการลงทุนของญี่ปุ่น ซึ่งมี ความสนใจโครงการ ต่างๆ เช่น อีสต์เวสต์ อีโคโนมิก คอริดอร์ (แม่สอด-มุกดาหาร) เชื่อม เส้นทางหลวงจากอินเดีย ผ่าน เมียนมาถึงแม่สอดไปมุกดาหาร และเชื่อมเส้นทางต่อไปถึงลาว และดานัง เวียดนาม

          ญี่ปุ่นยกระดับลงทุนอุตฯ

          นายคณิศ กล่าวว่าญี่ปุ่นมุ่งสู่การเชื่อมโยงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เอสเอ็มอี และต่างประเทศ (Connected Industries) ดังนั้น อุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในไทย จำเป็นต้องยกระดับสู่อุตสาหกรรมที่ใช้ระบบอัตโนมัติและอินเทอร์เน็ต เพื่อเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) การลงทุนญี่ปุ่น เชื่อมโยงการผลิตในประเทศต่างๆ ที่เข้าไปลงทุน

          โดยอุตสาหกรรมเดิมจะ ยกระดับการทำงาน และมีการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งกลุ่มนี้มีหลายส่วนที่กำลังหารือร่วมกัน ทั้ง รถยนต์ไฟฟ้า, อากาศยาน, การแพทย์ รวมทั้งหารือกับบริษัทรายใหญ่ อย่าง อายิโนะโมะโต๊ะ ขยายการลงทุนด้านการวิจัยอาหารและการเกษตรต่อเนื่อง

          "การลงทุนในอีอีซี ไทยเน้นเรื่องเทคโนโลยีและพัฒนาบุคลากร หากญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนพร้อมด้วยเทคโนโลยีใน 10 อุตสาหกรรม เป้าหมาย ไทยให้ความสนใจเป็นอันดับแรก"

          อีอีซีปีแรกดึงลงทุน30บริษัท

          นายคณิศ กล่าวว่าการเดินทาง มาเยือนไทยของนักธุรกิจญี่ปุ่น 570 รายที่ผ่านมา ได้จัดทำบินิเนส แมทชิ่ง ซึ่งมีดีลเกิดขึ้น 3,000-4,000 ข้อตกลง หลังจากนี้จะติดตาม ผลดีลต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้เกิดการลงทุนจริง

          จากการทำประมาณการ 10 อุตสาหกรรม ที่มีการต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิม เช่น รถยนต์ เป็นรถไฟฟ้า เป็นรูปแบบการลงทุนต่อเนื่องจากอุตสาหกรรมหลักเดิมของญี่ปุ่น โดยกลุ่มนี้จะมีสัดส่วน 70% ในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า และเป็นอุตสาหกรรมสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่วนอุตสาหกรรมใหม่ เช่น อากาศยาน หุ่นยนต์ จะเข้ามาลงทุนในช่วงหลัง

          ขั้นตอนอีอีซีปีแรก คือหา นักลงทุนเข้ามาลงทุน ส่วนการลงทุนต้องใช้เวลา เช่น ปลายปีนี้ อาจจะออก "ทีโออาร์" เพื่อดึงนักลงทุน เข้ามาลงทุน สนามบิน รถไฟความเร็วสูง และปีหน้าจะเกิดการลงทุนจริง คาดภายใน 1 ปีจะดึงบริษัทขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนให้ได้ 30 บริษัท เช่น แอร์บัส ลงทุนศูนย์ซ่อมใหญ่, อาลีบาบา อีคอมเมิร์ซ และดึงการรถลงกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า คาดว่าอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ดึงเข้ามาจะมีการลงทุนเต็มรูปแบบใน 5 ปี

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2560 

'อีอีซี'อนาคตใหม่เศรษฐกิจไทยชูญี่ปุ่น..แม่เหล็กดึงทั่วโลกปักฐาน             

          ผ่านไปสดๆ ร้อนๆ กับงานสัมมนา "อีอีซี แม่เหล็กเศรษฐกิจไทยเชื่อมโลก" จัดโดยมติชน เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีตัวแทนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันฉายภาพความคืบหน้าการพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อย่างคับคั่ง

          งานนี้ นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขา ธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ยืนยันว่าอีอีซีคืบหน้ามาเป็นลำดับตั้งแต่การจัดทำแผนงานและนโยบาย ตั้งสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) มาได้ 6 เดือนแล้ว จนขณะนี้ชักจูงให้นักลงทุนเข้ามาลงทุน หากการลงทุนครั้งนี้ขยายตัวได้ 10% เชื่อว่าจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวได้ถึง 5% ต่างจากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การลงทุนขยายตัวเพียง 3% ทำให้จีดีพีขยายตัวเพียง 2-3% ที่เน้นดึงดูดต่างชาติให้มาลงทุนอีอีซีไม่ใช่เพราะคนไทยไม่มีเงินทุน แต่เพราะต้องการให้ต่างชาติมาลงทุน พร้อมกับถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับคนไทยด้วย

          จากข้อมูลของ สกรศ.ระบุว่า อีอีซีเป็นแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการพัฒนาและยกระดับเชิงพื้นที่ในเขต 3 จังหวัดคือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ต่อยอดจากอีสเทิร์น ซีบอร์ด (Eastern Seaboard) ซึ่งทำมาตลอด 30 ปี

          เป้าหมายการลงทุนในอีอีซีมี 4 กลุ่ม 15 โครงการ และ 5 โครงการหลัก ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 โครงสร้างพื้นฐาน กลุ่มที่ 2 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งมี 10 อุตสาหกรรม กลุ่มที่ 3 ท่องเที่ยว และกลุ่มที่ 4 การสร้างเมืองใหม่ โดย 15 โครงการจะกระจายไปอยู่ใน 4 กลุ่มหลัก ในส่วน 5 โครงการหลัก จะเป็นโครงการที่ให้ความสำคัญระยะแรกที่ต้องทำให้เกิดขึ้นก่อน ได้แก่ สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบัง รถไฟความเร็วสูง อุตสาหกรรมไฮเทคสำหรับอนาคต เช่น รถยนต์ไฟฟ้าและการสร้างเมืองใหม่

          คลอดพ.ร.บ.อีอีซีเอื้อลงทุน

          ในส่วนของการโหมให้เกิดการลงทุนจริงนั้น นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการการบริหารการพัฒนาอีอีซี ระบุว่า ในวันที่ 28 กันยายนนี้ รัฐบาลจะเสนอร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. ... (พ.ร.บ.อีอีซี) เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คาดว่ากฎหมายจะผ่านความเห็นชอบเร็วที่สุดคือ ปลายปีนี้ และช้าสุดคือ ต้นปีหน้า

          "รัฐบาลมั่นใจว่าจะมีนักลงทุนเทคโนโลยีขั้นสูงจากทั่วโลกที่สนใจอีอีซีอยู่แล้ว เกิดความเชื่อมั่น และมีจำนวนนักลงทุนขนาดใหญ่ของโลกเข้ามาลงทุนในอีอีซีภายในปีนี้ประมาณ 30 บริษัท"

          นายอุตตมย้ำว่า อีอีซีไม่ได้เริ่มจากศูนย์ แต่ต่อยอดจากอุตสาหกรรมที่เราแข็งแกร่งอยู่ก่อนแล้ว เช่น จากอุตสาหกรรมยานยนต์สู่ยานยนต์ไฟฟ้า ปิโตรเคมีสู่ปิโตรเคมีขั้นสูง ขณะเดียวกันจะมีอุตสาหกรรมบางอย่างที่มีจุดเริ่มในอีอีซี เช่น เทคโนโลยีชีวภาพ รวมทั้งในพื้นที่อีอีซีมีท่าเรือ สนามบิน รถไฟอยู่แล้ว แต่ต่อไปจะเป็นการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองใหม่ และเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย

          เร่งพีพีพีดึงเม็ดเงินลงอีอีซี

          นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า เพื่อให้การลงทุนแบบพีพีพีในพื้นที่อีอีซีเกิดเร็วขึ้นกว่าพีพีพีปกติ มีการลดระยะเวลาดำเนินการลงเหลือ 10 เดือน จาก 20 เดือน ตั้งแต่เตรียมโครงการถึงทำสัญญาก่อสร้าง คาดว่าระเบียบของพีพีพีในอีอีซีจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในเดือนกันยายนนี้ โดยจะหยิบโครงการสำคัญขึ้นมาทำก่อน ได้แก่ โครงการสนามบินอู่ตะเภา โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (เอ็มอาร์โอ) โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯระยอง โครงการก่อสร้างท่าเรือมาบตาพุด ท่าเรือแหลมฉบังส่วนต่อขยาย รวมมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท ในขั้นตอนการออกทีโออาร์ คาดจะแล้วเสร็จปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า คัดเลือกเอกชนให้เสร็จกลางปีหน้า และเริ่มลงทุนก่อสร้าง

          ขณะเดียวกันรัฐบาลกำลังเร่งเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุน ล่าสุดเมื่อวันที่ 11-13 กันยายน นายฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (เมติ) นำคณะนักธุรกิจญี่ปุ่นกว่า 500 ราย เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อกระชับความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุน และลงพื้นที่ศึกษาดูงานอีอีซี ถือเป็นคณะดูงานที่ใหญ่สุดในประวัติศาสตร์

          ยุ่นดันฮับซัพพลายเชนจ์เออีซี

          โดยก่อนหน้านี้นายฮิโรชิเกะมองว่าเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้การปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ประสบความสำเร็จได้ คือ คอนเนกเต็ด อินดัสทรี (Connected Industry) คือ การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วยระบบฐานข้อมูลหรือดาต้า แนวทางนี้ญี่ปุ่นจะนำมาใช้กับไทย เป้าหมายในลำดับต่อไป คือ การผลักดันไทยเป็นศูนย์กลาง(ฮับ)ซัพพลายเชนจ์ของภูมิภาคอาเซียน

          นายฮิโรยูกิ อิชิเกะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) มองว่า ไทยกำลังกลับมาเป็นเป้าหมายในการลงทุนของอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรม 4.0 มีเครื่องมือสำคัญ คือ อีอีซี เชื่อว่านโยบายนี้จะเป็นตัวกำหนดอนาคตของบริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนไทยแล้ว และกำลังจะเข้ามาลงทุนหลังจากนี้

          นายโซจิ ซาคาอิ ประธานหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ กล่าวว่า จากการสำรวจของหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ พบว่าประมาณ 40% ของบริษัทสมาชิกแสดงความสนใจที่จะลงทุนในอีอีซี และมีแนวโน้มจะลงทุนเพิ่มขึ้นในอนาคต หากโครงการลงทุนของรัฐบาลมีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น อาทิ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนารถไฟความเร็วสูงในพื้นที่ ญี่ปุ่นมองว่าไทยมีความน่าสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพอย่างมาก เนื่องจากไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นเดียวกับญี่ปุ่น จึงมีความเป็นไปได้ที่ทางญี่ปุ่นจะเข้ามาลงทุนด้านอาหารเสริมและอาหารสุขภาพ อย่างไรก็ตามในระยะแรกอาจเป็นลักษณะการเข้ามาตั้งบริษัทซื้อขายสินค้าเพื่อสำรวจตลาดก่อน จากนั้นจึงจะพิจารณาว่าจะมีการตั้งโรงงานหรือไม่

          ญี่ปุ่นแม่เหล็กดึงชาติอื่นลงทุน

          ด้านภาคเอกชนของไทย นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย ระบุว่า หอการค้าไทยประเมินการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในอีอีซีของภาครัฐเฉลี่ย 3 แสนล้านบาทต่อปี ภายในระยะเวลา 5 ปี รวมกับการลงทุนต่างๆ จากภาคเอกชนแล้ว จะทำให้ จีดีพีเพิ่มประมาณ 1-1.5% ต่อปี ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้ดียิ่งขึ้น ขณะนี้พบว่าเริ่มมีนักลงทุนต่างชาติให้ความเชื่อมั่นและประกาศแผนการลงทุนในอีอีซีบ้างแล้ว เช่น แอร์บัส โบอิ้ง และอาลีบาบา

          สอดคล้องกับแหล่งข่าวจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ระบุว่า การมาเยือนของคณะนักธุรกิจญี่ปุ่นส่งผลดีต่อภาพลักษณ์และความชัดเจนของการส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลไทย ทำให้ภาคเอกชนมั่นใจ และเป็นการส่งสัญญาณไปถึงประเทศอื่นๆ ที่กำลังตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทยได้เร็วขึ้น เชื่อว่าการพบปะครั้งนี้จะเกิดประโยชน์สูงสุดในอนาคตและเป็นไปตามเป้าหมายรัฐบาล โดยเฉพาะการผลักดันอีอีซีให้บรรลุตามแผนเป็นรูปธรรมได้เร็วที่สุด เชื่อว่าจากนี้การลงทุนจากญี่ปุ่นและทั่วโลกจะเข้าไทยมากขึ้น ช่วยดึงเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้เกิน 4% ต่อปี

          ข้อมูลจากกระทรวงอุตสาหกรรมยังยืนยันว่า ขณะนี้มีบริษัทใหญ่ของญี่ปุ่น จะเริ่มลงทุนในอีอีซีแล้ว เช่น บริษัท เด็นโซ่ จากญี่ปุ่น จะพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ใช้อินเตอร์เน็ตในการดำเนินการทั้งระบบ และบริษัท ฮิตาชิ มีความสนใจพัฒนา บิ๊กดาต้าในพื้นที่อีอีซี เพื่อให้บริการบริษัท ที่เข้าลงทุนในอีอีซี

          เดินหน้าโรดโชว์ชักจูงญี่ปุ่น

          นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ภาพรวมการลงทุนช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ได้รับการตอบรับที่ดี ยอดคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมดใกล้ระดับ 4 แสนล้านบาทแล้ว จากเป้าหมายทั้งปีนี้ 6 แสนล้านบาท ปัจจัยสำคัญมาจากการปรับสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ ที่สอดรับกับนโยบายสนับสนุน 10 อุตสาหกรรม เป้าหมาย ประกอบกับการกำหนดพื้นที่ลงทุนในอีอีซี เชื่อว่าผลจากการเยือนไทยของญี่ปุ่นจะทำให้ยอดขอลงทุนจากญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นแน่นอน ปัจจุบันสัดส่วนการขอ ส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติอันดันหนึ่งยังคงเป็นญี่ปุ่น คิดเป็น 54% และมีโอกาสเพิ่มขึ้นเป็น 60% ในอนาคต

          "มาตรการส่งเสริมลงทุนในอีอีซีที่บีโอไอ จะทำแพคเกจใหม่ เพื่อทดแทนแพคเกจปัจจุบันที่จะหมดอายุในสิ้นปีนี้ ขณะนี้ยังไม่ได้ออกรายละเอียดของแพคเกจ กำลังศึกษาปรับปรุงให้ดีที่สุดก่อน ในส่วนแผนการโรดโชว์ไปญี่ปุ่น เพื่อชักจูงการลงทุนมาในพื้นที่อีอีซี จะเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมต่อเนื่องไปจนสิ้นปีนี้ โดยจะไปหลายเมืองหลัก เช่น โตเกียว โอซาก้า นาโกย่า และกระจายไปยังเมืองอื่นๆ ที่ยังไม่ค่อยได้ไป เช่น ฟุกุโอกะ มิเอะ เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลไทยส่งเสริม ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือแพทย์ และวัตถุดิบอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง" นางหิรัญญากล่าว

          อีอีซีถือเป็นก้าวสำคัญของอนาคตภาคอุตสาหกรรมไทย การลงทุนจากญี่ปุ่นจะเป็นส่วนสำคัญให้อีอีซีเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม แต่จะเกิดขึ้นจริงมากน้อยเพียงใด ยังต้องติดตาม!!

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2560 

เกษตรฯ พร้อมเคลียร์ปม 3 วัตถุอันตราย   

          นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญในการลดการใช้สารเคมี และมีนโยบายที่จะผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานและปลอดภัยจากสารตกค้างทั้งในผลผลิตและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ตามที่มีข้อเสนอของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 เสนอให้พิจารณาลด ละ เลิกใช้ วัตถุอันตราย paraquat dichloride, chlorpyrifos และ glyphosate-isopropylammonium เนื่องจาก มีข้อมูลที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม โดยเสนอให้ ห้ามใช้วัตถุอันตราย paraquat dichloride และ chlorpyrifos ภายในต้นเดือนธันวาคม 2562 จำกัดการใช้ glyphosate-isopropylammonium อย่างเข้มงวด

          ซึ่งภายหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขได้แถลงการณ์แล้ว กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการ ดังนี้ จัดประชุมเพื่อรวบรวมข้อมูล โดยมีนักวิชาการด้านสาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมประชุม เมื่อวันอังคารที่ 25 เมษายน 2560 แจ้งหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 9 หน่วยงาน โดยมีหน่วยงานแจ้งข้อคิดเห็นและส่งข้อมูลเพิ่มเติม จำนวน 6 หน่วยงาน ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับข้อกังวลด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของคณะกรรมการดังกล่าว คณะทำงานดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายที่ต้อง เฝ้าระวังของกรมวิชาการเกษตร เพื่อศึกษาข้อมูลพิษวิทยา ประเมินความเป็นอันตราย และผลกระทบจากการใช้วัตถุอันตราย โดยได้ประชุมไปแล้ว 8 ครั้ง คณะทำงานพิจารณาสารทดแทนวัตถุอันตราย paraquat dichloride, chlorpyrifos และ glyphosate-isopropylammonium ของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งมีผู้แทน จากมหาวิทยาลัย 5 สถาบันร่วมเป็นคณะทำงานฯ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การ หาสารที่จะนำมาใช้เป็นสารทางเลือก กรณีที่มีความจำเป็นต้องควบคุมสาร ทั้ง 3 ชนิด โดยได้ประชุมไปแล้ว 3 ครั้ง จัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็น ของผู้มีส่วนได้เสียในการพิจารณาลด ละ เลิกใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิด จำนวน 4 ครั้ง และจัดทำแบบสอบถามเพื่อสำรวจความเห็น โดยประชาสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์ของกรมวิชาการเกษตร ตู้ ปณ. 1031 และทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ardpesti@doa.in.th

          อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ผลจากการดำเนินการทั้งหมดดังกล่าว ได้ข้อสรุปว่ากรมวิชาการเกษตร จะดำเนินการต่อข้อเสนอของคณะกรรมการ ขับเคลื่อนฯ ดังนี้ glyphosate จะจำกัดการใช้อย่างเข้มงวดตามข้อเสนอ โดยให้ ผู้ประกอบการรายงานการนำเข้า การผลิต การส่งออก การจำหน่าย พื้นที่การใช้ และปริมาณคงเหลือ ระบุพื้นที่ห้ามใช้ในฉลากวัตถุอันตรายควบคุมการโฆษณา paraquat dichloride และ chlorpyrifos กรมวิชาการเกษตรได้รวบรวมข้อมูล ด้านพิษวิทยาของสาร ด้านประสิทธิภาพในการใช้ ด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้านการห้ามใช้ในต่างประเทศ ด้านการห้ามใช้ตามข้อตกลงของอนุสัญญา ข้อมูลจากการรับฟังความคิดเห็น รวมทั้งข้อมูลด้านสุขภาพอนามัย ที่ได้รวบรวมจาก หน่วยงานด้านสาธารณสุข เนื่องจากกรมฯ ยังไม่มีความเชี่ยวชาญที่จะพิจารณา นำข้อมูลด้านสุขภาพอนามัย มาวินิจฉัยได้อย่างชัดแจ้งว่าสารดังกล่าวมีอันตราย ต่อสุขภาพของมนุษย์ตามที่มีการกล่าวอ้างหรือไม่ จึงเห็นสมควรที่จะขอคำปรึกษาในเรื่องดังกล่าวจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน และประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ รวมไปถึงผู้แทนจาก หน่วยงานด้านสาธารณสุข ตามอำนาจหน้าที่ในมาตรา 7 (4) แห่ง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2560

ธปท.ห่วงพรบ.อีอีซีเกิดช่องโหว่'อุตตม'ย้ำรับฟังความเห็นแล้วบิ๊กตู่สั่งสอบโกงโครงการ9101 

          'แบงก์ชาติ'แนะปรับแก้ ม.58 ร่าง พ.ร.บ.อีอีซี ป้องกระทบกำกับเงินทุน-เสถียรภาพการเงินประเทศ ก.อุตฯชง สนช. 28 ก.ย. แจงรับฟังความเห็น-วิเคราะห์ดีแล้ว

          ธปท.ห่วงกม.อีอีซีกระทบการเงิน

          เมื่อวันที่ 23 กันยายน รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ....(พ.ร.บ.อีอีซี) ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบไปเมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา มีสาระสำคัญข้อหนึ่งระบุว่า สิทธิในการทำธุรกรรมทางการเงิน โดยยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน และสามารถใช้เงินตราต่างประเทศ เพื่อชำระค่าสินค้า บริการระหว่างผู้ประกอบการในเขตส่งเสริมได้ เรื่องนี้ ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังมีข้อกังวลว่า การให้สิทธินี้ในร่างกฎหมายดังกล่าว อาจจะทำให้เกิดช่องโหว่ของกฎหมายที่จะมีผลต่อการดูแลเสถียรภาพการเงินของประเทศ เนื่องจากเป็นการให้สิทธิผู้ประกอบกิจการหรือผู้อยู่อาศัยในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้รับการยกเว้น ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินทั้งหมดหรือบางส่วน จึงต้องการให้แก้ไขร่างกฎหมายนี้ในมาตรา 58 เพื่อให้ ธปท.สามารถพิจารณาการให้สิทธิยกเว้นในเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินทั้งหมดหรือบางส่วน ร่วมกับคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาอีอีซี เพื่อไม่ให้กระทบต่อการกำกับดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ และอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งเสถียรภาพการเงินของประเทศ

          รายงานข่าวระบุอีกว่า นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีความเห็นว่าในร่างกฎหมายนี้ ไม่จำเป็นต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการโอนอำนาจของบีโอไอ และคณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายไปเป็นอำนาจของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาอีอีซี เพื่อความชัดเจนในภาคปฏิบัติ โดยเฉพาะภาคเอกชนที่ประสงค์จะลงทุนในพื้นที่อีอีซี ขณะเดียวกันกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีความเห็นในร่างกฎหมายนี้ว่า ให้เพิ่มกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ในมาตรา 37 (8) เพื่อประโยชน์ในการที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจะอนุญาตให้ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย เป็นผู้ชำนาญการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้

          ย้ำรับฟังความเห็นกม.อีอีซีแล้ว

          นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมาสำนักงานอีอีซีได้มีการลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง และจังหวัดฉะเชิงเทรา มาแล้วถึง 8 ครั้ง ขณะเดียวกันการนิคมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ดำเนินการตามแนวทางการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยนำร่าง พ.ร.บ. อีอีซี รับฟังความคิดเห็นผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของ กนอ. www.ieat.go.th ในระหว่างวันที่ 20 พฤษภาคม-5 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมาด้วย ขณะเดียวกันยังได้มีการวิเคราะห์ผลการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายดังกล่าวแล้ว ดังนั้น ขั้นตอนหลังจากนี้จึงไม่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นอีก โดยขั้นตอนหลังจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมนำร่าง พ.ร.บ.อีอีซี เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 28 กันยายน

          ส่งออกปลายปีค่าบาทยังเสี่ยง

          น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า การส่งออกเดือนสิงหาคม 2560 ที่บวก 13.2% ถือว่าขยายตัวสูง จากการส่งออกอุตสาหกรรมเกษตรและเกษตรแปรรูปได้มาก ประกอบกับตลาดสำคัญมีความต้องการสินค้าสูงขึ้น ทั้งสหภาพยุโรป (อียู) และสหรัฐอเมริกา การส่งออกเดือนสิงหาคมถือเป็นช่วงที่มีการส่งออกปริมาณมากอยู่แล้ว เห็นตัวเลขส่งออกได้มากก็ดีใจ ต้องรอลุ้นการส่งออกในเดือนกันยายนและตุลาคมปีนี้ว่าจะขยายตัวสูงแค่ไหน เพราะเป็นช่วงที่มีการส่งออกสูงที่สุดของปี เพราะผู้นำเข้าต่างประเทศจะต้องเร่งนำเข้าสินค้าเพื่อไปใช้ในช่วงเทศกาลทั้งวันขอบคุณพระเจ้า คริสต์มาส และปีใหม่ หากทั้ง 2 เดือนดังกล่าวส่งออกได้สูงมาก มีโอกาสลุ้นมากขึ้นที่การส่งออกทั้งปีนี้จะบวกถึง 5% อย่างไรก็ตามการส่งออกในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมยังมีความเสี่ยง อาจจะชะลอลง ซึ่งเป็นช่วงเวลาปกติทุกปีอยู่แล้ว เพราะได้สั่งซื้อและนำเข้าสินค้าไปล่วงหน้าแล้ว ขณะเดียวกันยังต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนว่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นอีกหรือไม่ หากบาทยิ่งแข็งค่า รายได้ของผู้ส่งออกที่เป็นดอลลาร์แลกกลับมาเป็นเงินบาทจะลดลง นั่นหมายถึงรายได้และกำไรของบริษัท หากเงินบาทแข็งไปถึง 32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จะทำให้เงินบาทหายไปถึง 6%

          น.ส.กัณญภัคกล่าวว่า สำหรับการส่งออก ทั้ง 8 เดือนแรกปีนี้ดีขึ้น เชื่อว่าจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งพึ่งพาการส่งออกในสัดส่วนถึง 65% ดีขึ้นตามไปด้วย และมีความเป็นไปได้ที่จะขยายตัวถึง 3.6% ตามตัวเลขของกระทรวงการคลัง อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจประเทศจะดีขึ้นหรือไม่ต้องดูการบริโภคภายในประเทศ ประกอบกับการใช้จ่าย และงบลงทุนของภาครัฐ โดยขณะนี้ประชาชนก็ยังระมัดระวังการจับจ่าย จากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง

          ยอดสินเชื่อแบงก์ยังเติบโต

          ด้านรายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยแจ้งว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สรุปข้อมูลสินเชื่อ เงินฝาก และสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง เมื่อสิ้นสุดเดือนสิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา พบว่า อัตราสินเชื่อสุทธิเพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จำนวน 3.2 หมื่นล้านบาท เป็น 10.71 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราเพิ่ม 0.3% เมื่อเทียบกันแบบเดือนต่อเดือน และเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปี 2559 พบว่าเพิ่มขึ้น 2.78% โดยอัตราที่เพิ่มขึ้นกระจายไปยังทุกกลุ่มธนาคาร ทั้งนี้จากผลที่เกิดขึ้นยังนับได้ว่าเป็นเดือนแรกในรอบปีนี้ที่สินเชื่อรายย่อยมีบทบาทเป็นตัวนำการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ สินเชื่อเช่าซื้อ ซึ่งส่งผลดีต่อธนาคารที่มีสินเชื่อดังกล่าวเป็นสัดส่วนสูงในพอร์ต ทั้งนี้ปัจจัยหลักที่ทำให้สินเชื่อสุทธิเพิ่มขึ้นมาจากแรงสนับสนุนจากภาคการส่งออกที่โตดีกว่าคาด และการเร่งรัดการลงทุนในโครงสร้าง พื้นฐาน รวมถึงปัจจัยฤดูกาลที่ทำให้ความต้องการสินเชื่อหมุนเวียนในภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น

          อย่างไรก็ตามในส่วนของภาพรวมเงินฝากเดือนสิงหาคม 2560 เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม จำนวนทั้งสิ้น 5.2 หมื่นล้านบาท หรือคิดเพิ่มเป็น 0.45% รวมเป็น 11.72 ล้านล้านบาท และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อนพบว่าเพิ่มขึ้น 4.48% โดยส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นในกลุ่มธนาคารขนาดเล็กและใหญ่

          รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยแจ้งด้วยว่า สัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นต่อเนื่องของสินเชื่อตลอดช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประเมินว่าภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งปี 2560 น่าจะสามารถอยู่ที่ประมาณ 4.0% ตามที่คาด โดยมีกลไกขับเคลื่อนหลักจากสินเชื่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจรายใหญ่ที่ได้ประโยชน์จากการส่งออกและการลงทุนภาครัฐ ทั้งนี้ศูนย์วิจัยยังไม่เห็นการ กระจายตัวลงไปยังสินเชื่อในกลุ่มเอสเอ็มอีและสินเชื่อรายย่อยอย่างเต็มที่ ส่วนทิศทางของเงินฝากในช่วงที่เหลือของปีนั้นอาจประคองอัตราการเติบโตได้ในระดับที่สูงกว่าสินเชื่อ ซึ่งทำให้ประเมินว่าสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์น่าจะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง

          บิ๊กตู่สั่งสอบส่อโกงโครงการ9101

          พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกระแสข่าวการทุจริตในโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ว่าที่ผ่านมาได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมทั้งมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ที่มีการร้องเรียนลงไปติดตามข้อมูลและค้นหาความจริงเพื่อให้เกิดความกระจ่าง และรายงานผลกลับมาที่ส่วนกลางโดยด่วน โดยรัฐบาลและ คสช.จะไม่ปล่อยให้มีการทุจริตเกิดขึ้นเด็ดขาด โดยให้เจ้าหน้าที่จากส่วนกลางทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องที่สุดโดยไม่ต้องหวั่นเกรงอิทธิพลใดๆ นายกฯยืนยันว่าหลักการของโครงการดังกล่าวเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ เพราะมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน เช่น การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ การผลิตพืชและพันธุ์พืช แต่หากในทางปฏิบัติพบว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการทุจริต หรือไม่เข้าใจในขั้นตอนการปฏิบัติเนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ หรือเกิดการขัดผลประโยชน์ระหว่างกันจะต้องมีการสืบสวนให้เกิดความชัดเจน หากมีความผิดจริงจะต้องถูกลงโทษอย่างเด็ดขาด โดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ระดับใดก็ตาม

          ขอปชช.แจ้งเบาะแสให้จนท.

          "นายกฯกำชับว่า ขอให้ประชาชนร่วมมือกับภาครัฐ แจ้งข้อมูลและหลักฐานการทุจริตไปยังเจ้าหน้าที่บ้านเมืองได้ที่ศูนย์บริการประชาชน 1111 ศูนย์ดำรงธรรมทั่วประเทศ รวมทั้งตู้ ปณ. 444 ปณ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ 10200 สายด่วน 1299 หรือศูนย์รับเรื่องร้องเรียนการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ภายในหน่วยทหารที่ประจำอยู่ในพื้นที่กองทัพภาคต่างๆ ทั่วประเทศ นายกฯเน้นย้ำว่าพื้นที่ที่มีการร้องเรียน ได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและเจ้าหน้าที่กำลังเร่งดำเนินการอยู่ โดยอยากให้พี่น้องประชาชนและสื่อมวลชนที่ติดตามความคืบหน้าในเรื่องนี้ให้เวลาและความเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบด้วย เพื่อไม่ให้เกิดความกดดันหรือบั่นทอนขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน ซึ่งมีเป้าหมายขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่น สร้างความโปร่งใสให้กับสังคมไทย ตามนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ" พล.ท.สรรเสริญกล่าว

  จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2560 

คลังแทรกค่าเงิน ออก‘บอนด์’หวังกดบาทอ่อน

นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายอภิศักดิ์

ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ให้เปิดรับสมัครนิติบุคคลต่างประเทศออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาท (บาทบอนด์) ในประเทศไทยรอบพิเศษขึ้น โดยให้ผู้สนใจสมัครได้ตั้งแต่ 6 กันยายน -6 ตุลาคม 2560 นี้ และเมื่อได้รับการคัดเลือกจะต้องออกบาทบอนด์ภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 - 31 มีนาคม 2561

สำหรับการออกบาทบอนด์รอบพิเศษครั้งนี้ เนื่องจากกระทรวงการคลังเห็นว่าสภาพคล่องในตลาดมีมาก นอกจากนี้ รมว.คลัง ยังอนุญาตให้นำเงินบาทที่กู้มาได้แลกเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ นำไปใช้นอกประเทศ เพื่อมีเงินไหลออกนอกประเทศเพิ่มมากขึ้น และช่วยให้ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอยู่อ่อนค่าลง

“ปกติการออกบาทบอนด์จะต้องกู้เป็นเงินบาทและใช้ในประเทศเท่านั้น แต่การออกบาทบอนด์รอบพิเศษครั้งนี้ให้แลกเป็นดอลลาร์สหรัฐฯได้ด้วย จะช่วยให้เงินดอลล่าร์สหรัฐไหลออกนอกประเทศมากขึ้น และช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าได้ระดับหนึ่ง” นายสุวิชญ กล่าว

สำหรับการออกบาทบอนด์ปกติในแต่ละปี จะอนุญาตให้นิติบุคคลต่างประเทศออกได้ 3 ครั้ง วงเงินรวมกันไม่เกิน 1 แสนล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาการออกบาทบอนด์ได้รับความสนใจจากนักลงทุน เนื่องจากให้ผลตอบแทนสูง ทำให้มีผู้สนใจจะออกบาทบอนด์อย่างต่อเนื่อง

นายสุวิชญ กล่าวว่า การพิจารณาให้นิติบุคคลต่างประเทศออกบาทบอนด์ได้ ทางกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะเป็น

 ผู้พิจารณา เมื่อได้รับการคัดเลือกทาง รมว.คลัง ต้องเป็นผู้เซ็นอนุญาต หลังจากนั้นผู้ได้รับการคัดเลือกถึงจะไปยื่นเรื่องขออนุญาตกับ ก.ล.ต. เพื่อออกบาทบอนด์ได้ ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินการค่อนข้างมาก

ล่าสุดกระทรวงการคลังได้อนุญาตให้นิติบุคคลต่างประเทศออกบาทบอนด์ 2 ราย คือ Ministry of Finance of the Lao People’s Democratic Republic (MOFL) และ Nam Ngum 2 Power Company (NN2PC) โดยต้องออกบาทบอนด์ภายใน 31 พฤษภาคม 2561

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมา ขยับแข็งค่าเล็กน้อยท่ามกลางแรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ ที่ชะลอลงก่อนการประชุมเฟด ประกอบกับยังมีแรงหนุนเป็นระยะจากสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดี เงินบาทต้องลดช่วงบวกทั้งหมดลง และกลับไปยืนในระดับที่อ่อนค่ากว่า 33.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเมื่อวันศุกร์ 22 กันยายน 2560 เงินบาทอยู่ที่ 33.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ จากระดับ 33.08 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้านี้หรือวันที่ 15 กันยายน 2560

ก่อนหน้านี้ นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ต้องการให้ธปท.ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งอยู่ที่ 1.50% ลงมา เนื่องจากเป็นระดับสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาด จึงส่งผลให้เกิดเงินไหลเข้ามาเก็งกำไร

  จาก http://www.naewna.com วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2560 

บิ๊กตู่เร่งตั้งสนง.ทรัพยากรน้ำฯ จี้ให้เสร็จในเดือนก.ย.

“ผอ.จิสด้า” แนะรัฐตั้งหน่วยงานคุมนโยบายน้ำ มีอำนาจให้คุณให้โทษ ด้าน “บิ๊กตู่” เร่งรัดตั้ง “สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ” ให้เสร็จในเดือนก.ย.

นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์กรมหาชน) หรือจิสด้า เปิดแผยถึงกรณีนายกรัฐมนตรี เตรียมจัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ มาบูรณาการแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบ ว่า เรื่องน้ำของประเทศเป็นปัญหาเชิงนโยบายที่ทุกหน่วยต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง ถ้าไปมองเป็นจุดๆจะแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ ต้องมองภาพรวมทั้งประเทศให้ได้  ในเวลานี้หากมีการตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จะต้องกำหนดบทบาทตัวเองให้ชัดเจนว่าเป็นหน่วยงานนโยบาย อย่าไปทำเรื่องการบริหารจัดการน้ำไม่ใช่หน้าที่ ให้หน่วยงานปฎิบัติทำไป

“วันนี้ประเทศไทยยังขาดหน่วยงานที่มาทำเชิงยุทธศาสตร์น้ำอย่างจริงจัง ที่มาทำอย่างมีหลักการถูกต้อง ไม่ใช่ว่าฟังคนนั้นพูดดีดูดี ก็เอามาใส่ในแผน ยุทธศาสตร์น้ำที่ดีจะไม่เอนเอียงไปตาม ขณะนี้ยังไม่มียุทธศาสตร์น้ำของประเทศ  แผนบูรณาการน้ำเป็นเพียงรวบรวมโครงการทุกหน่วยงานเสนอมา พยายามจัดโครงการที่คิดกันมา 30-40 ปีเข้ามาไว้ด้วยกัน” นายอานนท์ กล่าว

ผอ.จิสด้า กล่าวอีกว่า ต้องเอาภาพของความเป็นจริงทั้งทางด้านกายภาพ ด้านเศรษฐกิจ สังคมต่างๆของประเทศ เป็นยุทธศาสตร์ท็อปดาวน์ ไม่ใช่เป็นเพียงรวบรวมโครงการ แต่ที่ผ่านมามันทำมาได้ระดับหนึ่งคร่าวๆยังไม่พอ แล้วนโยบายนี้ไม่ใช้เป็นหลักศิลาจารึกที่ทำแล้ว ปรับเปลี่ยนไม่ได้ จะต้องมีขบวนการติดตามทบทวนต่อเนื่อง จะเป็นกระทรวงน้ำ หรือไม่อีกเรื่องหนึ่ง ถ้าหากตั้งกระทรวง จะมีโครงสร้างหน่วยนโยบาย หน่วยปฎิบัติ

“หน่วยงานนโยบาย สามารถมีขึ้นได้ ที่มีอำนาจเชิงงบประมาณ การใช้กฎหมาย กำกับติดตามหน่วยงาน ให้คุณให้โทษด้วย โดยนำทุกเรื่องมานั่งหารือกัน ไม่ใช่อย่างที่เป็นอยู่ กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) ก็ป้องกันประชาชน กระทรวงเกษตรฯก็ป้องกันเกษตรกร” นายอานนท์ กล่าว

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เขียนด้วยลายมือแทงเรื่องมาให้กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เร่งรัดหารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นการเร่งด่วน โดยสิ่งที่ยังต้องการข้อมูลจากทั้ง 2 กระทรวง คือ เรื่องการโอนย้ายตำแหน่ง ยุบหน่วยงาน เช่น กรมทรัพยากรน้ำ และหน่วยงานอื่นเกี่ยวข้องอีกหรือไม่ พร้อมกับเสนอบุคคลมาดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสำนักงานฯ เพื่อให้การจัดการน้ำของประเทศเกิดประโยชน์สูงสุด ในการจัดตั้งสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีตำแหน่งเลขาธิการฯ(ระดับ 11) เป็นผู้รับผิดชอบสำนักงานฯ  ซึ่งต้องให้แล้วเสร็จในเดือนกันยายนนี้

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2560

ชะลอลงทุนโรงไฟฟ้าไบโอแก๊ส หนีรัฐเก็บค่าสำรองไฟโรงงาน-ผลตอบแทนไม่คุ้ม

เอกชนโวย รัฐเรียกเก็บค่าสำรองไฟฟ้าโรงงาน ที่ผลิตไฟฟ้าใช้เอง ส่งผลให้ความน่าสนใจลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่ลดลง ขณะที่กลุ่มโรงงานเอทานอลจากมันสำปะหลัง 3-4 ราย อาจชะลอตัดสินใจลงทุนโรงไฟฟ้าไบโอแก๊ส

 นายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท อุบลไบโอเอทานอล จำกัด และในฐานะนายกสมาคมผู้ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมจะเรียกเก็บค่าสำรองไฟฟ้า (backup rate) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มใหม่ที่หันมาผลิตไฟฟ้าใช้เอง โดยเป็น กลุ่มอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ 33 กิโลวัตต์ขึ้นไป ซึ่งบริษัทก็มีการตั้งโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ ขนาดกำลังการผลิต 1 เมกะวัตต์เพื่อใช้เอง ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าของทั้งกลุ่มบริษัทอยู่ที่ 20 เมกะวัตต์

 โดยบริษัทเพิ่งเซ็นสัญญากับการไฟฟ้าฯ และยอมเสียค่า backup rate อยู่ที่ 5 หมื่นบาทต่อเดือน ส่วนตัวมองว่าแม้จะเป็นนโยบายของภาครัฐที่ห่วงเรื่องปริมาณไฟฟ้าในระบบ แต่การเรียกเก็บค่า backup rate จะยิ่งทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีวัตถุดิบเหลือใช้ที่สามารถนำมาผลิตไฟฟ้าได้ชะลอการตัดสินใจสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อใช้เอง ซึ่งที่ผ่านมารัฐส่งเสริมให้ผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าใช้เองในโรงงานที่ต้องการลดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) แต่การเรียกเก็บ backup rate พบว่ามีผู้ประกอบการ 3-4 รายที่เตรียมที่จะลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อใช้เอง ยังชะลอการตัดสินใจลงทุนออกไปก่อน

“ที่ผ่านมารัฐส่งเสริมให้โรงงานที่มีวัตถุดิบเหลือใช้ นำมาผลิตไฟฟ้าใช้เอง แต่การเรียกเก็บ backup rate ทำให้ความน่าสนใจลงทุนโรงไฟฟ้าลดลง ขณะเดียวกันนโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากกลุ่ม SPP Hybird Firm ไม่ใช่ว่าผู้ประกอบการทุกรายจะสามารถขายไฟฟ้าได้ เพราะมีการจัดแบ่งโควตารายภาค แต่ประเด็นคือสายส่งไฟฟ้ารับได้หรือไม่ ต้องตรวจสอบกับทาง กฟผ. ก่อนว่าสายส่งรับได้หรือไม่” นายเดชพนต์ กล่าว

นายชลัช ลินธรรมมิตร์ กรรมการ บริษัท นํ้าตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือเคเอสแอล เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทมีโรงไฟฟ้าจากกากอ้อย เพื่อผลิตไฟฟ้าขายให้กับบริษัทในกลุ่ม แต่ก็ต้องซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฯด้วย ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาว่าเข้าข่ายต้องจ่ายค่า backup rate หรือไม่ อย่างไรก็ตามเอกชนกลุ่มโรงงานนํ้าตาลมีแผนขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง การสร้างโรงไฟฟ้าใช้เองบางส่วนสามารถลดภาระการไฟฟ้าฯได้

ดังนั้นการเรียกเก็บค่า backup rate ก็อาจทำให้การลงทุนโรงไฟฟ้าเพื่อใช้เองน้อยลง ซึ่งปัจจุบันภาคเอกชนมีการใช้ไฟฟ้าค่อนข้างมาก ต้องจ่ายค่าไฟสูง จึงต้องการลงทุนเพื่อลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ และเนื่องจากการสร้างโรงไฟฟ้าเป็นการลงทุนใหม่ย่อมต้องมีต้นทุนค่าไฟเพิ่มขึ้น แต่เมื่อรัฐเรียกเก็บ backup rate ก็มีโอกาสที่การตัดสินใจลงทุนในส่วนนี้จะน้อยลง

 อนึ่ง กกพ. เตรียมประกาศค่าไฟฟ้าสำรอง (backup rate) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มใหม่ที่หันมาผลิตไฟฟ้าใช้เอง โดยเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ 33 กิโลวัตต์ขึ้นไป แต่ยังมีความต้องการพึ่งพาระบบไฟฟ้าสำรองจากภาครัฐ ซึ่ง backup rate สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มนี้จะอยู่ในช่วง 52.71-66.45 บาทต่อกิโลวัตต์สำหรับกรณีทั่วไป และช่วง 26.36-33.22 บาทต่อกิโลวัตต์ สำหรับกลุ่มโคเจเนอเรชัน ซึ่งอัตราดังกล่าวเป็นอัตราชั่วคราว คาดประกาศใช้ภายในเดือนกันยายนนี้ และใช้ไปถึงสิ้นปี 2560 หรือจนกว่า กกพ.จะจัดทำโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่จะแล้วเสร็จในปี 2561

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 23 กันยายน 2560

Up date ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก 

          อภิชาต ทองอยู่

          tapichart@hotmail.com

          สัปดาห์ที่ผ่านมา ความเคลื่อนไหวของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ได้ขยับตัวกระตุ้นความร่วมมือกับนักลงทุนญี่ปุ่น โดยรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมไทย-ญี่ปุ่น จับมือนักลงทุนชั้นนำกว่า 600 บริษัท ลงพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC งานจบลงอย่างชื่นมื่น

          EEC เป็นเขตเศรษฐกิจที่มีความหมายยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ มีการตรากฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษมารองรับฉบับแรก เพื่อขับเคลื่อนเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจของประเทศ ให้ก้าวพ้นความถดถอยไปสู่อนาคตใหม่ สปิริตของระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ไม่ใช่เป็นแค่เรื่องของทุนหรือการแสวงกำไรในแบบเศรษฐกิจยุคที่ผ่านมา แต่หัวใจสำคัญอยู่ที่การสร้างความร่วมมือ-ร่วมทุนกับนานาประเทศ การดึงเอาเทคโนโลยี-นวัตกรรมจากต่างประเทศมาพัฒนาสู่เศรษฐกิจฐานความรู้ และมุ่งเชื่อมต่อเศรษฐกิจไทยสู่เศรษฐกิจโลกในคลื่นเศรษฐกิจโลกยุคใหม่

          เป็นที่รู้กันว่า เรากำลังดิ้นรนทางเศรษฐกิจ จากที่ต้องจมอยู่ในวงจรเศรษฐกิจเดิมที่อ่อนล้านานเกินไป ข้อมูลสำคัญหลายตัวที่บ่งชี้ว่าถึงเวลาต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพื่อวางรากฐานส่งต่อเศรษฐกิจที่มีอนาคตให้คนรุ่นต่อไป โดยเฉพาะการติดอยู่ในปัญหากับดักรายได้ปานกลาง ที่เริ่มจะเรื้อรังต้องแก้ไขอย่างจริงจัง รวมทั้งความสมดุลระหว่างรายได้กับการใช้แรงงานก็บิดเบี้ยวพิกลพิการ ซึ่งจะพบว่าจีดีพีมีการขยายตัวจากภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 40 ภาคเกษตรกรรมร้อยละ 10 และภาคบริการร้อยละ 50 แต่การใช้แรงงานในภาคเกษตรกรรมที่มีสัดส่วนจีดีพีเพียงร้อยละ 10 นั้นสูงมากถึงร้อยละ 40 แรงงานที่เหลือกระจายอยู่ในภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 20 และบริการร้อยละ 40 เป็นข้อมูลชี้บอกถึงการใช้แรงงานที่ไม่สมดุลกับรายได้!

          ขณะที่ปัญหาการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวม ยังอยู่ในระบบการผลิตเดิมๆ ในโหมดของอุตสาหกรรม 2.0 ถึง 2.5 โรงงานส่วนใหญ่ใช้จักรกลแบบธรรมดาถึงกึ่งอัตโนมัติ มีโรงงานต่างชาติบางส่วนที่ขยับไปอยู่ในโหมดอุตสาหกรรม 3.0 ถึง 3.5 แปลว่าในอนาคตอันใกล้นี้ ถ้ากลุ่มอุตสาหกรรมเก่าปรับตัวไม่ได้ก็อาจจะต้องสูญพันธุ์! เพราะศักยภาพการแข่งขันถดถอยลงทุกขณะในทั้ง 45 กลุ่มอุตสาหกรรม! วันนี้จึงจำเป็นต้องเร่งปรับตัวด้านผลิตภาพอย่างต่อเนื่อง-จริงจัง ทั้งในการเพิ่มผลผลิต การลดต้นทุน การลดของเสียและนำกลับมาใช้ และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการไปสู่ภาคอุตสาหกรรม 4.0 ต้องปรับไปสู่ระบบโรงงานอัจฉริยะ โครงสร้างอุตสาหกรรมออโตเมชั่น ที่มีกระบวนระบบการผลิตร้อยละ 75 เป็นระบบอัตโนมัติ และผลผลิตต่อหัวต้องเพิ่มขึ้น 3 เท่า เรื่องนี้สภาอุตสาหกรรมได้เสนอแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม จากแบบเดิมสู่อุตสาหกรรม 3.0 ในระยะเวลา 5 ปี และสู่ 4.0 ในอีก 5 ปีต่อไป ข้อเสนอดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาแล้ว หมายความว่าความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจของประเทศมีทิศทางชัดเจนในการปรับไปสู่นโยบายประเทศไทย 4.0

          ส่วนความคืบหน้าสำคัญในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC นอกจากการออกกฎหมายการตราพระราชบัญญัติแล้ว ความเคลื่อนไหวโดยรวมยังมีความคืบหน้าไปมาก โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน มีการประกาศพื้นที่บริเวณอู่ตะเภาเป็นเมืองการบินภาคตะวันออก ควบคู่ไปกับการพัฒนาปรับสร้างเส้นทางเข้า-ออกสนามบิน และการทยอยเปิดใช้อาคารผู้โดยสารในส่วนของ Terminal แรก-ที่รองรับผู้คนได้ 3 ล้าน/ปี และทยอยสร้างเพื่อรองรับ 15 ล้านคนต่อปี โดยใช้พื้นที่ 6,500 ไร่ พัฒนาเป็นเมืองอากาศยานและศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน

          ทางรถไฟได้เดินหน้าทั้งเส้นทางแอร์พอร์ตลิงค์ ที่เริ่มจากระยองสิ้นสุดที่ดอนเมืองมี 10 สถานี เชื่อม 3 สนามบินเข้าด้วยกัน มักกะสันจะเป็นสถานีหลักในกรุงเทพฯ มีการออกแบบการเดินทางรถไฟความเร็วสูงไว้ 2 แบบ คือแบบด่วนที่ใช้เวลาเดินทางประมาณ 40 นาที และแบบจอดสถานีรายทาง 10 สถานี จะเปิดใช้งานได้ในปี 2566 งบประมาณลงทุนราว 2.1 แสนล้านบาท และยังสร้างรถไฟรางคู่ขนสินค้าเชื่อม 3 ท่าเรือ จากมาบตาพุด-แหลมฉบัง การพัฒนาทางรางในระยะต่อไปจะเชื่อมกับรถไฟความเร็วสูงตามเส้นทางอื่นในการพัฒนาประเทศต่อไป

          ด้าน BOI มีการปรับกฎหมายขยายสิทธิประโยชน์เป็น 13 ปี ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่กำหนด มีการยกเว้นภาษีเงินได้ในกิจกรรมที่ใช้พัฒนาคน การศึกษาวิจัย การออกแบบ และการพัฒนาเชื่อมต่อกับการคู่ค้าท้องถิ่น ซึ่งว่าไปแล้วความคืบหน้าของการพัฒนาในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก หรือ EEC คืบหน้าไปอย่างต่อเนื่องในทุกมิติ ทั้งการปรับโครงสร้างพื้นฐาน การวางรากฐานการสร้าง-พัฒนาทรัพยากรบุคคล การจัดปรับระบบระเบียบกฎหมาย จนถึงการระดมทุน โดยการดำเนินงานได้กระตุ้นการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง จากนักลงทุนต่างชาติไปถึงกลุ่มคนในชุมชน รวมทั้งสถาบันที่มีบทบาทสำคัญในทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษา การปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานหลักภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย BOI การรถไฟ การท่าอากาศยาน กองทัพเรือ และ 3 จังหวัดในพื้นที่ ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของ สำนักงานคณะกรรมการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่กำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรมและคณะกรรมการบริหารระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ นับเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ที่ต้องทำงานแข่งกับความเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วน-ต่อเนื่อง เพื่อสร้างรากฐานเศรษฐกิจ-สังคมสู่การมีอนาคตอย่างยั่งยืนที่จะส่งมอบให้คนรุ่นต่อไป.

จาก http://www.thaipost.net วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2560 

อุตฯดึงเกาหลีใต้ต้นแบบพัฒนาสตาร์ทอัพ

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยถึงการเดินทางไปดูงานที่กระทรวงเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ ประเทศเกาหลีใต้ ว่ากระทรวงอุตสาหกรรมของไทยคาดหวังให้ไทยและเกาหลีใต้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (ครีเอทีฟ สตาร์ทอัพ และครีเอทีฟ เอสเอ็มอี) ร่วมกันเพิ่มขึ้นโดยเกาหลีใต้จะช่วยพัฒนาบุคลากรและแนวทางดำเนินงานต่างๆ ส่วนไทยจะช่วยสนับสนุนการลงทุนของเกาหลีใต้ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) เพื่อกระจายออกไปสู่อาเซียน

“ไทยและเกาหลีใต้จะทำงานร่วมงานแบบช่วยเหลือซึ่งกันและกันแบบวินวินทั้งคู่ ที่ผ่านมามีการลงนามบันทึกความร่วมมือ(เอ็มโอยู) เกาหลีใต้จะช่วยด้านเทคโนโลยีและครีเอทีฟ ขณะเดียวกันเราก็จะสนับสนุนการลงทุนในภูมิภาคของเขา เนื่องจากเกาหลีใต้ มีความสนใจจะเข้ามาลงทุนในไทยโดยเฉพาะอีอีซี และกระจายสู่ภูมิภาคอาเซียน ดังนั้นจึงจะชักชวนให้เข้ามาลงทุน” นายอุตตมกล่าว

ขณะเดียวกัน เกาหลีใต้ยังมีศูนย์ โคเรีย ครีเอทีฟ คอนเทนท์ เอเจนซี่ (ค็อกก้า) ดังนั้นคาดว่าจะเกิดการร่วมมือโดยตรงผ่านศูนย์ดังกล่าวได้ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมของไทยจะต้องติดตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงด้านเอสเอ็มอีคนใหม่ของเกาหลีใต้ก่อนว่าจะมีนโยบายอย่างไรจากนั้นจึงจะวางแผนว่าจะร่วมมือกันในลักษณะใดต่อไป

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) กล่าวว่า กระทรวงจะนำแนวทางการส่งเสริมเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพของเกาหลีใต้มาใช้ในการสนับสนุนเอสเอ็มอีไทย โดยสนับสนุนพื้นที่ให้ผู้ประกอบการเข้ามาใช้สำนักงานที่ภาครัฐจัดเตรียมให้ไม่มีค่าใช้จ่ายรวมทั้งจะมีพี่เลี้ยงคอยแนะนำตั้งแต่กระบวนการคิด การออกแบบ การตลาด และช่องทางการค้าเชิงพาณิชย์เพื่อส่งเสริมให้คนที่มีไอเดียสามารถประกอบธุรกิจเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาประสบความสำเร็จแล้ว 80%

ทั้งนี้ประเทศเกาหลีใต้จะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมพัฒนา SMEs และ Startup เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ยกระดับหน่วยงานดูแล SMEs ที่มีชื่อว่า Small and Medium Business

 Administration(SMBA) ขึ้นเป็นระดับกระทรวง โดยรวบรวมหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมผู้ประกอบการ เช่น หน่วยบ่มเพาะ หน่วยส่งเสริมนวัตกรรมเข้าภายใต้ MSS ด้วย นับเป็นต้นแบบที่ดีที่น่าศึกษาและสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของหลายประเทศที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเอสเอ็มอีมากยิ่งขึ้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2560

กดไลค์ให้เลย!นักวิจัย มข.ค้นพบพลังงานทดแทนใหม่ ผลิตก๊าซ “ไฮเทน”จากน้ำอ้อย

ศูนย์ข่าวขอนแก่น-พบอีก!ทางเลือกใหม่ผลิตพลังงานทดแทน นักวิจัย มข.ค้นพบการผลิตก๊าซ “ไฮเทน”จากน้ำอ้อย ทดลองใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าในเครื่องปั่นไฟแล้วประสิทธิภาพใกล้เคียงการใช้เชื้อเพลิงปกติ ทั้งให้ค่าพลังงานสูงกว่าแก๊สธรรมชาติ แนะใช้เป็นต้นแบบผลิตไฮเทนจากน้ำเสียโรงงานแป้งมัน-โรงงานน้ำตาล เหตุข้อจำกัดต้นทุนใช้น้ำอ้อยสูงทั้งกฎหมายยังไม่เปิดช่อง

เมื่อเวลา 10.30 น.วันนี้(22ก.ย.)ที่ห้องประชุมสิริคุณากร 4 สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น(มข)ศ.ดร. อลิศรา เรืองแสง ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้แถลงผลงานวิจัยการพัฒนากระบวนการผลิตก๊าชไฮเทน พลังงานทดแทนใหม่จากน้ำอ้อย ซึ่งเป็นอีกผลงานการวิจัยของนักนักวิชาการ มข.ที่พยายามตอบโจทย์ ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ มุ่งเน้นให้เกิดพลังงานทดแทนที่สามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ในอนาคต

ศ.ดร. อลิศรา เรืองแสง ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยถึงผลการวิจัยครั้งนี้ว่า เป็นการใช้ประโยชน์จากน้ำอ้อยเพื่อผลิตพลังงาน ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการใช้ประโยชน์จากอ้อย นอกเหนือจากการใช้ผลิตน้ำตาล โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล และจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) ขั้นตอนการวิจัยเริ่มจากการผลิตไฮโดรเจนในถังหมักไฮโดรเจนโดยใช้น้ำอ้อยเป็นวัตถุดิบในการผลิตภายใต้กระบวนการหมักแบบไร้อากาศ

โดยน้ำหมักจากกระบวนการผลิตไฮโดรเจนจะถูกส่งไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตมีเทนในถังหมักมีเทนซึ่ง แก๊สไฮโดรเจนและมีเทนที่ผลิตได้ เมื่อนำมาผสมกันจะได้แก๊สผสมระหว่างไฮโดรเจนและมีเทนที่เรียกว่า “ไฮเทน” (hythane)

ศ.ดร.อลิศรากล่าวว่า ไฮเทนที่ผลิตได้ถูกนำไปทดลองผลิตกระแสไฟฟ้าในเครื่องปั่นไฟขนาดเล็ก ผลการทดสอบกับเครื่องยนต์พบว่า ไฮเทนสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องปั่นไฟได้เป็นอย่างดี มีประสิทธิภาพการทำงานที่ใกล้เคียงกับการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปกติ และค่าการสึกหรอของเครื่องปั่นไฟที่ใช้ไฮเทนก็ไม่มีความแตกต่างกับเครื่องปั่นไฟที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปกติแต่อย่างใด

จากการวิจัยยังพบอีกว่า “ไฮเทน”มีค่าพลังงานสูงกว่าแก๊สธรรมชาติ (CNG) การใช้ไฮเทนในเครื่องยนต์สันดาปภายในจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเครื่องยนต์ ช่วยให้ประหยัดเชื้อเพลิง และช่วยลดการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกและสารประกอบไฮโดรคาร์บอนลงได้มากกว่า 80% เมื่อเทียบกับการใช้แก๊สธรรมชาติ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของไฮเทนที่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกในอนาคตของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม นอกจากน้ำอ้อยแล้ว วัตถุดิบอื่นๆ ก็สามารถนำไปใช้ในการผลิตไฮเทนได้เช่นกัน เช่น น้ำเสียจากโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง น้ำเสียจากโรงงานผลิตน้ำตาล และของเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมเกษตร เช่น ชานอ้อย ลำต้นปาล์มน้ำมัน เป็นต้น

“งานวิจัยชิ้นนี้จึงสามารถนำไปใช้เป็นต้นแบบสำหรับการผลิตไฮเทนจากชีวมวลชนิดอื่นๆ ได้อีกด้วย ถือเป็นการต่อยอดวัตถุดิบที่มีอยู่ภายในประเทศและของเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมเกษตรให้เป็นเชื้อเพลิงที่มีประสิทธิภาพสูง เป็นการลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังถือเป็นการสนับสนุนนโยบายรัฐในการมุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียวในยุคไทยแลนด์ 4.0 อย่างยั่งยืนได้อีกด้วย” ศ.ดร.อลิศรา กล่าวและระบุอีกว่า

กระนั้นก็ตาม ในเชิงพาณิชย์ ขณะนี้ยังไม่สามารถนำองค์ความรู้การผลิตพลังงานทดแทน “ไฮเทน”จากการน้ำอ้อยไปพัฒนาต่อยอดการผลิตเพื่อใช้ในเชิงอุตสาหกรรมได้ เนื่องจากต้นทุนการใช้น้ำอ้อยสูงมาก อีกทั้งในข้อกฏหมายก็ยังไม่สามารถทำได้ เพราะน้ำอ้อยต้องผลิตเป็นน้ำตาลได้เท่านั้น

แต่องค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยครั้งนี้ สามารถนำไปเป็นต้นแบบ (MODEL)ต่อยอดจากวัตถุดิบที่มีอยู่ภายในประเทศมากมาย โดยเฉพาะน้ำทิ้งจากโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง น้ำเสียจากโรงงานผลิตน้ำตาลอุตสาหกรรมหรือเศษวัสดุของเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมเกษตรก็ถือเป็นวัตถุดิบชั้นดีที่สามารถนำมาเข้าสู่กระบวนการผลิตก๊าชไฮเทนให้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนที่มีประสิทธิภาพสูงได้เช่นกัน

จาก https://mgronline.com วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2560 

‘บิ๊กฉัตร’ยกร่างเกษตร4.0 กระตุ้นใช้เครื่องจักรแทนคน

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สั่งการให้ น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธานโครงการแปลงสาธิต แปลงใหญ่เกษตร 4.0 โดยนำร่อง 7 แปลง เป็นต้นแบบการทำเกษตรสมัยใหม่เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และขาดแคลนแรงงานของไทย เริ่มที่ 7 สินค้า คือ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน โคนม ผลไม้ และประมง โดยนำเครื่องจักรมาใช้ในการเกษตรแทนคนเพื่อทุ่นแรง เป็นตัวอย่างทำการเกษตรไทยในอนาคต ตั้งแต่การเตรียมดิน การฉีด พ่น ยาฆ่าแมลง และเก็บเกี่ยว ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรได้กำหนดทิศทางส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเครื่องจักรกล วิทยาการ และเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อเกษตร 4.0 โดยทำเป็นร่างการทำงานฯเพื่อเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับแผนการดำเนินงานของปี 2561 ให้สอดรับกับนโยบายเกษตร 4.0 ต่อไป

แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในภาคเกษตร จะพิจารณาจาก 1.ปัญหาและความท้าทาย 1.1โครงสร้างตลาดเป็นตลาดผู้ขายน้อยราย ตั้งแต่ ผู้ผลิต ผู้นำเข้า เกษตรกร และหน่วยงานภาครัฐ 1.2 เกษตรกรใช้เครื่องจักรกลเป็นเพียงเครื่องทุ่นแรงไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจของหน่วยผลิต 1.3 เพื่อสร้างงานบริการรับจ้างในกระบวนการผลิต และ 1.4 การกำกับดูแล ขึ้นทะเบียน และมาตรฐานงานบริการรับจ้างในกระบวนการผลิตที่ชัดเจน โดยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเครื่องจักรกลจะสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้

2.ด้านการตลาด จะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรับลดภาษีนำเข้า เพื่อให้มีผู้ประกอบการเข้ามาให้ธุรกิจนี้มากขึ้น เกิดการแข่งขันส่งผลให้ราคาเครื่องจักรลดลงได้ และมีการกำกับดูแลราคาเครื่องจักร มาตรฐานการผลิต การจำหน่าย และวิธีการ กฎระเบียบในเรื่องต่างๆ รวมถึงขึ้นทะเบียนของผู้ให้บริการทั้งหมด ซึ่งมีสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ จัดทำข้อมูลการให้บริการรับจ้างเครื่องจักรต่างๆ ลักษณะคล้ายกับแกร็บ แท็กซี่ สิ่งที่จะต้องทำคือ โครงสร้างตลาด

3.การส่งเสริมการใช้ประโยชน์ ด้านโครงสร้างตลาด โดยลดอุปสรรคการนำเข้า เช่น ภาษีนำเข้า หรือ การส่งเสริมการลงทุน) กำกับราคาจำหน่าย กำหนดมาตรฐานการผลิต การจำหน่าย และการใช้ ขึ้นทะเบียนผู้ให้บริการรับจ้าง กำหนดมาตรฐานบังคับ การให้บริการรับจ้าง ตรวจสอบรับรอง กำกับควบคุมคุณภาพมาตรฐาน เชื่อมโยงข้อมูลระหว่าง ผู้ให้บริการและเกษตรกรผู้รับบริการ

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2560 

เอเชีย-ยุโรป ถกรอบ12ปี ชูร่วมมือดันอุตฯ4.0 แทนนโยบายกีดกันทางการค้า

นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 21-22 กันยายน 2560 สาธารณรัฐเกาหลี เป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจเอเชีย-ยุโรป (อาเซม) ณ กรุงโซล โดยมีรัฐมนตรีเศรษฐกิจ และผู้แทนระดับสูงจากประเทศในภูมิภาคเอเชียและยุโรป เข้าร่วมกว่า 53 ประเทศ รวมถึงองค์การระหว่างประเทศ อาทิ องค์การการค้าโลก OECD UNIDO และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย เป็นต้น ภายใต้แนวคิดความเชื่อมโยงเอเชีย-ยุโรป ด้วยการเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี

การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซม เป็นการจัดประชุมอีกครั้งรอบ 12 ปี ถือว่าจัดในช่วงเวลาที่เหมาะสม ท่ามกลางกระแสความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลก การเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายทางการค้า การปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial 4.0) และความต้องการที่จะให้เศรษฐกิจมีการเติบโตควบคู่ไปกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซม มีความสำคัญมาก เพราะมีขนาดเศรษฐกิจ มูลค่าการค้า และจำนวนประชากรสัดส่วน 60% ของโลก

สำหรับวาระสำคัญในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซม ครั้งนี้ เน้นหารือใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1.การอำนวยความสะดวกและส่งเสริมการค้าและการลงทุน ซึ่งมีการออกแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซมสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี ภายใต้ WTO เพื่อเน้นย้ำกฎเกณฑ์ทางการค้าอันเป็นรากฐานสำคัญต่อความเจริญเติบโตทางการค้าและการลงทุนในภูมิภาค และต่อต้านการกีดกันทางการค้าทุกรูปแบบ และผลักดันให้มีผลการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 11 ที่เป็นรูปธรรม

2.การเสริมสร้างการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ ผ่านการเชื่อมโยงทางการค้า การลงทุน โครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และดิจิทัล ในการนี้ มีการออกเอกสาร Seoul Initiative on the 4th Industrial Revolution ซึ่งระบุแนวทางและกิจกรรมความร่วมมือ อาทิ ความร่วมมือด้านกฎระเบียบ การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล การเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา โดยเน้นการอบรมและการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างกัน (best practice)

 3.การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เน้นการหารือเตรียมการรองรับการเปลี่ยนแปลงของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 การสนับสนุนการปฏิบัติตาม Paris Agreement เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุน เพื่อการพัฒนาและการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีแก่ประเทศกำลังพัฒนา และการสนับสนุนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 ขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals 2030) ในการนี้ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่ให้ความสำคัญการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ผ่านการพัฒนานวัตกรรม การเพิ่มมูลค่าการผลิต เสริมสร้างศักยภาพ SMEs และเศรษฐกิจชุมชนของประเทศ ตลอดจนนำเสนอโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงของภูมิภาค ทั้งการเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานและคมนาคม และด้านดิจิทัล ผ่านเครือข่ายโทรคมนาคม การรองรับการเติบโตของการค้าผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีมูลค่าสูงสาขาต่างๆ ซึ่งจะเป็นการขยายโอกาสทางเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกัน แม้อาเซมจะเป็นเวทีที่ดำเนินบนหลักการความสมัครใจ และไม่มีข้อผูกพันทางกฎหมาย แต่อาเซมจะเป็นเวทีที่ไทยสามารถผลักดันให้เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจสาขาต่างๆ ได้ในอนาคต

ทั้งนี้ การค้ารวมระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศอาเซม มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 284,243.04 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยปี 2559 มีมูลค่า 268,766.31 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 65.55% ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยไทยเสียดุลการค้า 6,165.96 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปกลุ่มประเทศอาเซม มูลค่า 268,766.31 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 65.55% ของมูลค่าการส่งออกของไทย และลดลง 0.40%

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2560 

อุตตมโชว์6เดือน-ดึงนักลงทุนอีอีซีประตูสู่เอเชีย 28กย.ส่งพรบ.เข้าสนช.คณิศนำเสวนา-ชี้คืบหน้ารบ.ชูซุปเปอร์ฟาสต์แทร็กกลินท์เปิดแผนเที่ยว3จว

          'อุตตม'เปิดงาน-ชูเป้าหมายอีอีซี ภาคเอกชนชูท่องเที่ยวชลบุรี-ฉะเชิงเทรา-ระยอง ยันเข้าสู่ยุคเทคโนฯทำลายล้างภาคอุตฯต้องปรับตัว หุ่นยนต์ทำความเป็นอยู่คนดีขึ้น 'กอบศักดิ์' ชี้ต้องดึงการลงทุนรัฐร่วมเอกชน ประตูสู่ อินโดจีน-อาเซียน-เอเชีย 'คณิศ'แย้มโบอิ้งสร้างศูนย์ฝึกอบรม

          'อุตตม'ชูอีอีซียกระดับศก.ประเทศ

          วันที่ 21 กันยายน ที่ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มติชนร่วมกับสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (สกรศ.) จัดสัมมนา "อีอีซี แม่เหล็กเศรษฐกิจไทยเชื่อมโลก" โดยมีภาคธุรกิจ ตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ และประชาชน เข้าร่วมอย่างคึกคักกว่า 700 คน

          นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ "อีอีซี แม่เหล็กเศรษฐกิจไทยเชื่อมโลก" ตอนหนึ่งว่า ประเทศอยู่ในห้วงการเปลี่ยนแปลงสังคม เศรษฐกิจ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่มีการเดินหน้านโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นเรื่องใหญ่และเป็นของใหม่ที่ต้องการความเข้าใจ ประเทศไทยต้องเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี มีการใช้ชีวิตที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ข้อมูล การทำธุรกิจล้วนต้องใช้เทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม การเดินหน้าอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 กลุ่ม ไม่ได้แปลว่าจะมุ่งแต่อุตสาหกรรม แต่ต้องให้ความสำคัญกับภาคเกษตรที่เป็นพื้นฐานของประเทศด้วย เพราะใน 10 อุตสาหกรรม มีทั้งอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ไบโอชีวภาพ และอาหารบรรจุอยู่ด้วย หมายถึงเดินไปข้างหน้าแต่ไม่ทิ้งของเก่าที่เป็นฐาน

          "ในหลักการของรัฐบาลกำหนดให้อีอีซี มีการเชื่อมโยงกับการพัฒนาพื้นที่อื่น  การพัฒนา อุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเกิดพื้นที่อื่นด้วย แต่มีจุดเริ่มในอีอีซี อาทิ ไบโอชีวภาพที่ต้องมีการพัฒนาในพื้นที่อื่นของประเทศด้วย หรืออย่างรถไฟที่มีในอีอีซีและเชื่อมต่อการขนส่งไปสู่พื้นที่อื่นและเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน" นายอุตตมกล่าว (อ่านรายละเอียดหน้า 2)

          ดึงลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน

          จากนั้นนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษ "การลงทุนรัฐ-เอกชน ในอีอีซี" ว่า คนจีนบอกว่าอยากให้พื้นที่ไหนรุ่งเรือง ให้เอาถนน โครงสร้างพื้นฐานไปให้ ความเจริญจะตามมาเอง ไทยก็เช่นกันต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นทางน้ำ อากาศ บก ราง ทั้งหมดที่ต้องทำก็จะช่วยเชื่อมพื้นที่ให้เกิดความเจริญ และสามารถเชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) รวมเป็น ซีแอลเอ็มวีที ซึ่งกลางปีหน้าจะร่วมกันทำ ซีแอลเอ็มวีมาสเตอร์แพลน  มีประชากรรวมกัน 230 ล้านคน โครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวจะเชื่อมโยงกันแบบไร้รอยต่อ ขณะนี้เรากำลังทำรถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์สายต่างๆ รถไฟฟ้า ซึ่งจะทำครบ 10 เส้นทางใน 2 ปีข้างหน้า และขณะนี้โครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ น่าจะมีมูลค่ารวมกันเกิน 2 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตามงบประมาณกว่า 60% รัฐกู้ยืมมาลงทุน แต่มีโครงการจำนวนมาก แทนที่จะใช้เงินรัฐอย่างเดียว ก็สามารถให้เอกชนมาร่วมทุน ทำให้เกิดการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน (พีพีพี) ในช่วงผ่านมา และนำมาทำในอีอีซีเกิดเป็น กระบวนการพีพีพีในพื้นที่อีอีซี

          ประตูสู่อินโดจีน-อาเซียน-เอเชีย

          นายกอบศักดิ์กล่าวว่า พีพีพีในพื้นที่อีอีซีตั้งใจทำโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ซึ่งจะเป็นประตูสู่อินโดจีน อาเซียน และเอเชีย หากสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี รัฐบุรุษ และอดีตนายกรัฐมนตรี มีคำว่าโชติช่วงชัชวาลย์ สมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี มีคำว่าเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ดังนั้นสมัยของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีอีอีซีเป็นประตู สู่เอเชีย ซึ่งโครงการนี้จะเป็นคลื่นลูกใหม่ ดึงดูดการลงทุนรอบใหม่ เป็นประตูสู่อาเซียนด้วย ซึ่งมีตลาดใหญ่ถึง 600 ล้านคน โครงการสำคัญที่จะทำในอีอีซี ทั้งสนามบิน ท่าเรือ รถไฟ เมืองใหม่ มอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่ จะให้เอกชนมาแบ่งเบาภาระ ในการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว แต่ในส่วนท่องเที่ยวจะใช้เม็ดเงินเอกชนเอง มูลค่ารวมกันเกือบ 1.5 ล้านล้านบาท ตรงนี้นักลงทุนต่างชาติตาเป็นประกายและบอกว่ารอมา 15 ปี นี่คือพื้นที่ใหม่สามารถมาลงทุนได้

          ถ่วงดุล-ประชาชนมีส่วนร่วม

          นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ปัญหาของพีพีพีตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2556 เป็นกระบวนการใช้เวลา ตั้งแต่การเตรียมโครงการจนคัดเลือกเอกชน ใช้เวลา 40 เดือน จึงเกิดการปรับปรุงมีพีพีพีฟาสต์แทร็กเหลือ 20 เดือน แต่สำหรับพีพีพีในอีอีซีก็ยังรอไม่ได้ เพราะอีอีซีเป็นพื้นที่ที่มีอยู่แล้วมาตั้งแต่อดีต นำมาซึ่งรายได้ให้ไทย แต่สิ่งที่มีในปัจจุบันเป็นบุญเก่า ต้องสร้างมูลค่าเพิ่ม ต้องทำโครงสร้างพื้นฐานใหม่ให้น่าสนใจยิ่งขึ้นกว่าเดิม เช่น รถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน ท่าเรือน้ำลึกใหม่ ถ้าใช้เวลาดำเนินการ 20 เดือน รอไม่ได้ จึงหาทางทำอีอีซี ซุปเปอร์ฟาสต์แทร็ก มีการใช้มาตรา 44 ให้อำนาจพีพีพีในอีอีซีโดยเฉพาะ ลดเวลาเหลือแค่ 10 เดือน ตั้งแต่ศึกษาจนคัดเลือกเอกชนได้ ที่เร็วขึ้นมีหลักการสำคัญ คือ เป็นสิ่งที่ทำแน่ เช่น รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือแหลมฉบัง สนามบิน อู่ตะเภา เมื่อทำแน่ก็ดำเนินการไปพร้อมๆ กันได้เลย ทำ 3 เรื่องพร้อมกัน ทั้งทดสอบความเป็นไปได้ของโครงการ ตั้งกรรมการคัดเลือก และร่างทีโออาร์ไว้รอ ตัดขั้นตอนต่างๆ ที่ไม่จำเป็นออกประหยัดเวลาได้มาก ใส่ความโปร่งใส การตรวจสอบถ่วงดุลเข้าไป ประชาชนมีส่วนร่วม และทำโครงการให้สำเร็จให้ได้

          ลงทุนพื้นฐานต้องเกิดเร็วที่สุด

          นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ภายในสัปดาห์หน้าระเบียบของพีพีพีในอีอีซีจะประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา และภายใน 1-2 เดือนหน้าจะมีเปิดให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วม รับฟัง ความเห็นจากภาคเอกชนในโครงการต่างๆ ส่วนการออกทีโออาร์โครงการจะเสร็จปลายปีนี้ ถึงต้นปีหน้า คัดเลือกเอกชนให้เสร็จกลางปีหน้า และเริ่มลงทุนก่อสร้าง ทั้งหมดนี้จะเป็นเป้าหมายที่จะดำเนินการต่อไป ดังนั้นเบื้องต้นรัฐบาลได้วางแผนที่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุนใน 4 โครงการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ มูลค่า 4 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 1.โครงการสนามบินอู่ตะเภา 2.โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (เอ็มอาร์โอ) 3.โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง 4.โครงการก่อสร้างท่าเรือมาบตาพุด-ท่าเรือแหลมฉบัง ส่วนต่อขยาย

          "การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเขตอีอีซี ถือเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้เร็วที่สุด เพื่อเป็นสิ่งแสดงความมุ่งมั่นของรัฐบาลให้เห็นว่ารัฐบาลมีความต้องการให้พื้นที่นี้เกิดขึ้นจริงอย่างที่พูดไว้ จึงได้ออกระเบียบ พีพีพีในพื้นที่อีอีซีขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว ลดขั้นตอน ระยะเวลา ความโปร่งใสตรวจสอบได้ ซึ่งระเบียบดังกล่าวจะนำมาใช้เป็นแกนหลักใน พ.ร.บ.พีพีพี ฉบับใหม่ที่อยู่ระหว่างการแก้ไข" นายกอบศักดิ์กล่าว

          'คณิศ'ชูความร่วมมือภาครัฐ

          จากนั้นมีการเสวนาเชิงนโยบาย "6 เดือน กับความร่วมมือของภาครัฐ" ดำเนินรายการโดย คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาการในตำแหน่ง ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย

          พลเรือตรี วรพล ทองปรีชา ผู้อำนวยการการท่าอากาศยานอู่ตะเภา น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และนายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

          นายคณิศกล่าวว่า อีอีซีเริ่มต้นมาจากประชารัฐคณะทำงานการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต หรือคณะ D5 ช่วยกันทำเรื่องกฎหมายจนออกมาเป็น ม.44 และอื่นๆ โดยต้องยอมรับว่าอีอีซีมีจุดเริ่มต้นมาจากเอกชนที่ช่วยขับเคลื่อน ส่วนรัฐช่วยวางนโยบายและสนับสนุน ซึ่งจะมีการใช้เงินจากภาครัฐ 10-20% ดังนั้นจึงเป็นเหมือนการส่งบัตรเชิญว่าเอกชนต้องมาร่วมลงทุนด้วย โดยเฉพาะเอกชนไทย ทั้งนี้ในการศึกษาเรื่องอีอีซีพบ 2 เรื่อง คือไม่มีประเทศไหนที่ก้าวพ้นกับดักประเทศปานกลางถ้าขาดเทคโนโลยี และไม่มีประเทศไหนพัฒนาไปได้ถ้ารัฐเอกชนไม่ทำงานร่วมกัน ตอนนี้ประเทศไทยกำลังเกิดทั้งในมี 2 เรื่อง

          "ตอนนี้งานอีอีซีกำลังดี มีการยกระดับด้านการท่องเที่ยวนานาชาติ เท่าที่คุยหอการค้าญี่ปุ่นเขากังวลเรื่องคน ที่จริงการพัฒนาทุกแห่งเมื่อดึงเทคโนโลยีมาใช้จะมีปัญหาว่าคน ไม่ค่อยพร้อม การดึงนักลงทุนต่างชาติมาลงทุนในอีอีซีไม่ได้เน้นเฉพาะการลงทุนอย่างเดียว ยังคาดหวังให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้อีกด้วย" นายคณิศกล่าว และว่า ขณะนี้บริษัทโบอิ้งมาคุยว่าจะสร้างศูนย์ฝึกอบรมในอีอีซี พบว่านักบินไทยยังขาด 500 คน และในภูมิภาค มีความต้องการ 2,000 คน

          ผุด'เกตเวย์'สู่อาเซียน

          นายคณิศกล่าวต่อว่า อีอีซีถือเป็นฐานสะสมการลงทุนและฐานสะสมเทคโนโลยีให้กับ เยาวชนไทยในอนาคต เพราะถ้าไม่ทำจะไม่ทัน จุดมุ่งหมายอยากเห็นการลงทุนขยายตัว 10% ซึ่งช่วง 10 ปีที่ผ่านมาการลงทุนขยายตัวเพียง 3% ทำให้จีดีพีขยายตัวเพียง 2-3% หากการลงทุนขยายตัวได้ 10% เชื่อว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ถึง 5% หากพิจารณาความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยจากการจัดอันดับของสถาบันการจัดการนานาชาติ (IMD) และเวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม (WEF) พบว่าหลายเรื่องไทยแพ้ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียไปแล้ว ขณะที่ อีอีซีต้องการชักชวนนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุน แต่เราไม่ได้ต้องการเงินทุนเท่านั้น แต่ที่ต้องการคือการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างชาติ โดยอีอีซีเป็นโอกาสของประเทศไทย

          นายคณิศกล่าวว่า อีอีซีเป็นเหมือนเกตเวย์ของประเทศเพราะมีท่าเรือ การเลือกพื้นที่ 3 จังหวัด คือชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ไม่ได้เลือกที่รักมักที่ชัง เวลาที่ไปคุยกับนักลงทุนก็คุยง่าย โดยอีอีซีมี 4 กลุ่ม 15 โครงการ และ 5 โครงการหลัก ครอบคลุมด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมเป้าหมาย การท่องเที่ยว และการสร้างเมืองใหม่รวมทั้งสาธารณูปโภค เรื่องที่กำลังดำเนินการมี 8 เรื่อง ได้แก่ การตั้งสนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินพาณิชย์ภาคตะวันออก กำหนดให้รถไฟ ความเร็วสูงต้องเชื่อม 3 สนามบิน ให้มีการพัฒนา 3 ท่าเรือน้ำลึก และให้มีรถไฟรางคู่เชื่อม 3 ท่าเรือ การลงทุนโดยใช้รูปแบบการร่วมลงทุนภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) ซึ่งกฎหมายกำลัง จะออกมา จะนำใช้กับ 4 โครงการนี้ก่อน เพราะจะถือว่าเป็นกระดูกสันหลัง ความคืบหน้า โครงการในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมาได้เริ่มวางรากฐานรองรับไว้เรียบร้อยแล้ว ต่อจากนี้เป็นช่วงชักชวนนักลงทุนให้เข้ามาลงทุน

          สำหรับเรื่องการชักชวนให้นักลงทุนเข้ามาลงทุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งการท่องเที่ยวกำลังจัดทำแผนงาน และพัฒนาคน การศึกษา จะนำเข้าเสนอในการประชุมบอร์ดอีอีซีต่อไป

          ดึงเนเธอร์แลนด์ร่วมวง

          "ขณะนี้มีนักลงทุนรายใหญ่ติดต่อเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีแล้ว10 ราย จากเป้าหมาย ปีนี้ 30 ราย น่าจะเป็นจริงได้เพราะ พ.ร.บ.อีอีซี ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.รอการพิจารณาของ สนช.ก็ยิ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะญี่ปุ่น นอกจากนี้ผมเตรียมเข้าหารือกับสถานทูตเนเธอร์แลนด์ เพื่อประสานให้ทางรัฐบาลเนเธอร์แลนด์เข้ามาช่วยประเทศไทยในการพัฒนาระบบซื้อขายผลไม้ในพื้นที่อีอีซี อาทิ มะม่วง เงาะ ทุเรียน ให้เทียบเท่ากับระดับสากล เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่อีอีซีอีกช่องทาง และก็ยังเป็นการย้ำว่าในพื้นที่อีอีซีก็ยังไม่ได้ทิ้งคนในพื้นที่ดั้งเดิม รัฐบาลยังให้ความใส่ใจอยู่เสมอ คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นเร็วๆนี้" นายคณิศกล่าว

          สนามบินอู่ตะเภาเตรียมแผน30ปี

          พลเรือตรีวรพล ทองปรีชา ผู้อำนวยการ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำมาสเตอร์แพลน 30 ปีข้างหน้าในการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา ซึ่งจะดำเนินการได้แล้วเสร็จประมาณกลางปี 2561 โดยที่ผ่านมา พยายามจะสร้างแรงจูงใจให้กับ นักลงทุนให้เข้ามาลงทุนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มเที่ยวบิน การขยายขีดความสามารถรองรับผู้โดยสาร เป็นต้น

          ทั้งนี้ ท่าอากาศยานอู่ตะเภายังมีพื้นที่ประมาณ 6,500 ไร่ เพื่อรองรับการพัฒนา โดยที่ผ่านมาทางท่าอากาศยานยังได้ทยอยเปิดให้บริการเพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารเพิ่ม มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ในช่วง 6 เดือน ที่แล้วก็เปิดพื้นที่รองรับผู้โดยสารขาเข้า ส่วนในปลายปีนี้ก็จะเปิดพื้นที่ขาเข้าระหว่างประเทศ และจะทยอยเปิดไปเรื่อยๆ เนื่องจากไม่สามารถเปิดพร้อมกันได้ทั้งหมด

          รฟท.ลั่นผุดไฮสปีดเทรนตามเป้า

          ด้านนายอานนท์ เหลืองบูรณ์ รักษาการ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา รฟท.ได้มีการศึกษาโครงการ รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง เพื่อเชื่อม 3 สนามบิน คือ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา โดยได้นำข้อมูลของอีอีซี มาประกอบการพิจารณาด้วย ซึ่งนอกจากเรื่องของรถไฟความเร็วสูงแล้ว รฟท.ยังจะมีการพัฒนาพื้นที่มักกะสันเพื่อเชื่อมโยงไปยังอีอีซี โดยจะมีการจัดเตรียมพื้นที่ประมาณ 150 ไร่ เพื่อใช้เป็นสำนักงานอีอีซีด้วย

          นายอานนท์กล่าวว่า การพัฒนารถไฟความเร็วสูงในเส้นทางดังกล่าว นอกจากจะอำนวยความสะดวกในการเดินทางแล้ว ยังสนับสนุนการท่องเที่ยว แก้ปัญหาการจราจร และลดอุบัติเหตุได้ด้วย โดยเป็นการศึกษารวมกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ เพราะจะใช้รางร่วมกัน โดยจะใช้ความเร็วช่วงที่อยู่ในเมืองประมาณ 160 กิโลเมตร (กม.) ต่อชั่วโมง (ชม.) ส่วนนอกเมือง คือ จากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ระยอง จะใช้ความเร็ว 250 กม./ชม. อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์อยู่ที่ 2 บาท/กม. ค่าแรกเข้า 13 บาท ส่วนรถไฟความเร็วสูงอยู่ที่ 1.8 บาท/กม. ค่าแรกเข้า 20 บาท เฉลี่ยค่าโดยสารจากดอนเมือง-ระยอง อยู่ระหว่าง 400-500 บาท และมีการประเมินไว้ว่าหลังจากเปิดให้บริการในปี 2566 จะมี ผู้โดยสารใช้แอร์พอร์ตลิงก์ประมาณ 1 แสนคนต่อวัน ส่วนไฮสปีดเทรนอยู่ที่ 6.5 หมื่นคน ต่อวัน

          นายอานนท์กล่าวว่า ขณะนี้ รฟท.ได้มีการศึกษาคืบหน้าแล้ว 90% โดยในเดือนตุลาคมพฤศจิกายนนี้ จะนำเสนอคณะกรรมการอีอีซี ชุดที่มีนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อยู่ด้วย จากนั้นในเดือนมกราคม 2561 จะสามารถประกาศเชิญชวนนักลงทุน และปลายเดือนสิงหาคม 2561 จะลงนามกับผู้ร่วมลงทุน เบื้องต้นกำหนดมูลค่าลงทุนของโครงการไว้ที่ประมาณ 2.1 แสนล้านบาท แบ่งเป็น งานก่อสร้างโยธา 1.5 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นงานระบบ และขบวนรถ นอกจากรถไฟความเร็วสูงแล้ว รฟท.ยังจะมีการก่อสร้างรถไฟทางคู่ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าใน 3 ท่าเรือพื้นที่อีอีซีด้วย

          "ผมมั่นใจว่าจะสามารถเดินหน้ารถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อม 3 สนามบินได้ตาม แผนงานที่กำหนดแน่นอน" นายอานนท์กล่าว

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างที่นายอานนท์พูดได้ฉายเพาเวอร์พอยต์ให้ผู้สัมมนาเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น จึงได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมสัมมนายกโทรศัพท์มือถือขึ้น ถ่ายรูปเป็นจำนวนมาก

          บีโอไอเล็งคลอดแพคเกจใหม่

          น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ตอนนี้ภาคตะวันออกคือพื้นที่ที่มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนที่ยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนอันดับหนึ่ง โดยอุตสาหกรรม 3 อันดับแรกที่ลงทุนในภาคตะวันออก คือ ยานยนต์ เคมีและปิโตรเคมี และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งบทบาทของบีโอไอ ขณะนี้ได้บังคับใช้ กฎหมายบีโอไอฉบับใหม่ ที่มีสิทธิประโยชน์สูงสุด คือ เว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่เกิน 13 ปี จากเดิมกฎหมายเก่าอยู่ที่ไม่เกิน 8 ปี โดยกิจการจะได้สูงสุด อาทิ กิจการวิจัยและพัฒนา มีเทคโนโลยีขั้นสูง มีความร่วมมือสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย สำหรับบีโอไอกับอีอีซี เพื่อสนับสนุนให้นักลงทุนเข้าลงทุนพื้นที่อีอีซี ซึ่งนักลงทุนที่เข้าลงทุนในพื้นที่อีอีซี นั้น จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม คือ ลดอัตราภาษี 50% เพิ่มอีก 5 ปี จากสิทธิประโยชน์ที่ได้รับอยู่ โดยมาตรการส่งเสริมลงทุนใน อีอีซี จะมีแพคเกจใหม่เพื่อทดแทนแพคเกจปัจจุบันที่จะหมดอายุสิ้นปีนี้ สำหรับ พ.ร.บ.อีอีซี เตรียมเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่ได้ตัดสิทธิจากบีโอไอ แต่กฎหมายอีอีซีจะใช้สิทธิประโยชน์ของบีโอไอและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันจุดสำคัญของ พ.ร.บ. อีอีซีจะมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อดูแลประชาชน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญมากที่ทำให้ประชาชนในพื้นที่อีอีซีมีคุณภาพชีวิตที่ดี

          น.ส.ดวงใจกล่าวว่า ล่าสุดจากการคุยกับนักลงทุนมั่นใจว่าจะมีนักลงทุนเข้ามาเพิ่มเติมแน่นอน โดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่นที่เดินทางมาไทย 500 บริษัท ซึ่งปีงบประมาณ 2561 เริ่ม วันที่ 1 ตุลาคมนี้ มีแผนจะชักจูงการลงทุนหลายจังหวัดในญี่ปุ่น ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวตรงกับจังหวัดเป้าหมายที่บีโอไอจะเข้าไปชักจูงการลงทุน ดังนั้น การมาไทยจะทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น ทำให้โอกาสการลงทุนไทยเกิดขึ้นสูงแน่นอน ทั้งนี้ ประเภทกิจการที่บีโอไอส่งเสริมในอีอีซีไม่ได้มีแค่ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย กิจการประเภทอื่น อาทิ เกษตร การผลิตเทคโนโลยีต่างๆ สามารถยื่นคำขอรับส่งเสริมการลงทุนเพื่อรับสิทธิประโยชน์ได้เช่นกัน

          กนอ.เตรียม5หมื่นไร่รับอีอีซี

          นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคม อุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ภารกิจของ กนอ.คือการดูแล เตรียมพื้นที่นิคม อุตสาหกรรมรองรับอีอีซี 50,000 ไร่ ในช่วง 3 ปีจากนี้ ปัจจุบันมีประมาณ 34,000 ไร่ ที่ พัฒนาแล้ว เหลือพัฒนาอีกประมาณ 16,000 ไร่ จะพัฒนาขึ้นมาใหม่ และมีเอกชนสนใจแล้ว 6,000 ไร่ คาดว่าจากนี้จะมีเอกชนซึ่งมีที่ดินในมือแสดงความสนใจลงทุนใน 10,000 ไร่ ที่เหลือแน่นอน ซึ่งการพัฒนาพื้นที่จะไม่มีการเวน คืนที่ดินจากประชาชน ไม่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ประชาชนแน่นอน

          สำหรับโครงการลงทุนที่ กนอ.รับผิดชอบ จะมี 2 เรื่อง คือ การพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดส่วนขยาย ลงทุน 10,000 ล้านบาท โครงการนี้จะมีการถมทะเลด้วย เพื่อทำให้ท่าเรือมาบตาพุดตอบโจทย์การขยายตัวของอุตสาหกรรมในอีอีซี โดยโครงการจะเข้าสู่กระบวนการลงทุนร่วมรัฐและเอกชน (พีพีพี) คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในต้นปี 2561 และเสร็จพร้อมเปิดดำเนินการปลายปี 2561 นอกจากนี้ กนอ.อยู่ระหว่างพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท พาร์ค จำนวน 1,400 ไร่ โดยเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบรองรับอุตสาหกรรม 4.0 เน้น 4 อุตสหกรรรม คือ โลจิสติกส์ อากาศยาน การแพทย์ และ หุ่นยนต์ นอกจากนี้ระบบสาธารณูปโภคใน นิคมฯจะเน้นอุตสาหกรรมสีเขียว ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์

          "นอกจากนี้อุตสาหกรรมสำคัญแล้ว นิคมฯ สมาร์ท ปาร์ค จะเน้นอุตสาหกรรมเกษตรเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเกษตรของพื้นที่อีอีซี อาทิ ผลไม้ที่โด่งดังและส่งออกจำนวนมาก รวมทั้งอาหารทะเล โดยจะจัดตั้งตลาดกลาง มีระบบการจัดเก็บใช้ความเย็นคุณภาพสูงเพื่อเก็บรักษาก่อนส่งออกทางทะเล โดยได้หารือกับบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในการใช้พลังงานความเย็นจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ปตท. คาดว่ามีความชัดเจนเร็วๆ นี้" นาย วีรพงศ์กล่าว

          เสวนาภาคเอกชน-ชูท่องเที่ยว

          จากนั้นเป็นการเสวนาผู้ประกอบการหัวข้อ "6 เดือนกับความร่วมมือของภาคเอกชน" โดยมีผู้ร่วมสัมมนาประกอบด้วย นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นายสรัญ รังคศิริ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลาย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) นายสมศักดิ์ กาญจนาคา ผู้อำนวยการบริษัท ฮิตาชิ เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด มีนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นผู้ดำเนินรายการ

          นายกลินท์กล่าวว่า ประเทศจะพ้นกับดักรายได้ปานกลางใน 20 ปี หากปล่อยธรรมชาติไม่มีทาง แต่อีอีซีทำให้ไทยขับเคลื่อนได้ พิจารณาผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) มีสัดส่วนเกษตร 10% อุตสาหกรรม 40% และบริการ 50% แต่พิจารณาแรงงานที่กระจายในแต่ละภาคดังกล่าวอยู่ที่ 40%, 20% และ 40% ตามลำดับ แต่แนวโน้มอุตสาหกรรมใช้หุ่นยนต์ทำอย่างอัตโนมัติมีมากขึ้น และแนวโน้มของภาคบริการเติบโตขึ้นอย่างมาก ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องมองว่าในอนาคตจะทำอย่างไรต่อ ในประเทศเจริญแล้ว ภาคบริการมีสัดส่วน 70-80% ของจีดีพี แต่ไทยแค่ 50% อนาคตหากจะเติบโตขึ้นต้องเน้นภาคบริการจะเทรนคนอย่างไร เป็นสิ่งที่มีความกังวล ได้ คุยกับหอการค้าญี่ปุ่น ซึ่งมีข้อกังวลว่าแผนต่างๆ ที่รัฐบาลพูดไว้ตรงตามกำหนดการหรือไม่ และเรื่องแรงงานเป็นอย่างไร มีพร้อมหรือไม่

          "ตอนนี้รัฐบาลไทยยังไม่มีเจ้ามือด้านภาคบริการ เป็นเรื่องสำคัญ ที่จะนำเอาทุกอย่างมารวมกันได้" นายกลินท์กล่าว

          นายกลินท์กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการท่องเที่ยวในอีอีซีมี 3 จังหวัด คือฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง เมื่อนักท่องเที่ยวมากขึ้น กินอาหารเพิ่มขึ้น หลายจังหวัดก็ต้องทำอาหารมาเสริมตรงนี้ ในแต่ละจังหวัดคือ ชลบุรี จะเป็นศูนย์กลางไมซ์ (การจัดประชุม แสดงงาน และนิทรรศการ) งานกีฬา เทศกาลต่างๆ ฉะเชิงเทรา เน้นท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และระยอง เน้นการท่องเที่ยว กระจายรายได้ สู่ชุมชน โดยทำผ่านแนวคิด B-leisure destination ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของทั้งการท่องเที่ยวและทำธุรกิจพร้อมกันได้ที่ รวมอยู่ในพื้นที่เดียวกัน

          แผนท่องเที่ยวจังหวัดชลบุรี

          นายกลินท์กล่าวว่า สำหรับรายละเอียดของแผนการท่องเที่ยวในจังหวัดชลบุรี เช่น บางแสน จะเป็นศูนย์ฝึกอบรมด้านการท่องเที่ยว พัทยาจะมีรถราง (แทรม) ที่อยู่พื้นราบ ซึ่งผู้สูงอายุ คนพิการขึ้นได้ เชื่อมจากรถไฟฟ้าความเร็วสูงเข้าสู่พัทยา วิ่งรอบเมือง มาพัทยาใต้ นอกจากนี้จะมีโครงการที่เป็น จุดไฮไลต์ประเทศ คือพัทยา ออน เพียร์ (Pattaya on Pier) คล้ายกับเพียร์ 39 ของซานฟรานซิสโก ขณะที่แหลมบาลีฮายจะทำเป็นท่าจอดเรือสำราญ ส่วนทางใต้ของพัทยา จะมีพัทยาเมืองใหม่ ซึ่งมีศูนย์ประชุมออกมา นอกจากนี้มีถนนเลียบชายฝั่ง ซึ่งมีอยู่แล้ว แต่จะต้องปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้น โดยทำอย่างไรให้การคมนาคมเชื่อมโยงถึงกันได้ ไม่ใช่รถเข้าไปอย่างเดียว นอกจากนี้แถวเมืองพัทยามีเรื่องการศึกษา โรงแรมต่างๆ ศูนย์นิทรรศการก็มี 2 แห่ง เป็นจุดเรียนรู้ที่ดีที่สุด มีการจัดสัมมนาต่างๆ การเทรนนิ่ง การทำอาหาร ซึ่งรวมเป็นเรื่องบริการ บ้านเราสามารถทำได้

          เข้าสู่ยุคเทคโนฯทำลายล้าง

          นายเกรียงไกรกล่าวว่า สำหรับเรื่องของสภาวะอุตสาหกรรมในขณะนี้ สมาชิก ส.อ.ท. รู้ว่ายุคนี้เข้าสู่ยุคที่เรียกว่าเทคโนโลยีแห่งการทำลายล้าง (Disruptive Technology) ดังนั้นสมาชิกใน 45 กลุ่มอุตสาหกรรมจะตื่น ถ้าไม่ปรับตัวจะสูญพันธุ์เพราะเทคโนโลยีไม่ค่อยปรานีใคร ไทยเองกำลังก้าวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 แต่เท่าที่สำรวจสมาชิกส่วนใหญ่พบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรม 2-2.5 เพราะยังใช้เครื่องจักรกลธรรมดา หรือกึ่งอัตโนมัติ สำหรับกลุ่มที่ก้าวไปถึง 4.0 แล้วยังไม่ค่อยเห็นเท่าไหร่ ที่เห็นสูงสุดระดับ 3-3.5 ส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติ ดังนั้นคงไม่สามารถผลักดันให้ทุกบริษัทก้าวไปสู่ 4.0 ภายใน 1-2 ปี

          นายเกรียงไกรกล่าวว่า ในการผลักดันอุตสาหกรรม 4.0 มีแผนดำเนินการ 2 ช่วง แบ่งเป็น 5 ปีแรก ผลักดันกลุ่มที่ยังอยู่ในระดับ 2 ให้ก้าวไปสู่ 3 ตรงนี้ต้องปรับผลิตภาพการผลิตให้ใช้เครื่องจักรอัตโนมัติในการเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน ลดของเสีย ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการก้าวไปถึงจนจะต้องมีการใช้เครื่องอัตโนมัติ 75% มีผลผลิตต่อหัวเพิ่มขึ้น 3 เท่า ส่วนที่ 2 คือในช่วง 5 ปีต่อไป ผลักดันกลุ่มที่เป็น 3 ให้ก้าวขึ้นเป็น 4 การถึงจุดนี้ต้องสร้างความแตกต่างผลิตภัณฑ์มีการใช้อินเตอร์เน็ตในการเชื่อมต่อระบบอัตโนมัติ ซึ่งใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายกำหนดไว้ มีเรื่องหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติรวมอยู่แล้ว

          "มีการศึกษาโดยสถาบันดูแลหุ่นยนต์โลกพบว่าในอีก 2 ปี จะมีภาคอุตสาหกรรมมาใช้หุ่นยนต์ หรือระบบอุตสาหกรรมอัตโนมัติ 1.4 ล้านตัว แต่พบว่าไทยยังใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติต่ำมาก โดยคน 1 หมื่นคน ใช้ หุ่นยนต์เพียง 53 ตัว ในขณะที่สถิติทั้งโลกอยู่ที่ 69 ตัว ส่วนสิงคโปร์อยู่ที่ 398 ตัว ไต้หวัน 190 ตัว ฉะนั้นไทยต้องเพิ่มอีกมาก เพื่อเข้าไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ตามเป้าหมายของรัฐบาล" นายเกรียงไกรกล่าว

          ไทยยังขาดนักออกแบบติดตั้ง

          นายเกรียงไกรกล่าวต่อว่า ในอีอีซีกำหนด 10 อุตฯเป้าหมาย มีเรื่องหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ มีแผนยุทธศาสตร์ ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ในแผนดังกล่าว มี 3 เรื่องที่สำคัญ คือ เรื่องแรก ทำอย่างไร กระตุ้นให้เอกชนมาใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมากขึ้น ตรงนี้ต้องมีมาตรการสนับสนุน เช่นเงินกู้ ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมให้เงินกู้แล้ว ส่วนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้ลดภาษีนิติบุคคลถึง 50% ส่วนกระทรวงการคลังให้สิทธิประโยชน์นำไปลดหย่อนถึง 300%

          นายเกรียงไกรกล่าวว่า เรื่องที่ 2 ไทยยังขาดนักออกแบบติดตั้ง พบว่ามีเพียง 200 คน ดังนั้นถ้าก้าวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ต้องเริ่มพัฒนาบุคคลด้านนี้ วางเป้าหมายว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า จะสร้างบุคลากรด้านนี้ให้ได้ 1,400 คน เพราะบางประเทศมีหลายพัน หลายหมื่นคน ส่วนเรื่องที่ 3 ทำอย่างไร พัฒนาบุคลากรให้สามารถผลิตหุ่นยนต์ของไทยเองได้และทำให้ไทยมีเทคโนโลยีของไทยเอง ตั้งเป้าหมายว่าภายใน 5 ปี ต้องมีหุ่นยนต์ต้นแบบ 150 ผลิตภัณฑ์ มีผู้ประกอบการมาใช้ 100 หุ่นยนต์

          "ผมได้พูดคุยกับ ส.อ.ท.สิงคโปร์เมื่อปีที่ผ่านมา เขารู้สึกตื่นเต้นได้ยินอุตสาหกรรม 4.0 ในไทย แต่พบว่าเงินลงทุนที่ไหลมาถูกสิงคโปร์ดูดเงินได้ถึง 53% จากอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ผมว่าตรงนี้ไทยต้องเร่งแข่งขันกับเขาให้ได้" นายเกรียงไกรกล่าว

          หุ่นยนต์ทำความเป็นอยู่คนดีขึ้น

          นายเกรียงไกรกล่าวว่า มีการพูดถึงว่าเมื่อใช้หุ่นยนต์ คนตกงาน แต่หน่วยงานต่างประเทศบอกว่าการใช้หุ่นยนต์ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่คนจะดีขึ้น โดยใน 1 สัปดาห์ จะทำงาน 4 วัน หยุด 3 วัน และในอีก 10 ปี จะทำงานแค่ 3 วัน หยุด 4 วัน ทำให้คนท่องเที่ยวและมีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น

          นายเกรียงไกรกล่าวต่อว่า ขณะนี้โลกกำลังเปลี่ยนกติกา และจะเห็นว่าอุตสาหกรรมหลักๆ ของไทยต้องเปลี่ยนไป ความร่ำรวยไปอยู่ในอุตสาหกรรมใหม่ เช่น ในอุตสาหกรรมรองเท้ากีฬา มีความต้องการใช้ไม่เหมือนกัน อาดิดาส ประสบความสำเร็จแล้ว มีระบบให้สามารถสั่งซื้อได้ตามน้ำหนัก สี และความต้องการในกีฬา โดยเป็นการเชื่อมระบบอัตโนมัติได้เลย ส่วนประเทศเยอรมนีสำเร็จในการสร้างเครื่องจักรใช้ในภาคอุตสาหกรรมและเปลี่ยนเป็น 4.0 แล้ว

          "เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปทำให้อุตสาหกรรมดั้งเดิมกระทบต้องย้ายฐานไปประเทศอื่น อุตสาหกรรมที่เคยจ้างแรงงานเป็น 1 ล้านคนจะใช้แรงงานลดลง ทำให้ไทยต้องเริ่ม ปรับตัว แต่มีสิ่งที่ต้องระวังคือการถูกก๊อบปี้" นายเกรียงไกรกล่าว

          เปลี่ยนยุคอุตสาหกรรม3.0สู่4.0

          นายสรัญกล่าวว่า ประเทศเราเปลี่ยนจากยุคอุตสาหกรรม 2.0 สู่ 3.0 จากอุตสาหกรรมเบาเป็นหนัก ผ่านมา 30 ปี กำลังเปลี่ยนจากยุคอุตสาหกรรม 3.0 สู่ 4.0 ซึ่งหมายถึงเราจะสร้างสินค้ามีมูลค่าสูงขึ้น มีความพิเศษ หายาก เหล่านี้ต้องทำด้วยนวัตกรรม วันนี้ ปตท. เกี่ยวข้องกับอีอีซี มี 3 ส่วน คือ 1.อีอีซีไอ (EECI) เป็นที่ให้นักวิจัยมาอยู่รวมกัน คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ 2.โครงการสนามบินอู่ตะเภา ได้ร่วมกับกองทัพเรือ และ 3.เศรษฐกิจชีวภาพ (ไบโออีโคโนมี) นอกจากนี้ เราอยากทำหลายอย่าง เช่น ท่าเรือ โรบอต ก็อยู่ในแผน

          นายสรัญกล่าวว่า อีอีซีไอ เจ้าภาพจริง คือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภารกิจคือสร้างนิเวศนวัตกรรม ให้เป็นเมืองน่าอยู่ ทันสมัย เชิญชวนนักคิด วิจัย นักประดิษฐ์เก่งจากที่ต่างๆ มาอยู่ด้วยกัน มีทำเลที่วังจันทร์วัลเลย์ พื้นที่ 3 พันไร่ ซึ่งจะต่อยอดอุตสาหกรรมที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ (นิวส์ เอสเคิร์ฟ) เช่น โรบอต ไบโอเทคโนโลยี

          นำสินค้าเกษตรมาต่อยอด

          นายสรัญกล่าวว่า ส่วนสนามบินอู่ตะเภา ปตท.ให้การสนับสนุนเติมน้ำมันเชื้อเพลิงมากว่า 30 ปี สนามบินนี้มีความพร้อมรองรับผู้โดยสาร 3 ล้านคน โดยเราได้เข้าไปพัฒนาและสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และการใช้เชื้อเพลิงที่นั่น ส่วนไบโออีโคโนมี ช่วงต้นปีที่ผ่านมาได้ลงนามเอกชนให้สามารถเอาสินค้าเกษตรที่ไทยมีอยู่ จะต่อยอดห่วงโซ่การผลิตอย่างไรให้ยาวขึ้นหลายเท่า เกิดรายได้ต่อเนื่องทั้งซัพพลาย และขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต

          นายสรัญกล่าวว่า สำหรับไบโออีโคโนมี มี 3 ส่วนหลัก คือ ไบโอฟูเอล เช่น ไบโอดีเซล, ไบโอพลาสติก เช่น อ้อยมาหมักทำพลาสติกต่างๆ และไบโอเคมีคอล เอาพื้นฐานสินค้าเกษตรมาพัฒนาทำเครื่องสำอาง อาหารเสริม วิตามิน แต่ปัญหาของไบโออีโคโนมี คือ แหล่งหรือโรงงานแปรรูปอยู่ไกลจากแหล่งเพาะปลูกพืชวัตถุดิบต่างๆ ควรต้องอยู่ใกล้แหล่งผลิต ในภาคตะวันออกมีปาล์มมาก ก็ตั้งโรงงานสกัดใกล้ๆ อีสานมีอ้อย มันสำปะหลังมาก ก็ควรกระจายโรงสกัดเข้าไป แต่เราเจอปัญหาว่าพื้นที่ใกล้แหล่งเพาะปลูกห้ามทำอุตสาหกรรม จึงเป็นหน้าที่ที่เราต้องแก้ไขปัญหาให้สามารถสร้างโรงงานสกัดใกล้พื้นที่เกษตรกรรมได้

          นักลงทุนญี่ปุ่นสนใจไทยมาก

          ด้านนายสมศักดิ์กล่าวว่า นักลงทุนญี่ปุ่นที่เดินทางมาไทย เขาสนใจไทยมาก เหตุผลที่นักลงทุนมาไทยมีหลายเหตุผล และไทยอาจเป็นทางเลือกที่ดีในการกระจายการลงทุน นอกจากที่เขามองจีน อินเดียแล้ว ในกลุ่มประเทศอาเซียนไทยมีจุดเด่นกว่าประเทศอื่น มีลักษณะภูมิประเทศเชื่อมโยง และไทยมีการสนับสนุนด้านอุตสาหกรรม มีนิคมและสวนอุตสาหกรรมพร้อมอยู่แล้ว รวมถึงมีระบบสาธารณูปโภค และในช่วงน้ำท่วมใหญ่ พื้นที่ตั้งอีอีซีไม่กระทบ

          "นักลงทุนญี่ปุ่นยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลจะเดินไปตามแผนที่วางไว้หรือไม่ รวมถึงการขาดบุคลากร ถือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งในไทยเด็กยังเรียนอาชีวะน้อยไป ทำให้ขาดแรงงานภาคอุตสาหกรรม แต่จากแผนที่ไทยวางไว้จะเติมเต็มความต้องการในอนาคต" นายสมศักดิ์กล่าว และว่า แผนการลงทุน ฮิตาชิในอีอีซี ต้องการลงทุนบิ๊กดาต้าในอีอีซี โดยมีการพบนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มาแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งประธาน ฮิตาชิให้ความสำคัญกับการลงทุนในอีอีซี ไทยมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับญี่ปุ่น ซึ่งบริษัทที่มาลงทุนในไทยที่ผ่านมาค่อนข้างประสบความสำเร็จ ตรงนี้ทำให้เชื่อมโยงทางธุรกิจที่ดีขึ้น

          28ก.ย.นำพ.ร.บ.อีอีซีเข้าสภา

          นายอุตตมกล่าวภายหลังปาฐกถางานสัมมนา "อีอีซี แม่เหล็กเศรษฐกิจไทยเชื่อมโลก" ว่า วันที่ 28 กันยายนนี้ รัฐบาลจะเสนอร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระ 1 โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอกฎหมายเข้าสภา และมีนายวิษณุ เครืองาม และตนร่วมชี้แจงสาระสำคัญของกฎหมาย ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดสำคัญมาก ต้องสร้างความเข้าใจกับสมาชิก สนช.ให้เห็นถึงความสำคัญของกฎหมายดังกล่าว และเมื่อ สนช.โหวตรับหลักการแล้วจะมีการตั้งกรรมาธิการพิจารณา เพื่อเข้าสู่การพิจารณาวาระที่ 2 และ 3 คาดว่ากฎหมายจะผ่านความเห็นชอบเร็วที่สุดคือ ปลายปีนี้ และช้าสุดคือ ต้นปีหน้า

          "ช่วงต้นสัปดาห์หน้าจะหารือร่วมระหว่างรัฐบาลและ สนช.เพื่อเตรียมการนำกฎหมายเข้าสู่ สนช.วันที่ 28 กันยายน โดยวาระแรกสำคัญมาก ต้องสร้างความเข้าใจ ต้องทำให้ สนช.เห็นชอบและรับหลักการเพื่อเข้าสู่วาระ 2 และ 3 ซึ่งในช่วงรอการพิจารณาทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะเดินสายหารือกับกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจชุดต่างๆ อาทิ กรรมาธิการพาณิชย์ กรรมาธิการเกษตร กรรมาธิการอุตสาหกรรม เพื่อให้กระบวนการมีความรวดเร็วมากที่สุด" นายอุตตมกล่าว และว่า จากความชัดเจนทำให้รัฐบาลมั่นใจว่าจะมีนักลงทุนเทคโนโลยีขั้นสูงจากทั่วโลกที่สนใจอีอีซีอยู่แล้วเกิดความเชื่อมั่น และมีจำนวนนักลงทุนขนาดใหญ่ของโลกเข้ามาลงทุนในอีอีซีภายในปีนี้ประมาณ 30 บริษัท จากเดิมเป้าหมายดังกล่าวคาดว่าจะเข้ามาลงทุนช่วงปลายปีถึงต้นปีหน้า

          นายอุตตมกล่าวว่า นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างพูดคุยรายละเอียดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันกำหนดประเด็นหารือกับสหรัฐในโอกาสติดตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยือนประเทศสหรัฐตามคำเชิญของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้ เชื่อว่าจะมีนักลงทุนสหรัฐสนใจและมีความเป็นไปได้ที่จะเข้ามาลงทุนในอีอีซีของไทยได้ในอนาคต

          ส่งออกส.ค.พุ่ง13.2%สูงสุด55เดือน

          นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนสิงหาคม 2560 มีมูลค่า 21,224 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 13.2% สูงสุดในรอบ 55 เดือน เนื่องจากการส่งออกกลุ่มสินค้าเกษตรขยายตัว 24.7% และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 12.2% เช่นผลิตภัณฑ์ยางขยายตัว 50.5% ขณะที่ตลาดส่งออกก็ขยายตัวดี ทั้งตลาดหลักขยายตัว 7.5% ทั้งสหรัฐ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน รวมถึงตลาดศักยภาพขยายตัว 16.4% ส่งผลให้ 8 เดือนแรกปีนี้ การส่งออกมีมูลค่า 153,623 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 8.9% ส่วนการนำเข้าเดือนสิงหาคม มีมูลค่า 19,134 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 8.9% ทำให้ดุลการค้าเดือนสิงหาคมเกินดุล 2,090 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 8 เดือนแรกเกินดุล 8,873 ล้านเหรียญสหรัฐ

          นางอภิรดีกล่าวว่า แม้ค่าเงินบาทแข็งค่าอยู่ที่ระดับ 33-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐจนถึงสิ้นปี อาจกระทบต่อการส่งออกในปี 2561 บ้าง ซึ่งเป็นปัจจัยต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง แต่การแข็งค่าของเงินบาทไทยยังใกล้เคียงกับภูมิภาค จึงยังแข่งขันได้ แต่ในส่วนปีนี้มั่นใจว่าการผลักดันการส่งออกให้ขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 7% ตามเป้าหมาย แม้ว่าค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่สินค้าส่วนใหญ่เป็นคำสั่งซื้อล่วงหน้า ซึ่งกำหนดราคาค่าเงินบาทไว้ก่อนแล้ว

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2560 

อุตฯเตรียมข้อมูลถกสหรัฐชวนลงทุนอีอีซี

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดงานสัมมนา “อีอีซี แม่เหล็กเศรษฐกิจไทยเชื่อมโลก” ที่มติชน ร่วมกับสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.)จัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ว่า วันที่ 25 กันยายนนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม สกรศ.จะหารือร่วมกับวิปรัฐบาลเพื่อเตรียมนำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ผ่านความเห็นชอบคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาในวันที่ 28 กันยายนนี้ คาด สนช.จะเห็นชอบและประกาศให้มีผลบังคับใช้ภายในปีนี้

“ที่ผ่านมานักลงทุนรอความชัดเจนในเรื่องของกฎหมายรองรับการลงทุนในพื้นที่อีอีซี จึงมั่นใจว่าการเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ครั้งนี้จะสร้างความเชื่อมั่นให้ทั้งนักลงทุนในและต่างประเทศมีความมั่นใจเข้ามาลงทุนในอีอีซีมากขึ้น ปีนี้มีโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติจะตัดสินใจเข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายในอีอีซีมากกว่าเป้าหมายเดิมตั้งไว้ที่ 30 ราย” นายอุตตม กล่าว

พร้อมกันนี้กระทรวงอุตสาหกรรมยังอยู่ระหว่างพูดคุยรายละเอียดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดประเด็นหารือกับสหรัฐในโอกาสติดตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยือนประเทศสหรัฐตามคำเชิญของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้ เชื่อว่าจะมีนักลงทุนสหรัฐสนใจและมีความเป็นไปได้ที่จะเข้ามาลงทุนในอีอีซีของไทยได้

ในอนาคต อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 23-24 กันยายนนี้กระทรวงอุตสาหกรรม มีกำหนดการลงพื้นที่อีอีซีร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อกำหนดแผนพัฒนาสายอาชีพอาชีวศึกษารองรับการลงทุนขนาดใหญ่ในพื้นที่อีอีซีด้วย

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สัปดาห์หน้าจะมีการประกาศพระราชกฤษฎีกา หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน (พีพีพี:PPP) หรือระเบียบอีอีซี แทร็ก (EEC Track) 4 โครงการโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 4-5 แสนล้านบาท เพื่อเร่งหาเอกชนที่สนใจร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีอีซี กับภาครัฐทั้งในโครงการสนามบิน รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือเพื่อให้เกิดการลงทุนในปี 2561 ส่วนการลงทุนภาคเอกชน คาดว่า จะเริ่มเห็นภายในปลายปีนี้

จาก http://www.naewna.com วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2560 

ไฟเขียว2.2พันล้าน ปั้น11โครงการ พัฒนาระบบชลประทาน เสริมแกร่งการเกษตร       

นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 อนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินโครงการสำคัญ 11 โครงการ วงเงิน 2,225.4193 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2560 จากงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แยกเป็น 2 โครงการหลัก ประกอบด้วย 1.โครงการด้านการบริหารจัดการน้ำ 3 โครงการ วงเงิน 1,737.3007 ล้านบาท และ 2.โครงการพัฒนาด้านการเกษตร 8 โครงการ 488.1186 ล้านบาท โดยมีแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้

1.โครงการด้านบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทานวงเงิน 1,737.3007 ล้านบาท โดยจะดำเนินการก่อสร้างแหล่งน้ำ และระบบชลประทานขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก แหล่งน้ำชุมชน แหล่งน้ำในพื้นที่ ส.ป.ก. ก่อสร้างแก้มลิง ก่อสร้างระบบผันน้ำ และค่าใช้จ่ายในการจัดหาที่ดิน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนทั่วไป ในเขตพื้นที่รับประโยชน์จากโครงการ โดยมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 59 โครงการ พื้นที่ 20 จังหวัด 63,207 ครัวเรือน ให้มีพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้น 1,000 ไร่ เพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ 246,864 ไร่ เพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บ 7.51 ล้าน ลบ.ม.

2.โครงการพัฒนาการเกษตร 8 โครงการ วงเงิน 488.1186 ล้านบาท ได้แก่ 1) โครงการสนับสนุนการสร้างปัจจัยพื้นฐานรวบรวมและจัดเก็บข้าวเปลือกคุณภาพวงเงิน 232.0120 ล้านบาท

2) โครงการเพิ่มศักยภาพศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร วงเงิน 123.7746 ล้านบาท 3) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไข่ไหม วงเงิน 53.9350 ล้านบาท 4) โครงการพัฒนาตลาดน้ำ อ.ต.ก. วงเงิน 25.5434 ล้านบาท 5) โครงการโรงแช่แข็งผลไม้และห้องเย็น วงเงิน 20.2545 ล้านบาท 6) โครงการสร้างเครือข่ายการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่วพันธุ์ดี สนับสนุนการปลูกพืชหลังนาในพื้นที่แปลงใหญ่ วงเงิน 16.8962 ล้านบาท 7) โครงการตลาดเกษตรอินทรีย์ อ.ต.ก. วงเงิน 9.1715 ล้านบาท 8) โครงการส่งเสริมใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพในสถาบันเกษตรกรในพื้นที่นิคมสหกรณ์ วงเงิน 6.5314 ล้านบาท

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนงานตามนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น หนี้สินลดลง โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง บูรณาการงานสู่ Agenda และ Area รวมทั้งใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม/องค์ความรู้ต่างๆ ร่วมกันของหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

จาก http://www.naewna.com วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2560

น้ำตาล 0% ทำให้หิวมากขึ้นจริงหรือ ?

จิรายุ วัฒนาประภาวิทย์ : เรื่อง

น้ำตาล หนึ่งในเครื่องปรุงอาหารที่ขาดไม่ได้บนโต๊ะอาหารของคนไทย เพราะคนไทยส่วนมากชอบรับประทานอาหารที่มีรสชาติหวาน

การรับประทานอาหารที่มีรสชาติหวาน สามารถช่วยให้สมองหลั่งสารแห่งความสุขหรือสารเอนดอร์ฟินออกมา ที่มีฤทธิ์ช่วยทำให้ร่างกายกระชุ่มกระชวย และช่วยลดความเครียดได้

แต่ความหวานที่ได้รับจากน้ำตาล นอกจากจะสร้างความอร่อยให้กับอาหารที่รับประทานแล้ว ความหวานก็แฝงมาด้วยอันตรายมากมาย

ซึ่งตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ฉบับใหม่ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ว่าจะปรับโครงสร้างภาษีจากเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐาน หรือ “ภาษีความหวาน”

ที่มีหลักเกณฑ์คือ เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกินกำหนด จะต้องถูกจัดเก็บภาษีตามอัตราที่วางเอาไว้ กล่าวคือ ยิ่งเครื่องดื่มนั้นมีน้ำตาลมาก ก็ยิ่งเสียภาษีในอัตราที่สูงขึ้น

โดย “ภาษีความหวาน” นี้มีเป้าหมายเพื่อดูแลสุขภาพผู้บริโภค เป็นมาตรการควบคุมการเกิดกลุ่มโรค NCDs (Non-Communicable diseases) หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โรคที่เกิดจากนิสัยหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน โรคอ้วนลงพุง หรือโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันได้มีผู้ประกอบการเข้ามาเจาะตลาดของกลุ่มผู้รักสุขภาพมากขึ้น ในส่วนของสินค้าในรูปแบบอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ที่ให้แคลอรี (Calories) ต่ำออกมาให้ได้เห็นอย่างแพร่หลาย หลากหลายแบรนด์ หลายยี่ห้อ

“สินค้าส่วนใหญ่ที่ถูกผลิตออกมานั้น มักจะใช้คำว่า “0% แคลอรี” ในการบ่งบอกว่าสินค้าตัวนั้นเป็นสินค้าที่ช่วยในเรื่องของการควบคุมแคลอรี่ ซึ่งสินค้าที่จะพบ “0% แคลอรี” บ่อย ๆ เป็นสินค้าประเภทเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่อันดับต้น ๆ ของประเทศ ที่มีมูลค่าสูงถึง 203,300 ล้านบาท (ตุลาคม 2558-กันยายน 2559)

เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อาทิ น้ำอัดลม ถือได้ว่าเป็นเครื่องดื่มยอดฮิต ที่หลายคนต่างเลือกดื่มในเวลากระหายน้ำ เพราะความหวาน ความซ่าของน้ำอัดลมทำให้รู้สึกสดชื่น แต่การดื่มน้ำอัดลมก็แฝงไปด้วยความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ มากมาย อาทิ โรคอ้วน โรคเบาหวาน หรืออาจจะทำให้เกิดโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุนเมื่อเข้าสู่วัยทองได้ง่ายเช่นกัน

ดังนั้น อาหารและเครื่องดื่ม สูตรน้ำตาล 0% ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้ที่ชื่นชอบการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีความหวาน เพราะอาหารและเครื่องดื่มสูตรน้ำตาล 0% จะใส่สารให้ความหวานแทนการใส่น้ำตาล จึงทำให้ไม่มีน้ำตาลที่ทำให้เกิดไขมันสะสมในร่างกาย

อย่างไรก็ตาม มีข้อสงสัยเกิดขึ้นในโลกโซเชียลว่า การบริโภคสารที่ให้ความหวานแทนน้ำตาลต่อเนื่องในระยะเวลานาน สารที่ให้ความหวานจะไปกระตุ้นกลไกในสมอง ส่งผลทำให้สมองอยากอาหารมากขึ้น หิวเก่งขึ้น และกินมากขึ้นกว่าปกติราว 30% จริงหรือ

ทางด้าน รศ.ดร.พรรัตน์ สินชัยพานิช อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า อาหารและเครื่องดื่มสูตรน้ำตาล 0% ช่วยในเรื่องของการลดความอ้วนไม่ได้ และสารที่ให้ความหวานแทนน้ำตาลก็ไม่สามารถทำให้อยากอาหารเพิ่มขึ้นได้ เพราะในสารที่ให้ความหวานไม่มีสารกระตุ้นความอยากอาหารอยู่

“สารที่ให้ความหวานสามารถช่วยในเรื่องของการลดหรือควบคุมปริมาณแคลอรีในอาหารและเครื่องดื่มที่รับประทานได้ เพราะสูตรน้ำตาล 0% เป็นเพียงแค่การลดพลังงานหรือแคลอรีบางส่วนที่ได้รับจากการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเท่านั้น และในส่วนของพลังงานที่ลดเป็นเพียงนิดเดียวเท่านั้น”

อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ ยกตัวอย่างว่า สมมุติว่าน้ำอัดลมกระป๋องที่มีขนาด 325 กรัม มีน้ำตาลประมาณ 10 ช้อนชา เมื่อคูณ 4 จะได้ 40 กรัม คูณ 4 กิโลแคลอรี ก็จะได้ประมาณ 160 กิโลแคลอรี เพราะฉะนั้นการดื่มน้ำอัดลม 0% ก็คือการทานน้ำอัดลมที่ให้พลังงานแคลอรีน้อยลงไป 160 แคลอรี เพียงเท่านั้น ส่วนสาเหตุที่จะทำให้เกิดความอ้วนจะขึ้นอยู่กับปริมาณของพลังงานตามที่ร่างกายได้รับ ซึ่งอาหารหลักที่รับประทานวันละ 3 มื้อ ที่ประกอบไปด้วยข้าว โปรตีน คาร์โบไฮเดรต หรือไขมัน ซึ่งส่วนประกอบเหล่านี้จะทำให้เกิดความอ้วนขึ้นได้ โดยเฉพาะไขมันและแป้ง ที่เป็นตัวให้พลังงานมากกว่าน้ำตาลถึงสองเท่า

สรุปคือ การรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม สูตรน้ำตาล 0% เป็นเพียงอีกหนึ่งทางเลือกของผู้ที่ใส่ใจในสุขภาพ ที่ชื่นชอบการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มเพียงเท่านั้น

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2560 

“เกษตรกร-นักวิชาการ” ค้านเลิก “พาราควอต” ยกผลสำรวจชี้ทำพืชเศรษฐกิจพังกว่าแสนล้านบาท

สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย เปิดผล การรับฟังความเห็นเกษตรกร-นักวิชาการ ค้านยกเลิกใช้พาราควอต-หวั่นผลผลิตพืชเศรษฐกิจสูญกว่าแสนล้านบาท/ปี

นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากคณะกรรมการขับเคลื่อนสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง กระทรวงสาธารณสุข เสนอคณะกรรมการวัตถุอันตราย ให้ยกเลิกการใช้สารกำจัดวัชพืชพาราควอต ซึ่งเป็นยาปราบศัตรูพืช หรือ ยาฆ่าหญ้า ที่เกษตรกรไทยใช้กันมานานกว่า 50 ปี โดยให้เหตุผลเรื่องปัญหาสุขภาพ สมาพันธ์ฯ ได้ลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นจาก นักวิชาการ เกษตรกร ผู้เชียวชาญที่มีประสบการณ์ด้านการเกษตร สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ทั่วประเทศจำนวน 7 ครั้ง

ทั้งนี้จากลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง ได้ข้อสรุปร่วมกันในสมาพันธ์ฯ ว่า ไม่สมควรยกเลิกการใช้สารพาราควอต เพราะมีความสำคัญกับเกษตรกรทั้งผู้เพาะปลูก พืชไร่ พืชสวน ที่ใช้สารพาราควอตในการกำจัดวัชพืช จำนวนมาก หากให้เลือกเฉพาะพืชเศรษฐกิจ ที่มีการส่งออก และสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจไทย ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และข้าวโพดหวาน มีมูลค่ารวมประมาณ 442,600 ล้านบาท ต้นทุนรวมจะเพิ่มขึ้น 39,794 ล้านบาท/ปี หรือ ผลผลิตลดลงรวมมูลค่า 112,435 ล้านบาท/ปี

แบ่งเป็น อ้อย มูลค่าผลผลิตรวม 100,000 ล้านบาท/ปี หากมีการยกเลิกการใช้สารพาราควอต ต้นทุนจะเพิ่มขึ้น 2,200% จาก 135 บาท เป็น 3,200 บาทต่อไร่ และหากไม่ใช้สารกำจัดวัชพืช ผลผลิตอ้อยจะลดลง 20% หรือ 22 ล้านตัน/ปี จากผลผลิตรวมประมาณ 110 ล้านตัน/ปี หรือสูญเสียมูลค่าผลผลิตอ้อยประมาณ 22,000 ล้านบาท/ปี อันส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลเป็นมูลค่า 250,000 ล้านบาท , ข้าวโพดหวาน มูลค่าผลผลิตรวม 3,600 ล้านบาท ต้นทุนจะเพิ่มทันที่ 1,500% จากต้นทุน 132 บาท เพิ่มเป็น 2,100 บาทต่อไร่ หรือต้นทุนเพิ่มขึ้น 1,000 ล้านบาท แต่หากไม่ใช้สารกำจัดศัตรูพืช ผลผลิตข้าวโพดหวานจะลดลง 100% หรือมูลค่าผลผลิตเหลือ 0 ล้านบาททันที

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มูลค่าผลผลิตรวม 28,000 ล้านบาท/ปี หากเลิกใช้สารพาควอต ต้นทุนจะเพิมขึ้น 1,500% จาก 132 บาทเพิ่มเป็น 2,100 บาทต่อไร่ หรือต้นทุนเพิ่มขึ้นรวม 13,723 ล้านบาท/ปี ถ้าไม่ใช้สารกำจัดวัชพืช ผลผลิตจะลดลง 40% หรือผลผลิตลดลง 1.9 ล้านตัน/ปี จากผลผลิตรวม 4.1 ล้านตัน/ปี คิดเป็นมูลค่าที่สูญเสียไป 12,977 ล้านบาท/ปี และยังส่งผลต่อเนื่องถึงอุตสาหกรรมอาหารสัตว์อีกด้วย, มันสำปะหลัง มูลค่าผลผลิตรวม 57,000 ล้านบาท ต้นทุนจะเพิ่มขึ้น 802% จาก 166 บาทเพิ่มเป็น 1,500 บาทต่อไร่ ต้นทุนเพิ่มรวม 11,519 ล้านบาท/ปี หากไม่ใช้สารกำจัดวัชพืชผลผลิต จะลดลง 40% หรือ 12.6 ล้านตัน/ปี จากผลผลิตทั้งปีประมาณ 31.2 ล้านตัน/ปี หรือมูลค่าผลผลิตจะหายไปทันที 23,058 ล้านบาท/ปี

ปาล์มน้ำมัน มูลค่าผลผลิตรวม 44,000 ล้านบาท ต้นทุนจะเพิ่มขึ้น 148% จากต้นทุน 290 บาทเพิ่มเป็น 430 บาทต่อไร่ หรือมูลค่า 1,940 ล้านบาท หากไม่ใช้สารกำจัดวัชพืชผลผลิตจะลดลง 20% คิดเป็นผลผลิตที่หายไป 2.2 ล้านตัน หรือ มูลค่าผลผลิตจะหายไปรวม 8,800 ล้านบาท/ปี และ ยางพารา มูลค่าผลผลิต 210,000 ล้านบาท หากเลิกใช้พาราควอตต้นทุนจะเพิ่มขึ้นทันที 148% จาก 290 บาท เป็น 430 บาทต่อไร่ หรือต้นทุนเพิ่มขึ้นทันที 8,410 บาท/ปี และหากไม่ใช้ยากำจัดวัชพืช ผลผลิตจะลดลงทันที 20% หรือผลผลิตหายไป 0.9 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าผลผลิตที่สูญเสียไป 42,000 ล้านบาท/ปี

นายสุกรรณ์ กล่าวว่า นอกจากสมาพันธ์จะดำเนินการสำรวจความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญแล้ว ในส่วนของกรมวิชาการเกษตร (กวก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้ให้ใบอนุญาตนำเข้า และการขึ้นทะเบียนสารเคมีในประเทศไทยได้ตรวจสอบตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ 4ด้าน ได้แก่ 1.การทบทวนค่าพิษวิทยา 2.การห้ามใช้ในประเทศต่างๆด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ 3.การปฏิบัติภายใต้อนุสัญญาประชาคมโลก ข้อ 4.ผลการรับฟังความเห็น

โดย นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดี กวก.ได้สรุปผลการตรวจสอบยืนยัน ว่า สารพาราควอต ยังสามารถใช้ได้ไม่เป็นอันตราย หากใช้ภายใต้การควบคุม และ กวก.จะนำเสนอผลการตรวจสอบไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อเร่งรัดให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายประชุมให้เกิดความชัดเจนต่อไป ส่วนกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขออกมาระบุว่า พาราควอต เป็นสาเหตุให้เกิดโรคพาร์กินสันนั้น โรงพยาบาลรามาธิบดี ยืนยันว่า สารพาราควอตไม่ได้เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคพาร์กินสัน และโรคหนังเน่า แต่อย่างใด และกรณีถูกผิวหนังหากปฏิบัติถูกต้องใช้ตามวิธีการใช้ตามที่ฉลากกำหนดจะไม่เกิดปัญหาแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสารพาราควอต มีขึ้นทะเบียนการใช้มากกว่า 80 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีความเข้มงวดในเรื่องของการอนุญาตให้ใช้สารเคมี อาทิ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และ ญี่ปุ่น เป็นต้น และผู้ส่งออกในต่างประเทศยอมรับการเพาะปลูกโดยใช้สารพาราควอต ว่ามีความปลอดภัย โดยสารพาราควอตไม่ได้อยู่ในบัญชีสารเคมีเฝ้าระวัง หรือ มีมาตรการพิเศษของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แต่อย่างใด

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2560 

เกษตรฯตรียมแผนแก้ไขปัญหาน้ำต้นทุนเขื่อนลำตะคองก่อนเข้าแล้ง

            วันที่ 21 ก.ย.60 พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมชี้แจงสถานการณ์น้ำ การเพาะปลูกในเขตชลประทาน การปฏิบัติการฝนหลวง และ แนวทางการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ เขื่อนลําตะคอง จ.นครราชสีมา ว่า แม้ว่าภาพรวมในปีนี้จะมีปริมาณฝนมากกว่าปีก่อนๆ ส่งผลให้น้ำในเขื่อนต่างๆ มีมากกว่าปีก่อนๆ แต่บางพื้นที่ยังมีปริมาณฝนไม่มากนัก โดยเขื่อนที่มีน้ำน้อยมาก จำนวน 2 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ และ เขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา ที่ยังเสี่ยงต่อการเกิดภัยแล้งเฉพาะพื้นที่ แม้จะมีพายุในช่วงที่ผ่านมา พื้นที่ จ.นครราชสีมา โดยเฉพาะเขื่อนลำตะคอง/เขื่อนลำพระเพลิง มีน้ำไหลเข้าน้อยมาก เขื่อนลำตะคอง ณ วันที่ 20 ก.ย. 60 มีน้ำ 111 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 88 ล้าน ลบ.ม. โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง มีพื้นที่ชลประทาน 154,195 ไร่ มีการเพาะปลูกรวม 120,599 ไร่ ซึ่งจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จในต้นเดือน ธ.ค. 60 คาดว่า    ณ วันที่ 1 พ.ย. 60 เขื่อนลำตะคองมีน้ำใช้การได้ 114 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งน้อยกว่าเขื่อนอื่นๆ

                ดังนั้น จึงต้องวางแผนเตรียมการช่วยเหลือล่วงหน้า โดยได้สั่งการให้จัดทำแผนดำเนินการช่วยเหลือทั้งในระยะสั้น และ ระยะยาว โดยแผนระยะสั้นในช่วงที่ยังพอมีความชื้น กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ระดมหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำให้ได้มากที่สุด และในช่วงฤดูแล้ง กรมชลประทานได้จัดทำแผนบริหารจัดการน้ำให้มีเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และ การรักษาระบบนิเวศน์ ซึ่งจะระบายน้ำจากเขื่อนลำตะคอง เดือนละ 10.82 ล้าน ลบ.ม. หรือ วันละ 0.36 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำอุปโภคบริโภค วันละ 0.23 ล้าน ลบ.ม. และ เป็นน้ำรักษาระบบนิเวศน์/อื่นๆ วันละ 0.13 ล้าน ลบ.ม. ไม่มีน้ำสำหรับการเพาะปลูกในฤดูแล้ง จะมีน้ำใช้ได้ถึงวันที่ 30 มิ.ย. 61 (รวมระยะเวลา 8 เดือน  ซึ่งระยะเวลาดังกล่าว กระทรวงเกษตรฯ มีแผนส่งเสริมการประกอบอาชีพทางเลือกให้เกษตรกรเพื่อให้มีรายได้ในช่วงฤดูแล้ง ได้แก่ มาตรการจ้างงานเกษตรกรในพื้นที่ในช่วงฤดูแล้ง และส่งเสริมการประกอบอาชีพทางเลือกให้เกษตรกรเพื่อให้มีรายได้ในช่วงฤดูแล้ง ได้แก่ การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 5,000 ไร่ ใช้น้ำประมาณ 2.00 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งกรมชลฯ สามารถสนับสนุนน้ำให้ได้

             สำหรับแผนในระยาว นอกจากดำเนินการปรับเปลี่ยนการเกษตรให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำแล้วยังสั่งการให้กรมชลประทานเร่งจัดทำโครงการคลองผันน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์-เขื่อนลำตะคอง ซึ่งเป็นเครือข่ายอ่างเก็บน้ำหรืออ่างพวงตามแนวทางศาสตร์พระราชา  ที่ดึงน้ำส่วนเกินจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โดยการวางท่อสูบน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มายังอ่างเก็บน้ำมวกเหล็ก และ สูบส่งต่อไปเขื่อนลำตะคลอง ระยะประมาณ 37.1 กม. คาดว่าจะสามารถเพิ่มน้ำให้เขื่อนลำตะคอง ปีละ 94 ล้าน ลบ.ม. และ เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 50,000 ไร่ ใช้งบประมาณ 3,900 ล้านบาท คาดว่าสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2563 – 2565 เนื่องจากต้องมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการออกแบบศึกษารายละเอียดโครงการควบคู่กันไป

                ด้าน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ผลการปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี 2560 กรมฝนหลวงและการบินเกษตรเริ่มปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม ถึง 18 กันยายน 2560 มีการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 182 วัน มีฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวงคิดเป็น ร้อยละ 97.2 ปฏิบัติการฝนหลวงจำนวน 3,049 เที่ยวบิน (4,412:32 ชั่วโมงบิน) ปริมาณการใช้สารฝนหลวง 2,643.33 ตัน พลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ 433 นัด พลุแคลเซียมคลอไรค์ 56 นัด จังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 56 จังหวัด ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บให้กับเขื่อนต่างๆ ทั่วประเทศจำนวน 10 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ เขื่อนคลองสียัด เขื่อนพระปรง เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนปราณบุรี และเขื่อนลำตะคอง

 สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนลำตะคองที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม -    18 กันยายน 2560 กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนลำตะคองไปแล้วทั้งสิ้นจำนวน 102 วัน มีฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวงคิดเป็นร้อยละ 93 จำนวน 331 เที่ยวบิน จำนวนสารฝนหลวง 350.10 ตัน พลุแคลเซียมคลอไรค์ 21 นัด ซึ่งยังมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนที่ไม่เพียงพอต่อการใช้ในฤดูแล้ง ดังนั้น กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงเตรียมการวางแผนเติมน้ำในเขื่อนลำตะคองอย่างต่อเนื่องในเดือนกันยายนนี้ เพื่อให้แหล่งน้ำสำคัญของการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจหลากหลายชนิด  ได้แก่ ข้าวนาปี     มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน และพืชสวน และการใช้น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตรของจังหวัดนครราชสีมาเพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร นายสุรสีห์ กล่าวทิ้งท้าย

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2560 

ดีเดย์ 28 ก.ย. พ.ร.บ.อีอีซีเข้าสภา ‘อุตตม’ ลุ้นสนช.รับหลักการวาระแรก

เมื่อวันที่ 21 กันยายน นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังปาฐกถางานสัมมนา “อีอีซี แม่เหล็กเศรษฐกิจไทยเชื่อมโลก” ว่า วันที่ 28 กันยายนนี้ รัฐบาลจะเสนอร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ในวาระที่ 1 โดยจะมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอกฎหมายเข้าสภาฯ และมีนายวิษณุ เครืองาม และตนร่วมชี้แจงสาระสำคัญของกฎหมาย ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดสำคัญมาก ต้องสร้างความเข้าใจกับสมาชิกสนช.ให้เห็นถึงความสำคัญของกฎหมายดังกล่าว และเมื่อสนช.โหวตรับหลักการแล้วจะมีการตั้งกรรมาธิการพิจารณา เพื่อเข้าสู่การพิจารณาวาระที่ 2 และ3 คาดว่ากฎหมายจะผ่านความเห็นชอบเร็วที่สุด คือ ปลายปีนี้ และช้าสุดคือต้นปีหน้า

 “ช่วงต้นสัปดาห์หน้าจะมีการหารือร่วมระหว่างรัฐบาลและสนช.เพื่อเตรียมการนำกฎหมายเข้าสู่สนช.วันที่ 28 กันยายน โดยวาระแรกสำคัญมาก ต้องสร้างความเข้าใจ ต้องทำให้สนช.เห็นชอบและรับหลักการเพื่อเข้าสู่วาระ2และ3 ซึ่งในช่วงรอการพิจารณาทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะเดินสายหารือกับกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจชุดต่างๆ อาทิ กรรมาธิการพาณิชย์ กรรมาธิการเกษตร กรรมาธิการอุตสาหกรรม เพื่อให้กระบวนการมีความรวดเร็วมากที่สุด”นายอุตตมกล่าว

นายอุตตมกล่าวว่า จากความชัดเจนทำให้รัฐบาลมั่นใจว่าจะมีนักลงทุนเทคโนโลยีขั้นสูงจากทั่วโลกที่สนใจอีอีซีอยู่แล้วเกิดความเชื่อมั่น และมีจำนวนนักลงทุนขนาดใหญ่ของโลกเข้ามาลงทุนในอีอีซีภายในปีนี้ประมาณ 30 บริษัท จากเดิมเป้าหมายดังกล่าวคาดว่าจะเข้ามาลงทุนช่วงปลายปีถึงต้นปีหน้า

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2560 

จี้ยกเลิกสารกำจัดศัตรูพืชอันตราย 

          เมื่อบ่ายวันที่ 19 ก.ย. ที่ศาลากลางจังหวัดสกลนคร นายประสาท ตงศิริ อดีตประธานหอการค้าเขต 11 นพ.สุขสมัย สมพงษ์ ประธานชมรมส่งเสริมคนดีเมืองสกล และนายล่องแจ้ง ฉิมานุกูล เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ ร่วมกับภาคีเครือข่ายกว่า 10 องค์กร ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีผ่านนายวิทยา จันทร์ฉลอง ผวจ.สกลนคร ให้ยกเลิกและเพิกถอนการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชอันตราย โดยระบุว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุขและคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง มีมติวันที่ 5 เม.ย.2556 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิกถอนทะเบียนและไม่ต่ออายุทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง 2 ชนิด ได้แก่พาราควอต สาเหตุของโรคพาร์กินสัน และคลอร์ไพริฟอส สารเคมีกำจัดแมลง ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตของสมองเด็กทารก ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกห้ามใช้ และการใช้ไกลโฟเซต สารเคมีกำจัดวัชพืชองค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็นสารน่าจะก่อมะเร็ง

          ที่ จ.นครสวรรค์ เช้าวันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง กว่า 100 คน ยื่นหนังสือต่อนายบันลือ สง่าจิตร รองผวจ.นครสวรรค์ ที่หน้าศาลากลางจังหวัดพร้อมแสดงออกถึงความผิดหวังกรณีที่อธิบดีกรมวิชาการเกษตรแถลงว่าจะไม่เพิกถอนทะเบียนสารเคมีที่มีความเสี่ยงสูง 2 ชนิด อ้างว่าขาดความรู้ความเชี่ยวชาญ แต่จะส่งเสริมให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาก่อนที่จะดำเนินการใดๆ ตามข้อเสนอเหตุผลดังกล่าวเป็นการถ่วงเวลาตามมติของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาและการใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ก่อนหน้านี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องเคยคัดค้านมาอย่างต่อเนื่องพร้อมเสนอข้อมูลความไม่ชอบมาพากล ร่วมกับ 40 องค์กรเครือข่าย ออกแถลงการณ์แสดงความผิดหวังมาแล้ว ขณะที่นายบันลือรับปากจะส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

          จ.สงขลา ตัวแทนเครือข่ายองค์กรประชาชน จ.สงขลา และจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ 15 องค์กร ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีผ่านนายขจรศักดิ์ เจริญโสภา รองผวจ.สงขลา ให้ยกเลิกสารอันตรายดังกล่าวที่หน้าศาลากลางจังหวัดสงขลา นางสุภาพ อินทร์ทองคำ ตัวแทนเครือข่าย เปิดเผยว่าขอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมวิชาการเกษตรไม่ต่ออายุและต่อใบอนุญาตแก่สารพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสระหว่างยังไม่ได้ดำเนินการให้สาร 2 ชนิดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ให้เพิ่มเงื่อนไขลดนำเข้า และจำกัดการใช้ไกลโฟเซตตามข้อเสนอโดยเร็ว ทั้งสั่งการให้ผวจ.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ห้ามหรือจำกัดการใช้สารเคมีดังกล่าวพร้อมประกาศเป็นนโยบาย จ.สงขลาให้เป็นจังหวัดเกษตรอินทรีย์ต้นแบบของประเทศภายในปี 2565 และประกาศให้พื้นที่คาบสมุทรสทิงพระเป็นพื้นที่นำร่องเกษตรอินทรีย์ ภายในปี 2562.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2560 

เงินบาทอ่อนค่า หลังเฟดคงดอกเบี้ยตามคาด

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีความเห็นต่อผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่มีมติคงอัตราดอกเบี้ย Fed funds ไว้ในช่วง 1.00-1.25% ตามความคาดหมายโดยเฟดคาดว่าจะเริ่มปรับลดการถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ และหลักทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกันวงเงิน 4.2 ล้านล้านดอลลาร์ในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่เฟดเข้าซื้อภายใต้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) หลังเกิดวิกฤติการเงินปี 2550-2552 โดยเจ้าหน้าที่เฟด 11 จาก 16 ราย สนับสนุนให้เฟดขึ้นดอกเบี้ยก่อนสิ้นปีนี้ ขณะที่เฟดส่งสัญญาณว่าจะปรับดอกเบี้ยขึ้นอีก 3 ครั้งในปี 2561 แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับต่ำ และประเมินว่าความเสียหายจากพายุเฮอริเคนจะไม่ส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะกลาง

เงินบาทอ่อนค่าสู่ระดับ 33.12 ต่อดอลลาร์ ในช่วงเปิดซื้อขายเช้านี้ เทียบกับ 33.07 ช่วงท้ายตลาดเมื่อวานนี้ หลังมีแรงซื้อเงินดอลลาร์เทียบกับสกุลเงินสำคัญ เงินเยนแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 2 เดือนเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะสิ้นสุดการประชุมในวันนี้และคาดว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ทุกช่วงอายุปรับตัวสูงขึ้นหลังเฟดกล่าวแถลงการณ์ ส่วนสัญญาอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้าบ่งชี้ว่า ความน่าจะเป็นสำหรับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธันวาคมสูงขึ้นเหนือระดับ 60% และการแข็งค่าของเงินดอลลาร์กดดันราคาทองคำที่ตลาดสหรัฐฯ ด้วย

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ มองว่า ท่าทีล่าสุดของเฟดจะช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทได้บ้าง การไหลเข้าของเงินทุนสู่กลุ่มตลาดเกิดใหม่รวมทั้งไทยจึงน่าจะมีแนวโน้มลดลง ในปีนี้เงินบาทแข็งค่าขึ้นแล้วกว่า 8% ซึ่งเป็นสกุลเงินที่แข็งค่ามากที่สุดในเอเชีย อย่างไรก็ดี คาดว่าดอลลาร์จะกลับมาอ่อนค่าในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า หลังจากกระแสการคุมเข้มนโยบายการเงินนอกสหรัฐฯ เริ่มมีสัญญาณชัดเจนมากขึ้นจากธนาคารกลางแคนาดาและธนาคารกลางอังกฤษ ขณะที่เฟดจะปรับลดขนาดพอร์ตลงทุนอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยเริ่มจาก 1 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน ผู้ประกอบการจึงควรป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากตลาดการเงินโลกมีทิศทางผันผวนจากปัจจัยเสี่ยงที่มีมิติหลากหลายมากขึ้น

สำหรับปัจจัยชี้นำสำคัญถัดไป กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์มองว่า ตลาดจะให้ความสนใจกับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยในวันที่ 27 กันยายน รวมทั้งความคืบหน้าของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจสำคัญจากรัฐบาลทรัมป์ อาทิ การปฏิรูปภาษี และการลงทุนขนาดใหญ่ การเจรจา Brexit ระหว่าง สหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป ส่วนความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลี ในระยะหลังส่งผลกระทบต่อตลาดอย่างจำกัด แต่นักลงทุนไม่ควรมองข้ามความเสี่ยงด้านรัฐภูมิศาสตร์นี้เช่นกัน

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2560 

มูลนิธิสังคมสุขใจผนึกกลุ่มมิตรผล เชื่อมอาหารปลอดภัยจากฟาร์มสู่โรงงาน

                     ใช้เวลาบ่มเพาะประสบการณ์ เก็บเกี่ยวความรู้ การทำงานส่งเสริมเกษตรอินทรีย์กับเกษตรกรเครือข่ายในจังหวัดนครปฐม และพื้นที่ใกล้เคียง ร่วมกับภาคีมายาวนานถึง 7 ปี  โดยการการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)                  วันนี้ สามพรานโมเดล ภายใต้มูลนิธิสังคมสุขใจ โดยการนำของ อรุษ นวราช ผู้บริหารสามพราน ริเวอร์ไซด์ เลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจ ผู้ก่อตั้งสามพรานโมเดล ได้ก้าวไปสู่อีกบทบาทหนึ่งนั่นคือ ทำหน้าที่เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ถ่ายทอดความรู้จากประสบการณ์ตรงในการขับเคลื่อนพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าอุปทานอาหารอินทรีย์ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ผ่านการอบรมหลักสูตรต่างๆ ให้กับองค์กร และหน่วยงาน ที่สนใจอย่างต่อเนื่อง โดยใช้พื้นที่เครือข่ายสามพรานโมเดล            เป็นต้นแบบแห่งการเรียนรู้ ทั้งนี้   เพื่อขยายเครือข่ายสร้างผู้นำร่วมในการเปลี่ยนแปลงระบบอาหารสมดุล

                     ล่าสุด ได้รับเกียรติจาก ฝ่ายกิจการเพื่อสังคม บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด มอบหมายให้เป็นที่ปรึกษาโครงการเชื่อมโยงผลผลิตเกษตรอินทรีย์จากชุมชนสู่โรงอาหารโรงงาน (From Farm to Factory)จัดอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาส่งเสริมและเชื่อมโยงผลผลิตเกษตรอินทรีย์ ให้กับเจ้าหน้าที่ ฝ่ายพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ฝ่ายธุรการโรงงาน และเกษตรกรเครือข่ายตำบลมิตรผลร่วมพัฒนา จ.ขอนแก่น และ จ.กาฬสินธุ์ จำนวน 40 คน เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ณ โรงแรมสามพราน ริเวอร์ไซด์ จ.นครปฐม เป้าหมาย เพื่อนำองค์ความรู้ไปพัฒนาให้เกิดการเชื่อมโยงอาหารปลอดภัยจากฟาร์มสู่โรงงาน และยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรสู่ผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ หวังสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน

                     อรุษ อธิบายกระบวนการทำงานของหลักสูตรนี้ให้ฟังว่า ก่อนที่จะมีการอบรมทางทีมเจ้าหน้าที่มูลนิธิได้ลงพื้นที่ จ.ขอนแก่น และ จ.กาฬสินธุ์ เก็บข้อมูลมาทำการวิเคราะห์ ออกแบบโปรแกรมการอบรมให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้รับความรู้ และสามารถนำกลับไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งโชคดีว่า มิตรผลสร้างฐานไว้ดีมาก และมีการทำงานรูปแบบเดียวกับที่สามพรานโมเดลทำ คือ เชื่อมธุรกิจกับชุมชม และ มีทีมพัฒนาชุมชนที่ทำงานในพื้นที่อย่างเข้มแข็ง ขาดเพียงแค่ความเข้าใจเรื่องมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และไม่มีเครื่องมือในการขับเคลื่อนซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก

                      "มิตรผลมีฐานที่ดีอยู่แล้ว สามพรานโมเดลเข้ามาทำหน้าที่เติมเต็มในเรื่องเทคนิค  สร้างความเข้าใจเรื่องมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ กระบวนการขับเคลื่อนต้นน้ำ โดยการใช้ระบบรับรองแบบมีส่วนร่วม (Participatory Organic Guarantee System : PGS) เป็นเครื่องมือ แต่ก็ยังเน้นการเรียนรู้แบบครบวงจร ทั้ง การวางแผนการผลิต ปัจจัยการผลิต แปรรูป การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว และช่องทางการตลาด ซึ่งเหล่านี้เป็นความรู้ที่สามารถนำกลับไปปรับใช้ได้ทันทีหลังจบการอบรม" อรุษ กล่าว

                        คมกริช นาคะลักษณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานองค์กรสัมพันธ์ และบริหารองค์กร  เพื่อความยั่งยืน บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด กล่าวว่า บริษัท ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนที่อยู่รอบโรงงานให้เกิดความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเอง และอยู่ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งไม่ใช่แค่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกอ้อยอย่างเดียว แต่สอนให้เขาปลูกอยู่ปลูกกิน มีเหลือส่งขายให้กับโรงงาน แต่ไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะฝ่ายโรงงานและเกษตรกรเองยังไม่เข้าใจระบบเกษตรอินทรีย์ดีพอ จนได้เจอกับ คุณอรุษ ได้รู้จักสามพรานโมเดล ช่วยให้ทุกฝ่ายเข้าใจและเชื่อมั่นในวิถีเกษตรอินทรีย์ และเข้าถึงหัวใจสำคัญของการพึ่งพาตนเองได้อย่างชัดเจน การอบรม           ครั้งนี้ หวังให้ทั้งฝ่ายโรงงานและชุมชนได้เก็บเกี่ยวความรู้ เพื่อนำกลับไปวางแผน สร้างข้อตกร่วมกันบนพื้นฐานการค้าที่เป็นธรรม เดินหน้าพัฒนาชุมชนของเราให้เข้มแข็งสามารถพึ่งตัวเองและอยู่ได้อย่างยั่งยืน  

                          หนึ่งเสียงที่สะท้อนความรู้สึกของเกษตรกรที่เข้าร่วมอบรม จาก นพดล จันทร์ดี ประธานกลุ่มปลูกผัก กม.52 กุดกว้าง อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น บอกว่า สำหรับผมการอบรมครั้งนี้เป็นช่วงเวลาที่คุ้มค่ามากได้ความรู้ต่างๆ มากมาย ทำให้เราเข้าใจหลักการทำเกษตรอินทรีย์มาตรฐาน ระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม PGS การเชื่อมโยงตลาด ที่เคยคิดว่าเป็นเรื่องยากเพราะเราศึกษาจากคู่มือเล่มหนาๆ แต่โปรแกรมนี้ย่อคู่มือเล่มนั้นให้สั้นลงทำให้เราเข้าใจ และเข้าถึงได้ง่ายขึ้น 3 วันที่ได้ศึกษาดูงาน ยังได้เรียนรู้เทคนิคต่างๆ รวมถึงได้แลกเปลี่ยนความคิดกับเกษตรกรต้นแบบของสามพรานโมเดล ทำให้เรามองเห็นโอกาส และมีกำลังใจในการผลักดันให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจากเคมีสู่อินทรีย์ เราได้เครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนกลุ่ม คือ ระบบ PGS กลับไปสามารถเริ่มทำงานได้ทันที ถือเป็นการเปิดโลกการเรียนรู้ให้เราได้รู้จักการเกษตรอินทรีย์ เพื่อนำทางไปสู่การพึ่งตนเองและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  

                            สำหรับ หลักสูตรนี้ใช้เวลาอบรม 3 วัน เน้นให้ผู้เข้าร่วมอบรมเข้าใจเรื่องมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ระบบรับรองแบบมีส่วนร่วม PGS ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญในกระบวนการขับเคลื่อนต้นน้ำ ฟังบรรยาย ควบคู่กับการศึกษาดูงานในพื้นที่ต้นแบบเพื่อให้เห็นภาพได้ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น อย่างเช่น ดูการขับเคลื่อนของ กลุ่มเกษตรอินทรีย์บางช้างที่ผลิตผลไม้เป็นหลัก และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรทฤษฎีใหม่หัวใจอินทรีย์ ผลผลิตผักเป็นหลัก ซึ่งทั้ง 2 กลุ่ม มีผู้นำที่เข้มแข็ง และใช้ระบบ PGS ในการขับเคลื่อน พัฒนาจนได้รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล IFOAM  อีกทั้งยังได้ศึกษากระบวนการขับเคลื่อนกลางน้ำ การแปรรูปผลไม้อินทรีย์และเห็ดอินทรีย์   ของ Happylife Farm (วิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารตำบลสระพัฒนา)

                        พร้อมทั้ง ได้เรียนรู้เรื่องปัจจัยการผลิตการ ดูระบบการจัดการแปลงปลูกพืชผสมผสาน ที่ สุขใจออร์           แกนิกฟาร์ม สวนเกษตรอินทรีย์มาตรฐานสากล IFOAM EU และ CANADA ของโรงแรม รวมถึงเยี่ยมชมตลาดสุขใจ หนึ่งช่องทางการตลาดสำคัญของเกษตรกรเครือข่ายสามพรานโมเดล

                          อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการขับเคลื่อนของมิตรผล เป็นไปในลักษณะเดียวกับที่สามพรานโมเดลทำ  คือ การเชื่อมธุรกิจกับชุมชน ในหลักสูตรนี้ จึงได้จัดเวทีให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของโรงแรมสามพราน ริเวอร์ไซด์ ทั้งพ่อครัว ฝ่ายจัดซื้อ แผนกสวน และ ทีม Food waste ที่ทำงานร่วมกับเกษตรกรเครือข่ายสามพรานโมเดล ได้มาแชร์ประสบการณ์การในมิติการทำงานร่วมกับชุมชน ให้กับเจ้าหน้าที่ของโรงงาน เพื่อเป็นแนวทางนำไปปรับใช้ในการทำงานกับเกษตรกรในพื้นที่

                         หลังจากการเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ การทำเกษตรอินทรีย์ ระบบ PSG ในพื้นที่ต้นแบบ            ของโครงการสามพรานโมเดล นำมาสู่การ ระดมสมอง วางแผนงาน เพื่อสร้างข้อตกลงบนพื้นฐานการค้าที่เป็นธรรม และร่วมกำหนดข้อตกลงในการทำงานขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ของแต่ละกลุ่ม ผ่านการนำระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วมภายใต้ชื่อ "Penmitr Organics PGS"  ไปประยุกต์ใช้พัฒนาให้เกิดความเชื่อมโยงอาหารอินทรีย์จากเกษตรกรสู่พนักงานในโรงงาน และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร

                        ไม่เฉพาะสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้กับคนกินและคนปลูกเพียงเท่านั้น แต่เกษตรอินทรีย์ยังช่วยสร้างระบบอาหารให้สมดุล และเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยแก้ปัญหาได้ทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ อีกทั้งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้พึ่งตนเองได้ สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนอยู่ได้อย่างยั่งยืน ดั่งเช่นบทพิสูจน์ที่เกิดขึ้น กับเกษตรกรเครือข่ายสามพรานโมเดล

สำหรับองค์กร หรือ หน่วยงาน ที่สนใจ เปิดโลกเรียนรู้วิถีเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจร ที่ถ่ายทอดประสบการณ์ตรงจากทีมกระบวนกรสามพรานโมเดล สามารถขอข้อมูลได้ที่ ศูนย์พัฒนาเกษตรอินทรีย์สุขใจ มูลนิธิสังคมสุขใจ อ.สามพราน จ.นครปฐม โทร 034 322 544 หรือที่ Facebook/สามพรานโมเดล

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 21 กันยายน 2560

กษ.สั่งการฝนหลวงฯ เร่งเติมน้ำในเขื่อนลำตะคองเพิ่มหวั่นน้ำไม่พอต่อการเพาะปลูกฤดูแล้ง

 กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เตรียมปฏิบัติการเติมน้ำให้เขื่อนลำตะคองเพิ่มอีก เนื่องจากยังคงมีปริมาณน้ำเก็บกักน้อย ต่ำกว่า 30% ทั้งนี้ เพื่อให้มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภค บริโภค และน้ำใช้การเพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึงนี้

เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2560 บริเวณห้องประชุมรับรอง เขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ เดินทางร่วมประชุมชี้แจงสถาการณ์น้ำต้นทุนของเขื่อนลำตะคองซึ่งมีน้อยกว่าอื่นอื่นๆเพื่อให้สามารถมีน้ำใช้ได้อย่างพอเพียงตลอดฤดูแล้ง

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำในเขื่อนลำตะคอง ที่ยังมีปริมาณน้อยกว่าเขื่อนอื่นๆ จึงมอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เร่งเติมน้ำในเขื่อนลำตะคองอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้เพียงพอในช่วงฤดูแล้งที่จะมาถึง โดยการดำเนินงานดังกล่าวจะมีความสอดคล้องกับแผนการส่งเสริมการเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูแล้ง ทั้งนี้ภาพรวมสถานการณ์น้ำในปี 2560 มีฝนตกมากกว่าปีก่อนๆ แต่ยังคงมีบางพื้นที่ยังมีปริมาณฝนไม่มากนัก และมีเขื่อนที่มีปริมาณน้ำเก็บกักในระดับที่น้อยมาก จำนวน 2 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ และเขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา

"โดยสถานการณ์น้ำในเขื่อนลำตะคอง ณ วันที่ 20 กันยายน 2560 มีน้ำ 111 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 88 ล้าน ลบ.ม. โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง มีพื้นที่ชลประทานที่ต้องดูแล จำนวน 154,195 ไร่ มีการเพาะปลูกรวม 120,599 ไร่ ซึ่งจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จในต้นเดือนธันวาคม 2560 คาดว่า ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 เขื่อนลำตะคองจะมีน้ำใช้การได้ 114 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งน้อยกว่าเขื่อนอื่นๆ ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาจะมีฝนตกลงมาบ้าง แต่โดยรวมก็มีน้ำไหลเข้าเขื่อนน้อยมาก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้เตรียม ความพร้อมด้วยการให้ปรับแผนปฏิบัติการฝนหลวงเร่งเติมน้ำในเขื่อนลำตะคองเพิ่มเติม เพื่อลดความเสี่ยง ต่อการเกิดภัยแล้งเฉพาะพื้นที่ที่จะเกิดขึ้น"รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว แต่ว่า

สำหรับแนวทางในการดำเนินงานบริหารจัดการน้ำ กระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดนโยบาย การดำเนินการช่วยเหลือทั้งในระยะสั้น และระยะยาว โดยมีเป้าหมายบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอตามลำดับความเร่งด่วนในการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศน์ การเกษตรต่อเนื่อง การเริ่มต้นเพาะปลูกในฤดูกาลหน้า โดยจะมีคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ อาทิ กรมชลประทาน กรมฝนหลวงฯ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ผู้ใช้น้ำและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกันบริหารจัดการ สำหรับในส่วนของ เขื่อนลำตะคอง ซึ่งมีน้ำต้นทุนน้อยหลายปีต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องวางแผนเตรียมการช่วยเหลือล่วงหน้าอย่างรัดกุม

ด้าน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามสถานการณ์น้ำ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา โดยสรุปสถานการณ์น้ำ ในเขื่อนสำคัญหลายเขื่อนของประเทศ ยังมีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ปกติมาก โดย เขื่อนลำตะคอง เป็นหนึ่งในจำนวน 10 เขื่อน ที่มีความจำเป็นจะต้องเร่งปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้นอีก แม้ว่าที่ผ่านมาจะได้ดำเนินการไปแล้ว แต่ปริมาณน้ำก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงได้มอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือและศูนย์ปฏิบัติการ ฝนหลวงภาคกลางร่วมกันดูแลในพื้นที่และวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงอย่างเร่งด่วน เพื่อให้พร้อมสำหรับสถานการณ์การใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง

"สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี 2560 กรมฝนหลวงและการบินเกษตรเริ่มปฏิบัติการ ฝนหลวงตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม ถึง 18 กันยายน 2560 มีการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 182 วัน มีฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวงคิดเป็น ร้อยละ 97.2 ปฏิบัติการฝนหลวงจำนวน 3,049 เที่ยวบิน (4,412:32 ชั่วโมงบิน) ปริมาณการใช้สารฝนหลวง 2,643.33 ตัน พลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ 433 นัด พลุแคลเซียมคลอไรค์ 56 นัด จังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 56 จังหวัด ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บให้กับเขื่อนต่างๆ ทั่วประเทศจำนวน 10 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ เขื่อนคลองสียัด เขื่อนพระปรง เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนปราณบุรี และเขื่อนลำตะคอง

ทั้งนี้ การปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนลำตะคองที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม - 18 กันยายน 2560 กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนลำตะคองไปแล้วทั้งสิ้นจำนวน 102 วัน มีฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวงคิดเป็นร้อยละ 93 จำนวน 331 เที่ยวบิน จำนวนสารฝนหลวง 350.10 ตัน พลุแคลเซียมคลอไรค์ 21 นัด ซึ่งยังมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนที่ไม่เพียงพอต่อการใช้ในฤดูแล้ง" อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวและว่า

ดังนั้นกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงเตรียมการวางแผนเติมน้ำในเขื่อนลำตะคองอย่างต่อเนื่องในเดือนกันยายนนี้ เพื่อให้แหล่งน้ำสำคัญของการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจหลากหลายชนิด ได้แก่ ข้าวนาปี มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน และพืชสวน และการใช้น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตรของจังหวัดนครราชสีมาเพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร นายสุรสีห์ กล่าวทิ้งท้าย

จาก http://www.siamrath.co.th  วันที่ 21 กันยายน 2560

ไทย ประกาศพร้อมเป็นเจ้าภาพประชุมรัฐมนตรีเกษตรอาเซียนและกลุ่มประเทศบวกสาม เล็งขยายผลศาสตร์พระราชาแก้ปัญหาภาคเกษตรยั่งยืน

 กระทรวงเกษตรฯ ประกาศความพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีเกษตรอาเซียนและกลุ่มประเทศบวกสาม เร่งยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรในภูมิภาค โดยเฉพาะความเชื่อมั่นการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมายของอาเซียน พร้อมขยายผลศาสตร์พระราชาแก้ปัญหาภาคเกษตรยั่งยืน

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 28-29 กันยายน 2560 ประเทศไทยโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ (AMAF) ณ จังหวัดเชียงใหม่ แบ่งเป็น 2 ช่วงการประชุม คือ 1.การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ หรือ AMAF ครั้งที่ 39 ประกอบด้วยสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ซึ่งจะมีพิธีเปิดการประชุมอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 ก.ย. 60 โดย พล.อ ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ กับรัฐมนตรีประเทศบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี) หรือ AMAF +3 ครั้งที่ 17 ในวันที่ 29 กันยายน 2560 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ของไทย จะทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมทั้งสองการประชุมในฐานะประเทศเจ้าภาพ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมประจำปีของรัฐมนตรีที่กำกับดูแลด้านการเกษตรและป่าไม้ของประเทศอาเซียน ประกอบด้วยสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ คือ บรูไน อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ซึ่งจะหมุนเวียนเป็นเจ้าภาพตามลำดับตัวอักษรภาษาอังกฤษ การประชุมนี้เป็นกลไกในการติดตามผลการดำเนินงาน กำหนดนโยบาย กำหนดแนวทางการดำเนินโครงการ ให้ความเห็นชอบมาตรฐาน และแนวทางปฏิบัติด้านการเกษตรต่าง ๆ ในสาขาเกษตรและป่าไม้ เพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนนำไปปรับใช้ภายในประเทศ โดยมีเป้าหมายให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีสินค้าเกษตรและอาหารที่ปลอดภัยและเพียงพอ มีความเป็นเอกภาพ ทั้งด้านการผลิตและการค้า และปรับตัวได้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย 1.ระดับรัฐมนตรีด้านการเกษตรจากอาเซียน 10 ประเทศ และจากประเทศบวกสาม ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ 2.ระดับปลัดกระทรวงและเจ้าหน้าที่อาวุโส ของทั้ง 13 ประเทศ ซึ่งจะมีการประชุมเตรียมการระหว่างวันที่ 25 – 27 กันยายน นี้ 3.สำนักงานเลขาธิการอาเซียน และ คณะทำงานอาเซียน และ4.องค์กรระหว่างประเทศ เช่น FAO / IRRI รวมประมาณ 400 คน

พลเอกฉัตรชัย กล่าวว่า ประเด็นหารือที่สำคัญในการประชุมครั้งนี้ ในด้านการเกษตร เช่น 1.การพิจารณาและให้ความเห็นชอบต่อการดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่จะดำเนินการในปี 2561 อาทิ การกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยอาหาร ได้แก่ มาตรฐานพืชสวนและพืชอาหารของอาเซียน มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ค่าปริมาณสารพิษตกค้าง มาตรฐานปศุสัตว์ และมาตรฐานฮาลาล เป็นต้น 2.การพิจารณาให้ข้อเสนอแนะและให้ความเห็นชอบต่อยุทธศาสตร์ความร่วมมืออาเซียน + 3 ด้านอาหาร เกษตร และป่าไม้ 3.การพิจารณาแผนงานขององค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม หรือ APTERR ระยะต่อไป ได้แก่ การผลักดันให้ประเทศสมาชิกร่วมดำเนินงานโดยการทำสัญญาซื้อขายข้าวล่วงหน้า และแผนบริหารการเงินของสำนักเลขานุการฯ ระยะ 5 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2561 – 2565 4.การผลักดันและติดตามการดำเนินการตามนโยบายประมงร่วมประชาคมอาเซียน โดยฝ่ายไทยจะผลักดันและนำเสนอให้มีการขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น ส่วนในด้านป่าไม้ อาทิ การหารือแนวทางระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่า การดำเนินงานภายใต้ความร่วมมืออาเซียนด้านการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน เป็นต้น

พลเอกฉัตรชัย กล่าวอีกว่า นอกจากการหารือในเวที AMAF และ AMAF+ 3 แล้ว ยังมีการหารือระดับทวิภาคกับประเทศสมาชิก เช่น จีน ญี่ปุ่น และ กัมพูชา เพื่อหารือในประเด็นสำคัญ อาทิ 1.การขยายมูลค่าการค้า และแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรระหว่างกัน 2.ส่งเสริมความร่วมมือด้านการเกษตรและอาหารระหว่างรัฐ-เอกชน และ เอกชน-เอกชน 3.สร้างความร่วมมือด้านประมง IUU จัดแสดงนิทรรศการ แบ่งเป็น 4 โซนหลัก คือ 1.นิทรรศการ“เกษตรยั่งยืนแห่งภูมิภาคอาเซียน” ในรูปแบบการจัดนิทรรศการมีชีวิต 2.โซนนิทรรศการเทิดพระเกียรติ “ศาสตร์พระราชา” เพื่อแสดงถึงพระอัจฉริยะภาพของ ร.9 และ ร.10 ในการพัฒนาภาคเกษตรของประเทศไทย ประกอบด้วย เช่น การบริหารจัดการน้ำ ฝนหลวง และการพัฒนาดิน 3.โซนนิทรรศการ 50 ปีอาเซียน โดยนำเสนอถึงพัฒนาการของอาเซียน และผลสำเร็จจากความร่วมมือของประเทศอาเซียน และ 4.โซนนิทรรศการและผลงานด้านการเกษตรของไทย เช่น การแก้ไขปัญหาการทำประมงอย่างยืนของไทย รวมถึงการจัดกิจกรรมการนำคณะศึกษาดูงาน ณ ศูนย์พัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ วันที่ 30 กันยายน 2560 เพื่อเผยแพร่โครงการในพระราชดำริของพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดชในการแก้ปัญหา และพัฒนาภาคเกษตรในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทย

“การประชุมครั้งนี้คาดว่าจะส่งผลให้ไทยสามารถผลักดันนโยบายที่สำคัญของประเทศเข้าสู่การประชุมอาเซียน ได้แก่ นโยบายประมงร่วมประชาคมอาเซียน และการเป็นผู้นำด้านการพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชของไทย พร้อมทั้งยังได้แสดงศักยภาพและบทบาทการเป็นผู้นำด้านการเกษตรของไทยให้ประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมรับทราบและให้การยอมรับ และช่วยเสริมสร้างความร่วมมือและความสัมพันธ์ด้านเกษตรและป่าไม้กับประเทศอาเซียน และประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้อีกด้วย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว

จาก http://www.siamrath.co.th  วันที่ 21 กันยายน 2560

เครือข่ายเกษตรกรรวมตัว 'ค้านสารเคมีเกษตร

เครือข่ายสนับสนุน การแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง  ได้ออกมาชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลและจัดกิจกรรมหน้าศาลากลางกว่า 50 จังหวัดทั่วประเทศ เรียกร้องให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรม ยุติการต่อทะเบียนและยกเลิกพาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และจำกัดการใช้ไกลโฟเซตตามข้อเสนของกระทรวงสาธารณสุข ที่พบว่ามีความเสี่ยงสูงก่อผลกระทบ ต่อสุขภาพ

          โดยที่วานนี้ (19 ก.ย.) เครือข่ายที่ประกอบไปด้วยกลุ่มเตือนภัยสารเคมี กำจัดศัตรูพืช สภาเกษตรกรแห่งชาติ  เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก-เกษตรอินทรีย์เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เครือข่าย สมัชชาสุขภาพ เครือข่ายองค์กรชุมชน และกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ได้เคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ขึ้นที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อเคลื่อนไหวให้มีการเพิกถอนและยุติการต่อทะเบียนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 2 ชนิดดังกล่าว

          รวมทั้งให้มีการควบคุมสารกำจัดวัชพืชไกลโฟเซตอย่างเข้มงวดมิให้มีการนำมาใช้ในเขตต้นน้ำ แหล่งน้ำ และใกล้ที่อยู่อาศัย พร้อมกับการเคลื่อนไหวที่ทำเนียบรัฐบาลซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 200 คนแล้ว ยังมีการเคลื่อนไหวขององค์กรเครือข่ายต่างๆ เพื่อยื่น หนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ผ่านผู้ว่าราชการ จังหวัดต่างๆ กว่า 50 จังหวัดทั่วประเทศ

          นางสาวภาวิณี วัตถุสินธุ ตัวแทนเครือข่ายฯ ได้แถลงข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการดำเนินการ 4 ข้อ เพื่อให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหา การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มี ความเสี่ยงสูง ครั้งที่ 4/2560 ที่มี  นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน และมี ตัวแทนจาก 4 กระทรวงหลักเข้าร่วม ดังนี้

          1) ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตรอาศัยอำนาจตามมาตรา 27 มาตรา 28 และมาตรา 29 พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ไม่ต่ออายุใบอนุญาตแก่สารพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส

          2) ในระหว่างที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมยังมิได้ดำเนินการจัดประเภทให้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 4 ซึ่งเป็นการแบนสารทั้งสองชนิด  ให้กรมวิชาการเกษตรอาศัยอำนาจตามมาตรา 25 พ.ร.บ.วัตถุอันตราย เพิ่มเติม เงื่อนไขลดจำนวนการนำเข้าสารทั้งสองชนิด ลงเป็นลำดับ ตามกำหนดเวลา ตามมติ ของคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ

          3) สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินการให้มีการจัดประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย โดยนำเอาข้อมูล เหตุผล และมติของคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ เพื่อให้มีการยกเลิกการใช้พาราควอต และ คลอร์ไพริฟอส จำกัดการใช้ไกลโฟเซตตามข้อเสนอโดยเร็ว

          4) ในระหว่างที่การดำเนินการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรมยังไม่แล้วเสร็จ ให้มีการพิจารณาสั่งการในผู้ว่าราชการจังหวัด องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่นห้ามหรือจำกัดการใช้ สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิดตามความเหมาะสม เพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัย ของประชาชน

          นางสาวมลฤดี โพธิ์อินทร์ ตัวแทน จากเครือข่ายผู้บริโภคและมูลนิธิ เพื่อผู้บริโภค ระบุว่าจากนี้จะดำเนินการผลักดันต่อเนื่องให้มีการแบนสารพิษมีผล โดยอาจพิจารณารณรงค์ให้ประชาชนไม่ซื้อสินค้าและผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ ที่สนับสนุนการใช้สารพิษดังกล่าว

          ในขณะที่นายวัชรพล แดงสุภาผู้ประสานงานรณรงค์เกษตรกรรมและอาหารเชิงนิเวศ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชี้ว่าสารพิษเช่นพาราควอตนั้นมีการยกเลิกการใช้แล้วใน 48 ประเทศทั่วโลก แม้แต่ประเทศอังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์และจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตก็ประกาศยกเลิกการใช้แล้ว ไม่สมควรที่รัฐบาลไทยจะเอาใจกลุ่มธุรกิจสารเคมีโดยเอาสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมของประเทศเข้าแลก

          "อาจจะต้องรณรงค์ให้ประชาชนงดซื้อสินค้าของผู้ที่สนับสนุน การใช้สารพิษ" มลฤดี โพธิ์อินทร์

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2560

กระทรวงอุต ฯ ผลักดันอุตสาหกรรมไทยเชิงสร้างสรรค์สู่ AEC ผู้ประกอบการได้ 3 เด้ง พัฒนาศักยภาพการแข่งขัน โอกาสทางการค้าการลงทุน และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเพื่อสังคม ที่น่าอยู่อย่างเป็นรูปธรรม

          นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2560 ณ ห้องแซฟไฟร์ 204-205 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ได้ทำพิธีมอบโล่เกียรติยศแก่สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ และปิดประชุมสัมมนาโครงการพร้อมความสำเร็จของภาคอุตสาหกรรมในการใช้เทคโนโลยีสะอาด สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่และลดปัญหาสิ่งแวดล้อม นำมาซึ่งการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขบนพื้นฐานแห่งสมดุลด้านเศรษฐกิจ การจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี และการดูแลคุณภาพชีวิตของคนในสังคม

          นายทองชัย  กล่าวว่า เป็นที่รู้กันดีว่า ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มตัวแล้ว เราจึงต้องปรับตัวในทุกด้านเพื่อให้เกิดความทัดเทียมและสามารถแข่งกันกับประเทศต่างๆ ที่มีความเข้มแข็งทางด้านอุตสาหกรรมได้  จึงเป็นความจำเป็นอย่างที่สุดที่จะต้องแสวงหาโอกาสและลู่ทางในการขยายตลาดให้มากที่สุด คณะกรรมการส่งเสริมการดำเนินงานการพัฒนาประสิทธิภาพองค์กร กลุ่มที่ 1 จึงได้จัดโครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ขึ้น ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการหรือผู้ประกอบการได้รับผลประโยชน์ 3 ข้อ คือได้เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ได้โอกาสทางการค้าและการลงทุน และได้ช่วยกันดูแลแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ภายใต้การมีส่วนร่วมของภาครัฐ ชุมชนและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเรามีต้นแบบที่ดีในเรื่องการประดิษฐ์คิดค้น สร้างนวัตกรรมใหม่โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งวันนี้เราได้จัดนิทรรศการ "กษัตริย์แห่งนวัตกรรม" เพื่อเทิดพระเกียรติฯ แด่พระองค์ท่านด้วย ตลอดจนเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการกับเรา ได้นำผลงานเชิงสร้างสรรค์จากวัสดุที่ไม่ใช้แล้วมาคิดทำเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ซึ่งช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ด้วยเทคโนโลยีสะอาด (CT : Clean Technology) หรือ 3R (Reduce Reuse Recycle) และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการผลิตไปในตัวด้วย โดยตัวอย่างผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ที่นำมาแสดงในงานวันนี้ มีความสวยงาม แปลกตา เป็นของใช้ เป็นเฟอร์นิเจอร์ หรือจะเป็นเครื่องแต่งกาย รวมถึงอาหารก็สามารถนำมาอัพไซเคิล แปรรูปใช้ใหม่ได้ ต้องขอชื่นชมผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมทั้ง 36 แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ เพราะถือว่านี่เป็นการส่งสัญญาณในการแสดงเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่นของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ที่ให้ความสำคัญและต้องการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมของประเทศอย่างสร้างสรรค์และมีนวัตกรรม ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

          กิจกรรมโครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 โดยเน้นย้ำให้ผู้ประกอบการ คิดค้นหรือสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เกิดจากแนวคิดเชิงสร้างสรรค์ และคงไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย เพื่อการอยู่ร่วมกันได้ในสังคมระหว่างภาคอุตสาหกรรมและชุมชน ซึ่งในเขตพื้นที่12 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี  ลพบุรี อ่างทอง กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี และสุพรรณบุรี มีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและวิสาหกิจชุมชนที่ขึ้นทะเบียนกับภาครัฐมากกว่า 30,000 ราย ที่มีความมุ่งมั่นและมีความสามารถในการพัฒนาศักยภาพของตนให้กลายเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยแนวคิดวิจัยเชิงสร้างสรรค์ Clean Technology (CT) หรือเทคโนโลยีสะอาด โดยการนำกลยุทธ์มาใช้ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ บริการ และกระบวนการอย่างต่อเนื่อง เพื่อจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เปลี่ยนเป็นของเสียน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย รวมทั้งลดมลพิษจากแหล่งกำเนิด

          ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมคาดหวังว่า หากผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศ ดำเนินแนวคิดนี้ไปพร้อมๆ กัน ในอนาคตประเทศไทยคงจะเป็นต้นแบบของการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่ประสบความสำเร็จ ได้ทรัพยากรบุคคลที่คิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่เชิงสร้างสรรค์ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ความสุขจากการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมและภาคอุตสาหกรรม และได้ลดมลพิษจากแหล่งกำเนิด ก่อเกิดสิ่งแวดล้อมที่น่าอยู่และสวยงามตลอดไป   

จาก  https://www.prachachat.net  วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2560 

ส่องเกษตร : โครงการน้ำกับอนาคตเกษตรไทย

การประชุมครม.สัญจรครั้งนี้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ประกาศว่า จะเสนอขออนุมัติ“เมกะโปรเจกท์น้ำ” สำคัญคือ โครงการขุดคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร 22.4 กม. มูลค่า 17,600 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมทุกปีจากน้ำเหนือหลาก ซึ่งผลประโยชน์โครงการ นอกจากช่วยบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างได้ 4 แสน ถึง 8 แสนไร่ ป้องกันพื้นที่สำคัญทั้งตัวเมืองและนิคมอุตสาหกรรมแล้ว ยังเพิ่มศักยภาพแหล่งน้ำชลประทานสำหรับพื้นที่เกษตรได้เกือบ 2.3 แสนไร่ ในอยุธยา 6 อำเภอตั้งแต่ อ.เมือง,บางบาล,บางไทร,บางปะอิน,ผักไห่,เสนา รวมไปถึงอ.ป่าโมก ของจ.อ่างทองด้วย

ไม่เพียงโครงการขุดคลองบางบาล-บางไทร ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยานี้เท่านั้น ยังมีข่าวจากรมว.คมนาคม-อาคม เติมพิทยาไพสิฐว่า กระทรวงคมนาคมกับกระทรวงเกษตรฯได้ร่วมกันบูรณาการที่จะก่อสร้างถนนวงแหวนรอบที่ 3 ควบคู่ไปกับโครงการคลองผันน้ำ ด้านฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อป้องกันและบรรเทาน้ำท่วมจากน้ำหลากที่ระบายจากท้ายเขื่อนเจ้าพระยาผ่านอยุธยาลงอ่าวไทยระยะทาง 100 กม. โดยใช้งบฯลงทุนทั้งสิ้นสูงถึง 2 แสนล้านบาท เป็นงบฯขุดคลองผันน้ำกว่า 1 แสนล้าน กับงบฯอีกราว 8.5 หมื่นล้านบาท ที่ใช้สร้างในส่วนถนนวงแหวนรอบที่ 3

ระหว่างที่ผมเขียนต้นฉบับอยู่นี้ ยังไม่ทราบผลประชุมครม.ออกมาอย่างไร แต่นับว่า ได้เห็นภาพการเริ่มขับเคลื่อนส่วนหนึ่งของเมกะโปรเจกท์น้ำ ซึ่งถือเป็นเป้าหมายสำคัญของรัฐบาลชุดนี้ในการเร่งรัดแผนบริหารจัดการน้ำที่พูดกันมาหลายปี ฉะนั้นก็ต้องคอยติดตามดูกันอย่างใกล้ชิดต่อไป เพราะเรื่องนี้ถือเป็นการแก้ไขปัญหาสำคัญของชาติ ขณะที่เม็ดเงินที่ใช้ในโครงการใหญ่ๆแบบนี้ ก็มักมีความระแวงในเรื่อง“การหาผลประโยชน์มิชอบ”ให้ต้องคอยจับตาตรวจสอบกันอย่างถี่ถ้วนด้วย

อีกเรื่องหนึ่งที่ขอเก็บตกมาเขียนถึงสักหน่อยคือ งานสัมมนา “ภาพอนาคตในปี 2035 : ที่ดินพลังงานและน้ำในประเทศไทย” จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยและ TDRI-สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย 8 ก.ย.ที่ผ่านมา มีผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านได้นำผลงานวิจัยวิชาการมาประเมินภาพอนาคตไว้น่าสนใจ ขอยกมาสรุปที่เกี่ยวกับเรื่องน้ำและที่ดินเพื่อการเกษตรดู

ดร.อุชุก ด้วงบุตรศรี อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฉายภาพช่วง 10 ปีที่ผ่านมาว่า ภาคเกษตรใช้ที่ดินเพิ่มขึ้น 6.10 ล้านไร่ แต่นาข้าวลดลง 5.28 ล้านไร่ ส่วนที่เพิ่มมากคือไม้ยืนต้นเพิ่ม 10.40 ล้านไร่และพืชไร่เพิ่มขึ้น 2.54 ล้านไร่ ขณะที่ป่าไม้ลดลงมากถึง 7.32 ล้านไร่ ที่ดินรกร้างก็ลดลง 1.96 ล้านไร่...ทั้งประเมินภาพอนาคตเกษตรไทยและการใช้ที่ดินว่า การใช้ที่ดินและน้ำด้านท่องเที่ยวกับอุตสาหกรรมจะยิ่งเพิ่มขึ้น ขณะที่พื้นที่การเกษตรจะลดลงจาก 138 ล้านไร่ ในปี 2557 เหลือ 122-132 ล้านไร่ ใน 18 ปีข้างหน้า(ค.ศ.2035)หรือลดลงตั้งแต่ 4.35% ถึง 11.59% นับได้ว่าที่ดินเกษตรลดลงอย่างรวดเร็วหลังยกเลิกโครงการจำนำสินค้าเกษตรและประกันรายได้เกษตรกร แต่ปัจจัยหักเหยังจะเกิดจากนโยบายการเกษตรในอนาคต,เทคโนโลยีสมัยใหม่,ภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก (climate change) รวมถึงพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและพ.ร.บ.การเช่าที่ดินเกษตร

“ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะเป็นตัวกระตุ้นการใช้ประโยชน์ที่ดินมากขึ้น โดยในไทยคนรวยถือครองที่ดินร้อยละ 80 เกษตรกรไร้ที่ดินทำกินเพิ่มขึ้น ภาครัฐจะหาที่ดินทำกินให้เกษตรกรยากขึ้น ปัญหาจะวนมาถึงพื้นที่ป่าที่ลดลง”

ส่วน ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ TDRI ชี้ว่า ความต้องการน้ำทุกภาคส่วนในอนาคตจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าเพื่ออุปโภคบริโภคหรือภาคธุรกิจต่างๆ การจัดการในอนาคตขึ้นกับโครงการใหญ่ของภาครัฐจะเกิดขึ้นตามแผนหรือไม่ ทั้งระบุทีมวิจัยเสนอว่า เพื่อให้เกิดการจัดการน้ำที่เหมาะสม ควรเดินหน้าจัดเก็บค่าบำรุงรักษาคลองชลประทาน,ศึกษาการจัดเก็บค่าน้ำ,แก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการคิดค่าน้ำดิบจากการประปาฯ และควรจัดเก็บภาษีมลพิษในน้ำและภาษีนำเข้าสารเคมีการเกษตร เพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำ ทั้งยืนยันว่า ควรเก็บค่าน้ำภาคการเกษตร เพื่อให้เกิดการใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถกำหนดอัตราต่ำได้ แต่เรื่องนี้นักการเมืองต่อต้านมาตลอด...

ฟังนักวิชาการว่าแล้ว ผมก็หวังว่า รัฐบาลจะเร่งจัดการโครงการต่างๆให้สำเร็จลุล่วงตามแผนให้ได้ด้วยดี เพื่อรับมือกับภาพอนาคต มิเช่นนั้นลูกหลานเกษตรกรไทยลำบากยากเข็ญอีกนานแน่

สาโรช บุญแสง

จาก  http://www.naewna.com วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2560 

พ.ร.บ.น้ำฯ พ่นพิษ ‘เกษตรกร’ ปาดเหงื่อ แบกค่าน้ำ 800 บาท/ไร่ ต้านผู้ว่าฯ คุม หวั่นผูกขาด

“พล.อ.อกนิษฐ์” ยันร่างพ.ร.บ.นํ้าฯเสร็จทันกำหนด 27 ต.ค.นี้ เวทีรับฟังความคิดเห็นร้อนฉ่า หวั่นผู้ว่าฯผูกขาดเป็นประธานลุ่มนํ้า ผู้เลี้ยงกุ้งโอดแบกต้นทุนค่านํ้า 800 บาท/ไร่ ทีดีอาร์ไอเชียร์เก็บค่านํ้าให้เกษตรกรประหยัด

 พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพยากรนํ้า พ.ศ. …. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ระหว่างการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรนํ้า เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2560 ในเขตพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม สำหรับลุ่มนํ้าท่าจีนและลุ่มนํ้าแม่กลอง ว่า ร่างฯดังกล่าวนี้ได้มีการพิจารณาแล้ว 81 มาตรา จากทั้งหมดมี 9 หมวด 100 มาตรา โดยระหว่างนี้จะลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนควบคู่กันไป ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับฟังความคิดเห็นมาแล้ว 3 ครั้ง ใน 3 จังหวัดได้แก่ พะเยา ลพบุรี และขอนแก่น

 ร่างพ.ร.บ. นี้มีเจตนารมณ์เพื่อให้เป็นกฎหมายกลางในการบริหารจัดการทรัพยากรนํ้าของทั้งประเทศ จากที่ผ่านมามีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรนํ้าทั้งหมด 42 หน่วยงาน มีพ.ร.บ. พระราชกำหนด กฎกระทรวงอนุบัญญัติ และประกาศที่เกี่ยวข้องมากมาย (ดูกราฟิกประกอบ) มีวัตถุประสงค์ในการบังคับใช้และการแก้ไขปัญหาเฉพาะเรื่อง หรือดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเฉพาะ ซึ่งบางส่วนยังมีความทับซ้อนไม่เชื่อมโยงกัน และยังมีช่องว่างไม่ครอบคลุมในทางปฏิบัติ

“คาดว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จทันตามกำหนดในวันที่ 27 ตุลาคม 2560 ส่วนการเก็บค่านํ้าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทางคณะ กมธ. ได้ข้ามพิจารณามาตรานี้ออกไปก่อน โดยจะไม่มีการเก็บค่านํ้าเกษตรกรรายย่อย แต่จะพิจารณาเก็บค่านํ้าที่ใช้ในภาคธุรกิจต่างๆ อย่างไรก็ตามยืนยันว่ากฎหมายที่จะออกมาบังคับใช้จะไม่สร้างความเดือดร้อน จะให้ความเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน”

ขณะที่ในเวทีรับฟังความคิดเห็นที่สมุทรสงครามมีแกนนำในลุ่มนํ้าต่าง ๆ ได้นำเสนอประเด็นที่น่าสนใจ กรณีลุ่มนํ้าที่ครอบคลุมพื้นที่หลายจังหวัด อาทิ ลุ่มนํ้าเจ้าพระยา 19 จังหวัด ลุ่มนํ้าท่าจีน 13 จังหวัด มีข้อสังเกตว่าจะดูแลอย่างไรให้ทั่วถึง ที่สำคัญประธานแต่ละลุ่มแม่นํ้าในกฎหมายฉบับนี้ระบุ ให้ผู้ว่าฯของแต่ละลุ่มนํ้าเลือกกันเอง 1 คนมาเป็นประธาน เป็นการผูกขาด โดยที่ภาคส่วนอื่นๆ เช่น ผู้แทนลุ่มนํ้า ผู้แทนเกษตรกร ก็สามารถเป็นประธานได้ รวมทั้งในทางปฏิบัติผู้ว่าฯ มักมอบให้รองผู้ว่าฯประชุมแทน ซึ่งอาจไม่มีความรู้การบริหารจัดการนํ้า จากจะมาแก้ปัญหาอาจกลายเป็นผู้สร้างปัญหาหรือไม่

 สำหรับการเก็บค่านํ้า ปัจจุบันบางลุ่มนํ้ามีการเก็บค่านํ้าเฉพาะพื้นที่ โดยเงินที่จัดเก็บได้จะนำไปใช้ในการบำรุงรักษา ระบบนํ้าในพื้นที่ แต่กฎหมายฉบับนี้ต้องนำรายได้เข้าคลังกลางเป็นรายได้แผ่นดิน เกรงจะไม่ตอบโจทย์ อยากเสนอให้ตั้งกองทุนในแต่ละลุ่มนํ้าบริหารกันเอง นอกจากนี้ยังมีประเด็นต่างๆ ที่ยังเป็นที่กังวล เช่นการคิดค่านํ้าคิดอย่างไร คำนวณการใช้นํ้าอย่างไร หากมีการตั้งมิเตอร์วัดการใช้นํ้าใครจะเป็นผู้จ่าย เป็นต้น

 อีกด้านเป็นตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง กล่าวว่า หากกฎหมายนี้ออกมา รัฐบาลคิดค่านํ้าอัตราตํ่าสุดที่ 50 สตางค์ต่อลูกบาศก์เมตร ผู้เลี้ยงกุ้งใช้นํ้า 1 ไร่ จ่ายค่านํ้า 800 บาท แต่ถ้าใช้นํ้า 10 ไร่ต้องจ่ายถึง 8,000 บาท จากเดิมที่ไม่ต้องเสีย ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นทันที ซึ่งเกษตรกรไม่มีกำลังที่จะจ่ายจึงขอความเห็นใจ

 สอดคล้องกับนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ กรรมาธิการวิสามัญฯกล่าวว่า ความจริงอาชีพเกษตรเพื่อยังชีพ ไม่ควรจำกัดพื้นที่ไร่ หรือจำนวนปริมาณชนิดสัตว์ในการจัดเก็บค่านํ้า แต่ถ้าเป็นเกษตรพาณิชย์ ในเชิงธุรกิจส่วนตัวเห็นว่าควรต้องมีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ต้องจ่ายค่านํ้า อย่างนี้จะชัดกว่า เรื่องนี้จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ เพื่อแยกความชัดเจนระหว่างเกษตรเพื่อยังชีพกับเกษตรพาณิชย์ต่อไป

 เช่นเดียวกับพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เห็นว่า อาชีพเกษตร มีความเสี่ยงสูงทั้งภัยธรรมชาติ โรคระบาด และต้นทุนก็สูง ดังนั้นไม่เห็นด้วยที่จะเก็บค่านํ้าในภาคเกษตร ขณะที่ รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า จากผลการศึกษาพบว่าในภาคเกษตรใช้นํ้าสิ้นเปลืองมากสุด เพราะนํ้าไม่มีราคา ไม่จูงใจที่จะใช้เทคโนโลยีในการจัดการนํ้า หรือเลือกปลูกพืชที่ใช้นํ้าน้อย ดังนั้น ควรเก็บค่านํ้าเพื่อให้เกษตรกรตระหนัก ประหยัดและรู้คุณค่านํ้ามากขึ้น

จาก http://www.thansettakij.com   วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2560

ครม.ไฟเขียวมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรฯ ปีการผลิต60/61 วงเงิน8.72หมื่นล.

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 60/61 ด้านการตลาด จำนวน 3 โครงการ วงเงินงบประมาณ 87,216.17 ล้านบาท เป็นวงเงินสินเชื่อ 33,510 ล้านบาท และวงเงินจ่ายขาด 53,706.17 ล้านบาท ประกอบด้วย

 โครงการที่ดำเนินการโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 2 โครงการ วงเงิน 86,276.17 ล้านบาท คือ 1.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร เป้าหมาย 2.5 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินงบประมาณ 12,906.25 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อ 12,500 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาด 406.25 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 1 ต.ค. 60 ถึง 30 ก.ย. 61 โดยจะเป็นการสนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ย MLR-1 ซึ่งปัจจุบัน MLR อยู่ที่ประมาณ 5% ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรจะรับภาระดอกเบี้ยเพียงแค่ 1% ต่อปี และรัฐจะสนับสนุน 3% ต่อปี

 และ 2.โครงการสินเชื่อชะลอขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวนาปี กลุ่มเป้าหมายคือเกษตรกรที่ปลูกทั้งข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเหนียว ข้าวเจ้า ข้าวปทุมธานีทั่วประเทศ เป้าหมาย 2 ล้านตันข้าวเปลือก กำหนดอัตราสินเชื่อข้าวเปลือกแต่ละชนิดที่ความชื้นไม่เกิน 15% ในอัตรา 90% ของราคาตลาดของข้าวเปลือกแต่ละชนิดเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง โดยข้าวเหนียวจะกำหนดราคาเท่ากับข้าวหอมมะลิ เนื่องจากที่ผ่านมาราคาข้าวเหนียวสูงกว่าข้าวหอมมะลิแบบไม่ปกติ ราคาที่จะให้สินเชื่อ ข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเหนียวอยู่ที่ ตันละ 10,800 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 7,200 บาท ข้าวเปลือกปทุมธานี ตันละ 8,500 บาท โดยมีค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าว ตันละ 1,500 บาท โดยจ่ายพร้อมสินเชื่อก่อนตันละ 1,000 บาท และจ่ายภายหลังนำเงินมาชำระหนี้อีก 500 บาท ระยะเวลาโครงการ 1 พ.ย. 60 ถึง 30 ธ.ค. 61 และระยะเวลาการทำสัญญาเงินกู้ 1 พ.ย. 60 ถึง 28 ก.พ. 61 ยกเว้นภาคใต้ ถึง 31 ก.ค. 61 กำหนดระยะเวลาคืนเงินกู้ไม่เกิน 5 เดือนนับจากเดือนที่รับเงินกู้

 นอกจากนี้จะช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ไร่ละ 1,200 บาท ตามพื้นที่ปลูกข้าวจริงแต่ไม่เกินรายละ 10 ไร่ ใช้วงเงินงบประมาณ 73,369.92 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินสินเชื่อ 21,010 ล้านบาท และวงเงินจ่ายขาด 52,359.92 ล้านบาท

 ส่วนอีก 1 โครงการซึ่งจะดำเนินการโดยกระทรวงพาณิชย์ คือ โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก วงเงิน 940 ล้านบาท

จาก http://www.thansettakij.com   วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2560

มูลนิธิสังคมสุขใจ ร่วมกับ กลุ่มมิตรผล ปั้นชุมชนสู่ผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ 

ใช้เวลาบ่มเพาะประสบการณ์ เก็บเกี่ยวความรู้ การทำงานส่งเสริมเกษตรอินทรีย์กับเกษตรกรเครือข่ายในจังหวัดนครปฐม และพื้นที่ใกล้เคียง ร่วมกับภาคีมายาวนานถึง 7 ปี  โดยการการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)                  วันนี้ สามพรานโมเดล ภายใต้มูลนิธิสังคมสุขใจ โดยการนำของ อรุษ นวราช ผู้บริหารสามพราน ริเวอร์ไซด์ เลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจ ผู้ก่อตั้งสามพรานโมเดล ได้ก้าวไปสู่อีกบทบาทหนึ่งนั่นคือ ทำหน้าที่เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ถ่ายทอดความรู้จากประสบการณ์ตรงในการขับเคลื่อนพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าอุปทานอาหารอินทรีย์ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ผ่านการอบรมหลักสูตรต่างๆ ให้กับองค์กร และหน่วยงาน ที่สนใจอย่างต่อเนื่อง โดยใช้พื้นที่เครือข่ายสามพรานโมเดล            เป็นต้นแบบแห่งการเรียนรู้ ทั้งนี้   เพื่อขยายเครือข่ายสร้างผู้นำร่วมในการเปลี่ยนแปลงระบบอาหารสมดุล

ล่าสุด ได้รับเกียรติจาก ฝ่ายกิจการเพื่อสังคม บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด มอบหมายให้เป็นที่ปรึกษาโครงการเชื่อมโยงผลผลิตเกษตรอินทรีย์จากชุมชนสู่โรงอาหารโรงงาน (From Farm to Factory)                      จัดอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาส่งเสริมและเชื่อมโยงผลผลิตเกษตรอินทรีย์ ให้กับเจ้าหน้าที่ ฝ่ายพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ฝ่ายธุรการโรงงาน และเกษตรกรเครือข่ายตำบลมิตรผลร่วมพัฒนา จ.ขอนแก่น และ จ.กาฬสินธุ์ จำนวน 40 คน เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ณ โรงแรมสามพราน ริเวอร์ไซด์ จ.นครปฐม เป้าหมาย 

เพื่อนำองค์ความรู้ไปพัฒนาให้เกิดการเชื่อมโยงอาหารปลอดภัยจากฟาร์มสู่โรงงาน และยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรสู่ผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ หวังสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน

อรุษ อธิบายกระบวนการทำงานของหลักสูตรนี้ให้ฟังว่า ก่อนที่จะมีการอบรมทางทีมเจ้าหน้าที่มูลนิธิได้ลงพื้นที่ จ.ขอนแก่น และ จ.กาฬสินธุ์ เก็บข้อมูลมาทำการวิเคราะห์ ออกแบบโปรแกรมการอบรมให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้รับความรู้ และสามารถนำกลับไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งโชคดีว่า มิตรผลสร้างฐานไว้ดีมาก และมีการทำงานรูปแบบเดียวกับที่สามพรานโมเดลทำ คือ เชื่อมธุรกิจกับชุมชม และ มีทีมพัฒนาชุมชนที่ทำงานในพื้นที่อย่างเข้มแข็ง ขาดเพียงแค่ความเข้าใจเรื่องมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และไม่มีเครื่องมือในการขับเคลื่อนซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก

 “มิตรผลมีฐานที่ดีอยู่แล้ว สามพรานโมเดลเข้ามาทำหน้าที่เติมเต็มในเรื่องเทคนิค  สร้างความเข้าใจเรื่องมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ กระบวนการขับเคลื่อนต้นน้ำ โดยการใช้ระบบรับรองแบบมีส่วนร่วม (Participatory Organic Guarantee System : PGS) เป็นเครื่องมือ แต่ก็ยังเน้นการเรียนรู้แบบครบวงจร ทั้ง การวางแผนการผลิต ปัจจัยการผลิต แปรรูป การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว และช่องทางการตลาด ซึ่งเหล่านี้เป็นความรู้ที่สามารถนำกลับไปปรับใช้ได้ทันทีหลังจบการอบรม” อรุษ กล่าว

ด้าน คมกริช นาคะลักษณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานองค์กรสัมพันธ์ และบริหารองค์กร                     เพื่อความยั่งยืน บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด กล่าวว่า บริษัท ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนที่อยู่รอบโรงงานให้เกิดความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเอง และอยู่ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งไม่ใช่แค่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกอ้อยอย่างเดียว แต่สอนให้เขาปลูกอยู่ปลูกกิน มีเหลือส่งขายให้กับโรงงาน แต่ไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะฝ่ายโรงงานและเกษตรกรเองยังไม่เข้าใจระบบเกษตรอินทรีย์ดีพอ จนได้เจอกับ คุณอรุษ ได้รู้จักสามพรานโมเดล ช่วยให้ทุกฝ่ายเข้าใจและเชื่อมั่นในวิถีเกษตรอินทรีย์ และเข้าถึงหัวใจสำคัญของการพึ่งพาตนเองได้อย่างชัดเจน การอบรม           ครั้งนี้ หวังให้ทั้งฝ่ายโรงงานและชุมชนได้เก็บเกี่ยวความรู้ เพื่อนำกลับไปวางแผน สร้างข้อตกร่วมกันบนพื้นฐานการค้าที่เป็นธรรม เดินหน้าพัฒนาชุมชนของเราให้เข้มแข็งสามารถพึ่งตัวเองและอยู่ได้อย่างยั่งยืน  

หนึ่งเสียงที่สะท้อนความรู้สึกของเกษตรกรที่เข้าร่วมอบรม จาก นพดล จันทร์ดี ประธานกลุ่มปลูกผัก กม.52 กุดกว้าง อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น บอกว่า สำหรับผมการอบรมครั้งนี้เป็นช่วงเวลาที่คุ้มค่ามาก            ได้ความรู้ต่างๆ มากมาย ทำให้เราเข้าใจหลักการทำเกษตรอินทรีย์มาตรฐาน ระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม PGS การเชื่อมโยงตลาด ที่เคยคิดว่าเป็นเรื่องยากเพราะเราศึกษาจากคู่มือเล่มหนาๆ แต่โปรแกรมนี้ย่อคู่มือเล่มนั้นให้สั้นลงทำให้เราเข้าใจ และเข้าถึงได้ง่ายขึ้น 3 วันที่ได้ศึกษาดูงาน ยังได้เรียนรู้เทคนิคต่างๆ รวมถึงได้แลกเปลี่ยนความคิดกับเกษตรกรต้นแบบของสามพรานโมเดล ทำให้เรามองเห็นโอกาส และมีกำลังใจในการผลักดันให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจากเคมีสู่อินทรีย์ เราได้เครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนกลุ่ม คือ ระบบ PGS กลับไปสามารถเริ่มทำงานได้ทันที ถือเป็นการเปิดโลกการเรียนรู้ให้เราได้รู้จักการเกษตรอินทรีย์ เพื่อนำทางไปสู่การพึ่งตนเองและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  

สำหรับ หลักสูตรนี้ใช้เวลาอบรม 3 วัน เน้นให้ผู้เข้าร่วมอบรมเข้าใจเรื่องมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ระบบรับรองแบบมีส่วนร่วม PGS ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญในกระบวนการขับเคลื่อนต้นน้ำ ฟังบรรยาย ควบคู่กับการศึกษาดูงานในพื้นที่ต้นแบบเพื่อให้เห็นภาพได้ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น อย่างเช่น ดูการขับเคลื่อนของ กลุ่มเกษตรอินทรีย์บางช้างที่ผลิตผลไม้เป็นหลัก และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรทฤษฎีใหม่หัวใจอินทรีย์ ผลผลิตผักเป็นหลัก ซึ่งทั้ง 2 กลุ่ม มีผู้นำที่เข้มแข็ง และใช้ระบบ PGS ในการขับเคลื่อน พัฒนาจนได้รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล IFOAM  อีกทั้งยังได้ศึกษากระบวนการขับเคลื่อนกลางน้ำ การแปรรูปผลไม้อินทรีย์และเห็ดอินทรีย์   ของ Happylife Farm (วิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารตำบลสระพัฒนา)

พร้อมทั้ง ได้เรียนรู้เรื่องปัจจัยการผลิตการ ดูระบบการจัดการแปลงปลูกพืชผสมผสาน ที่ สุขใจออร์           แกนิกฟาร์ม สวนเกษตรอินทรีย์มาตรฐานสากล IFOAM EU และ CANADA ของโรงแรม รวมถึงเยี่ยมชมตลาดสุขใจ หนึ่งช่องทางการตลาดสำคัญของเกษตรกรเครือข่ายสามพรานโมเดล

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการขับเคลื่อนของมิตรผล เป็นไปในลักษณะเดียวกับที่สามพรานโมเดลทำ  คือ การเชื่อมธุรกิจกับชุมชน ในหลักสูตรนี้ จึงได้จัดเวทีให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของโรงแรมสามพราน ริเวอร์ไซด์ ทั้งพ่อครัว ฝ่ายจัดซื้อ แผนกสวน และ ทีม Food waste ที่ทำงานร่วมกับเกษตรกรเครือข่ายสามพรานโมเดล ได้มาแชร์ประสบการณ์การในมิติการทำงานร่วมกับชุมชน ให้กับเจ้าหน้าที่ของโรงงาน เพื่อเป็นแนวทางนำไปปรับใช้ในการทำงานกับเกษตรกรในพื้นที่

หลังจากการเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ การทำเกษตรอินทรีย์ ระบบ PSG ในพื้นที่ต้นแบบ            ของโครงการสามพรานโมเดล นำมาสู่การ ระดมสมอง วางแผนงาน เพื่อสร้างข้อตกลงบนพื้นฐานการค้าที่เป็นธรรม และร่วมกำหนดข้อตกลงในการทำงานขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ของแต่ละกลุ่ม ผ่านการนำระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วมภายใต้ชื่อ “Penmitr Organics PGS”  ไปประยุกต์ใช้พัฒนาให้เกิดความเชื่อมโยงอาหารอินทรีย์จากเกษตรกรสู่พนักงานในโรงงาน และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร

ไม่เฉพาะสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้กับคนกินและคนปลูกเพียงเท่านั้น แต่เกษตรอินทรีย์ยังช่วยสร้างระบบอาหารให้สมดุล และเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยแก้ปัญหาได้ทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ อีกทั้งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้พึ่งตนเองได้ สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนอยู่ได้อย่างยั่งยืน ดั่งเช่นบทพิสูจน์ที่เกิดขึ้น กับเกษตรกรเครือข่ายสามพรานโมเดล

สำหรับองค์กร หรือ หน่วยงาน ที่สนใจ เปิดโลกเรียนรู้วิถีเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจร ที่ถ่ายทอดประสบการณ์ตรงจากทีมกระบวนกรสามพรานโมเดล สามารถขอข้อมูลได้ที่ ศูนย์พัฒนาเกษตรอินทรีย์สุขใจ มูลนิธิสังคมสุขใจ อ.สามพราน จ.นครปฐม โทร 034 322 544 หรือที่ Facebook/สามพรานโมเดล

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2560

3หน่วยงานผนึกเครือข่ายผลิตไฟฟ้าชีวมวล เพิ่มรายได้เกษตรกรสู่ความมั่นคงทางพลังงาน

กลายเป็นอีกหนึ่งพลังงานหมุนเวียนสะอาดที่ผู้ประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชนต้องรีบวิ่งหา ก่อนที่โอกาสจะริบหรี่ด้วยวัตถุดิบที่มีอยู่อย่างจำกัดสำหรับพลังงานไฟฟ้าชีวมวล ล่าสุดการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ผนึกกำลังกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) และการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) ด้วยการลงนามบันทึกความร่วมมือ(เอ็มโอยู)เป็นเวลา 5 ปีในการวิจัยและพัฒนาแสวงหาวัตถุดิบเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากชีวมวล หลังพลังงานจากฟอสซิลเริ่มลดน้อยถอยลงและมีปัญหาในเรื่องมลภาวะสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะถ่านหิน

จากการที่กฟผ.มีแผนในการผลิตพลังงานทดแทนตามนโยบายของกระทรวงพลังงานและรัฐบาล ซึ่งได้กำหนดไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือพีดีพี (Power Development Plan:PDP) ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลและแก๊สชีวภาพเป็นหนึ่งในพลังงานทดแทนหลักที่กฟผ.มุ่งพัฒนาเพื่อตอบโจทย์เรื่องการสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ในขณะเดียวกันก็สามารถร่วมมือกับเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนในการรวบรวมชีวมวลจากภาคเกษตร รวมทั้งส่งเสริมการปลูกพืชพลังงาน สร้างรายได้ในระยะยาวให้แก่เกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย

  “กฟผ.เองตอนนี้จากเดิมเรามีแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือพีดีพี 2558 มีพลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ 500 เมกะวัตต์ปรับใหม่เพิ่มเป็น 2,000 เมกะวัตต์ ที่จะทำในปี 2579 ก็จะมีพลังงานแสงอาทิตย์ประมาณ 900 เมกะวัตต์ แล้วก็โรงไฟฟ้าชีวมวล 600 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือเป็นพลังงานลม พลังงานน้ำท้ายเขื่อน พลังงานขยะและก๊าซชีวภาพ รวมๆ กันแล้วประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ นี่คือที่มาของการลงนามเอ็มโอยูในวันนี้”

สหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการฝ่ายพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กล่าวตอนหนึ่งภายหลังการลงนามบันทึกความร่วมมือ(เอ็มโอยู) ระหว่าง 3 หน่วยงานคือ กฟผ. มก. และ กยท. โดยยอมรับว่าปัจจุบันชีวมวลเป็นเรื่องสำคัญของภาคการเกษตร ซึ่งในปี 2559 ที่ผ่านการมีการใช้พลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะชีวมวลมีสัดส่วนอยู่ที่ 2,800 เมกะวัตต์ มากขึ้นอย่างชัดเจนจากกำลังผลิดทั้งหมดในขณะนี้อยู่ 5,700 เมกะวัตต์ หรือร้อยละ 40 ตามแผนทั้งประเทศ โดยพลังงานชีวมวลก็ยังเป็นอันดับ 2 รองจากพลังงานจากฟอสซิล 

"ในส่วนของกฟผ.ตอนนี้อยู่ที่ 600 เมกะวัตต์ ก็ต้องกลับมาดูความต้องการใช้เชื้อเพลิงอย่างไร โรงไฟฟ้าชีวมวลหัวใจสำคัญที่สุดคือตัวเชื้อเพลิง เชื้อเพลิงมาจากไหน ที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่นชานอ้อยจากโรงงานน้ำตาล หรือใยปาล์มที่หีบแล้วจากโรงงานน้ำมันปาล์ม แต่ถ้าจะทำให้กำลังการผลิตเพิ่มมากขึ้นตามเป้าหมายของรัฐบาลและของประเทศแล้วเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอย่างเดียวอาจจะไม่พอ กฟผ.จึงมองไปที่ไม้โตเร็วเข้ามาเสริม ไม่ว่าจะเป็นกระถินณรงค์ ยูคาลิปตัส หรือแม้กระทั่งไม้ยางพาราและหญ้าพลังงาน

รองผู้ว่าการ กฟผ. ยอมรับว่า วัตถุดิบจากไม้ยางพาราที่จะนำมาใช้ทำเชื้อเพลิงนั้นจะต้องใช้ไม้ยางพารามีอายุ 25 ปีขึ้นไป ซึ่งคงให้ผลผลิตได้น้อย เนื่องจากหลังจากการตัดโค่นเนื้อไม้ส่วนใหญ่จะเอาไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นที่มีมูลค่ากว่า ส่วนเศษกิ่งไม้ที่เหลือจึงจะเอามาเป็นเชื้อเพลิง หากกฟผ.ทำครบ 600 เมกะวัตต์ตามแผนพีดีพีในปี 2579 หรือในอีก 20 ปีข้างหน้า เชื้อเพลิงในส่วนนี้คงไม่พอแน่นอน เพราะพลังงานไฟฟ้าขนาด 600 เมกะวัตต์ จำเป็นต้องใช้เชื้อเพลิงชีวมวลประมาณ 9 ล้านตันต่อปี หากตีเป็นมูลค่าประมาณ 800 บาทต่อตัน คิดเป็นเงินประมาณ 7,200 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเงินจำนวนนี้ก็จะลงไปสู่เกษตรกรต่อไป

“ถ้าดูภาพรวมของทั้งประเทศประมาณ 5,700 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 10 เท่าของที่กฟผ.ทำ คิดเป็นเงิน 5 หมื่นกว่าล้านบาท เงินก้อนนี้ก็จะกลับเข้าไปสู่เกษตรกรเช่นกัน ก็ดีใจที่ทางมก.มีส่วนร่วมในเชิงวิชาการวิจัย หาพันธุ์ไม้ที่ดีๆ ผลผลิตที่สูงให้เกษตรกรนำไปปลูก ซึ่งจะช่วยประเทศไทยไปด้วยกัน”

สหรัฐ เผยต่อว่า จุดดีอีกประการโรงไฟฟ้าชีวมวลจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศลง ปัจจุบันมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั้งประเทศอยู่ในประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ของทั้งโลก ซึ่งในแผนนี้ประเทศไทยก็จะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์จากแผนการดำเนินการปกติ ดังนั้นการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนจะสามารถประหยัดพลังงานลงได้และมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนลดลง 25 เปอร์เซ็นต์ในปี 2030 หรืออีก 15 ปีข้างหน้า

นอกจากนั้น แล้วกฟผ.ยังมีการร่วมมือกับภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นกรมป่าไม้ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้(ออป.) และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.)ในการสนับสนุนกล้าพันธุ์ไม้และพื้นที่ปลูกต้นไม้โดยเร็ว ตลอดจนการร่วมลงทุนกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหรือกลุ่มสหกรณ์ในการสร้างโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ภายใต้โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐวิสาหกิจ โดยมีการจัดสรรหุ้นให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มสหกรณ์เหล่านี้อยู่ที่ 10-20% จากนั้นเมื่อครบปีโรงงานไฟฟ้ามีผลกำไรก็จะแบ่งปันกลับคืนสู่สมาชิกกลุ่ม

“สิ่งที่เกษตรกรจะได้เมื่อมีโรงไฟฟ้าก็คือประการแรกรายได้จากการขายเชื้อเพลิง เพราะเมื่อกฟผ.สร้างโรงไฟฟ้า พัฒนาโรงไฟฟ้าแล้วก็จะซื้อเชื้อเพลิงจากเกษตรกรในรูปของสหกรณ์หรือวิสหกิจชุมชนที่ปลูกพืชพลังงานแล้วมาขายให้แก่ทางโรงไฟฟ้า ส่วนที่สอง กฟผ.ก็จะให้ภาคประชาชนในรูปของกลุ่มสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชนมาร่วมเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าในสัดส่วน 10-20 เปอร์เซ็นต์ของการลงทุนทั้งหมด ฉะนั้นรวมแล้วปีหนึ่ง เมื่อกฟผ.ขายไฟฟ้าได้มีกำไรก็จะมีปันผลส่วนนี้กลับไปสู่เกษตรกร เพราะฉะนั้นเกษตรกรที่จะมาร่วมกับทางกฟผ. จะทำให้เกษตรกรมีรายได้จาก 2 ส่วนด้วยกัน คือรายได้จากการขายเชื้อเพลิงและกำไรจากการปันผลที่เข้ามาร่วมลงทุนกับกฟผ. อันนี้จะเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่เรียกว่าประชารัฐ”

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่ากฟผ.มีกำหนดสร้างโรงผลิตไฟฟ้าชีวมวลโรงแรกในปี 2563 เบื้องต้นขนาด 10 เมกะวัตต์ หลังจากนั้นจะทยอยสร้างเพิ่มเติมเป็นลำดับจนครบ 600 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 60 โรงในปี 2579 ส่วนวัตถุดิบที่นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในเบื้องต้นได้แก่ ไม้พาราผสมด้วยไม้โตเร็ว 

ณรงค์ศักดิ์ ใจสมุทร หัวหน้ากองสวัสดิการเกษตรกร การยางแห่งประเทศไทย(กยท.) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในเรื่องวัตถุดิบสำหรับการนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงโรงงานไฟฟ้าชีวมวลว่า ภารกิจหลักของ กยท.จะดูแลกระบวนการผลิตทั้งระบบ ทั้งเรื่องตัวเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร พื้นที่ปลูก ผู้ประกอบการและการแปรรูป รวมถึงการตลาด กยท.จะดูแลในทุกกระบวนการผลิตตั้งแต่ปลูกยันโค่น  ในส่วนที่ดำเนินการดูแลเกษตรกรชาวสวนยางพารา นอกจากการปลูกยางใหม่ทดแทน การส่งเสริมสวัสดิการด้านต่างๆ การจัดรูปแบบในการปลูกแทนเพื่อลดความเสี่ยงการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ก็จะปลูกร่วมกับไม้เศรษฐกิจอื่น ไม้ยืนต้นอื่น ไม้โตเร็วเสริมเข้าไปด้วย สิ่งเหล่านี้กยท.ได้ทำมาตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน

“วันนี้ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งเดินเข้ามาหาเราแล้วบอกว่า กยท.ช่วยหน่อยเถอะ ตอนนี้ไม้ยางก็ยังไม่พอ วันนี้ไม้ยางพาราที่โค่นปีละ 4 แสนยังไม่พอ ไม้ยางเฉลี่ย 1 ไร่ได้ประมาณ 10 ตัน ไม้ที่ตัดฟันนำไปผลิตเฟอร์นิเจอร์ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลืออีก 50 เปอร์เซ็นต์นำมาผลิตเชื้อเพลิงหรือประมาณ 5 ตันต่อไร่ จากข้อมูลพื้นฐานที่เราดูแลทั้งหมด ณ เวลานี้ที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทยและมีเอกสารสิทธิทั่วประเทศ อยู่ที่ประมาณ 14,406,000 ไร่ ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ 4 แสนกว่าไร่ รวมแล้วประมาณ 19 ล้านไร่เศษ”

ณรงค์ศักดิ์ยอมรับว่า ประเด็นของการปลูกไม้โตเร็วนั้น กยท.ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2559 โดยร่วมกับทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำโครงการนำร่องเกี่ยวกับปลูกไม้โตเร็วแซมในพื้นที่สวนยางปลูกใหม่ ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการแล้วใน 9 จังหวัด ประกอบด้วย ภาคเหนือ 2 จังหวัดได้แก่ เชียงราย และพะเยา ภาคอีสาน ได้แก่ อุบลราธานี ศรีสะเกษ บึงกาฬ และหนองคาย รวมเนื้อที่ 3 หมื่นไร่ต่อปี ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกทดแทนใหม่ โดยเริ่มปลูกในปี 2561 ที่บึงกาฬและหนองคาย ซึ่งสองจังหวัดนี้ใช้พื้นที่ประมาณ 6 แสนกว่าไร่

“ความจริงพื้นที่ปลูกใหม่ทดแทนของเดิม กยท.มีตัวเลขฟันไม้ออกจากแปลงเพื่อขอทุนปลูกแทนประมาณ 4 แสนไร่ต่อปี โดยให้ทุนไร่ละ 16,000 บาท เกษตรกรโค่นยางปลูกไม้เศรษฐกิจอื่นก็ได้ โค่นยางปลูกปาลล์มก็ได้ โค่นยางปลูกไม้ผลก็ได้ หรือเป็นการใช้พื้นที่ว่างเปล่าหัวไร่ปลายนาของเกษตรกรให้เกิดประโยชน์ด้วยการนำไม้โตเร็วมาปลูกก็ได้หรือนำไม้โตเร็วมาปลูกร่วมกับยางที่ปลูกใหม่ในช่วงตั้งแต่ปลูกจนถึงก่อนเปิดกรีด ตั้งแต่ปีแรกแล้วมีการตัดฟันไม้ 2 รอบ เกษตรกรจะมีรายได้ประมาณ 1 หมื่นบาทต่อไร่  ซึ่งตรงนี้เป็นโมเดลตัวหนึ่งที่สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางในประเทศ” หัวหน้ากองสวัสดิการเกษตรกร กยท. กล่าวย้ำ

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.)กล่าวว่าในส่วนของมก.จะร่วมมือกับกฟผ.ทำการสำรวจพื้นที่ที่มีศักยภาพและความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการผลิตกระแสไฟฟ้า รวบรวมและจัดเก็บข้อมูลสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องและข้อมูลอื่นๆ ที่สำคัญ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ประสานกับเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนในการวางแผนจัดหาและรวบรวมชีวมวล รวมทั้งการศึกษาและวิเคราะห์ศักยภาพของพื้นที่เพื่อหาความเหมาะสมในการปลูกพืชพลังงาน ศึกษา คัดเลือกและจัดหาพันธุ์พืชพลังงานที่มีความเหมาะสมเพื่อใช้เป็นต้นแบบในการนำไปปลูกและส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่รอบโครงการ ตลอดจนให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้สนใจเข้าร่วมโครงการเพื่อให้การบริหารจัดการพื้นที่ในการปลูกพืชพลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงรวบรวมและนำเสนอผลสำรวจความคิดเห็นของชุมชนที่มีต่อโครงการที่จะเกิดขึ้นด้วย

“อยากให้ทุกฝ่ายทำให้อนาคตของประเทศเป็นจริง เท่าที่วิเคราะห์ดูจุดหนึ่งการใช้พลังงานชีวมวลของประเทศไทย เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน เราดีกว่า มีความพร้อมมากกว่า ข้อดีของมก.เรามีการทำครบวงจร  มีทั้งคณะวนศาสตร์ คณะเกษตร และคณะวิศวกรรม เรามีไม้พลังงานหลายตัวที่ทำวิจัยออก รวมถึงหญ้าพลังงานที่ได้ค้นคว้าทดลองเอาไว้ เพราะการวิจัยเราก็คือสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ในขณะเดียวกันก็จะทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นด้วย มันเป็นอะไรที่ได้ประโยชน์หลายต่อ เพราะฉะนั้นที่บอกว่างานวิจัยขึ้นหิ้ง ถ้าหากไม่มีการร่วมมือกับหน่วยงานอย่างกฟผ.และกยท.มันก็จะอยู่บนหึ้งจริงๆ เพราะไม่มีคนที่นำไปใช้ วันนี้ป็นโอกาสที่ดีที่เราจะนำงานวิจัยมาใช้ประโยชน์กับประเทศจริงๆ แล้วคงจะเห็นผลได้ภายใน 3-5 ปีนี้” รักษาการแทนอธิการบดีมก. กล่าวทิ้งท้าย

นับเป็นอีกก้าวของความร่วมมือภายใต้โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐวิสาหกิจในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศในอนาคต

จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2560 

เกษตรฯ เผยความก้าวหน้าการดำเนินงานศูนย์ศพก.สู่การพัฒนาภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน

                  พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความก้าวหน้าการดำเนินงานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ทุกหน่วยงานบูรณาการขับเคลื่อนการทำงานให้สอดรับกับนโยบายฯ เป้าหมายปี 2561 ปีแห่งการยกระดับคนการบริหารจัดการมาตรฐานสินค้าเกษตรสู่เกษตร 4.0 โดยการปฏิรูปภาคการเกษตรภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ใช้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) 882 ศูนย์ ของเกษตรกรต้นแบบทั่วประเทศเป็นกลไกสำคัญในภาคการเกษตร และเป็นอนาคตภาคการเกษตรของประเทศไทย เพราะเป็นมิติของการดึงให้ภาคเกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจในโครงการ นโยบายสำคัญต่างๆ สอดคล้องกับความต้องการในการพัฒนาในพื้นที่อย่างแท้จริง

                    นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ศพก. เป็นแหล่งเรียนรู้ของเกษตรกร ที่ต้องการให้เกษตรกรมีแหล่งเรียนรู้จากของจริง เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง จากเกษตรกรด้วยกันเอง กว่า 3 ปีที่ผ่านมา ศพก. 882 ศูนย์ เป็นรูปธรรมและสามารถแบ่งพืชได้ตามลักษณะพื้นที่ ดังนี้ 1) ข้าว 450 ศูนย์ 2) พืชไร่ 78 ศูนย์ 3) พืชผัก 31 ศูนย์ 4) ไร่นาสวนผสม/เกษตรผสมผสาน 78 ศูนย์ 5) ไม้ผล 139 ศูนย์ 6) ยางพารา  52 ศูนย์ 7) ปาล์มน้ำมัน  44 ศูนย์ และ 8)อื่นๆ 10 ศูนย์ และได้ขยายผลเป็นแปลงใหญ่ ทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันมี ศพก. 882 ศูนย์ และเครือข่าย 10,523 ศูนย์ อาทิ ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน ศูนย์เรียนรู้ด้านการจัดการดิน ศูนย์เรียนรู้ด้านประมง เป็นต้น ได้อบรมให้กับเกษตรกรผู้นำทั่วประเทศ จำนวน 44,100 ราย ในการสร้างความเข้มแข็งและความเชื่อมั่นให้กับรัฐบาล ว่าเกษตรกรมีความพร้อมที่จะเป็นแกนนำภาคการเกษตรในชุมชนได้ โดยพัฒนาในรูปแบบเครือข่าย มีการเลือกประธาน ศพก. ระดับ จังหวัด ระดับเขต และระดับประเทศ ซึ่งระดับประเทศ จะมีการประชุมกัน ทุกเดือน สลับหมุนเวียนกันไปตามพื้นที่ โดยมีหน่วยงานภาครัฐ (กษ.) เป็นผู้สังเกตการณ์ และสรุปผลการประชุม เพื่อวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการ นำไปสู่การแก้ปัญหาในพื้นที่อย่างยั่งยืน

                  ทั้งนี้ ได้วางลักษณะการแนวทางการพัฒนาของ ศพก. โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ศพก. เกรด A 470 ศูนย์ เกรด B 401 ศูนย์ และเกรด C 11 ศูนย์ ซึ่ง ศพก. ที่อยู่ในระดับ A ก็จะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ศพก. และรองรับบริการด้านเกษตรให้ครอบคลุมกิจกรรมการเกษตรในพื้นที่ ศพก. ระดับ B  401 ศูนย์ จะต้องพัฒนาศพก. เพื่อยกระดับเป็น A และเน้นการพัฒนาคนและหลักสูตรการเรียนรู้และ ศพก. ระดับ C 11 ศูนย์ จะต้องพัฒนาศพก. โดยเน้น 4 องค์ประกอบ(เกษตรกรต้นแบบ, ฐานเรียนรู้, แปลงเรียนรู้, หลักสูตร) รวมทั้งพัฒนาเพื่อให้มีความพร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้และให้บริการด้านการเกษตรของชุมชน นอกจากนี้แต่ละ ศพก. มีจุดเด่นที่คล้ายคลึงกัน คือ การน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการทำการเกษตรและการดำเนินชีวิต มีการอบรมที่เน้นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ในสมาชิกเกษตรกรที่มาอบรมร่วมกัน การขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแนวทางประชารัฐการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การลดต้นทุนลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน การยึดหลักผลิตผสมผสานทั้งพืช ปศุสัตว์ ประมงตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

                จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่า เกษตรกรร้อยละ 71 นำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ ได้แก่ ร้อยละ 84 เรื่องการลดต้นทุน ร้อยละ 4 ทำกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียง ร้อยละ 4  การปลูกพืชปุ๋ยสดเพื่อการปรับปรุงบำรุงดิน ร้อยละ 3 การเพิ่มรายได้ด้วยกิจกรรมอื่นๆ เช่น การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรต่างๆ ร้อยละ 2 การทำบัญชี ร้อยละ 1 การใช้เทคนิคต่างๆ ในการปลูกพืช เช่น การใช้ระบบน้ำหยด เป็นต้น

                      นอกจากนี้ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการพัฒนา ศพก. ทำให้ ศพก. อ.เมือง จ.ราชบุรี ได้รับรางวัลความเป็นเลิศด้านการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประจำปี 2560 ประเภทรางวัลพัฒนาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ระดับดีโดยได้เข้ารับรางวัลเมื่อ 11 กันยายนที่ผ่านมาด้วย

จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2560 

เปิดแผนน้ำรองรับ EEC 10 ปีแรกฉลุย 10 ปีหลังรอลุ้นสตึงมนัม

ความไม่ชอบมาพากลในโครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนพลังน้ำสตึงมนัม ในประเด็นการ “ปกปิด” ค่าไฟฟ้า บวกค่าน้ำ ซึ่งแพงมหาศาลถึงหน่วยละ 10.75 บาท ตามที่กระทรวงพลังงานอ้างไว้ในวาระการเสนอขอความเห็นชอบโครงการต่อที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ว่า จะได้รับน้ำเข้ามาใช้ในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) แบบฟรี ๆ โดย “ไม่มีการคิดค่าน้ำ” จน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องสั่งให้ “ทบทวน” บันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้าโครงการสตึงมนัม (Tariff MOU) ระหว่างบริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้พัฒนาโครงการฝ่ายไทย กับบริษัท Steung Meteuk Hydropower ผู้ได้รับสิทธิฝ่ายกัมพูชาออกไปก่อนหน้า

พร้อมกับสั่งให้กรมชลประทานกลับไปศึกษาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC อย่างละเอียด เพื่อตอบคำถามที่ว่า การผันน้ำจากโครงการสตึงมนัมจำนวน 300 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี โดยพ่วงจ่ายค่าไฟฟ้าสูงสุดถึงหน่วยละ 10.75 บาท เพื่อนำน้ำมาใช้ให้พอเพียงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นในพื้นที่ EEC ยังมีความจำเป็นอีกหรือไม่ โดยแลกกับการลงทุนในโครงการนี้ในมูลค่าไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท (โรงไฟฟ้าพร้อมเขื่อน 9,554 ล้านบาท-ระบบท่อผันน้ำเข้ามาฝั่งไทยประมาณ 40,000 ล้านบาท)

สภาพน้ำในภาคตะวันออก

กรมชลประทานได้รายงานศักยภาพน้ำต้นทุน (supply side) ในพื้นที่ 5 จังหวัดในภาคตะวันออก ปัจจุบันมีอ่างเก็บน้ำรวม 34 แห่ง ปริมาณเก็บกัก 1,798.84 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 1,990 ล้าน ลบ.ม.

มีระบบผันน้ำจากคลองพระองค์ไชยานุชิต-อ่างเก็บน้ำบางพระอีก 70 ล้าน ลบ.ม. รวมเป็น 2,060 ล้านบาท แต่ ณ วันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำเก็บกักรวมกันแค่ 556.5 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 64.8%

ในขณะที่ประมาณความต้องการใช้น้ำ (demand side) ใน 5 จังหวัดภาคตะวันออก พบว่าปัจจุบันมีความต้องการใช้น้ำ 1,466.80 ล้าน ลบ.ม.

เฉพาะ 3 จังหวัด EEC พบว่าปัจจุบันจังหวัดระยองมีความต้องการใช้น้ำสูงสุดรวม 671.30 ล้าน ลบ.ม. จังหวัดฉะเชิงเทรามีความต้องการใช้น้ำสูงสุดรวม 318.9 ล้าน ลบ.ม. และจังหวัดชลบุรี มีความต้องการใช้น้ำสูงสุดรวม 305 ล้าน ลบ.ม.

พร้อมกับคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำในภาคตะวันออกในอีก 10 ปีข้างหน้า (2570) จะมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกประมาณ 2,643.89 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 180.25% รวมเป็น 4,110.69 ล้าน ลบ.ม.

20 ปี EEC ต้องการน้ำ 1,000 ล้าน ลบ.ม.

ล่าสุด กรมชลประทานได้ประเมินสถานการณ์ความต้องการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค กับภาคอุตสาหกรรม ในกรณีการเกิดขึ้นมาของโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ในอีก 20 ปีข้างหน้า (2580) พบว่า จะมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 1,000 ล้าน ลบ.ม. แต่ถ้าพิจารณาระยะสั้นกว่านั้น คือในอีก 10 ปีข้างหน้า (2570) จะมีความต้องการใช้น้ำประมาณ 500 ล้าน ลบ.ม.

จากปัจจุบันที่มีการจัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำดอกกราย-อ่างหนองปลาไหล-อ่างหนองค้อ, ระบบท่อส่งน้ำบางปะกง-บางพระ 30 ล้าน ลบ.ม., ระบบท่อส่งน้ำคลองใหญ่-หนองปลาไหล 20 ล้าน ลบ.ม., ระบบท่อส่งน้ำประแสร์-คลองใหญ่ 50 ล้าน ลบ.ม., ระบบท่อส่งน้ำพระองค์-บางพระ 70 ล้าน ลบ.ม. พร้อมกับทำการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำประแสร์ 47 ล้าน ลบ.ม., อ่างเก็บน้ำดอกกราย 10 ล้าน ลบ.ม. และระบบสูบน้ำพานทองอีก 30 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 ส่งผลให้มีการจัดสรรน้ำเกินกว่าความต้องการใช้น้ำในปี 2560 ประมาณ 102 ล้าน ลบ.ม. (ความต้องการใช้น้ำในปี 2560 325 ล้าน ลบ.ม. ความสามารถในการจัดหาน้ำได้ 427 ล้าน ลบ.ม.)

อย่างไรก็ตาม ในช่วงระหว่างปี 2561-2570 ซึ่งเป็นปีเริ่มต้นของโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก EEC ความต้องการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมกับการอุปโภคบริโภคที่จะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 500 ล้าน ลบ.ม.นั้น กรมชลประทานได้เตรียมแผนด้วยการ 1) ปี 2561 เพิ่มความจุอ่างคลองใหญ่ 10 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มความจุอ่างหนองปลาไหล 24 ล้าน ลบ.ม. และระบบสูบกลับอ่างหนองปลาไหล 5 ล้าน ลบ.ม. 2) ปี 2563 เพิ่มความจุอ่างสียัด/หนองค้อ/บ้านบึง-มาบประชัน 50 ล้าน ลบ.ม. ระบบสูบกลับคลองสะพาน-ประแสร์ 10 ล้าน ลบ.ม. และปรับปรุงคลองพานทอง 20 ล้าน ลบ.ม. 3) ปี 2565 ผันน้ำจากวังโตนด-ประแสร์ 100 ล้าน ลบ.ม. ระบบท่อประแสร์-บางพระ 40 ล้าน ลบ.ม. และ 4) ปี 2566 บ่อดิน 30 ล้าน ลบ.ม. กับสระทับมา 47 ล้าน ลบ.ม.

แต่หลังจากปี 2570 ไปจนถึงปี 2579 หรืออีก 10 ปีถัดมา ปริมาณความต้องการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และภาคอุตสาหกรรม ใน EEC ที่คาดว่า จะเพิ่มขึ้นมาอีกประมาณ 300 ล้าน ลบ.ม.นั้น ในขณะนี้กรมชลประทานยังประเมินเป็นแผนระยะยาวอยู่ โดยวางแนวทางเอาไว้คร่าว ๆ คือ ใช้วิธีบริหารจัดการความต้องการใช้น้ำ (3 R) หรือการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลเข้ามาเสริม ซึ่งเทคโนโลยีในอีก 20 ปีข้างหน้าอาจจะทำให้ต้นทุนผลิตน้ำจืดถูกลงกว่าปัจจุบัน (ตกหน่วยละ 20 กว่าบาท) และทางเลือกสุดท้ายก็คือ ปัดฝุ่นการผันน้ำจาก แม่น้ำสตึงมนัมฝั่งกัมพูชาเข้ามายังฝั่งไทยอีกครั้ง

TDRI ติงแผน EEC ไม่ชัดเจน

ด้าน รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้กล่าวในงานสัมมนาภาพอนาคตปี 2035 ที่ดิน พลังงาน และน้ำในประเทศไทย ในหัวข้อ “อุปสงค์การใช้น้ำในประเทศไทย” ว่า สิ่งที่ควรตั้งคำถามกับนโยบายพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ก็คือ ความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับแผนการลงทุนในอีก 20 ปีข้างหน้าว่า อุตสาหกรรมจะเกิดขึ้นมีอะไรบ้าง และมีจำนวนเท่าไร ส่งผลให้การประเมินด้านสาธารณูปโภคไม่ชัดเจนตามไปด้วย นับเป็นความเสี่ยงต่อการลงทุน

“อุปสงค์การใช้น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกมีฝนตกมาก แต่มีศักยภาพเก็บน้ำได้เพียง 12% ขณะที่ความต้องการใช้น้ำโตขึ้น 6-7% ต่อปี ในอนาคตอาจเกิดภาวะขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงและแย่งชิงระหว่างภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะพื้นที่ EEC ที่คาดการณ์ไว้ว่าจะต้องเพิ่มปริมาณน้ำให้ได้ 600 ล้าน ลบ.ม. รัฐต้องกลับมาทบทวนว่า โครงการก่อสร้างมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดและจะเพียงพอทั้งภาคอุตสาหกรรมและการเกษตรหรือไม่ แม้กรมชลประทานเองจะออกมาระบุว่าสามารถจัดหาแหล่งน้ำในประเทศโดยไม่รุกล้ำป่าอนุรักษ์ได้ 300 ล้าน ลบ.ม. แต่อีก 300 ล้าน ลบ.ม.ที่เหลือต้องศึกษาด้วยว่าจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องซื้อน้ำจากต่างประเทศ โดยหากพบการพัฒนาใน EEC ไม่เกินขีดความสามารถที่ตั้งไว้ก็ไม่จำเป็นต้องผันน้ำจากเขื่อนสตึงมนัม” รศ.ดร.นิพนธ์กล่าว

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2560 

“มิตรผล” ร่วมพัฒนา สร้างชุมชนเข้มแข็ง-พึ่งตนเอง

ต้องยอมรับว่า นอกจากการพัฒนาภาคการเกษตรของไทยให้มีความเข้มแข็ง เติบโตอย่างยั่งยืน และมั่นคง ด้วยการการนำเอาเทคโนโลยี เครื่องจักร และการบริหารจัดการแบบเกษตรสมัยใหม่มาใช้ในภาคการผลิตแล้ว ประเด็นเรื่องของการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ก็เป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญ

โดยเฉพาะการพัฒนาองค์ความรู้อย่างรอบด้าน ทั้งการจัดการกับผลผลิต การจัดจำหน่าย การหาแนวทางสร้างรายได้เสริม พร้อมผลักดันวิสาหกิจชุมชนที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรสู่การเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพ คืออีกส่วนสำคัญที่จะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชนเกษตรอย่างยั่งยืน

ซึ่งเหมือนกับ “กลุ่มมิตรผล” ที่ไม่เพียงจะดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม หากยังมีความผูกพันกับเกษตรกรชาวไร่อ้อยมาเป็นเวลานาน เพราะชาวไร่อ้อยเป็นจุดเริ่มต้น และเป็นเจ้าของวัตถุดิบ ดังนั้น การพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวไร่อ้อยจึงมีความสำคัญดังปรัชญาของกลุ่มมิตรผลที่ว่า “ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ”

เนื่องจากกลุ่มมิตรผลเริ่มเข้าไปมีส่วนดูแลชาวไร่ ในโครงการหมู่บ้านเพิ่มผลผลิต ในปี 2545 โดยนำผู้ที่มีความรู้มาร่วมคิด ร่วมพัฒนา ซึ่งเริ่มต้นจากระดับหมู่บ้าน จนยกระดับมาสู่ตำบล โดยอาศัยความร่วมมือกับชาวไร่เป็นหลัก เพื่อมุ่งเน้นการให้เกิดการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย

ล่าสุด กลุ่มมิตรผลมีการจัดงาน “สืบสานงานพ่อ ถักทอตำบล มิตรผลร่วมพัฒนา” เพื่อสะท้อนความสำเร็จของแนวทางการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน โดยมีเครือข่ายตำบลมิตรผลร่วมพัฒนามาร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้

“คมกริช นาคะลักษณ์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานองค์กรสัมพันธ์และบริหารองค์กรเพื่อความยั่งยืน กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า การจัดงานสืบสานงานพ่อ ถักทอตำบล มิตรผลร่วมพัฒนาครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ความสำเร็จของแนวทางการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนที่กลุ่มมิตรผลดำเนินงานภายใต้เป้าหมาย 3 ด้าน คือ

หนึ่ง การส่งเสริมการสร้างรายได้ด้วยอาชีพเสริม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน โดยมีการจัดตั้งโครงการหมู่บ้านเพิ่มผลผลิต เพื่อถ่ายทอดความรู้ในการทำไร่อ้อย เพื่อเพิ่มคุณภาพ เพิ่มรายได้ และลดต้นทุนให้แก่เกษตรกร โครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นการสร้างความเข้มแข็งในครัวเรือนเพื่อความสุข ความยั่งยืน 5 ด้าน

สอง เพิ่มเติมองค์ความรู้เพื่อขยายผลสู่การเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก โดยรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร พร้อมยกระดับมาตรฐานการผลิต ด้วยมาตรฐานการรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS-Participatory Guarantee System)

สาม ต่อยอดสู่การเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยยกระดับคุณภาพการผลิต สร้างมาตรฐานสินค้า และอัตลักษณ์ให้เป็นที่ยอมรับ และแข่งขันได้ รวมถึงการขยายตลาดและช่องทางการจัดจำหน่าย

“หากย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นของโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนต้องบอกว่า เกิดจากการที่กลุ่มมิตรผลให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจ ที่ไม่เพียงแต่ยืนอยู่บนหลักความรับผิดชอบต่อสังคม และธรรมาภิบาลเท่านั้น แต่ในขั้นตอนของทุกกระบวนการในการทำธุรกิจจะต้องนำพาผู้เกี่ยวข้องในซัพพลายเชน ตั้งแต่ชาวไร่อ้อย คู่ค้า ลูกค้า ภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้เติบโต อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน ตรงนี้เองจึงเป็นที่มาของแนวคิดร่วมอยู่ ร่วมเจริญ”

“จากแนวคิดร่วมอยู่ ร่วมเจริญ จึงถูกนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะกลุ่มชาวไร่อ้อยที่เป็นคู่สัญญาของเรา ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนกว่าหนึ่งแสนราย เพื่อให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เราจึงเริ่มโครงการพัฒนาผลผลิต และเพิ่มพูนผลกำไรให้กับชาวไร่อ้อยผ่านโครงการหมู่บ้านเพิ่มผลผลิต ตั้งแต่ปี 2545 จนในปี 2555 มีการยกระดับสู่โครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน”

“คมกริช” กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนถือเป็นระยะที่ 4 ของโครงการหมู่บ้านเพิ่มผลผลิต เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และการเข้าถึงโอกาสในด้านสังคม เสริมสร้างสุขภาพทางร่างกายและจิตใจ เพื่อให้ชุมชนมีความสุข เป็นชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาใน 5 เรื่อง ได้แก่

หนึ่ง ด้านเศรษฐกิจ ทำให้คนในชุมชนมีความพอเพียงด้วยการเพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ละเลิกอบายมุข และทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ส่งเสริมการออม พร้อมพัฒนาทักษะอาชีพหลักและอาชีพเสริม

สอง ด้านสังคม พัฒนาผู้นำ ครัวเรือนต้นแบบ บุคคลต้นแบบ และบุคคลตัวอย่าง สนับสนุนการมีส่วนร่วม และการรวมกลุ่ม สร้างศูนย์การเรียนรู้ อาทิ โครงการชุมชนเข้มแข็งด้วยแรงผู้พิการ

สาม ด้านสุขภาวะ ให้คนในชุมชนมีสุขภาพดี ชุมชนมีสุขลักษณะอนามัยที่ดี

สี่ ด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ลดการใช้สารเคมีเพื่อให้ปลอดภัยจากสารพิษ มุ่งเน้นความหลากหลายทางชีวภาพ เกิดกลุ่มการจัดการทรัพยากรชุมชน

ห้า ด้านจิตใจ มุ่งเน้นครอบครัวอบอุ่น มีการวางแผนชีวิต สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเอง มีจิตสาธารณะ มีจริยธรรม

“สำหรับเป้าหมายการพัฒนาต่อไปตั้งแต่ปี 2560-2564 เราตั้งใจว่าแผนงานและตัวชี้วัดความสำเร็จของงานภายใต้การดำเนินงานโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ในพื้นที่ดำเนินงานจะต้องครอบคลุมใน 3 เป้าหมายหลัก ได้แก่ ด้านการพัฒนาระบบเกษตรชุมชน และอาหารปลอดภัย ด้านการจัดการชุมชนอย่างยั่งยืน และด้านการพัฒนาระบบเศรษฐกิจชุมชน”

“ปัจจุบันเราดำเนินโครงการในพื้นที่รอบโรงงานน้ำตาลในกลุ่มมิตรผล ใน 21 ตำบล 8 จังหวัด เป็นพื้นที่นำร่อง 9 ตำบล และเป็นพื้นที่ขยายผลอีก 12 ตำบล มีสมาชิกครัวเรือนอาสากว่า 1,612 ครัวเรือน และพัฒนาเป็นครัวเรือนต้นแบบไปแล้ว 105 ครัวเรือน และที่สำคัญยังเกิดกลุ่มปลูกผักจำนวน 45 กลุ่ม เกิดตลาดเพื่อการจำหน่ายผลผลิต 21 แห่ง และมียอดจำหน่ายสูงถึง 1,410,239 บาทต่อปี”

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2560 

ค่าเงินบาทแข็งค่า นักลงทุนจับตาตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 13 กันยายน 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 33.10/12 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (12/9) ที่ระดับ 33.10/12 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงาน จำนวนตำแหน่งงานว่างในสหรัฐ อยู่ที่ระดับ 6.17 ล้านตำแหน่งในเดือนกรกฎาคมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 6.163 ล้านตำแหน่งในเดือนมิถุนายน โดยจำนวนการเลย์ออฟและปลดออกจากตำแหน่งปรับตัวเพิ่มขึ้ 1.2% ในขณะที่ตัวเลขการจ้างงานและลาออกจากงานอยู่ที่ระดับ 5.5 ล้ารน และ 5.3 ล้านตำแหน่งตามลำดับ ข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า นายจ้างกำลังประสบปัญหาในการว่าจ้างบุคลากรให้ตรงกับความต้องการด้านทักษะวิชาชีพ นอกจากนี้เงินดอลลาร์ยังคงได้รับแรงกดดันจากภัยคุกคามเฮอร์ริเคนเออร์มาและระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น โดยปัจจัยเหล่านี้คาดว่าจะสร้างความเสียหายให้กับรัฐคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 1.8 แสนล้านดอลลาร์ นอกจากนี้กรณีการคว่ำบาตรของเกาหลีเหนือยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าลง ในส่วนของนโยบายทรัมป์นั้น ล่าสุดนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ กล่าวว่า การปฏิรูปภาษีถือเป็นสิ่งที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ให้ความสำคัญสูงสุด และหวังว่ารัฐบาลสหรัฐจะให้การอนุมัติต่อการปฏิรูปภาษีดังกล่าว ทั้งนี้พรรครีพับลิกันมีเป้าหมายที่จะปฏิรูปกฎหมายภาษีสหรัฐ แต่ยังคงเผชิญอุปสรรคหลายประการในการดำเนินการในปีนี้ ซึ่งนายมนูชินกล่าวว่า เป้าหมายของประธานาธิบดีทรัมป์ในการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลลงสู่ระดับ 15% อาจจะเป็นเรื่องยากที่จะทำได้สำเร็จ เมื่อพิจารณาถึงประเด็นงบประมาณ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 33.07-33.115 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 33.08/10 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับคาเงินยูโรวันนี้ (13/9) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1974/76 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดในวันอังคาร (12/9) ที่ระดับ 1.1957/59 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยศูนย์สถิติยูโรแสตทรายงานตัวเลข CPI ของประเทศเยอรมนีและสเปนทรงตัวที่ระดับ 1.8% และ 1.6% ตามลำดับ นอกจากนี้สำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สำคัญ ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 2.9% ในเดือนสิงหาคมจากระดับ 2.6% ในเดือนกรกฎาคม ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจในฝั่งยุโรปอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 1.1960-1.994 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.1976/77 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (13/9) เปิดตลาดที่ระดับ 110.14/16 เยน/ดอลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดในวันอังคาร (12/9) ที่ระดับ 109.71/73 เยน/ดอลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าลง หลังจากเหตุการณ์ตึงเครียดคาบสมุทรเกาหลีระหว่างเกาหลีเหนือและสหรัฐเริ่มทุเลาลง นอกจากนี้นายทาโร่ โคโนะ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น เรียกร้องให้ประเทศตะวันออกกลางยุติการรับแรงงานอพยพจากเกาหลีเหนือ เพื่อป้องกันไม่ให้เกาหลีเหนือมีช่องทางรับเงินสนับสนุนโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 109.91-110.29 เยน/ดอลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 110.12/14 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่สำคัญที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อสหรัฐ (14/9) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (14/9) ยอดค้าปลีก (14/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.25/-2.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -3.7/-2.7 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2560 

เกษตรฯ แถลงเคลียร์ปม 3 วัตถุอันตรายจำกัดพื้นที่ใช้"ไกลโฟเซต"

          วันที่ 12 ก.ย.เวลา 11.00 น.ที่กรมวิชาการเกษตร นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดแถลงข่าวความคืบหน้าการพิจารณาลด ละ เลิกใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิด ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสาคัญในการลดการใช้สารเคมี และมีนโยบายที่จะผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานและปลอดภัยจากสารตกค้างทั้งในผลผลิตและสิ่งแวดล้อม

            ทั้งนี้ตามที่มีข้อเสนอของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกาจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 เสนอให้พิจารณาลด ละ เลิกใช้ วัตถุอันตราย paraquat dichloride , chlorpyrifos และ glyphosate-isopropylammonium เนื่องจากมีข้อมูลที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม โดยเสนอให้ ห้ามใช้วัตถุอันตราย paraquat dichloride และ chlorpyrifos ภายในต้นเดือนธันวาคม 2562 โดยจะมีการจำกัดการใช้ glyphosate-isopropylammonium อย่างเข้มงวด ซึ่งภายหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขได้แถลงการณ์แล้ว กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการ ดังนี้

           เริ่มจากการจัดประชุมเพื่อรวบรวมข้อมูล โดยมีนักวิชาการด้านสาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมประชุม เมื่อวันอังคารที่ 25 เมษายน 2560 จากนั้นได้แจ้งหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จานวน 9 หน่วยงาน โดยมีหน่วยงานแจ้งข้อคิดเห็นและส่งข้อมูลเพิ่มเติม จำนวน 6 หน่วยงาน ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับข้อกังวลด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของคณะกรรมการดังกล่าว

            จากนั้นคณะทำงานดาเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายที่ต้องเฝ้าระวังของกรมวิชาการเกษตร เพื่อศึกษาข้อมูลพิษวิทยา ประเมินความเป็นอันตราย และผลกระทบจากการใช้วัตถุอันตราย โดยได้ประชุมไปแล้ว 8 ครั้ง

          คณะทำงานพิจารณาสารทดแทนวัตถุอันตราย paraquat dichloride, chlorpyrifos และ glyphosate-isopropylammonium ของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งมีผู้แทนจากมหาวิทยาลัย 5 สถาบันร่วมเป็นคณะทางานฯ เพื่อกาหนดหลักเกณฑ์การหาสารที่จะนามาใช้เป็นสารทางเลือก กรณีที่มีความจาเป็นต้องควบคุมสารทั้ง 3 ชนิด โดยได้ประชุมไปแล้ว 3 ครั้ง

            จัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียในการพิจารณาลด ละ เลิกใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิด จำนวน 4 ครั้ง และจัดทาแบบสอบถามเพื่อสารวจความเห็น โดยประชาสัมพันธ์ผ่านเวปไซด์ของกรมวิชาการเกษตร ตู้ ปณ. 1031 และทางจดหมายอิเลคทรอนิค ardpesti@doa.in.th

              อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ผลจากการดาเนินการทั้งหมดดังกล่าว ได้ข้อสรุปว่ากรมวิชาการเกษตร จะดาเนินการต่อข้อเสนอของคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ดังนี้ สำหรับ glyphosate จะจากัดการใช้อย่างเข้มงวดตามข้อเสนอ โดยให้ผู้ประกอบการรายงานการนาเข้า การผลิต การส่งออก การจาหน่าย พื้นที่การใช้ และปริมาณคงเหลือ  ระบุพื้นที่ห้ามใช้ในฉลากวัตถุอันตราย ควบคุมการโฆษณา

             ส่วน paraquat dichloride และ chlorpyrifos กรมวิชาการเกษตรได้รวบรวมข้อมูลด้านพิษวิทยาของสาร ด้านประสิทธิภาพในการใช้ ด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้านการห้ามใช้ในต่างประเทศ ด้านการห้ามใช้ตามข้อตกลงของอนุสัญญา ข้อมูลจากการรับฟังความคิดเห็น รวมทั้งข้อมูลด้านสุขภาพอนามัย ที่ได้รวบรวมจากหน่วยงานด้านสาธารณสุข

             แต่เนื่องจากกรมฯ ยังไม่มีความเชี่ยวชาญที่จะพิจารณานาข้อมูลด้านสุขภาพอนามัย มาวินิจฉัยได้อย่างชัดแจ้งว่าสารดังกล่าวมีอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ตามที่มีการกล่าวอ้างหรือไม่ จึงเห็นสมควรที่จะขอคาปรึกษาในเรื่องดังกล่าวจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน และประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ รวมไปถึงผู้แทนจากหน่วยงานด้านสาธารณสุข ตามอานาจหน้าที่ในมาตรา 7 (4) แห่งพ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

              “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสาคัญในการลดการใช้สารเคมี และมีนโยบายที่จะผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานปลอดภัยจากสารตกค้างทั้งในผลผลิตและสิ่งแวดล้อม และพร้อมที่จะสนับสนุนการลด ละ เลิก การใช้ เมื่อมีความจาเป็น โดยคานึงถึงความเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์เป็นสาคัญ อย่างไรก็ตามเพื่อรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น กระทรวงเกษตรฯ จะศึกษาและเร่งรัดหาวิธีการที่เหมาะสมเพื่อเป็นทางเลือกทดแทนการใช้สารดังกล่าวต่อไป” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวย้ำ

จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2560

“กรมชลฯ”เตรียมรับมือพายุ14 – 18 กันยายน

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สถานการณ์อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ณ วันที่ 11 กันยายน มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 53,131 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 71% ของความจุอ่างฯ รวมกันทั้งหมด มากกว่าปี 2559 รวม 12,813 ล้านลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 29,312 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 57% สามารถรองรับน้ำได้อีก 22,083 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 29% ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลักมีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 15,708 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 63% ของความจุอ่างฯ รวมกันทั้งหมด ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2559 รวม 3,772 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้การได้ 9,012 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น50% สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 9,163 ล้าน ลบ.ม. สำหรับสถานการณ์น้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 34 แห่ง ทั้งประเทศมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯรวม 1,934 ล้าน ลบ.ม. ในวันที่ 6 – 12 กันยายน ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ 1.เขื่อนภูมิพล 229 ล้าน ลบ.ม. 2.เขื่อนสิริกิติ์ 330 ล้าน ลบ.ม. 3.เขื่อนแควน้อยฯ 131 ล้านลบ.ม. และ 4.เขื่อนป่าสักฯ 160 ล้าน ลบ.ม. รวมเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ 850 ล้านลบ.ม. ปัจจุบันมีการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลักรวม 31.12 ล้าน ลบ.ม.

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 14 – 18 กันยายน 2560 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยจะมีกำลังแรงขึ้นลักษณะทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคกลาง ซึ่งจะส่งผลให้มีน้ำท่าไหลหลากลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้นนั้น กรมชลประทานได้วางแผนการบริหารจัดการน้ำ เพื่อลดยอดปริมาณน้ำหลากที่จะไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่าง เข้าไปเก็บไว้ในทุ่งแก้มลิง 12 ทุ่ง ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ จำนวน 1.15 ล้านไร่ โดยได้ดำเนินการปรับปฏิทินการเพาะปลูกให้เร็วขึ้น ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2560 เป็นต้นมา เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ก่อนจะถึงฤดูน้ำหลากเดือนกันยายน – ตุลาคม ปัจจุบันพบว่าภายในวันที่ 15 กันยายนนี้ จะสามารถเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จในทุกพื้นที่ก่อนจะปรับพื้นที่ลุ่มต่ำที่มีทั้งหมด 12 ทุ่ง ให้เป็นพื้นที่รองรับน้ำหลากโดยที่ประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ได้กำหนดให้วันที่ 25 กันยายน เป็นวันเริ่มต้นตัดยอดน้ำผ่านระบบชลประทานเข้าทุ่งต่างๆ จำนวน 10 ทุ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยาประกอบด้วยทุ่งเชียงรากทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสักทุ่งท่าวุ้งทุ่งบางกุ่มทุ่งบางกุ้งทุ่งป่าโมกทุ่งผักไห่ทุ่งเจ้าเจ็ดทุ่งพระยาบรรลือทุ่งโพธิ์พระยาและสำรองพื้นที่ไว้อีก 2 ทุ่งคือทุ่งบางบาลและทุ่งรังสิตใต้สามารถเก็บกักน้ำได้สูงสุด 1,500 ล้าน ลบ.ม.

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2560   

แรงงานผนึกเอกชน ยกระดับแรงงานอุตฯ แปรรูป อ้อย น้ำตาล

กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เตรียมจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรม College of Hydraulic เสริมมาตรฐานฝีมือช่าง รับอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป บรรจุลงแผนปี 61

นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) เผยว่า ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับสองของโลก รองจากประเทศบราซิล สร้างมูลค่าการส่งออกหลายแสนล้านบาทต่อปี อ้อยจึงเป็นพืชไร่ที่สำคัญทางเศรษฐกิจ เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตน้ำตาลเพื่อส่งออกไปต่างประเทศประมาณ 70% ของผลผลิตทั้งหมด ประเทศส่วนใหญ่ในตลาดโลกไม่สามารถผลิตน้ำตาลได้ บางประเทศผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ภายในประเทศ เช่น จีน สหรัฐอเมริกา และแนวโน้มความต้องการน้ำตาลมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชาวนาหันมาปรับเปลี่ยนไร่นาเป็นไร่อ้อยมากขึ้น นอกจากนี้แล้ว อ้อยยังสามารถนำใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องได้ อาทิ นำผลพลอยได้จากการผลิตไปเป็นวัตถุดิบผลิตเอทานอล เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน กากอ้อยนำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าหรือนำไปผลิตเป็นเยื่อกระดาษได้อีกด้วย

ดังนั้นเมื่อมีการส่งเสริมให้มีการปลูกไร่อ้อยมากขึ้น แรงงานและเครื่องจักรที่จำเป็นในกระบวนการเพาะปลูก เก็บเกี่ยว แปรรูป ขนส่งและจำหน่าย จึงมีความต้องการสูงตามไปด้วย การผลิตแรงงานหรือพัฒนาทักษะแรงงานดังกล่าว จึงเป็นหน้าที่ของ กพร.ที่ต้องดำเนินการ ซึ่งสอดรับกับ 8 วาระปฏิรูปเร่งด่วนของกระทรวงแรงงาน ภายใต้การนำของพล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ด้าน เพิ่มผลิตภาพแรงงานสู่ ไทยแลนด์ 4.0 ด้วย

บริษัท ไทยเอเย่นซี เอ็นยีเนียริ่ง จำกัด ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการจำหน่ายและเป็นศูนย์รวมอุปกรณ์ไฮดรอลิค ผู้นำระบบนิวแมติก, กระบอกไฮดรอลิคและเพาเวอร์ยูนิท ผลิตรถดีมซุงและรถตัดอ้อย นอกจากนี้ยังผลิตและประกอบอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิค เช่น แผงเซลล์แสงอาทิตย์ อินเวอเตอร์ อีกด้วย บริษัทฯ มีความต้องการที่จะยกระดับทักษะฝีมือของพนักงาน กลุ่มแรงงานใหม่ ให้สอดคล้องหรือเป็นไปตามมาตรฐานฝีมือแรงงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อีกทั้งมีห้องสำหรับอบรมภาคทฤษฎี และมีสถานที่ เครื่องมือ เครื่องจักรสำหรับการฝึกในภาคปฏิบัติ รวมถึงวิทยากรผู้ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ด้วย จึงร่วมกับกพร. เพื่อดำเนินการพัฒนาทักษะให้กับกำลังแรงงานในสาขาต่างๆ ที่บริษัทฯ มีความพร้อม อาทิ สาขาเกี่ยวกับ Hydraulic ช่างซ่อมบำรุงและแก้ไขปัญหาเครื่องยนต์ สาขาช่างเชื่อม สาขาพนักงานขับรถตัดอ้อย

กพร.มีเป้าหมายในการสร้างเครือข่ายการพัฒนาฝีมือแรงงานให้มากขึ้น ครอบคลุมในทุกๆ อุตสาหกรรม ดังนั้นการร่วมกับบริษัท ไทยเอเย่นซี เอ็นยีเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถตัดอ้อย และเป็นผู้นำด้านไฮดรอลิคมากกว่า 30 ปี มีความพร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้ในด้านดังกล่าวให้กับแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานใหม่ ที่ต้องการพัฒนาทักษะ ความรู้ เพื่อนำไปประกอบอาชีพ ซึ่งเมื่อแรงงานเหล่านี้ผ่านการอบรมโดยศูนย์ฝึกอบรม College of Hydraulic แล้ว บริษัทฯ จะรับเข้าทำงาน และส่งไปประจำตามฐานการผลิตอื่นๆ ด้วย การจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมนั้น กพร.และบริษัท จะร่วมกันกำหนดรายละเอียดที่เกี่ยวข้องต่อไป จึงเป็นอีกมิติหนึ่งที่ช่วยให้แรงงานใหม่มีทักษะฝีมือและมีงานทำ ส่งเสริมด้านเศรษฐกิจของประเทศ

 นายภานุ ถนอมวรสิน กรรมการบริหารของบริษัท กล่าวว่า ปัจจุบันสามารถผลิตรถตัดอ้อยได้เพียง 500 คัน ในขณะที่ตลาดมีความต้องการถึง 4,000 คัน สำหรับการผลิตรถตัดอ้อยนั้น ต้องการแรงงานในสาขาช่างเชื่อม ซึ่งปัจจุบันขาดแรงงานสาขานี้มาก อีกสาขาที่ต้องการร่วมกับกพร.คือการพัฒนาทักษะด้านช่างซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเครื่องยนต์ได้ รวมถึงการฝึกในสาขา พนักงานขับรถตัดอ้อย ซึ่งเมื่อได้รับการส่งเสริมและร่วมกันกับภาครัฐ โดยเฉพาะกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จะช่วยให้แรงงานหันมาสนใจสาขานี้มากขึ้น อีกทั้งมีมาตรฐานฝีมือแรงงานเป็นเครื่องการันตีทักษะ ความรู้ ความสามารถ จึงคิดว่าจะทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมีแรงงานป้อนเข้าสู่ตลาดมากยิ่งขึ้น

จาก http://www.thansettakij.com ฉบับวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2560 

ธุรกิจญี่ปุ่นจี้รัฐแก้โจทย์อีอีซีหนุนไทยขึ้นฮับเชื่อมCLMV 

          นักลงทุนญี่ปุ่นกว่า 500 ราย ลุยสำรวจ EEC "บิ๊กตู่" การันตีไม่มีล้ม "สมคิด" ชูยุทธศาสตร์ร่วม 10 ปี ชี้ไทยเหนือคู่แข่ง พร้อมขึ้นฮับเชื่อม เพื่อนบ้าน "เจโทร" ยาหอม EEC กุมอนาคตบริษัทญี่ปุ่น ชี้โจทย์ใหญ่ ทำให้เป็นจริง จี้แก้ 3 ปม "ขาดแรงงาน วิจัย/นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน" ทัพธุรกิจรัสเซียจองคิวร่วมวง

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การสัมมนาใหญ่ หัวข้อ Symposium on Thailand 4.0 towards Connected Industries ที่รัฐบาลจัดขึ้น ณ โรงแรมแบงค็อก แมริออท ควีนส์ปาร์ค เมื่อ 12 ก.ย. 2560 มีตัวแทนหน่วยงานรัฐและเอกชนไทย กับคณะผู้บริหารระดับสูงภาครัฐ และ นักลงทุนญี่ปุ่นซึ่งเดินทางมาเยือนไทย ในโอกาส 130 ปี ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ก่อนนักลงทุนญี่ปุ่นจะเดินทางไปศึกษา ดูงานในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาค ตะวันออก (อีอีซี) วันที่ 13 ก.ย.นี้

          บิ๊กตู่ยืนยัน EEC ล้มไม่ได้

          พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบ แห่งชาติ (คสช.) แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า นักลงทุน ญี่ปุ่นให้ความสนใจเรื่องระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ได้ยืนยันศักยภาพและแผนงานของประเทศไทย และยืนยันจะเดินหน้าโครงการต่อไป เพราะบรรจุเป็นกฎหมายแล้วไม่ใช่ใครจะยกเลิกได้ อีกทั้งมีแผนการลงทุนในอนาคต 5 ปี ที่จะต้องทำสาธารณูปโภคพื้นฐานชัดเจน ญี่ปุ่นจึงสนใจมาลงทุน และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

          เลือกไทยสอดรับ Connectivity

          ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยรู้สึกปลื้มใจที่ทางการญี่ปุ่นนำคณะนักธุรกิจเดินทางมาเยือนกว่า 500 ราย ถือเป็นภารกิจที่ไทยต้องดำเนินการให้สมกับที่ญี่ปุ่นจริงใจ ตั้งใจ และไว้ใจ โดยรัฐบาลไทยกับ ญี่ปุ่นจะต้องร่วมวางยุทธศาสตร์ 10 ปี ให้เป็นแนวทางสำหรับภาคเอกชนทั้งสองประเทศได้เดินตาม

          ต่อคำถามที่ญี่ปุ่นตั้งคำถามกับรัฐบาลไทย 3 คำถาม 1) ทำไมต้องเป็นประเทศไทย ทั้งที่ทุกวันนี้ผู้ประกอบการมีสิทธิ์ที่จะเลือกไปลงทุนที่ไหนก็ได้นั้น มั่นใจว่า 10-20 ปีข้างหน้า ภูมิภาคเอเชียจะเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อน จะเห็นว่าช่วงไม่ถึง 1 ปี Geopolitic เปลี่ยนแปลงไปมาก แต่หัวใจสำคัญ คือ อาเซียน-GMSBIMSTEC เป็นแวลูเชนที่ใหญ่ที่สุด และไทยเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาคด้าน ที่ตั้ง และเป็นศูนย์กลางในยุทธศาสตร์ One Belt, One Road (OBOR) หากญี่ปุ่นเชื่อไทย ควรสนับสนุนการเชื่อมโยงภูมิภาค เชื่อมต่อโครงการ East-West Corridor ซึ่งขณะนี้ประเทศรอบข้างไทยมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นลาว อินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา เมียนมา หากเชื่อมต่อทั้งหมดได้ จะสอดรับกับนโยบาย Connectivity ที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญ

          ชู Hard Factor-Soft Factor

          "เราไม่ได้ดีกว่าประเทศอื่น แต่เรามีบางสิ่งที่ประเทศอื่นไม่มี ทั้ง Hard Factor และ Soft Factor" นายสมคิดกล่าว

          ในส่วนของ Hard Factor เดิมในพื้นที่อีอีซี มีนักลงทุนญี่ปุ่นลงทุนอยู่แล้ว 8,000 บริษัท ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ มีโครงสร้างพื้นฐานพร้อม มีปิโตรเคมิคอลมูลค่านับล้านล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับใช้ต่อยอดอุตสาหกรรม และรัฐบาลไทยมุ่งพัฒนาระบบดิจิทัลเพื่ออนาคต เตรียมลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 1-2 ปีนี้ หลังหยุดชะงักมานาน ซึ่งญี่ปุ่นสามารถใช้ไทยเป็นฮับพัฒนาบุคลากร เชื่อมโยงไปยัง CLMV และ GMS ได้

          ส่วน Soft Factor เชื่อว่านักลงทุนญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทยมา 40-50 ปี เช่น อายิโนะโมะโต๊ะ, โตโยต้า เข้าใจดีว่าการลงทุนในไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรม ความเป็นมิตร อยู่ด้วยแล้วสบายใจ ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลไทยพร้อมแก้จุดอ่อนที่เป็นอุปสรรคการค้าการลงทุน ทำให้ World Bank ปรับอันดับให้ไทยดีขึ้นจาก 4 แฟกเตอร์ ที่ไทยพัฒนาขึ้น ส่วนที่เอกชนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศ ถือเป็นเรื่องปกติของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานราคาถูกเป็นหลัก ซึ่งอุตฯไทยมีศักยภาพ รัฐต้องสนับสนุน ที่สำคัญไทยพร้อมส่งเสริมอุตฯใหม่ ทั้งในกลุ่มเกษตร/อาหาร อุตฯที่ต้องการต่อยอดมากขึ้น และอุตฯแห่งอนาคต

          ญี่ปุ่นต้นแบบพัฒนาเศรษฐกิจ

          คำถามที่ 2 ไทยจะเดินไปในทิศทางไหน ท่านนายกฯและ รมว.อุตสาหกรรม (อุตตม สาวนายน) ตอบชัดเจนแล้วว่า อดีตที่ผ่านมาแม้จีดีพีไทยจะขยายตัว ปีละ 10-12% แต่ยังขาดดุลยภาพ รัฐบาลต้องการความสมดุลทั้งการสร้างรายได้จากการส่งออก และการสร้างเศรษฐกิจภายใน (Local Economy) โดยปฏิรูปด้านต่าง ๆ เช่น การท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น ปฏิรูปโครงสร้างการผลิตให้สร้างนวัตกรรมและมูลค่าเพิ่ม และมุ่งเน้นพัฒนาผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ กลาง และเล็ก สนับสนุนสร้าง Startup และ New Entrepreneur ซึ่งไทยนำต้นแบบการพัฒนาลักษณะนี้มาจากญี่ปุ่น

          ขณะเดียวกัน ไทยมีนโยบายสร้างความเติบโตไปพร้อมกันในภูมิภาค ทั้ง CLMV ให้เกิดความเข้มแข็ง นำไปสู่ความสมบูรณ์ทางเศรษฐกิจ

          เชื่อมโยงนโยบายไทยแลนด์ 4.0

          คำถามที่ 3 มีอะไรที่ญี่ปุ่นมาทำได้บ้าง กล่าวได้ว่าในโลกข้างหน้าไม่ใช่แค่เศรษฐกิจ แต่ต้องคำนึงถึง Geopolitic และ Geoeconomics ต้องเชื่อมโยงความคิดรัฐและเอกชน ทำอย่างไรจะเชื่อมโยงนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และนโยบายการปฏิวัติอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ที่มุ่งนำอินเทอร์เน็ต Data, Big Data, AI, IoT มาใช้กับธุรกิจ หรือ Connected Industry ได้ จังหวะนี้มีความสำคัญมาก ไทยเสียเวลาไปนานกว่า 10 ปี ต่อไปนี้จะพยายามขับเคลื่อนให้ได้ แต่ยังขาดบุคลากร จึงหวังว่าญี่ปุ่นจะมาช่วยพัฒนาร่วมกัน นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศควรร่วมมือผลักดัน RCEP และ TPP ให้ประสบความสำเร็จเป็น รูปธรรมให้ได้ แม้สหรัฐจะถอนตัวไปแล้ว แต่ความตกลงทั้ง 2 ฉบับ เป็นความตกลงที่ใหญ่ที่สุดในโลก

          "ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ญี่ปุ่นนั้นไม่ใช่แค่เพียงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ แต่เป็นหุ้นส่วนทั้งชีวิตของประเทศในระยะยาว ญี่ปุ่นอยู่กับไทยเสมอไม่ว่าฟ้าสดใส หรือในช่วงที่มีเมฆหมอก เป็นความสัมพันธ์ที่อยู่เหนือความไม่แน่นอน อยู่เหนือกาลเวลา เหนือความขัดแย้งของโลก"

          ทวิภาคีไทย-ญี่ปุ่น

          ขณะที่นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ในการหารือแบบทวิภาคีไทย-ญี่ปุ่น ได้หารือถึงความร่วมมือด้านต่าง ๆ หลายประเด็น เช่น การสนับสนุนเอสเอ็มอี การพัฒนาบุคลากร การส่งเสริมการลงทุนใน EEC ล่าสุดนักลงทุนรัสเซียก็เตรียมเดินทางมาศึกษาดูงานอีอีซีเช่นเดียวกัน

          "ญี่ปุ่นได้ยกตัวอย่างว่า มีนโยบายการ Tax Incentives ในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานน้อย หรือใช้ AI ในการผลิต รวมถึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบไอที เพื่อเชื่อมโยงในอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ขณะที่ไทยขอให้ช่วยพัฒนา Local Product นำไปเชื่อมโยงกับธุรกิจท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้เศรษฐกิจท้องถิ่น"

          ส่วนประเด็นการทบทวนการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ครบรอบ 10 ปี อยู่ในกระบวนการเจรจา ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศเป็นเจ้าภาพ จะจัดประชุมปลายปีนี้

          ญี่ปุ่นชูไทยเป็น "ฮับ" ภูมิภาค

          นายฮิโรยูกิ อิชิเกะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) กล่าวว่า ปัจจุบันการลงทุนต่างประเทศของญี่ปุ่นเกิดขึ้นในไทยราว 40% จำนวนกว่า 5 พันบริษัท แต่ไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ทำให้เวียดนามผงาดขึ้นมาแข่งอย่างรวดเร็ว บริษัทญี่ปุ่นต่างเริ่มมองเห็นความไม่สดใสของการลงทุนในไทย ยอมรับว่าในเซ็กเตอร์หลักมีการลงทุนน้อยลง ปัจจุบันไทยอยู่บนทางแยกแห่งการตัดสินใจครั้งใหม่ เพื่อเดินหน้าประเทศ และนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ถือเป็นนโยบายสำคัญ มีอีอีซี เป็นเครื่องมือหลัก และอีอีซีไม่ใช่แค่สิ่งที่กุมชะตาประเทศไทยไว้เท่านั้น แต่รวมไปถึงอนาคตบริษัทญี่ปุ่นในไทยด้วย

          ประธานเจโทรเสนอว่า ความร่วมมือ ไทย-ญี่ปุ่นไม่ควรหยุดแค่การซื้อขาย หรือ มองแค่ภาพระดับประเทศ แต่ควรขยายความร่วมมือสู่ระดับภูมิภาค ไทยต้องเป็นฮับส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน ควรโยกฐานการผลิตพื้นฐานไปประเทศเพื่อนบ้าน แล้วหันมาผลิตสินค้ามูลค่าสูงแทน

          ชี้จุดอ่อนบุคลากรและ R&D

          นอกจากนี้ ไทยต้องพัฒนาบุคลากร โดยเจโทรประเทศไทยได้รับการแจ้งจากบริษัทญี่ปุ่นว่า ประสบปัญหาในการจ้างวิศวกร เป็นอันดับที่ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และด้านการวิจัยและพัฒนา ไทยยังด้อยกว่าประเทศรอบข้าง จึงเป็นเรื่องที่ดี และถือว่าสำคัญหากไทยจะจัดตั้งศูนย์ R&D ไว้ที่อีอีซี

          ทั้งนี้ ญี่ปุ่นสามารถช่วยเหลือไทยได้โดยสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ร่วมกัน รวมทั้ง ความช่วยเหลือด้านบุคลากร การส่งคนมาสอนหรือแลกเปลี่ยนความรู้ นอกจาก เจซีซี กรุงเทพฯ ได้เตรียมจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาอีอีซีอีกด้วย จึงอยากให้ไทยรับฟังสิ่งที่บริษัทญี่ปุ่นต้องการ

          แนะแก้จุดอ่อน

          สำหรับความสนใจของนักลงทุนญี่ปุ่นในอีอีซี ประธานเจโทรกล่าวว่า ยังไม่ สามารถประเมินมูลค่าการลงทุนได้ แต่ญี่ปุ่นให้ความสนใจไทยมาก ครั้งนี้ เดินทางมาร่วม 600 บริษัท ตอนนี้จึงเป็นโจทย์ของไทยว่าจะวางหมากอย่างไร ให้สามารถประสานงานและพัฒนางานให้มีผลในทางปฏิบัติ เพราะสิ่งที่เป็นปัญหาของไทยตอนนี้ คือ 1.แรงงานไม่เพียงพอ โดยเฉพาะแรงงานด้านเทคโนโลยี แต่ยังได้เปรียบเพื่อนบ้านตรงที่แรงงานมีคุณภาพมากกว่า

          2.การวิจัยและนวัตกรรม เพราะอาร์แอนด์ดีต่อจีดีพียังต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ต้องพัฒนา R&D ให้สูงขึ้น ให้สามารถพัฒนาต่อได้ 3.โครงสร้างพื้นฐาน และซอฟต์แวร์ ต้องพัฒนาโดยเฉพาะบริเวณแม่น้ำโขง เชื่อมแม่น้ำโขง และบริเวณริมฝั่งโขงได้ รวมไปถึงระบบ รางรถไฟ ด้านซอฟแวร์คือเรื่องศุลกากรต้องพัฒนาอีกมาก ต้องทำให้เป็น Paperless ให้ได้

          นอกจากนี้ ประธานเจโทรระบุว่า ปัจจุบันญี่ปุ่นได้ทำโครงการ Pilot Business Tie-up 4 บริษัท ร่วมกับไทย โดย 2 บริษัท คือ บริษัทที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหารถติด และบริษัทที่จะเข้ามาพัฒนาโครงสร้างและปรับปรุงโรงงาน

          เมติชี้กุญแจ "การเชื่อมโยง"

          นายฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้า และอุตสาหกรรม ของญี่ปุ่น (เมติ) กล่าวปาฐกถาพิเศษว่า บริษัทญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนนับตั้งแต่ช่วงปี 1980 เป็นต้นมา ตนเคยมาไทยในปี 1990 มาทำงานบริษัทเอกชน เทียบกับวันนี้ไทยพัฒนาไปมาก แต่มีกุญแจสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจ ไทยพัฒนาต่อไปได้ คือ เรื่องการ เชื่อมโยง

          ปัจจุบันโลกเผชิญหน้ากับการปฏิรูปเศรษฐกิจ ยุคที่ 4 ทางญี่ปุ่นได้หารือกันว่าจะทำอย่างไร และเอเชียในฐานะภูมิภาคการผลิต จะทำอย่างไร ได้คำตอบ ว่า ญี่ปุ่นมีดาต้ามากมายที่เก็บเอาไว้ แต่ไม่ได้ใช้งาน เป็นดาต้าที่มีคุณภาพ หากนำมาแบ่งปันกัน เชื่อมโยงในหมู่กลุ่มธุรกิจ น่าจะมีประโยชน์มากกว่า

          "ญี่ปุ่นมองว่าหากใช้ข้อมูลมาเชื่อมโยง ทั้งข้อมูลนวัตกรรม หุ่นยนต์ เทคโนโลยี คน จะทำให้ทั้งญี่ปุ่นและเอเชียสามารถก้าวข้ามผ่านการปฏิรูปเศรษฐกิจ ยุคที่ 4 ไปได้ ญี่ปุ่นไม่ได้ต้องการให้ข้อมูล ต่าง ๆ เป็นประโยชนแค่ในประเทศเท่านั้น แต่รวมถึงซัพพลายเชนนอกประเทศด้วย"

          ขณะที่เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ออฟทิงส์ (ไอโอที) จะมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการเชื่อมโยงต่าง ๆ ตามแนวคิด Connected Industry เมื่อญี่ปุ่นถ่ายทอดข้อมูลและความรู้ให้ไทยแล้ว ไทยสามารถใช้ข้อมูลต่าง ๆ ส่งต่อให้เพื่อนบ้านได้ด้วย โดยใช้ประโยชน์จากภูมิยุทธศาสตร์การเป็นศูนย์กลางอาเซียน นอกจากนี้ ญี่ปุ่นต้องการสนับสนุน สตาร์ตอัพของไทย เบื้องต้นจะร่วมมือผลักดันสตาร์ตอัพด้านอุตสาหกรรมแพทย์

          ตั้งคณะทำงานเคลียร์ปม EEC

          ด้านนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมไทย-ญี่ปุ่น กล่าวว่า หลังหารือพบว่า นักลงทุนญี่ปุ่นมั่นใจในการลงทุนมากขึ้น แต่มีบางประเด็นที่นักลงทุนไทยและญี่ปุ่นยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับ EEC คล้าย ๆ กัน ซึ่งตนได้ลิสต์ไว้ 10 เรื่อง เช่น การให้สิทธิประโยชน์กับนักลงทุน มีลิมิตอย่างไร ถึงเมื่อไหร่ การแอปพลายสิทธิประโยชน์ จึงได้ตั้งคณะทำงานติดตามและประสานงาน โดยนายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ผู้จัดการใหญ่เครือซิเมนต์ไทย (เอสซีจี) และนายสุรงค์ บูลกุล ร่วมดูแล กับกรรมการอีก 5-6 คน

          นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ กรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวว่า ปีนี้ JTEPA ครบรอบ 10 ปี ภาคเอกชนอยากให้รัฐเจรจาทบทวนความตกลง ขอให้ญี่ปุ่นเปิดตลาดสินค้าให้ไทย มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเกษตร อาหาร ควรปลดล็อกโควตานำเข้าสินค้าบางรายการ และยกเลิกเงื่อนไขกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าที่เป็นอุปสรรคการค้าระหว่างกัน โดยเฉพาะทูน่า เพราะปัจจุบันนักลงทนญี่ปุ่น เช่น อิโตชู มิตซูบิชิ มาร่วมทุนกับบริษัทอาหารในไทย หากญี่ปุ่นเปิดตลาด นักลงทุนญี่ปุ่นจะได้ประโยชน์ด้วย

          ญี่ปุ่นจี้ไทยแก้ 3 ปม EEC

          นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังเดินทางไปญี่ปุ่น ในฐานะคณะกรรมาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า หน่วยงานญี่ปุ่นทั้งรัฐและเอกชนเห็นตรงกันเรื่องการลงทุนในอีอีซี ต้องการให้ไทยเร่งปรับแก้และผ่อนปรนเงื่อนไขกฎระเบียบ 3 ข้อ คือ 1.อัตราค่าจ้างแรงงานที่ปรับขึ้นตลอด 2.สัดส่วนการใช้ผู้เชี่ยวชาญระหว่างญี่ปุ่น : ไทย 1 : 4 คน 3.สัดส่วนการถือหุ้นต่างชาติ : ไทย 49 : 51 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงการขอใบอนุญาตในจุดเดียว ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างแก้ไขตามที่นักลงทุนต้องการ

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2560 

ชงครม.ขับเคลื่อนไบโออีโคโนมี รับทัพญี่ปุ่น ตั้งเป้า10ปีลงทุน3.6แสนล้าน 

           "อุตตม" จี้คณะทำงานสานพลังประชารัฐ เร่งจัดทำแผนปฏิบัติการไบโออีโคโนมีให้แล้วเสร็จภายในสิ้นก.ย.นี้ หวังสร้างความชัดเจนให้กับนักลงทุนทั้งไทยและญี่ปุ่น เดินหน้าลงทุน ดันแผนยุทธศาสตร์ 10 ปี เข้าครม.พิจารณาในเร็วๆ นี้ ด้วยเม็ดเงินกว่า 3.65 แสนล้านบาท

          นายอุตตมสาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงความคืบหน้าในการผลักดันโครงการไบโออีโคโนมีภายใต้การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีว่า ในการประชุมคณะทำงานด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (คณะทำงานไบโออีโคโนมี) ภายใต้สานพลังประชารัฐ ที่มีตัวเองเป็นหัวหน้าทีมภาครัฐ และนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ เป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา  ได้มอบหมายให้คณะทำงานไปดำเนินการจัดทำรายละเอียดของแผนปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรมให้แล้วเสร็จภายใน 3 สัปดาห์

          ทั้งนี้ เพื่อให้เห็นภาพแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนไบโออีโคโนมีให้เกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการรองรับการลงทุนของนักลงทุนไทยและทัพญี่ปุ่นที่เข้ามาดูลู่ทางการลงทุนระหว่างวันที่ 11-13 กันยายน 2560 นี้ให้เกิดความต่อเนื่องด้วย เนื่องจากไบโออีโคโนมีถือเป็นหนึ่งใน 10 กลุ่มเป้าหมายที่ไทยต้องการส่งเสริมให้เกิดขึ้น โดยแผนปฏิบัติการดังกล่าว จะอยู่ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนไบโออีโคโนมีที่คาดว่าจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในเร็วๆ นี้

          "การลงทุนด้านไบโออีโคโนมีไม่ได้จำกัดอยู่ในเฉพาะพื้นที่อีอีซีเท่านั้น แต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่รัฐบาลหยิบยกขึ้นมา เพราะมีการพัฒนาอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐานพร้อมอยู่แล้ว ที่ต้องมองความเชื่อมโยงกับภาคอื่นๆหรือให้อุตสาหกรรมที่มีอยู่ในอีอีซี เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นด้วย"

          แหล่งข่าวจากคณะทำงานด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (คณะทำงานไบโออีโคโนมี) ภายใต้สานพลังประชารัฐ เปิดเผยว่าขณะนี้แผนยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนไบโออีโคโนมีเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งแต่เดิมจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม 2560 แต่ต้องเลื่อนออกไป ที่คาดว่าจะเป็นภายในเดือนกันยายนนี้ โดยระหว่างนี้อยู่ระหว่างการจัดทำข้อเสนอเพิ่มเติมกับทางรัฐบาล ที่จะให้มีการตั้งคณะทำงานของภาครัฐขึ้นมาขับเคลื่อนโดยตรง เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง และที่ผ่านมายังไม่มีหน่วยงานรัฐเข้ามาดู และ หากสามารถตั้งคณะทำงานได้ จะช่วยให้เกิดการประสานงานกับภาคเอกชนได้โดยตรง ประกอบกับเวลานี้แผนงานด้านการลงทุนของภาคเอกชนแต่ละรายก็มีความชัดเจนขึ้นมากว่ารายใดจะลงทุนในโครงการอะไร เช่นบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)บริษัทพีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน) บริษัทน้ำตาลมิตรผล จำกัด บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) บริษัทไทยวาจำกัด(มหาชน) บริษัทโกลบอลกรีนเคมีคอล จำกัด (มหาชน)บริษัทเกษตรไทยอินเตอร์เนชั่นแนลชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท อูเอโนไฟน์เคมีคัลส์ อินดัสตรี (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทเอเชียสตาร์ เทรดจำกัดบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด บริษัท คริสตอลลา จำกัด บริษัท แบ็กซ์เตอร์เฮลธ์แคร์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทไทยโอซูก้า จำกัด

          ส่วนกรอบการลงทุนเบื้องต้นที่มีการหารือกันไว้ใน5กลุ่ม ช่วงระยะเวลา10ปี ได้แก่ ด้านพลังงานเช่นการผลิตเอทานอลจากการใช้อ้อยและมันสำปะหลัง การผลิตไฟฟ้าจากชานอ้อยและกากอ้อยมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพด้านไบโอพลาสติกหรือพลาสติกชีวภาพด้านกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ด้านผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ที่เป็นการต่อยอดจากอาหารในกลุ่มแป้งและน้ำตาลด้านการสร้างด้านอุตสาหกรรมยาชีววัตถุ และวัคซีนขั้นสูง

          โดยจะมีงบการลงทุนราว 3.65 แสนล้านบาท จะก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอ้อยได้มากกว่า 3แสนล้านบาทต่อปี มันสำปะหลังกว่า1 แสนล้านบาทต่อปี เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มเป็น 7.5 หมื่นบาทต่อคนต่อปี มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 2 แสนตำแหน่ง

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2560 

'สมคิด'อ้อนญี่ปุ่นหนุนอีอีซี ดันเอเชียฮับศก.โลกQ2/61ได้ตัวผู้รับเหมาCFP 

         "สมคิด" ชวนญี่ปุ่นร่วมพัฒนาเส้นทางเศรษฐกิจตะวันออกตก เชื่อมประเทศในภูมิภาคเอเชีย ยกระดับเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกในอนาคต แย้มเวิลด์แบงก์จ่อปรับระดับความสามารถการแข่งขันไทยขึ้น เสริมความเชื่อมั่นนักลงทุน ด้านไทยออยล์เผย Q2/61 คัดเลือกผู้รับเหมา CFP เสร็จ

          นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีลงนามยุทธ ศาสตร์ความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น ภายใต้การเชื่อมนโยบาย Thai land 4.0 towards Connected Connected Industries" โดยมีนักลงทุนญี่ปุ่นกว่า 500 รายเข้าร่วมงาน ว่า หากไทยและญี่ปุ่นร่วมมือกันพัฒนาเส้นทางเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (อีสต์-เวสต์ อิโคโนมิก คอร์ริดอร์) ให้เวียดนามเชื่อมผ่านลาว, ไทย, เมียนมา และเชื่อมไปยังประเทศอินเดีย, ศรีลังกา และบังกลาเทศ จนกระจายสู่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก มั่นใจว่าไทยมีจุดแข็งมากพอที่จะดึงดูดนักลงทุน ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงการค้าและการลง ทุนในภูมิภาค และในอีก 10-20 ปี ภูมิภาคเอเชียจะขึ้นมาเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกอย่างแน่นอน

          "หากญี่ปุ่นเชื่อผมสักนิดมาร่วมมือกันพัฒนาถึงประเทศเพื่อนบ้านจะเติบโตเท่าใด ไทยเราก็จะยิ่งมีเสน่ห์มากขึ้นเท่านั้น เพราะเราจะเป็นศูนย์กลางในหลายๆ ด้านรวมทั้งการขนส่ง จะสามารถเชื่อมโยงทุกประเทศเข้าด้วยกัน เราไม่ได้บอกว่าเราดีกว่าประเทศอื่น แต่เรามีสิ่งที่ประเทศอื่นไม่มี อย่างโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นต้น" นายสมคิดกล่าว

          ขณะที่เร็วๆ นี้ ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) จะประกาศอันดับ ความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ อีกครั้งรวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งส่วนตัวมั่นใจว่า ไทยจะได้รับการปรับอันดับที่ดีขึ้น จนสามารถสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนต่างชาติ และยังเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคนี้ ทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางของจีนภายใต้ยุทธศาสตร์หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (วันเบลต์วันโรด : One Belt One Road) ที่ทุกเส้นทางต้องผ่านไทย

          นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า การร่วมมือกับญี่ปุ่นครั้งนี้จะมุ่งเน้น 3 เรื่องได้แก่ การขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0, ความร่วมมือการพัฒนาวิสาห กิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอส เอ็มอี) และร่วมพัฒนาอีอีซี โดย พื้นที่มีการพัฒนารองรับอุตสาห กรรมเป้าหมายทั้งระบบสาธาร ณูปโภค การส่งเสริการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ระบบดิจิทัล ฯลฯ เฟสแรก 5 ปี คาดมีเงินลงทุน 4.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเป็นการลงทุนเอกชน 80% ที่เหลือรัฐลงทุน

          นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยออยล์ กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทเปิดเอกสารเชิญชวนประมูล หรือทีโออาร์ โครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ หรือ Clean Fuel Project (CFP) เพื่อขยายกำลังการกลั่นเพิ่มจาก 275,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 400,000 บาร์ เรลต่อวัน ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี โดยให้ยื่นทางเทคนิคภายในเดือน ธ.ค.60 นี้ และยื่นเสนอราคาภายในเดือน มี.ค.61 ซึ่งจะสรุปการลงทุนครั้งสุดท้าย (FID) ไตรมาส 2/2561 คาดจะเริ่มผลิตปี 2565.

จาก http://www.thaipost.net วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2560 

กรมวิชาการเกษตรอ้างไร้ข้อมูลปัดออกคำสั่งห้ามใช้'พาราควอต

         กรมวิชาการเกษตรโยน คณะกรรมการวัตถุอันตรายชี้ชัด ห้ามใช้ 3 สารเคมีด้านการเกษตร อ้างไม่มีข้อมูลผลกระทบด้านสุขภาพ แต่พร้อมควบคุมการใช้เข้มงวด

          นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ตามข้อเสนอของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมาให้พิจารณาลด ละ เลิกใช้ วัตถุอันตรายพาราควอต ไดคลอไรด์,คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสต เนื่องจากมีข้อมูลที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม โดยเสนอให้ห้ามใช้วัตถุอันตราย พาราควอต และ คลอร์ไพริฟอส ภายในต้นเดือน ธ .ค. 2562 ในขณะที่ต้องจำกัดการใช้สารไกลโฟเสตอย่างเข้มงวด

          ทั้งนี้ในส่วนของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานอนุญาตให้นำเข้าสารทั้ง 3 ชนิดดังกล่าว ได้หารือ รวบรวมข้อมูล โดยมีนักวิชาการด้านสาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วม และรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียในการพิจารณาลด ละ เลิกใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิด ผลจากการดำเนินการทั้งหมดดังกล่าว กรมวิชาการเกษตร เห็นชอบว่าในส่วนของสารไกลโฟเสต จะจำกัดการใช้อย่างเข้มงวดตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข โดยให้ผู้ประกอบการรายงานการนำเข้า การผลิต การส่งออก การจำหน่าย พื้นที่การใช้ และปริมาณคงเหลือ ระบุพื้นที่ห้ามใช้ในฉลากวัตถุอันตราย ควบคุมการโฆษณา

          ส่วนสารพาราควอต และ คลอร์ไพริฟอส กรมวิชาการเกษตรได้รวบรวมข้อมูลด้านพิษวิทยาของสาร ด้านประสิทธิภาพในการใช้ ด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การห้ามใช้ในต่างประเทศ การห้ามใช้ตามข้อตกลงของอนุสัญญา ข้อมูลจากการรับฟังความคิดเห็น รวมทั้งข้อมูลด้านสุขภาพอนามัย ที่ได้รวบรวมจากหน่วยงานด้านสาธารณสุข

          ทั้งนี้เพราะกรมวิชาการเกษตร ยังไม่มีความเชี่ยวชาญที่จะพิจารณานำข้อมูลด้านสุขภาพอนามัย มาวินิจฉัยได้อย่างชัดแจ้งว่าสารดังกล่าวมีอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ตามที่มีการกล่าวอ้างหรือไม่ จึงเห็นสมควรที่จะขอคำปรึกษาในเรื่องดังกล่าวจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน และประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ รวมไปถึงผู้แทนจากหน่วยงานด้านสาธารณสุข ตามอำนาจหน้าที่ในมาตรา7(4) แห่งพ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535และที่แก้ไขเพิ่มเติม

          "กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญในการลดการใช้สารเคมี และมีนโยบายที่จะผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานปลอดภัยจากสารตกค้างทั้งในผลผลิตและสิ่งแวดล้อม และพร้อมที่จะสนับสนุนการลด ละ เลิก การใช้ เมื่อมีความจำเป็น โดยคำนึงถึงความเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามเพื่อรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น กระทรวงเกษตรฯจะศึกษาและเร่งรัดหาวิธีการที่เหมาะสมเพื่อเป็นทางเลือกทดแทนการใช้สารดังกล่าวต่อไป"นายสุวิทย์ กล่าว

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2560 

สมคิด"อ้อนญี่ปุ่นหนุนอีอีซี ดันเอเชียฮับศก.โลกQ2/61ได้ตัวผู้รับเหมาCFP

"สมคิด" ชวนญี่ปุ่นร่วมพัฒนาเส้นทางเศรษฐกิจตะวันออก-ตก เชื่อมประเทศในภูมิภาคเอเชีย ยกระดับเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกในอนาคต แย้มเวิลด์แบงก์จ่อปรับระดับความสามารถการแข่งขันไทยขึ้น เสริมความเชื่อมั่นนักลงทุน ด้านไทยออยล์เผย Q2/61 คัดเลือกผู้รับเหมา CFP เสร็จ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีลงนามยุทธศาสตร์ความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น ภายใต้การเชื่อมนโยบาย Thailand 4.0 towards Connected Connected Industries" โดยมีนักลงทุนญี่ปุ่นกว่า 500 รายเข้าร่วมงาน ว่า หากไทยและญี่ปุ่นร่วมมือกันพัฒนาเส้นทางเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (อีสต์-เวสต์ อิโคโนมิก คอร์ริดอร์) ให้เวียดนามเชื่อมผ่านลาว, ไทย, เมียนมา และเชื่อมไปยังประเทศอินเดีย, ศรีลังกา และบังกลาเทศ จนกระจายสู่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก มั่นใจว่าไทยมีจุดแข็งมากพอที่จะดึงดูดนักลงทุน ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงการค้าและการลงทุนในภูมิภาค และในอีก 10-20 ปี ภูมิภาคเอเชียจะขึ้นมาเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกอย่างแน่นอน

"หากญี่ปุ่นเชื่อผมสักนิดมาร่วมมือกันพัฒนาถึงประเทศเพื่อนบ้านจะเติบโตเท่าใด ไทยเราก็จะยิ่งมีเสน่ห์มากขึ้นเท่านั้น เพราะเราจะเป็นศูนย์กลางในหลายๆ ด้านรวมทั้งการขนส่ง จะสามารถเชื่อมโยงทุกประเทศเข้าด้วยกัน เราไม่ได้บอกว่าเราดีกว่าประเทศอื่น แต่เรามีสิ่งที่ประเทศอื่นไม่มี อย่างโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นต้น" นายสมคิดกล่าว

ขณะที่เร็วๆ นี้ ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) จะประกาศอันดับ ความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ อีกครั้งรวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งส่วนตัวมั่นใจว่า ไทยจะได้รับการปรับอันดับที่ดีขึ้น จนสามารถสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนต่างชาติ และยังเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคนี้ ทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางของจีนภายใต้ยุทธศาสตร์หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (วันเบลต์วันโรด : One Belt One Road) ที่ทุกเส้นทางต้องผ่านไทย

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า การร่วมมือกับญี่ปุ่นครั้งนี้จะมุ่งเน้น 3 เรื่องได้แก่ การขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0, ความร่วมมือการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และร่วมพัฒนาอีอีซี โดยพื้นที่มีการพัฒนารองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้งระบบสาธารณูปโภค การส่งเสริการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ระบบดิจิทัล ฯลฯ เฟสแรก 5 ปี คาดมีเงินลงทุน 4.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเป็นการลงทุนเอกชน 80% ที่เหลือรัฐลงทุน

นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยออยล์ กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทเปิดเอกสารเชิญชวนประมูล หรือทีโออาร์ โครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ หรือ Clean Fuel Project (CFP) เพื่อขยายกำลังการกลั่นเพิ่มจาก 275,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี โดยให้ยื่นทางเทคนิคภายในเดือน ธ.ค.60 นี้ และยื่นเสนอราคาภายในเดือน มี.ค.61 ซึ่งจะสรุปการลงทุนครั้งสุดท้าย (FID) ไตรมาส 2/2561 คาดจะเริ่มผลิตปี 2565.

จาก http://www.thaipost.net วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2560 

พาณิชย์รุกเชื่อมค้า-ลงทุนCLMV

พาณิชย์เดินหน้า เชื่อมโยงการค้ากับกลุ่ม CLMV เตรียมจัด 3 กิจกรรมใหญ่ ดันโครงการประชารัฐจังหวัดชายแดนกับเพื่อนบ้าน พร้อมร่วม CLMVT Forum ที่กัมพูชา

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2561 กระทรวงพาณิชย์จะผลักดันโครงการหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาตลาดต่างประเทศและเศรษฐกิจภูมิภาคใน CLMVT อย่างต่อเนื่อง โดยจะดำเนินกิจกรรมสำคัญ 3 กิจกรรม เพื่อขยายโอกาสทางการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับประเทศ CLMV เพิ่มมากขึ้น

กิจกรรมแรก จะจัดทำโครงการนำร่องพัฒนาประชารัฐระหว่างประเทศ เพื่อเชื่อมโยงการค้าจากท้องถิ่นกับ CLMV และตลาดโลก มีแนวทางการดำเนินการ โดยจะทำการเชื่อมโยงคลัสเตอร์ท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนกับเครือข่ายการผลิตในประเทศเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพ เช่น สหกรณ์ ย่านการค้าพาณิชย์ และเมืองต้นแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์

กิจกรรมที่ 2 จะผลักดันให้มีการเชื่อมต่อธุรกิจการค้าและบริการที่มีศักยภาพระหว่างประเทศ CLMVT เช่น การร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) เพื่อขยายการค้าขาย และการพัฒนาเครือข่ายการผลิตในท้องถิ่น เพื่อร่วมมือกันในการผลิตสินค้า

และกิจกรรมที่ 3 ถือเป็นไฮไลต์สำคัญ คือ การจัดประชุม CLMVT Forum ครั้งที่ 3 ที่กัมพูชาจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม โดยจะมีการติดตามความคืบหน้าโครงการความร่วมมือต่างๆ เช่น การแก้ไขปัญหาการค้าชายแดน การพัฒนาข้อมูลเศรษฐกิจการค้า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การร่วมมือพัฒนาและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและหัตถกรรมร่วมกัน การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่าง Startups นักลงทุน การเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยว เป็นต้น.

จาก http://www.thaipost.net วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2560 

ผวาเกษตรกรต้านค่าน้ำ จี้กรมทรัพย์รอบคอบก่อนออกกฎกระทรวง

จับตา กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรนํ้า เตรียมลงพื้นที่สมุทรสงครามรับฟังความเห็น 12 ก.ย. นี้ แจงร่างกฎกระทรวง เกษตรเพื่อยังชีพไม่ถูกเรียกเก็บค่านํ้า แต่เชิงพาณิชย์ 50-1,000 ไร่ต้องเสีย มองฐานกว้างไป จี้อธิบดีไปทำการบ้านใหม่ ผวาเกษตรกรฮือต้าน

 จากการที่ “ฐานเศรษฐกิจ” เปิดประเด็น “รีดภาษีคนใช้นํ้า ธุรกิจโดน 6 เท่า” ซึ่งจะเป็นผลพวงจาก ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ทรัพยากรนํ้า พ.ศ. ...ของกรมทรัพยากรนํ้าที่ได้ยกร่างมาตั้งแต่ปี 2545 ล่าสุดความคืบหน้าร่างพ.ร.บ.อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญโดยมี พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ประธานคณะรับ
หลักการเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2560 จะใช้เวลาพิจารณา 60 วัน ล่าสุดขยายเวลา 4 รอบแล้ววันครบกำหนดวันที่ 27 ตุลาคม 2560 โดยพิจารณาถึงมาตรา 80 แล้วจากทั้งหมดมี 9 หมวดรวม 100 มาตรา

นายสุรจิต ชิรเวทย์กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรนํ้า พ.ศ. ... เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าจากที่ได้ทำงานพิจารณาร่างกฎหมายมา 6 ปียังไม่เคยเครียดเท่าการพิจารณาร่างกฎหมายนี้มาก่อน เนื่องจากเป็นกฎหมายที่เก่ามากและจำเป็นต้องมีการปรับแก้ในรายละเอียดทุกมาตรา และยังมีข้อถกเถียงกันอยู่มาก แต่ถามว่าจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีกฎหมายนํ้าที่เป็นกฎหมายกลางก็ควรจะมี

“ประเมินว่าหากจะขยายระยะเวลาพิจารณาร่างกฎหมายต่อไปอีกก็ต้องขยายจะไปเร่งรีบไม่ได้ เพราะกฎหมายออกมาต้องสร้างความชอบธรรม ทั้งนี้สาเหตุที่ต้องมีกฎหมายเพราะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับนํ้าถึง 42 หน่วยงานจาก 10 กระทรวง มี 37 พ.ร.บ. และมีร่างกฎกระทรวงกว่า 2,000 ฉบับ ในอดีตเมื่อเกิดวิกฤติด้านนํ้าเช่น มหาอุทกภัยปี 2554 ก็ไม่มีกฎหมายรองรับที่เห็นชัดเจน”

นายสุรจิต กล่าวอีกว่า ในวันที่ 12 กันยายน ทางคณะจะลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรนํ้าและการบริหารจัดการทรัพยากรนํ้าในพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม ลุ่มนํ้าท่าจีน และลุ่มนํ้าแม่กลองเพื่อนำมาปรับแก้ร่างกฎหมายให้เกิดความรอบคอบที่สุด

 สอดคล้องกับนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ กรรมาธิการวิสามัญ กล่าวถึงความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายนํ้าสาธารณะออกมา ตัวอย่างมีบริษัทผลิตนํ้าดื่มขายโดยใช้นํ้าจากแม่นํ้าแม่กลอง ทำหนังสือมาขออนุญาตทางคณะกรรมการลุ่มแม่นํ้า ซึ่งทางคณะอนุญาตไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ สรุปทางบริษัทก็นำนํ้าจากแม่นํ้าไปใช้ผลิตแบบฟรี ก็ทำอะไรไม่ได้ ซึ่งกฎหมายนี้ต้องการลดความเหลื่อมลํ้า

“ตัวอย่างในร่างกฎกระทรวงทรัพยากรฯ เกษตรกรต่อเนื่องจาก พ.ร.บ.นํ้าที่จะออกมาบังคับใช้ ผู้ปลูกข้าวไม่เกิน 50 ไร่ ระบุให้ใช้นํ้าฟรี (ดูกราฟิกประ กอบ) ส่วนเกษตรเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ 50-1,000 ไร่เสียลูกบาศก์เมตรละ 50 สตางค์ฐานกว้างเกินไปหรือไม่ ที่สำคัญอธิบดีกรมทรัพย์ฯไม่ควรจะจำกัดแค่พื้นที่อย่างเดียวควรจะกำหนดอัตราการใช้นํ้าด้วย เช่นสมมติพื้นที่ 1,000 ไร่ กำหนดการใช้นํ้า 1.2 แสนลูกบาศก์เมตร แต่วัดจริงใช้นํ้าแค่ 5 หมื่นลูกบาศก์เมตร จะเข้าข่ายนํ้าเกษตรพาณิชย์หรือไม่ หรือกรณีเลี้ยงวัว 20 ตัวเป็นเกษตรเพื่อยังชีพ แต่ปรากฏแม่วัวคลอดลูกออกมาเพิ่ม 2 ตัว จะต้องไปขออนุญาตหรือไม่ กรณีเสียค่านํ้าให้จ่ายส่วนเกินเฉพาะลูกโค 2 ตัวที่คลอดออกมาภายหลัง หรือจ่ายทั้งหมด 22 ตัว เป็นต้น เรื่องเหล่านี้อาจสร้างความสับสน และถูกต่อต้านจากเกษตรกรได้ ขณะที่ด่านแรกร่างพ.ร.บ.ต้องเข้าสู่ที่ประชุม สนช.หากข้อมูลของกฎหมายไม่ชัดเจนอาจถูกตีตกได้”

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2560 

ครม.เห็นชอบอัตราภาษีบาปใหม่-ชี้ตู้แช่จัดเก็บตามความหวาน

นายกฯ ไฟเขียวอัตราภาษีบาปใหม่ บิ๊กสรรพสามิตยันไม่เพิ่มภาระให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภค เล็งตั้งโต๊ะแถลงหลังประกาศราชกิจจาฯ

วันนี้ (12 ก.ย.60) นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงว่าด้วยกำหนดอัตราภาษีสินค้าประเภทสุรา ยาสูบ และไพ่ ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต 2560 ฉบับใหม่ ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 ก.ย.60 โดยคาดว่าจะประกาศลงราชกิจจานุเบกษาก่อนวันที่มีผลบังคับใช้ หรือคืนวันที่ 15 ก.ย.60 หลังจากนั้นกรมสรรพสามิตจะมีการแถลงรายละเอียดเกี่ยวกับอัตราภาษีและพระราชบัญญัติทั้งหมดให้รับทราบอีกครั้ง

ส่วนอัตราภาษีประเภทอื่นที่ ครม.เห็นชอบไปก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาอีก 1-2 วันนี้ โดยยืนยันการปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการเพิ่มภาระให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภค ส่วนสถานการณ์การกักตุนสินค้า ได้มีการประสานงานให้ผู้ประกอบการแล้ว ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้เป็นการขยายฐานภาษีให้กว้างขึ้นเท่านั้น

สำหรับการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิต จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย กลุ่มกระทบกับสิ่งแวดล้อม และกลุ่มสินค้าบาป โดยได้เน้นสิ่งที่ทำลายสุขภาพ และมีภาษีใหม่ เช่น การเก็บภาษีจากค่าความหวาน รวมทั้งได้ยกเลิกการเว้นเก็บภาษีบางรายการในเครื่องดื่มที่อยู่ในตู้แช่ 111 รายการ เช่น ชา กาแฟ ทำให้สินค้าประเภทนี้หากเครื่องดื่มมีส่วนผสมของชา กาแฟ เพียง 1% จะถูกจัดเก็บทั้งหมด

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กฎหมายสรรพสามิตฉบับใหม่จะเป็นการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต เปลี่ยนฐานคำนวณภาษีจากราคาหน้าโรงงานอุตสาหกรรม และราคานำเข้าซีไอเอฟ มาเป็นราคาขายปลีกแนะนำ ซึ่งจะมีการปรับลดอัตราภาษีแต่ละสินค้าให้เกิดความสมดุล ไม่สร้างภาระผู้ประกอบการและผู้บริโภค

ทั้งนี้ กฎหมายฉบับใหม่ไม่ได้สร้างภาระให้กับผู้ประกอบการ แต่เพื่อต้องการสร้างความโปร่งใส เป็นธรรม และมีความเหมาะสม ส่วนผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจะเป็นกลุ่มที่ไม่เคยถูกเก็บภาษีมาก่อน เช่น ภาษีน้ำหวานที่ให้แคลอรี่ โดยจะให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัว 2 ปี ยกเว้นส่วนผสมน้ำตาลเทียมที่ให้พลังงานแคลอรี่ จะได้รับการยกเว้น

ขณะที่อัตราการจัดเก็บภาษีค่าความหวาน จะแบ่งเป็น 6 ระดับ ได้แก่

ค่าความหวาน 0-6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ไม่เสียภาษี

ค่าความหวาน 6-8 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 10 สตางค์ต่อลิตร

ค่าความหวาน 8-10 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 30 สตางค์ต่อลิตร

ค่าความหวาน 10-14 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 50 สตางค์ต่อลิตร

ค่าความหวาน 14-18 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 1 บาทต่อลิตร

ค่าความหวาน 18 กรัมขึ้นไป ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 1 บาทต่อลิตร

 และหลังจากนั้นจะทยอยปรับทุก 2 ปีแบบขั้นบันได

จาก http://money.sanook.com   วันที่  12 กันยายน. 2560  

กรมวิชาการเกษตรแจงไม่เคลียร์ พร้อมซื้อเวลาแบน 3 สารวัตถุอันตรายต่อไป

ไม่เคลียร์! กรมวิชาการเกษตรยืดเวลารวบข้อมูลแบน 3 สารวัตถุอันตราย จ่อชงบอร์ดแบนเฉพาะพาราควอต-ควอร์ไพริฟอส ไร้ไกลโฟเซต จี้ผู้ประกอบการรายงานแผนนำเข้าส่งออกพื้นที่ใช้ให้ครอบคลุม

นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการพิจารณายกเลิก 3 วัตถุอันตราย ที่ประกอบไปด้วย พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต หลังจัดประชุมรวบรวมและรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องรอบด้าน อิงข้อมูลวิชาการและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เป็นหลัก ล่าสุด เห็นควรให้จำกัดการเฉพาะใช้ “ไกลโฟเซต” และไม่มีแนวทางยกเลิกตามข้อเสนอ แต่ให้ผู้ประกอบการรายงานการนำเข้า การผลิต การส่งออก การจำหน่าย พื้นที่การใช้ และปริมาณคงเหลือ และต้องระบุพื้นที่ห้ามใช้ในฉลากวัตถุอันตรายควบคุมการโฆษณา ภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ส่วนอีก 2 ชนิด คือ พาราควอตและควอร์ไพริฟอส ต้องส่งเรื่องหารือไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้รวบรวมข้อมูลด้านพิษวิทยาของสาร ด้านประสิทธิภาพในการใช้ ด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงด้านการห้ามใช้ในต่างประเทศ และด้านการห้ามใช้ตามข้อตกลงของอนุสัญญาประกอบกับข้อมูลจากการรับฟังความคิดเห็น รวมทั้งข้อมูลด้านสุขภาพอนามัย ที่ได้รวบรวมจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขด้วย

ทั้งนี้ เนื่องจากกรมฯ ยังไม่มีความเชี่ยวชาญที่จะพิจารณานำข้อมูลด้านสุขภาพอนามัยมาวินิจฉัยได้อย่างชัดแจ้งว่าสารดังกล่าวมีอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ตามที่มีการกล่าวอ้างหรือไม่ จึงเห็นสมควรที่จะขอคำปรึกษาในเรื่องดังกล่าวจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ รวมไปถึงผู้แทนจากหน่วยงานด้านสาธารณสุข ตามอำนาจหน้าที่ในมาตรา 7 โดยกรมวิชาการเกษตรมีอำนาจหน้าที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับวัตถุอันตรายตามพ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 เท่านั้น

“กรมวิชาการจะนำเสนอข้อมูล 5 ด้าน ไม่ว่าจะเป็น 1.การทบทวนค่าพิษวิทยา 2.การห้ามใช้ในประเทศต่างๆด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ 3.การปฏิบัติภายใต้อนุสัญญาประชาคมโลก 4 ข้อ 4.ผลการรับฟังความเห็น และ 5.ผลกระทบสุขภาพอนามัย ซึ่งยอมรับว่ายังติดขัดในข้อที่ 5 เพราะกรมวิชาการเกษตรไม่มีผู้เชี่ยวชาญและต้องอ้างอิงข้อมูลจากหลายภาคส่วนซึ่งไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันจึงต้องใช้เวลา”

นายสุวิชย์กล่าวต่อไปว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสาคัญในการลดการใช้สารเคมี และมีนโยบายที่จะ ผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานปลอดภัยจากสารตกค้างทั้งในผลผลิตและสิ่งแวดล้อม และพร้อมที่จะ สนับสนุนการลด ละ เลิก การใช้ เมื่อมีความจาเป็น โดยคำนึงถึงความเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น กระทรวงเกษตรฯ จะศึกษาและเร่งรัดหาวิธีการที่เหมาะสมเพื่อเป็นทางเลือกทดแทนการใช้สารดังกล่าวต่อไป กรมวิชาการเกษตรเองต้องพูดให้น้อยที่สุด เพื่อรับฟังความคิดเห็นทุกทางและจะหารือที่ประชุมเพื่อหาข้อสรุปอีกครั้งเร็วๆ นี้” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว

จาก https://www.prachachat.net วันที่  12 กันยายน. 2560

เกษตรฯ แถลงเคลียร์ปม 3 วัตถุอันตรายจำกัดพื้นที่ใช้"ไกลโฟเซต"

          วันที่ 12 ก.ย.เวลา 11.00 น.ที่กรมวิชาการเกษตร นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดแถลงข่าวความคืบหน้าการพิจารณาลด ละ เลิกใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิด ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสาคัญในการลดการใช้สารเคมี และมีนโยบายที่จะผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานและปลอดภัยจากสารตกค้างทั้งในผลผลิตและสิ่งแวดล้อม

            ทั้งนี้ตามที่มีข้อเสนอของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกาจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 เสนอให้พิจารณาลด ละ เลิกใช้ วัตถุอันตราย paraquat dichloride , chlorpyrifos และ glyphosate-isopropylammonium เนื่องจากมีข้อมูลที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม โดยเสนอให้ ห้ามใช้วัตถุอันตราย paraquat dichloride และ chlorpyrifos ภายในต้นเดือนธันวาคม 2562 โดยจะมีการจำกัดการใช้ glyphosate-isopropylammonium อย่างเข้มงวด ซึ่งภายหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขได้แถลงการณ์แล้ว กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการ ดังนี้

           เริ่มจากการจัดประชุมเพื่อรวบรวมข้อมูล โดยมีนักวิชาการด้านสาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมประชุม เมื่อวันอังคารที่ 25 เมษายน 2560 จากนั้นได้แจ้งหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จานวน 9 หน่วยงาน โดยมีหน่วยงานแจ้งข้อคิดเห็นและส่งข้อมูลเพิ่มเติม จำนวน 6 หน่วยงาน ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับข้อกังวลด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของคณะกรรมการดังกล่าว

            จากนั้นคณะทำงานดาเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายที่ต้องเฝ้าระวังของกรมวิชาการเกษตร เพื่อศึกษาข้อมูลพิษวิทยา ประเมินความเป็นอันตราย และผลกระทบจากการใช้วัตถุอันตราย โดยได้ประชุมไปแล้ว 8 ครั้ง

          คณะทำงานพิจารณาสารทดแทนวัตถุอันตราย paraquat dichloride, chlorpyrifos และ glyphosate-isopropylammonium ของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งมีผู้แทนจากมหาวิทยาลัย 5 สถาบันร่วมเป็นคณะทางานฯ เพื่อกาหนดหลักเกณฑ์การหาสารที่จะนามาใช้เป็นสารทางเลือก กรณีที่มีความจาเป็นต้องควบคุมสารทั้ง 3 ชนิด โดยได้ประชุมไปแล้ว 3 ครั้ง

            จัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียในการพิจารณาลด ละ เลิกใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิด จำนวน 4 ครั้ง และจัดทาแบบสอบถามเพื่อสารวจความเห็น โดยประชาสัมพันธ์ผ่านเวปไซด์ของกรมวิชาการเกษตร ตู้ ปณ. 1031 และทางจดหมายอิเลคทรอนิค ardpesti@doa.in.th

              อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ผลจากการดาเนินการทั้งหมดดังกล่าว ได้ข้อสรุปว่ากรมวิชาการเกษตร จะดาเนินการต่อข้อเสนอของคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ดังนี้ สำหรับ glyphosate จะจากัดการใช้อย่างเข้มงวดตามข้อเสนอ โดยให้ผู้ประกอบการรายงานการนาเข้า การผลิต การส่งออก การจาหน่าย พื้นที่การใช้ และปริมาณคงเหลือ  ระบุพื้นที่ห้ามใช้ในฉลากวัตถุอันตราย ควบคุมการโฆษณา

             ส่วน paraquat dichloride และ chlorpyrifos กรมวิชาการเกษตรได้รวบรวมข้อมูลด้านพิษวิทยาของสาร ด้านประสิทธิภาพในการใช้ ด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้านการห้ามใช้ในต่างประเทศ ด้านการห้ามใช้ตามข้อตกลงของอนุสัญญา ข้อมูลจากการรับฟังความคิดเห็น รวมทั้งข้อมูลด้านสุขภาพอนามัย ที่ได้รวบรวมจากหน่วยงานด้านสาธารณสุข

             แต่เนื่องจากกรมฯ ยังไม่มีความเชี่ยวชาญที่จะพิจารณานาข้อมูลด้านสุขภาพอนามัย มาวินิจฉัยได้อย่างชัดแจ้งว่าสารดังกล่าวมีอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ตามที่มีการกล่าวอ้างหรือไม่ จึงเห็นสมควรที่จะขอคาปรึกษาในเรื่องดังกล่าวจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน และประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ รวมไปถึงผู้แทนจากหน่วยงานด้านสาธารณสุข ตามอานาจหน้าที่ในมาตรา 7 (4) แห่งพ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

              “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสาคัญในการลดการใช้สารเคมี และมีนโยบายที่จะผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานปลอดภัยจากสารตกค้างทั้งในผลผลิตและสิ่งแวดล้อม และพร้อมที่จะสนับสนุนการลด ละ เลิก การใช้ เมื่อมีความจาเป็น โดยคานึงถึงความเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์เป็นสาคัญ อย่างไรก็ตามเพื่อรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น กระทรวงเกษตรฯ จะศึกษาและเร่งรัดหาวิธีการที่เหมาะสมเพื่อเป็นทางเลือกทดแทนการใช้สารดังกล่าวต่อไป” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวย้ำ

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่  12 กันยายน. 2560

ดีเดย์ 25 ก.ย.เริ่มผันน้ำเข้าทุกทุ่งในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา

          วันที่ 11 กันยายน 2560 นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ครั้งที่ 29/2560 พร้อมด้วยผู้แทนจากกรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำนักระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงาน กปร. การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค และกรมฝนหลวงและการบินเกษตร พร้อม VDO Conference ไปยังสำนักงานชลประทานทั้ง 17 แห่ง เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ การบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน และการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยา ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ ชั้น 3 อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน สามเสน กรุงเทพฯ

          รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์สถานการณ์ฝนในช่วงตั้งแต่วันที่ 13-18 กันยายน 2560 จะยังคงมีปริมาณฝนตกอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและภาคกลาง เนื่องจากยังคงมีร่องมรสุมพาดผ่านในแถบนี้ แต่หลังจากนั้นในช่วงกลางเดือนตุลาคมเป็นต้นไป ปริมาณฝนที่ตกในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางจะเริ่มลดน้อยลง ซึ่งเป็นผลมาจากร่องความกดอากาศที่เคลื่อนตัวลงต่ำและเข้าสู่ช่วงต้นฤดูฝนของพื้นที่ภาคใต้ต่อไป

              ในส่วนของการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ ที่กำหนดให้มีปรับเปลี่ยนปฏิทินการเพาะปลูกข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ จำนวน 12 ทุ่งให้เร็วขึ้นกว่าปกตินั้น  จากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การเพาะปลูกพบว่าในวันที่ 15 กันยายน 2560 นี้จะสามารถเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จในทุกพื้นที่ และหลังจากนั้นจะปรับพื้นที่นาข้าวลุ่มต่ำดังกล่าวเป็นพื้นที่รองรับน้ำหลาก

          "ที่ประชุมในวันนี้กำหนดให้วันที่ 25 กันยายน 2560 จะเป็นวันที่เริ่มต้นตัดยอดน้ำผ่านระบบชลประทานเข้าทุ่งต่าง ๆ จำนวน 10 ทุ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ประกอบด้วย ทุ่งเชียงราก ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งพระยาบรรลือ ทุ่งโพธิ์พระยา และสำรองพื้นที่ไว้อีก 2 ทุ่ง คือทุ่งบางบาล และทุ่งรังสิตใต้ สามารถเก็บกักน้ำได้สูงสุด 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร"

          สำหรับปัจจัยในการกำหนดช่วงเวลาในการตัดยอดน้ำเข้าทุ่งนั้น กรมชลประทานพิจารณาจากปริมาณน้ำเหนือที่ไหลมารวมกันที่จังหวัดนครสวรรค์ และปริมาณน้ำฝนที่ตกในพื้นที่บริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยาด้วย โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน จนถึงวันที่ 25 ตุลาคม 2560 ซึ่งจะสามารถตัดยอดน้ำรวมกันได้ประมาณ 740 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยแนวทางการกระจายน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ (ฝั่งซ้าย) จะเริ่มรับน้ำที่คลองชัยนาท-ป่าสัก รับน้ำเต็มศักยภาพของคลองประมาณ 210 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีและตัดเข้าทุ่งเชียงรากและทุ่งท่าวุ้ง จำนวน 15 วัน หลังจากนั้น 15 วันถัดไปจะกระจายน้ำไปในพื้นที่ทุ่งฝั่งซ้ายของคลองชัยนาท-ป่าสัก

               ส่วนที่คลองชัยนาท-อยุธยา  13 วันแรกจะรับน้ำที่ทุ่งบางกุ้งและทุ่งบางกุ่ม(บางส่วน) และหลังจากนั้นตั้งแต่วันที่ 14-30 จะรับน้ำเข้าทุ่งบางกุ่มจนเต็มพื้นที่ สำหรับในพื้นที่ลุ่มต่ำ (ฝั่งขวา) จะเริ่มที่แม่น้ำน้อยในพื้นที่ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งพระยาบรรลือ ระยะเวลารับน้ำ 30 วัน สามารถรับปริมาณน้ำได้ 230 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนปริมาณน้ำที่เหลือจะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ประมาณ 20 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ด้านแม่น้ำท่าจีน สามารถตัดน้ำเข้าทุ่งโพธิ์พระยา มีระยะเวลารับน้ำ 30 วัน รองรับปริมาณน้ำได้ 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที นอกจากนั้นยังจะรับน้ำคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง เพื่อระบายออกสู่แม่น้ำท่าจีนตอนล่างและไหลลงสู่ทะเลเป็นระยะเวลา 30 วันด้วย

          รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา กล่าวย้ำว่า การผันน้ำเข้าทุ่งดังกล่าวจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนและการคมนาคมสัญจรไป-มาของประชาชนในพื้นที่ และหลังจาก 30 วันที่มีการผันน้ำเข้าทุ่งแล้วจะต้องเร่งระบายน้ำออกจากทุ่งให้เหลือในปริมาณที่พอเหมาะสำหรับใช้การในช่วงแล้ง และเพื่อไม่ให้พื้นที่ดังกล่าวเกิดน้ำเน่าเสีย

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่  12 กันยายน. 2560

“สมคิด”ย้ำความมั่นใจนักลงทุนญี่ปุ่น พร้อมสนับสนุนลงทุนใน 10 อุตฯเป้าหมาย 

รัฐบาลไทยจุดพลุสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น 130 ปี  ดึงนักลงทุนซามูไรกว่า 500 รายสู่ขุมทรัพย์ EEC "สมคิด"ย้ำความมั่นใจนักลงทุน พร้อมส่งเสริมการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรม S – Curve

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาความร่วมมือด้านยุทธศาสตร์ระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ภายใต้หัวข้อ "Symposium on Thailand 4.0 towards Connected Industries"ว่า ในปี 2560 นับเป็นปีที่สำคัญสำหรับประเทศไทยและญี่ปุ่น เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศได้ดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเป็นเวลายาวนานถึง 130 ปี โดยความสัมพันธ์อันแนบแน่นนี้ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ในหลากหลายสาขากิจกรรมที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจและการเมือง ความร่วมมือทางการค้า การพัฒนาอุตสาหกรรม ตลอดจนการร่วมทุน-ลงทุน และการท่องเที่ยว เป็นต้น

 สำหรับปัจจุบัน ญี่ปุ่นยังคงเป็นชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากสุดเป็นอันดับ 1 มีสัดส่วนสูงถึง 40% ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด และเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 2 รองจากจีน โดยในช่วงครึ่งปีแรกญี่ปุ่นมีเงินลงทุนโดยตรงไปแล้วกว่า 4.73 หมื่นล้านบาท มีปริมาณเงินลงทุนในการยื่นขอส่งเสริมสูงที่สุดคิดเป็นอีก 55% ของมูลค่าการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมด มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น การผลิต Hybrid Vehicle มูลค่า 19,547 ล้านบาท กิจการผลิตผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ชนิดพิเศษ หรือเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ มูลค่า 15,182 ล้านบาท กิจการผลิตตัวยึดจับฮาร์ดดิสก์ มูลค่า 3,083 ล้านบาท ฯลฯ นอกจากนี้จำนวนสมาชิกของหอการค้าญี่ปุ่นในประเทศไทยยังมีจำนวนถึง 1,748 บริษัท

"สะท้อนให้เห็นอย่างเด่นชัดว่าความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจทั้ง 2 ประเทศยังต้องมีการพึ่งพาซึ่งกันและกันอีกมาก และหลังจากนี้หน่วยงานต่างๆ ของไทยเองก็มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งผลักดันนโยบายการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมเกิดการขยายความร่วมมือกับญี่ปุ่นในบริบทและรูปแบบที่กว้างและหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยในส่วนของรัฐบาลเองกำลังอยู่ในช่วงของการเร่งสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเพื่อช่วยให้เกิดการร่วมมือในระดับต่างๆ ที่สูงขึ้นได้ต่อไป" นายสมคิด กล่าว

 สำหรับการเดินทางเยือนประเทศไทยครั้งพิเศษของคณะผู้บริหารระดับสูงทั้งภาครัฐและเอกชนญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 11-13 กันยายนนี้ ถือเป็นประวัติศาสตร์ทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญอีกครั้ง เนื่องจากมีผู้ให้ความสนใจร่วมคณะเดินทางมากที่สุดถึง 570 คน ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการเดินทางที่นอกเหนือจากการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการแล้ว ยังเป็นการแสดงออกถึงความมุ่งมั่นในการสร้างอนาคตร่วมกันในการพัฒนาเศรษฐกิจตามเป้าหมายของทั้ง 2 ประเทศ

 นายสมคิด กล่าวว่า การจัดสัมมนาใหญ่ในหัวข้อ Symposium on Thailand 4.0 towards Connected Industries ครั้งนี้เพื่อนำเสนอโอกาสแห่งความร่วมมือของภาครัฐบาล ภาคเอกชนของไทยและญี่ปุ่นในการส่งเสริมและยกระดับการค้าการลงทุนของทั้ง 2 ประเทศให้กับผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่เดินทางมายังประเทศไทย ทั้งยังได้ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบการไทย ผู้ประกอบการญี่ปุ่นทั้งในระดับ LEs และ SMEs ตลอดจนนักลงทุนญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศไทยอยู่แล้ว ด้วยการเปิดโอกาสให้เข้าร่วมสัมมนากับคณะ METI ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 1,200 คน

โดยเนื้อหาการสัมมนาจะอยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือการส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ที่ METI ได้แสดงความพร้อมในการสนับสนุนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมดังกล่าวของไทยผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อนไทยไปสู่ Industry 4.0 (ญี่ปุ่นเรียกแนวคิดนี้ว่า Connected Industries) พร้อมด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์และผสมผสานกับเทคโนโลยีอุตสาหกรรมให้เป็นรูปแบบจนเกิดเป็นการทำงานอย่างชาญฉลาด รวมทั้งการลงนามบันทึกความเข้าใจและข้อตกลงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของทั้งสองฝ่ายในหลายๆ เรื่อง อาทิ ความร่วมมือในการขับเคลื่อนธุรกิจอุตสาหกรรม ฝั่งภาคเอกชนระหว่าง Keidanren, Japan Chamber of Commerce and Industry สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าไทย, ความร่วมมือในการขับเคลื่อนการพัฒนา EEC ระหว่าง สำนักงาน EEC กับ JICA และบริษัท Hitachi,

ความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรภาคอุตสาหกรรมเพื่อรองรับ Industry 4.0 โดยอาศัยองค์ความรู้จากฝั่งญี่ปุ่น ระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ในเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของไทยเพื่อช่วยพัฒนาวิศวกรและอาชีวศึกษาของไทยในอุตสาหกรรมสำคัญต่าง ๆ ผ่านโครงการ "Flex Campus", ความร่วมมือในการยกระดับศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือ SMEs ของไทยระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมกับองค์การสนับสนุน SMEs แห่งประเทศญี่ปุ่น (SMRJ), ความร่วมมือด้านการค้า ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กับ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ฯลฯ

 อีกทั้ง ยังได้มีการจัด Business Matching ระหว่างนักธุรกิจญี่ปุ่นและไทยในกลุ่ม 5 อุตสาหกรรม 1) ยานยนต์ 2) ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 3) เกษตร อาหาร และสุขภาพ 4) ธุรกิจบริการ และ 5) หน่วยงานภาครัฐและสถาบันการเงิน

 ส่วนความร่วมมือด้านแผนงาน EEC ที่เป็นนโยบายสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยในอนาคตนั้น ทั้ง 2 ฝ่ายจะผลักดันให้เกิดการหารือร่วมกันระหว่างกลุ่มธุรกิจญี่ปุ่นและหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทย เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายและการดำเนินโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกัน โดยในวันที่ 13 ก.ย.นี้ นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม จะนำ Mr. Hiroshige Seko รมว.เศรษฐกิจการค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นพร้อมคณะ เดินทางไปยังพื้นที่จริงของ EEC ณ สนามบินอู่ตะเภา รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เพื่อเป็นการแสดงถึงความพร้อมและศักยภาพในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นสนามบิน ท่าเรือ ระบบสาธารณูปโภค นิคมอุตสาหกรรม รวมไปถึงความตั้งใจอย่างเป็นรูปธรรมในการผลักดัน EEC ให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

จาก http://www.thansettakij.com ฉบับวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2560 

รถหยอดแม่ปุ๋ยจีพีเอส รับ 4.0 เกษตรแม่นยำ

กรมวิชาการเกษตรเปิดตัวรถไถพ่วงเครื่องหยอดปุ๋ยจีพีเอสเครื่องแรกของโลก ในงาน SIMA ASEAN Thailand 2017 อิมแพค เมืองทองธานี นายอัคคพล เสนาณรงค์ ผู้อำนวยการการสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร เผยว่า จากนโยบายรัฐบาลต้องการให้ภาคการเกษตรเป็น 4.0 สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรมจึงได้ประดิษฐ์เครื่องหยอดแม่ปุ๋ยติดตั้งระบบจีพีเอสขึ้นมา เพื่อให้การใส่ปุ๋ยมีความแม่นยำสูงสอดคล้องกับค่าวิเคราะห์ดิน และตรงกับความต้องการของพืช ช่วยแก้ปัญหาการทำเกษตรมีต้นทุนสูง ผลผลิตต่ำของบ้านเรา

 “เป็นเครื่องหยอดแม่ปุ๋ย N-P-K สามารถหยอดปุ๋ยที่ทำงานควบคู่ไปกับจีพีเอส หรือระบบกำหนดตำแหน่งบนโลกโดยดาวเทียม เพื่อให้การใส่ปุ๋ยเป็นไปอย่างถูกต้อง เพราะตัวเครื่องจะมีสมองกล รู้ได้ว่า ตำแหน่งตรงไหนมีค่าวิเคราะห์ดินเป็นอย่างไร ต้องการปุ๋ยสูตรไหน เนื่องจากมีการนำดินในแต่ละพื้นที่มาตรวจวิเคราะห์ก่อนล่วงหน้าแล้ว พร้อมกำหนดตำแหน่งจีพีเอสเครื่องรู้ว่าแต่ละพื้นที่ควรหยอดแม่ปุ๋ยแต่ละตัวในปริมาณเท่าไรถึงจะเหมาะสม วิธีการใช้งานไม่ยุ่งยากเพียงแค่ขับรถไถติดเครื่องหยอดปุ๋ยจีพีเอส เมื่อถึงจุดที่ต้องการใส่ปุ๋ย เครื่องจะหยอดปุ๋ยให้เองโดยอัตโนมัติ”

นายอัคคพล บอกว่า เครื่องที่ผลิตออกมามีด้วยกัน 2 รุ่น แบบแรกเป็นเครื่องหยอดปุ๋ยตามพิกัดดาวเทียม (GPS) เหมาะสำหรับพื้นที่ขนาดใหญ่กว่า 10 ไร่ มีแม่ปุ๋ยหลัก 3 ถัง สามารถเปลี่ยนสูตรปุ๋ยได้อัตโนมัติตามแผนที่ความอุดมสมบูรณ์ของดินตามพิกัดที่ได้ตั้งค่าไว้ เมื่อรถไถเคลื่อนที่ไปในพิกัดที่ตั้งค่าไว้ เครื่องจะผสมปุ๋ยให้สูตรตามค่าวิเคราะห์ดิน มีความแม่นยำในขีดสูงสุด แม้ว่าขณะใช้งานดาวเทียมจะถูกเมฆบังก็ตาม มีความผิดพลาดไม่เกิน 1 เมตร

อีกแบบเหมาะสำหรับแปลงเกษตรขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไร่ ไม่มีระบบจีพีเอส แต่จะมีระบบเลือกสูตรปุ๋ยด้วยสวิตช์ ให้กดเลือกค่าตามผลวิเคราะห์ดิน และเครื่องจะคำนวณสูตรและหยอดปุ๋ยให้โดยอัตโนมัติเช่นกันขณะนี้สามารถผลิตเครื่องต้นแบบได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมจะถ่ายทอดสู่เกษตรกร มีราคาเครื่องอยู่ที่ 150,000 บาท  สนใจติดต่อได้ที่ 0-2940-5581 หรือ E-mail : akkapol@ksc.th.com

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่  12 กันยายน. 2560

เซ็นเอ็มโอยู460บ.ยักษ์ญี่ปุ่นลุย10อุตฯ'อีอีซี' 'บิ๊กตู่'การันตีนักลงทุนเมติยกไทยฮับอาเซียน'คลัง'ห่วงบาทแข็งเกินสะกิดธปท.ลดดอกเบี้ย 

          'บิ๊กตู่'ต้อนรับ 600 นักลงทุนญี่ปุ่น ตอกย้ำความสัมพันธ์ 130 ปี ตอบ 3 คำถามผลักดัน'อีอีซี' ขอให้มั่นใจเดินหน้าโครงการต่อเนื่อง รมต.เมติยาหอมไทย'ฮับอาเซียน' 'ขุนคลัง'ออกปากห่วงบาทแข็งสูงกว่าคู่แข่ง ฉุดส่งออก

          เมติยาหอมไทยฮับอาเซียน

          เมื่อวันที่ 11 กันยายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นำนายฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (เมติ) นำคณะนักลงทุนรายใหญ่ของญี่ปุ่นกว่า 570 คน เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เนื่องในโอกาสที่ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศดำเนินมาสู่ปีที่ 130 โดยทั้งสองประเทศได้กำหนดแผนการลงทุนเพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมในระยะเวลา 5 ปี ระหว่างกรุงเทพฯ-โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคทั่วประเทศเข้าด้วยกัน

          นายฮิโรชิเกะ เซโกะ กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้มาเยี่ยมประเทศไทย พร้อมกับคณะนักธุรกิจชาวญี่ปุ่น ซึ่งได้รับการตอบรับความร่วมมือจากหน่วยงานภายในประเทศญี่ปุ่นมากมาย นั่นหมายความว่านักธุรกิจญี่ปุ่นในแนวหน้าแทบจะรวมอยู่ในไทยในตอนนี้ สำหรับไทยมีอุตสาหกรรมที่รวมตัวกันอยู่มากมาย ถือเป็นฮับการผลิตแห่งเดียวในอาเซียน บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งมีฐานการผลิตในไทยมานาน ถือว่าเป็นประเทศ ที่มีความสำคัญ ที่ผ่านมามีความร่วมมือในหลาย มิติ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่คาดหวังว่าจะมี การพัฒนาขึ้นเป็นอุตสาหกรรมชั้นสูงต่อไป

          นายกฯปลื้มสัมพันธ์ธุรกิจ30ปี

          ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ได้พบปะพูดคุยกันวันนี้ เมื่อสักครู่ได้มีการหารือด้วยบรรยากาศที่เป็นมิตรไมตรีต่อกัน และถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่คนไทยทั้งประเทศติดตามการมาเยือนในครั้งนี้ และส่วนตัวรู้สึกตื่นเต้นไม่คิดว่าจะมีนักลงทุนจะมามากขนาดนี้ ไทยกับญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ยาวนานกันมา 130 ปี โดยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยืนยันความสัมพันธ์เป็นอย่างดี และที่ผ่านมาได้ร่วมมือกันในทุกระดับ ซึ่งจะสานความสัมพันธ์เช่นนี้ต่อไปอีก 130 ปี ในระยะที่ผ่านมาไทยได้เดินหน้าประเทศไปสู่ระยะการเปลี่ยนผ่าน ให้มีการพัฒนาเจริญเติบโต แน่นอนว่าเราจะไม่ลืมเพื่อนชาวญี่ปุ่น ของเรา

          พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ในส่วนการนำเสนอวิสัยทัศน์ต่างๆ ร่วมกัน โดยในวันที่ 12 กันยายน มีกำหนดปาฐกถาพิเศษของรัฐมนตรีไทยและ ญี่ปุ่น รวมถึงการทำบันทึกความเข้าใจร่วม 7 ฉบับ และกำหนดหัวข้อทางเศรษฐกิจต่างๆ ร่วมกัน

          "วันนี้ขอยืนยันกับท่านด้วยหัวใจของตัวเอง ขอให้มั่นใจว่าจะทำทุกอย่างให้ไทยญี่ปุ่นไว้ใจกันมากที่สุด เพื่อวันข้างหน้า เพื่อผลประโยชน์ที่เท่าเทียมขอบคุณจริงๆ ที่ครั้งนี้เดินทางมาไทยถึง 3 วัน แสดงว่าท่านให้เกียรติเรามาก" พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

          ตอบ3คำถามผลักดัน'อีอีซี'

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงท้ายนักลงทุนญี่ปุ่นได้ถามคำถามกับนายกฯรวม 3 คำถาม ได้แก่ 1.ไทยคาดหวังจะให้ญี่ปุ่นช่วยในการลงทุน เพื่อยืนยันความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไทยให้ความสำคัญกับประเทศคู่ค้ามาตลอด มีการแลกเปลี่ยน เยี่ยมเยียนตลอดกันเสมอมา สำหรับความสัมพันธ์ไทยญี่ปุ่นไม่ใช่แค่วันนี้ แต่ทำมาทั้งหมดตลอด 130 ปี คือความร่วมมือระหว่างกัน ไทยกับญี่ปุ่น ไม่ต้องกังวลเรื่องอื่น ขอให้เชื่อมั่น ส่วนตัวคาดหวังการลงทุนเทคโนโลยีแบบใหม่ให้มากขึ้น แลกเปลี่ยนนวัตกรรม

          "คาดหวังสิ่งที่เป็นอนาคต ที่ต้องเริ่มวันนี้ ไทยกำลังปฏิรูป เปลี่ยนแปลงประเทศเรา ให้มีความพร้อมในการดูแลประเทศอื่นๆ ที่กำลังพัฒนา ต้องทำให้ไทยหลุดพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางโดยเร็ว แน่นอนว่าเราทำคนเดียวไม่ได้ ก็คาดหวังจากท่านด้วยคำยืนยันนี้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

          ยืนยันแผนลงทุนต่อเนื่อง

          ส่วนคำถามที่ว่า รัฐบาลไทยจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่อีอีซีให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลจะรักษาเรื่องการลงทุนให้มีความต่อเนื่อง มีแผนพัฒนาระบบสาธารณูปโภค พื้นฐานในช่วง 5 ปีแรก และในระยะต่อไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งนำแผนทั้งหมดของประชาคมต่างๆ มาเชื่อมโยงหมดแล้ว เพื่อสร้างเป็นแผนพัฒนาประเทศ สร้างความเชื่อมโยงให้การบริการ การลงทุนในพื้นที่ และยึดโยงกับประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย

          "ส่วนเรื่องการลงทุน ขอบคุณญี่ปุ่นที่ได้ศึกษารถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และทราบว่าท่านสนใจสร้างรถไฟทางคู่ และท่าเรือ ท่าอากาศยาน ท่านก็จะมีส่วนร่วมในโครงการเหล่านี้ ใน 5 ปีแรกจะมีแต่โครงการเหล่านี้ ขอให้มั่นใจ เชื่อมั่นตัวเอง เชื่อมั่นประเทศไทย และทุกอย่างเป็นกฎหมาย เปลี่ยนแปลงไม่ได้ อยู่แล้ว" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

          จีบญี่ปุ่นพัฒนาเอสเอ็มอีไทย

          นักลงทุนญี่ปุ่นยังถามด้วยว่า ไทยคาดหวังให้ญี่ปุ่นช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนเอสเอ็มอีที่มีบทบาทสำคัญต่อประเทศอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญมาก เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการผลิต การส่งออก และพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจของไทย สิ่งที่ต้องการคือจะพัฒนาเอสเอ็มอีไทยอย่างไร วันนี้ได้มีการแยกประเภทเป็นหลายกลุ่ม คือ กลุ่มที่มีศักยภาพเข้มแข็ง กลุ่มที่พร้อมขยายในประเทศ กลุ่มที่ปรับปรุงให้ดีขึ้น ทั้งหมดเพื่อให้ได้เรียนรู้ระบบการค้าสากล ขอให้เชื่อมั่น และรัฐบาลคาดหวังเอสเอ็มอีจากญี่ปุ่น เพราะถือเป็นต้นแบบระดับโลก มีหน่วยงานมากมายในการวางแผน ออกแบบนโยบายที่ชัดเจน มีกลไกการบริหาร การพัฒนาองค์ความรู้ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ญี่ปุ่นทำมาแล้ว วันนี้ไทยก็นำมาใช้ และมีความร่วมมือระหว่างกันอยู่

          ปตท.เผยต้องรอจับคู่ก่อน

          นายเติมชัย บุญนาค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือจีพีเอสซี กล่าวว่า บริษัทจะเข้าร่วมหารือกับคณะนักลงทุนญี่ปุ่นที่มาไทยระหว่างวันที่ 11-13 กันยายน 2560 โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่มีโอกาสลงทุนในธุรกิจที่ ปตท.สนใจ หรือกลุ่มที่ต้องการลงทุนในธุรกิจที่ ปตท.เชี่ยวชาญ อย่างไรก็ตามอยากหารือในวันที่ 12 กันยายนนี้ก่อน เพราะเป้าหมายของการจัดงานครั้งนี้คือการจับคู่ธุรกิจ ดังนั้นต้องเกิดจากการคุยกันก่อนจึงจะสรุปการลงทุนระหว่างกันได้

          600ญี่ปุ่นหนุนหุ้นไทยโตต่อ

          นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด หรือเคทีบีเอส กล่าวว่า หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ (ช่วงวันที่ 11-15 กันยายน) คือการประชุมอีอีซีช่วงวันที่ 11-13 กันยายนนี้ ที่จะมีคณะนักลงทุนญี่ปุ่นกว่า 560 ราย เข้าร่วมสัมมนาและเยี่ยมชมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่อีอีซี ซึ่งจะมีผลเป็นบวกต่อกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมที่มีเนื้อที่ในแถบนั้น ได้แก่ AMATA, WHA, TICON, ROJNA และอีกปัจจัยได้แก่ มาตรการของ ครม.ในสัปดาห์นี้จะมีมาตรการภาษีสุราและเครื่อง ดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนผสม

          หอการค้า-ส.อ.ท.เอ็มโอยูญี่ปุ่น

          เมื่อเวลา 18.00 น. นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายเจน นำชัยศิริ ประสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ลงนามความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ระหว่างสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (Keidanren) หอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งญี่ปุ่น (JCCI) เพื่อสนับสนุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียง เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ร่วมเป็นสักขีพยาน

          นายกลินท์กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศครั้งนี้ มีเป้าหมายร่วมกันถึงความร่วมมือใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย และความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นในประเทศไทยและญี่ปุ่น ประกอบด้วย การแลกเปลี่ยนข้อมูลการค้า การตลาดและเศรษฐกิจ การเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าบริการระหว่างกัน การให้ความช่วยเหลือและแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศที่มีมาตรฐานสากล นอกจากนี้ จะมีความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนบุคลากร องค์ความรู้ ตลอดจนการให้ความรู้สนับสนุนการเริ่มต้นธุรกิจขนาดเล็ก และบริษัทขนาดกลาง (เอสเอ็มอี) ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ หรือสตาร์ ตอัพในอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นของทั้ง 2 ประเทศ

          "การมาเยือนของนักธุรกิจญี่ปุ่นครั้งนี้ จำนวน 563 คน จาก 460 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท ด้านเกษตรและอาหาร ค้าปลีก สุขภาพ โลจิสติกส์ พลังงาน ท่องเที่ยว ไอที สิ่งทอ เครื่องสำอาง ถือเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างความเชื่อมั่นและโอกาสร่วมลงทุนระหว่างญี่ปุ่น ซึ่งจะสามารถช่วยตอบสนองการเกิดขึ้นของเขตเศรษฐกิจ พิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี และผลักดันประเทศไทยตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ตามที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายไว้ คาดว่าหลังจากลงนามความร่วมมือในครั้งนี้จะมีการประชุมเพื่อสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องได้อีกครั้งภายในเดือนหน้า" นายกลินท์กล่าว

          หอการค้าผลักดัน3ซัพพลายเชน

          นายกลินท์กล่าวว่า ความร่วมมือที่ทางสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจะผลักดันกับทางฝ่ายญี่ปุ่น จะประกอบด้วยกัน 3 ซัพพลายเชน คือ 1.การค้าการลงทุนระหว่าง 2 ประเทศ ให้มีปริมาณและมูลค่าเพิ่มมากขึ้น 2.การส่งเสริมด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ซึ่งประเทศญี่ปุ่นมีความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารจากประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็ถือเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะดันสินค้าของไทยให้ไปสู่ประเทศญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น 3.การยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการของประเทศไทย โดยประสานความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาคบริการเข้ามาร่วมสนับสนุนองค์ความรู้ให้กับ ผู้ประกอบการไทย รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์สินค้าให้ได้รับการพัฒนามากยิ่งขึ้น คาดว่าภายในเดือนหน้าจะสามารถหารือความร่วมมือในกลุ่มย่อยกับทางฝ่ายญี่ปุ่นได้

          'สมคิด'มั่นใจญี่ปุ่นทยอยมาอีก

          นายสมคิดกล่าวว่า ถือเป็นโอกาสดีในโอกาสครบวาระ 130 ปีความสัมพันธ์ไทยญี่ปุ่น ที่เมตินำคณะนักธุรกิจกว่า 500 คน เดินทางมาเยือน ซึ่งจะมีความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง และจะมีการนำนักลงทุนมาเยือนประเทศไทยอีก ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งสุดท้ายอย่างแน่นอน

          "ยิ่งแก่ผมยิ่งเชื่อในเรื่องโชคชะตา ในสมัยที่ผมศึกษาต่อที่ต่างประเทศ ผมได้มีโอกาสค้นคว้าเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่น หวังว่าสักวันหนึ่งจะได้มีโอกาสใช้โมเดลการพัฒนาของญี่ปุ่นมาใช้ในการพัฒนาประเทศไทย เมื่อมีโอกาสมาทำงานเป็นรัฐบาลก็ได้มีโอกาสขยายความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่น ผ่านความร่วมมือความเป็นหุ้นส่วนระหว่างญี่ปุ่นกับไทย (เจเทปป้า) และครั้งนี้ก็เป็นอีกครั้ง ที่จะขยายความร่วมมือไปยังประเทศญี่ปุ่นให้มีความแน่นแฟ้นและใกล้ชิดมากขึ้น ผ่านการขยายการลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่น ผมต้องขอขอบคุณนักลงทุนญี่ปุ่น หน่วยงานภาครัฐทุกท่าน ที่ให้ความสนใจกับประเทศไทย" นายสมคิดกล่าว

          ขุนคลังห่วงบาทแข็ง

          นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่ามีแนวโน้มยังสูงกว่าประเทศคู่แข่งค่อนข้างมาก ตรงนี้เป็นห่วงเพราะไม่อยากให้สูงกว่าคู่แข่ง เนื่องจากแข่งขันลำบาก ซึ่งธนาคาร แห่งประเทศไทย (ธปท.) มีความเป็นห่วงเรื่องนี้ เช่นกัน และเป็นเรื่องที่ ธปท.ดูแล โดยในส่วนของกระทรวงการคลังนั้นก่อนหน้านี้มีมาตรการ ช่วยดูแลค่าเงินบาท โดยให้นักลงทุนต่างชาติสามารถซื้อนำเงินบาทมาแลกเงินเหรียญสหรัฐ ออกไปนอกประเทศได้ ในช่วง 6 กันยายน-6 ตุลาคม ซึ่งจะช่วยระบายเงินเหรียญสหรัฐออกจากประเทศ น่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่าจนเกินไป

          "มีความเป็นห่วงค่าบาท กระทบต่อการส่งออก และกระทบเศรษฐกิจ แต่เชื่อว่ากระทบไม่มากจนทำให้ภาพรวมมีปัญหา ขณะนี้ ธปท.กำลังดูแล" นายอภิศักดิ์กล่าว

          ยันกม.ภาษีที่ดินยังทันใช้ปี'62

          นายสมชัยกล่าวว่า ส่วนความคืบหน้าของร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คาดว่ากฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้ได้ตามกำหนด คือนับจากปี 2562 เป็นต้น โดยในช่วงปี 2561 เป็นช่วงที่ รัฐบาลต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชน เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว

          นายสมชัยกล่าวต่อว่า สำหรับข้อพิจารณาเรื่องวงเงินการยกเว้นการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งตามร่างเดิมกระทรวงการคลังเสนอไปที่ไม่เกิน 50 ล้านบาท แต่ในชั้นคณะกรรมาธิการเสนอให้ปรับลดลงมาอยู่ที่ไม่เกิน 20 ล้านบาท ซึ่งวงเงินนี้กระทรวงการคลังก็เห็นว่าจะช่วยเพิ่มฐานในการจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น จากเดิมที่กำหนดวงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาท มีผู้อยู่ในข่ายเสียภาษีนี้เพียง 1% เท่านั้น

          ปลัดคลังบี้ธปท.ลดดอกเบี้ยช่วยบาท

          โรงแรมสยามเคมปินสกี้ นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวในงาน ปาฐกถาพิเศษ "นโยบายการคลัง พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย ครึ่งปีหลัง 2560" ในงานสัมมนาพิเศษ KTAM Exclusive Talk ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ตอนหนึ่งว่า การผลักดันเศรษฐกิจไทย ต้องร่วมมือกันทั้งภาคการเงิน และการคลัง ในส่วนของการคลังนั้นทำไปเกือบหมดแล้ว และนโยบายต่อไปคงกระตุ้นในระยะยาว ไม่เน้นกระตุ้นระยะสั้น พร้อมจะทำนโยบายขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง แต่ในส่วนนโยบายการเงินนั้น ขณะนี้ค่าเงินบาทของไทยยังแข็งค่า และแข็งค่ากว่าเพื่อนบ้าน เมื่อเทียบต้นปียังสูงกว่าเพื่อนบ้าน

          นายสมชัยกล่าวว่า ถ้าไปดูดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ระดับ 1.5%ต่อปีนั้นยังสูงกว่าเพื่อนบ้าน ดังนั้นอยากขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้น การลงทุนและการบริโภคในประเทศ ขณะนี้ ดอกเบี้ยนโยบายไทยสูงกว่าเพื่อนบ้าน ในขณะที่ดอกเบี้ยพันธบัตรก็ต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบาย ดังนั้นการจะลดดอกเบี้ยลดเพื่อดูแลค่าเงินบาทน่าจะทำได้ เพราะแรงกดดันด้านเงินเฟ้อนั้นไม่มี เนื่องจากขณะนี้เงินเฟ้อหลุดเป้าไปในทางที่ต่ำ ดังนั้นจึงไม่ต้องไปกังวลว่าลดดอกเบี้ยแล้วเงินเฟ้อจะขึ้น

          "ในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่กำหนดไว้ที่ 1.5% ต่อปี ดังนั้นสถาบันการเงินที่ระดมเงินฝากในระดับ 0.5-1%ต่อปี แล้วมาซื้อพันธบัตร ธปท. รับดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี ซื้อได้กำไรโดยที่ไม่จำเป็นต้องปล่อยสินเชื่อ เชื่อว่าหากลดดอกเบี้ย ในช่วงนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทาง เศรษฐกิจ" นายสมชัยกล่าว

          เงินไหลเข้าแสนล.เก็งกำไรค่าเงิน

          นายสมชัยกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม การ ลดดอกเบี้ยเป็นอำนาจที่ ธปท.จะพิจารณา กระทรวงการคลังพูดได้เพียงแค่หลักการเท่านั้น เพราะเห็นว่าขณะนี้นโยบายการเงิน กับนโยบายการคลังยังไม่ได้เดินไปด้วยกัน โดยขณะนี้มีเม็ดเงินไหลเข้ามาในประเทศผ่านตราสารหนี้และตราสารทุน 6 หมื่นล้านบาท ถึง 1แสนล้านบาท โดยไม่ได้เข้ามาเพื่อการลงทุน แต่เข้ามาเพื่อเก็งกำไร ดังนั้น ถึงเวลาหรือยังที่นโยบายการเงินกับนโยบายการคลังจะร่วมมือกัน

          นายสมชัยกล่าวว่า สิ่งที่อยากเห็นในการดูแลเศรษฐกิจในระยะต่อไปนั้น คือ ความร่วมมือของภาคเอกชนในการช่วยฟื้นเศรษฐกิจ เพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยภาคเอกชนผ่านการลงทุนและการบริโภคจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่าการใช้จ่ายของภาครัฐ แต่ที่ผ่านมา เอกชนยังไม่ให้ความร่วมมือในการลงทุนแม้ว่าจะมีมาตรการเข้ามาจูงใจโดยเฉพาะเรื่องของการลดหย่อนภาษี ซึ่งที่ผ่านมาคลังมีการลดภาษีนิติบุคคลลงเหลือ 20% จาก 30% แต่ได้ไม่คุ้มเสีย ถือเป็นค่าโง่ที่กระทรวงการคลังจ่ายไป เพราะเอกชนยังเข้ามาในระบบภาษีน้อยมาก และคงปรับเพิ่มกลับไปที่เดิม 30% ลำบาก ถ้าปรับเพิ่มคงมีเสียงโวยวาย และมีคนมาเผากระทรวงแน่

          นายสมชัยกล่าวว่า สำหรับเรื่องการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย ล่าสุดยอดน่าจะเหลือ 11.3-11.4 ล้านราย จากที่ตัดสิทธิรอบแรกเหลือ 11.6 ล้านราย โดยจะมีการประกาศรายชื่ออย่างเป็นทางการ 15 กันยายนนี้ โดยในส่วนของผู้จบปริญญาเอกมาลงทะเบียนเกือบ 700 คนนั้น เท่าที่ไปตรวจสอบพบว่าเป็นการลงข้อมูลเป็นเท็จ ถึง 6 ใน 10 ราย ในกลุ่มนี้ถูกแบล๊กลิสต์หากมาลงทะเบียนในรอบต่อไปจะถูกตรวจสอบมากเป็นพิเศษ และพบว่ากลุ่มที่จนจริงๆ จบในสาขาที่งานไม่รองรับ เช่น จบ ดร.ภาษาอินเดีย จบ ดร.นาฏศิลป์ ทำให้รายได้อยู่ในข่ายคนจน ตรงนี้ คงต้องเข้าไปช่วย เพราะวุฒิการศึกษาไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขถูกตัดสิทธิการลงทะเบียน

          ธปท.รับแทรกบาทดันทุนสำรองพุ่ง

          นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีความเป็นห่วงสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าในขณะนี้ และอยากให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงว่า ธปท.รับทราบความเป็นห่วงดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมา ธปท.ได้มีการติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิดและได้เข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาทเป็นระยะเพื่อไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไป โดยตัวเลขสะท้อนออกมาจากตัวเลขเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น

          อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปีค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 8% เทียบดอลลาร์สหรัฐ เป็นการแข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม เป็นผลจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงเนื่องจากความไม่เชื่อมั่นด้านการนโยบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ เงินทุนจึงไหลกลับเข้ามาในประเทศตลาดเกิดใหม่รวมทั้งไทย ทั้งนี้ ไทยยังมีปัจจัยหนุนในประเทศจากการเกินดุลเดินสะพัดสูงจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี มีต่างชาติเงินเข้ามาลงทุนโดยตรง รวมทั้งความการคลายกังวลจากปัจจัยการเมือง จึงมีเงินไหลเข้ามาในไทยมากเป็นพิเศษ และพบว่ามีการเก็งกำไรในบางจุด ซึ่งช่วงที่บาทแข็งเห็นการทำธุรกรรมค่าเงินบาทหนาแน่น จึงอยู่ระหว่างข้อมูลการทำธุรกรรมเพิ่มเติมของ ผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศเพื่อดูข้อมูลโดยละเอียด

          ยันไม่ลดดอกเบี้ยนโยบาย

          นายเมธีกล่าวว่า สำหรับการลดอัตราดอกเบี้ยนั้น ขณะนี้ดอกเบี้ยนโยบายไทยที่ 1.50% อยู่ในระดับผ่อนคลายสะท้อนจากตัวเลขอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงที่ติดลบและยังอยู่ในระดับต่ำกว่าภูมิภาค ทั้งนี้ ในภาวะที่เศรษฐกิจขยายตัวดีและแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องในปีหน้า จึงยังไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยนโยบาย หรือใช้นโยบายการเงินไปกระตุ้นเศรษฐกิจหรือเร่งการเติบโตเร็วมากเกินไป เพราะเมื่อเกิดปัญหาขึ้นเศรษฐกิจที่ขยายตัวมากๆ ก็จะตกลงมาแรง ซึ่งนโยบายการเงินควรช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโตได้ต่อเนื่องและไม่ผันผวน โดยศักยภาพเศรษฐกิจระยะสั้นอยู่ที่ราว 3.5-4.0%

          ด้านเงินเฟ้อปัจจุบันของไทยที่ยังต่ำกว่ากรอบเงินเฟ้อเป้าหมายที่ 1-4% นั้น ถือว่าไม่ใช่เรื่องผิดปกติและไม่น่าเป็นกังวล ภายใต้บริบทที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัวดีขึ้น และยืนยันว่าไม่ใช่ภาวะเงินฝืด เพราะอัตราเงินเฟ้อปัจจุบันเป็นบวกและปรับเพิ่มขึ้นตาแนวโน้มเศรษฐกิจ ซึ่งในเดือนกันยายนนี้ ธปท.จะมีปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจและเงินเฟ้อใหม่

          คาดทุนสำรองส.ค.แตะ1.96แสนล.

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวเลขเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยข้อมูลรายเดือนระบุว่า เมื่อเดือนมกราคมอยู่ที่ 1.79 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้นเป็น 1.83 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เดือนมีนาคมอยู่ที่ 1.80 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เดือนเมษายนและพฤษภาคมอยู่ที่ 1.84 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้นมาที่ 1.85 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มขึ้นอีกในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมที่ 1.90 และ 1.96 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ

          รถตู้ไม่พร้อมเปลี่ยนเป็นมินิบัส

          จากกรณีเมื่อวันที่ 8 กันยายน ที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางมีมติคงอายุการใช้งานรถตู้โดยสารสาธารณะไว้ที่ 10 ปี ขณะเดียวกัน ยังให้รถตู้โดยสารสาธารณะหมวด 2 ที่วิ่งในเส้นทางกรุงเทพฯต่างจังหวัด และรถตู้โดยสารสาธารณะหมวด 3 ที่วิ่งในเส้นทางระหว่างจังหวัดกับจังหวัด ที่มีจุดจอดรถระหว่างทางให้เปลี่ยนไปใช้รถมินิบัสหรือไมโครบัส ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ส่วนรถตู้หมวด 1 ที่วิ่งในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล รถตู้หมวด 4 ที่วิ่งภายในจังหวัด และรถตู้หมวด 3 ที่ไม่มีจุดจอดระหว่างทาง ขยายระยะเวลาการปรับเปลี่ยนเป็นรถมินิบัสหรือไมโครบัส ในวันที่ 1 ตุลาคม 2562

          นายปัญญา เลิศหงิม ประธานกลุ่มพัฒนากิจการรถตู้โดยสารสาธารณะในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เปิดเผยว่า การขยายระยะเวลาปรับเปลี่ยนรถตู้เขตกรุงเทพฯและปริมณฑลไปเป็นรถมินิบัสในปี 2562 ไม่ใช่ประเด็นหลักที่กลุ่มต้องการ เพราะที่เรียกร้องเป็นเรื่องยืดอายุการใช้งานรถตู้โดยสารสาธารณะจาก 10 ปี เป็น 12 ปีมากกว่า เนื่องจากรถตู้ที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบันจะทยอยครบ 10 ปี และเกือบทั้งหมด หรือประมาณ 3,000 คัน จะหมดอายุการใช้งานในปี 2562 ดังนั้น หากไม่ยืดอายุการใช้งานก็จะต้องเปลี่ยนเป็นมินิบัส และจะมีปัญหาเกิดขึ้นแน่นอน

          "ตอนนี้ถ้าถามว่าพร้อมเปลี่ยนเป็นมินิบัสหรือไม่ ไม่มีใครตอบว่าพร้อมหรอก เพราะไม่มีใครอยากจะเปลี่ยน รถตู้ส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่นิติบุคคล แต่เป็นบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของรถและนำรถมาวิ่งเอง" นายปัญญากล่าว

          ขอขยายเวลาออกไปอีก2ปี

          นายปัญญากล่าวว่า ที่ต้องการให้ขยายอายุรถตู้ออกไปอีก 2 ปีนั้น ส่วนหนึ่งเพราะต้องการรอดูผลกระทบจากการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าในเส้นทางต่างๆ ที่จะเปิดให้บริการครอบคลุมเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลในปี 2563 เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าการเปิดให้เดินรถไฟฟ้าสาย สีม่วงช่วงบางใหญ่-เตาปูน ส่งผลกระทบต่อ ผู้ให้บริการรถตู้ในเส้นทางดังกล่าวเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะหลังจากที่เปิดเชื่อมต่อ 1 สถานีแล้ว จนต้องเลิกให้บริการเส้นทางดังกล่าวไป

          นายปัญญากล่าวว่า ทั้งนี้ เห็นว่าปัญหาเรื่องของความไม่ปลอดภัยของรถตู้ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลไม่เหมือนกับรถตู้ที่วิ่งให้ บริการในระยะไกล เพราะไม่เคยมีเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้น จะมีก็เป็นเพียงการชนท้ายกันเท่านั้น ขณะเดียวกันหากนำรถมินิบัสมาให้บริการก็อาจจะมีปัญหาเรื่องที่จอดรถ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน หรือจุดจอดในห้างสรรพสินค้า ที่อาจจะไม่ได้รับความสะดวก เนื่องจากจะไม่สามารถเข้าไปจอดภายในได้เหมือนรถตู้ ซึ่งทางห้างสรรพสินค้าเองก็คงไม่ลงทุนทำที่จอดรถใหม่ให้กับรถมินิบัสแน่นอน

          นายปัญญากล่าวว่า อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามผู้ประกอบรถตู้ต่างจังหวัดก็ทราบว่าไม่มีความพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนเช่นเดียวกัน เพราะไม่ต้องการมีภาระหนี้สินเพิ่ม เนื่องจากรถ 1 คัน จะมีราคาประมาณ 3 ล้านบาท คงไม่สามารถผ่อนชำระได้ ขณะที่จำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการก็จะมีมากเฉพาะช่วงเทศกาลเท่านั้น

          "ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ รถตู้ต่างจังหวัดที่มีอายุครบ 10 ปี และจะต้องเปลี่ยนเป็นมินิบัสประมาณ 100 คัน ใครที่ไม่ต้องการเปลี่ยนเป็นมินิบัสก็ต้องซื้อรถตู้ใหม่มาให้บริการภายในเดือนกันยายนนี้ เพราะสามารถให้บริการได้จนกว่าจะหมดอายุการใช้งาน หากเลยเดือนนี้ไปแล้ว ก็ต้องเปลี่ยนเป็นมินิบัสหรือไม่ก็เลิกให้บริการไปเลย" นายปัญญากล่าว

          นายปัญญากล่าวถึงความพร้อมของ ผู้ประกอบการรถมินิบัสหรือไมโครบัสในไทยว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นความพร้อมของค่ายรถยนต์ในการรองรับนโยบายในเรื่องดังกล่าวด้วยเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตัวรถ หรือศูนย์ให้บริการ และหากผู้ประกอบการนำเข้ารถมินิบัสมาจากต่างประเทศก็จะมีปัญหาเรื่องของการซ่อมบำรุงแน่นอน

          "ยืนยันว่าทางกลุ่มจะไม่มีการประท้วง หยุดวิ่ง หรือออกมาตรการอะไรมากดดัน เพราะเป็นเรื่องนโยบาย แต่จะขอความเห็นใจอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งในส่วนของรถตู้ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลยังมีเวลาอีก 2 ปีในการเดินหน้ายื่นข้อเสนอแนะต่างๆ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง" นายปัญญากล่าว

          คาด1ต.ค.นี้รถตู้ตจว.หาย50%

          ด้านแหล่งข่าวจากกรรมการสมาคมธุรกิจรถตู้ต่างจังหวัด กล่าวว่า มติของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางที่ออกมายังไม่มีความชัดเจนว่ารถตู้ที่จะต้องปรับเปลี่ยนต้องเป็นนิติบุคลหรือไม่อย่างไร และนิติบุคคลจะต้องมีขนาดไหนใหญ่ เล็ก หรือมีทุนจดทะเบียน เท่าไหร่ เนื่องจากเรื่องดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการหารือยังไม่ได้ข้อสรุป ดังนั้น จึงยังไม่ทราบในรายละเอียดเกี่ยวกับมติดังกล่าวมากนัก คงต้องรอให้มีการแจ้งรายละเอียดที่ชัดเจนออกมาก่อน

          "ตอนนี้รถตู้ต่างจังหวัดยังไม่พร้อมเปลี่ยนเป็นรถมินิบัส หากวันที่ 1 ตุลาคมนี้ จะเริ่มบังคับให้รถตู้ที่มีอายุครบ 10 ปีทยอยเปลี่ยน คาดว่า จะมีรถตู้ต่างจังหวัดหายไปประมาณ 50% แน่นอน ส่วนจะเรียกร้องอะไรก่อนที่จะถึง วันที่ 1 ตุลาคมนี้หรือไม่ ทางกลุ่มคงต้องหารือ กันก่อน" แหล่งข่าวกล่าว

          ทั้งนี้ หากมีการเรียกร้องกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คงให้เหตุผลเรื่องของสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี ซึ่งส่งผลให้รถตู้ต่างจังหวัดมีรายได้ไม่พอกับรายจ่ายอยู่แล้ว คงไม่สามารถที่จะจ่ายค่างวดรถได้ และจะขอให้ผ่อนปรนนโยบายดังกล่าวออกไปก่อน

          รายงานข่าวแจ้งว่า ปัจจุบันรถตู้ที่วิ่งให้บริการระหว่างกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ภายใต้การกำกับดูแลของ บขส.มีประมาณ 5,000 คัน และที่วิ่งในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ประมาณ 5,000 คัน

          สศก.เปิดผลภาวะสังคมเกษตร

          ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ น.ส.จริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนเกษตร จากเกษตรกรทั่วประเทศ จำนวน 10,000 ครัวเรือน ระหว่างปีการผลิต 2557/58 และ 2558/59 พบว่า รายได้เงินสดรวม 2558/59 มีทั้งสิ้น 300,565 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้น 6.1% เมื่อเทียบกับปี 2557/58 โดยแบ่งเป็นรายได้จากภาคเกษตร 157,373 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้น 6.05% เมื่อเทียบกับปีก่อน และนอกภาคเกษตร 143,192 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้น 6.17% เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนรายจ่ายเงินสดรวม 2558/59 มีทั้งสิ้น 248,170 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้น 12.89% เมื่อเทียบกับปีก่อน แบ่งเป็นรายจ่ายในภาคเกษตร 100,281 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้น 9.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน และนอกภาคเกษตร 147,889 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้น 5.08% เมื่อเทียบกับก่อน

          รายได้ติดลบกว่า17%-หนี้เพิ่ม

          น.ส.จริยากล่าวว่า ทั้งนี้ เมื่อเทียบเป็นรายได้เงินสดสุทธิครัวเรือนจะเหลือเพียง 52,395 บาท/ครัวเรือน ติดลบ 17.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน และหากคิดเฉพาะรายได้เงินสดสุทธิเกษตร จะมีทั้งสิ้น 57,092 ครัวเรือน เพิ่มขึ้น 0.04% เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่หนี้สิน มีทั้งสิ้น 122,695 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้น 4.55% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยแบ่งเป็นหนี้ในภาคเกษตร มีทั้งสิ้น 64,452 บาท/ครัวเรือน ติดลบ 0.0018% เมื่อเทียบกับปีก่อน และนอกภาคเกษตร มีทั้งสิ้น 58,243 บาท/ครัวเรือน ติดลบ 10.34% เมื่อเทียบกับปีก่อน

          "จากรายได้เงินสดสุทธิครัวเรือนในปี 2558/59 ที่ติดลบสูงถึง 17.4% ปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งมาจากการที่เกษตรกรมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะรายจ่ายนอกการเกษตร ที่คิดเป็นสัดส่วน 58-60% มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทั้งค่าเทอมบุตร ค่าสินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือน รวมถึงการที่เกษตรกรฟุ่มเฟือยตามรสนิยมที่สูงขึ้น รสนิยมคนรุ่นใหม่ ทั้งการถอยรถยนต์รุ่นใหม่ ซื้อสมาร์ทโฟนราคาแพงใช้ ส่วนรายจ่ายในเกษตรที่คิดเป็นสัดส่วน 40-42% ส่วนใหญ่จะมาจากค่าจ้างแรงงาน ค่าเช่าที่ดิน ค่าจ้างบริการเครื่องจักรกลทางการเกษตร สอดคล้องกับปริมาณหนี้สินที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของหนี้นอกภาคเกษตรที่ เพิ่มสูงถึง 10.34%" น.ส.จริยากล่าว

          ผลผลิตเพิ่มดันรายได้ครัวเรือน

          น.ส.จริยากล่าวว่า สำหรับในปีการผลิต 2559/60 คาดว่ารายได้ครัวเรือนเกษตรจะเพิ่มขึ้น 3-5% จากผลผลิตเกษตรที่เพิ่มขึ้น จากสภาพดินฟ้าอากาศเอื้ออำนวย และภาวะเศรษฐกิจโลก รวมทั้งปัจจัยสนับสนุนภายในจากนโยบายภาครัฐที่มีแผนงานโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก อาทิ โครงการ 9101 ตามรอยพ่อ โครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยธรรมชาติ และระบบการส่งเสริมเกษตรสมัยใหม่โดยใช้รูปแบบประชารัฐ เช่น แผนบริหารการผลิตการตลาดข้าวครบวงจร เกษตรคุณภาพ เกษตรอินทรีย์ แปลงใหญ่ ปรับเปลี่ยนพื้นที่ตามแผนที่เพิ่มระบบส่ง กระจายน้ำ สอดคล้องกับจีดีพีภาคเกษตรที่คาดว่าจะเติบโต ระหว่าง 3-4%

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่  12 กันยายน. 2560

ขุนคลังห่วงบาทแข็งค่าเกินสกุลอื่น สั่งแบงก์ชาติดูแลผลกระทบส่งออก

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ว่า กระทรวงการคลังมีความเป็นห่วงและแจ้งไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้ว เพราะค่าเงินบาทขณะนี้ถือว่าแข็งค่ากว่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค ซึ่ง ธปท.รับทราบข้อห่วงใยดังกล่าวแล้ว และกำลังมีมาตรการแก้ไข

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงการคลังมีมาตรการหลายอย่าง เพื่อช่วยไม่ให้เงินบาทแข็งค่าเกินไป ด้วยการออกมาตรการเป็นระยะเวลา 6 เดือนให้นิติบุคคลต่างประเทศที่ออกพันธบัตร หรือหุ้นกู้ที่เป็นสกุลเงินบาท (บาทบอนด์) ในประเทศไทยสามารถแลกกลับเป็นเงินตราต่างประเทศ เมื่อเวลานำเงินออกนอกประเทศไทยได้ เพื่อบรรเทาไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งเกินไปและช่วยให้เกิดความสมดุลในปริมาณการไหลเข้าออกของเงินทุน

จาก https://mgronline.com  วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2560 

ดีเดย์ 25 ก.ย.เริ่มผันน้ำเข้าทุกทุ่งในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา

          วันที่ 11 กันยายน 2560 นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ครั้งที่ 29/2560 พร้อมด้วยผู้แทนจากกรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำนักระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงาน กปร. การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค และกรมฝนหลวงและการบินเกษตร พร้อม VDO Conference ไปยังสำนักงานชลประทานทั้ง 17 แห่ง เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ การบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน และการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยา ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ ชั้น 3 อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน สามเสน กรุงเทพฯ

          รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์สถานการณ์ฝนในช่วงตั้งแต่วันที่ 13-18 กันยายน 2560 จะยังคงมีปริมาณฝนตกอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและภาคกลาง เนื่องจากยังคงมีร่องมรสุมพาดผ่านในแถบนี้ แต่หลังจากนั้นในช่วงกลางเดือนตุลาคมเป็นต้นไป ปริมาณฝนที่ตกในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางจะเริ่มลดน้อยลง ซึ่งเป็นผลมาจากร่องความกดอากาศที่เคลื่อนตัวลงต่ำและเข้าสู่ช่วงต้นฤดูฝนของพื้นที่ภาคใต้ต่อไป

              ในส่วนของการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ ที่กำหนดให้มีปรับเปลี่ยนปฏิทินการเพาะปลูกข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ จำนวน 12 ทุ่งให้เร็วขึ้นกว่าปกตินั้น  จากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การเพาะปลูกพบว่าในวันที่ 15 กันยายน 2560 นี้จะสามารถเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จในทุกพื้นที่ และหลังจากนั้นจะปรับพื้นที่นาข้าวลุ่มต่ำดังกล่าวเป็นพื้นที่รองรับน้ำหลาก

          "ที่ประชุมในวันนี้กำหนดให้วันที่ 25 กันยายน 2560 จะเป็นวันที่เริ่มต้นตัดยอดน้ำผ่านระบบชลประทานเข้าทุ่งต่าง ๆ จำนวน 10 ทุ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ประกอบด้วย ทุ่งเชียงราก ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งพระยาบรรลือ ทุ่งโพธิ์พระยา และสำรองพื้นที่ไว้อีก 2 ทุ่ง คือทุ่งบางบาล และทุ่งรังสิตใต้ สามารถเก็บกักน้ำได้สูงสุด 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร"

          สำหรับปัจจัยในการกำหนดช่วงเวลาในการตัดยอดน้ำเข้าทุ่งนั้น กรมชลประทานพิจารณาจากปริมาณน้ำเหนือที่ไหลมารวมกันที่จังหวัดนครสวรรค์ และปริมาณน้ำฝนที่ตกในพื้นที่บริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยาด้วย โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน จนถึงวันที่ 25 ตุลาคม 2560 ซึ่งจะสามารถตัดยอดน้ำรวมกันได้ประมาณ 740 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยแนวทางการกระจายน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ (ฝั่งซ้าย) จะเริ่มรับน้ำที่คลองชัยนาท-ป่าสัก รับน้ำเต็มศักยภาพของคลองประมาณ 210 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีและตัดเข้าทุ่งเชียงรากและทุ่งท่าวุ้ง จำนวน 15 วัน หลังจากนั้น 15 วันถัดไปจะกระจายน้ำไปในพื้นที่ทุ่งฝั่งซ้ายของคลองชัยนาท-ป่าสัก

               ส่วนที่คลองชัยนาท-อยุธยา  13 วันแรกจะรับน้ำที่ทุ่งบางกุ้งและทุ่งบางกุ่ม(บางส่วน) และหลังจากนั้นตั้งแต่วันที่ 14-30 จะรับน้ำเข้าทุ่งบางกุ่มจนเต็มพื้นที่ สำหรับในพื้นที่ลุ่มต่ำ (ฝั่งขวา) จะเริ่มที่แม่น้ำน้อยในพื้นที่ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งพระยาบรรลือ ระยะเวลารับน้ำ 30 วัน สามารถรับปริมาณน้ำได้ 230 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนปริมาณน้ำที่เหลือจะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ประมาณ 20 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ด้านแม่น้ำท่าจีน สามารถตัดน้ำเข้าทุ่งโพธิ์พระยา มีระยะเวลารับน้ำ 30 วัน รองรับปริมาณน้ำได้ 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที นอกจากนั้นยังจะรับน้ำคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง เพื่อระบายออกสู่แม่น้ำท่าจีนตอนล่างและไหลลงสู่ทะเลเป็นระยะเวลา 30 วันด้วย

          รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา กล่าวย้ำว่า การผันน้ำเข้าทุ่งดังกล่าวจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนและการคมนาคมสัญจรไป-มาของประชาชนในพื้นที่ และหลังจาก 30 วันที่มีการผันน้ำเข้าทุ่งแล้วจะต้องเร่งระบายน้ำออกจากทุ่งให้เหลือในปริมาณที่พอเหมาะสำหรับใช้การในช่วงแล้ง และเพื่อไม่ให้พื้นที่ดังกล่าวเกิดน้ำเน่าเสีย

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2560 

'ปลัดคลัง' วอน 'ธปท.'หั่นดอกเบี้ยลดบาทแข็ง

"ปลัดคลัง" วอน "แบงก์ชาติ" ปรับลดดอกเบี้ยให้สอดคล้องตลาดโลกเพื่อชะลอเงินไหลเข้า หวังแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่า

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยทรงตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดอยู่ในระดับต่ำกว่ามานานแล้ว ซึ่งในทางทฤษฎีจึงมีความเป็นไปได้หรือไม่ว่าจะลดอัตราดอกเบี้ย เพราะเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำและหลุดเป้าหมาย ขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมาจากเงินที่ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้น ดังนั้น การลดดอกเบี้ยก็จะช่วยลดการเก็งกำไร ขณะที่เงินฟ้อก็จะไม่ได้ปรับขึ้นมาสูงเพราะอยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว

"ต้องการให้นโยบายการเงินนโยบายการคลังเดินไปด้วยกัน จะปล่อยให้กระทรวงการคลังฉีดเงินเข้าระบบอย่างเดียวคงไม่ได้ สิ่งที่นโยบายการเงินจะพอช่วยได้ก็มีอยู่ ซึ่งขณะนี้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยก็สูงกว่าเพื่อนบ้าน ขณะที่เงินเฟ้อต่ำจนหลุดกรอบล่าง เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับดีเยี่ยม แต่จะอยู่ในระดับนี้ต่อไปไม่ได้ ถ้าไม่ทำอะไรร่วมกัน จึงขอให้นโยบายการเงินเข้ามาช่วย" นายสมชัย กล่าว

แล้ง และเพื่อไม่ให้พื้นที่ดังกล่าวเกิดน้ำเน่าเสีย

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2560 

"บิ๊กตู่" ชู "EEC" กล่อม 570 นักลงทุนญี่ปุ่นใช้ไทยเป็นฐานผลิตอาเซียน

"บิ๊กตู่" หยอดหวานนักลงทุนญี่ปุ่น สร้างความมั่นใจมาลงทุนในไทย ยันทุกรัฐบาลต้องเดินหน้าอีอีซีเพราะเป็นกฎหมายบังคับ หยอดมุกชอบกินอาหารญี่ปุ่น เตือนระวังเนื้อหมดประเทศ

วันนี้ (11 ก.ย.) เวลา 15.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นำนายฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น นำคณะนักลงทุนรายใหญ่ของญี่ปุ่นกว่า 570 คน เข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เนื่องในโอกาสที่ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศดำเนินมาสู่ปีที่ 130 โดยทั้งสองประเทศได้กำหนดแผนการลงทุนเพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมในระยะเวลา 5 ปี ระหว่างกรุงเทพฯ-โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคทั่วประเทศเข้าด้วยกัน

นายฮิโรชิเกะ เซโกะ กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้มาเยี่ยมประเทศไทย พร้อมกับคณะนักธุรกิจชาวญี่ปุ่น ซึ่งได้รับการตอบรับความร่วมมือจากหน่วยงานภายในประเทศญี่ปุ่นมากมาย นั่นหมายความว่านักธุรกิจญี่ปุ่นในแนวหน้าแทบจะรวมอยู่ในไทยในตอนนี้ สำหรับไทยมีอุตสาหกรรมที่รวมตัวกันอยู่มากมาย ถือเป็นฮับการผลิตแห่งเดียวในอาเซียน บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งมีฐานการผลิตในไทยมานาน ถือว่าเป็นประเทศที่มีความสำคัญ ที่ผ่านมามีความร่วมมือในหลายมิติ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่คาดหวังว่าจะมีการพัฒนาขึ้นเป็นอุตสาหกรรมชั้นสูงต่อไป

ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ได้พบปะพูดคุยกันวันนี้ เมื่อสักครู่ได้มีการหารือด้วยบรรยากาศที่เป็นมิตรไมตรีต่อกัน และถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่คนไทยทั้งประเทศติดตามการมาเยือนในครั้งนี้ และส่วนตัวรู้สึกตื่นเต้นไม่คิดว่าจะมีนักลงทุนจะมามากขนาดนี้ ไทยกับญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ยาวนานกันมา 130 ปี โดยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยืนยันความสัมพันธ์เป็นอย่างดี และที่ผ่านมาได้ร่วมมือกันในทุกระดับ ซึ่งจะสานความสัมพันธ์เช่นนี้ต่อไปอีก 130 ปี ในระยะที่ผ่านมาไทยได้เดินหน้าประเทศไปสู่ระยะการเปลี่ยนผ่าน ให้มีการพัฒนาเจริญเติบโต แน่นอนว่าเราจะไม่ลืมเพื่อนชาวญี่ปุ่นของเรา

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในส่วนการนำเสนอวิสัยทัศน์ต่างๆร่วมกัน พรุ่งนี้มีกำหนดปาฐกถาพิเศษของรัฐมนตรีไทยและญี่ปุ่น รวมถึงการทำบันทึกความเข้าใจร่วม 7 ฉบับ และกำหนดหัวข้อทางเศรษฐกิจต่างๆร่วมกัน นี่คือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในเวทีเหล่านี้ จะแสดงให้เห็นว่าศักยภาพของเรา หมายถึงระหว่างไทยกับญี่ปุ่นมีมากน้อยแค่ไหน เราต้องหารือร่วมกันว่าจะทำอะไรกันต่อไป อะไรคือกิจกรรมเร่งด่วน ก่อนที่จะมีกิจกรรมอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย บนโลกนี้ยังมีที่ให้เราเสมอ อาเซียนก็มีที่ให้ญี่ปุ่นเสมอ ไทยก็เช่นเดียวกัน

"วันนี้ขอยืนยันกับท่านด้วยหัวใจของตัวเอง ขอให้มั่นใจว่าจะทำทุกอย่างให้ไทยญี่ปุ่นไว้ใจกันมากที่สุด เพื่อวันข้างหน้า เพื่อผลประโยชน์ที่เท่าเทียม ต้องเป็นไปในลักษณะวินๆ ในเรื่องการค้าการลงทุนระหว่างกัน ขอบคุณจริงๆ ที่ครั้งนี้เดินทางมาไทยถึง 3 วัน แสดงว่าท่านให้เกียรติเรามาก"

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สำหรับการลงทุนเดิมของไทยญี่ปุ่นมีมายาวนาน การค้าขายทางเรือ การพัฒนาทางทหาร มีมาตลอด มีการตั้งรกรากในเมืองไทยที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งมีหลักฐานตามประวัติศาสตร์อยู่ และปัจจุบันมีการตั้งรกรากอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างเรามีสูงมาก โอกาสการลงทุนก็สูงมาก โดยที่ผ่านมาเป็นญี่ปุ่นที่สนับสนุนให้ไทยได้เติบโตได้ถึงวันนี้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆมากมาย วันนี้เราจะร่วมมือกันอีกครั้งให้กับประเทศไทยและอาเซียน เราจะร่วมลงทุนเทคโนโลยีสมัยใหม่ ก้าวให้ทันโลก เราจะพัฒนาร่วมกันในลักษณะไตรภาคี มาสนับสนุนประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างเรา และจะไปช่วยประเทศที่กำลังจะพัฒนาอื่นๆต่อไป วันนี้ขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่นที่มีนโยบายเรื่องเหล่านี้ ซึ่งตรงกับวาระการพัฒนา 15 ปี ขององค์การสหประชาชาติ เราเริ่มวันนี้ก็จะเร็วขึ้น

"ขอให้ทุกคนเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ไทยทำวันนี้จะยั่งยืนตลอดไป ไม่ใช่เพราะตัวเอง แต่เพราะเราได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และทุกๆ 5 ปีจะมีการพิจารณาแผนเพื่อสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทุกรัฐบาลที่มาจากนี้ก็ต้องทำต่อ เพราะเป็นกฎหมาย ขอให้ฟังตัวเองในฐานะผู้นำรัฐบาลในวันนี้และวันนี้รัฐบาลนี้จะปฏิรูปทุกเรื่อง และเราได้ศึกษาไว้ทั้งหมดแล้ว"

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ไทยญี่ปุ่นมีส่วนร่วมกันได้ทุกเรื่อง รัฐบาลทำให้มันเกิดขึ้นด้วยเจตนารมณ์แน่วแน่ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนภาครัฐ หรือ การลงทุนร่วมกับเอกชน มีระยะเวลาที่กำหนด ไม่ช้าเกินไป มีกระบวนการทางพีพีพี หรือ อีอีซี ฟาสแทร็ก มีสิทธิประโยชน์ต่างๆ บางอย่างที่เราต้องการ หรือต้องมีการพูดคุยกันเพื่อช่วยในการพัฒนาประเทศก็ต้องมีการหารือกัน สิ่งต่างๆเหล่านี้ต้องทำให้รวดเร็ว ขจัดอุปสรรค ไม่ว่าจะกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อทำให้ธุรกิจเหล่านี้เดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว โปร่งใส เชื่อถือได้

"การทำงานครั้งนี้ ส่วนตัวคิดว่า หากร่วมมือกันช้าเกินไป จะไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ ในฐานะที่ญี่ปุ่นก้าวหน้าไปไกลแล้ว don't left everyone behid หรืออย่าทิ้งใครไว้ข้างหลัง เราต้องสร้างห่วงโซ่มูลค่าให้มากยิ่งขึ้น ท่านก็รู้ดีว่าไทยมีศักยภาพอะไรบ้าง เราคุยกันถึงอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เทคโนโลยีดิจิทัล เกษตรสมัยใหม่ การลงทุนยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต นี่คือสิ่งที่เราคิดไปข้างหน้า และเชื่อว่าคนญี่ปุ่นมีศักยภาพในการมีวิสัยทัศน์ ซึ่งโลกใบนี้ต้องการ เราคิดเพื่อโลกใบนี้ ไม่ใช่เพื่อเรา"

สำหรับ 4 โครงการหลักที่เอกชนร่วมลงทุนปลายปีนี้ หรือช้าสุดในปี 2561 อาจใช้เวลาก่อสร้างนาน ก็ต้องทำให้เร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการอำนวยความสะดวก ระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ไทยก็ต้องเร่งให้เกิดขึ้น เรามีแผนใช้งบประมาณ 5 ปีให้อีอีซีเกิดขึ้นอย่างไร ฉะนั้นขอให้เริ่มลงทุนตั้งแต่วันนี้ พรุ่งนี้ หรือมะรืนนี้ กลับไปตัดสินใจลงทุนเลย ก็จะทำให้โครงการเกิดเร็วขึ้น จะได้มั่นใจ เราลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 1 แสน 7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เราจะสานต่อสิ่งที่ไทยและญี่ปุ่นได้ร่วมทำกันมา จะร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยี พัฒนาคน และนำไปสู่การพัฒนาภูมิภาค ซึ่งเราถือเป็นตลาดใหญ่ในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น CLMVT ไทยมีมูลค่าการค้าชายแดนเพิ่มขึ้น 500% ในรัฐบาลนี้

"ขอยืนยันว่า ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใด หรือเลือกตั้งเมื่อใด ก็ต้องสานต่อโครงการอีอีซีนี้ไว้ เพราะเป็นกฎหมาย เป็นพระราชบัญญัติ ในเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวัน บรรจุในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยในปีแรก แผนสภาพัฒน์ครอบคลุมไปอีก 5 ปี ขอให้ทุกคนมั่นใจ เรามีกรรมการอีอีซี เดินหน้ามาตลอด ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล การเยี่ยมเยือนพบปะต่างประเทศ หรือต้อนรับนักลงทุน และจัดตั้งสำนักงานในการขับเคลื่อน สร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ว่าจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง สิ่งสำคัญที่สุดคือ สิทธิมนุษยชนกับการประกอบธุรกิจ ไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ไปแล้วว่า ต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนด้วย จะทำอย่างไรให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีการพัฒนาประเทศไปพร้อมกัน ทำให้คนรู้สึกปลอดภัย ไทยยืนยันว่าจะร่วมมือกันในลักษณะนี้"

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขณะที่เรื่องเอสเอ็มอี ได้พูดคุยกับผู้นำของญี่ปุ่น พบว่า 1.2 ล้านคน ขณะที่ไทยมีเกือบ 3 ล้านราย เชื่อมั่นในศักยภาพญี่ปุ่นที่จะเข้ามาพัฒนาเอสเอ็มอีของเราให้เข้มแข็ง วันนี้มีการจัดตั้งบริษัทสตาร์ทอัพเกิดขึ้นมากมาย เราต้องสร้างทายาททางธุรกิจให้เกิดขึ้น วันนี้ได้นำแบบอย่างของญี่ปุ่นมาหลายนอย่าง เช่น องค์ความรู้พัฒนาเอสเอ็มอี การเชื่อมโยงประสานงานติดต่อ การอบรมทางธุรกิจ รวมถึงแผนงานส่งเสริมต่างๆ จัดตั้งศูนย์บริการช่วยเหลือเอสเอ็มอีไทยแล้ว อยากให้ทุกคนเข้าใจว่าปัญหาอะไรก็ตามแต่ ต้องขจัดอุปสรรคไปให้ได้ โดยมองผลประโยชน์โดยรวมของประชาชนเป็นที่ตั้ง เพราะประชาชนคือลูกค้าของเราในการประกอบการ ถ้าทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดี ก็จะเกิดความมั่นใจทั้งไทยและญี่ปุ่น ส่วนโลกก็ทราบดีอยู่แล้วการเจริญเติบโตทางเทคโนโลยีค่อนข้างรวดเร็ว ต้องสร้างความเข้าใจให้ดีที่สุด

"ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลพูด หรือตัวเองพูด ต้องทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน ลดความหวาดระแวง เพื่อผลประโยชนที่เป็นธรรม จะไม่ให้ใครเข้ามาใช้ประโยชน์บิดเบือนทำให้ทุกอย่างแย่ไป ท้ายที่สุด ขอยืนยันด้วยเกียรติยิศของนายกรัฐมนตรี ในฐานเคยเเป็นทหาร และเชื่อมั่นว่าญี่ปุ่นเป็นสุภาพบุรุษ มีระเบียบวินัย ให้เกียรติคนอื่น ไทยก็ให้เกียรติท่านตรงนี้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ในช่วงท้าย นักลงทุนชาวญี่ปุ่นได้ถามคำถามกับนายกรัฐมนตรี รวม 3 คำถาม โดยถามว่า ไทยคาดหวังจะให้ญี่ปุ่นช่วยในการลงทุน เพื่อยืนยันความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน พลเอกประยุทธ์กล่าวว่า ไทยให้ความสำคัญกับประเทศคู่ค้ามาตลอด มีการแลกเปลี่ยน เยี่ยมเยียนตลอดกันเสมอมา สำหรับความสัมพันธ์ไทยญี่ปุ่น ไม่ใช่แค่วันนี้ แต่เราทำมาทั้งหมดตลอด 130 ปี เราคาดหวังต่อกัน คือความร่วมมือระหว่างกัน วันนี้ตัวเองคุยกับญี่ปุ่น คือ ไทยกับญี่ปุ่น ไม่ต้องกังวลเรื่องอื่น ขอให้เชื่อมั่น ส่วนตัวคาดหวังการลงทุนเทคโนโลยีแบบใหม่ให้มากขึ้น แลกเปลี่ยนนวัตกรรม วันนี้ถือว่า ตัวเองคุยกับเพื่อนที่ใกล้ชิด ท่านคาดหวังอะไรจากผม ผมก็คาดหวังอะไรจากท่าน ก็คาดหวังสิ่งที่เป็นอนาคต ที่ต้องเริ่มวันนี้ ไทยกำลังปฏิรูป เปลี่ยนแปลงประเทศเรา ให้มีความพร้อมในการดูแลประเทศอื่นๆที่กำลังพัฒนา ต้องทำให้ไทยหลุดพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางโดยเร็ว แน่นอนว่า เราทำคนเดียวไม่ได้ ก็คาดหวังจากท่านด้วยคำยืนยันนี้

นักลงทุนชาวญี่ปุ่น ถามอีกว่า รัฐบาลไทยจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่อีอีซี ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องอย่างไร พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า ขอให้ท่านมั่นใจว่าเราจะรักษาในเรื่องการลงทุนให้มีความต่อเนื่อง เรียนว่าเรามีแผนพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในช่วง 5 ปีแรก และในระยะต่อไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ นอกจากนี้ก็จะมี นอร์ธอีซี เซาธ์อีซี เวสต์อีซี เชื่อมโยงเศรษฐกิจตะวันออก เราได้เอาแผนทั้งหมดของประชาคมต่างๆ มาเชื่อมโยงหมดแล้ว และเราก็สร้างเป็นแผนพัฒนาประเทศของเรา เราสร้างความเชื่อมโยงให้การบริการ การลงทุนในพื้นที่ และยึดโยงกับประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย ถึงบอกว่า อยากให้ญี่ปุ่นพิจารณาประเด็นสำคัญว่าเรามีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่มีศักยภาพสนับสนุนการลงทุนในแถบภูมิภาคนี้ หากเชื่อมโยงตรงนี้ได้ ก็นำไปสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 จังหวัด และนำไปสู่คลัสเตอร์จังหวัดอื่นๆ นำไปสู่การยึดโยงประเทศรอบบ้านอีกด้วย ขอให้ทุกคนมั่นใจ

ส่วนเรื่องการลงทุน ขอบคุณญี่ปุ่นที่ได้ศึกษารถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-เชียงใหม่ และทราบว่าท่านสนใจสร้างรถไฟทางคู่ และท่าเรือ ท่าอากาศยาน ท่านก็จะมีส่วนร่วมในโครงการเหล่านี้ ใน 5 ปีแรกจะมีแต่โครงการเหล่านี้ แผนทั้งหมดที่เกิดขึ้น เพราะตัวเองดูตัวอย่างพัฒนาจากญี่ปุ่น ดูว่าสามารถเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมได้อย่างไร ไทยก็พยายามคิดบ้าง เพื่อพัฒนาประเทศ ก็ขอให้มั่นใจ เชื่อมั่นตัวเอง เชื่อมั่นประเทศไทย และทุกอย่างเป็นกฎหมาย เปลี่ยนแปลงไม่ได้อยู่แล้ว

 นักลงทุนชาวญี่ปุ่น ถามว่า ไทยคาดหวังให้ญี่ปุ่นช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนเอสเอ็มอีที่มีบทบาทสำคัญต่อประเทศอย่างไร พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า เราให้ความสำคัญมาก เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการผลิต การส่งออก และพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจของไทย สิ่งที่ต้องการคือเราจะพัฒนาเอสเอ็มอีเราอย่างไร วันนี้ได้มีการแยกประเภทเป็นหลายกลุ่ม คือ กลุ่มที่มีศักยภาพเข้มแข็ง กลุ่มที่พร้อมขยายในประเทศ กลุ่มที่ปรับปรุงให้ดีขึ้น ทั้งหมดเพื่อให้เขาเรียนรู้ระบบการค้าสากล ก็หวังว่าจะทำให้ทั้งสามกลุ่มเชื่อมโยงกันได้ หากเอสเอ็มอีเราพร้อมลงทุนในต่างประเทศ ก็หวังว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการเชื่อมโยงกันทั้งสองประเทศ แลกเปลี่ยนมูลค่าการส่งออกระหว่างกัน หากเราทำให้เอสเอ็มอีเข้มแข็ง นั่นคือการเข้มแข้งจากภายใน ก็จะเสริมให้ความเข้มแข็งของประเทศมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น เราไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องการส่งออกอย่างเดียว แต่ต้องมุ่งเน้นเรื่องการสร้างความเข้มแข้งภายในอีกด้วย เช่นเดียวกันเราต้องคุ้มครองนักลงทุนชาวต่างชาติ ไม่ทำให้เดือดร้อน ขอให้เชื่อมั่น และเราคาดหวังเอสเอ็มอีจากญี่ปุ่น เพราะถือเป้นต้นแบบระดับโลก มีหน่วยงานมากมายในการวางแผน ออกแบบนโยบายที่ชัดเจน มีกลไกการบริหาร การพัฒนาองค์ความรู้ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ญี่ปุ่นทำมาแล้ว วันนี้ไทยนำมาใช้อยู่ และมีความร่วมมือระหว่างกันอยู่ หากทำให้เกิดขึ้นเร็วขึ้น ก็จะมีศักยภาพด้วยกันทั้งคู่ เป็นประเทศที่เข้มแข็งและนำพาประเทศอื่นเดินหน้าไปพร้อมกัน ส่วนไทยพร้อมเป็นศูนย์กลางด้านอาหาร ไบโอชีวภาพ ฯลฯ ก็ต้องคิดว่าทำอย่างไร ที่จะพัฒนาไปได้ ก็ฝากความหวังไว้กับนักลงทุน ที่เป็นมิตรของเราประเทศหนึ่งมายาวนาน ขอให้เชื่อมั่นก็แล้วกัน

โดยในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวชอบอาหารญี่ปุ่น เมื่อไรก็ตามที่เบื่ออาหารต่างๆ ทานอะไรไม่ได้ ก็จะทานอาหารญี่ปุ่น เพราะทานง่าย ร้านอาหารในเมืองเต็มไปหมด ศูนย์การค้าก็เยอะแยะไปหมด ก็ห่วงว่าญี่ปุ่นจะไม่มีเนื้อรับประทานอีกต่อไป หลายประเทศทานเนื้อ มัตสึซากะหรือโกเบ ญี่ปุ่นก็ต้องรีบผลิตเดี๋ยวจะไม่มี และในวันข้างหน้าไทยฝากผลไม้ เนื้อหมูแช่แข็งไปญี่ปุ่นด้วย ก็เหมือนกับที่ได้หารือกันไปก่อนหน้า

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2560 

ผ่าแผนน้ำ คสช. ทุ่มครึ่งแสนล้านต่อปี แก้ทุกมิติ

ผ่าแผน 12 ปี ยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำ “รัฐบาลประยุทธ์” ทุ่มงบปีละกว่าครึ่งแสนล้านบาท ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำอุปโภคบริโภค เน้นใช้งบปกติ 9 กระทรวง 34 หน่วยงาน 50,000-60,000 ล้านบาทต่อปี พ่วงโปะงบเพิ่มเติมตามความจำเป็น “ฉัตรชัย” คุยผลงาน 3 ปี เทียบเท่า 12 ปี ของรัฐบาลที่ผ่านมา

 จากที่รัฐบาลภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้ามาบริหารประเทศเมื่อปี 2557 ได้ยกเลิกแผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ของ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2557 โดยมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ เป็นประธาน เพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำ ปี 2558-2569 (แผน 12 ปี) ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติใช้แผนเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2558 โดยให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานนำแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวไปปฏิบัติต่อไปนั้น

ทุ่มปีละครึ่งแสนล้าน

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ฐานเศราฐกิจ” ว่า หลังจากที่ ครม. ได้อนุมัติแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำ 12 ปี แล้วได้หมดหน้าที่ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ แต่ยังคงเป็นกรรมการใน กนช. อย่างไรก็ดี ในแผนยุทธศาสตร์น้ำข้างต้นจะครอบคลุมทุกมิติ ทั้งน้ำอุปโภคบริโภค น้ำท่วม น้ำแล้ง คุณภาพน้ำ และการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ ซึ่งจะแตกต่างจากแผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ในรัฐบาลชุดก่อน ที่เน้นการแก้ปัญหาน้ำท่วมเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเพียงอย่างเดียว

 ขณะที่ ยังมีความแตกต่างในการใช้งบประมาณ โดยการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ในแต่ละปีจะใช้งบปกติของ 9 กระทรวง รวม 34 หน่วยงานด้านทรัพยากรน้ำ ไปใช้ดำเนินการ ซึ่งแต่ละปีจะมีงบรวมกันประมาณ 50,000-60,000 ล้านบาท แต่หากปีใดต้องใช้งบมาก ไม่เพียงพอ ก็จะใส่เพิ่มเติมลงไปอีก (งบเงินกู้เฉพาะเร่งด่วนจำเป็น) ซึ่งจะอยู่ที่หลักหมื่นล้านบาทต่อปี

“แผนยุทธศาสตร์น้ำได้ผ่านการอนุมัติของ ครม. เมื่อเดือน พ.ค. 2558 แต่งบประมาณไม่ได้เตรียมไว้เลย ต้องไปใช้งบของปี 2559 ดังนั้น แผนน้ำจริง ๆ ที่ใช้งบอย่างเต็มรูปแบบจึงเริ่มตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ซึ่งคนอาจจะมองว่า แผนน้ำของรัฐบาลปี 2559-2560 ยังไม่ค่อยเห็นเป็นรูปธรรมเท่าไร แต่อยากเรียนให้ทราบว่า การจัดทำโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่จะต้องเริ่มต้นตั้งแต่การศึกษาออกแบบ การทำประชาคมรับฟังความคิดเห็น ผ่านกระบวนการอีไอเอ (ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม) โดยขั้นตอนเหล่านี้จะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี”

ผลงาน 3 ปี ล้ำ 12 ปีก่อนหน้า

 อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายเร่งด่วนในช่วง 2 ปีแรก (ปี 2558-2559) ว่า อะไรที่ทำได้ให้เร่งทำก่อน จึงเป็นที่มาของการดำเนินโครงการขนาดเล็กที่ไม่ต้องใช้การศึกษาหรือออกแบบมาก เช่น อ่างเก็บน้ำ หรือ ฝายขนาดเล็ก, ประตูน้ำ, แก้มลิง, สถานีสูบน้ำ และคลองส่งน้ำ เป็นต้น รวมถึงการแก้ไขการขาดแคลนน้ำเฉพาะหน้าเนื่องจากภัยแล้ง เช่น ขุดเจาะบ่อบาดาล, ขุดลอกแก้มลิง หรือ ลำน้ำเพื่อเก็บน้ำ ส่วนด้านน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค เช่น การสร้างประปาหมู่บ้านและประปาชุมชน ซึ่งช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สามารถทำได้มากกว่า 7,000 แห่ง ขณะนี้ได้ดำเนินโครงการขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมบ้างแล้ว เช่น คลองผันน้ำแม่น้ำตรัง จ.ตรัง งบประมาณ 620 ล้านบาท (ก่อสร้างปี 2559-2561) เป็นต้น

 พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลชุดปัจจุบันในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558-2560) หากเทียบผลงานแล้ว ถือว่าเทียบเท่ากับรัฐบาลชุดก่อน ๆ ทำมา 12 ปี ย้อนหลังไปจากปี 2557 โดยได้ดำเนินการแล้ว 2,186 โครงการ เพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 1.59 ล้านไร่ และเพิ่มน้ำต้นทุนได้ 1,005 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ในจำนวนนี้ได้ดำเนินการในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) 1,247 โครงการ เพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 7.82 แสนไร่ และเพิ่มน้ำต้นทุนได้ 487 ล้าน ลบ.ม.

เตรียม 2 ปี ลงอีก 6.1 หมื่นล้าน

 ส่วนแผนงานเร่งด่วนในปี 2561-2562 รัฐบาลจะเร่งทำโครงการขนาดใหญ่ เพื่อแก้ปัญหาทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง จำนวน 476 โครงการ งบประมาณ 6.11 หมื่นล้านบาท แยกเป็นปี 2561 จำนวน 44 โครงการ งบประมาณ 8,092 ล้านบาท (งบปกติ) และปรับแผนปี 2562 มาทำในปี 2561 จำนวน 304 โครงการ งบประมาณ 1.81 หมื่นล้านบาท (งบกลาง) ส่วนในปี 2562 มีจำนวน 128 โครงการ งบประมาณ 3.48 หมื่นล้านบาท (งบปกติ) โดยเป้าผลสัมฤทธิ์เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 2.01 ล้านไร่ และเพิ่มน้ำต้นทุน 2,926 ล้าน ลบ.ม.

“ในปี 2561-2562 จะเริ่มเห็นการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ ที่ได้ทำการศึกษาออกแบบ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และผ่านขบวนการรับฟังความเห็นแล้ว ได้ทยอยเกิดขึ้นทั้งโครงการเพื่อกักน้ำเก็บน้ำและป้องกันน้ำท่วมด้วย เช่น โครงการผันน้ำอ้อมเมืองนครศรีธรรมราชที่มีน้ำท่วมทุกปี โครงการทำทางผันน้ำบางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ที่เดิมออกแบบไว้กว้าง 200 เมตร แต่เกรงจะเกิดผลกระทบประชาชนจึงลดความกว้างลงเหลือ 100 เมตร มีความยาว 24 กิโลเมตร เพื่อลดปัญหาน้ำท่วมและโครงการคลองผันน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มายังเขื่อนลำตะคอง (ระยะทาง 37.1 กม.)”

เพิ่มชลประทาน 8.7 ล้านไร่

สำหรับแผนยุทธศาสตร์น้ำ 12 ปี มีเป้าหมายสำคัญ อาทิ ประปาหมู่บ้าน 7,490 แห่ง และประปาโรงเรียน 6,132 แห่ง ทำได้ครบทุกแห่งในปี 2564, เพิ่มน้ำต้นทุน 8,420 ล้าน ลบ.ม. (ดำเนินการโดยกรมชลประทาน 4,800 ล้าน ลบ.ม.), ขยายพื้นที่ชลประทานอีก 8.70 ล้านไร่, ขุดขยายแม่น้ำสายหลัก ความยาวรวม 870 กม., ทำคันกั้นน้ำในพื้นที่สำคัญ 185 แห่ง, การฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมเป้าหมาย 4.77 ล้านไร่ และป้องกันการสูญเสียหน้าดินในพื้นที่การเกษตรลาดชัน เพื่อการชะลอน้ำในลุ่มน้ำเป้าหมาย 9.48 ล้านไร่

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2560 

โครงการพัฒนาศักยภาพ อุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์   

          ปัจจุบันการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ของประเทศไทย เป็นการตอกย้ำให้ภาคอุตสาหกรรมไทยทราบว่า ต้องมีการปรับตัว แสวงหาโอกาสและลู่ทางในการขยายตลาดให้มากที่สุด และเพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน สร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้แก่ผู้ประกอบการ รวมทั้งแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม

          คณะกรรมการส่งเสริมการดำเนินงานการพัฒนาประสิทธิภาพองค์กร กลุ่มที่ 1 (ประกอบด้วย 12 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี  ลพบุรี อ่างทอง กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี และสุพรรณบุรี) เห็นว่า ในเขตพื้นที่ดังกล่าวมีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและวิสาหกิจชุมชนที่ขึ้นทะเบียนกับภาครัฐมากกว่า 30,000 ราย ที่สามารถพัฒนาศักยภาพให้กลายเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับ สิ่งแวดล้อม ด้วยแนวคิดวิจัยเชิงสร้างสรรค์ได้ จึงได้มีการนำ เทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน เพื่อลดต้นทุน ลดมลภาวะและของเสียต่างๆ ตลอดจนสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า ส่งเสริมการใช้ นวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ ภายใต้การมีส่วนร่วมของภาครัฐ ชุมชนและภาคอุตสาหกรรมให้เกิดการพัฒนาอย่าง ต่อเนื่องและยั่งยืน จึงได้จัด โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ ขึ้น โดยมีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและวิสาหกิจชุมชนที่มีความมุ่งมั่นในการที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมของตนเองให้ปรับเปลี่ยนไปในเชิงสร้างสรรค์และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยแนวคิด Clean Technology (CT) หรือเทคโนโลยีสะอาด ด้วยการใช้กลยุทธ์ในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ บริการ และกระบวนการอย่างต่อเนื่อง เพื่อจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เปลี่ยนเป็นของเสียน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย รวมทั้งลดมลพิษที่แหล่งกำเนิด วิธีนี้จึงเป็นทั้งการรักษาสิ่งแวดล้อมและการลดค่าใช้จ่ายในการผลิตไปพร้อมๆกันด้วย

          นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดการใช้นวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ ด้วยการ อัพไซเคิล หรือ การนำเศษวัสดุมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่มีคุณภาพเทียบเท่าหรือดีกว่าเดิม ทั้งที่นำมาใช้โดยตรง หรือผ่านกระบวนการที่ไม่ซับซ้อน เพื่อเพิ่มมูลค่าด้วยนวัตกรรมการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ และประโยชน์หลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้คือ สถานประกอบการได้เพิ่มมูลค่าวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ได้ผลกำไร ได้สิ่งแวดล้อมที่ดี ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ และ ได้เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ตรงตามวัตถุประสงค์ของการเข้าร่วมโครงการฯ

          โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 โดย มีการสำรวจและตรวจประเมินวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ณ สถานประกอบการ จำนวน 36 ราย ที่เข้าร่วมโครงการฯ รวมทั้งให้ความรู้เรื่อง CT/3R จากนั้นได้มีการไปศึกษาดูงาน ณ สถานประกอบการ ที่นำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ให้เป็นผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์และนำผลงานของแต่ละสถานประกอบการมาร่วมจัดแสดงในพิธี ปิด ซึ่งจะจัดให้มีขึ้นในวันที่ 15 กันยายน 2560 ณ ห้องแซฟไฟร์ 204-205 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ตั้งแต่เวลา 09.30 - 12.00 น. โดย มี ดร.สมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงาน พร้อมมอบโล่เกียรติยศแก่สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 36 แห่งด้วย

          ที่มา คณะกรรมการส่งเสริมการดำเนินงานการพัฒนาประสิทธิภาพองค์กร กลุ่มที่ 1

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2560 

“สมคิด” สั่งดีอีเร่งระบบบิ๊กดาต้าเชื่อมข้อมูลทุกหน่วยงาน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าได้ให้หารือกับนายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลและเศรษฐกิจเพื่อสังคม (ดีอี) ให้เร่งรัดการจัดทำฐานข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ (บิ๊กดาต้า) ของประเทศโดยประสานงานกับกระทรวงต่างๆที่มีการจัดเก็บข้อมูลของประชาชน เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งกระทรวงการคลังที่มีการเก็บข้อมูลของผู้ที่มีรายได้น้อย โดยเบื้องต้นให้มีการประสานข้อมูลกันเพื่อความสะดวกในการให้บริการแก่ประชาชน และนำข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์และกำหนดนโยบายที่มีความจำเป็นสำหรับการพัฒนาประเทศ

ในส่วนของคณะกรรมการการจัดทำบิ๊กดาต้าในระดับประเทศตนได้เสนอแนวคิดว่าควรมีการปรับเปลี่ยนประธานคณะกรรมการจากที่ปัจจุบันมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเป็นประธานให้นายกรัฐมนตรีมาเป็นประธานเพื่อให้สามารถสั่งการข้ามกระทรวงได้ซึ่งจะทำให้นโยบายการจัดทำบิ๊กดาต้าเห็นผลเป็นรูปธรรม

 “เรื่องการบริหารข้อมูลถือว่ามีความจำเป็นมาก ในส่วนของภาคเอกชนมีความตื่นตัวมากแล้วแต่ในส่วนของภาครัฐบิ๊กดาต้ายังไม่เกิด ตอนนี้ก็อยากให้นายกฯมาเป็นประธานเพื่อจะดูว่าจะขับเคลื่อนกันต่อไปอย่างไรจะดีไซน์อย่างไร เพราะต่อไปต้องสามารถเก็บข้อมูลตรงนี้มาใช้ในการปรับปรุงงานภาครัฐและมาใช้ประโยชน์ในด้านการพัฒนาอื่นๆ”นายสมคิดกล่าว

สำหรับความคืบหน้าโครงการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ (เน็ตประชารัฐ)รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าปัจจุบันมีความมั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จตามกำหนดในปี 2561 โดยสิ่งที่อยากให้ดำเนินการอย่างรวดเร็วก็คือหน่วยงานต่างๆต้องมีการกำหนดแผนว่าจะใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในหมู่บ้านต่างๆให้เกิดผลประโยชน์กับคนในชุมชนมากที่สุด เช่น กระทรวงพาณิชย์จะเข้าไปช่วยพัฒนาการค้าขายออนไลน์หรือระบบอีคอมเมิร์ซ กระทรวงเกษตรจะนำข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตไปช่วยวางแผนการเพาะปลูกเกษตรกร เป็นต้น

จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2560 

ค่าบาท 'อ่อนค่า' ตามทิศทางเงินหยวน

บาทเปิดตลาดเช้านี้อ่อนค่าที่ "33.13 บาทต่อดอลลาร์" ระยะสั้นต้องจับตาแนวโน้มค่าเงินหยวนอ่อนค่า ทำให้สกุลเงินเอเชียอ่อนตาม

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ที่ระดับ 33.13บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากช่วงปิดท้ายสัปดาห์ก่อนที่ระดับ 33.09 บาท ต่อดอลลาร์

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินดอลลาร์แกว่งตัวลงเป็นส่วนใหญ่เทียบกับสกุลเงินหลักอื่นๆ และฟื้นตัวขึ้นมาได้เพียงในช่วงท้ายสัปดาห์ หลังจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ ให้ความเห็นว่าได้ตกลงเรื่องแผนการลดภาษี และการเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐ กับผู้นำของพรรคเรียบร้อยแล้ว

ในส่วนของสัปดาห์นี้สิ่งที่ต้องจับตาคือแนวโน้มนโยบายการเงินฝั่งยุโรป จะมีการประชุมของธนาคารกลางอังกฤษและธนาคารกลางสวิส ขณะที่มีการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจฝั่งจีนและสหรัฐในช่วงวันพฤหัสและศุกร์เช่นกัน

ในฝั่งของธนาคารกลางอังกฤษ การประชุมในวันพฤหัสนี้ มองว่าหน้าจะ “คง”ดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.25% เพราะเศรษฐกิจอังกฤษเริ่มชะลอตัวลง แม้คณะกรรมการบางส่วนจะมองว่าค่าเงินปอนด์ที่อ่อนค่าในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้เงินเฟ้อในอังกฤษปรับตัวสูงเกินไปจนอาจตัองขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดปัญหาดังกล่าว

ส่วนของธนาคารกลางสวิส จะประชุมในวันพฤหัสเช่นกัน เชื่อว่าจะ “คง” ดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.75% แต่ปัญหาค่าเงินฟรังสวิสที่แข็งค่าอาจถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นหารือ และอาจมีมาตรการชะลอการแข็งค่าของฟรังสวิสนอกเหนือจากการลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมเข้ามาในการหารือ

ขณะที่ในวันศุกร์ธนาคารกลางรัสเซีย คาดว่าจะลดดอกเบี้ยมาอยู่ที่ 8.5% (-50bps) หลังภาพรวมเงินเฟ้อในรัสเซียปรับตัวลงขณะที่เศรษฐกิจก็กำลังเริ่มฟื้นตัว

ในส่วนของภาพเศรษฐกิจ ในฝั่งจีนจะมีการรายงานตัวเลขค้าปลีก (Retail Sales) การลงทุน (Fixed Asset Investment) มองว่าการค้าปลีกจะยังเติบโตที่ระดับ 10.4% ขณะที่การลงทุนของจีนจะยังเติบโต 8.2% ส่งผลให้ภาพรวมการค้าและการลงทุนในเอเชียยังคงสดใส

ฝั่งสหรัฐอาจต้องระวังเล็กน้อยในช่วงวันศุกร์ที่จะมีการประกาศตัวเลขค้าปลีก (Retail Sales) เช่นกัน มองว่าปัญหาเฮอริเคนจะส่งผลให้การค้าในสหรัฐชะลอตัวตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไป ส่งผลลบต่อความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจสหรัฐ

ส่วนของค่าเงินบาท โดยรวมยังมีแนวโน้มแข็งค่าจากเงินทุนไหลเข้าทั้งในหุ้นและบอนด์ อย่างไรก็ตามในระยะสั้นต้องจับตาแนวโน้มค่าเงินหยวนซึ่งอ่อนค่ากลับขึ้นมาในท้ายสัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะธนาคารกลางจีน ให้ความเห็นว่าอาจต้องมีมาตรการชะลอค่าเงินแข็งเข้ามาพยุงเงินหยวน ส่งผลให้สกุลเงินเอเชียอื่นๆ อาจอ่อนค่าตามเช่นกันในสัปดาห์นี้กรอบเงินดอลลาร์รายวัน 33.07 - 33.17 บาท/ดอลลาร์กรอบเงินดอลลาร์รายสัปดาห์ 32.80 - 33.30 บาท/ดอลลาร์

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2560 

ส.อ.ท.ประเมินอีอีซี หนุนไทยฮับ"ลงทุน" จี้รัฐจัดหาน้ำพอใช้

ส.อ.ท. มองอีอีซีหนุนไทยศูนย์กลางการลงทุน และฐานอุตสาหกรรม แต่พบปัญหา พ.ร.บ.อีอีซีล่าช้า ปริมาณน้ำมีใช้แค่ 10 ปี แนะรัฐต้องเร่งจัดหาเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) จะมีส่วนสำคัญให้ไทยเป็นจุดศูนย์กลางด้านการลงทุน เป็นฐานอุตสาหกรรมด้านพลังงาน และมีการเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เช่น รถไฟทางคู่ สนามบินอู่ตะเภา ฯลฯ

รวมถึงร่าง พ.ร.บ.พื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออก พ.ศ......จะเป็นการยกระดับพื้นที่ชลบุรี, ระยอง และฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จะช่วยดึงดูดการลงทุน จึงอยากให้เร่งออกมาโดยเร็วเพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุน

อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกเรื่องของพื้นที่ภาคตะวันออก คือปริมาณน้ำที่มีจำนวนจำกัด ซึ่งในปัจจุบันการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และน้ำใช้เพื่อการอุปโภคและบริโภค มีปีละ 400 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และจะเพิ่มขึ้นเป็น 800 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีในอีก 10 ปี หรือปี 2561-2571 และเมื่อรวมการเกิดโครงการอีอีซี ความต้องการใช้น้ำจะเพิ่มขึ้นอีกปีละ 200-300 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปัจจุบันมีแหล่งน้ำใช้ รวม 500 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และอยู่ระหว่างพัฒนาโครงการแหล่งน้ำขนาดเล็กต่างๆ อีก 500 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี รวมเป็น 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

ดังนั้น หากรัฐบาลจะผลักดันการลงทุนในอีอีซี จะต้องเร่งหาแหล่งน้ำมารองรับ เพื่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน

สำหรับเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง มีแนวโน้มฟื้นตัว โดยมีปัจจัยสัญญาณจากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้น การส่งออกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเช่นเดียวกับการท่องเที่ยว รวมถึงนโยบายอีอีซีที่จะช่วยขับเคลื่อนการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน

นายบวร วงศ์สินอุดม รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า น้ำจะมีเพียงพอถึงปี 2571 หลังจากนั้น จำเป็นต้องพิจารณาจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมเข้ามา ซึ่งแหล่งที่เหมาะสม ได้แก่ แหล่งสตึงมนัม กัมพูชา เพราะอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม แต่ต้องเป็นการเจรจาในลักษณะรัฐต่อรัฐ หากรัฐบาลต้องการจูงใจให้มีการลงทุนจากต่างประเทศในพื้นที่อีอีซี การมีแหล่งน้ำรองรับจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก และล่าช้าไม่ได้.

จาก http://www.thaipost.net   วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2560 

โครงการพัฒนาศักยภาพ อุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์

           ปัจจุบันการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ของประเทศไทย เป็นการตอกย้ำให้ภาคอุตสาหกรรมไทยทราบว่า ต้องมีการปรับตัว แสวงหาโอกาสและลู่ทางในการขยายตลาดให้มากที่สุด และเพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน สร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้แก่ผู้ประกอบการ รวมทั้งแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม

          คณะกรรมการส่งเสริมการดำเนินงานการพัฒนาประสิทธิภาพองค์กร กลุ่มที่ 1 (ประกอบด้วย 12 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี  ลพบุรี อ่างทอง กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี และสุพรรณบุรี) เห็นว่า ในเขตพื้นที่ดังกล่าวมีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและวิสาหกิจชุมชนที่ขึ้นทะเบียนกับภาครัฐมากกว่า 30,000 ราย ที่สามารถพัฒนาศักยภาพให้กลายเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับ สิ่งแวดล้อม ด้วยแนวคิดวิจัยเชิงสร้างสรรค์ได้ จึงได้มีการนำ เทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน เพื่อลดต้นทุน ลดมลภาวะและของเสียต่างๆ ตลอดจนสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า ส่งเสริมการใช้ นวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ ภายใต้การมีส่วนร่วมของภาครัฐ ชุมชนและภาคอุตสาหกรรมให้เกิดการพัฒนาอย่าง ต่อเนื่องและยั่งยืน จึงได้จัด โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ ขึ้น โดยมีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและวิสาหกิจชุมชนที่มีความมุ่งมั่นในการที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมของตนเองให้ปรับเปลี่ยนไปในเชิงสร้างสรรค์และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยแนวคิด Clean Technology (CT) หรือเทคโนโลยีสะอาด ด้วยการใช้กลยุทธ์ในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ บริการ และกระบวนการอย่างต่อเนื่อง เพื่อจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เปลี่ยนเป็นของเสียน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย รวมทั้งลดมลพิษที่แหล่งกำเนิด วิธีนี้จึงเป็นทั้งการรักษาสิ่งแวดล้อมและการลดค่าใช้จ่ายในการผลิตไปพร้อมๆกันด้วย

          นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดการใช้นวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ ด้วยการ อัพไซเคิล หรือ การนำเศษวัสดุมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่มีคุณภาพเทียบเท่าหรือดีกว่าเดิม ทั้งที่นำมาใช้โดยตรง หรือผ่านกระบวนการที่ไม่ซับซ้อน เพื่อเพิ่มมูลค่าด้วยนวัตกรรมการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ และประโยชน์หลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้คือ สถานประกอบการได้เพิ่มมูลค่าวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ได้ผลกำไร ได้สิ่งแวดล้อมที่ดี ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ และ ได้เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ตรงตามวัตถุประสงค์ของการเข้าร่วมโครงการฯ

          โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 โดย มีการสำรวจและตรวจประเมินวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ณ สถานประกอบการ จำนวน 36 ราย ที่เข้าร่วมโครงการฯ รวมทั้งให้ความรู้เรื่อง CT/3R จากนั้นได้มีการไปศึกษาดูงาน ณ สถานประกอบการ ที่นำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ให้เป็นผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์และนำผลงานของแต่ละสถานประกอบการมาร่วมจัดแสดงในพิธี ปิด ซึ่งจะจัดให้มีขึ้นในวันที่ 15 กันยายน 2560 ณ ห้องแซฟไฟร์ 204-205 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ตั้งแต่เวลา 09.30 - 12.00 น. โดย มี ดร.สมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงาน พร้อมมอบโล่เกียรติยศแก่สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 36 แห่งด้วย

          ที่มา คณะกรรมการส่งเสริมการดำเนินงานการพัฒนาประสิทธิภาพองค์กร กลุ่มที่ 1

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2560 

ใช้ไทยฐานผลิตอุตฯแห่งอนาคต-'รมต.เมติ'นำทัพธุรกิจพบวันนี้ ญี่ปุ่นถกนายกฯลงทุนอีอีซี 

          ตั้ง'ประเสริฐ  บุญสัมพันธ์' หัวหน้าทีม เดินสายโรดโชว์ต่างประเทศดึงลงทุนอีอีซี

          กรุงเทพธุรกิจรัฐมนตรีเมตินำทัพธุรกิจญี่ปุ่นร่วม 600บริษัทพบ"ประยุทธ์" วันนี้ ไขข้อข้องใจสอบถาม 3 ประเด็นใหญ่ เกี่ยวกับการลงทุนของญี่ปุ่นในพื้นที่อีอีซี ท่ามกลางการรุกหนักของจีนในไทย หวังใช้ เป็นฐานข้อมูลตัดสินใจ ขณะที่ไทยยันให้ความร่วมมือทุกประเทศพร้อมเปิดกว้างรับการลงทุน  ด้าน"อุตตม"เผย 5-6 บริษัท ยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่นปักหลักใช้ไทยฐานผลิตอุตสาหกรรรมแห่งอนาคต มั่นใจปีหน้า เห็นเม็ดเงินลงทุนอีอีซีขั้นต่ำแสนล้าน

          การเดินทางมาเยือนประเทศไทย ระหว่างวันที่ 11-13 ก.ย.นี้ ของทัพนักธุรกิจญี่ปุ่น 560 บริษัท ซึ่งมากสุดในประวัติศาสตร์ นำโดยนายฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (เมติ) เป็นผู้นำภาคเอกชนเดินทางมาไทยอย่างเป็นทางการครั้งนี้ เพื่อต้องการรับฟังยุทธศาสตร์ "ประเทศไทย 4.0" และ การขับเคลื่อน "อุตสาหกรรม 4.0" ที่จะสอดรับ กับนโยบายและการวางรากฐานความต่อเนื่อง ของนโยบายในระยะยาว และเนื่องในโอกาสครบรอบ 130 ปี ความสัมพันธ์ ไทย-ญี่ปุ่น ภาครัฐและเอกชนญี่ปุ่น จึงอยากใช้โอกาสนี้ สานต่อความร่วมมือทางการค้าและการลงทุน ในระยะยาวต่อไป

          วันแรกของทัพนักธุรกิจญี่ปุ่น 560 บริษัทวันนี้ (11 ก.ย.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะนำนายฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (METI) และคณะนักธุรกิจเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาลเวลา 15.00 น. การเข้าพบครั้งนี้กลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่น คาดหวังที่จะรับฟังคำตอบโดยตรงจาก พล.อ.ประยุทธ์ใน 3 ประเด็นหลัก ที่มีความสำคัญต่อการตัดสินใจของนักลงทุนญี่ปุ่นที่จะเข้ามาลงทุนในไทย และนำไปสู่ความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศในระยะต่อไป ก่อนจะเดินทางลงพื้นที่จริงเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก (EEC) วันที่ 13 ก.ย.นี้

          ญี่ปุ่นเตรียม3ประเด็นถามนายกฯ

          คำถามแรกนักธุรกิจญี่ปุ่น จะถาม พล.อ.ประยุทธ์ ถึงเหตุผลความจำเป็นที่ ไทยกำลังปฏิรูปประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง และลดความเหลื่อมล้ำ การเยือนไทยของนักลงทุนญี่ปุ่น ที่เป็นการแสวงหาโอกาสความเป็นไปได้ในการทำธุรกิจ และเพื่อ สานสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่ายครั้งนี้ บริษัทญี่ปุ่นจะมีส่วนช่วยผลักดันนโยบายของไทยได้อย่างไร ฝ่ายไทยมีความคาดหวังอะไรเป็นพิเศษกับบริษัทญี่ปุ่นหรือไม่ เพราะช่วงเวลาเดียวกัน ยังมีบริษัทจากประเทศจีน และจากยุโรปตะวันตก ที่พยายามเข้ามา เสริมสร้างความสัมพันธ์กับไทยเช่นกัน

          ประเด็นนี้ นายกฯ จะเน้นย้ำถึง ความสำคัญในการเป็นคู่ค้าที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นจีน หรือญี่ปุ่น ทั้ง 2 ประเทศเป็นแบบอย่างการพัฒนาที่เป็นพันธมิตรที่สำคัญของไทย ในการช่วยขับเคลื่อนประเทศในหลายๆ ด้าน เชื่อว่าความสัมพันธ์อันดีนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญในลำดับต้นของไทยต่อไป ที่ผ่านมาถือเป็นนักลงทุนอันดับ 1 ของไทย

          โดยไทยคาดหวังจะเห็นบริษัทญี่ปุ่นขยายการลงทุนในรูปแบบใหม่ๆ ในไทยมากขึ้น ทั้งการถ่ายทอดความรู้และการพัฒนาบุคลากรภาคอุตสาหกรรม รวมทั้ง ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาการสร้าง นวัตกรรม และการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีระหว่างกันทั้งในสาขาอุตสาหกรรมที่สำคัญ เช่น ยานยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงสาขาอุตสาหกรรมแห่งอนาคตของไทย เช่น อากาศยาน และหุ่นยนต์ เป็นต้น

          ปัจจุบันไทยกำลังก้าวสู่ยุคของการค้า การลงทุนที่เชื่อมโยงความสำเร็จของ การขับเคลื่อนด้วยนโยบายประเทศไทย 4.0 จึงจำเป็นต้องเน้นความร่วมมือและการเปิดโอกาสให้คู่ค้าสำคัญของไทย เช่นญี่ปุ่น ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการปฏิรูปของไทย ดังนั้น การเชิญชวนคณะนักลงทุนของญี่ปุ่นคณะใหญ่กว่า 600 คน มาครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีที่ไทยและญี่ปุ่นจะยกระดับความสัมพันธ์รวมทั้งขยายโอกาสโดยเฉพาะความร่วมมือ เศรษฐกิจการค้าของทั้งสองฝ่ายต่อไป

          ขอความชัดเจนนายกฯลงทุนอีอีซี

          คำถามถัดมานักธุรกิจญี่ปุ่น จะสอบถามนายกฯ ถึงแนวทางการพัฒนา EEC รวมถึงแนวทางยกระดับโครงสร้างภาคอุตสาหกรรม และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลายๆ ด้าน เพื่ออำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม ต้องใช้เวลาก่อสร้าง และใช้เม็ดเงิน มหาศาล บริษัทญี่ปุ่นสามารถพิจารณาการลงทุนเพิ่มเติมในพื้นที่ EEC ได้ จึงต้องการรับฟังบทบาทของภาครัฐและความมุ่งมั่นในการพัฒนาพื้นที่ EEC เพื่อสานสัมพันธ์การลงทุนของไทยและญี่ปุ่นในพื้นที่

          ประเด็นนี้ นายกรัฐมนตรี ยืนยันความมุ่งมั่นในการพัฒนาประเทศโดยให้ EEC และพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อต้องการให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อให้รัฐบาลชุดต่อไปเข้ามาสานต่อนโยบาย ให้เกิดความต่อเนื่อง โดยรัฐบาลนี้จะพัฒนา EEC ให้เป็นกฎหมาย ผ่านการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก เพื่อวางรากฐาน EEC คาดจะ กลับเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน 2 สัปดาห์นี้ ก่อนเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รวมทั้งได้จัดตั้งสำนักงาน EEC ขึ้นมาบริหารจัดการให้การทำงานของทุกหน่วยงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

          ส่วนการลงทุนใน EEC จะครอบคลุม 5 ด้านหลัก 1.ด้านโครงสร้างพื้นฐาน เป็นการปรับปรุงยกระดับโครงสร้างพื้นฐานให้อยู่ในมาตรฐานนานาชาติ ทั้งสนามบิน ท่าเรือ และรถไฟความเร็วสูง ทางด่วน และระบบดิจิทัล โดยเปิดให้เอกชน เข้ามาร่วมลงทุนปลายปีนี้ อาจใช้เวลาก่อสร้าง 5-6 ปี ซึ่งจะสนับสนุนนักลงทุนญี่ปุ่นที่จะเข้ามาลงทุนทางธุรกิจได้เต็มที่ โดยคาดว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 5 ปีแรกจะมูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท หรือ 4.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนนี้จะมาจากภาคเอกชน 80% ภาครัฐ 20%

          ดึงญี่ปุ่นลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

          2.อุตสาหกรรมมุ่งเน้น 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง 3.ด้าน การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพในพื้นที่พัทยา และจ.ระยอง 4.การพัฒนาชุมชนและ เมืองใหม่ใน 3 จังหวัด เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่และนักลงทุน และ 5.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นการเชื่อมโยงสถาบันการศึกษา เข้ากับความต้องการของนักลงทุนโดยเฉพาะ เป็นการสร้างบุคลากรคุณภาพด้านอาชีวะให้เข้าสู่ ระบบการทำงานใน 10 อุตสาหกรรม

          การชี้แจงนักธุรกิจญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรี ยังได้เชิญชวนนักลงทุนญี่ปุ่นมาร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ได้แก่ สนามบิน อู่ตะเภา รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 รัฐบาลได้กำหนดแนวทาง และระยะเวลาการดำเนินการที่ชัดเจนแล้ว เป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ PPP (Public Private Partnership) และได้ปรับปรุงกระบวนการทำ PPP ใน EEC หรือ EEC Track ให้ระยะเวลาสั้นลง แต่มีกระบวนการครบถ้วนตามมาตรฐานสากล

          ญี่ปุ่นถามนายกฯอยากให้ช่วยอะไรSME

          คำถามสุดท้าย นักธุรกิจญี่ปุ่นซึ่งมีความสามารถในการพัฒนาSME มีเทคโนโลยีที่ ล้ำสมัย ในการขับเคลื่อนนโยบาย "ประเทศไทย 4.0" เชื่อว่า SME และ Start-up จะมีบทบาทสำคัญ ไทยคาดหวังอย่างไรจากญี่ปุ่นในการเสริมสร้างศักยภาพให้กับ SME ของไทย

          ประเด็นนี้ นายกรัฐมนตรี มองว่าญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในต้นแบบสำคัญของการพัฒนา SME ของโลก โดยเฉพาะในระดับ Start Up มีกลไกการบริหารจัดการนโยบาย และมาตรการอย่างบูรณาการและเป็นระบบ ที่ผ่านมาไทยได้นำกลไกการพัฒนา SME ทั้งรูปแบบการดำเนินงาน One Stop Service ของญี่ปุ่น มาปรับใช้ในการจัดตั้งศูนย์บริการ และช่วยเหลือ SMEs (SMEs Support and Rescue Center) ของไทย โดยจะ ยกระดับความร่วมมือเชื่อมโยงระหว่าง SME ทั้ง 2 ประเทศ ให้เข้าสู่ห่วงโซ่การผลิต ของภูมิภาคทั้ง CLMV และอาเซียน มีไทยเป็นศูนย์กลางสำคัญในภูมิภาค เช่น อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป ไบโอชีวภาพ ยานยนต์แห่งอนาคต ปิโตร เคมี การท่องเที่ยว การแพทย์ครบวงจร ศูนย์การบินของภูมิภาค

          "อุตตม"เผย5รายสนลงทุนอีอีซี

          ด้านนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การเดินทางมาเยือนไทยของนักลงทุนญี่ปุ่นครั้งนี้ ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินมูลค่า การลงทุนที่จะเกิดขึ้น ต้องให้โอกาสญี่ปุ่นกลับไปศึกษาข้อมูลก่อน แต่รัฐบาลหวังว่าจะเห็น การร่วมทุนระหว่างกันระยะต่อไปแน่นอน

          เห็นได้ชัดตอนนี้มีบริษัทญี่ปุ่นหลายรายสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตในพื้นที่ EEC ประกอบด้วย 1.บริษัทฮิตาชิ จะมีการลงนามความร่วมมือ (MOU) กับสำนักงาน EEC เพื่อลงทุนในศูนย์ข้อมูล บิ๊กดาต้า และ IoT (อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงค์) ในพื้นที่ EEC

          2.บริษัทฟูจิฟิล์ม ยื่นข้อเสนอต่อสำนักงาน EEC สนใจลงทุนรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องมือ แพทย์ การพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งโครงการทยอยดำเนินการในช่วง 5-10 ปี ซึ่งญี่ปุ่นจะเริ่มเข้ามาศึกษากฎหมายต่างๆ ของไทยเพื่อรองรับการลงทุนเร็วๆ นี้

          3.บริษัทอายิโนะโมะโต๊ะ สนใจลงทุนอุตสาหกรรมไบโอชีวภาพ เกี่ยวกับอาหารเพื่อสุขภาพ และอาหารแห่งอนาคต เป็นต้น 4.บริษัทอัซบิล (Az bil) สนใจอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ และ 5.บริษัท NEC สนใจสมาร์ทซิตี้ แต่ยังไม่ยื่นแผน การลงทุนที่ชัดเจน เนื่องจากต้องใช้เวลาศึกษาแผนการลงทุนที่ชัดเจนต่อไป

          หวังปีหน้าเกิดการลงทุนแสนล้าน

          สำหรับแผนการลงทุนพื้นที่ EEC ในปี 2561 รัฐบาลคาดการณ์ว่า มูลค่า การลงทุนจะเป็นไปตามเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากกลุ่ม ปตท. ตั้งเม็ดเงินไว้กว่า 5 หมื่นล้านบาท รวมถึงยังมีโครงการลงทุนของกลุ่ม ปูนซิเมนต์ไทย และกลุ่มโตโยต้าอีกกว่า 2 หมื่นล้านบาท จะเริ่มลงทุนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในปีหน้า 1 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันการลงทุนใน EEC มีมูลค่าการลงทุน เกิดขึ้นแล้ว 2.5 หมื่นล้านบาท

          ส่วนแผนเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติ (โรดโชว์) ให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC ในปี 2561 อยู่ระหว่างการจัดทำแผนเพื่อ เดินทางไปยังทวีปต่างๆ จะประสาน ความร่วมมือกับคณะประชารัฐ D5 ที่มี นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ เป็นประธาน และมีตัวแทนจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมเป็นคณะทำงาน จะหารือกำหนดเป้าหมายโรดโชว์ให้ชัดเจนว่า อุตสาหกรรมประเภทไหนที่ต้องการ กลุ่ม เป้าหมายอยู่ประเทศใด บริษัทไหนคือเป้าหมาย เพื่อให้เห็นผลการทำงานที่รวดเร็ว คาดการจัดทำแผนจะเสร็จสิ้นภายใน 2 สัปดาห์นี้

          ยันไทยให้ความสำคัญทุกประเทศ

          นายอุตตม กล่าวว่าไทยพร้อมให้ ความร่วมมือกับทุกประเทศ และเปิดกว้างการลงทุน ที่ผ่านมานักลงทุนญี่ปุ่นและจีน เข้ามาศึกษาข้อมูลการลงทุนในพื้นที่ EEC ใกล้เคียงกัน เชื่อว่าจากนี้ไปจะมีนักลงทุนอีกหลายประเทศที่เข้ามาศึกษาโอกาส การลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงกลุ่มชาติตะวันตกด้วย

          จากนี้ภาครัฐจะเร่งผลักดันโครงการลงทุนด้านพื้นฐานต่างๆ ให้เป็นรูปธรรม โดยเร็ว เช่น รถไฟความเร็วสูง คาดว่าจะเปิดประมูลได้ต้นปี 2561 ได้ผู้รับเหมาดำเนินโครงการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2560 

เกษตรฯจับมือกลุ่มวังขนายป้อนน้ำตาลออร์แกนิกสู่ตลาดโลก

นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายเกษตรอินทรีย์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ปี 2560-2564 โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ในปี 2564 กว่า 1 ล้านไร่ โดยเฉพาะการเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยอินทรีย์ซึ่งปัจจุบันยังมีน้อย ในขณะที่โรงงานน้ำตาลมีความต้องการอ้อยอินทรีย์เป็นวัตถุดิบเพื่อนำไปผลิตเป็นน้ำตาลออร์แกนิกป้อนตลาดต่างประเทศ กรมวิชาการเกษตรจึงได้ร่วมกับกลุ่มวังขนาย จัดทำโครงการความร่วมมือผลิตอ้อยอินทรีย์และอ้อยสะอาดปลอดภัย ซึ่งจากการทำงานร่วมกันกับกลุ่มวังขนายมาตั้งแต่ปี 2555 โดยการจัดอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตอ้อยอินทรีย์อย่างถูกต้อง การจัดทำแปลงเรียนรู้  แปลงต้นแบบการผลิตอ้อยอินทรีย์ การตรวจรับรองแปลงอ้อยอินทรีย์ตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ มีเกษตรกรร่วมโครงการอ้อยอินทรีย์รวมทั้งหมด 1,223 ราย เป็นพื้นที่ประมาณ 27,427 ไร่ โดยเฉพาะจังหวัดมหาสารคาม มีเกษตรกรอ้อยอินทรีย์ จำนวน 283 ราย เป็นพื้นที่ประมาณ 4,554 ไร่ และผ่านการตรวจรับรองมาตรฐาน Organic Thailand ของกรมวิชาการเกษตร จำนวน 90 ราย รวมพื้นที่ 1,502 ไร่ ได้ผลผลิตอ้อยอินทรีย์ 15,086 ตัน ซึ่งนับเป็นโรงงานน้ำตาลแห่งแรกในประเทศไทยที่ผลิตอ้อยอินทรีย์และน้ำตาลออร์แกนิกมาตรฐาน Organic Thailand ของกรมวิชาการเกษตร

นายสุวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงนามความร่วมมือผลิตอ้อยอินทรีย์และอ้อยสะอาดปลอดภัย ครั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรและกลุ่มวังขนาย ร่วมมือกันจัดทำ 3 กิจกรรม การขยายพื้นที่ปลูกอ้อยอินทรีย์ เพื่อขยายพื้นที่ปลูกอ้อยที่งดการใช้สารเคมีทุกชนิด ไม่ใช้พันธุ์อ้อยจากการตัดต่อพันธุกรรม ฟื้นฟู อนุรักษ์ สภาพแวดล้อม ระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติ เป็นผลผลิตทางการเกษตรที่ยั่งยืน

การผลิตอ้อยและน้ำตาลปลอดภัย โดยใช้มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรดีที่เหมาะสม หรือ GAP เพื่อควบคุมการใช้สารเคมีเท่าที่จำเป็นในการปลูกอ้อยโรงงาน เพื่อผลิตน้ำตาลที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ลดมลพิษจากการเผาอ้อย โดยรณรงค์ ส่งเสริมให้เกษตรกรตัดอ้อยสดและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยในแปลงอ้อย โดยให้เกษตรกรสามารถผสมปุ๋ยใส่แปลงปลูกอ้อยตามผลวิเคราะห์ตัวอย่างดินได้ เป็นการใช้ปุ๋ยอย่างประหยัด มีประสิทธิภาพ ป้องกันการเสื่อมสภาพของดิน และลดต้นทุนการผลิตอ้อยโรงงาน

ด้านนายบุญญฤทธิ์ ณ วังขนาย ผู้จัดการทั่วไป กลุ่มวังขนาย กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางกลุ่มวังขนายได้จัดทำโครงการปลูกอ้อยอินทรีย์เป็นเวลานานกว่า 10 ปี และผลิตน้ำตาลออร์แกนิกจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยจำหน่ายครั้งแรกในปี 2554 ซึ่งผ่านการรับรองมาตรฐานของประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (EEC 483/2007), มาตรฐานของประเทศสหรัฐอเมริกา (USDA-NOP),มาตรฐานประเทศญี่ปุ่น (Japan Agriculture Standard; JAS) และมาตรฐานประเทศเกาหลี (Korean Organic) สามารถผลิตน้ำตาลออร์แกนิกได้จำนวน 15,000 ตัน จำหน่ายในประเทศ ประมาณ 75% และอีก 25 % จำหน่ายในประเทศแถบเอเชียและยุโรป ได้แก่ เกาหลีใต้ ฮ่องกง มาเลเชีย สิงค์โปร์ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน โอเชียเนีย และ นิวซีแลนด์ โดยกลุ่มวังขนายตั้งเป้าหมายภายใน 3-5 ปีนี้ จะเพิ่มปริมาณอ้อยอินทรีย์ให้ได้ถึงร้อยละ 30 ของปริมาณอ้อยทั้งหมดของกลุ่มวังขนาย เพื่อนำไปผลิตเป็นน้ำตาลออร์แกนิก ส่งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ

นายบุญญฤทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มวังขนายมีความพร้อมในการพัฒนาการผลิตอ้อยอินทรีย์และอ้อยสะอาดปลอดภัย เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลติดตามและตรวจประเมินแปลงเบื้องต้นโดยใช้ระบบควบคุมภายใน (CIS : Internal Control System) ก่อนที่จะตัดอ้อยอินทรีย์เข้าหีบเพื่อผลิตน้ำตาลออร์แกนิก นอกจากนี้ยังสนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น ฟิลเตอร์เค้ก และสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการโดยในกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับรองมาตรฐานอ้อยอินทรีย์ จะเพิ่มค่าอ้อย 100 บาท ต่อตัน และกลุ่มเกษตรกรที่อยู่ในระยะปรับเปลี่ยนจะเพิ่มค่าอ้อย 50 บาทต่อตัน นอกจากนี้ กลุ่มวังขนายยังมีการเก็บตัวอย่างดินจากแปลงปลูกอ้อยของเกษตรชาวไร่อ้อยมากกว่า 20,000 ตัวอย่าง เพื่อส่งให้ทางกรมวิชาการเกษตรแนะนำการใช้ปุ๋ยตามผลวิเคราะห์ตัวอย่างดิน เป็นการใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ และประหยัด โดยทางกรมวิชาการเกษตรละกลุ่มวังขนายจะนำข้อมูลที่ได้ไปพัฒนาแอพพลิเคชั่นการใช้ปุ๋ยอ้อยร่วมกันต่อไป

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2560 

ไทยจะเป็นอย่างไรอีก 20 ปีข้างหน้า ?

               ความท้าทายของมนุษย์โลกที่สำคัญในอนาคต คือ การปรับปรุงประสิทธิภาพของการใช้ที่ดินในภาคเกษตร การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงานและน้ำ การคาดคะเนอนาคตของการใช้ที่ดิน ภาพในอนาคตของน้ำ จากนโยบายต่างๆ และความต้องการใช้พลังงานของประเทศไทยใน 20 ปีข้างหน้า จึงมีผลสำคัญต่อการพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจไทยในอนาคต  ในเวทีสัมมนา “ภาพอนาคตในปี 2035 : ที่ดิน พลังงาน และน้ำในประเทศไทย” โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่ รร.ดิเอมเมอรัลด์ กรุงเทพฯ   

              มีการพูดคุยถึงประเด็นดังกล่าว

              ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. ร่วมให้ข้อมูลถึงทิศทางการสนับสนุนการวิจัยของ สกว. ที่เปลี่ยนแปลงไปว่าจะมุ่งเน้น 1.การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ โดยโจทย์วิจัยมาจากผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยโดยตรง 2.ต้องการให้งานวิจัยส่งผลกระทบสูงต่อสังคม ที่เกิดต่อชุมชน สังคม ประเทศชาติ  โดยปีงบประมาณ 2561 กำลังสนับสนุนทุนเรื่อง Future Study ซึ่งสอดคล้องกับเวทีสัมมนาในวันนี้ที่เป็นการพยากรณ์ภาพอนาคตของประเทศ โดยใช้งานวิจัยเป็นฐานข้อมูลที่สำคัญ เพื่อสร้างทางเลือกของผู้กำหนดนโยบายที่จะนำข้อมูลการพยากรณ์เหล่านี้ไปวางแผนนโยบายที่มีประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ โดย  ดร.สุชาต อุดมโสภกิจ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวถึงกระบวนการในการคาดคะเนภาพอนาคตในเชิงวิชาการว่า ไม่ได้เป็นการชี้นำหรือแนะนำแนวทางอย่างชัดเจนว่าประเทศควรดำเนินไปในทิศทางใด แต่ข้อมูลที่ได้ภายใต้การวิจัยอย่างเป็นระบบสามารถคาดการณ์ได้ว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นกับเราบ้าง

                 ดร.นณริฏ พิศลยบุตร  นักวิจัยทีดีอาร์ไอให้ข้อมูลว่า ภาพอนาคตเศรษฐกิจไทยในปี 2535              

 หรือประมาณ 20  ปีข้างหน้า สรุปได้ว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยที่เป็นไปได้มากที่สุดอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3.73 –3.85 ต่อปี อัตราเจริญเติบโตของผลิตภาพแรงงานในแต่ละสาขา ภาคเกษตร            ร้อยละ 2.53 –2.80 ต่อปี ภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 3.74 – 4.08 ต่อปี ภาคขนส่ง ร้อยละ 3.36 –3.49  ต่อปี ภาคบริการ ร้อยละ 4.28 – 4.57ต่อปี  อัตราการเปลี่ยนแปลงของแรงงานรายสาขา  ภาคเกษตร ลดลงร้อยละ 0.99 –1.25 ต่อปี ภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.11 –1.48 ต่อปี ภาคขนส่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.72 –2.16 ต่อปี ภาคบริการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.04 –3.85 ต่อปี โดยแรงงานต่างด้าว จะสามารถเข้ามาทดแทนแรงงานไทยได้เพียงร้อยละ 50 –54 เท่านั้น

ดร.วิชสิณี วิบูลผลประเสริฐ นักวิจัยทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงผลวิจัยด้านพลังงานว่า ในปี 2035 คาดการณ์ว่าประเทศไทยใช้พลังงานโดยรวม เพิ่มขึ้นระหว่างร้อยละ 0.5 –5 ต่อปี สัดส่วนการใช้พลังงานในแต่ละสาขาเศรษฐกิจ แตกต่างจากปัจจุบันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น การใช้พลังงานในทุกสาขาเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่แตกต่างกัน

                   ดร.อุชุก ด้วงบุตรศรี นักวิจัยจาก ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า อีก 20 ปีข้างหน้า ที่ดินเกษตรจะลดลงอย่างรวดเร็วภายหลังจาก      การยกเลิกโครงการจำนำสินค้าเกษตรและประกันรายได้เกษตรกร จากนั้นจึงค่อยๆปรับตัวสูงขึ้น โดยที่ดินเกษตรจะลดลงจาก 138 ล้านไร่ (ในปี 2557) เหลือ 122-132 ล้านไร่ ภายใน 20 ปีข้างหน้า หรือลดลงร้อยละ 11.59 – 4.35 ขนาดฟาร์มเฉลี่ยอาจใหญ่ขึ้น การใช้ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยจะขยายตัวสูงสุด

                     รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ ให้ข้อมูลภาพอนาคตประเด็นน้ำของประเทศว่า ปี 2035 ความต้องการน้ำโดยรวมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากสาเหตุหลักคือ 1. การเติบโตของตัวเมือง 2. การขยายตัวทางเศรษฐกิจ 3.การใช้น้ำต่อหัวในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพ หรือเทศบาลนครมีแนวโน้มลดลง 4. จำนวนประชากรมีแนวโน้มเติบโตช้าลง แต่ยังไม่เห็นผลภายในปี 2035

 ทั้งนี้นโยบายบริหารเพื่อแก้ปัญหาความต้องการน้ำมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่า ควรมีนโยบายจัดเก็บค่าบำรุงรักษาคลองชลประทาน หลังจากนั้นควรศึกษาแนวทางการจัดเก็บค่าน้ำ แก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการคิดค่าน้ำดิบ จากการประปาภูมิภาคและการประปานครหลวงนโยบายสนับสนุนกลุ่มผู้ใช้น้ำ แลกเปลี่ยนสิทธิ์ในการใช้น้ำสนับสนุนการพัฒนาแหล่งน้ำ ระดับครัวเรือน เกษตร เอกชน และรัฐ   การแก้ปัญหาคุณภาพน้ำ จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำดี นอกจากนี้ควรมีการเก็บภาษีมลพิษในน้ำ และภาษีการนำเข้าสารเคมีการเกษตรด้วย

จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2560 

เอกชนหวังรัฐคลอดพรบ.EECดันเชื่อมั่นลงทุน

ภาคเอกชนหวังรัฐเร่งคลอด พ.ร.บ.EEC สร้างความเชื่อมั่น หนุนยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนช่วงปลายปี ขณะญี่ปุ่น ย้ำ ไทยฐานการผลิต

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) จะส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมของภูมิภาคอย่างก้าวกระโดด ด้วยไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุน ฐานอุตสาหกรรม มีการเชื่อมโยงด้วยโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง ซึ่ง EEC จะเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการรองรับการลงทุน รองรับการขยายตัวของเมืองใหม่ โดยขณะนี้นักลงทุนญี่ปุ่นให้ความสนใจและพร้อมที่จะเข้ามาลงทุนใน EEC และยืนยันว่าประเทศไทย ยังเป็นฐานการลงทุนหลักของนักลงทุนญี่ปุ่นในกลุ่มประเทศอาเซียนและเอเซีย โดยถือเป็นบ้านหลังที่ 2 ส่วนการลงทุนในประเทศอื่นนับเป็นการขยายการลงทุนต่อไปจากประเทศไทย

อย่างไรก็ตามภาครัฐจะต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างชาติและภาคเอกชน ด้วยการขับเคลื่อนให้พ.ร.บ. EEC เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งมองว่าหากผ่านการพิจารณาออกบังคับกฎหมายได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี เชื่อว่าจะเห็นตัวเลขขอรับส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ( BOI ) เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2560 

ศก.ปีหน้ากระเตื้อง

วงล้อเศรษฐกิจ

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ปรับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็น 3.5% จากเดิมคาดการณ์ที่ 3.3% ปัจจัยผลักดันมาจากภาคการส่งออกที่ขยายตัวเร่งขึ้นกว่าคาด สอดคล้องกับ การปรับดีขึ้นต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลก

โดยทั้งปีคาดว่ามูลค่าส่งออกจะขยายตัวที่ 5.8% การลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณฟื้นตัวหลังจากที่อยู่ในภาวะซึมๆ มากว่า 3 ปี และมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวต่อเนื่องสะท้อนจากการนำเข้าเพื่อการผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

สำหรับการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวใกล้เคียงกับประมาณการเดิม

นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวยังคงเติบโตแข็งแกร่ง ขณะที่มองการลงทุนภาครัฐทั้งปีคาดว่าจะเห็นเม็ดเงินลงทุนต่ำกว่าประมาณการเดิม โดยเฉพาะงบฯ กลางปี 1.9 แสนล้านบาทที่คาดว่าจะเบิกได้ต่ำกว่าเป้า

คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2561 มีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่อง คาดขยายตัว 3.8% จากการเติบโตในทุกด้านบนโครงสร้างแบบเล็กๆ ไม่โต แต่ใหญ่ๆ โต

เริ่มจากการส่งออก ซึ่งคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องที่ 4.8% สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

 ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มส่งออกดี ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์

โดยแนวโน้มในปี 2561 คาดว่าภาพรวมการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัว 3.8% มาจากการลงทุนของบริษัทใหญ่ 3% ในขณะที่บริษัทเล็กมีส่วนการเติบโตของการลงทุนอยู่เพียง 0.8% เท่านั้น

สำหรับการบริโภคภาคเอกชนเป็นภาพที่เชื่อมโยงจากการส่งออกและการลงทุน โดยใช้การจ้างงานเป็นตัวบ่งชี้ เราพบว่าแม้ว่าบริษัทใหญ่ที่มีแนวโน้มเติบโตดีกลับมีสัดส่วนการจ้างงานที่ต่ำเพียง 13% ของแรงงานทั้งระบบ เมื่อเทียบกับบริษัทเล็กและภาคเกษตรที่มีการจ้างงานเป็นจำนวนมากและกระจาย ทั่วภูมิภาค

กอปรกับในปี 2561 คาดว่าราคาสินค้าเกษตรจะทรงตัวในระดับต่ำ ทำให้การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวที่ 3.2% ใกล้เคียงกับปี 2560 ดังนั้น การบริโภคภาคเอกชนไปได้ไม่ไกลเพราะเศรษฐกิจส่วนที่โตดี มีการจ้างงานต่ำ

สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายคาดว่าจะค่อยๆ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2.0% ในปี 2561   ส่วนเงินบาทจะมีทิศทางแข็งค่าขึ้น และมีโอกาสแตะ 32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปลายปี 2561

จาก  https://www.khaosod.co.th    วันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2560

เร่งแผนบริหารจัดการน้ำอีอีซี

- กรมชลฯ ลุยบริหารจัดการ น้ำรับอีอีซี "ทีดีอาร์ไอ" หวั่นแผนไม่ชัด กระทบทั้งระบบ ระบุพึ่งสตึงมนัมเสี่ยง

          พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากรมชลประทานได้วางแผนบริหารจัดการน้ำในภาคตะวันออก เพื่อรองรับความต้องการ ใช้น้ำของประเทศในยุทธศาสตร์น้ำ 20 ปี โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวง เกษตรฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม หารือร่วมกันเพื่อกำหนดความต้องการน้ำที่แท้จริงในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

          นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานได้วางแผนในการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำสนับสนุนอีอีซีครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และจันทบุรี ซึ่งมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นทุกปี ตามแผนภายในปี 2580 หรืออีก 20 ปี จะเพิ่มปริมาณน้ำกว่า 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)

          ทั้งนี้ เบื้องต้นในปี 2561-2562 กรมชลประทานมีแผนเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำ 6-8 แห่ง เพื่อสนับสนุนอีอีซี เป็นการจัดหาน้ำจากแหล่งภายในประเทศ โดยเพิ่มความจุ อ่างเก็บน้ำที่มีอยู่ 6 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำ คลองใหญ่ หนองปลาไหล คลองสียัด หนองค้อ บ้านบึง และอ่างเก็บน้ำมาบประชัน ซึ่งจะสามารถกักเก็บน้ำเพิ่มขึ้นอีก 84 ล้าน ลบ.ม. ลงทุน 1,190 ล้านบาท

          นอกจากนี้ จะทำการสร้างอ่างเก็บน้ำแห่งใหม่ในพื้นที่ลุ่มน้ำวังโตนด 4 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ คลองหางแมว และอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด มีความจุรวมกัน 308.5 ล้าน ลบ.ม. ส่วนอ่างเก็บน้ำ คลองประแกด ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้

          นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ ไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในการเสวนาเรื่อง "ภาพ อนาคตในปี 2035 : ที่ดิน พลังงานและน้ำในประเทศไทย" ว่า นโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาพื้นที่อีอีซีต้องกำหนดให้ได้ว่า 10 อุตสาหกรรมที่รัฐต้องการส่งเสริมนั้น มีความต้องการใช้น้ำเท่าใด เพื่อทราบถึงความต้องการที่แท้จริง

          "เท่าที่ทราบเบื้องต้นมีความต้องการใช้น้ำในอีอีซีราว 600 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องประเมินความเป็นไปได้ของอีอีซี จะเกิดได้จริงหรือไม่ ขนาดเท่าไร ชนิดของอุตสาหกรรมมีอะไรบ้าง จะได้เอาความจริงมาวางแผนรับมือ เพื่อเลี่ยงการเอาความมั่นคงด้านน้ำอุตสาหกรรมไปผูกกับประเทศเพื่อนบ้านในโครงการสตึงมนัมของกัมพูชา หากไม่ชัดจะเกิดการขาดแคลนรุนแรงและแย่งน้ำระหว่างภาคอื่นกับภาคเศรษฐกิจ" นายนิพนธ์ กล่าว

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2560 

104 บริษัทไทยจับคู่ยุ่น เคลื่อนทัพลงทุนอีอีซี

104 บริษัทไทยพร้อมจับคู่ธุรกิจ-สร้างเครือข่าย กับ 600 นักลงทุนญี่ปุ่น แบ่ง 4 กลุ่มใหญ่ ยานยนต์-อิเล็กทรอนิกส์-อาหาร-บริการ เปิดห้องคุยการค้า ในงานสัมมนายุทธศาสตร์เศรษฐกิจ ตั้งเป้าดึงยุ่นลงทุนใน EEC

ความร่วมมือทางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจระหว่างไทยและญี่ปุ่น หรือ Symposium Thailand 4.0 towards Connected Industries ที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 12 กันยายนที่จะถึงนี้ จัดเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมที่ทัพนักลงทุนญี่ปุ่น จำนวน 600 คน ที่จะเดินทางมาเยือนประเทศไทย ในระหว่างวันที่ 11-13 กันยายน พร้อมกับการรับฟังบรรยายความคืบหน้าของระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) หนึ่งในเป้าหมายที่ฝ่ายไทยต้องการให้นักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนมากที่สุด

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า นักลงทุนญี่ปุ่นที่เดินทางมาพร้อมคณะ METI และได้ตอบรับเข้าร่วมการสัมมนา Symposium ในวันที่ 12 กันยายนนี้ ส่วนหนึ่งมีแผนที่จะลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)

ยกตัวอย่างบริษัทฮิตาชิ จะมีโครงการใหญ่ครั้งแรกที่เกิดในประเทศไทย ด้วยการทำบิ๊กดาต้าเพื่อรองรับอุตสาหกรรม S-Curve โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ รองรับสังคมผู้สูงวัย รองรับหน่วยงานราชการและเอกชน, บริษัทอาซาฮี สนใจที่จะลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นสูง, บริษัทมิตซูบิชิ ลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV), บริษัทอายิโนะโมะโต๊ะ ลงทุนในอุตสาหกรรมไบโอชีวภาพ, บริษัทมารูเบนี สนใจร่วมทำ PPP ในโครงการรถไฟความเร็วสูง และบริษัทฟูจิฟิล์ม สนใจลงทุนเครื่องมือแพทย์

“รัฐบาลไทยมีความชัดเจนในแผนพัฒนาในพื้นที่ EEC มีความพยายามแก้ไขการบริหารจัดการเรื่องผังเมือง และเร่งให้ พ.ร.บ. EEC ออกมาบังคับใช้ เพราะจะเป็นเครื่องการันตีให้กับนักลงทุนว่า โครงการและนโยบายระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกจะไม่ยกเลิก หรือล้มโครงการ โดยภายในปลายเดือนกันยายนนี้จะนำ พ.ร.บ.เข้าสู่การพิจารณาของ ครม.อีกครั้ง และเตรียมประกาศใช้ภายในเดือนตุลาคมปีนี้” นายอุตตมกล่าว

ขณะที่ นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตามปกตินักลงทุนญี่ปุ่นจะเดินสายเพื่อดูพื้นที่และโอกาสการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะเป้าหมายในอาเซียนอย่าง ประเทศไทย-เวียดนาม-อินโดนีเซีย-ฟิลิปปินส์ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทยมีความพร้อมที่สุด อย่างเช่น โครงสร้างพื้นฐาน การมีเป้าหมายชัดเจนในการส่งเสริมการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรม (S-Curve) ขณะที่บางประเทศยังมีปัญหาเรื่องความไม่สงบ เสถียรภาพต่าง ๆ ยังไม่นิ่ง

ส่วนนายกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกิจกรรมในงานความร่วมมือทางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ในวันที่ 12 กันยายนนี้ จะมีการสัมมนาระหว่างไทยกับ METI สภาหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมทั้งเอกชนอีกประมาณ 300-400 ราย รวมไปถึงกลุ่ม S-Curve, กลุ่มภาคบริการ, มหาวิทยาลัย รวมไปถึง SMEs จะเข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้ด้วย

โดยในระหว่างสัมมนาจะมีการแบ่งกลุ่มภาคเอกชนไทย ประมาณ 400 ราย ที่สนใจจะเจรจาจับคู่ทางธุรกิจกับฝ่ายญี่ปุ่น โดยจะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มยานยนต์ (Smart Automobiles-Aviation-Maintenance-Related Industries) กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (Smart Electronics-Robotics-Digital) กลุ่มยา-เกษตร-ไบโอเทคโนโลยี และอาหาร (Medical & Wellness Tourism-Medical Hub-Agriculture-Biotechnology-Food-Biofuel-Biochemical) และกลุ่มบริการ (Trading-Retail-Logistics-Industrial Park)

“ทั้ง 4 กลุ่มหลักนี้ เราจะจัดโซนให้เหมาะสม เพื่อให้นักลงทุนญี่ปุ่นสามารถเลือกชม เลือกหา ภาคเอกชนไทยที่ต้องการในการเข้าเปิดโต๊ะเจรจาซื้อขายสินค้าและอื่น ๆ หรือกิจกรรมสร้าง

เครือข่ายธุรกิจ (Business Networking) เมื่อรายใดเห็นว่า สินค้าตรงกับที่ต้องการ อยากให้มาเป็นซัพพลายเชน ก็จะจับมือเข้าสู่การจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างนักลงทุนไทยและญี่ปุ่น ภายในวันนั้นเลย ซึ่งเบื้องต้นการทำ Business Networking และ Business Matching กระทรวงพาณิชย์รับเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในส่วนนี้” นายกลินท์กล่าว

สำหรับภาคเอกชนไทย จำนวน 104 บริษัท ที่จะเข้าร่วมการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจและการจับคู่ธุรกิจใน 4 กลุ่มหลัก รายสำคัญ ๆ ได้แก่ กลุ่มมิตรผล (อาหาร), เครือเจริญโภคภัณฑ์ CP(อาหาร), เครือ SCG (อาหาร-บริการ), Benchachinda Holding (อิเล็กทรอนิกส์), Cho Heng Rice (อาหาร), โรงพยาบาลพญาไท (อาหาร), ซีแวลู (อาหาร), โอเชียนกลาส (อาหาร), โตโยต้า (รถยนต์), Wales & Universe (อาหาร), ไทยวิวัฒน์ประกันภัย (บริการ), 304 Industrial Park (บริการ), Apexcela (อาหาร), Baramee Management (อาหาร), Biz In Thai (บริการ), Myler (รถยนต์), Dwer (บริการ) Foodle Noodle (อาหาร), International Laboratories (อาหาร), Mazuma (Thailand) (อิเล็กทรอนิกส์), Narai Corporation (อาหาร), Robot System (อิเล็กทรอนิกส์), Thai Film Industries (อาหาร), Thai Metal Product Industry (อาหาร), T.A.M. Promotion (logistics) (บริการ), Thaipet Industrial (อาหาร) และ Thairodthip (อาหาร)

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2560 

ไขข้อข้องใจ! “ภาษีน้ำหวาน”

เวทีสัมมนา “ภาษีสรรพสามิตใหม่ ใครได้ ใครเสีย” เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2560 ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการจำนวนมาก ที่ต้องการรับทราบและทำความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการปฏิบัติ การลงบัญชี การบันทึกภาษี โดยเฉพาะช่วงรอยต่อระหว่างภาษีเก่าและภาษีใหม่ ที่กฎหมายใหม่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 ก.ย. นี้

 จนถึงวันนี้ อัตราภาษีที่จะจัดเก็บจริงก็ยังไม่ได้ประกาศออกมา ทำให้ผู้ประกอบการมีความกังวลในหลายประเด็น เนื่องจากโครงสร้างการจัดเก็บภาษีใหม่เปลี่ยนฐานการจัดเก็บภาษี จากเดิมเก็บจากราคาหน้าโรงงาน สำหรับผู้ประกอบการในประเทศ หรือ ราคานำเข้าสำหรับสินค้านำเข้ามา เป็นราคาขายปลีกแนะนำ ซึ่งภาษีถือเป็น 1 ในต้นทุนที่ต้องนำไปคำนวนราคาขายปลีก เมื่อไม่ทราบอัตรา ทำให้ไม่สามารถกำหนดราคาขายปลีกแนะนำที่เป็นฐานในการเสียภาษีได้

 นอกจากนี้ โครงสร้างใหม่ยังมีการจัดเก็บภาษีจากปริมาณความหวานในเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลในปริมาณสูง ทำให้เครื่องดื่มบางชนิดไม่ต้องเสียภาษี อย่าง “ชา กาแฟ” หรือที่เคยได้รับการยกเว้นภาษี “น้ำผักและผลไม้” จะถูกรวมมาเสียภาษีในครั้งนี้ด้วย โดยในเวทีถามตอบ ผู้เข้าสัมมนาตั้งคำถามเรื่องภาษีน้ำหวานจำนวนมาก ซึ่งผู้ประกอบการยังกังวลถึงอัตราภาษีที่จะเสียเพิ่มเข้ามา และยังไม่เข้าใจว่า ระดับน้ำตาลวัดจากอะไร และน้ำตาลที่เกิดจากธรรมชาติที่ถูกรวมเข้าไปจะเสียภาษีในครั้งนี้ด้วยหรือไม่

นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต ชี้แจงว่า “ความหวานที่จะเสียภาษี” จะวัดจากระดับแคลอรีที่เกิดจากน้ำตาล ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลที่เติมเข้าไปหรือความหวานจากธรรมชาติ โดยยึดจากใบโภชนาการที่ผ่านการพิจารณาจาก อย. เป็นหลัก ดังนั้น เครื่องดื่มที่ยังไม่ผ่าน อย. ก็ต้องผ่าน อย. ด้วย

 นายณัฐกร กล่าวอีกว่า ในหลักการของภาษีความหวานนั้น จะเสนออัตราจัดเก็บไว้ที่ 20-30% ของราคาขายปลีกแนะนำ แต่ต้องการให้ผู้บริโภคมีระยะเวลาปรับตัว 2 ปี ดังนั้น จากนี้ไปภาระภาษีจะใกล้เคียงของเดิม โดยอัตราภาษีจะเพิ่มหลังวันที่ 1 ต.ค. 2562 คือ ช่วงแรกจะมีอัตราพิเศษให้ เช่น น้ำผลไม้ 300 ซีซี เสียภาษี 30 สตางค์ อย่างราคาขาย 20 บาท/ขวด จะมีภาระไม่เกิน 1 บาทเท่านั้น รวมทั้งชาและกาแฟที่มีส่วนผสมกาแฟอีน จะมีภาระเพิ่ม 1.50 บาท/ขวด เครื่องดื่มที่ไม่ให้พลังงาน ประเภทน้ำตาล 0% จะเสียภาษีต่ำลง จากที่เคยเสีย 20% ตามมูลค่า แต่อัตราใหม่เสียเพียง 17% หรือลดอัตราลงจาก 20% เมื่อบวกค่าความหวาน 0% ทำให้ภาระภาษีลดลง

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2560 

ค้าเคมีเกษตร2หมื่นล้านป่วนรัฐอายัดสินค้าหลังทะเบียนหมดอายุ-ผู้ค้าวอนเห็นใจ

2 สมาคมค้าเคมีเกษตรร้องกรมวิชาการเกษตรป้องสมาชิก หลังถูกสารวัตรเกษตรอายัดสินค้า สั่งให้ตีกลับ-ห้ามจำหน่าย ด้านรัฐลั่นทะเบียนหมดอายุขายไม่ได้ ขณะอีกด้านฝนดีเกษตรกรแห่ปลูกพืชเพิ่ม ดันยอดนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตร 6 เดือนพุ่ง 1.4 หมื่นล้าน

 จากที่ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้เปิดประเด็น “3 สารอันตรายป่วนเคมีเกษตร 3 หมื่นร้านค้าเบรกออร์เดอร์-ลุ้นผลสรุปเวที 4 ภาค” ฉบับที่ 3,286 วันที่ 10-12 สิงหาคม 2560 ล่าสุดอีกด้านหนึ่ง 2 สมาคม ได้แก่ สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร และสมาคมอารักขาพืชไทย ซึ่งมีสมาชิกรวมกัน 142 บริษัทได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เพื่อขอทราบความชัดเจนและแนวทางปฏิบัติการจัดการวัตถุอันตรายที่ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนได้หมดอายุลง

 นายปราโมทย์ ติรไพรวงศ์ นายกสมาคมคนไทยธุรกิจการเกษตร เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา 2 สมาคมได้ยื่นหนังสือถึงนายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เพื่อขอความชัดเจนในแนวทางปฏิบัติ เนื่องจากทาง 2 สมาคมได้รับร้องเรียนจากบริษัทสมาชิก และร้านค้าหลายจังหวัดแจ้งเข้ามาว่า ทางเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรได้เข้ามาตรวจสอบที่ร้านและออกคำสั่งเด็ดขาดให้คืนสินค้าและห้ามวางจำหน่าย บางร้านถูกอายัดสินค้า สร้างความกังวลใจให้ผู้ค้าเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้สาระสำคัญในหนังสือเช่น 1. ขอความชัดเจนในเรื่องวัตถุอันตรายที่เคยมีทะเบียนเดิม ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) ในปี 2551 ซึ่งกรมวิชาการเกษตรเคยผ่อนผันการครอบครองวัตถุอันตรายที่เคยมีทะเบียน แต่ทะเบียนสิ้นสุดลงตามผลของกฎหมาย ซึ่งล่าสุดทางสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร แจ้งคำสั่งถึงผู้ประกอบการให้ส่งมอบวัตถุอันตรายที่ทะเบียนหมดอายุให้เจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรในพื้นที่ร้านค้าตั้งอยู่ภายใน 30 วัน

2. ในระหว่างที่บริษัทกำลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการพิจารณาต่ออายุทะเบียน และมีบางรายได้ดำเนินการต่ออายุแล้ว 2 สมาคมขอให้ยังคงอนุญาตให้ร้านค้ายังคงวางจำหน่ายสินค้าฉลากเดิมในร้านค้าได้ตามปกติ เนื่องจากทางบริษัทได้ยื่นคำขอต่ออายุทะเบียนก่อนใบสำคัญหมดอายุ และ 3. วัตถุอันตรายที่ขึ้นทะเบียนใหม่ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2551 ซึ่งทะเบียนมีอายุ 6 ปี แต่ผู้ประกอบการไม่ยื่นคำขอต่ออายุใบทะเบียนสำคัญภายในเวลาที่กำหนด เนื่องจากต้องการเลิกผลิตหรือเปลี่ยนแปลงแหล่งผลิต หรือวัตถุดิบ หรือประสบปัญหาทางธุรกิจ เมื่อใบสำคัญทะเบียนวัตถุอันตรายหมดอายุ แต่ยังมีวัตถุอันตรายดังกล่าววางจำหน่ายตามร้านค้าอยู่ เนื่องจากเป็นสต๊อกสินค้าเดิมและยังไม่หมดอายุ จึงขอให้ทางกรมวิชาการเกษตรอนุญาตให้จำหน่ายได้

 ด้านนางสาววัชรีภรณ์ พันธ์ภูมิพฤกษ์ นายกสมาคมอารักขาพืชไทย กล่าวว่า จะทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกัน เพราะบางรายที่ทะเบียนไม่หมดอายุ ก็ขายได้ แต่บางรายที่ทะเบียนหมดอายุก็เสียโอกาส อีกทั้งสินค้าที่ยังคงเหลืออยู่ก็ไม่สามารถขายได้ เรียกประเมินค่าเป็นศูนย์ ทั้งๆ ที่ทะเบียนสิ้นสุด แต่สรรพคุณยาไม่หมดอายุ จึงขอความเห็นใจจากกรมวิชาการเกษตร

 ขณะที่นายธีระ รัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การที่ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนหมดอายุลง เปรียบกับรถยนต์ หากทะเบียน หรือใบขับขี่หมดอายุไม่ไปต่อให้ถูกต้อง ตำรวจก็ต้องจับไม่สามารถอนุโลมได้ ทั้งที่รถยังขับขี่ได้ปกติ

 ด้านแหล่งข่าวจากกรมวิชาการเกษตร เผยว่า จากที่ปีนี้ฝนตกต้องตามฤดูกาล มีนํ้าท่าที่ดี ส่งผลให้เกษตรกรปลูกพืชกันมากขึ้น มีผลให้ผู้ประกอบการค้านำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตรเข้ามาจำหน่ายแล้วในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ ปริมาณรวม 1.05 แสนตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.42 หมื่นล้านบาท จากปี 2559 ไทยมีการ
นำเข้า 1.60 แสนตัน มูลค่า 2.06 หมื่นล้านบาท

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2560 

ไฟเขียวงบฯ8,445ล้าน ดันโครงการประหยัดพลังงาน

กองทุนอนุรักษ์ฯ ไฟเขียว งบปี61 วงเงิน 8,445 ล้านบาท ผลักดันโครงการประหยัดพลังงานครอบคลุมบ้านอยู่อาศัย ภาคอุตสาหกรรม โรงงาน-อาคารขนาดใหญ่ และภาคขนส่ง พร้อมสนับสนุนผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทน ตั้งเป้าลดใช้พลังงาน 8,435 ล้านบาทต่อปี

 นางเอมอร ชีพสุมล รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2560 ซึ่งมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ได้มีการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 เพื่อนำไปใช้ดำเนินงานด้านการอนุรักษ์พลังงาน ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน และศึกษาวิจัยพัฒนาด้านพลังงาน ช่วงเดือนต.ค. 2560 – ก.ย. 2561 วงเงินรวม 8,445 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP2015) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP2015) ซึ่งจะช่วยลดการใช้พลังงานของประเทศได้ 8,435 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ ในงบประมาณปี 2561 มีการสนับสนุนงานทั้งด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน โดยในส่วนของการอนุรักษ์พลังงาน มุ่งเป้าให้มีการลดใช้พลังงานในกลุ่มโรงงาน และอาคารควบคุมซึ่งมีการใช้พลังงานสูง จำนวนกว่า 7,000 แห่ง ซึ่งกำหนดให้มีการกำกับดูแลตามกฎหมาย

 นอกจากนี้ ได้ส่งเสริมให้มีการติดตั้งระบบควบคุมอัตโนมัติและระบบ Internet of Thing ร่วมกับอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน เพื่อรายงานผลออนไลน์กลับมายังส่วนกลาง พร้อมกันนี้ ที่ประชุมฯ ได้เร่งรัดการบังคับใช้มาตรฐานอาคารควบคุม (Energy Building Code : BEC) เพื่อให้อาคารใหม่ที่จะสร้างในอนาคต ปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด รวมทั้งจะมีการติดฉลากอาคารธุรกิจที่ใช้งานในปัจจุบันจำนวน 150 แห่ง และจัดทำฉลากมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานของบ้านอยู่อาศัย เพื่อเป็นข้อมูลในการเลือกอาคาร-บ้านประหยัดพลังงานให้แก่ประชาชนทั่วไป โดยจะมีการจัดตั้งศูนย์บริการที่ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ในส่วนของฉลากอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน จะมีการติดฉลากรวม 16 รายการ เช่น เตาแก๊ส กระจก อุปกรณ์ความเร็วรอบมอเตอร์ สีทาบ้าน เป็นต้น พร้อมกับทบทวนมาตรฐานฉลากเก่าและศึกษามาตรฐานของอุปกรณ์ใหม่อีกด้วย

ส่วนมาตรการสนับสนุนการลงทุนเพื่อการอนุรักษ์พลังงานที่สำคัญ ได้จัดทำโครงการสำหรับเปิดให้ผู้ประกอบการทั้งโรงงาน อาคารขนาดใหญ่ และ SMEs ได้ยื่นขอรับการสนับสนุนเงินลงทุนในการเปลี่ยนอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานความร้อนด้วยวิธีอุดหนุนผลประหยัด (DSM Bidding) การจัดการพลังงานในระบบอากาศอัดด้วยระบบควบคุมอัตโนมัติ เป็นต้น นอกจากนี้ในส่วนของโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งเป็นกลุ่มอาคารที่มีการใช้พลังงานสูงและทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ทางกองทุนฯ จึงได้จัดทำโครงการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงในโรงพยาบาลของรัฐ ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กด้วย

นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนการอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่ง ในการพัฒนาหลักสูตรและฝึกอบรมผู้ขับขี่รถบรรทุกเพื่อการประหยัดพลังงาน ไม่น้อยกว่า 5,000 คน ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะสามารถลดการใช้เชื้อเพลิงในการขนส่งสินค้า และช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงานของเจ้าของกิจการด้วย รวมถึงการสนับสนุนนโยบายประชารัฐ ในการสร้างต้นแบบเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) จำนวน 20 แห่ง โดยสนับสนุนผู้ประกอบอาชีพฟาร์มเลี้ยงสัตว์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โดยใช้เครื่องจักร วัสดุ อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน การใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติ ร่วมกับการใช้พลังงานทดแทนอย่างเหมาะสม

สำหรับด้านพลังงานทดแทน ที่ประชุมฯ ได้สนับสนุนให้มีการใช้พลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้า สำหรับใช้ในพื้นที่ที่ต้องการความมั่นคงด้านพลังงาน รวมถึงพื้นที่ห่างไกล เช่น โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน พร้อมกันนี้ได้เตรียมสนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) มาใช้ในกลุ่มบ้านพักอาศัย อาคาร โรงงาน และหน่วยงานราชการ โดยตั้งเป้านำพลังงานทดแทนมาผลิตไฟฟ้าได้ไม่น้อยกว่า 7.7 เมกะวัตต์

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2560 

เกษตรฯโชว์นวัตกรรม เกษตรในงาน SIMA ASEAN

เกษตรฯร่วมจัดนิทรรศการโชว์นวัตกรรม และเทคโนโลยีพัฒนาภาคการเกษตรไทยสู่ 4.0 ในงาน SIMA ASEAN

                นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายและเปิดการสัมมนา "นวัตกรรมเกษตรไทยมุ่งสู่ Thailand 4.0" ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 20 ปีตามแนวคิดประเทศไทย 4.0 จึงได้เป็นเจ้าภาพร่วมกับบริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด จัดงาน SIMA ASEAN THAILAND 2017 ระหว่างวันที่ 7 – 9 กันยายน 2560 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมอบหมายกรมวิชาการเกษตรและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ได้แก่ กรมชลประทาน และกรมพัฒนาที่ดิน ร่วมจัดแสดงผลงานเทคโนโลยี/นวัตกรรมทางการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตทางการเกษตรได้รับทราบแลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรมการเกษตรไทย และเชื่อมโยงอุตสาหกรรมการเกษตรให้เกิดความเข้มแข็งระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยในภาคเกษตรให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

                สำหรับกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การจัดสัมมนาวิชาการและนิทรรศการด้านการเกษตรที่น่าสนใจ อาทิ โดรนหรืออากาศยานไร้คนขับ สำหรับพ่นสารชีวภัณฑ์เป็นเทคโนโลยีใหม่เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 ที่กรมวิชาการเกษตรผลิตขึ้นและได้รับรางวัลชนะเลิศจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่องอัจฉริยะ (Smart box) ซึ่งบรรจุองค์ความรู้ด้านการผลิตพืชที่ตรงกับความต้องการของเกษตรกร เผยแพร่ผ่านศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และผลงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมงานวิจัยทางการเกษตรของกรมวิชาการเกษตรที่ตอบสนองต่อการขับเคลื่อนการผลิตภาคการเกษตรเข้าสู่ Thailand 4.0 เป็นต้น ทั้งนี้ ภายในงานได้มีผลิตภัณฑ์ปุ๋ยชีวภาพและปุ๋ยหมักเติมอากาศ แจกให้ผู้เข้าร่วมชมงานด้วย 

                 นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมวิชาการเกษตร ยังจัดให้มีการสัมมนาในหัวข้อ "นวัตกรรมเกษตรไทยมุ่งสู่ Thailand 4.0 โดยมีบุคลากรกรมวิชาการเกษตร    หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และเกษตรกรที่สนใจ จำนวน 400 คน เข้าร่วมสัมมนา เพื่อรับทราบผลงานเทคโนโลยีนวัตกรรมทางการเกษตรที่สามารถนำไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อนำไปพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืช ตลอดจนเป็นช่องทางการต่อยอดการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการธุรกิจการเกษตร   รวมทั้งสร้างโอกาสในการขยายเครือข่ายทางธุรกิจเกษตรของไทยสู่ภูมิภาคอาเซียน

                อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปภาคการเกษตรของไทยในแนวคิดไทยแลนด์ 4.0 การเกษตรต้องใช้นวัตกรรมแบบอัจฉริยะตั้งแต่การผลิต การแปรรูป และการตลาด เพื่อยกระดับมูลค่าสินค้าและใช้พื้นที่การเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งในปี 2560 – 2561 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเน้นการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืนด้วยนโยบายกระดาษ A4 ทั้งในด้านคุณภาพสินค้า ด้านประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร และการลดรายจ่ายในครัวเรือน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าอีก 20 ปีข้างหน้า จะพัฒนาเกษตร 4.0 อย่างครบวงจร และเชื่อมั่นว่าพัฒนาการเกษตรของชาติโดยการสร้างความเข้มแข็งให้กับฐานรากของการพัฒนาให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน สามารถเกิดขึ้นได้จริง

จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2560 

เร่งอุตสาหกรรมเป้าหมาย ชูอีอีซียกไทยประเทศชั้นนำ

          ทีมเศรษฐกิจ

          ปิดจ๊อบกันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับการผลักดัน

          โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน กว่า 5.5 แสนล้านบาท เพื่อสนับสนุนโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี หลังบอร์ดใหญ่ ที่มี "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เห็นชอบโครงการลงทุนไปสารพัด ไล่ตั้งแต่การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา รถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน รถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์ รวมไปถึงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือมาบตาพุด

          ทำให้ตอนนี้รัฐบาลเริ่มคลายความกังวลลงไปได้เปราะใหญ่ หลังจากโครงการเมกะโปรเจคท์ได้ถูกทำคลอดไปแล้วจนหมดสิ้น จะมีก็แต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้นที่อาจมาเก็บรายละเอียดอีกนิดหน่อย แล้วนับจากนี้...รัฐบาลเองก็หันมาผลักดันอีกโครงการที่จะเข้ามาช่วยเติมเต็ม "อีอีซี" ให้ยิ่งใหญ่ จนเกิดผลสำเร็จจับต้องได้ นั่นคือการลงทุน "อุตสาหกรรมเป้าหมาย" ในระยะ 5 ปีแรกที่มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 5 แสนล้านบาท

          ต่างชาติจ้องลงทุน

          สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่รัฐบาลพยายามปักธงหนุนกันสุดลิ่มในคราวนี้ นับเป็นที่ตื่นตาตื่นใจสำหรับนักลงทุนหลากหลายประเทศเป็นอย่างมาก จนบางรายพยายามเดินทางมาดูข้อมูล มาพบบรรดาผู้ใหญ่ในรัฐบาลเพื่อสอบถามรายละเอียดด้วยตัวเอง หรือแม้กระทั่งเข้าไปสอบถามข้อมูลจากหน่วยงานของไทยในต่างประเทศ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับการลงทุนที่ชัด ๆ โดยส่วนใหญ่ยอมรับว่า หากไทยเดินหน้าลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีอยู่กว่า 10 ประเภทอุตสาหกรรมนี้ได้สำเร็จ จะช่วยยกระดับประเทศไทยก้าวขึ้นชั้นผู้นำทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอย่างไม่ต้องสงสัย

          แต่ในระยะแรกนี้ รัฐบาลขอผลักดันอุตสาหกรรมสำคัญออกมานำร่องก่อน นั่นคือ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และยานยนต์แห่งอนาคต กลุ่มอุตสาหกรรมการบิน หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเลียม และเคมีชีวภาพขั้นสูง และกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

          ดันยานยนต์ไฟฟ้า

          ทั้งนี้ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า นับเป็นอุตสาหกรรมกลุ่มแรกที่รัฐได้เร่งขับเคลื่อนออกมาจนเห็นเป็นรูปร่าง ล่าสุดกระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอแผนส่งเสริมให้กับที่ประชุมครม.ได้รับทราบไปเป็นที่เรียบร้อย โดยออกเป็นมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย พร้อมทั้งมอบหมายบรรดาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเร่งทำให้เกิดผลสำเร็จ โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายต้องการสร้างฐานการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งจะมีมาตรการมากมายมาส่งเสริม ทั้งการลงทุนเพื่อสร้างอุปทาน มาตรการกระตุ้นตลาดภายในประเทศ การเตรียมความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน การจัดทำมาตรฐานรถยนต์ไฟฟ้า การบริหารจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้ว และมาตรการสนับสนุนอื่น ๆ

          เร่งนิคมการบินอู่ตะเภา

          จากนั้นไม่นานนัก รัฐบาลเร่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมใหม่ออกมาอีก ที่จับต้องได้ นั่นคือ อุตสาหกรรมการบิน และอากาศยาน โดย "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงทุนหอบคณะลงพื้นที่ เพื่อประชุมคณะกรรมการนโยบายอีอีซี นัดแรกที่สนามบินอู่ตะเภา เพื่อแจ้งให้เห็นเป็นสัญลักษณ์ว่า รัฐบาล "เอาจริง" กับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบิน โดยพร้อมใช้พื้นที่ของสนามบินอู่ตะเภาของกองทัพเรือ มาเป็นจุดเริ่มต้น สร้างนิคมอุตสาหกรรมการบิน และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องให้เกิดขึ้นในไทยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

          ล่าสุด...การผลักดันอุตสาหกรรมนี้ในการประชุมบอร์ดอีอีซี ชุดเล็กเมื่อไม่นานมานี้ ได้รับทราบความก้าวหน้าการทำงาน หลังจากบริษัท การบินไทย ได้เดินหน้าทำโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ขึ้นที่สนามบินอู่ตะเภา  คาดว่าจะสร้างรายได้ให้ประเทศมากกว่า 3,500 ล้านบาทต่อปี โดยมีบริษัทต่างชาติสนใจและต้องการลงทุนศูนย์ซ่อมสนามบินอู่ตะเภาจำนวนมาก เช่น แอร์บัส โบอิ้ง ซาบ มิตซูบิชิ รวมไปถึงมีเอกชนจากเกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ดังนั้นเพื่อรองรับแรงปรารถนา บอร์ดจึงมีมติให้สำนักงานการท่าอากาศยานอู่ตะเภา และสำนักงานอีอีซี จัดหาพื้นที่เพิ่มเติมเพื่อรับการลงทุนเพิ่มเติมจากโครงการของการบินไทย

          ทยอยชงครม.ไฟเขียว

          ด้านการผลักดันอุตสาหกรรมอื่น ๆ หน่วยงานต้นทางอย่างกระทรวงอุตสาหกรรมก็กำลังแต่งตัวเตรียมความพร้อม โดย "อิทธิชัย ปัทมสิริวัฒน์"รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม หรือสศอ. ยอมรับว่า ตอนนี้สศอ.อยู่ระหว่างทำแผนอุตสาหกรรมเป้าหมายในกลุ่มหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ กลุ่มอาหาร และกลุ่มเศรษฐกิจชีวภาพ หรือไบโออีโคโนมี เสนอให้ รมว.อุตสาหกรรม รับทราบก่อนยกไปนำเสนอให้ที่ประชุม ครม.ไฟเขียวเดินหน้าต่อให้เป็นรูปธรรม หลังจากได้นำแผนส่งเสริมยานยนต์เข้า ครม.แล้ว

          ทั้งนี้มองว่า แผนงานด้านอุตสาหกรรมอื่น จะทยอยเสนอภายในปีนี้ โดยกระทรวงอุตสาหกรรม เชื่อว่า ในแผนส่งเสริมอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อาจเสนอเข้าไปให้ที่ประชุมครม.ได้อย่างเร็วที่สุด คือ เดือน ส.ค.นี้ ตามมาด้วยอุตสาหกรรมชีวภาพ ที่ตอนนี้ได้หารือกับผู้ประกอบการที่จะเข้ามาลงทุนและการจัดหาพื้นที่เพื่อพัฒนาเป็นเขตส่งเสริมพิเศษ เนื่องจากผลผลิตจากสินค้าเกษตรสามารถนำมาใช้ได้ทั้งในอุตสาหกรรมที่เป็นอาหารและไม่ใช่อาหาร

          เตรียมพื้นที่รองรับ

          ขณะที่การเตรียมความพร้อมของพื้นที่มารองรับบรรดาอุตสาหกรรมชนิดใหม่ "วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม" ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือกนอ. ผู้รับผิดชอบงานโดยตรง เล่าให้ฟังถึงรายละเอียดการตระเตรียมพื้นที่ครั้งนี้ว่า ตอนนี้มีข่าวดี หลังจากบอร์ดบริหารเห็นชอบหลักการสำหรับหลักเกณฑ์การจัดตั้งเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเอกชนที่สนใจลงทุนตั้งนิคมฯสามารถยื่นขอเป็นเขตส่งเสริมฯ

          ปัจจุบันมีพื้นที่ที่มีความพร้อมอยู่แล้วในอีอีซี 4 แห่ง ประกอบด้วย นิคมฯเหมราช อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 รองรับอุตฯหุ่นยนต์ ยานยนต์อนาคต การบินและชิ้นส่วน นิคมฯอมตะ มีความพร้อมเป็นเมืองอัจฉริยะด้านการศึกษาและความรู้เทคโนโลยี และนิคมฯปิ่นทอง 5 รองรับอุตฯยานยนต์อนาคต โดยทั้ง 3 แห่งจะเสนอบอร์ดนโยบายอนุมัติเป็นเขตส่งเสริมต่อไป พื้นที่รวมประมาณ 15,000-16,000 ไร่

          จะเห็นได้ว่านับจากนี้มีเรื่องน่าตื่นเต้นไม่น้อยที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะการทำคลอดบรรดาอุตสาหกรรมชนิดใหม่ต่าง ๆ ที่ประเทศไทยไม่เคยมี ทั้งหมดนี้ก็เพื่อนำเข้ามาเสริมเติมเต็มให้โครงการอีอีซีประสบความสำเร็จ และยกประเทศไทยก้าวเข้าสู่กลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของเอเชียในไม่ช้า.

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2560 

เปิดพื้นที่อีอีซีรับทัพลงทุนญี่ปุ่น

รัฐจัดเวทีใหญ่จับคู่ธุรกิจหวังดึงปักหมุดไทย “อุตตม” เผยนักธุรกิจญี่ปุ่น 600 ราย เตรียมยกทัพพบนายกฯตู่ 11 ก.ย.นี้ ก่อนลงทุนพื้นที่อีอีซี 13 ก.ย. พร้อมจัดเวทีสัมมนาใหญ่ญี่ปุ่น–ไทยกว่า 1,200 รายคึกคัก และเปิดโต๊ะเจรจาจับคู่ธุรกิจ หวังช่วยดันการลงทุนในประเทศไทยเพิ่ม ขณะที่กระทรวงอุตสาห-กรรมดึงบิ๊กบิ๊กเอกชนไทยเบฟฯ-น้ำตาลราชบุรี ตั้งนิคมอุตสาหกรรมอาหารครบวงจร

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในวันที่ 11-13 ก.ย.นี้นักลงทุนญี่ปุ่นจำนวน  600 ราย จะเดินทางมาเยือนประเทศไทยโดยมีนายฮิโรชิกเงะ เซโกะ รมว.เศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (เมติ) เป็นผู้นำคณะโดยจะเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 11 ก.ย. เพื่อหารือลู่ทางการลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย รวมทั้งจะมีการจัดสัมมนา Symposium on Thailand 4.0 towards Connected Industries ในวันที่ 12 ก.ย. หลังจากนั้น ในวันที่ 13 ก.ย. คณะนักลงทุนทั้งหมดจะลงพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จึงมั่นใจใจว่าเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในครั้งนี้จะก่อให้เกิดการลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในงานสัมมนาวันที่ 12 ก.ย.นี้ ที่ 4 หน่วยงานหลักๆ ได้จัดขึ้น ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และสำนักงานอีอีซี จะเป็นการชี้แจงให้นักลงทุนญี่ปุ่นทั้ง 600 ราย ให้เข้าใจแนวโน้มและนโยบายการลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น รวมทั้งในงานยังจะมีผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทยอยู่แล้วอีก 400 รายและนักลงทุนไทย 300 รายเข้าร่วมงาน โดยไทยจะชูจุดขายเรื่องอีอีซีเป็นหลัก และภายในงานยังมีกิจกรรมจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพ 300 ราย กับคณะของญี่ปุ่น ที่แบ่งโซนไว้ 4 โซนคือ 1.ชิ้นส่วนยานยนต์ 2.อิเล็กทรอนิกส์ 3.ไบโอเทคโนโลยี 4.อุตสาหกรรมบริการ ส่วนโซนที่ 5.เป็นหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการค้าและลงทุน

นอกจากนี้ ภายในงานยังจะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) รวม 7 ฉบับ คือ 1.สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (เคดันเรน) กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หอการค้าไทยกับสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งญี่ปุ่น (JCCI) 2.สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ .) กับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) 3.กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกับสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ภายใต้แนวคิด ความร่วมมือทางไกลระหว่างมหาวิทยาลัยของญี่ปุ่นกับนักลงทุนไทย (Flex Campus)

4.นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร กับบริษัทฮิตาชิ 5.กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กับองค์การส่งเสริมเสริมการค้าระหว่างประเทศ กับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) 6.กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กับ องค์การสนับสนุนอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศญี่ปุ่น (SMRJ) 7.กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและบริษัท JC Service Co.,Ltd.

นายอุตตม กล่าวว่า การมาครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยและญี่ปุ่น มีความสัมพันธ์ครบ 130 ปีซึ่งปัจจุบันญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ลงทุนในไทยให้เป็นฐานการผลิตที่สำคัญและการมาครั้งนี้ได้ยืนยันว่าประเทศไทยยังเป็นประเทศที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมลงนามร่วมกับเอกชนรายใหญ่ 2 บริษัท เพื่อร่วมกัน จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอาหารครบวงจร (ฟู้ดวัลเลย์) เพื่อพัฒนาต่อยอด ใช้นวัตกรรมสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด จะตั้งนิคมอุตสาหกรรมอาหารครบวงจร ที่ อ.ปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ในโครงการผลิตและแปรรูปสินค้าอาหาร และบริษัท น้ำตาลราชบุรี จำกัดจะจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอาหาร ที่จังหวัดราชบุรี ที่เป็นแหล่งผลิตและเพาะปลูกอ้อย มาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตอาหารที่ผลิตจากอ้อยและน้ำตาลทราย

ขณะเดียวกัน กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างพิจารณาสิทธิประโยชน์พิเศษ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมจากมาตรการส่งเสริมของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และผู้เชี่ยวชาญที่เข้ามาทำงานในพื้นที่จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และจะได้สิทธิพิเศษอื่นๆ คาดว่านำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือน ต.ค.นี้ โดยรูปแบบการลงทุนดังกล่าว จะเป็นการพัฒนาเอสเอ็มอีให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ผู้ประกอบการรายใหญ่สามารถเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยได้ โดยผู้ประกอบการที่เข้าไปลงทุนในโครงการเวิลด์ ฟู้ดส์ วัลเลย์ ไทยแลนด์ จะได้ประโยชน์จากการใช้วัตถุดิบในพื้นที่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ที่เชื่อมโยงทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ.

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2560 

กรมชลฯ เผยปริมาณฝนค่าเฉลี่ยปีนี้ เท่ากับปี 54 แต่ยันไม่เกิดน้ำท่วมใหญ่แน่

 กรมชลฯ เผยปริมาณฝนค่าเฉลี่ยปีนี้ เท่ากับปี54 แต่ยันไม่เกิดน้ำท่วมใหญ่แน่ เตรียมแก้มลิง 12 ทุ่งภาคกลาง หากมีพายุเข้า ตัดยอดน้ำหลาก 1.6 พันล้านลบ.ม.เท่ากับเขื่อนป่าสัก 2 เขื่อน เร่งลงพื้นที่ทำความเข้าใจชาวนา หลังเก็บเกี่ยวข้าว อย่าปลูกต่อเนื่อง ขอใช้พื้นที่หน่วงน้ำ ระบุนายกฯมาเป็นประธานปล่อยน้ำเข้าทุ่งบ้านแพน อ.เสนา คืนวิถีเกษตรกร 19 ก.ย.นี้

วันนี้ ( 7 ก.ย.60) นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ร่วมประชุมกับสำนักงานชลประทาน ที่ 10-11-12 เป็นหน่วยงานบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ชลประทานลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัด เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำเหนือ ณประชุมสำนักงานชลประทาน ที่ 12 เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท

นายทองเปลว กล่าวว่า ปริมาณฝนตกทั่วประเทศจนถึงขณะนี้ วัดค่าเฉลี่ยปีนี้ 1,370 มม.เท่ากับปี 2554 และมากว่าปีที่แล้ว 35% โดยภาคเหนือ มีปริมาณ ฝนมากว่า 18% ภาคกลาง 36 ส่งผลระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ล้นตลิ่งเร็วขึ้นในพื้นที่ที่ท่วมประจำ แต่ขอให้สบายใจได้ เพราะปริมาณน้ำลำน้ำเจ้าพระยา ยังไม่มากเท่ากับปี54 ซึ่งมีระดับน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา สูงสุดถึง 2.5 พันลบ.ม.ต่อวินาที เทียบในเวลาเดียวกันปีนี้มีปริมาณ 1.9 พันลบ.ม.ต่อวินาที โดยจะไม่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่แบบปี54 แน่นอน เพราะได้เตรียมการณ์ล่วงหน้า สำหรับพื้นที่แก้มลิง 12 ทุ่งนาหลังเก็บเกี่ยวเสร็จ วันที่ 15 ก.ย. ใช้พื้นที่ 1.15 ล้านไร่ ภาคกลางลุ่มเจ้าพระยา ทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก ไว้ตัดยอดหลาก ได้มากถึง 1.6 พันล้านลบ.ม. ตามนโยบาย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯให้เลื่อนปลูกข้าวเร็วขึ้นเพื่อเก็บเกี่ยวได้ก่อนไม่เกิดความเสียหายเมื่อฤดูน้ำมาถึง และได้ประสบความสำเร็จไปแล้วที่ พื้นที่ทุ่งบางระกำ ใช้เป็นพื้นที่แก้มลิง 2.65 แสนไร่ รับน้ำหลากได้ 400 ล้านลบ.ม.บรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำยม

"ปี 54 จะเห็นว่ามีปริมาณน้ำเขื่อนขนาดใหญ่ ทั่วประเทศมากถึง 77% ปริมาณ 5.4 หมื่นล้านลบ.ม. แต่ปีนี้ 4.8 หมื่นล้านลบ.ม. ซี่งแตกต่างกัน 6 พันล้านลบ.ม. ถ้าหากมีฝนตกด้านเหนือ เขื่อนใหญ่ สามารถรองรับน้ำได้อีกมาก ซึ่ง ปี54 เขื่อนใหญ่ที่มีน้ำกักเก็บ 81 % มีเขื่อน 9 แห่ง ปีนี้ เขื่อนใหญ่มีน้ำ 81 % มีเขื่อน 6 แห่ง รวมทั้งจากการประเมินกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าเดือน ก.ย. มีฝนตก 60% หรือ 300-400 มม.และฝนจะหมดหลังวันที่ 15 ต.ค.โดยกรมชลฯ หน่วยงานด้านน้ำ ร่วมประชุมวิเคราะห์สถานการณ์ วันที่ 11 ก.ย. และในพื้นที่ร่วมประชุมผู้ว่าทุกจังหวัด ฝ่ายปกครอง วันที่ 12 ก.ย.จัดลำดับ 12 ทุ่ง ขอความร่วมมือไม่ให้ปลูกข้าวต่อเนื่อง แจ้งพื้นที่ให้ประชาชน เกษตรกร รับรู้ก่อนนำน้ำเข้าทุ่งเมื่อไหร่ จะติดตามสถานการณ์จากกรมอุตุฯ อย่างเข้มข้น มีพายุ เข้าเมื่อไหร่ จะต้องตัดสินใจ ตัดยอดน้ำจากหน้าเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด หากมีฝนตกมาซ้ำอีก โดยไม่กระทบบ้านเรือนประชาชน เส้นทางสัญจร รวมถึงไม่กระทบจังหวัดด้านท้ายเจ้าพระยาเช่น ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพ ซึ่งในขณะนี้ต้องลดผลกระทบพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ ปัจจุบันแช่มาสองเดือนแล้ว"นายทองเปลว กล่าว

นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักชลประทาน 10 กล่าวว่าขณะนี้บางพื้นที่เกี่ยวข้าวแล้ว และวันที่ 19 ก.ย. นายกรัฐมนตรี มาประชุมครมสัญจร ที่จ.พระนครศรีอยุธยา มีกำหนดการจะมาเป็นประธานปล่อยน้ำเข้าทุ่งบ้านแพน อ.เสนา จำนวน 6 พันไร่ โดยกระทรวงเกษตรฯจะปล่อยปลา คืนวิถีชีวิตเกษตรกร ตัดวงจรศัตรูพืช

นายสุชาติ เจริญศรี ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทาน ที่ 12 กล่าวว่าปีนี้ไม่เกิดน้ำท่วมใหญ่แน่นอน เพราะความสำเร็จ จากการใช้พื้นที่แก้มลิง 1.15 ล้านไร่ ได้จริง ปีนี้ครั้งแรกที่เกิดความร่วมมือจากเกษตรกร ใช้ประชารัฐมาพูดคุยกัน เมื่อปี 54 แก้มลิงนี้ไม่มี และยังเหนือเขื่อนเจ้าพระยา เป็นพื้นที่หน่วงน้ำอีก "แก้มลิงชะลอน้ำ 1.6 พันล้านลบ.ม. ได้น้ำเท่ากับเขื่อนป่าสัก 2 เขื่อน ไม่ใช่น้อยๆในอดีตไม่เคยทำได้ เพราะการเมือง "นายสุชาติ กล่าว

ต่อจากนั้นนายทองเปลว ได้ลงพื้นที่ร่วมเก็บเกี่ยวข้าว อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา และไปพบปะเกษตรกร ต.ชีน้ำร้าย อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี กล่าวว่าในบริเวณทุ่งเชียงราก 3.8 หมื่นไร่ ขออย่าปลูกข้าวต่อ ควรปลูกอีกรอบเดือน ธ.ค. ให้ปล่อยพื้นที่ไว้รับน้ำนองซี่งจะควบคุมการปล่อยน้ำในระดับ80-1.30 ม.จะไม่มีผลกระทบ นอกจากนี้ฤดูยังอยู่อีก 1 เดือนกว่า อย่าไว้ใจ เพราะฝนตอนนี้มักจะตกท้ายเขื่อน และตกในลุ่มเจ้าพระยาส่วนใหญ่ ซึ่งปีนี้บอกข่าวดี ประเมินว่าวันที่ 1 พ.ย. จะมีปริมาณน้ำจาก4 เขื่อนใหญ่ได้ ถึง1.2 หมื่นล้านลบ.ม. มากกว่าปี แล้วที่มีน้ำ 9.7 พันล้านลบ.ม. ซึ่งชาวนาจะได้ทำนาเร็วขึ้น

ด้านนายพินิจ เพ็ญภาค อายุ65 ปี อาชีพทำนา 80 ไร่ กล่าวว่าดีใจมากเกี่ยวข้าวได้หมดฤดูฝนปีนี้ ไม่ได้รับความเสียหายเลย เพราะกรมชลฯมาปรับปรุงประตูระบายน้ำบางโฉมศรี ได้ติดตั้งเครื่องเดินระบบสูบน้ำสามารถระบายน้ำฝนจากพื้นที่นาโดยเร็ว

จาก http://www.siamrath.co.th วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2560 

กรมชลฯ รับมือฝนช่วงก.ย.-ต.ค. ปรับปฏิทินทำเกษตรเร็วขึ้น ลดผลกระทบพืชไร่เสียหาย ใช้พื้นที่เป็นแก้มลิงรองรับน้ำ

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2560 ของลุ่มน้ำเจ้าพระยาไว้แล้วตั้งแต่ต้นฤดูฝนที่ผ่านมา โดยปรับปฏิทินการส่งน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน คือพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ 265,000 ไร่ ให้ทำนาปีให้เร็วขึ้น ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560 เป็นต้นมา ซึ่งตรงกับความต้องการและได้รับผลตอบรับจากเกษตรกรในพื้นที่เป็นอย่างดี ทำให้ปัจจุบันเกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เต็มพื้นที่ เสร็จก่อนฤดูน้ำหลาก และสามารถรับน้ำเข้าไปเก็บไว้ในทุ่งได้แล้วกว่า 150 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 400 ล้าน ลบ.ม.

นายทองเปลว กล่าวว่า ปรับปฏิทินการส่งน้ำเพื่อทำนาปีให้เร็วขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างบริเวณ 12 ทุ่ง ได้แก่ ทุ่งเชียงราก ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งบางบาล ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโพธิ์พระยา โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระยาบันลือ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ พื้นที่รวมทั้งสิ้น 1.15 ล้านไร่ โดยกรมชลประทานได้เริ่มส่งน้ำให้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นมา เพื่อให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตให้แล้วเสร็จก่อนฤดูน้ำหลากเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้ ปัจจุบันมีการเพาะปลูกไปแล้ว 953,706 ไร่ หรือคิดเป็น 83% ของพื้นที่เป้าหมาย มีการเก็บเกี่ยวไปแล้ว 687,551 ไร่ คาดว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเสร็จทั้งหมดภายในกลางเดือนกันยายนนี้ จากนั้นจะใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเหล่านี้ในการตัดยอดปริมาณน้ำหลากบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงไปจนส่งผลกระทบต่อพื้นที่ตอนล่างบริเวณจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี รวมไปถึงกรุงเทพฯด้วย โดยพื้นที่ลุ่มต่ำทั้ง 12 ทุ่ง สามารถรองรับปริมาณน้ำได้รวมกันประมาณ 1,500 ล้าน ลบ.ม.

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2560 

ค่าเงินบาทเปิดตลาด 33.13 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากเงินไหลเข้าไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ค่าเงินบาทประจำวันที่ 7 ก.ย. 2560 ระบุว่า ค่าเงินบาทเช้าวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 33.13 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากการปิดตลาดเมื่อวันพุธ (6 ก.ย.) ที่ระดับ 33.14 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบัน (9.20 น.) มีการซื้อขายอยู่ที่ 33.13 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ เพราะไม่มีปัจจัยจากในประเทศ ในขณะเดียวกันผ่านพ้นช่วงสิ้นเดือนที่มีความต้องการซื้อขายค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ยังเห็นเงินเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าจากต่างประเทศเข้ามาที่พันธบัตรของไทยโดยเคลื่อนไหวมาจากการเคลื่อนย้ายสินทรัพย์จากเกาหลี ในช่วงที่มีข่าวเกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธค่าเงิน ทำให้ทิศทางค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง

ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยคาดการณ์กรอบการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทระหว่างวันนี้ไว้ที่ 33.10-33.18บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยระหว่างวันไม่มีตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญทั้งในและต่างประเทศ

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2560 

ปลดแอกเกษตรพันธสัญญา-

หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่ 26 พ.ค. 2560 วันที่ 23 ก.ย.นี้ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาฯ จะบังคับใช้เป็นทางการ ปฏิวัติรูปแบบการทำการเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) ที่บริษัทเอกชนส่งเสริมเกษตรกรปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ โดยทำสัญญาซื้อขายผลผลิตล่วงหน้า ให้ต้องเข้ามาอยู่ภายใต้กฎหมาย

เป้าหมายเพื่อส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาให้เป็นธรรม ช่วยป้องกันแก้ไขปัญหาข้อพิพาทระหว่างเกษตรกรกับผู้ประกอบธุรกิจซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และเกษตรกรมักเสียเปรียบหรือตกเป็นเบี้ยล่าง เพราะถูกผูกมัดด้วยสัญญาทาส

โดยกฎหมายใหม่กำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขสัญญาให้เป็นธรรมมากขึ้น และคุ้มครองคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ช่วยให้เกษตรกรกับเอกชนได้ผลตอบแทนในระดับที่เหมาะสม การทำสัญญาเอารัดเอาเปรียบจะหมดไป ลดโอกาสเกิดข้อพิพาทขัดแย้งเป็นคดีในชั้นศาล

สาระสำคัญของ พ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญาฯ กำหนดให้บริษัทเอกชนที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจ Contract Farming หรือเลิกประกอบธุรกิจ ต้องจดแจ้งต่อสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ พร้อมจัดทำเอกสารการชี้ชวนและร่างสัญญาแจ้งให้เกษตรกรทราบล่วงหน้า โดยมีรายละเอียดข้อมูลทางพาณิชย์ แผนผลิต เงินลงทุน ฯลฯ

ขณะที่ตัวสัญญาต้องระบุสิทธิ หน้าที่ของคู่สัญญา ราคา วิธีคำนวณราคาวัตถุดิบและผลิตผล วันส่งมอบผลิตผล กำหนดวันชำระเงิน สิทธิบอกเลิกสัญญา การเยียวยาความเสียหาย และให้เงื่อนไขสัญญาที่ไม่เป็นธรรมไม่มีผลใช้บังคับ

นอกจากนี้ได้กำหนดบทเฉพาะกาล ให้ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรที่ประกอบธุรกิจนี้อยู่แล้ว และประสงค์จะประกอบธุรกิจในระบบพันธสัญญาต่อไป ต้องแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในระยะเวลาที่กำหนด

ต้อนเครือข่ายเกษตรพันธสัญญาส่งเสริมปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ให้เข้ามาอยู่ในระบบทั้งหมด และมีระเบียบกฎหมายควบคุมดูแลโดยเฉพาะ

ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันที่เกษตรกรจำต้องปรับเปลี่ยนการทำเกษตรแบบเดิม ๆ มาทำเกษตรสมัยใหม่ นำนวัตกรรม เทคโนโลยีมาใช้ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิต ขณะที่รัฐส่งเสริมการทำเกษตรแปลงใหญ่ เกษตรภายใต้แนวทางประชารัฐ โดยภาคเอกชนมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนส่งเสริม กฎหมายฉบับนี้จึงถูกคาดหวังสูงว่าจะช่วยป้องกันแก้ไขปัญหาไม่ให้ซ้ำรอยอดีต

ที่สำคัญจะเป็นกฎกติกาส่งเสริมเกษตรพันธสัญญาให้เป็นธรรมและได้รับการยอมรับมากขึ้น ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต รายได้ ทำให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองและดำรงชีวิตได้อย่างมั่นคง ยั่งยืนในระยะยาว

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2560 

ก.อุตฯ หนุนใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ยันไม่แย่งงานคน ยกระดับไทยสู่โลกยุค 4.0 

          ปัจจุบันโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคการผลิตโดยใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อลดต้นทุนการผลิต และยกระดับคุณภาพสินค้าให้ได้เปรียบด้านการแข่งขันมากที่สุด ดังนั้นหากประเทศไทยมีเปาหมายจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในกลุ่มผู้ผลิตชั้นนำ จึงไม่เพียงแต่ต้องไล่ตามเทคโนโลยีนี้ให้ทัน แต่จะต้องมีการวิจัยพัฒนา เพื่อเป็นเจ้าของเทคโนโลยีด้านนี้ด้วยตัวเอง จึงจะผลักดันให้ไทยหลุดจากกับดัก รายได้ปานกลางก้าวไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว

          ด้านสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) คาดการณ์ว่า ปี 2560 อุตสาหกรรมในประเทศจะมีการลงทุนนำหุ่นยนต์และ ระบบอัตโนมัติมาใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและบริการของไทยมูลค่าไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านบาท และขยายการลงทุนได้กว่า 200,000 ล้านบาท ใน 5 ปีข้างหน้า โดยตั้งเป้าหมายมีผู้ทำหน้าที่ออกแบบ ติดตั้งระบบอัตโนมัติเพิ่มเป็น 1,400 ราย ภายใน 5 ปี จากปัจจุบันประเทศไทยมีประมาณ 200 ราย มีการพัฒนาหุ่นยนต์ต้นแบบอย่างน้อย 150 ผลิตภัณฑ์ ถ่ายทอดเทคโนโลยีหุ่นยนต์ชั้นสูงให้แก่ผู้ประกอบการ 200 ราย และฝึกอบรมบุคลากรไม่น้อยกว่า 25,000 คน

          เปิดแผนพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ฯ

          ก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ฯ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 โดยสาระสำคัญ ประกอบด้วยกลไกการพัฒนา 3 ด้าน ได้แก่

          1. การกระตุ้นอุปสงค์ให้เกิดความต้องการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติภายในประเทศ โดยมาตรการการกระตุ้นด้านอุปสงค์ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% สำหรับกิจการที่นำหุ่นยนต์ฯไปใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและบริการ กระทรวงการคลังจะยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 300% ของรายจ่าย เพื่อการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ฯ ส่วนสำนักงบประมาณจะสนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างหุ่นยนต์ฯ ที่ผลิตภายในประเทศ เช่น การใช้ หุ่นยนต์ดูแลผู้ป่วยภายในโรงพยาบาล และระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศอัตโนมัติในพื้นที่อุตสาหกรรม เป็นต้น ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี นำหุ่นยนต์ฯ มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผ่านกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี และกองทุนอื่นๆ

          2. การสนับสนุนอุปทาน เพื่อทำให้ ผู้ผลิตในประเทศมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง ให้สามารถแข่งขันได้ รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ฯ ภายในประเทศ โดยเฉพาะการสร้างผู้ทำหน้าที่ออกแบบ ติดตั้งระบบอัตโนมัติ Sustem Integvator (SI)  ซึ่งจะพัฒนาเป็นผู้ผลิตหุ่นยนต์ฯในอนาคต โดย บีโอไอ จะส่งเสริมกิจการ  ซึ่งจะให้สิทธิประโยชน์การลงทุนในระดับสูงสุด และกระทรวงการคลังจะยกเว้นอากรนำเข้าชิ้นส่วนที่นำมาผลิตหุ่นยนต์ฯ เพื่อแก้ไขปัญหาความลักลั่นทางภาษี

          3.พัฒนาบุคลากรและยกระดับเทคโนโลยีฯ อันนำไปสู่การผลิตหุ่นยนต์ ประเภทอื่นๆ ที่มีความซับซ้อน โดยการจัดตั้ง Center of Robotic Excellence (CoRE) เป็นเครือข่ายความร่วมมือของ 8 หน่วยงาน นำร่องทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ประกอบด้วย สถาบันไทย-เยอรมัน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ ภาคสนาม (FIBO) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่ง หน่วยงานเหล่านี้จะทำหน้าที่รับรองคุณสมบัติ SI ที่จะใช้สิทธิประโยชน์มาตรการภาษีถ่ายทอดเทคโนโลยีหุ่นยนต์  พัฒนาหุ่นยนต์ต้นแบบที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น รวมทั้งจะออกไปเชิญชวนสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านหุ่นยนต์ ในต่างประเทศ เข้ามาร่วมตั้งสถาบันวิจัยด้าน หุ่นยนต์ที่มีมาตรฐานสากล เพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านหุ่นยนต์ในประเทศไทย

          สำหรับมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรม หุ่นยนต์ฯ นี้ แบ่งเป้าหมายออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ในระยะสั้น 1 ปี จะต้องกระตุ้นตลาดหุ่นยนต์ภายในประเทศ มีเป้าหมายให้เกิดการลงทุน ในอุตสาหกรรมนี้ ไม่ต่ำกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้มีประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้น 50% ระยะกลาง 5 ปี จะยกระดับการผลิตและ การใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ที่มีความซับซ้อนและมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ส่วนในระยะยาว 10 ปี จะยกระดับให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในการผลิตและการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในอาเซียน โดยมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง และมีการส่งออกหุ่นยนต์

          ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สศอ. ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง "รวมพลังความร่วมมือการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและระบบอัตโนมัติสู่ประเทศไทย 4.0" ขับเคลื่อนมาตราการดังกล่าวร่วมกันระหว่าง 14 หน่วยงานภาครัฐและเอกชนชึ้น ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศไทย (CoRE) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัท เอสซีจี จำกัด (มหาชน) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริษัท ดับลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท โฮม โปรดักส์ เซนเตอร์ จำกัด บริษัท สุพรัม โพรดักส์ จำกัด บริษัท เควี อีเลคทรอนิกส์ จำกัด และบริษัท ยาวาต้า (ประเทศไทย) จำกัด มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ที่ผลิตภายในประเทศ สนับสนุน System Integrator (SI) และต่อยอดงานวิจัยสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่ตั้งไว้ โดยกำหนดให้มีความร่วมมือต่างๆ ดังนี้ 1.) ผลักดันมาตราการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม 2.) พัฒนาบุคลากร 3.) สร้างและพัฒนาระบบนิเวศน์ (Ecosystem) เพื่อดึงดูดให้เกิดการลงทุนเน้นในพื้นที่ EEC 4.) ร่วมเผยแพร่งานวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีหุ่นยนต์สู่ภาคอุตสาหกรรม 5.) บูรณาการเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมขนส่ง และสาธารณูปโภค และ 6.) อุตสาหกรรมในประเทศมีการลงทุนนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และบริการของไทยมูลค่าไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านบาท ในปี 2560

          เอกชนขานรับลงทุน อุตฯ หุ่นยนต์ในไทย

          มี 5-7 บริษัท ที่เบื้องต้นประกาศลงทุนแน่นอนแล้ว แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขสนับสนุนของรัฐ อาทิ บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท ดับบลิว เอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด บริษัท สุพรีม โพรดักส์ และบริษัท ยาวาต้า (ประเทศไทย) จำกัด และยังมีผู้ผลิตหุ่นยนต์ประมาณ 3 ราย ให้ความสนใจที่จะเข้ามาตั้งโรงงานผลิตหุ่นยนต์ในไทย  เช่น บริษัทฮิราตะ ได้เข้ามาร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการไทยแล้ว ส่วนอีก 2 รายจะเป็นการผลิตหุ่นยนต์ทาง การแพทย์ และหุ่นยนต์เฉพาะทาง ซึ่งในอนาคตบริษัทญี่ปุ่นในไทยจะนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

          หากทุกภาคส่วนร่วมใจเดินหน้าไปตามแผนการที่วางไว้ ก็จะทำให้ ภาคการผลิตและบริการของไทยเกิดการ พลิกโฉมครั้งใหญ่ นอกจากช่วยยกระดับเศรษฐกิจของไทยให้ก้าวมายืนบนลำแข้งของตัวเองได้ ยังเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรองรับสังคมสูงอายุและอนาคต หากแรงงานต่างด้าวย้ายออกไปทำงาน ที่อื่น รวมทั้งยังมีส่วนสำคัญในการผลักดันอีก 9 อุตสาหกรรมแห่งอนาคตของไทย ให้ไปสู่เป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว

          นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ตอกย้ำถึงแนวทางดังกล่าว ว่า หุ่นยนต์ฯไม่เพียงแต่จะช่วยยกระดับการผลิตในภาคอุตสาหกรรม แต่ยังช่วยสนับสนุนการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เช่น การเกษตร สาธารณสุข โลจิสติกส์ การท่องเที่ยว และธุรกิจบริการอื่นๆ ซึ่งจะทำให้ทุกภาคเศรษฐกิจของไทยมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ลดต้นทุนในการดำเนินงาน แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในระยะยาว และยกระดับประเทศไทยไปสู่ ไทยแลนด์ 4.0 ตามเป้าหมายของรัฐบาล

          "ประเทศไทยจำเป็นต้องยกระดับการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดปัญหาปลดพนักงานออก เพราะระบบนี้จะใช้ในงานที่มีความเสี่ยง ต้องการความปลอดภัย หรืองานที่ใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพ โดยอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ฯ จะช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมอนาคต (First S-Curve และ New S-Curve) อื่น ๆ อีก 9 อุตสาหกรรม โดยสอดรับกับแนวคิดประเทศไทย 4.0 ที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยนวัตกรรม  และเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจจากการพึ่งพาแรงงานไปสู่การผลิตสมัยใหม่ด้วยองค์ความรู้ การผลิตขั้นสูงที่มีมูลค่าเพิ่ม โดยปัจจุบันอุตสาหกรรมไทยส่วนใหญ่ยังใช้ระบบ Manual คิดเป็นสัดส่วน 85% ของโรงงานที่สำรวจ  ทั้งนี้อุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีแผนที่จะลงทุนเปลี่ยนเป็นหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติภายใน 1-3 ปี สูงถึง 50% จึงเป็นโอกาสที่ดีในการขยายอุตสาหกรรมหุ่นยนต์"

          ขณะที่นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่า ขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างพิจารณาเตรียมจัดงานโรบอต แฟร์ (Robotic Fair) ขึ้นในปี 2561 เพื่อรวบรวมผู้ผลิตมาต่อยอดการลงทุนในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กำลังศึกษาการใช้ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) รองรับการลงทุนที่เหมาะสม

          "กนอ. กำลังศึกษาการลงทุน 2 รูปแบบ ได้แก่ 1. นิคมอุตสาหกรรมรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย 2. นิคมอุตสาหกรรมรายประเทศ เรากำลังดูว่านิคมอุตสาหกรรมไหนมีพื้นที่เหลือ ส่วนจีนต้องการพื้นที่ที่มีเฉพาะคนจีนลงทุนอยู่ เราก็คิดว่าน่าจะทำเป็นรายประเทศไปด้วย"

          ด้านนายอาชว์ เตาลานนท์ รองประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า หุ่นยนต์จะเข้ามาแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานของไทย และยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมนี้ภายในประเทศ บริษัทใหญ่ๆ จะต้องเข้ามาร่วม เพื่อสร้างความต้องการภายในประเทศ ดึงดูดให้มีการลงทุนตั้งโรงงานผลิตหุ่นยนต์ในไทย และเกิดการสร้างวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ในสาขานี้

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2560 

กางแผนลงทุน3.42แสนล.ผุด101โครงการ เชื่อมลอจิสติกส์พื้นที่EECแบบไร้รอยต่อ 

          สนข.กางแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหนุน Super Cluster ใน พื้นที่ EEC ในช่วง 5 ปี (60-64) รวม 101 โครงการ มูลค่า กว่า 3.42 แสนล้าน จัดลำดับแผน บูรณาการ โครงข่าย "ถนน-มอเตอร์เวย์รถไฟ" ไร้รอยต่อ ตั้งเป้าลดต้นทุน ลอจิสติกส์ เหลือ 12% ในปี 64 ดัน GDP แตะ 4%  เร่งสรุปชงบอร์ด บริหาร EEC ใน ก.ย.นี้

          นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผย ภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนา นำเสนอผลงานและรับฟังความคิดเห็นต่อร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการศึกษาพัฒนาระบบเครือข่ายลอจิสติกส์รองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษรูปแบบอุตสาหกรรมอนาคต Super Cluster และประตูการค้าสำคัญของประเทศ ว่าจากนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบ Super Cluster และโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ใน การพัฒนา 3 จังหวัด คือ ระยอง, ชลบุรีและฉะเชิงเทรา ซึ่งต่อยอดจากแผนพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ด ที่เน้นการลงทุนอุตสาหกรรมที่เป็นแนวโน้มของโลกนั้น สนข.ได้มีการศึกษาแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ในช่วง 5 ปี (2560-2564) จำนวน 101 โครงการวงเงินลงทุน 342,000 ล้านบาท ซึ่งไม่รวมโครงการที่รัฐร่วมลงทุนกับเอกชน (PPP) เช่น รถไฟความเร็วสูง เส้นทาง กรุงเทพ-พัทยา-ระยอง วงเงิน 2.19 แสนล้านบาท, โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3, ศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO)

          โดยแผนพัฒนาโครงข่าย ลอจิสติกส์ จะคัดกรองจัดลำดับการลงทุนและงบประมาณโครงการด้านคมนาคมขนส่งแต่ละปี ซึ่งจะทำให้ แผนงานมีความสอดคล้องเชื่อมโยงกัน ทั้ง ถนน ราง และท่าเรือ โดยมีโครงการในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง (ทล.) 68 โครงการ เช่น มอเตอร์เวย์สาย 7 (พัทยา-มาบตาพุด) 14,200 ล้านบาท, ทางเลี่ยงเมือง ฉะเชิงเทรา 3,500 ล้านบาท, ทางหลวงหมายเลข 3 พัทยาสัตหีบ 1,900 ล้านบาท กรมทางหลวงชนบท (ทช.) 12 โครงการ เช่น เชื่อมทางหลวงหมายเลข 7 กับท่าเรือแหลมฉบัง 1,500 ล้านบาท, สาย ฉช. 3001-ลาดกระบัง 3,800 ล้านบาท การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) 5 โครงการ นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนโครงการ เพิ่มประสิทธิภาพอื่นๆ

          ทั้งนี้ คาดว่าเมื่อมีการพัฒนา ตามแผนงาน ร่วมกับการพัฒนาเมือง ภาคอุตสาหกรรม และภาคการท่องเที่ยวจะส่งผลให้ GDP ประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 4% ในปี 2564 และ 4.9% ในปี 2569 และคาดว่าฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ 18% ในปี 2564 และ 40 %ในปี 2569 สามารถลดต้นทุนลอจิสติกส์ทางถนนลงได้ 2.67% หรือจาก 14.1% เหลือ 12% ในปี 2564 เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น 1.5% รายได้ เพิ่มขึ้น 4.46% มีนักท่องเที่ยวเพิ่ม 20-30% ซึ่ง สนข.ได้ว่าจ้างที่ปรึกษา ศึกษาระยะเวลา 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.60) วงเงิน 10 ล้านบาท จะสรุปรายงาน ฉบับสมบูรณ์ (Draft Final Report) นำเสนอ คณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาค ตะวันออก (กรศ.) ที่มี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในการ ประชุมเดือน ก.ย.นี้ จากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ก่อนรายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรับทราบต่อไป

          นอกจากแผนงานหลักแล้ว ยังมีการเสนอโครงการเพิ่มเติมรองรับ การเดินทางภายในพื้นที่ EEC ประมาณ 51% เป็นระบบฟีดเดอร์เชื่อมชุมชน กับสถานีรถไฟความเร็วสูง เช่น ระบบรางเบา (Light Rail Transit or Street Car) รถไฟระยะสั้น สถานีชลบุรี-วัดญาณสังวราราม มี 8 สถานี ระยะทาง 63 กม. วงเงิน 25,200 ล้านบาท, สายสถานีรถไฟชลบุรี-หาดบางแสน, สถานีรถไฟชลบุรี-นิคมอมตะนคร, สาย City Hall-พัทยาเหนือ-พัทยาใต้ท่าเทียบเรือใหม่-จอมเทียน-สนามกีฬาชัยพฤกษ์, สายCity Hall- สถานีรถไฟพัทยา-กระทิงลาย โดย สนข.จะมีการศึกษาเพิ่มเติมเป็นแผนแม่บทระบบขนส่งสาธารณะในเมืองต่อไป.

จาก http://manager.co.th  วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2560 

ก.อุตฯจ่อลงนามไทยเบฟฯ-น้ำตาลราชบุรีผุด2นิคมฯอาหารครบวงจร

  .อุตฯ จ่อลงนามบ.น้ำตาลราชบุรี ผุดนิคมฯอาหารจังหวัดราชบุรีและไทยเบฟฯตั้งฟู้ดวัลเลย์ฯที่นครราชสีมา เชื่อรายใหญ่ดันเอสเอ็มอีติดปีกเตรียมชง ครม.พิจารณาแพ็คเกจสิทธิพิเศษภายใน ก.ย. – ต.ค.นี้

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยในรูปแบบประชารัฐ หรือจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอาหารครบวงจร (World Food Valley Thailand) ภายใต้แนวคิดเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศโดยร่วมมือกับเอกชนรายใหญ่ ว่า ปัจจุบันกระทรวงฯ ได้ลงนามกับบริษัท สิงห์คอร์เปอเรชั่น จำกัด จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอาหาร ไปแล้ว 1 แห่งที่ จังหวัดอ่างทอง เนื้อที่ 1.3 พันไร่ และมีแผนที่จะลงนามเร็วๆนี้ ร่วมกับ บริษัท น้ำตาลราชบุรี จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอาหารที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารที่ต่อยอดมาจากอ้อย และร่วมกับ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จัดตั้งฟู้ดวัลเลย์ ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

“การพัฒนาเอสเอ็มอีให้เติบโตขึ้นเป็นสิ่งสำคัญ โดยผู้ประกอบการรายใหญ่สามารถเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยได้ โมเดลนี้จะเริ่มจากอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอาหาร โดยผู้ประกอบการที่เข้าไปลงทุนในโครงการ World Food Valley Thailand จะได้ประโยชน์จากการใช้วัตถุดิบในพื้นที่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ที่เชื่อมโยงทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ และจะได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมจากมาตรการส่งเสริมของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ และผู้เชี่ยวชาญที่เข้ามาทำงานในพื้นที่ก็จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และจะมีสิทธิพิเศษอื่นๆอีก ซึ่งแพคเกจต่างๆ เหล่านี้อยู่ระหว่างการพิจารณาอัตราที่เหมาะสม คาดว่าจะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในเดือนกันยายน – ตุลาคมนี้” นายสมชาย กล่าว

นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า ปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมอาหารประมาณ 1.1 แสนราย ในจำนวนนี้เป็นเอสเอ็มอีถึงร้อยละ 99.5 ขณะที่เป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่เพียง ร้อยละ 0.5 หรือประมาณ 600 ราย มีสัดส่วนมูลค่าการผลิตคิดเป็นร้อยละ 65 ของทั้งอุตสาหกรรมอาหาร เราต้องเพิ่มการแปรรูปวัตถุดิบการเกษตรให้มากขึ้น และคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น การแปรรูปข้าวจากเดิมที่ส่งออกเป็นข้าวสารทั้งหมด ตั้งเป้าเพิ่มการแปรรูปข้าวอย่างน้อย ร้อยละ 30

สำหรับยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมอาหารแผนงานหลักๆจะเป็นการเพิ่มนักรบพันธุ์ใหม่หรือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรายใหม่ที่มีความเข้มแข็งและมีเทคโนโลยีให้ได้ 3.5 หมื่นรายภายใน 20 ปี หรือเพิ่มปีละ 1,750 ราย และยกระดับผู้ประกอบการขนาดกลาง เพื่อขยายฐานการผลิตให้กว้างขึ้น.

​จาก https://mgronline.com  วันที่ 6 กันยายน 2560

ธ.ก.ส.คาดเดือนก.ย. ปาล์ม-น้ำตาล-ข้าวโพดราคาตก

ธ.ก.ส.คาดราคาสินค้าเกษตรเดือนก.ย. ข้าวหอม ยาง มัน หมูราคารุ่ง ส่วนปาล์ม น้ำตาล ข้าวโพดน้ำตาลร่วง ราคาดิ่งทรุด หลังผลผลิตออกมาทะลัก                   

นายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนา ธ.ก.ส ได้คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรเดือนก.ย.นี้ พบว่าราคาส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้นไม่ว่าจะเป็น ว่าข้าวหอม ยางพารา มันสำปะหลัง สุกร กุ้ง เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนทำให้ผลผลิตออกมาสู่ตลาดน้อยลง ยกเว้นน้ำตาลทราย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน ราคาลดลง เพราะผลกระทบจากสถานการณ์ในตลาดโลก และปริมาณผลผลิตที่ออกมามาก

ทั้งนี้รายละเอียดสินค้าเกษตรแต่ละประเภท อาทิ ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิจะขายได้เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน  0.2-2.1% อยู่ที่ตันละ10,350-10,550 บาท ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวจะเพิ่มขึ้น 1-3%  อยู่ที่ตันละ 9,800-10,000 บาท เนื่องจากผลกระทบจากอุทกภัยส่งผลให้ผลผลิตข้าวที่จะออกในฤดูกาลใหม่ลดลง ส่วนยางพาราแผ่นดิบจะเพิ่มขึ้น 0.5-3% อยู่ที่กก.50.83-52.09 บาท เนื่องจากสภาพอากาศในพื้นที่ปลูกยางของไทยโดยรวม ไม่เอื้ออำนวยต่อการกรีดยาง ทำให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ประกอบกับราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นปัจจัยช่วยหนุนราคายางเพิ่มขึ้น

ส่วนสินค้าเกษตรที่ลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า 5%  ราคาจะลดลงจากเดือนก่อน 0.9-3.4% อยู่ที่ตันละ 7,550-7,750 บาท เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปรังที่ออกสู่ตลาดมีมากกว่าที่คาดไว้ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% จะลดลง 0.55-2% อยู่ที่กก.ละ 5.96-6.05 บาท เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ขณะที่โรงงานอาหารสัตว์ประมูล ก็หันไปประมูลข้าวสารสต็อกภาครัฐมาใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ทดแทนข้าวโพด ทำให้ความต้องการข้าวโพดน้อยลง  น้ำตาลทรายดิบนิวยอร์กในตลาดโลก จะลดลงจากเดือนก่อน 0.50-1.5% อยู่ที่กก.ละ 9.88-10.10 บาท เนื่องจากสต็อกน้ำตาลของบราซิล มีเกินกว่าที่คาดไว้  และราคาปาล์มน้ำมันจะลดลง 1.17-11.5%  อยู่ที่กก.ละ 3.00 – 3.35 บาท เนื่องจากปาล์มมีผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณมาก และโรงงานเข้มงวดต่อการรับซื้อผลปาล์มเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาปาล์มน้ำมันมีแนวโน้มลดลง

​จาก https://www.dailynews.co.th   วันที่ 6 กันยายน 2560

 “อนันตพร”ชู 4.0 ลดใช้พลังงานทั่วปท.

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในงาน สัมมนาวิชาการ Energy Symposium 2017 เรื่อง “Energy 4.0..โอกาสของอุตสาหกรรมไทย” ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัล พลาซาลาดพร้าว กรุงเทพฯ ว่า กระทรวงพลังงานได้เริ่มการขับเคลื่อนนโยบายเอ็นเนอร์ยี 4.0 โดยมีหลักการที่สำคัญในการยกระดับประสิทธิภาพของระบบพลังงานในปัจจุบัน และการนำนวัตกรรมที่เหมาะสมมาใช้ในการพัฒนา สำหรับองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย กระทรวงพลังงานได้คำนึงให้ครอบคลุมระบบพลังงานทั้งระบบ ตั้งแต่การผลิต จัดหา แปรรูป ขนส่งไปจนถึงการใช้ โดยได้แบ่งตามประเภทของพลังงาน โดยจะครอบคลุมถึงแผนพลังงานระยะยาว ได้แก่ แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าควบคู่ไปกับแนวนโยบายประชารัฐ

​ทั้งนี้สำหรับในด้านเชื้อเพลิงภาคขนส่ง ก็มีมาตรการสำคัญที่จะขับเคลื่อนการส่งเสริมการผลิตและการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งจะดำเนินการศึกษาต้นทุนร่วมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การกำหนดแนวทางการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพอย่างยั่งยืน และการเพิ่มสัดส่วนการใช้เอทานอล และไบโอดีเซลด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีให้ดีขึ้น การเพิ่มศักยภาพการขนส่งน้ำมัน ส่วนด้านไฟฟ้าได้จัดทำแผนการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนในแต่ละด้าน การสร้างตลาดซื้อขายไฟให้โรงไฟฟ้าเก่าที่มีศักยภาพ การบริหารจัดการให้ผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าต้นทุนต่ำให้มากที่สุด พร้อมทั้งการประกวดสมาร์ท ซิตี้ ต้นแบบและการกำหนดรูปแบบทางธุรกิจไมโครกริด และการขับเคลื่อนเติร์ด ปาร์ตี้ แอคเซส โค้ด พร้อมทั้งการสร้างความต่อเนื่องการผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศ และการขยายคลังแอลเอ็นจี เทอร์ และท่อก๊าซธรรมชาติ

 “การขับเคลื่อนเอเนอร์ยี 4.0 มีเป้าหมายเพื่อยกระดับการบริหารจัดการระบบพลังงาน ส่งผลให้การผลิต การจัดหาพลังงาน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยตั้งเป้าการลดใช้พลังงานในภาคต่างๆ ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคครัวเรือนอาคาร และภาคขนส่ง เป็นต้น” พล.อ.อนันตพรกล่าว

​จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 6 กันยายน 2560

กษ.พร้อมเดินหน้าแผนปี 61 ขับเคลื่อน Smart Agricultural Curve ยกระดับเกษตร 4.0

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประชุมหารือแผนขับเคลื่อน Smart Agricultural Curve ปี 2561 โดยเรียกประชุมผู้บริหารระดับสูงทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธาน Single Command (SC) ทั้ง 77 จังหวัด และผู้อำนวยการกองแผนงาน เข้าร่วมรับฟังนโยบายเพื่อสร้างความเข้าใจในแผนขับเคลื่อน Smart Agricultural Curve และแผนการปฏิบัติการปี 2561

ทั้งนี้ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการปฏิบัติงานในปี 2561 ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งส่วนกลางและในระดับพื้นที่ โดยจะเริ่มต้นตามแผนปฏิบัติการตั้งแต่ 1 ตุลาคมนี้ โดยระบุว่า ตั้งแต่ปี 2559 ในการปฏิรูปภาคเกษตร ได้กำหนดเป้าหมายให้เป็นปีแห่งการลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสในการแข่งขันสินค้าเกษตรและเดินหน้าอย่างเข้มข้นในปี 2560 ให้เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน

ขณะที่ปี 2561 ได้กำหนดเป้าหมายให้เป็นปีแห่งการยกระดับคน การบริหารจัดการมาตรฐานสินค้าเกษตรสู่เกษตร 4.0 โดยมีกรอบแนวคิดและการดำเนินงานต่อเนื่องตามนโยบายยกกระดาษ A4 ซึ่งจะเป็นกลไกผลักดันให้แผนขับเคลื่อน Smart Agricultural Curve ในปี 2561 บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้โดยเน้นการพัฒนาบุคลากรไปพร้อมกับการยกระดับการบริหารจัดการ เพื่อให้การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการในปี 2561 ตามนโยบายดังกล่าว เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาการเกษตรสู่เกษตร 4.0 อย่างต่อเนื่องในปี 2562-2564 ตามแผนขับเคลื่อน Smart Agricultural Curve สอดรับกับยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) และแผนพัฒนาการเกษตร ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2560-2564) สำหรับ 15 แผนงานหลักที่จะดำเนินการภายใต้งบประมาณ ปี 2561 เป็นวงเงินกว่า 55,000 ล้านบาท

​จาก https://mgronline.com   วันที่ 6 กันยายน 2560

กกร.คาดส่งออกทะลุ4.5% หนุนก.ม.พืชพลังงาน-แก้ไขป่าเสื่อมโทรมยกระดับเกษตรกร

กกร.คาดส่งออกปีนี้มีโอกาสสูงกว่าปัจจุบันคาดไว้ที่ 3.5-4.5% จับตาภาพรวมเศรษฐกิจโลกก่อนทบทวนใหม่อีกครั้ง ด้าน ส.อ.ท.จ่อเสนอยกร่าง พ.ร.บ.สนับสนุนปลูกพืชพลังงาน แก้ไขพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ยกระดับรายได้เกษตรกร ชี้สอดคล้องแผนเออีดีพี

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประเมินความเป็นไปได้ที่การส่งออกปีนี้ทั้งปีอาจขยายตัวสูงกว่าที่ปัจจุบันคาดไว้ที่ 3.5-4.5% เนื่องจากส่งออก 7 เดือนที่ผ่านมาเติบโตถึง 8.2% ที่ประชุม จึงประเมินเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ขณะที่การท่องเที่ยวยังฟื้นตัวดี ทำให้ภาคบริการมีรายได้สูงขึ้น รวมถึงการผลิตภาคเกษตรที่ขยายตัวสูงเทียบกับฐานปี 2559 ที่เกิดภาวะภัยแล้ง ช่วยให้คนมีกำลังซื้อมากขึ้น การบริโภคในประเทศก็ปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย

ขณะเดียวกันต้องจับตาภาวะเศรษฐกิจคู่ค้าโดยเฉพาะสหรัฐ จากผลกระทบของพายุเฮอริเคนฮาร์วีย์ ประเด็นการเมืองในสหรัฐ ความขัดแย้งกับเกาหลีเหนือ รายได้เกษตรกรที่ถูกกระทบจากอุทกภัยและราคาสินค้าเกษตร รวมทั้งการแข็งค่าของเงินบาทที่เป็นปัจจัยสำคัญ ก่อนที่จะทบทวนประมาณการการส่งออกในการประชุมรอบถัดไปวันที่ 3 ต.ค.นี้ โดยยังให้คงกรอบประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2560 ไว้ที่ 3.5-4% อัตราเงินเฟ้อคงอยู่ที่ 0.5-1.5%

อางไรก็ตาม ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออก ภาครัฐกำลังหามาตรการและแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เบื้องต้น ธนาคารก็พร้อมที่จะยกเว้นค่าธรรมเนียมต่างๆ คาดจะได้ข้อสรุปชัดเจนภายในสัปดาห์นี้ หรือสัปดาห์หน้า

นายสมพงษ์ ตันเจริญผล รองประธานอาวุโส ส.อ.ท.กล่าวว่า ส.อ.ท.เตรียมเสนอให้มีการยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พืชพลังงาน เพื่อส่งเสริมการใช้ชีวมวลในการผลิตไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ให้ที่ประชุม กกร. พิจารณา ก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบ เพื่อสนับสนุนการใช้พืชโตเร็วในการผลิตไฟฟ้า และแก้ปัญหาพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม พร้อมกับยกระดับรายได้ของเกษตรกร และสอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (เออีดีพี)ด้วย

ขณะที่เบื้องต้นได้มีการให้สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินการศึกษาโดยจากการประเมินการใช้พื้นที่ในการปลูกพืชประมาณ 15 ล้านไร่ จะสามารถนำมาผลิตเป็นไฟฟ้าได้กว่า 3,000 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ จากการสำรวจในประเทศไทยมีพื้นที่ที่เป็นป่าเสื่อมโทรมและมีศักยภาพในการปลูกพืชโตเร็วกว่า 51 ล้านไร่ โดยก่อนหน้านี้ได้มีการหารือกับสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ไปถึงประเด็นดังกล่าวแล้ว.

​จาก http://www.thaipost.net   วันที่ 6 กันยายน 2560

ยกระดับระบบพลังงานรับ4.0

ส.อ.ท. เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการ รู้ทันทิศทางพลังงาน  ลุยจัดสัมมนาวิชาการใหญ่Energy Symposium 2017 “Energy 4.0..โอกาสของอุตสาหกรรมไทย” 

​พล.อ. อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้เริ่มการขับเคลื่อนนโยบาย Energy 4.0 โดยมีหลักการที่สำคัญในการยกระดับประสิทธิภาพของระบบพลังงานในปัจจุบัน และการนำนวัตกรรมที่เหมาะสม มาใช้ในการพัฒนา สำหรับองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย กระทรวงพลังงานได้คำนึงให้ครอบคลุมระบบพลังงานทั้งระบบ (Energy Supply Chain) ตั้งแต่การผลิต จัดหา แปรรูป ขนส่งไปจนถึงการใช้ โดยได้แบ่งตามประเภทของพลังงานโดยจะครอบคลุมถึงแผนพลังงานระยะยาว ได้แก่ แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าควบคู่ไปกับแนวนโยบายประชารัฐ

​ทั้งนี้สำหรับในด้านเชื้อเพลิงภาคขนส่ง ก็มีมาตรการสำคัญที่จะขับเคลื่อนการส่งเสริมการผลิตและการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งจะดำเนินการศึกษาต้นทุนร่วมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การกำหนดแนวทางการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพอย่างยั่งยืน และการเพิ่มสัดส่วนการใช้เอทานอล และไบโอดีเซลด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีให้ดีขึ้น การเพิ่มศักยภาพการขนส่งน้ำมัน ส่วนด้านไฟฟ้า ได้จัดทำแผนการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนในแต่ละด้าน การสร้างตลาดซื้อขายไฟให้โรงไฟฟ้าเก่าที่มีศักยภาพ การบริหารจัดการให้ผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าต้นทุนต่ำให้มากที่สุด พร้อมทั้งการประกวด Smart City ต้นแบบ และการกำหนดรูปแบบทางธุรกิจไมโครกริด และการขับเคลื่อน Third Party Access Code พร้อมทั้งการสร้างความต่อเนื่องการผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศ และการขยาย LNG Terminal และท่อก๊าซธรรมชาติ

ด้าน นายวีรศักดิ์ โฆสิตไพศาล ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปสู่ยุค Thailand 4.0 ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยพัฒนาด้านความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ สังคม และด้านการดูแลคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมในภาคพลังงาน ตามที่กระทรวงพลังงานได้วางยุทธศาสตร์นวัตกรรมฐานพลังงาน (Energy 4.0) ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการใช้พลังงานของประเทศให้มีประสิทธิภาพและเพิ่มมูลค่ามากขึ้น ผสมผสานการใช้พลังงานสะอาด ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

​จาก http://www.banmuang.co.th วันที่ 6 กันยายน 2560

เกษตร”เร่งใช้งบบูรณาการปี61กว่า5.5หมื่นล.ลุย15แผนงานตั้งเป้ายกระดับเกษตร4.0ยกระดับรายได้3.9แสนบาท/คน/ปี

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุม แผนการขับเคลื่อน Smart Agricultural Curve ปี 2561 และมอบแนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติงาน ประจำปีงบประมาณ 2561 ว่าในปีงบประมาณ 2561 กระทรวงเกษตรฯได้รับการจัดสรรงบประมาณรวม 1.06 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้แยกเป็นงบประมาณ เพื่อบูรณาการ รวม 5.57 หมื่นล้านบาท ดังนั้นเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการปฏิบัติงานในปี 2561 ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งส่วนกลางและในระดับพื้นที่ จึงเรียกประชุมเกษตรจังหวัด 77 จังหวัดให้เข้าใจตามแผนบูรณาการแผนงานโครงการรวม 15 แผนงานหลัก ตามที่กรมส่งเสริมการเกษตรจัดทำขึ้นประกอบด้วย 1.การบริหารจัดการน้ำ 2.เกษตรแปลงใหญ่ 3.ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร 4.การบริหารพื้นที่เกษตรตามแผนที่เกษตรเชิงรุก (อกริ – แมพ) 5.การพัฒนาเกษตรกรสู่สมาร์ทฟาร์มเมอร์ 6.พัฒนาสถาบันเกษตรกรในรูปแบบประชารัฐ 7.ธนาคารสินค้าเกษตร 8.เกษตรอินทรีย์ 9.เกษตรทฤษฏีใหม่ 10.การแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย (ไอยูยู) 11.พัฒนาศูนย์เมล์ดพันธุ์ข้าว 12.การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และการใช้เครื่องจักรกลทดแทนแรงงาน 13.ตลาดสินค้าเกษตร 14.การพัฒนาสินค้าเกษตรสู่มาตรฐานและ 15.การจัดการหนี้สินสมาชิกสหกรณ์

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า ใน 15 แผนงานนี้จะมีหน่วยงานหลักและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาบูรณาการการทำงานร่วมกัน และมีการประเมินผลความสำเร็จในแต่ละช่วงเวลาโครงการ พร้อมทั้งได้กำหนดเป้าหมายให้เป็นปีแห่งการยกระดับคน การบริหารจัดการมาตรฐานสินค้าเกษตรสู่เกษตร 4.0 โดยเน้น การพัฒนาบุคลากร ทั้งข้าราชการที่ต้องมีสมรรถนะสูง มีอุดมการณ์ รอบรู้ในงานของตนเอง และเชี่ยวชาญหลากหลายสาขาวิชา สามารถนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตรไปแนะนำเกษตรกรได้ รวมทั้งเข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนเร่งสร้างเกษตรกรให้เป็นสมาร์ท ฟาร์มเมอร์นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปปรับใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร จัดทำแผนธุรกิจ และเชื่อมโยงตลาดได้ ยกระดับการบริหารจัดการ โดยภาคราชการต้องเน้นการทำงานแบบบูรณาการ แลกเปลี่ยนและแบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยงาน รวมทั้งนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และงานวิจัยมาใช้ในการขับเคลื่อนงานได้ ส่วนเกษตรกรต้องบริหารจัดการสินค้าเกษตรแบบครบวงจร เพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูปและบรรจุภัณฑ์ ประยุกต์ใช้นวัตกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ

 “การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการในปี 2561 ตามนโยบายดังกล่าว จะเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาการเกษตรเร่งเครื่องสู่เกษตร 4.0 อย่างต่อเนื่องในปี 2562-2564 ตามแผนขับเคลื่อน Smart Agricultural Curve สอดรับกับยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ ระยะ 20 ปี (2560 – 2579) และแผนพัฒนาการเกษตร ระยะ 5 ปี (2560-2564) เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเพิ่มรายได้เฉลี่ยของเกษตรกรถึง 390,000 บาทต่อคนต่อปี เป็น Smart Farmer และ ผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ภาคเกษตรต้องเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 3% ต่อปี พัฒนาไปสู่เป้าหมายสุดท้าย คือ เกษตรกรมั่นคง ภาคการเกษตรมั่งคั่ง และทรัพยากรการเกษตรยั่งยืน ในปี 2579” พล.อ. ฉัตรชัย กล่าว

​จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 6 กันยายน 2560

"ฉัตรชัย"ลุยยกระดับเกษตร 4.0 เป้า5 ปีเพิ่มรายได้เกษตรกร 3.9 แสนบาท/คน/ปี

รมว.เกษตรฯ เรียกทุกหน่วย พร้อมเดินหน้าแผน ปี 61 ขับเคลื่อน Smart Agricultural Curve ยกระดับเกษตร 4.0 แผน 5 ปีดันรายได้เกษตร 3.9 แสนบาท/คน/ปี

 พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการประชุมหารือแผนขับเคลื่อน Smart Agricultural Curve ปี 2561 โดยเรียกประชุมผู้บริหารระดับสูงทุกหน่วยงาน ประธาน Single Command (SC) ทั้ง 77 จังหวัด และผู้อำนวยการกองแผนงาน เข้าร่วมรับฟังนโยบายเพื่อสร้างความเข้าใจในแผนขับเคลื่อน Smart Agricultural Curve และแผนการปฏิบัติการปี 2561 ให้กับข้าราชการ และประธาน SC ทั่วประเทศ ณ กรมชลประทาน สามเสน(6 ก.ย.60)ว่า ถือเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการปฏิบัติงานในปี 2561 ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งส่วนกลางและในระดับพื้นที่ โดยจะเริ่มต้นตามแผนปฏิบัติการตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2560

ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2559 ในการปฏิรูปภาคเกษตร ได้กำหนดเป้าหมายให้เป็นปีแห่งการลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสในการแข่งขันสินค้าเกษตร และเดินหน้าอย่างเข้มข้นในปี 2560 ให้เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน ตนได้คิดและนั่งเขียนแผนทั้งหมดตามแนวคิดเปรียบพื้นที่หรือทรัพยากรของประเทศที่มีจำกัด จำนวน 149 ล้านไร่เป็นกระดาษ A4 โดยพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง บูรณาการงานสู่ 13 นโยบายหลัก (Agenda) นำนวัตกรรมเทคโนโลยีและองค์ความรู้ เข้ามาช่วยขับเคลื่อน สามารถลดต้นทุนได้ 20% เพิ่มผลผลิตได้ 20% เพื่อไปสู่เป้าหมายปลายทางคือ คุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น หนี้สินลดลง และมีความภาคภูมิใจในอาชีพเกษตรกรสร้างรายได้หลักให้ประเทศ

 ส่วนปี 2561 ได้กำหนดเป้าหมายให้เป็นปีแห่งการยกระดับคน การบริหารจัดการมาตรฐานสินค้าเกษตรสู่เกษตร 4.0 โดยมีกรอบแนวคิดและการดำเนินงานต่อเนื่องตามนโยบายยกกระดาษ A4 ซึ่งจะเป็นกลไกผลักดันให้แผนขับเคลื่อน Smart Agricultural Curve ในปี 2561 บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้โดยเน้นการพัฒนาบุคลากร ทั้งข้าราชการและเกษตรกร โดยข้าราชการต้องเป็นข้าราชการที่มีสมรรถนะสูง มีอุดมการณ์ รอบรู้ในงานของตน และเชี่ยวชาญหลากหลายสาขาวิชา สามารถนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตรไปแนะนำเกษตรกรได้ รวมทั้งเข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนเร่งสร้างเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปปรับใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร จัดทำแผนธุรกิจ และเชื่อมโยงตลาดได้

ต่อมาคือการยกระดับการบริหารจัดการ โดยภาคราชการต้องเน้นการทำงานแบบบูรณาการ แลกเปลี่ยนและแบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยงาน รวมทั้งนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และงานวิจัยมาใช้ในการขับเคลื่อนงานได้ ส่วนเกษตรกรต้องบริหารจัดการสินค้าเกษตรแบบครบวงจร เพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูปและบรรจุภัณฑ์ ประยุกต์ใช้นวัตกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ

 การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการในปี 2561 ตามนโยบายดังกล่าว จะเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาการเกษตรเร่งเครื่องสู่เกษตร 4.0 อย่างต่อเนื่องในปี 2562-2564 ตามแผนขับเคลื่อน Smart Agricultural Curve สอดรับกับยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) และแผนพัฒนาการเกษตร ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2560-2564) เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเพิ่มรายได้เฉลี่ยของเกษตรกรถึง 390,000 บาท/คน/ปี เป็น Smart Farmer และ GDP ภาคเกษตรต้องเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 3% ต่อปี ตาม Roadmap ที่ได้กำหนดไว้ ทั้งนี้ ต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการดำเนินงานกับทุกภาคส่วนแบบประชารัฐที่จะทำให้ภาคเกษตรไทยเกิดการพัฒนาไปสู่เป้าหมายสุดท้าย คือ “เกษตรกรมั่นคง ภาคการเกษตรมั่งคั่ง และทรัพยากรการเกษตรยั่งยืน” ในปี 2579

​จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 6 กันยายน 2560

ไทย-รัสเซียตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าเป็น 5 เท่า ภายใน 5 ปี

นายกฯหารือทวิภาคีกับ"วลาดิมีร์ ปูติน"ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าเป็น 5 เท่า ภายใน 5 ปี เพื่อร่วมสนับสนุนการลงทุนการเพิ่มการซื้อสินค้าระหว่างกัน พร้อมเชิญชวนภาคเอกชนรัสเซียเข้ามาลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของไทย

เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งเสร็จสิ้นภารกิจการเข้าร่วมประชุมผู้นำกลุ่มประเทศ BRICS กับประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา ที่เมืองเซี่ยเหมิน สาธารณรัฐประชาชนจีนแล้ว นายกรัฐมนตรี ได้พบหารือทวิภาคีกับนายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ที่ศูนย์การประชุมระหว่างประเทศเซี่ยเหมิน โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณรัสเซียต่อสาสน์ที่ร่วมแสดงความอาลัยต่อการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมิทรมมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และได้ส่งผู้แทนพิเศษมาร่วมลงนามในสมุดหลวง ตลอดจนขอบคุณที่ประธานาธิบดีรัสเซีย มีสาส์นถวายพระพร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสที่ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ไทย

พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรียังได้ย้ำคำเชิญให้ประธานาธิบดีรัสเซียเยือนไทยอย่างเป็นทางการในปี 2561 อีกทั้งผู้นำทั้ง 2 ฝ่าย ตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าเป็น 5 เท่า ภายใน 5 ปี ร่วมสนับสนุนการลงทุนการเพิ่มการซื้อสินค้าระหว่างกัน และร่วมการค้าเสรีกับ EAEU ขณะเดียวกันไทยได้ผลักดันกระบวนการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างกันให้ลุล่วงโดยเร็ว ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายยังได้จัดตั้งคณะทำงานไทย-รัสเซีย เพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้เชิญชวนภาคเอกชนรัสเซียเข้ามาลงทุนในไทย ในสาขาที่รัสเซียมีความเชี่ยวชาญ ตลอดจนเชิญชวนให้พิจารณาจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในประเทศไทย เพื่อกระชับความร่วมมือด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างกัน ทั้งในเขิงทหารและเชิงพาณิชย์

ส่วนประเด็นในภูมิภาค นายกรัฐมนตรี แสดงความหวังที่จะเห็นประเทศมหาอำนาจในภูมิภาคมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างสร้างสรรค์ แก้ปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี และเห็นว่าอาเซียนมีบทบาทสำคัญต่อเสถียรภาพของภูมิภาค โดยไทยจะเป็นประธานอาเซียนในปี 2019 และประธานเอเปคในปี 2022 ซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนาภูมิภาคอย่างยั่งยืน เท่าเทียมและเชื่อมโยง

​จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 6 กันยายน 2560

“บิ๊กฉัตร” ทุ่มงบปี’61 กว่า 1.3 แสนล้านบ. พัฒนาภาคเกษตรฯ “ลุยแปลงใหญ่-ยกระดับสินค้า-เพิ่มแหล่งน้ำ”

 “บิ๊กฉัตร”ทุ่มงบปี’61 กว่า 1.3 แสนล้านบ. พัฒนาภาคเกษตรฯ ลุยแปลงใหญ่-ยกระดับสินค้า-เพิ่มแหล่งน้ำ เผยยังไม่ล้มแผนผันน้ำ”สตึงมนัม”แค่ขอเวลาศึกษาร่วมกันเพื่อความเหมาะสม

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการประชุมหารือแผนขับเคลื่อน Smart Agricultural Curve ปี 2561 โดยเรียกประชุมผู้บริหารระดับสูงทุกหน่วยงาน ประธาน Single Command (SC) ทั้ง 77 จังหวัด ว่า นับตั้งแต่ปี 2559 ในการปฏิรูปภาคเกษตร ได้กำหนดเป้าหมายให้เป็นปีแห่งการลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสในการแข่งขันสินค้าเกษตร และเดินหน้าอย่างเข้มข้นในปี 2560 ให้เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน ตนได้เขียนแผนทั้งหมดตามแนวคิดเปรียบพื้นที่หรือทรัพยากรของประเทศที่มีจำกัด จำนวน 149 ล้านไร่เป็นกระดาษ A4 โดยพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง บูรณาการงานสู่ 13 นโยบายหลัก (Agenda) นำนวัตกรรมเทคโนโลยีและองค์ความรู้ เข้ามาช่วยขับเคลื่อน สามารถลดต้นทุนได้ 20% เพิ่มผลผลิตได้ 20% เพื่อไปสู่เป้าหมายปลายทางคือ คุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น หนี้สินลดลง และมีความภาคภูมิใจในอาชีพเกษตรกรสร้างรายได้หลักให้ประเทศ ซึ่งปี 2561 ได้กำหนดแผนบูรณาการแผนงานโครงการสำคัญที่จะดำเนินการให้เห็นผลชัดเจนมากขึ้น 15 แผนงานหลัก ได้แก่

1. การบริหารจัดการน้ำ 2. เกษตรแปลงใหญ่ 3. ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร 4. การบริหารพื้นที่เกษตรโดย Agrimap 5. การพัฒนาเกษตรกรสู่สมาร์ทฟาร์มเมอร์ 6. พัฒนาสถาบันเกษตรกรในรูปแบบประชารัฐ 7. ธนาคารสินค้าเกษตร 8. เกษตรอินทรีย์ 9. เกษตรทฤษฏีใหม่ 10. การแก้ปัญหาประมงไอยูยู 11. พัฒนาศูนย์เมล์ดพันธุ์ข้าว 12. การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และการใช้เครื่องจักรกลทดแทนแรงงาน 13. ตลาดสินค้าเกษตร 14. การพัฒนาสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน 15. การจัดการหนี้สินสมาชิกสหกรณ์ ภายใต้งบประมาณปี 2561 ประมาณ 55,000 ล้านบาท จากงบประมาณของกระทรวงเกษตรฯ ปี 2561 ทั้งสิ้น 103,580 ล้านบาท

“ในปีที่ผ่านมาหลายๆอย่างก็เริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรมไม่ว่าจะเป็นการจัดการน้ำ แปลงใหญ่ ประชารัฐ ยกระดับสินค้าเกษตร แต่ในปี61 ต้องเน้นบูรณาการและชี้เป้าให้ชัดว่าต้องทำเท่าไร ตรงไหนอย่างไร เน้นๆ ให้เห็นว่าเกษตรกรมีรายได้เพิ่มจากแปลงใหญ่จริง และตเองเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร อินทรีย์ ในแต่ละจังหวัดให้ชัด”

ทั้งนี้ 15 แผนงานจะมีหน่วยงานหลักและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาบูรณาการการทำงานร่วมกัน และมีการประเมินผลความสำเร็จในแต่ละช่วงเวลาโครงการ พร้อมทั้งได้กำหนดเป้าหมายให้เป็นปีแห่งการยกระดับคน การบริหารจัดการมาตรฐานสินค้าเกษตรสู่เกษตร 4.0 โดยมีกรอบแนวคิดและการดำเนินงานต่อเนื่องตามนโยบายยกกระดาษ A4 ซึ่งจะเป็นกลไกผลักดันให้แผนขับเคลื่อน Smart Agricultural Curve ในปี 2561 บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้โดยเน้นการพัฒนาบุคลากร ทั้งข้าราชการและเกษตรกร โดยข้าราชการต้องเป็นข้าราชการที่มีสมรรถนะสูง มีอุดมการณ์ รอบรู้ในงานของตน และเชี่ยวชาญหลากหลายสาขาวิชา สามารถนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตรไปแนะนำเกษตรกรได้

รวมทั้งเข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนเร่งสร้างเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปปรับใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร จัดทำแผนธุรกิจ และเชื่อมโยงตลาดได้ รวมถึงยกระดับการบริหารจัดการ โดยภาคราชการต้องเน้นการทำงานแบบบูรณาการ แลกเปลี่ยนและแบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยงาน รวมทั้งนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และงานวิจัยมาใช้ในการขับเคลื่อนงานได้ ส่วนเกษตรกรต้องบริหารจัดการสินค้าเกษตรแบบครบวงจร เพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูปและบรรจุภัณฑ์ ประยุกต์ใช้นวัตกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ 

รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุ สำหรับงบประมาณรายจ่ายปี 2561 เพิ่มขึ้นจากงบปีที่แล้ว จำนวน 90,050.07 ล้านบาท เนื่องจากมีส่วนงานโครงการชลประทาน กรมชลประทาน ที่จำเป็นต้องเพิ่มและพัฒนาแหล่งน้ำ โดยกรมชลประทานได้รับงบประมาณเพิ่มจาก 4 หมื่นล้าน เป็น 5 หมื่นล้านบาท

 ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้สอบถามถึง แผนผันน้ำสตึงนัม พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องศึกษาความจำเป็นใช้น้ำและแหล่งน้ำที่จะนำมารองรับพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้มีความชัดเจนมากขึ้นก่อน และยืนยันว่ายังไม่ได้ล้มแผนแต่อย่างใด ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้มีหลายหน่วยงานที่ต้องช่วยกันศึกษาความจำเป็นและให้เกิดความเหมาะสมที่สุดร่วมกัน

​จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 6 กันยายน 2560

รง.น้ำตาลรุมประมูลไฟฟ้าไอบริด ทั่วอีสานจ่อผุดชีวมวลเข้าระบบ300 MW

โรงงานน้ำตาลพื้นที่ภาคอีสานเตรียมแห่ยื่นขอผลิตไฟฟ้าแบบ SPP Hybrid Firm บ.น้ำตาละครบุรี เตรียมดันโรงไฟฟ้าที่ อ.สีคิ้ว 40 เมกะวัตต์ ร่วมประมูล ด้าน 3 สมาคมน้ำตาลทรายระบุ หลายรายลุ้น สผ.เคาะ EIA ประมูลครั้งนี้ดุเดือด คาดมีเอกชนร่วมประมูลมากถึง 400 ราย และราคาค่าไฟจะต่ำจากราคาประกาศมาก ด้านเงื่อนไข กกพ.เข้มข้นป้องกันการเร่ขายใบอนุญาต ทุกรายต้องวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน 8 ล้าน บ.ต่อ 1 เมกะวัตต์

นายอิสสระ ถวิลเติมทรัพย์  กรรมการ บริษัทน้ำตาละครบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ KBS เปิดเผย” ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เตรียมที่จะเข้าร่วมประมูลโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ SPP Hybrid หรือการผสมผสานการใช้เชื้อเพลิงตั้งแต่ 1 ประเภทขึ้นไปที่กระทรวงพลังงาน โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมจะประกาศรับซื้อในเร็วๆนี้ โดยขณะนี้บริษัท น้ำตาละครบุรี เตรียมที่จะลงทุนก่อสร้างโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ ในพื้นที่อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา พร้อมทั้งสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล กำลังผลิตติดตั้งรวม 40 เมกะวัตต์ ซึ่งวางแผนจะขายไฟฟ้าเข้าระบบ 20 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือจะใช้ในกระบวนการผลิตน้ำตาลของบริษัท ซึ่งขณะนี้รอเพียงการพิจารณาแบบประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) ที่ได้ดำเนินการยื่นพร้อมทั้งปรับปรุงแก้ไขตามข้อแนะนำมาแล้ว 2 ครั้ง และคาดว่าจะผ่านการพิจารณาในเร็วๆนี้

ทั้งนี้ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่ได้มีเพียงโรงงานของบริษัทน้ำตาละครบุรีที่มีครามพร้อมเท่านั้น แต่เกือบทุกโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ทั้งหมดมีความพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลเช่นกัน เช่น กลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์  กลุ่มน้ำตาลมิตรผล ฯลฯ ซึ่งเมื่อประเมินศักยภาพเบื้องต้นในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมด สามารถผลิตไฟฟ้าเข้าระบบได้สูงถึง 200-300 เมกะวัตต์ ซึ่งบางโรงงานน้ำตาลบางส่วนได้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าแล้วเสร็จแล้ว แต่ไมมีการเดินเครื่องผลิต เนื่องจาก กกพ.ได้ชะลอการเปิดรับซื้อไฟฟ้าก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตามภาคเอกชนมีความกังวลถึงช่วงเวลาที่ กกพ.จะกำหนดให้ผู้ชนะการประมูลต้องผลิตไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ว่าจะเป็นในช่วงใด เพราะขณะนี้มีหลายบริษัทที่ยังอยู่ในระหว่างการจัดทำ EIA

“การแข่งขันสูงมากสำหรับการเปิดประมูลครั้งนี้ เพราะ กกพ.เปิดรับซื้อ 300 เมกะวัตต์ เฉพาะแค่บริษัทกลุ่มน้ำตาลก็เต็มแล้ว ยังไม่รวมภาคอื่นๆที่มีความพร้อมอีก แต่ทางเราก็เตรียมความพร้อมไว้ค่อนข้างดี เชี่อมั่นว่าจะสามารถแข่งขันกับรายอื่นได้ แต่ยังกังวลว่า EIA จะผ่านการพิจารณาในช่วงไหน เพราะโรงงานน้ำตาลที่อำเภอสีคิ้ว ใช้เวลาในการจัดทำ EIA รวม 1 ปีกว่า และยื่นต่อ สผ.ไปแล้วอีกประมาณ 1 ปีกว่าเช่นกัน ”

ด้านนายสันติ รัตนสุวรรณ ประธานคณะทำงานด้านพลังงานไฟฟ้าชีวมวลภายใต้ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายกล่าวว่า กลุ่มโรงงานน้ำตาลรวม 52 โรง พร้มอที่จะเข้าร่วมประมูลในโครงการผลิตไฟฟ้ารูปแบบ SPP Hbrid Firm ที่คาดว่า กกพ.จะประกาศเงื่อนไขต่างๆ และให้ยื่นประมูลภายในเดือนกันยายนนี้ โดยมีการคาดการณ์ว่า ทั้งกลุ่มโรงงานน้ำตาลและนักลงทุนอื่นที่สนใจจะเข้ามายื่นประมูล 300-400 ราย ซึ่งเท่ากับว่าการแข่งขันสูงมากและคาดว่าอัตราค่าไฟฟ้าจะต่ำมากจากที่ กกพ.) ประกาศไว้ที่ 3.66 บาท/หน่วย นอกจากนี้ กกพ.ยังระบุเงื่อนไขเพื่อป้องกันการเข้ามาประมูลแล้วนำใบอนุญาตไปขายต่อ โดยที่ไม่มีการพัฒนาโรงไฟฟ้าให้เกิดขึ้นจริง ด้วยการกำหนดหลักทรัพย์ค้ำประกันที่สูงขึ้น และต้องจ่ายพร้มกันกับการยื่นประมูล สำหรับกำลังผลิต 1 กิโลวัตต์ อยู่ที่ 8,000 บาท กำลังผลิต 1 เมกะวัตต์ อยู่ที่ 8000,000 บาท และกำลังผลิต 10 เมกะวัตต์อยู่ที่ 8 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นความล่าช้าของการพิจารณา EIA ที่หลายโครงการยังอยู่ในระหว่างพิจารณาจาก สผ.และเป็นข้อกังวลของกลุ่มโรงงาน เพราะก่อนหน้านี้ กกพ.ได้กำหนดว่า กำลังผลิตในส่วนของ SPP Hbrid Firm จะต้องผลิตเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในปี 2562 แต่ได้พิจารณาขยายเวลาออกไป เป็นให้เข้าระบบภายในปี 2564 แล้ว ฉะนั้น คาดว่า กกพ.คงไม่พิจารณาขยายเวลาเพิ่มอีก

“การประมูลรอบนี้เงื่อนไขบีบคั้นมาก ซึ่งคาดว่าค่าไฟฟ้าจะมีราคาต่ำมาก เพื่อตัดราคาคู่แข่ง และแต่ละรายมีความพร้อมมากเพราะมีการเตรียมตัวมานาน รวมถึ่งในการสร้างโรงงานน้ำตาล 1 โรง หากจะให้คุ้มค่าลงทุนมากที่สุดก็ต้องมีโรงไฟฟ้าเพื่อไว้รองรับการผลิตของตัวเอง และขายเข้าระบบด้วย ซึ่งทุกรายมีความพร้อมมาก หรือแม้แต่วัตถุดิบที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิง เช่น กากอ้อย ที่คาดว่าในอนาคตก็จะมีการปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นอีก”

รายงานข่าวเพิ่มเติมจาก กกพ.ระบุว่าเตรียมเปิดรับซื้อไฟฟ้าใน 4 โครงการ กำลังผลิต 600 เมกะวัตต์ คือ 1 โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed in Tariff  ประเภทเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย) สำหรับพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา เฉพาะอำเภอจะนะ  เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี 2 โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ SPP Hbrid Firm 3 โครงการพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Fit สำหรับผู้ผลิตรายเล็กมาก (VSPP Semi Firm) และ 4 โครงการโรงไฟฟ้า-ประชารัฐ สำหรับ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ประเภทชีวมวล

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 6 กันยายน 2560

รับมือฝนระลอกใหม่ เขื่อนแควน้อยเร่งระบายน้ำ-เฝ้าระวังสถานการณ์

ปริมาณน้ำในเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน รับน้ำไวกว่าทุกปี ล่าสุดเก็บน้ำได้ 81% แต่ต้องเปิดประตูระบายน้ำบานใหญ่ 3 บาน ระบายวันละ 200 ลบ.ม.เพื่อรองรับน้ำใหม่ที่คาดว่าปลายเดือนนี้อาจเข้ามาอีก และเชื่อว่าปีนี้เขื่อนแควน้อยจะกักเก็บน้ำเต็มเขื่อนไวกว่าทุกปีที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากสถานการณ์ฝนที่ยังคงตกต่อเนื่องในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะ อ.นครไทย อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนแควน้อยแต่ละวันจำนวนมาก วันหนึ่งประมาณ 10 - 20 ล้าน ลบ.ม.ล่าสุดเช้าวันนี้ยังคงมีน้ำไหลเข้าเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน อยู่ที่ 13 ล้าน ลบ.ม.ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่เก็บสะสมในเขื่อนแควน้อย อยู่ที่ 761 ล้าน ลบ.ม.หรือ 81% ของความจุ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับในปี 59 อยู่ที่ 377 ล้าน ลบ.ม.

นายเฉลิมศักดิ์ ทักษาดิพงษ์ ผู้อำนวยการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน กล่าวว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนแควน้อยในปีนี้ หากเปรียบเทียบกับปี 59 ถือว่ามีมากเกือบเท่าตัว เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้น้ำไหลเข้าเขื่อนแควน้อยมีจำนวนมากเช่นกัน ส่งผลให้แผนการจัดการน้ำของกรมชลประทาน ต้องมีการระบายน้ำของเขื่อนแควน้อยเพิ่มมากขึ้นจากเดิม เป็นวันละ 200 ลบ.ม.โดยได้เปิดประตูบานใหญ่ จำนวน 3 บาน จาก 6 บาน ระบายน้ำ 170 ลบ.ม.และที่ประตูระบายน้ำสปริงเวย์อีก 30 ลบ.ม.ทั้งนี้ เพื่อรองรับน้ำใหม่ที่คาดว่าจะเข้ามาอีกในช่วงปลายเดือน ก.ย.นี้ แต่ต้องเฝ้าดูสถานการณ์น้ำฝนอีกครั้ง และคาดว่าน้ำจะเต็มเขื่อนไวกว่าในปีที่ผ่านมา คือในช่วงปลายเดือน ต.ค.แต่ในปีนี้คาดว่าต้นเดือน ต.ค.นี้ก็น่าจะเต็มแล้ว แต่ตัวเขื่อนได้ออกแบบในการรองรับน้ำได้อีกกว่า 1 เมตร

ผู้อำนวยการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน กล่าวอีกว่า ขณะที่ทางเจ้าหน้าที่ของเขื่อนแควน้อยยังดูแลประตูระบายน้ำบานใหญ่แต่ละบาน เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและมั่นคงในการรองรับน้ำได้ตามที่กำหนดอีกด้วย

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 6 กันยายน 2560

'สมชาย หาญหิรัญ'ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมคิดเร็ว โปร่งใส ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย มุ่งสู่ไทยแลนด์ 4.0  -

          ปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุค"ไทยแลนด์ 4.0" ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์เชิงนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย หรือโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล ภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เข้ามาบริหารประเทศบนวิสัยทัศน์ที่ ว่า "มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน" ที่มีภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ เพื่อปรับปรุงแก้ไข จัดระบบปรับทิศทางและสร้างหนทางพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า สามารถรับมือกับโอกาสและภัยคุกคามแบบใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และรุนแรง

          สำหรับ "อุตสาหกรรม 4.0 จุดเปลี่ยนประเทศไทย" กระทรวงอุตสาหกรรมได้วางแนวทางการขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย  4 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่1 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) โดยในปี 2560 จะดำเนินการใน 4 สาขานำร่อง ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน 2.อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 3.อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงและเคมีชีวภาพ และ 4.อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรม4.0 (Ecosystem) โดยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ เช่น การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ใน 5 ปีแรก แบ่งเป็นการลงทุนในเมืองใหม่ 4 แสนล้านบาท การลงทุนด้านอุตสาหกรรม 5 แสนล้านบาท และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ สนามบินอู่ตะเภา รองรับผู้โดยสาร 3 ล้านคน/ปี

          ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสนับสนุนการบูรณาการความร่วมมือในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 โดยการสร้างเครือข่ายและกลไกความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเริ่มตั้งแต่การจัดทำ Roadmap ใช้แนวทางประชารัฐ โดยการลงนาม MOU ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมของไทยกับกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม (METI) ของญี่ปุ่น เชื่อมโยงกลุ่มประเทศ CLMV เพื่อออกสู่ตลาดโลกไปด้วยกัน, การลงนาม MOU กับ SMBA หรือกระทรวงส่งเสริม SMEs ของเกาหลีใต้ในการจัดตั้ง Thai - Korea Technology Center (TKTEC) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดเทคโนโลยี จัดตั้งคณะทำงานประชารัฐไทย-เยอรมัน เพื่อการพัฒนา/ปรับเปลี่ยนทักษะแรงงานให้สอดคล้องและส่งเสริมกัน

          ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาทักษะและฝีมือแรงงานเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยบูรณาการดำเนินงานร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านการผลิตกำลังคน การพัฒนามาตรฐานวิชาชีพ การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน ในระบบทวิภาคี/สหกิจศึกษาการพัฒนาแรงงานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย SCurve โดยในปี 2561 มีการวางแผนการพัฒนาแรงงานภาคอุตสาหกรรม จำนวน 100,000 คนและให้ความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนา SMEs ซึ่งเป็นรากฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการสนับสนุนมาตรการทางการเงิน ผ่านโครงการสนับสนุนสินเชื่อและกองทุนต่างๆ รวมวงเงินทั้งสิ้น 38,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือ SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น และมาตรการส่งเสริมที่ไม่ใช่ด้านการเงิน เพื่อยกระดับศักยภาพของ SMEs ให้เป็น Smart SME, S-Curve SME, Digital SME โดยการส่งเสริมพัฒนาในด้านต่างๆ ทั้งด้านเทคโนโลยีและดิจิตอล การเพิ่มผลิตภาพ(Productivity) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาด ด้านมาตรฐาน ด้านการบริหารจัดการ ผ่านเครื่องมือ/กลไกการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับ SMEs ในแต่ละกลุ่ม

          ทั้งนี้ นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงโครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติว่า จะช่วยส่งเสริมการใช้ยางพาราของกลุ่มเกษตรกร และผลักดันให้เกิดการเติบโตทางด้านยานยนต์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จากการประมาณการณ์ปีนี้คาดว่าจะมียอดการจำหน่ายรถยนต์อยู่ที่ประมาณ 800,000 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 1 ขณะที่ยอดการผลิตอยู่ที่ 2 ล้านคันโดยภาครัฐยังมีนโยบายเกี่ยวกับการสนับสนุนผู้ประกอบการพัฒนารถยนต์ที่มีคุณสมบัติเรื่องความสะอาดปลอดภัย ประหยัดพลังงาน และลดมลพิษ ซึ่งรัฐบาลได้ตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติขึ้นโดยระยะแรกจะเป็นส่วนทดสอบยางล้อที่ประกอบไปด้วยสนามทดสอบการยึดเกาะถนนพื้นเปียก รวมทั้งทดสอบความต้านทานของยาง คาดว่าจะเสร็จภายในปี 2561 ทั้งนี้ เชื่อว่าการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวจะสามารถช่วยส่งเสริมการใช้ยางพาราของกลุ่มเกษตรกรให้มากขึ้น นอกจากนี้ ไทยยังเป็นฐานการผลิตรถยนต์ทำให้ผู้ผลิตรายใหญ่สนใจขยายกำลังผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงาน จึงสร้างแรงจูงใจให้ประเทศไทยพัฒนาวิจัยอุปกรณ์เสริม เช่น แบตเตอรี่ และมอเตอร์ ทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

          จะเห็นได้ว่า นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุค"ไทยแลนด์ 4.0" โดยนำความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่สั่งสมมาเป็นเวลานานตั้งแต่เริ่มเข้ารับราชการ จนกระทั่งถึงวัยเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2560 ที่จะถึงนี้ ส่งผลให้การทำงานเกิดเป็นรูปธรรมหลายด้านอย่างเห็นได้ชัดและมีผลงานโดดเด่นมากมาย อาทิ การสร้าง OTOP Couture Village เพื่อปั้น"โครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน" ตามนโยบายรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ โครงการกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ การสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน โดยถ่ายทอดความรู้ผ่านทางไลน์ หรือเฟซบุ๊ก การสนับสนุนและช่วยเหลือธุรกิจ SMEs กับการใช้ระบบe-Consult โดยให้คำปรึกษาและบริการผ่าน Application Industry Partner (IP) เพื่อเปิดโอกาสให้ SMEs ทุกรายเข้ามาปรึกษา เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์(Packaging) จากนั้นทางศูนย์และผู้เชี่ยวชาญ (Expert) จะช่วยแนะนำการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัย เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมไปสู่ Industry 4.0 และให้ความสำคัญในด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) โดยจะต้องกำกับดูแลโรงงานในภาคอุตสาหกรรมทุกประเภท ต้องผลิตสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐานอย่างเคร่งครัด เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศ

          นับจากวันนี้คงจะเหลือเวลาอีกไม่กี่วันที่นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม จะเกษียณอายุราชการ ก็ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า ผมตั้งใจจะทำงานเพื่อประเทศชาติให้ได้มากที่สุด และคาดหวังว่าการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย มุ่งสู่ไทยแลนด์ 4.0 จะสำเร็จเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อให้ทันต่อยุคการเปลี่ยนแปลงในสังคมโลกปัจจุบัน การที่จะเป็นผู้บริหารที่ดีได้ ต้องคิดเร็ว ทำเร็ว และโปร่งใส โดยมีเป้าหมายมุ่งส่งเสริมให้อุตสาหกรรมของประเทศไทยมีเข้มแข็ง มั่นคง และยั่งยืนต่อไป

          คนเก่งมีความรู้ความสามารถ มีฝีไม้ลายมือดี ได้นั่งแท่นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม อย่างนายสมชาย หาญหิรัญ คงจะทำงานเข้าตาผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองบ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งในอนาคตหลังจากที่นายสมชาย หาญหิรัญ เกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2560 อาจจะถูกทาบทามให้มาช่วยงานรัฐบาลอีกก็อาจเป็นไปได้  ต้องคอยจับตาดูกันต่อไป

          นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

          ประวัติการศึกษา

          ปริญญาตรี เศรษฐศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

          ปริญญาโท พบ.ม. (เศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรม) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

          Master of Economics Queen's University ประเทศแคนาดา

          ปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ Concordia University,Canada

          นักบริหารระดับสูง คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันป้องกันราชอาณาจักรประเทศไทย (2552/2553)

          ผู้บริหารระดับสูงด้านการค้าและการพาณิชย์ (TepCot) กระทรวงพาณิชย์นักบริหารระดับสูงธรรมศาสตร์เพื่อสังคม รุ่นที่ 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ผู้บริหารระดับสูงด้านวิทยาการพลังงาน รุ่นที่ 7 (วนพ.7) สถาบันวิทยาการพลังงาน

          ตำแหน่งปัจจุบัน

          ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมประธานกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(SME Bank)

          ประธานกรรมการบริษัท บริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำกัด(มหาชน) (GENGO)

          ประธานคณะกรรมการบริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัดที่ปรึกษาคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกรรมการสภาวิชาการ มหาวิทยาลัย

ราชภัฏอุบลราชธานีกรรมการหลักสูตรเศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตReader ของวารสารวิชาการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

          ที่ปรึกษากรรมการวิชาการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกรรมการศูนย์อนุรักษ์พลังงานแห่งประเทศไทย

จาก พิมพ์ไทย วันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2560 

'พลังงาน' รับนายกฯ สั่งชะลอซื้อไฟฟ้า 'สตึงมนัม' ในกัมพูชา

"พลังงาน" รับนายกฯ สั่งชะลอซื้อไฟฟ้า "สตึงมนัม" ในกัมพูชา รอ ก.เกษตรฯ ศึกษาให้ชัดน้ำมีเพียงพอต่อความต้องการใช้หรือไม่ ยันโครงการมีประโยชน์ต่ออีอีซี ไม่เกี่ยวกับความมั่นคงไฟฟ้าภาคตะวันออก ซึ้ค่าไฟ 10.75 บาทต่อหน่วยเป็นแค่กรอบประเมินสูงสุด

 นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ทุกหน่วยชะลอโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสตึงมนัม ขนาด 24 เมกะวัตต์ ในประเทศกัมพูชาออกไปก่อน เพื่อรอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กลับไปศึกษาการบริหารจัดการน้ำให้เกิดความชัดเจนว่าความต้องการใช้น้ำ และแหล่งน้ำในประเทศจะมีเพียงพอต่อความต้องใช้ในระยะยาวหรือไม่ หลังกระทรวงเกษตรฯ ระบุว่า น้ำมีเพียงพอต่อความต้องการใช้ในช่วง 12 ปีนี้

"โครงการโรงไฟฟ้าสตึงมนัมที่ถูกสั่งชะลอ ไม่น่าจะเกิดจากความขัดแย้งด้านนโยบาย แต่น่าจะเป็นความไม่ชัดเจนของข้อมูลมากกว่า ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ คงจะต้องศึกษาใช้ชัดว่าต้องการใช้น้ำหรือไม่ ถ้าไม่ต้องการโครงการนี้ก็ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้น และถ้าไม่ดำเนินโครงการนี้เขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) จะเอาน้ำจากไหนก็ต้องศึกษาให้ชัดด้วย" นายประเสริฐ กล่าว

ส่วนประเด็นการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการนี้ในราคาแพงถึง 10.75 บาทต่อหน่วยนั้น ยืนยันว่าการวิเคราะห์ต้นทุน ผลตอบแทนการลงทุนต่างๆ เป็นไปตามระบบที่ศึกษาความเหมาะสม และคำนวนโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งต้องมีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ส่งน้ำมันผ่านภูเขา ทำให้ต้นทุนค่าก่อสร้าง ประเมินเบื้องต้น อยู่ที่ประมาณ 9,000-10,000 ล้านบาท และเป็นราคา maximum ซึ่งทุกๆ 10.75 บาทต่อหน่วย นอกจากจะได้ไฟฟ้า 1 หน่วย บนพื้นฐานต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ไทยผลิตได้อยู่ที่ 2.60 บาทต่อหน่วย และยังได้น้ำอีก 3 ลูกบาศก์เมตร เฉลี่ยลูกบาศก์เมตรละ 2.80 บาท และน้ำอย่างน้อยปีละ 300 ล้านลูกบาศ โดยกำหนดได้ว่าจะให้ตอนช่วงหน้าแล้งเท่านั้น หรือจะให้ส่งน้ำมาตลอดทั้งปีก็ได้ และมีข้อผูกผันในการส่งน้ำเป็นเวลา 50 ปี

ขณะที่ปริมาณผลิตไฟฟ้าเพียงแค่ 24 เมกะวัตต์ ทั้งๆที่โครงการมีปริมาณน้ำจำนวนมากนั้น เพราะมองว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่มีไม่มาก หากผลิตไฟฟ้ามากขึ้นจะยิ่งส่งผลให้ต้นทุนค่าก่อสร้างสูงขึ้นไปด้วย

นายประเสริฐ กล่าวว่า โครงการนี้หากประเทศไทยไม่ต้องการใช้น้ำจากกัมพูชา ก็ไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินโครงการนี้ เพราะไม่ได้มีประเด็นต่อความมั่นคงด้านไฟฟ้าของภาคตะวันออก ซึ่งกระทรวงพลังงานดูแลได้อยู่แล้ว แต่วัตถุประสงค์หลักของโครงการคือเรื่องน้ำ โดยการซื้อไฟฟ้าต่างประเทศที่ผ่านมากระทรวงพลังงานจะพิจารณาบนพื้นฐาน 4 ข้อ คือ ปริมาณที่เหมาะสม,พื้นที่ที่ต้องการ,ราคาที่ต้องไม่แพงกว่าที่ผลิตได้ในประเทศ และช่วงเวลที่เหมาะสม ซึ่งโครงการนี้ทางกัมพูชาประเมินว่าต้องใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 6-7 ปี แต่คาดว่าอาจต้องใช้เวลามากกว่า 10 ปี เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ และต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ด้วย

ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าสตึงมนัม เป็นความร่วมมือระหว่างไทย-กัมพูชา ยาวนานกว่า 30-40 ปีมาแล้ว แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เป็นข้อสังการณ์ของนายกฯ เพราะภาครัฐได้ริเริ่มจัดทำโครงการเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) และเป็นห่วงเรื่องการจัดหาน้ำให้เพียงพอที่จะรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมในพื้นที่หรือไม่ รวมถึงเมื่อวันที่ 18-19 ธ.ค. 2558 นายกรัฐมนตรีไทยและกัมพูชา ได้หารือความร่วมมือโครงการเพื่อให้เกิดความร่วมมือด้านพลังงาน และการบริหารจัดการน้ำร่วมกันแบบบูรณาการ พล.อ.ประยุทธ์ จึงสั่งการให้กระทรวงพลังงาน ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ จึงเป็นที่มาในการจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจ(MOU) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่าง 2 ประเทศ แต่ยังไม่ได้มีการลงนาม MOU อย่างเป็นทางการแต่อย่างใด

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2560 

ค่าบาทช่วงเช้า 'แข็งค่า'

บาทช่วงเช้าขยับแข็งค่ามาที่ "33.15 บาทต่อดอลลาร์" ตลาดติดตามความขัดแย้งสหรัฐและเกาหลี

 นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย กลุ่มงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า เงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นมาที่แนว 33.15 บาทต่อดอลลาร์ฯ (เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.17 บาทต่อดอลลาร์ฯ) สอดคล้องกับทิศทางของเงินเยน และเงินหยวนที่ยังเคลื่อนไหวในด้านที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ เนื่องจากนักลงทุนและตลาดการเงินในภาพรวม ยังคงติดตามสถานการณ์ เพื่อรอประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีเหนืออย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ เงินบาทยังน่าจะมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากกระแสฟันด์โฟลว์จากนักลงทุนต่างชาติด้วยเช่นกัน

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 33.05-33.25 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยนอกจากประเด็นในคาบสมุทรเกาหลีแล้ว ตัวเลขคำสั่งซื้อของโรงงานสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดในวันนี้ ก็น่าจะเป็นจุดสนใจของตลาดด้วยเช่นกัน

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2560 

ส.อ.ท.จ่อปลุกที่เสื่อมโทรม51ล้านไร่ปลูกพืชพลังงาน

“ส.อ.ท.” เตรียมเสนอ”กรอ.”ดันยกร่างพ.ร.บ.พืชพลังงานส่งเสริมการใช้ชีวมวลผลิตไฟ ดันพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม 51 ล้านไร่โดยนำร่อง 15 ล้านไร่ 3,000 เมกะวัตต์ก่อนหวังหนุนสร้างเกษตรกร 3 ล้านรายยกระดับรายได้

 นายสมพงษ์ ตันเจริญผล รองประธานอาวุโส สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)ได้เห็นชอบแนวทางการศึกษาและยกร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) พืชพลังงานเพื่อส่งเสริมการใช้ชีวมวลในการผลิตไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงพลังงานของประเทศตามที่ส.อ.ท.เสนอซึ่งหลังจากนี้จะได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำข้อสรุปเพื่อเสนอไปยังคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(กรอ.)ที่มีนายกฯเป็นประธานเพื่อผลักดันให้เกิดการปฏิบัติต่อไป

 ทั้งนี้เบื้องต้นส.อ.ท.ร่วมกับสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ม.กษตรศาสตร์และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ทำการศึกษาเพื่อจัดทำข้อสรุปถึงแผนการส่งเสริมการปลูกพืชโตเร็วมานำมาเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลเพื่อผลิตไฟฟ้าเช่น ยูคาลิปตัส กระถินยักษ์ ฯลฯ โดยใช้พื้นที่ป่าเสื่อมโทรม พื้นที่เหมืองต่างๆที่หมดอายุแล้วยังไม่ทำการฟื้นฟูมาส่งเสริมการเพาะปลูก เป็นต้น

“ เราต้องหารือกับทุกภาคส่วนโดยหากจะให้ยั่งยืนก็ต้องยกระดับให้เป็นพ.ร.บ.ขึ้นมาโดยเฉพาะให้มีกฏหมายรองรับเพื่อการขับเคลื่อนโดยเป้าหมายก็เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานและช่วยให้เกิดการพัฒนาเกษตรกรรมแบบยั่งยืนมีมูลค่าเพิ่มซึ่งต้องหารือกับทุกฝ่ายด้วยโดยเฉพาะที่ดินบางส่วนจะติดปัญหาพื้นที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือสปก.”นายสมพงษ์กล่าว

นายสมัย ลี้สกุล รองประธานส.อ.ท.กล่าวว่า เบื้องต้นพื้นที่ที่มีศักยภาพส่งเสริมปลูกพืชพลังงานมีทั้งหมด 51 ล้านไร่แต่เป้าหมายระยะแรกจะส่งเสริม 15 ล้านไร่ คาดว่าจะทำให้เกิดการผลิตไฟฟ้าประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ แนวทางส่งเสริมเกษตรกรเพาะปลูกได้ไม่น้อยกว่า 3 ล้านคน ซึ่งจะมีการส่งเสริมให้เกิดตลาดกลางซื้อขายเพื่อตัดปัญหาคนกลาง

“ เราได้หารือกับสำนักนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.)แล้วที่แผนนี้จะสอดรับกับแผนพัฒนาพลังงานและพลังงานทางเลือก(AEDP2015) ที่มุ่งส่งเสริมให้การผลิตไฟฟ้า จากชีวมวล 5,570 เมกะวัตต์ด้วยซึ่งเราเชื่อมั่นว่าการผลิตไฟจากแผนนี้จะมีต้นทุนค่าไฟที่อยุ่ในอัตรา FiT 3.66 บาทต่อหน่วยและยังตอบโจทย์ในอนาคตเพราะขณะนี้โรงไฟฟ้าถ่านหินเองก็เกิดขึ้นยากต้องเน้นใช้ก๊าซธรรมชาติเหลวหรือLNG ที่ราคาแพง”นายสมัยกล่าว

จาก https://mgronline.com  วันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2560 

พาณิชย์” เตรียมจัดเจรจาการค้าใหญ่ไทย-ญี่ปุ่น

รมว.เมติญี่ปุ่นพร้อมนำทัพเอกชน 500 รายเยือนไทย ตอกย้ำพันธมิตรเศรษฐกิจ

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น จะนำคณะเอกชนรายใหญ่ของญี่ปุ่น 500 ราย เดินทางเยือนไทย เพื่อสำรวจลู่ทางการค้า การลงทุน และหารือแนวทางการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและญี่ปุ่น ในระหว่างวันที่ 11 – 13 กันยายน 2560 นี้ โดยในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมจัดกิจกรรมเจรจาการค้าและสร้างเครือข่ายธุรกิจ ระหว่างคณะเอกชนจากญี่ปุ่น คณะญี่ปุ่นในประเทศไทย และเอกชนไทย รวมกว่า 1,200 ราย ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ 1) ยานยนต์ 2) ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 3) เกษตร อาหาร และสุขภาพ 4) ธุรกิจบริการด้านโลจิสติกส์และนิคมอุตสาหกรรม และ 5) สถาบันการเงินและหน่วยงานภาครัฐ

“การจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างญี่ปุ่นและไทย ซึ่งจะครบ 130 ปี ในวันที่ 26 กันยายน 2017 นี้ อีกทั้งเป็นการขยายผลจากการที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้เดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 4 – 8 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยนอกจากกระทรวง เศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม และคณะเอกชนจากญี่ปุ่นแล้ว ฝ่ายญี่ปุ่นยังประกอบด้วยอีกหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) สถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (Keidanren) องค์การสนับสนุน SMEs แห่งประเทศญี่ปุ่น (SMRJ) และหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งญี่ปุ่น (JCCI)” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว

นอกเหนือจากการเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีและการประชุมหารือทวิภาคีแล้ว ในวันที่ 12 กันยายน 2560 ณ โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาคีส์ ควีนส์ปาร์ค จะมีปาฐกถาพิเศษโดยนายฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ปาฐกถาพิเศษโดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี การนำเสนอในหัวข้อโอกาสการลงทุนในประเทศไทยโดยเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน รวมทั้งการอภิปรายแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นจากภาคเอกชนรายใหญ่ของญี่ปุ่น

ทั้งนี้หน่วยงานต่างๆ จากสองประเทศจะได้แลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจ MOU และหนังสือแสดงเจตจำนง MOI ระหว่างกัน ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จะแลกเปลี่ยน MOU กับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นหรือ JETRO เพื่อขยายความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน และร่วมกันพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ แลกเปลี่ยนข้อมูล จัดกิจกรรมเจรจาการค้า ตลอดจนผลักดันการเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองฝ่าย

อีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญที่จัดคู่ขนาน ได้แก่ การจัดเจรจาการค้าและสร้างเครือข่ายธุรกิจ (Business Networking) ระหว่างคณะเอกชนจากญี่ปุ่นที่เดินทางมากับคณะ 500 รายดังกล่าว เอกชนญี่ปุ่นในไทย ประมาณ 300 – 500 ราย และเอกชนไทยกว่า 300 ราย รวมประมาณ 1,200 – 1,300 ราย ในอุตสาหกรรมยานยนต์ กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มสินค้าเกษตร อาหาร และสุขภาพ กลุ่มธุรกิจบริการด้านโลจิสติกส์และนิคมอุตสาหกรรม และกลุ่มสถาบันการเงินและหน่วยงานภาครัฐ

สำหรับหน่วยงานฝ่ายไทยที่ร่วมกันดำเนินการจัดกิจกรรมและต้อนรับคณะฯ จากญี่ปุ่นในครั้งนี้ ประกอบด้วย กระทรวงพาณิชย์ (กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ) กระทรวงอุตสาหกรรม (กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวในตอนท้ายว่า “กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่ร่วมจัดงานคาดหวังให้เกิดความร่วมมือด้านยุทธศาสตร์ระหว่างไทยและญี่ปุ่น ขยายช่องทางการตลาด โอกาสทางการค้าการลงทุน ส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลาง Sourcing สินค้าที่สำคัญของญี่ปุ่นในอาเซียน ตลอดจนผลักดันการลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศไทย นำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจในประเทศ”

การค้าระหว่างประเทศไทย – ญี่ปุ่น ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2560 (มกราคม – กรกฎาคม) มีมูลค่ารวม 30,697.42 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 5.24 แบ่งเป็นไทยส่งออกไปญี่ปุ่นมูลค่า 12,589.21 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 8.12 สินค้าส่งออกสำคัญได้แก่ ไก่แปรรูป รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องจักรกล อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และอุปกรณ์ ด้านการนำเข้า ไทยนำเข้าจากญี่ปุ่นมูลค่า 18,108.21 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 3.33 สินค้านำเข้าสำคัญได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2560

แจงสี่เบีย : หญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ

การอนุรักษ์ดินและน้ำเป็นการระวังรักษา ป้องกันดินมิให้ถูกชะล้างและพัดพาไป ตลอดจนการปรับปรุงบำรุงดินให้คงความอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งการรักษาน้ำในดินและบนผิวดินให้คงอยู่ เพื่อรักษาดุลธรรมชาติให้เหมาะสมในการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน การใช้หญ้าแฝกเป็นอีกหนึ่งวิธีในการอนุรักษ์ดินและน้ำ ใช้ต้นทุนต่ำ สามารถดำเนินการเองได้ ปัจจุบันมีการปลูกหญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำตามแนวบ่อดักตะกอน ทางระบายน้ำ ขอบทางเดินในไร่นา ตามคูรับน้ำรอบภูเขา ทำเป็นแนวชะลอความเร็วของน้ำและดักตะกอนขวางความลาดเอียงของพื้นที่ ปลูกระหว่างแถวไม้ผล และแนวเขตถือครองที่ดิน ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9)ในเรื่องหญ้าแฝกนี้ นอกจากจะพัฒนาให้เกษตรกรสำนึกและมั่นใจในระบบอนุรักษ์ดินและน้ำแล้ว ยังช่วยฟื้นฟูทรัพยากรดินที่เสื่อมลงใกล้ถึงจุดวิกฤติให้ได้กลับคืนสู่สภาพที่ดีอีกครั้งหนึ่ง

พื้นที่ทำการเกษตรตำบลกำแพง จังหวัดสตูล เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ตัวอย่างที่สภาพพื้นที่เป็นที่ลุ่ม แอ่งท้อง และทางระบายน้ำ เมื่อถึงเข้าสู่ฤดูฝน น้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานาน ทำให้มีการชะล้างพังทลายของดิน พื้นที่ทำนาในหลายพื้นที่มีการปล่อยทิ้งจนกลายเป็นพื้นที่นาร้าง เมื่อทำนาไม่ได้ผลผลิตเท่าที่ควร

เกษตรกรได้เข้าร่วมโครงการขุดคู-ยกร่อง เพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน โดยได้รับการสนับสนุนจากสถานีพัฒนาที่ดินสตูล กรมพัฒนาที่ดิน ใช้พื้นที่นาร้างทำการปลูกปาล์มน้ำมันควบคู่ไปกับการปลูกหญ้าแฝก การใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกในด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำ เนื่องจากสามารถแก้ไขปัญหาการพังทลายของดินและการชะลอของน้ำได้ดี ช่วงฤดูฝนเกิดน้ำท่วมขังระยะเวลานาน แต่เมื่อน้ำแห้งแล้วหญ้าแฝกก็รักษาความชื้นในดินได้ดีอีกด้วย รวมทั้งใบหญ้าแฝกก็สามารถนำมาคลุมโคนต้นปาล์มน้ำมัน เพื่อเก็บความชื้นและเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน

สวนปาล์มน้ำมันของนายบุญศักดิ์ ลิบประภากร จำนวน 7 ไร่ ณ บ้านปากปิง ม.10 ต.กำแพง อ.ละงู จ.สตูล เป็นหนึ่งพื้นที่ตัวอย่างที่ปลูกหญ้าแฝกในสวนปาล์มน้ำมัน ตามโครงการฟื้นฟูป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน (หญ้าแฝก) สายพันธุ์ที่นำมาปลูก คือ พันธุ์สงขลา 3 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีการเจริญเติบโตได้ดี แตกกอเร็ว เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ลุ่ม มีรากยาวและปริมาณมากสามารถยึดดินได้เป็นอย่างดี ดอกเป็นหมันไม่แพร่พันธุ์กระจายในพื้นที่ใกล้เคียง ใบมากเมื่อแตกหน่อใหม่แล้วต้นเก่าจะตาย ซึ่งในพื้นที่สวนปาล์มน้ำมันของนายบุญศักดิ์มีลักษณะวิธีการปลูก โดยปลูกริมขอบคู-ยกร่อง 2 แถว ระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 5-10 ซม. ตลอดแปลง 7 ไร่ นอกจากนี้ การตัดแต่งกอหญ้าแฝกแต่ละครั้ง ก็นำใบมาคลุมโคนปาล์มน้ำมัน เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุและย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยหมัก ดินที่ปลูกหญ้าแฝกนั้นพัฒนาเป็นดินดีมีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยเคมีได้เป็นอย่างดี

จาก http://www.naewna.com วันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2560

ยืนเป้าส่งออกโต5% สรท.กังวลบาทแข็ง เชื่อจีดีพีSMEสดใส

สรท.ยืนเป้าส่งออกโต 5% ห่วงบาทแข็ง น้ำมันแพง และการเมืองระหว่างประเทศ ขณะที่ สสว.มั่นใจสิ้นปี จีดีพีเอสเอ็มอีโต 5% เช่นกัน

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 2560 สรท.ยังคงคาดการณ์การเติบโตในด้านมูลค่าที่ 5% โดยมีปัจจัยบวกสำคัญจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะคู่ค้าหลัก เช่น สหรัฐ, ยุโรป, จีน, ญี่ปุ่น และอาเซียน และการปรับตัวของสินค้าไทยต่อความต้องการของตลาด โดยเฉพาะสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์

ส่วนปัจจัยลบที่จะมีผลกระทบ จะมาจากอัตราแลกเปลี่ยนที่มีแนวโน้มแข็งค่า ซึ่งในเดือน ส.ค.แข็งค่าที่ 33.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ราคาน้ำมันดิบที่มีผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก และ สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ

"สรท.คาดการณ์ว่าการส่งออกในเดือน ส.ค.นี้ เราจะทำได้ไม่แย่ไปกว่าปีที่ผ่านมาที่ทำได้ 17,820 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยในแต่ละเดือนที่จะทำให้การส่งออกเติบโตได้ถึง 5% แต่ทั้งนี้ เดือนที่น่าลุ้นที่สุดคือ เดือน ก.ย.และ ต.ค.เพราะออเดอร์จะมีมากที่สุด" น.ส.กัณญภัคกล่าว

อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ สรท.มีข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาการส่งออก โดยภาครัฐต้องมีการกำกับดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม และต้องกำหนดรูปแบบและแนวทางการบริหารจัดการแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมให้เพียงพอต่อความต้องการ เร่งยกระดับกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศเป็นต้น

นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของเอสเอ็มอีในไตรมาส 2 ปี 2560 คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.56 ล้านล้านบาท ขยายตัว 4.9% มาจากการขยายตัวในภาคการค้าและภาคบริการเป็นหลัก จากภาคท่องเที่ยวที่ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง การบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัว จึงคาดว่าจีดีพีเอสเอ็มอีจะเติบโตได้ต่อเนื่องจนถึงสิ้นปีตามที่ประมาณการไว้ที่ 5%

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2560

จับตาวาระประชุมครม.ด้านเศรษฐกิจวันนี้

การประชุมครม.วันนี้ "พล.อ.ประวิตร" รับหน้าที่ประธานประชุมแทนนายกฯ มีวาระเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาหลายเรื่อง                   

วันนี้ (5 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมครม.วันนี้ ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมครม.แทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งยังอยู่ระหว่างนำคณะเข้าร่วมการประชุมระหว่างผู้นำกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือกลุ่มบริคส์ ที่ประเทศจีน โดยการประชุมครั้งนี้มีวาระที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาหลายเรื่อง เช่น กระทรวงการคลังเสนอเรื่องความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้

ขณะที่วาระที่น่าสนใจอื่นๆ มีทั้ง สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินเสนอเรื่องขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.59 เพื่อขอขยายกรอบระยะเวลาการดำเนินงานของแผนปฏิบัติการโครงการตามภารกิจของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) ,กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขอความเห็นชอบต่อร่างเอกสารที่มีการรับรองระหว่างการประชุมรัฐมนตรีเกษตรอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงครั้งที่ 2 และกระทรวงมหาดไทยเสนอเรื่องการขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันและเบิกจ่ายเงินงบประมาณ ปีพ.ศ 2557 ที่กันไว้เบิกเหลื่อมปีโครงการส่งเสริมและพัฒนาเส้นทางจักรยานจังหวัดนนทบุรี (เส้นทางที่ 1) เป็นต้น                   

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2560

ส่องทำเลเมืองอีสานยุคเออีซี-

ภาคอีสาน คือจุดยุทธศาสตร์ที่ตั้งประกบลาวกับกัมพูชา พร้อมอยู่ไม่ไกลจากพรมแดนเวียดนาม ฉะนั้น ศักยภาพด้านทำเลและการพัฒนาเมืองในอีสานจึงมีนัยสำคัญท่ามกลางกระแสเออีซี ทว่า เมืองต่าง ๆ บนแผ่นดินอีสาน ก็ล้วนมีศักยภาพทางภูมิรัฐศาสตร์ที่แตกต่างกันไป

หากแบ่งกลุ่มนครตามมิติภูมิศาสตร์ จังหวัดในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ เช่น ร้อยเอ็ด ยโสธร สุรินทร์ ศรีสะเกษ ได้แปลงสภาพเป็น เขตปลูกข้าวสำคัญ แห่งหนึ่งในอาเซียน ขณะที่เมืองในแอ่งสกลนคร เช่น นครพนม มุกดาหาร กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวริมโขงและย่านเศรษฐกิจชายแดน

ส่วนอุดรธานี เป็นฐานสินค้ารองรับกำลังซื้อจากคนลาวที่เวียงจันทน์ แต่ถ้าแบ่งตามย่านชายแดน หนองคาย ถือเป็นด่านการค้าที่เติบโตโดดเด่น เนื่องจากสถานะจุดศูนย์กลางระหว่างเวียงจันทน์กับอุดรธานี แต่สำหรับนครพนมและมุกดาหาร สถานะเชื่อมต่อกับลาว ที่แขวงคำม่วนและแขวงสะหวันนะเขต ซึ่งโยงไปถึงเมืองในเวียดนาม เช่น เมืองวินห์ และเมืองเว้ มีผลต่อศักยภาพโลจิสติกส์และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอาเซียนของทั้ง 2 จังหวัด

ขณะที่บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ก็เริ่มพัฒนาด่านพาณิชย์ตามช่องเขา เพื่อเพิ่มปริมาณการค้ากับกัมพูชาพร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยวในแหล่งอารยธรรมปราสาทหิน สำหรับอุบลราชธานี นับเป็นเมืองใหญ่ที่มีกำลังการพัฒนาตลาดเออีซี ในระดับสูง เช่น สามเหลี่ยมมรกต ที่เชื่อมทั้งชายแดนลาวและกัมพูชา

ผิดกับโคราชที่ขาดแนวพรมแดนประชิดเพื่อนบ้าน ทว่า ด้วยศักยภาพการพัฒนาเมืองในอดีตและพลังเชื่อมต่อกับกรุงเทพฯ พร้อมจังหวัดชายแดนเขมรส่วนอื่นหรือจังหวัดชายทะเลตะวันออก เช่น บุรีรัมย์ สระแก้ว และจันทบุรี จึงทำให้โคราชยังคงครองความโดดเด่นในภาคอีสาน

โครงการรถไฟความเร็วสูง คืออีกหนึ่งตัวชี้วัดสำคัญ ซึ่งทำให้โคราช ชัยภูมิ ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี มีความได้เปรียบจังหวัดที่ขาดเส้นทางรถไฟ เช่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ สกลนคร บึงกาฬ นครพนม ทว่า หากมีการสร้างทางรถไฟหรือพัฒนาทางหลวงเออีซีแบบจริงจังในอนาคต กลุ่มจังหวัดดังกล่าว อาจมีกำลังพัฒนาเชิงเปรียบเทียบที่พุ่งสูงขึ้น อาทิ กาฬสินธุ์ ที่เตรียมโครงการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าเกษตรผ่านระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC) พร้อมกุมทางแยกที่หักขึ้นไปเวียงจันทน์ผ่านยางตลาด เขื่อนลำปาว ท่าคันโท แล้วตรงเข้าอุดรฯ-หนองคาย

ส่วนสนามบินที่ขอนแก่น อุดรธานี ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี สกลนคร และนครพนม ล้วนส่งผลต่อการคมนาคมที่รวดเร็วขึ้น จนทำให้เกิดลักษณะเมืองเด่นและเมืองย่อยบนภูมิทัศน์อีสาน เช่น สนามบินขอนแก่นและร้อยเอ็ดที่ใช้รองรับส่งต่อผู้โดยสารไปมหาสารคาม กาฬสินธุ์ และยโสธร และสนามบินนครพนมที่ช่วยส่งต่อการสัญจรทางบกไปมุกดาหาร พร้อมเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวสองฝั่งโขง

กระนั้นก็ตาม แม้จังหวัดต่าง ๆ จะเริ่มเผยศักยภาพในแง่ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ก็ยังมีประเด็นท้าทายอย่างน้อย 2 ประการที่ส่งผลต่อแนวโน้มการพัฒนาเมืองในอีสานยุคเออีซี

1.Charles Keyes นักมานุษยวิทยาอเมริกัน เคยตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อเปรียบเทียบภาคเหนือกับภาคใต้ ที่มีเมืองเอกเป็นศูนย์รวมการพัฒนาภาคและศูนย์กลางยุทธศาสตร์เพียงแห่งเดียว คือ เชียงใหม่และนครศรีธรรมราช ภาคอีสานกลับประกอบด้วยเมืองเอกหลายศูนย์ เช่น โคราช ขอนแก่น อุดรธานี และอุบลราชธานี ฉะนั้น หากทิศทางการพัฒนาภาคยังคงมีลักษณะค่อนข้างกระจายตัวตามแนวคิดของ Keyes ก็นับเป็นข้อได้เปรียบสำหรับภาคอีสาน ที่จะมีศูนย์แม่ข่ายรองรับการรวมกลุ่มอาเซียนที่หลากหลาย

เพียงแต่ว่า รัฐบาลไทยอาจต้องเพิ่มความโดดเด่นให้กับจังหวัดชายแดนและจังหวัดชั้นในบางแห่ง เช่น การตั้งเมืองร้อยเอ็ดให้คุมเศรษฐกิจลุ่มน้ำชีและ ทุ่งกุลาร้องไห้ เช่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ สุรินทร์ พร้อมโยงกำลังโลจิสติกส์เข้าชายแดนลาว-เขมร ผ่านนครพนม มุกดาหาร สุรินทร์ และอุบลราชธานี ซึ่งจะทำให้เกิด วงนครแห่งใหม่ ตรงจุดสะดืออีสานที่มีขีดความสามารถเข้มข้นในการเชื่อมต่อทั้งเขตอีสานและเขตอินโดจีน

2.เป็นธรรมดาที่บางเมืองในอีสานอาจขาดความโดดเด่นในแง่ยุทธศาสตร์การพัฒนาเออีซี เช่น จังหวัดเลย ซึ่งถูกประกบโดย 2 จังหวัดใหญ่อีสาน คือ ขอนแก่นและหนองคาย รวมถึงจังหวัดภาคกลางตอนบนอย่างพิษณุโลก ทั้ง ๆ ที่เมืองเลยมีศักยภาพพอตัวในแง่การพัฒนาชายแดน ดังเห็นได้จากจุดผ่านแดนถาวรไทย-ลาวระหว่างเชียงคานกับเมืองสานะคาม ประเทศลาว รวมถึงสะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำเหือง ระหว่างท่าลี่กับแก่นท้าว นอกจากนั้น อำเภอด่านซ้าย ซึ่งตั้งห่างจากฝั่งขวาแม่น้ำโขงลงมาทางใต้ราว 110 กิโลเมตร ก็เคยเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ เช่น จุดแบ่งเขตระหว่างอาณาจักรอยุธยากับล้านช้าง ตรงองค์พระธาตุศรีสองรัก

ฉะนั้น จึงนับว่า เลย คืออีก 1 จังหวัดที่ควรได้รับการส่งเสริมในแง่การขยายตัวเชิงพาณิชย์และการท่องเที่ยวในอินโดจีน โดยใช้แกนพัฒนาที่ลากโยงจากฝั่งขวาแม่น้ำโขง-แม่น้ำเหืองที่เชียงคาน-ท่าลี่ แล้วพุ่งลึกเข้าด่านซ้าย ซึ่งจะทำให้เกิดการกระจายตัวของสินค้าและกิจกรรมท่องเที่ยวที่ไหลเชื่อมเพชรบูรณ์และพิษณุโลก ผ่านระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ซึ่งเคลื่อนตัวจากเมืองท่าดานังในเวียดนาม เข้าเมืองท่ามะละแหม่งในเมียนมา

อีสานวันนี้ แตกต่างสิ้นเชิงจากอีสานเมื่อหลาย 10 ปีก่อน ซึ่งแนวพรมแดนถูกปิดกั้นใต้กรอบระเบียบรัฐชาติและความเป็นปฏิปักษ์ต่อเพื่อนบ้านผ่านการเมืองอุดมการณ์ยุคสงครามเย็น

ทว่า อีสานวันนี้กลับกลายเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์แห่งใหม่ ที่การเปิดตัวชายแดนมีลักษณะลื่นไหล รองรับความแตกต่างหลากหลายของผู้คนและสินค้ามากขึ้น เพราะฉะนั้น อีสานจึงเป็นแกนกลางที่โยงไทยเข้ากับเพื่อนบ้านอินโดจีน โดยกระบวนการแปลงสัณฐานภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitical transformation) ในยุคเออีซี ส่งผลล้ำลึกต่อกระบวนการพัฒนาเมืองหรือนคราภิวัตน์ (urbanization) บนแผ่นดินอีสานอย่างมีนัยสำคัญ

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2560 

อุตฯลงนาม UNIDO หนุนโครงการ EEC

กระทรวงอุตสาหกรรม ลงนามร่วม UNIDO สนับสนุนเพิ่มศักยภาพโครงการ EEC เล็งตั้งศูนย์ส่งเสริมลงทุนเทคโนโลยี

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายเป็นประธานลงนามร่วมระหว่างองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) และสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) ว่า การลงนามครั้งนี้เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์และเตรียมการวางแผนการดำเนินงานร่วมกันเพื่อสนับสนุนการกำหนดนโยบายอุตสาหกรรมของประเทศไทย ภายใต้การขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ประเทศไทย 4.0 โดยมีการกำหนดขอบเขตความร่วมมือในหลายสาขาด้วยกัน อาทิเช่น อุตสาหกรรม 4.0  นวัตกรรม เทคโนโลยี หุ่นยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า การเติบโตของเศรษฐกิจอย่างมีส่วนร่วม และเมืองอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมได้หารือถึงการจัดตั้งสำนักงานเพื่อการส่งเสริมการลงทุนและเทคโนโลยี ( Investment and Technology Promotion Offices : ITPO ) ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก EEC เพื่อเป็นศูนย์กลางเสริมสร้างศักยภาพและกระจายความรู้ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดย  UNIDO จะให้การสนับสนุนโครงการ EEC ในการเป็นสื่อกลางเจรจาทั้งในระดับชาติและนานาชาติ 

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2560 

พณ.ร่วมบ.เยอรมันจัดงานเกษตรอินทรีย์ในไทย

กระทรวงพาณิชย์ จับมือ บริษัทเยอรมันฯ จัดงานเกษตรอินทรีย์ในไทย ยกระดับการจัดงานเข้าสู่มาตรฐานสากล

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์    โดยกรมการค้าภายใน ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับบริษัท ผู้จัดงาน BIOFACH ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าและเจรจาธุรกิจอินทรีย์ระดับโลก โดย MOU ดังกล่าวมุ่งสร้างความร่วมมือ ในการจัดงานแสดงและจำหน่ายสินค้าอินทรีย์และสินค้าธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้ชื่องาน Organic Expo - BIOFACH Southeast Asia  ซึ่งจะช่วยยกระดับการจัดงานเข้าสู่มาตรฐานสากล เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงและพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในอาเซียน

โดยกระทรวงพาณิชย์ เชื่อมั่นว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะเกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลการค้าและการตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ รวมถึงองค์ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ ในประเทศต่างๆร่วมกัน เพื่อให้ไทยก้าวสู่ระดับสากลต่อไป

ซึ่ง กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญในเรื่องเกษตรอินทรีย์ โดยได้มีนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาตลาดสินค้าอินทรีย์เพื่อผลักดันประเทศไทยให้เป็นผู้นำด้านการผลิต การค้าและการบริโภค ในภูมิภาคอาเซียน โดยได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาตลาดสินค้าอินทรีย์ของกระทรวงพาณิชย์ ปี 2560 – 2564

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2560 

รัฐมนตรีอาเซียนร่วมเวทีเออีเอ็ม 6-11 ก.ย. ผลักดันเออีซีบลูพริ้นต์ 2025

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ตนจะเดินทางเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (เออีเอ็ม) และการประชุมกับรัฐมนตรีเศรษฐกิจของประเทศคู่เจรจาของอาเซียน ระหว่างวันที่ 6-11 กันยายน 2560 ที่กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เพื่อร่วมผลักดันการดำเนินการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนให้มีความคืบหน้า และประกาศความสำเร็จการเจรจาจัดทำเอฟทีเอระหว่างอาเซียนกับฮ่องกง

ทั้งนี้ ประเด็นการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะติดตามและเร่งรัดการดำเนินงานตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2568 หรือเออีซีบลูพริ้นต์ 2025 ที่จะช่วยลดอุปสรรคทางการค้าและส่งผลต่อการขยายตัวของการค้าการลงทุน โดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะร่วมรับรองเอกสารสำคัญ เช่น แผนงานด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน แผนงานและตัวชี้วัดการอำนวยความสะดวกทางการค้าของอาเซียน กรอบการคุ้มครองผู้บริโภคระดับสูง แนวทางการจดทะเบียนธุรกิจที่ดี รวมถึงกรอบการดำเนินธุรกิจแบบมีส่วนร่วมของอาเซียน เพื่อผลักดันให้ธุรกิจขนาดเล็กและรายย่อยสามารถร่วมอยู่ในห่วงโซ่มูลค่าโลก

นอกจากนี้ ยังมีการประชุมภายใต้การดำเนินงานของเสาเศรษฐกิจ ได้แก่ การประชุมคณะมนตรีเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA Council) ซึ่งจะมีการติดตามการดำเนินการจัดทำระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน และการประชุมคณะมนตรีเขตการลงทุนอาเซียน (AIA Council) ซึ่งจะมีการติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการภายใต้ความตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียน (ACIA)

ส่วนของความสัมพันธ์กับประเทศนอกภูมิภาค รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและฮ่องกงจะร่วมกันประกาศความสำเร็จในการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง และความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน-ฮ่องกง ที่ได้เริ่มการเจรจามาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2557 รวมทั้งจะมีการร่วมรับรองเอกสารระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาอื่นๆ อาทิ แถลงการณ์ร่วมระหว่างจีนและอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานที่ลึกซึ้งขึ้น แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียนบวก 3 ปี 2560-61 แผนกิจกรรมความร่วมมือภายใต้กรอบความตกลงด้านการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนกับสหรัฐ และแผนงานความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียน-รัสเซีย หลังปี 2560 เป็นต้น

จาก https://www.matichon.co.th    วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2560 

บอร์ดเฉพาะกิจ กฟก.ปรับเกณฑ์ซื้อหนี้เกษตรกรใหม่ ล็อตแรก 871 ราย

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ (กฟก.) ว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดการหนี้ของเกษตรกรของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ตามที่คณะอนุกรรมการจัดทำหลักเกณฑ์การจัดการหนี้ของเกษตรกรกรณีหนี้เร่งด่วน โดยหลักเกณฑ์ลดจากเดิม 56 ข้อ เหลือ 36 ข้อ เพื่อทำให้ประสิทธิภาพการทำงานมีความรอบคอบ คล่องตัวขึ้น และจัดลำดับความเร่งด่วนในการให้ความช่วยเหลือเป็น 4 ระดับ คือ หนี้ถูกฟ้องล้มละลาย หนี้ถูกบังคับคดีหรือประกาศขายทอดตลาด หนี้ถูกดำเนินคดี และหนี้ผิดนัดชำระหนี้แล้ว ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ใหม่ยังเน้นเกษตรกรมีคุณสมบัติที่สมควรให้ความช่วยเหลือและได้รับพิจารณาเป็นอันดับแรก คือ เป็นผู้มีรายได้น้อยกว่า 1 แสนบาทต่อปี ถูกฟ้องล้มละลาย หรือเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกหลานในวัยทำงานดูแล

ทั้งนี้ หลังจากลงนามในหลักเกณฑ์แล้ว จะนำมาใช้พิจารณาซื้อหนี้จากเกษตรกร โดยคณะอนุกรรมการกลั่นกรอง ตรวจสอบ และยืนยันข้อมูลหนี้เกษตรกร จะดำเนินการตรวจสอบรายชื่อเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายตามขั้นตอน ซึ่งจากรายงานผลการดำเนินงานจากการตรวจสอบข้อมูลหนี้สินเกษตรกรทั้งประเทศจำนวน 465,925 ราย พบว่า มีเกษตรกรมาแสดงตัว 245,052 ราย โดยเกษตรกรที่มาแสดงตัวแจ้งความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนฯ จำนวน 125,301 ราย ที่เหลือไม่ประสงค์รับการช่วยเหลือ ซึ่งในกลุ่มที่ขอรับความช่วยเหลือนั้น คณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯได้ตรวจสอบคุณสมบัติแล้ว พบว่า มีข้อมูลครบถ้วน 64,748 ราย ที่เหลืออยู่ระหว่างตรวจสอบ

โดยส่วนที่ตรวจสอบแล้ว แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ยินยอมให้ชำระหนี้แทนเกษตรกร 871 ราย จาก 2,369 สัญญา มูลหนี้ 166 ล้านบาท 2.อยู่ระหว่างจำแนกสถานะหนี้ 58,587 ราย และ 3.จัดการหนี้ได้ตามเกณฑ์ กฟก. 5,261 ราย เบื้องต้นคาดว่ากลุ่มที่จะเริ่มดำเนินการโดยใช้งบประมาณของ กฟก.ได้ทันที 871 ราย ซึ่งคณะอนุกรรมการกลั่นกรอง ตรวจสอบและยืนยันข้อมูลหนี้เกษตรกรจะกลับไปพิจารณารายละเอียด และนำเสนอที่ประชุมครั้งต่อไป รวมถึงการสำรวจข้อมูลหนี้ให้แล้วเสร็จจากกลุ่มที่แจ้งความประสงค์ที่ยังเหลือจากจำนวนทั้งหมด 125,301 ราย คาดว่า จะแล้วเสร็จประมาณวันที่ 15 กันยายนนี้

นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติอนุมัติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเจรจาซื้อหนี้จากสถาบันการเงินที่มีสถานะเป็นเจ้าหนี้ เพื่อทำหน้าที่ดำเนินการเจรจากับสถาบันการเงินต่างๆ ที่เป็นเจ้าหนี้ ที่ต้องมีการหารือร่วมกันในเงื่อนไขและแนวทางปฏิบัติต่างๆ โดยองค์ประกอบของอนุกรรมการฯชุดนี้ประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยจะยกร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการโดยเร็ว

จาก https://www.matichon.co.th    วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2560 

พาณิชย์เร่งเจรจาอาร์เซป เปิดเสรีทางการค้า ลดภาษีนำเข้าสินค้า เหลือ 0%

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว. พาณิชย์ กล่าวว่า ไทยจะเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEM (เออีเอ็ม) ในระหว่างวันที่ 6-11 ก.ย.นี้ ที่กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ซึ่งในการประชุมจะมีการพบหารือระหว่างรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน กับคู่เจรจา 6 ประเทศ ประกอบด้วย จีน ออสเตรเลีย อินเดีย เกาหลี นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เพื่อเร่งรัดผลักดันให้การเจรจาอาร์เซป (RCEP) ให้มีข้อสรุป ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งออกมา เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในช่วงที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว และขณะนี้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP ยังไม่สามารถตกลงกันได้

ในการประชุมจะหารือกันในเรื่องการเปิดเสรีทางการค้า ที่จะต้องลดภาษีนำเข้าสินค้า เหลือ 0% โดยจะหยิบยกประเด็นที่ยังติดขัด ที่จะต้องมีการแลกเปลี่ยนรายการสินค้าที่จะต้องดลภาษี โดยทางที่ประชุมอาเซียนก่อนหน้านี้มีเป้าหมายที่จะให้ลดภาษีลง 92% ของรายการสินค้าทั้งหมด ภายใน 15 ปี แต่การประชุมระดับเจ้าหน้าที่ ที่ผ่านมา ยังมีปัญหา หลายประเทศ ยังตกลงกันไม่ได้

จึงมีการกำหนดเป้าหมายใหม่ว่า กำหนดให้แต่ละประเทศ เสนอลดภาษีลงมาเหลือ 0% ไม่ต่ำกว่า 90% ของรายการสินค้าทั้งหมด แต่ปัญหาขณะนี้มีหลายประเทศ เสนอรายการสินค้าที่จะลดภาษีลงมา ไม่ถึง 80% เนื่องจากบางประเทศยังไม่มีข้อตกลงเปิดเสรีทางการหรือ FTA ระหว่างกัน เช่น ระหว่างจีน กับ อินเดีย และญี่ปุ่น กับจีนกับญี่ปุ่น ไม่พร้อมที่จะเปิดเสรีทีเดียวทั้งหมด

นอกจากนี้ อินเดีย ยังให้ความสำคัญเรื่องการเปิดเสรีภาคบริการ และต้องการให้อาเซียน เปิดเสรีภาคบริการให้มากขึ้น ซึ่งจะมีการหารือเรื่องนี้ในที่ประชุม AEM ด้วย ทั้งนี้ การเร่งรัดการเจรจา จะมีการประชุมในเดือนต.ค. ด้วย เพื่อให้สามารถสรุปผลให้ทันการเสนอในที่ประชุมในระดับผู้นำในช่วงเดือนพ.ย.นี้

“เป้าหมายคือ เราต้องการให้มีการลดภาษีสินค้า อย่างมีความหมายแท้จริง และมาตรการด้านการค้าต่างๆ ต้องมีมาตรฐานไม่ต่ำเกินไป เนื่องจากข้อตกลงอาร์เซปจะมีความสำคัญมาก หากตกลงกันได้จะเป็นข้อตกลงเปิดเสรีทางการค้าขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุมจำนวนประชากรทั้งหมด 3,500 ล้านคน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของโลก” นางอภิรดีกล่าว

นางอภิรดีกล่าวอีกว่า ที่ประชุมเออีเอ็ม จะติดตาม เร่งรัดแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ภายในปี 2568 หรือ AEC Blueprint 2025 ในประเด็นสำคัญที่จะช่วยลดอุปสรรคทางการค้า และส่งผลต่อการขยายตัวของการค้าการลงทุน โดยจะร่วมรับรองเอกสารสำคัญ เช่น แผนงานด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน , แผนงานและตัวชี้วัดการอำนวยความสะดวกทางการค้าของอาเซียน, กรอบการคุ้มครองผู้บริโภคระดับสูง, แนวทางการจดทะเบียนธุรกิจที่ดี รวมถึงกรอบการดำเนินธุรกิจแบบมีส่วนร่วมของอาเซียน เพื่อผลักดันให้ธุรกิจขนาดเล็กและรายย่อย สามารถร่วมอยู่ในมูลค่าโลก

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2560 

"ฉัตรชัย"เล็งเทหน้าตัก900 ล.ซื้อหนี้เร่งด่วนส่งซิกเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกรใหม่

"ฉัตรชัย" เตรียมเทหน้าตัก 900 ล.ซื้อหนี้เร่งด่วน  ส่งซิกเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกรใหม่หลังคำสั่ง ม.44 ยุบ

 พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงความคืบหน้าการแก้ไขหนี้สินของเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟู ที่มาขึ้นทะเบียนฐานข้อมูลหนี้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนหนี้ไว้จำนวน 512,889 ราย 646,394 บัญชี มูลหนี้ 84,711 ล้านบาท โดยให้คณะอนุกรรมการกลั่นกรอง ตรวจสอบและยืนยันข้อมูลหนี้สินเกษตรกรให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การจัดการหนี้สินของเกษตรกร เช่น  หนี้ล้มละลาย หนี้ขายทอดตลาด หนี้บังคับคดี (ยึดทรัพย์) หนี้พิพากษา หนี้ฟ้องร้องดำเนินคดี หนี้ผิดนัดชำระ (NPL ) ตามความเร่งด่วน ความคืบหน้าในการจัดทำฐานข้อมูลหนี้ใหม่ประมาณ 80% แล้ว หลังจากการจัดการหนี้เรียบร้อยแล้วจะส่งต่อให้คณะกรรมการชุดใหม่จัดการแทน

"ปัญหาของกองทุนฟื้นฟูฯ สถานการณ์ทำนองเดียวกันกับรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ที่ต้องเข้ามา เนื่องจากในขณะนั้นรัฐบาลมีปัญหาบริหารประเทศไม่ได้ เบิกเงินไม่ได้ ไม่ต่างจากกองทุนฟื้นฟูฯ ไม่สามารถบริหารได้เพราะลาออกไปส่วนหนึ่งอีกส่วนหนึ่งก็ทะเลาะจนไม่สามารถบริหารได้ ผมก็เข้ามาช่วยในระยะเวลาสั้นๆ ที่กำหนดไว้ 6 เดือนให้มีการสำรวจข้อมูลหนี้ใหม่ ช่วยเหลือหนี้เร่งด่วนก่อน ขณะนี้มีเงินซื้อหนี้ 900 ล้านบาทจัดการหนี้ ส่วนที่เหลือจะของบกลางจากรัฐบาลเข้ามาช่วยในลำดับต่อไป เมื่อจัดการหนิ้สินจะส่งมอบให้คณะกรรมการชุดใหม่ที่เลือกตั้งเข้ามาให้จัดการแทนต่อไป จะพยายามทำให้ดีที่สุด"

แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยความคืบหน้า การตรวจสอบข้อมูลหนี้สินเกษตรกรทีมาขึ้นทะเบียนหนี้ไว้จำนวน 512,889 ราย 646,394 บัญชี มูลหนี้ 84,711 ล้านบาท (ณ วันที่ 7 ก.ค.60) ล่าสุดทางคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ (ข้อมูล ณ วันที่ 2 ก.ย.60) ผลการสำรวจพบว่ามีเกษตรกรที่มีอยู่ในระบบกองทุนฟื้นฟูฯ มี 465,509 ราย มีเกษตรกรมารายงานตัว 253,662 คน คิดเป็น 54% มีกลุ่มที่ต้องการให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร( กฟก.)ช่วยเหลือ 140,875 ราย จำนวน 300,701 สัญญา เงินต้นกว่า 30,396 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นอาทิ ลูกหนี้จาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 77,125 ราย 216,168 สัญญา เงินต้น 18,843 ล้านบาท รองลงมาเป็น สหกรณ์การเกษตร 47,740 ราย 64,257 สัญญา เงินต้น 5,389 ล้านบาท และธนาคารพาณิชย์ นิติบุคคลและโรงงานน้ำตาล จำนวน 3,747 ราย 4,329 สัญญา เงินต้น 4,514 ล้านบาท เป็นต้น

 สำหรับการจัดการหนี้ของ ธ.ก.ส. จะแบ่งลูกหนี้ออกเป็น 2 ส่วนในการปรับโครงสร้างหนี้ หากเป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟู ปรับโครงสร้าง 50% นอกสมาชิก 90% ในส่วนของสหกรณ์การเกษตร กำลังเจรจาอยู่เนื่องจากสหกรณ์เงินต้นคิด 100% พร้อมดอกเบี้ยและเบี้ยปรับด้วย อย่างไรก็ดียังมีสมาชิกที่มีมูลหนี้มากกว่า 2.5 ล้านบาท มีเกษตรกร 488 ราย จำนวน 534 สัญญา เงินต้น 4,634 ล้านบาท คงต้องติดตามดูว่ารัฐมนตรีจะจัดการหนี้ก้อนนี้อย่างไร แต่นโยบายท่านฉัตรชัย ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย ไม่มีหลักประกัน จำนวน 70% มีมูลหนี้ 35% ก่อน

 ทั้งนี้การจัดการหนี้สินเร่งด่วนตามคำสั่งของ คสช. ได้แก่ หนี้ที่เกษตรกรถูกเจ้าหนี้ฟ้องล้มละลาย หนี้ที่เกิดจากการบังคับคดี หนี้ตามคำพิพากษาของศาล หนี้ที่ถูกดำเนินคดี และหนี้ที่เกิดจากการปรับโครงสร้างของหนี้เกษตรกรกับสถาบันเจ้านี้ ส่วนพวกที่มีหลักค้ำประกัน มีประมาณ 30% แต่มีมูลหนี้ 65% จะเป็นลำดับการช่วยต่อไป

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2560 

พลิกโฉม! 2 ท่าเรือ กกท.ดันเทียบโลก

การท่าเรือฯเตรียมจัดทำแผนยุทธศาสตร์ยกระดับบริการเทียบท่าเรือระดับสากล เผยแนวโน้มเรือขนส่งสินค้าปรับเปลี่ยนขนาดใหญ่ขึ้นและรวมตัวกัน

 ร.ต.ทรงธรรม จันทประสิทธิ์ รองผู้อำนวยการ สายงานวิศวกรรมรักษาการแทนผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.) เปิดเผยว่าการท่าเรือฯมีแนวคิดพัฒนาท่าเรือของไทยให้เป็นท่าเรือระดับโลก โดยเฉพาะ 2 ท่าเรือสำคัญคือ ท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อเพิ่มศักยภาพเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางนํ้าและโลจิสติกส์เชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยสู่อาเซียนโดยเชิญผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษาชั้นนำของโลกด้านธุรกิจเรือมาแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในอุตสาหกรรมท่าเรือ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง

ทั้งนี้ ท่าเรือกรุงเทพ มีแผนพัฒนา 4โครงการ อาทิ แผนแม่บทด้านไอที ตั้งเป้าปี 2562ข้อมูลทุกอย่างให้บริการแบบเรียลไทม์ และให้บริการผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือการบรรจุสินค้าจากกลางแจ้งจะเปลี่ยนเป็นมีหลังคา ขณะที่ท่าเรือแหลมฉบังนั้นขณะนี้เร่งดำเนินการพัฒนาเฟส 3ตามแผนของรัฐบาล

ด้านร.ท.ยุทธนาโมกขาว ผู้ช่วยผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบังกล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจเรือขนส่งสินค้าของโลกมีการเปลี่ยนแปลง ใช้เรือขนาดใหญ่ขึ้น ฉะนั้นท่าเรือต้องมีความยืดหยุ่นต่ออนาคต โดยก่อสร้างท่าเทียบเรือให้มีความลึกของนํ้าเพิ่มขึ้นถือเป็นการได้เปรียบนอกจากนี้การบริหารจัดการก็ต้องปรับเปลี่ยนด้วย “การหาพันธมิตรในส่วนที่เป็นท่าเรือด้วยกัน ก็ต้องมองให้ครบถ้วนมองให้เป็นยุทธศาสตร์อย่ามองท่าเรือเป็นแค่จุดต้นทางหรือปลายทางของการนำเข้าและส่งออกสินค้า”

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2560 

พาณิชย์ของบ 350 ล้าน ตั้งสนง.แข่งขันการค้า

พาณิชย์ เตรียมประกาศบังคับใช้พ.ร.บ. แข่งขันทางการค้าฉบับใหม่ 5 ต.ค. หลังใช้ฉบับเก่ามา 18 ปีเอาผิดผู้มีอำนาจเหนือตลาดไม่ได้ เตรียมตั้งสำนักงานใหม่งบ 350 ล้าน พร้อมสรรหาเลขาธิการกำกับดูแล เอกชนเชื่อมั่นน่าจะดีกว่าเดิม

 นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงพระราชบัญบัติ (พ.ร.บ.) การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ที่กำลังจะประกาศบังคับใช้ว่า ต้องดูในเนื้อหาว่าเป็นอย่างไร จากช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พ.ร.บ.การแข่นขันทางการค้าก็ทำอะไรกับเอกชนที่เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดไม่ได้ ถ้าพ.ร.บ. ฉบับใหม่บังคับใช้ก็น่าจะดีกว่าเดิม เพราะเอกชนที่มีอำนาจเหนือตลาด ณ ปัจจุบันมี 3-4 ราย ต้องดูว่าจะสามารถบังคับใช้ได้จริงหรือไม่

ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นพ.ร.บ.ฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 ตุลาคม 2560 นี้ หลังมีการใช้พ.ร.บ.การแข่งขันฯปี 2542 มา 18 ปี ทั้งนี้หลังวันที่ 5 ตุลาคม คณะกรรมการชุดเดิมยังคงรักษาการไปอีก 270 วัน หรือ 9 เดือนซึ่งจะสิ้นสุด วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 ไปจนกว่าการสรรหาคณะกรรมการชุดใหม่จะแล้วเสร็จ และกรมการค้าภายในจะต้องนั่งรักษาการเลขาธิการไปอีก 450 วันจนกว่าจะหาเลขาธิการคนใหม่ได้

 แหล่งข่าวจากกระ ทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จะมีการตั้งสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าซึ่งจะเป็นองค์การมหาชน และจะมีการสรรหาพนักงานใหม่ทั้งหมด ส่วนข้าราชการที่ปฏิบัติงานอยู่เดิมหากต้องการจะไปปฏิบัติงานที่ใหม่ ต้องลาออกจากราชการแต่ในระหว่างรอยต่อนี้จะให้ไปช่วยราชการก่อนเพราะไม่เช่นนั้นอาจทำให้งานสะดุดได้ โดยพื้นที่ใหม่ที่จะตั้งสำนักงานบริเวณสถาบันวิจัยทีโอที พื้นที่ 1,700 ตารางเมตร งบลงทุนประมาณ 350 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณซึ่งต้องเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีก่อน

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2560 

ภาษีน้ำหวานบังคับใช้16กย. สมาคมโรงงานน้ำตาลยันไม่กระทบ

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ และสันทนาการ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย หรือ TSMC เปิดเผยว่า หน่วยงานภาครัฐจะเริ่มบังคับใช้กฎหมายจัดเก็บภาษีค่าความหวานของเครื่องดื่มตั้งแต่ วันที่ 16 กันยายน 2560 หากเครื่องดื่มที่มีค่าความหวานหรือน้ำตาลเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดจะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่เสียภาษี สรรพสามิต 20%

ขณะที่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ประเมินว่าจากการจัดเก็บภาษีค่าความหวานดังกล่าว จะมีผลกระทบต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำตาลทรายในภาคการผลิตของกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายมีความกังวลว่า การจัดเก็บภาษีค่าความหวานในกลุ่มเครื่องดื่มในครั้งนี้ อาจส่งผลต่อความเข้าใจในการบริโภคที่คลาดเคลื่อน โดยกังวลว่าการบริโภคเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลทรายจะเป็นพิษต่อร่างกายและเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ ส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคน้ำตาลทรายลดลง

“เรายืนยันในจุดยืนว่า น้ำตาลเป็นสารอาหารที่ให้พลังงานซึ่งมีความจำเป็นต่อร่างกายหากบริโภคอย่างสมดุล ควบคู่กับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้น กลุ่มอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเสนอแนะให้หน่วยงานภาครัฐควรเพิ่มความเข้มข้นในการสื่อสารให้ความรู้ด้านการบริโภคน้ำตาล นับตั้งแต่ช่วงนี้จนถึงการจัดเก็บภาษีตามค่าความหวานในปี 2562 เพื่อให้ข้อมูลและความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ผู้บริโภค เพราะหากไม่เร่งดำเนินการในช่วงนี้เชื่อว่าในระยะยาวแล้ว จะส่งผลให้มาตรการเก็บภาษีดังกล่าวอาจไม่บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ โดยไม่สามารถลดการบริโภคน้ำตาลได้ และปริมาณการบริโภคจะยังเพิ่มขึ้นเช่นเดิม” นายสิริวุทธิ์กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2560 

กรมโรงงานตั้งทีมเฉพาะกิจตรวจ43รง.เสี่ยงปล่อยมลพิษ 

          อุตฯเชือดแปรรูปไก่ กำจัดกากอุตสาหกรรม เหตุร้องเรียนซ้ำซาก

          กรุงเทพธุรกิจ "กรมโรงงาน" ตั้ง 5 ทีมเฉพาะกิจ ลุยตรวจโรงงานเสี่ยงปล่อย มลพิษ 43 โรง แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 ต.ค. นี้ มั่นใจสิ้นปี 2560 นำกากอุตสาหกรรมมีพิษ เข้าระบบได้ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านตัน

          ร้อยเอกธเนศ จันทกลิ่น รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยถึง แนวทางการกำจัดกากอุตสาหกรรม ว่า ขณะนี้ กรมโรงงานได้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบโรงงานที่มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัย โดยได้ตั้งทีมเฉพาะกิจขึ้นมา 5 ชุด ในการตรวจสอบโรงงานที่มีความเสี่ยง 43 โรงงาน ในกลุ่มโรงงานเชือดและแปรรูปไก่ 23 โรงงาน และโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรม 20 โรงงาน

          "โรงงานที่ต้องจับตามองอย่างเข้มงวด ทั้ง 43 โรงงาน จะเป็นโรงงงานที่ได้รับการร้องเรียนซ้ำซากบ่อยครั้ง และโรงงานเชือดไก่ ที่มีความเสี่ยงในเรื่องของบ่อบำบัดน้ำเสีย โดยจะเร่งตรวจสอบให้เสร็จภายในวันที่15 ต.ค.นี้"

          โดยขณะนี้ทีมเฉพาะกิจทั้ง 5 อยู่ระหว่างการขออำนาจสั่งการจากกระทรวงอุตสาหกรรมในการดำเนินการลงโทษ เพราะโรงงานในต่างจังหวัดอยู่ในอำนาจการดูแลของอุตสาหกรรมจังหวัด ภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กรมโรงงานมีอำนาจควบคุมดูแลเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ จึงต้องขออำนาจให้ทีมเฉพาะกิจ ในการดำเนินงานครั้งนี้ โดยทีมเฉพาะกิจนี้ จะไม่เพียงแต่ตรวจจับเพื่อลงโทษ แต่จะให้ความรู้ในการดำเนินการ เพื่อให้การแก้ไขปัญหามลพิษความเสี่ยงในการทำงานต่างๆเป็นไปตามหลักวิชาการให้มีการปรับปรุงที่ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นการแก้ไขอย่างยั่งยืน

          ส่วนเป้าหมายการกำจัดกากอุตสาหกรรมอันตรายในปีนี้ ได้ตั้งเป้าที่จะ เพิ่มจำนวนกากอุตสาหกรรมให้เข้าระบบการกำจัดที่ถูกต้องไม่ต่ำกว่า 20.4 ล้านตัน จากประมาณการณ์ทั้งหมดที่ 3.35 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรมโรงงานอยู่ระหว่าง การประเมินตัวเลขกากอุตสาหกรรม มีพิษใหม่ทั้งหมด เพราะที่ผ่านมาการประเมิน กากอุตสาหกรรมจะคิดจากกำลังแรงม้าของแต่ละโรงงาน โรงงานที่มีเครื่องจักรแรงม้ามาก ก็จะตีความว่ามีการก่อให้เกิดกากอุตสาหกรรมมาก

          แต่จากข้อเท็จจริงโรงงานบางแห่ง ใช้เครื่องจักรแรงม้ามากแต่แทบจะไม่มีกากอุตสาหกรรม เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ แสงอาทิตย์ และลมที่มีแรงม้ามาแต่แทบจะ ไม่ก่อให้เกิดกากอุตสาหกรรม ซึ่งจากการประเมินใหม่มั่นใจว่าปริมาณ กากอุตสาหกรรมมีพิษจะต่ำกว่าตัวเลขประมาณการณ์เดิมพอสมควร อาจจะอยู่ในหลัก 2 ล้านตันกว่าๆ ก็จะทำให้การนำกากอุตสาหกรรมอันตรายเข้าสู่ระบบให้ได้ 100% ได้เร็วกว่าที่คาดไว้

          "ในการประเมินปริมาณกากอุตสาหกรรมมีพิษแบบใหม่ จะทำให้มีข้อมูลกากอุตสาหกรรมมีพิษที่ชัดเจน และรู้ว่าอยู่ตรงไหน หายไปในส่วนไหน อยู่ภายในโรงงาน หรือแฝงเข้าไปในระบบจัดเก็บของท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้การวางแผนการดำเนินงานกำจัดกากอุตสาหกรรมมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมั่นใจว่าในขณะนี้ การลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมมีน้อยมาก หลังจากที่ กรอ. ได้ใช้ระบบจีพีเอส ติดตามกากอุตสาหกรรมมีพิษตั้งแต่ต้นตอโรงงานที่ก่อให้เกิดกากมีพิษไปจนถึงโรงงานกำจัดกาก และมาตรการต่างๆที่เข้มงวด ทำให้ปัญหานี้ลดลงมาก"

          ร้อยเอกธเนศ กล่าวว่า ยังได้ดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพการใช้ประโยชน์กากของเสีย และโครงการยกระดับ ผู้ประกอบการจัดการของเสีย เพื่อส่งเสริม ให้โรงงานผู้ก่อกำเนิดกากของเสียใช้ประโยชน์ของเสียและลดปริมาณของเสียที่ต้องกำจัดเพื่อมุ่งสู่การใช้ประโยชน์ของเสียได้ทั้งหมดโดยไม่มีการนำไปฝังกลบช่วยลดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม

          พร้อมทั้งส่งเสริมให้โรงงานผู้รับบำบัดกำจัดกากของเสียดำเนินการประกอบกิจการจัดการของเสียให้เป็นมาตรฐาน ถูกต้อง ตามหลักวิชาการ เกิดการจัดการของเสีย อย่างยั่งยืน โดยในปี 2560 มีโรงงานที่ ผ่านเกณฑ์การตรวจประเมินและได้รับรางวัล3Rs Awards จำนวน 30 เลขทะเบียนโรงงาน รางวัล Zero Waste to Landfill Achievement Awards จำนวน 9 เลขทะเบียนโรงงาน รางวัล 3Rs+ Awards จำนวน 5 เลขทะเบียนโรงงาน รางวัลมาตรฐานโรงงานจัดการกากอุตสาหกรรม จำนวน 30 เลขทะเบียนโรงงาน และรางวัล Gold+ จำนวน 6 เลขทะเบียนโรงงาน

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2560 

กรมชลประทานดัน 3 โครงการ เชื่อมเขตเศรษฐกิจพิเศษ สระแก้ว-EEC

หลังจากรัฐบาลประกาศนโยบายพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้เป็นศูนย์กลางภูมิภาคอาเซียน นับเป็นโจทย์อันท้าทายของหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะ “กรมชลประทาน” ต้องวางผังและปรับแผนการใช้น้ำใหม่ เพื่อให้เพียงพอและเกิดความสมดุลระหว่างภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมและเพื่อสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน แต่ยังมีเสียงสะท้อนจากภาคเอกชนหวั่นเกรงจะเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำในอนาคต “ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “สมเกียรติ ประจำวงษ์” รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน ถึงความคืบหน้าการบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก ระหว่างลงพื้นที่แหล่งน้ำเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.สระแก้ว เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

Q : ภาพรวมความคืบหน้าแผนน้ำ EEC

การเข้ามาของภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการในพื้นที่ภาคตะวันออกหลายปีที่ผ่านมา กรมชลประทานได้ปรับกระบวนในการพัฒนาลุ่มน้ำใหม่มาตลอด ยิ่งเมื่อรัฐบาลมีนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เกิดขึ้นใน 3 จังหวัด เราจึงต้องปรับและศึกษาทั้งระบบ นี่คือโจทย์ที่ได้รับจากทางรัฐบาล ดังนั้นในเร็ว ๆ นี้จะเสนอแผนโครงการเร่งด่วนเข้าที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) 3 โครงการ โดยจะใช้การศึกษา จ.สระแก้วเชื่อมโยงแหล่งน้ำภาคตะวันออกทั้งหมด ซึ่ง จ.สระแก้วมีเศรษฐกิจเป็นตัวนำ ขณะเดียวกัน จ.จันทบุรี ตราด ระยอง ภาคการเกษตรนำไม่แพ้กัน

ดังนั้นทั้งสองส่วนต้องเดินไปด้วยกัน จึงต้องมีแผนเพิ่มศักยภาพแหล่งน้ำ และในการประชุม ครม.สัญจรภาคอีสานเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ครม.มีมติเห็นชอบให้พัฒนาแหล่งน้ำภาคอีสานด้วย งบประมาณ 8.8 พันล้านบาท จำนวน 165 โครงการ

Q : แผนเพิ่มแหล่งน้ำภาคตะวันออก

เราได้เพิ่มศักยภาพแหล่งน้ำโดยปรับปรุงการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำเดิมที่มีศักยภาพ 6 แห่ง ได้แก่ อ่างฯคลองใหญ่ อ่างฯหนองปลาไหล อ่างฯคลองสียัด อ่างฯหนองค้อ อ่างฯมาบประชัน และอ่างฯบ้านบึง รวมแล้วสามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มอีก 84 ล้าน ลบ.ม. จากความจุเดิม 673.1 ล้าน ลบ.ม. และพัฒนาอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี 4 แห่ง ได้แก่ อ่างฯคลองพะวาใหญ่ อ่างฯคลองหางแมว และอ่างฯคลองวังโตนด โดยส่วนอ่างฯคลองประแกดก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ อ่างเก็บน้ำทั้ง 4 แห่ง มีความจุรวมกัน 308.5 ล้าน ลบ.ม. ส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรในลุ่มน้ำวังโตนด 170 ล้าน ลบ.ม./ปี และผันน้ำส่วนเกินในฤดูฝนด้วยระบบท่อ คลองวังโตนด-อ่างฯประแสร์ เพื่อการอุปโภคบริโภคและอุตสาหกรรมได้ 100 ล้าน ลบ.ม./ปี

อีกทั้งเชื่อมโยงแหล่งน้ำและระบบผันน้ำ ในระยะ 5 ปี จะทำการเชื่อมโยงแหล่งน้ำและผันน้ำภายในประเทศให้เต็มศักยภาพ โดยการเพิ่มศักยภาพท่อผันน้ำคลองวังโตนด-อ่างฯประแสร์ ให้รองรับการผันน้ำ 100 ล้าน ลบ.ม./ปี และพัฒนาท่อผันน้ำ อ่างฯประแสร์-อ่างฯหนองค้อ-อ่างฯบางพระ เพื่อรองรับการผันน้ำจากคลองวังโตนด จนถึงระยะ 10 ปีข้างหน้า มีแผนการผันน้ำจากเขื่อนสตึงมนัม ประเทศกัมพูชา มายังอ่างฯประแสร์ สามารถมีน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและอุตสาหกรรมอีก 300 ล้านลบ.ม./ปี และการจัดหาแหล่งน้ำสำรอง และบริหารจัดการความต้องการ ดำเนินการโดยภาคการใช้น้ำ เช่น การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) โดยมีแผนงานศึกษาโดยกรมชลประทานร่วมกับ กนอ.ในการที่จะบริหารจัดการน้ำทิ้งเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่และการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล

“ที่เอกชนกังวลว่าน้ำจะไม่พอ เพียงพอแน่นอน ล่าสุดมีแผนเพิ่มศักยภาพแหล่งน้ำใน 2 ปี ไม่ต่ำกว่า 100 ล้าน ลบ.ม. เสริมอ่างเก็บน้ำเดิม 4 แห่งดังที่กล่าว ถามว่า ในปัจจุบันความต้องการใช้น้ำมีเท่าไร แต่พบว่าครึ่งต่อครึ่งระหว่างน้ำโครงข่ายและแม่น้ำธรรมชาติภาคเอกชนหรือโรงงานอุตสาหกรรมจัดหาเอง แต่ต่อจากนี้การจะหาแหล่งน้ำจะเริ่มตึงตัวจากโครงข่ายเท่านั้น ตรงนี้เราจะเสริมเข้าไปเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำมากขึ้นทั้ง 4 แห่ง ความจุ 84 ล้าน ลบ.ม. ตอนนี้เราเริ่มทำแล้ว 2 ปีต้องเสร็จ เราพยายามใช้การเก็บกักเมื่อฝนตกท้ายอ่างเราก็ชะลอให้โดยนำน้ำตกท้ายอ่างมาใช้ประโยชน์ และบางทีต้องผันน้ำกลับเข้าไปด้วย ตรงนี้จะได้ 20 ล้าน ลบ.ม.”

Q : เชื่อมโยงแผนยุทธศาสตร์น้ำแห่งชาติ

ในแผนระบุไว้ชัดเจนว่า ให้ใช้น้ำภาคอุตสาหกรรมควบคู่ภาคการเกษตรอย่างชัดเจน ภาคอุตสาหกรรมมีองค์กรดูแล แต่น้ำภาคเกษตรจะดูผ่านกรมชลประทาน ดังนั้นเราจะต้องวางแนวคิดเปลี่ยนน้ำฝนให้เป็นชลประทานมาใช้ในการเกษตรให้มากที่สุด จะเห็นได้จากตัวเลขน้ำภาคตะวันออกไหลลงสู่ทะเล บางปะกง จริง ๆ แล้วมีออกนอกประเทศ เช่น พรมโหด เราใช้อะไรไม่ได้เลย จะเห็นว่าเรามีแหล่งเก็บกักประมาณ 10% ของน้ำภาคตะวันออก ที่เหลือ 90% ลงสู่ทะเลและออกนอกประเทศเพื่อนบ้าน โดยที่เรามีแหล่งเก็บน้ำหลักที่ระยอง ชลบุรี จันทบุรี และปราจีนบุรี คือเขื่อนนฤบดินทรจินดา (ห้วยโสมง) และพระพรม จ.สระแก้ว ตามที่กล่าวข้างต้น ดูแล้วมีโครงการเกิดขึ้นหลายโครงการ แต่ล่าสุดเราจะขอรัฐบาลเปิดโครงการอ่างเก็บน้ำอีก 3 โครงการ

จริง ๆ แล้วหากมองตัวเลขภาคเกษตรมีความต้องการไม่มาก แต่ภาคอุตสาหกรรมเราเคยได้รับบทเรียนต้องไประดมน้ำจากภาคอื่น ๆ มาช่วยทำให้ขาดความเชื่อมั่น ดังนั้นภาคตะวันออกมีถึง 27 นิคมอุตสาหกรรมจะทำอย่างไร ซึ่งที่ประชุมให้ความเห็นว่า หากเอาน้ำไปให้อีอีซีก่อนไม่ได้ เราต้องพัฒนาภาคการเกษตรก่อนด้วย จึงถือโอกาสพัฒนาภาคเกษตร 3 แสนไร่ ที่เหลือเอามาช่วย EEC ดังนั้นน้ำส่วนหนึ่งใน 5 ปีจะมาจากตรงนี้ เรายืนยันกับคณะกรรมการอีอีซี ถามว่า กรมชลประทานพร้อมหรือไม่ บอกเลยว่า 8-10 ปีเราพร้อมหมด

Q :พัฒนาแหล่งน้ำภาคเกษตรได้รับอานิสงส์ด้วย

นี่คือสิ่งที่เราและชาวบ้านเกษตรกรเองก็กังวล เราถึงต้องการจัดทำแผนแหล่งน้ำให้ชัดเจน ว่าเราต้องการจะใช้แหล่งน้ำไหนในการพัฒนาภาคเกษตร หรือภาคอุตสาหกรรม ซึ่งหลังจากที่ได้มีการวางแผน เห็นได้ชัดเลยว่าน้ำภาคอุตสาหกรรมที่การประปารับผิดชอบเราสามารถที่จะสนับสนุน ได้ศึกษาเรียบร้อยแล้ว น้ำภาคอุตสาหกรรมจะไม่มีปัญหา แต่น้ำภาคเกษตรเราต้องการให้เกิดความชัดเจนว่า ถ้าอุตสาหกรรมนำ แล้วภาคเกษตรจะได้รับการพัฒนาอย่างไร เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายที่เวลาเจริญต้องเจริญไปด้วยกัน ตรงนี้เองกรมชลฯต้องมาดูแหล่งน้ำที่มีอยู่ แม้จะยากแต่เพื่อความยั่งยืนภาคเกษตร ทั้งจัดหาที่ดิน สร้างลำน้ำสาขา รวมความจุ 40 กว่าแห่ง จะเห็นว่าอาจต้องใช้เวลา แต่เมื่อมีการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษก็ทำได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น

“สิ่งที่ต้องทำเร่งด่วนในเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว เช่น การขุดลอกหนองเก่าความจุ 4 แสน ลบ.ม. เพิ่มเป็น 8 ล้าน ลบ.ม. ต้องตกลงกับชาวบ้านเพื่อการเกษตรและหน่วงน้ำไม่ให้เกิดภัยแล้ง และลำน้ำสาขาต้องมีการพัฒนาแก้มลิงรวมความจุ 40 ล้าน ลบ.ม. หรือบางแห่งต้องใช้ทรัพยากรน้ำด้านอื่น ๆ รวมไปถึงขุดคลองลัดบายพาส สร้างคลองสายใหม่ พื้นที่โดยรอบจะได้รับอานิสงส์ กรมชลฯได้มอบหมายให้สำรวจ ออกแบบ ปลายปีจะเริ่มเห็นเป็นรูปธรรม และได้ผสมผสานคลองและถนนเข้าด้วยกัน”

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2560 

ค่าบาท'ทรงตัว'ตลาดจับตานโยบายการเงินทั่วโลก

ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ "33.18 บาท ต่อดอลลาร์" ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดท้ายสัปดาห์ก่อนที่ระดับ 33.30 บาท

 ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดค่อนข้างผันผวน ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐรายออกมาต่ำกว่าที่คาดส่งผลให้ดอลลาร์ปรับตัวลงทันที อย่างไรก็ตามค่าเงินดอลลาร์กลับแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินเอเชีย หลังเกาหลีเหนือทดลองนิวเคลียร์ครั้งที่ 6 ส่งผลให้ตลาดเกิดความกังวลเรื่องปัญหาสงครามอีกครั้ง

สำหรับสัปดาห์นี้ ตลาดน่าจะเคลื่อนไหวในกรอบกว้าง แม้จะมีวันหยุดวันแรงงานในสหรัฐช่วงต้นสัปดาห์

แต่ก็มีประเด็นที่น่าต้องจับตา ไม่ว่าจะเป็นการประชุมคณะกรรมการธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันพฤหัส การรายงานตัวเลขผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อนอกภาคการเกษตรของอเมริกา (Non-manufacturing PMI) ในวันพุธ และการรายงานตัวเลข GDP ญี่ปุ่นไตรมาส 2 (ครั้งที่สอง) ในวันศุกร์

ฝั่งยุโรป เรามองว่า ECB จะ “คงนโยบายการเงิน” ตามเดิม โดยมีแนวโน้มที่จะรอการเคลื่อนไหวจากธนาคารกลางสหรัฐก่อนที่จะมีการลดหรือปรับเพิ่มระยะเวลาของการทำ Asset Purchase Program ลง เนื่องจากเงินยูโรแข็งค่าขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา

ขณะที่ฝั่งอเมริกา น่าสนใจว่าภาคบริการจะขยายตัวดีต่อหรือไม่ หลังจากที่ตัวเลขการจ้างงานล่าสุดเริ่มชะลอตัวลงและพึ่งมีภายุพัดผ่าน

ด้านเศรษฐกิจญี่ปุ่น “ยังดูดีมาก” คาดจะขยายตัวต่อที่ระดับ 3.0% เป็นอย่างน้อยแม้จะน้อยกว่าการรายงานครั้งแรกที่ 4.0% แต่เชื่อว่ายังแข็งแกร่งพอให้ตลาดยังมั่นใจในการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย

สำหรับเงินบาทสัปดาห์นี้ต้องจับตาการให้ความเห็นของประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาต่าง ๆ ตลอดสัปดาห์น่าจะทำให้ดอลลาร์แกว่งตัวอ่อนค่าลงได้ เพราะเฟดอาจให้ความเห็นในเชิงผ่อนคลายมากขึ้นและการขึ้นดอกเบี้ยอาจเกิดขึ้นช้าลง เนื่องจากเงินเฟ้อตกต่ำลงและเศรษฐกิจที่อาจชะลอตัวจากปัญหาพายุเฮอริเคนฮาร์วีย์ที่เพิ่งผ่านไป

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2560

อุตฯ น้ำตาล เชื่อเก็บภาษีความหวานกระทบปริมาณใช้น้ำตาลในสินค้าเครื่องดื่มจิ๊บๆ

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์และสันทนาการ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย หรือ TSMC เปิดเผยว่า หลังจากที่หน่วยงานภาครัฐจะเริ่มบังคับใช้กฎหมายจัดเก็บภาษีค่าความหวานของเครื่องดื่มตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2560 นี้ หากเครื่องดื่มที่มีค่าความหวานหรือน้ำตาลเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดจะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่เสียภาษีสรรพสามิต 20% จากมูลค่า

โดยโครงสร้างการจัดเก็บค่าความหวานนั้น จะแบ่งออกเป็น 6 ระดับ ได้แก่ ค่าความหวาน 0-6 กรัมต่อ 100 มล.ไม่ต้องเสียภาษี ค่าความหวาน 6-8 กรัมต่อ 100 มล. เสียภาษี 10 สตางค์ต่อลิตร ค่าความหวาน 8-10 กรัมต่อ 100 มล. เสียภาษี 30 สตางค์ต่อลิตร ค่าความหวาน 10-14 กรัมต่อ 100 มล.เสียภาษี 50 สตางค์ต่อลิตร ค่าความหวาน 14-18 กรัมต่อ 100 มล. เสียภาษี 1 บาทต่อลิตร และค่าความหวาน 18 กรัมต่อ 100 มล.ขึ้นไป เสียภาษี 1 บาทต่อลิตร โดยให้เวลาภาคเอกชนในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มปรับตัวเป็นระยะเวลา 2 ปี ก่อนจะเริ่มเก็บจริงในวันที่ 1 ต.ค.2562

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ประเมินว่าจากการจัดเก็บภาษีค่าความหวานดังกล่าว จะมีผลกระทบต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำตาลทรายในภาคการผลิตของกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไม่มากนัก

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายมีความกังวลว่า การจัดเก็บภาษีค่าความหวานในกลุ่มเครื่องดื่มในครั้งนี้ อาจส่งผลต่อความเข้าใจในการบริโภคที่คลาดเคลื่อน โดยกังวลว่าการบริโภคเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลทรายจะเป็นพิษต่อร่างกายและเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ ส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคน้ำตาลทรายลดลง ซึ่งอาจทำให้การบริโภคอาหารไม่สมดุลกับความต้องการของร่างกาย เนื่องจากในแต่ละวันร่างกายก็มีความต้องการสารอาหารเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานที่ใช้ในดำเนินกิจกรรมในแต่ละวันเช่นกัน

ดังนั้น ในช่วงเวลาที่เปิดโอกาสให้เอกชนปรับตัว 2 ปี ก่อนดำเนินการจัดเก็บภาษีจริงนั้น ภาครัฐและเอกชนต้องเร่งสื่อสารสร้างความเข้าใจในการบริโภคน้ำตาลที่เหมาะสมต่อร่างกายของแต่ละคน เพื่อเป็นข้อมูลให้แก่ผู้บริโภคได้ตัดสินใจในการเลือกบริโภคน้ำตาลที่เพียงพอต่อร่างกาย ควบคู่ไปกับการรณรงค์ให้ออกกำลังกาย ซึ่งจะได้ผลที่ดีและสร้างความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพของผู้บริโภคได้ดีกว่า

ซึ่งล่าสุด กลุ่มอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย อยู่ระหว่างการจัดทำโครงการ ‘หวานพอดี ชีวีมีสุข’ เพื่อรณรงค์สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการบริโภคน้ำตาลทรายที่สมดุล และเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินโครงการได้ในเร็วๆ นี้

“เรายืนยันในจุดยืนว่า น้ำตาลเป็นสารอาหารที่ให้พลังงานซึ่งมีความจำเป็นต่อร่างกายหากบริโภคอย่างสมดุล ควบคู่กับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้น กลุ่มอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเสนอแนะให้หน่วยงานภาครัฐควรเพิ่มความเข้มข้นในการสื่อสารให้ความรู้ด้านการบริโภคน้ำตาล นับตั้งแต่ช่วงนี้จนถึงการจัดเก็บภาษีตามค่าความหวานในปี 2562 เพื่อให้ข้อมูลและความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ผู้บริโภค เพราะหากไม่เร่งดำเนินการในช่วงนี้เชื่อว่าในระยะยาวแล้ว จะส่งผลให้มาตรการเก็บภาษีดังกล่าวอาจไม่บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ โดยไม่สามารถลดการบริโภคน้ำตาลได้ และปริมาณการบริโภคจะยังเพิ่มขึ้นเช่นเดิม” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

จาก https://www.khaosod.co.th วันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2560 

พาณิชย์ของบ 350 ล้าน ตั้งสนง.แข่งขันการค้า

พาณิชย์ เตรียมประกาศบังคับใช้พ.ร.บ. แข่งขันทางการค้าฉบับใหม่ 5 ต.ค. หลังใช้ฉบับเก่ามา 18 ปีเอาผิดผู้มีอำนาจเหนือตลาดไม่ได้ เตรียมตั้งสำนักงานใหม่งบ 350 ล้าน พร้อมสรรหาเลขาธิการกำกับดูแล เอกชนเชื่อมั่นน่าจะดีกว่าเดิม

 นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงพระราชบัญบัติ (พ.ร.บ.) การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ที่กำลังจะประกาศบังคับใช้ว่า ต้องดูในเนื้อหาว่าเป็นอย่างไร จากช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พ.ร.บ.การแข่นขันทางการค้าก็ทำอะไรกับเอกชนที่เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดไม่ได้ ถ้าพ.ร.บ. ฉบับใหม่บังคับใช้ก็น่าจะดีกว่าเดิม เพราะเอกชนที่มีอำนาจเหนือตลาด ณ ปัจจุบันมี 3-4 ราย ต้องดูว่าจะสามารถบังคับใช้ได้จริงหรือไม่

ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นพ.ร.บ.ฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 ตุลาคม 2560 นี้ หลังมีการใช้พ.ร.บ.การแข่งขันฯปี 2542 มา 18 ปี ทั้งนี้หลังวันที่ 5 ตุลาคม คณะกรรมการชุดเดิมยังคงรักษาการไปอีก 270 วัน หรือ 9 เดือนซึ่งจะสิ้นสุด วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 ไปจนกว่าการสรรหาคณะกรรมการชุดใหม่จะแล้วเสร็จ และกรมการค้าภายในจะต้องนั่งรักษาการเลขาธิการไปอีก 450 วันจนกว่าจะหาเลขาธิการคนใหม่ได้

 แหล่งข่าวจากกระ ทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จะมีการตั้งสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าซึ่งจะเป็นองค์การมหาชน และจะมีการสรรหาพนักงานใหม่ทั้งหมด ส่วนข้าราชการที่ปฏิบัติงานอยู่เดิมหากต้องการจะไปปฏิบัติงานที่ใหม่ ต้องลาออกจากราชการแต่ในระหว่างรอยต่อนี้จะให้ไปช่วยราชการก่อนเพราะไม่เช่นนั้นอาจทำให้งานสะดุดได้ โดยพื้นที่ใหม่ที่จะตั้งสำนักงานบริเวณสถาบันวิจัยทีโอที พื้นที่ 1,700 ตารางเมตร งบลงทุนประมาณ 350 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณซึ่งต้องเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีก่อน

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2560 

โพลเผยคนหนุนตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำฯแก้น้ำท่วม-แล้ง

ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ" เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม-แล้ง ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การรวมหน่วยงานน้ำ แก้ปัญหาน้ำท่วม-แล้ง

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การรวมหน่วยงานน้ำ แก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม – 1 กันยายน 2560 โดยสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง โดยนายกรัฐมนตรีประกาศใช้มาตรา 44 รวมหน่วยงานน้ำ และจัดตั้งเป็นสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

จากการสำรวจเมื่อถามถึงด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับ การรวมกรม/หน่วยงานทางด้านน้ำ จัดตั้งเป็น “สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ” เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 58.00 ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะ ทุกฝ่ายจะได้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหา ลดขั้นตอนในการทำงาน ทำให้การบริหารงานและการประสานงานสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น จะได้ไม่ทำงานซ้ำซ้อนกัน จะได้ช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ตรงจุดและทั่วถึง จะได้จัดการน้ำอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

รองลงมา ร้อยละ 27.04 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะ ทุกฝ่ายจะได้ร่วมมือกันทำงาน ช่วยกันแก้ไขปัญหา ให้คำปรึกษาซึ่งกันและกัน เป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว และน่าจะแก้ไขปัญหา ได้ดีกว่าเดิม จะได้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง เป็นการลดขั้นตอนในการดำเนินการ และจะได้ช่วยเหลือประชาชนได้เร็วขึ้น ร้อยละ 5.12 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลยเพราะ คิดว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด มีหน่วยงานดูแลด้านนี้อยู่แล้ว จะทำให้เกิดความวุ่นวายมากขึ้น การบริหารงานต่าง ๆ อาจจะทำได้ยากยิ่งขึ้น การดำเนินงานอาจจะล่าช้า ทุกหน่วยทำงานดีอยู่แล้ว ร้อยละ 3.76 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะจะทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ อยากให้แต่ละหน่วยงานมีความรับผิดงานด้านใดด้านหนึ่งไปเลย และทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด และร้อยละ 6.08 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ควรรวมหน่วยงานหรือบางส่วนของหน่วยงานใดบ้าง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 71.92 ระบุว่า กรมชลประทาน รองลงมา ร้อยละ 56.88 ระบุว่า กรมทรัพยากรน้ำ ร้อยละ 56.72 ระบุว่า เขื่อน/อ่างเก็บน้ำในการดูแลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ร้อยละ 54.24 ระบุว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ร้อยละ 53.68 ระบุว่า กรมอุตุนิยมวิทยา ร้อยละ 51.12 ระบุว่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ร้อยละ 50.96 ระบุว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร้อยละ 50.56 ระบุว่า กรมเจ้าท่า ร้อยละ 50.48 ระบุว่า คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ร้อยละ 49.84 ระบุว่า การประปาส่วนภูมิภาค ร้อยละ 49.60 ระบุว่า การประปานครหลวง ร้อยละ 3.76 ระบุว่า ไม่ควรรวมหน่วยงานใดเลยและร้อยละ 11.44 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

จาก http://www.posttoday.com   วันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2560 

กม.แข่งขันการค้าฉบับใหม่เริ่มใช้5ต.ค.นี้

พาณิชย์เผยกม.การแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่มีความเข้มข้นและมีประสิทธิภาพในการเข้าไปส่งเสริมให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น                 

นายสนธิรัตน์  สนธิจิรวงศ์  รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560   ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค.นี้เป็นต้นไป โดยกฎหมายฉบับใหม่ จะเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้ให้มากขึ้น ทั้งการ ป้องกันพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม และ พิจารณาข้อร้องเรียนของภาคธุรกิจได้รวดเร็ว  ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจในไทยที่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ และกลไกตลาด 

 สำหรับสาระสำคัญของกฎหมายใหม่  เช่น  กฎหมายใหม่ยังได้เพิ่มเกณฑ์การควบรวมกิจการ โดยธุรกิจสามารถดำเนินการได้เลย  แต่ต้องแจ้งให้สำนักงานแข่งขันทางการค้าทราบภายใน 7 วันหลังควบรวมแล้ว แต่หากควบรวมแล้ว ธุรกิจนั้น เข้าเกณฑ์การเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดและผูกขาดตลาด ต้องมาขออนุญาตก่อนควบรวม หากฝ่าฝืนไม่แจ้งก่อน จะมีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท และปรับรายวันอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาท หรือชำระค่าปรับไม่เกิน 0.5% ของมูลค่าธุรกิจภายหลังควบรวมแล้ว

ขณะเดียวกันหากมีอำนาจเหนือตลาด แล้วใช้อำนาจเหนือตลาดจำกัดการแข่งขัน จะมีโทษใหม่คือ จำคุกไม่เกิน 2 ปี  และปรับไม่เกิน 10 % ของรายได้ในปีที่กระทำความผิด จากโทษเดิมที่จำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 6 ล้านบาท

จาก https://www.dailynews.co.th   วันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2560

ก.เกษตรฯ ประชุมร่วมเกษตรกร  ศพก. แปลงใหญ่ หาแนวทางพัฒนาการเกษตร ปี 61

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจัดประชุม เชื่อมโยงการดำเนินงานระหว่าง ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2560 ณ ศพก. อ.ฝาง จ.เชียงใหม่

พลเอกปัฐมพงศ์  ประถมภัฏ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์   กล่าวถึงการดำเนินการตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้ง ศพก และแปลงใหญ่ ซึ่งจะต้องมีการเชื่อมโยงกันให้เป็นรูปธรรม โดยจะต้องวางแนวทางในการถ่ายทอดความรู้ ทั้งการวางสินค้าชนิดเดียวกัน และสินค้าต่างชนิดกัน จะมีแนวทางในการบริหารจัดการต่อไป การบริหารจัดการ และการร่วมกันพัฒนานวัตกรรมที่เหมาะสม การประชุมของเกษตรกรจึงมีความคาดหวังที่จะให้เกษตรกรเครือข่ายระดับประเทศ วางเป้าในการพัฒนาให้เกิดความเชื่อมโยง กันอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้การพัฒนาภาคการเกษตรมาจากเสียงของเกษตรกรโดยตรง และมีกระทรวงเกษตรฯ เป็นพี่เลี้ยงเพื่อให้การปฏิรูปภาคการเกษตรเป็นอย่างยั่งยืน

นายสมชาย  ชาญณรงค์กุล  อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร  กล่าวเพิ่มเติมว่า  การประชุมเพื่อขับเคลื่อนหาแนวทางการพัฒนาจะต้องเริ่มจากเกษตรกรเอง การประชุมฯ ในครั้งนี้  จึงจะกำหนดเป็นแนวทางการพัฒนา ศพก. และ แปลงใหญ่ ในปี 2561 ซึ่งจะประกาศเป็นแนวทางการดำเนินการร่วมกัน เป็นลำดับถัดไป

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2560 

ร้านชา-กาแฟสะท้าน หนุนรัฐเก็บ"ภาษีน้ำหวาน"เพิ่ม

ร้านกาแฟ-ชาสะท้าน สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย หนุนรัฐเก็บภาษีน้ำหวานด้วย ห่วงใส่น้ำตาลไม่อั้น คนเลิกกินชาขวดไปกินชาชงแทน               

นายประจวบ ตยาคีพิสุทธิ์ รองประธานกรรมการบริหาร สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย เปิดเผยในงานสัมมนา ภาคธุรกิจต้องปรับตัวอย่างไรภายใต้ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตใหม่ว่า ได้ตั้งข้อสังเกตให้รัฐบาลพิจารณาถึงการจัดเก็บภาษีค่าความหวานในกลุ่มเครื่องดื่มที่ยังอยู่นอกระบบภาษีเพิ่มด้วย เช่น เครื่องดื่มชา กาแฟ จากร้านชาร้านกาแฟที่ตั้งจุดขาย (คีออส) อยู่ทั่วประเทศ รวมถึงร้านกาแฟขนาดใหญ่ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในการเสียภาษีกับเครื่องดื่มที่อยู่ในระบบ รวมถึงช่วยสนับสนุนนโยบายควบคุมการบริโภคค่าความหวานจากภาครัฐที่ส่งผลเสียต่อร่างกายให้ครบทุกมิติ

 “เนื่องจากมองว่าการจัดเก็บภาษีจากความหวานขณะนี้ อาจไม่ตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพ เพราะ พ.ร.บ.สรรพสามิตฉบับใหม่ จะคุมเครื่องดื่มบางประเภทเท่านั้นให้เสียภาษี และต้องปรับตัวด้วยการปรับสูตรผลิตลดค่าความหวานลง จนอาจทำให้ต้องสูญเสียลูกค้าบางกลุ่มที่ชอบรสหวานไป โดยหันไปเลือกซื้อเครื่องดื่มกาแฟ ชาจากร้านค้าทั่วไป ที่ใส่ค่าควานหวานได้ไม่จำกัด เพราะไม่อยู่ในระบบภาษี ซึ่งส่งผลให้เกิดการแข่งขันไม่เท่าเทียมกัน รวมถึงไม่ช่วยส่งเสริมนโยบายลดการบริโภคน้ำตาลของภาครัฐ”

จาก https://www.dailynews.co.th วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2560 

เปิดแผนอุตสาหกรรม4.0 มุ่งนวัตกรรม 'หุ่นยนต์'

หมายเหตุ - ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้เห็นชอบ 5 มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมนำเสนอมาตรการและข้อมูลประกอบการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ "มติชน" จึงนำเสนอสาระสำคัญดังนี้

          1.ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจยุค 4.0

          ซึ่งแข่งขันกันด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจะมีบทบาทในการยกระดับเทคโนโลยีการผลิตและแรงงาน เข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ทดแทนคนในงานที่เป็นอันตราย งานที่ไม่ใช้ฝีมือ เพื่อพัฒนาแรงงานไทยขึ้นเป็นแรงงานมีทักษะและสร้างมูลค่าได้มากกว่า รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เช่น

          -ด้านการเกษตร จะส่งเสริมการก้าวเข้าสู่ Smart Farming โดยด้วยการใช้ระบบอัตโนมัติในการควบคุมการให้น้ำ สารอาหาร และอุณหภูมิ ในการเพาะปลูกอย่างถูกต้องและเหมาะสม ตลอดจนถึงปรับปรุงประสิทธิภาพในการเก็บเกี่ยว ทำให้สามารถยกระดับการเกษตรไปสู่การทำเกษตรแปลงใหญ่

          -ด้านการแพทย์ โดยหุ่นยนต์จะช่วยในงานผ่าตัดที่มีความซับซ้อน การเตรียมยาที่ต้องการความแม่นยำสูง เช่น ยารักษามะเร็ง ตลอดจนการใช้หุ่นยนต์ในการดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น

          -ด้านโลจิสติกส์ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพจัดการระบบขนส่งในคลังสินค้า และการจัดการสินค้าคลัง

          -ด้านการท่องเที่ยว และการบริการอื่นๆ

          2.ปัจจุบันโลกกำลังก้าวสู่ยุคการผลิตโดยใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดย International Federation of Robotic คาดว่าในอีก 5 ปี ข้างหน้าจะมีการใช้หุ่นยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 ต่อเนื่องทุกๆ ปี

          ขณะที่ประเทศไทยยังมีใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในระดับต่ำ โดยมีสัดส่วนการใช้หุ่นยนต์ 53 ตัวต่อแรงงาน 10,000 คน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่มีการใช้อยู่ที่ 69 ตัว และน้อยกว่าประเทศสิงคโปร์ และไต้หวัน ที่มีสัดส่วนใช้อยู่ที่ 398 และ 190 ตัวตามลำดับ ดังนั้นประเทศไทยจำเป็นต้องยกระดับการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อให้แข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้

          3.สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม ชี้ว่าภายใน 3 ปี หากประเทศไทยไม่เริ่มใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ร้อยละ 85 ของอุตสาหกรรมในประเทศ และ SMEs ร้อยละ 53 จะประสบปัญหา สอดคล้องกับธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ชี้ว่าภายใน 5 ปี อัตราการอยู่รอดของบริษัทขนาดใหญ่ และธุรกิจ SMEs ของไทยจะอยู่ที่ร้อยละ 70 และ 50 เนื่องจากมีประสิทธิภาพและต้นทุนการผลิตที่ไม่สามารถแข่งขันได้

          4.อุตสาหกรรมไทยมีความต้องการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพิ่มมากขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 8 ต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศยังมีไม่เพียงพอ ทำให้ขาดดุลการค้าสูงถึง 132,000 ล้านบาท ทั้งนี้หากส่งเสริมการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยไม่ส่งเสริมการผลิต จะยิ่งทำให้การขาดดุลเพิ่มมากขึ้น

          5.Roadmap การพัฒนาอุตสาหกรรมที่จัดขึ้นทำ เป็นการดำเนินการในแนวประชารัฐโดยมีองค์ประกอบ 3 ส่วนหลัก คือ

          5.1 การกระตุ้นอุปสงค์ โดยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมการผลิตและบริการภายในประเทศ นำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ ซึ่งจะกระตุ้นอุปสงค์ให้เกิดการลงทุนผลิตอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ คาดว่าจะทำให้เกิดการลงทุนใช้หุ่นยนต์ 12,000 ล้านบาท ในปีแรก และมีการขยายการลงทุนกว่า 200,000 ล้านบาท ใน 5 ปี

          5.2 การสนับสนุนอุปทาน โดยเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง System Integrator ผู้ทำหน้าที่ออกแบบติดตั้ง ระบบอัตโนมัติ หรือ SI ซึ่งจะพัฒนาเป็นผู้ผลิตหุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติในอนาคต ปัจจุบันประเทศไทยมี SI ประมาณ 200 ราย โดยตั้งเป้าจะเพิ่มจำนวน SI จาก 200 ราย เป็น 1,400 ราย ใน 5 ปี

          5.3 การพัฒนาบุคลากรและยกระดับเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ไปสู่การผลิตหุ่นยนต์ประเภทอื่นๆ ที่มีความซับซ้อน โดยจัดตั้ง Center of Robotic Excellence หรือ CoRE เป็นเครือข่ายความร่วมมือของหน่วยงานชั้นนำของประเทศ โดยในระยะแรกจะจัดตั้งรวม 8 แห่งได้แก่

          -สถาบันไทย-เยอรมัน-สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์-สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

          -จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย-มหาวิทยาลัยมหิดล-มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

          -มหาวิทยาลัยขอนแก่น-มหาวิทยาลัยเชียงใหม่รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศ เช่น MIT ฟรอนโฮเฟอร์ ประเทศเยอรมนี และ Japanese Society of Robotics ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

          มีเป้าหมายภายใน 5 ปี จะพัฒนาหุ่นยนต์ต้นแบบอย่างน้อย 150 ผลิตภัณฑ์, ถ่ายทอดเทคโนโลยีหุ่นยนต์ขั้นสูงให้ผู้ประกอบการ จำนวน 200 ราย และฝึกอบรมบุคลากรไม่น้อยกว่า 25,000 คน

          6.มาตรการพัฒนาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

          1.มาตรการกระตุ้นอุปสงค์1.1 BOI ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล ร้อยละ 50 สำหรับกิจการต่างๆ ที่นำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ไปใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและบริการ

          -เป็นมาตรการเดิมของ BOI ที่มีอยู่ แต่เดิมใช้สิทธิได้เฉพาะกิจการในกลุ่ม A (กิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล แบ่งเป็น A1-A4 โดย A1 ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สูงสุด 8 ปี ไม่จำกัดวงเงินยกเว้นภาษี)

          -BOI จะมีการเพิ่มเติมกิจการ โดยครอบคลุมกิจการในกลุ่ม B (กิจการที่ไม่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่ได้รับการยกเว้นภาษีอื่นๆ เช่น ภาษีนำเข้าเครื่องจักร เป็นต้น) เพิ่มมากขึ้น

          1.2 กระทรวงการคลัง ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 300% ของรายจ่าย เพื่อการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

          -เป็นมาตรการเดิมของกระทรวงการคลัง-แต่ขอให้พิจารณาส่งเสริมการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเป็นพิเศษ

          1.3 สำนักงบประมาณสนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่ผลิตภายในประเทศเพื่อบริการประชาชน

          -มาตรการใหม่-ใช้กลไกการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของหน่วยงานต่างๆ ในการสนับสนุนหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่ผลิตในประเทศ

          1.4 กระทรวงอุตสาหกรรมส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs นำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ผ่านกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีและกองทุนอื่นๆ

          -มาตรการที่มีอยู่แล้วแต่จะเน้นส่งเสริมผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเป็นพิเศษ

          2.มาตรการสนับสนุนอุปทาน-BOI ส่งเสริมกิจการ System Integrator และให้สิทธิประโยชน์การลงทุนในระดับ A1

          -เป็นมาตรการใหม่ แต่เดิม BOI ให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนเฉพาะกิจการการผลิตเครื่องจักรอัตโนมัติ Machine Automation ในระดับ A1 แต่ไม่ได้ให้การส่งเสริมกิจการ System Integrator

          -ขณะนี้ BOI ได้ออกประกาศเพิ่มเติมกิจการสำหรับ System Integrator เป็นกิจการใหม่ โดยให้สิทธิประโยชน์ในระดับ A1 แล้ว เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา

          -BOI จะขอให้ CoRE รับรองคุณสมบัติของ SI เพื่อขอรับสิทธิประโยชน์

          -กระทรวงการคลัง ยกเว้นอากรนำเข้าชิ้นส่วนที่นำมาผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อแก้ไขปัญหาความลักลั่นทางภาษี

          -เป็นมาตรการใหม่-ปัญหาเกิดจากความลักลั่นทางภาษี ระหว่างสินค้าค้าสำเร็จรูปนำเข้าที่มีภาษี 0 ในขณะที่ชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่นำมาประกอบเป็นหุ่นยนต์ยังมีภาษีในระดับสูง ทำให้ไม่จูงใจให้เกิดการผลิตในประเทศ

          -กระทรวงการคลัง จะยกเว้นอากรนำเข้าอุปกรณ์สำหรับนำมาผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในเบื้องต้น 12 กลุ่มหลัก ครอบคลุมรายการสินค้าชิ้นส่วนประมาณ 60 รายการ

          -ทั้งนี้ SI ที่จะขอใช้สิทธิ ต้องได้รับการรับรองคุณสมบัติจาก CoRE

          3.การพัฒนาบุคลากรและยกระดับเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

          จัดตั้ง Center of Robotic Excellence (CoRE) เพื่อยกระดับเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติไปสู่การผลิตหุ่นยนต์ประเภทอื่นที่มีความซับซ้อน ระยะแรกประกอบด้วยหน่วยงาน 8 แห่ง คือ สถาบันไทย-เยอรมัน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศ เช่น MIT ฟรอนโฮเฟอร์ ประเทศเยอรมนี และ Japanese Society of Robotics ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น ทำหน้าที่ 4 ด้านหลัก คือ

          1.รับรองคุณสมบัติของ SI ที่จะใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่างๆ

          2.พัฒนาบุคลากรด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ3.พัฒนาต้นแบบ4.ถ่ายทอดเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้กับผู้ผลิต และ SI

          เป้าหมายใน 5 ปี1.พัฒนาหุ่นยนต์ต้นแบบอย่างน้อย 150 ผลิตภัณฑ์

          2.ถ่ายทอดเทคโนโลยีหุ่นยนต์ขั้นสูงให้ผู้ประกอบการ จำนวน 200 ราย

          3.ฝึกอบรมบุคลากรไม่น้อยกว่า 25,000 คน

          7.เป้าหมาย

          การดำเนินงานตาม Roadmap ทั้ง 3 ส่วน จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศ

          7.1 ในปีแรกเกิดการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรมไทยไม่น้อยกว่า 12,000 ล้านบาท ด้วยความร่วมมือในแนวทางประชารัฐของบริษัทชั้นนำ เช่น

          -บริษัท CPF นำมาใช้ในกระบวนการแปรรูปอาหาร

          -บริษัท SCG, Homepro และ WHA ใช้ในการบริหารระบบคลังสินค้าอัตโนมัติ

          -บริษัท ปตท. จะลงทุนพัฒนาหุ่นยนต์สำรวจใต้น้ำ-บริษัท สุพรีม จะให้บริการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติทางการแพทย์ในโรงพยาบาล

          -สำหรับ SMES เช่น บริษัท DV electronics จะปรับปรุงกระบวนการผลิตหม้อแปลงด้วยระบบอัตโนมัติ และบริษัท Yawata จะลงทุนด้านระบบลำเลียงอัตโนมัติ

          7.2 ระยะ 5 ปี เกิดการขยายลงทุนในห่วงโซ่การผลิตอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท โดยจะมีการใช้หุ่นยนต์ในโรงงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของโรงงานทั้งหมด และทดแทนการนำเข้าได้ร้อยละ 30

          7.3 ระยะ 10 ปี ประเทศไทยจะพัฒนาเทคโนโลยีเป็นของตนเอง และก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านการผลิต ส่งออก และการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในอาเซียน

          5มาตรการดันอุตสาหกรรมหุ่นยนต์

          มาตรการที่ 1 : มาตรการทางด้านการตลาด เพื่อกระตุ้นอุปสงค์ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต/ธุรกิจบริการให้เกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเป็นหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ   โดยกลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ประกอบการที่ต้องการปรับเปลี่ยนมาใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเนื่องจากการลงทุนซื้อหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ซึ่งประมาณการว่าจะต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 80-90 ในการทดแทนเครื่องจักรเดิม จึงจำเป็นต้องมีมาตรการในการจูงใจให้เกิดการปรับเปลี่ยนเป็นหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

          มาตรการที่ 2 : มาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ System Integrator (SI)  ในประเทศไทย เพื่อผลักดัน SI ให้มีจำนวนเพียงพอในการรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในอนาคต

          มาตรการที่ 3 : มาตรการสร้างอุปทาน เพื่อยกระดับกระบวนการผลิต มาตรฐานและผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

          มาตรการที่ 4 : มาตรการสร้าง Center of Robotics Excellence (CoRE) สำหรับพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์และการส่งเสริมการใช้งานด้านต่างๆ เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนและเร่งรัดการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยบูรณาการความร่วมมือเป็นเครือข่ายระหว่างหน่วยงานชั้นนำของประเทศและมาตรการที่ 5 : มาตรการสนับสนุนด้านอื่นๆ

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2560 

ชงภาษีบาป-น้ำหวานเข้าครม. สรรพสามิตมั่นใจไม่มีกักตุนเหตุราคาเปลี่ยนเล็กน้อย

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง เปิดเผยในงานเสวนา ภาคธุรกิจปรับตัวอย่างไรภายใต้พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิตใหม่ ว่า ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ จะเสนออัตราภาษีสินค้าสุรา ยาสูบ ให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาเห็นชอบ ออกตามพระราชบัญญัติสรรพสามิต 2560 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2560 เป็นต้นไป โดยแนวทางการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในอนาคต ได้มอบหมายให้กรมสรรพสามิต และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) พิจารณาอัตราภาษีสินค้าอื่นๆ เพิ่มเติม ที่เกี่ยวข้อง หรือส่งผลกระทบ ต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม สินค้าฟุ่มเฟือย

“อัตราภาษีสุรา ยาสูบ คาดว่าจะเข้า ครม. สัปดาห์หน้า หรืออย่างช้า 12 ก.ย.นี้ เพื่อให้ทันในวันที่ 16 ก.ย. 2560 ที่จะมีผลบังคับใช้ เชื่อว่าผู้ประกอบการไม่ต้องปรับตัวอะไรมาก ถ้าทุกคนเดินมาถูกทางแล้ว ถ้าเดินอ้อมหรือเลี้ยวหน่อยก็ขอให้ทำให้ถูกทาง ส่วนสินค้าภาษีบาปที่จะกำหนดอัตรามา ก็เชื่อว่าจะไม่มีการกักตุน เพราะภาระภาษีไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาก ไม่กระทบผู้ประกอบการ และผู้บริโภค ยอดรวมจัดเก็บรายได้ก็ไม่ได้ต่างจากเดิม” นายวิสุทธิ์ กล่าว

นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า กฎหมายสรรพสามิตฉบับใหม่จะมีการจัดเก็บภาษีตัวใหม่ เช่น ภาษีจากค่าความหวาน จากเดิมไม่มีการจัดเก็บเพราะต้องการส่งเสริมเกษตรกร แต่ตามข้อเรียกร้องของกระทรวงสาธารณสุข และกลุ่มเอ็นจีโอ ที่ต้องการให้ประชาชนลดการบริโภคน้ำตาล เพื่อส่งเสริมสุขภาพ จึงได้เพิ่มเข้าไปในกฎหมายฉบับนี้ด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี ที่ให้ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้น ส่วนรายละเอียดต้องรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อน แต่เบื้องต้นจะมีการผ่อนผันระยะหนึ่งให้ผู้ประกอบการปรับตัว และถ้าค่าความหวานมีไม่ถึง 6 กรัม จะไม่เสียภาษี

แหล่งข่าวจากกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าจะมีการเสนอ ครม.รับทราบ ร่างกฎหมายลำดับรอง หรือกฎกระทรวงว่าด้วยอัตราภาษีสินค้าอีกครั้ง หลังจากที่ผ่านความเห็นชอบในหลักการแล้ว คาดว่าจะมีการเสนอครม.เห็นชอบอัตราภาษีสุรา และยาสูบ พร้อมกัน เพื่อประกาศลงราชกิจจานุเบกษาให้ทันมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 ก.ย.นี้พร้อมกันทั้งหมด

ด้านนายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์และสันทนาการ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า จากการจัดเก็บภาษีค่าความหวาน จะมีผลกระทบต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำตาลทรายในภาคการผลิตของกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไม่มาก อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายมีความกังวลว่าการจัดเก็บภาษีค่าความหวานในกลุ่มเครื่องดื่มครั้งนี้อาจส่งผลต่อความเข้าใจในการบริโภคที่คลาดเคลื่อน โดยกังวลว่าการบริโภคเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลทรายจะเป็นพิษต่อร่างกายและเป็นต้นเหตุทำให้เกิดโรคต่างๆ ซึ่งอาจทำให้การบริโภคอาหารไม่สมดุลกับความต้องการของร่างกาย ดังนั้น ในช่วงเวลาที่เปิดโอกาสให้เอกชนปรับตัว 2 ปี ภาครัฐและเอกชนต้องเร่งสื่อสารสร้างความเข้าใจในการบริโภคน้ำตาลที่เหมาะสมต่อร่างกายของแต่ละคน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2560 

ค่าบาท 'แข็งค่า' จับตาจ้างงานนอกภาคเกษตร

บาทเปิดตลาดเช้านี้แข็งค่าที่ "33.18 บาทต่อดอลลาร์" เคลื่อนไหวกรอบแคบ ตลาดยังรอดูตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ ในคืนนี้

 นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ที่ระดับ 33.18บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากช่วงปิดสิ้นวันก่อนที่ระดับ 33.20 บาท

ในคืนที่ผ่านมาดอลลาร์อ่อนค่าลงตามตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐ (PCE) ที่ออกมาที่ระดับ 1.4% ตามที่ตลาดคาดไว้ แต่เนื่องจากเป็นระดับที่ค่อนข้างต่ำจึงยังส่งผลลบต่อดอลลาร์ต่อ

เรายังมองต่อไปอีกว่าตลาดแรงงานสหรัฐมีโอกาสชะลอตัวจากผลกระทบของพายุ ฮาร์วีย์ นักลงทุนจึงมีทีท่าที่จะพลิกกลับเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัย ส่งผลให้บอนด์ยีลด์สหรัฐปรับตัวลงอีก โดยล่าสุดให้บอนด์สหรัฐอายุ 10ปีให้ยีลด์อยู่ที่ระดับ 2.12%

สำหรับวันนี้มองว่าค่าเงินบาทน่าจะแกว่งตัวอยู่ในกรอบแคบ ตลาดจะรอการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (US non-farm payrolls) ในคืนนี้ โดยจุดที่น่าสนใจ ยังคงเป็นจำนวนการจ้างงานที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.8 แสนคนและค่าจ้างเฉลี่ยรายสัปดาห์ที่คาดว่าจะยังขยายตัวใกล้เคียงระดับ 2.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยปัจจัยดังกล่าวน่าจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ไม่ปรับตัวลงแรงในวันนี้มองกรอบเงินดอลลาร์ที่ระดับ 33.15-33.20 บาทต่อดอลลาร์

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2560