http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนกันยายน 2561)

กฎเหล็กรัฐ! สกัด 13 สารอันตราย ผู้บริโภค-ส่งออกรับอานิสงส์

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 391 (พ.ศ. 2561) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 สาระสำคัญ คือ การห้ามผลิต นำเข้า หรือ จำหน่ายอาหารที่มีส่วนประกอบของสาร/กรด รวม 13 ชนิด โดยให้มีผลบังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นปัจจุบันและสอดคล้องกับสากลถือเป็นประกาศสำคัญ จากก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2561 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ห้ามผลิต นำเข้า หรือ จำหน่ายอาหารที่มีไขมันทรานส์ สร้างแรงกระเพื่อมต่อวงการอาหารไทยมาแล้ว

สำหรับ 13 สาร/กรดที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือ จำหน่ายในครั้งนี้ ได้แก่ นํ้ามันพืชที่ผ่านกรรมวิธีเติมโบรมีน, กรดซาลิซิลิก, กรดบอริก, บอแรกซ์, โพแทสเซียมคลอเรต, คูมาริน, ไดโฮโดรคูมาริน, ไดเอทิลีนไกลคอล, ดัลซีน, เอเอฟ 2, โพแทส เซียมโบรเมต, ฟอร์มาลดีไฮด์ และสารเมลามีน

ผลพวงควบรวมประกาศ

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้สัมภาษณ์กับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การห้ามผลิต นำเข้า หรือ จำหน่าย อาหารที่มีส่วนประกอบของสารและกรด 13 ชนิดข้างต้น ในข้อเท็จจริงแล้ว 12 รายการแรก ได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขห้ามใช้ในอาหารมาตั้งแต่ปี 2536 แล้ว เพราะหลายสาร/กรดเป็นอันตราย เช่น นํ้ามันพืชผ่านกรรมวิธีการเติมโบรมีนเป็นสารก่อมะเร็ง กรดซาลิซิลิกที่ใช้เป็นส่วนผสมเครื่องสำอางมีผลต่อการเพิ่มความเป็นกรดของเลือดและสะสมในร่างกาย ทำให้มีอาการไข้ คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น ส่วนอีก 1 รายการ คือ สารเมลามีน มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขห้ามผลิต นำเข้า หรือ จำหน่ายแล้ว ในปี 2555 เพราะสารนี้มีการใช้ในนมผงและอาหารสัตว์ มีคุณสมบัติไปเร่งการเติบโต เพิ่มปริมาณโปรตีนไม่เป็นผลดีต่อร่างกาย แต่มีพ่อค้าหัวใสเห็นช่องทางในการทำกำไร

"ภาพรวมสาร/กรด 13 ชนิด มีการห้ามใช้เป็นส่วนประกอบ หรือ ส่วนผสมอาหารมาหลายปีแล้ว แต่ครั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขได้นำประกาศหลายฉบับมาควบรวมกัน และออกเป็นประกาศฉบับใหม่ เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยที่เพิ่มเข้าไป คือ ห้ามนำเข้าและห้ามจำหน่าย ถือเป็นการตัดวงจรต้นทาง ซึ่งในอุตสาหกรรมผลิตอาหารได้ยกเลิกการใช้สารหรือกรดเหล่านี้ไปแล้ว พอมีประกาศออกมาจึงไม่มีผลกระทบ ตรงกันข้ามจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคเพิ่มขึ้น รวมถึงจะช่วยหยุดยั้งการนำข้อมูลที่ผิด ๆ ในอดีตเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว เกี่ยวกับสารหรือกรดข้างต้นมาเผยแพร่ทางโซเชียล ทำให้เกิดความตื่นตระหนกและเกิดความเข้าใจผิด ทั้งที่ในข้อเท็จจริง สารหรือกรดเหล่านี้มีการยกเลิกใช้ไปแล้ว ผู้ประกอบการก็มีการปรับกระบวนการผลิตและใช้สารอื่นที่ไม่เป็นอันตรายทดแทนหมดแล้ว"

เพิ่มมั่นใจคู่ค้า-ผู้บริโภค

ขณะเดียวกัน ประกาศดังกล่าวยังช่วยสร้างความมั่นใจให้กับคู่ค้าในต่างประเทศมากยิ่งขึ้น และเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์อุตสาหกรรมอาหารไทย ที่ผลิตสินค้าได้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพราะเมื่อห้ามผลิต ห้ามนำเข้า ก็ไม่มีสารตั้งต้น สาร/กรดเหล่านี้จะมาอยู่ในอุตสาหกรรมไม่ได้ หากใครยังฝ่าฝืนก็จะมีความผิดตามกฎหมาย

ส่วนกรณีที่มีประกาศเรื่องการห้ามผลิต นำเข้า หรือ จำหน่าย อาหารที่มีไขมันทรานส์ไปก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่มีแบรนด์เป็นของตัวเอง ทุกรายได้ออกมาประกาศว่า เลิกใช้กันหมดแล้ว และบางรายก็เลิกใช้มานานแล้ว ซึ่งในข้อเท็จจริง ต้นทางของไขมันทรานส์ มีผู้ผลิตพวกมาร์การีน หรือ ครีมเทียม ในประเทศเพียง 2 ราย ณ ปัจจุบันทั้ง 2 ราย ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนกรรมวิธี หรือ สูตรการผลิตปราศจากไขมันทรานส์ไปหมดแล้ว ตั้งแต่ก่อนมีประกาศเสียอีก ขณะที่ การนำเข้าจากต่างประเทศก็ถูกบล็อกด้วยกฎหมายของรัฐบาล ทำให้นำเข้ามาไม่ได้

"สรุปแล้วทั้ง 2 ประกาศ ส่งผลดีต่อผู้บริโภคและภาพบวกต่อการส่งออกที่ได้อานิสงส์ไปด้วย จากมีประกาศซึ่งถือเป็นกฎหมายห้าม เราไม่ต้องไปยืนยันในต่างประเทศว่า เราไม่มีแล้ว แต่หากปลายทางเขาตรวจเจอ ก็แปลว่าคุณผิด แต่ที่ผ่านมา จากการสุ่มตรวจสารต่าง ๆ ข้างต้น ในสินค้าอาหารไทยในประเทศปลายทาง ไม่พบมีสารตั้งต้น เพราะเราเลิกใช้ไปแล้ว"

ป้องส่งออกอาหาร 1 ล้านล้าน

"วิศิษฐ์" กล่าวอีกว่า ในปี 2560 ไทยมีการส่งออกสินค้าอาหารทุกประเภทไปต่างประเทศ มูลค่ารวม 1.04 ล้านล้านบาท ช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ มีการส่งออกแล้วมูลค่ารวม 6.98 แสนล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.34% ขณะที่ การส่งออกรูปดอลลาร์สหรัฐฯ มีมูลค่า 21,942 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 8.28% ซึ่งมูลค่าส่งออกรูปเงินบาทที่ขยายตัวน้อย ผลพวงจากเงินบาทแข็งค่า ทำให้รายรับในรูปเงินบาทลดลง

ส่วนการส่งออกสินค้าอาหารสำเร็จรูปใน 6 กลุ่มสินค้าสมาชิกของสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป (ทูน่า, อาหารทะเล, สับปะรด, ข้าวโพดหวาน, ผักและผลไม้ และอาหารพร้อมทานและเครื่องปรุง) ช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ มีการส่งออกแล้วมูลค่า 1.24 แสนล้านบาท ขยายตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.8% โดยกลุ่มที่ส่งออกติดลบมาก ได้แก่ กลุ่มสับปะรด (-35%) จากราคาสินค้าส่งออกลดลงประมาณ 30% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว อันเนื่องมาจากวัตถุดิบล้นตลาดและราคาตก ยังผลต่อต้นทุนและราคาสินค้าส่งออกลดลงตาม และมีคู่แข่งมากในตลาด และในกลุ่มผักผลไม้ (-9.4%) จากราคาสินค้าที่ลดลงและมีคู่แข่งขันมากเช่นกัน

ทั้งปีนี้ทางสมาคมลุ้นตัวเลขการส่งออกสินค้าทั้ง 6 กลุ่มสมาชิกของสมาคม จะขยายตัวได้ที่ประมาณ 3% (จากปี 2560 ส่งออก 1.95 แสนล้านบาท) โดยคาดหวังกลุ่มสินค้าอาหารทะเล ทูน่า ข้าวโพดหวาน และอาหารพร้อมรับประทาน ยอดส่งออกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายปีนี้ เป็นช่วงไฮซีซันที่คู่ค้ามีการนำเข้าเพิ่มขึ้น

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 30 กันยายน  2561

พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เครื่องมือ สทนช.กำกับน้ำของประเทศ

การถือกำเนิดของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เมื่อปลายปี 2560 เป็นด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า น้ำเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ แต่มีหน่วยงานรับผิดชอบมากถึง 38 หน่วย 7 กระทรวง

ใครเป็นผู้นำรัฐบาลย่อมปวดหัวตัวร้อนกับข้อมูลเรื่องน้ำและการบริหารจัดการน้ำของประเทศ รวมไปถึงแผนงาน โครงการต่างๆ ที่นำเสนอเข้ามาในลักษณะต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างเสนอ ต่างคนต่างของบประมาณ

ท้ายที่สุด ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแผนงาน โครงการต่างๆ มันตอบโจทย์น้ำโดยรวมของประเทศหรือไม่

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ต้องการให้มีหน่วยงานเพียงหนึ่งเดียวที่ทำเรื่องนี้โดยตรง โดยบูรณาการทุกเรื่องน้ำเข้าด้วยกัน ทำให้สามารถบริหารน้ำได้อย่างมั่นใจกว่าที่ผ่านๆ มา

นี่เองเป็นจุดกำเนิดของ สทนช. ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยคิดทำกันตั้งแต่รัฐบาลก่อนๆ แม้กระทั่งในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็ทำมาแล้วภายใต้การขับเคลื่อนของกรมทรัพยากรน้ำ แต่ไม่คืบ จนต้องเปลี่ยนแปลงมาเป็น สทนช.อย่างที่เห็น

สทนช.ถือกำเนิดเร่งด่วนจากมาตรา 44 ชนิดที่ ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ ต้องรีบลุกมารั้งตำแหน่งเลขาธิการ สทนช. ทั้งที่นั่งเก้าอี้อธิบดีกรมชลประทานได้ไม่ถึง 2 เดือนดี

เลือกได้ไม่ผิดคน เพราะเลขาธิการ สทนช.คนแรกทำให้การควบคุมทิศทางการบริหารน้ำของประเทศเริ่มขยับเข้าที่ อยู่ในร่องในรอย ดีกว่าเดิมที่ต่างคนต่างทำ และทำถูกผิดประการใดก็ไม่มีใครคอยกำกับในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง ส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องเฉพาะด้านที่ต้องอาศัยคนรู้จริงๆ

แน่นอนว่า ใน 38 หน่วยงานย่อมมีม้าพยศอันเป็นความปกติตามธรรมชาติของมนุษย์ ถึงวันนี้ก็ใช่ว่าสงบราบคาบ ซึ่งจะเห็นได้จากผลลัพธ์ของการบริหารจัดการน้ำในหลายพื้นที่

วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดทำโครงการวิจัยเพื่อศึกษาวิเคราะห์บริบททางความคิดและทัศนคติของหน่วยงานภาครัฐในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำห่งชาติ โดยเก็บข้อมูลเชิงปริมาณ 520 ตัวอย่าง จากหน่วยงานภาครัฐดังกล่าวได้ข้อสรุปว่า การจัดตั้ง สทนช.ของรัฐบาล เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการน้ำของประเทศทั้งระบบเป็นสิ่งที่เหมาะสม ควรเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริม กำกับดูแล และเป็นที่ปรึกษาด้านนโยบายเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรน้ำ

ผลวิจัยยังได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้ง 6 ด้านของรัฐบาล โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ที่ 6 ว่าด้วยการบริหารจัดการ สทนช.ควรเข้ามามีบทบาทสำคัญในการบริหารงานที่มีเอกภาพ มีองค์กร มีกฎหมายรองรับ เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบาย รวมถึงการติดตามประเมินผลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดย สทนช.ต้องเป็นผู้กำกับดูแลและบังคับใช้กฎหมายมากที่สุด ทั้งประเด็นการบริหารจัดการ การกำหนดทิศทาง การจัดทำแผน การจัดทำระบบฐานข้อมูล และให้การสนับสนุนหน่วยงานเกี่ยวข้องมากกว่า 50 หน่วยงาน ใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านข้อมูล ด้านองค์ความรู้และเทคโนโลยี และด้านการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างหน่วยงาน

ผลวิจัยยังระบุต่อไปด้วยว่า เพื่อให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพและบรรลุผลตามภารกิจ สทนช.ต้องทำหน้าที่ผลักดันให้เกิดกฎหมาย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารและเป็นที่ยอมรับ และควรทำหน้าที่เน้นหนักด้านการดูภาพรวมของนโยบายการบริหารทรัพยากรน้ำ และบูรณาการร่วมระหว่างหน่วยงาน เพื่อก่อให้เกิดความเป็นเอกภาพ เป็นหนึ่งเดียวของข้อมูลข่าวสารด้านทรัพยากรน้ำของประเทศ และไม่ก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศอีกด้วย

แม้จะเป็นงานวิจัย แต่ลึกลงไปคือการบูรณาการข้อมูลร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อเป็นชุดข้อมูลน้ำเดียวกัน และมีกฎหมายรองรับในการปฏิบัติงานที่มากกว่ามาตรา 44 เท่านั้น

ภายในไม่กี่เดือนนี้คาดหมายว่าร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ.... น่าจะคลอดออกมา เพื่อให้ สทนช.มีอำนาจหน้าที่ที่จะดำเนินการเรื่องทรัพยากรน้ำได้อย่างเต็มที่ และขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศได้อย่างเต็มพิกัดเช่นเดียวกัน

เป็นผู้กำกับ (Regulator) ได้อย่างสมภาคภูมิ และเป็นหน่วยงานน้ำของชาติ เป็นหน้าตาของประเทศไปในตัวด้วย

จาก https://mgronline.com   วันที่ 30 กันยายน  2561

“พาณิชย์”ยันไทยเข้าร่วมCPTPP เกษตรกรยังทำไร่ทำนาได้ตามปกติ

 “พาณิชย์”ยันการเข้าร่วมความตกลง CPTPP เกษตรกรไม่ได้รับผลกระทบ ยังสามารถเพาะปลูก ใช้เมล็ดพันธุ์ได้ตามปกติ และมีโอกาสใช้ประโยชน์ในการพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ๆ เข้าสู่ระบบ สร้างรายได้ให้กับตัวเอง ส่วนประเด็นสิทธิบัตร การเข้าถึงยา เลิกกังวลได้ ถูกตัดออกไปแล้ว ส่วนการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ไม่กระทบการจัดซื้อจัดจ้างปกติ แต่มุ่งให้เข้ามาแข่งในการประมูลโครงการใหญ่

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นการเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ครอบคลุมทุกภาคของประเทศแล้ว โดยผลจากการลงพื้นที่พบว่าปัญหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องของเกษตรกรที่มีความกังวลในประเด็นเรื่องการเข้าร่วม CPTPP ในส่วนของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV) จะทำให้ชีวิตเกษตรกรเปลี่ยนไป และกังวลว่าจะสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เพาะปลูกปีต่อไปได้ ซึ่งกรมฯ ได้ทำการชี้แจงไปแล้วว่าการเข้าร่วม ไม่มีอะไรทำให้เกษตรกรเกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ยังสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกได้ แต่ไม่สามารถเอามาขายได้ ซึ่งการขาย หมายถึงการขายแบบทำเป็นธุรกิจ

“ภายใต้ข้อตกลง ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าพันธุ์พืชใหม่ ต้องเป็นพันธุ์พืชที่มีการพัฒนาขึ้นมาใหม่ ไม่ใช่พันธุ์พืชที่มีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ไม่ต้องกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อการทำไร่ ทำนา การเพาะปลูก เกษตรกรสามารถนำเมล็ดพันธุ์เก็บไว้ใช้ได้ แล้วในข้อตกลง CPTPP ยังเปิดทางให้เข้าร่วม UPOV หรือจะใช้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชของตัวเองก็ได้ ซึ่งในส่วนของไทยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำลังยกร่างอยู่ หรือหากเข้าร่วม ก็ยังมีระยะเวลาให้ปรับตัวได้นานถึง 4 ปีไม่ใช่ทันทีทันใด”นางอรมนกล่าว

ทั้งนี้ กรมฯ มีแผนที่จะไปขอศึกษาเรียนรู้จากเวียดนาม ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิก CPTPP และได้เข้าร่วมอนุสัญญา UPOV แล้ว โดยต้องการทราบว่าเข้าร่วมแล้วมีผลเป็นยังไง เกษตรกรได้รับผลกระทบหรือไม่ ซึ่งจากการสอบถามในเบื้องต้น ได้ข้อมูลว่า แรกๆ เกษตรกรก็มีความกังวล แต่เมื่อเข้าร่วม ก็ไม่ได้รับผลกระทบอะไร แต่กลับเป็นผลดี เพราะเกษตรกรบางรายสามารถใช้ประโยชน์ในการพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม แล้วใช้ประโยชน์จากพันธุ์ที่พัฒนาได้ด้วย และเพื่อความรอบคอบ กรมฯ มีแผนที่จะหารือกับตัวแทนภาคเกษตรกร เครือข่ายเกษตรกร ภาคประชาสังคม FTA Watch และไบโอไทยอีกครั้งด้วย

นางอรมนกล่าวว่า ประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ที่คนยังพูดกันเหมือนเดิมว่าจะมีการขยายอายุสิทธิบัตรออกไป หรือจะทำให้ไทยเข้าถึงยาได้ยากขึ้น หากไทยเข้าร่วม ก็ไม่เป็นความจริง เพราะเรื่องนี้ได้ถูกนำออกจากข้อตกลง CPTPP ไปแล้ว ซึ่งไทยสามารถดูแลในเรื่องการเข้าถึงยาของประชาชนได้ตามปกติ ส่วนเรื่องสินค้าตัดแต่งทางพันธุกรรม (GMOs) ไม่ได้เปิดให้มีการนำเข้า ไทยยังสามารถใช้มาตรการดูแลได้

ส่วนประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ยืนยันว่าไม่กระทบต่อการจัดซื้อจัดจ้างภายในประเทศ เพราะในข้อตกลง CPTPP ไม่ได้สนใจโครงการเล็กๆ แต่พูดถึงโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการก่อสร้างที่มีวงเงินมาก จะต้องเปิดให้สมาชิกเข้ามาร่วมประมูลงานได้ ซึ่งจะเริ่มจากวงเงินสูงๆ ก่อน และมีขั้นต่ำสุดที่ 230 ล้านบาท ส่วนสินค้าและบริการมีขั้นต่ำที่ 6 ล้านบาท และจะเริ่มจากวงเงินที่สูงก่อนเช่นเดียวกัน โดยกรมฯ จะมีการหารือกับกรมบัญชีกลาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้อีกครั้ง แต่ยืนยันได้เลยว่า ไม่น่ากังวล เพราะในความตกลงได้เปิดโอกาสให้มีระยะเวลาปรับตัวนานถึง 25 ปี

จาก https://mgronline.com   วันที่ 30 กันยายน  2561

ชาวบ้านโวยหนัก โรงงานน้ำตาลปล่อยน้ำเสียลงคลอง ใช้อุปโภค-บริโภคไม่ได้เลย

เมื่อวันที่ 28 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านในพื้นที่ ต.หางน้ำสาคร อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท เข้าร้องเรียน หลังพบโรงงานผลิตเยื่อกระดาษและโรงงานน้ำตาลบริเวณ ต.หนองโพ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ปล่อยน้ำเสียลงมาสู่คลอง ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าใช้น้ำในการเกษตรกรรมและบริโภค

ล่าสุด นายจุมพฎ เจตน์จันทร์ ธรรมาภิบาล จ.ชัยนาท พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สมทบ รวมทั้งชาวบ้านที่เดือดร้อน ลงพื้นที่ไปยัง ม.5 ต.หางน้ำสาคร อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท ซึ่งเป็นจุดต้นน้ำที่โรงงานปล่อยน้ำ จากการสำรวจพบว่า น้ำมีสภาพดำต่างจากน้ำในคลอง

เบื้องต้น ธรรมาภิบาลจ.ชัยนาท ขอให้ทางโรงงานหยุดระบายน้ำเสียลงสู่คลอง และให้ทำการแก้ไขด่วน

ด้านนายเชิด แป้นโพธิ์ ชาวบ้านในพื้นที่ เผยว่า พบปัญหาอย่างนี้เป็นประจำทุกป และได้รับผลกระทบมา 10 ปีแล้ว ก่อนหน้านี้ ตนเคยร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทางโรงงานก็ได้ทำการปรับปรุง แต่ปัญหาน้ำเสียมักจะเกิดในช่วงฤดูฝน ทำให้น้ำเสียไหลลงไปยังจนได้รับผลกระทบในวงกว้าง

ชาวบ้านบางรายที่ทำนา เคยสูบน้ำเสียขึ้นมาใช้ และทำให้นาข้าวกว่า 2,000 ไร่ ได้รับความเสียหาย โดยคลองแห่งนี้เริ่มต้นจากคลองบางตาลาย และไหลไปลงที่ คลองอนุศาสนนันท์ ซึ่งชาวบ้าน บ้านหางน้ำสาคร ใช้น้ำจากคลองแห่งนี้ใช้ในด้านการอุปโภค บริโภค และทำการเกษตร

ด้านนายจุมพฎ เจตน์จันทร์ ธรรมาภิบาลจังหวัดชัยนาท กล่าวว่า หลังจากลงพื้นที่ในวันนี้ ได้ประสานไปทางโรงงานเพื่อให้รับทราบปัญหาที่ชาวบ้านนั้นร้องเรียนเข้ามา และให้ทำการแก้ไขเป็นการเร่งด่วนเพื่อลดปัญหาน้ำเสียลง และภายใน 1 สัปดาห์ ได้ขอให้ทางโรงงาน มาร่วมเปิดเวทีประชุมร่วมกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ เพื่อเป็นการแก้ไขในระยะยาว

จาก https://www.khaosod.co.th    วันที่ 29  กันยายน  2561

ค่าเงินบาทนิ่งท่ามกลางเศรษฐกิจโลกผันผวน พิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ดัชนีหุ้นไทยทรงตัวใกล้เคียงสัปดาห์ก่อน

ค่าเงินบาทนิ่งท่ามกลางเศรษฐกิจโลกผันผวน พิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ดัชนีหุ้นไทยทรงตัวใกล้เคียงสัปดาห์ก่อน

การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในช่วงปลายสัปดาห์  ภาพรวมยังเป็นการเคลื่อนไหวในกรอบค่อนข้างแคบตลอดสัปดาห์  ค่าเงินบาทขยับอ่อนค่าลงเล็กน้อยในช่วงต้นสัปดาห์ สอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ท่ามกลางภาวะตึงเครียดเกี่ยวกับข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน หลังมีรายงานข่าวระบุว่า จีนยกเลิกแผนการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ก่อนเส้นตายของมาตรการภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะเริ่มมีผลบังคับใช้ นอกจากนี้ ยังมีแรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ เพื่อปรับโพสิชันก่อนการประชุมเฟดด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี เงินบาทฟื้นตัวกลับมาแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในช่วงปลายสัปดาห์ สอดคล้องกับสถานะซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ  โดยในวันศุกร์ (28 ก.ย.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 32.33 จากระดับ 32.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (21 ก.ย.)

สำหรับแนวโน้มสัปดาห์หน้า  (1-5 ต.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาท  32.30-32.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยในประเทศสำคัญ ได้แก่ ข้อมูลเงินเฟ้อในเดือนก.ย. ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญในระหว่างสัปดาห์ ประกอบด้วย ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน ค่าจ้าง ผลสำรวจผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคบริการในเดือน ก.ย. นอกจากนี้ ตลาดอาจรอติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน ถ้อยแถลงของประธานเฟด (และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟด) ตลอดจนตัวเลข PMI ของประเทศในยุโรป และจีนด้วยเช่นกัน

สำหรับความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนีตลาดหุ้นไทยทรงตัว ระดับใกล้เคียงกับสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับที่ 1,756.41 จุด เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.02 จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลงร้อยละ 30.45  จากสัปดาห์ก่อน   51,154.36 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ปิดที่ 456.38 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.21  จากสัปดาห์ก่อน

ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงในช่วงต้นสัปดาห์ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน หลังจากทั้งสองฝ่ายได้เริ่มบังคับใช้มาตรการภาษีนำเข้ารอบใหม่เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ประกอบกับจีนยกเลิกการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ดัชนี SET ได้รับแรงหนุนจากหุ้นกลุ่มพลังงานเข้ามาช่วยประคองตลาดในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ซึ่งเป็นภาพที่สอดคล้องกับทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงมีแรงซื้อเข้ามาจากนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนสถาบันในช่วงท้ายสัปดาห์           

สำหรับสัปดาห์หน้า  (1-5 ต.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,745 และ 1,735 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,765 และ 1,775 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ ถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) รวมถึงถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดระดับสูง ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร ดัชนี PMI ภาคการผลิตและบริการเดือนก.ย. และข้อมูลการค้าระหว่างประเทศเดือนส.ค. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI เดือนก.ย.ของประเทศในยุโรป ญี่ปุ่น และจีน.

จาก https://www.tnamcot.com   วันที่ 29  กันยายน  2561

ฝนหลวงเร่งเติมน้ำ 136 เขื่อนน้ำน้อย

เร่งทำฝนหลวงเติมน้ำเขื่อน 136 แห่ง ใช้โอกาสช่วงปลายฝน -ต้นหนาว มีร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลาง-ภาคตะวันออก ปะทะมวลอากาศเย็นจากจีนฝนจะชุกอีกระลอกเกือบทุกภาค ช่วง 28 ก.ย.-1 ต.ค.

นายสำเริง  แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ  เปิดเผยว่า ระหว่างนี้จนถึง 1 ต.ค. 61 ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มมากขึ้น โดยจะมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง จากร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางและภาคตะวันออก ปะทะกับมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมา โดยจะเริ่มภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ตอนบน รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป ซึ่งจะเกิดประโยชน์ในแหล่งน้ำที่มีน้ำน้อย โดยทำหนังสือแจ้งไปยัง 4 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กรมชลประทาน และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ที่เป็นผู้รับผิดชอบแหล่งน้ำทั้งขนาดใหญ่ กลาง และ เล็ก รวมถึงหนองบึง ที่มีความจุน้อยกว่า 60% รวมทั้งสิ้น 53 อ่างฯ บริเวณภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ แพร่ ลำปาง ลำพูน สุโขทัย และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ได้แก่ เลย กาฬสินธุ์ ขอนแก่น  นครราชสีมา มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ศรีษะเกษ สกลนคร และอุดรธานี เพื่อให้มีการติดตามและสำรวจปริมาณน้ำเก็บกักปัจจุบัน

ทั้งนี้ หากมีน้ำน้อยและคาดว่าจะไม่เพียงพอในฤดูแล้งต้องพิจารณาแผนเก็บกักน้ำจากปริมาณฝนที่ตกลงในอ่างฯ โดยตรง ปรับลดการระบายน้ำ การสูบน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อเติมน้ำในอ่างฯ ช่วงที่คาดการณ์ฝนจะตกเพิ่มขึ้น พร้อมแจ้งประชาชนและเกษตรกรเตรียมเก็บกักน้ำไว้ในแหล่งน้ำของตัวเองเพื่อใช้ในฤดูแล้ง รวมถึงประสานกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อกำหนดแผนปฏิบัติการฝนหลวงโดยด่วน และรายงาน สทนช.เพื่อติดตามผล และรายงาน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีรับทราบเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่องด้วย

นายสำเริง กล่าวว่า สถานการณ์อ่างเก็บน้ำทั่วประเทศที่มีปริมาณน้อยกว่า 60% มี 136 แห่ง แบ่งเป็น ขนาดใหญ่ 9 แห่งในภาคเหนือ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา 42% เขื่อนแม่มอก 27% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขื่อนมูลบน 54% เขื่อนห้วยหลวง 50% เขื่อนลำนางรอง 34% เขื่อนอุบลรัตน์ 33% ภาคกลาง เขื่อนกระเสียว 41% เขื่อนทับเสลา 27% ภาคใต้ เขื่อนบางลาง 47% ขนาดกลาง 127 แห่ง แบ่งเป็น ภาคเหนือ 29 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 66 แห่ง ภาคตะวันออก 6 แห่ง ภาคกลาง 6 แห่ง ภาคตะวันตก 2 แห่ง และภาคใต้ 18 แห่ง ขณะที่อ่างฯเฝ้าติดตามน้อยกว่า 30% มีทั้งสิ้น 35 แห่ง  แบ่งเป็น ขนาดใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่มอก 27% เขื่อนทับเสลา 27% ขนาดกลาง 33 แห่ง เป็นภาคเหนือ 5 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 แห่ง ภาคตะวันออก 3 แห่ง ภาคกลาง 1 แห่ง และภาคใต้ 4 แห่ง

จาก https://www.tnamcot.com   วันที่ 28  กันยายน  2561

นึกว่าโอวัลติน! ชาวบ้านโอด โรงงานปล่อยน้ำเสียลงคลอง

ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวบ้านในพื้นที่ ต.หางน้ำสาคร อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท  หลังชาวบ้านตต้องเผชิญกับการปล่อยน้ำเสียลงมาสู่คลองสาธารณะในพื้นที่ โดยต้นทางนั้นมาจากโรงงานผลิตเยื่อกระดาษและน้ำตาล ( บริษัท เอ็นไวรอนเม็นท์ พัลพ์ แอนด์ เปเปอร์ จำกัด EPPCO) ในพื้นที่ ต.หนองโพ  อ.ตาคลี  จ.นครสวรรค์  ทำให้ชาวบ้าน ไม่กล้าที่จะนำน้ำมาผลิตเป็นน้ำประปาเพื่อบริโภค และใช้ในภาคของการเกษตร จนเดือดร้อนวอนขอความช่วยเหลือ

 ล่าสุดเวลา 15.30 น. วันที่ 28 ก.ย. 2561  นายจุมพฎ  เจตน์จันทร์  ธรรมาภิบาลจังหวัดชัยนาท  พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ทหารชุดรักษาความสงบเรียบร้อย จ.ชัยนาท เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอมโนรมย์ ตัวแทนจากโรงงานผลิตเยื่อกระดาษและน้ำตาล และชาวบ้าน ได้ลงพื้นที่ไปยัง ม.5 ต.หางน้ำสาคร อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท ซึ่งเป็นจุดต้นน้ำที่โรงงานปล่อยน้ำลงมา จากการสำรวจในครั้งนี้พบว่าน้ำ มีสภาพดำ เหมือนโอวัลติน แตกต่างจากน้ำในคลอง ภายหลังจากการลงพื้นที่ เบื้องต้น ทางธรรมาภิบาลจังหวัดชัยนาท และชาวบ้าน ได้ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องนำตัวอย่างน้ำไปตรวจสอบพร้อมประสานขอให้ทางโรงงานหยุดการระบายน้ำเสียลงสู่คลอง ให้ทำการแก้ไขเป็นการด่วน

นายจุมพฎ  เจตน์จันทร์  ธรรมาภิบาลจังหวัดชัยนาท  เปิดเผยว่า ภายหลังจากการลงพื้นที่ในวันนี้ ก็ได้ทำการประสานไปทางโรงงานเพื่อให้รับทราบปัญหาที่ชาวบ้านนั้นร้องเรียนเข้ามา และให้ทำการแก้ไขเป็นการเร่งด่วนเพื่อลดปัญหาน้ำเสียลง และภายใน1อาทิตย์ ได้ขอให้ทางโรงงาน มาร่วมเปิดเวทีประชุมร่วมกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ เพื่อเป็นการแก้ไขในระยะยาว

ด้านนายเชิด  แป้นโพธิ์  ชาวบ้านในพื้นที่ ม.5 ต.หางน้ำสาคร อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท  เปิดเผยว่า น้ำจากคลองแห่งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากโรงงาน สภาพสีก็จะแตกต่างจากน้ำของระบบชลประทาน ซึ่งในทุกๆปีก็จะพบปัญหาอย่างนี้เป็นประจำ และได้รับผลกระทบมา10 กว่าปี ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน ซึ่งทางโรงงานก็ได้ทำการปรับปรุง แต่ปัญหาน้ำเสียมักจะเกิดในช่วงของหน้าฝน ทำให้น้ำเสียไหลลงไปยังหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล ศูนย์ผลิตน้ำประปา ก็จะได้รับผลกระทบทั้งหมด และชาวบ้านบางรายที่ทำนา ไม่กล้าที่จะสูบน้ำขึ้นมาเลี้ยงต้นข้าว เพราะก่อนหน้านี้เคยสูบน้ำขึ้นมา และทำให้นาข้าวกว่า 2,000 ไร่ ได้รับความเสียหาย  โดยคลองแห่งนี้เริ่มต้นจากคลองบางตาลาย และไหลไปลงที่ คลองอนุศาสนนันท์  ซึ่งชาวบ้าน บ้านหางน้ำสาคร ก็จะใช้น้ำจากคลองแห่งนี้ใช้ในด้านการอุปโภค บริโภค และทำการเกษตร ซึ่งตนเองอยากจะให้ทางโรงงานนั้นได้บำบัดน้ำก่อนที่จะปล่อยลงมาสู่คลอง

จาก www.banmuang.co.th  วันที่ 28  กันยายน  2561

บริหารจัดการน้ำสูตรใหม่เก็บกักน้ำ-หน่วงน้ำ-ระบายน้ำ

ช่วงฤดูฝนทุกคนกังวลเรื่องปริมาณฝน น้ำท่า และน้ำท่วม เป็นสำคัญเป็นปัญหาที่ทุกหน่วยงานต้องเฝ้าระวังกันเป็นพิเศษ เพราะแม้มีคติความเชื่อที่ว่า น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง แต่หากท่วมหนักและท่วมนาน ความเสียหายเดือดร้อนของประชาชนทวีมากขึ้นเช่นกัน

ปริมาณน้ำฤดูฝนปี 2561 มากกว่าปีก่อนๆ สังเกตได้จากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่ 35 แห่ง ซึ่งเป็นตัวแทนของสถานการณ์น้ำของประเทศก็ว่าได้ 55,000 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 78% ของความจุรวม

เขื่อนขนาดใหญ่บางแห่งมีปริมาณน้ำไหลเข้ามากักเก็บเกิน 100% หรือใกล้เคียง 100% เช่น เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร เขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เขื่อนวชิราลงกรณ และเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรีทั้งคู่ เขื่อนกิ่วคอหมา จ.ลำปาง เขื่อนนฤบินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก เขื่อนคลองสียัด จ.ฉะเชิงเทรา และเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เป็นต้น

ตัวเลขปริมาณน้ำเห็นแล้วน่าชื่นใจ เป็นหลักประกันว่า น้ำต้นทุนของประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์ดีมาก การทำนาปรังก็ดี การปลูกพืชฤดูแล้งก็ดี หรือการใช้น้ำเพื่อบำรุงพืชเศรษฐกิจที่เป็นไม้ยืนต้นก็ดี เป็นเรื่องเบาใจได้มาก

การบริหารจัดการน้ำในภาวะปริมาณน้ำมากๆ เหล่านี้ กระทำกันอย่างไร?

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนสูง โดย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแล สทนช. ให้นโยบายว่า การบริหารจัดการน้ำในเขื่อน ไม่มองเฉพาะเป้าหมายของเขื่อนที่ต้องเก็บน้ำอย่างเดียว หรือเร่งระบายน้ำออก เพราะกลัวน้ำล้นเขื่อน ทำให้เขื่อนไม่ปลอดภัย

แต่การบริหารจัดการน้ำในเขื่อน ไม่ว่าการกักเก็บน้ำ การระบายน้ำ การหน่วงน้ำ ต้องไหลเลื่อน (dynamic) ตามหลักวิชาการ และยังต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชน ต่อพื้นที่อื่น ทั้งในปัจจุบันและอนาคตด้วย

“ปีนี้จะเห็นได้ว่า เราหน่วงน้ำในเขื่อนที่มีน้ำมากๆ กันเป็นเวลานานกว่าปกติ เพราะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อพื้นที่และประชาชนท้ายน้ำให้น้อยที่สุด โดยที่เขื่อนเองมีความแข็งแรงพอที่จะรองรับได้”

เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า สิ่งสำคัญในการบริหารจัดการน้ำคือการใช้ประโยชน์จากการคาดการณ์ฝน วิเคราะห์น้ำท่าในแต่ละพื้นที่และแต่ละห้วงเวลา ทั้งในระยะสั้น 3 วัน แม่นยำสูง 10 วัน แม่นยำปานกลาง ระยะกลาง แนวโน้ม 1-2 เดือน และระยะยาว 1-2 ปี มาประกอบการวิเคราะห์

“สถิติอย่างเดียวในปัจจุบันไม่เพียงพอแล้ว เพราะสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก จึงต้องอาศัยปัจจัยอย่างอื่นด้วย”

เลขาธิการ สทนช. ยังกล่าวด้วยว่า นโยบายของ พล.อ.ฉัตรชัย ควบคู่ไปกับการลดผลกระทบให้น้อยที่สุดคือ พื้นที่ใดที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วม ต้องเร่งฟื้นฟูให้กลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว เพราะเป็นความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันเช่นเดียวกับเรื่องข้อมูลน้ำ

ดร.สมเกียรติกล่าวว่า ปี 2561 นี้ แม้น้ำฝนดูจะมาก แต่ต้องไม่ลืมว่ามีบางพื้นที่มีปริมาณฝนน้อย มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำไม่ถึง 30% เช่น เขื่อนแม่มอก จ.ลำปาง เขื่อนทับเสลา จ.อุทัยธานี หรือที่มีปริมาณน้ำไม่ถึง 60% เช่น เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เขื่อนลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ เขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี เป็นต้น

“เขื่อนที่มีน้ำน้อยมากๆ คงต้องวางแผนทำฝนหลวงเพิ่มน้ำในเขื่อน โดยเฉพาะช่วงปลายฤดูฝนที่ยังมีโอกาสตรงที่ความชื้นยังพอมีอยู่และวางแผนงดทำการเกษตรฤดูแล้ง และมุ่งจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลักก่อน”

สภาพภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงจนแทบไม่มีเค้าเดิมเหลืออยู่ การบริหารจัดการน้ำปัจจุบันยิ่งต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการที่ละเอียดอ่อน ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ย่อมเป็นความท้าทายหน่วยงานกลางบริหารจัดการน้ำอย่าง สทนช. มากขึ้นเช่นกัน

จาก https://siamrath.co.th วันที่  27 กันยายน 2561

เสนอแยก พ.ร.บ.ควบคุมการใช้สารป้องกันและกำจัดศัตรูพืช ออกจาก พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ย้ำยังมีสารเคมีการเกษตรอีกหลายชนิดที่ต้องระวัง

 “หากไม่เป็นข่าว ก็แทบไม่มีใครตระหนักว่า ผักผลไม้และอาหารต่างๆ ที่เราบริโภคกันอยู่ทุกวันนี้ จะมีการปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตรที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมากน้อยเพียงใด” 

ปัจจุบัน กระแสคัดค้านการใช้สารเคมีทางการเกษตร ได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไปอย่างกว้างขวาง ผู้บริโภคส่วนหนึ่งได้หันมาเลือกซื้ออาหารออร์แกนิกหรืออาหารที่ผลิตจากระบบเกษตรอินทรีย์ เพราะเป็นห่วงเรื่องพิษภัยจากสารเคมีการเกษตรที่ตกค้างปนเปื้อนในผลผลิตอาหารที่ผลิตจากระบบเกษตรทั่วไป  ซึ่งไม่สามารถล้างออกได้ด้วยน้ำหรือทำลายด้วยความร้อนจากการหุงต้ม

ส่วนเกษตรกรก็ไม่ได้ตระหนักถึงการใช้สารเคมีการเกษตรอย่างถูกต้อง และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องก็ไม่สามารถกำกับและควบคุมการใช้สารเคมีของเกษตรกรได้ สารป้องกันและกำจัดศัตรูพืชหลายชนิดสามารถตกค้างในสิ่งแวดล้อมได้ยาวนาน ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อระบบนิเวศน์และห่วงโซ่อาหาร นอกจากนี้ยังมีหลักฐานงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศจำนวนมากบ่งชี้ว่าสารเคมีเหล่านี้เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคต่างๆ อาทิ มะเร็ง โรคเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ โรคเกี่ยวกับระบบประสาท และพัฒนาการสมองของเด็ก

แม้ว่าหน่วยงานราชการจะได้พยายามควบคุมการผลิตอาหารให้มีความปลอดภัย โดยการออกมาตรการต่างๆ แต่เนื่องจากการควบคุมตรวจตราที่ยังมีช่องโหว่ ทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารที่วางขายอยู่ทั่วไป ยังมีปัญหาการปนเปื้อนสารเคมีการเกษตรอยู่มาก ทั้งปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืช สารเร่งการเจริญเติบโต  โดยข้อมูลในปี 2560 พบว่าประเทศไทยมีการนำเข้าสารเคมีทั้งสามชนิดเพื่อใช้ในเกษตรกรรมรวมกันเฉลี่ยปีละกว่า 7 หมื่นตัน แบ่งเป็น พาราควอต กว่า 30,000 ตัน ไกลโฟเสต ประมาณ 35,000 ตัน และ คลอร์ไพริฟอส ประมาณ 2,000 ตัน

ที่ผ่านมา สารเคมีทั้ง 3 ชนิดนี้จัดอยู่ในกลุ่มสารเคมีประเภทที่ 3 ที่มีการจำกัดปริมาณการใช้ในระบบปิดและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรรม แต่สำหรับการเกษตรซึ่งเป็นระบบเปิด กลับมีการใช้สารเคมีเหล่านี้อย่างไม่จำกัด ทั้งยังไม่มีการควบคุมกำกับดูแลจากหน่วยงานใด  จึงมีความพยายามให้แก้ไขบัญชีสารเคมีนี้ จากเดิมที่เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 3 ให้เป็นประเภทที่ 4 ที่ห้ามมิให้มีการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง พร้อมทั้งควบคุมห้ามไม่ให้ประกอบกิจการใดๆ เพราะสารดังกล่าวอาจตกค้างและก่อให้ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ  กล่าวว่า จากการติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติประกอบกับการวิเคราะห์โดยเครือข่ายเตือนภัยสารป้องกันและกำจัดศัตรูพืชและนักวิชาการที่ติดตามปัญหาดังกล่าวพบว่า ตามที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 “ไม่ยกเลิก” การใช้และนำเข้าสารเคมีทางการเกษตร 3 รายการ ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต นั้น มติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ออกมา ถือว่าไม่สอดคล้องกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ในเรื่องเกษตรและอาหารปลอดภัย รวมถึงหลักการ “ทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ” (Health in All Policies : HiAP) ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จึงจะขับเคลื่อนให้ยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชที่เป็นอันตรายต่อไป โดยเฉพาะพาราควอต ที่ขณะนี้กว่า 50 ประเทศไม่อนุญาตให้ใช้แล้ว

โดย สช. จะขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะและสนับสนุนให้ ลด ละ เลิก การใช้พาราควอต รวมถึงสารเคมีทางการเกษตรอื่นๆ ผ่านสมัชชาสุขภาพจังหวัดและเครือข่าย ซึ่งขณะนี้มีวาระจังหวัด สอดคล้องกับแนวทางเกษตรและอาหารปลอดภัย อาทิ 20 จังหวัดภาคอีสาน เช่น หนองบัวลำภู ยโสธร อำนาจเจริญ รวมถึงจังหวัดในภาคอื่นๆ อาทิ ฉะเชิงเทรา สตูล กำแพงเพชร เป็นต้น พร้อมผลักดันธรรมนูญสุขภาพระดับพื้นที่ซึ่งได้รับการตอบสนองจากผู้ว่าราชการจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างดี

“เราคงต้องหันกลับมาสู่แนวทางการจัดการตนเองเพื่อป้องกันผลกระทบจากนโยบายสารเคมีเกษตร เช่น รณรงค์ขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ ขณะที่ผู้บริโภคต้องเลือกซื้อสินค้าที่ปลอดภัยและมีคุณภาพเอง สุดท้ายสังคมอาจเรียกร้องให้หน่วยงานที่มีอำนาจเปลี่ยนแปลงมติและรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคต”

จากข้อมูลการขึ้นทะเบียนการนำเข้า และการรายงานชนิดสารป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่ตกค้างในผักผลไม้ทั้งในประเทศและส่งออก พบรายชื่อวัตถุอันตรายทางการเกษตรกว่า 400 ชนิด และเป็นสารป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่อันตรายร้ายแรง 155 ชนิด  ดังนั้น สช.และภาคีที่ร่วมขับเคลื่อนมติเกษตรและอาหารปลอดภัยจึงเห็นสมควรที่จะให้มี พระราชบัญญัติว่าด้วยความปลอดภัยจากการใช้สารป้องกันและกำจัดศัตรูพืช ขึ้นเป็นการเฉพาะ โดยแยกต่างหากจาก พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย เพื่อให้การควบคุมสารป้องกันและกำจัดศัตรูพืชเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร และผู้ใช้สารป้องกันและกำจัดศัตรูพืชทางการเกษตรอื่นๆ รวมถึงผู้บริโภคให้ได้บริโภคอาหารและอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย ตลอดจนเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของประเทศ โดยกำหนดหลักเกณฑ์จำเพาะเจาะจงถึงการควบคุม และกำกับดูแลการใช้สารป้องกันและกำจัดศัตรูพืชทางการเกษตรแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่  27 กันยายน 2561

กลุ่ม KTIS เผย ลดต้นทุนผลิต "ก๊าซชีวภาพ" จากน้ำเสีย 48 ล้านต่อปี

กลุ่ม KTIS เดินหน้าเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย ลดต้นทุนปีละ 48 ล้านบาท

กลุ่ม KTIS ชี้โครงการผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียของโรงงานผลิตเอทานอล ซึ่งได้รับรางวัล Thailand Energy Awards 2018 มีผลดีทั้งต่อผลการดำเนินงานบริษัทและต่อสิ่งแวดล้อม เผย ช่วยลดต้นทุนของโรงงานเอทานอลได้มากกว่า 48 ล้านบาทต่อปี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ปีละ 60,000 T Co2equivalent สอดคล้องกับนโยบายการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ลดของเสียเป็นศูนย์ ช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ กลุ่ม KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริษัทและคณะผู้บริหารกลุ่ม KTIS ตระหนักดีถึงความสำคัญในการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ โดยไม่ได้พึ่งพารายได้จากการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายเท่านั้น แต่ยังมีธุรกิจต่อเนื่อง อย่าง การผลิตเอทานอล เยื่อกระดาษชานอ้อย บรรจุภัณฑ์ชานอ้อย โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล และก๊าซชีวภาพอีกด้วย อันเป็นที่มาของคำว่า KTIS More Than Sugar ซึ่งได้ออกแบบกระบวนการผลิตให้สามารถใช้ทรัพยากรในกลุ่มร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และลดของเสียเป็นศูนย์ (Zero Waste) เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี

นอกจากนี้ กลุ่ม KTIS ยังมีการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมและลดต้นทุนการผลิตในทุก ๆ สายธุรกิจให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ตามนโยบายที่ต้องการให้กลุ่ม KTIS เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยสายธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอล ซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท เคทิส ไบโอเอทานอล จำกัด เป็นตัวอย่างหนึ่งของการนำของเสียมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และยังช่วยทำให้บริษัทมีผลกำไรเพิ่มขึ้นด้วย

บริษัท เคทิส ไบโอเอทานอล ได้จัดทำโครงการผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย โดยนำน้ำเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตเอทานอลมาผลิตก๊าซชีวภาพที่สามารถนำไปผลิตไอน้ำและไฟฟ้า เพื่อเป็นพลังงานในกระบวนการผลิตเอทานอลในรูปแบบพลังงานความร้อนร่วม ซึ่งนอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการน้ำเสียแล้ว การใช้ก๊าซชีวภาพทดแทนถ่านหินในการผลิตพลังงานไอน้ำและไฟฟ้ายังช่วยลดต้นทุนการผลิตเอทานอลได้อย่างมากด้วย

"โครงการผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียนี้ ได้รับรางวัล Thailand Energy Awards 2018 ประเภทรางวัลดีเด่นด้านพลังงานทดแทน จากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ด้วยมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 117 ล้านบาท สามารถลดต้นทุนได้มากกว่า 48 ล้านบาทต่อปี ดังนั้น เพียง 2 ปีเศษ ก็คืนทุนแล้ว ถือว่าคุ้มค่ามาก และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณปีละ 60,000 T Co2 equivalent ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมโลกด้วย" นายประพันธ์ กล่าว

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 26  กันยายน  2561

รัฐสภา 25 ก.ย.- ยื่นสนช. ขอชะลอพิจารณาร่างกฎหมายอ้อยและน้ำตาล

นายพงศ์กิตติ์ อรุณภักดีสกุล ที่ปรึกษาด้านการเมือง การปกครอง และการบริหารจัดการ รับหนังสือจากนายปารเมศ โพธารากุล พร้อมคณะที่ยื่นขอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ชะลอการพิจารณาร่างพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ เพราะเห็นว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะทำให้องค์กรชาวไร่อ้อยเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และอาจนำมาซึ่งความแตกแยก ขาดความเป็นเอกภาพยากต่อการบริหารจัดการ และง่ายต่อการแทรกแซงของกลุ่มโรงงานน้ำตาล ซึ่งจะทำให้ตัวแทนชาวไร่อ้อยไม่มีอิสระในการทำหน้าที่แทนชาวไร่อ้อย รวมถึงยังสร้างความไม่เท่าเทียมกันขององค์กรเกษตรชาวไร่อ้อย เนื่องจากวัตถุประสงค์การจัดตั้งองค์กรชาวไร่อ้อย เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้แทนและรักษาผลประโยชน์เกษตรกรชาวไร่อ้อยเท่านั้น

นายพงศ์กิตติ์ กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ให้อภิสิทธิ์องค์กรใดองค์กรหนึ่งเป็นกรณีพิเศษทั้งที่มีวัตถุประสงค์เดียวกันถือว่าเป็นการสร้างกฎหมายที่ขัดกับหลักความเสมอภาคในอาชีพเดียวกัน จึงขอให้สนช. ชะลอการพิจารณา จนกว่าร่างพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ที่เสนอโดยภาคประชาชนจะได้รับการบรรจุระเบียบวาระ ทั้งนี้นายพงศ์กิตติ์ รับเรื่องไว้และจะส่งให้กรรมาธิการพิจารณารายละเอียดอีกครั้ง

จาก https://www.tnamcot.com วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2561

เปิดเวทีรับฟังความเห็น ปรับปรุงงานบริหารจัดการภาคเกษตรพาคนไทยพ้นยากจน

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯกำลังปรับปรุงการบริหารจัดการภาคเกษตร เพื่อให้เกษตรกรไทยพ้นจากความยากลำบากในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมหรือมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเหมือนกับผู้ประกอบอาชีพอื่นๆ ซึ่งการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงงานภาคการเกษตรตามโครงการและแผนงานหลายอย่างที่กำลังดำเนินการในช่วงนี้ จะเป็นไปตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดไว้

นายกฤษฎา กล่าวต่อไปว่า ยินดีรับฟังข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะ ทั้งที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรฯ และจะนำไปปรับปรุงแก้ไขเพื่อประโยชน์ของเกษตรกรเป็นที่ตั้ง อาทิ การแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ การแก้ไขปัญหาราคายางพาราไม่มีเสถียรภาพ โครงการเสนอทางเลือกให้ชาวนาปรับเปลี่ยนการทำนาในพื้นที่ไม่เหมาะสมมาปลูกพืชอาหารสัตว์หรือพืช ผักหรือพืชตระกูลถั่ว เป็นต้น โดยจะจัดหาภาคเอกชนมารับซื้อ ซึ่งเอกชนทุกรายที่เข้าร่วมโครงการจะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธะสัญญา พ.ศ.2560 อย่างเคร่งครัด ภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่เกษตร ขณะเดียวกันกระทรวงเกษตรฯ จะไม่กระทำการให้มีข้อผูกพันกับเอกชนรายใดรายหนึ่งเพียงรายเดียวเป็นอันขาด

ทั้งนี้ ได้เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนทุกรายที่สนใจเข้าร่วมโครงการสนับสนุนการปลูกพืชต่างๆ แทนการทำนาในพื้นที่ไม่เหมาะสม สามารถติดต่อกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ผ่านกรมส่งเสริมการเกษตรหรือกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้โดยตรง สำหรับในระดับจังหวัดก็สามารถติดต่อกับสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ซึ่งเป็นเลขานุการคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัด (อ.พ.ก.) ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานได้ นอกจากนี้ ยังสามารถติดต่อผ่านสำนักเกษตรจังหวัดหรือสำนักสหกรณ์จังหวัดได้ทุกจังหวัด ในการสมัครเข้าร่วมโครงการสนับสนุนให้ปลูกพืชอื่นๆ แทนการทำนาในพื้นที่ไม่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ จะเดินหน้าขับเคลื่อนงานต่างๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือเพื่อให้เกษตรกรไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบอีกต่อไป

จาก https://www.naewna.com วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2561

ศาสตร์พระราชา+ดัตช์โมเดล ผสมผสาน...จัดการน้ำไทย

“นอกจากเป็นการกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตที่มีมาอย่างยาวนาน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการน้ำในระดับนโยบายแล้ว ยังเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรมการบริหารจัดการน้ำจากประเทศต้นแบบที่มีความเชี่ยวชาญในระบบการจัดการป้องกันน้ำท่วมที่โดดเด่นและได้มาตรฐาน จะก่อให้เกิดการพัฒนาไปสู่ความร่วมมือด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนแบบครบวงจร โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้สภาวะการเปลี่ยนของสภาพภูมิอากาศที่มีความไม่แน่นอน”

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเดินทางไปเยือนเนเธอร์แลนด์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ตามคำเชิญของเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย

ด้วยระบบการบริหารจัดการน้ำของเนเธอร์แลนด์มีข้อโดดเด่นในเรื่องมีศูนย์ติดตามประมวลและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำเพื่อการบริหารจัดการอุทกภัยและภัยแล้งที่มีระบบที่มีระบบการติดตามพยากรณ์ได้แม่นยำเป็นรายชั่วโมง สามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบ้านเราได้

นอกจากนั้นยังมีระบบบริหารจัดการน้ำในแบบที่ให้ทุกภาคส่วน ภาครัฐ เอกชน และประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหาร ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สอดคล้องกับประเทศไทยที่รัฐบาลมีการปรับโครงสร้างบริหารการจัดการน้ำใหม่ จัดตั้ง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ขึ้นมาเป็นหน่วยงานเชิงนโยบาย บูรณาการวางแผนดำเนินโครงการต่างๆของทุกหน่วยงานด้านน้ำอย่างเป็นระบบ ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน เปิดโอกาสให้ประชาชนในระดับลุ่มน้ำเข้ามามีส่วนร่วม มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ และมีการตั้งคณะกรรมการแบบรวมศูนย์การบริหาร จัดการน้ำในภาวะวิกฤติ

ด้าน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า แม้เนเธอร์แลนด์จะเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีชั้นสูง มีเครื่องไม้เครื่องมือที่ช่วยให้การบริหารจัดการน้ำได้ดีก็ตาม แต่เครื่องไม้เครื่องมือบางอย่างอาจจะนำมาใช้กับบ้านเราไม่ได้ นอกจากจะมีปัญหาในเรื่องลักษณะกายภาพทางภูมิศาสตร์จะไม่เหมือนกัน ลักษณะนิสัยความมีระเบียบวินัย การเคารพกฎหมายของคนยังแตกต่างกัน

“แต่กระนั้นบ้านเรายังมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ดีอีกอย่าง นั่นคือ ศาสตร์พระราชา นำพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำทำเป็นแก้มลิงเก็บกักน้ำตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เพื่อบรรเทาน้ำท่วมในภาคกลาง ปรากฏว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจอย่างเห็นได้ชัดเจน

”ดร.สมเกียรติ มองว่าต่อไปถ้าเราสามารถนำ “ศาสตร์พระราชา” มาใช้ร่วมกับ “นวัตกรรมการบริหารจัดการน้ำแบบดัตช์โมเดล” ได้อย่างกลมกลืน...ต่อไปเมืองไทยอาจได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่มีการบริหารจัดการน้ำแบบต้นทุนต่ำ ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลกก็เป็นได้.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2561

การเข้าร่วมCPTPPกับผลได้-เสียของประเทศไทย

ความตกลง CPTPP หรือ Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมกว้างทั้งเรื่องการเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายนักธุรกิจชั่วคราว การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้า อาทิ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายการแข่งขัน แรงงาน และสิ่งแวดล้อม โดยมีสมาชิกทั้งหมด 11 ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู เม็กซิโก ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ซึ่งที่ผ่านมาสมาชิก CPTPP ได้ลงนามความตกลงฯ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 ณ เมืองซานติอาโก ประเทศชิลี ปัจจุบัน สมาชิกอยู่ระหว่างดำเนินกระบวนการภายในเพื่อให้สัตยาบันความตกลงฯ และคาดว่า CPTPP จะมีผลใช้บังคับประมาณต้นปี 2562 และหลังจากนั้นจะเปิดรับสมาชิกใหม่

ทั้งนี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศอยู่ระหว่างการศึกษาผลได้-เสียจากการเข้าร่วม และพบว่ายังมีความกังวลต่อประเด็นสำคัญ อาทิ การมีผลบังคับใช้ในบางประเด็นข้อบทที่มีความอ่อนไหว ความน่าเชื่อถือของผลการศึกษาที่ใช้ในการอ้างอิงการตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP การเปิดตลาดสินค้าประเภท Modern Biotechnology การนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องมือแพทย์มือสอง การห้ามเจรจาต่อรองราคายา การคุ้มครองสิทธิบัตรซึ่งมีเงื่อนไขที่เกินกว่าความตกลง Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights (TRIPS) ภายใต้องค์กรการค้าโลก การเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญา International Convention for the Protection of New Varieties of Plants (UPOV) 1991 และ Budapest Treaty on the International Recognition of the Deposit of Microorganisms for the Purpose of Patent Procedure ซึ่งส่งผลกระทบทางลบต่อเกษตรกรไทยโดยเฉพาะที่อยู่ภายใต้อำนาจผูกขาดของบริษัทผู้ปรับปรุงพันธุ์พืช ในประเด็นของสิทธิในการเก็บเมล็ดพันธุ์ และสิทธิในพันธุ์พืชที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย การเปิดตลาดสินค้าเกษตรและผลกระทบต่อเกษตรกร การเปิดตลาดสินค้าที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ การเข้าร่วม CPTPP กับความสำคัญของการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้า เป็นต้น ซึ่งจะเกิดผลกระทบในเชิงลบต่อผู้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพตํ่าหรือไม่ได้มาตรฐาน

อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ของประเทศไทยจากการเข้าร่วม CPTPP ก็มีมากมาย โดยเฉพาะประเด็นทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของไทยเพิ่มขึ้นอีก 3.6% จากปริมาณการค้าระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นทั้งสินค้าที่มีการลดภาษีและกลุ่มของสินค้าอ่อนไหวที่ไม่มีการลดภาษี รวมถึงผู้ประกอบการไทยสามารถขยายตลาดในการลงทุนในประเทศสมาชิกอื่น การยกระดับมาตรฐานกฎหมายภายในประเทศ แต่หากประเทศไทยไม่เข้าร่วม CPTPP จะทำให้นักลงทุนจากกลุ่มประเทศสมาชิกหรือมีตลาดเป้าหมายในกลุ่มสมาชิก CPTPP ย้ายฐานการผลิตออกไปยังกลุ่มประเทศสมาชิกอื่น เพราะไม่ได้รับสิทธิจากกฎแหล่งกำเนิดสินค้า ซึ่งคาดการณ์ว่าการที่ประเทศไทยตัดสินใจไม่เข้าร่วม CPTPP จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศลดลงร้อยละ 0.6 ซึ่งถือว่าเป็นการถดถอยทางด้านเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ และจะก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างต่อประชาชนในประเทศเช่นเดียวกัน จึงเป็นโจทย์สำคัญสำหรับระดับนโยบายที่ต้องกำหนดทิศทางและมาตรการบรรเทาปัญหาสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งในกรณีที่เข้าร่วมและไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP แต่สำหรับผู้ประกอบการภาคเอกชน ไปจนถึงเกษตรกรและประชาชนที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ไม่ว่าประเทศไทยจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกหรือไม่

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2561

ลดแรงจูงใจเกษตรกร! กษ.หนุนห้ามโฆษณาสารกำจัดศัตรูพืชอันตราย เหมือนเหล้า-บุหรี่

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงข้อเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ว่า เราพร้อมปฏิบัติตามกฎหมาย ที่สามารถใช้สารเคมีได้ เพราะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย จนเมื่อคณะกรรมการฯให้ทำแผนจำกัดการใช้ จึงได้จัดทำแผนตามมติดังกล่าว โดยทำตามขั้นตอนกฎหมายทุกประการ

ทั้งนี้ ยืนยันว่ากระทรวงเกษตรฯ จะมีมาตรการจำกัดการใช้ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการจำกัดการโฆษก การทำการตลาด ตามข้อเสนอของภาคประชาชน โดยจะพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง ว่าสามารถทำได้ในระดับใด จะห้ามโฆษกตามร้านค้า เหมือนเหล้า - บุหรี่ได้หรือไม่ เบื้องต้น กระทรวงเกษตรฯ ได้เสนอมาตรการจัดอบรมทั้งผู้ค้าและเกษตรกร พร้อมรณรงค์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ และเห็นด้วยในมาตรการควบคุมการโฆษณา เพื่อลดแรงจูงใจของเกษตรกร

จาก https://www.naewna.com   วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2561

ผวาถูกควํ่าร่างฯกลางสภา เลื่อนชี้ชะตาพ.ร.บ.นํ้า

กมธ.วิปฯ เซ็ง “สนช.” สั่งเลื่อนร่าง พ.ร.บ.นํ้า เข้าวาระ 2-3 ออกไปโดยไม่มีกำหนด อ้างขอปรึกษา “ประยุทธ์” ก่อน ผวาถูกตีตกกลางสภา “หาญณรงค์” ชี้หากไม่ผ่าน “สทนช.”เคว้งแน่จากไม่มีกฎหมายรองรับ

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ  กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรนํ้า พ.ศ. .... เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากเดิมนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีคำสั่งนัดสมาชิก สนช.ประชุม ครั้งที่ 61/2561 ในวันที่ 21 กันยายน 2561 ที่อาคารรัฐสภา มีวาระสำคัญด่วนคือ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรนํ้า พ.ศ. …. ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ล่าสุดได้รับแจ้งว่าเลื่อนออกไปโดยยังไม่ได้กำหนดวันพิจารณาใหม่

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ สำนักงาน ทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ (สทนช.) ที่ถูกจัดตั้งขึ้นตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี มีวัตถุประสงค์เป็นหน่วยงานทำหน้าที่เฉพาะด้านนโยบายการบริหารจัดการนํ้าของประเทศนั้น ได้โอนพนักงานข้าราชการกรมชลประทาน และกรมทรัพยากรนํ้าเข้ามาสังกัดล้วนแล้วแต่ใช้คำสั่งพิเศษ ดังนั้นหากยังไม่มีกฎหมายรองรับ หรือหากมีการปลดล็อก ม.44 ประมาณปลายปีนี้ การบริหารการปฏิรูปนํ้าของประเทศจะไม่เกิดขึ้น และจะกลับไปสู่จุดเดิมคือ แต่ละหน่วยงานก็ต่างบริหารกันไป

ขณะเดียวกันมีกฎหมายลำดับรองที่ สทนช.จะต้องไปออกมี 27 ฉบับ  อาทิ พระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มนํ้าและกฎกระทรวง อาทิ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกกรรมการลุ่มนํ้าใน คณะกรรมการทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ (กนช.) และกรรมการลุ่มนํ้าผู้แทนองค์กรผู้ใช้นํ้า หลักเกณฑ์ ขั้นตอน และวิธีการก่อตั้งองค์กรผู้ใช้นํ้า อัตราค่าใช้นํ้าสำหรับการใช้นํ้าประเภทที่ 2 และ 3 และเงื่อนไขการเรียกเก็บ ลดหย่อน หรือยกเว้นค่าใช้นํ้า เป็นต้น ทั้งนี้ สทนช.จะเป็นไปอย่างไร คงต้องติดตามต่อไป

“เหตุที่เลื่อนการประชุมครั้งนี้ เนื่องจากประธานสนช. อยากจะปรึกษาท่านนายกรัฐมนตรีก่อน  เพื่อให้รอบคอบ เพราะร่าง พ.ร.บ.มีความสุ่มเสี่ยงที่จะผ่านหรือถูกควํ่ากลางสภาในคราวเดียวกัน ทำให้มีความกังวล”

สอดคล้องกับ นายสุรจิตชิรเวทย์ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรนํ้าพ.ศ..... กล่าว หากมีการพิจารณา ตามขั้นตอนเมื่อเปิดประชุมในสภา ร่างกฎหมายนี้จะเข้าสู่วาระ 2 คือ การพิจารณาเรียงตามมาตรา จะมีการอภิปรายใหสมาชิกเห็นชอบ หรือปรับแก้ไข สามารถลุกขึ้นอภิปรายได้ทั้งหมด หลังจากนั้นจะเข้าสู่วาระที่ 3 ทันที ซึ่งจะเป็นการชี้ชะตาว่าร่างกฎหมายจะผ่านหรือถูกควํ่า

“หลายฝ่ายยังมีความกังวลเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรนํ้าสาธารณะ ประเภทที่ 2 เพื่อการเกษตร หรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อพาณิชย์ การอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวและกิจการอื่น ส่วนกลุ่มนํ้าประเภทที่ 3 ได้แก่ การใช้ทรัพยากรนํ้าสาธารณะเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้นํ้าปริมาณมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มนํ้า หลังกฎหมายประกาศใช้แล้ว 120 วัน จะผ่อนปรนการเก็บค่านํ้า 2 ปี แล้วให้ไปรับฟังความคิดเห็นในแต่ละลุ่มนํ้าก่อน”

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2561

คาดยอดใช้สิทธิ FTA และ GSP ปี 61 โตร้อยละ 10

พาณิชย์เผยยอดใช้สิทธิ FTA และ GSP 7 เดือนแรกโตร้อยละ 19 คาดทั้งปี 61 โตเกินเป้าไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP)  โดยในช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.) มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ รวมอยู่ที่ 42,704.20 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ อยู่ที่ร้อยละ 84.07 ขยายตัวจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 18.95 แบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA 39,972.02 ล้านเหรียญสหรัฐ และมูลค่าการส่งออกภายใต้ GSP 2,732.18 ล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไทยจัดทำความตกลง FTA ทั้งสิ้น 12 ฉบับ และมีการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง FTA คิดเป็นมูลค่าเท่ากับ 39,972.02 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 75.36 ของมูลค่าการส่งออกรวมภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไปยังประเทศคู่ภาคีความตกลง เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 19.54 โดยตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อาเซียน มูลค่า 15,109.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จีน มูลค่า 10,148.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ออสเตรเลีย มูลค่า 5,429.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ญี่ปุ่น มูลค่า 4,318.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอินเดีย มูลค่า 2,563.34 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวของมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ พบว่าทุกตลาดขยายตัวเพิ่มขึ้น ยกเว้นตลาดนิวซีแลนด์ที่มีอัตราการขยายตัวเป็นลบ โดยตลาดที่มีอัตราการขยายตัวสูงสุด คือ เปรู ซึ่งมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 53.05 รองลงมา คือ จีนและอินเดีย ซึ่งมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 31.24 และ 24.84 ตามลำดับ สำหรับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ไทย-ชิลี ร้อยละ 102.30  ไทย-ออสเตรเลีย ร้อยละ 94.10 อาเซียน-จีน ร้อยละ 90.54  ไทย-ญี่ปุ่น ร้อยละ 88.66. และอาเซียน-เกาหลี ร้อยละ 88.55 และรายการสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์บรรทุก ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ทุเรียน น้ำตาลจากอ้อย และมันสำปะหลัง

สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ในช่วง 7 เดือนแรกของปี พบว่าไทยใช้สิทธิส่งออกมูลค่าสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เวียดนาม 4,250.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อินโดนีเซีย 3,927.31 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และฟิลิปปินส์ 3,175.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ยังคงต้องจับตาตลาดเวียดนามซึ่งเป็นตลาดที่มีการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงร้อยละ 85.68 และเป็นตลาดที่มีศักยภาพที่เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการในแง่การส่งออกและการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสินค้าผลไม้ อาหารแปรรูป และเครื่องใช้ไฟฟ้า

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP 5 ประเทศ ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราชนอร์เวย์ และญี่ปุ่น โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2561 (ม.ค.-ก.ค.) มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP เท่ากับ 2,732.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การใช้สิทธิร้อยละ 59.22 ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP ขยายตัวร้อยละ 2.80 โดยการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP สหรัฐอเมริกายังคงมีสัดส่วนการใช้สิทธิมากที่สุด คือ ประมาณร้อยละ 96 ของมูลค่าการใช้สิทธิ GSP ทั้งหมด ซึ่งในช่วง 7 เดือนแรกของปี มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP สหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 2,478.50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีอัตราการใช้สิทธิร้อยละ 68.32 ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP ซึ่งมีมูลค่า 3,627.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมาร้อยละ 4.53 สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ระบบ GSP สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ เครื่องดื่มอื่น ๆ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง และรถจักรยานยนต์

อย่างไรก็ตาม กรมการค้าต่างประเทศตั้งเป้าหมายมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ตลอดปี 2561 ไว้ที่ร้อยละ 9 คิดเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ประมาณ 70,794 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 60.3 ของเป้าหมายมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ และเมื่อพิจารณาถึงมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีความชัดเจนมากขึ้น และผลจากการปรับปรุงระบบการให้บริการ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าที่สะดวกรวดเร็ว ลดขั้นตอนและค่าใช้จ่าย รวมถึงการจัดกิจกรรมสัมมนาเผยแพร่ความรู้และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงสิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีต่าง ๆ กรมฯ จึงมั่นใจว่ามูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และมีความเป็นไปได้ที่จะขยายตัวมากกว่าร้อยละ 10 ตลอดทั้งปี

จาก https://www.tnamcot.com วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2561

'กฤษฎา'สั่งกรมชลฯปรับแผนระบายน้ำ รับมือภัยแล้งพื้นที่เสี่ยง'เหนือ-อีสาน'

กฤษฎา บุญราช รมว.เกษตร ทองเปลว กองจันทร์ กรมชลประทาน ระบายน้ำ ภัยแล้ง พื้นที่เสี่ยง เหนือ อีสาน เขื่อน ฤดูแล้ง ฝนหลวง

"กฤษฎา"สั่งกรมชลฯปรับแผนระบายน้ำ รับมือภัยแล้งพื้นที่เสี่ยง"เหนือ-อีสาน" ชี้เขื่อน427แห่งเตรียมเก็บกักน้ำไว้ใช้ตลอดฤดูแล้ง เผยขณะนี้มีเขื่อนที่มีน้ำน้อยกว่า30%ถึง34แห่ง เร่งประสาน"ฝนหลวง"ขึ้นทำฝนเติมน้ำ

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้กรมชลประทานปรับแผนการระบายน้ำ เพื่อเตรียมเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ตั้งแต่เดือน พ.ย.เป็นต้นไป โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำให้มีการปฏิบัติการฝนหลวงอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายทำฝนให้ตกลงสู่อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 60% ของความจุอ่าง ซึ่งกรมชลประทาน และกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ทำงานร่วมกันมาตลอด ภายใต้โครงการความร่วมมือปฏิบัติการเพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นให้กับพื้นที่การเกษตร และเพิ่มปริมาณน้ำที่จะไหลลงอ่างเก็บน้ำ และยังเป็นการเพิ่มปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้อุปโภค - บริโภค พร้อมวางแผนปรับเปลี่ยนการปลูกพืชฤดูแล้งนี้ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ทราบสถานการณ์น้ำ

ส่วนเขื่อนขนาดใหญ่ที่ยังมีปริมาณน้ำเกินเกณฑ์ สามารถระบายน้ำขั้นต่ำสุดได้ตามความเหมาะสมกับพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ และใช้พื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่งลุ่มเจ้าพระยา ให้เริ่มทยอยรับน้ำเข้าทุ่ง เพื่อให้มีพื้นที่รองรับน้ำจากฝนที่อาจตกชุกในบางพื้นที่ โดยพิจารณาตามเกณฑ์ที่เหมาะสมให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำที่มีอยู่และปริมาณน้ำที่เกิดจากฝน

นายทองเปลว กล่าวว่า ตนสั่งให้ตรวจสอบสถานการณ์ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลาง ของกรมชลประทาน 427 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 25 แห่ง และขนาดกลาง 412 แห่ง พบว่ามีอ่างเก็บน้ำที่ปริมาณน้ำน้อยกว่า 60% จำนวน 138 แห่ง แบ่งเป็น อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 10 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 128 แห่ง แต่ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ซึ่งมี 34 แห่ง แบ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่มอก จ.ลำปาง 27% และอ่างเก็บน้ำทับเสลา จ.สุพรรณบุรี มีน้ำ 26% ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 32 แห่ง ได้แก่ ภาคเหนือ 3 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 21 แห่ง ภาคตะวันออก 3 แห่ง ภาคกลาง 1 แห่ง และภาคใต้ 4 แห่ง

"ขณะนี้เป็นช่วงปลายฤดูฝน ซึ่งจะสิ้นสุดประมาณเดือน ต.ค.การส่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และทำการเกษตร ยังคงดำเนินการตามแผนบริหารจัดการน้ำที่วางไว้ แต่หลังจากกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศสิ้นสุดฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการแล้ว จะทบทวนปริมาณน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศอีกครั้ง เพื่อพิจารณาแผนการบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสมสำหรับหน้าแล้ง รวมถึงที่ต้องสำรองไว้จนถึงต้นฤดูกาลเพาะปลูกหน้าต่อไป" นายทองเปลว กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2561

"เกษตรคือประเทศไทย"ผนึก3หน่วยงานส่งสารผ่านสื่อสู่เกษตรกร

                 กรมส่งเสริมการเกษตร ผนึกสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(สถานีวิทยุ ม.ก.) และสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย(สกท.) ลงนามบันทึกความเข้าใจ(เอ็มโอยู) เพื่อสร้างความร่วมมือในการถ่ายทอดองค์ความรู้และข้อมูลข่าวสารด้านการเกษตรให้เข้าถึงเกษตรกรผ่านสื่อของสถานีวิทยุ ม.ก. และสมาคมสื่อมวลชนเกษตรฯ ร่วมสร้างสรรค์องค์ความรู้ด้านการเกษตรในรูปแบบใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเผยแพร่ให้เข้าถึงเกษตรกรมากยิ่งขึ้น

             สมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวระหว่างร่วมพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจเรื่อง “ความร่วมมือด้านการเผยแพร่และพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการส่งเสริมการเกษตร” กับสถานีวิทยุ ม.ก. และ สกท. เมื่อวันที่ 24 กันยายน ที่ห้องประชุมกรมส่งเสริมการเกษตร โดยระบุว่า การลงนามครั้งนี้เพื่อประสานความร่วมมือด้านการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้เพื่อการส่งเสริมการเกษตร ผ่านเครือข่ายสื่อสารมวลชนและสื่ออื่นๆ ทุกประเภท โดยถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารที่ครอบคลุมการเกษตรทุกด้านที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเกษตรของประเทศ เกิดเป็นเครือข่ายเพื่อการส่งเสริมการเกษตรที่เข้มแข็ง

                “กรมส่งเสริมการเกษตรให้การสนับสนุนบุคลากรและทรัพยากรทั้งในส่วนกลางและพื้นที่ เพื่อนำข้อมูลด้านการส่งเสริมการเกษตรมาเผยแพร่ ข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้เพื่อการส่งเสริมการเกษตรผ่านเครือข่ายสื่อสารมวลชนและสื่ออื่นทุกประเภท ทำให้มีเครือข่ายสื่อเพื่อการส่งเสริมการเกษตรที่เข้มแข็ง มีความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรด้านสื่อสารมวลชน ด้านบูรณาการความรู้ ด้านวิชาการและด้านทักษะวิชาชีพ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรที่มีความรู้ความสามารถด้านสื่อสารมวลชน เข้าสู่ยุคสังคมสารสนเทศ”

                อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยต่อว่า นอกจากนี้ สถานีวิทยุ ม.ก. จะสนับสนุนบุคลากรและทรัพยากรในการเผยแพร่ข้อมูลผ่านทุกช่องทางที่ดำเนินการ รวมทั้งสนับสนุนความรู้ทางวิชาการสื่อสารมวลชนให้แก่เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร และ สกท.จะสนับสนุนบุคลากรและช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลด้านการส่งเสริมการเกษตรไปสู่สาธารณชน   “สถานีวิทยุม.ก.เป็นที่ยอมรับในแวดวงการเกษตรและมีความเชื่อมั่น ทั้ง 3 องค์กรจะทำหน้าที่ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง กรมส่งเสริมการเกษตรมีข้อมูลที่พร้อมจะเผยแพร่แต่สื่อและวิธีการสื่อจะออกไปในรูปแบบที่น่าเชื่อถือ ต้องมาจากสื่อมวลชนที่มองไกลกว่าและหลากหลายกว่า”

              สมชาย ยังกล่าวถึงการนำเสนอข้อมูลสู่เกษตรกรนั้นจะต้องมองในภาพรวมให้ครบทุกมิติ ทั้งในรายสาขาวิชา รวมทั้งฤดูกาลผลผลิตและปัญหาในแต่ละช่วงเวลาว่ามีอะไรที่น่าสนใจและเป็นปัญหาเร่งด่วนที่มีผลกระทบต่อเกษตรกรและประเทศชาติ ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรจะทำหน้าที่เป็นแหล่งข้อมูลในการนำมาเผยแพร่ว่าช่วงนี้มีประเด็นอะไรที่น่าสนใจบ้าง 

               “วันนี้สมมุติเราพบว่าประเทศเพื่อนบ้านมีการแพร่ระบาดโรคด่างในมันสำปะหลัง ประเทศไทยมีมันสำปะหลังไม่พอในบางปีเราต้องนำเข้า เราก็มีสื่อที่จะคอยเตือนและเฝ้าระวังเรื่องการนำเข้า สื่อมวลชนจะเข้าใจและสามารถตามประเด็นเหล่านี้ต่อได้  เพราะถ้าาเกิดขึ้นจะเสียหายกับประเทศไทยได้”

               อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ย้ำด้วยว่า สถานการณ์ด้านการเกษตรวันนี้ต่างจากเมื่อ 40 ปีที่แล้ว เกษตรกรจะต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ การทำการเกษตรแบบเดิมๆ ไม่มีการปรับเปลี่ยนวิธีการ ไม่มีการปรับเปลี่ยนการใช้เทคโนโลยี สิ่งเหล่านี้ต้องเปลี่ยน วันนี้โลกเปลี่ยน เราก็ต้องปรับ ถ้าไม่ปรับก็จะอยู่ไม่ได้ ส่วนความคาดหวังในการร่วมมือครั้งนี้ หลังจากที่ได้มีการวางแผน แนวทางปฏิบัติแล้ว หลังจากนี้ 3 เดือนจะมีการติดตามและประเมินผล ทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสารว่าประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน แน่นอนการทำอะไรครั้งเดียวไม่มีทางสำเร็จ เมื่อมีครั้งแรก ต้องมีครั้งต่อๆ ไป และจะต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ตลอดเวลา

             “ก่อนจะมีการลงนามในครั้งนี้ ทั้ง 3 หน่วยงานได้มีการวางแผนมาล่วงหน้าและมีการดำเนินการเบื้องต้นมาแล้ว ทำให้มั่นใจได้ว่า สุดท้ายจะเป็นการถ่ายทอด การนำสารข้อมูลที่ดีที่ถูกต้องสู่ประชาชน” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าวย้ำ

              ผศ.อนุพร สุวรรณวาจกกสิกิจ ผู้อำนวยการสถานีวิทยุ ม.ก. กล่าวถึงช่องทางการเผยแพร่ข่าวสารของสถานีวิทยุม.ก.ในปัจจุบันว่ามีทั้งระบบอนาล็อกผ่านระบบเอเอ็มที่มีศูนย์ข่ายในทุกภูมิภาค ภาคเหนือที่ จ.เชียงใหม่ ภาคอีสานที่ขอนแก่น และภาคใต้ที่สงขลา โดยมีแม่ข่ายอยู่ที่บางเขน ซึ่งเป็นระบบที่ดำเนินการมากว่า 57 ปีแล้วตั้งแต่เริ่มสถานี ต่อมาปี 2540 สถานีได้พัฒนาการส่งสัญญาณผ่านอินเทอร์เน็ตรายแรกของประเทศ กระทั่งปัจจุบันได้มีการพัฒนาเครือข่ายเพิ่มขึ้นทั้งระบอนาล็อกและดิจิทัล โดยระบบอนาล็อกก็ยังคงมีทั้ง 4 ภูมิภาคเช่นเดิม ส่วนสื่อใหม่ที่เป็นสื่อโซเชียล ขณะนี้มีทั้งเฟซบุ๊ก ไลน์ ยูทูบ อินสตาแกรม ที่มีการถ่ายทอดทั้งภาพและเสียงไปพร้อมๆ กันกับระบบอนาล็อก

              “โดยเฉพาะยูทูบ เรามีช่องใหม่เพิ่มมาเสมือนเป็นช่องทีวีย่อมๆ ขึ้นมาอีก 1 ช่อง  ที่ผ่านมาเราพยายามหาคอนเทนต์จากแหล่งข่าวจริิงๆ ความร่วมมือในครั้งนี้ จึงเป็นการต่อจิกซอว์ให้มากที่สุด วันนี้จะเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์หนึ่งในการทำงานร่วมกัน เราคาดหวังว่าสิ่งที่ทำวันนี้จะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรอย่างสูงสุด”

             ถวิล สุวรรณมณี นายกสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย(สกท.) กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า ในแง่ของสื่อเนื่องจากปัจจุบันในโลกของโซเชียลมีเดีย ทำให้ความคลาดเคลื่อนมีสูง เราก็ต้องอาศัยของจริงจากสถาบันหรือหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือจากองค์กรภาครัฐในการนำเสนอสู่ผู้บริโภค ซึ่งมีอาชีพเกษตรกรรมที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ  เพราะการเกษตรคือประเทศไทย  ฉะนั้นสิ่งที่เราจะเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่มีทีมวิจัยและส่งเสริมได้อย่างทันท่วงที จึงจำเป็นต้องมอนิเตอร์จากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือเท่านั้น

                 “วันนี้โลกการสื่อสารไร้พรมแดน เรามาร่วมมือกันนำความรู้มาหลอมรวมกันเพื่อส่งต่อให้แก่ผู้บริโภคหรือประชาชน ประเทศไทยมีอาชีพเกษตรเป็นพื้นฐาน เกษตรกรจึงจำเป็นต้องรับงานวิชาการเพื่อนำพางานวิชาการงานวิจัยต่างๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและประเทศชาติบ้านเมือง” นายกสกท. กล่าวย้ำทิ้งท้าย

               นับเป็นมิติใหม่ความร่วมมือของ 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด้านการเกษตรเพื่อการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้สู่ผู้บริโภคในทุกช่องทางการสื่อสารได้เข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องและสามารถนำมาประยุกต์สู่การพัฒนาอาชีพของตนเองให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและก้าวให้ทันกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นที่มาของคำว่า “เกษตรคือประเทศไทย” 

จาก www.komchadluek.net  วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2561

กรมส่งเสริมการเกษตร จับมือพันธมิตร ถ่ายทอดองค์ความรู้การเกษตรสู่เกษตรกร

กรมส่งเสริมการเกษตร สถานีวิทยุ ม.ก.และสมาคมสื่อมวลชนเกษตรฯร่วม MOU ถ่ายทอดองค์ความรู้การเกษตรสู่เกษตรกร

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมลงนามในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ( MOU )เรื่อง”ความร่วมมือด้านการเผยแพร่และพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการส่งเสริมการเกษตร”กับสถานีวิทยุมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย เพื่อประสานความร่วมมือด้านการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้เพื่อการส่งเสริมการเกษตร ผ่านเครือข่ายสื่อสารมวลชนและสื่ออื่นๆทุกประเภท โดยถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารที่ครอบคลุมการเกษตรทุกด้านที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเกษตรของประเทศ เกิดเป็นเครือข่ายเพื่อการส่งเสริมการเกษตรที่เข้มแข็ง

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวต่อว่า กรมส่งเสริมการเกษตรให้การสนับสนุนบุคลากรและทรัพยากรทั้งในส่วนกลางและพื้นที่ เพื่อนำข้อมูลด้านการเกษตรมาเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้เพื่อการส่งเสริมการเกษตรผ่านเครือข่ายสื่อสารมวลชนและสื่ออื่นทุกประเภท ทำให้มีเครือข่ายสื่อเพื่อการส่งเสริมการเกษตรที่เข้มแข็ง มีความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรด้านสื่อสารมวลชน ด้านบูรณาการความรู้ด้านวิชาการและด้านทักษะวิชาชีพ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรที่มีความรู้ความสามารถด้านสื่อสารมวลชนเข้าสู่ยุคสังคมสารสนเทศ

นอกจากนี้ทาง”สถานีวิทยุมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์”จะสนับสนุนบุคลากรและทรัพยากรในการเผยแพร่ข้อมูลผ่านทุกช่องทางที่ดำเนินการ รวมทั้งสนับสนุนความรู้ทางวิชาการสื่อสารมวลชนให้แก่เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรและ”สมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย”จะสนับสนุนบุคลากรและช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลการส่งเสริมการเกษตรไปสู่สาธารณชน

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2561

“กลุ่มประเทศอาเซียน” ต้องการพลังงานทดแทนเพิ่ม เป็นโอกาสการลงทุน ลุ้นก.พลังงานเคาะแผน AEDP – EEP

 “พพ.” เปิดเวทีแลกเปลี่ยนสถานการณ์ด้านพลังงานในกลุ่มประเทศอาเซียน พบความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นสูงจากการเติบโตของภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาค แนวโน้มพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานจะเติบโตตามเปิดโอกาสการลงทุนมากขึ้น ย้ำไทยยังผงาดผู้นำด้านพลังงานทดแทนฯภายใต้ยุทธศาสตร์พลังงาน 20 ปี รอนโยบายพลังงานเคาะปรับแผน AEDP และ EEP ใหม่เพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนของไทยสูงขึ้น

นายยงยุทธ์ สวัสดิสวนีย์ รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ พพ.ได้จัดให้มีการสัมมนานานาชาติเรื่อง “สถานการณ์พลังงาน และโอกาสการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน” (International Conference on Energy situation and Investment Opportunities in Selected ASEAN Region)

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนสถานการณ์ด้านพลังงาน นโยบายพลังงานของกลุ่มประเทศอาเซียน การสร้างโอกาสการลงทุนด้านพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงานใน กลุ่มประเทศอาเซียน รวมถึงการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้และการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศสมาชิก ซึ่งจากการหารือพบว่ากลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศมีแนวโน้มการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่เติบโต และได้ให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานมากขึ้นจึงเป็นโอกาสของการลงทุน

“การสัมมนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้แทนภาครัฐ จากประเทศไทย กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ร่วมอภิปรายกลุ่ม (Panel Discussion) หัวข้อ “มุมมองแนวคิดเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานและโอกาส ในการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน” ซึ่งในภาพรวมอาเซียนถือเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วและมีความโดดเด่นและมีศักยภาพสูงในเรื่องพลังงานทดแทนทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานชีวมวล และเชื้อเพลิงชีวภาพ จึงเป็นโอกาสของการลงทุนจากเอกชนที่หลายประเทศเปิดกว้างมากขึ้น และเทคโนโลยีพลังงานทดแทนมีความก้าวหน้ามากจึงทำให้อนาคตพลังงานทดแทนจะมีราคาที่ถูกลงเช่น พลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์เป็นต้น”นายยงยุทธ์กล่าว

สำหรับประเทศไทยนั้นถือเป็นผู้นำทางด้านพลังงานทดแทนเในอาเซียนเพราะได้มีการวางแผนพัฒนาพลังงานระยะ 20 ปี (ปี 2558-2579 ) โดยเฉพาะแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558-2579 (EEP 2015) และแผนพัฒนาพลังงาน ทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2015) ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่ง ในการ ตอบโจทย์นโยบพลังงาน 4.0 ของรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งการดำเนินงานภายใต้แผน มีเป้าหมาย 4 ด้าน ได้แก่

1.ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามข้อผูกพันของการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ 2.ลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล 3.สร้างกลไกการแข่งขันไปสู่เสรีเพื่อราคาเป็นธรรม และ 4.การพัฒนาพลังงานชุมชนเพื่อสร้างรายได้แก่ชุมชน

“ กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ(PDP)ฉบับใหม่ซึ่งทำให้ต้องปรับแผน EEP และ AEDP ใหม่ด้วย ซึ่งเบื้องต้นแผน AEDP ภาพรวมก็จะมุ่งการยกระดับการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นจากแผนเดิม ”

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2561

สทนช.ถกแผนสำรอง-จัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 62 ก่อนประกาศเข้าฤดูหนาวกลาง ต.ค.

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 8/2561 ว่า สาระสำคัญในการประชุมครั้งนี้เพื่อติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศ แนวโน้มปริมาณฝน สภาพน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ รวมถึงความคืบหน้าการบรรเทาผลกระทบและความช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝนถึงปัจจุบัน และประเด็นสำคัญ คือ การหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวิเคราะห์ความเสี่ยงพื้นที่ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนต่างๆ แหล่งน้ำธรรมชาติ รวมถึงทุ่งรับน้ำต่างๆ เพื่อวางแผนการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน ตามลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำทั้ง 5 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.น้ำเพื่อใช้ในการอุปโภค – บริโภค 2. รักษาระบบนิเวศ 3. สำรองน้ำสำหรับการใช้น้ำต้นฤดูฝน ช่วงเดือนพ.ค. – ก.ค. 4. ด้านการเกษตร และ 5.ภาคอุตสาหกรรม

​อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นที่ประชุมได้กำหนดแนวทางในการดำเนินงาน และเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้งปี 2561/62 โดยมอบหมายหน่วยงานในพื้นที่พิจารณาดำเนินการใน 4 แนวทาง ดังนี้ 1. บริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด 2. เตรียมความพร้อมของเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ และรถยนต์บรรทุกน้ำให้สามารถนำไปช่วยเหลือได้ทันทีหากมีการร้องขอ 3.เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดในทุกพื้นที่ พร้อมประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้การใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่าให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง และ 4.การแจ้งเตือนเกษตรกรล่วงหน้าในพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำต้นทุนน้อย เพื่อวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับน้ำที่มีอยู่ และกำกับดูแลให้เป็นไปตามแผนการปลูกพืชฤดูแล้งอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสียหายให้กับผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกร

​จากข้อมูลการรายงานสถานการณ์น้ำในภาพรวมของประเทศ โดยศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติขณะนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 23 ก.ย.61) พบว่า สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้อยกว่า 60% ของความจุทั้งประเทศ มีทั้งสิ้น 143 แห่ง แบ่งเป็น ขนาดใหญ่ จำนวน 11 แห่ง ได้แก่ ภาคเหนือ เขื่อนกิ่วลม 59% เขื่อนแม่กวงอุดมธารา 42% เขื่อนแม่มอก 27% ตะวันออกเฉียงเหนือ เขื่อนลำพระเพลิง 56% เขื่อนมูลบน 54% เขื่อนห้วยหลวง 48% เขื่อนลำนางรอง 33% เขื่อนอุบลรัตน์ 31% ภาคกลาง เขื่อนกระเสียว 42% เขื่อนทับเสลา 26% ภาคใต้ เขื่อนบางลาง 46% ขนาดกลาง ขนาดกลาง 132 แห่ง แบ่งเป็น ภาคเหนือ 27 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 73 แห่ง ภาคตะวันออก 6 แห่ง ภาคกลาง 7 แห่ง ภาคตะวันตก 2 แห่ง ภาคใต้ 17 แห่ง รวมขนาดกลาง แต่หากพิจารณาถึงจำนวนอ่างเฝ้าติดตามที่มีความจุน้อยกว่า 30% พบว่า มีจำนวน 35 แห่ง แบ่งเป็น เขื่อนขนาดใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่เขื่อนแม่มอก 27% และเขื่อนทับเสลา 26% ส่วนขนาดกลางมีทั้งสิ้น 33 แห่ง ได้แก่ ภาคเหนือ 3 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 21 แห่ง ภาคตะวันออก 3 แห่ง ภาคกลาง 2 แห่ง และภาคใต้ 4 แห่ง

​“หลังจากกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศสิ้นสุดฤดูฝนประมาณกลางเดือนตุลาคมและเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการแล้ว สทนช. ได้มีการทบทวนขอปรับเกณฑ์การเฝ้าระวังปริมาณน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำตั้งแต่ภาคกลางถึงภาคเหนือ จากเดิมเฝ้าระวังที่ร้อยละ 80 ของความจุอ่างเก็บน้ำ เป็นร้อยละ 95 ของความจุอ่างเก็บน้ำ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำที่ใกล้สิ้นสุดฤดูฝนแล้ว สำหรับอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 60 ของความจุอ่างเก็บน้ำ สนทนช.ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำบัญชีรายชื่อและจัดลำดับความสำคัญเพื่อส่งให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรนำไปจัดแผนการปฏิบัติการฝนหลวงและเร่งดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่อไป” เลขาธิการ สทนช.กล่าว

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2561

ไทยผงาดผู้นำด้านพลังงานทดแทน

พพ.เปิดเวทีแลกเปลี่ยนสถานการณ์ด้านพลังงานในกลุ่มอาเซียน  ย้ำไทยยังผงาดผู้นำด้านพลังงานทดแทนฯภายใต้ยุทธศาสตร์พลังงาน 20 ปี รอนโยบายพลังงานเคาะปรับแผน AEDP และEEP ใหม่เพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนของไทยสูงขึ้น       

นายยงยุทธ์ สวัสดิสวนีย์ รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า พพ.ได้จัดให้มีการสัมมนานานาชาติเรื่อง “สถานการณ์พลังงานและโอกาสการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน” (International Conference on Energy situation and Investment Opportunities in Selected ASEAN Region)  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนสถานการณ์ด้านพลังงาน นโยบายพลังงานของกลุ่มประเทศอาเซียน การสร้างโอกาสการลงทุนด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานใน            กลุ่มประเทศอาเซียน รวมถึงการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้และการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศสมาชิก         ซึ่งจากการหารือพบว่ากลุ่มประเทศอาเซียน 10   ประเทศมีแนวโน้มการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตและได้ให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานมากขึ้นจึงเป็นโอกาสของการลงทุน         

“ การสัมมนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้แทนภาครัฐ จากประเทศไทย กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ร่วมอภิปรายกลุ่ม (Panel Discussion) หัวข้อ “มุมมองแนวคิดเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานและโอกาส    ในการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน” ซึ่งในภาพรวมอาเซียนถือเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วและมีความโดดเด่นและมีศักยภาพสูงในเรื่องพลังงานทดแทนทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานชีวมวล และเชื้อเพลิงชีวภาพ จึงเป็นโอกาสของการลงทุนจากเอกชนที่หลายประเทศเปิดกว้างมากขึ้น และเทคโนโลยีพลังงานทดแทนมีความก้าวหน้ามากจึงทำให้อนาคตพลังงานทดแทนจะมีราคาที่ถูกลงเช่น พลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์เป็นต้น”นายยงยุทธ์กล่าว           

สำหรับประเทศไทยนั้นถือเป็นผู้นำทางด้านพลังงานทดแทนเในอาเซียนเพราะได้มีการวางแผนพัฒนาพลังงานระยะ 20 ปี (ปี 2558-2579 ) โดยเฉพาะแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558-2579 (EEP 2015) และแผนพัฒนาพลังงาน ทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2015) ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่ง ในการ             ตอบโจทย์นโยบพลังงาน 4.0 ของรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งการดำเนินงานภายใต้แผน มีเป้าหมาย 4 ด้าน ได้แก่     1.ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามข้อผูกพันของการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ         2.ลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล 3.สร้างกลไกการแข่งขันไปสู่เสรีเพื่อราคาเป็นธรรม และ 4.การพัฒนาพลังงานชุมชนเพื่อสร้างรายได้แก่ชุมชน 

 “ กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ(PDP)ฉบับใหม่ซึ่งทำให้ต้องปรับแผน EEP และ AEDP ใหม่ด้วย ซึ่งเบื้องต้นแผน AEDP ภาพรวมก็จะมุ่งการยกระดับการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นจากแผนเดิม ”นายยงยุทธ์กล่าว

จาก www.banmuang.co.th  วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2561

ขาดคนตัดอ้อย-ราคาตก ชาวไร่ร้อง‘อุตตม’หามาตรการช่วย

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการอ้อย(กอ.) เมื่อเร็วๆ นี้ได้พิจารณาเห็นชอบการประมาณการปริมาณอ้อยเข้าหีบฤดูการผลิตปี 2561/62 ที่จะเปิดหีบในช่วงปลายปีนี้ไว้ที่ผลผลิตเฉลี่ย 126.36 ล้านตัน ลดลงประมาณ 9.36 ล้านตันจากผลผลิตในฤดูกาลที่ผ่านมา (ปี 2560/61) ที่อ้อยเข้าหีบสูงถึง 135 ล้านตัน พื้นที่เพาะปลูกประมาณ 12.10 ล้านไร่ โดยจะมีนำเสนอการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ในวันที่ 25 กันยายน ต่อไป

ทั้งนี้ปัจจัยหลักที่ทำการประมาณการผลผลิตอ้อยจะลดลงเนื่องจากราคาอ้อยในฤดูการผลิตที่ผ่านมาและในปีนี้ (2561/62) มีแนวโน้มราคาตกต่ำต่อเนื่องโดยคาดว่าในฤดูกาลผลิตปี 2561/62 ที่จะประกาศในช่วงเดือนตุลาคมนี้ จะอยู่ที่เพียง 680 บาทต่อตันเท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามทิศทางราคาน้ำตาลตลาดโลกที่ตกต่ำเพราะผลผลิตสูงกว่าความต้องการ(โอเวอร์ซัพพลาย)ทำให้เกษตรกรรายย่อยจำนวนมากหันไปปลูกพืชอื่นที่มีราคาดีกว่า เช่น มันสำปะหลัง แทน

ขณะเดียวกันพบว่าการขาดแคลนแรงงานตัดอ้อยมีมากขึ้นต่อเนื่องแม้ว่าจะมีการหันมาปรับใช้รถตัดอ้อยจำนวนมากแต่รายเล็กก็ไม่อาจแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มได้

นายนราธิปกล่าวว่า ปัญหาราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2561/62 ที่ตกต่ำนั้นเมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา ได้เข้าพบกับ

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรมเพื่อขอให้พิจารณามาตรการช่วยเหลือในการเพิ่มราคาอ้อยเพิ่มเติมจากราคาที่จะประกาศโดยนายอุตตมรับปากที่จะเร่งหาแนวทางการช่วยเหลือก่อนที่จะมีการเปิดหีบที่คาดว่าจะเปิดภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ เนื่องจากฤดูหีบที่แล้วกำหนดเปิดวันที่ 1 ธันวาคม 2560 ประสบปัญหาปริมาณอ้อยที่มากทำให้มีอ้อยบางส่วนตกค้างเพราะฝนมาเร็ว

“องค์กรชาวไร่ได้ส่งหนังสือไปยังรมว.อุตสาหกรรม เพื่อให้พิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2561/62ตกต่ำไปแล้วซึ่งต้องการให้หาแนวทางเพิ่มค่าอ้อยที่ไม่ขัดกับข้อตกลง องค์การการค้าโลก(WTO) เช่น การช่วยเหลือด้านปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยราคาถูก น้ำมันราคาถูก เพื่อใช้ในรถตัดอ้อย รถบรรทุกอ้อย เครื่องสูบน้ำ เป็นต้น” นายนราธิป กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2561

ชาวไร่ร้อง! แนวโน้มราคาอ้อยดิ่งหนักจี้รัฐช่วยด่วน

คาดผลผลิตอ้อยปี 2561/2562 เฉลี่ย 126.36 ล้านตัน ชาวไร่ร้องอุตสาหกรรมหามาตรการช่วยเหลือ

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการอ้อย (กอ.) เมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้พิจารณาเห็นชอบประมาณการปริมาณอ้อยเข้าหีบฤดูกาลผลิตปี 2561/2562ที่จะเปิดหีบในช่วงปลายปีนี้เฉลี่ยที่ 126.36 ล้านตัน ลดลงจากผลผลิตในฤดูการที่ผ่านมาที่อ้อยเข้าหีบสูงถึง 135 ล้านตัน โดยจะนำเสนอการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ในวันที่ 25 ก.ย.เห็นชอบต่อไป

ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่ให้ทำการประมาณการผลผลิตอ้อยลดลง เนื่องจากราคาอ้อยในฤดูการผลิตที่ผ่านมาและในปี 2561/2562 มีแนวโน้มราคาตกต่ำต่อเนื่อง คาดว่าในฤดูกาลผลิตปี 2561/2562 ที่จะประกาศในช่วงเดือน ต.ค.นี้ จะอยู่ที่ 680 บาท/ตัน ซึ่งเป็นไปตามทิศทางราคาน้ำตาลตลาดโลกที่ตกต่ำ ขณะที่มีต้นทุนสูงจากค่าแรง ทำให้รายเล็กไม่สามารถแบกรับต้นทุนได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้เข้าพบนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เพื่อขอให้พิจารณามาตรการช่วยเหลือในการเพิ่มราคาอ้อยเพิ่มเติมจากราคาที่จะประกาศ โดยทางนายอุตตมได้รับปากที่จะเร่งหาแนวทางการช่วยเหลือก่อนที่จะมีการเปิดหีบที่คาดว่าจะเปิดภายในเดือนพ.ย.นี้ เนื่องจากฤดูหีบที่แล้วกำหนดเปิดวันที่ 1 ธ.ค. 2560 ประสบปัญหาอ้อยมีปริมาณมากทำให้มีอ้อยบางส่วนตกค้าง ขณะที่ต้องไม่ขัดกับข้อตกลงองค์การการค้าโลก

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2561

เจาะลึก11โครงการแหล่งน้ำขนาดใหญ่ สทนช.สนองพระราชดำริพัฒนาทั่วไทย       

          การประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(กนช.) ครั้งล่าสุด(3/2561)เมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมาที่มีนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานในฐานะประธานกนช.ก็ได้มีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์น้ำ 20 ปี ใหม่โดยปรับให้เป็นแผนแม่บทบริหารจัดการน้ำเพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พร้อมเร่งเดินหน้า 11 โครงการขนาดใหญ่และขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอีก 162 โครงการให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด

      โดย“แผนแม่บท”บริหารจัดการน้ำ 20 ปีนั้นประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาและขยายเขตระบบประปา เพิ่มประสิทธิภาพประปา 20,034 หมู่บ้าน และพัฒนาน้ำประปา น้ำดื่ม ให้ได้มาตรฐานและราคาที่เหมาะสมให้ครบทุกหมู่บ้าน ยุทธศาสตร์ที่ 2 เพิ่มผลิตภาพการใช้น้ำ สร้างมูลค่าเพิ่มให้น้ำอีก 10 เท่าจากปัจจุบัน และเพิ่มน้ำต้นทุนโดยปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อลดความเสี่ยงภัยแล้ง ยุทธศาสตร์ที่ 3 บรรเทาอุทกภัยระดับลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบทุกลุ่มน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำจำนวน 562 แห่ง ลำน้ำธรรมชาติสายหลักและสาขาระยะทาง 5,500 กิโลเมตร ป้องกันอุทกภัยในพื้นที่ชุมชนเมือง 764 แห่ง พื้นที่รับประโยชน์ 1.7 ล้านไร่

       ยุทธศาสตร์ที่ 4 เพิ่มประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสีย 105 แห่ง รักษาสมดุลของระบบนิเวศ 13 ลุ่มน้ำหลัก ยุทธศาสตร์ที่ 5 การป้องกันและลดการชะล้างพังทลายของดินในพื้นที่ต้นน้ำ 0.45 ล้านไร่ และยุทธศาสตร์ที่ 6 การจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำ (ปกติ/วิกฤติ)/ ตลอดจนเจรจาความร่วมมือด้านน้ำกับต่างประเทศ ทั้งนี้ ความก้าวหน้าของการดำเนินการจัดทำแผนแม่บทภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาตินั้น ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการจัดทำรายละเอียด การกำหนดผู้รับผิดชอบ เป้าหมายตัวชี้วัด และการจัดทำแผนโครงการ ซึ่งการดำเนินการในส่วนนี้มีรายละเอียดการดำเนินการมาก จึงต้องมีการขยายเวลาการเสนอร่างแผนจากเดิมจะเสนอในเดือนกันยายนเป็นเดือนตุลาคม  2561 และจะได้นำเสนอ กนช. พิจารณาให้ความเห็นชอบในการประชุมครั้งต่อไป

     โดยมีโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.)จำนวน 11 โครงการ  รวมวงเงินทั้งสิ้นประมาณ 73,679 ล้านบาท โดย 4 โครงการได้ผ่านการพิจารณาของ กนช.แล้ว คือ โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เลย โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จ.หนองคาย โครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชี จ.ชัยภูมิ และโครงการบรรเทาอุทกภัย เมืองชัยภูมิ (ระยะที่1) คงเหลือที่จะเสนอเพิ่มเติมอีก 7 โครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและมีความพร้อมที่จะดำเนินการ คือ โครงการอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองแสนแสบ โครงการอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองทวีวัฒนา โครงการประตูระบายลำน้ำพุง-น้ำก่ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการประตูระบายน้ำบ้านก่อ พร้อมระบบส่งน้ำ จ.สกลนคร โครงการคลองระบายน้ำหลาก บางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา และโครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชัยภูมิ 

      ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสทนช. ในฐานะกรรมการและเลขานุการกนช.กล่าวถึงการขับเคลื่อนแผนงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านพัฒนาแหล่งน้ำ โดยสทนช.ได้จัดลำดับความสำคัญในการพิจารณาแผนงาน งบประมาณโครงการพระราชดำริที่มีความพร้อม ไม่ติดปัญหาอุปสรรคใด เป็นลำดับแรก ซึ่งสามารถจัดกลุ่มแนวทางการขับเคลื่อนโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการและยังไม่ได้ดำเนินการ ประกอบด้วย 1. โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จำนวน 78 โครงการ 2.โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 จำนวน 25 โครงการ และ 3. โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี จำนวน 62 โครงการ ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้ สำนักงาน กปร. ร่วมกับ สทนช. สรุปความก้าวหน้าในการจัดทำแผนการพัฒนาโครงการพระราชดำริทั้งหมดเพื่อให้สามารถดำเนินโครงการได้อย่างต่อเนื่องต่อไป

  เปิด 25 โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ(ฎีกา)ในรัชกาลที่10

1. โครงการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำห้วยต้นยาง พร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.พาน จ.เชียงราย

โครงการปรับปรุงคลองผันน้ำร่องสักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

2. โครงการก่อสร้างฝายร่องขุย พร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา

3. โครงการก่อสร้างแก้มลิงห้วยใหญ่ ก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านห้วยแหนขุดสระเก็บน้ำ ม.5 และขุดลอกคลอง ม.15 อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์

4. โครงการก่อสร้างอ่างเก็บห้วยเฮี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย

5. โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยป่าสักพร้อมระบบส่งน้ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.เวียงเชียงรุ้ง จ.เชียงราย

6. โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ยะพร้อมระบบส่งน้ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.สามเงา จ.ตาก

7. โครงการก่อสร้างฝายวังกอกพร้อมระบบส่งน้ำ และฝายปางไคร้พร้อมระบบส่งน้ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย

8. โครงการปรับปรุงก่อสร้างฝายนาม่วงพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง

9. โครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำบ้านปากล้องลี่ อ.บ้านตาก จ.ตาก

10. โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำซำตมขาวพร้อมท่อส่งน้ำบ้านห้วยหมากหล่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.โนนสะอาด จ.อุดรธานี

11. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำห้วยหินพร้อมอาคารประกอบอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ

12. โครงการขุดลอกอ่างเก็บน้ำหนองบ่ออองและขุดร่องชักน้ำพร้อมติดตั้งสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ

13. โครงการก่อสร้างฝายห้วยโสกรังพร้อมระบบส่งน้ำและขุดลอกหนองน้ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น

14. โครงการซ่อมแซมและขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยแก้งม่วง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.โพนทอง จ.ร้อยเอ็ด

15. โครงการก่อสร้างฝายน้ำล้นลำห้วยยาง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ

16. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบท่อส่งน้ำบ้านโพนไฮ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร

17. โครงการก่อสร้างฝายลำห้วยยางพร้อมขุดลอกลำห้วยยางฯ อ.เมืองมุกดาหาร จ.มุกดาหาร

18. โครงการขุดลอกแก้มลิงกุดเชียงบังพร้อมอาคารประกอบ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด

19. โครงการฝายบ้านเขาแดงพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.สอยดาว จ.จันทบุรี

20. โครงการทำนบดินบ้านไทรนอง 2 อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี

21. โครงการก่อสร้างระบบประปาบ้านผัง 16 พร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.มะนัง จ.สตูล

22. โครงการจัดหาน้ำอุปโภค บริโภค ต.ลำสินธุ์ พร้อมระบบส่งน้ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง

23. โครงการปรับปรุงระบบส่งน้ำฝายทดน้ำบ้านไร่เหนือ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง

24. โครงการฝายเก็บกักน้ำคลองท่ากระจาย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี

25. โครงการปรับปรุงคลองผันน้ำร่องสัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา

จาก www.komchadluek.net   วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2561

อ้อยฤดูหีบใหม่วูบหลังราคาดิ่งลุ้น”อุตตม”ช่วยดันราคาเพิ่ม

คณะกรรมการอ้อยคาดการณ์ผลผลิตอ้อยปี 61/62 ที่จะเปิดหีบปลายปีนี้ลดลงจากปีก่อนที่สูงเกินคาด 135 ล้านตันเหลือ 126.36 ล้านตัน เหตุราคาตกต่ำ แรงงานหายาก ทำชาวไร่อ้อยรายย่อยจำนวนมากหนีไปปลูกพืชอื่นแทน ชาวไร่อ้อยหวังความช่วยเหลือจาก”อุตตม”หลังรุดหารือรับปากจะหามาตรการเพิ่มค่าอ้อยขั้นต้นให้จากราคาประกาศที่คาดว่าจะอยู่ระดับ 680 บาทต่อตัน

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการอ้อย(กอ.)เมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมาได้พิจารณาเห็นชอบการประมาณการปริมาณอ้อยเข้าหีบฤดูการผลิตปี 2561/62 ที่จะเปิดหีบในช่วงปลายปีนี้ไว้ที่ผลผลิตเฉลี่ย 126.36 ล้านตันลดลงประมาณ 9.36 ล้านตันจากผลผลิตในฤดูการที่ผ่านมา(ปี 60/61 )ที่อ้อยเข้าหีบสูงถึง 135 ล้านตัน พื้นที่เพาะปลูกประมาณ 12.10 ล้านไร่โดยจะมีนำเสนอการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.)ในวันที่ 25 ก.ย.เห็นชอบต่อไป

ทั้งนี้ปัจจัยหลักที่ทำการประมาณการผลผลิตอ้อยจะลดลงเนื่องจากราคาอ้อยในฤดูการผลิตที่ผ่านมาและในปีนี้(2561/62) มีแนวโน้มราคาตกต่ำต่อเนื่องโดยคาดว่าในฤดูผลิตปี 61/62 ที่จะประกาศในช่วงเดือนตุลาคมนี้จะอยู่ที่เพียง 680 บาทต่อตันเท่านั้นซึ่งเป็นไปตามทิศทางราคาน้ำตาลตลาดโลกที่ตกต่ำเพราะผลผลิตสูงกว่าความต้องการ(โอเว่อร์ซัพพลาย)ทำให้เกษตรกรรายย่อยจำนวนมากหันไปปลูกพืชอื่นที่มีราคาดีกว่าเช่น มันสำปะหลัง แทน ขณะเดียวกันการขาดแคลนแรงงงานตัดอ้อยมีมากขึ้นต่อเนื่องแม้ว่าจะมีการหันมาปรับใช้รถตัดอ้อยจำนวนมากแต่รายเล็กก็ไม่อาจแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มได้

อย่างไรก็ตามปัญหาราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 61/62ที่ตกต่ำนั้นเมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมาได้เข้าพบกับนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อขอให้พิจารณามาตรการช่วยเหลือในการเพิ่มราคาอ้อยเพิ่มเติมจากราคาที่จะประกาศโดยทางรัฐมนตรีว่าการได้รับปากที่จะเร่งหาแนวทางการช่วยเหลือก่อนที่จะมีการเปิดหีบที่คาดว่าจะเปิดภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ เนื่องจากฤดูหีบที่แล้วกำหนดเปิดวันที่ 1 ธันวาคม 60 ประสบปัญหาปริมาณอ้อยที่มากทำให้มีอ้อยบางส่วนตกค้างเพราะฝนมาเร็ว

“เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 4 องค์กรชาวไร่ได้ส่งหนังสือไปยังรมว.อุตสาหกรรมเพื่อให้พิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 61/62 ตกต่ำไปแล้วและวันที่ 19 ก.ย.จึงเข้าพบหารือเนื้อหาหลักก็จะเหมือนกับที่ยื่นหนังสือไปซึ่งต้องการให้หาแนวทางเพิ่มค่าอ้อยที่ไม่ขัดกับข้อตกลงองค์การการค้าโลก(WTO) เช่น การช่วยเหลือด้านปัจจัยการผลิตเช่น ปุ๋ยราคาถูก น้ำมันราคาถูก เพื่อใช้ในรถตัดอ้อย รถบรรทุกอ้อย เครื่องสูบน้ำ เป็นต้น”นายนราธิปกล่าว

นอกจากนี้ยังเสนอให้โรงงานน้ำตาลทรายพิจารณามาตรการสนับสนุนค่าอ้อยเพิ่มเติม โดยทางสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.)เองก็มีแนวทางที่จะนำเงินส่วนต่างราคาน้ำตาลทรายในประเทศและต่างประเทศที่สะสมเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายมาใช้เพิ่มราคา โดยเรื่องนี้คงจะต้องหารือกันในกอน. เพื่อขอความเห็นจากทุกฝ่ายด้วย รวมไปถึงการสนับสนุนการใช้เอทานอลเพิ่มเติมซึ่งประเด็นนี้ก็เกี่ยวข้องกับกระทรวงพลังงานคงเป็นระดับนโยบายที่จะดำเนินการได้ เป็นต้น

จาก https://mgronline.com  วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2561

ราคาโลกทรุด!!!ชาวไร่หนีปลูกพืชอื่น คาดอ้อยฤดูใหม่เหลือ126ล้านตัน

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการอ้อย(กอ.)เมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมาได้พิจารณาเห็นชอบการประมาณการปริมาณอ้อยเข้าหีบฤดูการผลิตปี 2561/62 ที่จะเปิดหีบในช่วงปลายปีนี้ไว้ที่ผลผลิตเฉลี่ย 126.36 ล้านตันลดลงประมาณ 9.36 ล้านตันจากผลผลิตในฤดูการที่ผ่านมา(ปี 2560/61 )ที่อ้อยเข้าหีบสูงถึง 135 ล้านตัน พื้นที่เพาะปลูกประมาณ 12.10 ล้านไร่โดยจะมีนำเสนอการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.)ในวันที่ 25 กันยายนเห็นชอบต่อไป

ทั้งนี้ปัจจัยหลักที่ทำการประมาณการผลผลิตอ้อยจะลดลงเนื่องจากราคาอ้อยในฤดูการผลิตที่ผ่านมาและในปีนี้(2561/62) มีแนวโน้มราคาตกต่ำต่อเนื่องโดยคาดว่าในฤดูผลิตปี 2561/62 ที่จะประกาศในช่วงเดือนตุลาคมนี้จะอยู่ที่เพียง 680 บาทต่อตันเท่านั้นซึ่งเป็นไปตามทิศทางราคาน้ำตาลตลาดโลกที่ตกต่ำเพราะผลผลิตสูงกว่าความต้องการ(โอเว่อร์ซัพพลาย)ทำให้เกษตรกรรายย่อยจำนวนมากหันไปปลูกพืชอื่นที่มีราคาดีกว่าเช่น มันสำปะหลัง แทน ขณะเดียวกันการขาดแคลนแรงงงานตัดอ้อยมีมากขึ้นต่อเนื่องแม้ว่าจะมีการหันมาปรับใช้รถตัดอ้อยจำนวนมากแต่รายเล็กก็ไม่อาจแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มได้

จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2561

'กฤษฎา'สั่งระดมทำฝนหลวงเติมน้ำ'เขื่อน'ก่อนหมดฝน ชี้ภาวะแล้งมาเร็ว

"กฤษฎา"สั่งระดมทำฝนหลวงเติมน้ำ"เขื่อน"ก่อนหมดฝน ชี้ภาวะแล้งมาเร็ว หลายพื้นที่ขาดน้ำ พร้อมทำแผนที่เป้าหมายพื้นที่เกษตรต้องการน้ำ "สทนช."เรียกประชุมด่วน24ก.ย.

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สั่งการอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เร่งให้หน่วยปฏิบัติการทำฝนหลวง ระดมทำฝนเติมน้ำเขื่อนมีน้ำไม่ถึงร้อยละ 60 และเขื่อนมีน้ำน้อยร้อยละ 30 และแผนที่พื้นที่เป้าหมายทำเกษตรที่ต้องการน้ำหล่อเลี้ยงจนเก็บเกี่ยวได้ผลผลิตดี ให้จัดทำแผนทำฝนหลวงให้กับพื้นที่ขาดแคลนน้ำ เพราะขณะนี้มีหลายจังหวัดเกิดภาวะแล้งมาเร็ว และจากปัญหาฝนทิ้งช่วงด้วย

ด้าน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงฯ กล่าวว่า ให้หน่วยฝนหลวงทุกภูมิภาคทำฝนจนถึงเดือน ต.ค.เพราะหลายพื้นที่ยังประสบภาวะฝนทิ้งช่วงมาต่อเนื่อง โดยการทำแผนที่ทำฝนหลวงว่าพื้นที่ไหนต้องการฝน

"ฝนทิ้งข่วงหลายพื้นที่มานานแล้ว พยายามทำฝนมาตลอดเติมน้ำเขื่อนน้ำน้อย จนทำให้เขื่อนลำตะคอง มีน้ำมากขึ้นพอใช้ตลอดหน้าแล้ง และปรับแผนไปทุกพื้นที่ โดยภาคเหนือ มี 2 หน่วยฝนหลวง ภาคกลาง มี 2 หน่วย ตะวันออกเฉียงเหนือ มี 4 หน่วย ตะวันออก มี 1 หน่วย

มีเครื่องบินทำฝนหลวง โดยสนธิกำลังกับเครื่องบินกองทัพอากาศ รวม 4 เครื่อง ได้แก่ BT67 จำนวน 2 เครื่อง และ AU23 จำนวน 2 เครื่อง และเครื่องบินกรมฝนหลวง รวม 21 เครื่อง ได้แก่ CN จำนวน 1 เครื่อง CASA จำนวน 6 เครื่อง CARAVAN จำนวน 12 เครื่อง SKA จำนวน 2 เครื่อง" นายสุรสีห์ กล่าว

ขณะที่ นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต กล่าวว่า จากแนวโน้มฝนลดลง มีข้อห่วงใยของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ที่มอบหมายทุกหน่วยงานติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อกำหนดแผนปฏิบัติการร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบที่เกี่ยวข้องในการแผนบริหารจัดการและการปฏิบัติการฝนหลวง ที่จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักก่อนสิ้นสุดฤดูฝน ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ในกลางเดือน ต.ค.นี้

ซึ่งจากข้อมูลสถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้อยกว่า 60% ของความจุทั้งประเทศ ขณะนี้พบว่า ขนาดใหญ่ มีจำนวน 11 แห่ง แบ่งเป็น ภาคเหนือ เขื่อนกิ่วลม 59% เขื่อนแม่กวงอุดมธารา 42% เขื่อนแม่มอก 27% ตะวันออกเฉียงเหนือ เขื่อนลำพระเพลิง 56% เขื่อนมูลบน 54% เขื่อนห้วยหลวง 48% เขื่อนลำนางรอง 33% เขื่อนอุบลรัตน์ 31% ภาคกลาง เขื่อนกระเสียว 42% เขื่อนทับเสลา 26% ภาคใต้ เขื่อนบางลาง 46% ขนาดกลาง 132 แห่ง แบ่งเป็น ภาคเหนือ 27 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 73 แห่ง ภาคตะวันออก 6 แห่ง ภาคกลาง 7 แห่ง ภาคตะวันตก 2 แห่ง ภาคใต้ 17 แห่ง แต่หากพิจารณาถึงจำนวนอ่างเฝ้าติดตามที่มีความจุน้อยกว่า 30% พบว่า มีเขื่อนขนาดใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่มอก 27% และเขื่อนทับเสลา 26% ส่วนขนาดกลาง มีทั้งสิ้น 33 แห่ง ได้แก่ ภาคเหนือ 3 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 21 แห่ง ภาคตะวันออก 3 แห่ง ภาคกลาง 2 แห่ง และภาคใต้ 4 แห่ง

"จากการคาดการณ์ฝนของกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) (สสนก.) ว่าประเทศไทยจะเริ่มมีฝนลดลงนั้น สทนช.ได้เน้นย้ำทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องวางแผนปรับลดการระบายน้ำในอ่างฯ ทุกขนาด ตามการคาดการณ์ของฝน ซึ่งในวันพรุ่งนี้ (24 ก.ย.61) สทนช.จะหารือประเด็นดังกล่าวในการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อเตรียมการบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีน้ำต้นทุนน้อย ซึ่งจะมีการหารือถึงแผนปฏิบัติการเพื่อลดผลกระทบในพื้นที่เสี่ยง ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แล้งล่วงหน้าด้วย โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด" นายสำเริง กล่าว

จาก https://mgronline.com  วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2561

สมาพันธ์เกษตรฯ ชี้ยกเลิกพาราควอต เงื่อนงำทางธุรกิจ

สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย ชี้ยกเลิกพาราควอต มีเงื่อนงำทางธุรกิจ ระบุใช้สารตัวใหม่อันตรายไม่ต่างจากตัวเดิม แถมทำเกษตรกรกระเป๋าฉีก 7เท่าต่อไร่ -ประสิทธิภาพด้อยกว่า

          นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย เปิดเผยว่า เกษตรกรยอมรับมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่จะจำกัดการใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด คือ พาราควอต คลอร์ไฟริฟอส และไกลโฟเซต แต่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของคนบางกลุ่มที่จะให้ยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 เนื่องจากเกษตรกรใช้สารเคมีดังกล่าวมาเป็นเวลานาน ไม่เคยมีปัญหา สารเคมีต่างๆ 90% เป็นสารอินทรีย์ที่จะสลายตัวไปได้เอง หากใช้อย่างถูกวิธีจะไม่ส่งผลกระทบกับผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม

           นายสกรรณ์ กล่าวอีกว่า สารกลูโฟซิเนต ที่มีการเสนอให้ใช้แทนพาราควอตนั้น มีความเป็นพิษไม่ต่างกัน แต่ประสิทธิภาพการกำจัดวัชพืชสู้พาราควอต และไกลโฟเซต ไม่ได้ และที่แตกต่างกันคือมีราคาสูงกล่าวพาราควอต และต้องใช้ในปริมาณที่มากกว่า ยิ่งจะทำให้เกษตรกรต้องใช้สารเคมีมากขึ้น โดยรวมหากต้องเปลี่ยนมาใช้ยาตัวนี้จะทำให้เกษตรกรมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นต่อไร่ถึง 7 เท่า

           "ทุกวันนี้มีประเทศที่ห้ามและจำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดมี 53 ประเทศ แต่มีประเทศที่ใช้กันอยู่เกือบ 100 ประเทศ หากสารทั้ง 3 ชนิดถูกแบน จะทำให้ระบบเกษตรของไทยต้องล่มสลาย เพราะรายจ่ายของเกษตรกรจะมีมากขึ้น พวกผมจึงยอมไม่ได้" เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าว

           นายสกรรณ์ กล่าวว่า ข้อมูลที่ตนพูดมานี้เป็นหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้ อยากให้คนที่เห็นแตกต่างเอาข้อมูลมาพูดกันเพื่อประโยชน์ของเกษตรกร และยืนยันที่เรียกร้องเพราะตัวเองเป็นเกษตรกร หากต้องไปใช้สารเคมีที่มีราคาสูงกว่าเดิมถึง 7 เท่าคงอยู่ลำบาก และมองว่าข้อเสนอให้แบนสารพาราควอต คลอร์ไฟริฟอส และให้จำกัดการใช้ ไกลโฟเซต อาจมีเบื้องหลังอะไรทางธุรกิจอะไรหรือไม่ เพราะผู้ขายสารกลูโฟซิเนต จะไม่สามารถขายได้เลยหากยังไม่แบนพาราควอต เนื่องจากเป็นยาสามัญประจำฟาร์มที่เกษตรกรทั่วไปใช้กันอยู่.

จาก www.komchadluek.net   วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2561

'พลังงาน' เดินหน้าแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน 6 ด้าน

ก.พลังงาน เดินหน้าแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน 6 ด้าน 17 ประเด็น ชี้! จะเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายด้านพลังงานที่สำคัญเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ

น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช รองปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดงานสัมมนา "สื่อสารนโยบายปฏิรูปประเทศด้านพลังงานสู่การปฏิบัติ" โดยมีพลังงานจังหวัดทั่วประเทศ ผู้แทนจากหน่วยงานภายในกรมและรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงพลังงาน กว่า 300 คน ร่วมสัมมนา พร้อมทั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ได้แก่ นายพรชัย รุจิประภา ประธานคณะกรรมการ, พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช รองประธาน และนายมนูญ ศิริวรรณ คณะกรรมการ เข้าร่วมเป็นวิทยากรบรรยาย สร้างความรู้ความเข้าใจในแนวทางปฏิบัติ

น.ส.นันธิกา เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน (ปี 2561–2565) ซึ่งครอบคลุม 6 ด้าน 17 ประเด็น โดยจะเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายด้านพลังงานที่สำคัญ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ และจะเป็นแผนงานที่เน้นการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นการยอมรับของประชาชน ส่งเสริมด้านเทคโนโลยีและการมีส่วนร่วมของประชาชนให้การบริหารจัดการด้านพลังงานมีธรรมาภิบาล ก่อให้เกิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานพลังงานและการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ กรอบการปฏิรูปฯ ที่ต้องเร่งดำเนินการในช่วงแรกที่สำคัญ ๆ อาทิ การจัดหาพลังงาน โดยเฉพาะการสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในประเทศให้เกิดความต่อเนื่อง เดินหน้าปลดล็อคกฎระเบียบ เพื่อให้การพัฒนาพลังงานทางเลือกเกิดความคล่องตัวและเติบโตยิ่งขึ้น การยกระดับการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน รับเกณฑ์มาตรฐานการออกแบบอาคาร (BEC) รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานอาคารรัฐด้วยกลไก ESCO การจัดตั้งศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลพลังงานที่เชื่อถือได้สู่การวิเคราะห์รอบด้าน และลดการบิดเบือนข้อมูลพลังงาน เป็นต้น

โดยในช่วงปลายของการปฏิรูปฯ จะเกิดเป้าหมายการพัฒนาพลังงานที่ชัดเจน ทั้งด้านยานยนต์ไฟฟ้า ระบบเก็บกักพลังงาน การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เสริมสร้างเศรษฐกิจในระยะยาว การสร้างโรงไฟฟ้า สายส่งที่ล้ำสมัย การลงทุนธุรกิจปิโตรเคมีระยะใหม่ ประชาชนจะเกิดทางเลือกที่สามารถผลิตและใช้พลังงานทดแทนอย่างเสรี ลดการผูกขาด สร้างการแข่งขันในทุกกิจการพลังงาน ในขณะเดียวกัน สามารถบังคับใช้กฎหมาย หรือ ระเบียบด้านการอนุรักษ์และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพต่อทุกภาคส่วน

การดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงานดังกล่าว จะมีเป้าหมาย หน่วยงานที่รับผิดชอบ และกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน เน้นการปรับปรุงภารกิจด้านพลังงานให้มีความชัดเจน มีประสิทธิภาพ และสอดรับการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน ซึ่งการขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ ในการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน จะต้องสื่อสารไปถึงประชาชนในพื้นที่ ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภูมิภาค โดยกลุ่มพลังงานจังหวัดที่เข้าร่วมสัมมนาในวันนี้ จะเป็นแรงผลักดันสำคัญที่จะถ่ายทอดการดำเนินงานด้านการปฏิรูปฯ ของกระทรวงพลังงานครั้งนี้ ให้ขยายผลสู่วงกว้าง และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ และความร่วมมือในการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานครั้งนี้เพื่อพลังงานมั่นคง เศรษฐกิจมั่งคั่ง สังคมไทยยั่งยืน ต่อไป

จาก www.thansettakij.com วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2561

เดินหน้าปฏิรูปภาคเกษตร ดันศพก.-แปลงใหญ่-เกษตรกรรุ่นใหม่เครือข่ายขับเคลื่อน

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรสหกรณ์ เปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโยบายการปฏิรูปภาคการเกษตร โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้ขับเคลื่อนเรื่องนี้มาโดยตลอด และได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) จำนวน 882 ศูนย์ ทั่วประเทศ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน เพื่อให้เกษตรกรที่มาเรียนรู้เกิดความรู้ ความเข้าใจ สามารถนำความรู้ที่ได้รับจาก ศพก. ไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับไร่นาของตนเอง รวมทั้งส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ซึ่งสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มกัน ผลิต จำหน่ายและบริหารจัดการร่วมกัน ทั้งในรูปของกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ เป็นการลดต้นทุน พัฒนาคุณภาพผลผลิต และเชื่อมโยงการตลาด

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมากรมส่งเสริมการเกษตรได้มีการสร้างเครือข่าย ศพก. เครือข่ายแปลงใหญ่ และเครือข่าย Young Smart Farmer ทั้งในระดับจังหวัด เขต และประเทศ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูปภาคการเกษตรโดยภาคประชาชน ซึ่งปัจจุบันสามารถดำเนินการแปลงใหญ่ได้จำนวน 4,007 แปลง พื้นที่ 5,173,105.5 ไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วมจำนวน 320,453 คน และมีการเชื่อมโยงสินค้าแปลงใหญ่ที่ได้คุณภาพมาตรฐานกับตลาดที่แน่นอน เกิดการจับคู่ธุรกิจหลายกลุ่มสินค้า โดยเฉพาะในพืชเศรษฐกิจหลักสำคัญ ได้แก่ ข้าว, พืชไร่, พืชผัก-สมุนไพร, ไม้ผล และประมง-ปศุสัตว์ ตามนโยบายตลาดนำการผลิต

นอกจากนี้ยังได้พัฒนาและสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) ซึ่งความสามารถของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หันมาทำการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนจากทำมากได้น้อย เป็นทำน้อยได้มาก สอดคล้องกับโมเดล Thailand 4.0 เกิดการเปลี่ยนแปลงจากการเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยี (Smart Farming) และการเกษตรแม่นยำสูง (Precision Farming) และการพัฒนาเข้าสู่เปิดตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ ซึ่งการรวมพลังครั้งนี้จะนำไปสู่การสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งในอนาคตต่อไป

จาก www.naewna.com วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2561

เตือนCPTPPทำภาคเกษตรล่มสลาย สภาเกษตรกรจี้รัฐทบทวนเจรจา ห่วงชาวบ้านหมดอาชีพนับล้านเผยบทเรียนเวียดนามอาการสาหัส

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาสหรัฐเคยผลักความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership :TPP) กับประเทศไทย ซึ่งเรื่องนี้ ในอดีตเคยมีหลายฝ่ายออกมาแสดงความเป็นห่วงกันมากเพราะทราบดีว่า ไทยเสียเปรียบในหลายเรื่อง อาทิ เรื่องการเกษตร ต่อมาประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยกเลิกจึงไม่ต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ประเทศที่เป็นสมาชิกที่เหลือพยายามผลักดันฟื้นฟูเรื่อง TPP ขึ้นมาใหม่โดยเปลี่ยนชื่อเป็น CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) ซึ่งได้วางกรอบความร่วมมือใกล้เคียงเดิม บทบัญญัติบางประการที่มีแนวโน้มจะก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบยังคงมีไม่ใช่การตัดออกจากความตกลง เพียงแต่ยังไม่นำมาบังคับใช้ขณะนี้ จึงไม่มีหลักประกันที่แน่นอนว่าจะไม่นำกลับมาบังคับใช้ใหม่ และสิ่งที่เป็นข้อกังวลใจอย่างมากของสภาเกษตรกรแห่งชาติ

“ที่วนกลับมาอีกครั้ง คือ เรื่องการให้นักลงทุนเข้าถึงพันธุกรรมพืชและชิ้นส่วน ซึ่งจะเป็นการผูกขาดด้านพันธุ์พืช รวบตั้งแต่ส่วนที่ใช้ขยายพันธุ์จนถึงผลผลิตและผลิตภัณฑ์แปรรูป ผลคือวิถีชีวิตของเกษตรกรจะเปลี่ยนแปลง ซื้อหาพันธุ์พืชในระดับราคาที่แพงและไม่สามารถเก็บพันธุ์ไว้ปลูกต่อ เป็นความเดือดร้อนที่มีระยะเวลายาวนานด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่จะมีระยะเวลา 20-25 ปี”

นายประพัฒน์กล่าวอีกว่า อีกหนึ่งเรื่องที่น่ากังวลใจ คือ การนำเข้าชิ้นส่วนสุกร ซึ่งมีบทเรียนจากเวียดนามหลังจากเข้าร่วมกรอบทีพีพีแล้วอเมริกาก็ผลักดันการนำเข้าชิ้นส่วนสุกร ปรากฏว่า Sector ภาคการเลี้ยงสุกรของเวียดนามแทบจะล่มสลายหมดเลย ขณะที่ประเทศไทยมีเกษตรกรที่เลี้ยงสุกรกว่า 180,000 ครัวเรือน และจะส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ถึงผู้ผลิตพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์ อาทิ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวทั่วประเทศมากกว่า 3.5 ล้านครัวเรือน เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากกว่า 250,000 ครัวเรือน ตลอดจนผู้ประกอบการแปรรูปข้าวเปลือก ซึ่งจะมีผลิตภัณฑ์รำข้าว/ปลายข้าว เป็นต้น โดยหากกรอบความร่วมมือนี้มีผลสัมฤทธิ์และต้องนำเข้าชิ้นส่วนสุกรจริง ต้องเกิดผลกระทบกับประเทศไทยด้านเศรษฐกิจมหาศาลแน่นอน คนเลี้ยงสุกรต้องเลิกอาชีพเพราะต้องพึ่งพาสุกรจากต่างชาติทันที ความมั่นคงด้านอาหารในระยะยาวจะเสียหายไปเลย ผลกระทบเศรษฐกิจจะรุนแรงและยาวนาน ประเทศไทยยังไม่พร้อมและรับไม่ไหวแน่ ผู้ได้ประโยชน์เป็นนายทุน, เศรษฐีระดับบน จึงอยากเตือนสติด้วยความเคารพถึงรัฐบาลและรัฐมนตรีที่พยายามผลักดันเรื่องนี้อยากให้ใช้ความรอบคอบในการจะเข้าไปผูกพันทางการค้าด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง

“จริงๆ แล้วประเทศไทยมีกรอบสัญญาการค้าระดับทวิภาคี พหุภาคีเยอะอยู่แล้ว หลายประเทศที่อยู่ในความร่วมมือเรื่อง CPTPP มีกรอบความร่วมมือทวิภาคีกับไทยหลายประเทศ ไทยไม่มีปัญหาเรื่องการค้า อย่าตกเป็นเหยื่อเขาเลย หน้าที่ของสภาเกษตรกรแห่งชาติต้องประคับประคองไม่ให้พี่น้องประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกรมีผลกระทบ มองเห็นชะตากรรมหากเข้าร่วม CPTPP โดยไม่ได้ระมัดระวัง เกษตรกรจะหมดอาชีพเป็นล้านคน” นายประพัฒน์กล่าว

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้มอบหมายกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องคาดว่าจะสรุปข้อมูล ข้อคิดเห็น เสนอรัฐบาลตัดสินใจการจะเข้าเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP ก่อนสิ้นปี 2561 จึงอยากขอให้เกษตรกร ตัวแทนเกษตรกร เข้าร่วมเวทีแสดงความคิดเห็นอย่าได้เพิกเฉย ซึ่งครั้งต่อไปจะเวทีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วันที่ 25-26 กันยายน ที่โรงแรมพูลแมน จ.ขอนแก่น

จาก www.naewna.com วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2561

สุวพันธุ์ขอเวลาอีก 60 วัน แก้ปมสารกำจัดศัตรูพืชอันตราย

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง เปิดเผยว่า วันเดียวกันนี้ได้มีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการฯ โดยประชุมได้ให้รวบรวบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง 3 ประเด็น ได้แก่ เรื่องทั่วไปของสารเคมี การใช้สารเคมี และผลกระทบจากการใช้สารเคมี โดยให้มีการวิเคราะห์ข้อมูลก่อนสรุป ซึ่งมีหลายภาคส่วนต้องการส่งข้อมูลมาประกอบการพิจารณา

ทั้งนี้ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้ส่งข้อมูลมาแล้ว โดยเป็นข้อมูล 2 ส่วน คือปัญหาโรคเนื้อเน่าที่ จ.หนองบัวลำภู และการใช้สารชนิดอื่นทดแทน  และยังมีข้อมูลจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข รวมถึงส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยคณะกรรมการฯ ต้องการข้อมูลภายในเดือนกันยายนนี้

“นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ให้อนุกรรมการที่แต่งตั้งไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งมีสัดส่วนทั้งภาครัฐ นักวิชาการ และภาคการเกษตร เดินหน้าปฏิบัติหน้าที่ต่อไป แม้บางคนเห็นว่าควรยกเลิก พร้อมให้ขยายเวลาการทำงานของคณะกรรมการอีก 60 วัน และจากนี้จะมีการประชุมอีกครั้งเพื่อการทำงานที่ราบรื่น” นายสุวพันธุ์ กล่าว

จาก www.naewna.com วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2561

นักวิชาการชี้เลิกพาราควอตทันที ก่อมลพิษสิ่งแวดล้อม เกษตรกรแบกรับต้นทุน แนะวิจัยทางเลือกเพิ่มไม่ต้องพึ่งสารเคมี

รศ.ดร.จำรูญ เล้าสินวัฒนา อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวการต่อต้านพาราควอต ว่าไม่เห็นด้วยหากจะยกเลิกการใช้แบบทันที โดยที่ยังไม่มีมาตรการรองรับที่ชัดเจน เพราะหากยกเลิกการใช้สารพาราควอต แบบทันทีทันใด อาจจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี เนื่องจากต้องพิจารณาด้วยว่าเกษตรกรจะใช้อะไรทดแทนสารกำจัดวัชพืชดังกล่าว ส่วนตัวมองว่าอาจส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรในพื้นที่ขนาดใหญ่เพราะคงไม่มีใครไปใช้มือถอนวัชพืชเองและยังไม่มีแนวทางที่ดีกว่าให้เลือก เพราะหากยังไม่มีแนวทางที่ดีให้กับเกษตรกร

“ถ้ายกเลิกพาราควอตทันที มีโอกาสสูงที่เกษตรกรจะไปใช้สารชนิดอื่นที่เป็นสารเคมีป้องกัน กำจัดวัชพืช เพื่อนำมาทดแทนพาราควอตที่มีฤทธิ์ในการฆ่าใกล้เคียงกัน ยกตัวอย่าง สารเลือกทำลายชนิดอื่นๆ เช่น ฟูเอซีฟอส ซึ่งเราก็ไม่มีข้อมูลว่ามันอันตรายมากน้อยกว่ากันอย่างไร ดีไม่ดีอาจมีการในปริมาณที่สูงกว่าพาราควอต และอาจสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในด้านอื่นเพิ่มเติมแทน”

รศ.ดร.จำรูญ กล่าวต่อว่า หากยกเลิกพาราควอตทันทีคือจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของเกษตรกร เพราะถ้าหากเกษตรกรไม่ใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช จะทำให้ผลผลิตลดน้อยลง และถ้าใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชตัวอื่นแทน เกษตรกรอาจต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่มากขึ้นเพราะมีราคาสูงกว่ายาตัวเดิมมาก อีกทั้งสารเคมีชนิดอื่นก็อาจก่อปัญหาในแง่อื่นตามมาด้วย

“ผมขอเสนอว่ากระบวนการการยกเลิกนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะมีนโยบายสนับสนุน หรือเตรียมการรองรับในการสนับสนุนนักวิจัยที่วิจัยเกี่ยวกับทางเลือกในการไม่ใช้สารเคมี ให้นำเทคโนโลยีหรือนำความรู้ตรงนั้นมาใช้ เพื่อให้เกษตรได้ปรับตัว และเพื่อให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีอื่นๆมาทดแทนได้ ซึ่งอาจใช้เวลาสักระยะ เพราะหากยกเลิกทันทีก็เหมือนไม่มีทางเลือกให้แก่เกษตรกรเลยจะเกิดปัญหาหลายด้าน ดังนั้นควรประเมินผลกระทบในด้านอื่นๆที่อาจเกิดขึ้นให้มีความชัดเจนรอบก่อน”

จาก www.naewna.com วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2561

“กฤษฎา”เดินหน้าแก้หนี้ กฟก. เกษตรกรเตรียมเฮ ส.ธนาคารไทยเล็งขายหนี้ให้รัฐลด 50% พร้อมชะลอกม.ถึงกลางปี’62

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังร่วมหารือกับสมาคมธนาคารไทย ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า สมาคมธนาคารไทยได้เข้ามายื่นหนังสือยืนยันหลักเกณฑ์การรับชำระหนี้สำหรับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร โดยเกษตรกรที่จะได้รับความช่วยเหลือในเบื้องต้นต้องมีคุณสมบัติ คือ 1. เป็นสมาชิกและขึ้นทะเบียนหนี้กับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร 2. เป็นหนี้ NPL จากการประกอบอาชีพทางการเกษตร ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2560 และมีเงินต้นไม่เกิน 2.5 ล้านบาท และ 3. มีความสามารถในการชำระหนี้เงินต้นกับธนาคารเจ้าหนี้ 50% โดยธนาคารจะยกหนี้ส่วนที่เหลือให้ และชะลอการดำเนินการทางกฎหมายกับลูกหนี้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2562 เพื่อให้เกษตรกรยังคงมีที่ดินทำกินต่อไป

สำหรับเกษตรกรที่ได้รับความช่วยเหลือจาก กฟก. ไปแล้ว ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2561 มีจำนวน 3,206 ราย จำนวนเงิน 1,207 ล้านบาท ขณะนี้เหลือเกษตรกรอีก 692 ราย ในจำนวนนี้ได้รับการตรวจสอบเบื้องต้นว่าเข้าหลักเกณฑ์ของ กฟก. มีเพียง 119 ราย มูลหนี้ 44 ล้านบาท ซึ่งจะนำรายชื่อดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณากลั่นกรองและเห็นชอบจากคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ ก่อนจะดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

ด้าน นายครรชิต สุขเสถียร ผู้อำนวยการสำนักบริหารกองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและรับเรื่องร้องเรียน สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “เกษตรกรที่มีคุณสมบัติไม่เข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น กระทรวงเกษตรฯ เตรียมมาตรการสำรองโดยจะเจรจากับเจ้าหนี้ธนาคารพาณิชย์ให้พิจารณาลดหย่อนหนี้เป็นรายบุคคล แล้วทำหนังสือแจ้งไปยังเกษตรกรลูกหนี้ หากมีความประสงค์ในการชำระหนี้ส่วนนี้ จะให้มาแจ้งความจำนงที่สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัด เพื่อดำเนินการขอกู้เงินจากคณะกรรมการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน (กชก.) โดยมีหลักเกณฑ์การชำระหนี้ไม่เกิน 20 ปี ดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี และหากชำระตรงเวลา จะลดดอกเบี้ยลงทุกปีจนคงที่ที่ร้อยละ 2 ต่อปี ทั้งนี้คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 4-5 เดือน”

ด้านนายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย ที่ประสบความเดือดร้อนจากการเป็นหนี้ ที่ไม่สามารถชำระคืนได้ โดยการขายหนี้ให้กองทุนของรัฐบาลในราคาส่วนลด 50% จากเงินหนี้เงินต้น ที่เป็นหนี้เอ็นพีแอลภายใน 31 ธ.ค.2561 มีมูลหนี้ประมาณ 400 ล้านบาท เมื่อขายในราคาส่วนลด 50% แสดงว่าธนาคารเจ้าหนี้จะขายหนี้ในราคา 200 ล้านบาท

ทั้งนี้ สมาคมธนาคารได้ยื่นหลักเกณฑ์การรับชำระหนี้สำหรับ กฟก. ที่มีข้อตกลงร่วมกับสมาคมธนาคารไทย ตามเงื่อนไขที่ กฟก.สามารถรับซื้อหนี้ได้และยกหนี้ส่วนที่เหลือให้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และชะลอการดำเนินการทางกฏหมายกับลูกหนี้ไปจนถึง 30 มิ.ย.2562 ซึ่งธนาคารได้พิจารณาเห็นว่า ลูกหนี้เกษตรกรที่มีหนี้เงินต้นไม่เกิน 2.5 ล้านบาท เป็นลูกหนี้ที่ธนาคารได้ดูแลช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ รายบุคคล ยกเว้นเกษตรกรที่มีหนี้เกินกว่าเกณฑ์การช่วยเหลือ หรือเกิน 2.5 ล้านบาท จะต้องเจรจากับธนาคารเจ้าหนี้เป็นรายบุคคลต่อไป

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2561

กรมเจรจาฯ จับมือสภาเกษตรฯ ลงนาม MOU เตรียมความพร้อมเกษตรกรไทย เสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันสู่ตลาดโลกอย่างเข้มแข็ง

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศและสภาเกษตรกรแห่งชาติ เรื่อง ความร่วมมือในการสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการตลาดสินค้าเกษตรและการเปิดเสรีทางการค้า ถือเป็นการกระชับความร่วมมือระหว่างกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ ซึ่งได้ทำกิจกรรมร่วมกันตั้งแต่ปี 2555 โดยการลงนาม MOU จะเป็นการตอกหมุดความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงาน ให้เหนียวแน่นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะความร่วมมือเพื่อส่งเสริมเกษตรกรให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องความตกลงทางการค้าเสรีต่าง ๆ ทั้งความตกลงเอฟทีเอที่มีผลบังคับใช้แล้ว 12 ฉบับ กับ 17 ประเทศ และความตกลงทางการค้าที่อยู่ระหว่างเจรจาและคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งเตรียมความพร้อมเกษตรกรไทยเพื่อพัฒนาศักยภาพให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกและใช้ประโยชน์จากการค้าเสรี

นอกจากการลงนาม MOU กรมฯ ได้จัดประชุมหารือกับประธานสภาเกษตรกรจังหวัดทั่วประเทศ เรื่องโครงการความร่วมมือระหว่างกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ ในปี 2562 เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรกรและสินค้าเกษตรก้าวเข้าสู่ตลาดโลกอย่างเข้มแข็ง รวมทั้งจัดสัมมนาให้ความรู้กับประธานสภาเกษตรกรจังหวัดทั่วประเทศ เรื่อง สินค้าผลไม้ในตลาดการค้าเสรี เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับสภาเกษตรกรจังหวัด ในการนำไปประชาสัมพันธ์และกระตุ้นเกษตรกรทั่วประเทศให้สามารถพัฒนาสินค้าเกษตรในท้องถิ่นให้มีคุณภาพ ยกระดับสู่มาตรฐานสากล กระตุ้นให้เกิดการแปรรูปผลผลิตการเกษตร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันสู่ตลาดการค้าเสรี รวมทั้งเตรียมพร้อมเกษตรกรให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์การค้าใหม่ของโลก

จาก www.thansettakij.com   วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2561

คลังเบรกกนง.ขึ้นดอกเบี้ย ห่วงเงินทุนไหลเข้าดันบาทแข็ง ฉุดเงินเฟ้อไม่เข้ากรอบ

คลังแตะเบรกขึ้นดอกเบี้ย ห่วงเงินทุนไหลเข้าดันบาทแข็ง – สงครามการค้ายังไม่นิ่ง แล้วจะรีบขึ้นดอกเบี้ยทำไม ย้ำมีอิสระทำนโยบาย แต่ก็ต้องรับผิดชอบด้วย

คลังเบรกกนง.ขึ้นดอกเบี้ย – นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า การที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ไม่เป็นเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ต่อปี ถือเป็นอิสระในการตัดสินใจของกนง. ที่จะประเมินสถานการณ์ ว่ามีความจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ต้องขึ้น สำหรับการส่งสัญญาณของ กนง. ว่าจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปลายปีนี้ เป็นแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั่วโลกที่ต้องขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของไทยต้องดูว่าควรจะขึ้นเมื่อไหร่ และต้องขึ้นในจังหวะที่เหมาะสม และต้องไม่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีปัญหา เช่น การขึ้นดอกเบี้ยมากเกินไปก็จะส่งผลกระทบทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามาอีก ทำให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นอีก ก็จะเป็นเรื่องที่ไม่ดีกับการส่งออกและเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ การขึ้นดอกเบี้ยที่มากเกินไป ก็จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อไม่เข้าสู่กรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 1-4% เพราะตอนนี้อันเงินเฟ้อแตะกรอบล่างอยู่เล็กน้อย กรณีอย่างนี้ กนง. ก็ต้องชั่งน้ำหนักว่าควรขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ แต่หาก กนง. มองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจมันดีมากๆ แล้วจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในตอนนี้ ก็เป็นสิ่งที่ กนง. ต้องตัดสินใจ

“ตอนนี้ ธปท. บอกว่าเป็นห่วงเงินบาทจะแข็งค่า จากเงินทุนไหลเข้า รวมทั้งการปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2562 จะต่ำลงอีก แล้วจะมาขึ้นดอกเบี้ยในตอนนี้ จะไปขึ้นดอกเบี้ยทำไม ซึ่ง ธปท. มีอิสระในการตัดสินใจ แต่ก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อประเทศด้วย ไม่ใช่อิสระและให้ประเทศเป็นอย่างไรก็ได้” นายอภิศักดิ์ กล่าง

นอกจากนี้ ความเป็นห่วงเกี่ยวกับนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐและจีน รวมถึงสงครามการค้า ถ้า ธปท. เป็นห่วงปัจจัยดังกล่าว ก็ยิ่งไม่ควรต้องขึ้นดอกเบี้ย และควรจะต้องรอดูว่าสงครามการค้าจะกระทบกับเศรษฐกิจไทยมากน้อยแค่ไหน หากเศรษฐกิจไทยโดนกระทบมาก ธปท.ก็ต้องชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ไม่ใช่ขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วก็จะทำให้เศรษฐกิจมีปัญหา

รมว.คลัง กล่าวว่า กรณีที่ กนง. เป็นห่วงว่าถ้ามีการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำเป็นเวลานานทำให้ตลาดคาดการณ์ และพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทน จนทำให้เกิดความเสี่ยง มันไม่เกี่ยวข้องกัน การหาผลตอบแทน คือ การที่นักลงทุนไปหาผลตอบแทนที่ดีขึ้น ซึ่งนักลงทุนสมัยนี้ ดูแลตัวเองเป็น และผู้ลงทุนส่วนมากเป็นรายใหญ่ทั้งนั้น สางนรายเล็กก็ยังฝากเงินอยู่ที่ธนาคารพาณิชย์ทั้งนั้น ยังไม่ได้นำเงินไปไหน ซึ่งกระทรวงการคลัง เตรียมขายหน่วยลงทุนกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) ให้รายย่อยแล้ว

สำหรับการคงประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่ 4.4% ซึ่งต่ำกว่าที่กระทรวงการคลังคาดการณ์ไว้ที่ 4.8% ก็เป็นเรื่องของ ธปท.ที่จะประมาณการณ์อย่างระมัดระวัง เพราะมีอิสระในการประเมิน

จาก https://www.khaosod.co.th   วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2561

37เขื่อนระดับน้ำต่ำกว่า30%ของความจุ หวั่นไม่พอใช้ช่วงแล้ง

สทนช. ห่วง 37เขื่อนน้ำต่ำกว่า 30% ของความจุหวั่นวิกฤตไม่พอใช้ช่วงฤดูแล้ง เตรียมประสานฝนหลวงบินเติมน้ำ

นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 21-25 ก.ย. จะยังมีฝนตกหนักบางแห่ง ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขณะเดียวกันกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(สสนก.) ระบุว่าสถานการณ์ฝนเริ่มลดลง ในภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งต้องเร่งวางแผนเก็บกักน้ำและเติมน้ำโดยประสานกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตรทำฝนหลวงเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้อยกว่า 60% รวม 20 แห่ง แบ่งเป็น ขนาดใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนกิ่วลม และเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ขนาดกลาง 18 แห่ง

ทั้งนี้ที่ต้องติดตามเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ปัจจุบันมีถึง 37 แห่ง แบ่งเป็น ขนาดใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่มอก 26% เขื่อนทับเสลา 26% และขนาดกลาง 35 แห่ง ประกอบด้วย ภาคเหนือ 4 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 22 แห่ง ภาคตะวันออก 3 แห่ง ภาคกลาง 1 แห่ง ภาคใต้ 5 แห่ง โดยสทนช.จะเรียกประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฯ วันที่ 24 ก.ย. นี้เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ที่มีน้ำต้นทุนน้อย ปี 61-62 เพื่อลดผลกระทบ ในฤดูแล้งในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า หลังจากพายุมังคุดออนตัวเป็นดีเปรสชั่น พบว่าในบางเขื่อนต้องปรับลดการระบายเพื่อกักเก็บน้ำให้ไว้สำหรับการใช้ในฤดูแล้ง โดยในลุ่มเจ้าพระยา ชะลอการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ .ลพบุรี มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 574 ล้าน ลบ.ม. หรือ 59 % ของความจุอ่างฯ ในขณะที่ฤดูฝนคงเหลืออีกประมาณ 1 เดือนเศษๆ จึงต้องวางแผนเก็บกักน้ำไว้ในอ่างฯให้ได้มากที่สุด โดยจะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรกภายในวันที่

ในวันที่ 30 ก.ย. 61 จะทยอยเก็บกักน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ 700 ล้าน ลบ.ม. และช่วงที่ 2 ภายในวันที่ 15 ต.ค. 61 จะทยอยเก็บกักน้ำให้อยู่ในระดับเก็บกัก คือ 900 – 960 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้น จึงจำเป็นต้องทยอยปรับลดการระบายน้ำเป็นขั้นบันได

โดยจะเริ่มลดการระบายตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย. 61 ให้เหลือในเกณฑ์ 330 ลบ.ม./วินาที และในวันที่ 21 ก.ย. 61 จะทยอยปรับลดการระบายให้เหลือ 250 ลบ.ม./วินาที จากที่ปัจจุบันระบายในปริมาณ 500 ลบ.ม.ต่อวินาที พร้อมกับติดตามสถานการณ์น้ำด้านท้ายน้ำอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายน้ำ.

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ 4 เขื่อนหลัก ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ณ 20 ก.ย. 61 มีปริมาณน้ำรวมกัน 17,646 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 71% ของความจุอ่างฯ รวมกันปริมาณน้ำใช้การได้ 10,950 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 60% ของปริมาณน้ำใช้การได้ ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 7,200 ล้าน ลบ.ม

ขณะที่ สถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ณ วันที่ 20 ก.ย. 61 ปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ วัดได้ 967 ลบ.ม./วินาที ต่ำกว่าตลิ่ง 5.93 เมตร และมีปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเท่ากับ วานนี้ในอัตรา 649 ลบ.ม./วินาที รับน้ำเข้าฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกรวม 315 ลบ.ม./วินาที มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่ อ.บางไทร เฉลี่ย 1,092 ลบ.ม./วินาที สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแนวโน้มลดลงเนื่องจากอิทธิพลพายุดีเปรสชั่นมังคุดอ่อนกำลังลงทำให้มีปริมาณฝนตกทางตอนบนของประเทศไทยลดลงตามไปด้วย

จาก https://www.posttoday.com   วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2561

“อุตตม”ย้ำแผนขับเคลื่อนอุตสาหกรรมใหม่ ตัองพัฒนาไบโออีโคโนมี-ส่งเสริมโรบอท

นายอุตตม สาวนาวยน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยในงานสัมมนาวิชาการประจำปีของสมาคมนักศึกษาสถาบันวิทยาการตลาดทุนว่า วาระหลักการดำเนินงานของรัฐบาลคือการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจ โดยผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตและกระจายอย่างทั่วถึง ซึ่งการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม รัฐบาลและเอกชนดำเนินงานตามแผนอุตสาหกรรม 4.0 กำหนดเป้าหมายทั้งในอุตสาหกรรมเดิมที่มีจุดแข็งอยู่แล้ว และพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมชีวภาพ (ไบโออีโคโนมี) ในภาคตะวันออกเฉลียงเหนือ (อีสาน) ภาคเหนือตอนล่าง โดยให้เอกชนเข้าไปลงทุนและเป็นแกนนำการพัฒนาโดยนำนวัตกรรมมาปรับใช้ นอกจากนี้ส่งเสริมอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ทดแทนการนำเข้าหุ่นยนต์ปีละ 1 แสนล้านบาท รวมถึงการพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ และการเร่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เตรียมความพร้อมด้านระบบคมนาคม โลจิสติกส์และด้านอื่นๆ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบกฎหมายพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทยปีพ.ศ.2561-2570 แล้ว เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้เป็นไบโอฮับของอาเซียน

“อุตสาหกรรมใหม่ที่อยากเน้นคือไบโออีโคโนมี โดยใช้สินค้าเกษตรซึ่งเป็นสินค้าต้นทาง สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ทั้งอาหาร และบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมองว่าหากมีการส่งเสริมเป็นระบบ จะทำให้ไทยมีโอกาสเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมด้านนี้ รวมถึงการให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ คนไทยเริ่มผลิตหุ่นยนต์ได้ ใช้ทดแทนการนำเข้าได้ ทั้งนี้จะต้องต้องพัฒนาผลิตภาพของระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติและตำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย” นายอุตตมกล่าว

นายอุตตมกล่าวว่า นอกจากนี้สิ่งที่จะต้องขับเคลื่อน ภายหลังที่รัฐบาลเข้ามาดำเนินงานแล้วทำให้ประเทศเข้าสู่ภาวะปกติ คือจะต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเศรษฐกิจก็ฟื้นขึ้นมาแล้ว แต่สิ่งสำคัญคือจะต้องทำให้มีการกระจายตัวอย่างทั่วถึง นำความได้เปรียบเรื่องจุดยุทธศาสตร์มาสร้างโอกาสให้กับเอกชน พัฒนาเทคโนโลยีเชื่อมโยงกับการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของสตาร์ตอัพ และเตรียมความพร้อมด้านการรับผิดชอบต่อสังคมก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 และการยกระดับบุคลากรสายอาชีพ (สายอาชีวะ) ให้ตอบสนองตลาดได้ โดยตั้งเป้าอุตสาหกรรมเป้าหมาย ต้องมีบุคลากรอย่างน้อย 1 แสนคน โดยได้จัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาวิจัยและนวัตกรรมขึ้น เพื่อดูแลการขับเคลื่อนวาระการวิจัยและสนับสนุนการวิจัยของภาคอุตสหกรรมโดยตรง ซึ่งคาดว่ากระทรวงการอุดมศึกษาฯ จะเริ่มทำงานในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ บริษัท ต้ำตาลมิตรผล จำกัด และประธานอาวุโส สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า นอกจากการพัฒนาผลิตใหม่ๆ เช่น สารให้ความหวานแทนน้ำตาลแล้ว บริษัทยังให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมใหม่ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลด้วย โดยปัจจุบันพัฒนาด้านไบโออีโคโนมี เช่น น้ำตาลที่มีแคลอรี่ต่ำ อาหารเสริมวิตามิน ตามแนวทางของรัฐบาลที่วางเป้าหมายประเทศเป็นฮับสำคัญของอาเซียน ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้ทำวิจัยร่วมกับไต้หวันและจีน และกำลังศึกษาเพิ่มเติมว่าจะต่อยอดอย่างไรได้บ้างในอนาคต

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 20 กันยายน 2561

ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง เหตุประชุมกนง.เสียงแตก 5:2 หลัง2เสียงเห็นควรขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25%-จับตาตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภค ก.ย.ของยูโรโซน

ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง หลังผลการประชุม กนง.มีมติ 5 ต่อ 2 โดย 2 เสียง เห็นสมควรขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จับตาตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนก.ย.ของยูโรโซน

ผู้สื่อข่าวรายงานค่าเงินบาท วันนี้ (20 ก.ย.2561 ) เปิดตลาดที่ 32.41 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่า ต่อเนื่องจากระดับปิดเมื่อวานที่ 32.45 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ล่าสุดค่าเงินบาทซื้อขายอยู่ที่ระดับ 32.20-32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ด้านนักค้าเงินธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทวันนี้ มีทิศทางแข็งค่าต่อเนื่อง โดยปัจจัยหลักมาจากผลการประชุมกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวานนี้ ที่คณะกรรมการมีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% และ2  เสียงเห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 0.25% จากเดิมอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.50% เป็น 1.75% ต่อปี

พร้อมกันนี้นักค้าเงินได้ประเมินว่า ค่าเงินบาทในวันนี้น่าจะเคลื่อนไหวในกรอบที่มีแนวรับ 32.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่แนวต้านให้ไว้ที่ 32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ การประกาศตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของยูโรโซนเดือน ก.ย.วันนี้

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 20 กันยายน 2561

ไทยยังอยู่ในยุคอุตสาหกรรม 2.0 เป็นส่วนใหญ่

ส.อ.ท.เผยผลประเมินศักยภาพอุตสาหกรรมภาคการผลิต-การค้า-บริการ 1,500 ราย พบส่วนใหญ่อยู่ระดับ 2.0 เกือบทุกมิติ

นายขัติยา ไกรกาญจน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการประเมินศักยภาพอุตสาหกรรมภาคการผลิต การค้า และบริการ ผู้ประกอบการปีนี้ 1,500 ราย ซึ่ง ส.อ.ท.ดำเนินการเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พบว่า ผู้ประกอบการในภาพรวม มีศักยภาพอยู่ในระดับ 2.0 เกือบทุกมิติ โดยได้จากสัดส่วนผู้ตอบแบบประเมินร้อยละ 61 ของแบบประเมินที่ส่งทั้งหมด 1,500 ราย

นอกจากนี้ หากจำแนกตามขนาดกิจการ พบว่า เอสเอ็มอี ตอบแบบประเมินมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 70  และมีระดับศักยภาพเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2.0 ทุกขนาดกิจการ โดยพื้นที่ตั้งกิจการของผู้ตอบแบบประเมิน ส่วนใหญ่อยู่ภาคกลางมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 59 และเมื่อพิจารณาจากค่าเฉลี่ย พบว่า ผลการประเมินแต่ละภูมิภาคมีระดับที่เท่ากัน ซึ่งอยู่ที่ระดับ 2.0 ข้อมูลจำแนกตามประเภทกิจการ พบว่า อันดับ 1 อยู่ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเป็นหลัก คิดเป็นร้อยละ 27 และเมื่อพิจารณาไปที่ 9 อุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่รัฐบาลให้การสนับสนุน ได้แก่ กลุ่ม New S-Curve และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง พบว่า มีระดับศักยภาพเฉลี่ย อยู่ที่ระดับ 2.0

นายขัติยา ระบุว่า การออกแบบประเมินครั้งนี้ ถือเป็นการนำร่องที่ปัจจุบันยังไม่สามารถประเมินศักยภาพผู้ประกอบการได้อย่างครบถ้วนและแม่นยำ ส.อ.ท.จึงหวังว่าต่อจากนี้จะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบทบทวนปรับปรุงแบบประเมินและทำการสำรวจข้อมูลกับผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อให้ภาครัฐได้เห็นถึงแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิต การค้าและบริการ และนำไปใช้ในการวางแนวนโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการให้เกิดการพัฒนาและยกระดับศักยภาพการผลิต สำหรับเพิ่มขีดความสามารถให้กับภาคอุตสาหกรรมได้อย่างตรงจุดมากขึ้น

จาก https://www.tnamcot.com  วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2561

“สมคิด”ดึงซีอีโอภาคเกษตร ร่วมแนวทางประชารัฐ ลดปัญหาพืชตกต่ำ

ที่กระทรวงพาณิชย์ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังประชุมร่วมกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารระดับสูงในธุรกิจภาคเกษตร ว่า เป็นความร่วมมือในเรื่องแนวทางการหาตลาดรองรับผลผลิตทางเกษตรตามแนวทางประชารัฐ  และเป็นการใช้ตลาดนำการผลิต เพื่อลดปัญหาต่างๆที่ประสบมาตลอด ซึ่งการปลูกพืชเชิงเดียว มีความเสี่ยงและแก้ปัญหายากจนไม่ได้ จึงเกิดความร่วมมือเชื่อมโยงกัน ที่เอกชนมีข้อมูลว่าต้องการพืชอะไร ช่วงใด ปริมาณเท่าไหร่ กระทรวงพาณิชย์รู้เรื่องตลาด กระทรวงเกษตรฯมีข้อมูลด้านผลิต ซึ่งการเชิญประชุมก็เพื่อร่วมมือประชารัฐอย่างจริงจัง 3 ส่วน

สำหรับภาคเอกชนได้มอบหมายให้นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน)  เป็นแกนกลางในการหารือภาคเอกชน เรื่องการรับซื้อเพื่อให้ทันเวลากับผลผลิตโครงการแรก และหลังคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบมาตรการจูงใจดอกเบี้ยต่ำและชดเชยประกันพืชผล ที่กระทรวงเกษตรฯจะทำเสนอเพื่อจูงใจเกษตรกร ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชแทนทำนา

“ผมจะกำชับและผลักดันให้เกิดความสำเร็จให้เร็วที่สุด และเชื่อว่าภายในเวลา 2-3 ปี หากโครงการนี้เดินหน้าต่อเนื่อง สามารถจูงใจเกษตรกรเข้าระบบการปลูกพืชหลากชนิด ก็จะเป็นผลดีต่อการเกษตรระยะยาว “

นายสมคิด กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ ติดตามสถานการณ์และผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีน อาจลุกลามสงครามการค้าโลก และผลักดันภาคบริการโดยเฉพาะบริการในภาคท่องเที่ยว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้บริหารระดับสูงที่เจ้าร่วมประชุมครั้งนี้ ประมาณ 20 ราย  อาทิ นายศุภชัย เจียนวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) นายทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มเซ็นทรัล นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด(มหาชน) รวมถึงผู้บริหารจากบริษัท สยามแมคโคร บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด เป็นต้น

จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2561

รับมือวิกฤตอุตฯอ้อย-น่ำตาล ราคาขั้นต้นวูบ680บ.ชาวไร่พบ”อุตตม”

วิกฤตอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาลไทยเริ่มแล้ว หลังราคาน้ำตาลในตลาดโลกตกต่ำลงเป็นประวัติการณ์ ทำราคาอ้อยขั้นต้นปี 2561/62 ร่วงลงมาเหลือแค่ตันละ 680 บาท ประกอบกับผลผลิตอ้อยเข้าหีบปีนี้สูงถึง 135 ล้านตันส่งผลชาวไร่อ้อยทั่วประเทศรวมตัวเข้าพบ “อุตตม”

นางวรวรรณ  ชิตอรุณ  เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวถึงปริมาณอ้อยปีการผลิต 2560/2561 เข้าหีบสูงถึง 135 ล้านตัน “ซึ่งสูงกว่า” ปกติถึง 40% (92 ล้านตันในปีการผลิต 2559/2560) ดังนั้น สอน.จึงคาดการณ์ปริมาณอ้อยจะเข้าสู่ภาวะปกติในปี 2561/2562 ขณะที่ราค้าอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2561/2562 เมื่อคำนวณแล้วจะเฉลี่ยอยู่เพียง 680 บาท/ตันเท่านั้น โดยเตรียมประกาศราคาอ้อยขั้นต้นในเดือนตุลาคมนี้ โดยราคาอ้อยที่ลดลงเป็นผลมาจากราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกตกต่ำ

อย่างไรก็ตาม ได้มีการกำหนดแนวทางเพื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อยโดยจะส่งเสริมให้มีการนำ “น้ำตาลส่วนเกิน” ที่ส่งออกในราคาต่ำไปผลิตเป็นเอทานอลเพื่อผสมน้ำมันเบนซิน ในการจำหน่ายเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ซึ่งแนวทางนี้จำเป็นต้องหารือกับทางกระทรวงพลังงานในการพิจารณาต่อไป เนื่องจากหากน้ำมันแก๊สโซฮอล์ถูกผลิตและจำหน่ายมากขึ้น ชาวไร่อ้อยก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น และเพื่อความยั่งยืนของระบบอ้อยและน้ำตาลทราย สอน.ยังเตรียมส่งเสริมให้มีการทำ “เกษตรแปลงใหญ่” โดยการรวมพื้นที่ปลูกอ้อยรายย่อยเข้ามาบริหารร่วมกันเพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ซึ่งปัจจุบันที่จังหวัดบุรีรัมย์ และ “กลุ่มน้ำตาลมิตรผล” ได้ดำเนินการจัดทำต้นแบบการทำไร่อ้อยแบบสมาร์ทฟาร์มมิ่งอยู่ ขณะเดียวกันรัฐบาลยังมีการสนับสนุนจากโครงการสินเชื่อเพื่อรถตัดอ้อย ดอกเบี้ย 2% โดยในปีนี้ (2562) เตรียมที่จะของบประมาณเพิ่มอีกประมาณ 2,000 ล้านบาท จากเดิมมีอยู่ 3,000 ล้านบาท (งบฯ 3 ปี) และใช้ไปแล้ว 1,800 ล้านบาท

ด้านนายนราธิป  อนันตสุข  หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้ถือว่าเป็นวิกฤตของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทีเดียว เมื่อราคาอ้อยขั้นต้นตกลงมาอยู่ที่ 680 บาท/ตันอ้อย “กระทบต่อรายได้ชาวไร่อ้อยเป็นอย่างมาก” ดังนั้น ทางสมาพันธ์ได้ยื่นหนังสือต่อนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมไปเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมาเพื่อขอความช่วยเหลือ และในวันที่ 19 กันยายนนี้สมาคมชาวไร่อ้อยเตรียมเข้าพบนายอุตตมเพื่อหารือผลกระทที่เกิด และแนวทางรวมถึงการช่วยเหลือก่อนเปิดหีบอ้อยในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้

“แนวทางช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่เป็นไปได้และไม่ขัดกับข้อตกลงองค์การการค้าโลก(WTO) ก็คือ การขอให้รัฐช่วยลดต้นในส่วนของที่เป็นปัจจัยการผลิต ได้แก่ ปุ๋ย ให้มีราคาที่ถูกลงจากปัจจุบันการปลูกอ้อย 1 ไร่/ปุ๋ย 1 ลูก ราคา 500-600 บาท น้ำมันที่ใช้ในเครื่องจักรอย่างเครื่องตัดอ้อย หากได้รับน้ำมันที่มีราคาถูกลงก็จะช่วยลดต้นทุนให้ชาวไร่อ้อยได้มากขึ้น ส่วนปริมาณปลูกอ้อยลดลงเพราะราคาตกนั้นในครั้งนี้นับว่ารุนแรงที่สุดเมื่อย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่ตอนนั้นมีกองทุนอ้อยฯที่ไปกู้เงินแล้วเอาเงินเข้ามาช่วยชาวไร่โดยรัฐ 150-160 บาท แต่กลายเป็นว่าการดำเนินการแบบนั้นเท่ากับรัฐบาลเข้าไปอุดหนุนจึงขัดกับข้อตกลง WTO และประเทศไทยถูกบราซิลฟ้อง มาปีนี้เราไม่มีเงินช่วยจากรัฐบาลแล้ว ดังนั้น ทางออกก็คือต้องลดต้นทุนการปลูกอ้อยเพียงอย่างเดียงเท่านั้นที่จะช่วยได้” นายนราธิปกล่าว

ด้านนายสิริวุทธิ์  เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่าปีการผลิต 2561/62 คาดว่าจะมีปริมาณอ้อยอยู่ที่ 125-130 ล้านตัน ถือว่า “ลดลงจากปีที่แล้วไม่มาก” แต่สถานการณ์ตอนนี้ก็คือ ราคาน้ำตาลโลกตกลงมากส่งผลกระทบมายังตลาดในประเทศของไทยแน่นอนทั้งในส่วนของโรงงานน้ำตาลและตัวชาวไร่อ้อยเอง ทางออกในขณะนี้และเพื่อสร้างความยั่งยืนในส่วนของฝั่งชาวไร่อ้อยก็คือ จะต้องทำให้ต้นทุนลดลงด้วยการเพิ่มปริมาณอ้อยโดยไม่ใช่การขยายพื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น และให้มีคุณภาพยีลต์/ไร่สูงขึ้น

โดยในส่วนของโรงงานน้ำตาลก็ต้อง “ขจัด” น้ำตาลออกไป ต้องลดต้นทุนการผลิตน้ำตาล ซึ่งขณะนี้ทุกโรงงานทำอยู่ เช่น แทนที่จะผลิตน้ำตาลเพียงอย่างเดียวต้องสามารถนำไปทำอย่างอื่นได้ด้วย  เช่น เอทานอล การทำเชื้อเพลิง ไปผลิตชีวมวล เป็นต้น ขณะเดียวกันเนื่องจากน้ำตาลเป็นสินค้าคอมมิวนิตี้จึงต้องลดปริมาณ “ซัพพลายลง” ในทางจิตวิทยาจะส่งผลต่อราคา

“ไม่ว่าจะชาวไร่หรือโรงงานปีนี้ต้องช่วยกันมากขึ้น เราใช้เวลาหารือกันมาตลอด และเมื่อถึงจุดหนึ่งรัฐต้องเข้ามาช่วย แต่เราจะใช้เงินจากกองทุนอ้อยฯมาช่วยแบบเดิมไม่ได้แล้ว หลายแนวทางเราคุยกันและมีทางออก แต่เรายังไม่มีวิธีที่จะใช้มันโดยต้องไม่ WTO

จาก https://www.prachachat.net    วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2561

‘กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย’ จี้ นายกฯ สั่งเลิกโรงไฟฟ้าชีวมวล ทบทวนอีไอเอโรงไฟฟ้า-โรงงานน้ำตาล

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 19 กันยายน ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน จำนวนเกือบ 100 คน เดินทางมายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เพื่อเรียกร้องให้ 1.ยกเลิกกระบวนการขอใบอนุญาตกรณีโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์ 2.ให้ยกเลิกอีไอเอโรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน และ 3.ให้กลับมาทำ SEA เพื่อให้มีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ก่อน โดยต้องศึกษาว่าพื้นที่มีความเหมาะสมที่จะสร้างโรงงานอุตสาหกรรมหรือไม่ ทั้งนี้การสร้างโรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่บ้านน้ำปลีก ต.น้ำปลีก อ.เมืองอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ ได้สร้างความกังวลใจให้กับชาวบ้านในหลายๆข้อ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เคยอธิบายถึงข้อเสีย และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อชุมชน รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติที่ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ ชาวบ้านจึงรวมกลุ่มเพื่อคัดค้านการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่มาโดยตลอด ตั้งแต่เวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 แม้ว่ามติของ คชก. จะให้อีไอเอผ่านทั้งสองโรงงานไปแล้ว และดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว ทั้งนี้ ทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง ยังเชื่อว่าที่ผ่านมากระบวนการจัดทำอีไอเอนั้นไม่ชอบธรรมหลายด้าน ทางกลุ่มจึงขอเรียกร้องตามข้อเรียกร้องดังกล่าว

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2561

มิตรผลชู4แนวทาง บริหารคนเจนฯวาย

กลุ่มมิตรผล ตั้งเป้าสู่องค์กรระดับโลก ทุบสถิติคว้ารางวัลสุดยอดนายจ้างดีเด่น 6 รางวัล

นายบวรนันท์ ทองกัลยา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานทรัพยากรบุคคลและบริหาร กลุ่มมิตรผล เปิดเผยว่า ภายในปี 2563 บริษัทได้ตั้งเป้าสู่ เวิลด์ คลาส ออร์แกไนเซชั่น ซึ่งมุ่งเน้นความสำคัญของการบริหารทรัพยากรบุคคลจากปัจจุบันบุคลากรกลุ่มเจเนอเรชั่น วาย มีสัดส่วนกว่า 70% จากทั้งหมด 7,400 คน ส่วนกลุ่มเบบี้บูมเมอร์มีสัดส่วน ลดลงเหลือต่ำกว่า 5% จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายในการบริหารหลายเจเนอเรชั่นที่อยู่รวมกัน

ทั้งนี้ บริษัทมี 4 แนวทางในการบริหารบุคลากร ได้แก่ การสร้างแรงบันดาลใจให้พนักงาน การรับฟังความคิดเห็น การสร้างความมั่นใจ และการให้ความสำคัญ ส่งผลให้บริษัทมีเทิร์นโอเวอร์อยู่ที่ 6% ต่อปี ซึ่งถือได้ว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดที่อยู่ในระดับ 12% ต่อปี

ขณะที่ล่าสุดบริษัทได้รับรางวัล สุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย ประจำปี 2561 ซึ่งได้รับ 6 รางวัลจากบริษัทในเครือซึ่งทำสถิติรับรางวัลมากที่สุดจากเวทีปีนี้และนับเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันที่ได้รับรางวัล

จาก https://www.posttoday.com    วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2561

สอน.ช่วยชาวไร่อ้อยรับมือราคาโลกดิ่งเสนอรัฐนำน้ำตาลส่งออกกลับผลิตเอทานอลผสมเป็นแก๊สโซฮอล์

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผยว่า จากกรณีราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2561/62 ที่จะประกาศในเดือนตุลาคมนี้มีแนวโน้มเฉลี่ยเพียง 680 บาทต่อตันถือว่าต่ำมาก เนื่องจากราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกตกต่ำจากผลผลิตทั้งโลกสูงถึง 7 ล้านตันเพราะมีน้ำตาลจากประเทศที่ 3 เข้ามาเพิ่ม แนวทางหนึ่งในการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยคือการส่งเสริมให้มีการนำน้ำตาลส่วนเกินที่ส่งออกในราคาต่ำมาผลิตเอทานอลเพื่อผสมน้ำมันเบนซินในการจำหน่ายเป็นแก๊สโซฮอล์มากขึ้น ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะทำให้ต้นทุนราคาน้ำมันดังกล่าวเพิ่มขึ้นเพียง 2-3 สตางค์ต่อลิตร แต่จะมีเงินเข้าระบบช่วยเหลือชาวไร่อ้อยกว่า 1,000 ล้านบาทมีเดียว

“แนวคิดนี้จะเสนอต่อนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อนำไปหารือกับกระทรวงพลังงานในการพิจารณาต่อไป เพราะเรื่องนี้เป็นระดับนโยบาย และราคาน้ำตาลส่งออกที่ตกต่ำเหมาะจะผลิตเอทานอลมากเพราะไม่แพง โดยวิธีดังกล่าวนอกจากจะช่วยให้เกษตรกรชาวไร่ได้รับค่าอ้อยที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นจิตวิทยาทำให้ตลาดโลกเห็นว่าปริมาณน้ำตาลส่งออกลดลงจะดันราคาสูงขึ้น ทั้งนี้การลอยตัวราคาน้ำตาลในประเทศที่ผ่านมาต้องขอบคุณชาวไร่ที่ยอมเสียสละลอยตัวช่วงขาลงทำให้ผู้บริโภคไม่เดือดร้อน แต่ตอนนี้ชาวไร่กำลังเดือดร้อน จึงต้องช่วยเหลือให้ชาวไร่เข้มแข็ง”นางวรวรรณกล่าว

นางวรวรรณกล่าวว่า แนวทางดังกล่าวจะไม่ขัดเงื่อนไของค์การการค้าโลก(ดับบลิวทีโอ) ทำให้บราซิลมาฟ้องร้องไทยได้ เพราะเป็นแนวทางเสริมกับแนวทางหลักที่ระบบจะดูแลกันเองหลังจากการลอยตัวราคาที่กำหนดให้นำเงินส่วนต่างราคาจำหน่ายในประเทศและส่งออกมาสะสมเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.) ซึ่งปัจจุบันเก็บอยู่ที่ 2-3บาทต่อตัน จากนั้นจะนำยอดเงินรวมมาแบ่งเป็นรายได้ในปลายฤดูหีบก็นำมาบรรเทาปัญหาราคาอ้อยตกต่ำ

จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2561

พาณิชย์เดินหน้าเจรจา FTA "ไทย-ศรีลังกา" รอบ 2

 เปิดโต๊ะเจรจาสินค้า-บริการ-ลงทุน ตั้งเป้าการค้า 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 63

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดี กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจรจา FTA ไทย-ศรีลังกา ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 19 – 21 ก.ย. 2561 ที่กรุงเทพฯ โดยจะหารือต่อเนื่องจากการประชุมครั้งแรกที่ศรีลังกา เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งในครั้งนี้ ทั้ง 2 ฝ่าย จะเริ่มเจรจาข้อบทความตกลงฯ ครอบคลุมทั้งการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การประชุมดังกล่าวจะประกอบด้วยการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า (Trade Negotiating Committee) และการประชุมคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง 7 ชุด ได้แก่ 1.คณะทำงานด้านการค้าสินค้า (WG-TIG) 2.คณะทำงานด้านกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (WG-ROO) 3.คณะทำงานด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (WG-SPS) 4.คณะทำงานด้านการเยียวยาทางการค้า (WG-TR) 5.คณะทำงานด้านการค้าบริการ (WG-TIS) 6.คณะทำงานด้านการลงทุน (WG-Investment) และ 7.คณะทำงานด้านกฎหมาย (WG-LII) โดยมีผู้แทนจากส่วนราชการต่าง ๆ เข้าร่วม อาทิ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กรมศุลกากร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักคณะกรรมการกฤษฎีกา กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และ BOI

ทั้งนี้ ทั้ง 2 ฝ่าย จะหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับอัตราภาษีและกฎระเบียบทางการค้า ควบคู่ไปกับการเจรจาหลักการและรูปแบบการลดภาษีสินค้าระหว่างกัน (Modalities) เพื่อให้การเจรจามีความคืบหน้าและสามารถสรุปผลการเจรจาได้ภายในปี 2563 ตามที่นายกรัฐมนตรีของไทยและประธานาธิบดีศรีลังกาได้แสดงเจตนารมณ์ไว้ในการประกาศเปิดการเจรจา FTA ไทย–ศรีลังกา เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2561 ในช่วงการเดินทางเยือนศรีลังอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีไทย

ทั้งนี้ ตนเชื่อมั่นว่า FTA ไทย-ศรีลังกา จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนและส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการค้าที่ 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2563 ในปี 2561 (ม.ค. – ก.ค.) ศรีลังกาเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยการค้าระหว่างไทยและศรีลังกามีมูลค่า 319 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 6.7% โดยไทยส่งออกไปศรีลังกา 271 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และนำเข้าจากศรีลังกา 47 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้ ศรีลังกาเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพในภูมิภาคเอเชียใต้ มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเฉลี่ย 6% ต่อปี มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศที่ทันสมัย และมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งทางทะเล (Marine Hub) ที่สามารถเชื่อมโยงสู่ยุโรป อเมริกาเหนือ และแอฟริกา รวมถึงตั้งอยู่บนเส้นทางยุทธศาสตร์ Belt and Road ของจีน นอกจากนี้ ศรีลังกายังมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะอัญมณีและประมง ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ

จาก www.thansettakij.com   วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2561

มูลนิธิชีววิถี จับตาต่อ หลัง ครม.ผ่านร่าง กม.เกษตรยั่งยืน

มูลนิธิชีววิถีเฮ ครม.ผ่านร่าง กม.เกษตรยั่งยืน แต่ยังไม่วางใจ เหตมีอีกหลายขั้นตอนที่ปรับเปลี่ยนได้ ขอจับตาดูต่อพ่วงแบน 3 สารพิษ

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BioThai) กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ว่า ถือเป็นแนวทางที่ดี หลังจากนี้ตามขั้นตอนทางกฎหมาย ครม.จะส่งร่างดังกล่าวไปยังกระทรวงต่างๆ เพื่อให้แสดงความคิดเห็น ก่อนรวบรวมความคิดเห็นส่งไปยัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งจากการที่ได้ทำงานประสานกัน ทางภาคประชาชนเชื่อมั่นว่าหลายๆ กระทรวง อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย จะให้การสนับสนุนอย่างแน่นอน แต่สิ่งที่เป็นกังวล คือ หากมีการส่งเข้า สนช.แล้ว ก็จะต้องมีการตั้งกรรมาธิการ และส่งไปยัง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งไม่ทราบว่าจะต้องมีการแก้ไขอย่างไรบ้าง

“การที่ร่างผ่านความเห็นชอบของ ครม.แล้วถือเป็นแนวทางที่ดี แต่ก็ยังไม่สามารถวางใจได้ เพราะหากดูตาม ไทม์ไลน์ ของการที่จะยกเลิกการใช้สารพิษทั้ง 3 ชนิด ทั้ง พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกรโฟเซตแล้ว บริษัทสารเคมีก็ยังมีช่องทางให้สามารถคัดค้านได้ และการยกเลิกก็ยังไม่เป็นผล ซึ่งในเรื่องนี้ที่ยังเหลืออีกหลายขั้นตอนและมีการคัดค้านมาตั้งแต่แรกก็ยังไม่แน่ว่าต่อไปจะเป็นเช่นไร ดังนั้นภาคประชาชนจึงต้อขอจับตาดูต่อไป” นายวิฑูรย์ กล่าว

จาก https://mgronline.com   วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2561

ครม.อนุมัติร่าง พ.ร.บ.เกษตรกรรมยั่งยืน ดึงทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมพัฒนา

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน พ.ศ. ..... เพื่อส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนให้กับเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร พร้อมทั้งสนับสนุนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตั้งแต่การผลิต การพัฒนาคุณภาพสินค้า และการตลาด ตลอดจนกำหนดการจัดทำนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน รวมทั้งกำหนดคุณสมบัติของบุคคลผู้มีสิทธิ์ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนที่มีสิทธิตาม พ.ร.บ.นี้และการดำเนินการอนุมัติการส่งเสริมและสนับสนุน

นอกจากนี้ การจัดสมัชชาเกษตรกรรมยั่งยืนต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน ผู้บริโภค เกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร ในการจัดทำข้อเสนอหรือแนวทางการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน เสนอให้หน่วยงานของรัฐพิจารณา รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ การแต่งตั้งคณะกรรมการจัดสมัชชาเกษตรกรรมยั่งยืนและอำนาจหน้าที่ในการกำหนดจัดประชุมสมัชชาเกษตรกรรมยั่งยืน

ส่วนการคัดเลือกคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนให้ดำเนินการเสร็จภายใน 90 วันและให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาดำเนินการจัดสรรเงินจากกองทุนต่าง ๆ ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อสนับสนุนการจัดทำโครงการ หรือกิจกรรมเพื่อการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน

จาก https://www.tnamcot.com   วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2561

หอการค้าไทยเผยสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ส่งผลดีต่อภาพการส่งออก การลงทุนของไทย

หอการค้าไทยเผยสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ส่งผลดีต่อภาพการส่งออก การลงทุนของไทย ล่าสุดเอกชนสหรัฐร่วมประชุมหอการค้าไทย เผยเป็นผลดีต่อการค้า ขณะที่ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นจากสมาชิกหอการค้าทั่วประเทศ พบว่าอยู่ที่ระดับ 49.8 ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 8 เดือน ผลจากการท่องเที่ยวขยายตัว ภาคบริการโดยรวมดีขึ้น

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ในกลุ่มตัวอย่าง 378 ตัวอย่าง พบว่าค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 49.8 ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 8 เดือน เป็นผลมาจากการท่องเที่ยวขยายตัวดี ฉุดให้ภาคบริการโดยรวมดีขึ้น ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวดีขึ้น มีการส่งออกเพิ่มมากขึ้น ดอกเบี้ยคงที่ และรัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งใกล้เข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยว ทำให้ภาคธุรกิจมั่นใจสถานการณ์เศรษฐกิจในอนาคต

อย่างไรก็ตาม สมาชิกหอการค้าไทยยังได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ยังกระจุกตัว โดยเฉพาะภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลาง ที่ได้อานิสงส์จากการขยายตัวของเศรษฐกิจค่อนข้างน้อย และยังต้องเผชิญปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ รวมทั้งยังถูกซ้ำเติมจากปัญหาอุทกภัย และธนาคารยังเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลดูแลบริหารจัดการให้การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจกระจายสู่ภูมิภาคมากขึ้นด้วย

“แนวทางที่ต้องการให้เข้ามาส่งเสริม การขาดแคลนแรงงาน โดยต้องการทักษะแรงงานที่สถานประกอบการต้องการ จัดหาแรงงานถูกกฎหมาย อำนวยความสะดวกด้านท่องเที่ยว สร้างความเชื่อมั่นในการท่องเที่ยว เป็นต้น”

สำหรับกรณีที่สหรัฐกับจีนเตรียมทำสงครามการค้าระหว่างกันรอบใหม่ ด้วยการประกาศจะเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นอีกนั้น เบื้องต้นไม่อยากให้ทั้ง 2 ฝ่ายมีปัญหากัน แต่ที่ผ่านมาแม้จะมีความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีน การส่งออกไทยก็ยังขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยส่วนตัวจึงมองว่ายิ่งทั้งสองฝ่ายขัดแย้งกันไทยจะยิ่งได้อานิสงส์ในเชิงบวกทั้งด้านการส่งออกและการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ 24 กันยายนนี้ ภาคเอกชนสหรัฐกว่า 300 รายจะร่วมคณะมากับหอการค้าสหรัฐ เดินทางมาประชุมร่วมกับหอการค้าไทยที่โรงแรมดุสิตธานี

อีกทั้งยังจะเข้าพบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีด้วย ในจำนวนนี้มีนักธุรกิจสหรัฐหลายรายที่เข้าไปลงทุนในจีน ก็มีความเป็นไปได้ที่จะพิจารณาเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มเติมในฐานะประเทศที่เป็นศูนย์กลางของอาเซียนเพื่อจะยังคงรักษาตลาดจีนไว้ ประกอบกับไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย และไทยเองก็จะเป็นประธานอาเซียนในปีหน้าทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนเพิ่มขึ้น และจะยิ่งเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวม จึงมองว่าแม้จะมีผลกระทบจากสงครามการค้า สำหรับประเทศไทยยังมองภาพดี ที่เป็นโอกาสของไทย ด้านการส่งออก เพราะจะทำให้มีการนำเข้าสินค้าจากไทยมากขึ้น

จาก https://www.prachachat.net    วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2561

‘น้ำตาลบุรีรัมย์’ เผยเห็นสัญญาณราคาน้ำตาลดิบในตลาดโลกปรับขึ้น

นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงกรณีสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เตรียมเสนอกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงาน ส่งเสริมให้นำน้ำตาลส่วนเกินที่ส่งออกในราคาต่ำมาผลิตเอทานอลเพื่อผสมน้ำมันเบนซินว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว เพราะมองว่าเป็นทางออกในช่วงที่ราคาน้ำตาลดิบในตลาดโลกมีราคาต่ำลง ซึ่งการนำไปผลิตเอทานอล จะใช้เนื้อน้ำตาลเป็นส่วนประกอบหลัก ทั้งนี้ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2561/62 ที่จะประกาศในเดือนตุลาคมนี้ อยู่ที่ 680 บาทต่อตัน ถือว่าต่ำมาก เมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ยที่ 700 บาทต่อตัน

“น้ำตาลเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาขึ้นลงตามกลไกในตลาดโลก ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาราคาปรับลงต่อเนื่อง ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 9 เซนต์ต่อปอนด์ ปัจจุบันราคาน้ำตาลอยู่ที่ประมาณ 11 เซนต์ต่อปอนด์ ราคาขายปลีกในประเทศอยู่ที่ 17-18 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ทั้งนี้แม้ว่าภายหลังที่รัฐบาลประกาศลอยตัวน้ำตาล ประกอบกับปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น ทำให้ราคาน้ำตาลลดลงต่อเนื่อง แต่เริ่มเห็นสัญญาณการปรับขึ้นโดยฤดูการผลิตหน้าราคาจะปรับขึ้นเป็น 12-13 เซนต์ต่อปอนด์ อย่างไรก็ตามไม่ค่อยห่วง เพราะราคาน้ำตาลเป็นวัฎจักรมีปรับขึ้นลง” นายอนันต์กล่าว

นายภัทรพงศ์ พงศ์สวัสดิ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปริมาณอ้อยในปีนี้อยู่ที่ 3.1 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 1 ล้านตัน ขณะที่ผลผลิตน้ำตาลในปีนี้อยู่ที่ประมาณ 3.7 แสนตัน แบ่งเป็น การบริโภคภายในประเทศ ประมาณ 5-6 หมื่นตัน ที่เหลือเป็นการส่งออกไปต่างประเทศ และปริมาณกากอ้อยอยู่ที่ 4.5 แสนตัน แบ่งเป็น การจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าฯ 1.5 แสนตัน และสำหรับทำโรงงานน้ำตาลอีก 3 แสนตัน

นายภัทรพงศ์กล่าวว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำตาลที่ปรับลดลงตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีผลกระทบกับผลประกอบการบริษัท โดยในช่วงครึ่งปีแรก รายได้อยู่ที่ 3,464 ล้านบาท ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่มีรายได้ 4,123 ล้านบาท กำไรสุทธิอยู่ที่ 288 ล้านบาท ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่มีกำไร 664 ล้านบาท อย่างไรก็ตามประเมินทิศทางในช่วงครึ่งปีหลังว่าผลประกอบการน่าจะดีขึ้น จากสถานการณ์ราคาน้ำตาลดิบที่ทยอยปรับตัว และรายได้ที่มาจากธุรกิจอื่น เช่น โรงไฟฟ้า ปุ๋ยอินทรีย์ ปรับตัวดีขึ้น

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2561

รมว. พลังงาน ลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.เพชรบูรณ์ ตรวจเยี่ยมระบบสูบน้ำแสงอาทิตย์สู้ภัยแล้ง ช่วยเสริมฐานความมั่นคง

รายได้เกษตรกรตามแนวทางไทยนิยมยั่งยืน ติดตามโครงการผลิตและขนส่งน้ำมันดิบแหล่งวิเชียรบุรี ยืนยันความโปร่งใสและตรวจสอบได้

ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน เดินทางลงพื้นที่ตรวจราชการในจังหวัดเพชรบูรณ์ วันที่ 17 กันยายน 2561 ซึ่งเป็นภารกิจส่วนหนึ่งของการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ โดยติดตามโครงการด้านพลังงานที่สำคัญในพื้นที่ ได้แก่ โครงการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สู้ภัยแล้ง (ระบบเกษตร) พื้นที่ต.บ้านกล้วย โครงการผลิตน้ำมันดิบบนบก แหล่งวิเชียรบุรี และโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลม เขาค้อ

ทั้งนี้ การตรวจเยี่ยมโครงการสูบน้ำแสงอาทิตย์สู้ภัยแล้ง (ระบบเกษตร) ที่ ต.บ้านกล้วย อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่ได้รับการสนับสนุนระบบการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการสูบน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร หลังจากประสบปัญหาภัยแล้ง และไม่สามารถได้รับผลผลิตการเกษตรได้อย่างเต็มที่ โดยเบื้องต้นจากการนำระบบสูบน้ำฯ ที่ได้รับจากการจัดสรรงบประมาณกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเมื่อปี 2559 พบว่ามีพื้นที่ได้รับประโยชน์จากชาวบ้านกลุ่มที่ 1 ประมาณ 163 ไร่ และชาวบ้านกลุ่มที่ 2 ประมาณ 174 ไร่ โดยเกษตรกรในพื้นที่ก่อนที่จะมีระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ เพาะปลูกข้าวและข้าวโพด รายได้เฉลี่ยจากเดิม 6,000 บาทต่อไร่ต่อปี เมื่อได้รับระบบสูบน้ำเข้ามาช่วยทำให้สามารถเพาะปลูกพืชผักพื้นดิน และผักสวนครัวเพิ่มเติม เช่น ปลูกถั่วเขียว มีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็นประมาน 10,000 บาท ต่อไร่ต่อปี ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ทำให้มีน้ำแน่นอน ปลูกพืชต่างชนิดในฤดูแล้งได้

โดยจากความสำเร็จของโครงการฯ ที่ผ่านมา จึงมีการขยายให้กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ ที่สนใจขอรับการติดตั้งระบบสูบน้ำแสงอาทิตย์ โดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุน ฯ อนุรักษ์พลังงานเพิ่มเติมอีก ซึ่งขณะนี้มีเกษตรอีก 2 กลุ่มที่พร้อมจะเข้าร่วมโครงการฯ แต่อยู่ระหว่างขั้นตอนข้อเสนอโครงการเพื่อพิจารณา ที่เอกสารยังไม่สมบูรณ์ โดยการลงพื้นที่ ในครั้งนี้ ผู้บริหารกระทรวงพลังงาน เจ้าหน้าที่สำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจะร่วมกันรับฟังปัญหาของชาวบ้าน และให้คำปรึกษา ตลอดจนจะเร่งช่วยอำนวยความสะดวกให้กับชาวบ้านที่มีความต้องการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์

ส่วนการเยี่ยมชมแหล่งน้ำมันดิบวิเชียรบุรีนั้น เป็นการเยี่ยมชมในแปลงสำรวจหมายเลข L44/43 เกี่ยวกับกระบวนการผลิตน้ำมันดิบและการจัดการน้ำจากกระบวนการผลิต โดยแปลงสำรวจดังกล่าวเป็นหนึ่งในแปลงสำรวจของแหล่งน้ำมันดิบวิเชียรบุรี ซึ่งมีพื้นที่ 134 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 2 อำเภอได้แก่ อำเภอวิเชียรบุรี และอำเภอศรีเทพ ในจังหวัดเพชรบูรณ์ ประกอบด้วยพื้นที่ผลิตจำนวน 3 แปลง ได้แก่ แปลงสำรวจหมายเลข SW1 มีบริษัท อีโค่ โอเรียนท์ เอ็นเนอร์ยี่ (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ดเป็นผู้รับสัมปทาน และแปลงสำรวจหมายเลข L44/43 และหมายเลข L33/43 มีบริษัท อีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ได้รับสัมปทาน

เป็นการลงพื้นที่ดูกระบวนการผลิตเพื่อยืนยันตรวจสอบปริมาณการผลิตและระบบขนส่งน้ำมันดิบไปยังโรงกลั่นน้ำมันบางจากว่าไม่มีการลักลอบหรือรั่วไหล แหล่งผลิตวิเชียรบุรีมีปริมาณน้ำมันดิบที่ผลิตได้ 1,400 บาร์เรลต่อวัน จากสถิติการผลิตรวม 16 ล้านบาร์เรล ตลอด 26 ปี ตั้งแต่เริ่มมีการผลิตสามารถช่วยประหยัดเงินตราต่างประเทศเป็นมูลค่า 35,000 ล้านบาท จ่ายภาษีให้รัฐเป็นค่าภาคหลวงกว่า 2,000 ล้านบาท และเป็นภาษีเงินได้ปิโตรเลียมกว่า 4,700 ล้านบาท

จากการลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมเขาค้อ พบว่ากระแสลมของไทยอยู่ในระดับต่ำ กังหันไม่สามารถผลิตได้เต็มกำลังที่ออกแบบไว้ได้ ผลิตได้เพียง 15% จึงมีความจำเป็นให้ค่ารับซื้อไฟฟ้าในช่วงแรกสูงกว่าจากโรงไฟฟ้าหลักและจะนำข้อมูลดังกล่าวไปประกอบการพิจารณา PDP ฉบับใหม่ ให้เหมาะสมต่อไปบริษัท เขาค้อ วินด์ พาวเวอร์ มีกำลังผลิตไฟฟ้า 60 เมกะวัตต์ มีจำนวนกังหันลม 24 ต้น สามารถผลิตไฟฟ้าได้เฉลี่ย ต้นละ 2.5 เมกะวัตต์ ซึ่งการผลิตไฟฟ้าจากโครงการฯ สามารถจ่ายไฟฟ้าในพื้นที่โดยรอบและบริเวณโดยรอบโครงการฯ ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนในพื้นที่

จาก www.bangkokbiznews.com  วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2561

โรงงานน้ำตาลเสนอซื้ออ้อยราคาเดียวตันละ 700-800 บาท

โรงงานน้ำตาลเสนอทางออกช่วงราคาน้ำตาลโลกตกต่ำเหลือเพียง 11 เซนต์ต่อปอนด์ หรือประมาณ 600 บาทต่อตันอ้อย โดยจะขอรับความเสี่ยงรับซื้ออ้อยราคาเท่ากับน้ำตาลทรายดิบเฉลี่ยตลอดปีหน้าที่ 13 เซนต์ต่อปอนด์ หรือ 700-800 บาทต่อตันอ้อย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากสถานการณ์น้ำตาลตลาดโลกยังคงมีน้ำตาลล้นตลาด ประมาณ 7 ล้านตัน ราคาน้ำตาลตกต่ำ และยังไม่มีทีท่าจะปรับเพิ่มขึ้น ล่าสุดราคาน้ำตาลทรายดิบ ตลาดนิวยอร์ค No.11 กำหนด การส่งมอบเดือนตุลาคมปีนี้อยู่ที่ 11.68 เซนต์ต่อปอนด์ คิดเป็นราคาอ้อย  600 บาทต่อตันอ้อย และยังไม่มีทีท่าว่าราคาจะดีขึ้น  ทางสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ต้องการให้ฝ่ายโรงงานช่วยเหลือชาวไร่อ้อยฤดูกาลผลิตปี 2561/2562

รายงานข่าวจากผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล เปิดเผยว่า เพื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อยภาพรวมทั้งประเทศให้สามารถผ่านปีแห่งความยากลำบากของสถานการณ์ราคาน้ำตาลตลาดโลกตกต่ำไปให้ได้ก่อนในฤดูกาลผลิตปี 2561/2562 ที่คาดว่าจะมีผลผลิตอ้อยออกมาประมาณไม่ต่ำกว่า 130 ล้านตันอ้อย ในเบื้องต้นทางฝ่ายโรงงานน้ำตาลยินดีร่วมรับความเสี่ยงจากสถานการณ์ราคาน้ำตาลตลาดโลกที่อาจจะตกต่ำตลอดปีหน้า

ทั้งนี้ โรงงานน้ำตาลเสนอรับซื้ออ้อยจากชาวไร่อ้อยในราคาเฉลี่ยสูงกว่าราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลก ที่ปัจจุบันอยู่ที่ 11 เซนต์ต่อปอนด์ หรือประมาณ 600 บาทต่อตันอ้อย โดยโรงงานน้ำตาลจะซื้ออ้อยแบบซื้อขาดราคาเฉลี่ยทั้งปีเท่ากับราคาน้ำตาลทรายดิบที่ 13 เซนต์ต่อปอนด์ หรือประมาณ 700-800 บาทต่อตันอ้อย โดยฝ่ายโรงงานน้ำตาลจะขอยกเลิกส่วนแบ่งรายได้ที่กำหนดว่าชาวไร่อ้อยร้อยละ 70 โรงงานร้อยละ 30 ออกไปก่อนเป็นการชั่วคราว เพื่อจะได้ก้าวข้ามสถานการณ์ราคาน้ำตาลโลกตกต่ำไปให้ได้ก่อน

ขณะที่อ้อยฤดูกาลผลิตปี 2560/2561 ปัจจุบันยังไม่ได้สรุปราคาอ้อยขั้นสุดท้าย เนื่องจากขณะนี้ทาง สอน.อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลต้นทุนการผลิตในส่วนของโรงงานน้ำตาลในภาพรวมทั้งหมดก่อน  ซึ่งฝ่ายโรงงานต้องการให้สรุปภายในเดือนกันยายนนี้ คาดว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้ายจะต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้นที่จ่ายไปแล้ว 880 บาทต่อตันอ้อย โดยราคาขั้นสุดท้ายจะอยู่ที่ประมาณตันละ 772 บาท หรือต่ำกว่าตันละประมาณ 108 บาท นับเป็นเงินส่วนเกินที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายต้องคืนให้โรงงานน้ำตาลประมาณ 22,000 ล้านบาทต่อไป

สำหรับข้อมูลราคาอ้อยขั้นต้น  คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2561 กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2560/2561 แบ่งเป็น 2 ราคา ตามมติคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ด้วยการกำหนดราคาอ้อยเขต 1, 2, 3, 4, 6, 7 และ 9 ในอัตรา 880 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับความหวาน  10 ซี.ซี.เอส. และกำหนดอัตราขึ้น/ลงของราคาอ้อยเท่ากับ 52.80 บาทต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส.ต่อเมตริกตัน  ด้านโรงงานได้รับผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิต ปี 2560/2561 เท่ากับ 377.14 บาทต่อตันอ้อย  สำหรับราคาอ้อยขั้นต้นในเขต 5 (สุพรรณบุรี) ราคา  830 บาทต่อตันอ้อย กำหนดอัตราขึ้น/ลง ของราคาอ้อยเท่ากับ 49.80 บาท ต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส.ต่อเมตริกตัน และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2560/2561 เท่ากับ 355.71 บาทต่อตันอ้อย

จาก https://www.tnamcot.com   วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2561

BRRตั้งเป้า’62หีบอ้อยเท่าปีนี้ หาพันธมิตรร่วมทุน2รง.ใหม่

น้ำตาลบุรีรัมย์ตั้งเป้าปีหน้าหีบอ้อยใกล้เคียงปีนี้ที่3.15ล้านตันอ้อย เพื่อนำชานอ้อยป้อนโรงไฟฟ้าชีวมวล3โรงและโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์ พร้อมหาพันธมิตรลงทุนโรงงานน้ำตาลใหม่อีก2แห่ง

นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน)( BRR ) เปิดเผยว่าในปีหน้าบริษัทฯตั้งเป้ามีปริมาณอ้อยเข้าหีบใกล้เคียงปีนี้ที่ 3.15 ล้านตันอ้อย ทำให้มีชานอ้อยเพียงพอที่จะป้อนทั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวล และโรงงานผลิตภาชนะบรรจุภัณณ์จากชานอ้อย ที่เตรียมผลิตเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 1/2562

นอกจากนี้ บริษัทยังลงทุนโรงกลั่นน้ำตาลทรายดิบเป็นน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 1พันตัน/วัน ใช้เงินลงทุน400ล้านบาทคาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส1/2562 ทำให้บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น 20-30เหรียญสหรัฐ/ตัน

นายอนันต์ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการหาพันธมิตรร่วมในโครงการลงทุนโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่2โรงที่จังหวัดสุรินทร์และอ.ชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์ กำลังการหีบ 2 หมื่นตันอ้อยต่อวัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในโครงการที่บุรีรัมย์ ส่วนโครงการที่สุรินทร์อยู่ระหว่างการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกอ้อย

ส่วนผลประกอบการแนวโน้มครึ่งหลังปี2561จะปรับตัวดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรก ที่มีรายได้รวม3.58พันล้านบาทและกำไรสุทธิ 287ล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกประเมินว่าผ่านจุดต่ำสุดแล้วจากปีนี้ที่เคยต่ำถึง10เซ็นต์/ปอนด์ต่ำกว่าปีก่อนที่เคยอยู่ระดับ20เซ็นต์/ปอนด์ โดยราคาน้ำตาลทรายดิบโลกราคาขยับขึ้นมาบ้างเล็กน้อยในช่วงนี้อยู่ที่12-13เซ็นต์/ปอนด์

จาก https://mgronline.com   วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2561

กรมชลประทาน เร่งพัฒนาแหล่งน้ำ

ระบุทิศทางการมีส่วนร่วมของประชาชนในโครงการพัฒนาของรัฐเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในทางกฎหมายและข้อปฏิบัติ  กรมชลประทานเตรียมความพร้อมโดยนำร่องตามลุ่มน้ำต่างๆ ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งจบ  ระบุเป็นความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

นายสุจินต์ หลิ่มโตประเสริฐ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมชลประทาน กล่าวถึงทิศทางการมีส่วนร่วมของประชาชนในโครงการของรัฐในอนาคตว่า  เป็นทิศทางที่มีความชัดเจนในตัว  สังเกตได้จากการดำเนินโครงการสาธารณะต่างๆ ล้วนต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วยเสมอ โดยเฉพาะในยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงโครงการของรัฐได้ง่ายขึ้น

“ทิศทางการมีส่วนร่วมของประชาชนชัดเจน ตั้งแต่รัฐธรรมนูญก็กำหนดไว้ กระทั่งกฎหมายต่างๆ ที่ตราขึ้นมา ล้วนเปิดช่องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทั้งสิ้น โดยที่รัฐเองตระหนักดีว่า การดำเนินโครงการต่างๆ ต้องได้รับการร่วมมือและสนับสนุนจากประชาชน ไม่เช่นนั้นก็จะเผชิญปัญหาการคัดค้านต่อต้านจนไม่อาจดำเนินการได้”

นายสุจินต์ กล่าวว่า แม้กระทั่งโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ และระบบส่งน้ำ ของกรมชลประทาน ก็ต้องผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น การจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่  การจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมก็ยังต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าของแปลงที่ดินการเกษตร จากเดิมที่ไม่เคยมี

“เดิมกรมชลประทานขับเคลื่อนโครงการสะดวก กำหนดเองได้เกือบทุกอย่าง เพราะสมัยก่อนประชากรน้อย พื้นที่ว่างมาก ผลกระทบน้อย  แต่บริบทขณะนี้ประชากรมากขึ้น พื้นที่ทำกินจำกัด ทุกคนหวงแหนที่ทำกิน กรมฯ ก็ต้องปรับบทบาทใหม่ เปิดทางให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ไม่เช่นนั้นไม่อาจขับเคลื่อนโครงการได้ อย่างโครงการก่อสร้างเขื่อนหลายๆ เขื่อนที่ต้องชะงักงัน”

อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นงานละเอียดอ่อน ต้องอาศัยเวลาและอาศัยเวทีประชุมพูดคุย ถกเถียงหารือ และมีข้อสรุปร่วมกัน โดยที่กรมชลประทานปรับลดบทบาทมาเป็นโค้ชหรือฝ่ายเทคนิค คอยชี้แนะในเรื่องที่ประชาชนเองยังหาทางออกไม่ได้

กระบวนการมีส่วนร่วมของกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน เริ่มนำร่องที่โครงการลุ่มน้ำคลองกลาย จ.นครศรีธรรมราช และขยายผลไปยังลุ่มน้ำภาคตะวันออก 8 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี และสระแก้ว โดยเริ่มจากการใช้คณะทำงานพัฒนาลุ่มน้ำแบบประชารัฐ  ซึ่งประกอบด้วยภาคประชาชนและเจ้าหน้าที่จากภาครัฐหลายภาคส่วนที่ได้รับการฝึกฝนกระบวนการจัดทำเวทีชาวบ้าน ซึ่งใช้วิธีการตั้งแต่การเดินสำรวจพื้นที่แหล่งน้ำและอื่นๆ ที่สำคัญระดับแปลงในรูปแผนที่ทำมือ  การร้อยเรียงจัดทำประวัติศาสตร์ชุมชน ความเป็นมาและวิวัฒนาการเชิงสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและสิ่งแวดล้อม ไปถึงการคืนข้อมูลทุกอย่าง รวมทั้งเรื่องน้ำให้ประชาชนตรวจสอบความถูกต้อง วิเคราะห์และจัดทำแผนพัฒนาแหล่งน้ำ ฯลฯ โดยมีประชาชนมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน

“อาจใช้เวลาระยะ 2-3 ปี แต่เมื่อสำเร็จก็จะเป็นชุมชนยั่งยืนขับเคลื่อนโครงการได้เป็นอย่างดี ซึ่งขณะนี้มีตัวอย่างประสบความสำเร็จหลายแห่ง  โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำ เช่น โครงการฝายท่าลาด จ.ฉะเชิงเทรา โครงการส่งน้ำระบบท่อ ต.วังหว้า อ.แกลง จ.ระยอง โครงการอ่างเก็บน้ำดอยงู จ.เชียงราย โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ตาช้าง จ.เชียงราย เป็นต้น” นายสุจินต์กล่าว

ทั้งนี้ จากการจัดประกวดรางวัลเลิศรัฐของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงานก.พ.ร.) ประจำปี 2561 กรมชลประทานได้รับรางวัลการมีส่วนร่วมดีเด่น 2 รางวัล คือ รางวัลเปิดใจใกล้ชิดประชาชน และรางวัลสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม

จาก www.banmuang.co.th   วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2561

“สมสี อุ่นคำ” พลิกชีวิตด้วยเศรษฐกิจพอเพียงคว้ารางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่นประจำปี 2561

สมสี อุ่นคำ ชาวไร่อ้อยเคยติดเหล้า ติดการพนัน มีหนี้สิน แต่พลิกชีวิตด้วยเศรษฐกิจพอเพียงคว้ารางวัลชนะเลิศ ชาวไร่อ้อยดีเด่น ประจำปี 2561 ประเภทชาวไร่อ้อยพึ่งพาตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงตามศาสตร์พระราชา

สมสี อุ่นคำ เกษตรกรชาวไร่อ้อย ต.พลับพลาไชย อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี วัย 57 ปี เริ่มทำไร่ ตั้งแต่ปี 2536 ประมาณ 24 ไร่ และค่อยๆ ขยายพื้นที่ปลูกอ้อยโดยเช่าพื้นที่เพิ่ม จนปัจจุบัน มีพื้นที่ปลูกอ้อย 250 ไร่ ส่งอ้อยให้กับโรงงานน้ำตาลอุตสาหกรรมอู่ทอง กลุ่มวังขนาย

ปลูกอ้อยสมัยก่อนกับปัจจุบันต่างกันอย่างไร

“ตอนผมเริ่มปลูกอ้อยเมื่อปี 2536 เป็นการปลูกแบบใช้แรงงานคน จ้างคนปลูกทุกขั้นตอนจนถึงช่วงตัดอ้อย เงินที่มีก็หมดไปกับการจ่ายค่าแรงคนงาน ผลผลิตก็ไม่ค่อยดี ได้ประมาณ 8 – 9 ตันต่อไร่ จึงพยายามหันมาใช้เครื่องจักรเพื่อลดต้นทุน เริ่มจากใช้รถไถเดินตาม เพื่อเปิดร่องอ้อย รถไถเล็ก B 24 ใช้ปั่นดิน และรถไถใหญ่ ใช้ปลูกอ้อย คีบอ้อย เพิ่งซื้อเมื่อ 2 ปีที่แล้ว มีรถบรรทุกอีก 2 คัน ไว้บรรทุกอ้อยส่งเข้าโรงงาน การให้น้ำอ้อย จะใช้ระบบน้ำหยด โดยขุดบ่อน้ำบาดาลเอง 6 บ่อ หลังจากที่นำเครื่องจักรมาช่วยปลูกอ้อย ลดการใช้แรงงาน ต้นทุนก็ถูกลง ผลผลิตก็ได้มากขึ้นเป็น 11 – 12 ตันต่อไร่”

ปัญหาในการปลูกอ้อยมีอะไรบ้าง

หลายคนคิดว่าการปลูกอ้อยมันง่าย ปลูกแล้วก็ไม่ต้องดูแลก็ได้ แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่เลยครับ ปัญหาของการปลูกอ้อย คือ ไม่สนใจ ไม่เอาใจใส่ดูแล มีช่วงหนึ่งของชีวิตที่ผมต้องเป็นหนี้มากมาย เพราะผมติดการพนัน ติดเหล้า ไม่สนใจดูแลไร่อ้อย ปล่อยให้คนงานทำ ผลผลิตก็ไม่ค่อยดี จึงทำให้รายได้ไม่พอจ่ายค่าคนงาน ค่าผ่อนอุปกรณ์เครื่องจักรต่างๆ กลายเป็นหนี้สินจำนวนมาก

พลิกชีวิตด้วยเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างไร

วันหนึ่งเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ผมนั่งดูโทรทัศน์ ได้ฟังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ท่านพูดถึงการทำเศรษฐกิจพอเพียง คนเราจะมีความสุขในชีวิต ต้องทำตามเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกพืชสวนผสม ทำยังไงจะให้มีรายได้เข้าบ้านทุกวัน เมื่อผมฟังพระองค์ท่านจบ ผมก็พูดกับภรรยาว่า ผมจะทำตามในหลวงบอก จะทำเศรษฐกิจพอเพียง ภรรยาผมยังห้ามผมว่า อย่าทำเลยไม่สำเร็จหรอก แต่ผมคิดว่า มันต้องสำเร็จ ถ้าไม่สำเร็จ ในหลวงท่านคงไม่บอกให้ประชาชนทำแน่นอน

ผมจึงตัดสินใจไปตลาด ไปซื้อเมล็ดมะเขือเปราะ ผักบุ้ง พริกขี้หนู และถั่วฝักยาว มาปลูก พร้อมๆ กับการหักดิบเลิกกินเหล้า และเลิกเล่นการพนัน อย่างเด็ดขาด ตลอดเวลา 2 ปี  ผมตั้งหน้าตั้งตากับการปลูกผัก ปลูกผลไม้ และการดูแลไร่อ้อย อย่างจริงจัง จนตอนนี้ ผมชำระหนี้หมดแล้ว เพราะผมเลิกกินเหล้า เลิกเล่นการพนัน ทำให้ผมมีเงินเหลือ และพอทำเศรษฐกิจพอเพียง ผมมีรายได้จากการขายผัก ผลไม้ ทุกวัน ผมคิดเสมอว่า ผมต้องมีรายได้เข้าบ้านวันละ 100 บาท วันนี้ผมกล้าพูดได้ว่า ผมเป็นหนี้มาหลายปี แต่ผมใช้เวลา 2 ปี ปลดหนี้ได้ด้วยเศรษฐกิจพอเพียง

การดำเนินชีวิตประจำวันตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง

ผมเล่าให้ใครฟังถึงการดำเนินชีวิตประจำวัน แต่ไม่ค่อยมีใครเชื่อ เค้าหาว่าผมบ้า คนอะไรจะทำได้ถึงขนาดนี้  ผมทำจริงๆ ครับ ทำมาแบบนี้ 2 ปี แล้ว มาดูผมที่บ้านได้ครับ ผมตื่นตี 3 นอน 5 ทุ่ม เริ่มตั้งแต่  เก็บผักบุ้ง , ถั่วฝักยาว พอถึง  6 โมงเช้า ก็ไปขับรถส่งนักเรียน หลังจากนั้นก็มาเก็บบวบ ถอนหัวหอมแดง พอตอนบ่าย 3 ก็ไปขับรถรับนักเรียน ทานข้าวเย็น ดูข่าว แล้วก็เข้าไร่ตอน 1 ทุ่ม เพื่อดูแลถั่วฝักยาว เก็บหญ้าที่ขึ้นรกในไร่ ในสวน จนถึงห้าทุ่ม แล้วเข้านอน ชีวิตประจำวันเป็นแบบนี้ทุกวัน ผมไปไหนไม่ได้จริงๆ เพราะต้องดูแลพืชผักสวนครัว

ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก เหลือขายเพิ่มรายได้ให้ครอบครัว               

ผมปลูกทุกอย่างที่กินได้ และเหลือก็ขาย จะมีคนมารับซื้อถึงบ้าน ผัก และผลไม้ที่ปลูกไม่ได้ใช้สารเคมี เพราะทำปุ๋ยหมักเอง บนพื้นที่ 2 ไร่ ที่ปลูกพืชผักตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง มีผักสวนครัว ได้แก่ ถั่วฝักยาว พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า มะเขือเปราะ มะเขือพวง โหระพา กระเพรา มะนาว หัวหอม กระเทียม ผลไม้ที่ปลูก ได้แก่ ลองกอง มะยงชิด ทุเรียน มะปราง ส้มโอ ส้มโชกุน ขนุน น้อยหน่า กระท้อน เงาะ มังคุด ละมุด กล้วยไข่ กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า องุ่น มะละกอ นอกจากนี้ ยังเลี้ยง ไก่ เป็ด ปลานิล ปลาดุก ปลาตะเพียน อีกด้วย               

วันแรกที่ผมเก็บมะเขือเปราะขายได้เงิน ผมดีใจมากครับ เริ่มจากได้ 40 บาท วันต่อมาเพิ่มเป็น 100 บาท 200 บาท สูงสุดเคยได้ถึงวันละ 1,000 บาท เลยครับ และผมก็จะเก็บวันละ 100 บาท เหมือนเป็นการออมไว้ และทยอยใช้หนี้สินไปเรื่อยๆ จนหมดหนี้แล้วครับ

ความรู้สึกกับรางวัลชนะเลิศ ชาวไร่อ้อยดีเด่น ประจำปี 2561 ประเภทชาวไร่อ้อยพึ่งพาตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงตามศาสตร์พระราชา

ผมรู้สึกดีใจมากครับที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ ต้องขอขอบคุณกลุ่มวังขนาย โรงงานน้ำตาลอุตสาหกรรมอู่ทอง ที่ดูแลเอาใจใส่ชาวไร่อ้อย และเล็งเห็นคุณค่าในตัวผม ส่งชื่อผมเข้าประกวดในครั้งนี้ ในวันที่กรรมการจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายมาลงพื้นที่ตรวจ และสัมภาษณ์ข้อมูลต่างๆ ผมตื่นเต้นมากครับ แต่ผมเล่าความจริงที่ผมได้ลงมือทำเอง และคงเป็นเพราะผมสามารถนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ได้จริง เห็นผลจริง ปลดหนี้สินได้ ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

ผมอยากฝากถึงเพื่อนๆ ชาวไร่อ้อยทุกคนว่า ถ้าเราฟังอย่างเดียว ไม่ลงมือทำ ไม่ใส่ใจ ไม่ดูแล ก็ไม่สำเร็จ วันนี้ ผมฟังพระองค์ท่าน ผมลงมือทำ ผมเอาใจใส่ดูแลอย่างจริงจัง ผมจึงสำเร็จครับ อยากให้ลองทำเศรษฐกิจพอเพียง ได้เงินเข้าบ้านวันละ 100 บาท เพียงเท่านี้ ก็มีความสุขแล้วครับ สามารถทำควบคู่ไปกับการปลูกอ้อยได้อย่างสบายๆ ครับ

ต้องขอชื่นชมและยกย่องคุณสมสี อุ่นคำ เจ้าของรางวัลชนะเลิศ ชาวไร่อ้อยดีเด่น ประจำปี 2561 ประเภทชาวไร่อ้อยพึ่งพาตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงตามศาสตร์พระราชา ที่เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตให้กับใครอีกหลายคน เพียงแค่ลงมือทำอย่างตั้งใจ รับรองว่าสำเร็จแน่นอน

จาก www.banmuang.co.th วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2561

กระทรวงอุตฯถกเอกชนในการประชุมครม.สัญจร จ่อตั้งศูนย์นวัตกรรม/แปรรูปผลไม้-พืชผักศก. ยาง ดันมาตรการช่วย SMEs

วันนี้ (17 กันยายน 2561) เวลา 09.00 น. นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุมหารือกับหัวหน้าส่วนราชการและภาคเอกชนในการลงพื้นที่ประชุม ครม.สัญจร ระหว่างวันที่ 17-18 ก.ย.2561 ร่วมกับกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 คือจังหวัดบึงกาฬ เลย หนหนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี และภาคเหนือตอนล่าง 1 คือจังหวัดตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย และอุตรดิตถ์ โดยมีคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า และสมาพันธุ์ SMEs

โดยภาคเอกชนได้นำเสนอ 3 ประเด็นหลัก คือ 1) การจัดตั้งศูนย์พัฒนาต่อยอดนวัตกรรมผลไม้และพืชผักเศรษฐกิจภาคเหนือตอนล่าง 1 (Creative and Innovation Center of Economy Fruit and Vegetable Processing) เป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสำหรับการรับรองมาตรฐานของผลไม้ (Premium Fruit) และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องสำอาง พร้อมทั้งจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ผลไม้ และพืชผัก พัฒนานวัตกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องสำอางจากผลไม้และพืชผัก บริการเครื่องมือแปรรูปและออกแบบบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งบริการตรวจสอบวิเคราะห์คุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหาร และเครื่องสำอาง

2) การก่อตั้งศูนย์ Excellent Center เพื่อวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้าน SME โดยใช้ชื่อว่า “Sabai Dee Excellent Center for Local Development” เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงกลุ่มจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบน 1 และกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมทางการเกษตรและขับเคลื่อนการสร้างองค์ความรู้ด้านการแปรรูป การตลาดและส่งเสริมสินค้าเกษตร เพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตทางการเกษตรแก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไปในเขตพื้นที่ โดยใช้พื้นที่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี (พื้นที่ 2.9ไร่)

3) สนับสนุนให้กลุ่มจังหวัดเป็นคลัสเตอร์ยางพารา (Rubber Economic Cluster) เพื่อสนับสนุนให้มีการพัฒนาเรื่องยางพาราอย่างครบวงจร โดยเฉพาะการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตยางพารา โดยเกษตรกรส่วนใหญ่มีการผลิตยางก้อน ซึ่งมีมูลค่าต่ำ จึงเสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์การแปรรูป การพัฒนาและศึกษาวิจัยผลิตภัณฑ์ เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดนวัตกรรมเพื่อนำยางพาราไปใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น สำหรับใช้ในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ

ทั้งนี้ข้อเสนอที่ภาคเอกชนในพื้นที่ทั้ง 3 ประเด็นที่จะนำเสนอจะสรุปและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาขยายผล เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของกลุ่มจังหวัดต่อไป

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2561

ราคาอ้อยขั้นต้นดิ่งต่อเนื่อง สอน.จี้‘อุตตม’หาช่องช่วยชาวไร่

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า จากกรณีราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2561/62 ที่จะประกาศในเดือนตุลาคม2561 มีแนวโน้มเฉลี่ยเพียง 680 บาทต่อตัน เนื่องจากราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกตกต่ำนั้นแนวทางหนึ่งในการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยคือการส่งเสริมให้มีการนำน้ำตาลส่วนเกินที่ส่งออกในราคาต่ำไปผลิตเอทานอลเพื่อผสมน้ำมันเบนซินในการจำหน่ายเป็นแก๊สโซฮอล์มากขึ้นและมีการปรับราคาน้ำมันดังกล่าวช่วยโดยหากขึ้นเพียง 2-3 สตางค์ต่อลิตร จะได้เงินเข้าระบบมาช่วยเหลือชาวไร่อ้อยถึงกว่า 1,000 ล้านบาท

“แนวคิดนี้จะได้มีการนำเสนอต่อนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เพื่อที่จะนำไปหารือกับกระทรวงพลังงานในการพิจารณาต่อไป เพราะเรื่องนี้เป็นระดับนโยบายและราคาน้ำตาลส่งออกที่ตกต่ำเหมาะที่จะผลิตเอทานอลมากเพราะไม่แพง โดยวิธีดังกล่าวนอกเหนือจากจะช่วยให้เกษตรกรชาวไร่ได้รับค่าอ้อยที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นจิตวิทยาที่จะทำให้ตลาดโลก

มองเห็นว่าปริมาณน้ำตาลส่งออกลดลงก็จะดันราคาสูงขึ้น รวมไปถึงการส่งเสริมให้เกิดการนำเชื้อเพลิงไปผลิตชีวมวลในการจำหน่ายไฟฟ้ามากขึ้นด้วยเพื่อเป็นรายได้เพิ่มเข้าระบบ” นางวรวรรณกล่าว

ทั้งนี้แนวทางดังกล่าวจะไม่ขัดเงื่อนไขขององค์การการค้าโลก(WTO)ที่จะทำให้บราซิลมาฟ้องร้องไทยได้ และจะนำมาเสริมกับแนวทางหลักที่ระบบจะดูแลกันเองหลังจากการลอยตัวราคาที่กำหนดให้นำเงินส่วนต่างราคาจำหน่ายในประเทศและส่งออกมาสะสมเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.)ที่มีอยู่ 2-3 บาทต่อตัน ที่จะเก็บไว้นำมาแบ่งเป็นรายได้ในปลายฤดูหีบก็นำมาบรรเทาปัญหาราคาอ้อยตกต่ำไปก่อน

“ปีนี้ยอมรับว่าเป็นปีที่ชาวไร่อ้อยลำบากมากเพราะราคาอ้อยตกต่ำจากราคาน้ำตาลตลาดโลกที่ล้นระบบขณะนี้เกิน 7 ล้านตัน จากผลผลิตในประเทศโลกที่ 3 เพิ่มขึ้นมากเพราะสภาพอากาศที่เอื้อ ซึ่งการลอยตัวราคาน้ำตาลในประเทศที่ผ่านมาต้องขอบคุณชาวไร่ที่ยอมเสียสละลอยตัวช่วงขาลงทำให้ผู้บริโภคไม่เดือดร้อนแต่เขากำลังเดือดร้อน หลักการที่อยากให้ทุกคนมองคืออะไรที่เรายอมจ่ายเพื่อทำให้เกษตรกรของเราเข้มแข็งได้เราน่าจะช่วยเหลือเหมือนกับต่างประเทศ”นางวรวรรณกล่าว

จาก www.naewna.com วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2561

“สอน.”ปิ้งไอเดียชง”อุตตม”ถกพลังงานดันใช้แก๊สโซฮอล์เพิ่มช่วยชาวไร่อ้อย

สอน. แย้มแนวคิดเตรียมเสนอ”อุตตม”หารือกระทรวงพลังงานช่วยชาวไร่อ้อยทั่วประเทศหลังราคาขั้นต้นปี 61/62 ตกต่ำหนักจากราคาโลกดิ่งต่อเนื่อง ชงให้นำผลิตเอทานอลเพื่อผสมเป็นแก๊สโซฮอล์เพิ่ม

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า จากกรณีราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี61/62 ที่จะประกาศในเดือนต.ค.นี้มีแนวโน้มเฉลี่ยเพียง 680 บาทต่อตันเนื่องจากราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกตกต่ำนั้นแนวทางหนึ่งในการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยคือการส่งเสริมให้มีการนำน้ำตาลส่วนเกินที่ส่งออกในราคาต่ำไปผลิตเอทานอลเพื่อผสมน้ำมันเบนซินในการจำหน่ายเป็นแก๊สโซฮอล์มากขึ้น 

“ อยากให้พลังงานสนับสนุนการใช้เอทานอลเพิ่มขึ้นและหากเป็นไปได้ถ้ามีการปรับราคาน้ำมันดังกล่าวช่วยด้วย เพียง 2-3 สตางค์ต่อลิตรจะได้เงินเข้าระบบมาช่วยเหลือชาวไร่อ้อยเป็น1,000 ล้านบาท ซึ่งแนวคิดนี้จะได้มีการนำเสนอต่อนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อที่จะนำไปหารือกับกระทรวงพลังงานในการพิจารณาต่อไปเพราะเรื่องนี้เป็นระดับนโยบายและราคาน้ำตาลส่งออกที่ตกต่ำเหมาะที่จะผลิตเอทานอลมากเพราะไม่แพง โดยวิธีดังกล่าวนอกเหนือจากจะช่วยให้เกษตรกรชาวไร่ได้รับค่าอ้อยที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นจิตวิทยาที่จะทำให้ตลาดโลกมองเห็นว่าปริมาณน้ำตาลส่งออกลดลงก็จะดันราคาสูงขึ้น รวมไปถึงการส่งเสริมให้เกิดการนำเชื้อเพลิงไปผลิตชีวมวลในการจำหน่ายไฟฟ้ามากขึ้นด้วยเพื่อเป็นรายได้เพิ่มเข้าระบบ”นางวรวรรณกล่าว

ทั้งนี้แนวทางดังกล่าวจะไม่ขัดเงื่อนไขขององค์การการค้าโลก(WTO)ที่จะทำให้บราซิลมาฟ้องร้องไทยได้ และจะนำมาเสริมกับแนวทางหลักที่ระบบจะดูแลกันเองหลังจากการลอยตัวราคาที่กำหนดให้นำเงินส่วนต่างราคาจำหน่ายในประเทศและส่งออกมาสะสมเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.)ที่มีอยู่ 2-3บาทต่อตันที่จะเก็บไว้นำมาแบ่งเป็นรายได้ในปลายฤดูหีบก็นำมาบรรเทาปัญหาราคาอ้อยตกต่ำไปก่อน

นอกจากนี้เพื่อความยั่งยืนของระบบสอน.ยังได้เตรียมส่งเสริมให้มีการทำเกษตรแปลงใหญ่โดยการรวมพื้นที่อ้อยรายย่อยเข้ามาบริหารร่วมกันเพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายซึ่งปัจจุบันมี 2 โมเดลต้นแบบดำเนินการอยุ่คือที่บุรีรัมย์ และของกลุ่มมิตรผลที่เป็นสมาร์ทฟาร์มมิ่ง ขณะเดียวกันยังจะสนับสนุนโครงการสินเชื่อเพื่อรถตัดอ้อย ดอกเบี้ย 2% เป็นต้น

“ปีนี้ยอมรับว่าเป็นปีที่ชาวไร่อ้อยลำบากมากเพราะราคาอ้อยตกต่ำจากราคาน้ำตาลตลาดโลกที่ล้นระบบขณะนี้เกิน 7 ล้านตัน จากผลผลิตในประเทศโลกที่ 3 เพิ่มขึ้นมากเพราะสภาพอากาศที่เอื้อ ซึ่งการลอยตัวราคาน้ำตาลในประเทศที่ผ่านมาต้องขอบคุณชาวไร่ที่ยอมเสียสละลอยตัวช่วงขาลงทำให้ผู้บริโภคไม่เดือดร้อนแต่เขากำลังเดือดร้อน หลักการที่อยากให้ทุกคนมองคืออะไรที่เรายอมจ่ายเพื่อทำให้เกษตรกรของเราเข้มแข็งได้เราน่าจะช่วยเหลือเหมือนกับต่างประเทศ”นางวรวรรณกล่าว

จาก https://mgronline.com วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2561

'กฤษฎา'ชูธงปฏิรูป​เกษตร​แผนใหม่​ สานพลังเครือข่ายเกษตรกร882ศูนย์

"กฤษฎา"ชูธงปฏิรูป​เกษตร​แผนใหม่​ สานพลังเครือข่ายเกษตรกร882ศูนย์ ยึดศาสตร์พระราชาสร้างผู้นำเกษตรกร ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักดำรงชีพ

16 ก.ย.61 ที่ จ.ชลบุรี นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวระหว่างเปิดงานสานพลังเครือข่ายศูนย์การเรียนรู้พัฒนาประสิทธิภาพผลผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ทั่วประเทศ กลไกปฎิรูปภาคเกษตร ว่า รัฐบาลมีนโยบายการปฏิรูปภาคการเกษตรโดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น เกิดความภาคภูมิใจในอาชีพ ซึ่ง ได้กำหนดนโยบายใช้ตลาดนำการผลิต และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ยึดศาสตร์พระราชา เศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักดำรงชีพ​

"การเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดขึ้น​ได้จำเป็นสร้างเกษตรกรผู้นำ เพื่อเป็นผู้นำไปสู่​เกษตรกรรรมแผนใหม่​ของประเทศ ให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขัน และก้าวทันสถานการณ์โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้ขับเคลื่อนผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) จำนวน 882 ศูนย์ ทั่วประเทศ ใช้เป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้​และเทคโนโลยีด้านการเกษตรที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน โดยเน้นการเรียนรู้จากเกษตรกรต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน​ โดยมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ คอยเป็นพี่เลี้ยง รูปแบบการเรียนรู้เป็นแบบมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องตลอดฤดูกาลผลิต เพื่อให้เกษตรกรที่มาเรียนรู้เกิดความรู้ ความเข้าใจ สามารถนำความรู้ที่ได้รับจาก ศพก.ไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับไร่นาของตนเอง" นายกฤษฎา กล่าว

และว่า รวมทั้งส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ซึ่งสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มกัน ผลิต จำหน่ายและบริหารจัดการร่วมกัน ทั้งในรูปของกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน​ สหกรณ์การเกษตร​เพื่อ​ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต พัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ได้มาตรฐานตามความต้องการของตลาด เชื่อมโยงการตลาด และบริหารจัดการให้เกิดความสมดุลระหว่างอุปทานและอุปสงค์ของสินค้า

ด้าน นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมส่งเสริมการเกษตรได้มีการสร้างเครือข่าย ศพก. , เครือข่ายแปลงใหญ่ และเครือข่าย Young Smart Farmer ทั้งในระดับจังหวัด เขต และประเทศ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูปภาคการเกษตรโดยภาคประชาชน ซึ่งปัจจุบันสามารถดำเนินการแปลงใหญ่ได้จำนวน 4,007 แปลง พื้นที่ 5,173,105.5 ไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วมจำนวน 320,453 คน และมีการเชื่อมโยงสินค้าแปลงใหญ่ ที่ได้คุณภาพมาตรฐานกับตลาดที่แน่นอน เกิดการจับคู่ธุรกิจหลายกลุ่มสินค้า โดยเฉพาะในพืชเศรษฐกิจหลักสำคัญ ได้แก่ ข้าว, พืชไร่, พืชผัก-สมุนไพร, ไม้ผล และประมง-ปศุสัตว์ ตามนโยบายตลาดนำการผลิต

นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาและสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) ซึ่งความสามารถของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หันมาทำการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนจากทำมากได้น้อย เป็นทำน้อยได้มาก สอดคล้องกับโมเดล Thailand 4.0 เกิดการเปลี่ยนแปลงจากการเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่การเกษตรแผนใหม่ เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยี (Smart Farming) และการเกษตรแม่นยำสูง (Precision Farming) และการพัฒนาเข้าสู่เปิดตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ ในการรวมพลังครั้งนี้ มีเกษตรกรแปลงใหญ่ เกษตรกรผู้นำ ศพก.และ เกษตรกรรุ่นใหม่ (young smart farmer) จะนำไปสู่การสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งในอนาคตต่อไป

จาก www.naewna.com วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2561

เงินบาทแข็งค่า จับตาสัปดาห์หน้าผลประชุมกนง.

“เงินบาทแข็งค่า ขณะที่ หุ้นไทยปรับขึ้นจากแรงหนุนของทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ”

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 สัปดาห์ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ของสกุลเงินในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ยังได้แรงหนุนต่อเนื่องจากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ที่ดีกว่าที่คาด อย่างไรก็ดี เงินบาทแข็งค่ากลับมาในช่วงปลายสัปดาห์ตามสถานะซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับเงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงกดดันจากข้อมูลเงินเฟ้อ (ทั้งดัชนี PPI และ CPI) ของสหรัฐฯ ที่อ่อนแอกว่าที่คาด ขณะที่ สัญญาณที่เตรียมจะยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณของ ECB ก็เป็นปัจจัยลบของดอลลาร์ฯ ด้วยเช่นกัน

ในวันศุกร์ (14 ก.ย.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 32.54 จากระดับ 32.79 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (7 ก.ย.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (17-21 ก.ย.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.30-32.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยจุดสนใจของตลาดการเงินไทย น่าจะอยู่ที่ผลการประชุมกนง. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ ประเด็นทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้า ความเคลื่อนไหวของสกุลเงินในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ และผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น ขณะที่ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย ผลสำรวจกิจกรรมการผลิตของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย และเฟดสาขานิวยอร์กเดือนก.ย. ยอดขายบ้านมือสอง ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการขออนุญาตก่อสร้าง เดือนส.ค. ข้อมูลเงินทุนไหลเข้าสุทธิสู่ตลาดการเงินสหรัฐฯ เดือนก.ค.

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนีตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับที่ 1,722.21 จุด เพิ่มขึ้น 1.94% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 20.63% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 56,126.77 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ปิดที่ 442.61 จุด เพิ่มขึ้น 1.52% จากสัปดาห์ก่อน

ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงในช่วงต้นสัปดาห์ ท่ามกลางความกังวลต่อประเด็นพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน หลังจีนประกาศความพร้อมที่จะตอบโต้ทันที หากสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีสินค้าจีนรอบใหม่ อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นไทยกลับมาฟื้นตัวขึ้นในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ท่ามกลางแรงหนุนจากความคืบหน้าเกี่ยวกับประเด็นการเลือกตั้งภายในประเทศ ประกอบกับตลาดคลายความกังวลเกี่ยวกับเรื่องสงครามการค้า หลังจีนและสหรัฐฯ อาจจะมีการเจรจาด้านการค้ารอบใหม่ นอกจากนี้ ดัชนีฯ ยังได้รับแรงหนุนจากแรงซื้อเพิ่มขึ้นของนักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนต่างชาติด้วยเช่นกัน

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (17-21 ก.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,710 และ 1,700 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,730 และ 1,750 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ การประชุมกนง. การเจรจาทางการค้ารอบใหม่ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ตลอดจนสถานการณ์ของประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อื่นๆ ได้แก่ ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดฟิลาเดลเฟียเดือนก.ย. และยอดขายบ้านมือสองเดือนส.ค. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น และดัชนี PMI Composite (เบื้องต้น) เดือนก.ย. ของประเทศในแถบยุโรป 

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2561

กรมชลฯ เร่งเดินหน้า 4 โครงการตามมติ กนช.

กรมชลฯ เผยผลสำเร็จการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำ ย้ำทุกโครงการฯ โปร่งใส พร้อมเร่งเดินหน้า 4 โครงการตามมติ กนช.

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 3/2561 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมฯ เมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา กรมชลประทานเสนอแผนงานโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญให้ที่ประชุม กนช.พิจารณา 4 โครงการ ประกอบด้วย โครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุงอัน เนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดชัยภูมิ โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร และโครงการประตูระบายน้ำบ้านก่อ พร้อมระบบส่งน้ำ จังหวัดสกลนคร ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม กนช.ด้วยงบประมาณรวมทั้งสิ้น 27,449 ล้านบาท

สำหรับผลสำเร็จของการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำของกรมชลประทาน ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งเป็นโครงการที่สามารถดำเนินการได้ทันที กระจายอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศไทย สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานตามแผนงานบูรณาการน้ำ 2.53 ล้านไร่ มีความจุของน้ำอยู่ที่ 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยโครงการขนาดใหญ่ที่จะต้องศึกษาผลกระทบเรื่องของการใช้พื้นที่ต่าง ๆ นั้น รัฐบาลชุดนี้ได้ให้ความสำคัญในการทำงานบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องงบประมาณและการขออนุญาตใช้พื้นที่ต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย ส่งผลให้กรมชลประทานสามารถเร่งรัดการทำงานโครงการต่าง ๆ เร็วขึ้นกว่าเดิม ผลประโยชน์จึงตกอยู่กับประชาชนทุกภาคส่วน เนื่องจากสามารถดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำต่าง ๆ ให้เสร็จได้เร็วขึ้น รวมถึงทำให้ได้พื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกประมาณ 300,000 ไร่ ซึ่งมากกว่าที่กำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ

“ปัจจัยความสำเร็จในการดำเนินงานของกรมชลประทาน เนื่องจากมีแนวทางชัดเจนจากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นำมากำหนดเป็นแผนโครงการเพื่อตอบโจทย์ตามแผนยุทธศาสตร์ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ และแผนการปฏิรูปประเทศ ทั้ง 11 ด้าน พร้อมเร่งรัดงบประมาณการดำเนินงานปี 2562 และกำชับการดำเนินโครงการด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ สำหรับปีต่อไปกรมชลประทานพร้อมจะเดินหน้าบริหารจัดการน้ำ สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน สร้างการตระหนักรู้ในการป้องกันภัยพิบัติธรรมชาติ และดำเนินการแผนเก็บกักน้ำ ตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนตลอดไป” นายทองเปลว กล่าว.

จาก https://www.tnamcot.com  วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2561

รักษาน้ำ...อนุรักษ์ดิน

ดินและนํ้ายังเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และนํ้ากับดินเป็นทรัพยากรที่อยู่คู่กัน เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน  หากนํ้าดีดินก็ดี หากดินดีนํ้าก็ดี และยังช่วยคนที่อยู่กับดินและนํ้ามีชีวิตที่ดีไปด้วย กรมชลประทาน ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลด้านทรัพยากรนํ้า จึงมีนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่ดูแลรักษาทั้งสองอย่าง

จากหลักการทั่วๆ ไป การอนุรักษ์ดิน เราทำได้โดย 1. ลดอัตราการกัดกร่อนของดิน 2. เพิ่มหรือรักษาระดับปริมาณของธาตุอาหารและอินทรีย์วัตถุในดินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม 3. ปรับปรุงโครงสร้างของดินให้อยู่สภาพที่เหมาะสม และ 4. ทำให้สามารถใช้นํ้าอย่างประหยัด

ส่วนการอนุรักษ์นํ้า 1. ลดการป้องกันการสูญเสียนํ้าโดยการระเหยของนํ้าบนผิวดิน 2. เพิ่มแหล่งกักเก็บนํ้าเพื่อให้ดินมีความชุ่มชื้นนานที่สุด และ 3. ให้มีการใช้นํ้าอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด

วิธีการอนุรักษ์ดินและนํ้า แบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ การรักษาโดยใช้ระบบพืช เป็นวิธีการจัดระบบพืช โดยผสมผสานกันระหว่างมาตรการอนุรักษ์ดินและนํ้าและการจัดการระบบพืชปลูก และอีกวิธีคือ การใช้วิธีกล มุ่งหนักไปในการก่อสร้างสิ่งกีดขวางความลาดชันของพื้นที่ เพื่อสกัดกั้นนํ้าไหลบ่าและการพังทลายของดิน การอนุรักษ์ โดยการวิธีกลนี้ เป็นการป้องกันการชะล้างพังทลายได้ทันที แต่เสียค่าใช้จ่ายสูง และในระหว่างก่อสร้างต้องพิถีพิถันทำให้ดี มิฉะนั้นจะก่อให้เกิดความเสียหายมากขึ้นไปอีก ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี

“มหิทธิ์ วงศ์ษา” นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ (ส่วนสิ่งแวดล้อม) สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน อธิบายว่า เมื่อดินถูกใช้งานไปมากๆ ดินย่อมเสื่อมคุณภาพลง การเสื่อมคุณภาพของดินจะมีผลต่อการเกษตรกรรม การอนุรักษ์ดินและนํ้าจึงต้องทำควบคู่ไปกับการปรับปรุงบำรุงดิน

การอนุรักษ์ดินและนํ้า คือ การจัดการเรื่องระบบดิน ระบบการปลูกพืช เช่น ถ้าดินที่ลาดเอียง ก็ต้องจัดการให้เหมาะสมกับการปลูกพืชแต่ละชนิด กรมชลประทานจึงมอบหมายให้กรมพัฒนาที่ดินเพื่อดำเนินการ งบประมาณสำหรับในพื้นที่ชลประทาน กำหนดให้การอนุรักษ์ดินและนํ้าและการปรับปรุงบำรุงดิน เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการเกษตร การที่จะดำเนินโครงการส่งเสริมพัฒนาระบบชลประทาน ต้องรู้ก่อนว่าดินเป็นอย่างไร

ดินลาดเอียง ชนิดดิน ฯลฯ เป็นสิ่งที่กรมชลประทานศึกษาวิจัย เพื่อให้เกษตรกรปลูกพืชได้ตรงกับดิน ถ้าดินกับพืชคุณสมบัติไม่ตรงกัน ผลผลิตจะไม่ดี หรืออาจปลูกไม่ขึ้นเสียด้วยซํ้า ถึงแม้จะมีองค์ประกอบมากมายที่ทำให้พืชเจริญเติบโตได้ แต่คุณภาพผลผลิตก็มาจากปัจจัยหลักคือดิน

ช่วงเริ่มต้นของการวางแผนพัฒนาการเกษตร  จึงต้องดูความเหมาะสมของดินเป็นอันดับแรก ดูว่าดินนั้นเหมาะแก่การปลูกพืชชนิดใด หากปลูกพืชที่ไม่เหมาะสมกับดิน ก็อาจทำให้พืชเจริญเติบโตได้ไม่ดี ไม่ใช่เติมทุกอย่างจนบางอย่างเกินพอดี ข้อดีอย่างหนึ่ง คือ เกษตรกรประหยัดงบประมาณได้พอสมควร นอกจากนี้ ยังมีการเก็บตัวอย่างดินมาวิเคราะห์ว่ามี ธาตุอาหารพืชอะไรบ้าง มีปริมาณมากน้อยขนาดไหน เพื่อนำไปวางแผนการใส่ปุ๋ยได้อย่างเหมาะสม

การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ก็เป็นเรื่องที่กรมชลประทานเล็งเห็นว่า จะสร้างความยั่งยืนให้ทั้งดินและนํ้า ตลอดจนคุณภาพชีวิตคนและสิ่งแวดล้อม ปุ๋ยอินทรีย์จะช่วยบำรุงดินโดยไม่ทำลายดิน เพราะฉะนั้น การพัฒนาการเกษตรในระบบชลประทาน กรมชลประทานดูแลครบวงจร เรื่องดินและนํ้าจะช่วยให้การทำการเกษตรมีผลผลิตที่ดี เมื่อผลผลิตดีเกษตรกรก็จะ

มีรายได้ มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น

เท่าที่ผ่านมาการอนุรักษ์ดำเนินการได้อย่างไม่มีปัญหา ไร้อุปสรรค นั่นก็เพราะความมุ่งมั่นตั้งใจ และการให้ความรู้เกษตรกรเพื่ออยู่ร่วมกับดินและนํ้าอย่างยั่งยืน

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2561

“บิ๊กป๊อก” ดัน “ไทยนิยมยั่งยืน” ให้ความรู้เกษตรกรรายหัว ปรับวิธีคิดให้เหมาะกับพื้นที่

เมื่อวันที่ 15 กันยายน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะเลขาเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน กล่าวว่าเป้าหมายหลักของโครงการไทยนิยมยั่งยืน คือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทั่วประเทศให้ตรงตามความต้องการ ของตัวเองและศักยภาพของพื้นที่นั้น หนึ่งในแผนงานหลักคือยุทธศาสตร์ปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร ที่กระทรวงมหาดไทยร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าไปให้ความรู้ให้เกษตรกรทำการเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่ มีเกษตรกรได้ประโยชน์รวม 4.3 ล้านคนทั่วประเทศ โดยสิ่งที่เราดำเนินการคือไปดูว่าแต่ละพื้นที่เหมาะสมกับปลูกพืชอะไร ถ้าเขาทำอยู่แล้วเราจะเข้าไปให้ความรู้ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้โดยพัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น แต่ถ้าพื้นที่ไหนปลูกพื้นไม่เหมาะสมกับพื้นที่ จะให้คำแนะนำให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพื้นที่เหมาะสม หรือเปลี่ยนไปเลี้ยงสัตว์แทน ลงไปให้ความรู้แทบจะเป็นรายบุคคล มีเมนูการเปลี่ยนแปลงให้ประชาชนตัดสินใจ แม้เป็นเรื่องยากในการเปลี่ยนความเคยชินประชาชน แต่ทุกอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไป ต้องใช้ความรู้และเวลา โดยรวมถือว่าประชาชนตอบรับดี นอกจากการแนะนำให้ประชาชนประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับพื้นที่แล้วยังให้ความรู้เกี่ยวกับการลดต้นทุนการผลิตและต่อยอดผลิตภัณฑ์ของประชาชนให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น รวมถึงเข้าไปพัฒนาศักยภาพของพื้นที่ ทั้งการสร้างฝายชะลอน้ำ และจัดหาแหล่งน้ำชุมชน แก้ไขปัญหาที่ดินที่ไม่เหมาะสมกับการทำเกษตร เชื่อว่าการดำเนินการโครงการไทยนิยมยั่งยืน ที่ลงไปช่วยพัฒนาสิ่งต่างๆตามความต้องการของประชาชนจะสร้างความยั่งยืนและทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2561

ฝังปุ๋ย..ล่อราก เกร็ดปลูกอ้อยข้ามแล้ง

“ก่อนหน้านี้ทำเหมือนคนอื่น ปลูกอ้อยกลางฤดูฝน เพราะคิดว่าได้ผลดี ไม่ต้องรดน้ำ แต่ทำไปทำมา ปลูกหน้าฝนรถไถมักติดหล่ม เครื่องไม้เครื่องมือพังเร็ว ปี 2554 ได้คำแนะนำจากโรงเรียนเกษตรกรอ้อย ของบริษัท นครสวรรค์ สตีล จำกัด ชวนให้ปลูกอ้อยข้ามแล้ง เริ่มปลูกในช่วงปลายฝนต้นหนาว ปรากฏว่าได้ผลดี รถไถไม่ติดหล่มแถมต้นใหญ่ ได้น้ำหนัก ขายได้ราคา

”“ลุงแขก” หรือ สรายุทธ ชอบประดิษฐ์ เจ้าของไร่อ้อยเพชรประดิษฐ์ อ.บึงสามพัน จ.เพชรบูรณ์ เผยถึงเคล็ดลับในการปลูกอ้อยข้ามแล้ง ที่ได้ผลผลิตสูงถึงไร่ละ 17 ตัน...ผิดกับปลูกอ้อยหน้าฝนที่ได้ไม่เกิน 15 ตัน เพราะอ้อยเป็นพืชตระกูลเดียวกับหญ้า ไม่ชอบน้ำ แค่ดินมีความชื้นอ้อยเจริญเติบโตได้แล้ว...แต่ถ้าเจอน้ำมากรากจะเน่า ต้นล้มตายง่าย“ปัญหาหลักของการปลูกอ้อยหน้าฝนได้ผลผลิตต่ำ เพราะหน้าฝนน้ำเยอะต้นอ้อยขี้เกียจ รากไม่ค่อยเดินไปหากิน ไม่เหมือนอ้อยข้ามแล้ง รากต้องขยันชอนไชไปหาน้ำหาความชื้นที่อยู่ใต้ดิน รากเดินได้ดี”

ถ้าจะให้ได้อ้อยมีลำต้นใหญ่ ลุงแขกแนะเคล็ดลับพิเศษ... ต้องฝังปุ๋ยหลอกล่อรากให้หยั่งลึกหลังจากไถเปิดหน้าดิน ด้วยผาน 22 ตามด้วยไถระเบิดดินดานด้วยริปเปอร์ 5-7 หัวแบบไม่ต้องพลิกดิน...จากนั้นให้ไถเปิดร่องลึก 40 ซม. ด้วยโรตารีมินิคอมบาย ใส่ปุ๋ย 18-46-0 ไร่ละ 15 กก.แล้วไถกลบเมื่อฝังปุ๋ยล่อรากเสร็จ...เข้าสู่กระบวนการปลูก ฤกษ์ยามปลูกให้ลงมือในช่วงเช้ามืดหรือช่วงอากาศเย็นๆ ฝังท่อนพันธุ์ที่ความลึก 15 ซม. พร้อมใส่ปุ๋ย 16-20-0 อัตรา 15 กก.ต่อไร่ และอัดกลบดินให้แน่นไม่น้อยกว่า 10 ซม. เมื่ออ้อยอายุ 60 วัน ให้พรวนดินข้างๆแปลงพร้อมใส่ปุ๋ย 20-8-20 อัตรา 50 กก.ต่อไร่

หากมีฝนหลงฤดูในช่วงอ้อยกำลังงอก ต้องไถพรวนให้ดินร่วนซุย ทำร่องไม่ให้น้ำฝนชะดินมาทับต้น เพราะจะทำให้รากเน่า 30 วันถัดมาให้ไถพรวนกำจัดวัชพืชอีกครั้ง..การกำจัดวัชพืชในช่วง 5 เดือนแรกต้องทำให้น้อยที่สุด เพราะจะส่งผลกระทบต่อราก ฉะนั้น เมื่อปลูกอ้อยเสร็จ ควรฉีดพ่นสารคุมวัชพืชทันที แล้วค่อยๆใช้เครื่องมือถากถางในแปลงจนหมดทุกอย่างจบเมื่ออ้อยอายุครบ 14 เดือน ตัดขายเป็นครั้งแรก จะได้ลำอ้อยที่มีขนาดใหญ่กว่าแปลงอื่นเท่าตัว

อ้อยตอที่ 2 เป็นระยะที่รากแก้วจะชอนไชลงไปถึงปุ๋ยที่ฝังล่อไว้ในความลึก 40 ซม. อ้อยตอนี้ได้กำไรเพียวๆ ไม่ต้องใส่ปุ๋ยเพิ่ม แต่อย่างใด แถมยังได้ต้นที่แข็งแรงรากหยั่งลึก ...เมื่อตัดอ้อยตอ 2 เสร็จ ใช้ผานพรวนดินผ่ากลางกออ้อย ใส่ปุ๋ยสูตร 16–20–0 ไร่ละ 15 กก. เพื่อเป็นอาหารเลี้ยงอ้อยตอ 3 และ 4 จะได้ไม่น้อยกว่าไร่ละ 13 ตันในขณะที่ปลูกแบบเดิมๆได้ไม่ถึง 10 ตัน... สนใจข้อมูลเพิ่มเติม สอบถามที่ 08-1731-8557.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2561

กก.ปฏิรูปทรัพยากร หนุนยกเลิก 3 สารอันตราย

กก.ปฏิรูปด้านทรัพยากรฯ หนุนยกเลิก 3 สารอันตราย "พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส-ไกลโฟเซต" ในภาคเกษตร แนะปรับปรุง ก.ม.วัตถุอันตราย 3 ประเด็น ปรับโครงสร้างกรรมการ-ผู้ทรงคุณวุฒิ ปราศจากประโยชน์ทับซ้อน-เพิ่มอนุฯจัดประเภทวัตถุอันตราย

นายรอยล จิตรดอน ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหนังสือถึงประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ลงวันที่ 12 ก.ย. 2561 เรื่อง "การสนับสนุนให้ยกเลิกการใช้สารพิษในภาคการเกษตร" สรุปใจความว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติฯ สนับสนุนให้ยกเลิกสารเคมีในภาคเกษตร ได้แก่ สารพาราควอต, คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต

ทั้งนี้ สำหรับแนวทางและขั้นตอนในการดำเนินการยกเลิกนั้น ควรพิจารณาให้เหมาะสมบนพื้นฐานของการรักษาความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

พร้อมกันนี้ ยังมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า ควรให้มีการพิจารณาการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นกฎหมายหลักที่กําหนดโครงสร้างองค์กร กระบวนการ กำหนดตัดสินใจระดับนโยบาย และระบบการบริหารจัดการ สารเคมีการเกษตรและวัตถุอันตรายประเภทต่าง ๆ ของประเทศไทย

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งเนื้อหาบทบัญญัติส่วนสําคัญที่ควรมีการปฏิรูปเพื่อมิให้เกิดปัญหาซ้ำรอยกับกรณีการยกเลิกสารเคมีการเกษตร 7 ชนิด ได้แก่

1.การปรับปรุงโครงสร้างและองค์ประกอบของคณะกรรมการวัตถุอันตราย และอนุกรรมการ เพื่อป้องกันและขจัดปัญหาการขัดแย้งของผลประโยชน์

2.สําหรับกรณีสารป้องกันและกําจัดศัตรูพืช ควรกําหนดให้มีโครงสร้างคณะอนุกรรมการขึ้น 40 คณะ ภายใต้ร่างกฎหมายฉบับใหม่ อาทิ คณะอนุกรรมการจัดทําบัญชีรายชื่อ จัดประเภท และจัดทําแผนกํากับดูแลสารป้องกันและกําจัดศัตรูพืช โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาเป็นประธานอนุกรรมการ, คณะอนุกรรมการขึ้นทะเบียนสารป้องกันและกําจัดศัตรูพืช โดยให้อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเป็นประธาน, คณะอนุกรรมการจัดทํา รวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลสารป้องกันและกําจัดศัตรูพืช โดยให้อธิบดีกรมวิชาการเกษตรหรือผู้แทนเป็นประธาน

3.เพิ่มเติมกําหนดหลักการสําคัญเกี่ยวกับกระบวนการคัดเลือกและแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งอนุกรรมการต่าง ๆ ไว้ในร่างกฎหมาย เพื่อใช้เป็นหลักการในการกําหนดรายละเอียดของประกาศที่จะกําหนดขั้นต่อไป โดยควรมีหลักการสําคัญเกี่ยวกับการกําหนดคุณสมบัติที่ชัดเจนต่อการทําหน้าที่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และอนุกรรมการ การไม่มีผลประโยชน์ขัดแย้งในการทําหน้าที่ กระบวนการแต่งตั้งที่โปร่งใส มีธรรมาภิบาล และมีแนวทางป้องกันการแอบแฝงเข้ามาเป็นกรรมการหรืออนุกรรมการของผู้ประกอบการธุรกิจสารเคมีหรือวัตถุอันตราย

ทั้งนี้ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ด้านสังคม และด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควรร่วมกันจัดทําหนังสือข้อเสนอต่อการปรับปรุง ร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่ .) พ.ศ. .... ไปยังประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย เพื่อการปรับปรุงร่างกฎหมายต่อไป

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2561

กรมชลปรับแผนเพิ่มระบายน้ำ เฝ้าระวัง5เขื่อนล้นความจุ-รับมือฝนกระหน่ำรอบใหม่

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พร้อม นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้เดินทางลงพื้นที่ จ.กาญจนบุรี เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำแม่กลอง เนื่องจากเขื่อนใหญ่ 2 แห่งของลุ่มน้ำนี้มีปริมาณน้ำสูงกว่าระดับเกณฑ์ควบคุม โดยเขื่อนวชิราลงกรณ อ.ทองผาภูมิ มีปริมาณน้ำ 8,401 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือ 95% ของปริมาณความจุ ส่วนเขื่อนศรีนครินทร์ อ.ศรีสวัสดิ์ มีปริมาณน้ำ 16,195 ล้าน ลบ.ม. หรือ 91% ของปริมาณความจุ นอกจากนี้สถิติที่ผ่านมา พบว่า ช่วงเดือนกันยายน–ตุลาคมของทุกปี จะเป็นช่วงที่มีปริมาณนํ้าไหลเข้าเขื่อนมากที่สุด เพราะจะมีร่องความกดอากาศตํ่าเลื่อนจากภาคเหนือลงมายังภาคกลาง ซึ่งจะทําให้เกิดฝนตกหนัก

ดังนั้น พล.อ.ฉัตรชัย จึงสั่งการให้ปรับแผนบริหารจัดการลุ่มน้ำแม่กลองให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง โดยเร่งระบายน้ำออกจากเขื่อนวชิราลงกรณและเขื่อนศรีนครินทร์ในห้วงเวลาที่คาดว่าฝนทิ้งช่วง เพื่อให้ระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์ควบคุม สามารถรองรับปริมาณนํ้าฝนที่คาดว่าจะตกหนักในเดือนกันยายน–ตุลาคมได้ แต่การระบายน้ำของทั้ง 2 เขื่อน ต้องเพิ่มการระบายแบบขั้นบันได และจัดจราจรทางนํ้าในการระบาย เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ

โดยเขื่อนวชิราลงกรณจะปรับแผนการระบายน้ำจากวันละประมาณ 52 ล้าน ลบ.ม. เป็น 58 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน เป็นต้นไป ซึ่งจะส่งผลให้ระดับนํ้าในแม่น้ำแควน้อยสูงขึ้นจากปัจจุบัน 40 เซนติเมตร ไม่ให้เกินความจุของลําน้ำแควน้อย ส่วนเขื่อนศรีนครินทร์ จะปรับแผนเพิ่มการระบายนํ้า จากวันละประมาณ 20 ล้าน ลบ.ม. เป็นวันละ 28 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่ 7-13 กันยายน ซึ่งจะส่งผลให้ระดับนํ้าในแม่น้ำแควใหญ่สูงขึ้นจากปัจจุบัน 35 เซนติเมตร แต่ไม่เกินความจุของลํานํ้า สำหรับเขื่อนทดน้ำแม่กลอง อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ที่กรมชลประทานดูแล ก็จะปรับแผนการการระบายให้สอดคล้องกับทั้ง 2 เขื่อนด้วยเช่นกัน

สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนต่างๆ นั้น ขณะนี้มีเขื่อนที่เฝ้าระวังพิเศษที่มีระดับน้ำเกินเกณฑ์ควบคุม และมีปริมาณน้ำเกิน 80% ของความจุ จำนวน 5 แห่ง เป็นเขื่อนที่อยู่ในการดูแลของกรมชลประทาน 3 แห่งคือ 1.เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร มีปริมาณน้ำ 558 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 107% ของความจุ กรมชลประทานได้ปรับลดการระบายน้ำเพื่อลดผลกระทบพื้นที่ท้าย 2.เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี มีปริมาณน้ำ 753 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 106% กรมชลประทานได้เร่งพร่องน้ำตามการคาดการณ์ฝนที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และ 3.เขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก มีปริมาณน้ำ 197 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 88% ขณะนี้ได้ลดการระบายน้ำลงแล้ว ส่วนเขื่อนอีก 2 แห่งที่เฝ้าระวังพิเศษ คือ เขื่อนวชิราลงกรณและเขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งอยู่ในการดูแลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

จาก www.naewna.com วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2561

ค่าเงินบาทแข็งรับเลือกตั้ง

ทุนต่างชาติเข้าอีกระลอก รับสัญญาณบวกเตรียมเลือกตั้ง ส่งผลค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเทียบกับค่าเงินในภูมิภาคนายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโสสำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทที่โดดแข็งค่าขึ้นกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเมื่อวานนี้ 3 ก.ย.) 32.54 บาท/ดอลลาร์สหรัฐมา จากความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ

ที่มีต่อประเทศไทย หลังจากเว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษาประกาศ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 และ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 เป็นสัญญาณชัดเจนที่ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งเป็นปัจจัยเชิงจิตวิทยาทำให้เงินทุน ต่างชาติไหลเข้ามา ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น และดัชนีตลาดหุ้นทะยานขึ้น

นอกจากนี้ มีปัจจัยต่างประเทศสนับสนุนจากสงครามการค้าที่มีท่าทีผ่อนคลายของสหรัฐพร้อมเปิดทางเจรจากับจีนดีต่อประเทศตลาดเกิดใหม่หนุนเงินไหลกลับเข้ามาอีกครั้ง"ทิศทางค่าเงินบาทแข็งค่าไปพร้อมกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่วานนี้เงินบาทแข็งเร็วกว่าจากปัจจัยการเลือกตั้งที่เข้ามาใหม่แต่เป็นระยะสั้น โดยนักลงทุนประเมินว่าจะมีการเลือกตั้งเร็วที่สุดคือวันที่ 24 ก.พ. 2562" นายอมรเทพ กล่าวนายอมรเทพ กล่าวว่า ปัจจัย พื้นฐานยังบ่งชี้ค่าเงินบาทในระยะต่อไปเป็นทิศทางอ่อนค่า ได้แก่ การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐในเดือน ก.ย.และ ธ.ค. ซึ่งตลาดได้ซึมซับปัจจัยดังกล่าว ไปแล้วที่ต้องจับตาการประชุมรอบเดือน ก.ย. ว่าดอตพล็อตทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐในปี 2562 ตลาดคาดว่าจะปรับขึ้น 3 ครั้ง ทำให้ทิศทางเงินดอลลาร์แข็งค่า และเงินบาทอ่อนค่า

จาก www.naewna.com วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2561

น้ำตาลขอนแก่น Q3 ขาดทุน

น้ำตาลขอนแก่น ไตรมาส 3 ขาดทุน 95 ล้านบาท ขณะที่งวดนี้ปีก่อนมีกำไรสุทธิ 58 ล้านบาท ขณะมีรายได้ 5,293 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำไว้ 4,191 ล้าบาท หรือเพิ่มขึ้น 26% แม้ราคาน้ำตาลจะผันผวนตามราคาตลาดโลกอีกทั้งค่าเงินค่าผันผวน

นายจำรูญ ชินธรรมมิตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL แจ้งผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2561 (เดือนพฤษภาคม 2561 ถึงกรกฎาคม 2561) บริษัทมีรายได้รวม 5,293 ล้านบาท เมื่อเทียบผลประกอบการของงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 4,191 ล้าบาท หรือเพิ่มขึ้นเป็น 26% และมีขาดทุนสุทธิ 95 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 58 ล้านบาท หรือลดลง 263%

โดยความผันผวนของราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงต้นปี 2560 ขึ้นไป อยู่ที่ระดับ 20 เซ็นต์ต่อปอนด์ และลดลงอย่างรวดเร็ว ในปัจจุบัน ราคาอยู่ที่ระดับ 10-12 เซ็นต์ต่อปอนด์ เนื่องจากผลผลิตน้ำตาลในปี 2561 ที่ทั่วโลกมีมากขึ้น ประกอบกับการลอยตัวของราคาขายน้ำตาลในประเทศในปี 2561 ที่เป็นไปตามทิศทางเดียวกับราคาน้ำตาลตลาดโลก ส่งผลให้บริษัทมีราคาขายน้ำตาลเฉลี่ยในไตรมาส 3 ปี 2561 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง 27% จาก 16,525 บาทต่อตัน เป็น 12,151 บาทต่อตัน แต่มีปริมาณขายน้ำตาลเพิ่มขึ้น 81% จาก 196,221 ตัน เป็น 355,988 ตัน

ขณะที่รายได้อื่นเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีสาเหตุหลักมาจากกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากค่าเงินบาทอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐฯ และมีค่าใช้จ่ายในการขายสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปริมาณการขายเพิ่มขึ้นตามที่กล่าวข้างต้น และมีค่าใช้จ่ายขายบางส่วนจากการขนส่งน้ำตาล เพื่อรอการส่งมอบในงวดไตรมาส 4 ปี 2561 แต่บริษัทยังไม่ได้รับรู้รายได้จากการขายสินค้าดังกล่าวในงวดเดียวกัน

ส่วนต้นทุนทางการเงินนั้น เนื่องจากฤดูกาลผลิตปี 2561 บริษัทมีปริมาณอ้อยเข้าหีบสูงกว่าปีที่ผ่านมา จากปริมาณอ้อยเข้าหีบ 6.83 ล้านตันอ้อย เป็น 11.03 ล้านตันอ้อย หรือเพิ่มขึ้น 61% ส่งผลให้มีการใช้เงินทุนหมุนเวียนมากขึ้น และมีต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นในภาพรวม เมื่อพิจารณาผลประกอบการในไตรมาส 3 ปี 2561 บริษัทมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 49,796 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 31,247 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้น 18,549 ล้านบาท อัตราหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E Ratio) ที่ 1.68 และอัตราหนี้สินที่มีดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (IBD/Equity Ratio) ที่ 1.49

จาก https://mgronline.com   วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2561   

'กฤษฎา'ชี้ขั้นตอนเลิกใช้3สารพิษ1-2ปี ให้เวลาเกษตรกรปรับตัว

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงกรณีองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เรียกร้องให้ยุติการใช้สารเคมี 3 ชนิด ในการเกษตร ว่า การยุติหรือเลิกใช้สารเคมีพาราควอต , ไกลโฟเซล และคอร์ไพริฟอส มีขั้นตอนภายใน 1 - 2 ปี โดยคณะกรรมการวัตถุอันตรายเป็นผู้พิจารณา ระหว่างนี้มีมติกำจัดการใช้ให้ทางกระทรวงเกษตรฯ เสนอแผนจำกัดและรูปแบบซึ่งได้เสนอไปแล้ว หากอยู่ๆ ให้ยกเลิกเลย กระทรวงเกษตรฯ ก็จะทำผิดกฎหมาย

"ผมพร้อมยกเลิก หากช่องทางกฎหมายเปิด และให้เกษตรกรปรับตัวมีช่องทางช่วยเหลือตัวเองได้ไปสู่การทำเกษตรไม่ใช่สารเคมี เช่น เกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัย โดยให้ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.เกษตรฯ ตั้งคณะกรมการรณรงค์เผยแพร่วิธีการเพื่อให้เกษตรกรเปรียบเทียบ ซึ่งเวลานี้เกษตรกรทำเกษตรมีผลผลิตขายได้เร็วเขาก็เลือก ต้องเห็นใจคนยากคนจน ราคาสินค้าเกษตรไม่ดี ต้องเห็นใจด้วยถ้าทำอะไรไปไม่ดูแล จะมีปัญหาอีกกลุ่ม ซึ่งได้ลดการนำเข้ามา 1.3 หมื่นตัน จาก 5 - 6 หมื่นตัน ล็อคประเภทพืชที่ใช้ กำหนดพื้นที่ใช้ ทางส่วนหน่วยงานพยายามหาทางยับยั้งใช้สารเหล่านี้ จึงอยากเชิญชวนกลุ่มองค์กรรณรงค์เลิกใช้ ช่วยรณรงค์ให้เกษตรกรตระหนักรู้อย่างกว้างขวางด้วย" นายกฤษฎา กล่าว

จาก www.naewna.com  วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2561   

ก.เกษตรฯเปิดแผนเพิ่ม5 พืชทำเงิน

ก.เกษตรฯ ประกาศยุทธศาสตร์ปีงบประมาณ 2562 เพิ่มสินค้าเป้าหมาย 5  ชนิด ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา  สานต่อนโยบายตลาดนำการผลิต เดินหน้ายกระดับผลผลิต – บริหารจัดการน้ำ เริ่ม ต.ค.นี้

 นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปีงบประมาณ  2562  ที่จะเริ่มต้นในเดือนตุลาคมนี้  กระทรวงเกษตรฯ ยังเน้นสานต่อนโยบายตลาดนำการผลิต ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ เน้นดำเนินการ 2 เรื่องหลัก คือแผนงานบูรณาการพัฒนาศักยภาพการผลิตภาคเกษตร และการบริหารจัดการน้ำ วงเงินรวม 51,631 ล้านบาท แบ่งเป็นแผนงานบูรณาการพัฒนาศักยภาพการผลิตภาคเกษตร 7,460 ล้านบาท เน้นการบริหารจัดการ สินค้าเกษตร (Product Base) และให้เกษตรกรเป็นศูนย์กลางพัฒนา (Farmer – Center) ส่วนการบริหารจัดการน้ำ วงเงิน 44,171 ล้านบาท ใช้เพื่อจัดหาแหล่งน้ำ เพิ่มพื้นที่ชลประทาน และบรรเทาปัญหาอุทกภัย ในพื้นที่ลุ่มน้ำต่างๆ เป้าหมายเพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 213,813 ไร่

 สำหรับแผนงานบูรณาการพัฒนาศักยภาพการผลิตภาคเกษตร วางเป้าหมายบริหารจัดการสินค้าเกษตร (Product Base) 5 รายการคือ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และยางพารา + 4 plus (สับปะรด มะพร้าว ปศุสัตว์ ประมง) ดำเนินการพัฒนาศักยภาพ กระบวนการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพได้มาตรฐานตรงตามความ ต้องการของตลาด และการแปรรูปสินค้าเกษตร มี 5 โครงการสำคัญ ดังนี้ 1) โครงการพัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร 2) โครงการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร 3) โครงการยก ระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร 4)โครงการพัฒนาศักยภาพ กระบวนการแปรรูปสินค้าเกษตร และ 5)โครงการพัฒนาตลาดสินค้า เกษตร 400 แห่ง

 ส่วนแผนงานเกษตรกรเป็นศูนย์กลางพัฒนา (Farmer – Center) มีเป้าหมายพัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ตาม ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้กลไกศูนย์เรียนรู้การเพิ่ม ประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และเครือข่าย รวมทั้งพัฒนา ศักยภาพสถาบันเกษตรกรรูปแบบประชารัฐ ด้วยระบบส่งเสริม การเกษตรแปลงใหญ่ การปรับเปลี่ยนกิจกรรมการผลิตในพื้นที่ไม่ เหมาะสมตาม Agri – Map เพื่อพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน โดยมี โครงการที่สำคัญ อาทิ โครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการ ผลิตสินค้าเกษตร 882 ศูนย์ โครงการพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจ ของสหกรณ์ภาคการเกษตร/กลุ่มเกษตรกร จำนวน 350 แห่ง โครงการ ระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ จำนวน 4,608 แปลง โครงการ บริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหาร จัดการเชิงรุก (Agri – Map) และโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน 709,390 ไร่

สำหรับงบประมาณปี 2562 กระทรวงเกษตรฯ ได้รับการจัดสรรจำนวน 111,762 ล้านบาท  จำแนกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบุคลากรภาครัฐ จำนวน 25,492 ล้านบาท  2) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายของกระทรวง/หน่วยงาน (Function) จำนวน 25,021 ล้านบาท 3) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ (Agenda) จำนวน 53,366 ล้านบาท และ 4) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายพื้นที่ (Area) จำนวน 7,882 ล้านบาท

 นายกฤษฎา กล่าวต่อว่า ปีงบประมาณ 2561ที่ผ่านมา พืชเป้าหมายที่กระทรวงเกษตรฯจะใช้สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกเพื่อนำร่องมี 3 ชนิด เพราะปริมาณไม่เพียงพอต่อการปริโภค ผู้ผลิตในประเทศต้องนำ เข้าปีละหลายหมื่นล้านได้แก่ มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และถั่ว เหลือง โดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ไทยยังมีผลผลิตไม่เพียงพอต่อความ ต้องการในประเทศ แต่ละปีต้องนำเข้าประมาณ 3 ล้านตัน ภาครัฐ สามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตได้ด้วยการส่งเสริมปลูกข้าวโพดทดแทน ข้าวนาปรัง หรือเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดในพื้นที่เดิมที่ปลูกอยู่ ประมาณ 6 ล้านไร่

ส่วนมันสำปะหลังยังมีผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการใน ประเทศ ในแต่ละปีต้องนำเข้ามาประมาณ 13.51 ล้านตัน ภาครัฐ สามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตได้ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในพื้นที่เดิมที่ ปลูกอยู่แล้ว 8.29 ล้านไร่ และถั่วเหลืองยังผลิตไม่เพียงพอต่อความ ต้องการในการใช้ในภาคอุตสาหกรรม โดยในปี 2560 ต้องนำเข้า 2.75 ล้านตัน ภาครัฐสามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตโดยการส่งเสริมให้ เกษตรกรทำการผลิตในพื้นที่เหมาะสมทั้งในพื้นที่หลังนาและพื้นที่ใหม่

จาก www.banmuang.co.th   วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2561   

ปั้นเศรษฐกิจการเกษตรอาสา

ก.เกษตรฯ เร่งพัฒนาเกษตรกรให้มีความรู้ด้านการผลิตและการตลาด ผ่านเศรษฐกิจการเกษตรอาสา ยกระดับเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ขับเคลื่อนภาคเกษตรไทยในยุค 4.0

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการสัมมนา  “การขับเคลื่อนเศรษฐกิจการเกษตรอาสา สู่การปฏิรูปเกษตรไทย ยุค 4.0” และกล่าวแก่ผู้แทนเกษตรกรซึ่งเป็น “เศรษฐกิจการเกษตรอาสา” (ศกอ.) ประจำอยู่ที่ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการเกษตร (ศพก.) ซึ่งมี 882 ศูนย์ทั่วประเทศ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตเกษตรกร โดยมีสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เป็นหน่วยงานสนับสนุนด้านนโยบายและข้อมูลทางการเกษตรตามยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ ระยะ 20 ปี เพื่อขับเคลื่อนให้ภาคเกษตรเจริญเติบโตได้ต่อเนื่องอย่างมีเสถียรภาพ 

นายกฤษฎา กล่าวว่า นโยบายที่ให้ความสำคัญขณะนี้ คือ “ตลาดนำการผลิต” เนื่องจากที่ผ่านมาพืชใดราคาดีก็จะปลูกพืชชนิดนั้นตามกัน เช่น ข้าว ยางพารา สับปะรด ซึ่งปลูกกันมากจนราคาตกต่ำ จึงได้มอบหมายให้ สศก.ตรวจสอบข้อมูลว่าตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศต้องการผลผลิตทางการเกษตรใด นำมาวางแผนการผลิตของประเทศ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชที่ขายขาดทุน มาเป็นพืชที่ผลผลิตยังไม่เพียงพอ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ในเดือนพฤศจิกายนนี้จะเริ่มโครงการปลูกพืชหลังนา หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวนาปีแล้วเกษตรกรสามารถปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชตระกูลถั่ว หรือพืชผักแทนการทำนาปรัง โดยใช้แผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) กำหนดว่าพื้นที่ใดเหมาะสมจะปลูกพืชใด จัดระบบชลประทานส่งน้ำให้อย่างทั่วถึงและเพียงพอ และสิ่งสำคัญ คือ ประสานหาตลาดมารับซื้อผลผลิตทั้งหมดในราคาเหมาะสม ซึ่งมั่นใจว่าจะได้กำไรมากกว่าปลูกข้าวแน่นอน เมื่อเป็นผลสำเร็จก็จะเป็นต้นแบบในการวางแผนการผลิตทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และประมงต่อไป จึงต้องการให้ ศกอ.เป็นบุรุษไปรษณีย์ของกระทรวงเกษตรฯ นำข้อมูลเหล่านี้ไปถ่ายทอดเกษตรกรในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังต้องจูงใจให้คนรุ่นใหม่เข้ามาสืบทอดการทำการเกษตรต่อจากพ่อแม่มากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีทั้งด้านการผลิตและการสื่อสารเปลี่ยนแปลงไป คนรุ่นใหม่สามารถเรียนรู้ได้รวดเร็ว ทำให้เกิดสมาร์ทฟาร์มเมอร์เดินหน้าภาคการเกษตรไทยในยุค 4.0

ด้านนายวิณะโรจน์  ทรัพย์ส่งสุข  เลขาธิการ สศก. กล่าวว่า สศก.พัฒนาเศรษฐกิจการเกษตรอาสาให้เป็นผู้ที่ความรู้ด้านเศรษฐกิจการเกษตรอย่างรอบด้าน  โดยเฉพาะการฝึกอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ที่สำคัญในด้านเศรษฐกิจการเกษตร ทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติ การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตร  อีกทั้งยังมีการประเมินผลการปฏิบัติงานของ ศกอ. เพื่อคัดเลือก ศกอ.ดีเด่นระดับต่าง ๆ เป็นประจำทุกปี โดย ศกอ.มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ข้อมูลและความรู้ทางด้านเศรษฐกิจการเกษตรสู่เกษตรกรในพื้นที่ เพื่อให้สามารถนำความรู้ไปใช้ในการบริหารจัดการด้านการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และผลิตสินค้าที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด นอกจากนี้ ศกอ.ยังเป็นผู้จัดเก็บและรายงานข้อมูลสถานการณ์สินค้าเกษตรให้กับ สศก.และในทางกลับกันยังเป็นผู้เผยแพร่นโยบาย มาตรการของรัฐบาล สู่เกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ในอนาคตต่อไป

สำหรับการจัดสัมมนาครั้งนี้ จึงนับเป็นการรวมพลครั้งสำคัญของ ศกอ.ทั่วประเทศ เพื่อสร้างการรับรู้ด้านนโยบายการบริหารจัดการด้านการผลิต และการตลาดสินค้าเกษตรแบบครบวงจร และนโยบายต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรฯ และยังเป็นโอกาสสำคัญที่ ศกอ.แต่ละพื้นที่จะได้มาพบปะและสร้างเครือข่ายร่วมกันในการปฏิบัติงาน เพื่อเป็นสื่อกลางข้อมูลข่าวสารของราชการไปยังเกษตรกรได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพทั่วถึงทุกพื้นที่ต่อไป.

จาก https://www.mcot.net  วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2561   

บอร์ดบีโอไอไฟเขียว 4 โครงการใหญ่ มูลค่ากว่า 1.6 แสนล้าน

น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาให้การส่งเสริมโครงการลงทุนจำนวน 4 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 167,679 ล้านบาท ประกอบด้วย

โครงการที่ 1 บริษัท สยาม เด็นโซ่ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตชิ้นส่วนระบบเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลที่ลดการใช้น้ำมันและการปล่อยมลพิษเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานยูโรใหม่ เงินลงทุนทั้งสิ้น 3,973 ล้านบาท ตั้งโครงการที่ จ.ชลบุรี โดยโครงการนี้จะใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศปีละกว่า 2,632.6 ล้านบาท และช่วยสร้างความเข้มแข็งแก่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย

โครงการที่ 2 บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูป เงินลงทุนทั้งสิ้น 156,621 ล้านบาท ตั้งโครงการที่ จ.ชลบุรี โดยโครงการนี้จะเพิ่มความสามารถในการกลั่นน้ำมันดิบที่มีความหลากหลาย โดยเฉพาะการผลิตน้ำมันอากาศยานและน้ำมันดีเซลเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการขนส่งและเมืองการบินของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี รวมทั้งช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาว โดยรองรับความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่เพิ่มขึ้น และยังจะช่วยต่อยอดอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้นอีกด้วย

โครงการที่ 3 บริษัท ผลิตไฟฟ้า นวนคร จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ 60 เมกะวัตต์และไอน้ำ 10 ตันต่อชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 3,105 ล้านบาท ตั้งโครงการที่ จ.ปทุมธานี โครงการนี้เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม ซึ่งนำอากาศเสียที่มีความร้อนสูงมาใช้ต่อ จึงช่วยประหยัดพลังงาน และเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศไทย

โครงการที่ 4 บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ 57 เมกะวัตต์และไอน้ำ 70 ตันต่อชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 3,980 ล้านบาท ตั้งโครงการที่ จ.ระยอง โครงการนี้เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม ซึ่งนำอากาศเสียที่มีความร้อนสูงมาใช้ต่อ จึงช่วยประหยัดพลังงาน และเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศไทย

จาก https://www.khaosod.co.th   วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2561  

พพ.น้ำร่อง 'โซลาร์ลอยน้ำ'ผลิตไฟฟ้า 10 เมกฯ

พพ.ลุยศึกษาโซลาร์ลอยน้ำ เขื่อนคิรีธาร คาดใช้เวลา 1 ปีแล้วเสร็จ ก่อนนำร่องของบกองทุนอนุรักษ์พลังงาน คาดกำลังการผลิตเพิ่มกว่า 10 เมกฯ

นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) เปิดเผยว่า พพ. อยู่ระหว่างเดินหน้าศึกษาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำ(โซลาร์ลอยน้ำ)ในเขื่อนคิรีธาร จ.จันทบุรี ที่พพ.ดูแล เนื่องจากเป็นแนวทางผลิตไฟฟ้ารูปแบบใหม่ที่ควรสนับสนุนและยังเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของประเทศได้อีกทางหนึ่ง โดยการศึกษาเริ่มต้นเมื่อต้นปีนี้ คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาเสร็จสิ้นภายใน1ปี เสร็จประมาณต้นปี2562 จากนั้นจะเสนอโครงการขออนุมัติงบจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานต่อไป เพื่อเดินหน้าลงทุน โดยเฉพาะกานว่าจ้างเอกชนเข้ามาดำเนินการวางรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมตลอดจนก่อสร้างตลอดทั้งโครงการด้วย

ทั้งนี้ปัจจุบันเขื่อนคิรีธารมีการผลิตไฟฟ้าป้อนเข้าระบบแล้วประมาณ 12 เมกะวัตต์ หากมีโซลาร์ลอยน้ำคาดว่าจะผลิตไฟได้เพิ่มประมาณ10เมกะวัตต์ กำหนดราคาขายไฟเข้าประมาณ 1.09 สตาง์ต่อหน่วย ราคาไม่แพงเพราะเป็นการผลิตของภาครัฐไม่ได้หวังผลกำไร โดยหลังจากเดินหน้าผลิตในเขื่อนคิรีธารแล้ว พพ.ตั้งเป้าหมายติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำในอ่างเก็บน้ำของพพ.ที่มีทั่วประเทศประมาณ 10 แห่ง คาดว่าจะสามารถผลิตไฟได้ไม่ต่ำกว่า 100 เมกะวัตต์แน่นอน

จาก https://www.thaipost.net วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2561   

ค่าเงินบาทอ่อนค่าเล็กน้อย หลังจีนเตรียมหารือ WTO หวังคว่ำบาตรสหรัฐ-จับตาประชุมกนง.สัปดาห์หน้า

ค่าเงินบาทอ่อนค่าเล็กน้อย หลังจีนเตรียมหารือองค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อคว่ำบาตรสหรัฐ กระทบค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า จับตาการประชุม กนง.อาจส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (19 ก.ย.)

ผู้สื่อข่าวรายงานค่าเงินบาท วันนี้ (12 ก.ย.2561) เปิดตลาดที่ 32.82 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าต่อเนื่องจากระดับปิดเมื่อวานที่ 32.83 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ล่าสุดค่าเงินบาทซื้อขายอยู่ที่ระดับ 32.80-32.83 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ด้านนักค้าเงินธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ค่าเงินบาทวันนี้มีทิศทางอ่อนค่าเล็กน้อย โดยปัจจัยหลักมาจากการโต้ตอบของจีนที่เตรียมหารือกับองค์การการค้าโลก (WTO) ในเรื่องการคว่ำบาตรสหรัฐภายในวันที่ 21 ก.ย.นี้ ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า แต่คาดว่าไม่ได้กระทบกับค่าเงินของไทยมากนัก

พร้อมกันนี้นักค้าเงินได้ประเมินว่า ค่าเงินบาทในวันนี้ น่าจะเคลื่อนไหวในกรอบที่มีแนวรับ 32.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่แนวต้านให้ไว้ที่ 32.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่อาจส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (19 ก.ย.)

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 12 กันยายน 2561

ACT กระทุ้งรัฐมนตรีเกษตร!! เลิกสารเคมีร้ายแรง-จี้เผยชื่อใครได้ประโยชน์

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันออกจดหมายเปิดผนึกถึง รมว.เกษตรฯ ขอให้ยุติการใช้สารเคมีเพื่อการเกษตรอันตรายร้ายแรงทั้งหมดในทันที และสอบสวนเชิงลึกว่า มีการเอื้อประโยชน์ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับนักธุรกิจสารพิษเพื่อการเกษตรหรือไม่

เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2561 เพจองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้ทำถึง นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์   เรื่อง การใช้สารพิษในการเกษตรที่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อประชาชน

โดยในจดหมายเปิดผนึก ระบุว่า เนื่องจากมีความวิตกกังวลในหมู่ประชาชนอย่างมากในขณะนี้ ว่า รัฐจะปกป้องชีวิตและสุขภาพของประชาชนอย่างไร เมื่อพบว่า ทุกวันนี้อาหารและพืชผลการเกษตรมีสารพิษตกค้างจำนวนมาก อันเป็นผลจากการใช้พาราควอตและสารพิษเพื่อการเกษตรอื่น แต่ก็ยังปล่อยให้มีการจำหน่ายและใช้ทั่วไปในปริมาณมหาศาล แม้นักวิชาการด้านการแพทย์ นักวิจัย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงเกษตรฯ จะออกมาให้ข้อมูลคัดค้านอย่างต่อเนื่อง

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ขอสนับสนุนท่าทีของ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา นักวิจัยอาวุโส รวมทั้งองค์กรภาคประชาสังคมและนักวิจัยอีกจำนวนมาก ที่ต้องการเห็นคนไทยมีสุขภาพดี แผ่นดินไทยปราศจากสารพิษ ด้วยการหยุดใช้สารเคมีเพื่อการเกษตรที่เป็นอันตรายร้ายแรงทั้งหมดในทันที และขอเสนอแนวทางต่อรัฐบาล 3 ข้อ ดังนี้

1.ในการพิจารณาของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2561 ขอให้ยึดเอาสุขภาพที่ดีของประชาชน สำคัญกว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจการค้าและให้นำผลการศึกษาและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศคณะต่าง ๆ ทั้งด้านสังคม ด้านสาธารณสุข ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะทำงานสารที่มีความเสี่ยงสูง ของกระทรวงสาธารณสุข มาใช้ประกอบการตัดสินใจ

2.ควรเปิดเผยรายชื่อเอกชนที่มีผลประโยชน์ทางการค้า ไม่ว่าจะเป็น ไทยหรือต่างชาติ เพื่อความโปร่งใส และสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐ เช่น ดีเอสไอได้สอบสวนเชิงลึกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของบุคคลในคณะกรรมการวัตถุอันตราย อนุกรรมการ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตให้ต่อทะเบียนกับนักธุรกิจสารพิษเพื่อการเกษตร ว่า มีพฤติกรรมที่ฉ้อฉล หรือ มีการเอื้อประโยชน์กันหรือไม่

3.ควรแก้ไขพระราชบัญญัติวัตถุอันตรายฯ โดยเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของคณะกรรมการ ให้มีตัวแทนภาคประชาชนและหน่วยงานที่ดูแลด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งควรให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณาตัดสินใจ

ในตอนท้ายของจดหมายเปิดผนึก ยังระบุว่า องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เห็นว่า เพื่อปกป้องชีวิตและสุขภาพของประชาชน รัฐบาลควรให้ยุติการใช้งานสารพิษร้ายแรงเหล่านี้ จนกว่าผู้จำหน่ายจะสามารถหาข้อพิสูจน์ให้เห็นชัดว่า ไม่เป็นพิษกับประชาชน

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 12 กันยายน 2561

ก้าวทัน"เทคโนฯเกษตร"ยุค4.0   ก้าวทัน"แอพพลิเคชั่น"

งานฮอร์ติ เอเชีย 2018 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 สิงหาคม ที่ผ่านมา ณ  ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ นอกจากมีการนำเสนอปัจจัยการผลิตทางการเกษตรและนวัตกรรมด้านการเกษตรของบริษัทชั้นนำกว่า 300 บริษัทจาก 25 ประเทศทั่วโลกแล้ว บริษัทเหล่านี้ยังมี “แอพพลิเคชั่น” ของตนเองมาโชว์กระบวนการผลิตที่ครอบคลุมในทุกมิติ เริ่มตั้งแต่การเตรียมวัสดุปลูก การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว การปรับปรุงพันธุ์ การดูแลใส่ปุ๋ย การปรับปรุงคุณภาพดิน การระบายอากาศ ตลอดจนเทคโนโลยีโรงเรือน

กล่าวได้ว่า ความทันสมัยในภาคเกษตรกรรมไม่ได้มีแต่เครื่องจักรเพียงอย่างเดียวที่จะเข้ามาเป็นตัวช่วยของเกษตรกรในการทำเกษตรสมัยใหม่ แต่การพัฒนาตัวช่วยผ่านหน้าจอสมาร์ทโฟน กำลังได้รับความนิยมและพัฒนากันอย่างกว้างขวางมากขึ้น

แอพพลิเคชั่น จึงถือเป็นความท้าทายของภาคการเกษตรไทยหากจะก้าวต่อไปสู่ยุค 4.0 เพราะการเกษตรถือเป็นอุตสาหกรรมหลักของไทยรวมไปถึงภูมิภาคอาเซียน ยิ่งไทยจะเดินหน้าไทยแลนด์ 4.0 ด้วยแล้ว ประเทศรอบบ้านเราก็จะยิ่งต้องพัฒนา Agtech โดยเร็วที่สุดเพื่อให้ก้าวทันเทคโนโลยีทีี่หลายประเทศขณะนี้ได้ก้าวกระโดดไปไกลมากแล้ว

อย่างเช่น อิสราเอล ได้สร้างสตาร์ทอัพเทคโนโลยีเกษตรที่มุ่งเปลี่ยนแปลงเกษตรกรรมของทั้งโลก ครอบคลุมในทุกๆ ด้าน ได้ไม่ว่าจะเป็น แพลตฟอร์มการจัดการฟาร์มอัจฉริยะ การให้น้ำ การจัดการโรคและแมลง โดรนและหุ่นยนต์เกษตร การดูแลรักษาพืช จักรกลเกษตรอัจฉริยะ การเก็บเกี่ยว การจัดการตลาด ระบบเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอัจฉริยะ เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีการจัดการของเสีย ระบบเลี้ยงปศุสัตว์อัจฉริยะ และระบบสมาร์ทฟาร์ม

ขณะออสเตรเลียก็ได้สร้างฟาร์มและไร่นาที่สามารถทำงานได้ด้วยตนเอง (Automated Farming) โดยตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี ค.ศ. 2025 จะมีหุ่นยนต์ทำงานในไร่นา เก็บเกี่ยว และแปรรูปเบื้องต้นได้ทั้งหมด

ขยับเข้ามาใกล้บ้านเราอย่างอินโดนีเซีย ได้เกิดสตาร์ทอัพชื่อ i-Grow ที่ให้ผู้ใช้ลงทุนเพาะปลูกผ่านสมาร์ทโฟนเพียงเครื่องเดียว เริ่มจากเลือกซื้อเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ เช่น มะพร้าว ถั่วลิสงจากนั้นเกษตรกรกว่า 2,000 รายในระบบจะเป็นผู้ปลูก และเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ ซึ่งรายได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นจะแบ่งกันระหว่างเกษตรกร และผู้ลงทุน ปัจจุบันมีผู้ใช้งานแอพพลิเคชั่นนี้กว่า 10,000 คน และลงทุนเพาะปลูกไปกว่า 10 ล้านต้นแล้ว 

นอกจากนี้ยังมี CI Agriculture ที่สร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาใหม่ โดยรวมการวิเคราะห์พื้นที่เพาะปลูกผ่านดาวเทียม โดรน และเซ็นเซอร์ตรวจสอบความชื้นของดิน เพื่อให้ผลลัพธ์เกี่ยวกับสถานที่ว่าคุ้มค่าแก่การเพาะปลูกหรือไม่ และอนาคตว่ากันว่าจะสามารถนำตัวเลขดังกล่าวไปยื่นต่อสถาบันการเงินเพื่ออนุมัติเงินกู้เพื่อทำเกษตรกรรมให้ง่ายขึ้นได้อีกด้วย

สิงคโปร์ ถึงแม้พื้นที่เกษตรกรรมมีน้อยแต่ก็มีสตาร์ทอัพ ชื่อ Garuda Robotics เป็นการสร้างซอฟต์แวร์ให้โดรน เพื่อช่วยตรวจสอบพื้นที่ และทำกิจกรรมต่างๆ แทนแรงงาน เช่น การโปรยปุ๋ยให้แก่ผลผลิตอย่างแม่นยำและครอบคลุมพื้นที่ที่เกษตรกรต้องการ

ขณะที่ประเทศไทยเองที่ผ่านมาได้มีความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตแบบดั้งเดิมไปสู่ระบบเกษตรอัจฉริยะมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องจักรในกระบวนการผลิต การใช้เทคโนโลยีการสื่อสารโดยผ่านสมาร์ทโฟน เมื่อก่อน อาจจะรู้จักแค่ OAE Reduce Cost เป็นแอพพลิเคชั่นเพื่อคำนวณต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร และเปรียบเทียบต้นทุนจากการคำนวณกับต้นทุนเฉลี่ยของทางสำนักงานฯ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการลงทุน

แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นเกิดขึ้นมากมาย อย่างน้อยมี 12 แอพนี้ติดเครื่องสมาร์ทโฟนไว้ การทำเกษตรกรรมก็จะกลายเป็นเรื่องง่ายในทันที จากข้อมูล www.bangkokbanksme.com ระบุรายละเอียด 12 แอพพลิเคชั่นดังกล่าว โดยตัวแรกคือ ProtectPlants สุดยอดแอพพลิเคชั่นที่ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคพืชและศัตรูพืช มีฟังก์ชั่นที่หลากหลาย ทั้งในด้านขององค์ความรู้อารักขาพืช การวินิจฉัยศัตรูพืชเบื้องต้น การวินิจฉัยชนิดพืช สามารถพยากรณ์เตือนสภาพอากาศที่จะเกิดขึ้นได้ อีกทั้งยังพยากรณ์เตือนการระบาดของศัตรูพืชที่อาจมีผลกระทบต่อการทำเกษตรของเราได้อีกต่างหาก เรียกได้ว่าเป็นแอพที่ครบเครื่องเรื่องการเกษตรและศัตรูพืชอย่างแท้จริง

ตัวที่สอง WMSC เป็นอีกหนึ่งแหล่งข้อมูลและนำเสนอข้อมูลข่าวสารในการบริหารจัดการน้ำ มีทั้งข้อมูลปริมาณน้ำฝน ข้อมูลปริมาณน้ำท่า ข้อมูลปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ข้อมูลอัตราการไหลของน้ำในแม่น้ำ และคลองชลประทานต่างๆ โดยข้อมูลทั้งหมดนี้จะช่วยให้เพื่อนๆ สามารถเตรียมการรับมือกับภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นอย่างกะทันหันได้ ตัวที่สาม InsectShot จะเพิ่มความสะดวกรวดเร็วจากการใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในแปลงนาแทนการสุ่มนับด้วยคน โดยเมื่อถ่ายภาพเสร็จก็จะส่งภาพไปที่เครื่องแม่ข่ายก็จะประมวลผลนับจำนวนเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลให้ทันที อย่างไรก็ตาม ในอนาคตยังมีโครงการที่จะพัฒนาโปรแกรมตรวจนับปริมาณเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่เข้าไปในกับดักแสงไฟ เพื่อลดขั้นตอนการนับด้วยแรงงานคนอีกด้วย

ตัวที่สี่ Rice Pest Monitoring อีกหนึ่งสุดยอดแอพที่มีระบบสนับสนุนการพยากรณ์และเตือนภัยของกรมการข้าว เพื่อแจ้งใช้ในการติดตาม เฝ้าระวัง และเตือนภัยล่วงหน้าก่อนที่จะเกิดการระบาด (Rice Pest Monitoring) ของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและโรคไหม้ และเป็นเครื่องมือและนำไปประยุกต์ใช้สนับสนุนการปฏิบัติงานให้แก่เกษตรกรในการติดตามเฝ้าระวังในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ ได้แก่ เจ้าหน้าที่กรมการข้าว นักวิจัย นักวิชาการ กลุ่ม Smart farmer และกลุ่ม Smart officer

ตัวที่ห้า Ag-Info แหล่งรวมข้อมูลสารสนเทศและข่าวสารเศรษฐกิจการเกษตร เพื่อเป็นประโยชน์ในการวางแผนทำการเกษตรและการตัดสินใจ อาทิ ราคาสินค้าเกษตร ณ ตลาดกลาง เป็นรายวัน ราคาสินค้าเกษตร ณ ไร่นา ปฏิทินสินค้าเกษตร การติดตามสถานการณ์การผลิตการตลาด การเตือนภัยและข่าวสารการประชาสัมพันธ์ ตลอดจนนโยบายของรัฐ ตัวที่หก เทคโนโลยีการผลิตข้าว เป็นระบบที่รวบรวมข้อมูลเทคโนโลยีการผลิตข้าว โดยแบ่งข้อมูลออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ การปลูก ดูแลรักษาและการใช้ปุ๋ยในนาข้าว ศัตรูข้าวและการป้องกันกำจัดวัชพืชในนาข้าวและเมล็ดพันธุ์และการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว 

ตัวที่เจ็ด  AC AGRI VOCAB  แอพพลิเคชั่นที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการเรียนรู้คำศัพท์พื้นฐานด้านการเกษตร เช่น ผัก สมุนไพร เครื่องเทศ ผลไม้ พืชไร่ ไม้ยืนต้น สัตว์ทางการเกษตร และคำศัพท์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยมี 5 ภาษาให้เลือกฝึกและทำความคุ้นเคย ได้แก่ ภาษาไทย เวียดนาม เมียนมาร์ กัมพูชา และภาษาบาฮาซา ตัวที่แปด Ldd Soil Guide ระบบสารสนเทศดินและข้อมูลการใช้ปุ๋ย เป็นระบบที่แสดงข้อมูลกลุ่มชุดดิน และข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินทั้งประเทศ เรียกง่ายๆ ว่าครบเครื่องเรื่องดิน

ตัวที่แปด LDD’s IM Farm เป็นรูปแบบของเกมที่ใช้เพื่อเป็นข้อมูลทางเลือกในการตัดสินใจการใช้ประโยชน์ที่ดิน ให้ได้ผลตอบแทนสูงสุด และใช้เป็นระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษา (e-Education) ด้านการเกษตร สำหรับเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาที่ดิน เกษตรกร นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป และเพื่อเป็นแหล่งความรู้ด้านการทำเกษตรกรรม ตัวที่เก้า กระดานเศรษฐี เกษตรกรมีโอกาสถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการคำนวณต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร และเปรียบเทียบต้นทุนจากการคำนวณกับต้นทุนเฉลี่ยของทางสำนักงานฯ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการลงทุน โดยยังมีข้อมูลตลาด และความเหมาะสมของสินค้าในพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเลือกลงทุนกับสินค้าที่เหมาะสมกับพื้นที่ของตนมากที่สุด

ตัวที่สิบเอ็ด OAE OIC เป็นเรื่องข้อมูลปฏิทินการผลิตสินค้าเกษตร แหล่งรับซื้อราคาสินค้าเกษตร รวมทั้งข่าวประชาสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้อง เกษตรกรสามารถเข้าไปดูข้อมูลปฏิทินสินค้าเกษตรที่สำคัญรายเดือน เข้าถึงข่าวสารได้ง่าย รวดเร็ว มีข้อมูลปฏิทินการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญรายเดือน (Crop Calendar) เชื่อมโยงแหล่งผลิต แหล่งรับซื้อ และ ราคา สำหรับประชาชน เพื่อให้สามารถวางแผนการผลิต และการตลาด ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

และสุดท้ายตัวที่สิบสอง  MOAC App Center เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมและเผยแพร่โมบายแอพพลิเคชั่นของหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำหรับเกษตรกรและผู้ที่สนใจ โดยเปิดให้เกษตรกรสามารถขอรับบริการและค้นหาความรู้ด้านการเกษตร ผ่านอุปกรณ์ Smart Device ได้ทันที โดยมีครบทุกแอพที่จำเป็นรวมอยู่ในแอพนี้เพียงแอพเดียว  ซึ่งเกษตรกรสามารถเลือกใช้งานได้ตามความเหมาะสม

  สหกรณ์ชู“แอพ”เพิ่มประสิทธิภาพผลิตน้ำนมโค   

เชิดชัย พรหมแก้ว รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวถึงโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการใช้โปรแกรมบันทึกข้อมูลโคนมเพิ่มศักยภาพบริหารจัดการฟาร์ม ของชุมนุมสหกรณ์โคนมภาคตะวันออกและอีสานใต้ จำกัด ว่าปัจจุบันการเลี้ยงโคนมได้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการฟาร์มโคนม ซึ่งมีโปรแกรมต่างๆ ที่เป็นแอพพลิเคชั่นในการบันทึกข้อมูล สามารถประมวลผลเกี่ยวกับโคนมรายตัวในด้านต่างๆ อาทิ อายุโค สายพันธุ์ การผสมเทียม การคลอดนม และการรักษาอาการเจ็บป่วยของโค ขณะนี้มีเกษตรกรเป็นจำนวนมากที่ยังไม่สามารถใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการฟาร์มได้ ทำให้ไม่สามารถเก็บข้อมูลโคนมไม่ครบถ้วน และส่งผลให้การบริหารจัดการฟาร์มโคนมไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

อย่างไรก็ตาม หากจัดการฟาร์มไม่เป็นระบบและทันท่วงที อาจส่งผลเสียหายในระยะยาว ดังนั้นการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจดบันทึกข้อมูลโคนม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการฟาร์ม 

“การใช้โปรแกรมนี้จะทำให้ง่ายในการแก้ไขปัญหาและช่วยให้การบริหารจัดการฟาร์มโคนมมีประสิทธิภาพและแก้ปัญหาได้ทันท่วงที มีรายได้จากอาชีพการเลี้ยงโคนมที่ยั่งยืนและทันสมัยเพื่อให้สมาชิกนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไปใช้บันทึกข้อมูลโคและการบริหารจัดการจะช่วยยกระดับเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ได้ในที่สุด” รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวย้ำ

จาก www.komchadluek.net วันที่ 12 กันยายน 2561

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นจี้เกษตรยุติใช้สารเคมีอันตราย

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นส่งจดหมายถึงรัฐมนตรีเกษตรฯ ขอให้ยุติใช้สารเคมีอันตราย  ด้าน รมว.เกษตรฯ สั่งกรมวิชาการเกษตรทำหนังสือชี้แจงด่วน

ภายหลังจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอให้ยุติการใช้สารเคมีเพื่อการเกษตรอันตรายร้ายแรงทั้งหมดทันที และสอบสวนเชิงลึกว่ามีการเอื้อประโยชน์ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับนักธุรกิจสารพิษเพื่อการเกษตรหรือไม่

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้อธิบดีกรมวิชาการเกษตรทำหนังสือชี้แจงองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นฯ ประเด็นอำนาจการอนุญาตให้จำหน่ายและใช้สารเคมีดังกล่าวตามกฎหมายเป็นอำนาจของหน่วยงานใดและมีขั้นตอนการอนุญาตและการเพิกถอนหรือระงับการอนุญาตต้องทำอย่างไรตามกฎหมาย  มติครั้งสุดท้ายของคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีว่าอย่างไรและในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ ทำตามมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายอย่างไรบ้าง ปัจจุบันกระทรวงเกษตรฯ กำหนดแนวทางต่อการใช้สารเคมีดังกล่าวอย่างไรบ้าง 

ปัจจุบันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมายนายวิวัฒน์ รับผิดชอบการวางแผนและการดำเนินการเผยแพร่การใช้ระบบเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัยให้กว้างขวางแล้ว  อีกทั้งให้แจ้งรายละเอียดผลการเผยแพร่และรณรงค์เรื่องเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัย เพื่อสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องแก่สาธารณชนด้วย

จาก https://www.mcot.net  วันที่ 12 กันยายน 2561

"พิชัย" สอนมวย "บิ๊กตู่" ทำนโยบายพลังงานให้เข้ากับทิศทางโลก

"พิชัย" สอนมวย "บิ๊กตู่" ดูนโยบายพลังงานให้เข้ากับทิศทางโลก เย้ย 4 ปีไม่มีผลงานด้านพลังงาน จี้เร่งตรวจสอบการทุจริตและแก้ไขการผูกขาด พร้อมเสนอนโยนบาย "ทักษิโณมิกส์" งเสริมแกร่งธุรกิจพลังงานแข่งขันในเวทีโลก

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวในงานสัมมนานโยบายสาธารณะด้านพลังงานจัดโดย สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ว่า นโยบายพลังงานต้องสอดคล้องกับทิศทางของโลกที่มุ่งสู่พลังงานไฟฟ้า และผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียนที่เป็นพลังงานสะอาด เช่น พลังแสงอาทิตย์ พลังลม ฯลฯ และมีราคาต้นทุนการผลิตลดลงเรื่อยๆ ซึ่งทำให้การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลจะลดลงเรื่อยๆโดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินที่หลายประเทศเริ่มจะเลิกการผลิตกันแล้ว

อย่างไรก็ตามการที่พลเอกประยุทธ์เคยออกมาตำหนิตนว่าไม่ได้ทำอะไรตอนเป็น รมว.พลังงาน ซึ่งความจริงตนได้ทำหลายเรื่องเช่น ยกเลิกเบนซิน 91 ทำให้มีการใช้เอทานอลที่ผลิตในประเทศมากขึ้น ลดราคารับซื้อไฟฟ้าจากโซล่าร์ งดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันชั่วคราวเพื่อช่วยลดภาระประชาชน ออกบัตรเครดิตพลังงานช่วยผู้ประกอบการ ฯลฯ  แต่ตลอด 4 ปีกว่าที่ผ่านมารัฐบาลนี้กลับไม่ได้มีผลงานทางพลังงานอะไรเลย มีแต่ความสับสน โดยล่าสุดยังมีแนวทางสวนกับทิศทางโลก ทั้งเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน และการไม่รับซื้อพลังงานหมุนเวียน เป็นต้น

นอกจากนี้ยังอยากให้รัฐบาลแก้ไขข้อครหาการทุจริตในเรื่องพลังงาน เช่น เรื่องล่าสุดคือ เรื่องโรงไฟฟ้าขยะของกระทรวงมหาดไทย และ การใช้เงินกองทุนอนุรักษ์พลังงานผิดประเภท และเรื่องก่อนหน้านี้เช่น การซื้อหุ้นเหมืองถ่านหินในประเทศอินโดนิเซีย และข้อครหาการออกใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์โดยเรียกรับผลประโยชน์ และอยากให้ลดการผูกขาดของ ปตท.ในธุรกิจพลังงาน และยังออกมาทำธุรกิจอื่นแข่งกับเอกชน เช่น ธุรกิจร้านกาแฟนอกปั๊ม ธุรกิจโรงแรมในปั๊ม และร่วมประมูลรถไฟความเร็วสูง เป็นต้น

 ส่วนเรื่องการซื้อหุ้น บริษัทโกลว์นั้น แม้ว่า ปตท.อาจจะต้องมุ่งสู่ธุรกิจไฟฟ้ามากขึ้น แต่ยังข้องใจเรื่อง การผูกขาดการผลิตไอน้ำจากความร้อนเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีแล้ว ยังมีเรื่องราคาที่ซื้อซึ่งสูงกว่าราคาที่เหมาะสมมาก อีกทั้ง บริษัท โกลว์ มีการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินในสัดส่วนที่สูง ซึ่งไม่น่าจะใช่ทิศทางการผลิตไฟฟ้าอนาคตของโลก และของ ปตท. ด้วย จึงอยากให้พิจารณาให้ดี

ทั้งนี้อยากทวงรัฐบาลเรื่องลดราคาน้ำมันที่ตนเคยเสนอไว้ เพราะผู้ประกอบการยอมลดราคาค่าการตลาดที่ตนเสนอและควรจะลดตั้งนานแล้ว ดังนั้นราคาเอทานอลและราคาหน้าโรงกลั่นที่ไม่รวมค่าขนส่งจากสิงคโปร์ก็ควรจะลดลงมาได้ใช่หรือไม่ อีกทั้งควรพิจารณาลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่เก็บอยู่สูงมากถึงลิตรละ 5.80 บาท ทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่กำลังลำบากกันอย่างมาก โดยขอให้มั่นใจว่านโยบายทักษิณมิกส์ทางเศรษฐกิจที่จะออกมาช่วงเลือกตั้งจะเป็นแนวทางพลังงานที่ถูกต้องของประเทศนี้ และยังจะช่วยประชาชน ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และขยายโอกาสทางด้านพลังงาน อีกทั้งส่งเสริมธุรกิจพลังงานให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ ไม่ใช่มาเอาเปรียบคนในประเทศเหมือนในปัจจุบัน ทั้งนี้ การแก้ไขไม่ให้มีการผูกขาดจะเป็นนโยบายหลักเพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนจำนวนมากได้พัฒนาก้าวขึ้นมาได้

จาก www.banmuang.co.th  วันที่ 12 กันยายน 2561

จับตาแผนพลังงานทดแทนเพิ่มสัดส่วนรับซื้อไฟฟ้า

ปรับแผนAEDPใหม่ เพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล พลังงานแสงอาทิตย์ และขยะ ทดแทนสัดส่วนลดเชื้อเพลิงชีวภาพ เพราะแนวโน้มรถอีวี-รถไฟฟ้าจะเข้ามาแทนที่ โดย พพ.เดินหน้าส่งเสริมอาคารประหยัดพลังงาน (BEC ) ย้ำกฏหมายบังคับใช้เริ่มปีหน้า 

                นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) เปิดเผยว่า  ขณะนี้พพ.อยู่ระหว่างการปรับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2018 )ปีพ.ศ.2561-80และแผนอนุรักษ์พลังงาน(EEP2018)เพื่อให้สอดรับกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่(PDP-2018)โดยแผน AEDP ใหม่ จะยังคงเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนทั้งในรูปของพลังงานไฟฟ้า ความร้อนและเชื้อเพลิงชีวภาพ 30% ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายในปี2580 และแผนจะจัดทำเป็นรายภูมิภาคสอดรับกับแผน PDP ที่กำหนด 6 ภูมิภาค + กับพื้นที่กรุงเทพมหานคร

เบื้องต้นการส่งเสริมพลังงานทดแทนในรูปของการผลิตไฟฟ้าจะมีสัดส่วนภาพรวมที่เพิ่มขึ้นได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัย(โซลาร์รูฟท็อป) , โรงไฟฟ้าชีวมวลที่จะเพิ่มสัดส่วนได้มากกว่าแผนเดิมที่กำหนดไว้กว่า 5,500เมกะวัตต์ ,โรงไฟฟ้าขยะ ซึ่งส่วนที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดจากแผนเดิมจะทดแทนสัดส่วนของเชื้อเพลิงชีวภาพทีลดลงจากแผนAEDPเดิมที่ปลายแผนปี2579 กำหนดส่งเสริมการใช้เอทานอลไว้ที่ 11.30 ล้านลิตรต่อวัน ไบโอดีเซลไว้ที่ 14 ล้านลิตรต่อวัน  การที่ลดลง เพราะยานยต์ไฟฟ้า (อีวี ) รวมทั้งระบบรางที่รัฐบาลกำลังเดินหน้าก่อสร้าง ทำให้การใช้น้ำมันภาพรวมในอนาคตจะลดลง

 นายประพนธ์ กล่าวว่า  ในเรื่องแผนเกณฑ์มาตรฐานการออกแบบอาคารด้านพลังงาน Building Energy Code (BEC) จะมีสัดส่วนให้ประหยัดพลังงานได้ 47,000 ล้านบาทในปลายแผนอนุรักษ์พลังงาน (EEEP) เดิมในปี 2579 โดยหลักเกณฑ์ BEC จะบังคับเป็นกฏหมาย และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา หลักเกณฑ์สำคัญคือบังคับใช้ลดการใช้พลังงานร้อยละ10 ของอาคารทั่วไป เบื้องต้นแนวทางบังคับใช้จะเริ่มต้นที่อาคารที่ขออนุญาตสร้างใหม่หรือดัดแปลงอาคารเพิ่มเติมที่มีขนาด 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป คาดต้นปี2562มีผลบังคับใช้ และในปี 2563 การบังคับจะเริ่มที่ขนาด 5,000 ตารางเมตร และปี 2564 จะเริ่มบังคับสำหรับอาคารขนาด 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป

       อย่างไรก็ตาม พพ.ได้จูงใจจัดให้อาคารประหยัดพลังงานได้จัดประกวดฉลากรับรองอาคาร (BEC Awards) ซึ่งในปีนี้ มีอาคารที่ผ่านการตรวจประเมิน 114 อาคาร จาก 33 หน่วยงาน  มีอาคารที่ได้รับฉลากทั้งสิ้น 18 อาคาร แบ่งเป็นระดับอาคารดีเด่น ผู้ได้รับ 1 หน่วยงาน จาก 1 อาคาร ระดับดีมาก ผู้ได้รับ 7 หน่วยงาน จาก 15 อาคาร และระดับดี          มีผู้ได้รับ 2 หน่วยงาน จาก 2 อาคาร 

ทั้งนี้ การจัดมอบฉลากรับรองอาคาร BEC Awards ดังกล่าว พพ. ได้ดำเนินการจัดเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งจากการดำเนินการตรวจแบบ BEC ของ พพ. ตั้งแต่ปี 2552 -2561  ได้ตรวจประเมินอาคารแล้วกว่า 650 อาคาร มีอาคารที่ได้รับฉลากแบบอาคาร (มีการมอบตั้งแต่ปี 2559 – 2561) รวมทั้งสิ้น 114 อาคาร โดยพพ. พร้อมจะส่งเสริมให้เกิดอาคารที่ได้รับฉลากรับรองมาตรฐานการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานของเกณฑ์ BEC ซึ่งจะเกิดผลประหยัดพลังงานประมาณ 430 ล้านหน่วย หรือคิดเป็นประมาณ 1,500 ล้านบาท

นายโกมล บัวเกตุ ผู้อำนวยการสานักกำกับและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า พพ.ได้จัดตั้งหน่วยงานภายในชื่อ ศูนย์ประสานงานการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อเป็นหน่วยงานให้ คำปรึกษา แนะนำ ช่วยเหลือทางด้านวิชาการ เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ จัดฝึกอบรมและขึ้นทะเบียนผู้ตรวจ รับรองแบบอาคาร และอบรมให้ความรู้แก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นผู้อนุญาตการก่อสร้างอาคารเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการบังคับใช้เกณฑ์ BEC ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

จาก https://www.mcot.net  วันที่ 11 กันยายน 2561

เหตุและผล‘อนันต์ ดาโลดม’ ค้านร่างกฎหมายเกษตรยั่งยืน

ร่างพระราชบัญญัติ ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน พ.ศ. ...ภายใต้การนำของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  “วิวัฒน์ ศัลยกำธร” หรืออาจารย์ยักษ์ ที่วงการเกษตรไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี ร่างดังกล่าวนี้เตรียมนำสู่การพิจารณาของ คณะรัฐมนตรี (ครม.) หากเห็นชอบแล้วจะนำเสนอคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ก่อนนำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาเพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป คาดหวังว่ากระบวนการจะเสร็จสิ้นภายในรัฐบาลชุดนี้   “อนันต์ ดาโลดม” นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทยและ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร หนึ่งในผู้คัดค้านร่าง พ.ร.บ.นี้มีความคิดเห็นอย่างไร ฟังจากปากดังนี้

มหากาพย์ร่างกฎหมาย

นายอนันต์  กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้น่าจะมาจากนโยบายเกษตรอินทรีย์ที่รัฐบาลต้องการให้มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 5 ล้านไร่ ภายในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งหากร่างกฎหมายนี้ถูกควํ่าไปจะไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายเกษตรอินทรีย์ 5 ล้านไร่ได้ และบางคนยังนำไปเชื่อมโยงกับเรื่องการแบน 3 สารเคมีอันตราย คือพารา ควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส เชื่อมโยงและผูกกันเป็นเครือข่ายที่น่ากลัวในการที่จะเข้ามากำหนดทิศทางนโยบายทางด้านการเกษตรของประเทศ

“เบื้องหลังร่าง พ.ร.บ.นี้น่าจะมีที่มาจากการผลักดันของเครือข่าย ‘วาระแห่งชาติเกษตรอินทรีย์’ เมื่อปี 2547 สมัยรัฐบาลของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร แต่ไม่สำเร็จ และได้พยายามเสนอร่างพระราชบัญญัติกองทุนส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน พ.ศ. ....ในสมัยที่ ดร.ธีระ สูตะบุตร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อปี 2550 แต่ถูกคัดค้านมีการชุมนุมเดินขบวนที่หน้ากระทรวงเกษตรฯ จึงไม่สามารถเสนอต่อรัฐบาลในขณะนั้นได้ ทำให้กลุ่มบุคคลองค์กรและเครือข่ายเดิมได้ดำเนินการเสนอขึ้นมาใหม่ในรัฐบาลปัจจุบัน”

ซํ้าซ้อนกับอีก 5 ฉบับ

สำหรับเหตุผลที่คัดค้านเห็นว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีหน่วยงานต่างๆ อยู่แล้วใน การ บูรณาการการทำงานร่วมกัน และการยกร่างกฎหมายฯ ฉบับนี้ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 77 วรรค 2 เพราะการจัดรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์กระทรวงเกษตรฯและจัดสัมมนาเพียง 2 ครั้งที่ประชุมได้รับทราบเพียงตัวร่างกฎหมาย ไม่ได้รับข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับสภาพปัญหาที่จะกระทบกับร่างดังกล่าวนี้ เพราะหากกฎหมายนี้ออกมาจะเพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ เลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรม จะทำให้เกิดความขัดแย้งและก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคมเกษตรกร ระหว่าง “เกษตรอินทรีย์” ซึ่งเป็นเกษตรทางเลือก กับ “เกษตรเคมี” จะส่งผลกระทบต่อการ เกษตรด้านพืช ด้านประมง และด้านปศุสัตว์ ด้วย

นอกจากนี้ร่างยังไปซํ้าซ้อนกับกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ครอบคลุมอยู่แล้วถึง 5 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535, พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550, พระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535, พระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 และพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2561

ให้เกษตรกรเลือกทางเดิน

“ผมผูกพันกับวิถีชนบทและวิถีเกษตรมาตั้งแต่เด็ก เรียนเกษตร พี่น้องประกอบอาชีพการเกษตร (ปลูกปาล์มนํ้ามัน ยางพารา) มีความรู้ มีประสบการณ์ และมีอิสระในรูปแบบการทำการเกษตรที่เลือกเอง เชื่อว่าเกษตรกรส่วนใหญ่คงคิดเหมือนผม คือ ขอความเป็นอิสระในการเลือกทางเดิน เลือกรูปแบบทางการเกษตรแบบที่ต้องการ เพียงแต่รัฐบาลช่วยเหลือในสิ่งที่เกษตรกรไม่สามารถทำได้ดีกว่า”

ตัวอย่างเช่น การจัดที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรผู้ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง และผู้เช่าที่ดินเพื่อทำการเกษตร จัดหานํ้าเพื่อการอุปโภค-บริโภค และการเกษตร เพื่อไม่ให้เกษตรกรต้องพึ่งพาธรรมชาติ เจอปัญหานํ้าท่วม ฝนแล้ง ที่ก่อให้เกิดความเสียหายและเป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ดูแลเรื่องราคาสินค้าเกษตรไม่ให้ถูกพ่อค้าเอารัดเอาเปรียบ กดราคา โกงนํ้าหนัก โกงตาชั่ง หักสิ่งเจือปน หักค่าความชื้น (ข้าว) หักเปอร์เซ็นต์แป้ง (มันสำปะหลัง) หักค่าความหวาน (อ้อย) หักเปอร์เซ็นต์นํ้ามัน (ปาล์มนํ้ามัน) เกินความเป็นจริง รวมทั้งปกป้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าสินค้าเกษตรที่สามารถผลิตได้ในประเทศ การให้ความรู้เรื่องเกษตรธรรมชาติ เกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัย (GAP) หรือเกษตรเคมี เกษตรผสมผสาน การป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน (IPM: Integrated Pest Management) ซึ่งหากเกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจแล้ว จะทำให้สามารถตัดสินใจได้ว่า รูปแบบการผลิตควรจะเป็นเกษตรอินทรีย์ เกษตร GAP เกษตรผสมผสาน ระหว่างอินทรีย์-เคมี หรือเกษตรเคมีล้วนๆ ให้เป็นอิสระในการตัดสินใจที่เกษตรกรต้องรับผิดชอบตนเอง

“อย่าดูถูก ดูหมิ่นภาคเกษตรและพี่น้องเกษตรกรไทย ว่าเป็นผู้ทำให้เกิดปัญหาต่อสภาพแวดล้อมและต่อผู้บริโภค ถูกกล่าวหาว่าเกษตรไทยใช้สารเคมีมากที่สุดในโลก ซึ่งไม่จริง เพราะถ้าเป็นอย่างที่กล่าวหา สินค้าเกษตรไม่ว่าจะเป็น ข้าว ยางพารา อ้อย คงไม่สามารถที่จะส่งออกได้ติดอันดับโลก ดังนั้นเพื่อเป็นทางออกและเกิดประโยชน์สำหรับภาคเกษตรกรไทยระหว่างเกษตร 2 กลุ่มนี้ควรจะมีการบูรณาการกัน การพึ่งพาซึ่งกันและกันใช้ร่วมกัน โดยผสมผสานส่วนที่ดีทั้ง 2 ฝ่ายก็สามารถที่จะอยู่ร่วมกันได้”

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2561

'พลังงาน'ดันโซลาร์ภาคประชาชน ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าเสรี

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานมีแนวคิดผลักดันโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าใช้เองในภาคประชาชนอย่างเสรี และสามารถขายไฟฟ้าได้ในอัตรารับซื้อที่ไม่เป็นภาระค่าไฟฟ้า สร้างรายได้แก่ภาคประชาชนในรูปแบบการออมเงิน พัฒนารูปแบบการซื้อขายที่อำนวยความสะดวกในการดำเนินการ กระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน จะจัดทำนโยบาย โครงการโซลาร์ภาคประชาชน ควบคู่กับการจัดทำ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP)

นายศิริ กล่าวว่า คาดว่าแผน PDP 2018 จะแล้วเสร็จภายในปี 2561 จากนั้นจะนำหลักการจากแผน PDP มาใช้กำหนดนโยบายต่อไป เช่น รูปแบบการซื้อขาย ราคารับซื้อ ระเบียบหลักการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป เพราะที่ผ่านมามีข้อขัดข้องทั้งในประเด็นการติดตั้ง Solar rooftop การกำหนดราคา ระบบสำหรับการซื้อขายไฟฟ้า รวมถึงการปรับแก้ข้อกฎหมายต่างๆ เราต้องการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยภาคประชาชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในฐานะผู้ผลิต และผู้ใช้ไฟฟ้า และส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าใช้เองอย่างเสรี เพื่อสร้างรายได้แก่ภาคประชาชนในรูปแบบการออมเงิน ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าว เป็นการดำเนินการตามโครงการไทยนิยมยั่งยืนของรัฐบาล ที่มุ่งหวังให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

จาก www.naewna.com วันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2561

'พาณิชย์' หาแนวร่วม 4 ภาค ดันไทยร่วมวง CPTPP

พาณิชย์ลงใต้ลุยรับฟังความเห็นการเข้าร่วมสมาชิก CPTPP ต่อเนื่อง หวังสร้างความเข้าใจในทุกแง่มุม ยันยึดประโยชน์ชาติและผลกระทบจากการเข้าเป็นสมาชิกของไทยเป็นหลัก

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ล่าสุดกรมฯ ได้จัดสัมมนารับฟังความเห็นของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่ จ.สงขลา ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนรับฟังความเห็นเกี่ยวกับการเข้าร่วมสมาชิก CPTPP ของไทย เนื่องจากที่รัฐบาลได้แสดงความสนใจที่จะให้ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อความเป็นหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิก (CPTPP) โดยกระทรวงพาณิชย์ได้มีการตั้งคณะทำงานเตรียมการพิจารณาเข้าร่วมความตกลง CPTPP มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ประกอบด้วย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 30 หน่วยงาน เพื่อศึกษาวิเคราะห์ผลดีผลเสีย และจัดรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ก่อนรวบรวมข้อมูลอย่างรอบด้าน ประกอบการนำเสนอระดับนโยบายตัดสินใจเรื่องการเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ของไทย

การจัดสัมมนาฯ ครั้งนี้ กรมฯ ได้เชิญวิทยากรที่เชี่ยวชาญจากภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาครัฐ มานำเสนอข้อมูล เช่น ภาพรวมความตกลง CPTPP และประเด็นปลีกย่อยต่าง ๆ ตั้งแต่การเปิดตลาดสินค้า บริการ การลงทุน ประเด็นเกษตร การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และประเด็นด้านสาธารณสุข เป็นต้น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้เข้าใจสาระสำคัญของความตกลง CPTPP ในทุกแง่มุม ก่อนที่จะเปิดเวทีให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาร่วมกันแลกเปลี่ยนความเห็นและมุมมอง ทั้งในด้านประโยชน์และผลกระทบ ที่จะได้รับจากการเข้าร่วมสมาชิก CPTPP อย่างเต็มที่

"กรมฯ ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานบนความโปร่งใส และเปิดให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ โดยนอกจากการจัดงานสัมมนาที่สงขลาครั้งนี้ รวมถึงที่เชียงใหม่และชลบุรีที่ผ่านมา กรมฯ ยังมีแผนที่จะจัดรับฟังความเห็น CPTPP อีกในภูมิภาคอื่นอีก 2 ครั้ง ในกรุงเทพฯ คือ วันที่ 19 ก.ย. 2561 และขอนแก่น วันที่ 26 ก.ย. 2561 เพื่อให้ได้รับความเห็นที่ครอบคลุมจากทุกภาคส่วนและทุกภูมิภาคของประเทศ"

สำหรับ CPTPP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมกว้างทั้งเรื่องการเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายนักธุรกิจชั่วคราว การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้า อาทิ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายการแข่งขัน แรงงาน และสิ่งแวดล้อม โดยมีสมาชิกทั้งหมด 11 ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู เม็กซิโก ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ซึ่งที่ผ่านมา สมาชิก CPTPP ได้ลงนามความตกลงฯ เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2561 ณ เมืองซันติอาโก ประเทศชิลี ปัจจุบัน สมาชิกอยู่ระหว่างดำเนินกระบวนการภายในเพื่อให้สัตยาบันความตกลงฯ คาดว่า CPTPP จะมีผลใช้บังคับต้นปี 2562 และหลังจากนั้นจะเปิดรับสมาชิกใหม่ ดังนั้น ไทยจึงยังมีเวลาที่จะศึกษา วิเคราะห์ผลดี ผลเสียของการเข้าร่วม และ 1 ในภารกิจสำคัญ คือ การจัดรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อรวบรวมเสนอรัฐบาลประกอบการพิจารณาในเรื่องนี้ต่อไป ปัจจุบัน ประเทศที่แสดงความสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP เพิ่มเติม เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อังกฤษ จีนไทเป (ไต้หวัน) และโคลัมเบีย เป็นต้น

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2561

กรมชลฯเร่งพร่องน้ำเขื่อนใหญ่รองรับมวลน้ำใหม่ ชี้เจ้าพระยา ลุ่มน้ำตะวันออกปราจีนบุรี-นครนายก-บางปะกง เสี่ยงท่วม

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 7/2561 ณ ห้องประชุม 1 ประชารัฐ ชั้น 2 อาคารสำนักงาน ก.พ. (เดิม) เพื่อประชุมติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศและสถานการณ์ฝน โดยกรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) และ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)หรือจิสด้า การคาดการณ์สภาพน้ำในแหล่งน้ำและลำน้ำ โดย กรมชลประทาน (ชป.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กรมทรัพยากรน้ำ (ทน.) และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) รวมถึงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและการช่วยเหลือ โดย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) และกองทัพบก (ทบ.)

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังร่วมกันพิจารณาแผนการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำปราจีนบุรี นครนายก และบางปะกง โดย ชป. กฟผ. ทน. จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี และฉะเชิงเทรา เพื่อหารือแนวทางบูรณาการการทำงานของหน่วยงานในการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำปราจีนบุรี นครนายก และบางปะกง โดยพิจารณาใน 3 แนวทาง คือ 1. เร่งพร่องน้ำพื้นที่ฝนตกหนักจากการคาดการณ์แผนที่ One map และให้เก็บกักน้ำภาคเหนือตอนบน ภาคอีสานตอนบน 2. เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ได้แก่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำนครนายก ลุ่มน้ำปราจีนบุรี จังหวัดตราด จันทบุรีเพชรบุรี 3. การพิจารณาเร่งระบายน้ำแม่น้ำนครนายกและปราจีนบุรีโดยการผันน้ำเข้าคคลองชลประทานฝั่งตะวันออกแม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากนี้ ยังหารือถึงแผนเตรียมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสสนก.ที่คาดการณ์ว่าในปลายเดือนนี้ถึงต้นตุลาคมจะมีปริมาณฝนตกเหนือเขื่อนแก่งกระจาน และในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีเพิ่มขึ้น ซึ่งกรมชลประทานได้วางแผนพร่องน้ำจากเขื่อน และน้ำที่ยังค้างในปัจจุบันให้มากขึ้นรองรับน้ำก้อนใหม่ด้วย

ด้านนายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในภาพรวมของประเทศขณะนี้ว่า จากการคาดการณ์แนวโน้มฝนในวันนี้ (10 ก.ย.61) มีพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนตกสะสม 20 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก กำแพงเพชรชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด กาญจนบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ ลพบุรี และสระบุรี โดยปริมาณฝนสะสม 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากใน ภาคเหนือจ.เชียงราย 87 มม. ลำปาง 81 มม. น่าน 78 มม. สุโขทัย 75 มม. เพชรบูรณ์ 57 มม. พะเยา 54 มม. แม่ฮ่องสอน 51 มม. อุตรดิตถ์ 47 มม. พิจิตร 43 มม. ภาคตะวันตก จ.ราชบุรี 75 มม. ประจวบคีรีขันธ์ 38 มม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ชัยภูมิ 77 มม. ศรีสะเกษ 72 มม. มหาสารคาม 54 มม. อุบลราชธานี 42 มม. ร้อยเอ็ด 39 มม. สุรินทร์ 36 มม.

สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำสำคัญที่มีปริมาณน้ำสูงกว่าระดับตลิ่งขณะนี้ ได้แก่ แม่น้ำป่าสัก บริเวณ อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ แนวโน้มทรงตัว แม่น้ำสงคราม จ.สกลนคร อ.เซกา จ.บึงกาฬ แนวโน้มทรงตัวถึงลดลง ตามการลดลงของแม่น้ำโขง แม่น้ำห้วยหลวง จ.อุดรธานี แนวโน้มทรงตัว พื้นที่ลุ่มต่ำ แม่น้ำเพชรบุรี บริเวณ ต.กลัดหลวง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี แม่น้ำนครนายก บริเวณ อ.องครักษ์ จ.นครนายก แนวโน้มทรงตัว แม่น้ำปราจีนบุรี บริเวณ อ.เมืองปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี แนวโน้มทรงตัว สำหรับสถานการณ์น้ำโขงขณะนี้ไม่มีน้ำสูงกว่าระดับตลิ่ง แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังบริเวณ จ.หนองคาย และ จ.นครพนม

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2561

“พาณิชย์” ถกคณะกรรมการร่วมความตกลง FTA ไทย-นิวซีแลนด์ ตั้งเป้าขอยกเลิกอุปสรรคทางการค้าหมดในปี’68 พร้อมดึงนิวซีแลนด์หนุนไทยร่วมขบวน CPTPP

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จะนำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการร่วมความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ไทย-นิวซีแลนด์ ครั้งที่ 8 (The 8th Thailand-New Zealand Closer Economic Partnership Joint Commission Meeting : 8th TNZCEP JC) ในวันที่ 10-11 กันยายน 2561 ณ กรุงเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตามความตกลงเอฟทีเอไทย-นิวซีแลนด์ (Thailand-New Zealand Closer Economic Partnership: TNZCEP) ที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2548

โดยความตกลงฯ ครอบคลุมการเปิดเสรีการค้าสินค้า และการลงทุน ตลอดจนความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าในสาขาต่างๆ โดยในส่วนสินค้า นิวซีแลนด์ได้ลดภาษีกว่า 70% ของรายการสินค้าทั้งหมดให้ไทยเป็น 0% ตั้งแต่ปี 2548 และทยอยลดภาษีสินค้าทุกรายการจนเหลือ 0% แล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ขณะที่ไทยลดภาษีเป็น 0% ให้นิวซีแลนด์ จำนวน 54% ของรายการสินค้าทั้งหมดตั้งแต่ปี 2548 และจะทยอยลดภาษีทุกรายการเหลือ 0% ในวันที่ 1 มกราคม 2568 (20 ปี นับแต่ความตกลงมีผลใช้บังคับ) โดยปัจจุบันไทยยังมีการกำหนดโควตาภาษีและมาตรการปกป้องพิเศษกับสินค้าบางรายการจากนิวซีแลนด์ เช่น ไขมันเนย นม ครีม เป็นต้น โดยไทยจะต้องยกเลิกมาตรการดังกล่าวให้หมดไปในปี 2568

นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการประชุม TNZCEP ครั้งนี้ ไทยและนิวซีแลนด์จะหารือว่าควรจะมีการสานต่อการเจรจาในประเด็นใดเพิ่มอีกหรือไม่ อาทิ การเปิดตลาดการค้าบริการ ซึ่งปัจจุบันยังไม่อยู่ในความตกลง TNZCEP เป็นต้น นอกจากนี้ ไทยจะหารือกับนิวซีแลนด์ในฐานะที่เป็นหนึ่งในสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership (CPTPP) เพื่อขอทราบรายละเอียดของความตกลง CPTPP โดยเฉพาะประเด็นเทคนิค เช่น การตีความถ้อยคำในความตกลงฯ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการศึกษาผลดี ผลเสียของการเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP ของไทยต่อไป

ทั้งนี้ ในปี 2560 มูลค่าการค้าระหว่างไทยและนิวซีแลนด์อยู่ที่ 2,282 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตขึ้นนับจากความตกลงฯ มีผลบังคับใช้กว่า 194.78 % โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ามาอย่างต่อเนื่อง สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย อาทิ รถยนต์และอุปกรณ์ เม็ดพลาสติก เครื่องปรับอากาศ และผลิตภัณฑ์พลาสติก ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญ อาทิ นมและผลิตภัณฑ์นม ผัก ผลไม้ และของปรุงแต่งที่ทำจากผักผลไม้ ไม้ซุง ไม้แปรรูป เนื้อสัตว์ และอาหารปรุงแต่งสำหรับเลี้ยงทารก

จาก  https://www.prachachat.net วันที่ 10 กันยายน 2561

เตือนสงครามการค้ากระทบเศรษฐกิจโลกเร็ว แรงกว่าคาด

TMB Analytics รายงานวิเคราะห์ถึงความกังวลสงครามการค้าว่า จะเป็นตัวเร่งให้เศรษฐกิจโลกชะงักเร็วกว่าที่หลายฝ่ายประเมินไว้ โดยเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอที่ชัดเจนจากตัวชี้วัดภาคการผลิตและบริการ หรือ PMI ในหลายประเทศที่เริ่มปรับลดลงและแย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาด

ย้อนไปในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เหล่านักวิเคราะห์มักจะให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2018 นี้ มีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ดีต่อเนื่องอย่างพร้อมเพรียงกัน (Synchronized economic growth) จากการขยายตัวของการค้าโลก อีกทั้งยังมีปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แม้จะมีภาพความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะจีน ที่ทำให้ความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น แต่ความกังวลดังกล่าวก็ยังมีไม่มากนัก

อย่างไรก็ตาม หลังจากสหรัฐฯตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่ารวมกว่าห้าหมื่นล้านเหรียญดอลลาร์ ทำให้จีนตอบโต้ด้วยการตั้งภาษีสินค้านำเข้าสหรัฐฯในมูลค่าที่เท่ากัน ล่าสุดสหรัฐฯกำลังจะตั้งกำแพงภาษีรอบใหม่กับสินค้าจีนรวมมูลค่าถึงสองแสนล้านเหรียญ หลังการรับฟังความเห็นจากสาธารณชนสิ้นสุดลงในวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา จากสงครามการค้าที่ชัดเจนมากขึ้น ทำให้การค้าโลกมีการชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด

ที่น่ากังวลก็คือ รายงานตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมการผลิต (JP Morgan Global Manufacturing PMI) ที่เป็นตัวชี้วัดภาคการผลิตของทั่วโลกเริ่มปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยตัวเลขล่าสุดในเดือนสิงหาคมลดลงแตะระดับ 52.5 จุด ต่ำสุดในรอบ 21 เดือน สะท้อนว่าการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตของหลายประเทศเริ่มชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวของยอดสั่งซื้อสินค้าและยอดการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและประเทศคู่ค้า ยิ่งไปกว่านั้น แม้สหรัฐฯจะไม่ได้มีมาตรการกีดกันทางการค้าโดยตรงกับประเทศอื่นๆในเอเชีย แต่จากผลสำรวจ ประเทศในเอเชีย 6 จาก 8 ประเทศรายงานว่ายอดการส่งออกลดลง

ซึ่งสัญญาณการค้าโลกที่ชะลอตัวลงชัดเจนนี้ อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกได้เร็วและรุนแรงกว่าที่หลายฝ่ายคาดไว้ ดังนั้น ทั้งนักลงทุนและผู้ประกอบการควรเริ่มวางแผนรับมือกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น โดยอาจมีการประเมินรับมือกับความเสี่ยง หรือ การทำ Stress test ที่สถาบันการเงินทั่วโลกต้องทำทุกปี

ยกตัวอย่าง เช่น บริษัทส่งออกผลไม้ที่ส่งออกไปยังตลาดหลักๆ คือ จีน ยุโรป และประเทศเพื่อนบ้าน อาจจำลองสถานการณ์ตามความรุนแรงของผลกระทบ เช่น ในสถานการณ์ที่ความรุนแรงอยู่ในระดับปานกลาง (Moderate Scenario) อาจมีแค่ตลาดจีนและยุโรปที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ในขณะที่กรณีที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมาก ตลาดประเทศเพื่อนบ้านอาจได้รับผลกระทบด้วย แล้วจึงประเมินว่าภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ยอดขายและกำไรของบริษัทจะถูกกระทบอย่างไรบ้าง เพื่อเตรียมแผนรับมือหากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง

การประเมินความเสี่ยงด้วยการทำ Stress Test จึงเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่จะช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถวางแผนการดำเนินธุรกิจเพื่อรับมือสถานการณ์การค้าโลกที่แย่ลงจากมาตรการกีดกันทางการค้าได้อย่างเหมาะสม

จาก https://siamrath.co.th วันที่ 9 กันยายน 2561

โฆษกสามมิตรเผยรับข้อมูลคนเหนืออื้อราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ

 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกกลุ่มสามมิตร  เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 6-7 ก.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มสามมิตรภายใต้การนำของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มสามมิตร ได้เดินทางลงพื้นที่อ.พรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก อ.คีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย  อ.พรานกระต่าย จ.กำแพงเพชร รวมถึงพื้นที่อ.บรรพตพิสัย และอ.เก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์ เพื่อรับฟังปัญหาของพี่น้องประชาชน โดยส่วนใหญ่พี่น้องประชาชน เกษตรกร จะประสบปัญหาเรื่องราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ  ปัญหาราคาข้าว ปัญหาแหล่งน้ำ ปัญหาชาวไร่อ้อย และปัญหาที่ดินทำกิน ทั้งนี้ ทางกลุ่มจะนำเสนอปัญหาต่างๆ ส่งต่อไปยังรัฐบาลผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อให้รัฐบาลช่วยดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วน

นายธนกร กล่าวอีกว่า ได้รับฟังปัญหาของโรงพยาบาลบรรพตพิสัยทราบว่า โรงพยาบาลมีปัญหาเตียงไม่พอรองรับผู้ป่วย เนื่องจากโรงพยาบาลมีขนาดเล็กและงบประมาณไม่เพียงพอต่อการขยายพื้นที่ ดังนั้น จึงได้ประสานทางกลุ่มสามมิตรเพื่อให้ช่วยเหลือประสานกับรัฐบาลให้ เนื่องจากที่ผ่านมาเราพยายามผลักดันแล้ว แต่ไม่มีอะไรคืบหน้า โดยนายสมศักดิ์ระบุว่า ทางกลุ่มจะประสานกับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ แต่ไม่รับปากว่าจะได้ เพราะจะส่งผลต่อกลุ่มสามมิตรว่ากระทำขัดกฎหมายได้ อาจถูกกล่าวหาว่าหาเสียง ทั้งๆ ที่เราเป็นเพียงไปรษณีย์เท่านั้น แต่จะพยายามช่วยให้ได้มากที่สุด โดยมอบหมายให้ตนรับผิดชอบไปดำเนินการต่อ 

นายธนกร กล่าวด้วยว่า ชาวบ้านยังสะท้อนด้วยว่าชื่นชอบโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐของรัฐบาลอย่างมาก เพราะพี่น้องคนยากคนจนได้ประโยชน์ โดยขณะนี้มีจำนวน 11.4 ล้านคน ยิ่งรัฐบาลเพิ่มเงินสดให้อีก 200 บาท ซึ่งสามารถรูดเป็นเงินสดได้เลยนั้น ยิ่งทำให้ชาวบ้านสามารถนำไปซื้อของได้สะดวกมากขึ้น ขณะที่การรูดบัตรเพื่อซื้อของ 300 หรือ 500 บาทนั้นก็ยังได้เหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม ทราบว่ารัฐบาลจะอนุมัติบัตรคนจนเพิ่มอีก 5 ล้านใบเป็น 16 ล้านใบด้วย ถือว่าตอบโจทย์พี่น้องประชาชนได้เป็นอย่างดี   ชาวบ้านจึงฝากขอบคุณพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. ที่เข้าใจพี่น้องคนยากคนจนด้วย

จาก www.banmuang.co.th วันที่ 8 กันยายน 2561

เอกชนหนุนไทยเป็น ‘ฮับ’ อุตฯบรรจุภัณฑ์อาเซียน

นายสมชาย หาญหิรัญ รมช.อุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงาน “CCE South East Asia - Thailand 2018” เพื่อแสดงศักยภาพของประเทศไทยกับการเป็นศูนย์ (ฮับ) ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกของอาเซียน โดยงานนี้มีไปจนถึงวันที่ 7 กันยายน 2561 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค

รมช.อุตสาหกรรมกล่าวว่า อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูก ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ดังจะเห็นได้จากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ต่างเตรียมความพร้อมในการขยายกำลังการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้สอดคล้องกับการแข่งขัน และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในโลกธุรกิจดิจิทัล การค้าขายผ่านอินเตอร์เนต

นางสาวกนกพร ดำรงกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (สสปน.) กล่าวว่า งาน CCE South East Asia - Thailand 2018 จะเป็นเวทีสำคัญในการเจรจาทางการค้าสำหรับหน่วยงานธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ที่ช่วยตอบสนองต่อความต้องการด้านการผลิตกระดาษและบรรจุภัณฑ์ลูกฟูกของภูมิภาคนี้ได้เป็นอย่างดี และสามารถสร้างรายได้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยได้

จาก www.naewna.com วันที่ 6 กันยายน 2561

กรมชลฯบริหารจัดการน้ำเหนือ ลดผลกระทบท้ายเขื่อนเจ้าพระยา

ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาน้ำเพิ่มขึ้นหลังน้ำเหนือไหลหลาก กรมชลประทาน ใช้ระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่ง รับน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาอย่างเต็มศักยภาพ ช่วยลดน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา

เมื่อวันที่ 2 ก.ย.61 นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ที่จ.นครสวรรค์ มีแนวโน้มน้ำเพิ่มขึ้นจากปริมาณน้ำเหนือที่ไหลหลากลงมาสมทบ ส่งผลให้สถานี C.2 ที่ อ.เมืองนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านเพิ่มขึ้นเป็น 1,175 ลบ.ม./วินาที และจะไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยาในลำดับต่อไป กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ด้วยการรับน้ำเข้าคลองในระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่ง รวมประมาณ 494 - 550 ลบ.ม./วินาที และควบคุมน้ำให้ไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาไม่เกิน 820 ลบ.ม./วินาที มีพื้นที่ได้รับผลกระทบที่บริเวณที่ลุ่มต่ำริมตลิ่งคลองบางบาล และคลองโผงเผง บริเวณ ต.หัวเวียง ต.บ้านกระทุ่ม อ.เสนา ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา มีน้ำท่วมประมาณ 20 - 30 เซนติเมตร

โดยในระยะนี้ระดับน้ำบริเวณดังกล่าวจะทรงตัว ซึ่งเป็นไปตามที่กรมชลประทานได้คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ โครงการชลประทานในพื้นที่ได้ประสานกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้แจ้งเตือนประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องแล้วก่อนหน้านี้สำหรับการเตรียมการเร่งระบายน้ำในแม่น้ำท่าจีนช่วง จ.นครปฐม ขณะนี้ได้ทำการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำจำนวน 14 เครื่อง และกำลังดำเนินการติดตั้งอีก 39 เครื่อง จะแล้วเสร็จภายใน 2-3 วันนี้ กรมชลประทาน มีแผนดำเนินการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในแม่น้ำท่าจีนทั้งหมด 81 เครื่อง เพื่อช่วยให้การไหลของน้ำในแม่น้ำท่าจีนดีขึ้นตั้งแต่ จ.สุพรรณบุรี และจ.นครปฐม ช่วยลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาอีกทางหนึ่งด้วยน้ำที่มีน้ำเกินเกณฑ์ควบคุม(Upper rule curve (URC)) จะพิจารณาเร่งระบายให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม โดยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ

อย่างไรก็ตาม จากการคาดการณ์ฝน 3 วันล่วงหน้าของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าทั่วประเทศจะมีปริมาณฝนตกน้อยลง ซึ่งจะส่งผลให้น้ำท่าที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำขนาดกลางมีปริมาณน้อยลงตามไปด้วย ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำในอ่างขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ อย่างรัดกุมและเคร่งครัด ด้วยการระบายน้ำเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง

จาก www.bangkokbiznews.com วันที่ 3 กันยายน 2561

เจ๋ง!อดีตวิศวกรสุโขทัยคิดค้นรถตัดอ้อยไร้คนขับ

อดีตวิศวกรชาวสุโขทัยคิดค้นรถตัดอ้อยไร้คนขับ นำข้อดีของรถจากสหรัฐและออสเตรเลียมาพัฒนารวมไว้ในคันเดียวถือว่าเป็นผลงานเจ๋งสุดในโลก ก็ว่าได้

รถตัดอ้อยแฮนด์เมด “ไร้คนขับ” แถมประหยัดน้ำมันวันละ 200 ลิตร อึดทนทานและซ่อมง่าย ที่สำคัญถูกกว่ารถนอกเสียอีกผลงานชิ้นโบแดงนี้เป็นฝีมือ บุญฤทธิ์ สุวรรณสาร บ้านเลขที่ 157/1 หมู่ 2 ต.ในเมือง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย

อดีตวิศวกรสร้างโรงกลั่นวางท่อน้ำมันกลางทะเล ซึ่งเป็นผู้ออกแบบและสร้างรถตัดอ้อยไร้คนขับบุญฤทธิ์ กล่าวว่า รถคันนี้เป็นรถต้นแบบแฮนด์เมด ใช้เวลาสร้างนาน 6 เดือน ทำไปหาอะไหล่ไป โดยระดมทีมช่างชาวสุโขทัยช่วยกันพัฒนา  ถือเป็นรถตัดอ้อยออกแบบได้ดีที่สุดในโลก ไม่ว่าจะให้คนนั่งขับเอง หรือบังคับด้วยชุดควบคุมไร้สาย ก็ทำงานได้อย่างสมบูรณ์ ไม่มีข้อบกพร่อง“

ที่สำคัญ ประหยัดน้ำมันกว่ารถต่างประเทศถึง 200 ลิตร/วัน ส่วนใบมีดกงจักรก็จะไม่คั้นน้ำอ้อยที่หน้ามีดสับท่อนทำให้ลดอัตราสูญเสียน้ำอ้อยและน้ำหนักของอ้อยได้เยอะมาก” บุญฤทธิ์ ยืนยัน

รถตัดอ้อยต่างประเทศ ราคาประมาณ 13 ล้านบาท แต่ไทยประดิษฐ์คันนี้แค่ 6 ล้านบาท รถนอกถ้ารื้อสายไฟออกมาก็ได้เป็นเข่ง และแพงมาก ชุดหนึ่ง 3-4 หมื่นบาท แต่สายไฟของคันนี้แทบไม่มี เพราะใช้ระบบไร้สาย ส่วนกล่องสมอง ECU รถนอกก็ 2-3 แสนบาท แต่ของเรา ECU ไร้สาย แค่ 5,000 บาท ส่วนตัวลูกที่รับคำสั่งทำงานก็แค่ตัวละ 800 บาท เจ้าของรถถอดเปลี่ยนเองได้ตลอดเวลา

ปัจจุบันรถตัดอ้อยคันสองผลิตเสร็จแล้ว รถทั้งสองคันดังกล่าวผลิตโดยนำเอาข้อดีของรถตัดอ้อยจากสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียรวมไว้ในคันเดียวกัน ทำให้โครงสร้างรถแข็งแกร่งทนทานกว่าเดิม ระบบไม่ซับซ้อน อะไหล่ถูก หาง่ายช่างใกล้บ้านก็ซ่อมได้ และที่เหนือชั้นกว่ารถต่างประเทศ คือ เกียร์ตัดโคนจะนั่งหน้าดินเวลาล้อหน้าลงหลุม มีดตัดโคนไถไปไม่สามารถจะแทงรื้อตออ้อยพันธุ์ได้

จาก  https://www.posttoday.com  วันที่ 2 กันยายน 2561

EU ออกประกาศระเบียบสินค้าเกษตรอินทรีย์ฉบับใหม่ มีผล 1 ม.ค.64

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ได้รับแจ้งจากสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์ว่า คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศระเบียบ Regulation (EU) 2018/848 เกี่ยวกับการผลิตและการติดป้ายฉลากสินค้าเกษตรอินทรีย์ในสหภาพยุโรป เพื่อทดแทนระเบียบเดิมโดยปรับปรุงให้เป็นปัจจุบัน ชัดเจน และเหมาะสมกับสถานการณ์การผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ในสหภาพฯ ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ ความอุดมสมบูรณ์ของดิน และยกระดับมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ เป็นต้น ซึ่งระเบียบใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ กฎระเบียบฯ ฉบับใหม่ครอบคลุมข้อกำหนดต่างๆ ได้แก่ 1) การผลิต โดยการกำหนดวัตถุดิบและสารเคมีที่ใช้ปกป้องพืชที่อนุญาตให้ใช้ได้ในกระบวนการผลิต การป้องกันและระมัดระวังตลอดช่วงการผลิต การกระจายสินค้า และการกำหนดให้แบ่งแยกพื้นที่การผลิตอย่างชัดเจนระหว่างพื้นที่การผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ และพื้นที่การผลิตที่ไม่ใช่เกษตรอินทรีย์ เป็นต้น นอกจากนี้ ได้ระบุการห้ามใช้สินค้าที่ได้รับการตัดแต่งพันธุกรรม (Genetically Modified Organisms : GMOs) ตลอดกระบวนการผลิตทั้งหมด

2) การติดป้ายฉลากสินค้าเกษตรอินทรีย์ จะต้องระบุข้อมูลน้ำหนักของส่วนประกอบที่เป็นเกษตรอินทรีย์ โดยต้องมีสัดส่วนของเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของสินค้า และหากมีการแสดงตราสัญลักษณ์เกษตรอินทรีย์ของสหภาพฯ บนป้ายฉลาก ให้ผู้ผลิตสามารถระบุชื่อประเทศที่ผลิตแทนการระบุ EU หรือ Non-EU ได้

3) การนำเข้าและวางจำหน่ายสินค้าจากประเทศที่สาม กำหนดให้สินค้าต้องผ่านการตรวจสอบรับรองจากองค์กร / หน่วยงานตรวจสอบรับรองระหว่างประเทศที่ได้รับการยอมรับ (equivalene) จากสหภาพฯ หรือ องค์กร / หน่วยงานตรวจสอบรับรองของประเทศที่สามที่มีความตกลงยอมรับความเท่าเทียมซึ่งกันและกันกับสหภาพฯ อย่างไรก็ดี ปัจจุบันประเทศที่มีความตกลงยอมรับความเท่าเทียมฯ ดังกล่าว ได้แก่ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย แคนาดา คอสตาริกา ญี่ปุ่น อินเดีย อิสราเอล นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ สวิตเซอร์แลนด์ ตูนีเชีย และสหรัฐฯ ในขณะที่ไทยอยู่ระหว่างขอให้สหภาพฯ ตกลงยอมรับความเท่าเทียมในการออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทย

ทั้งนี้ กรมการค้าต่างประเทศ จะติดตามความคืบหน้าของกฎระเบียบสินค้าเกษตรอินทรีย์ของสหภาพฯ และเผยแพร่ให้หน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องทราบต่อไป

จาก www.bangkokbiznews.com วันที่ 2 กันยายน 2561

ยังไม่ยอมแบน”พาราควอต” แค่ห้ามใช้พท.ปลูกผัก-ไบโอไทยฟ้องศาล

ต่อเวลาไปอีก บอร์ดกรรมการวัตถุอันตราย ให้แบน 3 สารเคมี”พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส-ไกลโฟเสต” เฉพาะพื้นที่ปลูก “พืชผักสวนครัว-สมุนไพร” ขณะที่ “พืชเศรษฐกิจ” ยาง-มัน-ปาล์ม-ข้าวโพด-อ้อย ยังใช้ต่อไปได้เท่าที่จำเป็นพร้อมโยน “กรมวิชาการเกษตร” ออกมารับหน้าเสื่อกำหนดมาตรการสุดเข้ม ควบคุมจำหน่าย จำกัดปริมาณนำเข้า หาสารทดแทน แต่ทางไบโอไทยไม่เอาด้วย เดินหน้าฟ้องศาลปกครองขอให้แบนทันที

หลังจากที่คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ที่มีนายปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ได้มีมติให้ “ยกเลิก” และ “ห้าม” การนำเข้าสารเคมีพาราควอต (สารเคมีฆ่าหญ้า) กับคลอร์ไพริฟอส (สารเคมีฆ่าแมลง) มาตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 พร้อมกับให้ “ควบคุม” การใช้สารเคมีไกลโฟเสต

และให้ยุติการใช้สารเคมีอันตรายทั้ง3 รายการดังกล่าวอย่างสิ้นเชิงนั้น ปรากฏมติของคณะกรรมการขับเคลื่อนฯชุดดังกล่าวแทบจะไม่มีผลในทางปฏิบัติ เนื่องจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย กลับมีมติไม่ยอมยกเลิก (แบน) การใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 รายการ แต่ให้ “จำกัด” การใช้แทน ท่ามกลางความสงสัยของผู้เกี่ยวข้องถึงอันตรายจากการใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 ประเภท จนล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาแสดงความห่วงใยและให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลในเรื่องนี้แล้ว

ล่าสุด นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายครั้งล่าสุดว่า ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการที่กรมวิชาการเกษตรเสนอแนวทางการใช้ 3 สารเคมี โดยมีมติให้ “ยกเลิก” การใช้สารกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิดดังกล่าวในพื้นที่ปลูกพืชผัก-สมุนไพร-พื้นที่ต้นน้ำ-พื้นที่สาธารณะ อาทิ โรงเรียน, สนามกอล์ฟ, บ้านเรือน ส่วนสารเคมีพาราควอตกับไกลโฟเสตยังคงใช้มาตรการ “จำกัดการใช้” ในพืชเศรษฐกิจ (ข้าวโพด-มันสำปะหลัง-อ้อย-ยางพารา-ปาล์มน้ำมัน-ไม้ผล) ต่อไป

รวมถึงสามารถใช้สารเคมีคลอร์ไพริฟอสในการปลูกไม้ผลไม้ดอกและพืชไร่เท่านั้น ซึ่งมติดังกล่าวมาจากการวิเคราะห์ภาพรวมทุกมิติ ทั้งมาตรการกำกับที่มีอยู่ ความเป็นอันตราย ข้อมูลการเกิดสารตกค้างจากโรงพยาบาลรามาธิบดี รวมถึงสารทดแทนและราคา ไปจนถึงอุตสาหกรรมยาง-น้ำตาล เห็นว่า

“ปัญหาหลักไม่ใช่มาจากตัวสาร แต่มาจากวิธีการจัดการ ความเข้มงวดกฎหมาย ผู้ใช้ขาดความรู้ ดังนั้นการห้ามใช้อาจไม่ใช่การแก้ปัญหาโดยตรง และการยกเลิกในทันทีจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อผู้ใช้” โดยจะเริ่มดำเนินการตามมตินี้ใน 90 วัน

ขณะที่นายอุทัย นพคุณวงศ์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรได้เสนอและทำหน้าที่ออกมาตรการควบคุมทั้งสถานที่จำหน่ายร้านที่ได้รับใบอนุญาต ห้ามใช้ในสถานที่ปลูกพืชผักสมุนไพร พื้นที่ต้นน้ำ รวมถึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการนำเข้าให้ลดการนำเข้าและต้องแจ้งข้อมูลอย่างละเอียด จำกัดการนำเข้า ลดการนำเข้า และผู้ขายทั้ง 3 สาร ต้องจำหน่ายโดยตรงพื้นที่ปลูก ห้ามโฆษณา พร้อมทั้งแผนการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสามารถลดหย่อนภาษีเครื่องจักรกลการเกษตร โดยจะมีหน่วยงานสารวัตรเกษตร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการทางกฎหมายหากพบการกระทำผิด

ด้านนายปราโมทย์ ติรไพรวงศ์ นายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร กล่าวว่า เห็นด้วยกับมาตรการควบคุมการใช้ คำนึงถึงความปลอดภัยของเกษตรกรและผู้ใช้ แต่ยอมรับว่า ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างมาก ผู้ประกอบการหลายรายไม่มั่นใจในทิศทางของภาครัฐ แต่ก็ได้ให้ความร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตรในการชะลอต่อใบอนุญาตและลดการนำเข้าให้มากที่สุด ประกอบกับปีนี้สภาพอากาศแปรปรวน จึงค่อนข้างประเมินการใช้ลำบาก รวมถึงสต๊อกคงค้างยังเหลือ แต่หลังจากนี้จะได้มีการหารือถึงแนวทางดำเนินธุรกิจร่วมกับสมาชิกสมาคม พร้อมกับติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ทางด้านนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า เนื่องจากที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายและรัฐบาลไม่สามารถชี้ขาดให้ “แบน” พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส-ไกลโฟเสต แม้จะมีผลการพิสูจน์แล้วว่า ทั้ง 3 สารเคมีเป็นอันตรายร้ายแรงต่อประชาชน เมื่อเป็นดังนี้ทางเครือข่าย 700 องค์กรทั่วประเทศ เตรียมยื่นฟ้องศาลปกครอง ให้พิจารณาระงับการใช้สารกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 สาร ส่วนประเด็นการนำเข้าที่ลดลงมากกว่าปีที่แล้วนั้น มองว่าอาจจะมีการหลีกเลี่ยงการขึ้นทะเบียนหรือไม่อย่างไร เพราะในความเป็นจริงแล้วเกษตรกรยังหาซื้อสารเคมีเหล่านี้ได้ตามปกติ ส่วนกรณีพื้นที่ที่ห้ามใช้ก็ไม่สามารถการันตีได้ว่าจะสามารถตรวจสอบได้ ดังนั้นทางเครือข่ายมูลนิธิชีววิถียังคงยืนยันว่า รัฐบาลจะต้องสั่ง “แบน” ทั้งหมดทุกพื้นที่จึงจะถูกต้อง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรควบคุมทะเบียนใบอนุญาตนำเข้า ผลิต จำหน่ายทั้งหมดจากข้อมูลการนำเข้าย้อนหลัง 3 ปี ปรากฏการนำเข้าลดลง 40% โดยครึ่งปีแรก 2561 การนำเข้าพาราควอตลดลงกว่า 50% ปริมาณ 16,832 ตัน

ขณะที่นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประกาศเจตนารมณ์ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีเป้าหมายการทำเกษตรอินทรีย์ควบคู่เกษตรทฤษฎีใหม่ ประเทศไทยจะต้องไม่ใช้สารกำจัดศัตรูพืชทุกประเภท และต้องทำให้สำเร็จในขณะดำรงตำแหน่ง โดยมีเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 5 ล้านไร่

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 1 กันยายน 2561

เงินบาทกลับมาอ่อนค่า หลังแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือนขณะที่หุ้นไทยปรับขึ้นจากสัปดาห์ก่อน

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ (27-31 ส.ค. 2561) สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท เงินบาทกลับมาอ่อนค่าลง หลังแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือนครั้งใหม่ที่ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงแรก สอดคล้องกับสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับมีแรงขายเงินดอลลาร์ฯ รับรายงานข่าวที่สหรัฐฯ และเม็กซิโกสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าระหว่างกัน

อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับมาอ่อนค่าลงในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ท่ามกลางการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนก.ย.นี้ หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลายตัวออกมาดีกว่าที่คาด นอกจากนี้ แรงขายสินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่ และสัญญาณจากธปท. ที่สะท้อนว่า มีการติดตามและเข้าดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง ก็เป็นปัจจัยกดดันเงินบาทในช่วงปลายสัปดาห์ด้วยเช่นกัน ในวันศุกร์ (31 ส.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 32.74 จากระดับ 32.73 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (24 ส.ค.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (3-7 ก.ย.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.50-33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยจุดสนใจของตลาดน่าจะอยู่ที่สัญญาณความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้า ตลอดจนถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟด ขณะที่ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ข้อมูลตลาดแรงงาน ประกอบด้วย ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน ค่าจ้าง และตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชน รวมถึงดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนส.ค. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงาน รายจ่ายเพื่อการก่อสร้างเดือนก.ค. ส่วนปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI ของยุโรป จีน และญี่ปุ่นในเดือนส.ค.

สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนีตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวในแดนบวกเกือบตลอดสัปดาห์ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับที่ 1,721.58 จุด ซึ่งเพิ่มขึ้น 1.04% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 9.51% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 45,092.56 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ปิดที่ 439.01 จุด เพิ่มขึ้น 1.35% จากสัปดาห์ก่อน

ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงต้นถึงกลางสัปดาห์ ตามทิศทางของตลาดต่างประเทศ โดยมีแรงหนุนจากการตีความของตลาดว่าเฟดจะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับสหรัฐฯ บรรลุข้อตกลงทวิภาคีกับเม็กซิโกทำให้ตลาดคลายกังวล อย่างไรก็ดี กรอบการปรับตัวขึ้นของดัชนี SET เริ่มจำกัดลงในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความเปราะบางของประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ รวมถึงสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนรอบใหม่ที่อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (3-7 ก.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,710 และ 1,700 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,730 และ 1,750 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ ประเด็นความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้า รวมถึงวิกฤตเศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อื่นๆ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟด ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ข้อมูล PMI เดือนส.ค. ของญี่ปุ่นและจีน

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 1 กันยายน 2561