http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล (เดือนกันยายน 2564]

อาเซียนถกฟื้นเจรจา FTA กับอียู   พร้อมเดินหน้าเคาะร่วมมือเศรษฐกิจกับยูเค

รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนหารือฟื้นเจรจา FTA กับสหภาพยุโรป เล็งจัดประชุมผู้เชี่ยวชาญสร้างความเข้าใจประเด็นการค้าใหม่ พร้อมร่วมมือฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 การหารือกับยูเคครั้งแรก เคาะร่วมมือเศรษฐกิจ 11 เรื่อง

นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อช่วงกลางเดือนกันยายน 2564 ที่ผ่านมา ได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนกับรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร สวิตเซอร์แลนด์ และรัสเซีย ผ่านการประชุมทางไกล เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และติดตามความคืบหน้าความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน

โดยการประชุมร่วมกับกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า ได้เห็นชอบแผนงานด้านการค้าและการลงทุนร่วมกัน การหารือเกี่ยวกับการเตรียมการเจรจาความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรป โดยจะจัดประชุมระดับผู้เชี่ยวชาญเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในประเด็นการค้าใหม่ ๆ เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และการค้าและพัฒนาที่ยั่งยืน และเห็นพ้องที่จัดประชุมระดับรัฐมนตรีและระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง รวมถึงกิจกรรมความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนให้แน่นแฟ้นขึ้น

ขณะเดียวกัน ได้หารือเกี่ยวกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19 โดยเห็นพ้องถึงความสำคัญของ ความร่วมมือกันในเรื่องการเข้าถึงวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพและคุณภาพ ความร่วมมือในด้านดิจิทัล การพัฒนาที่ยั่งยืน การส่งเสริมความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานระหว่างกันเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจมีความยืดหยุ่น และจะร่วมกันปฏิรูปองค์การการค้าโลก (WTO) ตลอดจนจะผลักดันให้การประชุมรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 12 ในช่วงปลายเดือนพ.ย.2564 บรรลุผลสำเร็จ

ทั้งนี้ รัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายยังได้พบหารือกับสภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน (EU-ASEAN Business Council: EU-ABC) โดยภาคเอกชนได้ให้ข้อคิดเห็นต่ออาเซียนหลายประการ อาทิ ขอให้ลดการใช้มาตรการการค้าที่มิใช่ภาษีระหว่างกัน ควรให้มีกฎระเบียบด้านมาตรฐานสินค้าเหมือนหรือใกล้เคียงกันมากที่สุด ส่งเสริมความคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญามากขึ้น การส่งเสริมพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การจัดการด้านข้อมูลเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล การอนุญาตการเดินทางข้ามพรมแดนระหว่างกัน เป็นต้น ซึ่งไทยได้ย้ำถึงความสำคัญของการทำ FTA ระหว่างกัน และสนับสนุนข้อเสนอแนะของภาคธุรกิจเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการค้าการลงทุนในภูมิภาค

สำหรับการหารือระหว่างรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนกับนางเอลิซาเบธ ทรัส รัฐมนตรีกระทรวงการค้าระหว่างประเทศของสหราชอาณาจักร (ยูเค) ถือเป็นการประชุมกันเป็นทางการครั้งแรก หลังจากที่ยูเคได้รับสถานะเป็นประเทศคู่เจรจาของอาเซียนเมื่อวันที่ 2 ส.ค.2564 ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบต่อปฏิญญาร่วมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนาคตระหว่างอาเซียนและยูเคใน 11 เรื่อง และได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่ายหารือกันเพื่อกำหนดแผนการดำเนินความร่วมมือในรายละเอียดต่อไป ซึ่งไทยสนับสนุน

 เพราะเป็นประโยชน์ต่ออาเซียน ทั้งประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาที่ยั่งยืน การรับมือกับความท้าทายในปัจจุบันและอนาคต เช่น การฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 และการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย การเรียนรู้ในประเด็นที่ยูเคมีความเชี่ยวชาญ เช่น นวัตกรรมดิจิทัล บริการทางการเงิน และการศึกษา และการส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกัน เช่น การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานอาเซียน-ยูเค

ส่วนการหารือกับสวิตเซอร์แลนด์ ได้ติดตามการจัดทำเอกสาร Joint Declaration of Cooperation (JDC)  ระหว่างอาเซียนและเอฟตา (สวิตเซอร์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์) โดยเร่งรัดให้เจ้าหน้าที่อาวุโสทั้งสองฝ่ายเร่งหาข้อสรุปภายในปีนี้ และได้หารือความร่วมมือระหว่างกันภายใต้แผนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างอาเซียน-สวิตเซอร์แลนด์ในช่วงปี 2022-2026 ซึ่งไทยได้เน้นย้ำในประเด็นการค้าชีวภาพ (Bio Trade) เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจสีเขียวและสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน และให้ความสำคัญกับการส่งเสริมนวัตกรรมและเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

ทางด้านผลการหารือกับรัสเซีย ได้ติดตามแผนความร่วมมือการค้าและการลงทุนอาเซียน-รัสเซียภายหลังปี 2560 โดยมีโครงการที่ดำเนินการร่วมกัน 25 โครงการ มูลค่า 7.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่น เกษตรและประมง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม MSMEs สุขภาพ วัฒนธรรมและเยาวชน การท่องเที่ยว พลังงาน เป็นต้น ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบการปรับปรุงแผนความร่วมมือ แผนปฏิบัติการด้านการค้าการลงทุนสำหรับปี 2564–2568 เพื่อให้ทั้งสองภูมิภาคได้ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันให้เน้นแฟ้นมากยิ่งขึ้น อันเป็นการเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 25 ปีของความสัมพันธ์อาเซียน-รัสเซียด้วย และยังได้ติดตามความร่วมมือระหว่างอาเซียนและสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย ซึ่งรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนงาน เช่น การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในเรื่องแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังการระบาดของไวรัสโควิด-19

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 30 กันยายน 2564

“พาณิชย์”ชี้แทรน์ GREEN MISSIONมาแรง  แนะผปก.ปรับตัวให้ทันโลกการค้า

 “พาณิชย์”ชี้เมกะเทรนด์เพื่อโลกสีเขียวGREEN MISSION ทุกเวทีการค้าโลกเริ่มให้ความสนใจ  แนะภาคเอกชนตื่นตัวและปรับตัวให้ทันตามกระแสโลกที่เปลี่ยนไป หลังหลายประเทศใช้มาตรการด้านสิ่งแวลดล้อมมากีดกันทางการค้า

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ  เปิดเผยว่าในงานสัมนา เมกะเทรนด์เพื่อโลกสีเขียวGREEN MISSION : ปฏิบัติการไทยสู่สังคมโลว์คาร์บอน ลดโลกร้อน ว่า ขณะนี้เรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่ในทุกเวทีการค้าโลกทั้งงทวิภาคและพหุพาคีและให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวมากขึ้นและหลายประเทศเริ่มใช้มาตรการเรื่องสิ่งแวลดล้อมในเป็นข้ออ้างในการกีดกันทางการค้า  เช่น WTO มีข้อยกเว้นให้สมาชิกจำกัดการนำเข้าเพื่อสิ่งแวดล้อมได้ แต่ต้องสมเหตุสมผล มีคณะกรรมการว่าด้วยการค้าและสิ่งแวดล้อม (CTE) เป็นเวทีหารือหลักเรื่องการค้าและสิ่งแวดล้อมและมีความพยายามจัดทำความตกลงหลายฝ่ายเรื่องการค้าและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นเวทีให้สมาชิกหารือในเรื่องสิ่งแวดล้อมที่สมาชิกสนใจ

ในขณะที่เวทีของเอเปกเอง มีการ บัญชีรายการสินค้าสิ่งแวดล้อม เพื่อลดภาษีนำเข้าให้เหลือไม่เกิน 5% ในสินค้า 54 รายการและอยู่ระหว่างจัดทำแนวทางส่งเสริมและอำนวยความสะดวกแก่บริการสิ่งแวดล้อมซึ่งมีจัดกิจกรรมในประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอยู่ในนั้นด้วยหรือแม้แต่เวทีFTAต่างโดยเฉพาะFTA ยุคใหม่มักมีข้อบทเรื่องสิ่งแวดล้อม และข้อบทเรื่องการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย เช่นเดียวกับอาเซียนที่มีการพูดเรื่องAEC Blueprint 2025  ซึ่งกำหนดให้เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนเป็นกลยุทธ์การเติบโตของอาเซียน   และรับรองกรอบเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับ AEC (Framework for Circular Economy for the AEC)

โดยมอบฝ่ายเลขาธิการอาเซียนไปศึกษากลยุทธ์ในการทำให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนและประเทศคู่เจรจาของอาเซียน เสนอให้การ upgrade FTA มีข้อบทเรื่องสิ่งแวดล้อม และยังมีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) มีหลักการที่ระบุถึงผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศด้วย

สำหรับแนวโน้มการนำประเด็นสิ่งแวดล้อมมาเป็นเงื่อนไขหรือข้อกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศนั้นภาครัฐของประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วมีการมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม มาเชื่อมโยงกับการค้ามากขึ้น เช่น มาตรการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) การต่อต้านการทำไม้ผิดกฎหมาย (EU Timber Regulation) และมาตรการปรับคาร์บอนข้ามพรมแดน (CBAMเป็นต้น ยกตัวอย่างเช่นกรณีพิพาททางการค้าที่สำคัญในอดีต เช่น คดีกุ้ง-เต่า (US-Shrimp) และคดีแร่แรร์เอิร์ธ (China-Rare Earths) ใน WTO  ในขณะที่ภาคเอกชนและผู้บริโภคของประเทศต่าง ๆ ให้ความสำคัญในการต่อต้านการละเมิดสวัสดิภาพสัตว์ในการผลิตสินค้า  เช่นที่เคยเกิดขึ้นในไทยกรณีลิงเก็บมะพร้าว   นอกจากนี้การกำหนดให้แสดงข้อมูลการตรวจสอบย้อนกลับสินค้า (traceability) และนโยบาย corporate policy กำหนดปริมาณการปล่อยคาร์บอนในการผลิตสินค้าไม่ให้เกินจำนวนที่กำหนดซึ่งภาคเอกชนและสังคมต่างให้ความสำคัญในเรื่องนี้

อย่างไรก็สิ่งที่ตามภาคการผลิตของไทยควรมีการปรับตัวอย่างไรให้สอดคล้องกับทิศทางโลกนั้นเป็นเรื่องที่ภาคเอกชนจะต้องตื่นตัวและเตรียมตัวปรับกับกฎเกณฑ์การค้าโลกที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็น ชีวิตวิถีใหม่ New Normal เนื่องจากว่าปัจจุบันการใช้วิติหรือการค้าขายเปลี่ยนไปตามสภาวะสังคมและการแพร่ระบาดของโรคอย่างโควิด-19 ดังนั้นสังคมและผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการผลิตและการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น  ซึ่งเล็งเห็นโอกาสในการเกิดธุรกิจใหม่ เช่น สินค้าและบริการสิ่งแวดล้อม พลังงานสะอาด การซื้อขาย carbon credit  และใช้ประโยชน์หรือขอสนับสนุนสิทธิประโยชน์ภาครัฐที่โยงกับเรื่องสิ่งแวดล้อม

รวมถึงการปรับตัวให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจ คำนึงถึงประเด็นด้าน สังคมและสิ่งแวดล้อม มีการจัดทำระบบ traceabilityหรือระบบตรวจสอบย้อนกลับ และรายงานความยั่งยืน (sustainability reporting)และ ปลูกฝังแนวคิดเรื่องโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG model)ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในขณะนี้รวมถึงจับมือกับภาครัฐสื่อสารสองทาง (two-way communication) ในการทำงานเพื่อให้สอดประสานกันและเดินไปพร้อมกับการยุคการค้าโลกที่เปลี่ยนไป

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 30 กันยายน 2564

"จุรินทร์"ประกาศให้เกษตรกรน้ำท่วม "ลงทะเบียน " ได้ทั้งส่วนต่างและชดเชย

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมคณะ ติดตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว และเกษตรกรผู้ปลูกมันสําปะหลัง ณ วัดวังไม้แดง ตําบลท่าไม้ อําเภอพรานกระต่าย จังหวัดกําแพงเพชร โดยกล่าวว่า

ถือโอกาสมาเยี่ยมเยียนพี่น้อง และมอบถุงยังชีพมอบให้พี่น้องเป็นที่ระลึกและเป็นน้ำใจจากจังหวัดที่จัดให้พี่น้อง และ 1.สำหรับน้ำท่วม ใครที่ถูกน้ำท่วมไร่นาเสียหาย ท่านผู้ว่าจะทำการสำรวจและตนได้สั่งการให้เกษตรจังหวัด พาณิชย์จังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดปศุสัตว์จังหวัด ช่วยสำรวจความเสียหายว่าเสียหายอะไรบ้าง รัฐบาลจะช่วยดูแลชดเชยให้ตามกฎระเบียบที่มีอยู่ ต้องรีบจ่ายเยียวยา ขอให้เร่งรัด

2.ประกันรายได้ปีที่ 3 ยังมีทั้งประกันรายได้ข้าวและประกันรายได้มันสำปะหลัง โดยมันสำปะหลังประกันรายได้ที่กิโลกรัมละ 2.50 บาท ที่เชื้อแป้ง 25% และปี 3 ตนได้เสนอเข้า ครม.แล้ว รอการพิจารณาจากสำนักงบประมาณและกระทรวงการคลัง จากนั้นจะพิจารณาใน ครม. โดยประกันรายได้มันสำปะหลังที่เชื้อแป้ง 25% กิโลกรัมละ 2.50 บาท ถ้าราคามันต่ำกว่า 2.50 บาท เช่น เหลือ 2 บาท จะมีส่วนต่าง 50 สตางค์ โอนเข้าบัญชีธ.ก.ส. โดยตรง ทำให้มีรายได้ 2 ทาง จากขายในตลาดและเงินส่วนต่างตามรายได้ที่ประกัน เป็นนโยบายที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นคนคิดและยืนยันก่อนเข้าร่วมรัฐบาล โดยให้รับนโยบายประกันรายได้เป็นนโยบายรัฐบาล ทำมา 2 ปีแล้ว และปีนี้จะขึ้นปีที่ 3 สำหรับน้ำท่วมนอกจากสำรวจความเสียหายเยียวยาชดใช้แล้ว แม้น้ำท่วมแต่เงินส่วนต่างที่จะได้จากโครงการประกันรายได้ก็ยังคงอยู่ได้เหมือนเดิม โดยต้องขึ้นทะเบียนไว้แล้วและปลูกจริงมีการตรวจสอบแล้ว จะได้รับเงินชดเชยในส่วนนี้ด้วย

และตนเป็นประธานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรระดับประเทศ ตั้งขึ้นมาในสมัยรัฐบาลชวน 2 (นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ) เพื่อช่วยแก้ปัญหาหนี้สินให้เกษตรกรไม่ให้ถูกยึดที่ดินทำกิน ถ้าเป็นหนี้สถาบันการเงิน เค้าก็ยึดที่ดินแล้วฟ้องดำเนินคดี เลยเกิดกองทุนนี้ขึ้นเพื่อไปซื้อหนี้จากสถาบันการเงินมาเป็นหนี้กองทุนฯ แทนที่จะเป็นหนี้สถาบันการเงินก็มาเป็นหนี้กองทุน ข้อดีคือ คิดดอกถูกกว่าสถาบันการเงินและตอนนี้ไม่คิดเลย

ที่สำคัญก็คือ พี่น้องยังผ่อนไม่ได้ก็รอจนผ่อนหมด ไม่ยึดที่ดินทำกิน ผ่อนชำระครบเมื่อไหร่เอาโฉนดคืนไป เฝเป็นหลักประกันว่ายังไงที่ดินพี่น้องไม่ถูกยึดไปเป็นของนายทุน

และยังมีโครงการที่ 2 ให้ได้ต่อลมหายใจในการที่จะมีเงินปลดหนี้ระหว่างทำงานใช้หนี้ จะมีโครงการฟื้นฟูลงไปช่วย จังหวัดนี้ได้ไป 4,900,000 บาท เพื่อไปฟื้นฟูชีวิตเกษตรกรไปทำโครงการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ จะได้มีรายได้มาใช้หนี้  นโยบายนี้เรายังเดินหน้าต่อและถือเป็นนโยบายสำคัญอย่างยิ่ง

และต่อไปนี้กระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพาณิชย์จับมือทำงานร่วมกันให้ฝ่ายผลิตและฝ่ายตลาดทำงานไปด้วยกัน เพื่อเราจะได้มีทิศทางที่ถูกต้องพาประเทศของเราต่อไปในอนาคตทางด้านเศรษฐกิจ

จาก https://www.banmuang.co.th   วันที่ 30 กันยายน 2564

ดัชนีอุตฯ8เดือนแรกโต7% ‘สศอ.’คงเป้าหมายทั้งปีขยายตัว4-5%

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยถึงสถานการณ์ภาคผลิตอุตสาหกรรม ว่า ได้รับรายงานดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(เอ็มพีไอ) 8 เดือนแรก ปี 2564(ม.ค.-ส.ค.) จาก สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ว่า ขยายตัวเฉลี่ย 7.13% จากทิศทางของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มดีขึ้นส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมได้รับอานิสงส์ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศเริ่มคลี่คลาย การเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนและแรงงานในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น รวมถึงมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากภาครัฐ มาตรการควบคุมพื้นที่เฉพาะหรือบับเบิลแอนด์ซีล และโครงการนำร่องการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงานอุตสาหกรรมหรือแฟคทอรี่แซนด์บ็อกซ์ ส่งผลให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสศอ. กล่าวว่า เอ็มพีไอช่วง 8 เดือนเป็นขยายตัว 7.13% เนื่องจากการส่งออกของไทยยังมีแนวโน้มของการขยายตัวที่ดี ล่าสุดการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคม 2564 ขยายตัว 3.25% มูลค่า 17,100.80 ล้านเหรียญ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถังและอากาศยาน) ขยายตัว 19.74% มูลค่า 16,436.60ล้านเหรียญ

ยกเว้นดัชนีเอ็มพีไอในเดือนส.ค. 2564 อยู่ที่ระดับ 87.71 หดตัว 4.15% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19ของแรงงานในสถานประกอบการส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและการผลิตภาคอุตสาหกรรมในภาพรวม สะท้อนได้จากดัชนีแรงงานอุตสาหกรรมหดตัวเช่นกันอยู่ที่ 2.52% นอกจากนี้เอ็มพีไอที่ลดลงยังมีสาเหตุจากการขาดแคลนชิปทั่วโลกในช่วงการแพร่ระบาดจนกระทบต่อการผลิตและการจำหน่าย ในอุตสาหกรรมสำคัญ อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์

 “สศอ.ยังคงเป้าหมายเอ็มพีไอปีนี้อยู่ที่ 4-5% และผลิตภัณฑ์มวลรวม(จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 3-4% โดยจะพิจารณาตัวเลขเป้าหมายอีกครั้งเดือนพฤศจิกายน โดยเอ็มพีไอหลังจากนี้ต้องเกาะติดการระบาดและการฉีดวัคซีนโควิดในโรงงาน การขาดแคลนชิปทั่วโลก มาตรการคลายล็อกต่อเนื่อง และการส่งออกที่เป็นปัจจัยบวกสำคัญของภาคผลิตไทย”นายทองชัย กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 30 กันยายน 2564

ผู้ว่าธปท.ชู 3 ปัจจัยสร้างภูมิคุ้มกันผลักดันเศรษฐกิจไทย

ผู้ว่า ธปท. ชี้ 3 ปัจจัยข้อจำกัดของประเทศไทย พร้อมแนะ เพิ่มความสามารถ 3 ปัจจัยหลัก "เลี่ยง-รับมือ-ฟื้นตัว" ช็อค

30 กันยายน 2564 ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทบ(ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาประจำปี2021: สร้างภูมิคุ้มกันผลักดันเศรษฐกิจไทยโดยระบุว่า ปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่มีความท้าทายยิ่ง ไม่เพียงแต่เรากำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในบริบทโลกใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม

ทั้งพัฒนาการทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด การเข้าสู่สังคมสูงวัย การปรับเปลี่ยนของภูมิรัฐศาสตร์โลก และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศความท้าทายต่าง ๆ เหล่านี้ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รุนแรง และซ้ำเติมความเปราะบางต่าง ๆ ที่สั่งสมอยู่ในเศรษฐกิจและสังคมไทยมานาน ดังนั้น หากประเทศไทยจะก้าวต่อไปในอนาคตอย่างมั่นคง ยั่งยืน และมีเสถียรภาพภายใต้ความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอน ซึ่งขอใช้ทับศัพท์ว่า มี "resiliency"

เราจำเป็นต้องมี "ภูมิคุ้มกัน" ซึ่งเป็นที่มาของงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทยในปีนี้ภายใต้ หัวข้อ สร้างภูมิคุ้มกัน ผลักดันเศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจไทยมีความเปราะบางมาก

ในอดีตที่ผ่านมา เสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจมักถูกกล่าวถึงในมิติของความยั่งยืนทางการคลัง ความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน และความเข้มแข็งของดุลการชำระเงิน ซึ่งถือได้ว่า ประเทศไทยมีเสถียรภาพในมิติต่าง ๆ เหล่านี้ในระดับที่ค่อนข้างดี

ภายใต้เศรษฐกิจมหภาคที่ดูมั่นคงนั้น เศรษฐกิจไทยกลับไม่ resilient และมีความเปราะบางมาก วิกฤตโควิด-19 ที่เรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ได้ตอกย้ำว่า นิยามของคำว่า "เสถียรภาพ" จะต้องเปลี่ยนแปลงไป ต้องมองในมุมที่กว้างขึ้น และครอบคลุมถึงปัจจัยอื่น ๆ นอกเหนือจาก ปัจจัยทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัจจัยด้านสังคม และ ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ที่นับวันจะมีความสำคัญและเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกด้วย

3 ปัจจัยหนุนเศรษฐกิจไทย resilient

ทั้งนี้ ในบริบทโลกใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนสูงนั้น เศรษฐกิจไทยจะ resilient ได้ ต้องมีลักษณะที่สำคัญอย่างน้อย 3 ประการ คือ (1) ความสามารถในการหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ หรือ ability to avoid shocks (2) ความสามารถในการรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้น หรือ ability

to withstand shocks และ (3) ความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบดังกล่าว หรือ ability to recover from shocks

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า หากพิจารณาความสามารถของเศรษฐกิจไทยใน 3 ด้านดังก่าว จะเห็นได้ว่า ในปัจจุบัน ไทยมีขีดจำกัดในทุกด้านซึ่งทำให้เศรษฐกิจไทยไม่ resilient ต่อความท้าทายต่าง ๆ

ประการที่หนึ่ง เศรษฐกิจไทยมีความสามารถในการหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่ค่อนข้างจำกัดโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไม่มีการกระจายความเสี่ยงที่เพียงพอ มีการพึ่งพาต่างประเทศที่สูงในแทบทุกมิติ ทั้งการส่งออก การท่องเที่ยว และเทคโนโลยี

รวมถึงการพึ่งพาแรงงานต่างชาติที่มากขึ้นเรื่อย ๆ จากภาวะสังคมสูงวัย เศรษฐกิจไทยจึงหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและการเมืองโลกได้ยาก

เศรษฐกิจไทยมีข้อจำกัดในการรับมือปัจจัยเสี่ยง

นอกจากปัจจัยทางเศรษฐกิจแล้ว เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงในด้านอื่น ๆ ยกตัวอย่าง ความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ หรือ climate change มาเป็นตัวอย่าง เนื่องจากสถานการณ์ climate change ที่เรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ มีความรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

ล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) ได้ออกรายงานคาดการณ์ว่า อุณหภูมิพื้นผิวโลกมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น ถึงแม้ว่าประชาคมโลกจะมีความพยายามในการลดก๊าซเรือนกระจกลงบ้างแล้วก็ตาม

สำหรับประเทศไทยนั้น ความเสี่ยงจาก climate change มีความสำคัญอย่างมาก ดัชนีความเสี่ยง Global Climate Risk Index 2021 ของ German Watch ได้จัดให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 9 จากกว่า 180 ประเทศทั่วโลก

สภาพอากาศสุดขั้ว อุณหภูมิที่สูงขึ้น และความผันผวนของปริมาณน้ำฝนจาก climate change ได้ซ้ำเติมความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเกษตร ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีความสำคัญสูงในโครงสร้างเศรษฐกิจไทย มีการจ้างงานจำนวนมาก เป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สำคัญ และยังเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหาร (food security) ของประเทศอีกด้วย

นอกจากนี้ ความพยายามในการลดก๊าซเรือนกระจก (greenhouse gas) ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเทศพัฒนาแล้ว ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานสินค้า นโยบายการลงทุน และนโยบายการค้าระหว่างประเทศ เช่น การออกแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของยุโรป (European Green Deal)

รวมถึงการออกมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผลิตและส่งออกสินค้าของไทยอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากการที่มาตรการ CBAM จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2565นี้แล้ว

นอกจากเศรษฐกิจไทยจะมีความสามารถในการหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่ค่อนข้างจำกัดแล้วนั้น ประการที่สอง เศรษฐกิจไทยยังมีขีดความสามารถที่จำกัดในการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ อีกด้วย

ทั้งนี้ ความสามารถของระบบเศรษฐกิจในการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับปัจจัย 2 ประการ คือ (1) การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ที่ช่วยให้ครัวเรือนและธุรกิจมีสภาพคล่อง หรือสายป่านที่ยาวเพียงพอให้อยู่รอดจนผ่านพ้นวิกฤต และ (2) ความสามารถในการปรับตัว ต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เช่น การปรับเปลี่ยนอาชีพของแรงงาน และการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตและการตลาดของธุรกิจ

สำหรับเศรษฐกิจไทยนั้น เรามีความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยมี ความเหลื่อมล้ำ ที่สูงและมี ภาคเศรษฐกิจนอกระบบ (informal sector) ที่ใหญ่ ซึ่งกลุ่มเปราะบางในระบบเศรษฐกิจ เช่น ครัวเรือนยากจน แรงงานที่เพิ่งเรียนจบ (first jobbers) แรงงานอิสระที่ไม่ได้รับค่าจ้าง หรือได้ค่าจ้างเป็นรายวัน และธุรกิจ SMEs ที่มีจำนวนมากและมักอยู่นอกระบบ ไม่สามารถรับมือและปรับตัวต่อวิกฤตและการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้

ในด้านสภาพคล่องนั้น กลุ่มเปราะบางเหล่านี้มักมีสายป่านทางการเงินที่สั้น เนื่องจาก (1) มีเงินออมที่ไม่เพียงพอ (2) กู้ยืมเงินได้ยาก (3) ไม่สามารถพึ่งพาความช่วยเหลือจากเครือข่ายทางสังคม เช่น ญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูงในยามวิกฤตได้เหมือนในยามปกติ เนื่องจากคนอื่น ๆ อาจประสบปัญหาทางการเงินเช่นกัน และ (4) ไม่ได้รับการชดเชย ช่วยเหลือ และเยียวยาจากภาครัฐอย่างรวดเร็วและเพียงพอ เนื่องจากอยู่ในภาคเศรษฐกิจนอกระบบยิ่งไปกว่านี้

กลุ่มเปราะบางเหล่านี้มีข้อจำกัดด้านทักษะและเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับการปรับตัว รวมถึงทางเลือกในการปรับเปลี่ยนวิถีการทำงาน เช่น ไม่สามารถทำงานจากบ้านหรือเปลี่ยนอาชีพได้ในระยะเวลาอันสั้น

2กลไกหนุนรับมือผลกระทบ

ผู้ว่าธปท.กล่าวว่าความสามารถในการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ยังขึ้นกับปัจจัยทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสมานฉันท์ ซึ่งช่วยเสริมสร้างความสามารถผ่านกลไกใน 2 ระดับ คือ

หนึ่ง ในระดับชุมชน ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันเป็น รากฐานของเครือข่ายทางสังคม (social networks) ระหว่างคนในครอบครัวและมิตรสหาย ซึ่งงานวิจัยในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยพบว่า เครือข่ายทางสังคมมีบทบาทในการช่วยครัวเรือนและธุรกิจรับมือกับผลกระทบต่าง ๆ ผ่านการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในหลายด้านทั้งเงินทุน แรงงาน และการถ่ายทอดเทคโนโลยี

สอง ในระดับประเทศ สังคมที่ผู้คนยอมรับและเคารพความแตกต่างของกันและกัน เชื่อใจกัน และสามารถประนีประนอมกันได้บนพื้นฐานของเหตุผล จะสามารถสร้าง ฉันทามติ (consensus) ในการดำเนินนโยบายสาธารณะ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงและภัยพิบัติต่าง ๆ และการออกมาตรการทางเศรษฐกิจและสังคมที่ช่วยเยียวยาผู้ประสบภัยอันเป็นกลไกสำคัญในการทำให้ประเทศ resilient ต่อความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

ดัชนีวัดความไว้เนื้อเชื่อใจของคนไทยลดลง บั่นทอนกลไกสร้าง resiliency

สำหรับประเทศไทยนั้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความแตกต่างทางความคิดในสังคมไทยนำไปสู่ความขัดแย้งที่ฝังลึก มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ความสมานฉันท์ในสังคมไทยลดต่ำลง ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ข้อมูลจาก World Values Survey ตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันที่พบว่า ดัชนีวัดความไว้เนื้อเชื่อใจกันของคนในสังคมไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจนั้น ได้บั่นทอนกลไกในการสร้าง resiliency ของระบบเศรษฐกิจไทย

โดยงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทยในวันนี้ จะมีการนำเสนอผลการศึกษาจากโครงการวิจัย "คิดต่าง อย่างมีภูมิ" ที่มุ่งเข้าใจสถานการณ์ของความ "คิดต่าง" ของคนในสังคมไทย และปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้ความคิดต่างก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคมด้วย

นอกจากการขาดความสามารถในการหลีกเลี่ยงและรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงแล้วนั้น ประการสุดท้าย เศรษฐกิจไทยยังมีขีดความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบต่าง ๆ ที่จำกัดอีกด้วย

การที่ครัวเรือนและธุรกิจในกลุ่มเปราะบางมักได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่ค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รายได้ที่ขาดหายไปก่อให้เกิด "แผลเป็น" ทางเศรษฐกิจ (economic scars) ที่ทำให้การฟื้นตัวของครัวเรือนและธุรกิจเหล่านี้ใช้เวลานาน และเหนี่ยวรั้งการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโดยรวม

แผลเป็นทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ สินทรัพย์ของครัวเรือนและธุรกิจ รวมถึงทักษะของแรงงานที่ลดลง ในขณะที่ หนี้สินพอกพูนขึ้นจนเกิดภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว (debt overhang) ซึ่งทำให้ครัวเรือนและธุรกิจมีความสามารถในการบริโภคและการลงทุนที่ต่ำ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจึงไม่สามารถเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้

นอกจากนี้ การที่กลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ยิ่งซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำ และตอกย้ำความร้าวฉานในสังคมให้ลึกลง

การทำให้เศรษฐกิจไทย resilient ต่อความท้าทายต่าง ๆ ในอนาคตนั้น เราต้องเพิ่มความสามารถของเศรษฐกิจไทยในทั้ง 3 ด้าน คือ  (1) เพิ่มความสามารถในการหลีกเลี่ยงผลกระทบ  (2) เพิ่มความสามารถในการรับมือกับผลกระทบ และ (3) เพิ่มความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบ ซึ่งผมขอเสนอแนวทาง ดังต่อไปนี้

1.ต้องมีการบริหารความเสี่ยงภาพรวมของประเทศ (country risk management) ที่ดี ต้องมีการบูรณาการของข้อมูลและองค์ความรู้ และมีการวิเคราะห์ฉากทัศน์ (scenario analysis) ที่มีการพิจารณาถึงสถานการณ์ที่แม้มีโอกาสเกิดขึ้นต่ำแต่สร้างความเสียหายที่สูงด้วย

โดยทุกภาคส่วนในสังคมต้องร่วมมือกันเพื่อให้ข้อมูลองค์ความรู้ และมุมมองสมบูรณ์ครบถ้วนรอบด้าน โดยภาครัฐอาจทำหน้าที่ประสานงาน หรือจัดหา platform ในการดำเนินการ

2.ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้พร้อมรับความท้าทายในอนาคต เช่น การปรับเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ resilient ต่อสถานการณ์ climate change

รวมถึงความท้าทายในด้านอื่น ๆ ทั้งเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด สังคมที่สูงวัย และภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เปลี่ยนไป โดยภาครัฐมีบทบาทในการออกนโยบายเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจและครัวเรือนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตและบริโภคไปในทิศทางที่มั่นคงและยั่งยืน

3. ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยทั้งในเชิงอุตสาหกรรมและในเชิงพื้นที่เพื่อกระจายความเสี่ยงให้ดีขึ้น ลดการพึ่งพาภาคอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งมากเกินไป และเพิ่มการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค โดยเน้นบทบาทของภาคเอกชนเป็นหลัก

ส่วนภาครัฐมีบทบาทในการชี้ทิศทางและสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนในกิจกรรมและพื้นที่เป้าหมาย รวมถึงจัดหาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น

4.ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังอยู่นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ (formalization) มากขึ้นเพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจ และให้แรงงานและธุรกิจต่าง ๆ สามารถได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีในยามวิกฤต โดยภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการสร้างแรงจูงใจให้แรงงานและธุรกิจนอกระบบเข้าสู่ระบบ

5.ลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคมอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเหลื่อมล้ำเชิงโอกาสในด้านต่าง ๆ ทั้งการเข้าถึงความจำเป็นขั้นพื้นฐาน การศึกษา

การประกอบอาชีพ การแข่งขันทางธุรกิจ และกระบวนการยุติธรรม ซึ่งภาครัฐมีบทบาทสำคัญทั้งในการกำกับดูแล ไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบ รวมถึง

ไม่สร้างและบังคับใช้กฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นธรรมในสังคม

6. สร้างโครงข่ายความคุ้มครอง (safety nets) ในทุกระดับเพื่อให้ครัวเรือนและธุรกิจอยู่รอดได้ในยามวิกฤต ตั้งแต่ความสามารถในการช่วยเหลือและพึ่งพาตนเอง เครือข่ายทางสังคม เครือข่ายระหว่างผู้ผลิตในห่วงโซ่อุปทาน (supply chains) และระบบการเงินที่มีประสิทธิภาพ

โดยเน้นบทบาทการดำเนินการของภาคเอกชนเพื่อสร้างความยั่งยืนของระบบ ส่วนความช่วยเหลือเยียวยาโดยตรงจากภาครัฐที่ก่อให้เกิดภาระทางการคลังในอนาคต และปัญหา moral hazard ควรจำกัดอยู่ในเฉพาะสถานการณ์ที่กลไกตลาดทำงานไม่ได้

7. ลดการเกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจในยามวิกฤต เพื่อให้ครัวเรือนและธุรกิจสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว เช่น สร้างสายป่านที่ยาวพอ ให้ธุรกิจดำเนินอยู่ได้และจ้างงานต่อเนื่อง ฝึกทักษะแรงงานเพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะเปลี่ยนไปหลังวิกฤต สร้างกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ กระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ และกระบวนการล้มละลายที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม

แนวทางดังกล่าวนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาครัฐ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยเอง ก็มีบทบาทในการส่งเสริมให้เศรษฐกิจไทย resilient ต่อความท้าทายต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ทางด้านเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทยมีหน้าที่ดำเนินนโยบายรักษาเสถียรภาพทางการเงินและระบบการเงิน เพื่อช่วยให้เราหลีกเลี่ยงหรือลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจไทย

ทางด้านสังคม ธนาคารแห่งประเทศไทยมีแนวทางในการพัฒนาระบบการเงินและส่งเสริมความเข้าใจทางการเงิน (financial literacy) ให้ครัวเรือนและธุรกิจไทยสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น (financial inclusion) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางโอกาสและความขัดแย้งทางสังคมที่อาจเกิดตามมา

ทางด้านสิ่งแวดล้อม ธนาคารแห่งประเทศไทยมีแนวทางที่จะสร้างระบบนิเวศที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวไปในทิศทางที่ยั่งยืนมากขึ้น เช่น การเปิดเผยข้อมูลเรื่องการดำเนินการด้านความยั่งยืน (disclosure)

และการกำหนดนิยามและจัดหมวดหมู่กิจกรรมในภาคเศรษฐกิจที่ยั่งยืนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน (taxonomy) ซึ่งการดำเนินงานใน 2 แนวทางนี้ จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้เอกชนปรับตัวไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนได้

ท้ายที่สุดนี้ ผมขอขอบคุณคณะผู้วิจัย ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เสวนาทุกท่าน ที่ให้เกียรติมาร่วมงานสัมมนาวิชาการของธนาคารแห่งประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า งานสัมมนาวิชาการประจําปีนี้จะสร้างความตระหนักรู้ และจุดประกายความคิดให้พวกเราทุกคนได้เห็นแนวทางปฏิบัติที่จะนําไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวต่อไปอย่างมั่นคง และคนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 30 กันยายน 2564

BRR เดินเครื่องผลิตบรรจุภัณฑ์ชานอ้อย

"น้ำตาลบุรีรัมย์" ดีเดย์ 1 ตุลาคมนี้กดปุ่มเดินเครื่องจักรผลิตบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย ป้อน Amercare Royal ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ผู้นำเข้ารายใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกา  คาดจะทยอยผลิตครบ 4 เครื่องในเฟสแรกภายในไตรมาสสุดท้ายปีนี้ ก่อนติดตั้งเพิ่มอีก 6 เครื่องภายในต้นปี 2565 พร้อมเปิดเกมขยายตลาดยุโรป 

นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เปิดเผยว่า บริษัท ชูการ์เคน อีโคแวร์ จำกัด (SEW) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ BRR เตรียมผลิตบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยภายใต้แบรนด์ของลูกค้า (OEM) ให้ Amercare Royal ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ผู้นำเข้ารายใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อจำหน่ายแก่เชนร้านอาหารชื่อดัง ซึ่งใช้กำลังการผลิตรวมจำนวน 10 เครื่อง รวมกำลังการผลิต 10 ล้านชิ้นต่อเดือน ภายใต้สัญญาระยะยาว โดยความคืบหน้าโครงการดังกล่าวในเฟสแรกจะใช้เครื่องจักร จำนวน 4 เครื่อง เพื่อผลิตสินค้าป้อนความต้องการได้ภายในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ หลังจากโมลขึ้นแบบผลิตภัณฑ์ในล็อตแรก จำนวน 2 ชุด จะเดินทางถึงประเทศไทยและดำเนินการติดตั้งแล้วเสร็จภายในปลายเดือนนี้ พร้อมเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป

สำหรับโมลอีกจำนวน 2 ชุดนั้นจะมาถึงประเทศไทยในกลางเดือนตุลาคมนี้ และนำมาติดตั้งพร้อมเดินเครื่องจักรผลิตสินค้าได้ตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป ขณะที่เฟสที่ 2 นั้น คาดว่า SEW มีแผนทยอยสั่งผลิตโมลอีก 6 ชุด ที่จะเข้ามาติดตั้งในโรงงานเพิ่มเติมในลำดับถัดไป เพื่อรองรับคำสั่งซื้อของคู่ค้าดังกล่าว และคาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องจักรเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 1/2565

ขณะเดียวกัน บริษัท Southern Champion Tray หรือ SCT ซึ่งเป็นฐานลูกค้าเดิมของ SEW ที่ไว้วางใจให้บริษัทฯ ดำเนินการผลิตบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยภายใต้ OEM แล้วจำนวน 1 เครื่อง มีความต้องการเพิ่มไลน์การผลิตสินค้าอีก 1 เครื่อง เพื่อส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาเพิ่มเติม และเมื่อรวมกับเครื่องจักรอีก 2 เครื่อง ที่ป้อนความต้องการตลาดภายในประเทศแล้วจะทำให้กำลังการผลิตของ SEW ที่มีเครื่องจักร 14 เครื่อง เดินเครื่องเต็ม 100% ภายในกลางปี 2565

“การผลิตบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยของเรา สอดคล้องความต้องการของโลกที่ผู้บริโภคต้องการสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ล่าสุด ผลิตภัณฑ์ของเราได้รับใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ DinCerto EN13432 จาก DinCerto TUVRheinland ประเทศเยอรมนีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถย่อยสลายได้ภายใน 45 วัน จะช่วยให้เราสามารถขยายตลาดไปยังประเทศในกลุ่มยุโรปเพิ่มเติมในอนาคต” นายอนันต์ กล่าว

จาก https://mgronline.com วันที่ 29 กันยายน 2564

อีอีซีผุด EEC Automation Park ปั้นโรงงาน 4.0 นำร่อง 200 แห่งดูดการลงทุน

อีอีซีจับมือมิตซูบิชิและพันธมิตรเครือข่ายสานพลังความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น ปั้น EEC connecting Thailand and Japan Collaboration 2021 เดินหน้าอีอีซี ออโตเมชัน ปาร์ก ดึงผู้ประกอบการในพื้นที่กว่า 200 ราย นำร่องสู่อุตสาหกรรม 4.0 ปี 2565 พร้อมสร้างบุคลากรรองรับ 15,000 คนใน 5 ปี

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยในงาน EEC connecting Thailand and Japan Collaboration 2021Digital Manufacturing Platform ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี (EEC) ร่วมกับ บริษัท มิตซูบิชิ อิเลคทริก EEC Automation Park และเครือข่ายพันธมิตรภาคเอกชนไทย-ญี่ปุ่น ว่า เป็นการแสดงความพร้อมของศูนย์การเรียนรู้และพัฒนากำลังคนด้านออโตเมชันและหุ่นยนต์ในอีอีซีหรือ EEC Automation Park ที่จะเป็นฐานสำคัญขับเคลื่อนพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซีก้าวสู่โรงงานอัจฉริยะหรืออุตสาหกรรม 4.0 โดยปี 2565 ตั้งเป้าหมายให้โรงงานในอีอีซีเริ่มประยุกต์ใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ฯ ไม่น้อยกว่า 200 แห่ง

และตั้งเป้าภายใน 5 ปีจะสามารถปรับสู่โรงงานอัจฉริยะใช้เทคโนโลยีขั้นสูง Digital Manufacturing 4.0 ไม่น้อยกว่า 10,000 โรงงาน ยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก ยกระดับรายได้แรงงานไทย ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

ทั้งนี้ ภาคเอกชนญี่ปุ่นในพื้นที่อีอีซียังคงเดินหน้ายกระดับการผลิตภาคอุตสาหกรรมแบบดิจิทัล (Digital Manufacturing Platform) แม้จะเผชิญวิกฤตการณ์โควิด-19 (Covid-19) ซึ่งนำโดย บ.มิตซูบิชิฯ ที่ริเริ่มแนวคิด e-F@ctory Alliance พร้อมพันธมิตรเครือข่ายร่วมพัฒนา EEC Automation Park ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยบูรพา ให้เป็นฐานหลักขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้ Robotics & Automation สร้างความเชื่อมโยง Ecosystem เอื้อให้ภาคอุตสาหกรรมพัฒนาและปรับตัวไปสู่โรงงานอัจฉริยะใช้นวัตกรรมนำการผลิต เกิด Industry 4.0 ขึ้นจริงในพื้นที่อีอีซี ดึงดูดเงินลงทุนนวัตกรรมขั้นสูงจากนักลงทุนทั่วโลก โดยคาดว่าการลงทุนด้านหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ (Robotics & Automation) เป็นเครื่องมือสำคัญให้ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิตเมื่อเชื่อมโยงกับ 5G คาดว่าใน 3 ปีข้างหน้าจะเกิดการลงทุนสูงถึง 500,000 ล้านบาท เป็นการลงทุนในพื้นที่อีอีซีไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท/ปี”

นายอัทสึชิ ทาเคทานิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) กล่าวว่า ได้จัดตั้งเว็บไซต์พิเศษเพื่อแนะนำบริษัทญี่ปุ่นที่เป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้คู่ไปกับการพัฒนาบุคลากร รวมทั้งได้ร่วมกับอีอีซีจัดสัมมนาและประชุมออนไลน์ สร้างโอกาสการลงทุนขึ้นจริง เกิดการจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) ของบริษัทญี่ปุ่นและไทยแล้วกว่า 50 บริษัท การจัดประชุมเพื่อแบ่งปันประสบการณ์ทางธุรกิจร่วมกันกว่า 60 ครั้ง

ซึ่งประเทศญี่ปุ่นพร้อมสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมของไทยผ่านทางภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะอุตสาหกรรม Robotic & Automationที่ EEC Automation Park แห่งนี้จะเป็นฐานความร่วมมือสำคัญ พัฒนาอุตสาหกรรมไทยก้าวสู่ Industry 4.0 และการพัฒนาทักษะบุคลากรร่วมกันต่อไปในอนาคต

นายวิเชียร งามสุขเกษมศรี กรรมการผู้จัดการ มิตซูบิชิฯ กล่าวถึงการร่วมจัดทำ EEC Automation Park ว่า บริษัทฯ ได้นำระบบสายการผลิตอัจฉริยะ หรือ e-F@ctory เข้ามาใช้ในการสนับสนุน และผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมใช้นวัตกรรมขั้นสูงในประเทศไทย รวมทั้งพัฒนาระบบ SMKL (Smart Manufacturing Kaizen Level) ที่จะเป็นเครืองมือประเมินระดับการใช้ประโยชน์จากข้อมูลในโรงงาน เพื่อช่วยในการตัดสินใจลงทุนของผู้บริหาร โดยจะแสดงวัตถุประสงค์ ทิศทางการพัฒนา และผลที่จะได้รับจากการลงทุนในแต่ละขั้นตอน นำมาใช้ในการประเมินระดับความสามารถในการผลิตแบบดิจิทัล รวมทั้งทำให้เกิดมาตรการควบคุมลดการใช้พลังงานในไลน์การผลิต นอกจากนี้ ยังได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ทั้งด้าน IT (Information Technology) และด้าน OT (Operation Technology) มาใช้ระบบ Factory Automation เพิ่มความยืดหยุ่นในการนำไปใช้งานได้อย่างเสถียร และ Real Time ได้อย่างแท้จริง รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมไทยในยุคดิจิทัล และขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศไทยตามนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 อย่างยั่งยืน

นายอภิชาต ทองอยู่ ประธานคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากร (EEC HDC)กล่าวว่า การพัฒนาบุคลากรทาง EEC HDC ได้เชื่อมโยงการพัฒนาบุคลากรตามแนวทางสร้างคนให้ตรงกับงาน หรือ EEC Model ซึ่งความร่วมมือฯ ครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งเพื่อพัฒนาทักษะบุคลากรในอีอีซี (New, Up, Re -Skill) ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายรวมภายใน 3 ปี ผลิตไม่น้อยกว่า 120,000 คน โดยเป็นบุคลากรรองรับด้านดิจิทัล 5G ให้ได้ 50,000 คน

นายชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาพิเศษด้านการพัฒนาบุคลากรฯ สกพอ. กล่าวว่า EEC Automation Park จะยกระดับไปสู่ศูนย์เครือข่ายความร่วมมือด้านการพัฒนาบุคลากร หรือ EEC-NET ด้านหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และดิจิทัล เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมสู่โรงงานอัจฉริยะ ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซีจะได้รับความรู้ และเกิดการใช้ระบบสายการผลิตอัตโนมัติแบบดิจิทัล ด้วยเทคโนโลยี 5G ที่ครอบคลุมในพื้นที่อีอีซี 100% แล้วเพิ่มขึ้น เกิดบริการข้อมูลฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ในรูปแบบการจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) โดยใช้ผลิตภัณฑ์จากบริษัทในกลุ่มพันธมิตรเพื่อให้เกิดการนำไปใช้ได้จริง

สำหรับ EEC Automation Park จะสามารถฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะความชำนาญให้แก่บุคลากรที่จะเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะทักษะด้าน Robotics & Automation ได้มากกว่า 25 หลักสูตร โดยตั้งเป้าหมายจะพัฒนาให้ได้ประมาณ 2,000 คน/ปี และภายใน 5 ปีได้สูงถึง 15,000 คน ยกระดับให้ไทยก้าวสู่ยุคใช้นวัตกรรมขั้นสูงต่อไป

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 29 กันยายน 2564

เปิดรับฟังผลศึกษาเอฟทีเอไทย – EFTA รัฐ-เอกชน ชี้ช่วยศก.ขยายตัว เพิ่มประโยชน์สินค้า-บริการไทย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่าได้สัมมนาออนไลน์ เรื่อง “FTA ไทย – EFTA กับโมเดลเศรษฐกิจใหม่หลัง COVID-19”เพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาการจัดทำ FTA ไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) โดยเชิญวิทยากรจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เกษตรกร และประชาสังคม ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องการเจรจาจัดทำ FTA ไทย – EFTA

ศาสตราจารย์ ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) บรรยายพิเศษ “โมเดลเศรษฐกิจใหม่หลังโควิด-19” ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน อาทิ การแบ่งขั้วภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างตะวันออกและตะวันตก มาตรฐานโลกใหม่ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องธรรมาภิบาล ความโปร่งใส สิทธิมนุษยชน สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และการเชื่อมโยงกับห่วงโซ่การผลิตโลก ทำให้ไทยต้องเร่งสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน รวมถึงพัฒนาสินค้าให้มีเอกลักษณ์ โดยเฉพาะอาหาร สมุนไพร และเกษตรแปรรูป เน้นการค้าอิเล็กทรอนิกส์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้งไทยต้องร่วมผลักดันให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางการค้าในภูมิภาค

นายทวีชัย เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้อำนวยการวิจัยของ IFD ได้นำเสนอผลการศึกษา การจัดทำ FTA กับ EFTA จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว ส่งผลดีต่อการส่งออกและการลงทุน โดยกลุ่มสินค้าที่จะได้ประโยชน์ เช่น ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผัก และผลไม้ สิ่งทอ/เครื่องแต่งกาย เป็นต้น ส่วนสาขาบริการที่จะได้ประโยชน์ เช่น บริการสุขภาพ โทรคมนาคม และบริการทางการเงิน เป็นต้น พร้อมเสนอให้ภาครัฐพัฒนาฐานข้อมูลตลาด EFTA เพื่อให้เอกชน โดยเฉพาะ SMEs ใช้ประโยชน์ รวมทั้งส่งเสริมการฝึกอบรมทักษะให้กับพนักงาน พัฒนามาตรฐานสินค้า เร่งลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ตลอดจนชดเชยและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบผ่านกองทุน FTA

นอกจากนี้ นายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ จากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คุณนฤพนธ์ เตชะวัฒนวรรณา จากหอการค้าไทย-สวิตเซอร์แลนด์ และ ดร.ศุภฤกษ์ ชมชาญ จากหอการค้าไทย-นอร์เวย์ ระบุสนับสนุนการทำ FTA กับ EFTA เนื่องจากเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศไทย ทั้งนี้ ภาครัฐต้องเตรียมความพร้อมและสร้างความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ รวมทั้งเร่งปฏิรูปกฎระเบียบของไทยให้เอื้อต่อการดึงดูดการค้าและการลงทุน

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ระบุว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคเกษตร หากไทยจัดทำ FTA รัฐควรเตรียมความพร้อมให้กับภาคเกษตรทั้งในเชิงรุกและรับ รวมถึงมาตรการเยียวยาผลกระทบที่เป็นรูปธรรม ด้านคุณกรรณิการ์ กิจติเวชกุล จาก FTA Watch ระบุว่า ผลการศึกษา ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของการเปิดเสรีบริการ ที่จะลดการผูกขาดในประเทศ ขณะเดียวกันไทยจะต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องที่ EFTA ให้ความสำคัญ ทั้งด้านสังคม การเมือง และการคุ้มครองสิทธิมนุยชน สำหรับการเจรจาควรระมัดระวังในประเด็นสำคัญ อาทิ การยอมรับเงื่อนไขการเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการรับรองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV 1991) การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่จะเชื่อมโยงกับการเข้าถึงยา และการคุ้มครองการลงทุนที่อาจกระทบต่อการใช้มาตรการที่จำเป็นในการปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ

ทั้งนี้ EFTA เป็นคู่ค้าลำดับที่ 12 ของไทย ในปี 2563 การค้ารวมไทย-EFTA มีมูลค่า 10,445.34 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.38 ของการค้าไทยในตลาดโลก โดยไทยส่งออกไป EFTA มูลค่า 7,799.77 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยนำเข้าจาก EFTA มูลค่า 2,645.57 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2564 (ม.ค-ก.ค.) การค้ารวมไทย-EFTA มีมูลค่า 4,738.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 27% โดยไทยส่งออกไป EFTA มูลค่า 1,032.74 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยนำเข้าจาก EFTA มูลค่า 3,705.77 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ นาฬิกาและส่วนประกอบ และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 29 กันยายน 2564

สกสว. จัดหารือยกระดับเกษตรกรและอุตสาหกรรมการเกษตร พร้อมวางภาพอนาคตส่งออก Top 10 ของโลก

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดเสวนา หัวข้อ : ที่มาและเส้นทางสู่ตำแหน่งใหม่ของระบบเกษตรไทย ครั้งที่ 2 กรณี ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย และยางพารา ในรูปแบบการเสวนาออนไลน์ ที่จัดขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ผลการวิจัยและ สถานการณ์ด้านการเกษตรและอาหารของประเทศและต่างประเทศ ร่วมกันระหว่างผู้ทรงคุณวุฒิ และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากกระทรวงต่าง ๆ ตลอดจนการนำเสนอโครงการ “การวิจัยเชิงระบบเพื่อการปฏิรูปและปรับโครงสร้างภาคการเกษตรไทย” และ “ตำแหน่งและเส้นทางสู่เป้าหมายของระบบสินค้า: ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา”

โอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. เป็นประธานเปิดการเสวนา พร้อมกับกล่าวถึงการวิจัยเชิงระบบว่า เป็นเครื่องมือวิเคราะห์องค์ความรู้การวิจัย ทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ที่ สกสว.ให้การสนับสนุน เพื่อนำชุดข้อมูลมากำหนดเป้าหมาย และกำหนดเข็มทิศการวิจัย หรือที่เรียกว่า แผนการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ที่ตอบเป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้ ฐานทรัพยากรอยู่ได้ มีความมั่นคงทางอาหาร และมีความสามารถในการแข่งขันไปด้วยกัน ทั้งในมิติของการสนับสนุนจากภาครัฐ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร และความร่วมมือกับต่างประเทศ ซึ่งผลการศึกษาครั้งนี้ได้ผลลัพธ์ที่น่าสนใจ คือ ภาพอนาคตของภาคเกษตรไทยที่พึงประสงค์ โดยมีการกำหนดตำแหน่ง (Position) ที่ชัดเจนในเวทีโลก และเสนอยุทธศาสตร์การปฏิรูปเพื่อพลิกโฉมภาคเกษตร (Agricultural Transformation) พร้อมทั้งออกแบบระบบโครงสร้างใหม่และนโยบายให้เป็นวิถีทาง (Transformation Pathway) เพื่อยกระดับภาคเกษตรไทย และแนวทางการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและ นวัตกรรม (ววน.) ด้านการเกษตรที่สำคัญของพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย และยางพารา

ด้าน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อารี วิบูลย์พงศ์ ในฐานะหัวหน้าโครงการ “การวิจัยเชิงระบบเพื่อการปฏิรูปและปรับโครงสร้างภาคการเกษตรไทย” กล่าวสรุปภาพรวมการวิจัย ว่า เป็นการศึกษาสถานการณ์ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอุปสงค์สินค้าเกษตรไทย เช่น ความเป็นเมือง (Urbanization), รายได้ (Income), จำนวนประชากร, สถานการณ์โควิด-19 ที่เปลี่ยนรสนิยมการบริโภค (Lifestyle) โดยการวิเคราะห์แนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคต่อกลุ่มสินค้าของโลกและผลของปัจจัยในประเทศ จากการทบทวนเอกสาร รวมถึงแนวโน้มการผลิตกลุ่มสินค้าเกษตรของประเทศผู้ผลิตหลัก เพื่อให้เข้าใจศักยภาพการแข่งขันของไทยโดยทบทวนสถิติและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานจากการวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ยังได้วิเคราะห์ถึงศักยภาพการผลิต (Potential Supply) ของกลุ่มสินค้า/รายสินค้าหลักด้วยแนวโน้ม อุปทาน ข้อจำกัดด้านทรัพยากร แรงงาน ที่ดินและน้ำ วิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้ม นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ วิจัย เทคโนโลยี ของประเทศไทยเปรียบเทียบกับต่างประเทศ (เทคโนโลยีการผลิตของโลกจะครอบคลุมไปจนถึง Biotechnology และ Internet of Thing/Digital ด้านการเกษตร) เพื่อวิเคราะห์ศักยภาพระบบการผลิตสินค้าทางการเกษตร และ กำหนดภาพอนาคตภาคเกษตรไทย ที่จะทำให้เกษตรกรไทยทั้งระบบมีคุณภาพชีวิตที่ดี จากการพัฒนาการเกษตรทั้งระบบเพื่อชิงส่วนแบ่งทางการตลาดให้ประเทศไทย มีการส่งออกสินค้าทางการเกษตร ติดอันดับ Top 10 ของโลก แม้จะไม่ใช่ผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด แต่การเกษตรไทยจัดอยู่ในชั้นแนวหน้าของโลก ตลาดระหว่างประเทศรู้จักสถานะของไทยจากการเป็นผู้นำ 1 ใน 5 ของผู้ส่งออกสินค้าหลัก คือ มันสำปะหลัง ทูน่ากระป๋อง (อันดับ 1) ข้าว น้ำตาล และผลิตภัณฑ์เนื้อปลา (อันดับ 2) นอกจากนี้สินค้า ใน 6-10 ลำดับแรกของโลกที่มีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก ได้แก่ เครื่องปรุงรส และ กุ้งนาเค็ม (อันดับที่ 6) ธัญพืช ผลไม้ ผักแช่แข็ง กุ้งนาจืด (อันดับ 9-10) สินค้าที่มีศักยภาพรองลงมาและมีตลาดใหญ่มาก คือ อาหารฮาลาล (อันดับที่ 13) สินค้าจากเกษตรกรรายย่อยที่มีการส่งออกในอันดับที่ 17 ของโลก ได้แก่ หอยและสัตว์น้ำบางชนิด

ขณะเดียวกัน การวิจัยได้พบแนวโน้มการบริโภคในอนาคต ทั้งจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้สร้างประสิทธิภาพเชิงมูลค่าอาหารและเกษตร รวมถึงความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และความต้องการใหม่ ๆ แต่ด้วยกระบวนการผลิตและการจัดการที่ห่างออกจากธรรมชาติมากขึ้นนี้ ได้สร้างความกังวลต่อผู้บริโภค ประกอบกับค่านิยมและความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ผลิตอาหารและเกษตรที่เพิ่มมากขึ้น ที่ตระหนักถึงโดยแยกออกเป็น 4 ประเด็น คือ 1) ความปลอดภัยของอาหารและประโยชน์ต่อสุขภาพเป็นทิศทางที่ต่อเนื่องจาก ค.ศ. 2000 มาตรฐานอาหารทวีความสำคัญมากขึ้นตามลำดับ 2) ความรับผิดชอบต่อสังคมของหน่วยธุรกิจ (Corporate Social Responsibility) ยิ่งกว่านั้น ธุรกิจอาหารขนาดใหญ่ของโลกตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม รับรู้และตอบสนองต่อจิตวิญญาณของผู้บริโภค โดยผู้บริโภคในประเทศรายได้สูงยินดีจ่ายเงินเพิ่ม 3) ระบบการผลิตและนวัตกรรมที่ยอมรับได้ โดยมีผู้บริโภคบางส่วนไม่ไว้วางใจในนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตอาหาร เช่น ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือ การตัดต่อพันธุกรรม และอื่น ๆ จึงทำให้อาหารเกษตรอินทรีย์มีการเติบโตสูงร้อยละ 10 ต่อปี เมื่อเทียบกับทศวรรษที่ผ่านมา โดยร้อยละ 50 ของผู้บริโภคเหล่านี้อยู่ในทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ และ 4) ความยั่งยืน ผู้บริโภคให้ความสำคัญทั้งด้านการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน โดยเฉพาะ สินค้าประมง การบริโภคอาหารจากวัตถุดิบในท้องถิ่นเพื่อลดการใช้พลังงานจากการขนย้าย รวมถึงให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น ฉลากบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Label) จึงให้ข้อมูลสำคัญต่อแหล่งกำเนิดอาหาร (Food Origin) ในปัจจุบัน

ที่สำคัญทิศทางข้างต้นเป็นการเปิดโอกาส ให้เกิดการผลิตอาหารที่ตอบสนองต่อผู้บริโภคกลุ่มต่าง ๆ สร้างคุณค่าในมิติต่าง ๆ ใหม่ เช่น ในประเทศอังกฤษ ใช้คำว่าคำว่า “สุขภาพ” และ “ความรู้สึกดี” เป็นจุดขาย ดังนั้น จึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำหรับภาคเกษตรและอาหารของไทยที่จะพัฒนาและเรียนรู้ ด้วยการสร้างคุณค่าเหล่านี้ เพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดโลก

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 29 กันยายน 2564

อ่อนค่ารอบ 4 ปี!บาทเปิด 33.89 บาทต่อดอลลาร์

เงินบาทเปิดตลาด 33.89 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าในรอบ 4 ปี จับตามติ กนง. คาดกรอบ 33.80-34.00 บาทต่อดอลลาร์

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 33.89 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากเย็นวานนี้ที่ระดับ 33.75 บาท/ดอลลาร์

เช้านี้เงินบาทเปิดอ่อนค่า สอดคล้องกับทิศทางค่าเงินในภูมิภาค โดยเป็นไปตามการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ในตลาดโลกเนื่องจากบอลด์ยีลด์สหรัฐฯ ยังคงปรับตัวสูงขึ้น และวานนี้นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประเมินว่าเงินเฟ้ออาจอยู่ในระดับที่สูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้

"วันนี้บาทเปิดอยู่ที่ 33.89 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่อ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 4 ปี 2 เดือน โดยเงินบาทยังคงอ่อนค่าตามทิศทางดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่า"

นักบริหารเงิน กล่าว ปัจจัยที่ต้องติดตามวันนี้ คือ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งคาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิม แต่ทั้งนี้มติอาจไม่เป็นเอกฉันท์ นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 33.80 - 34.00 บาท/ดอลลาร์

จาก https://www.posttoday.com วันที่ 29 กันยายน 2564

ธนาคารโลกหั่นเศรษฐกิจไทยปีนี้โตแค่1%

ธนาคารโลกหั่นเศรษฐกิจไทยปีนี้โตแค่1% ประเมินโควิดทำคนจนเพิ่ม อุตสาหกรรมท่องเที่ยวอ่วม

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารโลกได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือ 1% จากเดิมที่ 2.2% และปีหน้า อยู่ที่ 3.6% โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวเท่ากับช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ได้ในปี 2566 ล่าช้ากว่าคาดการณ์เดิมประมาณ 1 ปี จากปัจจัยเรื่องการกระจายวัคซีน ขณะที่การระบาดของโควิด-19 ยังส่งผลกระทบกับภาคครัวเรือน ทำให้อัตราการว่างงาน และภาคธุรกิจเอสเอ็มอีขาดรายได้ ส่งผลให้ในปีนี้ประเทศไทยจะมีผู้ที่มีความยากจนเพิ่มขึ้น 1.7 แสนคน เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวในปีนี้ มองว่าจะยังไม่ฟื้นตัว แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการแซนด์บ็อกซ์ แต่จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในไทยก็ยังน้อยมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 โดยคาดว่าในปี 2564 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย จะอยู่ที่ 1.6 แสนคน ซึ่งถือว่าต่ำมาก ขณะที่ปี 2565 คาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้น เนื่องจากมีการเร่งกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง โดยคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.7 ล้านคน ถือเป็นการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว

“ภาคการส่งออกตอนนี้ยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเกษตรและสินค้าเพื่อการผลิตเริ่มมีการฟื้นตัวได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะตลาดในประเทศใหญ่ ๆ เช่น จีน แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่เข้ามากดดัน เนื่องจากมีการประเมินว่าเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก ๆ อาจจะมีการชะลอตัวลงบ้าง เนื่องจากมาตรการลดการเดินทางและการบริโภคที่อาจจะยังมีข้อจำกัดจากการระบาดของโควิด-19 รวมถึงปัญหาคอขวดด้านโลจิสติกส์ ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบกับภาคการส่งออกได้ โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าที่มีห่วงโซ่การผลิตค่อนข้างยาว” นายเกียรติพงศ์ กล่าว

นายเกียรติพงศ์ กล่าวว่า การที่รัฐบาลมีการขยายเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มเป็น 70% ต่อจีดีพี จากเดิมที่ 60% ต่อจีดีพีนั้น เป็นสิ่งที่ดี เพราะจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ภาครัฐในการประคับประคองเศรษฐกิจในระยะสั้น และจะช่วยเพิ่มการลงทุนในโครงการสำคัญ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะปานกลาง

นอกจากนี้ มองว่าการขยายเพดานหนี้สาธารณะของไทยนั้นจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น โดยหากสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ดี มีการลงทุนที่ดี สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยหลังจากนี้ก็มีโอกาสที่จะลดลงสู่ระดับต่ำกว่า 60% ของจีดีพีแน่นอน เพราะหนี้สาธารณะของไทยส่วนใหญ่เป็นการกู้ยืมในประเทศเป็นหลัก ดังนั้นความเสี่ยงเมื่อเทียบกับหนี้ต่างประเทศจึงต่ำกว่ามาก

“จากแบบจำลองของธนาคารโลกมองว่าไทยมีโอกาสที่จะเพิ่มเพดานหนี้มากกว่า 60% ต่อจีดีพี ซึ่งการเพิ่มเพดานหนี้นี้จะช่วยให้ไทยสามารถขยายการกู้เงินเพิ่มเติมได้ ในกรณีที่การระบาดแย่ลง ซึ่งจะช่วยให้ไทยสามารถรักษาเสถียรภาพทางการคลังในระยะปานกลางได้ แต่การกู้เงินและการใช้จ่ายเงินในการลงทุนและมาตรการเยียวยาต่าง ๆ ต้องมีความโปร่งใส เป็นมาตรการที่เฉพาะเจาะจง ช่วยเหลือผู้ที่ต้องการจริง ๆ เม็ดเงินดังกล่าวจะได้มีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่” นายเกียรติพงศ์ กล่าว

นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า การที่รัฐบาลปรับเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะนั้นถือเป็นมาตรการที่สุขุม เป็นการสร้างความสมดุล และมองว่านโยบายการคลังเป็นเรื่องสำคัญที่จะนำมาใช้ในการให้ความช่วยเหลือในช่วงที่มีความเปราะบาง และจำเป็นต้องดำเนินการในเรื่องนี้ เพื่อรักษาระดับการเติบโตที่ยั่งยืน และถือเป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มการลงทุน ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการศึกษา และด้านพลังงานสะอาด ซึ่งที่ผ่านมาไทยยังดำเนินการในส่วนนี้ค่อนข้างน้อย

จาก https://www.posttoday.com วันที่ 28 กันยายน 2564

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “อ่อนค่า” ที่ระดับ 33.59 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทยังมีโอกาสอ่อนค่าต่อได้ คาดว่าสามารถอ่อนค่าไปถึงระดับ 33.80-33.85 บาทต่อดอลลาร์ได้ จากแรงเทขายหุ้นไทยจากความกังวลปัญหาน้ำท่วมที่ตลาดเริ่มไม่แน่ใจจะเป็นปัจจัยกดดัน

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.59 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่า”ลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.50 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เราคงมุมมองว่า  ในระยะสั้น เงินบาทยังมีโอกาสอ่อนค่าต่อได้ โดยจะต้องติดตามการทดสอบแนวต้านของเงินบาทว่าจะยืนเหนือแนวต้านสำคัญที่ระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ได้หรือไม่ เพราะหากเงินบาทอ่อนค่าเหนือระดับดังกล่าวได้

ในขณะที่โมเมนตัมการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ยังมีอยู่ เราคาดว่า เงินบาทก็สามารถอ่อนค่าไปถึงระดับ 33.80-33.85 บาทต่อดอลลาร์ได้ ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่จะกดดันการอ่อนค่าของเงินบาท คือ แรงเทขายหุ้นไทยจากความกังวลปัญหาน้ำท่วมที่ตลาดเริ่มไม่แน่ใจว่าจะมีความรุนแรงใกล้เคียงน้ำท่วมใหญ่ในปี 2011 หรือไม่ ขณะเดียวกัน ตลาดการเงินในฝั่งเอเชียก็ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนักจากประเด็นความเสี่ยง Evergrande

นอกจากนี้ ในระยะสั้นช่วงปลายเดือน เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากโฟลว์ซื้อเงินดอลลาร์ของผู้นำเข้า ส่วนผู้เล่นในตลาดทองคำ อาจใช้จังหวะที่ราคาทองคำย่อตัวแตะระดับ 1,750 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในการเข้าทยอยซื้อ buy on dip ทำให้เรายังไม่เห็นโอกาสที่เงินบาทจะกลับมาแข็งค่าได้ชัดเจน โดยแนวรับสำคัญของเงินบาทจะอยู่ในโซน 33.20-33.30 บาทต่อดอลลาร์

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.45-33.65 บาท/ดอลลาร์

ผู้เล่นในตลาดการเงินโดยเฉพาะในฝั่งสหรัฐฯ ยังไม่กล้าที่จะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างส่งสัญญาณพร้อมสนับสนุนการลดคิวอีในไม่ช้า จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ดีขึ้นและเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด

อนึ่ง แม้ว่าบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดจะส่งสัญญาณพร้อมสนับสนุนการลดคิวอี แต่ก็ยังไม่ได้มีการระบุชัดเจนถึงแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยในครั้งแรก นอกจากนี้ ตลาดการเงินโดยรวมยังคงถูกกดดันจากปัญหาหนี้ของ Evergrande หลังจากที่ทางบริษัทไม่ได้จ่ายดอกเบี้ยให้กับนักลงทุนในวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งตลาดจะจับตาว่า ในช่วงปลายเดือนนี้และต้นเดือนตุลาคมที่ Evergrande มีกำหนดจ่ายดอกเบี้ยอีก 193.3 ล้านดอลลาร์ ทางบริษัทจะผิดนัดจ่ายดอกเบี้ยอีกหรือไม่

ภาพตลาดในฝั่งสหรัฐฯ ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อหุ้นเทคฯ พอสมควร เนื่องจากบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องและทำจุดสูงสุดที่ 1.51%  ก่อนจะย่อลงเล็กน้อยสู่ระดับ 1.48% กดดันให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลง -0.52% เช่นเดียวกันกับ ดัชนี S&P500 ที่ปิดตลาด -0.28% ในขณะที่ ดัชนี Dowjones รีบาวด์ขึ้น +0.21% จากแรงหนุนของหุ้นในกลุ่มการเงิน รวมถึง หุ้นในกลุ่มพลังงานที่ปรับตัวขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ

ส่วนทางด้านตลาดยุโรป ดัชนี STOXX50 เดินหน้าปรับตัวขึ้นต่อเนื่องราว +0.17% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่ม Cyclical โดยเฉพาะ กลุ่มการเงินและพลังงาน อาทิ ING +4.51%, Total Energies +3.44% ในขณะที่การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ ได้ส่งผลกดดันหุ้นในกลุ่มเทคฯ ยุโรป ทำให้ ASML -3.04%, Adyen -1.01%

ในฝั่งตลาดบอนด์ แรงสนับสนุนการลดคิวอีในอนาคตอันใกล้จากบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ได้ บอนด์ยีลด์ 10ปี ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 4bps สู่ระดับ 1.48% ทั้งนี้ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ อาจเผชิญความผันผวนต่อได้ เนื่องจากทั้งสัปดาห์จะมีบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดออกมาแถลงอีกหลายท่าน รวมถึง ตลาดจะรอจับตาแนวโน้มการเจรจา Debt Ceiling ของสหรัฐฯ ว่าจะมีทิศทางอย่างไร เพราะหากสภาคองเกรสยังไม่อนุมัติขยายเพดานหนี้ก็อาจทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ เผชิญความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ได้

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังเจ้าหน้าที่เฟดต่างออกมาสนับสนุนการทยอยลดคิวอีในไม่ช้า นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากผู้เล่นในตลาดยังคงมีความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย เพื่อรับมือกับความผันผวนในตลาด จากประเด็น Evergrande

ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 93.40 จุด กดดันให้ ค่าเงินยูโร (EUR) อ่อนค่าหลุดระดับ 1.17 ดอลลาร์ต่อยูโร ส่วนค่าเงินเยน (JPY) ก็อ่อนค่าแตะระดับ 111 เยนต่อดอลลาร์ ในขณะที่ ค่าเงินปอนด์ (GBP) กลับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยแตะระดับ 1.37 ดอลลาร์ต่อปอนด์ หลังผู้ว่าธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ระบุว่า BOE อาจขึ้นดอกเบี้ยได้ในปีนี้ หากเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นและเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของ BOE

สำหรับวันนี้ เรามองว่า นอกเหนือจากประเด็นปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัท Evergrande ตลาดจะจับตาแนวโน้มการฟื้นตัวของการบริโภคในฝั่งสหรัฐฯ ผ่านการติดตามดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยตลาดมองว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board ในเดือนกันยายน ที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 115 จุด ตามสถานการณ์การระบาดในฝั่งสหรัฐฯ ที่ไม่ได้น่ากังวลนักและรัฐบาลก็เตรียมทยอยฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น

นอกจากนี้ ตลาดจะติดตามการแถลงต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาของประธานเฟด รวมถึงรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ โดยไฮไลท์สำคัญ อาจอยู่ที่ถ้อยแถลงของรัฐมนตรีคลัง Yellen ต่อประเด็นขยาย Debt Ceiling เพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 28 กันยายน 2564

เดินหน้า “ 5 ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย”ปฏิรูปภาคเกษตร

“อลงกรณ์”ขับเคลื่อน นโยบาย เดินหน้า “ 5 ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย” ปฏิรูปภาคเกษตร ชูจุดเปลี่ยนด้วยเทคโนโลยีหวังพลิกโฉมเกษตรประเทศไทย 77 จังหวัด

วันนี้(27 ก.ย. 64) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 และประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมแห่งชาติ (Agritech and Innovation Center : AIC)  เผยถึงการจัดทำแผนเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม ปีงบประมาณ 2564 และ 2565 ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือโดยศูนย์ AIC เชียงใหม่ แผนจังหวัดชลบุรี การขับเคลื่อนโครงการตลาดกลางสินค้าเกษตรเพชรบุรีโมเดล

การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวด้วยเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ การนำเสนองานวิจัยด้านการเกษตรของสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) ที่เชื่อมโยงสู่ศูนย์ AIC และนำไปใช้ประโยชน์ สรุปผลการดำเนินงานขับเคลื่อนศูนย์ AIC ผลการสำรวจการรวบรวมข้อมูลปุ๋ย ข้าว สมุนไพร และโปรตีนทางเลือก ผลการสำรวจการคัดเลือกนวัตกรรมที่มีศักยภาพและความพร้อมที่จะดำเนินการทางด้านธุรกิจ

กรอบงานวิจัยปี 2565

ทั้งนี้นายอลงกรณ์  ได้เน้นย้ำถึง การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 4 คณะภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร4.0 ให้เกิดความชัดเจนเชิงโครงสร้างระบบ ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด เน้นการทำงานที่รวดเร็ว และการนำไปใช้ประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน ให้แก่ เกษตรกร ภาครัฐ ภาคเอกชน เชื่อมโยงกลไกการขับเคลื่อนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ ขยายผลจากโครงการนำร่องสู่แพลตฟอร์มทั่วประเทศ(Pilot 2 Platform)ในการดำเนินงานต่อไป

พร้อมทั้งมอบ แนวทางการขับเคลื่อนฯ ตามยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเกษตร 4.0 เพื่อการบริหารราชการแผ่นดินการบริการประชาชนและการพัฒนาภาคเกษตรกรรมโดยการใช้เทคโนโลยีตลอดห่วงโซ่อุปทานและมูลค่า(Supply-Value Chain) ตั้งแต่การผลิต การแปรรูปจนถึงการตลาดตาม5ยุทธศาสตร์ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร

ตรวจสอบย้อนกลับ

นอกจากนี้ นายอลงกรณ์ ยังได้มอบหมายการทำงานในปีที่2ของศูนย์AIC โดยมี 16 วาระสำคัญที่เรียกว่า "วาระคานงัด" (Transformation Agenda) สร้างจุดเปลี่ยนมุ่งถ่ายทอด ต่อยอด เชื่อมโยงด้วยเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม เพื่อดำเนินการดังนี้

1. คุณภาพและมาตรฐานเกษตร GAP GMP Organic Fair Trade

 2. ระบบตรวจสอบย้อนกลับ

 3. ระบบคิวอาร์โค้ดเกษตรกรและฟาร์มQR code Farm & Farmer

 4. ระบบศูนย์ข้อมูลและรัฐบาลเทคโนโลยี(Big Data & GovTech)จังหวัด & กลุ่มจังหวัด บริหาร&บริการ

 5. ตลาดกลางสินค้าเกษตรออนไลน์และออฟไลน์(Online Offline)

 6. โครงการ 1 จังหวัด 1 Startup & SMEเกษตร (อย่างน้อย) > Hachkaton

 7. โครงการ1 กลุ่มจังหวัด 1 นิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร(ศูนย์เกษตรอุตสาหกรรมอาหารครบวงจร)

ขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ

ขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ

8. โครงการเกษตรแม่นยำ 2 ล้านไร่ เฟส 3 ผลไม้

 9. โครงการเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง(Urban Farming)และโครงการธนาคารสีเขียว(Green Bank)

 10. โครงการชลประทานชุมชน

 11.  3 Zero Zero Kilometer Zero Waste Zero Food

 12. อาหารแห่งอนาคต เกษตรแห่งอนาคต(Future Food Future Crop)เช่นโปรตีนทางเลือกใหม่ สมุนไพร ไข่น้ำ

 13. โครงการวิจัย & พัฒนาในจังหวัดและกลุ่มจังหวัด

 14. แผนเกษตรอัจฉริยะปี 65-70 และแผนงานตามงบประมาณปี 2566

 15. โครงการเครื่องจักรกลเกษตร(Machinelization Policy)แปลงใหญ่

 16. การถ่ายทอด ต่อยอด เชื่อมโยง ร่วมมือ พัฒนา โดยการขับเคลื่อนภายใต้กลไกต่างๆ

เช่น กลไกของกระทรวง  กลไกของคณะกรรมการชุดต่างๆเช่นคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กรกอ.) ,คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร4.0,คณะกรรมการพัฒนาโลจิสติกส์เกษตร ฯลฯ

2.กลไกในลักษณะกึ่งราชการ เช่น ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพ การผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ Young Smart Farmer อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) วิสาหกิจชุมชน เป็นต้น

3.กลไกภาคเกษตรกร

4.กลไกภาคเอกชน

5.กลไกขององค์กรระหว่างประเทศ

เพื่อการขับเคลื่อนและพัฒนา บูรณาการ ทั้งระบบภาคการเกษตรไทยต่อไปรวมทั้งให้มีการตั้งทีมฑูตAIC( AIC Ambassador )เดินสายเยี่ยมเยือน สื่อสารประชาสัมพันธ์ของAICในแต่จังหวัดและกลุ่มจังหวัดด้วย

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 27 กันยายน 2564

"สุริยะ" สั่ง กรอ. ยกระดับผู้รับบำบัดกำจัดของเสียอันตรายภาคอุตสาหกรรม

สุริยะ สั่ง กรอ. ยกระดับบผู้รับบำบัดกำจัดของเสียอันตรายภาคอุตสาหกรรม เดินหน้านโยบายส่งเสริมการจัดการของเสียที่เกิดจาก ภาคอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เร่งดำเนินการพัฒนามาตรฐานการจัดการหรือการให้บริการกำจัดและบำบัดสิ่งปฏิกูลของผู้ให้บริการให้ได้มาตรฐานตามหลักวิชาการและถูกต้องตามกฎหมายได้อย่างเหมาะสมมากที่สุด และสร้าง จิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยผลักดันให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบอนุญาตอัตโนมัติ (AI)

ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นการยกระดับการทำงานของกระทรวงอุตสาหกรรมที่จะขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ความ เป็น Digital Government ตามนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล สอดรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติฉบับที่ 12 ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดี กรอ. กล่าวว่า กรอ. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการจัดการของเสียอันตรายภาคอุตสาหกรรม โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2553 และในปีงบประมาณ 2564 มีโรงงานเข้าร่วมโครงการฯ จำนวนทั้งสิ้น 34 โรงงาน โดยโรงงานที่เข้าร่วมโครงการฯ จะต้องผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการพร้อมทั้งดำเนินการไปควบคู่ กับให้คำปรึกษา และเข้ารับการตรวจประเมินโรงงานเพื่อยกระดับการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับเกณฑ์ มาตรฐานการปฏิบัติงานที่ดี ซึ่งจำแนกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มมาตรฐานการปฏิบัติงานที่ดีทั่วไปและกลุ่ม มาตรฐานเฉพาะสำหรับการเข้าสู่ระบบอนุญาตอัตโนมัติโดยความเห็นชอบของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ผลสำเร็จของการดำเนินงาน มีโรงงานที่ได้รับรางวัลมาตรฐานโรงงานจัดการกากอุตสาหกรรม จำนวน 25 โรงงาน แบ่งเป็นรางวัลระดับ Gold Plus จำนวน 1 โรงงาน เหรียญทอง จำนวน 20 โรงงาน เหรียญเงิน จำนวน 2 โรงงาน และเหรียญทองแดง จำนวน 2 โรงงาน

ยกระดับผู้รับบำบัดกำจัดของเสียอันตรายภาคอุตสาหกรรม

กรอ. จึงจัดพิธีมอบรางวัลมาตรฐานโรงงานจัดการกากอุตสาหกรรม ประจำปี 2564 ขึ้นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Video Conference) เมื่อวันอังคารที่ 21 กันยายน 2564 เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นและความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการร่วมกันบริหารจัดการของเสียอย่างยั่งยืนต่อไป

โครงการพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการจัดการของเสียอันตรายภาคอุตสาหกรรม มีวัตถุประสงค์ เพื่อยกระดับการให้บริการและการประกอบกิจการจัดการของเสียให้เป็นมาตรฐานเกิดการจัดการของเสียอย่างยั่งยืนโดยความร่วมมือจากทั้งผู้ก่อกำเนิดกากของเสีย รวมถึงผู้รับบำบัดและกำจัดกากของเสีย ซึ่งในปี 2562 กรอ. ได้พัฒนาระบบอนุญาตอัตโนมัติ (AI : Artificial Intelligence) ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขออนุญาต นำสิ่งปฏิกูลออกนอกบริเวณโรงงาน (สก.2) ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกรวดเร็วและลด ขั้นตอนการดำเนินงานให้แก่ผู้ประกอบการ

ทั้งนี้ กรอ. ยังคงเร่งผลักดันโรงงานให้มีการพัฒนามาตรฐานเพื่อ เข้าสู่ระบบการอนุญาตอัตโนมัติ ภายใต้หลักเกณฑ์ที่กำหนดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การบริหารจัดการของเสีย เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 27 กันยายน 2564

เกษตรฯ ดันแผนขับเคลื่อนโลจิสติกส์-โซ่อุปทานภาคเกษตร รองรับเปิดเส้นทางรถไฟสายลาว-จีน ปลายปี 2564

การเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟสายลาว-จีนอย่างเต็มรูปแบบในระยะยาว จะเป็นโอกาสที่ดีของไทย ทำให้มีทางเลือกในการขนส่งสินค้าไปยังจีนได้มากขึ้น และคาดว่า จะทำให้การส่งออก-นำเข้าของทั้งลาวและจีน ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึง เตรียมพร้อมเพื่อผลักดันในช่องทางการค้าดังกล่าว

นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เพื่อรองรับการเปิดเส้นทางรถไฟสายลาว-จีน ปลายปี 2564 กระทรวงเกษตรฯ จึงได้ขับเคลื่อนโลจิสติกส์เกษตรของประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอำนวยความสะดวกด้านการส่งออก-นำเข้าสินค้าเกษตรไปยังต่างประเทศหรือประเทศที่สาม เช่น การพัฒนาระบบ National Single Window (NSW) ร่วมกับกรมศุลกากร และการปรับลดขั้นตอนในการนำเข้าส่งออกของหน่วยงานในสังกัด ทั้งกรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ที่ยุ่งยากออกไป โดยปัจจุบัน กษ.สามารถเชื่อมโยงข้อมูลและพัฒนาธุรกรรมที่ให้บริการผ่านระบบ NSW ได้ 117 ธุรกรรม จากทั้งหมด 143 ธุรกรรม คิดเป็น 81.82% และสามารถปรับลดขั้นตอนการทำงานสำหรับสินค้ายุทธศาสตร์ น้ำตาล ข้าว ยางพารา สินค้าแช่แข็งและวัตถุอันตราย ได้ 66 รายการ จากทั้งหมด 74 รายการ คิดเป็น 89.19% ส่วนที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ได้กำชับให้หน่วยงานเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในปี 2564 เพื่อสามารถให้บริการแก่ผู้ประกอบการได้ทันทีเมื่อมีการเปิดให้บริการรถไฟสายลาว-จีน

การขับเคลื่อนงานโลจิสติกส์ของ กษ. ดังกล่าว สอดคล้องกับแนวทางการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟสายลาว-จีน ซึ่งเป็นความตั้งใจของรัฐบาลภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) ซึ่งมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นกรรมการในชุดนี้

โดยล่าสุดการประชุมคณะกรรมการ กบส. เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2564 ได้เห็นชอบกรอบแนวทางการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟสายจีน-ลาว และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) และแนวทางการพัฒนาระยะเร่งด่วนให้พร้อมเปิดให้บริการภายในเดือนธ.ค. 2564 รวมทั้งระยะปานกลาง และระยะยาวในช่วงที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระยะยาวยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ

“ในฐานะที่ผมเป็นประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบโลจิสติกส์การเกษตร ในการประชุมเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการใน 3 เรื่อง เพื่อลดปัญหาอุปสรรคในการขนส่งสินค้าเกษตร ที่อาจยุ่งยากกว่าเมื่อเทียบกับสินค้าประเภทอื่น ได้แก่ 1.เร่งพัฒนาระบบ NSW และปรับลดขั้นตอนในการนำเข้าส่งออกของหน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ 2.จัดตั้งคณะทำงานจัดทำแผนการเตรียมความพร้อมรองรับการให้บริการเส้นทางรถไฟสายไทย-ลาว-จีน ระยะเร่งด่วน-ปานกลาง-ยาว เพื่อรองรับการเปิดให้บริการในสิ้นปี 2564 และเตรียมความพร้อมไว้ระหว่างรอการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้แล้วเสร็จในระยะยาว และ 3.เร่งเจรจาเพื่อลงนามในพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการ กักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ไทยผ่านประเทศที่สาม เพื่อสามารถให้บริการได้ภายใน สิ้นปี 2564″

และเนื่องจากสินค้าเกษตรมีความหลากหลายแตกต่างกันในแต่ละชนิดสินค้า ซึ่งมีเงื่อนไขหรือข้อจำกัด แบ่งออกเป็น 2 มิติ คือ 1.มิติต้นทุน กรณีส่งออกผลไม้สดจะมีเรื่องของการสูญเสียระหว่างขนส่งมากกว่าสินค้าแปรรูป ซึ่งความสดใหม่และการเน่าเสียจะง่ายกว่า จำเป็นต้องใช้เทคนิคในการบรรจุภัณฑ์เพื่อป้องกันการกระแทก และรักษาคุณภาพของผลผลิตมากกว่าสินค้าแปรรูป และ 2.มิติเวลา กรณีส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปแช่แข็ง จำเป็นต้องใช้การขนส่งที่เหมาะสมด้วยระบบ cold chain เข้ามาช่วยรักษาคุณภาพของสินค้า ให้ไม่เกิดการเน่าเสีย

นอกจากนี้ จากปัญหาสำคัญของการส่งออกสินค้าเกษตรผ่านเส้นทางรถไฟลาว-จีน ยังมีข้อจำกัด เนื่องจากสินค้าที่ส่งออกทางรางจากด่านหนองคายจะไปสุดปลายทางที่ท่านาแล้ง สปป.ลาว ซึ่งยังไม่เชื่อมต่อจุดที่ขนส่งทางรางไปยังจีน ดังนั้น สินค้าจะต้องถูกเปลี่ยนถ่ายจากรถไฟไปสู่รถบรรทุกขนส่ง ณ ท่านาแล้ง สู่สถานีคำสว่างของลาว ระยะทาง 15-20 กม. ถึงจะเปลี่ยนถ่ายจากรถบรรทุกขนส่งไปยังรถไฟก่อนส่งต่อไปยังจีนได้ ซึ่งการเปลี่ยนถ่ายสินค้าจากรถไฟ-รถบรรทุก-รถไฟ จะต้องใช้ระยะเวลาในการขนถ่าย ซึ่งหากบริหารจัดการไม่ดี จะเป็นปัญหาของการขนส่งสินค้าเกษตรที่เน่าเสียง่าย เรื่องนี้จึงเป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลไทย-ลาว-จีน ต้องหารือเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อไป ทั้งนี้ เกษตรกรผู้ผลิตและผู้ประกอบการส่งออกสินค้าเกษตร ต้องเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดเส้นทางรถไฟสายลาว-จีน

ในส่วนของเกษตรกรผู้ผลิต ควรเน้นในเรื่องการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพได้ มาตรฐานการส่งออก ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญและส่งเสริมเรื่องนี้มาโดยตลอด ส่วนการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการส่งออกสินค้าเกษตร ในระยะแรกที่เปิดให้บริการเส้นทางรถไฟ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องศึกษาความ คุ้มค่าในการส่งออกสินค้าเกษตรผ่านเส้นทางดังกล่าวให้รอบคอบ เนื่องจากมีจุดที่ขาดการเชื่อมโยง Missing link ระยะทาง 15-20 กม. ซึ่งจะต้องมีการเปลี่ยนถ่ายสินค้าตามที่กล่าว

สรุปคือการเปิดเส้นทางรถไฟสายลาว-จีน เป็นโอกาสที่ดีสำหรับการค้าสินค้าเกษตรไทยไปยังจีน เนื่องจากที่ผ่านมา จีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญอันดับที่ 1 ของไทย โดยเมื่อปี 2563 ไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรไปจีน 314,956 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.8% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีมูลค่า 281,577 ล้านบาท สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปจีน ได้แก่ ยางธรรมชาติ ผลไม้และผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ/สัตว์ ข้าวและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น และมีมูลค่าการนำเข้าสินค้าเกษตรจากจีนมายังไทย 53,422 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.9% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีมูลค่า 52,944 ล้านบาท สินค้านำเข้าที่สำคัญจากจีนมายังไทย ได้แก่ ผลไม้และผลิตภัณฑ์ ผักและผลิตภัณฑ์ พืชอาหาร และน้ำตาลและผลิตภัณฑ์

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 27 กันยายน 2564

มองโอกาสไทยในสมรภูมิเดือดศึกการค้าโลก

ท่ามกลางสถานการณ์ ดุลอำนาจระหว่างมหาอำนาจใหม่อย่างจีนกับมหาอำนาจเดิมอย่างสหรัฐที่ปรากฏเป็นการตอบโต้แข่งขันทั้งทางการเมืองระหว่างประเทศและการค้า จุดยืนของประเทศไทยควรจะไปในทิศทางใดให้เกิดประโยชน์สูงสุด นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ ประธานสภาวัฒนธรรมไทยจีนและการส่งเสริมความสัมพันธ์ ได้ตอบคำถาม กับ เพื่อให้ทัศนะในประเด็นดังกล่าว

-ในฐานะประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ มองสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างจีนสหรัฐส่งผลอะไรกับภูมิภาคและประเทศไทย

พินิจ : แน่นอนปัญหาสงครามทางการค้า ความขัดแย้งในพื้นที่ทะเลจีนใต้ วิกฤติแพร่ระบาด covid 19 และสงครามวัคซีน มหาอำนาจจะมีการต่อสู้แย่งชิงพื้นที่และหาพันธมิตรจากประเทศต่างๆ ทำให้ได้รับผลกระทบ ต่อประเทศในอาเซียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้แต่การเสนอความช่วยเหลือให้วัคซีน ก็ยังมีการเมืองเข้าไปแทรกในองค์การอนามัยโลก แทรกแซงงานวิจัยการต่างๆ และมีการกล่าวหากัน

"ตัวอย่างการกล่าวหากันเรื่องไวรัส covid-19 ข้อเท็จจริงปรากฏว่าหน่วยงาน CDC ของสหรัฐมีการยื่นจดสิทธิบัตรเรื่องไวรัสโคโรน่า ซึ่งเป็นการเปิดเผยจากบริษัทในประเทศอังกฤษ โดยดรเดวิด มาร์ติน แข่งบริษัท IQ100 covid-19 มันเป็นเรื่องของหลักวิทยาศาสตร์ ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนก็บอกว่าไม่ควรยึดเหตุการระบาดครั้งนี้เป็นเรื่องของการเมือง ควรยึดถือตามหลักทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์"

การครบรอบ 100 ปีพรรคคอมมิวนิสต์ที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างจากอดีตที่ประเทศจีน ตกอยู่ในสภาพการณ์ถูกเข้าไปรุกรานแย่งชิงผลประโยชน์โดยประเทศมหาอำนาจทั้ง 8 ซึ่งก็กลายมาเป็น G7 ในทุกวันนี้ จนมาสู่ประเทศจีน ที่ประสบความสำเร็จแทบทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจสังคมวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีจนสามารถส่งจรวดไปถึงดาวอังคาร สามารถสร้างประชาชน ประชาคมที่มีความรู้ ความรับผิดชอบสติปัญญา จนยกระดับประเทศมาทัดเทียมมหาอำนาจของโลก ประชาชนอยู่ในสถานะผู้ร่ำรวยปานกลาง หลุดพ้นจากความอดอยาก ระบบการศึกษากระจายไปทั่วทุกภูมิภาค

-เมื่อจีนกับสหรัฐยกระดับขึ้นมาเป็นมวยรุ่นเดียวกัน ภาษิตไทยบอกว่าพญาช้างสารชนกันหญ้าแพรกแหลกลาน แต่ภาษิตจีนบอกว่า คำว่าวิกฤต ประกอบด้วยคำ 2 คำคือ "อันตราย" และ "โอกาส" ท่านมองสถานการณ์ของประเทศไทยเป็นอย่างไหน

พินิจ : มองมุมว่าเราต้องแปรวิกฤตเป็นโอกาสของประเทศไทยให้มาก แต่ประโยชน์ที่เราได้รับนี้ต้องตั้งอยู่บนความถูกต้อง อย่าให้เหมือนอดีตที่ให้ประเทศมหาอำนาจมาตั้งฐานทัพในประเทศ ไปถล่มประเทศเพื่อนบ้านด้วยอาวุธร้ายแรงและอาวุธเคมี

-ความเข้มแข็งของประเทศจีนอันก่อให้เกิดดุลอำนาจกับสหรัฐจะเป็นการบีบให้ประเทศในอาเซียนต้องเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือไม่

พินิจ : เวลานี้ประชาชาติอาเซียนก็ไม่มีประเทศไหนแล้วที่เข้าข้างสหรัฐหรือจีนอย่างเต็มที่ ทุกประเทศก็ต้องดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน อย่างเสมอภาคเท่าเทียมให้เกียรติด้วยความเคารพต่อกัน ขึ้นกับแต่ละประเทศว่ามีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร บางประเทศอาจจะใกล้ชิดกับสหรัฐมากกว่าเพราะมีประวัติศาสตร์ หรือการค้าที่ต่อเนื่องมายาวนาน แต่บางประเทศอาจจะมีดินแดนที่ติดต่อกับประเทศจีน ประกอบกับ คนจีนกว่า 800 ล้านคนใน 1,400 ล้านคนเป็นคนที่มีกำลังซื้อ มีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคจำนวนมาก เขาก็ต้องค้าขายกับจีนแต่ไม่ใช่ว่าจะต้องไปเป็นลูกน้องจีน หรือเมืองขึ้นของจีนแต่เป็นประเทศคู่ค้า

ประเทศไทยเราเองก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีทั้งสายสัมพันธ์ทางสายเลือด จนผู้ใหญ่ 2 ประเทศพูดเหมือนกันว่า "จีนไทยไม่ใช่อื่นไกลพี่น้องกัน" มีประเพณีวัฒนธรรมอาหารการกินและอีกหลายอย่างที่ใกล้เคียงกัน มีสินค้าทางการเกษตรที่ประเทศจีนต้องการอย่างมาก

- ความใกล้ชิดเชิงวัฒนธรรมระหว่างไทยกับจีนทำให้ไทยได้เปรียบประเทศอื่นในอาเซียนอย่างไรบ้าง

พินิจ : อย่างแรกที่เห็น ผู้นำจีนไม่เคยพูดกับประเทศอื่นเหมือนประเทศไทยว่าเป็นครอบครัวเดียวกัน เพราะมีความจริงจากความผูกพันทางสายเลือดมีญาติพี่น้องเชื่อมโยงกัน 2 ประเทศ คนจีนก็อพยพมายังประเทศไทยมากที่สุดกว่าประเทศอื่นในอาเซียน จุดนี้ทำให้เมื่อต่างมีความเดือดร้อนก็จะช่วยเหลือกัน ยามไทยมีวิกฤตเศรษฐกิจ จีนก็ให้การช่วยเหลือวิกฤตโรคระบาดจีนก็ส่งวัคซีนและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์มา ยามจีนประสบภัยทางธรรมชาติบางพื้นที่ ไทยก็ส่งความช่วยเหลือไปทั้งในแง่อาหาร ข้าวสาร ยาและหน่วยแพทย์ไปร่วมช่วยเหลือ

- อานิสงส์จากข้อได้เปรียบเชิงวัฒนธรรมส่งผลมาถึงการค้าและธุรกิจอย่างไร

พินิจ : สินค้าทางเกษตรของไทยชาวจีนชอบมากไม่ว่าจะเป็นทุเรียนส้มโอ กล้วยมังคุด เงาะ ตลอดจนยางพารา ปีที่ผ่านมาเปิดการค้าล็อตแรกราคาทุเรียน 155 บาทต่อกิโล จน ปิดช่วงทุเรียนวายแล้วยังอยู่ที่ 97 บาทต่อกิโลซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน แค่ทุเรียนตัวเดียวก็ทำเงินจากประเทศจีน 50 ล้านบาทในปีที่ผ่านมาแม้แต่สถานการณ์ covid ระบาดก็ทำอะไรเราไม่ได้ นี่ยังไม่รวมโภคภัณฑ์อาหารอื่นๆทั้งหมูไก่ วัว อาหารทะเล

นอกจากนี้การท่องเที่ยวระหว่างจีนกับไทยก้าวกระโดดมากกว่าสถานการณ์ covid จะเห็นว่านักท่องเที่ยวจีนมีจำนวนมากที่สุด ใช้จ่ายมากที่สุด มาประเทศไทยจำนวนมาก ซึ่งทั้งหมดก็เป็นการเกิดดอกออกผลของวัฒนธรรมจากการกินอยู่ที่ใกล้ชิดคล้ายคลึงกัน คนจีนมาประเทศไทยก็รู้สึกว่าเหมือนอยู่บ้านมีความสบายใจรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย

- สถานทูตจีนนับตั้งแต่เอกอัครราชทูตลงมาจนถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงมีการปรับเปลี่ยนหมุนเวียนหลายตำแหน่ง ประกอบกับมีการแถลงการณ์ตอบโต้กรณีการด้อยค่าวัคซีน sinovak ของจีนก่อนหน้านี้ ทำให้มีการจับตามองว่ากำลังดำเนินนโยบายยุคใหม่ที่เป็นสายแข็งกร้าวหรือสายเหยี่ยวต่างจากสายพิราบในอดีตหรือไม่

พินิจ : การปรับเปลี่ยนระดับเอกอัครราชทูตหรือผู้นำเจ้าหน้าที่พูดในฝ่ายต่างๆ นั้นเป็นเรื่องปกติเมื่อครบรอบวาระแต่ครั้งนี้ในประเทศไทย อดีตทูต หรู่ เจี้ยน เกิดป่วยกะทันหัน การปรับเปลี่ยนจึงใช้เวลาจนวันนี้มีเอกอัครราชทูตจีนคนใหม่แล้ว เชื่อว่านโยบายจีน ยุทธศาสตร์จีน อุดมการณ์จีนต่อนานาชาติก็คงยังเหมือนเดิม ท่านทูตคนนี้ก็คงไม่ใช่สายเหยี่ยวหรือสายพิราบแต่เป็นสายของพรรคคอมมิวนิสต์จีน รับยุทธศาสตร์การต่างประเทศของรัฐบาลจีนมา ซึ่งได้ประกาศต่อนานาชาติไว้ว่า จะสร้างสันติภาพบนความสงบสุข อยู่ร่วมกันอย่างแบ่งปัน ผูกมิตรสัมพันธ์ไมตรีความร่วมมือกับทุกประเทศ ลดความขัดแย้ง ลดการแย่งชิง ลดสงคราม

- จากที่เป็นคนไทยกลุ่มแรกๆ ที่ได้พูดคุยกับ ท่านทูตจีนคนใหม่ Han Zhiqiang มองบุคลิกภาพของทูตคนใหม่พรุ่งนี้เป็นอย่างไร แตกต่างจากท่านอื่นอย่างไร

พินิจ : เป็นการได้พูดคุยผ่านแอปพลิเคชั่น Zoom ซึ่งจัดโดยสภาวัฒนธรรมไทยจีนฯ ซึ่งเป็นประเพณีที่มีการจัดงานต้อนรับเมื่อมีทูตจากประเทศต่างๆ ท่านใหม่มา สำหรับท่านทูตจีนคนใหม่ก็เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีประวัติเคยรับหน้าที่สำคัญในหลายประเทศโดยเฉพาะที่ญี่ปุ่น เคยเป็นทีมงานของอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศจีน ติดตามไปร่วมประชุมระดับโลกยังประเทศต่างๆ จำนวนมาก

- มีการมองมุมตรงข้ามว่าจีนกำลังพยายามรุกหนักในเชิงวัฒนธรรม ในภูมิภาคอาเซียนเพื่อต่อกรกับสหรัฐ ในรูปแบบของ Soft Power

พินิจ : โดยธรรมชาติแล้ว เรื่องวัฒนธรรมมันยัดเยียดหรือส่งออกไม่ได้มันขึ้นกับแต่ละประเทศ แต่ละสังคม แต่ละชุมชนจะรับหรือไม่รับ จุดสำคัญอยู่ที่วัฒนธรรมนั้นมีคุณค่าต่อสังคมต่อมวลมนุษย์หรือไม่ เป็นวัฒนธรรมที่สร้างสรรค์ทำให้มีความสุขไม่มีพิษมีภัยต่อครอบครัว ต่อสังคมหรือไม่ การเผยแพร่วัฒนธรรมจึงเป็นเรื่องธรรมดาของคนทั่วโลกยิ่งเป็นประเทศใหญ่ที่มีวัฒนธรรมเป็นจุดแข็ง ยังประเทศจีนที่มีประวัติศาสตร์ 5-6 พันปี วัฒนธรรมของเขาก็แข็งแกร่งมาตลอด ไม่ว่าวัฒนธรรมด้านอาหารประเพณีศิลปะการแสดง ก็เป็นวัฒนธรรมที่ทำให้คนมีความสุข

ยิ่งพูดถึงด้านภาษาและการศึกษาจะพบว่าไม่เฉพาะคนไทยแต่คนทั่วโลกต่างก็ตื่นตัวในการเรียนภาษาจีนอย่างมาก ทุกวันนี้นอกจากภาษาของตนเองแล้วยังต้องรู้ภาษาอังกฤษและภาษาจีน อย่างสภาวัฒนธรรมไทยจีนฯ เองก็ได้รับทุนการเรียนภาษาจีนทางออนไลน์ 80 ทุนเปิดรับสมัคร 15 วันสมัครมาถึง 480 คน มากกว่าในอดีต 2-3 เท่า เพราะถ้าไม่รู้ภาษาจีนก็ค้าขายกับจีนไม่ได้ นักท่องเที่ยวจีนมาติดต่อเคาน์เตอร์ถ้าพูดจีนไม่ได้ก็จบ ที่บอกว่าจีนบุกเข้ามามันไม่ใช่มันเป็นการเรียกร้องจากความต้องการของคนในสังคม แม้แต่ในเวียดนามในญี่ปุ่นคนก็แย่งกันเรียนภาษาจีน ที่เมืองโยโกฮาม่าโรงเรียนสอนภาษาจีนมีคิวสมัครเต็มยาวไปถึง 5 ปี

- ประเทศไทยควรจะเตรียมพร้อมรับกับการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวและนักลงทุนจากจีนอย่างไรในช่วงที่กำลังปิดประเทศอยู่ขณะนี้

พินิจ : ขอให้โฟกัสไปเป็นเรื่องเรื่องวิเคราะห์ยกระดับให้มีคุณภาพมากขึ้น เช่นการท่องเที่ยวและการบริการ ความเหมาะสมของราคากับคุณภาพการดูแลความปลอดภัยจากโจรผู้ร้าย

หรือการส่งออกสินค้าทางเกษตรไปจีนต้องนึกถึงคุณภาพของการดูแลสินค้า ให้มากขึ้นดูตัวอย่างของประเทศญี่ปุ่น เขาต้อง ทำความสะอาดทีละลูก ทุเรียน ลำใยไทยก็เหมือนกันไม่ควรจะไปพร้อมกับราแป้งและหนอนแมลง ต้องสอนเกษตรกรให้เน้นคุณภาพรวมทั้งเรื่องแพคเกจจิ้ง และหน่วยงานของรัฐก็ต้องทำอย่างจริงจังลดสินค้าปนเปื้อนให้มากที่สุด ทุกเรื่องต้องมีคนรับผิดชอบและประสานกับจีน

ส่วนนักลงทุนจีนที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยก็ต้องมีการดู โรงงานที่นำเข้าสินค้าที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เราก็ต้องไม่ให้เอาเข้ามา โรงงานที่มีสารพิษมีการปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อมก็ต้องไม่ให้เข้ามาตั้ง ไม่ใช่อะไรก็รับมาทั้งหมด ยิ่งมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องก็ผ่านได้หมด

ในฐานะที่ผมเป็นประธานสภาวัฒนธรรมไทยจีนฯ ก็ไม่ได้หมายความว่าผมต้องเป็นศัตรูกับสหรัฐกับญี่ปุ่นหรือประเทศอื่นๆ เราเป็นมิตรกับทุกประเทศ แถมยังมีความเป็นมิตรกับทุกประเทศเต็มที่ ถ้าอยากให้ช่วยทำอะไรในเชิงของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็ยินดี ที่จะทำให้เกิดเป็นประโยชน์ระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศ บนพื้นฐานของความเสมอภาคความเคารพเท่าเทียมกัน ตรงไปตรงมาไม่เบียดเบียนเอาเปรียบใส่ร้ายป้ายสีรุกรานต่อกัน

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 27 กันยายน 2564

อาเซียน-สหรัฐฯ เคาะแผน ความร่วมมือการค้าการลงทุนฉบับใหม่

อาเซียน-สหรัฐฯ เห็นชอบแผนงานความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน ฉบับใหม่ พร้อมหนุนการเข้าถึงยาและวัคซีนอย่างเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ  ด้านเอกชนสหรัฐฯ พร้อมยื่นมือช่วยอาเซียนสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล พัฒนาผู้ประกอบการ SMEs เพื่อฟื้นฟูภาคธุรกิจจากผลกระทบของโควิด

นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้เข้าร่วมการประชุมระหว่างรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนกับผู้แทนการค้าสหรัฐฯ โดยที่ประชุมให้ความเห็นชอบแผนงานความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ ฉบับใหม่ สำหรับปี 2564–2565 ซึ่งครอบคลุมความร่วมมือที่สำคัญ อาทิ การค้าดิจิทัล การอำนวยความสะดวกทางการค้า การเชื่อมโยงระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน การส่งเสริม SMEs และความร่วมมือด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อม

โดยจะมีกิจกรรมความร่วมมือที่น่าสนใจ เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ การพัฒนาความพร้อมให้กับ SMEs ในการประกอบธุรกิจออนไลน์ และการส่งเสริมมาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งคาดว่าแผนงานดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนให้อาเซียนเกิดการปรับตัวและฟื้นฟูทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ซึ่งไทยได้เน้นย้ำในที่ประชุมว่า ความร่วมมือระหว่างอาเซียนและสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิดเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับพหุภาคี โดยเฉพาะการปรับปรุงระบบขององค์การการค้าโลก

ทั้งนี้อาเซียนและสหรัฐฯ เข้าใจถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน และมุ่งมั่นที่จะเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยจะดำเนินนโยบายด้านการค้าและการลงทุนที่เปิดกว้าง ขยายความร่วมมือด้านการค้าดิจิทัล และมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นถึงความสำคัญในการร่วมมือเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงยาและวัคซีนที่มีคุณภาพ ตลอดจนยึดมั่นในกติกาการค้าโลกที่โปร่งใส เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติตามหลักการขององค์การการค้าโลก

“ภาคเอกชนของสหรัฐฯ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งภาคเอกชนของสหรัฐฯ พร้อมที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับสมาชิกอาเซียน โดยจะให้ความสำคัญกับการจัดการห่วงโซ่การผลิต การพัฒนาและสร้างมาตรฐานแก่เศรษฐกิจดิจิทัล และการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ของอาเซียน ผ่านโครงการ ASEAN SME Academy เพื่อช่วยฟื้นฟูของภาคธุรกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19”

ทั้งนี้ ในช่วงมกราคม-กรกฎาคม 2564 การค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ มีมูลค่ารวม 31,725.67 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.41% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการส่งออกจากไทยไปสหรัฐฯ มูลค่า 23,442.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 21.23% และนำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 8,283.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 16.57% สินค้าส่งออกจากไทยไปสหรัฐฯ อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เหล็ก และเหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และสินค้าที่ไทยนำเข้าจากสหรัฐฯ อาทิ น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 26 กันยายน 2564

ส่งออกพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย โต 10-20% เร่งตัดสินใจ CPTPP

ในงานสัมมนา “ปลุกพลังส่งออก พลิกเศรษฐกิจไทย” ซึ่งจัดโดย “มติชน” เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เริ่มต้นด้วยการปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ความหวังส่งออกไทย ในมรสุมโควิด” โดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ให้ความมั่นใจ “การส่งออก” จะเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างแน่นอน แม้ว่าปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะทุบรายได้ในส่วนของการท่องเที่ยววูบไปแล้ว แต่ไทยยังมีรายได้จากการส่งออกเป็นอีกขาที่มาช่วยพยุง

โดยในช่วง 7 เดือนแรก (มกราคม-กรกฎาคม 2564) ไทยส่งออกไปแล้ว คิดเป็นมูลค่า 154,985 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโต 16,20% สูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 4 เท่า และช่วงโค้งสุดท้ายเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ แม้ภาคการผลิตจะได้รับผลกระทบจากปัญหาล็อกดาวน์

แต่ยังมีโอกาสที่การส่งออกจะเติบโต 2 หลัก และจะดีต่อเนื่องไปถึงปี 2565 ซึ่งเป็นผลมาจากกระทรวงพาณิชย์ได้ใช้นโยบาย “รัฐหนุน เอกชนทำ” มีการตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน หรือ “กรอ.พาณิชย์” เข้าช่วยแก้ไขปัญหาและลดอุปสรรคในหลายด้าน อาทิ ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์, ค่าระวางเรือแพง, ปัญหาต้นทุนการผลิตจากวัตถุดิบ

แต่ไทยต้องเตรียมพร้อมเพื่อรักษาการส่งออก ไม่ว่าจะเป็นการรับมือการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น การใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีมากขึ้น ทั้งด้านแรงงาน-สิ่งแวดล้อมที่จะรุนแรงขึ้นในอนาคต และที่สำคัญก็คือ ไทยต้องรับมือปม “การเมืองระหว่างประเทศ” ที่มาผูกโยงกับการค้าระหว่างประเทศ

ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งในประเทศอินโด-แปซิฟิกระหว่างสหรัฐ สหภาพยุโรป และออสเตรเลีย นำมาสู่การตัดสินใจเข้าร่วม “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP)” ของจีนล่าสุด

“การที่จีนประกาศเข้าร่วมความตกลง CPTPP สะท้อนว่า การเมืองเริ่มผูกติดกับเศรษฐกิจ-การค้าโลก เป็นสิ่งที่ต้องติดตามเพราะหากมีการเปลี่ยนแปลงย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออก จากนี้จีนจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนมาตรการผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับมาตรฐานใหม่

เราส่งออกไปจีนจะต้องปรับเปลี่ยนมาตรฐานหรือไม่ ถ้าเราเข้าร่วม CPTPP นั่นเป็นสิ่งที่เราต้องเตรียมรับมือ เพราะโลกเปลี่ยนไปเร็วมาก” นายจุรินทร์กล่าว

ล่าสุดการส่งออกไทยในเดือนสิงหาคม มีมูลค่า 21,976.23 ล้านเหรียญ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.93 แม้ว่าจะชะลอตัวลงจากเดือนกรกฎาคมจากผลกระทบโควิด-19 รอบใหม่ “แต่ก็ยังถือว่าทำได้ดี” ส่วนการส่งออกในช่วง 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค. 2564) มีมูลค่า 176,961.71 ล้านเหรียญ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.25 ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 4%

CPTPP จะเอาอย่างไร

ด้าน ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย นายกกิตติคุณสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวถึงภาพรวมการส่งออกของไทยนั้น “ดีขึ้น และมีโอกาสเติบโต 10-20%” จากความต้องการซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น บาทอ่อน แต่ไทยยังประสบปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์อยู่

แต่สิ่งที่น่าห่วงที่สุดก็คือ ไทยไม่มี “National Agenda” ดังนั้น ต้องมี “ทีมไทยแลนด์” เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ประเทศ ไม่ต้องเปรียบเทียบคู่แข่ง แต่ไทยต้องมียุทธศาสตร์ของเราปักหมุดให้ชัดเจนว่า ต้องการอะไร เพราะขณะนี้มีประเด็นความขัดแย้ง (conflic of interest) ในประเทศตลาดหลักส่งออกเกิดขึ้น

รวมไปถึงการที่ประเทศไทยไม่ตัดสินใจว่า จะเข้าร่วมความตกลง CPTPP หรือความตกลงอะไรเลยหรือไม่ อย่างไร ในขณะที่ “เวียดนาม” เซ็นเข้าร่วมไปแล้วทุกความตกลง ไม่ว่าจะ FTA เวียดนาม-สหภาพยุโรป, CPTPP และยิ่ง “จีน” เข้าร่วม CPTPP ก็ยิ่งเป็น “เสือเหยียบเมฆ” ทำให้ความตกลง RCEP ที่ไทยเข้าร่วมนั้น “เสียราคาไปเลย”

“การคำนึงถึงภาคเกษตรเป็นเรื่องถูกต้อง เพราะประชากรภาคเกษตรมี 11 ล้านครอบครัว รวม 30 ล้านคน ถ้าเกษตรอยู่ได้ ประเทศเราจะสบาย แต่การเข้าร่วมความตกลง CPTPP เป็นหน้าที่ที่ภาครัฐต้องอธิบายประชาชนให้เข้าใจว่า มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร เมื่อเข้า CPTPP ไปแล้ว

รัฐต้องเตรียมรับมืออย่างไร มีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างไร หากจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนอาชีพก็ต้องทำ เพราะหากเราไม่เข้า CPTPP แบบประเทศอื่น ๆ การส่งออกของเราก็จะแข่งขันไม่ได้ สุดท้ายคนทำเกษตรส่งสินค้าให้ภาคส่งออกก็ต้องเดือดร้อนอยู่ดี” ดร.พจน์กล่าว

ตั้ง กรอ.รายอุตสาหกรรม

ขณะที่ นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า ในช่วงโค้งสุดท้ายปีนี้ส่งออกจะขยายตัว 10-12% แต่ยังไม่สามารถเทียบกับการส่งออกปีที่แล้ว (2563) ที่ติดลบ 16-18% ได้ ส่วนแนวโน้มการส่งออกปี 2565 จะมีความท้าทายอย่างมาก เพราะสถานการณ์ยังอยู่ในภาวะที่ต้องเฝ้าระวัง การจะฟื้นกลับมาใกล้เคียงกับปีก่อนที่โควิด-19 จะระบาด น่าจะเป็นไตรมาส 2 ของปี 2565

ทำให้บางบริษัทพบโอกาสในวิกฤต สามารถตั้งไลน์ผลิตใหม่ กลายเป็นธุรกิจใหม่ขึ้นมาได้ในเวลา 6 เดือน การปรับตัวเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินต่อเนื่อง ตอนนี้นิวนอร์มอลกลายเป็น นิว นิว นอร์มอล ไปแล้ว” นายยุทธนากล่าว

ดังนั้น ภาพที่อยากเห็นก็คือ รัฐบาลและเอกชนหารือร่วมกันเป็น กรอ.รายอุตสาหกรรม เพื่อวางยุทธศาสตร์วิจัยและพัฒนา ผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง อาจต้องลงทุนหลักร้อยล้านเพื่อพัฒนาห้องปฏิบัติการ ผลิตต่อยอดสินค้าคุณภาพสูงระดับหมื่นแสนล้าน ทดแทนการนำเข้าอย่างชุด PPE ต่อไปการแข่งขันได้จะต้องมีทั้งถูก เร็ว คุณภาพ ฟังก์ชั่น พร้อมบริการ

โดยสิ่งสำคัญก็คือ การใช้ประโยชน์จากกรอบข้อตกลงทางการค้า ทั้ง FTA ทวิภาคี และพหุภาคีได้ด้วย ยกตัวอย่าง หากผลิตสินค้าจากประเทศไทยส่งออกไปสหภาพยุโรป มีต้นทุนภาษี 16% แต่ถ้าผลิตที่เวียดนามภาษีเป็น 0% อย่างนี้แล้วจะทำให้ไทยแข่งขันได้อย่างไร

โอกาสหลังโควิดผ่อนคลาย

ด้าน ดร.การัณย์ อังอุบลกุล ประธานกรรมการ บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ โคราช จำกัด กล่าวว่า กลุ่มธุรกิจเครื่องใช้ในครัวและครัวเรือน ในปีที่ผ่านมาเติบโต 35% ซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้คนอยู่บ้านมากขึ้น มีการใช้สินค้าแวร์เฮาส์เพิ่มขึ้น ส่วนแนวโน้มไตรมาส 4/2564

คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่อง หากไม่มีการระบาดที่รุนแรงจะโตไม่ต่ำกว่า 30% จากอานิสงส์การรีฟิลสต๊อก ซึ่งออร์เดอร์ปลายปีนี้น่าจะเริ่มกลับมาคึกคัก จากที่ตลาดหลักในประเทศ ตลาดสหรัฐ-อังกฤษ ได้รับวัคซีนเป็นส่วนใหญ่ จึงเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ต้องทำงาน “เชิงรุก” โดยเฉพาะในประเทศที่เป็นคู่แข่ง ความท้าทายเรื่องสงครามการค้า (trade war) ไทยต้องเร่งเจรจาในแง่ของกฎระเบียบการค้า รวมถึงความท้าทายในเรื่องตู้คอนเทนเนอร์และค่าระวางเรือ ขอบคุณภาครัฐที่ช่วย เชื่อว่าจะทำให้สถานการณ์คลี่คลายได้ในอนาคต

“การปรับตัวของธุรกิจ ความจริงผู้ประกอบการทุกคนทราบดีถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทุกธุรกิจได้รับผลกระทบด้วยกันหมดทั้งโลก นี่จึงควรเป็นโอกาสหลายอย่าง ทั้งการสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กร องค์กรไหนยิ่งปรับตัวได้เร็วก็ยิ่งได้เปรียบ เช่น ปรับการขายออนไลน์ การพัฒนาอินโนเวชั่น โดยเฉพาะการใกล้ชิดกับลูกค้า การศึกษาถึงพฤติกรรมผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร” ดร.การัณย์กล่าว

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 25 กันยายน 2564

“จีน-อังกฤษ”ร่วม CPTPP กดดันไทยตัดสินใจ ไปต่อหรือหยุด

การค้าโลกร้อนแรงขึ้นมาอีกครั้ง หลังจีนยื่นสมัครขอเข้าเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2564 ทั่วโลกจับตามองจะเกิดอะไรขึ้นอย่างไรต่อไป

ก่อนหน้านี้ CPTPP หรือชื่อเดิมคือ TPP ริเริ่มโดยสหรัฐฯในสมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามา เป้าหมายเพื่อคานอำนาจจีนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก แต่มาเวลานี้จีนจะเข้าร่วม CPTPP เสียเองหลังสหรัฐฯถอนตัวออกไปในปี 2560 ในสมัยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (จร.) กระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เหตุผลที่แท้จริงของจีนในการขอเข้าร่วม CPTPP ครั้งนี้ คงตอบแทนจีนไม่ได้ แต่ถ้ามองในภาพรวมจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า การสมัครเข้าร่วม CPTPP ของจีนจะเป็นการเพิ่มพันธมิตร และขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนของจีนกับสมาชิก CPTPP ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของจีนในฐานะที่เป็นแหล่งวัตถุดิบ และฐานการผลิตที่สำคัญของโลก

อย่างไรก็ดี นอกจากจีนที่ยื่นสมัครเข้าเป็นสมาชิก CPTPP แล้ว ยังมีสหราชอาณาจักร (ยูเค/อังกฤษ) ที่ยื่นสมัครเข้าเป็นสมาชิก CPTPP แล้วเช่นกัน ดังนั้นในส่วนของไทยคงจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้ และคงต้องติดตามว่าการเจรจาจะมีความคืบหน้าและจะใช้เวลาในการเจรจารวดเร็วหรือยืดเยื้อแค่ไหน ซึ่งการเข้าร่วมของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เช่นจีน และสหราชอาณาจักร (กราฟิกประกอบ)  ทำให้ไทยจำเป็นต้องเร่งพิจารณาในเรื่องนี้

“การเข้าร่วมความตกลง CPTPP ของจีน ทำให้ความตกลงมีความน่าสนใจมากขึ้น เนื่องจาก CPTPP จะกลายเป็นตลาดที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมมาก  จากเดิมสมาชิก 11 ประเทศ มีประชากรรวมกันกว่า  500 ล้านคน มูลค่า GDP 10.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อนับรวมจีน จะส่งผลให้จำนวนประชากรในตลาด CPTPP ใหญ่ขึ้นเป็น กว่า 1,900 ล้านคน ( คิดเป็น 25% ของประชากรโลก)  มูลค่า GDP ประมาณ 25.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (30% ของ GDP โลก) ซึ่งเรื่องที่จีนสมัครเข้า CPTPP คงต้องเร่งประเมินประโยชน์ และผลกระทบต่อไทย เพื่อพิจารณาให้ทันท่วงที”

สหรัฐฯส่อหมดสิทธิ์คัมแบ็ก

ต่อคำถามที่ว่า ถ้าเป็นอย่างนี้สหรัฐฯก็ไม่มีสิทธิกลับเข้าร่วม CPTPP แล้วใช่หรือไม่ อธิบดีกรมเจรจาการค้าฯ กล่าวว่า เท่าที่ติดตามนโยบายของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ยังไม่เห็นกล่าวถึงการกลับมาเป็นสมาชิก CPTPP หลังสหรัฐฯถอนตัวไปตั้งแต่ปี 2560 สมาชิกที่เหลือ 11 ประเทศได้เดินหน้าสานต่อความตกลง โดยได้ถอดเรื่องที่สหรัฐฯผลักดันออกไป ทำให้ต้องประเมินใหม่ว่าสหรัฐฯยังเห็นว่า CPTPP มีความน่าสนใจหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เห็นสหรัฐฯแสดงความสนใจ

สำหรับ CPTPP ถือเป็นความตกลงการค้าเสรีระดับภูมิภาค ซึ่งมีสาระสำคัญคือเปิดเสรีในระดับสูง มีกฎระเบียบทางการค้าที่มีมาตรฐานสูง  ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม สิทธิแรงงาน ความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ และการพัฒนาที่ยั่งยืน

ปัจจุบันประเทศสมาชิก CPTPP ที่ให้สัตยาบันความตกลงแล้ว มี 8 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น  สิงคโปร์  เวียดนาม  ออสเตรเลีย  นิวซีแลนด์ แคนาดา เม็กซิโก และเปรู (ยังขาด ชิลี มาเลเซีย บรูไน ที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน) ทั้งนี้มีผลการศึกษาของสถาบัน CSIS (Center for Strategic and International Studies) พบว่า นับตั้งแต่ CPTPP มีผลใช้บังคับในปี 2561 ประเทศที่การส่งออกไปในกลุ่มสมาชิก CPTPP ด้วยกันขยายตัวในปี 2562 ได้แก่ เวียดนาม 7% ออสเตรเลีย 0.5% อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 ตัวเลขการส่งออกระหว่างสมาชิก CPTPP หดตัว  แต่ในส่วนของการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ในปี 2562-2563 ของเวียดนามขยายตัวถึง 7% โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากจีน และเกาหลีใต้

 ไทยไม่ถึงทางตัน

“ในส่วนของไทยจากสมาชิก  CPTPP ณ เวลานี้ที่มีอยู่ 11 ประเทศ ในจำนวนนี้ไทยมี FTA กับประเทศเหล่านี้แล้ว 9 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู ชิลี และ (สิงคโปร์ บูรไน มาเลเซีย และเวียดนาม ในกรอบอาเซียน ) ยังขาดเม็กซิโก กับแคนาดาที่ไทยไม่มี FTA ด้วย แต่ไทยก็อยู่ระหว่างเตรียมการที่จะเปิดเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดา ในเร็ว ๆ นี้ จึงถือได้ว่าไทยมีช่องทางในการเข้าสู่ตลาดประเทศ CPTPP ผ่าน FTA ที่มีอยู่”

อย่างไรก็ตาม CPTPP ที่รวมจีน จะมีความน่าสนใจในเรื่องขนาดตลาด และการเชื่อมโยงกับประเทศสมาชิกผ่านห่วงโซ่มูลค่าระดับภูมิภาค (regional value chain) ซึ่งเป็นประเด็นใหม่ที่จะต้องนำมาพิจารณาว่าหากไทยไม่ได้เข้าร่วมจะเสียโอกาสในเรื่องนี้หรือไม่ และจะเสียความน่าสนใจในการดึงดูดการลงทุนไปให้ประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่ของ CPTPP หรือไม่

“ถ้าพิจารณาเฉพาะตลาดจีน ปัจจุบันไทยมี FTA กับจีนอยู่แล้วในกรอบอาเซียน-จีน และใน RCEP ที่จะมีผลใช้บังคับในต้นปีหน้า ซึ่งทั้งสองกรอบดังกล่าว จีนได้เปิดตลาด ลด และยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าส่งออกจากไทยแล้วกว่า 94.8% ของรายการสินค้าทั้งหมด แต่ใน CPTPP กำหนดให้สมาชิกต้องเปิดตลาดระหว่างกันให้มากที่สุด ไทยก็น่าจะได้ประโยชน์จากการที่จีนต้องเปิดตลาดเพิ่มเติมในสินค้าที่ยังไม่ได้เปิด รวมทั้งไทยเองก็ต้องเปิดตลาดเพิ่มเติมให้จีนด้วย”

สำหรับการพิจารณาเรื่อง CPTPP ของไทย เป็นเรื่องที่หลายภาคส่วนติดตามและให้ความสนใจ จึงถูกยกระดับการพิจารณา เรื่องนี้ไปที่คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ซึ่งมีกรรมการเป็นผู้แทนระดับสูงจากหลายหน่วยงานทางเศรษฐกิจมาช่วยพิจารณาให้รอบด้าน  ไม่ใช่กระทรวงพาณิชย์กระทรวงเดียว ซึ่งปัจจุบันเรื่องยังอยู่ระหว่างการดำเนินการของกนศ.

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 24 กันยายน 2564

สกสว. กรมการค้าระหว่างประเทศ หน่วยบริหารจัดและจัดการทุน จับมือ พร้อมหนุนสินค้านวัตกรรมการเกษตรด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม

เมื่อเร็วๆนี้ นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในกิจกรรม Agri-Tech Innovation Connection 2021 : นวัตกรรมสินค้าเกษตรไทยแห่งอนาคต ที่จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนการยกระดับสินค้าเกษตรไทยให้เติบโตก้าวสู่การค้าสากล ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมอย่างยั่งยืน โอกาสนี้ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง นายชุตินันท์ สิริยานนท์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และดร.กริชผกา บุญเรื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรมสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) เพื่อแสดงเจตจำนงค์ในร่วมกัน ขับเคลื่อนสนับสนุนการพัฒนาสินค้านวัตกรรมการเกษตรผ่านการวิจัยและพัฒนา

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การจัดงานในวันนี้ถือเป็นกิจกรรมที่กรมการค้าต่างประเทศ มุ่งดำเนินการตามยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” ตามที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้เร่งดำเนินการเพิ่มเติม โดยได้วางแผนในการส่งเสริมและผลักดันการส่งออกสินค้าที่ตอบโจทย์เมกะเทรนด์ของโลก หลังจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากผลกระทบจากโควิด-19 โดยกรมการค้าต่างประเทศ มีความพร้อมอย่างยิ่งที่ จะสนับสนุนผู้ประกอบการ ผลักดันสินค้าเกษตรนวัตกรรมผ่านการกิจกรรมในวันนี้ ทั้งการให้คำปรึกษาจากนักวิจัย กิจกรรมจับคู่นักวิจัย ผู้ประกอบการ รวมถึงการสัมมนาให้ความรู้จากวิทยากรมากความสามารถ

ด้าน รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวแสดงความยินดีที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือของการทำงานกับกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมุ่งหวังในการส่งเสริมการทำวิจัยและการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เพื่อสนับสนุนการพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์การค้าของไทยและเสริมสร้างประสิทธิภาพการเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าของไทยด้วยวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม สำหรับการจัดงานในวันนี้ สกสว. ได้สนับสนุนในส่วนของการจัดกิจกรรม “Innovation Matching” พื้นที่ให้คำปรึกษาและจับคู่นักวิจัยกับผู้ประกอบการ โดยได้เชื่อมโยงกับหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัย อาทิเช่น สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. และ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) สนช. หรือ NIA สนับสนุนข้อมูลผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีศักยภาพทางการตลาด รวมถึงผู้เชี่ยวชาญนักวิจัยที่อยู่บนแพลตฟอร์ม Tech2Biz มาร่วมให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการที่สนใจที่จะพัฒนานวัตกรรมจากสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่ม ตอบความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ สกสว.หวังเป็นอย่างยิ่งว่า วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมของประเทศจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจ การค้า การบริการและการลงทุนของประเทศมีความเติบโตและยั่งยืน

ต่อมาในช่วงเวทีเสวนาออนไลน์ รศ.ดร.สุดสวาสดิ์ ดวงศรีไสย์ รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ สกสว. ได้กล่าวถึง “กลไกเชื่อมโยงงานวิจัยกับผู้ประกอบการ และมาตรการส่งเสริมการลงทุนวิจัยให้กับภาคเอกชน” ว่า ปัจจุบัน สกสว. และหน่วยงานภาคี ได้ร่วมกันพัฒนา National RU platform ที่มีชื่อว่า “Tech2Biz” (https://www.tech2biz.net/) ขึ้นเพื่อให้เป็นแพลตฟอร์มกลางที่เป็น one stop service ที่ให้บริการจับคู่ระหว่างนักวิจัยจากหน่วยงานต่างๆในระบบ ววน.กับผู้ประกอบการ แพลตฟอร์มดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนให้ทั้งนักวิจัยและผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงข้อมูลและเกิดการจับคู่เพื่อต่อยอดและนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปยกระดับกระบวนการหรือผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ

ทั้งนี้ในส่วนของ การผลักดันมาตรการส่งเสริมการลงทุนวิจัยให้กับภาคเอกชน ปัจจุบัน สกสว. ได้ร่วมกับ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ออก 2 มาตรการสำคัญ คือ 1. TBIR มาตรการที่ที่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนที่มีศักยภาพมารับทุนทำงานวิจัยและพัฒนา (RDI) ได้ โดยจะมีหรือไม่มีหน่วยงานร่วมวิจัยก็ได้ และ 2. TTTR มาตรการที่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมารับทุนทำวิจัย RDI เองได้ โดยต้องทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยหรือมหาวิทยาลัย เนื่องจากขาดอุปกรณ์ เครื่องมือ โครงสร้างพื้นฐาน หรือบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง นอกจากนี้ นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ปัจจุบัน ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. .… ผ่านความเห็นชอบจาก ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาแล้ว กฎหมายนี้จะให้สิทธิแก่ผู้รับทุน ได้มีโอกาสเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรม นับเป็นก้าวแรกที่ปลดล็อคความเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทยรวมถึงกระตุ้นให้ภาคเอกชนหันมาลงทุนวิจัยมากขึ้นอีกด้วย

จาก https://www.khaosod.co.th   วันที่ 24 กันยายน 2564

สถานการณ์การส่งออกต้องเผชิญสารพัดปัจจัยเสี่ยง

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยสถานการณ์การส่งออกของไทยว่า การส่งออกต้องเผชิญกับการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีอย่างรุนแรง และเข้มข้นขึ้น ซึ่งล้วนแต่เป็นมาตรการของประเทศพัฒนาแล้ว เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้า อีกทั้งประเทศมหาอำนาจยังจับกลุ่มกันเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า เช่นเดียวกับการเมืองเพื่อสร้างแต้มต่อ ภาครัฐ และภาคเอกชนจึงต้องร่วมมือกันหาแนวทางปรับตัวรับกับสถานการณ์ต่างๆในอนาคต ซึ่งมาตรการกีดกันทางการค้าที่ใช้แล้ว เช่น แรงงาน สิทธิมนุษยชน สุขอนามัย สิ่งแวดล้อม เป็นต้น และที่มาใหม่คือ การเก็บภาษีคาร์บอนกับสินค้านำเข้า โดยเฉพาะสินค้าที่มีกระบวนการผลิตที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก ที่สหภาพยุโรปจะนำมาใช้ในอีก 2 ปีกับ 5 สินค้าก่อน คือ เหล็ก อะลูมิเนียม ซีเมนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ปุ๋ย

นอกจากนี้ มีประเด็นที่สหรัฐฯ อังกฤษ ออสเตรเลีย จับมือกันตั้งไตรภาคีเพื่อความมั่นคงในอินโดแปซิฟิก และจีน ประกาศสมัครเข้าเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและก้าวหน้าภูมิภาคแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) อาจทำให้จีนต้องปรับเปลี่ยนกฎระเบียบ มาตรฐานการค้าที่จะกระทบต่อการส่งออกของไทยไปจีน เพราะจีนเป็นตลาดอันดับ 1 ของไทย ประเด็นต่างๆนี้เป็นประเด็นใหญ่ที่ภาครัฐและภาคเอกชนต้องวิเคราะห์ เพื่อให้ทราบว่า เราต้องยืนอยู่ที่ไหน กำหนดท่าทีอย่างไร จะสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศอย่างไร และต้องศึกษาข้อตกลง กติกาการค้าโลกที่มีให้ลงลึก เพื่อปรับตัว และแสวงหาแต้มต่อทางการค้า

“ปัญหาของการส่งออกปีนี้ เช่น การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ขาดแคลนเรือขนส่งสินค้า เป็นต้น ผมได้ร่วมกับภาคเอกชนในนามคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.พาณิชย์) แก้ปัญหา อีกทั้งยังได้ให้เซลส์แมนจังหวัด (พาณิชย์จังหวัด) และเซลส์แมนประเทศ (ทูตพาณิชย์) ช่วยกันหาตลาดให้กับสินค้าไทย รวมถึงเพิ่มกิจกรรมส่งเสริมการส่งออก ส่งผลให้มูลค่าส่งออกดีขึ้น ล่าสุด 7 เดือนแรกของปีนี้ สูงถึง 154,985 ล้านเหรียญฯ ขยายตัว 16% หรือ 4 เท่าของเป้าหมายขยายตัวปีนี้ที่ 4% คาดว่ามูลค่าเดือน ส.ค. และ ก.ย.อาจขยายตัวในอัตราชะลอลง จากการที่โรงงานปิดการผลิตชั่วคราว เพราะแรงงานติดเชื้อโควิด-19 แต่ทั้งปีจะขยายตัวเป็นบวก และบวกเกินกว่าเดือนละ 700,000 ล้านบาท ทำให้การส่งออกเป็นความหวังของเศรษฐกิจไทยได้ต่อไป”.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2564

คกก.มาตรฐานสินค้าเกษตร เห็นชอบ 4 ร่างมาตรฐานด้านพืช

คกก.มาตรฐานสินค้าเกษตร เห็นชอบ 4 ร่างมาตรฐานด้านพืช สอดรับมาตรฐาน ASEAN GAP พร้อมเดินหน้าพัฒนาการผลิตสตรอว์เบอร์รี เน้นคุณภาพและความปลอดภัยสู่ผู้บริโภค

เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ครั้งที่ 4/2564 ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ปัจจุบันการผลิตและการค้าสินค้าเกษตรทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ให้ความสำคัญกับเรื่องมาตรฐาน และความปลอดภัยที่จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ซึ่งทวีความเข้มข้นมากขึ้น ดังนั้น ที่ประชุมได้เห็นชอบให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จัดทำมาตรฐานเพิ่มเติมตามที่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการ หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเสนอขอมา จำนวน 2 เรื่อง ได้แก่ 1.การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่รุ่น และ 2.การปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุทุเรียน พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการเพื่อจัดทำร่างมาตรฐานดังกล่าว จำนวน 2 คณะ

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร 4 เรื่อง ได้แก่ 1.เกษตรอินทรีย์ : การผลิต การแปรรูป การแสดงฉลาก และการจำหน่ายผลิตผลและผลิตภัณฑ์อินทรีย์ 2.สตอรว์เบอร์รี 3.การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร และ4.แนวปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร ทั้งนี้ เพื่อดำเนินการประกาศ เป็นมาตรฐานทั่วไปของประเทศต่อไป

ด้าน นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการ มกอช.กล่าวว่า สำหรับสาระสำคัญของร่างมาตรฐาน 4 เรื่อง คือ 1.เกษตรอินทรีย์ : การผลิต การแปรรูป การแสดงฉลาก และการจำหน่ายผลิตผลและผลิตภัณฑ์อินทรีย์ ซึ่งได้มีการรวมมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ มกษ. 9000 เล่ม 1 ถึงเล่ม 6 มาไว้เป็นมาตรฐานฉบับเดียว จากที่เคยประกาศแยกเป็นรายกลุ่มสินค้า ได้แก่ พืชอินทรีย์ ข้าวอินทรีย์ ปลาสลิดอินทรีย์ อาหารสัตว์น้ำอินทรีย์ การเลี้ยงกุ้งทะเลระบบอินทรีย์ ปศุสัตว์อินทรีย์ และผึ้งอินทรีย์ พร้อมขยายขอบข่ายให้ครอบคลุม อาหารสัตว์ ส่วนที่ใช้ขยายพันธุ์และแมลงที่บริโภคได้ โดยเพิ่มความชัดเจนในบ้างข้อกำหนดและวัตถุประสงค์ให้เป็นไปตามมาตรฐานอาเซียน โดยเฉพาะในส่วนของการผลิตพืช  2.สตอรว์เบอร์รี ซึ่งการจัดทำมาตรฐานสตรอว์เบอร์รี เพื่อพัฒนาคุณภาพ ส่งเสริมการผลิตที่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงในการค้าในประเทศและระหว่างประเทศเพื่อความเป็นธรรมทางการค้า โดยมีข้อกำหนดด้านคุณภาพและความปลอดภัยกับสตรอว์เบอร์รี ที่มีการจัดเตรียมและบรรจุหีบห่อ ใช้กับผลสตรอว์เบอร์รีพันธุ์ที่ผลิตเป็นการค้า เพื่อจำหน่ายในรูปผลิตผลสดแก่ผู้บริโภค แต่ไม่รวมสตรอว์เบอร์รีที่ใช้แปรรูปในอุตสาหกรรม ได้แก่ พันธุ์พระราชทาน 80 , พันธุ์พระราชทาน 88 , พันธุ์ 329 , พันธุ์อากิฮิเมะ (Akihime) , พันธุ์แมฮยัง (Maehyang) และพันธุ์ลองเสตม (Long-stem)

นายพิศาล กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนรายละเอียดร่างมาตรฐานเรื่องที่ 3.การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร และ4.แนวปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร ซึ่งทั้ง 2 ร่างนี้ มาตรฐานฯ นี้ ครอบคลุมข้อกำหนดการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตพืชเพื่อใช้เป็นอาหาร เช่น พืชผัก ไม้ผล พืชไร่ พืชเครื่องเทศ พืชสมุนไพร ทุกขั้นตอนของการผลิตและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวในระดับฟาร์มเพื่อจำหน่าย เพื่อให้ได้ผลิตผลที่ปลอดภัย มีคุณภาพเหมาะสมในการบริโภค โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม รวมถึงสุขภาพ ความปลอดภัยและสวัสดิภาพของปฏิบัติงาน พร้อมทั้งมีการปรับแก้ไขข้อกำหนดให้สอดคล้องกับมาตรฐาน ASEAN GAP เช่น การไม่เก็บสารเคมีชนิดเหลวอยู่บนชั้นที่เหนือกว่าสารเคมีชนิดผง ให้มีมาตรการเพื่อลดผลกระทบหากวิธีเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังเก็บเกี่ยวเกิดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ ควัน ฝุ่น และเสียงรบกวน และปรับแก้ไขข้อกำหนดให้มีความชัดเจนมากขึ้น เช่น ให้เก็บตัวอย่างน้ำหรือดินเพื่อวิเคราะห์การปนเปื้อน เมื่อมีการประเมินความเสี่ยงแล้วพบว่าเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

จาก https://www.naewna.com วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2564

เอกชนแนะตั้งทีมไทยแลนด์ดูแลส่งออก  จี้รัฐเร่งลงนามFTA-CPTPP หวั่นตกขบวน

3 บิ๊กสมาคมเห็นตรงส่งออกปีนี้เป็นบวก แนะตั้งทีมไทยแลนด์ดูแล-จี้รัฐบาลเร่งลงนามข้อตกลงสิทธิพิเศษทางการค้าทั้งเอฟทีเอ- CPTPPหวั่นตกขบวนทางการค้า

 นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย นายกกิตติคุณสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย เปิดเผยว่า ประเด็นที่น่าจับตามองขณะนี้คือการเข้าร่วมในข้อตกลงสิทธิพิเศษทางการค้าต่าง ๆของไทยทั้งความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP การเปิดเขตเสรีทางการค้าหรือ เอฟทีเอ  ที่ไทยยังไม่มีความคืบหน้าเพราะยังมีการคัดค้านจากภาคส่วนต่าง ๆ ทำให้สินค้าที่ส่งออกจากไทยมีราคาสูงกว่าสินค้าจากประเทศคู่แข่งโดยเวียดนามที่ไทยเสียเปรียบอย่างเห็นได้ชัดเพราะเวียดนามเป็นประเทศที่ลงนามในความตกลงทางการค้ากับแทบทุกประเทศ ทำให้สินค้าที่ส่งออกจากเวียดนามเสียภาษีน้อยหรือแทบไม่เสียภาษีเลย

ดังนั้น ภาครัฐมีหน้าที่ในการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนที่ยังคัดค้านและต้องมีมาตรการออกมาเพื่อช่วยเหลือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการร่วมข้อตกลงสิทธิพิเศษทางการค้า ซึ่งที่น่าจับตามองในขณะนี้ก็คือการที่จีนได้ยื่นขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP ซึ่งจะทำให้ CPTPP กลายเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและหากไทยไม่ร่วมข้อตกลงใด ๆ ก็จะทำให้ประเทศไทยตกขบวน

“หากไทยลงนามใด ๆเลยถ้าประเทศนำเข้าประกาศเลิกซื้อสินค้าจากไทยบอกกเลยว่าเราออยู่ไม่ได้ทั้งระบบ เกษตรกรก็อยู่ไม่ได้ตายทั้งหมดรัฐบาลต้องเร่งอธิบายให้ประชาชนเข้าใจยิ่งจีนประกาศเข้าCPTPP ถือเป็นเรื่องใหญ่ถามว่าไทยลงนามอะไรบ้างก็บอกว่ายังมีลงนามแค่อินเดีย ออสเตรเลียังซึ่งไม่ใช่ตลาดใหญ่ของเราดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งลงนามให้ตรงจุด ” นายพจน์ กล่าว

ด้าน นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า  คาดว่าการส่งออกในส่วนของสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยในช่วง ไตรมาสที่4 ของปีนี้ หรืออีก 3 เดือนที่เหลือคาดว่าจะขยายตัวได้อีก 10%หรือ 2.5 แสนล้านบาท ถือว่าเป็นการทำนิวไฮจากที่เคยทำได้สูงถึง 2.3 แสนล้านบาทในปี 2562 แม้ว่าที่ผ่านมาต้องประสบกับการระบาดของโควิดในโรงงานหลายคลัสเตอร์แต่ก็แก้ไขปัญหาจนโรงงานต่าง ๆกลับมาเปิดได้ตามปกติ ส่วนปัจจัยลบก็ยังเป็นเรื่องตู้คอนเทนเนอร์ที่ขาดแคลน ค่าระวางเรือที่ยังสูง แต่คาดว่าสถานการณ์จะค่อยๆดีขึ้น ภายใน 4-6เดือนข้างหน้านี้

“ในปีที่แล้วกำลังซื้อในส่วนของอุตสาหกรรมนี้ลดลงอย่างมากเพราะเป็นช่วงที่โควิดระบาดใหม่ ๆ  ส่งผลให้การส่งออกหมวดสินค้าไลฟ์สไตล์ติดลบกว่า 10% เครื่องนุ่งห่มกว่า 16% สิ่งทอเกือบ 20% ทำให้ภาพรวมติดลบไป10-20% แต่ปีนี้ตัวเลขกลับมากว่า 10%แต่ยังไม่เท่าก่อนปีโควิดจะระบาด แต่ก็มีคำสั่งซื้อเข้ามามากขึ้นจากปีที่แล้ว 10-12% จากที่เคยติดลบ 16-18% ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีโดยหันมาติดต่อกันผ่านระบบออนไลน์ถือเป็นการปรับตัวในยุคนิวนอร์มอล  เป็นการลดต้นทุนในด้านต่าง ๆ และคิดว่าวิถีเหล่านี้ควรนำมาใช้อย่างต่อเนื่องให้เป็นเรื่องปกติ รวมทั้งการปรับตัวในด้านการผลิตสินค้าใหม่ ๆเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด แต่อย่างไรก็ตามภาครัฐก็ยังต้องเข้ามาช่วยเอกชนโดยเฉพาะการลงนามในข้อตกลงทางการค้าที่จะทำให้ไทยสินค้าไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้”นายยุทธนากล่าว

นายการัณย์ อังอุบลกุล ประธานกรรมการบริษัทศรีไทย ซุปเปอร์แวร์ โคราช จำกัด กล่าวว่า กลุ่มของใช้บนโต๊ะอาหารอุตสาหกรรมนี้เติบโตมาตลอดและไตรมาส 4 ก็คาดว่าจะขยายตัวอีกหากไม่มีการระบาดของโควิดที่รุนแรงขึ้นก็คาดว่าจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 30% ซึ่งก็เกิดจากคำสั่งซื้อที่เคยชะลอตัวในช่วงที่โควิดระบาดใหม่ ๆ และการกีดกันทางการค้าทำให้ซัพพลายเออร์ต้องหาทางเลือกใหม่ ๆในการสั่งสินค้า ซึ่งเอกชนต้องทำงานในเชิงรุกมากขึ้นในการเข้าหาลูกค้ารวมทั้งต้องผลิตและส่งมอบให้ได้ตามที่ลูกค้ากำหนด แต่ปัญหาเรื่องการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ค่าระวางเรือ ความแออัดของท่าเรือก็ยังเป็นปัญหาแต่ภาครัฐก็ได้ช่วยเหลือซึ่งก็มั่นใจว่าคลี่คลายได้ในอนาคต

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2564

“พาณิชย์” ร่วมเวที รมต. เศรษฐกิจอาเซียน-จีน ชื่นมื่นสัมพันธ์ 30 ปี

กระทรวงพาณิชย์ ร่วมหารือเวทีรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน–จีน ครั้งที่ 20 บรรยากาศชื่นมื่น สองฝ่ายแสดงความยินดีในโอกาสครบรอบความสัมพันธ์ 30 ปี ย้ำสัมพันธ์แน่นแฟ้นทุกมิติ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่ต่างเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของกันและกัน เตรียมพร้อมขยายความร่วมมือต่อเนื่อง ทั้งการเร่งเจรจาเปิดตลาดเพิ่มเติมภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน และการร่วมมือเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19

วันที่ 22 กันยายน 2564 ดร. สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้ทำหน้าที่หัวหน้าผู้แทนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน–จีน ครั้งที่ 20 เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล

โดยมีประเด็นหารือสำคัญ คือ การเร่งเดินหน้าเจรจาเปิดตลาดสินค้าเพิ่มเติมและด้านการลงทุนตามที่ระบุไว้ในความตกลง ACFTA และร่วมกันจัดทำการศึกษา (Joint Feasibility Study) ในสาขาความร่วมมือต่างๆ เพิ่มเติม ซึ่งตนในฐานะผู้ประสานงานของความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีนได้กล่าวย้ำว่าการศึกษาต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วเพื่อยกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ให้มีความทันสมัย และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศสมาชิก

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังยืนยันความสำคัญของการกระชับความร่วมมือด้านการส่งเสริมการค้าและการลงทุนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด–19 โดยในส่วนของไทยนั้น ได้ให้ข้อมูลนโยบายและการดำเนินการของรัฐบาลไทยในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดและมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจของกระทรวงพาณิชย์เพื่อเป็นแนวทางในการหารือการฟื้นฟูเศรษฐกิจตามกรอบความร่วมมือดังกล่าว

ดร. สรรเสริญ เพิ่มเติมว่า ที่ประชุมยังได้ร่วมแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี ของความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนและจีนที่มีความใกล้ชิดกันในทุกมิติ

โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่ปัจจุบันทั้งสองฝ่ายต่างเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของกันและกัน โดยได้ออกแถลงการณ์ร่วม เรื่อง การเสริมสร้างความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจในโอกาสครบรอบ 30 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-จีน เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ของทั้งสองฝ่ายในการขยายความร่วมมือทางการค้าและการลงทุน เช่น การจัดตั้งกลไกหารือ

สำหรับภาคอุตสาหกรรมในสาขาต่างๆ การให้ความช่วยเหลือ MSMEs ให้สามารถใช้ประโยชน์จากความตกลง ACFTA ได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนหารือถึงการสนับสนุนของจีนเพื่อสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาคอาเซียนผ่านกรอบความร่วมมือต่างๆ เช่น กิจกรรมภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง และการจัดงานแสดงสินค้าจีน–อาเซียน (China-ASEAN Expo: CAEXPO) ครั้งที่ 18 ในเดือนกันยายน 2564 เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 30 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-จีน อีกด้วย

ทั้งนี้ การค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนกับจีนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแม้จะเผชิญกับช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกตกต่ำจากสถานการณ์โควิด–19 โดยจีนยังคงเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียนตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน

โดยในส่วนของไทยนั้น การค้าระหว่างไทยกับจีนในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2564 มีมูลค่า 59,029 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า 30.6% โดยไทยส่งออกไปจีนมูลค่า 21,760 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เคมีภัณฑ์ และยางพารา เป็นต้น

และนำเข้าจากจีน 37,269 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น สินค้าประเภทเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เป็นต้น

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2564

“พลังงาน” คาดการใช้และราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว

กระทรวงพลังงาน เผย แนวโน้มการใช้และราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ภูมิภาคตะวันตกเริ่มเข้าฤดูหนาว เตรียมใช้กลไกกองทุนน้ำมันรักษาเสถียรภาพ กรณีราคาผันผวนหนัก หวั่นกระทบประชาชนและการเศรษฐกิจประเทศ

นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ สถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดจาก 2 ปัจจัยสำคัญ คือ การคลี่คลายของสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยเริ่มกลับมาฟื้นตัว กอปรกับประเทศในแถบภูมิภาคตะวันตกกำลังจะเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานมีการปรับตัวเพิ่มมากขึ้น​

โดยทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) และ กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 100 ล้านบาร์เรล/วัน ภายในไตรมาส 2 ของปีหน้า ซึ่งเป็นระดับเดียวกับปี 62 ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ หลังการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกจะเริ่มปรับตัวสูงขึ้น

โดยคาดว่าความต้องการใช้จะเพิ่มขึ้นราว 1.6 ล้านบาร์เรล/วัน             ในเดือน ตุลาคม 2564 และจะเติบโตอย่างต่อเนื่องหลังจากนี้ รวมถึงราคาพลังงานและเชื้อเพลิงในทวีปยุโรปที่พุ่งสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณก๊าซคงคลังอยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งอุปทานจากรัสเซียที่ลดลงต่ำกว่าปกติ เนื่องจากอุปสงค์ทางฝั่งเอเชีย  ที่เพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา การผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบจากพายุเฮอร์ริเคนไอดาและนิโคลัส ทำให้การผลิตหายไปกว่าราว 26 ล้านบาร์เรล ซึ่งส่งผลให้ราคายืนในระดับสูงในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน ได้ติดตามสถานการณ์ราคาอย่างใกล้ชิด และมีการเตรียมพร้อมในการใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการบริหารจัดการราคาพลังงานเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งที่ผ่านมา กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ได้ให้               การช่วยเหลือราคา LPG โดยตรึงราคาขายปลีกสำหรับถังขนาด 15 กิโลกรัมอยู่ที่ 318 บาทต่อถัง (ไม่รวมค่าขนส่ง) ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา และล่าสุดคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 20 กันยายน ที่ผ่านมาให้คงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มข้างต้นออกไปอีก 3 เดือน คือ ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2564 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2564

ในส่วนของสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพโดยเฉพาะไบโอดีเซลราคาน้ำมัน B 100 ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยราคาอ้างอิงเฉลี่ย ระหว่างวันที่ 20 - 26 กันยายน 2564 อยู่ที่ 40.47               บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.53 บาทต่อลิตร  จากราคาวัตถุดิบในประเทศปรับตัวสูงขึ้น และผลผลิตปาล์มน้ำมันของประเทศไทยเริ่มน้อยลง โดยราคาผลปาล์มน้ำมัน ณ วันที่ 13 - 17 ก.ย. 64 เฉลี่ยอยู่ที่ 6.70 - 8.10 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน

ต้องยอมรับว่าราคาพลังงานอยู่ในช่วงขาขึ้น และยังมีความผันผวน ซึ่ง กระทรวงพลังงาน ได้มีการติดตามเฝ้าระวัง รวมถึงการดูแลสถานการณ์ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเตรียมพร้อมกลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการรักษาเสถียรภาพราคาพลังงานให้อยู่ในราคาที่เหมาะสม”

และในอีกบทบาทหนึ่งของกองทุนน้ำมันฯ คือ การสนับสนุนเชื้อเพลิงชีวภาพ จะช่วยสร้างเสถียรภาพราคาผลผลิตทางการเกษตร สร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกร ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ

นอกจากนั้น  การนำเอทานอลและไบโอดีเซลมาผสมในน้ำมันยังช่วยลดการนำเข้า สร้างอุตสาหกรรมต่อเนื่องให้เกิดขึ้นในประเทศ และยังสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ซึ่งปัจจุบัน ราคาน้ำมันดีเซล (B10) กระทรวงพลังงานก็มีมาตรการสนับสนุนทำให้ราคาถูกกว่าน้ำมัน B7 ถึงลิตรละ 3 บาทอีกด้วย

ส่วนสถานการณ์โควิดขณะนี้ กระทรวงพลังงาน โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ยังคงให้การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของโรงพยาบาลสนาม การบริจาคอุปกรณ์หรือเครื่องมือแพทย์ที่จำเป็น รวมทั้งการสนับสนุนหาเตียงและส่งต่อผู้ติดเชื้อ             ซึ่งหน่วยงานจะยังคงดำเนินการต่อไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

จาก https://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2564

แผนพลังงานชาติ 10 ปี มุ่งพลังงานสะอาด ลดไฟฟ้าจากฟอสซิล เริ่มปี’66

สนพ.เดินหน้ารับฟังความคิดเห็นกรอบแผนพลังงานชาติ ดึง 5 แผนย่อยรวบเป็นฉบับเดียว ขยับพลังงานหมุนเวียนเพิ่ม เลิกใช้สำรองไฟฟ้าอิงตัวแปรไฟฟ้าดับ หลังไม่สะท้อนข้อเท็จจริง

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สนพ. เปิดรับฟังความคิดเห็น “กรอบแผนพลังงานชาติ” ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมี นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน คาดแผนพลังงานแห่งชาติ จะเริ่มใช้ได้จริงปี 2566

ทั้งนี้แผนพลังงานชาติมีเป้าหมายสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถมุ่งสู่พลังงานสะอาด และลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2065 – 2070  โดยกำหนดให้กระทรวงพลังงานดำเนินการระยะเร่งด่วนเรื่องสำคัญ ได้แก่ 1. จัดทำแผนพลังงานชาติ ภายใต้กรอบนโยบายที่ทำให้ภาคพลังงานขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจให้สามารถรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ Neutral-Carbon Economy ได้ในระยะยาว

2. พิจารณาเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในรูปแบบต่างๆ และปรับลดสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ภายใต้ PDP2018 rev.1 ในช่วง 10 ปีข้างหน้า  ( 2564-2573) ตามความเหมาะสม โดยให้นำหลักการวางแผนเชิงความน่าจะเป็นโอกาสเกิดไฟฟ้าดับ (LOLE) มาใช้เป็นเกณฑ์ แทนกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) ซึ่งไม่สะท้อนผลจากความไม่แน่นอนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่สูงขึ้นได้

3. ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานระบบสายส่งและจำหน่ายไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่น มีประสิทธิภาพ และครอบคลุมพื้นที่ศักยภาพของพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่างๆเพื่อรองรับปริมาณกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในอนาคต และสามารถตอบสนองต่อการผลิตไฟฟ้าได้อย่างทันท่วงทีโดยไม่กระทบกับความมั่นคงของประเทศ

อย่างไรก็ตามสนพ.จะเริ่มเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน และสื่อมวลชน หลังจากนั้นจะนำมาปรับปรุงแผนฯ และมอบหมายให้แต่ละหน่วยงานนำแผนฯ ไปจัดทำแผนย่อย ซึ่งมีทั้งหมด  5 แผน ได้แก่ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP 2022 และ แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ หรือ Gas Plan โดย สนพ. เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ

ส่วนแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือ AEDP และแผนอนุรักษ์พลังงาน หรือ EEP มีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)เป็นผู้รับผิดชอบ และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ Oil Plan ทางกรมธุรกิจพลังงาน เป็นผู้รับผิดชอบ

นายวัฒนพงษ์  กล่าวว่า การเปิดรับฟังความเห็นกรอบแผนพลังงานแห่งชาติ  จะเป็นกรอบและทิศทางของแผนฯ ที่จะมุ่งสู่พลังงานสะอาดมากขึ้น และเพื่อแสดงถึงจุดยืนและการเตรียมการในการปรับเปลี่ยนให้รองรับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจสู่เศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำ (Neutral-carbon economy) การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย

ขณะเดียวกันเป็นโอกาสในการดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศที่มีนโยบายมุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาด โดยเฉพาะภายในช่วงเวลา 1-10 ปี ข้างหน้า  ซึ่งทั้ง 5 แผน จะถูกรวบรวมและจัดทำให้เป็นแผนพลังงานชาติเพียงฉบับเดียว โดยหลังจากนั้นจะเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อให้ได้แผนพลังงานชาติที่ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นเริ่มต้นจัดทำแผนฯ ร่วมกันกำหนดทิศทางให้นโยบายด้านพลังงานของประเทศไทย และจะนำเสนอคณะกรรมบริหารพลังงาน( กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานต่อไป

จาก https://www.posttoday.com   วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2564

“พาณิชย์”เร่งลดอุปสรรคเพิ่มขีดแข่งขันส่งออก

กระทรวงพาณิชย์ เร่ง เจรจาลดอุปสรรคต้นทุนการค้าการผลิต เพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ส่งออก

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายในการสนับสนุนการส่งออกที่ชัดเจน โดยใช้หลักภาครัฐหนุนเอกชนนำ รัฐบาล จะไม่แย่งหน้าที่ในการเป็นผู้นำส่งออกกับภาคเอกชนแต่จะเป็นผู้สนับสนุนสร้างกฎเกณฑ์ลดอุปสรรคที่เป็นปัญหา ต่อการส่งออกและต้องเร่งแก้ไขให้ปัญหาลุล่วงโดยเร็วที่สุดเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย ให้ได้มากที่สุด ซึ่งถือเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการประคับประคองเศรษฐกิจของประเทศในช่วงนี้ โดยเวลานี้กระทรวงพาณิชย์กำลังพิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการในเรื่องของการเพิ่มพื้นที่เรือและการสร้างให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นฮับในการขนถ่ายสินค้าในภูมิภาค

ทั้งนี้เพื่อสร้างแรงจูงใจให้มีเรือขนาดใหญ่เข้าถ่ายลำในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งจะเพิ่มการนำเข้าตู้เปล่าเพื่อการขนถ่ายสินค้าให้กับภาคเอกชนได้ โดยจะต้องมีการแก้ไขระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อไป ในขณะที่การนำเข้าตู้คอนเทนเนอร์เวลานี้ถือว่าอยู่ในภาวะที่สมดุลระหว่างการนำเข้ากับการส่งออกแล้ว ถึงแม้ว่าบางช่วงจะมีปัญหาในเรื่องของการกระจายตู้บ้าง แต่ถือว่าปัญหาเริ่มลดลงจากการอนุญาตให้เรือขนาดใหญ่เข้าเทียบท่าได้ที่ท่าเรือแหลมฉบัง

การพิจารณาลดต้นทุนการผลิตสินค้าอาหารกระป๋องเพื่อการส่งออก เพราะมีการนำเข้าเหล็กในราคาสูงจากการเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด ทำให้ต้นทุน แพงขึ้น โดยในส่วนนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ เพื่อผ่อนคลายมาตรการภาษีลงทำให้ต้นทุนของผู้ส่งออกอาหารกระป๋องลดลงได้ โดยสัดส่วนการส่งออกสินค้าอาหารกระป๋องของไทยเวลานี้อยู่ที่ประมาณร้อยละ 3 ของการส่งออกทั้งหมด จึงถือเป็นสินค้าส่งออกสำคัญที่จะต้องมีการพิจารณาอำนวยความสะดวกในเรื่องของการผลิตเพื่อการส่งออกให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ผู้ส่งออกสามารถแข่งขันได้

จาก  https://www.innnews.co.th  วันที่  22 กันยายน  2564

NIA แนะ 3 นวัตกรรมอัพมูลค่า “ขยะ” สุดครีเอท ไม่ทิ้ง! แต่เปลี่ยนสู่พลังงานไฟฟ้าในยุคขยะล้นโลก

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA แนะนำ 3 นวัตกรรมการจัดการ “ขยะ” ที่จะช่วยเติมพลังงานบวกทางความคิด และเติมแรงบันดาลใจ “การจัดการขยะ” ในยุคขยะกำลังล้นโลก

เมื่อมนุษย์เป็นผู้สร้างขยะจนส่งผลกระทบต่อวิถีการดำรงอยู่ของมนุษย์เอง แต่มนุษย์ก็ใช้การบริหารจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ เข้ามาลดทอนการเกิดขยะไร้ค่า โดยการสร้างสรรค์นวัตกรรมให้เกิดเป็น “พลังงานไฟฟ้า” จนกระทั่งสร้างมูลค่าและคุณค่าที่เปี่ยมประโยชน์มหาศาล คืนสู่กลับชุมชน สังคม และประเทศได้เช่นกัน

จาก ‘เสื้อเก่าและเศษผ้า’ สู่พลังงานไฟฟ้าคืนสู่ชุมชน

เศษผ้า เสื้อเก่าที่ไม่ใช้แล้ว หลายครัวเรือนมักจะนำมาใช้งานต่อเป็นผ้าขี้ริ้ว หรือจะประยุกต์นำเสื้อยืดเก่ามาตัดแขนเป็นเสื้อแขนกุดตัวใหม่ ตัดเย็บเพิ่มเติมให้สวยงามเพื่อไม่ให้เสื้อผ้าต้องถูกทิ้งเป็นขยะ แต่รู้หรือไม่ว่า เศษผ้าหรือเสื้อเก่า เปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ ด้วยการคัดแยกส่วนที่ไม่ใช่เนื้อผ้า เช่น กระดุม ซิป ออกไปใช้ซ้ำได้ จากนั้นแยกประเภท เช่น ผ้าใยสังเคราะห์ ผ้าใยธรรมชาติ เพื่อไปจัดการให้ถูกวิธีก่อนที่จะนำเข้าสู่กระบวนการเผาขยะเพื่อผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า (Incineration) เกิดเป็นพลังงานหมุนเวียนคืนสู่สังคม ตัวอย่างจากแบรนด์เสื้อผ้า H&M ในประเทศสวีเดน นำเสื้อผ้าที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือมีเชื้อรา ซึ่งไม่สามารถจำหน่ายได้ ส่งให้โรงงานไฟฟ้าเวสเตอร์โรสผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น

แปลง “กิ่ง ก้าน ใบ” ให้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า

วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร อาทิ แกลบ ซังข้าวโพด ฟางข้าว ใบอ้อย แทนที่จะปล่อยให้ย่อยสลายไปเป็นขยะที่ไร้ประโยชน์ หรือเผาไหม้กลางที่โล่งแจ้งก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ PM 2.5 วัสดุเหล่านี้เป็นอินทรีย์วัตถุชั้นดีที่กักเก็บพลังงานจากธรรมชาติเพื่อนำมาแปลงเป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ ด้วยการนำเข้ากระบวนการเพื่ออัดแท่งเป็นเชื้อเพลิงแบบเม็ดขนาดเล็ก (Pellets) หรือแบบก้อนขนาดใหญ่ (Briquettes) โดยปัจจุบันในประเทศไทยมีตัวอย่างจาก บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE ได้รับซื้อของเหลือใช้ทางการเกษตรตรงจากเกษตรกร มาผลิตเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่งที่ได้มาตรฐานสำหรับไฟฟ้าผ่านเทคโนโลยี Electrostatic Precipitator หรือตัวอย่างจากเอสซีจี ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ซึ่งมีการใช้เชื้อเพลิงทดแทนในการกระบวนการผลิตซีเมนต์อยู่แล้ว ร่วมมือกับสยามคูโบต้า รับซื้อเศษผลผลิตทางการเกษตร โดยใช้หม้อเผาปูนซีเมนต์ที่เอสซีจีมี แปรรูปเหล่าฟางข้าว ใบอ้อย ให้เป็นพลังงานทดแทนเพื่อใช้ในการผลิตซีเมนต์

กากมันสำปะหลัง ของเหลือจากการผลิตทั่วไทย แปรรูปสู่การผลิตกระแสไฟฟ้า

จากรายงานสถิติของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปี พ.ศ. 2563 ประเทศไทยมีเนื้อที่เพาะปลูกมันสำปะหลังกว่า 9.4 ล้านไร่ โดยมันสำปะหลัง มีบทบาทสำคัญในการส่งออกและอุตสาหกรรมอาหาร เช่น ผลิตเป็นแป้งมันสำปะหลัง แป้งสาคู ขณะเดียวกันมันสำปะหลังก็สามารถนำมาผลิตเป็นเอทานอลบริสุทธิ์ 99.5% เพื่อผสมน้ำมันเบนซินเป็นแก๊สโซฮอล์ อย่างไรก็ตามเนื่องจากทุกขั้นตอนการผลิตย่อมมีของเหลือคือ กากมันสำปะหลัง และน้ำเสีย ดังนั้นเมื่อสัดส่วนการปลูกที่มีขนาดใหญ่ในประเทศ การปล่อยให้ของเหลือ ทิ้งไว้โดยไร้ประโยชน์และกลายเป็นขยะล้นประเทศจึงไม่ดีนัก ซึ่งบริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด จ.อุบลราชธานี จึงจัดตั้งโรงผลิตก๊าซชีวภาพและพลังงานไฟฟ้าจากกากมันสำปะหลัง นำกากมันสำปะหลังมาเข้ากระบวนการผลิตก๊าซชีวภาพ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด เพื่อนำไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า จำหน่ายให้การไฟฟ้าและกระจายสู่ชุมชนในลำดับถัดไป รวมทั้งยังเปิดพื้นที่ในโรงงาน จัดอบรมสร้างความรู้ให้แก่เกษตรกรไทยและผู้ที่สนใจในการเปลี่ยนกากมันสำปะหลังเป็นพลังงานอีกด้วย

ทั้งนี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ได้จัดตั้งโครงการสนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า หรือ

The Electric Playground ในลักษณะโครงการประกวดสร้างผลงานนวัตกรรมสำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษา และเผยแพร่สาระความรู้ด้านการจัดการขยะ และนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าจากขยะให้บุคคลทั่วไป ภายใต้แคมเปญ CLEAN ENERGY FOR LIFE ใช้พลังงานสะอาดเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมด้านไฟฟ้า สามารถติดตามความเคลื่อนไหวตลอดโครงการได้ที่ www.facebook.com/TheElectricPlaygroundThailand/

จาก  https://mgronline.com   วันที่  22 กันยายน  2564

“พาณิชย์” เผยข่าวดี FTA อาเซียน-ฮ่องกง  มีผลบังคับใช้กับทุกภาคี

พาณิชย์ เผยข่าวดี FTA อาเซียน-ฮ่องกง มีผลบังคับใช้ไทยกับทุกสมาชิกแล้ว พร้อมเร่งหาข้อสรุปกฎเฉพาะรายสินค้า เห็นชอบเพิ่มสาขาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการใหม่อีก 5 สาขา เพื่อยกระดับการแข่งขันของภาคธุรกิจ

นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้เป็นหัวหน้าผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมหารือรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน–ฮ่องกง ครั้งที่ 5 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานของกรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน–ฮ่องกง (AHKFTA) ได้แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบอย่างเป็นทางการว่าความตกลง AHKFTA และความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน–ฮ่องกง (AHKIA) ซึ่งมีผลบังคับใช้กับทุกภาคีสมาชิกแล้วเมื่อเดือนก.พ.2564 ที่ผ่านมา และขณะนี้ภาคีสมาชิกกำลังเร่งเจรจาหาข้อสรุปในประเด็นที่อยู่ในแผนเจรจาต่อไป เช่น กฎเฉพาะรายสินค้าภายใต้ความตกลง AHKFTA และข้อบทด้านการลงทุน เป็นต้น

โดยการบังคับใช้ดังกล่าว ทำให้เห็นความพยายามในการขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยไทยแสดงความมั่นใจว่าความตกลงทั้ง 2 ฉบับ จะเป็นกลไกสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงจะช่วยขยายการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนกับฮ่องกง”

ทั้งนี้ ปัจจุบันฮ่องกงได้ยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าจากอาเซียนทุกรายการ และในด้านการค้าบริการ ฮ่องกงเปิดตลาดให้อาเซียนมากกว่าที่ผูกพันภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) และได้เปิดตลาดให้ไทยตามที่เรียกร้อง เช่น บริการด้านการผลิตเนื้อหารายการแก่ผู้ประกอบการวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ ซึ่งเป็นสาขาที่ผู้ประกอบการไทยมีความเชี่ยวชาญ

“ที่ประชุมยังเห็นชอบให้เพิ่มสาขาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการอีก 5 สาขา ได้แก่ มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช มาตรฐานกฎระเบียบทางเทคนิค กระบวนการประเมินความสอดคล้อง ทรัพย์สินทางปัญญา เทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับการอำนวยความสะดวกทางการค้า และการส่งเสริมการลงทุน จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 5 สาขา ได้แก่ พิธีการศุลกากร บริการวิชาชีพ การอำนวยความสะดวกทางการค้าและโลจิสติกส์ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์”

โดยสาขาความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นมาใหม่นี้ จะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจของไทยและอาเซียนในตลาดโลกได้ โดยฮ่องกงจะให้การสนับสนุนงบประมาณ 5 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง เพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนได้จัดทำโครงการเพื่อพัฒนาศักยภาพและสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงได้อย่างเต็มที่ ซึ่งในปี 2564 มีโครงการที่ผ่านการอนุมัติ 8 โครงการ เป็นโครงการจากไทยโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมร่วมกับสถาบันอาหาร 1 โครงการ คือ โครงการอบรมเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในห่วงโซ่อุปทานอาหาร

ฮ่องกงเป็นคู่ค้าอันดับที่ 8 ของไทย โดยในช่วง 7 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ก.ค.) การค้ารวมระหว่างไทยและฮ่องกงมีมูลค่า 8,418.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.35% โดยไทยส่งออกไปฮ่องกง 6,707.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น อุปกรณ์และส่วนประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ แผงวงจรไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด และนำเข้าจากฮ่องกง มูลค่า 1,711.15 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่ง และทองคำ ผ้าผืน เครื่องประดับ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น

จาก  https://www.thansettakij.com วันที่  21 กันยายน  2564

กระทรวงพลังงานเล็งใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงดูแลราคาพลังงานในประเทศ

กระทรวงพลังงาน เผย แนวโน้มการใช้และราคาพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ทำให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว รวมทั้งภูมิภาคตะวันตกเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว ทำให้ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น เตรียมใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงดูแลประชาชนไม่ให้ได้รับผลกระทบ

นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 2 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ การคลี่คลายของสถานการณ์โควิด-19 (Covid-19) ซึ่งทำให้เศรษฐกิจในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยเริ่มกลับมาฟื้นตัว ประกอบกับประเทศในแถบภูมิภาคตะวันตกกำลังจะเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานมีการปรับตัวเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) และกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 100 ล้านบาร์เรล/วัน ภายในไตรมาส 2 ของปีหน้า ซึ่งเป็นระดับเดียวกับปี 62 ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยหลังการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกจะเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งคาดว่าความต้องการใช้จะเพิ่มขึ้นราว 1.6 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนตุลาคม 64 และจะเติบโตอย่างต่อเนื่องหลังจากนี้ รวมถึงราคาพลังงานและเชื้อเพลิงในทวีปยุโรปที่พุ่งสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณก๊าซคงคลังอยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งอุปทานจากรัสเซียที่ลดลงต่ำกว่าปกติ เนื่องจากอุปสงค์ทางฝั่งเอเชียที่เพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาการผลิตน้ำมันในสหรัฐอเมริกาได้รับผลกระทบจากพายุเฮอร์ริเคนไอดาและนิโคลัส ทำให้การผลิตหายไปกว่าราว 26 ล้านบาร์เรล ซึ่งส่งผลให้ราคายืนในระดับสูงในช่วงที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี กระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์ราคาอย่างใกล้ชิด และมีการเตรียมพร้อมในการใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการบริหารจัดการราคาพลังงานเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งที่ผ่านมากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ให้การช่วยเหลือราคา LPG โดยตรึงราคาขายปลีกสำหรับถังขนาด 15 กิโลกรัมอยู่ที่ 318 บาทต่อถัง (ไม่รวมค่าขนส่ง) ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 63 เป็นต้นมา และล่าสุดคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมาให้คงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มข้างต้นออกไปอีก 3 เดือน คือ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 64 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 64

ส่วนสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพโดยเฉพาะไบโอดีเซลราคาน้ำมัน B 100 ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยราคาอ้างอิงเฉลี่ย ระหว่างวันที่ 20-26 กันยายน 64 อยู่ที่ 40.47 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.53 บาทต่อลิตร  จากราคาวัตถุดิบในประเทศปรับตัวสูงขึ้น และผลผลิตปาล์มน้ำมันของประเทศไทยเริ่มน้อยลง โดยราคาผลปาล์มน้ำมัน ณ วันที่ 13-17 กันยายน 64 เฉลี่ยอยู่ที่ 6.70-8.10 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน

“ต้องยอมรับว่าราคาพลังงานอยู่ในช่วงขาขึ้น และยังมีความผันผวน ซึ่งกระทรวงพลังงานได้มีการติดตามเฝ้าระวัง รวมถึงการดูแลสถานการณ์ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเตรียมพร้อมกลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการรักษาเสถียรภาพราคาพลังงานให้อยู่ในราคาที่เหมาะสม และในอีกบทบาทหนึ่งของกองทุนน้ำมันฯ คือ การสนับสนุนเชื้อเพลิงชีวภาพ จะช่วยสร้างเสถียรภาพราคาผลผลิตทางการเกษตร สร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกร ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ"

อย่างไรก็ตาม การนำเอทานอลและไบโอดีเซลมาผสมในน้ำมันยังช่วยลดการนำเข้าสร้างอุตสาหกรรมต่อเนื่องให้เกิดขึ้นในประเทศ และยังสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำมันดีเซล (B10) กระทรวงพลังงานก็มีมาตรการสนับสนุนทำให้ราคาถูกกว่าน้ำมัน B7 ถึงลิตรละ 3 บาทอีกด้วย 

จาก  https://www.thansettakij.com วันที่  21 กันยายน  2564

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “อ่อนค่า” ที่ระดับ 33.35 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทยังมีแนวต้านสำคัญใกล้ระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ อาจทำให้ผู้เล่นบางส่วนเริ่มขายทำกำไรซึ่งพอจะช่วยหนุนไม่ให้เงินบาทอ่อนค่าไปมากได้

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.35 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่า”ลงเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.34 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์   นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาท เราคงมุมมองว่า เงินบาทยังคงเผชิญปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่า มากกว่าแข็งค่า โดยในระยะสั้น อาจเห็นแรงขายบอนด์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติเพิ่มเติม จากทั้งความกังวลว่าปริมาณการออกบอนด์ในอนาคตอาจสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ หลังรัฐบาลได้ขยายเพดานหนี้สาธารณะและประกาศกู้เงินเพิ่มเติม นอกจากนี้ ผู้เล่นบางส่วนยังปิดสถานะเก็งกำไรเงินบาทแข็งเพิ่มเติม ท่ามกลางความไม่แน่นอนของแนวโน้มการระบาดในประเทศ ซึ่งภาพดังกล่าวก็ถูกสะท้อนผ่านแรงเทขายบอนด์ระยะสั้น

นอกเหนือจากปัจจัยในประเทศดังกล่าวนั้น เงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ตามภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดในระยะนี้ รวมถึง แรงกดดันจากการอ่อนค่าของเงินหยวน (CNY และ CNH) ที่อาจส่งผลกระทบต่อสกุลเงินเอเชียโดยรวม จากความกังวลว่าปัญหาผิดนัดชำระหนี้ของ Evergrande จะส่งผลกระทบหนักเป็นวงกว้าง

อย่างไรก็ดี เงินบาทยังมีแนวต้านสำคัญใกล้ระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเรามองว่า การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำจากภาวะปิดรับความเสี่ยง อาจทำให้ผู้เล่นบางส่วนเริ่มขายทำกำไรการรีบาวด์ของทองคำได้บ้าง ซึ่งพอจะช่วยหนุนไม่ให้เงินบาทอ่อนค่าไปมากได้ (ขายทำกำไรทองคำในสกุลดอลลาร์ แล้วแลกกลับเป็นเงินบาท ทำให้เมื่อราคาทองคำปรับตัวขึ้น เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นตาม)

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.30-33.45 บาท/ดอลลาร์

ตลาดการเงินโดยรวมเผชิญภาวะปิดรับความเสี่ยงอย่างหนัก ท่ามกลางความกังวลว่าปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทยักษ์ใหญ่อสังหาฯ ของจีน Evergrande อาจลุกลามส่งผลกระทบรุนแรงเป็นวงกว้าง นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดยังเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยเดิมๆ อาทิ แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและผลกำไรที่เริ่มชะลอลง รวมถึง ความกังวลว่าเฟดอาจส่งสัญญาณถอนคิวอีที่ชัดเจนขึ้นในการประชุมสัปดาห์นี้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างเลือกที่จะขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงและเพิ่มการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย อาทิ บอนด์ 10ปี สหรัฐฯ รวมถึง เงินดอลลาร์ เงินเยน และทองคำ เพื่อหลบความผันผวนในระยะนี้

ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินในฝั่งสหรัฐฯ นั้น ได้ส่งผลให้ ดัชนี Dowjones ปรับตัวลง -1.78% เช่นเดียวกันกับ ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -1.70% ทั้งนี้ หุ้นเทคฯ ก็ต่างเผชิญแรงเทขายหนัก กดดันให้ ดัชนี Nasdaq ดิ่งลงกว่า -2.19%

ส่วนทางด้านตลาดยุโรป ดัชนี STOXX50 เผชิญแรงเทขายที่หนักหน่วง กดดันให้ดัชนีปรับตัวลงกว่า -2.11% นำโดยหุ้นในกลุ่มการเงินที่เผชิญแรงเทขายจากความกังวลว่า ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของ Evergrande อาจลุมลามส่งผลกระทบทั่วโลกได้ Santander -4.8%, BNP Paribas 4.5% นอกจากนี้ หุ้นในกลุ่ม Cyclical โดยรวมก็ต่างปรับตัวลดลง อาทิ กลุ่มยานยนต์ Volkswagen -3.9%, BMW -2.7%

ในฝั่งตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดต่างพากันเพิ่มสถานะถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย หลังตลาดกลับมาปิดรับความเสี่ยงจากประเด็น Evergrande รวมถึงความกังวลเฟดส่งสัญญาณการปรับลดคิวอีที่ชัดเจนขึ้น ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลงราว 8bps สู่ระดับ 1.30%

ทั้งนี้ นอกเหนือจากประเด็นความเสี่ยงดังกล่าวที่กระทบต่อบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ นั้น ยังมีประเด็นการเจรจาขยายเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่และช่วยกดดันให้บอนด์ยีลด์ 10ปี ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ไทย นักลงทุนต่างชาติทยอยเทขายทั้งบอนด์ระยะสั้นต่อเนื่อง หลังจากที่ผู้เล่นในตลาดเริ่มปรับลดสถานะเก็งกำไรเงินบาทแข็งผ่านบอนด์ระยะสั้น ซึ่งเรามองว่า แรงเทขายบอนด์ระยะสั้นไทยอาจมีต่อได้บ้าง ตามแนวโน้มเงินบาทที่ยังเผชิญความเสี่ยงด้านอ่อนค่าอยู่ ส่วนบอนด์ระยะยาวอาจเริ่มถูกเทขายน้อยลง จากภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด ทำให้อาจมีผู้เล่นบางส่วนเข้ามาซื้อบอนด์ระยะยาวบ้าง

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก จากความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย เพื่อรับมือกับความผันผวนในตลาด ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องใกล้ระดับ 93.23 จุด ซึ่งการแข็งค่าของเงินดอลลาร์นั้นได้กดดันให้ เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงแตะระดับ 1.173 ดอลลาร์ต่อยูโร ในขณะที่ เงินเยน (JPY) แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 109.4 เยนต่อดอลลาร์ จากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย เช่นเดียวกันกับ ราคาทองคำที่รีบาวด์ขึ้นมาสู่ระดับ 1,765 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ หลังผู้เล่นในตลาดกลับมาถือสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดยังคงติดตามปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัท Evergrande ว่าทางการจีนจะเข้ามาช่วยเหลืออย่างไรบ้าง เพื่อไม่ให้ปัญหาดังกล่าวลุมลามและส่งผลกระทบรุนแรง นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะยังคงเฝ้ารอผลการประชุมเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดมีแนวโน้มที่จะปรับลดความเสี่ยงจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ไปก่อนในระยะสั้นนี้

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 21 กันยายน 2564

ไทยไต่อันดับดัชนีนวัตกรรมโลก ขยับขึ้นสู่อันดับ 43 จาก 132 ประเทศทั่วโลก

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) หรือ NIA เผยผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก ประจำปี 2564 (Global Innovation Index 2021; GII 2021) ภายใต้แนวคิด “ติดตามการปรับตัวระบบนวัตกรรมในภาวะวิกฤตโควิด-19” หรือTracking Innovation through the COVID-19 Crisis ซึ่งจัดโดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก (WIPO) เพื่อวัดระดับความสามารถทางด้านนวัตกรรมของแต่ละประเทศกว่า 132 ประเทศทั่วโลก โดยในปีนี้ประเทศไทยขยับมาอยู่อันดับที่ 43 ดีขึ้นจากปี 2020 ที่อยู่อันดับ 44 และถือเป็นอันดับ 3 ในอาเซียนรองจากสิงคโปร์ ที่อยู่อันดับ 8 มาเลเซียอันดับ 36 และแซงเวียดนามที่ตามมาในอันดับ 44 นอกจากนี้ยังพบว่าปัจจัยค่าใช้จ่ายมวลรวมภายในประเทศสำหรับการวิจัยและพัฒนาซึ่งลงทุนโดยองค์กรธุรกิจยังคงสูงเป็นอันดับ 1 ของโลกต่อเนื่องเป็นปีที่ 2

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า “การจัดอันดับ GII 2021 ภายใต้ธีม Tracking Innovation through the COVID-19 Crisis มุ่งเน้นการวิเคราะห์ผลกระทบของวิกฤตไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อการพัฒนาระบบนวัตกรรม สำหรับผลการจัดอันดับความสามารถทางด้านนวัตกรรมในปีนี้ ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 43 ปรับเพิ่มขึ้น 1 อันดับ จากปี 2020 โดยในปีนี้ปัจจัยเข้าทางนวัตกรรม (Innovation input sub-index) ปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมอันดับที่ 48 เป็นอันดับที่ 47 ขณะที่ปัจจัยย่อยผลผลิตทางนวัตกรรม (Innovation output sub-index) มีอันดับลดลงจากอันดับที่ 44 ลดลงเป็นอันดับที่ 46 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศกลุ่มรายได้ปานกลางระดับบน (upper middle-income economies) ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 5 จากจำนวน 34 ประเทศ โดยประเทศไทยมีอันดับที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยในทุกปัจจัย แต่หากเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออกและโอเชียเนีย ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 9 จากจำนวน 17 ประเทศ”

สำหรับปัจจัยชี้วัดความสามารถด้านนวัตกรรมของประเทศไทยที่โดดเด่นมากที่สุด เป็นกลุ่มปัจจัยด้านระบบตลาด และกลุ่มปัจจัยด้านระบบธุรกิจ ที่แม้จะมีการปรับตัวลดลงมาเล็กน้อยแต่ยังอยู่ในระดับที่ดี โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายมวลรวมภายในประเทศสำหรับการวิจัยและพัฒนาซึ่งลงทุนโดยองค์กรธุรกิจ (อันดับ 1) ซึ่งสะท้อนให้เห็นการลงทุนของภาคเอกชนในประเทศไทยมุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจด้วยการพัฒนานวัตกรรมมากขึ้น นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่าความเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดสำหรับปีนี้เป็นกลุ่มปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน ในกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่ปรับอันดับขึ้นจากอันดับที่ 79 เป็นอันดับที่ 60

โดยตัวชี้วัดภายใต้กลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการเข้าถึงและการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมถึงการบริการออนไลน์ของภาครัฐ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงผลลัพธ์ของการปรับตัวของภาครัฐและภาคเอกชนในช่วงวิกฤตไวรัสโควิด-19 ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมไปสู่การขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมข้อมูล (Data–driven Innovation)แต่สิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดด้านข้อมูลในการติดตามและวัดผลนวัตกรรม คือการขาดข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ซึ่งจากตัวชี้วัดทั้งสิ้น 81 ตัวชี้วัด มีถึง 16 ตัวชี้วัดที่ต้องนำข้อมูลในอดีตมาประมาณการ และมี 1 ตัวชี้วัดที่ไม่ได้มีการจัดเก็บหรือรายงานผล ซึ่งส่งผลกระทบต่อการจัดอันดับในภาพรวมและการติดตามเพื่อวางแผนการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ เช่น ตัวชี้วัดด้านการร่วมลงทุน ทั้งในส่วนของนักลงทุนและบริษัทที่ได้รับการลงทุน โดยช่วงที่ผ่านมาถือได้ว่าประเทศไทยมีความตื่นตัวและการเติบโตด้านนี้เป็นอย่างมาก แต่ไม่ได้มีการติดตามหรือจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นรูปธรรม จึงทำให้ข้อมูลในส่วนนี้มีความคลาดเคลื่อนและส่งผลต่อการจัดอันดับในกลุ่มปัจจัยด้านการลงทุน

ทั้งนี้แม้ที่ผ่านมาประเทศไทยจะมีการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างของระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศแต่เป็นการมุ่งเน้นการจัดโครงสร้างฝั่งอุปทาน (วิจัยและพัฒนา) และยังไม่ได้แก้ปัญหาฝั่งอุปสงค์ (นวัตกรรม) อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้การใช้ประโยชน์องค์ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ที่นำไปสู่นวัตกรรมยังมีอยู่จำกัด ไม่สามารถสร้างผลกระทบในวงกว้างอย่างเป็นระบบ ด้วยเหตุนี้ การขับเคลื่อนระบบนวัตกรรมจึงต้องเร่งดำเนินการในประเด็นต่อไปนี้ ได้แก่ 1) การเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมที่มีศักยภาพ 2) การพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการ 3) การปรับปรุงกฎ ระเบียบ และมาตรการที่เป็นอุปสรรค 4) การพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อเชื่อมโยงองค์ความรู้และการลงทุน 5) การใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม 6) การกระจายโอกาสด้านนวัตกรรมไปสู่ภูมิภาค และ 7) การเตรียมความพร้อมต่อระบบนวัตกรรมที่กำลังเปลี่ยนไป

โดยการพัฒนาที่สอดรับและสนับสนุนให้ตรงกับปัจจัยและตัวชี้วัดที่เป็นข้อจำกัดเชิงระบบ จะเป็นเหมือนสปริงบอร์ดสำหรับประเทศไทยในการที่จะก้าวกระโดดด้านนวัตกรรม เพื่อก้าวเป็นประเทศชั้นนำที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ในฐานะหน่วยประสานและขับเคลื่อนระบบนวัตกรรมของประเทศ จึงให้ความสำคัญกับการติดตามและนำข้อมูลดัชนีนวัตกรรมโลกมาใช้ประโยชน์ในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการออกแบบนโยบายที่เหมาะสมและสอดคล้องที่สามารถขับเคลื่อนและปรับเปลี่ยนระบบนวัตกรรมไทยได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ นโยบายของศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ให้ความสำคัญกับ “นวัตกรรม” โดยเชื่อมั่นว่าการที่นวัตกรรมจะเดินหน้าอย่างก้าวกระโดดนั้น ต้องอาศัยความเข้มแข็งของภาคเอกชนโดยมีภาครัฐเป็นกองหนุนที่สำคัญ เพื่อทำให้ประเทศไทยดีดตัวเองออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศรายได้สูงด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม โดยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ประเทศไทยเรานั้นก็สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อช่วยรับมือวิกฤตโควิดได้สำเร็จมากมาย เช่น ชุดพีพีอี หน้ากากพีเอพีอาร์ ห้องไอซียูความดันลบ ระบบโฮมไอโซเลชั่น ฯลฯ ซึ่งมีต้นทุนราคาถูกกว่าต่างประเทศ นอกจากนั้น ยังมีการพัฒนาวัคซีนจากฝีมือคนไทยกว่า 4 ชนิดที่ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการทดลองขั้นสุดท้ายในคน ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเทศมีความพร้อมที่จะก้าวสู่การเป็น “ประเทศแห่งนวัตกรรม” โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการขับเคลื่อนนวัตกรรมประเทศไทยให้ก้าวสู่อันดับ 1 ใน 30 ของประเทศที่มีความสามารถด้านนวัตกรรมของโลก ภายในปี 2573

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 21 กันยายน 2564

กรมชลฯเดินหน้าต่อพัฒนา2ลุ่มน้ำแก้"ท่วม-แล้ง"4จังหวัดอีสานตอนบน

กรมชลประทานเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการพัฒนา 2 ลุ่มน้ำ"น้ำห้วยหลวงตอนบน ตอนกลาง และลุ่มน้ำห้วยโมง"  ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัดอีสานตอนบน  ชี้จะช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัย แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่อย่างยั่งยืนมีประสิทธิภาพสูงสุด  สอดคล้องกับแผนแม่บทน้ำแห่งชาติ 20 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน  พร้อมคณะเดินทางลงพื้นที่จังหวัดอุดรธานี หนองคาย  เพื่อติดตามการขับเคลื่อนโครงการศึกษาความเหมาะสม การพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนบน-ตอนกลาง จังหวัดอุดรธานี  และพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยโมง จังหวัดหนองคาย      

โดยในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี คณะของนายเฉลิมเกียรติฯ พร้อมกับ นายเฉลิมชัย  ม่วงไหมแพร ผู้อำนวยการโครงการชลประทานอุดรธานี และหน่วยงานในพื้นที่ ที่เกี่ยวข้อง เดินทางไปดูประตูระบายน้ำ(ปตร.)สามพร้าว ต.สามพร้าว อ.เมืองอุดรธานี 

ซึ่งเป็นจุดที่แบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยหลวงออกเป็น 2 ส่วน คือ ลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่างและลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนบน-ตอนกลาง โดยมีพื้นที่ตั้งแต่ ปตร.สามพร้าวขึ้นไปยังพื้นที่ต้นน้ำ ในเขตพื้นที่อำเภอหนองวัวซอ จ.อุดรธานี เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยตอน-ตอนกลาง  เพื่อรับฟังบรรยายสรุปถึงสภาพทั่วไปของพื้นที่โครงการฯ     

ส่วนพื้นที่จังหวัดหนองคาย คณะได้เดินทางไปลงพื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยทอนบน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของลุ่มน้ำห้วยโมง ที่มีพื้นที่ครอบคลุม 4 จังหวัดคือ จังหวัดเลย  หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี  เพื่อติดตามความก้าวหน้าของโครงการฯ และรับฟังการบรรยายสรุปความต่อเนื่อง ของโครงการศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาแหล่งน้ำห้วยโมง              

นายเฉลิมเกียรติฯ เปิดเผยถึงการเดินทางลงพื้นที่ในครั้งนี้ว่า กรมชลประทานได้เล็งเห็นถึงปัญหา และมีการวางแผนแก้ไขบรรเทาปัญหาอย่างเป็นระบบ  โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการศึกษาการจัดทำแผนพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2558  จาก ปตร.สามพร้าว อ.เมืองอุดรธานี ถึงปากน้ำห้วยหลวง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย และขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการโครงการฯ ตามที่ได้รับงบประมาณประจำปีมาดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

อีกทั้งจากการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ (กรอ.) สังคม กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 และกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 เมื่อปี พ.ศ.2561 นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการ ให้ศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนบน-ตอนกลาง

โดยได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน ไปเร่งรัดดำเนินการในส่วนของโครงการขนาดใหญ่และขนาดกลาง ที่มีความสำคัญเร่งด่วน ซึ่งมุ่งเน้นในการบรรเทาปัญหาอุทกภัย ปัญหาการขาดแคลนน้ำ การพัฒนาลุ่มน้ำและพื้นที่ชลประทานอย่างมีประสิทธิภาพ                  

โดยจัดทำรายงานการศึกษาความเหมาะสม 5 โครงการ ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุดรธานี อำเภอกุดจับ และอำเภอหนองวัวซอ ประกอบด้วย โครงการอาคารบังคับน้ำบ้านโนนสว่างฯ โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านขอนยูงน้อย อ.กุดจับ โครงการอาคารบังคับน้ำห้วยเชียง 2  โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยยางล่างฯ และโครงการบริหารจัดการน้ำประตูระบายน้ำบ้านสามพร้าว     

ซึ่งหากดำเนินการตามแผนงานที่วางไว้ข้างต้น จะสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้อีก 29,286 ไร่ ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ และบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ รวมทั้งช่วยให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพสูงสุด มีความยั่งยืน ตอบสนองต่อการพัฒนาทั้งในปัจจุบันและอนาคต อันจะส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ส่วนการลงพื้นที่ของลุ่มน้ำห้วยโมง เป็นการติดตามความก้าวหน้าโครงการศึกษาความเหมาะสม ที่ได้มีการดำเนินอยู่แล้วโดยบริษัทที่ปรึกษา จำนวน 3 โครงการเร่งด่วนและมีความสำคัญ คือ โครงการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำห้วยทอน (ตอนบน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านบางกอกน้อย ตำบลด่านศรีสุข อำเภอโพธิ์ตาก จังหวัดหนองคาย โครงการปรับปรุงลำน้ำห้วยโมง พร้อมก่อสร้างประตูระบายน้ำกลางคลอง 2 แห่ง และโครงการผันน้ำห้วยลาน-ห้วยคุก  ซึ่งโครงการดังกล่าวจะส่งผลทำให้ประชาชนในพื้นที่มีแหล่งกักเก็บน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและการเพาะปลูกเพียงพอตลอดทั้งปี ลดผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง รวมทั้งมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย           

สำหรับลุ่มน้ำห้วยโมง มีพื้นที่รับน้ำฝน 2,718 ตร.กม. ครอบคลุมพื้นที่ 19 ตำบล 12 อำเภอ 4 จังหวัด คือจังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี และหนองคาย ต้นน้ำเกิดที่ อ.นาด้วง จ.เลย , อ.นาวัง อ.นากลาง อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู และไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย มีฝนตกเฉลี่ย 1,379 มม.ต่อปี มีปริมาณน้ำท่า 986 ล้าน ลบม.ต่อปี ซึ่งบริเวณปากน้ำห้วยโมง มีประตูควบคุมน้ำและเครื่องสูบเครื่องสูบน้ำเข้า-ออก อัตรา 12 ลบม.ต่อวินาที แต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งได้        

นายเฉลิมชัย  ม่วงไหมแพร   ผู้อำนวยการโครงการชลประทานอุดรธานี เปิดเผยเพิ่มเติมรายละเอียดสภาพพื้นที่ของลุ่มนำห้วยหลวง จังหวัดอุดรธานีว่า สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยหลวงมีพื้นที่ครอบคลุม 2 จังหวัดได้แก่ จังหวัดอุดรธานี และหนองคาย  แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน โดยมี ปตร.สามพร้าว อ.เมืองอุดรธานีเป็นจุดแบ่งพื้นที่ โดยพื้นที่จากเหนือ  ปตร.สามพร้าวจนถึงพื้นที่ต้นน้ำห้วยหลวงในเขตของ ต.ดงหมากไฟ อ.หนองวัวซอ  รวมถึงอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มีความจุปริมาณน้ำได้จำนวน 135.57 ล้าน ลบ.ม. เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนบน-ตอนกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ในโครงการศึกษาความเหมาะสม ของกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาที่ทางกรมชลประทานว่าจ้าง และมีการดำเนินการศึกษาฯไปได้ประมาณ 90% และจะสิ้นสุดสัญญาในเดือนธันวาคม 2564 นี้ 

ส่วนที่ 2 คือพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง มีพื้นที่จาก  ปตร.สามพร้าวผ่านพื้นที่ อ.เพ็ญ  อ.บ้านดุง  อ.สร่งคอม ไปจนถึงปากน้ำห้วยหลวงในพื้นที่ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย  ซึ่งกำลังมีการดำเนินการตามแผนโครงการงบประมาณที่ได้รับอนุมัติ อาทิเช่น  การก่อสร้างประตูน้ำขนาดใหญ่แดนเมือง อ.โพนพิสัย  เพื่อทำหน้าที่ระบายน้ำออกจากพื้นที่ลงสู่แม่น้ำโขง และสูบน้ำจากแม่น้ำโขงเข้าสู่พื้นที่  ประตูบังคับน้ำ พนังกั้นน้ำ สถานีกระจายน้ำ หรือสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ตามลำน้ำห้วยหลวง ซึ่งเมื่อการพัฒนาเสร็จสิ้นตามโครงการจะทำให้การบริหารจัดการน้ำของลุ่มน้ำห้วยหลวงมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถจะแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำท่วม-น้ำแล้งของพื้นที่การเกษตรกรรมของ 2 จังหวัดได้อย่างยั่งยืนมั่นคงให้กับประชาชนได้อย่างถาวร       

สำหรับปัญหาของลุ่มน้ำห้วยหลวง เนื่องจากพื้นที่เป็นที่ลุ่มในฤดูฝนไม่สามารถทำการเกษตรได้ เนื่องจากเกิดภาวะน้ำท่วม จึงหันไปทำในฤดูแล้งยกเว้นการทำนา  ดังนั้น หากการพัฒนาพื้นที่เสร็จเรียบร้อยตามแผน  ก็สามารถบริหารจัดการปริมาณน้ำในพื้นที่ที่มีประมาณ 3 แสนไร่ได้  อีกปัญหาหนึ่งคือเรื่องของวัชพืชตามธรรมชาติ ความตื้นเขินของลำน้ำห้วยหลวง รวมถึงอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง ซึ่งใช้งานมาประมาณ 40 ปี และอยู่ในพื้นที่ของโครงการศึกษาความเหมาะสมในคราวนี้ด้วย ก็มีปัญหาตื้นเขินจำเป็นจะต้องมีการขุดลอก ให้สามารถรองรับปริมาณน้ำได้มากขึ้น และปัญหาอีกปัญหาหนึ่ง คือการบริหารจัดการน้ำในลำน้ำห้วยหลวงและอื่น ๆ ยังเป็นการบริหารแบบร่วมกันกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ ยังไม่ได้มีการถ่ายโอนภารกิจให้กรมชลประทาน ซึ่งในอนาคตจะแผนการถ่ายโอนภารกิจให้กับกรมชลประทานแล้ว              

ซึ่งหากดำเนินการตามแผนงานที่วางไว้ข้างต้นเสร็จเรียบร้อย จะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ รวมทั้งช่วยให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพสูงสุด มีความยั่งยืน ตอบสนองต่อแผนแม่บทน้ำ 20 ปี ของ สนทช. ทั้งในปัจจุบันและอนาคต อันจะส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  และยิ่งหากว่ามีการถ่ายโอนภารกิจให้กับกรมชลประทานได้ในอนาคต จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการปัญหาเรื่องของน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำแต่ละพื้นที่ได้มากยิ่งขึ้น  โดยยกตัวอย่างของลุ่มน้ำห้วยหลวงในแต่ละปีจะมีปริมาณน้ำฝนประมาณปีละ 1,000ล้าน ลบม. แต่สามารถบริหารจัดการน้ำได้เพียงประมาณ 400 ล้าน ลบม.เท่านั้น  นายเฉลิมชัยฯกล่าว

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 20 กันยายน 2564

“พาณิชย์”ชี้จีนร่วมCPTPP ตลาดใหญ่ขึ้นแต่ยังเล็กกว่าRCEP

กรมเจรจาฯชี้จีนสมัครขอเป็นสมาชิก CPTPP จะทำให้ตลาดใหญ่ขึ้น แต่ยังเล็กกว่า RCEP เตรียมประเมินผลกระทบใหม่รอบด้าน หลังอังกฤษและจีน ขอเข้าเป็นสมาชิก ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับการเข้าสู่ตลาด ย้ำการเข้าร่วมของไทยยึดหลัก รอบคอบ และต้องได้รับการไฟเขียวจากระดับนโยบายก่อน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงกรณีที่จีนได้ยื่นขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP ต่อนิวซีแลนด์ ในฐานะประเทศผู้รับฝากความตกลง เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2564 ทำให้หลายฝ่ายให้ความสนใจ และจับตามอง ว่า ผลจากการที่จีนขอสมัครเข้าเป็นสมาชิก จะทำให้ CPTPP กลายเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ขึ้น จากเดิมที่มีสมาชิก 11 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี สิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย และเวียดนาม มีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคน มูลค่าทางเศรษฐกิจ หรือ GDP 10.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อนับรวมจีน จะส่งผลให้จำนวนประชากรในตลาด CPTPP ใหญ่ขึ้นเป็นกว่า 1,900 ล้านคน (25% ของประชากรโลก) มูลค่า GDP ประมาณ 25.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (30% ของ GDP โลก)

อย่างไรก็ตาม ขนาดของ CPTPP ยังเล็กกว่า ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ซึ่งมีสมาชิก 15 ประเทศ และปัจจุบันเป็นความตกลง FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยขนาดประชากรกว่า 2,300 ล้านคน (30% ของประชากรโลก) มูลค่า GDP 28.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (33.6% ของ GDP โลก)

“การสมัครเข้าร่วม CPTPP ของจีน จะเป็นการเพิ่มพันธมิตรและขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนของจีนกับสมาชิก CPTPP โดยเฉพาะการเข้าไปมีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิตของกลุ่มประเทศ CPTPP (regional supply chain) จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งของจีน ในฐานะเป็นแหล่งวัตถุดิบและฐานการผลิตที่สำคัญของภูมิภาค ขณะเดียวกันเป็นการแสดงความพร้อมของจีนที่จะยกระดับมาตรฐานกฎระเบียบต่างๆ ให้ทัดเทียมกับประเทศสมาชิก CPTPP ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นมาตรฐานของโลกใหม่ อาทิ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิแรงงาน พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม การแข่งขันทางการค้า และการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ”

ปัจจุบันไทยมี FTA กับสมาชิก CPTPP แล้ว รวม 9 ประเทศ ทั้งในกรอบอาเซียน และกรอบทวิภาคี คือ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เวียดนาม บรูไน มาเลเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และเปรู โดยยังขาดเม็กซิโกกับแคนาดาที่ไทยไม่มี FTA ด้วย แต่ไทยก็อยู่ระหว่างเตรียมการเปิดเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดา ในเร็วๆ นี้ จึงถือได้ว่า ไทยมีช่องทางในการเข้าสู่ตลาดประเทศสมาชิก CPTPP ผ่าน FTA ที่มีอยู่

ทั้งนี้ การขยายจำนวนสมาชิก CPTPP รวมจีนและสหราชอาณาจักร ได้เพิ่มความน่าสนใจและดึงดูดใจของ CPTPP และทำให้ไทยต้องประเมินประโยชน์ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นใหม่อย่างรอบคอบ โดยเฉพาะประโยชน์ที่จะได้จากการเข้าสู่ตลาด CPTPP ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เช่น เรื่องการเข้าสู่ตลาด ความตกลง CPTPP ได้กำหนดให้สมาชิกต้องลด/

ยกเลิกภาษีศุลกากรที่เก็บระหว่างกันให้ครอบคลุมรายการสินค้าให้มากที่สุด เรียกได้ว่า ครบหรือเกือบครบทุกรายการสินค้า เรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้าที่ส่งเสริมให้ใช้วัตถุดิบภายในประเทศสมาชิก เพื่อการผลิตขั้นสูงขึ้นไป เรื่องกฎระเบียบที่ส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้าทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ กฎเกณฑ์เหล่านี้ จะทำให้ประเทศสมาชิก CPTPP มีความได้เปรียบประเทศที่มิใช่สมาชิก อีกทั้งประโยชน์ในเรื่องการเข้าไปอยู่ในวงห่วงโซ่การผลิตระดับภูมิภาค (regional supply chain) หรือการเสียประโยชน์หากอยู่นอกวง ก็เป็นประเด็นใหม่ที่จะต้องนำมาพิจารณา เนื่องจากวงห่วงโซ่การผลิตของ CPTPP จะมีขนาดใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะเมื่อรวมจีนเข้าไป

ขณะเดียวกัน ยังมีเรื่องมาตรฐานโลกใหม่ เช่น สิทธิแรงงาน การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา สิ่งแวดล้อม ความโปร่งใสและการต่อต้านคอร์รัปชั่น ที่การเข้าร่วม CPTPP ของจีน อาจเป็นการนำเทรนด์ใหม่ในฐานะประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ว่ามีความพร้อมที่จะรับและปฏิบัติตามมาตรฐานโลกใหม่นี้ เพื่อก้าวข้ามการที่ประเทศผู้นำเข้าอ้างเรื่องมาตรฐานต่างๆ เหล่านี้เป็นเครื่องมือกีดกันการค้า ซึ่งเทรนด์มาตรฐานที่จะเกิดขึ้นอาจกลายเป็นเส้นแบ่งกลุ่มประเทศได้

สำหรับการสมัครเข้าเป็นสมาชิก หรือร่วมเจรจาความตกลง FTA ของไทย โดยทั่วไปจะมีกระบวนการทำงาน คือ ศึกษาความพร้อม ประเมินผลประโยชน์ และผลกระทบของประเทศ รวมทั้งการรับฟังความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ก่อนขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เนื่องจากในการเจรจา FTA จะมีทั้งผู้ที่ได้ประโยชน์ และผู้ที่ได้รับผลกระทบ จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งในส่วนประโยชน์ที่จะได้รับ การปรับตัว และช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียประโยชน์ โดยที่เรื่อง CPTPP เป็นเรื่องที่หลายภาคส่วนติดตาม และให้ความสนใจ จึงถูกยกระดับการพิจารณาเรื่องนี้ไปที่คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ หรือ กนศ ซึ่งมีกรรมการ เป็นผู้แทนระดับสูงจากหลายหน่วยงานทางเศรษฐกิจมาช่วยพิจารณาให้รอบด้าน ไม่ใช่กระทรวงพาณิชย์กระทรวงเดียว ซึ่งปัจจุบันเรื่องยังอยู่ระหว่างการดำเนินการของ กนศ ซึ่งคงต้องนำความคืบหน้าล่าสุดนี้มารวมไว้ในการประเมินด้วย

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 20 กันยายน 2564

ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า จับตาสัญญาณการลด QE

ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า จับตาสัญญาณการลด QE ขณะที่เงินบาทยังเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่า ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 33.33/35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 20 กันยายน 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (20/9) ที่ระดับ 33.32/34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/9) ที่ระดับ 32.24/26 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐยังคงปรับตัวแข็งค่าอย่างต่อเนื่องหลังจากตัวเลบขค้าปลีกในสัปดาห์ที่ผ่านมาออกมาดีเกินคาดและช่วยหนุนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐในช่วงท้ายสัปดาห์ ทั้งนี้ตลาดกำลังจับตาการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในระหว่างวันที่ 21-22 กันยายน นี้ โดยคาดว่าน่าจะมีการส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับการปรับลดวงเงินในโรงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมณ (QE) ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก

ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยนั้น นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่างทางเฟดจะยังคงไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ยังคงเฝ้าติดตามภาะตลาดแรงงานและตัวเลขเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตามหากประมาณการ Dot Plot บ่งชี้ว่าเฟดมีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2565 ซึ่งเร็วกว่าประมาณการที่เฟดเคยเปิดเผยไว้นั้น ค่าเงินดอลลาร์ก็มีโอกาสปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อ

นอกจากนี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในเชิงอ่อนค่าตามภูมิภาคจากการเทขายสินทรัพย์เสี่ยง เนื่องจากความกังวลกับการที่ประเทศสหรัฐอาจมีการปรับขึ้นอัตราภาษีนิติบุคคลและความไม่แน่นอนในเรื่องนโยบายของภาคอสังหาริมทรัพย์ในประเทศจีน

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ตลาดจะให้ความสนใจกับตัวเลขการค้าเดือนสิงหาคม ซึ่งคาดว่ามูลค่าการส่งออกและนำเข้าอาจเติบโตในอัตราที่ลดลงเมื่อเทียบเป็นรายปี นอกจากนี้คาดว่านายกรัฐมนตรีจะพิจารณาข้อเสนอขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% ต่อจีดีพี เป็นไม่เกิน 70% ต่อจีดีพี เป็นการชั่วคราวเพื่อกลบหลุมรายได้จากวิกฤตโควิด-19

โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.33-33.39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.33/35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (20/9) ที่ระดับ 1.1714/16 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/9) ที่ระดับ 1.1724/26 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

โดยค่าเงินยูโรยังคงถูกกดดันหลังจากนางคริสติน ลาการ์ด ยืนยันการส่งสัญญาณปรับลดวงเงินในโครงการ PEPP แต่ยังไม่ได้หมายความว่า ECB กำลังถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้ดำเนินมานับตั้แต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1698-1.1731 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1712/14 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ส่วนการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (20/9) ที่ระดับ 109.83/85 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/9) ที่ระดับ 109.97/99 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยตลาดกำลังจับตาดูการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่นในสัปดาห์นี้ โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.51-110.03 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.53/55 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐที่จะมีการเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ได้แก่ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (POMC) แถลงมติอัตราดอกเบี้ย, ดุลบัญชีเดินสะพัดไตรมาส 2/64, ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือน ก.ย.จากสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB), ยอดขายบ้านมือสองเดือน ส.ค., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือน ก.ย.ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นต้นเดือน ก.ย.จากมาร์กิต และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.25/+0.35 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +1.85/+2.70 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 20 กันยายน 2564

เงินเยียวยาเกษตรกรน้ำท่วม 2564 ข้าว พืชไร่ ไม้ผล ไร่ละเท่าไหร่ อัพเดทที่นี่

อัพเดท เงินเยียวยาเกษตรกรน้ำท่วม 2564 ข้าว พืชไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น  กระทรวงเกษตรฯ ปรับหลักเกณฑ์ วิธีปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือ และอัตราการจ่ายเงินใหม่ พร้อมแนะวิธีขอรับเงิน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์อัพเดท เงินเยียวยาเกษตรกร จากสถานการณ์น้ำท่วม 2564 โดยได้รปรับหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝนตกหนัก และฝนตกสะสม จนอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนสไลด์ จนอาจสร้างความเสียหายให้กับพืชผลของเกษตรกร

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ได้มีการปรับหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564

หลักเกณฑ์เงินเยียวยาเกษตรกรน้ำท่วม  2564

เกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรหรือปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดภัย

มีพื้นที่เสียหายสิ้นเชิงอยู่ในพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564

อัตราเงินเยียวยาเกษตรกร น้ำท่วม 2564

ข้าว ไร่ละ 1,340 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่

พืชไร่และพืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่

ไม้ผล ไม้ยืนต้นและอื่นๆ ไร่ละ 4,048 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงแนวทางการช่วยเหลือว่า เมื่ออธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยหรือผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว

จากนั้นกรมส่งเสริมการเกษตรจะเร่งรัดสำรวจและประเมินความเสียหาย และช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564

สำหรับวิธีขอรับเงินเยียวยาเกษตรกร น้ำท่วม 2564 เมื่อพืชผลของเกษตรกรได้รับความเสียหาย ให้เกษตรกรยื่นแบบการขอรับความช่วยเหลือ (กษ 01) ซึ่งมีผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต. หรือนายกเทศมนตรี ทำหน้าที่ตรวจสอบและรับรองเอกสาร แล้วให้คณะกรรมการหมู่บ้านตรวจสอบและรับรองความเสียหาย

หลังจากนั้นให้ติดประกาศคัดค้านตามสถานที่ที่กำหนด ไม่น้อยกว่า 3 วัน เมื่อไม่มีผู้คัดค้าน สำนักงานเกษตรอำเภอนำเสนอคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) พิจารณาให้ความช่วยเหลือ

นอกจากการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 แล้ว กรมส่งเสริมการเกษตรได้เตรียมพืชพันธุ์ดี เช่น ต้นพันธุ์พืชผัก ไม้ผล ไม้ยืนต้น หรือพืชเศรษฐกิจ และสารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อไตรโคเดอร์ม่า พร้อมแจกจ่ายช่วยเหลือเกษตรกรหลังน้ำลดไว้พร้อมแล้ว

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 20 กันยายน. 2564

ก้าวต่อ…5 ปียุทธศาสตร์การค้าชาติ โจทย์หินท้าทายรัฐ ทวงถาม ‘ขีดความสามารถ’

นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้น ส่งผลให้การค้าและเศรษฐกิจของทั่วโลกหยุดชะงักยาวนานกว่า 1 ปี แม้ระหว่างทางจะมีการฟื้นฟูเศรษฐกิจในหลายประเทศ รวมถึงไทยเองก็ได้มีการคลายล็อกเพื่อให้ภาคธุรกิจได้หายใจหายคอบ้าง แต่สุดท้ายก็กลับมาที่จุดเริ่มต้นเช่นเดิม ดังนั้น การที่ไทยจะกลับมาผงาดอีกครั้งจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถของรัฐบาลเป็นอย่างยิ่ง

5 กลยุทธ์เพิ่มความสามารถทางการค้า

แม้ว่าหนทางข้างหน้ายังยากที่จะคาดเดา แต่อย่างไรทุกอย่างต้องเดินหน้า โดยขณะนี้สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์ ได้เตรียมจัดทำแผนยุทธศาสตร์และแนวทางการขับเคลื่อนการค้าของชาติ พ.ศ.2565-2570 หรือเป็นแผนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ โดยเบื้องต้นได้มีการจัดทำ 5 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 1.ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการค้าและเทคโนโลยี คือ การผลักดันให้เกิดการสร้างการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงสุด 2.ยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการค้าเข้มแข็ง คือ พัฒนาระบบและโครงสร้างพื้นฐานทางการค้า 3.ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการค้าสู่ตลาดโลก คือ สร้างโอกาสทางการตลาดและเครือข่ายพันธมิตรทางการค้า 4.ยุทธศาสตร์ส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ คือ การขยายตลาดและช่องทางการค้าภายในประเทศ และ 5.ยุทธศาสตร์พัฒนาและส่งเสริมศักยภาพทุนมนุษย์ คือ การพัฒนากำลังแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมศักยภาพ โดยเปิดให้ทุกภาคส่วนทำการวิจารณ์ก่อนสรุปเพื่อนำไปปฏิบัติต่อไป

ยุทธศาสตร์การค้าชาติในภาวะที่ทั่วโลก รวมถึงไทย ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนหลายด้าน อาทิ การแพร่ระบาดของโควิด-19 การเปลี่ยนไปของพฤติกรรมการใช้ชีวิต การประกอบธุรกิจที่อาจไม่ต้องพึ่งพาการเดินทางพบปะเจรจากันเหมือนเดิม หันใช้เทคโนโลยีและออกมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีมากีดกัน ทำให้ทุกประเทศต้องหาตำแหน่งและจุดยืนในเวทีโลก

กังวลต่างชาติถอนหมุดหนี

ด้าน ธนวัต ลิมป์พาณิชย์กุล นักวิจัย สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า อันดับแรกต้องยอมรับก่อนว่าไทยไม่ได้เป็นประเทศที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติอีกต่อไป เพราะการลงทุนมีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งในตลาดหลักทรัพย์และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศตลอดในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เฉพาะในช่วงเกิดสถานการณ์โควิด-19 ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยค่อยๆ ลดลง สะท้อนจากมูลค่าตลาดหุ้นไทยไม่ได้เติบโตมากนัก แต่สำหรับตลาดหุ้นในภูมิภาคมีการเติบโตเฉลี่ย 60-70% ในขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐขยายตัว 100% โดยนักลงทุนต่างชาติ เทขายตลาดหุ้นไทยและหันไปลงทุนในตลาดอินโดนีเซียและเวียดนามมากขึ้น

โดยความไม่น่าสนใจของไทย ทั้งการลงทุนในตลาดหุ้นและการลงทุนโดยตรงนั้น เกิดจากความสามารถในการแข่งขันของไทยที่ลดลงเพราะอุตสาหกรรมหลักที่ใช้ในการส่งออกของไทยยังคงเป็นอุตสาหกรรมขาลงในตลาดโลก สินค้าเกษตรไทยไม่ได้เป็นสินค้าเพิ่มมูลค่า ขณะที่ประเทศอื่นๆ มีการปรับโครงสร้างใช้นวัตกรรมในการผลิตมากขึ้น สัดส่วนการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีของไทย ยังคงมีสัดส่วนเท่าเดิมที่ 23% ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่เวียดนามสัดส่วนการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขยายตัวเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วน 40% ของการส่งออกในภาพรวมแล้วไทยจึงจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์การค้าชาติเพื่อที่จะใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนประเทศ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และต้องปรับตัวให้เท่าทันหากต้องการให้ประเทศไทยยังอยู่ในเวทีการค้าโลก

มั่นใจไทยยังมีเสน่ห์ดูดลงทุน

ต่างจากความเห็นของ ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ที่มองว่า ไทยยังมีเสน่ห์ดึงดูดนักลงทุน เพราะประเทศไทยมีซัพพลายเชนครบในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อาหาร และปิโตรเคมี เป็นต้น ซึ่งการที่ไทยมีห่วงโซ่อุปทานครบครันแบบนี้ จะเป็นเสน่ห์ที่ดีสำหรับการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามา อีกทั้งแรงงานของไทยส่วนใหญ่มีประสบการณ์ในเรื่องของการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องจากทางยุโรป และญี่ปุ่น จึงทำให้แรงงานได้รับความรู้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมยานยนต์

ส่วนแนวทางที่ไทยจะต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้สู้กับประเทศอื่นๆ ได้ มองไปในทิศทางเดียวกับแผนยุทธศาสตร์ ที่ทาง สนค.ได้มีการกำหนดไว้ เพราะในอนาคตข้างหน้าเรื่องค่าแรงก็อาจจะมีการปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยต้องมีการปรับปรุงในเรื่องของกระบวนการผลิตโดยนำเครื่องจักรกล หรือหุ่นยนต์อัตโนมัติ เข้ามาใช้ในภาคการผลิตให้มากขึ้น เพราะตอนนี้เริ่มส่งสัญญาณแล้วว่าในปี 2565 หากภาคบริการกลับมาเปิดให้บริการก็มั่นใจว่าความต้องการแรงงานก็จะกลับมาเพิ่มขึ้น และแรงงานที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมอาจโดนดึงกลับไป ฉะนั้นผู้ประกอบการจะต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับกับสถานการณ์ดังกล่าวและปรับเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกมากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยต้องศึกษาเพิ่มในแง่ของการผลักดันสินค้าไปในประเทศที่ไทยได้ทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เอาไว้ เพื่อที่ไทยจะได้รับสิทธิประโยชน์ในการนำเข้า และจะต้องมีการเพิ่มทักษะให้กับพนักงานให้มีความรู้มากขึ้น เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงด้านการผลิตที่จะเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีมากขึ้นในอนาคต นอกจากนี้จะต้องมีการพัฒนา ปรับเปลี่ยนรูปแบบการค้าให้เน้นเรื่องออนไลน์ให้มากขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไม่ให้ซ้ำรอยปี 2561

สร้างเข้มแข็งรับอนาคตใหม่

ฟาก พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้ความเห็นว่า ก่อนจะไปถึงเรื่องยุทธศาสตร์การค้าในอีก 5 ปีข้างหน้า ปัจจุบันควรแบ่งกลุ่มอุตสาหกรรมให้ชัดเจนก่อน เมื่อแยกเป็นรายกลุ่มแล้วจะพบว่ากลุ่มที่ได้เม็ดเงินทั้งจากการลงทุนในประเทศและการลงทุนของต่างประเทศ คือ ภาคการส่งออกเป็นหลัก ส่วนเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆ ต้องยอมรับว่าเม็ดเงินนั้นไม่กระจายสู่เศรษฐกิจฐานราก ส่วนใหญ่เม็ดเงินจะไปอยู่ที่แผนการจัดซื้อจัดจ้างไม่ได้สร้างเม็ดเงินต่อระบบเศรษฐกิจมากเท่าที่ควร

ดังนั้น ในช่วงนี้ไทยต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งให้ได้ก่อนโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ในประเทศ หรือการสร้างรายได้ให้กับภาคการท่องเที่ยวและบริการ ที่ต้องเติมบริการเข้าไปด้วยเพื่อต้องการที่จะให้รายได้กระจายไปสู่ภาคธุรกิจรายย่อยด้วย เพราะถ้าผลักดันภาคท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียวกลุ่มที่จะเติบโตคงมีแต่ธุรกิจแอร์ไลน์ และโรงแรม เพียงเท่านั้น ยกตัวอย่างโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ได้รับเสียงสะท้อนจากคนในพื้นที่ว่า เป็นโครงการที่เอื้อประโยชน์ให้กับโรงแรม แต่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ได้รับอานิสงส์จากโครงการนี้เลย จึงอยากให้ดูเรื่องนี้เป็นบทเรียนเพื่อให้กระจายรายได้ไปในส่วนอื่นๆ ต่อไป ไม่เช่นนั้นธุรกิจรายเล็กตายหมด

จากความเห็นของทั้งภาคเอกชน และนักวิชาการสะท้อนให้เห็นว่าการค้าของไทยแม้จะยังมีสิ่งดึงดูดอยู่ แต่หากรัฐบาลไม่สามารถผลักดันให้ไทยกลับมาอยู่ในสปอตไลต์ได้อีกครั้ง เป้าหมายที่ต้องการเพิ่มขีดความสามารถในอนาคตคงไปไม่ถึงฝั่งฝัน คงต้องติดตามต่อไปว่าโจทย์สุดหินในครั้งนี้รัฐบาลจะสามารถผ่านไปได้หรือไม่ต่อไป

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 20 กันยายน. 2564

จีนร่วมวง CPTPP ดันการค้าเอเชียพุ่ง จับตาไทยขาดดุลการค้าพญามังกรเพิ่ม

การค้าโลกร้อนขึ้นมาทันทีต่อกรณีที่จีน มหาอำนาจทางเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ของโลก และผู้ครองตลาดการค้าอันดับต้น ๆ ของโลก ได้ยื่นใบสมัคร(16 ก.ย.64)เพื่อแสดงเจตจำนงเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP

ปัจจุบัน CPTPP มีญี่ปุ่นเป็นแกนนำ หลังสหรัฐฯซึ่งเป็นริเริ่มความตกลงนี้ได้ถอนตัวจากการเป็นสมาชิกเมื่อปี 2560 (โดยโดนัลด์ ทรัมป์) ส่งผลให้ ณ ปัจจุบัน CPTPP มีสมาชิก  11 ประเทศ ประกอบด้วย ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย แลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และบรูไน

ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้ประกาศในการประชุมผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก(เอเปก)เมื่อเดือน พ.ย.2563 ว่าจีนกำลังพิจารณาเข้าร่วมความตกลง CPTPP และก็ปรากฏรูปธรรมของการดำเนินการในวันนี้

อย่างไรก็ดีเพียงแค่จีนเริ่มต้นนับ 1 ใน CPTPP ก็เจอแรงต้านจากประเทศสมาชิก CPTPP อาทิ ออสเตรเลียได้ออกมาส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่าไม่เต็มใจที่จะยอมรับการเจรจาขอเข้าร่วม CPTPP  ของจีน ยกเว้นข้อพิพาททางการค้าของจีน-ออสเตรเลียที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้ จีนจะยอมยกเลิกการเก็บภาษีตอบโต้สินค้าของออสเตรเลียในอัตราสูงในหลายสินค้าเสียก่อน เช่น ไวน์ ข้าว บาร์เลย์ ขณะที่ไต้หวันที่จีนระบุเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีน แสดงความวิตกกังวลว่าการสมัครเข้าร่วม CPTPP ของจีนอาจส่งผลกระทบต่อโอกาสของไต้หวันในการเข้าร่วม CPTPP ในอนาคต ไม่นับรวมญี่ปุ่นที่เป็นพี่ใหญ่ใน CPTPP ในตอนนี้ยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนต่อกรณีที่จีนจะขอเข้าร่วม

ขณะเดียวกันการแสดงเจตจำนงเพื่อขอเจรจาเข้าร่วม CPTPP  ของจีน(จากที่หลายฝ่ายจับตาว่าสหรัฐฯในสมัยโจ ไบเดน จะกลับเข้าร่วมความตกลงเพื่อคานอำนาจจีนในภูมิภาคเอเชียหรือไม่) หลายฝ่ายมองเป็นความพยายามที่จะเพิ่มอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ขณะที่การเข้าร่วมเจรจาเพื่อเป็นสมาชิก CPTPP ของจีนยังต้องผ่านมติเอกฉันท์จาก 11 ประเทศสมาชิก ดังนั้นถือว่าเส้นทางการเข้าร่วม CPTPP ของจีนยังต้องฝ่าด่านหินอีกหลายยก

อย่างไรก็ตามในส่วนของไทย มีคำถามว่า หากจีนสามารถฝ่าด่านเข้าร่วมวง CPTPP ได้สำเร็จ ขณะที่ไทยยังไม่มีความชัดเจนว่าจะขอยื่นเจตจำนงเข้าร่วมเจรจา CPTPP หรือไม่ (ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ หรือ กนศ.ที่มีนายดอน  ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อยู่ระหว่างการศึกษาความพร้อมในการเข้าร่วมการเจรจา CPTPP ของไทยซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุป จากก่อนหน้านี้ยังมีความเห็นต่างถึงผลดี-ผลเสียที่จะตามมาของหลายภาคส่วน ซึ่งต้องพิจารณาให้เกิดความรอบคอบ) จะเกิดผลดี-ผลเสียต่อไทยมากน้อยเพียงใดหากไทยจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมการเจรจา เพราะการที่จีนตัดหน้าไทยทำหนังสือแสดงเจตจำนงขอร่วมเจรจา CPTPP ในครั้งนี้ ยอมมีผลต่อเป้าหมายที่ไทยจะได้รับจากความเข้าร่วม CPTPP ที่จะเปลี่ยนแปลงไป จากจีนจะเป็นตัวแปรที่สำคัญ

ทั้งนี้จากผลการศึกษาเดิมที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ว่าจ้างบริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) ทำการศึกษาได้วิเคราะห์ผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับหากเข้าร่วม CPTPP ในด้านผลบวก เช่น GDP จะขยายตัว 0.12% คิดเป็นมูลค่า 13,323 ล้านบาท  การลงทุนจะขยายตัว 5.14% คิดเป็นมูลค่า 148,240 ล้านบาท และการส่งออกจะขยายตัว 3.47% คิดเป็นมูลค่า 271,340 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 73,370 ล้านบาท สินค้าที่มีโอกาสส่งออกเพิ่มขึ้นจากการที่สมาชิก CPTPP ต้องเปิดตลาดให้ไทยมากกว่า FTA ในปัจจุบัน(สมาชิก CPTPP ณ ปัจจุบัน ไทยมี  FTA แล้วเกือบทุกประเทศ ยกเว้น แคนาดา และเม็กซิโก ที่ยังไม่มี FTA ระหว่างกัน) เช่น ไก่แปรรูป น้ำตาล ข้าว อาหารทะเล ผลไม้สด / แห้ง รถยนต์และส่วนประกอบ ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ และเครื่องแต่งกาย เป็นต้น

ส่วนผลลบต่อไทย กรณีไม่เข้าร่วม CPTPP เช่น GDP จะลดลง 0.25% คิดเป็นมูลค่า 26,629 ล้านบาท การลงทุนจะลดลง 0.49% คิดเป็นมูลค่า 14,270 ล้านบาท และการส่งออกจะลดลง 0.19% คิดเป็นมูลค่า 14,560 ล้านบาท และการจ้างงานและผลตอบแทนแรงงานจะลดลง 8,440 ล้านบาท จากผลการศึกษาสรุปไทยได้มากกว่าเสีย (แต่ยังไม่นับรวมผลลบที่อาจตามมาด้านการเกษตรและพันธุ์พืช ที่ยังเป็นข้อกังขาของภาคประชาชน)

อย่างไรก็ดีข้อเท็จจริง ณ ปัจจุบันในด้านการค้า  ในปี 2563 ไทยมีการค้ากับกลุ่ม CPTPP มูลค่ารวม  3.90 ล้านล้านบาท (ขยายตัวลดลง หรือติดลบ -10.45% เมื่อเทียบกับปี 2562)  คิดเป็นสัดส่วน 28.57% ที่ไทยค้ากับโลก โดยไทยส่งออก 2.10 ล้านล้านบาท (-7.01%) คิดเป็นสัดส่วน  29.33% ของการส่งออกในภาพรวม และนำเข้า 1.79 ล้านล้านบาท (-14.17%) คิดเป็นสัดส่วน 27.72% ของการนำเข้าในภาพรวม ไทยได้ดุลการค้ากลุ่ม CPTPP  3.11 แสนล้านบาท

ส่วนช่วง 7 เดือนแรกปี 2564 การค้าไทย-CPTPP มีมูลค่า 2.64 ล้านล้านบาท (ขยายตัวเพิ่มขึ้น +19.84% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563) คิดเป็นสัดส่วน 27.98% ที่ไทยค้ากับโลก โดยไทยส่งออก 1.36 ล้านล้านบาท (+14.90%) คิดเป็นสัดส่วน 28.90% ของการส่งออกในภาพรวม และนำเข้า 1.27 ล้านล้านบาท (+25.63%) คิดเป็นสัดส่วน 27.06% ของการนำเข้าในภาพรวม ไทยได้ดุลการค้า 9.12 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP /อาร์เซ็ป) หรือเอฟทีเออาเซียนบวก 6 (อาเซียน 10 ประเทศ บวก 6 ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้  ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์(ยกเว้นอินเดีย)) ที่สมาชิกได้ร่วมลงนามความตกลงไปแล้วเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 ส่งผลให้ความตกลง RCEP กลายเป็นความตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน ทั้งในแง่ของการเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมประชากรกว่า 2,200 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของประชากรโลก และขนาดเศรษฐกิจ(GDP)รวมกันกว่า 26 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 29% ของจีดีพีโลก และมูลค่าการค้ารวม 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯคิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของมูลค่าการค้าโลก ที่คาดความตกลงจะมีผลบังคับใช้ภายในปีนี้นั้น

ในปี 2563 การค้าไทย-RCEP มีมูลค่ารวม 8.16 ล้านล้านบาท(คิดเป็นสัดส่วน 59.78% ที่ไทยค้ากับโลก) ขยายตัวลดลง หรือติดลบ -8.75% เมื่อเทียบกับปี 2562 โดยไทยส่งออก 3.99 ล้านล้านบาท (-8.05%) คิดเป็นสัดส่วน 55.65% ของการส่งออกในภาพรวม ไทยนำเข้า 4.16 ล้านล้านบาท (-9.40%) คิดเป็นสัดส่วน 64.35% ของการนำเข้าในภาพรวม ไทยขาดดุลการค้า 1.69 แสนล้านบาท (ส่วนใหญ่เป็นการขาดดุลการค้าจีนโดยปี 2563 ไทยขาดดุลการค้าจีน 6.40 แสนล้านบาท)

ส่วนช่วง 7 เดือนแรกปี 2564 การค้าไทย-RCEP มีมูลค่ารวม  5.72 ล้านล้านบาท (สัดส่วน 60.71% ที่ไทยค้ากับโลก) ขยายตัวเพิ่มขึ้น 22.98% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยไทยส่งออก 2.70 ล้านล้านบาท (+17.24%) คิดเป็นสัดส่วน 57.21% ของการส่งออกในภาพรวม ไทยนำเข้า 3.02 ล้านล้านบาท (+28.59%) คิดเป็นสัดส่วน 64.23% ของการนำเข้าในภาพรวม ไทยขาดดุลการค้า 3.22 แสนล้านบาท (ส่วนใหญ่ขาดดุลการค้าจีน  7 เดือนแรกปี 2564 ไทยขาดดุลการค้าจีน 4.88 แสนล้านบาท)

จากข้อมูลจะเห็นว่าการค้าเสรีภายใต้กรอบ FTA ไม่ว่าจะเป็นในกรอบใด ไทยมีโอกาสทั้งได้และเสีย เพราะความตกลงเป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน โดยไทยอาจจะได้ดุลการค้ากับประเทศหนึ่ง แต่อาจขาดดุลการค้ากับอีกประเทศหนึ่ง โดยเฉพาะการขาดดุลการค้ากับจีนที่เป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย (ปี 2563 การค้าไทย-จีน คิดเป็นสัดส่วน 20% ที่ไทยค้ากับโลก) โดยสินค้าที่ไทยนำเข้า 5 อันดับแรกจากจีนได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ, เครื่องใช้ไฟฟ้า, เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์

ทั้งนี้หากทั้งจีนและไทยสามารถเข้ารวม CPTPP ได้สำเร็จ การค้าไทยกับกลุ่ม CPTPP ก็มีโอกาสที่จะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ไทยมีโอกาสได้ดุลการค้าประเทศสมาชิกในกลุ่มเพิ่มขึ้น ขณะที่ไทยก็มีโอกาสที่จะขาดดุลการค้าจีนเพิ่มขึ้นเช่นกัน จากต้องเปิดกว้างทางการค้าระหว่างกันมากขึ้น

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 19 กันยายน. 2564

“พาณิชย์” แนะผู้ส่งออกศึกษาประกาศอียูห้ามสารตะกั่ว-แคดเมียมในอาหาร

“ทูตพาณิชย์บูดาเปสต์” แจ้งข่าวคณะกรรมาธิการยุโรปออกประกาศแก้ไขปริมาณตกค้างสูงสุดสารตะกั่วและแคดเมียมในอาหารเพิ่มเติม เหตุเป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์ เป็นสารก่อมะเร็ง แต่ยกเว้นสินค้าที่ผลิตก่อน 31 ส.ค. 64 ให้ขายได้ถึง 28 ก.พ. 65 เผยสินค้าอาหารที่เข้าข่ายมีจำนวนมาก แนะผู้ส่งออกไทยศึกษา และเตรียมความพร้อมเพื่อเพิ่มโอกาสในการขาย

น.ส.ฐะปะนีย์ เครื่องประดิษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงบูดาเปสต์ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้คณะกรรมาธิการยุโรปได้ออกประกาศ Commission Implementing Regulation (EU) 2021/1317 ว่าด้วยการแก้ไขปริมาณตกค้างสูงสุด (MLs) ของสารตะกั่ว (Lead) ในอาหาร และ Commission Regulation (EU) 2021/1323 การแก้ไขปริมาณตกค้างสูงสุด (MLs) ของสารแคดเมียม (Cadmium) ในอาหาร ตามลำดับ โดยปรับปรุงเพิ่มเติมจากระเบียบเก่า เนื่องจากสารดังกล่าวเป็นพิษต่อระบบต่างๆ ในร่างกายมนุษย์ อีกทั้งเป็นสารก่อมะเร็ง จึงปรับปริมาณ MLs ในสินค้าอาหารกลุ่มเสี่ยง และอาหารที่บริโภคโดยทารกและเด็กเล็ก เช่น น้ำนม นมสำหรับทารก อาหารทารก เนื้อสัตว์ ธัญพืช น้ำมัน ผัก ผลไม้ น้ำผลไม้ ไวน์ อาหารเสริม สมุนไพร เกลือ เป็นต้น ทั้งนี้ สินค้าที่ผลิตขึ้นก่อน 31 ส.ค. 2564 (วันที่ระเบียบข้างต้นมีผลบังคับใช้) อนุโลมให้จำหน่ายในท้องตลาดได้จนถึงวันที่ 28 ก.พ. 2565

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปรายงานว่า การบังคับใช้กฎระเบียบดังกล่าวเป็นไปเพื่อลดปริมาณสารก่อมะเร็งในสินค้าอาหาร และส่งเสริมให้ผู้บริโภคเข้าถงอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น อันเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการต่อสู้กับโรคมะเร็ง Europe’s Beating Cancer Plan ปี 2564 เนื่องจากโรคมะเร็งเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประชากรทั่วโลก โดยปัจจุบันผู้ป่วยโรคมะเร็งราว 1 ใน 4 จากทั้งโลกอยู่ในพื้นที่สหภาพยุโรป โรคมะเร็งที่พบบ่อย ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับ และมะเร็งลำไส้ โดยจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี

น.ส.ฐะปะนีย์กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกสินค้าทางการเกษตรและสินค้าอาหารไปยังสหภาพยุโรปเป็นอันดับต้นๆ ของอาเซียน โดยในปี 2563 สินค้าหมวดอาหารและสัตว์มีชีวิต เครื่องดื่มและยาสูบ และน้ำมัน ไขมันจากพืชและสัตว์ คิดเป็นร้อยละ 9 ของสินค้านำเข้าทั้งหมดจากประเทศไทยไปยังสหภาพยุโรป จึงนับว่าสินค้าอาหารจากไทยยังมีโอกาสทางการค้าในสหภาพยุโรปอยู่มาก แต่ผลจากสหภาพยุโรปให้ความสำคัญต่อสวัสดิภาพและสุขอนามัยของผู้บริโภคอย่างมาก จึงมีการทบทวนระเบียบที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของสินค้าอุปโภคบริโภคตลอด ผู้ประกอบการไทยที่สนใจจะส่งสินค้าไปขายในฮังการีและโรมาเนีย ควรติดตามข่าวการควบคุมด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยของอาหารจากคณะกรรมาธิการยุโรปอยู่อย่างสม่ำเสมอ

ก่อนหน้านี้ หน่วยงานตรวจสอบความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป (European Food Safety Authority หรือ EFSA) แถลงในรายงานประเมินความปลอดภัยของสารไทเทเนียมไดออกไซด์ในวัตถุเจือปนอาหารฉบับล่าสุดว่า ข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันยืนยันว่าสารไทเทเนียมไดออกไซด์มีความเสี่ยงที่เป็นพิษต่อพันธุกรรม (Genotoxicity) เป็นเหตุให้ไม่สามารถยืนยันปริมาณที่มนุษย์สามารถรับประทานและสะสมเข้าในร่างกายได้ทุกวันโดยไม่ก่อให้เกิดความผิดปกติใดๆ ต่อสุขภาพอนามัย จึงให้ถือว่าสารไทเทเนียมไดออกไซด์ไม่ปลอดภัยสำหรับการบริโภค (Unsafe) ข้อมูลชุดนี้จะเป็นข้อมูลสำคัญให้แก่คณะกรรมาธิการยุโรปในการพิจารณาห้ามใช้สารดังกล่าวในการผลิตอาหารทั้งสหภาพยุโรปในอนาคต ขณะที่ฝรั่งเศสได้ห้ามใช้สารดังกล่าวในสินค้าอาหารที่จำหน่ายในประเทศตั้งแต่ปี 2562 โดยชี้แจงว่าไม่มีหลักฐานยืนยันความปลอดภัยของสารดังกล่าวต่อผู้บริโภคในระยะยาว

สารไทเทเนียมไดออกไซด์ (Titanium dioxide : TiO2) หรือมักเรียกในวงการอุตสาหกรรมอาหารว่า E171 โดยทั่วไปมีสีขาว ทึบแสง ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เนื่องจากไม่มีกลิ่น และดูดซับได้ดี ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอาหารมักใช้สารไทเทเนียมไดออกไซด์ในสารแต่งสีขาว เช่น ซุป น้ำสต๊อก ซอสปรุงรส ลูกกวาด หมากฝรั่ง แป้ง น้ำตาลตกแต่งหน้าเค้กและขนมอบต่างๆ รวมทั้งน้ำตาลไอซิ่ง เป็นต้น ปรุงแต่งสีอาหารให้มีสีนวลขึ้น และใช้เคลือบฟิล์มบนพื้นผิวผลิตภัณฑ์ขนมไม่ให้ขนมติดกัน แต่มิได้มีคุณค่าทางโภชนาการแต่อย่างใด และยังใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอื่นๆ เช่น ใช้เป็นส่วนประกอบของบรรจุภัณฑ์ เวชภัณฑ์ ยาสีฟัน เครื่องสำอาง ครีมกันแดด สีทาบ้าน เป็นต้น เนื่องจากมีคุณสมบัติเพิ่มความข้นหนืด ทำให้ผิวกระจ่างใส นุ่มลื่น และป้องกันแดดจากคุณสมบัติทึบแสงและการดูดกลืนรังสี UV ได้

จาก https://mgronline.com  วันที่ 19 กันยายน. 2564

สหรัฐ ขอบคุณ ‘จุรินทร์’ ประกาศร่วมมือไทย-อาเซียน ฟื้นเศรษฐกิจโลก

‘มัลลิกา’ เผย รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐ ส่งหนังสือขอบคุณ ‘จุรินทร์’ ระบุ สหรัฐฯพร้อมทำงานร่วมกับไทยและอาเซียน ขยายการค้าการลงทุนและฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกหลังสถานการณ์โควิด-19 ย้ำ พร้อมร่วมมือพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้าให้เกิดประโยชน์ระหว่างกันอย่างเต็มที่

นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้รับหนังสือขอบคุณจากรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ นางจีน่า ไรมอนโด ในโอกาสที่นายจุรินทร์มีหนังสือแสดงความยินดีในโอกาสเข้ารับตำแหน่งก่อนหน้านี้ โดยในหนังสือดังกล่าว ยังระบุว่า พร้อมที่จะทำงานร่วมกับประเทศพันธมิตรในอาเซียนและทั่วโลก เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจผ่านการขยายการค้าและการลงทุน โดยได้ย้ำว่า สหรัฐฯ และไทยมีประวัติศาสตร์การมีส่วนร่วมกันมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่การลงนามสนธิสัญญาไมตรี และการพาณิชย์ ในปี 2376 หรือกว่า 188 ปี

สหรัฐฯ อยู่ระหว่างการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงพร้อมร่วมมือกับไทยในการพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้า และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจไทย-สหรัฐฯ ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ยังเห็นถึงความสำคัญของการดำเนินความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ไทย เพื่อให้เกิดประโยชน์กับการค้าระหว่างสองประเทศอย่างเต็มที่ และเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลก

นายจุรินทร์ มีแนวนโยบายที่ให้ความสำคัญกับทุกข้อตกลงที่เกิดจากการเจรจา โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทย ซึ่งมีบทบาทในการขับเคลื่อนการเจรจาด้านการค้าระดับต่างๆ จนเป็นที่คุ้นเคยของวงการการทูตพาณิชย์ต่างประเทศ และรัฐมนตรีด้านการพาณิชย์ของแต่ละประเทศ ทั้งความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซ็ป และความตกลงต่างๆ ภายใต้กรอบของอาเซียน

ไทยและสหรัฐฯ มีการหารือกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้ามาอย่างต่อเนื่อง ผ่านทั้งเวทีระดับทวิภาคี คือ การประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุน (TIFA) ที่เน้นการแลกเปลี่ยนความคืบหน้าการดำเนินนโยบายและมาตรการทางการค้า ตลอดจนการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน และเวทีระดับภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเน้นการจัดทำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (ช่วงปี 2564-2565) ที่ครอบคลุมประเด็นสำคัญ เช่น การค้าดิจิทัล การอำนวยความสะดวกทางการค้า การเสริมสร้างความพร้อมให้กับวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย ในการประกอบธุรกิจออนไลน์และการค้าดิจิทัล เป็นต้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนและสหรัฐ” นางมัลลิกากล่าว

ด้านนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ มีนโยบายให้ผลักดันและเร่งรัดการเจรจาที่ไทยจะได้ประโยชน์ทางการค้า ทำให้การค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ในช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.) ของปี 2564 มีมูลค่ากว่า 971,031.83 ล้านบาท ขยายตัว 6.19% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มูลค่า 715,092.87 ล้านบาท ขยายตัว 18.71% และนำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 255,938.96 ล้านบาท หดตัวลง 17.99% สินค้าส่งออกจากไทยไปสหรัฐฯ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น และสินค้าที่ไทยนำเข้าจากสหรัฐฯ เช่น น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 18 กันยายน. 2564

กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าโครงการ OPOAI-C ปี 64 ยกระดับสินค้าเกษตร เสริมศักยภาพเกษตรกรไทย

กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้ายกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรผ่านโครงการ “OPOAI-C 1 จังหวัด 1 ชุมชนสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม” ปี 2564 ขับเคลื่อนผ่านสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ มุ่งพัฒนาและส่งเสริมให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายมีรายได้เพิ่มขึ้น

นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า “โครงการแปรรูปสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม 1 จังหวัด 1 ชุมชน (One Province One Agro-Industrial Community : OPOAI-C) หรือที่เรียกว่า โครงการโอปอยซี ดำเนินการขึ้นเพื่อมุ่งสร้างองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มเกษตรกร หรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือกลุ่มสมาชิกสหกรณ์การเกษตร เป้าหมาย 1-2 กลุ่ม/จังหวัด เพื่อสร้างวางรากฐานจากเกษตรไปสู่การเป็นนักธุรกิจเกษตร / Startup / ผู้ประกอบการขนาดเล็ก / ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ต่อไปในอนาคต เพื่อให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ส่งผลให้เป็นอีกหนึ่งกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ

โครงการโอปอยซี ในปี 2564 จะมีความใหม่ และเข้มข้นมากขึ้นเนื่องจากส่งเสริมให้เกษตรกรเป้าหมาย เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพของสินค้า บรรจุภัณฑ์ รวมถึงเน้นการเสริมสร้างองค์ความรู้ต่างๆ ให้แก่เกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย ผ่านการจัดกิจกรรมอบรมสัมมนาในหัวข้อต่างๆ เช่น การให้ความรู้ด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตผลทางการเกษตร มาตรฐานผลิตภัณฑ์-บรรจุภัณฑ์ การทำการตลาดทั้งแบบออนไลน์-ออฟไลน์ การฝึกอบรมเชิงลึกเพื่อพัฒนาและยกระดับเกษตรกรใหม่ให้เป็นนักธุรกิจเกษตร กลุ่ม Start up และกลุ่ม SMEs คนตัวเล็ก

จาก https://mgronline.com  วันที่ 18 กันยายน. 2564

รัฐมนตรีการค้า 18 ประเทศ ถกแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจภูมิภาค

รัฐมนตรีเศรษฐกิจ 18 ประเทศ ร่วมถกแนวทางรับมือโควิค-19 หวังฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาค เน้นย้ำสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ลดอุปสรรคทางการค้า เชื่อมโยงเครือข่ายภาคเอกชนระหว่างประเทศ หนุนความร่วมมือพร้อมสร้างความมั่นใจการเข้าถึงวัคซีนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจในกรอบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS-EMM) ครั้งที่ 9 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจ 18 ประเทศ ประกอบด้วย อาเซียน และคู่เจรจา 8 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย ได้ร่วมหารือแนวทางการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิค-19 และแนวทางความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาค

โดยที่ประชุม EAS ได้เน้นย้ำถึงเป้าหมายสำคัญเพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน หลีกเลี่ยงการใช้มาตรการที่มิใช่ภาษีที่เข้มงวด โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าและบริการที่จำเป็น เพื่อลดอุปสรรคทางการค้าและไม่เลือกปฏิบัติ และรักษาความสามารถในการแข่งขันเพื่อดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลก   การส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน สนับสนุนธุรกิจและพัฒนานวัตกรรมสีเขียว สร้างความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิตโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล และ การเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการลงทุน เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นทางธุรกิจในภูมิภาค ตลอดจนการเชื่อมโยงเครือข่ายภาคเอกชนระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นความสำคัญของความร่วมมือด้านสาธารณสุข และสร้างความมั่นใจการเข้าถึงวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เน้นให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของความมั่นคงทางสาธารณสุข อาหาร และพลังงาน พร้อมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานตามกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน (ACRF) เพื่อกำหนดทิศทางและกลยุทธ์การฟื้นฟูสังคมและเศรษฐกิจ ตลอดจนกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือโควิด-19 ที่จะช่วยบรรเทาความต้องการเร่งด่วนของสมาชิก ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก EAS ภายหลังวิกฤตโควิด-19

ทั้งนี้ ในปี 2563 การค้าระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศอาเซียน+8 มีมูลค่า 313,180.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปกลุ่มประเทศอาเซียน+8 มูลค่า 164,015.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากกลุ่มประเทศอาเซียน+8 มูลค่า 149,164.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค. – ก.ค.) ของปี 2564 การค้าระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศอาเซียน+8 มีมูลค่า 219,922.40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 22.6% โดยไทยส่งออกมูลค่า 112,642.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้ามูลค่า 107,280.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญของไทยในเอเชียตะวันออก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย และเวียดนาม สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปกลุ่มประเทศดังกล่าว เช่น เม็ดพลาสติก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 17 กันยายน. 2564

‘จุรินทร์’เจาะตลาดขยายการค้าไทย-ไห่หนานนำการค้าไทยลุยตลาดจีน

เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์  หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ลงนาม MOU ด้านการค้ากับมณฑลไห่หนาน ประเทศจีน เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็น MOU ฉบับประวัติศาสตร์ และเป็นฉบับแรกที่ไทยทำกับระดับมณฑลของจีน ตามนโยบายการเร่งรัดการเจรจาการค้าภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ

โดยกระทรวงพาณิชย์มีแผนที่จะจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจระหว่างไทยกับไห่หนานในช่วงปลายปี 2564 ในรูปแบบของการจับคู่เจรจาธุรกิจออนไลน์ หรือ Online Business Matching: OBM และวิธีการส่งเฉพาะสินค้าตัวอย่างไปจัดแสดงในงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ หรือ Mirror & Mirror โดยจะเลือกโมเดลที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และก้าวข้ามขีดจำกัดในยุค New Normal 

นอกจากนี้ สำหรับในปี 2565 ยังมีแผนกิจกรรมที่จะสร้างโอกาสในการส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนระหว่างกันอีกมาก ทั้งการจัดงาน Top Thai Brand ไห่หนาน ซึ่งจะเป็นการยกทัพสินค้าแบรนด์ดังระดับโลกของไทยไปร่วมจัดแสดงในงาน Hainan Expo อีกครั้งเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมธุรกิจบริการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งไทยมีโอกาสผลักดันทั้งสินค้าและบริการเชิงสุขภาพเข้าไปให้บริการในไห่หนาน อาทิ การนวดแผนไทย สปา ผลิตภัณฑ์ด้านความงาม ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย และการให้บริการสุขภาพแบบองค์รวม

ทั้งนี้ นายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุด้วยว่าหลังจากที่รัฐบาลจีนได้มีนโยบายและประกาศให้มณฑลไห่หนานเป็นเมืองท่าการค้าเสรีเชื่อมโยงประเทศที่อยู่ในแนวหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ยิ่งกระตุ้นให้ภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับมณฑลไห่หนานมากยิ่งขึ้น โดยในส่วนของประเทศไทยได้เริ่มมีสินค้าไทยเข้าไปขยายตลาดในมณฑลไห่หนานแล้ว สำหรับมูลค่าการค้าระหว่างไทย - ไห่หนาน ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 มีมูลค่ารวม 3,623 ล้านบาท โดยไทยส่งออกไปไห่หนาน 2,482 ล้านบาท และไทยนำเข้าจากไห่หนาน 1,142 ล้านบาท เป็นเบื้องต้น และการทำข้อตกลงนี้ เป็นนโยบายการค้ายุคใหม่ของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และเมื่อ 20 สิงหาคม 2564 นายจุรินทร์ได้เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจด้านความร่วมมือทางการค้าไทย-ไห่หนาน ระหว่างนายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กับนายเฉิน ซี อธิบดีกรมพาณิชย์ไห่หนาน ผ่านระบบทางไกล

“การลงนาม MOU เมื่อเดือนก่อนจะเป็นกลไกที่สำคัญในการส่งเสริมการค้าและการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันได้อย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต และรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์พาณิชย์ให้แนวทางไว้ว่าความร่วมมือที่เกิดขึ้นนี้ ถือเป็น Mini-FTA ฉบับแรกที่ไทยทำกับมณฑลในประเทศจีน ซึ่งเป็นนโยบายที่ให้ไว้กับกระทรวงพาณิชย์ว่าให้ทำความตกลงการค้าฉบับเล็ก หรือจะเรียกว่า Mini-FTA ก็ได้ โดยทำกับรัฐต่าง ๆ ที่บางรัฐมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าหรือมีจำนวนประชาชนมากกว่าประเทศไทย

โดยไห่หนานเป็นตัวอย่างแรกที่เกิดขึ้นกับประเทศจีน และยังมีแผนที่จะเดินหน้าทำกับมณฑลอื่น ๆ ของจีนเพิ่มขึ้น เช่น มณฑลกานชู ที่มีชาวมุสลิมอยู่มาก เพื่อเป็นลู่ทางในการส่งเสริมการค้าสินค้าฮาลาลของไทย รวมถึงมณฑลอื่น ๆ ที่เห็นว่าเป็นโอกาส ทั้งนี้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ท่านจุรินทร์” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าว

ด้านนางสาวสุภาวดี แย้มกมล  ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาตลาดและธุรกิจไทยในต่างประเทศ 1 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับเนื้อหาความร่วมมือนั้น ทางรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ให้ไว้ประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่ 1. ความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลและมาตรการสนับสนุน SMEs เช่น การลงทุน การจัดตั้งตัวแทนการค้าร่วมกัน 2. ส่งเสริมเชื่อมโยงธุรกิจ เพื่อยกระดับความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมของ SMEs เช่น การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้  พัฒนาสินค้า ขยายโอกาสสู่ตลาดที่สาม 3. อำนวยความสะดวกในกิจกรรมทางการค้า เข่น งานสัมมนา งานแสดงสินค้า จับคู่ธุรกิจ คณะผู้แทนการค้า เป็นต้น 4.ด้านการมุ่งขยายมูลค่าการค้าใน 3 สินค้าหลัก ประกอบด้วย สินค้าทางด้านการเกษตร สินค้าอาหาร และสินค้าอุตสาหกรรม 5. ส่งเสริมความร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และจับคู่ธุรกิจออนไลน์

“ที่เมืองไห่หนานนั้นมี นางสาวอรนุช วรรณภิญโญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว พร้อมทีมเซลล์แมนประเทศ หรือทีมทูตพาณิชย์ เจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ประจำสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ดำเนินการประสานงานในพื้นที่ โดยทางฝ่ายไทยมี สำนักพัฒนาตลาดและธุรกิจไทยในต่างประเทศ 1 ประสานดำเนินงานตามพันธะกิจนี้” นางสาวสุภาวดี กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2564

กลุ่ม KTIS คาดผลผลิตอ้อยปี 64/65 เพิ่มกว่า 25%

กลุ่ม "เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น" คาดผลผลิตอ้อยฤดูกาลผลิตปี 64/65 สูงกว่าปีก่อนกว่า 25% เนื่องจากปีนี้มีปริมาณฝนเพียงพอ มั่นใจทุกสายธุรกิจเติบโตดี ทั้งน้ำตาล เอทานอล ไฟฟ้า และเยื่อกระดาษชานอ้อย แถมต้นปี 2565 จะเริ่มรับรู้รายได้จากโครงการผลิตบรรจุภัณฑ์ชานอ้อย และโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ เฟส 1 หนุนผลการดำเนินงานรอบปี 2565 สูงกว่าปี 2564

นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร เปิดเผยว่า จากการประเมินผลผลิตอ้อยของกลุ่ม KTIS สำหรับฤดูกาลผลิตปี 2564/2565 ซึ่งจะเข้าหีบในปลายปีนี้ พบว่า ได้รับผลดีจากการที่มีปริมาณฝนในพื้นที่เพาะปลูกมากกว่าปีก่อน โดยคาดว่าจะมีปริมาณอ้อยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนไม่น้อยกว่า 25% ซึ่งจะส่งผลดีต่อทุกสายธุรกิจทั้งการผลิตและจำหน่ายน้ำตาล เอทานอล ไฟฟ้า และเยื่อกระดาษจากชานอ้อย ซึ่งจะมีวัตถุดิบเข้าสู่กระบวนการผลิตมากขึ้น

“ถ้าเราได้วัตถุดิบหลักคืออ้อยในปริมาณมากขึ้น รายได้จากการจำหน่ายน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องจะดีขึ้นทั้งหมด เพราะจะมีโมลาสที่นำไปผลิตเอทานอลมากขึ้น มีชานอ้อยที่นำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้ามากขึ้น และมีชานอ้อยเข้าสู่กระบวนการผลิตเยื่อกระดาษมากขึ้นด้วย เมื่อประกอบกับราคาขายน้ำตาล เอทานอล ไฟฟ้า และเยื่อกระดาษที่มีแนวโน้มที่ดีจากดีมานด์ที่สูงขึ้นหลังการผ่อนคลายการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว จะยิ่งส่งผลดีต่อผลการดำเนินงานของกลุ่ม KTIS ในปี 2565” นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว

นอกจากนี้ ในปี 2565 กลุ่ม KTIS จะเริ่มรับรู้รายได้จากกลุ่มธุรกิจใหม่เพิ่มเติมเข้ามาอีกด้วย คือ โครงการผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากเยื่อชานอ้อย ซึ่งมีกำลังการผลิตสูงถึง 50 ตันต่อวัน โดยมีเครื่องจักร 50 เครื่อง ที่สามารถผลิตบรรจุภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้หลากหลายรูปแบบ เช่น จาน ชาม กล่อง ถาดหลุม เป็นต้น รวมไปถึงการผลิตและจำหน่ายหลอดชานอ้อยซึ่งออกสู่ตลาดมาระยะหนึ่งแล้ว และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม KTIS กล่าวด้วยว่า รายได้ที่จะเข้ามาเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่งจะมาจากโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ (NBC) เฟส 1 ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท จีจีซี เคทิสไบโออินดัสเทรียล จำกัด หรือ GKBI บริษัทร่วมทุนระหว่างกลุ่ม KTIS และ GGC ซึ่งมีโรงงานผลิตเอทานอลจากน้ำอ้อย กำลังการผลิต 6 แสนลิตรต่อวัน และโรงไฟฟ้า 3 โรง กำลังการผลิตติดตั้งรวม 85 เมกะวัตต์

“นับตั้งแต่ที่บริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อปี 2557 พร้อมกับการลงทุนในโครงการใหม่ๆ หลายโครงการ ต้องนับว่าปี 2565 ที่จะถึงนี้เป็นพัฒนาการที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งของกลุ่ม KTIS เพราะมีการรับรู้รายได้จากการขยายการลงทุน รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลิตภัณฑ์เดิมด้วย เช่น การผลิตบรรจุภัณฑ์จากเยื่อชานอ้อยและหลอดชานอ้อย ที่สามารถเพิ่มมูลค่าของเยื่อชานอ้อยให้สูงขึ้นเกือบ 4 เท่าตัว หรือการจำหน่ายแอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดมือ แบรนด์ KNAS ก็เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มของโรงงานผลิตเอทานอล และยังมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือสังคม ทำให้ประชาชนได้มีแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรคใช้ในราคาที่เป็นธรรมอีกด้วย” นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว

จาก https://mgronline.com  วันที่ 15 กันยายน 2564

ส่งออกทะยานทุบสถิติ 10 ปี อานิสงส์ ศก.โลกฟื้น-ค่าระวางเรือพุ่ง 4 เท่าตัวถ่วง

เอกชนลุ้นส่งออกปี 64 ทำนิวไฮ ขยายตัวสูงสุดรอบ 10 ปี ทำสถิติมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สรท.ระบุ 5 เดือนสุดท้ายยังมี 3 ปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องฝ่าฟัน ทั้งค่าระวางเรือพุ่งเกินครึ่งล้านต่อตู้ ขาดแคลนชิพ พ่วงโควิดลามคลัสเตอร์โรงงาน รถยนต์-ยางพารา-การ์เมนต์เล็งเข้าเป้า

ภาคการส่งออก เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเพียงเครื่องยนต์เดียวที่ยังพอมีแรงช่วยขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า ยังถือเป็นความหวังในการพยุงเศรษฐกิจปีนี้ไม่ให้ติดลบ ภาพรวมช่วง 7 เดือนแรกไทยส่งออกมูลค่า 154,985 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (4.72 ล้านล้านบาท) ขยายตัว 16.20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะเดือนที่เหลือของปีนี้ส่งออกไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก ทั้งสหรัฐฯ จีน สหภาพยุโรป (อียู) และญี่ปุ่น

ส่งผลให้ภาคเอกชนที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการส่งออกปรับคาดการณ์เพิ่มขึ้น โดยสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ปรับคาดการณ์ส่งออกปี 2564 จาก 10% เป็น 10-12% และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ปรับคาดการณ์จาก 10-12% เป็น 12-14% (ณ ก.ย.64) ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ยังคงเป้าหมายไว้ที่ 4%

ลุ้นขยายตัวสูงสุดรอบ 10 ปี

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธาน สรท.เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ส่งออกไทยปีนี้คาดจะขยายตัวได้ที่ 10-14% โดยการขยายตัวที่ 10% ไม่น่ามีปัญหามีโอกาสเป็นไปได้ 100% เพราะในอีก 5 เดือนที่เหลือของปีนี้ต้องทำให้ได้เฉลี่ย 19,926 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือน ซึ่งเทียบกับ 5 เดือนสุดท้ายปี 2563 ที่มีสถานการณ์โควิดเช่นกัน ไทยส่งออกได้เฉลี่ย 19,652 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือน แต่ปีนี้สถานการณ์ส่งออกไทยถือว่าดีกว่า ส่วนการขยายตัวที่ 12% หรือเฉลี่ยต้องทำให้ได้ 20,852 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือน มองว่ามีความเป็นไปได้ 60% และการส่งออกขยายตัวที่ 14% หรือเฉลี่ยที่ 21,778 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือนมองว่ามีความเป็นไปได้ 30%

“ฟันธงว่าส่งออกไทยปีนี้ขยายตัวที่ 10% มีความมั่นใจ 100% ส่วนขยายตัว 12% มีความเป็นไปได้สูงรองลงมาที่ 60% และขยายตัวที่ 14% มีความมั่นใจ 30% อย่างไรก็ดีการส่งออกไม่ว่าจะขยายตัวที่ 10% 12% หรือ 14% จะถือว่าเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 10 ปี และมีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์(กราฟิกประกอบ)”

3 ปัจจัยเสี่ยงต้องฝ่าด่าน

ทั้งนี้การส่งออกในเดือนที่เหลือของปีนี้ หลายสินค้าส่งออกสำคัญยังมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง (ส่วนใหญ่จะมีการส่งมอบสินค้าช่วงเดือนก.ย.-พ.ย.) ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เม็ดพลาสติก สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (ส่วนที่ยังติดลบ เช่น ข้าว น้ำตาล อาหารทะเลกระป๋อง)

อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญ 3 ประการที่อาจส่งผลกระทบ ได้แก่ 1. การขาดแคลนพื้นที่ระวางเรือเนื่องจากปลายปีเป็นช่วงที่แต่ละประเทศเร่งส่งออก (พีค ซีซั่น) และค่าระวางเรือยังอยู่ในทิศทางขาขึ้นและยังขึ้นไม่หยุด โดยเฉพาะเส้นทางยุโรป และอเมริกา ตัวอย่างเส้นทางไปสหรัฐฯ ณ เดือนสิงหาคม ขนาดตู้ 40 ฟุตมีค่าระวางประมาณ 7 แสนบาทต่อตู้ จากปีที่แล้วอยู่ที่ 1.5 แสนบาทต่อตู้ หรือขึ้นมากกว่า 4 เท่าตัว 2.การขาดแคลนเซมิคอน ดักเตอร์ (ไมโครชิพ) ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่อาจส่งผลต่อการส่งออกในกลุ่มสินค้าดังกล่าวไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และ 3.การระบาดของโควิดในโรงงานผลิตเพื่อส่งออกที่อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตและการส่งมอบสินค้า

“เรื่องค่าระวางเรือที่สูงขึ้นมากและยังขึ้นไม่หยุด ล่าสุด สรท.ได้หารือกับคณะกรรมการเดินเรือแห่งชาติของสหรัฐฯ (USFMC) เพื่อให้ช่วยตรวจสอบว่าสมเหตุสมผลและมีความเป็นธรรมหรือไม่ เพราะอีกด้านหนึ่งก็กระทบผู้นำเข้าของสหรัฐฯเองเช่นกัน ขณะที่เวลานี้ตลาดสายเดินเรือของโลกสัดส่วนกว่า 80% อยู่ในมือของ 8 สายเดินเรือที่ผนึกกันเป็นพันธมิตร (Alliance) ส่วนใหญ่เป็นของยุโรปและจีน แต่เขาปฏิเสธว่าไม่ได้ฮั้วกัน” นายชัยชาญ กล่าว

รถยนต์ลุ้นส่งออก 9 แสนคัน

ด้านนายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาห กรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ทางกลุ่มยังคงเป้าหมายการส่งออกปีนี้ที่ 8-8.5 แสนคัน (จากต้นปีตั้งไว้ที่ 7.5 แสนคัน) และยังลุ้นว่าทั้งปีจะส่งออกได้ถึง 9 แสนคัน ซึ่งจะได้หรือไม่ (7 เดือนแรกส่งออกแล้ว 544,079 คัน) มี 2 ตัวแปรหลักคือการขาดแคลนชิพซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ยุคใหม่ต้องติดตามว่าจะรุนแรงแค่ไหน รวมถึงการระบาดของโควิดในโรงงานชิ้นส่วนยานยนต์ที่เป็นซัพพลายเชนของโรงงานประกอบรถยนต์จะสามารถควบคุมให้ดีขึ้นได้หรือไม่

 ยาง-การ์เมนต์ลุ้นเข้าเป้า

ขณะที่นายหลักชัย กิตติพล นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมยางพาราไทย กล่าวว่า คำสั่งซื้อยางพาราจากต่างประเทศยังมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจีนและมาเลเซีย ซึ่งเป็น 2 ตลาดใหญ่ของไทย เพื่อนำไปผลิตยางล้อรถยนต์ ถุงมือยางและอื่น ๆ คาดปีนี้ปริมาณและมูลค่าส่งออกยางพาราของไทยจะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 25% จากช่วง 7 เดือนแรกส่งออกสูงสุดในรอบ 6 ปี เมื่อเทียบกับช่วง 7 เดือนแรกของปีก่อนหน้า (ส่งออกแล้ว 1.86 ล้านตัน +25% มูลค่า 9.58 หมื่นล้านบาท +64%)

นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า ช่วง 7 เดือนแรกปี 2564 ไทยส่งออกเครื่องนุ่งห่มทุกประเภท 39,831 ล้านบาท ขยายตัว 2% โดยตลาดสหรัฐฮ่องกง และยุโรปปรับตัวดีขึ้น ทั้งปีนี้ยังลุ้นการส่งออกจะขยายตัวได้ที่ 10% (ปี 2563 ส่งออก 65,825 ล้านบาท -17%)

ส่วนนายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวว่า คาดปีนี้การส่งออกทูน่ากระป๋องจะติดลบ 10-15% (จากปี 2563 ส่งออก 69,958 ล้านบาท +4.1%) จากปีนี้สถานการณ์โควิดในต่างประเทศคลี่คลาย คนออกไปทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น ส่งผลคำสั่งซื้อลดลง แต่ยังมองว่าภาพรวมตลาดในไตรมาสที่ 4 จะกลับมา แต่ทั้งปีคงไม่ได้โตหวือหวาเหมือนปีที่แล้ว

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 15 กันยายน 2564

กรมเจรจาฯชวนฟังFTAกับโมเดลเศรษฐกิจใหม่

กรมเจรจาฯ ชวนฟังสัมมนาออนไลน์ “FTA ไทย-EFTA กับโมเดลเศรษฐกิจใหม่หลัง COVID-19” 20 ก.ย.นี้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯ เตรียมจัดสัมมนาออนไลน์ “FTA ไทย-EFTA กับโมเดลเศรษฐกิจใหม่หลัง COVID-19” ในวันที่ 20 กันยายน นี้ เพื่อให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA กับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป หรือ EFTA ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญในการเร่งเปิดการเจรจา FTA กับตลาดใหม่ๆ และคู่ค้าสำคัญ

โดยกรมฯได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐ เอกชน เกษตรกร นักวิชาการ และภาคประชาสังคม ร่วมเป็นวิทยากร บรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “โมเดลเศรษฐกิจของโลกหลัง COVID-19 การพลิกฟื้นเศรษฐกิจด้วยการค้าระหว่างประเทศ” ซึ่งเป็นโอกาสที่ผู้เข้าร่วมสัมมนาจะได้ทราบถึงประโยชน์และผลกระทบต่อไทยในการเจรจา FTA กับ EFTA และประเด็นสำคัญภายใต้การเจรจา เช่น การค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายการแข่งขันทางการค้า และความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ

สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนาออนไลน์สามารถลงทะเบียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้ที่ https://www.eventpassinsight.co/mobile/registration/create/ftae/ โดยร่วมรับฟังผ่านระบบ ZOOM ได้ทางลิงค์ https://zoom.us/webinar/register/WN_SW_iVW1xQ96BakcUYInIHg และรับชมการถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

จาก https://www.innnews.co.th วันที่ 15 กันยายน 2564

ฝนชุก กลุ่มบริษัทเกษตรไทยฯ คาดผลผลิตอ้อยปี64/65 เพิ่ม 25%

นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร เปิดเผยว่า จากการประเมินผลผลิตอ้อยของกลุ่ม KTIS สำหรับฤดูการผลิตปี 2564/2565 ซึ่งจะเข้าหีบในปลายปีนี้ พบว่า ได้รับผลดีจากการที่มีปริมาณฝนในพื้นที่เพาะปลูกมากกว่าปีก่อน คาดว่าจะมีปริมาณอ้อยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนไม่น้อยกว่า 25% ซึ่งจะส่งผลดีต่อทุกสายธุรกิจทั้งการผลิตและจำหน่ายน้ำตาล เอทานอล ไฟฟ้า และเยื่อกระดาษจากชานอ้อย ซึ่งจะมีวัตถุดิบเข้าสู่กระบวนการผลิตมากขึ้น

“ถ้าเราได้วัตถุดิบหลักคืออ้อยในปริมาณมากขึ้น รายได้จากการจำหน่ายน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องก็จะดีขึ้นทั้งหมด เพราะจะมีโมลาสที่นำไปผลิตเอทานอลมากขึ้น มีชานอ้อยที่นำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้ามากขึ้น และมีชานอ้อยเข้าสู่กระบวนการผลิตเยื่อกระดาษมากขึ้นด้วย เมื่อประกอบกับราคาขายน้ำตาล เอทานอล ไฟฟ้า และเยื่อกระดาษ ที่มีแนวโน้มที่ดี จากดีมานด์ที่สูงขึ้นหลังการผ่อนคลายการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว ก็จะยิ่งส่งผลดีต่อผลการดำเนินงานของกลุ่ม KTIS ในปี 2565” นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว

นายณัฎฐปัญญ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ปี 2565 กลุ่ม KTIS จะเริ่มรับรู้รายได้จากกลุ่มธุรกิจใหม่เพิ่มเติมเข้ามาอีกด้วย คือ โครงการผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากเยื่อชานอ้อย ซึ่งมีกำลังการผลิตสูงถึง 50 ตันต่อวัน โดยมีเครื่องจักร 50 เครื่อง ที่สามารถผลิตบรรจุภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้หลากหลายรูปแบบ เช่น จาน ชาม กล่อง ถาดหลุม เป็นต้น รวมถึงการผลิตและจำหน่ายหลอดชานอ้อยซึ่งออกสู่ตลาดมาระยะหนึ่งแล้วได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี รายได้ที่จะเข้ามาเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่งจากโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ (NBC) เฟส 1 โดยบริษัท จีจีซี เคทิสไบโออินดัสเทรียล จำกัด หรือ GKBI บริษัทร่วมทุนระหว่างกลุ่ม KTIS และ GGC มีโรงงานผลิตเอทานอลจากน้ำอ้อย กำลังการผลิต 6 แสนลิตรต่อวัน และโรงไฟฟ้า 3 โรง กำลังการผลิตติดตั้ง 85 เมกะวัตต์

นายณัฎฐปัญญ์ กล่าวว่า นับตั้งแต่ที่บริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 2557 พร้อมกับการลงทุนในโครงการใหม่ๆ หลายโครงการ ต้องนับว่าปี 2565 จะถึงนี้ เป็นพัฒนาการที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งของกลุ่ม KTIS เพราะมีการรับรู้รายได้จากการขยายการลงทุน รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลิตภัณฑ์เดิมด้วย เช่น การผลิตบรรจุภัณฑ์จากเยื่อชานอ้อยและหลอดชานอ้อย ที่สามารถเพิ่มมูลค่าของเยื่อชานอ้อยให้สูงขึ้นเกือบ 4 เท่าตัว หรือการจำหน่ายแอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดมือ แบรนด์ KNAS ก็เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มของโรงงานผลิตเอทานอล และยังมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือสังคม ทำให้ประชาชนได้มีแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรคใช้ในราคาที่เป็นธรรมอีกด้วย

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 15 กันยายน 2564

“พาณิชย์”วาง5แนวทางขับเคลื่อน ยุทธศาสตร์การค้าไทย5ปี

“พาณิชย์” เปิดรับฟังความเห็น ร่างยุทธศาสตร์การค้าไทย 5ปี  ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์หลัก เน้นขับเคลื่อนการค้าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี พัฒนาระบบและโครงสร้างพื้นฐานทางการค้า ส่งเสริมการค้าไทยสู่ตลาดโลก ส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคในประเทศ และพัฒนาทุนมนุษย์

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงการจัดทำยุทธศาสตร์การค้าของไทยปี 2565-70 ว่า สนค.ได้ร่วมกับสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศึกษาสถานการณ์และสภาพแวดล้อมทางการค้า ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการกำหนดทิศทางการพัฒนาของประเทศ เพื่อจัดทำข้อเสนอยุทธศาสตร์และแนวทางการขับเคลื่อนการค้าของชาติ พ.ศ.2565–2570

ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 โดยเปิดรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแล้วหลายครั้ง ขณะนี้ยังเปิดรับฟังความเห็นอยู่ และเมื่อรับฟังความเห็นเสร็จสิ้นแล้ว จะนำความเห็นเหล่านี้มาปรับปรุงร่างยุทธศาสตร์และนำเสนอให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เห็นชอบ ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

สำหรับร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าว ได้กำหนดวิสัยทัศน์ คือ การค้าไทยเข้มแข็ง เติบโตอย่างทั่วถึ ง และยั่งยืน รองรับโอกาสการค้าโลก ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ คือ 1.ขับเคลื่อนการค้าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยให้ผู้ประกอบการสร้าง ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการผลิตสินค้าและบริการให้สอดคล้องตลาดโลก ดึงดูดการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมศักยภาพ ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัล

2.พัฒนาโครางสร้างพื้นฐานการค้าให้เข้มแข็ง โดยพัฒนาระบบและโครงสร้างพื้นฐานทางการค้า เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า ลดต้นทุน และเพิ่มโอกาสขยายตลาด ปรับปรุงกฎระเบียบให้สะดวกขึ้น เป็นภาระกับผู้ประกอบการน้อยลง และสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และสร้างเครือข่ายความร่วมมือให้เกิดการบูรณาการและขับเคลื่อนประเด็นการค้า

3.ส่งเสริมการค้าไทยสู่ตลาดโลก โดยสร้างโอกาสทางการตลาดและเครือข่ายพันธมิตรทางการค้า พัฒนาตลาดและช่องทางการค้าในอาเซียน สร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าและบริการของไทย และส่งเสริมการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีและธุรกิจบริการสมัยใหม่

4.ส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคในประเทศ โดยขยายตลาดและช่องทางการค้าในประเทศ สร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก และส่งเสริมการใช้สินค้าและบริการที่ผลิตได้ในประเทศ5.พัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทุนมนุษย์ โดยพัฒนาแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมศักยภาพ และพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลง

  ทั้งนี้ยุทธศาสตร์ที่จัดทำขึ้น สะท้อนความท้าทาย ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ อีกทั้งยังสอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยเน้นการสร้างขีดความสามารถและความพร้อมที่จะรับมือ ฟื้นตัว และใช้ประโยชน์จากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลง ต่อยอดและใช้ประโยชน์จากสินค้าและบริการที่โดดเด่นของไทย รวมถึงการสร้างสินค้าและบริการใหม่ ๆ ด้วยการใช้นวัตกรรม และสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และยังเน้นพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าของประเทศให้ครอบคลุม ทั่วถึง และเกิดความยั่งยืน สนับสนุนให้ผู้ประกอบการชุมชน และท้องถิ่น สามารถพึ่งพาตนเองและเชื่อมโยงกับตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้สอดคล้องกัน ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น ไปจนถึงผู้ประกอบธุรกิจการค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้มากที่สุด

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 14 กันยายน 2564

9 ท่าทีไทย บนเวทีสมัชชาสหประชาชาติครั้งที่ 76

ครม.เห็นชอบ 9 ท่าทีไทยในเวทีการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 76

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบร่างเอกสารท่าทีไทยในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 76 ซึ่งจะจัดประชุมในวันที่ 14 กันยายนนี้ ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ สำหรับร่างเอกสารท่าทีไทยในการประชุมครั้งนี้ เป็นการแสดงจุดยืนและท่าทีในประเด็นที่มีความสำคัญต่างๆ อาทิ สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ความมั่นคง เป็นต้น ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

1.ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานเพื่อการพัฒนาและสนับสนุนแหล่งพลังงานใหม่และพลังงานหมุนเวียน การจัดการภัยพิบัติ และการรับมือการแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงความมุ่งมั่นของไทยในการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 และการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

2.บทบาทไทยในการปฏิบัติการรักษาสันติภาพ และให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้านสันติภาพของ UN และการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยอย่างยั่งยืน

3.ส่งเสริมความร่วมมือของประเทศในภูมิภาคแอฟริกา ในฐานะหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและการพัฒนา โดยใช้หลักความเท่าเทียม ความไว้เนื้อเชื่อใจ และผลประโยชน์ร่วมกัน

4.ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิผู้เปราะบาง ทั้งเด็ก สตรี คนพิการ และผู้สูงอายุ การขจัดการเหยียดผิวและการเลือกปฏิบัติด้านเชื้อชาติ รวมถึงการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน สิทธิ และเสรีภาพในการแสดงออก

5.สนับสนุนการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและให้ความสำคัญกับประเด็นความร่วมมือและความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม อันเป็นผลมาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติในภูมิภาค

6.ติดตามความคืบหน้าการทำงานคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงประเด็นอื่นๆ เช่น การคุ้มครองบุคคลในกรณีภัยพิบัติ และโครงการช่วยเหลือแห่ง UN ในการเรียนการสอน

7.สนับสนุนการลดและขจัดอาวุธนิวเคลียร์ รวมทั้งผลกระทบด้านมนุษยธรรมจากอาวุธนิวเคลียร์ การป้องกันมิให้ผู้ก่อการร้ายได้มาซึ่งอาวุธที่มีอานุภาพ

8.ให้ความสำคัญกับประเด็นร่วมมือระหว่างประเทศว่าด้วยการควบคุมสารเสพติดระหว่างประเทศ การป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา และมาตรการขจัดการก่อการร้ายสากล

9.ให้ความสนใจประเด็นสุขภาพโลกและนโยบายต่างประเทศ โดยเน้นบทบาทนำของไทยในด้านสาธารณสุขและด้านบริหารองค์กร

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 14 กันยายน 2564

กฟผ.ชูพลังงานหมุนเวียน 24 ชม.ใช้แบตเตอรี่เสริม รับเทรนด์โลกสู่พลังงานสะอาด

กฟผ.มุ่งผลักดันพลังงานหมุนเวียน พลังงานแสงอาทิตย์ น้ำ แบตเตอรี่ 24 ชั่วโมง (Solar-Hydro-Battery Energy Storage : SHB) และเสริมความแข็งแรงระบบส่งเชื่อมอาเซียน ในงาน ASEAN Energy Business Forum 2021 (AEBF2021)

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษในหัวข้อ “ASEAN Utilities and Age of Transformation” ในการประชุมด้านพลังงานและการแสดงนิทรรศการพลังงานที่สำคัญแห่งอาเซียน ASEAN Energy Business Forum 2021 (AEBF2021) ซึ่งจัดขึ้นโดยศูนย์พลังงานอาเซียน (ASEAN Centre for Energy : ACE) ระหว่างวันที่ 14-16 กันยายน 2564

นายบุญญนิตย์กล่าวว่า หลังจากประเทศไทยประสบความสำเร็จในการพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลก (Hydro Floating Solar Hybrid) กำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ ซึ่งจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date : COD) ภายในปี 2564 และภายใน 10 ปีข้างหน้า กฟผ.ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการอีก 15 โครงการในพื้นที่เขื่อน 8 แห่ง ซึ่งมีกำลังผลิตรวม 2,680 เมกะวัตต์ เพื่อเป็นการสนับสนุนเป้าหมาย Carbon Neutrality ของโลก กฟผ.เตรียมพัฒนาพลังงานหมุนเวียน 24 ชั่วโมงในรูปแบบ Solar-Hydro-Battery Energy Storage (SHB) ที่ได้นำ Battery มาเสริมความมั่นคงด้านพลังงานหมุนเวียน ด้วยราคาของแบตเตอรี่และแผงโซลาร์เซลล์ที่ลดลงในอนาคต จะส่งผลดีต่อต้นทุนโครงการ

แม้ว่าการเติบโตของพลังงานหมุนเวียนจะทำให้ระบบไฟฟ้ามีความซับซ้อน เนื่องจากความไม่แน่นอนของปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน แต่ก็สร้างโอกาสในการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) ซึ่งจะช่วยรองรับการเติบโตของพลังงานหมุนเวียนและช่วยยกระดับความมั่นคงของระบบไฟฟ้า โดย กฟผ.มีแผนพัฒนาศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน, การปรับปรุงโรงไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่น, สถานีไฟฟ้าแรงสูงดิจิทัล, ศูนย์ควบคุมสั่งการตอบสนองด้านโหลด, ระบบกักเก็บพลังงานจากแบตเตอรี่ และโรงไฟฟ้าเสมือน เพื่อให้พลังงานหมุนเวียนมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ การสร้างการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าข้ามพรมแดนเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการนำพลังงานหมุนเวียนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบไฟฟ้า และเป็นภารกิจลำดับต้นๆ ของ กฟผ.ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เพื่อจะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาค และเพื่อสนับสนุนการเติบโตของตลาดพลังงานหมุนเวียน กฟผ.ได้นำกลไกตลาดพลังงานสีเขียวมาใช้ ซึ่งรู้จักในชื่อว่า ตลาดซื้อขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC) ที่จะช่วยให้ผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถอ้างสิทธิ์การผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รวมทั้งเพื่อดึงดูดการลงทุนจากบริษัทระดับโลก

“ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน กฟผ.ในฐานะองค์การผลิตไฟฟ้าระดับประเทศมีกลยุทธ์หลากหลายมิติ เพื่อให้เกิดการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงนโยบายและกลไกตลาด เรายืนยันว่าการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจะเป็นไปอย่างราบรื่น และอนาคตของระบบไฟฟ้าจะมีความมั่นคงยิ่งขึ้น ดังวิสัยทัศน์ของ กฟผ.ที่ว่า นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าเพื่อชีวิตที่ดีกว่า” ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าว

จาก https://mgronline.com  วันที่ 14 กันยายน 2564

ก.อุตฯถก "ศบค.อก." ตั้งกรอบขับเคลื่อนมาตรการ BBS ในโรงงาน รองรับผ่อนคลายมาตรการรัฐ

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการด้านการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการและโรงงานอุตสาหกรรม (ศบค.อก.) เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 14/2564 สั่งการ ณ วันที่ 28 สิงหาคม 2564 มอบหมายให้เป็นหัวหน้าศูนย์ ศบค.อก. เพื่อบูรณาการการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของ Covid-19 ในสถานประกอบกิจการและโรงงานอุตสาหกรรม การประชุมคณะกรรมการ ศบค.อก. ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา มีวาระการพิจารณาที่สำคัญคือ 1.สถานประกอบกิจการและโรงงาน เป้าหมายที่ศูนย์ฯจะเข้าไปดูแล 2.การกำหนดหลักเกณฑ์ฯและแนวทางขับเคลื่อนมาตรการป้องกันควบคุมในพื้นที่เฉพาะ หรือ Bubble & Seal (BBS) มาประยุกต์ใช้กับสถานประกอบกิจการและโรงงาน เพื่อรองรับการผ่อนคลายมาตรการของภาครัฐ เพื่อให้ธุรกิจและอุตสาหกรรมเปิดดำเนินกิจการได้ โดยไม่เกิดการระบาดสู่ชุมชน รวมทั้งเป็นการเตรียมพร้อมรองรับระบบรับรองบุคคล เพื่อผ่านเข้ากิจการ หรือกิจกรรม ซึ่งจะเชื่อมโยงกับการฉีดวัคซีนและการใช้ชุดตรวจโควิด ATK (Antigen Test Kit)

ทั้งนี้เพื่อเปิดธุรกิจอุตสาหกรรมให้สามารถเดินหน้าต่อได้ แม้จะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็ตาม ในส่วนของสถานประกอบการและโรงงานฯ เป้าหมายที่ ศบค.อก. จะกำกับควบคุมคือ 1.โรงงานอุตสาหกรรม ตาม พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ.2535 มีประมาณ 70,000 โรงงาน ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมดูแลอยู่ในขณะนี้ 2.สถานประกอบกิจการผลิตที่ไม่ใช่โรงงาน ใช้เครื่องจักรไม่เกิน 50 แรงม้า ที่เดิมยังไม่มีใครเป็นเจ้าภาพ กลุ่มนี้มีประมาณ 70,000 โรงงาน ที่ประชุมมอบหมายกระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานครดูแล 3.แคมป์คนงาน ข้อมูลในเบื้องต้นเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีประมาณ 1,317 แคมป์ ที่ประชุมได้มอบหมาย กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงแรงงานดูแล ทั้งสามกลุ่มสามารถจะนำมาตรการ BBS ไปประยุกต์ใช้ได้ และทุกหน่วยจะต้องทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้จะมีการจัดทำและเชื่อมโยงฐานข้อมูลผู้ติดเชื้อระหว่างกัน เพื่อประโยชน์ในการติดตามสถานการณ์อันจะช่วยป้องกันและลดจำนวนผู้ติดเชื้อ

สำหรับเป้าหมายการดำเนินการของ ศบค.อก.ได้กำหนดให้สถานประกอบการทั้งสามกลุ่มมีระดับผลผลิต (Output) ได้รับความรู้ความเข้าใจมาตรการ BBS ประมาณ 140,000 โรงงาน การได้รับคำปรึกษาแนะนำแบบ coaching/Onsite ประมาณ 30,000 โรงงาน และการเข้าร่วมดำเนินการมาตรการ BBS เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10% ต่อเดือนหรือ 3,000 โรงงาน ระดับผลลัพธ์ (Outcome)คือ สถานประกอบการและโรงงานมีการติดเชื้อโควิด-19 ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้จะมีสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด 76 แห่งและสำนักงานป้องกันควบคุมโรค 12 เขต เข้าไปเป็นวิทยากรแนะนำ ไม่ว่าจะเป็น 1) การทำ BBS 2) การจัดการสภาพแวดล้อม 3) มีการจัดการกิจกรรม/จุดที่มีความเสี่ยงสูง 4) จัดการสภาพการทำงานและการเดินทางที่ปลอดภัย คัดกรองด้วย ATK และ 5) จัดกิจกรรมและสถานที่ไม่ให้มีความแออัด

โดยการเข้าไปดูแลของ ศบค.อก.สอดคล้องกับข้อมูลการติดเชื้อของสถานประกอบกิจการที่ผ่านมา และเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มการติดเชื้อสูง หาก ศบค.ผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ จากข้อมูลของ ศบค.อก. วันที่ 13 กันยายน 2564 พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการโรงงาน ทั้งสิ้น 67,281 คน รักษาหายแล้ว 26,139 คน จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ เพชรบุรี, สมุทรปราการ, ฉะเชิงเทรา, สระบุรี, และสมุทรสาคร โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร, อิเล็กทรอนิกส์, เครื่องนุ่งห่ม, โลหะ, และพลาสติก ตามลำดับ

ทั้งนี้ที่ประชุมได้แต่งตั้งคณะทำงานอีก 2 ชุดเพื่อสนับสนุน ศบค.อก.ได้แก่ คณะทำงานภายในกระทรวงฯ รับผิดชอบดูแลโรงงานอุตสาหกรรม และคณะทำงานที่มีรองปลัดกระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบดูแลสถานประกอบกิจการผลิตที่ไม่ใช่โรงงาน ตลอดจนแคมป์ก่อสร้าง และรับข้อเสนอของเอกชนมาผลักดันนำเสนอรัฐบาลต่อไป สำหรับความต้องการขอรับความช่วยเหลือจากรัฐที่ได้รับในเบื้องต้น คือ 1) คำแนะนำ/แนวทาง Bubble & Seal 2) การสนับสนุนวัคซีนและชุดตรวจ ATK และ 3) ด้านค่าใช้จ่ายในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

จาก https://siamrath.co.th   วันที่ 14 กันยายน 2564

เงินบาท’ วันนี้เปิด’แข็งค่า’ ที่32.86บาทต่อดอลลาร์

“กรุงไทย”ชี้เงินบาทกลับมาแข็งค่าจากตลาดการเงินกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น แต่แนวโน้มเงินบาทระยะสั้น ยังมีแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า จากศบค.คาดอาจเกิดการระบาดระลอกใหม่ช่วงปลายเดือนและความวุ่นวายการเมือง มองกรอบเงินบาทวันนี้ที่32.80- 32.95บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุนธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันนี้(14ก.ย.) ที่ระดับ  32.86 บาทต่อดอลลาร แข็งค่าขึ้น จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  32.91 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.80-32.95 บาทต่อดอลลาร์

แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทเริ่มมีแรงกดดันฝั่งอ่อนค่ามากขึ้น ทั้งความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดในประเทศ ที่เริ่มมีเสียงเตือนจากฝั่ง ศบค. ว่าอาจมีการระบาดระลอกใหม่ในช่วงปลายเดือนได้ รวมถึงประเด็นความวุ่นวายของการเมืองในประเทศก็อาจกดดันเงินบาทได้เช่นกันในระยะสั้น

อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทยังคงมีแนวต้านสำคัญใกล้ระดับ 32.90-33.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่บรรดาผู้ส่งออกต่างรอเข้ามาทยอยขายเงินดอลลาร์มากขึ้น

ทั้งนี้ ประเด็นข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ทั้ง อัตราเงินเฟ้อ ยอดค้าปลีก ก็อาจทำให้เงินดอลลาร์มีแนวโน้มผันผวนและกลับมาแข็งค่าได้ หากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้และทำให้ผู้เล่นในตลาดมองว่าเฟดอาจมีการขยับไทม์ไลน์ลดคิวอีเร็วขึ้น หรือ ลดคิวอีในอัตราที่สูงขึ้น ซึ่งแรงกดดันจากเงินดอลลาร์อาจทำให้ เงินบาทยังไม่สามารถกลับไปแข็งค่าอย่างชัดเจนได้ในระยะสั้น

ตลาดการเงินโดยรวมเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะในฝั่งตลาด Developed Markets (DM) หลังจากในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินในฝั่ง DM ต่างเผชิญแรงเทขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยง อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดการเงินยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก เพราะต่างรอคอยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) และ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ที่อาจส่งผลกระทบต่อคาดการณ์ของผู้เล่นในตลาดถึงช่วงเวลาหรือขนาดการปรับลดคิวอีของเฟด

ทั้งนี้ในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนี Dowjones ปรับตัวขึ้นราว +0.76% ส่วน ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.23% ตลาดหุ้นสหรัฐฯโดยรวมได้รับแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงานตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวขึ้น หลัง OPEC ประเมินว่าความต้องการใช้พลังงานจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและอยู่ในระดับสูงกว่ากำลังการผลิตไปอย่างน้อยอีก 1 ปีข้างหน้านอกจากนี้ การฟื้นกำลังการผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ อาจเผชิญปัญหาใหม่จากพายุโซนร้อน Nicholas ที่อาจทวีความรุนแรงเป็นเฮอริเคน  ทั้งนี้ บรรดาผู้เล่นในตลาดสหรัฐฯ จะรอจับตาประเด็นการปรับลดการอัดฉีดสภาพคล่อง (คิวอี) ของ เฟด จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิดต่อไป

ทางด้านตลาดยุโรป ดัชนี STOXX50 ปรับตัวขึ้นราว +0.46% หลังผู้เล่นในตลาดไม่ได้กังวลต่อแนวโน้มการ “ปรับลด” ปริมาณการซื้อสินทรัพย์เล็กน้อยในโครงการ PEPP (Pandemic Emergency Purchase Program) ของ ECB โดยผู้เล่นในตลาดต่างให้ความสนใจแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปที่มีโอกาสกลับมาขยายตัวได้แข็งแกร่งในปีนี้และปีหน้า หนุนให้ หุ้นในธีม Cyclical ยังเดินหน้าปรับตัวขึ้นต่อ อาทิ หุ้นกลุ่มยานยนต์ Daimler +4.1%, BMW +3.3% รวมถึงหุ้นกลุ่มการเงิน Santander และ BNP Paribas +2.3%

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงเล็กน้อย 1bps สู่ระดับ 1.33% เพราะแม้ว่าตลาดการเงินโดยรวมดูเหมือนจะอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง แต่ผู้เล่นบางส่วนก็ยังคงมีมุมมองระมัดระวัง เนื่องจากสัปดาห์นี้จะมีการรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ อย่าง เงินเฟ้อ และยอดค้าปลีก รวมถึง วันศุกร์จะเป็นวันที่สัญญาตราสารอนุพันธ์ในตลาดจะหมดอายุ ทำให้ตลาดอาจมีความผันผวนสูงขึ้นได้

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้ปรับตัวลดลงใกล้ระดับ 92.62 จุด หลังจากแตะจุดสูงสุดใกล้ระดับ 92.90 จุด โดยการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์นั้น ส่วนหนึ่งมาจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังคงมีโมเมนตัมหนุนอยู่ หากรายงานเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับสูงกว่า 5.3% กดดันให้ตลาดมองว่า เฟดอาจมีการปรับเปลี่ยนไทม์ไลน์การลดคิวอี หรือ ขนาดการลดคิวอี

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดจะรอติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของเฟดในการทยอยปรับลดคิวอี โดยเฉพาะ รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เนื่องจากปัญหา ณ ปัจจุบันของเศรษฐกิจสหรัฐฯคือ ภาวะเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยตลาดมองว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เดือนสิงหาคม จะสูงถึง 5.3%y/y หนุนโดยค่าใช้จ่ายในธีม Reopening รวมถึงการกลับไปทำงานและใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้นของชาวอเมริกัน ซึ่งต้องติดตามว่า เฟดยังคงมีมุมมองว่า เงินเฟ้อจะอยู่ในระดับสูงเพียงชั่วคราว (Transitory) ต่อไปหรือไม่

จาก https://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2564

ดันแผนลงทุนอีอีซี 2.5 ล้านล้านบาท ตั้งเป้ายกระดับรายได้ให้เกษตรกร

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.หรืออีอีซี) เปิดเผยผลการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมเห็นชอบปรับแผนการลงทุนในพื้นที่อีอีซีช่วง 5 ปี ระหว่างปี 65-69 ในมูลค่า 2.5 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มการลงทุนให้ได้อีกปีละ 500,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 ส่วนได้แก่ 1.การขอส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) 250,000 ล้านบาท

2.การเร่งรัดและชักจูงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือการแพทย์ อุตสากรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา 5G รวมปีละไม่ต่ำกว่า 150,000 ล้านบาท ประกอบด้วยอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 40,000 ล้านบาท อุตสาหกรรม 5G ดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ 50,000 ล้านบาท อุตสาหกรรมการแพทย์สมัยใหม่และสุขภาพมูลค่าสูง 30,000 ล้านบาท และอุตสาหกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์ 30,000 ล้านบาท และ 3.การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาเมืองที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การพัฒนาเมืองการบินอู่ตะเภา การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูง โดยรวมปีละ 100,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ยังไม่รวมโครงการเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ โครงการภายใต้งบบูรณาการอีอีชี และการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

“อีอีซียังมีความเติบโตต่อเนื่อง และขยายตัวมากกว่าเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ ซึ่งปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 1-1.5% แต่อีอีซีเติบโตถึง 3.5% จากการผลิตเพื่อส่งออกที่เติบโต ในระยะต่อไปอีอีซีจะเป็นพื้นที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ จะเห็นได้ว่าตามแผนลงทุนแรกของอีอีซี 5 ปี หรือปี 61-65 อยู่ที่ 1.7 ล้านล้านบาท แต่ภายใน 3 ปี 8 เดือน คือ ณ เดือน ก.ย.64 อนุมัติลงทุนแล้ว 1.6 ล้านล้านบาท หรือ 94% ของเป้าหมาย”

นอกจากนี้ สกพอ. ยังร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สร้างโอกาสการตลาดให้กับสินค้าเกษตรคุณภาพดี มีมูลค่าสูง โดยเริ่มพัฒนา 5 คลัสเตอร์สำคัญ ได้แก่ ผลไม้ ทุเรียน มังคุด มะม่วง, ประมงเพาะเลี้ยง สัตว์น้ำทดแทนนำเข้า, พืชอุตสาหกรรมชีวภาพ มันสำปะหลัง, พืชสมุนไพร ฟ้าทะลายโจร และเกษตร มูลค่าสูง โคเนื้อพรีเมียม ตั้งเป้าหมายยกระดับรายได้ให้ชุมชนเกษตรกรในอีอีซีเทียบเท่าอุตสาหกรรม-บริการ และทำให้จีดีพี ภาคเกษตรในอีอีซีเพิ่มขึ้น.

จาก https://www.thairath.co.th   วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2564

จับตา 57 โรงงานน้ำตาลกับภารกิจบูตผลผลิตอ้อย 100 ล้านตัน

อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยกำลังนับถอยหลังที่จะเข้าสู่ฤดูการเปิดหีบในปี 2564/65 ที่คาดว่าจะเป็นช่วงต้นเดือนธันวาคม 2564 นี้ ซึ่งหลายฝ่ายต่างหมายมั่นว่าผลผลิตอ้อยในฤดูหีบปีนี้จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 85-90 ล้านตันด้วยเพราะปริมาณฝนที่ตกมาแบบต่อเนื่องซึ่งเอื้อต่อผลผลิตอ้อยให้เติบโตได้ดียิ่งขึ้น นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้อุตสาหกรรมดังกล่าวกลับมาสู่การฟื้นตัวหลังจากที่ผลผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายถึงจุดต่ำสุดไปแล้วในฤดูหีบที่ผ่านมาเนื่องจากเผชิญภาวะแห้งแล้งหนักสุดในรอบ 40 ปี

ประกอบกับราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกที่ส่งสัญญาณสดใสที่ขณะนี้ราคาน้ำตาลทรายดิบวิ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 19-20 เซ็นต์ต่อปอนด์ จึงทำให้เห็นแนวโน้มราคาอ้อยขั้นต้นในฤดูหีบปีหน้า (ปี 2565/66) ยังคงมีแนวโน้มสูงเช่นเดียวกับฤดูหีบปี 2564/65 จึงทำให้ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายได้ออกประกาศประกันราคารับซื้ออ้อยสดขั้นต่ำ 1,000 บาทต่อตัน ณ ระดับค่าความหวานที่ 10 C.C.S. ซึ่งเริ่มประกาศใช้ตั้งแต่ฤดูการผลิตปีนี้ (2564/2565) ต่อไปอีกถึงปี 2565/66 เพื่อจูงใจให้ชาวไร่อ้อยเพิ่มผลผลิตมากขึ้น

ทั้งนี้ “อ้อย” นับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้ระบบเศรษฐกิจของไทยสูงถึงปีละไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท โดยมีส่วนผลักดันให้เกิดการส่งออกอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายติดอันดับ 2-3 ของโลกมาอย่างยาวนาน เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกรนับ 4 แสนครัวเรือนและอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งอาหาร ปุ๋ยเคมี เครื่องจักรกลการเกษตร ฯลฯ ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 อุตสาหกรรมนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่จะหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจฐานรากได้เป็นอย่างดี

โรงงานน้ำตาลเป็นส่วนสำคัญในการแปรรูปผลผลิตอ้อยสู่น้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาว กากน้ำตาล รวมไปถึงการต่อเนื่องของอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น เอทานอล โรงไฟฟ้าชีวมวล ปัจจุบันไทยมีโรงงานที่พร้อมหีบอ้อย 57 แห่ง โดยมีอัตรากำลังการผลิตอ้อยถึง 1.10 ล้านตันต่อวัน ซึ่งหากจะให้สมดุลแล้วจะต้องมีปริมาณอ้อยอย่างต่ำ 100 ล้านตันขึ้นไป แต่ในช่วงระยะ 2 ปีอ้อยได้ลดลงต่อเนื่องจากภัยแล้งและราคาอ้อยที่ไม่สูงนักทำให้เกิดปัญหาการแย่งชิงอ้อยข้ามเขตเกิดขึ้น

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL และในฐานะประธานกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงมุมมองปัญหาดังกล่าวว่า ฤดูหีบปีนี้ที่คาดว่าจะเริ่มได้ช่วงต้น ธ.ค. 64 การแย่งชิงอ้อยน่าจะลดต่ำลงเนื่องจากปริมาณอ้อยคาดการณ์ว่าจะมีไม่น้อยกว่า 85 ล้านตันจากฤดูฝนที่ปริมาณฝนมาสม่ำเสมอ ประกอบกับการที่โรงงานน้ำตาลทรายได้รับประกันซื้ออ้อยสดที่ 1,000 บาทต่อตันที่จะต่อเนื่องไปจนถึงปี 2565/66

“เราคาดหวังว่าในฤดูหีบปี 2565/66 จะมีผลผลิตอ้อยอยู่ระดับ 100 ล้านตันขึ้นไป ซึ่งกลับไปสู่จุดสมดุลอีกครั้งกับจำนวนโรงงานที่มี โดยการรับประกันราคาอ้อยสดไว้ 1,000 บาทต่อตันที่ความหวาน 10 C.C.S. ซึ่งจะได้ถึงกว่า 1,000 บาทต่อตันแน่นอนเมื่อรวมค่าความหวานแล้ว และมุมมองของผมการแย่งซื้ออ้อยก็เป็นเรื่องปกติในธุรกิจเช่นเดียวกับสินค้าอื่นที่มีโปรโมชัน ก็ขึ้นอยู่แต่ละรายว่าจะรับกับต้นทุนได้ไหม แต่ความสมดุลคือสิ่งที่ดีสุดต่อทุกฝ่าย” นายชลัสกล่าว

เขาชี้ว่า “น้ำตาล” เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ซื้อขายในตลาดล่วงหน้าจึงทำให้สามารถเห็นสัญญาณราคาตลาดโลกที่ราคาน้ำตาลทรายดิบยังทรงตัวระดับสูง การส่งสัญญาณให้ชาวไร่รู้ล่วงหน้าด้วยการประกันราคารับซื้อดังกล่าวเพื่อให้การันตีถึงผลตอบแทนที่ดีให้แก่ชาวไร่อ้อยในการเตรียมพันธุ์อ้อยมาปลูกเพิ่มเติมโดยเฉพาะภาคอีสานในช่วง ต.ค.นี้ ดังนั้นอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในระยะใกล้ 1-2 ปีนี้จะเป็นขาขึ้นแน่นอน

“อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่มีวงจรในการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจอย่างมากนับแสนๆ ล้านบาทต่อปี เฉพาะส่งออกก็ 8-9 หมื่นล้านบาทนำเงินตรากลับมาประเทศ เรายังเกี่ยวเนื่องกับเกษตรกรจำนวนมากที่เป็นคนไทยในการเพาะปลูก อุตสาหกรรมปุ๋ย เครื่องจักรกล ฯลฯ เมื่อโควิด-19 ระบาดเราจึงมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยเฉพาะระดับฐานราก” นายชลัสกล่าวย้ำ

ราคาอ้อย 1,200-1,300 บาท/ตัน ความหวังของชาวไร่

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 7

กล่าวว่า ราคาที่โรงงานประกันการรับซื้ออ้อยสด 1,000 บาทต่อตัน (10 C.C.S.) ที่จะต่อเนื่องไปถึงปี 2565/66 ซึ่งจะต้องมีการเริ่มเพาะปลูกใหม่ช่วง ต.ค.นี้จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะสนับสนุนให้ชาวไร่อ้อยรายเดิมที่มีพื้นที่เหลืออาจตัดสินใจเพิ่มการปลูกอ้อยใหม่ได้ หรือ รื้อตออ้อยเก่าเพื่อปลูกใหม่เพราะผลผลิตจะดีกว่า แต่รายใหม่เลยที่จะเปลี่ยนใจจากพืชเกษตรตัวอื่นๆเข้ามาปลูกอ้อยนั้นอาจจะมีน้อยเนื่องจากราคามันสำปะหลัง ข้าว ภาพรวมยังมีราคาที่ดี ดังนั้นในแง่ของพื้นที่เพาะปลูกอ้อยคงไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนัก“ราคาอ้อยสด 1,000 บาทต่อตันก็ไม่ได้ถือว่าโดดเด่น โดยหากราคาประกาศที่ 1,200-1,300 บาทต่อตันจะทำให้เอื้อต่อการปลูกอ้อยเพิ่มมากกว่าซึ่งอดีตก็เคยวิ่งไปสูงระดับนี้ แต่ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายให้ตัดอ้อยสดที่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นมาก ประกอบกับต้นทุนการเพาะปลูกอื่นๆ ตั้งแต่ค่าปุ๋ย ยา ฯลฯ ล้วนแต่ก็ปรับขึ้นมาต่อเนื่องระดับ 1,000 บาทต่อตันแค่จุดพอเลี้ยงตัวเองได้ไม่ได้มีกำไรอะไรมาก” นายนราธิปกล่าวย้ำ

อย่างไรก็ตาม ในอดีตเกษตรกรปลูกอ้อยรายย่อยจะบูมมากเพราะพืชอื่นๆ ตกต่ำ และพอเขาเข้ามาทำจริงๆ แล้วเจออุปสรรคหลายอย่าง ทั้งการตัดอ้อยสด การขายที่ต้องอาศัยคนกลาง เพราะต้องขนส่งอ้อยไปยังโรงงาน ต่างจากพืชอื่นที่เก็บเกี่ยวแล้วขายได้เลยทันที ทำให้รัฐพยายามจะส่งเสริมการรวมกลุ่มให้เป็นแปลงใหญ่แต่ก็ไม่ง่ายนัก ขณะที่หากมองในแง่ของโรงงาน 57 แห่งกับกำลังการผลิตที่มี 1.10 ล้านตันต่อวันจุดคุ้มทุนควรต้องมีปริมาณอ้อย 120 ล้านตันขึ้นไปซึ่งอดีตไทยเคยขึ้นไปแตะกว่า 130 ล้านตันมาแล้ว แต่ช่วง 2 ปีนี้ลดลงมากจึงเกิดการแย่งรับซื้ออ้อยข้ามเขตสูง และปีนี้ก็ยังคิดว่ามีอยู่โดยขึ้นอยู่กับราคาน้ำตาลตลาดโลกในช่วงหีบว่าสูงพอจะจูงใจให้โรงงานบางแห่งดำเนินการแย่งซื้ออ้อยมากน้อยเพียงใดโดยเฉพาะภาคอีสาน

“การที่ผลผลิตอ้อยเราถดถอยมาเพราะภัยแล้ง ราคาตกต่ำเมื่อเทียบกับพืชอื่นๆ ต่อเนื่องทำให้ไม่มีกำไรที่จะไปต่อ และ 2 ปีมานี้นโยบายรัฐก็ส่งเสริมการตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 จึงช่วยเหลือเฉพาะต้นทุนการตัดอ้อยสดแต่ยังคงไม่ได้พิจารณาช่วยเหลือต้นทุนการปลูกอ้อยที่แท้จริงภาพรวม ดังนั้นราคาอ้อยจึงเป็นตัวแปรสำคัญต่อการเพิ่มผลผลิต แต่ก็แน่นอนว่าสิ่งที่ดีสุดคือความสมดุลเพราะถ้าปลูกมากเกินราคาก็ต่ำอีกเช่นกัน” นายนราธิปกล่าว

ราคาน้ำตาลตลาดโลกขาขึ้นจากบราซิลเจอแล้ง 

นายอภิชาติ ลักษณะสิริศักดิ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย (อนท.) กล่าวว่า ภาพรวมราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกขณะนี้มีแนวโน้มที่ดี โดยราคาเฉลี่ยปัจจุบันอยู่ประมาณ 19-20 เซ็นต์ต่อปอนด์ และหากมองแนวโน้มราคาซื้อขายล่วงหน้าปีหน้าคาดว่าจะต่ำไปกว่าระดับ 17 เซ็นต์ต่อปอนด์เนื่องจากบราซิลซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลทรายรายใหญ่สุดของโลกประสบปัญหาภาวะภัยแล้งทำให้หลายฝ่ายมองว่าผลผลิตจะลดต่ำลงจึงทำให้ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกได้ทยอยปรับขึ้น แนวโน้มการส่งออกของบราซิลในฤดูหีบปี 2564/65 จะลดลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้

“บราซิลประสบกับภาวะภัยแล้งที่จะทำให้อ้อยลดลงราว 30-40 ล้านตันจากปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะในเขต CS Brazil แต่ปัจจัยที่ต้องติดตามคือกรณีราคาน้ำมันหากมีการปรับตัวสูงขึ้นบราซิลเองก็จะปันส่วนอ้อยไปผลิตเอทานอลมากขึ้น จะยิ่งทำให้ปริมาณน้ำตาลลดลงที่อันนี้จะส่งผลบวกต่อราคาน้ำตาลอย่างมีนัยสำคัญที่ต้องติดตามใกล้ชิด” นายอภิชาติกล่าว

ทั้งนี้ อนท.ได้ทำราคาขายน้ำตาลทรายดิบล่วงหน้าในฤดูหีบปี 2564/65 ไปแล้วประมาณ 30% โดยทำราคาเฉลี่ยได้ 18 เซ็นต์ต่อปอนด์ (ไม่รวมพรีเมียม) นับเป็นราคาที่ดีสุดที่เคยทำได้ในรอบ 5-6 ปี แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่จบยังเหลือที่ต้องทำราคาอีกพอสมควร แต่เราก็หวังว่าจะทำราคาที่เหลือได้ในระดับที่สูงและจะทำให้ค่าเฉลี่ยราคาได้ 17.5-18 เซ็นต์ต่อปอนด์ (ไม่รวมพรีเมียม) แน่นอนว่าระดับราคาดังกล่าวนี้จึงทำให้โรงงานสามารถประกันราคารับซื้ออ้อยสดที่ระดับ 1,000 บาทต่อตัน (ความหวาน 10 C.C.S.) ต่อไปได้อีก 1 ปี

อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ผลผลิตอ้อยของไทยในฤดูหีบที่กำลังจะมาถึง (ปี 64/65) มีแนวโน้มว่าอ้อยจะเฉลี่ยระดับ 85 ล้านตันบวกลบนั้นจะทำให้ปริมาณน้ำตาลทรายส่งออกจะเพิ่มอีกราว 2 ล้านตัน จึงเป็นโอกาสของการส่งออกน้ำตาลทรายของไทยที่เพิ่มขึ้นที่เป็นจังหวะของราคาตลาดโลกที่สูง ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงจึงเอื้อให้การส่งออกของไทยมีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้นตามไปด้วย และฤดูหีบปี 2565/66 ที่คาดหวังว่าอ้อยจะอยู่ในระดับ 100 ล้านตันก็จะทำให้น้ำตาลของไทยสามารถส่งออกได้เพิ่มอีกต่อเนื่องที่สอดคล้องกับราคาน้ำตาลตลาดโลกที่มีแนวโน้มยังทรงตัวระดับสูง

“ผลผลิตน้ำตาลของโลกยังอยู่ในภาวะค่อนข้างตึงตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการบริโภค แต่ก็ยังคงต้องติดตามใกล้ชิดเพราะน้ำตาลเป็นเรื่องของการเก็งกำไร ซื้อขายล่วงหน้าเราก็ต้องมองจังหวะของการซื้อขายให้ดี แต่หากให้ประเมินระยะสั้น 1-2 ปีนี้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายถือเป็นช่วงขาขึ้นชัดเจน” นายอภิชาติกล่าว

ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่ยังคงมีการแพร่ะระบาดต่อเนื่องและกระทบให้ธุรกิจต่างๆ ประสบปัญหา ทำให้แรงงานต้องตกงาน ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยฉุดเศรษฐกิจไทยให้ชะลอตัวลง หลายประเทศเริ่มหันมาใช้นโยบายส่งเสริมให้เกิดการผลิตและใช้สินค้าในประเทศมากขึ้น

แน่นอนว่าภาพสะท้อนมุมมองของกูรูด้านอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายดังกล่าวจึงเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญต่ออุตสาหกรรมนี้ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้และปีหน้า แต่จะไปได้ไกลแค่ไหน รัฐ โรงงาน ชาวไร่ ต้องกำหนดอนาคตร่วมกัน

จาก https://mgronline.com  วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2564

แจงให้เคลียร์!รัฐบาลไขคำตอบเหตุ‘ปุ๋ยแพง’ ชวนปปช.ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ตั้งเป้า1.3ล้านไร่ในปี65

13 กันยายน 2564 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “แจงให้เคลียร์กับทีมโฆษกรัฐบาล” ถึงการแก้ปัญหาปุ๋ยแพง ว่า ที่ราคาปุ๋ยปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากแม่ปุ๋ย เช่น ยูเรีย ฟอสเฟต และโพแทสเซียม ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยผู้ผลิตรายใหญ่ คือ ประเทศจีน มีนโยบายที่ส่งออกน้อยลง ขณะที่อินเดียไปประมูลซื้อจากจีนมาจำนวนมาก เมื่อพ่วงกับค่าขนส่งสินค้าทางเรือที่มีค่าระวางสูงขึ้น ทำให้ราคาปุ๋ยในประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

น.ส.รัชดา กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการแล้วคือกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สมาคมผู้ผลิตปุ๋ย ได้จัดโครงการพาณิชย์ลดราคาปุ๋ยช่วยเกษตรกร ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมและขยายไปจนถึง31สิงหาคมนี้ โดยจำหน่ายผ่านสถาบันเกษตร ซึ่งโครงการดังกล่าวจะเป็นการตรึงราคาปุ๋ยไม่ให้เป็นภาระกับเกษตรกร คือสหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร ขณะนี้มีปุ๋ยเคมีที่ร่วมโครงการ 84 สูตร ปริมาณ4.5 ล้านกระสอบ โดยผู้สนใจสามารถติดต่อเกษตรอำเภอและเกษตรจังหวัดได้

“รัฐบาลขอเชิญชวนเกษตรกรเปลี่ยนจากการปลูกพืชที่ใช้ปุ๋ยเคมีมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ โดยร่วมโครงการเกษตรอินทรีย์กับรัฐบาล ที่ตั้งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ปลูกเกษตรอินทรีย์ในปี 2565 ถึง 1.3 ล้านไร่ โดยรัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณในปี 2564 เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกเกษตรอินทรีย์ เพราะดีต่อสุขภาพ และเฉลี่ยทั่วโลกสินค้าเกษตรอินทรีย์โตขึ้นถึง 20 เปอร์เซ็นต์” น.ส.รัชดา กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2564

“อีอีซี” ปักหมุดลงทุนปี 65-69 ไม่ต่ำกว่า 2.2 ล้านล้าน หลัง 5 ปีแรกบรรลุเป้าหมายเร็วกว่าที่คาด

สกพอ.เสนอ “กบอ.” ปรับแผนการลงทุนในพื้นที่อีอีซี 5 ปี (ปี 2565-66) ไม่น้อยกว่า 2.2 ล้านล้านบาท หลังการลงทุนปีนี้จะบรรลุเป้าหมาย 1.7 ล้านล้านเร็วกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 1 ปี จ่อผุดแผนพัฒนาเกษตรในอีอีซีปี 66-70 ดัน 69 โครงการเน้น 5 คลัสเตอร์ เล็งประกาศสิทธิประโยชน์ให้นักลงทุนในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษดัน EECa พื้นที่ต้นแบบ

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยหลังการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เป็นประธานเมื่อ 13 ก.ย.ว่า ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ได้เดินหน้าแผนการลงทุนตั้งแต่เกิด พ.ร.บ.อีอีซี ปี 2561-มิ.ย. 2564 โดยได้อนุมัติลงทุนแล้ว 1.6 ล้านล้านบาท คาดว่าสิ้นปีนี้จะถึง 1.7 ล้านล้านบาทซึ่งจะเร็วกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้เดิมการลงทุน 5 ปี (ปี 2561-65) จะอยู่ที่ 1.7 ล้านล้านบาท ดังนั้นจึงได้เสนอปรับเพิ่มแผนการลงทุนในอีอีซี 5 ปีข้างหน้า (ปี 2565-2569) ไว้ไม่น้อยกว่า 2.2 ล้านล้านบาท

“การลงทุนที่เราทำไว้ช่วง 3 ปีกับ 8 เดือนนั้นเร็วกว่าเป้าที่กำหนดไว้ แบ่งเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอกชนร่วมลงทุน (PPP) 4 โครงการหลักราว 6.3 แสนล้านบาท โดยเอกชนลงทุน 3.87 แสนล้านบาท การลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายจากการออกบัตรส่งเสริมของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่คาดว่าสิ้นปีนี้จะเป็นราว 2.5 แสนล้านบาท และงบบูรณาการอีกส่วนหนึ่งเราก็จะบรรลุเป้าหมายการลงทุนในอีอีซี 1.7 ล้านล้านบาทเร็วกว่าแผน 1 ปี” นายคณิศกล่าว

สำหรับแผน 5 ปี (ปี 2565-69) การลงทุนจะมีโครงการหลักประกอบด้วย การลงทุนเมืองการบินภาคตะวันออกประมาณ 1 แสนล้านบาท การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูงอีก 1 แสนล้านบาท และการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายเฉลี่ยอีกปีละ 4 แสนล้านบาท โดยส่วนนี้จะแบ่งเป็นการลงทุนพื้นฐานที่บีโอไอทำได้ปีละ 2 แสนล้านบาท และจะมีการเร่งรัดอีกปีละ 1.5 แสนล้านบาทในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่เฉลี่ยปีละ 4 หมื่นล้านบาท อุตสาหกรรม 5G อิเล็กทรอนิกส์ปีละ 5 หมื่นล้านบาท การแพทย์สมัยใหม่ปีละ 3 หมื่นล้านบาท อุตฯ ขนส่งและโลจิสติกส์ปีละ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งทั้งหมดยังไม่นับโครงการเมืองใหม่ที่จะเกิดขึ้นและอสังหาริมทรัพย์ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ และโครงการภายใต้งบบูรณาการอีอีซี อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้มอบหมายให้ไปพิจารณาการลงทุนด้านอื่นๆ โดยเฉพาะเกษตรอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่กำลังเติบโต

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบร่างแผนพัฒนาการเกษตรในอีอีซี (พ.ศ. 2566 -2570) ที่ สกพอ.จัดทำร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยจะมีโครงการที่จะดำเนินการรวมทั้งสิ้น 69 โครงการ กรอบวงเงิน 2,300 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณภาครัฐ 1,265 ล้านบาท ที่เหลือเอกชน โดยจะเน้นพัฒนา 5 คลัสเตอร์สำคัญ ได้แก่ ผลไม้ ทุเรียน มังคุด มะม่วง ประมงเพาะเลี้ยง สัตว์น้ำทดแทนนำเข้า พืชอุตสาหกรรมชีวภาพ มันสำปะหลัง พืชสมุนไพรฟ้าทะลายโจร และเกษตรมูลค่าสูง โคเนื้อพรีเมียม ตั้งเป้าหมายยกระดับรายได้ให้ชุมชนเกษตรกรในพื้นที่อีอีซีเทียบเท่ากลุ่มอุตสาหกรรม-บริการ พร้อมให้ GDP ภาคเกษตรในอีอีซีเพิ่มขึ้น พร้อมกับดำเนินโครงการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC)

นายคณิศกล่าวว่า ที่ประชุม กบอ.ยังพิจารณาการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบการกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ โดยเริ่มนำร่องที่เขตส่งเสริมฯ เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบ (Sandbox) “การปฏิรูปและยกระดับประเทศไทยก้าวสู่ 10 อันดับของประเทศที่ประกอบธุรกิจง่ายที่สุด โดยมอบให้ สกพอ.จัดทำ (ร่าง) ประกาศสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษที่ครอบคลุมสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรและที่มิใช่ภาษี เพื่อสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่อีอีซี โดยมุ่งเน้นกลุ่มนักลงทุนที่ใช้นวัตกรรมขั้นสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้การออกแบบสิทธิประโยชน์ที่ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการเป็นต้นแบบการปฏิรูประบบราชการที่ใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ลดอุปสรรคในการลงทุน และเน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้พิจารณาแผนดำเนินการโครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) กำหนดแผนปฏิบัติการปี 2564-2565 จำนวน 4 แผนหลัก คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายนนี้ ได้แก่ 1) จัดทำแผนการดำเนินโครงการ (Master Plan) 2) จัดทำแนวคิดออกแบบโครงการฯ (Conceptual Design) 3) วางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค และ 4) จัดทำแผนดึงดูดนักลงทุนและสิทธิประโยชน์ และตั้งเป้าหมายไตรมาส 4 จะทำความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน เพื่อศึกษาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคต่างๆ ของโครงการฯ พร้อมเจรจาร่วมกับบริษัท-หน่วยงานที่สนใจเข้าร่วมลงทุน และออกแบบรายละเอียดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคต่างๆ ภายในพื้นที่โครงการฯ ช่วงไตรมาส 1-2 ของปี 2565

จาก https://mgronline.com  วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2564

“สุริยะ” เร่งขับเคลื่อนแผนพัฒนาอุตฯ แปรรูปอาหาร ดันไทยเป็นศูนย์กลางอาหารอนาคตแห่งอาเซียน

กระทรวงอุตสาหกรรมเผยคืบหน้าแผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562-2570) พร้อมเร่งผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารอนาคตแห่งอาเซียนควบคู่กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก มั่นใจปี 2564 ส่งออกอาหารแปรรูปจะมีมูลค่ากว่า 1.05 ล้านล้านบาท

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 7 ก.ย. กระทรวงฯ ได้รายงานความคืบหน้าแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารระยะ ที่ 1 (พ.ศ. 2562-2570) ที่เป็นแกนหลักร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในการผลักดันอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของไทย โดยในปี 2564 คาดว่าการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารของไทยจะมีมูลค่ากว่า 1.05 ล้านล้านบาท และแผนระยะยาวมุ่งเน้นที่จะขับเคลื่อนมาตรการ “4 สร้าง” ได้แก่ 1. สร้างนักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่ (Food Warriors) 2. สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต 3. สร้างโอกาสทางธุรกิจ และ 4. สร้างปัจจัยพื้นฐานเพื่อเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรม ในการผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางอาหารอนาคตแห่งอาเซียน

สำหรับ 4 สร้าง ได้แก่ 1. สร้างนักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่โดยการอบรม ให้คำปรึกษาเชิงลึก รวม 899 กิจการ หรือ 8,512 ราย และ 43 กลุ่มวิสาหกิจชุมชน พัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรแปรรูป/อาหารแปรรูปให้มีมูลค่าเพิ่มสูง รวม 224 ผลิตภัณฑ์ พัฒนาอบรมเกษตรกรให้เป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) 12,210 ราย วิจัยและนวัตกรรมสนับสนุนผู้ประกอบการอาหารให้มีการใช้เทคโนโลยีเชิงลึก 566 ราย

สร้างที่ 2 การสร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ภายใต้โครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ได้มีการจัดทำ Future Food Lab เพื่อสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมอาหาร และผู้เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหาร โดยมีระบบเชื่อมโยงฐานข้อมูล Food Innopolis Service Platform อย่างน้อย 8 แพลตฟอร์ม ฯลฯ

สร้างที่ 3 สร้างโอกาสทางธุรกิจ ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงพาณิชย์ร่วมจัดงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม ภายใต้ชื่องาน THAIFEX - ANUGA ASIA 2020 “The Hybrid Edition” ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 22-26 กันยายน 2563

ส่วนการสร้างที่ 4 การสร้างปัจจัยพื้นฐานเพื่อเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้จัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอาหารทั้งในส่วนของมาตรฐานสินค้าและมาตรฐานวิธีทดสอบ รวม 22 เรื่อง สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายจัดทำโครงการการจัดการผลิตอ้อยแปลงใหญ่เพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพอ้อย โดยใช้เทคโนโลยี Smart farming ณ ต.นครชุม อ.เมือง จ.กำแพงเพชร มีเกษตรกรเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 40 ราย บนพื้นที่ไม่น้อยกว่า 5,000 ไร่ เป็นต้น

จาก https://mgronline.com  วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2564

รัฐบาลแจงปุ๋ยแพง เหตุจีนมีนโยบายส่งออกน้อย แนะเปลี่ยนปลูกพืชจากใช้ปุ๋ยเคมีเป็นปุ๋ยอินทรีย์

รองโฆษกรัฐบาล เผย เหตุ “ปุ๋ยแพง” เพราะแม่ปุ๋ยต้องนำเข้า และจีนมีนโยบายส่งออกน้อย ชวน ปชช.เปลี่ยนจากการปลูกพืชที่ใช้ปุ๋ยเคมี มาใช้ปุ๋ยอินทรีย์

วันนี้ (13 ก.ย.) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “แจงให้เคลียร์กับทีมโฆษกรัฐบาล” ถึงการแก้ปัญหาปุ๋ยแพง ว่า ที่ราคาปุ๋ยปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากแม่ปุ๋ย เช่น ยูเรีย ฟอสเฟต และโพแทสเซียม ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยผู้ผลิตรายใหญ่ คือ ประเทศจีน มีนโยบายที่ส่งออกน้อยลง ขณะที่อินเดียไปประมูลซื้อจากจีนมาจำนวนมาก เมื่อพ่วงกับค่าขนส่งสินค้าทางเรือที่มีค่าระวางสูงขึ้น ทำให้ราคาปุ๋ยในประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

น.ส.รัชดา กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการแล้ว คือ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สมาคมผู้ผลิตปุ๋ย ได้จัดโครงการพาณิชย์ลดราคาปุ๋ยช่วยเกษตรกร ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม และขยายไปจนถึง 31 สิงหาคมนี้ โดยจำหน่ายผ่านสถาบันเกษตร ซึ่งโครงการดังกล่าวจะเป็นการตรึงราคาปุ๋ยไม่ให้เป็นภาระกับเกษตรกร คือ สหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร ขณะนี้มีปุ๋ยเคมีที่ร่วมโครงการ 84 สูตร ปริมาณ 4.5 ล้านกระสอบ โดยผู้สนใจสามารถติดต่อเกษตรอำเภอและเกษตรจังหวัดได้

น.ส.รัชดา กล่าวว่า รัฐบาลขอเชิญชวนเกษตรกรเปลี่ยนจากการปลูกพืชที่ใช้ปุ๋ยเคมี มาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ โดยร่วมโครงการเกษตรอินทรีย์กับรัฐบาล ที่ตั้งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ปลูกเกษตรอินทรีย์ในปี 2565 ถึง 1.3 ล้านไร่ โดยรัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณในปี 2564 เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกเกษตรอินทรีย์ เพราะดีต่อสุขภาพ และเฉลี่ยทั่วโลกสินค้าเกษตรอินทรีย์โตขึ้นถึง 20 เปอร์เซ็นต์

จาก https://mgronline.com  วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2564

 ถกรมต.เศรษฐกิจอาเซียนเข้ม ดัน 5 เรื่องใหญ่ฟื้นการค้า-ลงทุน

จับตาประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน 10 ชาตินัดถก พร้อมรับรองเอกสาร 5 เรื่องใหญ่ ดันเศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจดิจิทัลให้เป็นรูปธรรม ขยายอี-คอมเมิร์ซข้ามพรมแดน ขจัดกีดกันการค้า ดึงอาเซียนบวกสาม พ่วงสหรัฐฯ รัสเซีย อียู ช่วยฟื้นการค้า-ลงทุนหลังโควิด

อาเซียนถือมีความสำคัญกับการค้าการลงทุนของไทยมายาวนาน โดยในปี 2563 ไทยมีมูลค่ากับอาเซียน(9 ประเทศ) 94,623 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (2.94 ล้านล้านบาท) และ 7 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่าการค้า 63,750 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1.95 ล้านล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้น 16.50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าการค้าระหว่างไทยกับอาเซียนในภาพรวมยังสดใส แม้ไทยและประเทศสมาชิกยังเผชิญกับวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

อย่างไรก็ตามเพื่อให้การค้าการลงทุนในกลุ่มยังมีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง และเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในอาเซียนด้วยกันเอง ระหว่างวันที่ 8-15 กันยายนนี้ ไทยเตรียมเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 53 ผ่านระบบทางไกลเพื่อหารือความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับประเทศนอกภูมิภาค รวมถึงภาคเอกชนของอาเซียน เพื่อยกระดับการค้าการลงทุน ท่ามกลางปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้า ทั้งเศรษฐกิจโลก การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และอื่น ๆ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระ ทรวงพาณิชย์  เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญ และจะร่วมกับอาเซียนรับรองเอกสารสำคัญในการประชุม AEM ครั้งนี้มี 5 ประเด็น ประกอบด้วย 1.กรอบการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเพื่อกำหนดขอบเขตงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งจะช่วยให้อาเซียนสามารถนำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้อย่างเป็นขั้นตอน เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน 2.การสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นดิจิทัลของอาเซียน (แผนงานบันดาร์เสรีเบกาวัน) ซึ่งเป็นการกำหนดแนวทางการดำเนินการในระยะสั้นและกลาง ระหว่างปี 2564 - 2568 

3.แผนงานในการดำเนินการตามความตกลงอี-คอมเมิร์ซของอาเซียนซึ่งไทยได้ให้ความสำคัญต่อการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนในอาเซียน โดยเฉพาะการจัดทำความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน และการจัดทำแผนงานสำหรับการปฏิบัติตามความตกลงฯ 4.เครื่องมือประเมินประสิทธิภาพของมาตรการที่มิใช่ภาษีของประเทศสมาชิก (NTM Toolkit) ซึ่งที่มีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน และปรับการใช้มาตรการ NTMs เพื่อลดต้นทุนการดำเนินการและลดอุปสรรคในการเคลื่อนย้ายสินค้าในภูมิภาค และ5.แผนงานความร่วมมือที่อาเซียนจะดำเนินการกับประเทศคู่เจรจา เช่น อาเซียน-สหรัฐอเมริกา อาเซียนบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) -อาเซียน-รัสเซีย อาเซียน-ฮ่องกง อาเซียน-สหภาพยุโรป

นอกจากนี้ยังมีประเด็นสำคัญที่อาเซียนจะหารือกัน เพื่อช่วยขยายการส่งออก และลดเลิกอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดระหว่างกัน เช่น การยกระดับความตกลงการค้าเสรีของอาเซียนที่มีกับคู่เจรจา โดยเฉพาะ FTA อาเซียน-จีน อาเซียน-เกาหลี  และอาเซียน-อินเดีย  เพื่อให้มีการเปิดตลาด ลดหรือยกเลิกภาษีศุลกากรระหว่างกันมากขึ้น เป็นต้น

“ถือเป็นโอกาสดีที่อาเซียนจะได้หารือเพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ที่ทุกชาติต้องอาศัยความร่วมมือเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนรอบด้วย เช่น การสร้างสภาพแวดล้อมและการเสริมสร้างความสามารถของแรงงานในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล แนวทางความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับภาคเอกชนเพื่อรับมือผลกระทบจากโควิด-19 เป็นต้น” นางอรมน กล่าว

จาก https://www.thansettakij.com   วันที่ 13 กันยายน 2564

พาณิชย์อัพเดตเจรจา 3 FTAใหญ่ ไทย-อียูคืบไทย-อังกฤษเริ่มต้นนับ1

“พาณิชย์” เร่งแผนเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู หลัง 2 ฝ่ายเห็นพ้องควรเร่งเจรจา คาดเสนอ ครม.พิจารณาเห็นชอบได้ในปีนี้ ส่วน FTA ไทย-อังกฤษ จัดตั้ง JETCO เปิดเวทีหารือสองฝ่ายแล้ว กำหนดจัดประชุมครั้งแรก Q4 ปีนี้ ขณะ CPTPP กนศ.อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ยังไม่มีผลสรุป

การเจรจาเพื่อจัดทำความตกการค้าเสรี (FTA) กับประเทศคู่ค้าสำคัญเพื่อสร้างแต้มต่อในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการของไทยถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ปัจจุบันไทยมี FTA 13 ฉบับกับ 18 ประเทศ ซึ่งย่ำอยู่กับที่มาหลายปีแล้ว จำเป็นต้องเปิดเจรจาเพื่อจัดทำ FTA ใหม่ ๆ ให้มากขึ้น

 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ  เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้า FTA ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ว่า หลังจากที่นายปีร์กะ ตาปิโอละ เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ได้เข้าพบนายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ขณะนี้กรมฯ อยู่ระหว่างดำเนินกระบวนการภายในประเทศ

เพื่อเตรียมเสนอรัฐบาลเพื่อให้ความเห็นชอบให้ฟื้นการเจรจา FTA ไทย-อียู โดยตั้งเป้าที่จะหาข้อสรุปให้ได้ภายในปีนี้ หลังจากนั้น กรมฯ จะเสนอต่อ คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบให้ไทยสามารถเริ่มการเจรจารอบแรกได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ในช่วงกลางปี 2564

ทั้งนี้อียู เป็นนักลงทุนอันดับ 3 ของไทย รองจากญี่ปุ่น และจีน   ซึ่งการทำ FTA กับอียู จะช่วยสร้างโอกาสทางการค้า โดยเฉพาะการแข่ง ขันกับสินค้าจากเวียดนาม และสิงคโปร์ เนื่องจาก 2 ประเทศนี้มี FTA กับอียูแล้ว ขณะที่อินโดนีเซีย อยู่ระหว่างการเจรจา FTA กับอียู นอกจากนี้ การจัดทำ FTA กับอียู จะช่วยดึงดูดการลงทุนทั้งจากอียู และประเทศอื่น ๆ มาไทยมากขึ้น เพราะสามารถใช้ไทยเป็นฐานในการผลิตเพื่อส่งออกสินค้าไปอียู

“โอกาสดังกล่าวจะมาพร้อมกับความท้าทาย เช่นกันจากการศึกษา FTA ของอียูที่ผ่านมา เป็น FTA ที่มีมาตรฐานสูง ครอบคลุมประเด็นดั้งเดิม (traditional issues) ที่มีใน FTA ที่ผ่านมาของไทย เช่น การเปิดตลาดสินค้าและบริการ การอำนวยความสะดวกทางการค้า และมาตรฐานสินค้า และประเด็นการค้าใหม่ ๆ เช่น การเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและแรงงาน  ตลอดจนข้อกำหนดด้านกฎระเบียบที่เข้มข้นกว่า FTA ที่ผ่านมาของไทย ซึ่งภาคเอกชนอาจจะต้องเตรียมความพร้อมในการปรับตัว ทั้งนี้การเจรจา FTA จะมีทั้งผู้ได้ประโยชน์ และผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งกรมฯได้เสนอเรื่องการขอจัดตั้งกองทุน FTA เพื่อเป็นกลไกช่วยเหลือเยียวยากลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว และกระทรวงการคลังได้ดำเนินการต่อไปแล้ว”

สำหรับสินค้าส่งออกของไทยที่มีโอกาสขยายตัวจากการฟื้นการเจรจา FTA ไทย-อียู เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าและสิ่งทอ เคมีภัณฑ์ ยาง และพลาสติก เป็นต้น ทั้งนี้หากสรุปผลการเจรจาได้แล้ว คาดว่า คณะมนตรียุโรป (ประเทศสมาชิก) และรัฐสภายุโรป พิจารณาให้ความเห็นชอบ FTA ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี

ส่วนความคืบหน้า FTA ไทย-สหราชอาณาจักร (UK /อังกฤษ) นั้นได้ลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า ( JETCO) เมื่อเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่ง JETCO จะเป็นเวทีหารือระหว่างรัฐมนตรีการค้าของทั้งสองฝ่าย โดยความร่วมมือนี้สามารถดำเนินการได้เลย ไม่ต้องรอการมี FTA ระหว่างกัน  ซึ่ง JETCO กำหนดจัดประชุมครั้งที่ 1 ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้

 ขณะที่ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาการเข้าร่วมความตกลงของ กนศ. ที่มีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกฯและรัฐมนตรีต่างประเทศเป็นประธานยังไม่ได้ข้อสรุป

จาก https://www.thansettakij.com   วันที่ 13 กันยายน 2564

“พาณิชย์”ขยายเวลาลดราคาปุ๋ยถึง31ต.ค.

กระทรวงพาณิชย์ ขยายเวลา ลดราคาปุ๋ยช่วยเกษตรกร ถึง 31 ต.ค. ล่าสุด ยังเหลือปุ๋ยในโครงการอีก 3.2 ล้านกระสอบ

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในขยายระยะเวลาโครงการ “พาณิชย์ลดราคาปุ๋ยช่วยเกษตรกร” ออกไปจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาราคาปุ๋ยที่ปรับสูงขึ้น ซึ่งกรมการค้าภายในจะเผยแพร่รายการและราคาปุ๋ยในโครงการ พร้อมทั้งอัตราค่าขนส่งทางเว็บไซต์กรมฯ (https://www.dit.go.th) โดยเกษตรกรสามารถซื้อปุ๋ยจากโครงการได้โดยให้สถาบันเกษตรกรสั่งผ่านสหกรณ์อำเภอ สหกรณ์จังหวัด เกษตรอำเภอ และเกษตรจังหวัด ทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยเวลานี้ยังเหลือปุ๋ยในโครงการอีก 3.2 ล้านกระสอบ

อย่างไรก็ตาม การดำเนินโครงการ “พาณิชย์ลดราคาปุ๋ยช่วยเกษตรกร” มีปุ๋ยเคมีที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 84 สูตร ปริมาณรวม 4.5 ล้านกระสอบ สามารถช่วยให้สถาบันเกษตรกรซื้อปุ๋ยเคมีได้ในราคาลดลงจากราคาตลาดและเป็นการตรึงราคาปุ๋ยให้แก่เกษตรกรอีกด้วย เช่น ปุ๋ยสูตร 46-0-0 ราคาหน้าโรงงานปกติกระสอบละ 825 บาท ราคาในโครงการกระสอบละ 775 บาท สูตร 16-20-0 ราคาหน้าโรงงาน 725 บาท ราคาในโครงการ 640 บาท สูตร 15-15-15 ราคาหน้าโรงงาน 825 บาท ราคาในโครงการ 730 บาท สูตร 21-0-0 ราคาหน้าโรงงาน 450 บาท ราคาในโครงการ 390 บาท

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 12 กันยายน 2564

ผู้ส่งออกจับตาเงินบาทผันผวนแข็งค่าเร็ว

สรท.จับตาค่าเงินบาทผันผวน แข็งค่าเร็ว กระทบส่งออก ยังไม่ถึงขั้นต้องขอคุยกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือ สรท. เปิดเผยสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น. ว่าเวลานี้ผู้ส่งออก ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนของประเทศอย่างใกล้ชิดเนื่องจากเริ่มมีความผันผวนสูงขึ้น ซึ่งมีผลโดยตรงต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ เช่น ข้าว ที่ในปีนี้คาดว่าจะส่งออกได้ไม่เกิน 6 ล้านตัน เนื่องจากมีหลายปัจจัยกดดัน โดยเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยนของไทยที่มีความผันผวนค่อนข้างสูง ถึงแม้ว่าเวลานี้จะยังอยู่ในระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แต่จากช่วงก่อนหน้าที่เงินบาทอ่อนค่าอยู่ในระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เม็ดเงินจากการส่งออกในแต่ละเดือนหายไปประมาณ 20,000 ล้านบาท เมื่อคำนวณจากการส่งออกของประเทศในภาพรวมที่เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณเดือนละ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตามสถานการณ์ดังกล่าวยังไม่ถึงขั้นที่ สรท. จะต้องขอเข้าหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อย้ำในเรื่องของการดูแลเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนให้กับผู้ส่งออก เพราะเวลานี้เชื่อว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยก็กำลังจับตาดูอยู่เช่นกัน

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 12 กันยายน 2564

ถอดบทเรียนจีน พัฒนาสินค้าเกษตร-เศรษฐกิจฐานรากไทย

สนค. ถอดบทเรียนจากจีน เพื่อนำมาพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ยกระดับสินค้าเกษตรไทย ชี้จีนแก้ไขปัญหาได้เร็ว นโยบายชัดและได้รับความร่วมมือจากเอกชน

วันที่ 11 กันยายน 2564 นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ศึกษานโยบายแก้ไขปัญหาความยากจนและการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของจีน เพื่อนำมาปรับใช้ในการดำเนินนโยบายช่วยเหลือเกษตรกร และผู้ผลิตสินค้าชุมชนของไทย เพื่อยกระดับเศรษฐกิจการค้าฐานรากของไทยต่อไป

โดยพบว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนแก้ไขปัญหาความยากจนได้รวดเร็ว มาจากการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน และการร่วมมือกับภาคเอกชน โดยเฉพาะอาลีบาบาในการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีโอกาสในการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์

ทั้งนี้ จีนยังมีนโยบายในการผลักดันให้ประชาชนในประเทศเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ต และเทคโนโลยี โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท ซึ่งปัจจุบันคนในชนบทสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการสร้างงานและกระจายรายได้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเข้าไปช่วยเพิ่มพูนความรู้ในการทำธุรกิจให้กับเกษตรกรและประชาชน ทำให้มีโอกาสในการค้าขาย และมีรายได้เพิ่มขึ้น

“ปัจจัยสำคัญในการเอาชนะความยากจนของจีน คือ การที่รัฐบาลมีนโยบายภาพใหญ่ที่ชัดเจนและสามารถแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด การร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยี การติดอาวุธความรู้ในการทำธุรกิจให้กับเกษตรกรและประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้การทำการค้าออนไลน์ได้จากถิ่นกำเนิดหรือที่อยู่ของตนเอง

โดยไม่จำเป็นต้องมีการเคลื่อนย้ายเข้าสู่เมือง ทำให้ช่วยยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของคนในชนบท เนื่องจากจีนมีพื้นที่ขนาดใหญ่ มีฤดูกาลที่แตกต่างกัน มีสินค้าเกษตรที่หลากหลาย และมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจจำนวนมากที่สามารถนำเสนอให้คนทั่วประเทศรู้จัก เกิดรูปแบบธุรกิจและบริการใหม่ ๆ มากมาย” นายภูสิตกล่าว

นายภูสิตกล่าวว่า จากบทเรียนทั้งหมดของจีน เป็นบทเรียนสำคัญที่นอกจากไทยจะต้องเรียนรู้แล้ว ยังต้องตระหนักและให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ และเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการทั้งในระดับวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ และ SMEs ที่เป็นกลุ่มคนฐานรากของประเทศ และต้องการได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต รวมถึงองค์ความรู้ต่าง ๆ ครอบคลุมทุกพื้นที่

นอกจากนี้ การที่ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม จำเป็นจะต้องยกระดับภาคเกษตรไทยไปสู่เกษตรนวัตกรรม และเกษตรมูลค่าสูง โดยยกระดับไปสู่การทำเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและกลุ่มคนในระดับฐานรากให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ สนค. ได้เดินหน้านำเทคโนโลยีมาใช้ในการช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ผลิตชุมชน และ SMEs อย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดทำข้อมูลสารสนเทศเชิงลึกด้านเศรษฐกิจการค้า (TIS) เพื่อนำมาใช้ในการกำหนดนโยบายช่วยเหลือ และใช้ในการวางแผนทำธุรกิจ และการผลักดันนำระบบบล็อกเชนมาใช้ในการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตร เป็นต้น

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 11 กันยายน 2564

บาทเปิด 32.71/73บาทต่อดอลลาร์ แนวโน้มแข็งค่า

เงินบาทเปิดตลาด 32.71/73บาทต่อดอลลาร์ แนวโน้มแข็งค่า หลังธนาคารกลางยุโรป ส่งสัญญาณปรับลด QE คาดกรอบ 32.55-32.80บาทต่อดอลลาร์

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 32.71/73 บาท/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่ ปิดตลาดที่ระดับ 32.71 บาท/ดอลลาร์

เช้านี้เงินบาททรงตัวจากเย็นวาน แต่แนวโน้มวันนี้คาดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในทิศทางที่แข็งค่า หลังจากเมื่อวานที่ประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณในการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรฉุกเฉินป้องกันผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (เทียบเท่าโครงการ QE ของสหรัฐ) นอกจากนี้ ทิศทางค่าเงินในเอเชียก็แข็งค่าตามตลาดที่มีการเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น โดยคืนนี้ ตลาดรอดูการรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนส.ค.ของสหรัฐ

นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 32.55 - 32.80 บาท/ดอลลาร์

จาก https://www.posttoday.com วันที่ 10 กันยายน  2564

กรมชลฯแจงแผนรับมือน้ำปี2564 สั่งป้องอุทกภัยเต็มที่-สำรองใช้ฤดูหน้า

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานเปิดเผยว่า จากกรณีที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าจะเริ่มมีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้นทั่วประเทศในเดือน ก.ย.2564 เป็นต้นไปและปลายเดือนอาจมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ซึ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นห่วงประชาชนจึงได้กำชับให้กรมชลฯติดตามสถานการณ์และวางแผนบริหารจัดการน้ำให้เข้มข้นขึ้น เพื่อที่จะสามารถช่วยเหลือประชาชนในทุกกรณีขณะเดียวกันก็ต้องบริหารน้ำเพื่อสำรองปริมาณน้ำในอ่างให้ได้มากที่สุดสำหรับใช้ฤดูถัดไป เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่องทั้งด้านเกษตร สิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว

ทั้งนี้กรมชลฯมีแผนบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2564 อย่างเคร่งครัด และเน้นย้ำโครงการชลประทานทุกแห่งเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฝนโดยเฉพาะการป้องกันอุทกภัย โดยให้มีการประเมินสถานการณ์ในพื้นที่ล่วงหน้า เช่น พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม โดยใช้ข้อมูลจากกรมอุตุฯและสำนักงานทรัพยากรน้ำมาประกอบ การตรวจสอบและเตรียมความพร้อมของระบบการจราจรน้ำของแต่และพื้นที่ให้มีความพร้อม ไม่ให้มีสิ่งกีดขวางทางน้ำ โดยเฉพาะในระบบบริหารเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกและตะวันออก เพื่อช่วยลดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาออกสู่ทะเลผ่านแม่น้ำบางปะกงและแม่น้ำท่าจีน ขณะที่สำนักเครื่องจักรกลได้มีการส่งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำกระจายไปตามสำนักเครื่องจักรฯแล้วทั่วประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมสูงสุด

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลฯ กล่าวว่า ในระบบบริหารฝั่งตะวันออกและตะวันตก กรมชลฯจะใช้ประตูระบายน้ำ สถานีสูบน้ำทั้งคลองแนวขวางและแนวดิ่งในการบริหารจัดการเพื่อตัดยอดน้ำที่ผ่านจุดเฝ้าระวังในแม่น้ำเจ้าพระยาตามเกณฑ์ที่วางไว้ ทั้งที่สถานีนครสวรรค์ สถานีบางไทร เป็นต้น กรณีน้ำมากจะใช้ระบบชลประทานและอาคารควบคุมบังคับน้ำมาช่วยอีกทางหนึ่ง สำหรับหน่วงน้ำ และตัดยอดน้ำก่อนเข้าพื้นที่เศรษฐกิจ และระบายน้ำไปออกแม่น้ำท่าจีนที่ฝั่งตะวันตกและแม่น้ำนครนายก แม่น้ำบางปะกงที่ฝั่งตะวันออก ซึ่งกรณีฝั่งตะวันออกตอนเหนือของกทม.จะใช้คลองแนวขวาง ได้แก่ คลองรังสิตประยูรศักดิ์ คลองหกวาสายล่าง คลองแสนแสบคลองนครเนื่องเขต และคลองประเวศบุรีรมย์ ตัดยอดน้ำหลากบางส่วนระบายออกทางแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำนครนายก และแม่น้ำบางปะกง โดยใช้ประตูระบายน้ำ และสถานีสูบน้ำ ในการระบายน้ำออกจากคลองดังกล่าว ส่วนปริมาณน้ำที่เหลือจะระบายลงสู่คลองแนวดิ่ง ได้แก่ คลอง 1 ถึง คลอง 17คลองพระองค์ไชยานุชิต และคลองด่าน เพื่อระบายลงสู่คลองชายทะเล ซึ่งมีการติดตั้งสถานีสูบน้ำไว้ทั้งหมด 12 จุด ปัจจุบันระบบทั้งหมดสามารถทำงานได้ดี ซึ่งกรมชลฯจะบริหารน้ำอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันอุทกภัย ขณะเดียวกันก็ต้องสำรองน้ำในเขื่อนให้ได้มากที่สุดเพื่อใช้ในฤดูถัดไป

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 10 กันยายน  2564

FTA ดันส่งออกสินค้าเกษตร7 เดือนพุ่ง

กระทรวงพาณิชย์ เผย FTA ดันส่งออกสินค้าเกษตร 7 เดือน ทะลุ 1 หมื่นล้านเหรียญฯ ย้ำต้องคุมโควิดในโรงงานให้ได้ ไม่ให้กระทบผลิตสินค้า

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกสินค้าเกษตรของไทย ไป 18 ประเทศที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ในช่วง 7 เดือนของปี 2564 มีมูลค่ารวมกว่า 11,664 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวถึง ร้อยละ 33 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดที่การส่งออกขยายตัวดี ได้แก่ เกาหลีใต้ ขยายตัวร้อยละ 268 เมียนมา ขยายตัวร้อยละ 91 อินเดีย ขยายตัวร้อยละ 85 จีน ขยายตัวร้อยละ 66 และสินค้าเกษตรที่มีการส่งออกขยายตัว อาทิ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ไก่แปรรูป เครื่องเทศและสมุนไพร และผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง ในส่วนของผลไม้ยอดนิยมของไทยที่ขยายตัวเช่นเดียวกัน อาทิ ทุเรียนสด ลำไยสด มังคุด และมะม่วงสด

นอกจากนี้ ปัจจุบันไทยยังครองแชมป์เป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตร อันดับ 1 ในอาเซียน ตามด้วยเวียดนามและอินโดนีเซีย โดยความตกลง FTA มีส่วนสำคัญในการสร้างแต้มต่อทางการค้าให้กับสินค้าเกษตรของไทยในตลาดโลก เนื่องจากประเทศที่มี FTA กับไทยได้ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าเกษตรที่ไทยส่งออกส่วนใหญ่แล้ว ทำให้สินค้าไทยได้เปรียบด้านราคาและต้นทุนทางภาษีเมื่อต้องแข่งขันกับสินค้าจากประเทศอื่น ช่วยให้สินค้าเกษตรมีการส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับสถิติการใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออกสินค้าเกษตรด้วย FTA โดยเฉพาะผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และไก่แปรรูป ยางพารา และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง

และแนวโน้มการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยในอนาคต พบว่า มีโอกาสสูงที่จะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เพราะมีปัจจัยสนับสนุนจากสภาพเศรษฐกิจของตลาดส่งออกสำคัญเริ่มฟื้นตัวประกอบกับการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ การฟื้นตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และทิศทางของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 2564

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่อาจกระทบต่อการส่งออกของไทย ยังคงเป็นเรื่องการควบคุมแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศ ซึ่งต้องควบคุมไม่ให้กระทบต่อการผลิตของโรงงานและแหล่งผลิตสินค้าสำคัญของไทย รวมทั้งการเตรียมมาตรการสำรองในกรณีที่โรงงานการผลิตอาจจำเป็นต้องปิดชั่วคราวควบคู่กับการติดตามสถานการณ์และการบริหารลดความเสี่ยงที่จะกระทบการส่งออกได้

จาก https://www.innnews.co.th วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2564

มกอช. เดินหน้าลุยตลาดเม็กซิโก จัดสัมมนาติวเข้มกฎระเบียบ มาตรฐานการส่งออกสินค้าเกษตรไปเม็กซิโก

นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า สหรัฐเม็กซิโกถือเป็น “ตลาดส่งออกทางเลือก” ที่น่าสนใจแห่งหนึ่งของไทย เนื่องจากเม็กซิโก เป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตและบริโภคที่มีศักยภาพสูงเป็นตลาดขนาดใหญ่ และยังเป็นช่องทางประตูการค้าที่สำคัญของทั้งภูมิภาคอเมริกาเหนือและละตินอเมริกา

มกอช. ได้ร่วมกับสำนักงานแห่งชาติด้านสุขอนามัยความปลอดภัย และคุณภาพของการเกษตรและอาหาร (Servicio Nacional de Sanidad, Inocuidad y Calidad Agroalimentaria หรือ SENASICA) ของเม็กซิโก จัดการสัมมนา เรื่อง “มาตรฐานสินค้าเกษตรเม็กซิโก: ตลาดส่งออกทางเลือกของสินค้าเกษตรไทย” Seminar on Export of Food and Agricultural Products to Mexico: Mexico’s Regulations and Standards เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนามีความรู้ ความเข้าใจในกฎระเบียบและมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงระบบการกำกับดูแลความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหารนำเข้าของเม็กซิโก สามารถผลิตและส่งออกสินค้าได้สอดคล้อง ตามเงื่อนไขของประเทศคู่ค้า และยังสามารถสอบถามแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เชี่ยวชาญของ SENASICA ที่เป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎระเบียบด้านความปลอดภัยอาหารและตรวจสอบนำเข้าสหรัฐเม็กซิโกได้โดยตรง โดยเป็นการจัดสัมมนาผ่านระบบออนไลน์ 2 ภาษา ไทย-สเปน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เกษตรกร และสถาบันการศึกษากว่า ๑๕๐ คน เข้าร่วมการสัมมนา

“การสัมมนาครั้งนี้ เป็นการริเริ่มความร่วมมือทางวิชาการครั้งแรกระหว่าง มกอช. และ SENASICA โดยเป็นที่น่ายินดีที่ SENASICA เห็นความสำคัญและสละเวลาร่วมบรรยายให้ความรู้ด้านกฎระเบียบและมาตรฐานสินค้าเกษตรของเม็กซิโกแก่ผู้ประกอบการและหน่วยงานภาครัฐของไทย การจัดสัมมนาในวันนี้ ถือเป็นกิจกรรมที่สำคัญและน่าสนใจ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐ ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขัน ผ่านการยกระดับมาตรฐานการผลิตและส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยให้สอดคล้องกับประเทศคู่ค้า และยังเป็นการกระชับมิตรไมตรีระหว่างเม็กซิโกและไทยอีกด้วย” เลขาธิการ มกอช. กล่าว

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2564

พาณิชย์ หนุนเอกชนไทย ยืนหนึ่งเรื่องส่งออก พร้อมรับมือการกีดกันทางการค้า

รมว.พาณิชย์ หนุนเอกชนไทย ยืนหนึ่งเรื่องส่งออก พร้อมรับมือการกีดกันทางการค้าจากต่างชาติ

เมื่อวันที่ 8 ก.ย.64 ที่ผ่านมา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน และได้กล่าวปาฐกถาในสัมมนา Together is Power 2021 หัวข้อ นโยบายการส่งเสริมการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศ และการแก้ปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด ราคาต่ำ เพื่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศ กล่าวถึงวิสัยทัศน์ 4 ประการที่รัฐบาลและเอกชนต้องร่วมฝ่าโควิด-19 ได้แก่

1. กระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชนทำงานร่วมกัน เอกชนจะเป็นทัพหน้าหารายได้เข้า ส่วนรัฐบาลจะสนับสนุนการทำหน้าที่ของภาคเอกชน โดยตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ หรือ กรอ.พาณิชย์ จะเห็นได้ชัดเจนจากการส่งออกดีขึ้น เนื่องจากค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ดังนั้นรัฐบาลและเอกชนจำเป็นต้องร่วมมือกันฟื้นเศรษฐกิจ

2. ทีมเซลส์แมนจังหวัดกับทีมเซลส์แมนประเทศ ต้องร่วมมือกันให้เห็นเป็นรูปธรรม ส่วนทีมเซลส์แมนจังหวัดประกอบด้วยพาณิชย์จังหวัด หอการค้าจังหวัด Biz club จังหวัด Micro SMEs ของจังหวัด YEC ของจังหวัดสภาอุตสาหกรรมจังหวัด เกษตรจังหวัด ตัวแทนเกษตรกร SMEs ทุกฝ่าย ต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับจังหวัด รวมเป็น 77 ทีม และตั้งเป็น กรอ.พาณิชย์ระดับประเทศ ต้องแก้ปัญหาพืชผลเกษตรราคาตก ทีมเซลส์แมนจังหวัด ขวนขวายและไปถึงขั้นข้ามจังหวัดค้าขายระหว่างกันตามนโยบาย อย่างมังคุดใต้ล้นอีสานช่วยซื้อ ลำไยเหนือราคาตกจับมือกับทีมเซลส์แมนจังหวัดภาคใต้ และภาคตะวันออกช่วยกันแก้ปัญหา

ปัจจุบัน ทีมเซลส์แมนประเทศ ทูตพาณิชย์ ทั้ง 58 แห่ง ร่วมกับนักธุรกิจที่ไปลงทุนในต่างประเทศทำการค้าส่งออก ต้องมีนโยบายชัดเจนว่าต้องมีเป้าหมาย มีเกณฑ์ ใช้ทีมเซลส์แมนจังหวัดและทีมเซลส์แมนประเทศ เป็นฝ่ายสนับสนุนให้ภาคเอกชนทุกฝ่ายต้องทำงานร่วมกัน เช่น โครงการจับคู่เจรจาธุรกิจระหว่าง SMEs ในจังหวัด

3. เอกชนต้องเตรียมการรองรับมาตรการกีดกันทางการค้า ภายหลังประเทศพัฒนาแล้วใช้มาตรการทางภาษีกีดกันสินค้าจากประเทศกำลังพัฒนา หากประเทศเหล่านั้นรวมตัวในระบบพหุภาคี หรือในระบบเขตการค้าเสรี (FTA) และ องค์กรการค้าโลก (WTO) มาตรการทางภาษีถูกลดความสำคัญลง และอาจใช้มาตรการที่มิใช่ภาษีมาเป็นกำแพงกั้นสินค้าที่ไปจากประเทศคู่แข่งหรือประเทศอื่นๆ

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรการสิ่งแวดล้อม มาตรการแรงงาน มาตรการสิทธิมนุษยชน สุขอนามัย ล่าสุดภาษีคาร์บอน เพื่อเป้าหมายกีดกันทางการค้าหรือปกป้องการค้าของประเทศ โดยอียูเริ่มแล้วในอีก 2 ปี จะคิดภาษีคาร์บอน 5 สินค้า ได้แก่ 1. เหล็ก 2. อะลูมิเนียม 3. ซีเมนต์ 4. ไฟฟ้า 5. ปุ๋ย

ประเทศไทยต้องจับมือกับอาเซียนอีก 9 ประเทศ แข่งขันกันนำบริการที่มีศักยภาพ อย่างดิจิทัลคอนเทนต์ เช่น แอนิเมชัน ภาพยนตร์ เอกชนต้องกล้าทำ กระทรวงพาณิชย์จะเข้าไปสนับสนุน ต้องไม่เน้นการแข่งขันเรื่องราคาอย่างเดียว ต้องเน้นคุณภาพด้วย

4. อยากให้ภาคเอกชนเร่งศึกษาหาประโยชน์จากเขตการค้าเสรี หรือ FTA และการทำสัญญาการค้าระบบพหุภาคี โดยเฉพาะ RCEP หรือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ที่มีสมาชิก 15 ประเทศ รวมถึงไทย กำลังจะมีผลบังคับใช้ อยู่ในขั้นตอนให้สัตยาบันประเทศไทย มีกำหนดการชัดเจนแล้วว่าจะให้สัตยาบันไม่ช้ากว่าเดือนพฤศจิกายนปี 64 คาดว่าจะใช้ได้ปี 65 เพราะฉะนั้นต้องรีบศึกษาข้อตกลงว่ามีอะไรบ้างจะเป็นอุปสรรคกับธุรกิจ จะได้เปรียบเรื่องอะไรบ้าง

ส่วนความคืบหน้าที่เอกชนเรียกร้องมานาน คือ กองทุน FTA ต้องตั้งขึ้นเพื่อช่วยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในประเทศ โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ลงนามถึงกระทรวงการคลังเรื่องการจัดตั้งกองทุน หลังจากผ่านแล้วจะเข้า ครม. อีกครั้ง ประเทศไทยจะได้มีกองทุน FTA ที่เอกชนเรียกร้อง

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2564

ความเชื่อมั่นอุตฯหัวทิ่ม กังวลโควิดระบาด-ศก.แย่-การเมืองร้อน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 76.8 ลดลงจากระดับ 78.9 ในเดือนกรกฎาคม 2564 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 16 เดือน นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 และปรับตัวลดลงในทุกภูมิภาคและทุกขนาดอุตสาหกรรม ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ คือ ภาครัฐยกระดับมาตรการควบคุมโควิด-19 เข้มงวดมากขึ้น รวมทั้งขยายพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเป็น 29 จังหวัด บังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ตลอดเดือนสิงหาคม ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง ขณะที่การแพร่ระบาดในโรงงานอุตสาหกรรมยังไม่คลี่คลายทำให้กำลังการผลิตลดลงและการส่งมอบสินค้าล่าช้าโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออก

ทั้งนี้ผู้ประกอบการยังมีความกังวลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนให้กับพนักงานในโรงงานที่ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ตลอดจนสภาวะเศรษฐกิจในประเทศมีความไม่แน่นอนสูง กำลังซื้อในประเทศที่ยังอ่อนแอ ปัญหาขาดสภาพคล่องของผู้ประกอบการ SMEs ด้านการส่งออกอุปสงค์ในตลาดต่างประเทศชะลอลงจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศโดยเฉพาะในเอเชีย ขณะที่ปัญหาอัตราค่าระวางเรือที่ทรงตัวในระดับสูงส่งผลให้ผู้ส่งออกมีต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มขึ้น รวมถึงปัญหาขาดแคลนชิพเซมิคอนดักเตอร์ ส่งผลกระทบต่อการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์

“การติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงกรกฎาคม-สิงหาคมและภาครัฐออกมาตรการล็อกดาวน์ผลที่เกิดไม่ต่างกันมากนัก ขณะนี้การฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นส่งผลสำคัญในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อ รวมถึงจำนวนผู้ที่หายป่วยก็มีจำนวนมากขึ้น จึงอยากให้รัฐเร่งฉีดวัคซีนให้มากขึ้นจากนี้หวังว่าการล็อกดาวน์จะไม่เกิดขึ้นอีก หากทุกฝ่ายดูแลป้องกันควบคู่กับการฉีดวัคซีน” นายสุพันธุ์กล่าว

จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,395 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนสิงหาคม 2564 พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สถานการณ์ระบาดของโควิด-19, เศรษฐกิจในประเทศ, สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมัน, สภาวะเศรษฐกิจโลก, และอัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ 38.6% ตามลำดับ

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 90.9 จากระดับ 89.3 ในเดือนกรกฎาคม 2564 โดยผู้ประกอบการมองว่าหากภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ควบคู่ไปกับการเร่งฉีดวัคซีนจะช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงได้ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัว โดยภาครัฐควรเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ รวมถึงเร่งขยายการส่งออกอย่างต่อเนื่อง

นายสุพันธุ์กล่าวว่า ภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนงบประมาณในการจัดตั้ง Factory Quarantine และ Factory Accommodation Isolation ภายในโรงงาน รวมทั้งช่วยจัดหาและสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อชุดตรวจ ATK เพื่อสุ่มตรวจหาผู้ติดเชื้อในสถานประกอบการ ทุกๆ 14 วัน ตามมาตรการ Bubble and Seal ขอให้ภาครัฐเร่งฉีดวัคซีนให้แก่แรงงาน ม.33 รวมทั้งจัดให้มี Mobile Units ฉีดวัคซีนให้แก่แรงงาน ณ สถานประกอบการ เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19ในสถานประกอบการ เพื่อรักษาศักยภาพในการผลิตและภาคส่งออกของประเทศ

นอกจากนี้ยังเสนอให้ขยายมาตรการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยออกไปอย่างน้อย 6 เดือน ถึง 1 ปี ให้กับสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบรวมถึงสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ SMEs และให้ภาครัฐเจรจากับประเทศคู่ค้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับความปลอดภัยในสินค้าส่งออกของไทย

“อยากให้มาตรการรัฐที่จะออกมาใหม่ครอบคลุมถึงผู้ประกอบรวมทั้งพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิดและทำอย่างไรให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อเพื่อกระตุ้นภาคการบริโภคและฟื้นเศรษฐกิจสิ่งที่สำคัญ คือ ภาครัฐควรสนับสนุนงบประมาณในจัดตั้ง Factory Quarantine การจัดซื้อชุดตรวจ เนื่องจากเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการและผู้ประกอบการต่างได้รับผลกระทบจากโควิด-19และพร้อมสนับสนุนมาตรการรัฐอย่างเคร่งครัดเพื่อลดการแพร่ระบาด” นายสุพันธุ์กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2564

กองทุนพลังงานอัดงบ 3,200ล้านจ้างงาน-กระตุ้นศก.

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริม การอนุรักษ์พลังงาน ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.เป็นประธาน ได้มีการอนุมัติโครงการในปีงบประมาณ 2564 ใน 5 กลุ่มย่อย จำนวน 63 โครงการ วงเงินสนับสนุนประมาณ 2,000 ล้านบาท ประกอบด้วย1) กลุ่มงานตามกฎหมาย จำนวน 6 โครงการ 2) กลุ่มงานสนับสนุนนโยบายอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน จำนวน 13 โครงการ3) กลุ่มงานศึกษา ค้นคว้าวิจัย นวัตกรรม และสาธิตต้นแบบ จำนวน 27 โครงการวงเงินสนับสนุน 4) กลุ่มงานสื่อสาร และข้อมูล ข่าวสาร จำนวน 5 โครงการ และ 6) กลุ่มงานส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนในกลุ่มโรงงาน อุตสาหกรรม อาคาร บ้านอยู่อาศัย ภาคขนส่ง ธุรกิจฟาร์มเกษตรสมัยใหม่ และพื้นที่พิเศษ จำนวน 12 โครงการ

นอกจากนี้ ยังได้อนุมัติโครงการภายใต้กลุ่มงานลำดับที่ 7) กลุ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานราก จำนวน 1,098 โครงการทั่วประเทศ วงเงินประมาณ 1,200 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับชุมชน และสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก โดยกำหนดให้เริ่มขับเคลื่อนโครงการตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2564 เป็นต้นไป

“ทุกโครงการที่ได้รับการอนุมัติในงบประมาณ 2564 ผ่านการพิจารณาตามขั้นตอนที่โปร่งใส และเป็นธรรมอย่างรอบคอบ เพื่อผลักดันให้เป็นส่วนหนึ่งของกลไกที่ขับเคลื่อนให้เกิดการจ้างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศลดผลกระทบช่วงสถานการณ์ โควิด-19 และพัฒนาพลังงานในระดับชุมชนฐานรากให้เป็นไปตามทิศทางนโยบายพลังงานของประเทศ โดยการดำเนินการทุกโครงการจะต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้มาตรการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ ตลอดจนเกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างสูงสุด”นายกุลิศกล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2564

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “แข็งค่า” ที่ระดับ  32.74 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทยังคงมีแนวต้านอยู่ที่ระดับ 32.90-33.00 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่แนวรับหลักจะอยู่ในช่วง 32.50-32.60 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.74 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่า”ขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  32.78 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทย ระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดโดยรวมจะรอการประชุม ECB รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ในวันนี้ ทำให้ แนวโน้มเงินบาทยังแกว่งตัวในกรอบ Sideways ทว่าในช่วงระหว่างวันเงินบาทอาจผันผวนในฝั่งอ่อนค่าได้ จากแรงขายทำกำไรสินทรัพย์ไทยโดยนักลงทุนต่างชาติ

ทั้งนี้ โดยรวม เรามองว่า เงินบาทยังคงมีแนวต้านอยู่ที่ระดับ 32.90-33.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่อาจจะเริ่มเห็นบรรดาผู้ส่งออกเข้ามาทยอยขายเงินดอลลาร์มากขึ้น ขณะที่แนวรับหลักของเงินบาทจะอยู่ในช่วง 32.50-32.60 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นโซนราคาที่บรรดาผู้นำเข้าต่างรอเข้ามาซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทกลับมาแข็งค่าใกล้ระดับดังกล่าว

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.65-32.80 บาท/ดอลลาร์

บรรยากาศในตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงจากความกังวลว่า ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมา อาจส่งผลกระทบให้ เศรษฐกิจโดยรวมขยายตัวได้แย่กว่าที่คาดการณ์ไว้ สอดคล้องกับ รายงานภาวะเศรษฐกิจของเฟด (Fed Beige Book) ล่าสุด ที่บรรดาเฟดในแต่ละพื้นที่ต่างรายงานว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในภาคการบริการชะลอตัวลงจากผลกระทบของการระบาด Delta นอกจากนี้ บรรดาผู้เล่นในตลาดยังมีความไม่แน่ใจในประเด็นการปรับลดการอัดฉีดสภาพคล่อง (คิวอี) ของ บรรดาธนาคารกลางหลัก อาทิ เฟด และ ธนาคารกลางยุโรป (ECB)

ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดเลยเลือกขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงอย่างต่อเนื่อง โดยในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนี S&P500 ปรับตัวลดลง -0.13% ขณะที่ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พลิกกลับมาปิดลบกว่า -0.57% หลังหุ้นกลุ่มเทคฯ ก็โดนเทขายทำกำไรมากขึ้น ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวลงราว -1.1% จากแรงเทขายทำกำไรหุ้นในกลุ่ม Cyclical อาทิ ยานยนต์ Volkswagen -3.1%, BMW -2.4% รวมถึง กลุ่มการเงิน Santander -2.3%, BNP Paribas -1.5% เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอคอยผลการประชุม ECB ในวันนี้ และมีการขายทำกำไรหุ้นออกมาบ้างก่อนการประชุมดังกล่าว

ในฝั่งตลาดบอนด์ ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด รวมถึงผลประมูลบอนด์ 10ปี สหรัฐฯ ที่มีความต้องการสูงกว่าคาด ได้กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลง 4bps สู่ระดับ 1.34% ทั้งนี้ แนวโน้มของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ รวมถึง บอนด์ยีลด์ 10ปี ทั่วโลก โดยเฉพาะในฝั่งยุโรป อาจผันผวนและมีโอกาสทยอยปรับตัวขึ้น หากบรรดาธนาคารกลาง อาทิ ECB หรือ เฟด ออกมาส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นในการทยอยปรับลดคิวอี

ทางด้านตลาดค่าเงิน ความต้องการสินทรัพย์หลบความผันผวนในตลาด ได้หนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 92.70 จุด นอกจากนี้ การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ได้กดดันให้ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าแตะระดับ 110 เยนต่อดอลลาร์ ส่วนเงินยูโร (EUR) ยังทรงตัวใกล้ระดับ 1.182 ดอลลาร์ต่อยูโร เนื่องจากผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการประชุม ECB ในวันนี้ ก่อนที่จะปรับสถานะถือครองเงินยูโรอย่างชัดเจน โดยเงินยูโรอาจกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ หาก ECB เริ่มส่งสัญญาณปรับลดคิวอี

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ไฮไลท์ของข้อมูลเศรษฐกิจจะอยู่ที่การประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) เนื่องจากบรรดาผู้เล่นในตลาดจะจับตาการส่งสัญญาณทยอยปรับลดคิวอีของ ECB หลังเศรษฐกิจก็ฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ส่วนราคาสินทรัพย์เสี่ยงยุโรปต่างปรับตัวสูงขึ้น (หุ้นยุโรปปรับตัวขึ้นกว่า 21% ในปีนี้) อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อโดยรวมก็เร่งตัวขึ้นและอยู่ในระดับสูง ทำให้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างมากนั้น อาจมีความจำเป็นลดลง

อย่างไรก็ดี หาก ECB ย้ำจุดยืนเดินหน้าทำคิวอีผ่านโครงการ PEPP ไม่น้อยกว่า 85 พันล้านยูโร ต่อเดือน ผู้เล่นในตลาดอาจตีความว่า ECB ยังคงช่วยสนับสนุนสภาพคล่องต่อ ซึ่งจะช่วยให้สินทรัพย์เสี่ยงยุโรปสามารถพลิกกลับมาปรับตัวขึ้นต่อได้ ขณะที่เงินยูโรอาจกลับมาอ่อนค่าลงได้บ้าง

นอกจากนี้ ตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าเฟด (วันพฤหัสฯนี้ Williams, Daly และ Evans ส่วนวันศุกร์ Bowman และ Mester) เพื่อวิเคราะห์มุมมองต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจของเฟด รวมถึงแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น

อาทิ การลดคิวอี ว่าเฟดยังคงมุมมองลดคิวอีในปีนี้ หรือไม่ หลังยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมล่าสุดแย่กว่าคาด ซึ่งหากบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดยังคงออกมาสนับสนุนการทยอยลดคิวอี ตลาดการเงินอาจยังคงอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว ขณะที่เงินดอลลาร์ก็สามารถแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักได้

ทางด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 32.70-32.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 32.79 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทแข็งค่ากลับมาบางส่วน แต่ยังคงสอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย และค่าเงินหยวน ขณะที่บอนด์ยีลด์ของสหรัฐฯ ที่ย่อลงมาเล็กน้อย ทำให้แรงหนุนการฟื้นตัวเงินดอลลาร์ฯ ชะลอลงมาบางส่วนในระหว่างที่รอติดตามผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรปในวันนี้

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 32.60-32.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิด ทิศทางฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติ ผลการประชุม ECB  ข้อมูลเงินเฟ้อของจีนเดือนส.ค. และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ  

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2564

ส่งออกปีนี้ส่อโต12% ‘สรท.’ห่วง6ปัจจัยเสี่ยงฉุด

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก เปิดเผยว่า สรท. ปรับคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2564 เติบโต 10-12% โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่ 1.การฟื้นตัวอย่าแข็งแกร่งของเศรษฐกิจโลก และ 2 ราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวสูงกว่าปีที่แล้วอย่างต่อเนื่อง จากแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลกโดยเฉพาะยุโรปและสหรัฐฯ ที่เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ รวมถึงค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่เริ่มส่งสัญญาณอ่อนตัว

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงได้แก่ 1.สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่มีความรุนแรงในประเทศ 2.ปัญหาการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ 3.การยกระดับมาตรการคุมเข้มในการตรวจหาเชื้อโควิดในต่างประเทศ 4.การขาดแคลนแรงงาน ความต้องการแรงงานในกระบวนการผลิตเพิ่มขึ้น 5.ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่าและ 6.ปริมาณปัจจัยการผลิตไม่เพียงพอและต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น อาทิ ปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ชิพสินค้าเหล็ก ผลผลิตทางการเกษตร และอาจมีแนวโน้มยังคงขาดแคลนต่อเนื่องถึงไตรมาส 4/2564

อย่างไรก็ตาม สรท. มีข้อเสนอแนะของสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย 1.ขอให้รัฐช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 1,000 บาท/คน สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมและภาคการผลิตที่เริ่มเข้ามาตรการ Factory Quarantine (FQ) หรือFactory Accommodation Isolation(FAI) ในช่วงตั้งต้นของการดำเนินมาตรการ (One Time Cost) 2.สนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ทางสาธารณสุข รวมถึงขอให้มีการควบคุมราคาชุดตรวจโควิด ATK ให้อยู่ในราคาที่เหมาะสม 3.เร่งฉีดวัคซีนให้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกให้ครอบคลุมโดยเร็ว

สำหรับภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนก.ค. 2564 ที่ผ่านมาพบว่า การส่งออกมีมูลค่า 22,650.83ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 20.27% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 708,651.66 ล้านบาท ขยายตัว 22.16%

ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 22,467.37 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 45.94% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 712,613.16 ล้านบาท ขยายตัว 48.22% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนกรกฎาคม 2564 เกินดุลเท่ากับ 183.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ขาดดุล 3,961.50 ล้านบาท

ส่วนภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในครึ่งปีแรกของปี 2564 ที่ผ่านมา พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 154,985.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 16.20% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 4,726,197.35 ล้านบาท ขยายตัว 13.93% ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 152,362.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 28.73% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 4,711,274.91 ล้านบาท ขยายตัว 26.34% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมกราคม - กรกฎาคมของปี 2564 เกินดุล 2,622.62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 14,922.44 ล้านบาท

จาก https://www.naewna.com วันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2564

สรท. ผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย

 นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก เปิดเผยว่า สรท. ปรับคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2564 เติบโต 10-12% โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่ 1.การฟื้นตัวอย่าแข็งแกร่งของเศรษฐกิจโลก และ 2 ราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวสูงกว่าปีที่แล้วอย่างต่อเนื่อง จากแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลกโดยเฉพาะยุโรปและสหรัฐฯ ที่เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ รวมถึงค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่เริ่มส่งสัญญาณอ่อนตัว

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงได้แก่ 1.สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่มีความรุนแรงในประเทศ 2.ปัญหาการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ 3.การยกระดับมาตรการคุมเข้มในการตรวจหาเชื้อโควิดในต่างประเทศ 4.การขาดแคลนแรงงาน ความต้องการแรงงานในกระบวนการผลิตเพิ่มขึ้น 5.ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่าและ 6.ปริมาณปัจจัยการผลิตไม่เพียงพอและต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น อาทิ ปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ชิพสินค้าเหล็ก ผลผลิตทางการเกษตร และอาจมีแนวโน้มยังคงขาดแคลนต่อเนื่องถึงไตรมาส 4/2564

อย่างไรก็ตาม สรท. มีข้อเสนอแนะของสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย 1.ขอให้รัฐช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 1,000 บาท/คน สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมและภาคการผลิตที่เริ่มเข้ามาตรการ Factory Quarantine (FQ) หรือFactory Accommodation Isolation(FAI) ในช่วงตั้งต้นของการดำเนินมาตรการ (One Time Cost) 2.สนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ทางสาธารณสุข รวมถึงขอให้มีการควบคุมราคาชุดตรวจโควิด ATK ให้อยู่ในราคาที่เหมาะสม 3.เร่งฉีดวัคซีนให้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกให้ครอบคลุมโดยเร็ว

สำหรับภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนก.ค. 2564 ที่ผ่านมาพบว่า การส่งออกมีมูลค่า 22,650.83ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 20.27% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 708,651.66 ล้านบาท ขยายตัว 22.16%

ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 22,467.37 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 45.94% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 712,613.16 ล้านบาท ขยายตัว 48.22% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนกรกฎาคม 2564 เกินดุลเท่ากับ 183.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ขาดดุล 3,961.50 ล้านบาท

ส่วนภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในครึ่งปีแรกของปี 2564 ที่ผ่านมา พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 154,985.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 16.20% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 4,726,197.35 ล้านบาท ขยายตัว 13.93% ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 152,362.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 28.73% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 4,711,274.91 ล้านบาท ขยายตัว 26.34% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมกราคม - กรกฎาคมของปี 2564 เกินดุล 2,622.62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 14,922.44 ล้านบาท

จาก https://www.naewna.com วันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2564

ลุยเกษตร สุดเขตไทย : การจัดการน้ำทั้งระบบของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.)

ช่วงนี้ประเทศไทยฝนตกหนักหลายพื้นที่“หนุ่มยูโร” เป็นห่วงสถานการณ์น้ำในประเทศ หวั่นจะเกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 อาทิตย์ที่ผ่านมาหลายพื้นที่ต่างประสบกับปัญหาน้ำท่วมกันหนักหน่วงทั้งเหนือ ใต้ ออก ตก และภาคกลาง

การจัดการเรื่องน้ำของประเทศไทย มีหลากหลายหน่วยงาน ครั้งแรกๆ “หนุ่มยูโร”เข้ามาศึกษายังงงกับระบบการจัดการน้ำของประเทศไทย ทั้งกรมชลประทาน,กฟผ.ที่ดูแลเขื่อนต่างๆ รวมทั้งการก่อกำเนิดของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และสำนักระบายน้ำของกทม.อีก

เมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ทำให้รู้จักห้วย หนอง คลองบึง และประตูระบายน้ำมากขึ้น ชื่อประตูระบายน้ำต่างๆ ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด หลังจากนั้นเมื่อปี 2560 ยุคคสช.ก็ตั้งหน่วยงานหนึ่งขึ้นมาดูแลน้ำทั้งระบบ นั้นคือสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)ได้ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์มาทำหน้าที่เป็นเลขาธิการสนทช. เทียบเท่าปลัดกระทรวง หรือ ซี 11

แต่มติครม.เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 แต่งตั้งนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมการฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.)คนใหม่ โดย ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสทนช.คนปัจจุบัน เกษียณอายุราชการ

ดร.สมเกียรติ อธิบดีกรมชลประทานหมาดๆ ในยุคนั้นมาเป็นเสาหลักในการจัดทำยุทธศาสตร์น้ำของประเทศ และจัดทำร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 เพียง 3 ปีออกดอกออกผล ทั้งบูรณาการหน่วยงานน้ำร่วม 40 หน่วย 10 กระทรวง ทั้งจัดระเบียบให้ทุกหน่วยอยู่ในแถว เพื่อขับเคลื่อนภารกิจบริหารจัดการน้ำของประเทศให้เห็นผลจากเดิมที่ต่างคนต่างทำ จากเดิมที่ใครมีแรงมากกว่า วิ่งชิงงบได้ก่อนใคร มาเป็นการหาเจ้าภาพรับผิดชอบแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ไล่ลงขนาดเล็ก 1.4 แสนแห่ง และมีโอกาสเข้าถึงงบเท่าเทียมกัน

ดร.สมเกียรติ จัดวางโครงสร้างกำกับดูแลน้ำ ตั้งแต่ระดับชาติ(คณะกรรมการนโยบายน้ำแห่งชาติ)ระดับลุ่มน้ำ(คณะกรรมการลุ่มน้ำ)และระดับจังหวัด(คณะอนุกรรมการน้ำจังหวัด) โดยมีสทนช.เป็นฝ่ายเลขานุการ ทำให้การขับเคลื่อนเป็นจริงได้

พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เป็นเครื่องมือสำคัญในการออกกฎหมายลูกเพื่อขับเคลื่อนอย่างจริงจัง อาทิ การจัดตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำ จากภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม แล้วคัดเลือกเป็นตัวแทนในกรรมการระดับต่างๆ การจัดทำผังน้ำ การจัดเก็บค่าน้ำ ฯลฯ ถือเป็นผลงานหนึ่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่เพิ่งผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจหมาดๆ

ผลงานล่าสุด ดร.สมเกียรติประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการศึกษาเพื่อจัดทำแผนหลักบริหารจัดการทรัพยากรน้ำกลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา พร้อมชี้แจงว่า ลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่รวมประมาณ 104 ล้านไร่ มีลุ่มน้ำสำคัญ 3 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล และลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมักประสบกับสภาพทั้งปัญหาภัยแล้ง-น้ำท่วม ปัญหาโครงสร้างการจัดการน้ำ และปัญหาคุณภาพน้ำ

โดยพบว่าจากพื้นที่ Area Based อยู่ในภาคอีสาน 16 พื้นที่ เป็นพื้นที่ที่ปัญหาด้านน้ำถึง 14 พื้นที่ แบ่งเป็น พื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมและภัยแล้ง 13 พื้นที่ อาทิ ลุ่มน้ำโมงตอนบน ลุ่มน้ำห้วยหลวง ลุ่มน้ำแม่น้ำสงคราม ลุ่มน้ำพุง-น้ำก่ำ ลุ่มน้ำชีตอนบน ลุ่มน้ำชีตอนกลาง ลุ่มน้ำมูล และ เมืองบุรีรัมย์-สุรินทร์ รวม 11.7 ล้านไร่ พื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง 1 พื้นที่ คือ ลุ่มน้ำเลยตอนล่าง มีพื้นที่ 0.063 ล้านไร่ และเขตเศรษฐกิจพิเศษ 2 พื้นที่ ได้แก่ นครพนม และ มุกดาหาร รวม 0.042 ล้านไร่

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล มารับตำแหน่งเลขาฯ สทนช. ทุกคนหวังว่าสทนช.จะเดินหน้าต่อไป เป็นเสาหลักแห่งการบริหารจัดการน้ำของประเทศให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ชาวบ้านดีใจที่ได้มืออาชีพมาบริหารจัดการน้ำแทนคนเก่าครับ

จาก https://www.naewna.com วันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2564

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “อ่อนค่า”ที่ระดับ 32.68 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทยังผันผวนได้ หากนักลงทุนต่างชาติทยอยขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยง รวมถึง ทยอยขายทำกำไรสถานะถือครองเงินบาท จากการเก็งกำไรเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.68 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่า”ลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  32.62 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน   พานิชพิบูลย์   นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ในช่วงระหว่างวันเงินบาทอาจผันผวนได้ หากนักลงทุนต่างชาติทยอยขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยง รวมถึง ทยอยขายทำกำไรสถานะถือครองเงินบาท จากการเก็งกำไรเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ โดยรวม เรามองว่า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ Sideways ที่กว้าง

เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอปัจจัยใหม่ๆ โดยเฉพาะแนวโน้มสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในประเทศ ที่ล่าสุดทาง ศบค. รวมถึงผู้เชี่ยวชาญเริ่มออกมาเตือนให้ระวังการระบาดระลอกใหม่ในช่วงเดือนตุลาคม หากประชาชนเริ่มประมาทในการป้องกันตัวเองในช่วงการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดโดยรวมจะรอคอยผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป เนื่องจากจะเป็นการประชุมที่อาจมีการส่งสัญญาณเกี่ยวกับการปรับลดคิวอีและอาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินได้ ทำให้แนวโน้มค่าเงินดอลลาร์ หรือ ยูโร จะยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจน

ทั้งนี้ถ้าหากผู้ประกอบการมีความไม่มั่นใจต่อแนวโน้มค่าเงิน ก็สามารถใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options ในการเพิ่มประสิทธิภาพการวางแผนกลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงค่าเงินได้

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.60-32.75 บาท/ดอลลาร์

ผู้เล่นในตลาดเริ่มกลับมาอยู่ในโหมดระมัดระวังตัวมากขึ้น จากความกังวลว่า ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าจะเริ่มดีขึ้น แต่ก็อาจส่งผลกระทบให้ เศรษฐกิจโดยรวมขยายตัวได้แย่กว่าที่คาดการณ์ไว้ กอปรกับ ผู้เล่นในตลาดยังมีความไม่แน่ใจในประเด็นการปรับลดการอัดฉีดสภาพคล่อง (คิวอี) ของ บรรดาธนาคารกลางหลัก อาทิ เฟด และ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งตลาดจะจับตาการประชุม ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันพฤหัสฯ เพื่อจับสัญญาณแนวโน้มการทยอยปรับลดคิวอี

ภาวะระมัดระวังตัวของผู้เล่นในตลาดได้กดดันให้ ผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรหุ้นในกลุ่ม Cyclical ในขณะที่ หุ้นในกลุ่มเทคฯ โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ สไตล์เติบโตแข็งแกร่ง (Growth stocks) สามารถปรับตัวขึ้นได้ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดมองว่า ผลประกอบการของบรรดาบริษัทเทคฯ จะได้รับผลกระทบน้อยหรือแทบไม่ได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวเศรษฐกิจและปัญหาการระบาดระลอกใหม่ๆ

ในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนี Dowjones ที่ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยหุ้นในกลุ่ม Cyclical ปรับตัวลดลง -0.76% ส่วน ดัชนี S&P500 ปรับตัวลดลง -0.34% ขณะที่ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดบวก +0.07% ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวลงราว -0.50% เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอคอยผลการประชุม ECB ในวันพฤหัสฯ นี้ และมีการขายทำกำไรหุ้นออกมาบ้างก่อนการประชุมดังกล่าว

ในฝั่งตลาดบอนด์ มีความเคลื่อนไหวที่คึกคักมากขึ้น หลังจากที่บอนด์ยีลด์ 10ปี ทั่วโลก ต่างปรับตัวสูงขึ้นราว 5-7bps นำโดยบอนด์ยีลด์ 10ปี ในฝั่งยุโรปที่ปรับตัวขึ้น ท่ามกลางความคาดหวังของผู้เล่นในตลาดว่า ECB อาจเริ่มส่งสัญญาณทยอยปรับลดคิวอีลงในการประชุมวันพฤหัสฯ นี้ หลังปัญหาการระบาดก็เริ่มคลี่คลายลง

ขณะเดียวกันเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง และตลาดการเงินก็ดูไม่มีปัญหาด้านสภาพคล่อง นอกจากนี้ในฝั่งสหรัฐฯ แรงกระเพื่อมจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10ปี ในฝั่งยุโรป ได้ช่วยหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ก็ปรับตัวขึ้น 5bps สู่ระดับ 1.37% เช่นกัน

ทางด้านตลาดค่าเงิน ความไม่แน่นอนของตลาดการเงิน รวมถึงการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 92.53 จุด ทั้งนี้ เงินดอลลาร์อาจเผชิญแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินยูโรได้ หากธนาคารกลางยุโรป (ECB) เริ่มส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดการอัดฉีดสภาพคล่องในการประชุม ECB วันพฤหัสฯ นี้

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ความเคลื่อนไหวในตลาดการเงินอาจยังถูกกดดันด้วยภาวะระมัดระวังตัวของบรรดาผู้เล่นในตลาด ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรปในวันพฤหัสฯ โดยอาจเห็นแรงขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงได้บ้าง ขณะเดียวกัน เงินดอลลาร์ก็ยังมีโมเมนตัมหนุนอยู่จากภาวะระมัดระวังตัวของตลาด

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2564

สั่งทูตพาณิชย์ทั่วโลก พร้อมลุยกิจกรรมส่งออกครึ่งปีหลัง

พาณิชย์ พร้อมดันส่งออกครึ่งปีหลัง ภายใต้กิจกรรมส่งเสริมกว่า 130 กิจกรรม พร้อมกำชับทูตพาณิชย์ทั่วโลก หากประเทศไหนพร้อมทำกิจรรมเดินหน้าได้ทันที ขณะที่กิจกรรมส่งเสริมการค้า การส่งออกออนไลน์ ยังเดินต่อหลังประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี

วันที่ 7 กันยายน 2564 นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การจัดกิจกรรมการส่งเสริมการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีหลัง 2564 นี้ กรมเตรียมกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกทั้งรูปแบบออนไลน์ การเจรจาการค้าออนไลน์ การแสดงสินค้าแบบไฮบริด การจัดทำโปรโมชั่นส่งเสริมสินค้าไทยในต่างประเทศ ทั้งข้าว ผลไม้ สินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาดโดยรวมกับห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารในต่างประเทศ ไม่ต่ำกว่า 130 กิจกรรม พร้อมกันนี้ ยังได้กำชับ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) หากประเทศไหนมีความพร้อม ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เป็นอย่างดีและเปิดให้ทำกิจกรรมทางการค้า แสดงสินค้าได้ ทูตพาณิชย์สามารถจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้า การส่งออกได้ทันที เพื่อเป็นโอกาสในการส่งออกของไทยไปในตลาดต่างๆได้เติบโตมากขึ้น

นอกจากนี้ ในการทำตลาดและเจาะตลาดใหม่กรมได้ให้ความรู้และความพร้อมแก่ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก เพื่อทำตลาดส่งออกได้เพื่อช่วงชิงโอกาสทางการตลาดให้ได้มากขึ้น อีกทั้ง กิจกรรมส่งเสริมการค้าในรูปแบบออนไลน์ เจรจาการค้าออนไลน์ แสดงสินค้าออนไลน์ กรมยังคงจะเดินหน้าต่อเนื่อง เพราะเห็นได้จากช่วงที่ผ่านมากิจกรรมดังกล่าวประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมากเกิดการซื้อ-ขาย ส่งออกสินค้าได้เป็นอย่างดี ซึ่งต่อไปก็จะดำเนินการควบคู่ไปกับรูปแบบปกติ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าและเข้ากับสถานการณ์ที่อยู่ภายใต้การแพร่ระบาดของโควิด-19 นี้

สำหรับกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกที่ผ่านมาและจะเดินหน้าต่อไปนั้น กรมได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าไทยปลอดภัยจากโควิด-19 โดยทำคลิปวิดีโอและส่งให้ทูตพาณิชย์เผยแพร่ไปยังต่างประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก การผลักดันสินค้าอาหารไทยผ่านโครงการ Thai Select โดยใช้อินฟลูเอนเซอร์ที่มีชื่อเสียงมาช่วย และใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียในการโปรโมต โดยได้ดำเนินการแล้วที่อินโดนีเซีย โคเปนเฮเกนและวอร์ซอ ฮ่องกง อเมริกา และแคนาดา ซึ่งส่งผลให้ร้านอาหารไทยเป็นที่รู้จัก และเพิ่มยอดขายให้กับร้านอาหารไทยได้เพิ่มขึ้น

การโปรโมตข้าวไทยภายใต้โครงการ Think Rice Think Thailand ที่กรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์ ในรูปแบบไฮบริดทั้งออฟไลน์และออนไลน์ของซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งช่วยกระตุ้นการจำหน่ายและการบริโภคข้าวไทย และได้ร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์ด้านอาหารของอียิปต์ จัดทำคลิปสั้นเพื่อโปรโมตการใช้ข้าวหอมมะลิไทยในการประกอบเมนูท้องถิ่น ทำให้ชาวอียิปต์รู้จักข้าวไทยมากขึ้น ส่งผลดีต่อการส่งออกข้าวไทยไปอียิปต์ได้มากขึ้น โดยช่วง 6 เดือน มีมูลค่า 1.64 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.91%

การผลักดันการส่งออกผลไม้ โดยเฉพาะตลาดจีน ในกิจกรรม “Thai Fruit Golden Months” เพื่อกระตุ้นยอดขายผลไม้ไทย เช่น ทุเรียน มังคุด ลำไย ส้มโอ กล้วยไข่ มะพร้าว มะม่วง โดยมีสถิติการส่งออกช่วง 6 เดือนเป็นการยืนยัน มีมูลค่าถึง 74,539 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 64.89% และยังได้จัด Instore Promotion ร่วมกับซูเปอร์มาร์เก็ตริมปิง ซึ่งเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตของนักลงทุนไทยใน สปป.ลาว โดยเน้นสินค้า ข้าว อาหาร และผลไม้ไทย ได้แก่ ทุเรียน มังคุด ลำไย ส้มโอ อินทผลัม ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมากเช่นเดียวกัน

การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับห้างสรรพสินค้า การเข้าร่วมและการจัดงานแสดงสินค้าในรูปแบบ Mirror–Mirror การส่งเสริม SMEs การบุกเมืองรอง และสร้างพันธมิตรทางการค้าระหว่างรัฐ และการเปิดโอกาสตลาดใหม่และสร้างความมั่นใจตลาดเดิม ได้จัดงาน Thailand Week Online ที่เมืองปูเน่ รัฐมหาราชฏระ มีการเจรจาออนไลน์ 399 นัดภายใน 3 วัน เพื่อให้ผู้ส่งออกไทย 35 ราย ได้พบปะกับผู้นำเข้าอินเดียกว่า 110 ราย พร้อมส่งสินค้าตัวอย่างให้ผู้นำเข้าอินเดียได้ทดลองล่วงหน้าก่อนการเจรจา คาดว่ากิจกรรมครั้งนี้สามารถสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท และที่มุมไบ ได้จัดกิจกรรมสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยและกิจการชุมชน เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาดอินเดียในอนาคต รวมทั้งได้ลงนามใน MOU เพื่อร่วมมือทางการค้ากับเมืองโคฟุ จังหวัดยามานาชิ ประเทศญี่ปุ่น กับมณฑลไห่หนาน ของจีน และมีแผนจะลงนามกับรัฐเตลังคานา ประเทศอินเดีย และจังหวัดคยองกี เกาหลีใต้ ต่อไป

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2564

โรงงานน้ำตาลประกาศซื้ออ้อยสด 1,000 บาท/ตันต่ออีก 1 ปี ดันอ้อยฤดูหีบหน้าแตะ 100 ล้านตัน

โรงงานน้ำตาลประกาศต่ออายุรับประกันราคาซื้ออ้อยสดเข้าหีบขั้นต่ำตันละ 1,000 บาท ค่าความหวาน 10 ซีซีเอส เพิ่มขึ้นอีก 1 ปี และจะพิจารณาปรับเพิ่มอีกตามสภาวะราคาตลาดโลกเพิ่มขึ้น หวังชาวไร่ได้เตรียมแผนการเพาะปลูกล่วงหน้าหนุนผลผลิตในรอบปีถัดไป (2565/66) แตะระดับ 100 ล้านตัน พร้อมจัดทำแผนมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 รับการเปิดหีบอ้อยในช่วงปลายปีนี้

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย หรือ TSMC เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลมีนโยบายมุ่งสร้างความมั่นคงด้านผลผลิตอ้อยให้แก่อุตสาหกรรมเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีนโยบายสนับสนุนและช่วยเหลือชาวไร่ยึดอาชีพการเพาะปลูกอ้อยและมีรายได้เลี้ยงดูครอบครัว จึงได้ประกาศต่ออายุการรับประกันราคารับซื้ออ้อยสดเข้าหีบในฤดูการผลิตปีถัดไป (2565/66) ที่ราคาขั้นต่ำ 1,000 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับค่าความหวานที่ 10 ซีซีเอส และหากราคาตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นจะพิจารณาปรับราคาอ้อยเพิ่มขึ้นให้สอดคล้องกับทิศทางราคาเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ชาวไร่ และวางแผนขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มผลผลิตอ้อยมากขึ้น

“การประกาศประกันราคารับซื้อผลผลิตอ้อยในฤดูถัดไปตั้งแต่ตอนนี้เพื่อให้ชาวไร่ได้มีเวลาเตรียมตัววางแผนการเพาะปลูก ทั้งการจัดหาพันธุ์อ้อย การขยายพื้นที่เพาะปลูกเพื่อให้ได้ปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างเสถียรภาพด้านความมั่นคงด้านผลผลิตอ้อยให้แก่อุตสาหกรรม โดยเราคาดว่าด้วยมาตรการที่ต่อเนื่องเช่นนี้จะสร้างความมั่นใจให้ชาวไร่เพาะปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อปริมาณอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตปีถัดไปเพิ่มเป็น 100 ล้านตัน” นายสิริวุทธิ์กล่าว

ทั้งนี้ นโยบายการประกันราคารับซื้ออ้อยสดขั้นต่ำ 1,000 บาทต่อตัน ณ ระดับค่าความหวานที่ 10 ซีซีเอส ซึ่งเริ่มประกาศใช้ตั้งแต่ฤดูการผลิตปีนี้ (2564/2565) ทำให้ชาวไร่ไม่ต้องกังวลเรื่องราคาอ้อยและทุ่มเทการดูแลพื้นที่เพาะปลูกอ้อยอย่างเต็มที่ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ สด สะอาด จัดส่งให้แก่โรงงาน โดยคาดว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบในปี 2564/65 จะเพิ่มขึ้นเป็น 87-90 ล้านตันอ้อย เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีปริมาณอ้อยเข้าหีบที่ 67 ล้านตัน อีกทั้งเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ชาวไร่ตัดอ้อยสดส่งมอบแก่โรงงานที่ช่วยลดปัญหาการเผาอ้อยในระยะยาวอีกด้วย

สำหรับโรงงานน้ำตาลทุกแห่งได้เตรียมแผนมาตรการป้องกัน เฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 รองรับการเปิดหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 2564/65 โดยโรงงานได้สนับสนุนให้พนักงานทุกคนได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดเข็มแรกให้ครบ 100% จากปัจจุบันที่มีฉีดไปแล้วกว่า 50% พร้อมกันนี้ ยังได้ยึดกรอบนโยบายตามมาตรการ Bubble and Seal ของภาครัฐที่มุ่งเน้นการป้องกันการแพร่ระบาดมาเป็นแนวทางปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเพื่อเฝ้าระวัง ติดตามและป้องกันการแพร่ระบาด โดยมีมาตรการคัดกรองพนักงานที่เข้ามาปฏิบัติงานภายในโรงงานทุกวันและผู้ที่มาติดต่อทุกรายเข้าเขตพื้นที่โรงงาน พร้อมจัดหาพื้นที่คัดแยกผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ เพื่อเฝ้าระวังและประสานงานไปยังสาธารณสุขจังหวัดหรืออาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หากพบผู้ป่วยที่มีอาการเข้าไปรับการรักษาต่อไป

จาก https://mgronline.com  วันที่ 7 กันยายน 2564

"เฉลิมชัย" ห่วงน้ำท่วมซ้ำรอย สั่งกรมชลฯ งัดแผนจัดการน้ำคุมเข้มทุกพื้นที่

 “รมว.เฉลิมชัย” สั่งการกรมชลประทาน เตรียมพร้อมรับมือน้ำเหนือไหลหลาก หลังฝนตกหนักทางตอนบน กำชับให้ประเมินสถานการณ์น้ำล่วงหน้า พร้อมงัดแผนจัดการน้ำคุมเข้มทุกพื้นที่ ลดผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนให้มากที่สุด

วันที่ 7 ก.ย.64 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน ซึ่งขณะนี้ฝนที่ตกชุกและตกหนักในหลายพื้นที่ทางตอนบน ส่งผลให้มีน้ำท่าไหลหลากลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น จึงมอบหมายให้กรมชลประทาน ดำเนินการตามแผนบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 64 อย่างเคร่งครัด และเน้นย้ำโครงการชลประทานทุกแห่งเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฝนช่วงนี้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วม นอกจากนี้ยังกำชับให้ติดตาม และวางแผนการบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ อย่างใกล้ชิด เครื่องจักรเครื่องมือต้องพร้อมใช้งาน รวมถึงการแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำ เพื่อสร้างการรับรู้เชิงพื้นที่ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น อำเภอ จังหวัด โดยเฉพาะการบูรณาการการบริหารจัดการภัยพิบัติที่ช่วยลดความเสียหายที่เกิดจากน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ปัจจุบัน (7 ก.ย.64) ที่สถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 983 ลูกบาศก์เมตร/วินาที(ลบ.ม./วินาที) สมทบกับแม่น้ำสะแกกรังอีกประมาณ 62 ลบ.ม./วินาที ก่อนจะไหลลงสู่บริเวณเขื่อนเจ้าพระยา ที่ขณะนี้มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 700 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ไปจนถึงบริเวณต.กระทุ่ม ต.หัวเวียง อ.เสนา และต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น กรมชลประทาน ได้ประสานไปจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริม 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ให้ทราบถึงสถานการณ์น้ำและการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดแล้ว

สำหรับการติดตามสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ทั่วประเทศ วันที่ 6 ก.ย. 64 มีปริมาณน้ำรวมกัน 40,608 ล้าน ลบ.ม. หรือ 53% ของความจุอ่าง เป็นน้ำใช้การได้ 16,679 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 35,459 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ และป่าสักฯ) มีปริมาณน้ำรวมกัน 8,777 ล้าน ลบ.ม. หรือ 35% ของความจุอ่างรวมกัน ยังคงรับน้ำได้อีก 16,046 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งกรมชลประทาน ยังคงเดินหน้าเก็บกักน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้าให้ได้มากที่สุด ก่อนจะสิ้นสุดฤดูฝน

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 7 กันยายน 2564

รัฐบาลหนุนอุตฯชีวภาพ ดันไทยขึ้นแท่นศูนย์กลางอาเซียน

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยรัฐบาลเร่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมชีวภาพ ให้ไทยเป็นศูนย์กลางแห่งอาเซียน มีผลิตภัณฑ์เป้าหมายคือ พลาสติกชีวภาพ เคมีชีวภาพ และชีวเภสัชภัณฑ์ สอดรับวาระแห่งชาติโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular -Green Economy) ที่ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาเสริมสร้างจุดแข็ง ของประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ประมาณการว่า อุตสาหกรรมชีวภาพจะขยายตัวต่อเนื่อง ค่าเฉลี่ยของตลาดโลกเติบโตอยู่ที่ 13.8% ต่อปี (ช่วงปี 2558-2568)

จากรายงานความก้าวหน้าของมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ.2561-2570 จัดทำโดยกระทรวงอุตสาหกรรม เสนอต่อครม.เมื่อสิงหาคมที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นถึงความพร้อมของประเทศในการผลักดันให้เป็นผู้นำอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจรในอาเซียน (Bio Hub of ASEAN) เนื่องจากเป็นหนึ่งในจำนวนไม่กี่ประเทศในโลกที่มีศักยภาพด้านวัตถุดิบจากสินค้าเกษตร โดยเป็นผู้ส่งออกมันสำปะหลังและน้ำตาล อันดับต้นๆของโลก มีฐานการผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เช่น กรดแลคติก สารให้ความหวาน และพลาสติกชีวภาพ และเป็นผู้นำการผลิตและการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในอาเซียน ซึ่งนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรมได้ให้ข้อมูลว่า หากภาคเอกชนดำเนินโครงการต่างๆ ได้ตามแผน จะเกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้เพิ่มขึ้นอีกกว่า 1.49 แสนล้านบาท ช่วยหนุน GDP ของประเทศให้โตเพิ่มขึ้นและยังก่อให้เกิดประโยชน์ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม สร้างงาน สร้างรายได้แก่เกษตรกรและแรงงานในหลายพื้นที่อีกด้วย

เบื้องต้น ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายไว้ คือ เขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ภาคอีสานตอนกลาง (Bio- Northeast) และภาคเหนือตอนล่าง (Bio-North) อย่างไรก็ตาม แผนการก่อสร้างโรงงานของภาคเอกชนมีบางส่วนถูกกระทบเนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 แต่ก็ยังมีการลงทุนหลายโครงการที่อยู่ระหว่างการขับเคลื่อน อาทิ 1)โครงการผลิตพอลิเมอร์ชีวภาพชนิดโพลีแลคติค แอซิด ที่ จ.นครสวรรค์ 2)โครงการ

ไบโอ ฮับ เอเซีย จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งมีนักลงทุนหลายรายจากต่างประเทศที่สนใจร่วมลงทุนในโครงการ เช่น เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา แคนาดา เยอรมนี สหราชอาณาจักร จีน ฝรั่งเศส 3)โครงการลพบุรีไบโอคอมเพล็กซ์ จ.ลพบุรี อยู่ระหว่างออกแบบโครงการและเจรจากับนักลงทุนที่สนใจ

สำหรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ ทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้กำหนดสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้ นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 8-13 ปี ขึ้นอยู่กับประเภทกิจการและคุณค่าของโครงการรวมถึงสิทธิและประโยชน์ อื่นๆ อาทิ ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นอากรขาเข้าของท่ีนำเข้ามาใช้ในการวิจัยและพัฒนา ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังได้สร้างแรงจูงใจเพื่อเพิ่มความต้องการการใช้พลาสติกย่อยสลายทางชีวภาพ โดย สศอ.ได้ออกใบรับรองผลิตภัณฑ์พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพที่ผ่านหลักเกณฑ์แก่ผู้ผลิต สามารถใช้เป็นหลักฐานประกอบการยื่นขอลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็น 1.25 เท่าของค่าใช้จ่ายที่ซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกย่อยสลายได้ รวมทั้ง สศอ. และ กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาขยายระยะเวลามาตรการกระตุ้นการใช้พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Green Tax Expense) ออกไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งมาตรการนี้จะจูงใจให้ร้านค้าเปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ปีละไม่ต่ำกว่า 10% ของปริมาณการบริโภคผลิตภัณฑ์พลาสติกชนิดสิ้นเปลืองทั้งหมด ได้แก่ ถุงหูหิ้ว ถุงขยะ แก้วพลาสติก ช้อนส้อมมีดพลาสติก หลอดพลาสติก และภาชนะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว

“อุตสาหกรรมชีวภาพถือเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ประเทศไทยมีศักยภาพด้านการผลิต จากการเป็นแหล่งวัตถุดิบทางชีวภาพที่หลากหลาย นำมาแปรรูปด้วยเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าแก่สินค้าเกษตรได้หลายเท่า หรืออาจมากเกินร้อยเท่าอุตสาหกรรมนี้กำลังเติบโตตามแนวโน้มความต้องการของตลาดโลก ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาในภาคการเกษตรที่เชื่อมโยงสู่ภาคอุตสาหกรรม เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้แก่เกษตรกรไทย และเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศในระยะต่อไป” นางสาวรัชดา กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2564

“น้ำ” สู่ความยั่งยืนเศรษฐกิจพอเพียง ทางรอดแรงงานคืนถิ่นสู้โควิดพลิกฟื้นอาชีพเกษตรกร

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำต่อเนื่องในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ภาคธุรกิจน้อยใหญ่ต้องปิดกิจการลง ทั้งแบบชั่วคราวและถาวรจำนวนมาก ยอด “คนว่างงานและเสมือนคนว่างงาน” พุ่งขึ้นในช่วงสูงสุดกว่า 5 ล้านคนและหนทางหนึ่งที่แรงงานที่ขาดรายได้เหล่านี้จะเอาชีวิตรอดได้ คือ การหันหน้ากลับสู่บ้านเกิด

จาก “รายงานการย้ายถิ่นของประชากรปี 63” โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่เผยแพร่เมื่อเดือน พ.ค.64 พบว่า ปี 63 มีแรงงานย้ายถิ่น 1.05 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึง 60% เมื่อเทียบกับปี 62 แต่หากนับรวมถึงในปี 64 ด้วย น่าจะมีแรงงานย้ายถิ่นเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก โดยแรงงานเหล่านี้ ส่วนใหญ่หวังกลับไปพึ่งพิงอาชีพด้านการเกษตร

แต่จากสถานการณ์ปัจจุบัน ที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เกิดสภาวะโลกร้อน ฝนแล้ง น้ำท่วม ดินโคลนถล่มกระจายไปทั่วประเทศ การทำการเกษตรยังหวังพึ่งพิงได้จริงหรือไม่?

โดยเฉพาะในหลายพื้นที่ของประเทศในปัจจุบัน ยังประสบปัญหาน้ำแล้ง ฝนทิ้งช่วงยาวนาน ทำให้ประชาชนขาดน้ำทั้งเพื่อการเกษตรและเพื่ออุปโภค-บริโภค จนเกิดภาวะ “ยากจนดักดาน” ดังนั้น ในช่วงฝนนี้ การเตรียมหา “ทุนน้ำ” จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะ “น้ำ” คือ ชีวิต และ “น้ำ” คือทางรอดวิกฤติ

“ทีมเศรษฐกิจ” ได้นำเรื่องราวจากผู้ทรงความรู้ และเกษตรกรตัวอย่าง ที่ได้จากงานเสวนา “ชี้ช่องแก้จน เปลี่ยนฝนเป็นทุน” โดยเครือเอสซีจี ร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์กรมหาชน) หรือ สสน. และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) มาถ่ายทอดให้ผู้ที่กำลังคิดจะเริ่มต้น หรือกลับมาใช้ชีวิตเกษตรกร มีแนวทางทำกินสร้างความมั่นคงด้านอาชีพ และชีวิตในอนาคต

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

ประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ สสน.

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงรับสั่งตลอดว่า วันนี้สิ่งที่น่าวิกฤติสุด คือ ความไม่แน่นอนด้านทุน (น้ำ) ของเรา ทำอย่างไรจะแปรน้ำเป็นทุนได้ เพราะน้ำ คือ ชีวิต น้ำ คือ ทางรอดวิกฤติ แต่เราไม่ค่อยมองเห็นความสำคัญของน้ำ ใช้น้ำจนเพลิน และลืมไปว่าทุกอย่างที่เลี้ยงดูชีวิตเรา อย่างปัจจัย 4 ถ้าไม่มีน้ำ ก็ไม่เกิดขึ้น

“ผมอยากให้คิดใหม่ บริหารน้ำเหมือนบริหารเงินเดือน เงินเดือนออกวันเดียว แต่ใช้อีก 29 วัน ฝนก็เหมือนกัน มา 3 เดือน แต่ต้องเก็บพอให้ใช้ในอีก 9 เดือน จากนี้ถึงเดือน พ.ค.ปีหน้าก่อนฝนมาอีกครั้ง ต้องวางแผนแล้วว่า จะสร้างภูมิคุ้มกันอย่างไร ตอนนี้ ใครมีสระ ต้องรีบเก็บน้ำ ปลูกพืชให้เหมาะสมกับน้ำที่มี”

วันนี้ โควิด-19 ให้บทเรียนเราอีกครั้ง มีคนกว่า 4 ล้านคนกลับบ้าน เมื่อกลับบ้านแล้วก็ต้องมีกิน ดินทุกกระเบียดนิ้วต้องทำประโยชน์ไม่จำเป็นต้องมีที่ใหญ่โต ที่เล็กๆ หลังบ้าน อย่าปล่อยให้ไม่เกิดประโยชน์ และแน่นอนต้องมีน้ำ

“เศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่แค่ปลูกต้นไม้ พระองค์ท่านสอนให้คิดมีน้ำแค่นี้จะทำอะไร ปลูกพืชอะไร หรือมีสระลึกมาก ก็ไม่สามารถใช้น้ำได้ทั้งหมด ตลิ่งจะพัง ต้องเหลือน้ำไว้ ต้องประเมิน ประมาณน้ำ เพื่อเป็นทุนทำเกษตร ปรับตามสภาพทุนที่มี วันนี้เจอโควิด ต่อไปเจออะไรก็ไม่รู้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงรับสั่งต้องเตรียมให้พร้อม เวลาเจออะไรก็ได้ เราต้องรอด ลูกหลานก็ต้องรอดด้วย ค่อยๆ คิด ค่อยๆทำจะเกิดเป็นความยั่งยืน”

แต่ถ้าจะให้แนะนำ ตอนนี้ ควรปลูกไผ่ เพราะเป็นพืชโตเร็ว ขายได้เร็ว รองรับประชากรโลกที่มโหฬารได้ แต่ไม่ว่าจะปลูกอะไร ทำอะไร ต้องคิดให้ดี ทั้งระยะสั้น กลาง และยาว ตามสูตรเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ท่าน ที่มี 3 ขั้นตอนคือ พอมีพอกิน เหลือกินเหลือใช้ และขาย ท่านทรงสอนให้เป็น “เศรษฐี” แต่คนส่วนใหญ่เรียนรู้แค่ขั้นตอนเดียว

“แนวพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 ที่หลายชุมชนได้ลงมือทำ พิสูจน์แล้วว่า ช่วยให้รอดพ้นวิกฤติ เสริมความรู้ สร้างภูมิคุ้มกันให้คน

ในชุมชนสามารถบริหารจัดการ ดิน น้ำ ป่า มีความเป็นเจ้าของและดูแลรักษาทรัพยากรร่วมกัน สร้างความมั่นคงให้เศรษฐกิจ ดร.รอยล จิตรดอน

ประธานกรรมการ สสน.

ในปี 63 อัตราการย้ายถิ่นของแรงงานในกรุงเทพฯ กลับบ้านเกิดเพิ่มขึ้นกว่า 60% และยังมีแรงงานตกงานอีก 4.5-5 ล้านคน

อาชีพเกษตรจึงเป็นทางรอดให้กับกลุ่มคนเหล่านี้

ทุนที่สำคัญที่สุดคือ “น้ำ” ถ้าสำรองน้ำให้พอ แรงงานคืนถิ่นจะสามารถประกอบอาชีพเกษตรได้ มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และ สสน. ได้ร่วมกับเครือข่ายภาคเอกชน เช่น เครือเอสซีจี ฯลฯ ช่วยชุมชนบริหารจัดการน้ำมาตลอดในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา จนเกิดเป็นเครือข่ายการจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ปัจจุบันมีกว่า 1,700 หมู่บ้านทั่วประเทศ ซึ่งชุมชนเหล่านี้ มีความมั่นคงด้านอาชีพ และการดำรงชีวิต

“เรามีตัวอย่างความสำเร็จของชุมชนที่ร่วมมือกับเราในการบริหารจัดการน้ำ จนพึ่งพาตนเองได้ และทำการเกษตรได้ทั้งปี เช่น จ.แพร่ ซึ่งเป็นจังหวัดยากจนอันดับ 2 ของภาคเหนือ โดยเฉพาะ ต.สรอย แล้งมาก มีเขาหัวโล้น ถ้าจะแก้ความยากจน ต้องเอาเงินลงไปช่วย แต่เราเข้าไปช่วยแก้เรื่องการจัดการน้ำ จากการสำรวจพบว่า ที่นี่มีอ่างเก็บน้ำมากถึง 163 อ่าง แต่ส่วนใหญ่ใช้การไม่ได้ เราก็ร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนตำบลในการฟื้นฟูอ่างให้กลับมาใช้งานได้ดี ขณะนี้ฟื้นแล้วกว่า 10 อ่าง เมื่อชาวบ้านมีน้ำ ก็ทำการเกษตรได้ ขายผลผลิตได้ ทำให้มีฐานะดีขึ้นทันที”

อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้เป็นหน้าฝน แต่ภาพรวมฝนน้อย โดยเฉพาะพื้นที่เหนือเขื่อน เช่น 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา สิ้นฤดูฝนเดือน ต.ค.นี้ ควรมีปริมาณน้ำรวมกัน 8,000-12,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แต่ตอนนี้มีเพียง 1,634 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าปี 63 ซึ่งเป็นปีแล้ง ที่มีน้ำ 5,770 ล้าน ลบ.ม. ชาวบ้านจะพึ่งแต่น้ำในเขื่อนไม่ได้ ต้องหาแหล่งน้ำของตัวเอง ในช่วงฝนนี้ ต้องดักน้ำหลากเข้าไปเก็บในแหล่งน้ำของตนเอง ของชุมชน เพื่อให้มีน้ำใช้เพียงพอ

“ไม่อยากให้ประเทศไทยย้อนกลับไปเหมือนปี 42 ที่เริ่มฟื้นจากวิกฤติปี 40 แล้วคนแห่กลับเข้าเมือง แต่อยากเห็นว่าสามารถกลายเป็นอาชีพที่เลี้ยงตัวได้ เรามีตัวอย่างความสำเร็จของชุมชนเครือข่ายที่พร้อมจะเป็นพี่เลี้ยงให้หมู่บ้านข้างเคียงในเรื่องการจัดการน้ำชุมชน เพราะน้ำ คือ ทุน เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิต ถ้าบริหารน้ำได้ ก็ทำเกษตรเลี้ยงตัวได้”

นายยศวัจน์ ผาติพนมรัตน์

กลุ่มวิสาหกิจวังธรรม อ.น้ำโสม จ.อุดรธานี

ผมมีเป้าหมายชัดเจนมาตั้งแต่ต้นว่า จะเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด เพื่อกลับมาสร้างอาชีพที่บ้านเกิด จ.อุดรธานี แต่ก็ยังไม่ตกผลึกว่าจะทำอะไรดี จึงสมัครเข้าร่วมโครงการ “พลังปัญญา” ของมูลนิธิมั่นพัฒนาในเครือเอสซีจี เรียนอยู่ 6 เดือน ก็ได้ความคิดว่า จะกลับมาใช้น้ำเป็นทุน ทำบ่อเลี้ยงปลา และทำปลาส้มขาย

“ผมกลับบ้านพร้อมหนี้ 2 ล้านบาท คุยกับภรรยาว่า ทำยังไงจะใช้หนี้ให้เร็วที่สุด และทำได้ทันที ได้ผลตอบแทนเร็ว ก็ค้นพบว่าตัวเองเก่งทำปลาส้ม เพราะพ่อสอน เลยเริ่มทำปลาส้ม แต่การจะทำได้ทันทีต้องซื้อปลามาทำก่อน ขณะเดียวกัน ขุดบ่อเลี้ยงปลาด้วย เพื่อให้มีวัตถุดิบป้อนได้อย่างยั่งยืน”

ในช่วงแรก ทำปลาส้มสูตรโบราณอย่างเดียว ขายตามตลาดนัดในตำบล ในอุดรธานีก่อน แล้วขยายไปจังหวัดข้างเคียง โดยใช้หลักการตลาดแบบ “ตลาดข้างบ้าน” คือ เพื่อนข้างบ้านได้ลองกินปลาส้มของผมหรือยัง ก็ไปเสนอขาย จากนั้นขยายไปข้างหมู่บ้าน ข้างตำบล ข้างจังหวัด และจะขยายไปข้างประเทศ และวันนี้เราได้พัฒนาสูตรใหม่ๆอีก 2 สูตร คือ สูตรสมุนไพร และสูตรโปรไบโอติก และยังมีผลิตภัณฑ์อื่นอีก เช่น ปลาแดดเดียว ปลาร้า

ด้วยหลักการตลาดข้างบ้าน และมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ทำให้มีร้านขายปลาส้ม 10 สาขาในช่วงก่อนโควิด-19 มีรายได้เดือนละแสนบาท ปลดหนี้ 2 ล้านบาทได้ใน 2 ปี แม้ตอนนี้เปิดขายได้ 4 สาขา รายได้เหลือสาขาละ 1,000-2,000 บาท และมีหนี้ก้อนใหม่ที่กู้มาขยายการลงทุนอีก แต่ก็ไม่เป็นไร เรายังมีทางออก คิดต่อยอดพัฒนาสินค้าต่อเนื่อง ทำแบบครบวงจร ยกระดับมาตรฐานการผลิต มั่นใจว่า ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “วังธรรม” ยังขายได้

“ตอนนี้ ผมเริ่มมั่นคงระดับหนึ่งแล้ว มีแนวทางการทำมาหากินที่ดี จึงอยากแบ่งปันเพื่อน เลยคุยกับเพื่อนๆ ที่เรียนโครงการพลังปัญญาด้วยกัน มาช่วยกันทำธุรกิจ ช่วยกันขุดบ่อเลี้ยงปลาป้อนให้กับธุรกิจปลาส้ม พัฒนาไปสู่การเป็นวิสาหกิจชุมชน ตอนนี้มีสมาชิก 10 คน ช่วยกันพัฒนาการเลี้ยงปลา พัฒนาการผลิตให้มีมาตรฐานขึ้น”

สมาชิกได้รับผลตอบแทนที่ดี เพราะเราเก็บค่าธรรมเนียมจากการเลี้ยงปลา แปรรูป และการขายมาจ่ายเป็นเงินปันผลประจำปี และยังนำส่วนหนึ่งมอบเป็นทุนการศึกษาให้บุตรหลาน เพราะต้องการให้ลูกหลานมาช่วยบริหารวิสาหกิจชุมชน ไม่ต้องทำงานในเมือง เกิดเป็นภูมิคุ้มกันชุมชน และวางรากฐานเศรษฐกิจชุมชนเพื่อความยั่งยืนในอนาคต

น.ส.ลลิสสา อุ่นเมือง

เครือข่ายการจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ จ.พะเยา

เป็นพนักงานขายเครื่องสำอางในห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯอยู่ 3 ปี มีเงินใช้แน่นอนทุกเดือน ในช่วงโควิด-19 ระบาดรอบ 1 และ 2 ยังพออยู่ได้ แต่พอรอบ 3 อยู่ไม่ไหวแล้ว ไม่ได้ทำงาน ขาดรายได้ เพราะห้างปิดหลายเดือน ไม่รู้อนาคต เลยตัดสินใจกลับบ้านมาช่วยแม่ทำสวนมะขามหวาน แต่ปัญหาที่ตามมาคือ ไม่มีเงินใช้ในชีวิตประจำวันเลย เพราะมะขามหวานเก็บผลผลิตขายได้เพียงปีละครั้ง ทำให้ต้องคิดหนัก จะหาเงินจากที่ไหนมาใช้จ่าย

หลังจากคิดไปคิดมา พบว่า เรายังมีต้นทุนด้านการเกษตร คือ มีที่ดิน มีสระน้ำทำการเกษตรได้ อีกทั้งภายในชุมชนยังช่วยกันบริหารจัดการน้ำ ขุดบ่อ ขุดสระกักเก็บน้ำฝนไว้ใช้ ทั้งเพื่อการเกษตร และอุปโภคบริโภค โดยฝนที่กำลังตกอยู่ในช่วงนี้ ต้องกักเก็บไว้ให้ดี เพราะจะเป็นต้นทุนของเรา ที่จะเอาไว้ใช้ให้ได้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี

“เมื่อเราต้องมีเงินมาใช้จ่ายประจำวัน และเรามีน้ำจำกัด เลยคิดปลูกพืชผักอายุสั้น ใช้น้ำน้อย เช่น แตงกวา แตงไทย มะเขือเทศ พริก มะเขือพวง ข้าวสาลี ซึ่งให้ผลผลิตได้ดี เก็บขายได้เดือนละ 5,000 บาท แม้ไม่มากอะไร แต่พออยู่ได้ เพราะอยู่บ้านไม่มีค่าใช้จ่ายมากเหมือนอยู่กรุงเทพฯ”

ต่อมาได้เพิ่มสินค้าให้หลากหลายขึ้น โดยเฉพาะพืชผักท้องถิ่น อย่างที่หมู่บ้านปลูกผักหวานป่ากันมาก ก็จะชวนคนในชุมชนมาขายผักหวานป่า โดยจะทำแพ็กเกจสินค้า เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และจะขายทางออนไลน์ด้วย แต่ตอนนี้ กำลังคิดว่า ทำอย่างไรให้ผักหวานออกได้ทั้งปี มีอายุการเก็บรักษานานขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคมีกินได้ทั้งปี

สำหรับตนเองมองว่า การได้กลับมาบ้านเกิดครั้งนี้ และทำการเกษตรเลี้ยงตัวเอง เลี้ยงครอบครัว ถือว่าพอใจ และมีความสุข ไม่คิดจะกลับเข้ากรุงเทพฯอีก พอแล้วกับชีวิตในเมืองหลวง ที่ต้องดิ้นรน ปากกัดตีนถีบ

“โควิดทำให้คิดได้ว่า อยู่กรุงเทพฯต่อไปก็ไม่มีอนาคต แม้มีเงินใช้ทุกเดือน แต่กรุงเทพฯ เหมือนเป็นแค่จุดตั้งต้น แต่บ้านเกิดเป็นที่พักพิง เป็นจุดเริ่มต้นไม่รู้จบ เมื่อรู้ว่า จะได้น้ำ จงหาสระ หาภาชนะมาเก็บให้ได้มากสุด เพราะน้ำ คือ ทุนของชีวิตที่ไม่ต้องลงทุนเลย”

นายจันทร์สุดา กุลสอนนาม

เครือข่ายการจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ จ.ขอนแก่น

กว่า 20 ปีที่ผ่านมา ผมทำงานก่อสร้างในกรุงเทพฯ ได้ค่าแรงวันละ 500 บาท แต่พอมีการสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง หนำซ้ำยังโดนโกงค่าแรงอีกกว่า 30,000 บาท ทำให้ตัดสินใจกลับบ้านเกิด ตั้งใจกลับมาทำอาชีพเกษตร

แม้ที่บ้านผมเป็นพื้นที่แล้ง ฝนไม่ตกต่อเนื่องกันหลายปี แต่พอเห็น “พ่อเข็ม เดชศรี” (เกษตรกรในเครือข่ายการจัดการน้ำชุมชนฯ บ้านภูถ้ำ-ภูกระแต) ทำการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ มีสระน้ำเก็บในแปลง เห็นพ่อทำเป็นตัวอย่างแล้วรอด ผมก็ตั้งใจจะทำบ้าง เลยมาช่วยงาน มาเรียนรู้จากพ่อเข็มก่อน

“พ่อเข็มถ่ายทอดความรู้ทุกอย่าง โดยเฉพาะเรื่องน้ำ พ่อเข็มบอกว่า ก่อนทำเกษตร ต้องมีทุนน้ำ ทุนฝนก่อน น้ำสำคัญมาก เราต้องมีสระ มีบ่อกักเก็บน้ำฝนไว้ใช้ และจัดการน้ำที่มีอยู่ให้ดี เพื่อให้ใช้ได้อย่างเพียงพอในระยะยาว ถ้าบ่อ หรือสระไม่พอก็ต้องขุดเพิ่ม ต้องหาทุนน้ำสู้อีก เพราะถ้า 3-4 ปีข้างหน้าแล้งอีก เราจะได้รอดได้”

ทุกวันนี้พวกเรามีที่กักเก็บน้ำ และใช้น้ำกันอย่างประหยัดมากน้ำที่ใช้กันในหมู่บ้าน เป็นน้ำฝนที่เก็บมาตั้งแต่ปี 60 เราใช้แต่น้ำมือ 2 คือ เอาน้ำจากการล้างบ่อเลี้ยงปลามาใช้รดน้ำต้นไม้ รดพืชผัก ไม่ได้ใช้น้ำมือ 1 เลย ขณะเดียวกัน ยังลดต้นทุนด้านการเกษตรด้วย อย่างปุ๋ย ต้องทำเองจากมูลสัตว์ หรือเศษซากพืชในแปลง ไม่ต้องซื้อปุ๋ยเคมี

“ตอนกลับบ้าน ไม่มีทุนเลย ผมเอาแรงมาเป็นทุน ช่วยพ่อเข็มทำก่อน พ่อเข็มเห็นเป็นคนตั้งใจจริงก็แบ่งพื้นที่ให้ 5 ไร่ไปทำกิน นาข้าวอีก 2 ไร่ ให้บ่อปลามาอีกบ่อ ผมก็เลี้ยงปลาหมอ ปลาดุก ปลูกพริก มะเขือ แตงกวามีรายได้พออยู่พอกิน ไม่ต้องซื้ออาหารกิน เอาของที่มีอยู่มากิน และยังมีรายได้จากการรับทำงานก่อสร้างแถวบ้าน ตอนนี้ พอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ มีความสุข ไม่คิดกลับไปทำงานที่กรุงเทพฯอีกแล้ว”.

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2564

รัฐบาล สร้างโอกาสทองอุตสาหกรรมชีวภาพ ดึงเอกชนลงทุน 1.5 แสนล้าน

รัฐบาลสร้างโอกาสทองอุตสาหกรรมชีวภาพ ผลักดันสู่ศูนย์กลางอาเซียน ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุน คาดมีเอกชนลงทุนแตะ 1.5 แสนล้าน

วันนี้ (5 ก.ย.64) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยรัฐบาลเร่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมชีวภาพ ให้ไทยเป็นศูนย์กลางแห่งอาเซียน มีผลิตภัณฑ์เป้าหมายคือ พลาสติกชีวภาพ เคมีชีวภาพ และชีวเภสัชภัณฑ์ สอดรับวาระแห่งชาติโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio -Circular -Green Economy) ที่ใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาเสริมสร้างจุดแข็งของประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ทั้งนีสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ประมาณการว่า อุตสาหกรรมชีวภาพจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ค่าเฉลี่ยของตลาดโลกเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 13.8 ต่อปี (ช่วงปี 2558-2568)

จากรายงานความก้าวหน้าของมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ.2561-2570 จัดทำโดยกระทรวงอุตสาหกรรม เสนอต่อครม.เมื่อสิงหาคมที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นถึงความพร้อมของประเทศในการผลักดันให้เป็นผู้นำอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจรในอาเซียน (Bio Hub of ASEAN) เนื่องจากเป็นหนึ่งในจำนวนไม่กี่ประเทศในโลกที่มีศักยภาพด้านวัตถุดิบจากสินค้าเกษตร โดยเป็นผู้ส่งออกมันสำปะหลังและน้ำตาล อันดับต้นๆของโลก มีฐานการผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เช่น กรดแลคติก สารให้ความหวาน และพลาสติกชีวภาพ และเป็นผู้นำการผลิตและการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในอาเซียน ซึ่งนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ข้อมูลว่า หากภาคเอกชนสามารถดำเนินโครงการต่างๆได้ตามแผน จะเกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้เพิ่มขึ้นอีกกว่า 1.49 แสนล้านบาท ช่วยหนุน GDP ของประเทศให้โตเพิ่มขึ้น  และยังก่อให้เกิดประโยชน์ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม สร้างงาน สร้างรายได้แก่เกษตรกรและแรงงานในหลายพื้นที่อีกด้วย ซึ่งเบื้องต้น ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายไว้ คือ เขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ภาคอีสานตอนกลาง (Bio- Northeast) และภาคเหนือตอนล่าง (Bio-North) อย่างไรก็ตาม แผนการก่อสร้างโรงงานของภาคเอกชนมีบางส่วนถูกกระทบเนื่องด้วยสถานการณ์โควิด19 แต่ก็ยังมีการลงทุนหลายโครงการที่อยู่ระหว่างการขับเคลื่อน  อาทิ 1)โครงการผลิตพอลิเมอร์ชีวภาพชนิดโพลีแลคติค แอซิด ที่ จ.นครสวรรค์ 2)โครงการไบโอ ฮับ เอเซีย จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งมีนักลงทุนหลายรายจากต่างประเทศที่สนใจร่วมลงทุนในโครงการ เช่นเนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา แคนาดา เยอรมนี สหราชอาณาจักร จีน ฝรั่งเศส 3)โครงการลพบุรีไบโอคอมเพล็กซ์ จ. ลพบุรี อยู่ระหว่างออกแบบโครงการและเจรจากับนักลงทุนที่สนใจ

นางสาวรัชดา กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ ทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) ได้กำหนดสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้ นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 8-13 ปี ขึ้นอยู่กับประเภทกิจการและคุณค่าของโครงการ รวมถึงสิทธิและประโยชน์ อื่น ๆ อาทิ ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นอากรขาเข้าของท่ีนำเข้ามาใช้ในการวิจัยและพัฒนา ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังได้สร้างแรงจูงใจเพื่อเพิ่มความต้องการการใช้พลาสติกย่อยสลายทางชีวภาพ โดย สศอ.ได้ออกใบรับรองผลิตภัณฑ์พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพที่ผ่านหลักเกณฑ์แก่ผู้ผลิตสามารถใช้เป็นหลักฐานประกอบการยื่นขอลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวน 1.25 เท่าของค่าใช้จ่ายที่ซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกย่อยสลายได้ รวมทั้ง สศอ. และ กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาขยายระยะเวลามาตรการกระตุ้นการใช้พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Green Tax Expense) ออกไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งมาตรการนี้จะจูงใจให้ร้านค้าเปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ปีละไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของปริมาณการบริโภคผลิตภัณฑ์พลาสติกชนิดสิ้นเปลืองทั้งหมด ได้แก่ ถุงหูหิ้ว ถุงขยะ แก้วพลาสติก ช้อนส้อมมีดพลาสติก หลอดพลาสติก และภาชนะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว

“อุตสาหกรรมชีวภาพถือเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ประเทศไทยมีศักยภาพด้านการผลิต จากการเป็นแหล่งวัตถุดิบทางชีวภาพที่หลากหลาย นำมาแปรรูปด้วยเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าแก่สินค้าเกษตรได้หลายเท่า หรืออาจมากเกินร้อยเท่า อุตสาหกรรมนี้กำลังเติบโตตามแนวโน้มความต้องการของตลาดโลก ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาในภาคการเกษตรที่เชื่อมโยงสู่ภาคอุตสาหกรรม เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้แก่เกษตรกรไทย และเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศในระยะต่อไป” นางสาวรัชดา กล่าว

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2564

ฝนหลวงฯ ติดตามสภาพอากาศพร้อมปฏิบัติการฝนหลวง ช่วยเพื้นที่ภัยแล้งและเติมน้ำต้นทุน

วันที่ 5 ก.ย.64 นางนรีลักษณ์ วรรณสาย รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรด้านบริหาร เปิดเผยว่า โอกาสที่ทำให้เกิดฝนในช่วงนี้เกิดจากอิทธิพลของร่องมรสุมที่พาดผ่านบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย ประกอบกับมีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทย จึงทำให้มีโอกาสเกิดฝนตกกระจายในหลายพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

แต่จากการลงพื้นที่สำรวจของหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงพบว่า หลายพื้นที่ยังคงมีปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทานที่ประสบปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากมีปริมาณฝนธรรมชาติไม่เพียงพอและอาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตและคุณภาพได้ จึงมีการขอรับบริการฝนหลวงเป็นจำนวนมาก รวม 760 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 48 จังหวัด 322 อำเภอ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างมากที่สุด จำนวน 433 แห่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่การเกษตร โดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในแต่ละภูมิภาคนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประกอบการวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวง

นอกจากนี้ยังมีภารกิจการเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนเป็นการปฏิบัติการฝนหลวงให้พื้นที่ลุ่มรับน้ำ เพื่อให้มีน้ำเติมลงไปในเขื่อน เป็นน้ำต้นทุนให้ประชาชนได้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ทั้งการอุปโภคบริโภค การเกษตร และภารกิจอื่นๆที่สำคัญ ผลการปฏิบัติฝนหลวงเมื่อวานนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ร่วมกับกองทัพอากาศและกองทัพบก ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 5 หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.พะเยา ลำปาง สุโขทัย สระบุรี ลพบุรี นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง อุทัยธานี อุดรธานี สกลนคร กาฬสินธุ์ หนองบัวลำภู นครราชสีมา และสามารถเพิ่มปริมาณน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนจำนวน 5 แห่ง อ่างเก็บน้ำมวกเหล็ก และบึงบอระเพ็ด

สำหรับวันนี้มี 3 หน่วยปฏิบัติการที่ไม่สามารถปฏิบัติการฝนหลวงได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของหน่วยฯ พิษณุโลก และหน่วยฯ สระแก้ว เฝ้าสังเกตอาการไม่พึงประสงค์หลังจากฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 และเครื่องบินกองทัพอากาศของหน่วยฯ สุราษฎร์ธานีตรวจสอบพิเศษประจำสัปดาห์ ทั้งนี้อีก 10 หน่วยปฏิบัติการยังคงติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด หากมีการเปลี่ยนแปลงเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง พร้อมช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายได้ทันที โดยพี่น้องเกษตรกรและประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวง ติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร และให้ข้อมูลเชิงพื้นที่ในเรื่องของสภาพอากาศ รวมทั้งคำแนะนำต่างๆ เพื่อใช้ประกอบการปฏิบัติการฝนหลวงให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ได้ที่ช่องทาง Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร Twitter Instagram Line Official Account: @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100 นอกจากนี้ยังสามารถรับชมสารคดีเกี่ยวกับฝนหลวงได้ที่ Youtube ใต้ปีกฝนหลวง

สุดท้ายนี้ ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมส่งบทความ หัวข้อ “ในหลวง ร.9 ในความทรงจำ”เล่าเรื่องราวเชิงสร้างสรรค์ที่เกี่ยวกับประสบการณ์ ความทรงจำ หรือความประทับใจที่มีต่อในหลวง รัชกาลที่ 9 โดยส่งบทความทางกล่องข้อความเพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 15 กันยายน 2564

จาก https://siamrath.co.th   วันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2564

เคาะแล้ว “ประกันราคาอ้อย” ปีการผลิต 2565/66 ขั้นต่ำ 1,000 บาทต่อตัน

ใครสนใจปลูกอ้อย ฟังทางนี้ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย แจ้งประกันราคาอ้อย ปีการผลิต 2565/66 ขั้นต่ำ 1,000 บาทต่อตัน และสูงถึง 1,100 บาทต่อตัน เมื่อราคาจากปัจจัยตลาดโลกปี 65 ดันราคาพุ่งต่อเนื่อง

เฟซบุ๊ก โรงงานน้ำตาลแห่งประเทศไทย โพสต์แจ้งประกาศ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย (สมาคมโรงงานน้ำตาลไทย,สมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวะพลังงานไทย,สมาคมอุตสาหกรรมการค้าน้ำตาล)  ได้แจ้งอย่างเป็นทางการ ให้กับสมาคมชาวไร่อ้อยและพี่น้องชาวไร่อ้อย เป็นการ "ประกันราคาอ้อย" ที่ทำอย่างต่อเนื่องจาก ปีการผลิต 2564/65 ขั้นต่ำ 1,000 บาทต่อตัน เนื่องสถานการณ์ราคาน้ำตาลในตลาดโลกปี 2565 มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

สาเหตุจากความต้องการน้ำตาลในประเทศและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยสัดส่วนน้ำตาลจากผู้ส่งออกรายใหญ่ บราซิล ไทย ออสเตรเลีย โดยรวมจะมีแนวโน้มคงที่หรืออาจลดลง ซึ่งการการประกันราคา ปีการผลิต 2564/65 และ 2565/66 เป็นอัตราขั้นต่ำ ราคาจริงสูงกว่า 1,000 และสูงถึง 1,100 บาทต่อตัน

เมื่อราคาน้ำตาลสูงขึ้น ในทางกลับกัน หากราคาน้ำตาลลดลง ก็ทำให้พี่น้องชาวไร่ มั่นใจได้ว่า ค่าอ้อยจะไม่ต่ำกว่า 1,000 บาทต่อตัน สำหรับค่าอ้อยขั้นสุดท้าย ปีการผลิต 2563/64 (ปีที่ผ่านมา) ปิดรอบคำนวณวันที่ 30 กันยายน 2564 คาดว่าจะเกิน 1,000 บาทต่อตัน และอาจมีบางเขตได้ถึง 1,100 บาทต่อตัน โดยยังไม่รวมค่าความหวานส่วนเกิน 10 ซีซีเอส อีก 6% ต่อ 1 ซีซีเอส

การรับเงินค่าอ้อยขั้นสุดท้าย ปีการผลิต 2563/64 เป็นสิทธิของชาวไร่อ้อย โดยจะมีราชกิจจานุเบกษา แจ้งอย่างเป็นทางการ แต่ในทางปฏิบัติ ทาง สอน. จะมีหนังสือแจ้งให้โรงงานน้ำตาล จ่ายค่าอ้อยขั้นสุดท้าย ช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึง ธันวาคม 2564

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2564

สทนช. เตรียมคลอดแผนแม่บทจัดการน้ำภาคอีสาน

สทนช. เตรียมส่งต่อแผนหลักบริหารจัดการน้ำกลุ่มลุ่มน้ำภาคอีสาน และแผนปฏิบัติการ 5 ปีให้หน่วยน้ำ ครอบคลุมการแก้ปัญหาตามแผนแม่บทน้ำ 20 ปี ทั้ง 6 ด้าน พร้อมวางแผนจัดลำดับโครงการตามความจำเป็นเร่งด่วน

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการศึกษาเพื่อจัดทำแผนหลักบริหารจัดการทรัพยากรน้ำกลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ว่า ลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่รวมประมาณ 104 ล้านไร่ มีลุ่มน้ำสำคัญ 3 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล และลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมักประสบกับสภาพทั้งปัญหาภัยแล้ง-น้ำท่วม ปัญหาโครงสร้างการจัดการน้ำ และปัญหาคุณภาพน้ำ

โดยพบว่าจากพื้นที่ Area Based อยู่ในภาคอีสาน 16 พื้นที่ เป็นพื้นที่ที่ปัญหาด้านน้ำถึง 14 พื้นที่ แบ่งเป็น พื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมและภัยแล้ง 13 พื้นที่ อาทิ ลุ่มน้ำโมงตอนบน ลุ่มน้ำห้วยหลวง ลุ่มน้ำแม่น้ำสงคราม ลุ่มน้ำพุง-น้ำก่ำ ลุ่มน้ำชีตอนบน ลุ่มน้ำชีตอนกลาง ลุ่มน้ำมูล และ เมืองบุรีรัมย์-สุรินทร์ รวม 11.7 ล้านไร่ พื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง 1 พื้นที่ คือ ลุ่มน้ำเลยตอนล่าง  มีพื้นที่ 0.063 ล้านไร่ และเขตเศรษฐกิจพิเศษ 2 พื้นที่ ได้แก่ นครพนม และ มุกดาหาร รวม 0.042 ล้านไร่

ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบและความจำเป็นเร่งด่วน สทนช. ได้ดำเนินโครงการศึกษาจัดทำแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำกลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และแผนปฏิบัติการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 5 ปี ครอบคลุมทั้ง 6 ด้าน สอดคล้องตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580)  พร้อมจัดลำดับความสำคัญโครงการตามความเร่งด่วน โดยกำหนดระยะเวลาของแผนพัฒนา ตั้งแต่ปี 2566-2585

อาทิ การเพิ่มขีดความสามารถการเข้าถึงน้ำอุปโภคบริโภคมีโครงการเร่งด่วน เช่น ขยายกำลังผลิตประปาภูมิภาคและประปาหมู่บ้าน ปรับปรุงระบบประปาหมู่บ้าน ติดตั้งเครื่องกรองน้ำดื่มให้ครบทุกหมู่บ้าน โรงเรียน เป็นต้น การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต อาทิ การพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำ ระบบส่งน้ำใหม่

โดยแผนระยะ 5 ปี มีทั้งสิ้น 404 โครงการ พื้นที่รับประโยชน์ 411,432 ไร่ และโครงการผันน้ำและเชื่อมโยงน้ำ ระยะ 5 ปี 46 โครงการ พื้นที่รับประโยชน์ 32,100 ไร่  ที่สำคัญคือการจัดการน้ำท่วมและอุทกภัยโดยสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมและระบายน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ และการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม และป้องกันการพังทลายของดินควบคู่กันด้วย

พร้อมกันนี้ ยังมีการศึกษาความเป็นไปได้ของแนวทางพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่ยังไม่สามารถพัฒนาได้ตามกรอบงบประมาณปกติ เพื่อให้สามารถพัฒนาโครงการได้เร็วขึ้นเพื่อให้สามารถพัฒนาโครงการได้เร็วขึ้นเต็มศักยภาพพื้นที่ด้วย หากดำเนินการตามแผนงานที่ศึกษาวางไว้ข้างต้น จะช่วยให้พื้นที่กลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีน้ำต้นทุนที่อุดมสมบูรณ์จากการพัฒนานำน้ำจากลำน้ำสาขาแม่น้ำโขงและจากแม่น้ำโขงเข้ามาในพื้นที่

รวมทั้งการแก้ไขปัญหาการระบายน้ำในพื้นที่ จะช่วยลดปัญหาการเกิดอุทกภัยขนาดใหญ่อย่างเป็นรูปธรรม จากทั้งโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของทางน้ำเดิม และการเพิ่มทางระบายน้ำใหม่ให้ไหลลงสู่พื้นที่ด้านท้ายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความมั่นคงด้านน้ำและลดความเสียหายทั้งด้านอุทกภัยและภัยแล้งได้อย่างยั่งยืน

“แม้จะมีข้อจำกัดในการเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ แต่รัฐบาลโดยพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างด้านน้ำภายใต้แผนแม่บทน้ำฯ 20 ปีให้เป็นไปตามเป้าหมาย ได้ผลลัพธ์ต่อความมั่นคงน้ำของประเทศ และประโยชน์กับประชาชนอย่างครอบคลุมทุกพื้นที่ ซึ่งภาคอีสานมีการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กในพื้นที่หาน้ำยาก"

ตามที่รัฐบาลให้การสนับสนุนงบกลางในช่วงปี 2563 -2564 อาทิ โครงการก่อสร้างระบบกระจายน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่หาน้ำยากในพื้นที่บ้านเหนือ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา สามารถเก็บกักน้ำได้กว่า 162,000 ลบ.ม./ปี ประชาชนได้รับประโยชน์ 104 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ 280 ไร่ จึงมั่นใจได้ว่าหากดำเนินการโครงการต่าง ๆ ตามแผนหลักฯ 20 ปี และแผนปฏิบัติการฯ 5 ปี จะช่วยเพิ่มความมั่นคงให้น้ำต้นทุนให้แก่ภาคอีสานได้มากขึ้น ลดปัญหาอุทกภัย และเพิ่มประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหาน้ำครบทุกมิติ” ดร.สมเกียรติ กล่าว

ดร.สมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับสถานการณ์น้ำของภาคตะวันออกเฉียงเหนือในปัจจุบัน ซึ่งมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 13 แห่ง ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวม 3,740 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 43 จากการคาดการณ์ ณ วันที่ 1 พ.ย.64 จะมีปริมาณน้ำรวม 5,405 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 65 โดยในช่วงเดือนตั้งแต่เดือน ก.ย.64 มีอ่างเก็บน้ำที่มีแนวโน้มปริมาณน้ำเกินเกณฑ์ควบคุม (Upper Rule Curve) จำนวน 3 แห่ง

ได้แก่ เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำตะคอง และเขื่อนมูลบน ซึ่งได้เน้นย้ำกับกรมชลประทานในการบริหารจัดการน้ำไม่ให้ส่งผลกระทบในช่วงฤดูฝน และขณะนี้เดียวกันยังสามารถสนับสนุนน้ำเพื่อกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ได้ตลอดฤดูแล้งที่จะถึงนี้ ซึ่งถือว่าอีสานปีนี้น้ำต้นทุนค่อนข้างดี แต่ก็ต้องระมัดระวังการใช้น้ำเนื่องจากคาดการณ์ฝนในปี 2565 ที่จะมีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยด้วยเช่นกัน

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2564

ถอดบทเรียน “พาราควอต” สู่ ไดควอต ผวาซ้ำรอยแบนใหม่

สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊ก “ไดควอต” สารกำจัดวัชพืชน้องใหม่ แทนพาราควอต “ดร.จรรยา” ถอดบทเรียนพาราควอต หากเกษตรกรใช้จริง ผวาซ้ำรอยแบนใหม่อีกรอบ

ดร.จรรยา มณีโชติ สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊ก สาระน่ารู้ เรื่อง "ไดควอต"  (Diquat) ตอนที่ 2 เจาะประวัติไดควอต ถูกค้นพบครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.  2498 โดยบริษัท ICI (Imperial Industries Laboratories) ประเทศอังกฤษ (ซึ่งปัจจุบัน คือ บริษัท ซินเจนทา) และถูกวางจำหน่ายเป็นสารกำจัดวัชพืช มานานกว่า 50 ปีด้วยคุณสมบัติที่กำจัดวัชพืชประเภทใบกว้างได้ดีกว่าใบแคบ จึงถูกใช้กำจัดวัชพืชในข้าวสาลี ข้าวโอ๊ตและข้าวบาร์เล่ย์

ต่อมาได้ นำไปใช้กำจัดวัชพืชน้ำ และใช้พ่นก่อนเก็บเกี่ยวพืชหลายชนิด เช่น มันฝรั่ง ทานตะวัน ฝ้าย คาโนล่า และพืชตระกูลถั่ว ในทวีปยุโรปและอเมริกา กลไกออกฤทธิ์ในพืช (Mode of actIon) ไดควอต มีโครงสร้างทางเคมีจัดอยู่ในกลุ่ม Bipyridiliums

เช่นเดียวกับ “พาราควอต” มีกลไกออกฤทธิ์จัดอยู่ในกลุ่ม D คือ ยับยั้งระบบการสังเคราะห์แสงที่ 1 ทำให้พืชตายอย่างรวดเร็วภายใน 1 วัน เกิดจาก "ไดควอต" ได้รับอีเล็คตรอนจากกระบวนการสังเคราะห์แสง และทำปฏิกิริยากับออกซิเจน เกิดเป็น superoxide ion  ที่เป็นพิษต่อเซลเมมเบรน ทำให้เซลแตกและพืชแห้งตายได้อย่างรวดเร็ว

การเข้าสู่ต้นพืชและการเคลื่อนย้ายไดควอตเข้าสู่ต้นพืชทางใบเท่านั้น เมื่อตกลงสู่ดินจะถูกอนุภาคดินดูดยึดไว้อย่างเหนียวแน่น จึงไม่เข้าสู่พืชทางราก  มีระยะปลอดฝนหลังพ่น 1 ชั่วโมง และเคลื่อนย้ายในต้นพืชได้เล็กน้อย ความเป็นพิษของ "ไดควอต"

สาร "ไดควอต" หรือ Diquat

สาร "ไดควอต" หรือ Diquat

“WHO” จัดไดควอต อยู่ในกลุ่มสารที่มีความเป็นพิษปานกลาง (Moderate toxicity)  ระคายเคืองต่อตา ผิวหนัง และทางเดินหายใจอาจทำให้เกิดต้อกระจก (cataract)  อาจทำให้เลือดกำเดาไหล เยื่อจมูกอักเสบ และเล็บมีอาการผิดปกติได้ มีค่าพิษเฉียบพลัน (Oral Acute Toxicity) LD50 (หน่วยเป็น มก./กก.) ของไดควอต (technical grade) ต่างกันตามชนิดสัตว์ทดลอง

หนู (rat)       = 215-235

หนู (mouse) = 125

กระต่าย        = 100

สุนัข           = 100-200

วัวตัวเมีย    = 30

สำหรับปริมาณที่คนกินไดควอตเข้าไปแล้วเสียชีวิต (Acute Lethal Dose) ที่ระบุไว้โดย  WHO อยู่ที่ประมาณ 2 เท่าของพาราควอต

      ไดควอต 6-12 กรัม

      พาราควอต 3-5 กรัม

สาเหตุหลักที่ทำให้ไดควอตถูกแบนในยุโรป เมื่อปี 2561 คือ European Food Safey Agency หรือ  EFSA ได้ประเมินความเสี่ยงจากการใช้ไดควอต พบว่า ถึงแม้จะใส่ชุดอุปกรณ์ป้องกันขณะพ่น ไดควอตสามารถเข้าสู่ร่างกายของผู้พ่น ในปริมาณสูงเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย AOEL

งานวิจัยล่าสุดของ Yastrub และคณะ ในปี 2563 พบว่า ในขณะพ่น ไดควอตสามารถซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่ร่างกายผู้พ่นเป็นปริมาณสูงถึง 0.0154 มก./ กก. หรือ สูงเป็น  77 เท่าของค่า AOEL

AOEL หรือ Acceptable Operator Exposure Level    หมายถึง ปริมาณสูงสุดของสารออกฤทธิ์ ที่ไม่ทำให้เกิด ผลเสียต่อสุขภาพของผู้พ่น

(ค่า AOEL ของไดควอต เท่ากับ 0.0002  มก. ต่อ น้ำหนักตัว 1 กก.)

นอกจากผู้พ่นแล้ว ยังพบว่าผู้คนในละแวกใกล้เคียง ยังมีโอกาสได้รับไดควอตเข้าสู่ร่างกายจนเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย AOEL ได้เช่นกัน

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ คือ สิ่งปนเปื้อน (Impurities) ที่พบอยู่ในผลิตภัณฑ์ไดควอต ที่เป็นพิษต่อคน 3 ชนิด คือ

1. Ethylene dibromide ( EDB) ซึ่งอาจเป็นสารก่อมะเร็งในคน (Propable human carcinogen)

2. Total terpyridines ซึ่งมีความเป็นพิษตอคนสูงมาก

3. 2',2 bipyridyl  ซึ่งเป็นสารที่อาจก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ (Mutagenic, tetragenic acivity)

ดังนั้น องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)  ได้กำหนดค่าสูงสุดของสิ่งปนเปื้อนทั้ง 3 ชนิดในไดควอตไว้ ดังนี้

EDB  0.01 g/kg

️Total terpyridines 0.001 g/kg

2,2' bipyridyl 0.75 g/kg

นอกจากนั้น ยังเริ่มมีรายงานวิจัย พบว่า ไดควอต ทำให้มีโอกาสเกิดโรคพาร์กินสันในคน มากกว่าพาราควอต

ถึงแม้ว่า EU จะแบนทั้ง "พาราควอต" และ "ไดควอต" แต่ยังมีอีกหลายประเทศที่ยังใช้สารทั้ง 2 ชนิด อยู่ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น และ ออสเตรเลีย  เป็นที่น่าสังเกตว่า ทุกประเทศที่มีการใช้ไดควอต จะมีการประเมินความเสี่ยง จากการใช้งานจริงในแต่ละประเทศ

จะเห็นได้ว่า เมื่อ EFSA ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านประเมินความปลอดภัยของสารเคมีใน EU  มีหลักฐานงานวิจัยที่น่าเชื่อถือว่า “ ไดควอต” เป็นอันตรายต่อผู้ใช้และคนในบริเวณใกล้เคียง EU จึงประกาศแบนไดควอต และให้ระยะเวลาทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องประมาณ 2 ปีเพื่อเตรียมตัวเลิกใช้ไดควอตทั่วยุโรปในเดือนกุมภาพันธ์ 2563

แต่ประเทศที่ยังคงอนุญาตให้ใช้ไดควอต เพราะผลการประเมินความเสี่ยงยังอยู่ในเกณฑ์ความปลอดภัยที่ยอมรับได้ดังนั้น หากมีการอนุญาตให้ใช้ไดควอตในประเทศไทย สิ่งที่ภาครัฐควรให้ความสนใจ 3 ประเด็น คือ

       1. เรื่องการกำหนดค่ามาตรฐานของสิ่งปนเปื้อน 3 ชนิด ในผลิตภัณฑ์ไดควอต  ให้สอดคล้องกับตามมาตรฐานของ FAO

       2. ควรกำหนดข้อบังคับให้เกษตรกรใช้อุปกรณ์ป้องกันสารเคมีที่เหมาะสมในขณะใช้ไดควอต เพื่อป้องกันความเสี่ยงได้รับพิษ เช่นเดียวกับที่พบในยุโรป

      3. หลังการจำหน่ายไดควอตไปแล้ว ควรมีงานวิจัยเพื่อประเมินความเสี่ยง ก่อนการพิจารณาอนุญาตให้ต่ออายุทะเบียน

ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การใช้ “ไดควอต” อย่างปลอดภัยและยั่งยืนในอนาคตรู้เขารู้เราเรื่องสารกำจัดวัชพืช และหวังว่าในอนาคต จะไม่ซ้ำรอย "พาราควอต" ที่โดนแบนไปล่าสุด

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2564

'อีอีซี' โมเดลพัฒนาเชิงพื้นที่ ดันเขตเศรษฐกิจเข้า 'แผนพัฒนาฯฉบับ 13'

แนวทางการพัฒนาเชิงพื้นที่หรือ “Area-Based Development” เป็นโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมที่เป็นเป้าหมายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในระยะยาว โดยในแผนพัฒนาฯฉบับที่ 13 จะมีการขยายผลจากอีอีซีนำความสำเร็จไปขยายในเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่นๆ

ในการพัฒนาประเทศตลอดเวลาเกือบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเชิงพื้นที่ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 5 ถึงฉบับปัจจุบัน มีพัฒนาการของแผนการพัฒนาพื้นที่จากการกระจายความเจริญของกิจกรรมทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับนโยบายการพัฒนาชนบท จนถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในการมีส่วนรวมในการวางแผนการพัฒนาท้องถิ่นของตัวเอง

ในปัจจุบันความสำเร็จของโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มีการต่อยอดความสำเร็จมาจากการพัฒนาโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดในอดีตทำให้เกิดรูปธรรมของการพัฒนาเชิงพื้นที่มากขึ้น รัฐบาลมีแนวคิดที่จะต่อยอดความสำเร็จในการพัฒนาพื้นที่อีอีซีไปสู่การพัฒนาในพื้นที่อื่นๆเพื่อให้มีการกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจสู่พื้นที่อื่นๆของประเทศ

รัฐบาลได้วางแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ โดยมีคณะกรรมการ 2 ชุดมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านนี้โดยตรง ได้แก่ คณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาค (ก.บ.ภ.) และ คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเชิงพื้นที่ทั้งการพัฒนาภาคและกลุ่มจังหวัด รวมทั้งการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งถือเป็นการวางอนาคตของประเทศไทยในการลงทุนในกิจการที่เหมาะสมกับภูมิภาค และนำมาสู่การสร้างงาน อาชีพ สร้างรายได้ ให้กับคนไทยทุกภาคของประเทศ

ทั้งนี้ในการประชุม กพศ.เมื่อเร็วๆนี้ได้กำหนดพื้นที่และกิจการที่จะได้รับสิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษใน 4 ภาค และแบ่งเป็นระเบียงเศรษฐกิจ 4 พื้นที่โดยใช้ความสำเร็จจากอีอีซีเป็นต้นแบบการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ ประกอบไปด้วย

1.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง-ตะวันตก (Central-Western Economic Corridor : CWEC) ประกอบไปด้วย จ.พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี และกาญจนบุรีเพื่อพัฒนาให้เป็นฐานเศรษฐกิจชั้นนำของภาคกลาง-ตะวันตกในด้านอุตสาหกรรมเกษตร อาหารสุขภาพและอาหารทางการแพทย์ การท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ธรรมชาติ และอุตสาหกรรมไฮเทคที่ได้มาตรฐานระดับสากล ระบบโลจิสติกส์สมัยใหม่เชื่อมโยงกับกรุงเทพฯ และพื้นที่โดยรอบและอีอีซี

2.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor : NEC-Creative LANNA) ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน และลำปางเพื่อเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ เป็นแหล่งผลิตสินค้าและบริการที่ต่อยอดจากฐานวัฒนธรรมล้านนา ผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าบริการเพื่อสุขภาพ พัฒนาอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ผสานวัฒนธรรมล้านนา รวมถึงการท่องเที่ยว

3.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor: NeEC - Bioeconomy) ได้แก่ ขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี และหนองคายเพื่อพัฒนาเป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งใหม่ที่เชื่อมโยงการเกษตรและอุตสาหกรรมชีวภาพด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น สินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์ชีวภาพจากอ้อยและมันสำปะหลัง สินค้าและบริการด้านอุตสาหกรรมอาหาร รวมถึงโปรตีนจากแมลง

4.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราชโดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางของภาคใต้ให้เป็นประตูการค้า ในการเชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศและประเทศในภูมิภาคฝั่งทะเลอันดามัน และเป็นฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ การแปรรูปการเกษตรมูลค่าสูง แปรรูปปาล์มน้ำมันและยางพาราขั้นสูง อาหารทะเลปลอดภัย รวมทั้งเพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการท่องเที่ยวสู่ระดับนานาชาติ

คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า อีอีซีเป็นต้นแบบการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยการเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนของอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยการจะขยายโมเดลของอีอีซีไปยังพื้นที่อื่นจะกำหนดอุตสาหกรรมให้เหมาะสมแต่ละพื้นที่ ซึ่งการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในอีอีซีและเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่อื่นจะถูกผลักดันเข้าไปเป็นหนึ่งใน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับ 13 (2566-2570) ที่เป็นแผนการพัฒนาประเทศหลังโควิด-19

ส่วนเป้าหมายการลงทุนในอีอีซีได้มีการสรุปในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ถึงความคืบหน้าโครงการสำคัญและความคืบหน้าในการลงทุนในอีอีซีทั้งโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน และการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อีอีซีเกิดการลงทุนรวม 1.6 ล้านล้านบาท จากเป้าหมายที่มีการกำหนดว่ามีไม่น้อยกว่า 1.7 ล้านล้านบาท ภายในปี 2565 แต่ปัจจุบันมีการลงทุนรวมแล้วคิดเป็น 94% ของเป้าหมาย ถือว่าเร็วกว่าที่กำหนด

การลงทุนในอีอีซีในแผนเดิมอาจเพิ่มสูงขึ้นได้ถึง 2.2 ล้านล้านบาท เนื่องจากยังรอการลงทุนอีกไม่น้อยกว่า 6 แสนล้านบาท จากโครงการที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นอีกปีละ 1 แสนล้านบาท และเมืองใหม่น่าอยู่และเมืองอัจฉริยะ 4 แสนล้านบาท ซึ่งทำให้ในส่วนนี้อีอีซีอยู่ระหว่างปรับแผนการลงทุนในอีอีซีใน 5 ปีข้างหน้า โดยจะปรับเพิ่มเป้าหมายจากเดิมที่กำหนดว่าจะมีการลงทุนในพื้นที่ปีละ 3-4 แสนล้านบาท เป็น 5-6 แสนล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้รวมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ซึ่งจะช่วยให้จีดีพีของไทยเพิ่มขึ้นได้ 2% ช่วยให้จีดีพีโดยรวมของประเทศเติบโตได้ 4-5%

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2564

วช. หนุนทุนวิจัย “แปรเส้นใยจากใบอ้อย” เป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอ สร้างรายได้ชุมชน ลดการเผาไร่

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สนับสนุนทุนวิจัยโครงการท้าทายไทยเพื่อจัดการความรู้เพื่อใช้ประโยชน์เชิงชุมชน สังคม ประจำปี 2564 แก่เรื่อง “การพัฒนากระบวนการแปรสภาพเส้นใยจากใบอ้อย เพื่อการออกแบบผลิตภัณฑ์ สิ่งทอตามแนวคิดนิเวศเศรษฐกิจ" เพื่อให้แก้ปัญหาการเผาอ้อยในพื้นที่ด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีองค์ความรู้แก่เกษตรกร และนำเสนอทางเลือกให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีการเพื่อลดการเผาอ้อย

การเผาอ้อยหรือใบไม้แห้ง เป็นส่วนหนึ่งซึ่งทำให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในระดับประเทศ โดยเฉพาะการเกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM 2.5 โดยปัญหานี้จะยิ่งรุนแรงขึ้นในช่วงที่อากาศแล้งและมีปริมาณฝนน้อย เนื่องจากการชะล้างฝุ่นละอองเป็นไปอย่างจำกัด ซึ่งเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสุขอนามัยของประชาชน รวมทั้งส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก

จากปัญหาดังกล่าว ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ตระหนักถึงปัญหาของของจากการเผาอ้อย เพราะการเผาอ้อยในแต่ละครั้งสร้างมลพิษและปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน วช. ในฐานะหน่วยงานบริหารงานวิจัยของประเทศ จึงสนับสนุนทุนวิจัยโครงการท้าทายไทยเพื่อจัดการความรู้เพื่อใช้ประโยชน์เชิงชุมชน สังคม ประจำปี 2564 แก่เรื่อง “การพัฒนากระบวนการแปรสภาพเส้นใยจากใบอ้อย เพื่อการออกแบบผลิตภัณฑ์ สิ่งทอตามแนวคิดนิเวศเศรษฐกิจ" โดยมี ดร.ศรัณย์ จันทร์แก้ว อาจารย์คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เพื่อให้แก้ปัญหาการเผาอ้อยในพื้นที่ด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีองค์ความรู้แก่เกษตรกร และนำเสนอทางเลือกให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีการเพื่อลดการเผาอ้อย

ดร.ศรัณย์ จันทร์แก้ว กล่าวว่า การพัฒนาเส้นใยจากใบอ้อยเพื่องานออกแบบสิ่งทอเป็นการศึกษาเส้นใยผสมจากเส้นใยใบอ้อยและเส้นใยฝ้ายเพื่อสร้างเส้นด้ายสำหรับนำไปใช้ในงานสิ่งทอโดยนำเส้นใยฝ้าย เป็นตัวช่วยในการปั่นเกลียวแบบหัตถกรรมร่วมกับวัตถุดิบหลักคือเส้นใยใบอ้อยหลังแปรสภาพ โดยอาศัยทฤษฎี Triaxial blend ในการกำหนดอัตราส่วนผสมของวัตถุดิบ จากนั้นนำเส้นด้ายไปทอด้วยกี่มือ ซึ่งผลการทดลองและการวิเคราะห์คุณสมบัติทางกายภาพตาม มาตรฐานอุตสาหกรรมด้านความแข็งแรงของผ้าต่อแรงฉีกขาด ความหนาของผืนผ้าความโค้งงอ ความแข็งแรงของเส้นด้าย และความสามารถในการดูดซึมความชื้น แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาเส้นด้ายใยอ้อยเพื่องานสิ่งทอครั้งนี้ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และ กระบวนการผลิตสิ่งทอให้ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผลิตภัณฑ์สามารถนำมาออกแบบและใช้งานได้จริง สร้างความหลากหลาย ของเส้นใยจากธรรมชาติ สำหรับงานสิ่งทอได้เป็นอย่างดีนั่นคือใบอ้อยเป็นพืชที่มีศักยภาพในการ ให้เส้นใยด้วยกระบวนการแบบหัตถกรรมได้โดยไม่ต้องอาศัยเทคโนโลยีเครื่องจักรอุตสาหกรรม ผู้ผลิตงานสิ่งทอแบบหัตถกรรมจึงสามารถเรียนรู้กระบวนการจากงานวิจัยครั้งนี้เพื่อพึ่งตนเองในด้าน การผลิตเส้นใยธรรมชาติอันจะส่งผลต่อการพัฒนาสิ่งทอเชิงสร้างสรรค์สร้างรายได้และความมั่นคงในอาชีพของตนเองได้อย่างยั่งยืน

ปัจจุบันนักวิจัยได้นำกระบวนการแปรสภาพเส้นใยจากใบอ้อย ไปถ่ายทอดเทคโนโลยีการย้อมสีธรรมชาติเส้นใยจากใบอ้อย และการถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอในรูปแบบใหม่ที่คงเอกลักษณ์โดยใช้ทรัพยากรที่มีในท้องถิ่น ในหมู่บ้านที่มีการทอผ้าและการปลูกอ้อยอยู่แล้วในหลายพื้นที่และมีความพร้อมที่จะเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ ได้แก่กลุ่มทอผ้า ตำบลเขาสามสิบ อำเภอเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว จำนวน 4 หมู่บ้าน ดังนี้ หมู่ที่ 6 บ้านเนินตะแบก, หมู่ที่ 7 บ้านหนองโกวิทย์, หมู่ที่ 8 บ้านหนองคุ้ม, และหมู่ที่ 12 บ้านสุขสำราญ

ผลที่ได้จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีในครั้งนี้ ทำให้เกษตรกรลดการเผาอ้อย และหันมานำใบอ้อยไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอในรูปแบบใหม่ที่คงเอกลักษณ์โดยใช้ทรัพยากรที่มีในท้องถิ่น นำสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศอย่างมีจุดเด่นและมีศักยภาพในการแข่งขัน ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีนิเวศเศรษฐกิจ ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่ได้จากใบอ้อย ได้แก่ เสื้อคลุม หมวก รองเท้า กระเป๋า และผลิตภัณฑ์เคหะสิ่งทอ ได้แก่ โคมไฟ และอื่นๆ อีกมากมาย

จาก  https://mgronline.com  วันที่ 3 กันยายน 2564

ทำความรู้จักกับ“พลาสติกชีวภาพ” สินค้าที่ตลาดต้องการสูง

“พลาสติกชีวภาพ” สินค้าที่ตลาดต้องการสูง เหตุคนให้ความสำคัญกับการปกป้องสิ่งแวดล้อมโลก ชี้ไทยได้เปรียบเป็นแหล่งวัตถุดิบ ทั้งอ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพด สอดคล้องกับนโยบายดันไทยสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่ มั่นใจช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการนำพลาสติกชีวภาพมาใช้แล้วเกือบ 1%  ของปริมาณการใช้พลาสติกแบบดั้งเดิม 368 ล้านตันต่อปี โดยอยู่ในรูปแบบผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์มากที่สุด รองลงมาเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค เสื้อผ้าและสิ่งทอ ภาคเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมยานยนต์และขนส่ง โดยในปี 2562 มีการผลิตพลาสติกชีวภาพทั่วโลกปริมาณ 2.11 ล้านตัน และคาดว่าในปี 2568 จะมีการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 2.87 ล้านตัน ซึ่งจากการศึกษาของสนค.พบว่า แนวโน้มการใช้พลาสติกชีวภาพของโลกความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เพราะทั่วโลกตระหนักว่าการใช้พลาสติกจากอุตสาหกรรมปิโตรเลียมแบบเดิม เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายในธรรมชาติได้ยาก และเป็นตัวเร่งก่อให้เกิดสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง แต่การขับเคลื่อนด้วยนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Model จะเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต

ทั้งนี้ พลาสติกชีวภาพ ประกอบด้วยอุตสาหกรรมต้นน้ำ เป็นการผลิตกลูโคสเหลว โดยใช้วัตถุดิบจากแป้งมันสำปะหลัง ข้าวโพด ข้าวสาลี มันฝรั่ง และอ้อย ซึ่งไทยมีความได้เปรียบ เพราะเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบสำคัญที่นำมาใช้ได้เกือบทั้งหมด   ถือว่าไทยมีจุดแข็งในการผลิตพลาสติกชีวภาพมาก เพราะมีทรัพยากรที่สมบูรณ์ เป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตร และเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์และส่วนประกอบของพลาสติกรายสำคัญของโลก

การพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพเป็นการต่อยอดอุตสาหกรรมดั้งเดิมไปสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่สร้างมูลค่า สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (2560–2579) และที่สำคัญ หากมีการลงทุนผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพในไทย โดยใช้น้ำตาลจากอ้อยและแป้งจากมันสำปะหลังมาผลิตเป็นเม็ดพลาสติกชีวภาพ จะส่งผลให้น้ำตาลจากอ้อยและแป้งมันสำปะหลังดังกล่าวมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงกว่า 3 เท่า และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่ธุรกิจแปรรูปเม็ดพลาสติก และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องต่าง ๆ ได้เพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกร และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมมีรายได้เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ มีการประเมินว่า ในปี 2564 มูลค่าของตลาดอุตสาหกรรมพลาสติกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.1 % และการส่งออกคาดว่าจะขยายตัว 2.7%  สำหรับเม็ดพลาสติกชีวภาพที่มีศักยภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดคือ เม็ดพลาสติกชนิดพอลิแลคติคแอซิด (PLA) โดยคาดว่า การส่งออก PLA จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 16.6% ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก โดยเม็ดพลาสติกชีวภาพชนิด PLA มีการนำไปผลิตเป็นสินค้าประเภทใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เช่น แก้วน้ำ หลอด ช้อน ส้อม และในต่างประเทศมีการนำไปผลิตก้นกรองบุหรี่ เป็นต้น

สำหรับแนวโน้มตลาดของผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพของโลก พบว่า มีความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์อ่อนตัว (Flexible packaging) 555,000 ตัน บรรจุภัณฑ์แบบคงรูป (Rigid packaging) 443,000 ตัน สินค้าโภคภัณฑ์ 258,500 ตัน สิ่งทอ 241,000 ตัน ภาคเกษตร 163,500 ตัน ยานยนต์และขนส่ง 121,000 ตัน อาคารและก่อสร้าง 85,500 ตัน ผลิตภัณฑ์เคลือบพื้นผิวและสารเติมแต่ง 74,500 ตัน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ 67,500 ตัน และผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกประมาณ 101,000 ตัน ขณะที่ความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม จากฐานข้อมูล Mintel พบว่า มีการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ปี 2561 โดยในปี 2563 ขยายตัวจากปี 2562  28.75% ส่วนใหญ่พบในบรรจุภัณฑ์สินค้าอาหารและเครื่องดื่ม ประเภทเบเกอรี่ อาหารทานเล่น อาหารเช้าประเภทซีเรียล เครื่องปรุงและซอส และของหวานและไอศกรีม ตามลำดับ โดยผลิตภัณฑ์น้ำดื่ม เครื่องปรุงและซอส ของหวานและไอศกรีม และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขยายตัวสูงสุด

นอกจากนี้  Allied Market Research ระบุว่า ตลาดพลาสติกชีวภาพในปี 2560 มีมูลค่า 21,126.31 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตเป็น 68,577.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2567 คิดเป็นอัตราการเติบโต18.8% ต่อปี และรายงานของ Euromonitor ในปี 2560 พบว่า ประชาชนในสหภาพยุโรป โดยเฉพาะในฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และเยอรมนี จํานวน 75% จ่ายเงินเพิ่มขึ้น เพื่อซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ จึงถือเป็นโอกาสของไทยที่จะต่อยอด โดยนำพลาสติกชีวภาพมาเป็นส่วนประกอบในสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตและการส่งออกอยู่เดิม เช่น กลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูป สิ่งทอ และยานยนต์

จาก  https://www.thansettakij.com วันที่ 2 กันยายน 2564

“พาณิชย์” ดันไทยเป็นศูนย์กลาง CLMVT เชื่อมอาเซียน – ฮ่องกง – จีน

“พาณิชย์” ชูไทยเป็นศูนย์กลาง CLMVT เชื่อมอาเซียน – ฮ่องกง – จีน ภายใต้ Belt and Road Initiative หวังดึงดูดการลงทุนช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด - 19

นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า การประชุม Belt and Road Summit ครั้งที่ 6 ภายใต้หัวข้อ การขับเคลื่อนการพัฒนาด้วย การส่งเสริมการค้าระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ” ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมาว่าในการประชุมครั้งนี้ไทยใช้นโยบายในการเชื่อมโยงไทยผ่านเขตพัฒนา พิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) กับเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Great Bay Area: GBA) และข้อริเริ่ม สายแถบและเส้นทาง(Belt and Road Initiative: BRI) ของจีน เนื่องจากไทย เป็นจุดยุทธศาสตร์ของอนุภูมิภาค CLMVT (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย) และอาเซียน 

ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและด้านดิจิทัลเทคโนโลยีตามเส้นทาง BRI จะนำไปสู่การสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันและดึงดูดนักลงทุนที่มีศักยภาพโดยเฉพาะ ในอุตสาหกรรมเป้าหมายของ EEC ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมดิจิทัล ยานยนต์สมัยใหม่ และการบินและโลจิสติกส์

ซึ่งจะช่วยให้ไทยได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเส้นทางรถไฟและโครงข่ายคมนาคม ภายใต้ BRI อย่างรถไฟความเร็วสูงไทย - ลาว - จีน เสร็จสมบูรณ์ จะช่วยอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนในการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ เงินทุน และประชาชน ในภูมิภาคซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาคฟื้นตัวจากวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากนั้น แนวนโยบายที่สนับสนุนการเปิดเสรีการค้าและการลงทุนกับต่างประเทศของจีน จะทำให้นักลงทุนไทยมีโอกาส เข้าไปลงทุนในจีนซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่มากขึ้นซึ่งจะสร้างโอกาสให้กับ ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ในการส่งออกสินค้า บริการและการลงทุนในตลาดการค้าขนาดใหญ่

ทั้งนี้การประชุม Belt and Road Summit เป็นเวทีประจำปีซึ่งจัดโดยรัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกง สำหรับผู้บริหารภาครัฐ นักธุรกิจและนักลงทุนจากเขตบริหารพิเศษฮ่องกงและต่างประเทศในการแลกเปลี่ยน ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับโอกาสความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายใต้ข้อริเริ่ม BRI ของสาธารณรัฐประชาชนจีน และมีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก โดยในปีนี้มีผู้เข้าร่วมการอภิปรายประกอบด้วยเลขาธิการอาเซียน รัฐมนตรีกระทรวงสำคัญด้านเศรษฐกิจและการค้าของประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ บรูไน ดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์และไทย และรัฐมนตรีกระทรวงการค้าต่างประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

จาก  https://www.thansettakij.com วันที่ 2 กันยายน 2564

กนอ.ป้องกันภัยแล้งใน‘อีอีซี’ ลงนามซื้อน้ำดิบป้อนโรงงานเพิ่ม

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ. ได้ร่วมลงนามในสัญญาซื้อขายน้ำดิบกับบริษัท วาย.เอส.เอส.พี.แอกกริเกต จำกัด เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการด้านน้ำในภาคอุตสาหกรรม และรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) รวมถึงสร้างความมั่นคงทางด้านน้ำให้กับนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซีเนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนและความต้องการน้ำในเขตพื้นที่อีอีซีนั้นพบว่า ต้นทุนน้ำรวมของน้ำปัจจุบันมีปริมาณเท่ากับ 1,537.59 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่มีปริมาณความต้องการน้ำรวมทั้งหมดสูงถึง 2,190.98 ล้านลูกบาศก์เมตร แสดงถึงความเสี่ยงของการขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภค-บริโภคในอนาคต

สำหรับในปี 2564 ปริมาณการใช้น้ำสำหรับนิคมฯ แหลมฉบัง มีปริมาณการใช้น้ำประมาณ 740,000 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน (เฉลี่ยอยู่ที่ 24,500 ลูกบาศก์เมตร/วัน) และนิคมฯ มาบตาพุด มีปริมาณการใช้น้ำประมาณ 6,400,000 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน (อยู่ที่ 213,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน) ซึ่งจากปริมาณการใช้น้ำที่มีปริมาณค่อนข้างสูงจึงจำเป็นต้องสรรหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม ปัจจุบันนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังมีโรงงานเปิดดำเนินการแล้ว 221 โรงส่วนนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด 82 โรง

อย่างไรก็ตาม แหล่งน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาของนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังในปัจจุบัน มาจากบริษัท EASTWater จำกัด(มหาชน) โดยจ่ายน้ำจากอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล 80% และจากอ่างหนองค้อหรืออ่างบางพระ 20% ขณะที่แหล่งน้ำดิบของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด มาจากอ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ โดยการจ่ายน้ำของบริษัท EASTWater เช่นกัน ซึ่งการสรรหาแหล่งน้ำดิบเพิ่มเติมในครั้งนี้ก็เพื่อสร้างความมั่นคงในการบริหารจัดการในการจ่ายน้ำประปาให้แก่ผู้ประกอบการและแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคตะวันออก

จาก https://www.naewna.com วันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2564

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “แข็งค่า” ที่ระดับ 32.30 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทยังมีแรงหนุนฝั่งแข็งค่า หลังสถานการณ์การระบาดในประเทศเริ่มดูทรงตัวและผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจจากการทยอยผ่อนคลายLockdown

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.30 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่า”ขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  32.35 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.15-32.35 บาท/ดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว Sideways ในกรอบใกล้ระดับ 32.20 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดอาจรอจับตาดูความชัดเจนของการฟื้นตัวตลาดแรงงานสหรัฐฯ จากข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯในวันพรุ่งนี้ก่อน ทำให้ เงินดอลลาร์ก็มีโอกาสที่จะแกว่งตัว Sideways

ทั้งนี้ เงินบาทยังมีแรงหนุนฝั่งแข็งค่าอยู่ หลังสถานการณ์การระบาดในประเทศเริ่มดูทรงตัวและผู้เล่นในตลาดก็ต่างคาดหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจจากการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ดังจะเห็นได้จากแรงซื้อสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่องในสัปดาห์นี้

อย่างไรก็ดี เราคงมองว่า สถานการณ์การระบาดในไทยยังน่าเป็นห่วง เพราะการตรวจเชิงรุกยังทำได้ไม่ดีพอ จึงเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดระลอกใหม่ๆ หลังการผ่อนคลาย Lockdown ดังนั้น ผู้ประกอบการโดยเฉพาะฝั่งผู้นำเข้า อาจรอจังหวะเงินบาทแข็งค่าในการทยอยปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งถ้าหากผู้ประกอบการมีความไม่มั่นใจต่อแนวโน้มค่าเงิน ก็สามารถใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options ในการเพิ่มประสิทธิภาพการวางแผนกลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงค่าเงินได้

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.15-32.35 บาท/ดอลลาร์

ตลาดการเงินโดยรวมได้รับแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่มเทคฯ หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงสู่ระดับ 1.30% อีกครั้ง จากแนวโน้มการจ้างงานในสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลง สะท้อนผ่านยอดการจ้างงานภาคเอกชนสหรัฐฯ โดย ADP ในเดือนสิงหาคม ที่เพิ่มขึ้นเพียง 3.74 แสนราย น้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 6.1 แสนราย ซึ่งปัจจัยกดดันมาจากปัญหาการระบาดของ Delta รวมถึงภาวะขาดแคลนแรงงาน

ทั้งนี้ แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นเทคฯ นั้น ได้ช่วยให้ ในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนี Nasdaq ปิดบวก +0.33% ขณะที่ ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย +0.03% ในขณะที่ ดัชนี Dowjones ปิดตลาดย่อตัวลง -0.14% กดดันโดยการปรับตัวลงของหุ้นในกลุ่ม Cyclical ท่ามกลางความกังวลของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นราว +0.74% เช่นกัน หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่มเทคฯ เช่นเดียวกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ (Infineon Tech. +1.5%, ASML +1.4%) นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวของหุ้นในกลุ่ม Cyclical ตามความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจเนื่องจากผู้เล่นในตลาดเริ่มไม่ได้กังวลปัญหาการระบาดของ Delta มากนัก อาทิ กลุ่มสินค้าแบรนด์เนม Inditex +3.6%, Louis Vuitton +3.2% กลุ่มการเงิน Santander +1.6%, ING +1.3% เป็นต้น

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ กลับมาย่อตัวลงสู่ระดับ 1.30% หลังยอดการจ้างงานภาคเอกชนออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี จะแกว่งตัวใกล้ระดับ 1.30% เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯในวันศุกร์ อาทิ ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) โดยบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ อาจปรับตัวขึ้นได้เล็กน้อย หากข้อมูลการจ้างงานออกมาแข็งแกร่งกว่าคาดสวนทางกับยอดจ้างงานภาคเอกชนที่ได้รายงานออกมาก่อนหน้า (Nonfarm Payrolls สูงกว่า 7.5 แสนราย)

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯในเดือนสิงหาคมแย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลดลงใกล้ระดับ 92.50 จุด และมีโอกาสที่เงินดอลลาร์อาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways เนื่องจากตลาดจะรอดูยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในช่วงปลายสัปดาห์นี้

โดย ผู้เล่นในตลาดต่างมองว่า หากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ฟื้นตัวแข็งแกร่งมากกว่าที่ตลาดคาดหวังไว้ ก็มีโอกาสที่จะทำให้เฟดมีความมั่นใจการทยอยลดคิวอีในปีนี้มากขึ้น ซึ่งภาพดังกล่าวอาจช่วยพยุงโมเมนตัมของเงินดอลลาร์ได้ในระยะสั้น แต่ถ้ายอด Nonfam Payrolls ออกมาแย่ตามคาด สอดคล้องกับรายงานยอดจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP ตลาดอาจเริ่มกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ มากขึ้น กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าต่อได้

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดการเงินจะยังไม่มีการไหวเคลื่อนอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นสัญญาณการฟื้นตัวของตลาดแรงงานผ่าน ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในวันศุกร์ โดยตลาดมองว่า ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม อาจเพิ่มขึ้นราว 7.5 แสนราย ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า ยอด Nonfarm Payrolls อาจออกมาน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ หลังจากที่ ยอดการจ้างงานภาคเอกชนที่สำรวจโดย ADP เพิ่มขึ้นเพียง 3.74 แสนราย น้อยกว่าที่ตลาดประเมินไว้มาก

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2564

รัฐมนตรีอาเซียนนัดประชุม  ถก 12 คู่ค้า เพิ่มเปิดเสรี-ร่วมมือเศรษฐกิจ

ไทยเตรียมเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ผ่านระบบทางไกล 5-15 ก.ย.นี้ พร้อมถกคู่ค้า 12 ประเทศ เดินหน้าเปิดเสรีเพิ่มเติมและขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และหารือเอกชนร่วมมือฟื้นเศรษฐกิจจากโควิด-19

นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 53 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 8-15 ก.ย.2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อหารือความก้าวหน้าและความสำเร็จการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจของอาเซียนในช่วงตลอดปีที่ผ่านมา รวมทั้งจะร่วมรับรองเอกสารสำคัญ ก่อนเสนอต่อผู้นำในการประชุมสุดยอดอาเซียนในเดือนต.ค.2564   สำหรับเอกสารสำคัญที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะร่วมรับรองและเห็นชอบในการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ 1.กรอบการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2.แผนงานในการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นดิจิทัลของอาเซียน 3.แผนงานในการดำเนินการตามความตกลงอีคอมเมิร์ซของอาเซียน 4.เครื่องมือประเมินประสิทธิภาพของมาตรการที่มิใช่ภาษีของประเทศสมาชิก 5.แผนงานภายใต้กรอบความตกลงด้านการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียน-สหรัฐฯ

และการขยายการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ ปี 2564-2565 6.แผนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอาเซียนบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) ปี 2564-2565 7.แผนความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนอาเซียน-รัสเซีย 8.แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการของความตกลงการค้าเสรีอาเซียน–ฮ่องกง 9.แผนงานด้านการค้าและการลงทุนอาเซียน-สหภาพยุโรป ปี 2563-2564 เป็นต้น

ทั้งนี้ ในส่วนของการส่งเสริมความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานในช่วงโควิด-19 รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะให้ความเห็นชอบการขยายบัญชีรายการสินค้าจำเป็น (essential goods) ที่จะไม่ใช้ข้อจำกัดการส่งออกระหว่างกันให้ครอบคลุมสินค้าอาหารและสินค้าเกษตรบางรายการ

ขณะเดียวกัน ในการประชุมครั้งนี้ อาเซียนจะหารือกับรัฐมนตรีการค้าของประเทศนอกภูมิภาคอีก 12 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐฯ รัสเซีย สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีประเด็นหารือที่สำคัญ เช่น แนวทางการเปิดเสรีสินค้าเพิ่มเติมและการเปิดเสรีและคุ้มครองการลงทุนภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน การเปิดเสรีสินค้าอ่อนไหวเพิ่มเติมตามที่ระบุในความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ การหาข้อสรุปเกี่ยวกับขอบเขตการทบทวนความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน-อินเดีย ข้อเสนอญี่ปุ่นเรื่องการเติบโตด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนเพื่อร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 การสมัครเข้าร่วมความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ของชิลี และการต้อนรับสหราชอาณาจักรที่ประชุมร่วมกันในฐานะประเทศคู่เจรจาของอาเซียนเป็นครั้งแรก 

“ นับเป็นโอกาสดีที่อาเซียนจะได้หารือพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและส่งเสริมความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาคให้เข้มแข็งในการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ของโควิค-19 ตลอดจนแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นที่ภาคเอกชนให้ความสำคัญและได้ดำเนินการในปี 2564 เช่น การสร้างสภาพแวดล้อมและการเสริมสร้างความสามารถของแรงงานในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล รวมถึงแนวทางความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับภาคเอกชนเพื่อรับมือผลกระทบจากโควิด-19”

ทั้งนี้ประเด็นจากการประชุมในครั้งนี้ จะช่วยอำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ รักษาความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน และส่งเสริมการขยายตัวทางการค้าและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในภูมิภาค โดยเฉพาะในภาวการณ์ระบาดใหญ่ของโควิด-19 รวมทั้งจะสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นดิจิทัลของอาเซียน ตลอดจนเป็นการส่งสัญญาณที่ดีของอาเซียนต่อประชาคมโลกในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนในช่วง 6 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-มิ.ย.) มีมูลค่าสูงถึง 54,765.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.26% โดยไทยส่งออกไปอาเซียนมูลค่า 31,652.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียนมูลค่า 23,113.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญของไทยในอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2564

กรมชลฯเกาะติดสถานการณ์ฝนตกหนัก สั่งคุมเข้มการบริหารจัดการน้ำลดผลกระทบ

กรมชลประทานเกาะติดสถานการณ์น้ำสั่งติดตามเฝ้าระวัง ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล ไม่ให้ซ้ำเติม COVID-19 พร้อมเร่งช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วม เผยขณะนี้มีอ่างฯขนาดใหญ่มีปริมาณน้ำค่อนข้างมาก 15 แห่ง ขนาดกลาง 41 แห่ง คุมเข้มการบริหารจัดการน้ำตาม Rule Curve เพื่อลดผลกระทบ

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้กรมชลประทานติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดและให้ดำเนินการตามมาตรการรับมือฤดูฝน 10 มาตรการของรัฐบาล เพื่อลดผลกระทบไม่ให้ไปซ้ำเติมประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งขณะนี้กรมชลประทานได้ดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้จากการติดตามสภาพภูมิอากาศของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) พบว่าในเดือนกันยายน 2564 นี้ พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่นเกือบทั่วไปเฉลี่ยร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ โดยล่าสุดอิทธิพลของร่องมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกําลังแรงขึ้น ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศลาวและเวียดนามตอนบน ทำให้ประเทศไทยเริ่มมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออก บริเวณ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งได้สั่งการให้สำนักงานชลประทานที่ 9 สำนักเครื่องจักรกลและโครงการชลประทาน ปราจีนบุรี ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งของแม่น้ำปราจีนบุรี โดยให้จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปประจำในพื้นที่เสี่ยง ดำเนินการแก้ไขสถานการณ์โดยเร็ว เพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์น้ำที่อาจจะล้นตลิ่ง

นอกจากนี้ให้เตรียมความพร้อมของเครื่องจักร เครื่องมือ รถแบ๊กโฮ รถขุด รถเทรลเลอร์เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เครื่องผลักดันน้ำในพื้นที่เสี่ยงสามารถนำไปช่วยเหลือได้ทันที รวมทั้งกําจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ และมอบเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดส่วนในพื้นที่อื่นๆ ที่มีความเสี่ยงท่ี่จะเกิดภัยน้ำท่วมก็ให้ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน และให้รายงานสถานการณ์และผลการดำเนินงานให้ผู้บริหารตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบทันที

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั้งขนาดกลางและขนาดใหญ่มีน้ำไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นจากฝนที่ตกในช่วงนี้ ทั้งนี้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 3 กันยายน 2564 กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดหมายว่า ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งโดยล่าสุดเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2564 ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ทั่วประเทศ447 แห่ง มีจำนวน 39,035 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็น 51% ของปริมาณการเก็บกัก เป็นปริมาณน้ำที่ใช้การได้ 15,105 ล้าน ลบ.ม.หรือ 29% สามารถรับน้ำได้อีก 37,032 ล้าน ลบ.ม.

อย่างไรก็ตามเพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น กรมชลประทานได้สั่งการให้เฝ้าระวังและบริหารจัดการน้ำโดยเกณฑ์กักเก็บน้ำของอ่าง (Rule Curve) อย่างใกล้ชิด พร้อมให้มีการติดตามสถานการณ์และคาดการณ์น้ำในอ่างโดยใช้ Dynamic Operation Curve (DOC) โดยเฉพาะอ่างฯขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 51% ของปริมาณการเก็บกัก ซึ่งขณะนี้มีจำนวน 15 แห่ง ได้แก่ อ่างฯจุฬาภรณ์ 56%  อ่างฯลำตะคอง 61% อ่างฯมูลบน 63% อ่างฯลำแชะ 56% อ่างฯลำนางรอง 56% อ่างฯสิรินธร 63% อ่างฯศรีนครินทร์ 69% อ่างฯวชิราลงกรณ 69% อ่างฯขุนด่านปราการชล67% อ่างฯหนองปลาไหล 68% อ่างฯประแสร์ 71% อ่างฯนฤบดินทรจินดา 63% อ่างฯแก่งกระจาน 61% อ่างฯปราณบุรี 53% และอ่างฯรัชชประภา 65%  และอ่างฯขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% ของปริมาณการเก็บกักซึ่งขณะนี้มีจำนวน 41 แห่ง โดยการระบายน้ำจะไม่กระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ นอกจากนี้ยังได้มีการตรวจสอบความมั่นคง แข็งแรงของอ่างฯทุกแห่ง

สำหรับพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมขังในขณะนี้กรมชลประทานได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขแล้ว ไม่ว่าจะเป็นที่ อ.แกลง จ.ระยอง ได้เปิด ปตร.คลองโพล้เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเล ที่ตลาดเจริญสุข อ.เมืองจันทบุรี ได้เปิด ปตร.คลองภักดีรำไพ ในแม่น้ำจันทบุรี เพื่อเร่งให้คลองน้ำใสระบายลงแม่น้ำจันทบุรีได้มากขึ้น เป็นต้น คาดว่า หากไม่มีฝนตกหนักลงมาซ้ำเติมสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติอย่างแน่นอน

จาก https://www.naewna.com วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2564

เปิดตัว “ไดควอต” สารกำจัดวัชพืช น้องใหม่ แทน “พาราควอต”

ตะลึง ประเทศไทย จะมีการนำเข้า “ไดควอต” สารกำจัดวัชพืช น้องใหม่ แทน “พาราควอต” สารดังกล่าวจะเป็นอย่างไร สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย เปิดโปงข้อมูล อย่างตรงไปตรงมา จับตาบริษัท ไหนได้สิทธิ์นำเข้ามาจำหน่าย

ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย  เผยถึง สาระน่ารู้ เรื่อง “ไดควอต”  (Diquat) ซึ่งเป็นสารกำจัดวัชพืชที่กำลังถูกจับตามอง ว่าจะเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย เพื่อเป็นสารทดแทน "พาราควอต" นั้น  ในต่างประเทศ เช่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย บราซิล และจีน ใช้ไดควอต กำจัดวัชพืชน้ำ กำจัดวัชพืชในไม้ยืนต้น/พืขผัก และพ่นก่อนเก็บเกี่ยวพืชหลายชนิด โดยเฉพาะ มันฝรั่ง ทานตะวัน คาโนล่า และพืชตระกูลถั่ว

ในปี 2558  EFSA ของ สหภาพยุโรป (EU) ได้สรุปผลการประเมินความเสี่ยงจากการใช้ไดควอต ในปี 2558 จนเป็นที่มาของการแบนไดควอตใน EU

 เดือนพฤษภาคม 2561  EU มีมติให้ยกเลิกการใช้ไดควอต  ในยุโรป ด้วยเหตุผลว่า ผู้พ่น และ คนที่ยืนใกล้แปลง หรือผู้คนที่อาศัยในละแวกใกล้เคียง มีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากการพ่นไดควอต  มีผลการวิจัยยืนยันว่า แม้แต่ผู้พ่นที่สวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน PPE (Personal Protective Equipment) ก็มีโอกาสได้รับสารไดควอตเข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่เกินค่าความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้งาน (Acceptable Operator Exposure Level  หรือ AOEL ซึ่งมีค่าเท่ากับ 0.0002 mg diquat ion/kg bw/day)

31 กรกฎาคม 2562 เป็นวันสุดท้ายของการอนุญาตให้จำหน่ายไดควอตในยุโรป

 4 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นวันสุดท้ายของการอนุญาตให้ใช้สารไดควอตในยุโรป

 เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังจาก EU มีมติแบนไดควอต ในเดือนพฤษภาคม 2561  แต่ยังมีระยะผ่อนปรน (Grace Period) ให้เกษตรกร ใช้ไดควอตให้หมดภายในเวลาเกือบ  2 ปี  และยังเปิดโอกาสให้ทำงานวิจัยหาวิธีการหรือสารทดแทนไดควอต เพื่อลดผล กระทบต่อเกษตรกร

หลังจากประกาศแบนไดควอต สหภาพยุโรป(EU)  กำหนดค่าตกค้างสูงสุด (MRLs) ในสินค้านำเข้า เช่น พืชตระกูลถั่ว ไว้ที่  0.2 - 0.3  มิลลิกรัม/กิโลกรัม (ppm) ซึ่งต่ำกว่าค่า MRLs ของประเทศแคนาดา 0.9 ppm แต่สูงกว่า MRLs ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา กำหนดไว้เพียง 0.05 ppm สำหรับพืชตระกูลถั่ว

จากมาตรฐานค่า MRLs ของไดควอต ที่แตกต่างกันระหว่าง ยุโรป สหรัฐอเมริกา และ แคนาดาจะเห็นได้ว่า   ค่า MRL ไม่ใช่มาตรฐานความปลอดภัย (Safety standard)  แต่ MRL เป็นมาตรฐานที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อใช้ทางการค้า (Trading standard) เท่านั้น

แต่ละประเทศสามารถกำหนดไว้แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับ ความต้องการที่จะตั้งกำแพงไว้กีดกันทางการค้ามากแค่ไหน ถ้าเกษตรกรเค้าผลิตพืชชนิดไหนอยู่แล้ว เค้าจะตั้งค่า MRLs ไว้ต่ำมากๆ จนประเทศที่จะส่งมาขาย ต้องประสบปัญหาต้นทุนในการผลิตสูง  จึงส่งมาขายแข่งขันได้ยาก  ยกเว้นจะมีการเจรจากันว่าขอเพิ่มค่า MRLs แต่ประเทศคู่ค้า ก็ต้องยอมแลกกับเงื่อนไขที่ประเทศผู้ซื้อต้องการเกษตรกรปลูกมันฝรั่งใน EU ทำอย่างไรยามไร้ไดควอต

ปกติเกษตรกรในยุโรป จะใช้ไดควอตพ่นมันฝรั่งให้ใบร่วงก่อนเก็บเกี่ยว เพื่อป้องกันการเข้าทำลายของโรคไหม้มันฝรั่ง (Late Blight Disease of Potato มีสาเหตุจากเชื้อราไฟท็อปธอร่า Phytopthora infestans) เพื่อไม่ให้เชื้อโรคลุกลามจากใบไปทำความเสียหายกับหัวมันฝรั่งที่อยู่ใต้ดิน

ในปี 2563 เริ่มใช้สารกลุ่มยับยั้งเอนไซม์ PPO  (Protoporphyrinogen Oxidase)  2 ชนิด มาทดแทนไดควอต คือ  คาร์เฟนทราโซน (carfentrazone) และไพราฟลูเฟน-เอทิล (pyraflufen-ethyl) แต่ประสิทธิภาพก็ยังไม่ดีเทียบเท่าไดควอต ดังนั้น เกษตรกรจึงหันมาใช้เแทรกเตอร์พ่วงท้ายอุปกรณ์ ที่เรียกว่า "Flailing" มาตัดต้นมันฝรั่งเพื่อให้ต้นแห้ง แทนการพ่นไดควอต

หรือใช้ร่วมกับสารในกลุ่ม PPO เพื่อเก็บเกี่ยวหัวมันฝรั่ง แต่ปัญหาคือ ไม่สามารถควบคุมให้มันฝรั่งมีขนาดหัวเป็นไปตามความต้องการของตลาดได้ดีเท่าไดควอต และ ในช่วงดินเปียกแฉะแทรกเตอร์ลงไปทำงานไม่ได้

สำหรับคุณสมบัติ วิธีใช้ ความเป็นพิษ และข้อควรระวังในการใช้สารไดควอต มีอะไรบ้าง โปรดติดตามตอนต่อไป

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2564

'สุพัฒนพงษ์'เตรียมประชุม รมว.เศรษฐกิจอาเซียน ดันแก้อุปสรรคการลงทุน

“สุพัฒนพงษ์” เตรียมประชุมร่วม รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน 8 ก.ย. รับรองกรอบการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนอาเซียน 11 ด้าน แก้ปัญหาอุปสรรคการลงทุน เตรียมดันความร่วมมือภูมิภาคให้อาเซียนเป็นซัพพายเชนสำคัญของโลก

รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เปิดเผยว่าที่ประชุม ครม.เมื่อเร็วๆนี้เห็นชอบร่างกรอบการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนอาเซียน (ASEAN Investment Facilitation Framework : AIFF) ตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเสนอ โดยมอบหมายให้รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจและการลงทุนของไทย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนของไทยในการรับรองกรอบ AIFF ในการประชุม รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและคณะมนตรีเขตการลงทุนอาเซียนครั้งที่ 24(ASEAN Economics Ministers-24th ASEAN Investment Area Council Meeting : AEM-24tAA Counail Meeting ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 8 กันยายน ที่จะถึงนี้

โดยกรอบ AIFF ในครั้งนี้ให้ความสำคัญ ในการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนในฐานะเสาหลักสำคัญของการลงทุนที่นำไปสู่การรักษาและการเติบโตของการลงทุนในประเทศ ผ่านการสร้างบรรยากาศการลงทุนที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุนในการจัดตั้ง ดำเนินการ และขยายการลงทุนและธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ภูมิภาคอาเชียนกำลังจะก้าวเข้าสู่สภาพแวดล้อมภายหลังวิกฤติการระบาดของโรคโควิด 19 โดยมุ่งให้อาเซียนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด 19 โดยเน้นที่การลงทุนเพื่อผลักดันให้อาเซียนเป็นฐานการผลิต (ซัพพายเชน) ที่สำคัญของโลก

สำหรับสาระสำคัญในการอำนวยความสะดวกการลงทุน 11 ด้าน ได้แก่ 1.ความโปร่งใสของมาตรการและข้อมูล เช่น การเข้าถึงได้ของมาตรการบังคับใช้ทั่วไปความสะดวก และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในรัฐสมาชิกที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น 2.การปรับปรุงด้านการลงทุน และเร่งรัดขั้นตอนการปฏิบัติและข้อกำหนดต่าง ๆ เช่น มาตรการบังคับใช้ทั่วไปเกี่ยวกับการลงทุนมีการนำไปบังคับใข้อย่างสมเหตุสมผล ตรงตามวัตถุประสงค์ และเป็นธรรมครอบคลุม ขั้นตอนด้านการลงทุนไม่เป็นอุปสรรคต่อความสามารถของผู้ลงทุนในการลงทุน ด้านเอกสารไม่ทำให้เสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายมากเกินความจำเป็น เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

3.การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต เช่น ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อพัฒนากระบวนการรับคำขอด้านการลงทุน การอนุมัติการต่ออายุ และการดูแลหลังการลงทุ น สนับสนุนการใช้สำเนาเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้รับการรับรองอย่างถูกต้องตามกฎหมายภายในประเทศต่าง ๆ ของแต่ละรัฐสมาชิก แทนการใช้เอกสารต้นฉบับ ส่งเสริมทางเลือกในการชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บโดยหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลด้านการลงทุน เป็นต้น

4.แพลตฟอร์มดิจิทัลแบบเบ็ดเสร็จ เช่น สนับสนุนให้ลดข้อกำหนดสำหรับผู้ยื่นคำขอในการประสานติดต่อหน่วยงานที่มีอำนาจเกี่ยวข้องมากกว่าหนึ่งหน่วยงานสำหรับการขออนุญาตลงทุนในเขตแดนของรัฐสมาชิกนั้น 1 สนับสนุนให้มีแพลตฟอร์มดิจิทัลแบบเบ็ดเสร็จสำหรับผู้ลงทุนเพื่อชำระค่าธรรมเนียมและภาษีทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตเข้าไปลงทุน จัดตั้ง ควบรวม และขยายการลงทุน เป็นต้น

5.บริการช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ผู้ลงทุน เช่น การจัดให้มีบริการช่วยเหลือผู้ลงทุนในขอบเขตที่ส่ามารถทำได้เพื่อแก้ไขอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน พิจารณาจัดตั้งกลไกในการให้ข้อเสนอแนะแก่หน่วยงานที่มีอำนาจเพื่อแก้ไขปัญหาที่พบบ่อยซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ลงทุน เป็นต้น

6.ความเป็นอิสระของหน่วยงานที่มีอำนาจ เช่น เมื่อจำเป็นต้องมีการขออนุญาตในการลงทุน หน่วยงานที่มีอำนาจดำเนินการและตัดสินใจอย่างเป็นอิสระจากองค์กรใดๆสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต้องได้รับการขออนุญาตในการลงทุนนั้นได้ เป็นต้น

7.การเข้าเมืองและการพำนักอยู่เป็นการชั่วคราวของนักธุรกิจเพื่อวัตถุประสงค์ในการลงทุนเช่น สนับสนุนให้อำนวยความสะดวกโดยเร่งดำเนินการเกี่ยวกับคำขอเข้าเมืองและการพำนักอยู่ เป็นการชั่วคราวของนักธุรกิจเพื่อวัตถุ ประสงค์ในการลงทุนภายในระยะเวลาอันสมควร เป็นต้น

8.การอำนวยความสะดวกด้านปัจจัยสนับสนุนการลงทุน โดยช่วยเหลือผู้ลงทุนในการบ่งชี้ปัจจัยสนับสนุนการลงทุน เช่น แรงงาน แหล่งเงินทุน ผู้ผลิตภายในประเทศ และโอกาสในการจับคู่ทางธุรกิจ เป็นต้น 9.กลไกการให้คำปรึกษาสำหรับนโยบายการลงทุน

เช่น สนับสนุนให้มีกลไกสำหรับการปรึกษาและสนทนาอย่างสม่ำเสมอกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ให้ความสนใจ โดยรวมถึงผู้ลงทุนและหน่วยงานภาคเอกชน เป็นต้น

10.ความร่วมมือ เช่นอำนวยความสะดวกด้านการติดต่อสื่อสารและร่วมมือกับรัฐสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน เป็นต้น และ 11.การดำเนินการตามกรอบ AIFF ฉบับนี้ และแจ้งให้ที่ประชุมคณะกรรมการฯทราบอย่างสม่ำเสมอ

จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 1 กันยายน 2564