http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล (เดือนกันยายน 2566]

‘ไชยา’รับฟังปัญหา เกษตรกรปลูกอ้อย สนับสนุนทุกด้าน เร่งบริหารจัดการ

นายไชยา พรหมา รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังผู้แทนสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เข้าพบเพื่อหารือประเด็นการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับเกษตรกรชาวไร่อ้อย ว่าได้รับฟังปัญหาเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย และพร้อมสะสางปัญหาและสานต่อโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรทันที

“สิ่งหนึ่งที่กระทรวงเกษตรฯรับผิดชอบคือการดูแลพี่น้องเกษตรกร และในส่วนข้อเสนอของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยที่ขอให้ช่วยดูแลปัญหาด้านเงินชดเชยในการตัดอ้อยสด เพื่อลดปัญหามลภาวะ PM2.5 ซึ่งการสานต่อโครงการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยลดการเผาอ้อย รวมถึงพืชอื่นๆ และจะดูแลเงื่อนไขนี้ให้เกิดความเรียบร้อย นอกจากนี้ยังเห็นควรแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 เนื่องจากผลผลิตจากอ้อยสามารถต่อยอดได้ในระดับอุตสาหกรรม รวมถึงสามารถสร้างงาน สร้างผลตอบแทน กำไร และผลประโยชน์ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยตัวจริง ทั้งนี้ จะขอรับข้อเสนอของเกษตรกร นำไปหารือกับกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์ เพื่อแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยได้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริง” นายไชยา กล่าวและว่า จะช่วยสนับสนุนด้านอื่นๆ อาทิ พันธุ์อ้อยโรคพืช การดูแลพื้นที่ปลูกอ้อยในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) ซึ่งในอนาคตคาดหวังให้สามารถเปลี่ยนที่ดินส.ป.ก.เป็นโฉนดที่ดิน ที่สามารถแปลงเป็นต้นทุนในการทำการเกษตรได้

จาก https://www.naewna.com วันที่ 28 กันยายน 2566

 

ธ.ก.ส.เชื่อมฐานข้อมูลสอน. เติมทุนเสริมสภาพคล่องชาวไร่อ้อย

นายพงษ์พันธ์ จงรักษ์ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาและเชื่อมโยงฐานข้อมูลผลผลิตทางการเกษตร โดยนำฐานข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยและฐานข้อมูลการจำหน่ายอ้อยให้แก่โรงงานน้ำตาล มาดำเนินการตรวจสอบข้อมูลสิทธิ์ในการเข้าร่วมโครงการสินเชื่อและการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย โดยมีเงื่อนไขคือ ต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกอ้อยกับ สอน. และ อยู่ระหว่างการรอคิวรถตัดอ้อย โดยมีการรับรองจากโรงงานน้ำตาลคู่สัญญา มีการวางแผนการลดการเผาอ้อยและสามารถตัดอ้อยสดส่งโรงงานน้ำตาลคู่สัญญาได้อย่างเป็นรูปธรรม

ธ.ก.ส. พร้อมเติมเงินทุนผ่านโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องระยะสั้นภายใต้มาตรการ BCG Modelให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย ผ่านสินเชื่อ BCG Model วงเงินรวม 3.5 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย 1) สินเชื่อเพื่อเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy Credit) 2) สินเชื่อเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy Credit)และ 3) สินเชื่อสีเขียว (Green Credit) เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาตัดอ้อยสดส่งจำหน่ายโรงงานน้ำตาล ทดแทนการเผาอ้อยหลังการเก็บเกี่ยว อันเป็นสาเหตุของปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ที่มีความรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมและการดำเนินชีวิตของประชาชน อัตราดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบัน MRR เท่ากับ 6.975% ต่อปี) และเมื่อเกษตรกรสามารถดำเนินงานตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด จะได้รับการพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เป็น MRR-1 ต่อปี นับแต่วันกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องเกษตรกรและเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนในการประกอบอาชีพต่อไป

นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังพร้อมสนับสนุนองค์ความรู้ในด้านการผลิต การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตให้เหมาะสมในแต่ละสภาพพื้นที่เพาะปลูกอ้อย เช่น การสนับสนุนให้ชาวไร่อ้อย ปรับพื้นที่รองรับรถตัดอ้อย ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานเก็บเกี่ยวอ้อย การส่งเสริมให้ชาวไร่อ้อยที่มีความพร้อมจัดซื้อเครื่องอัดใบอ้อย (Square Balers) ส่งขายให้กับโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ สำหรับนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงเสริมกระบวนการผลิตน้ำตาลและผลิตกระแสไฟฟ้าชีวมวลเพื่อเพิ่มรายได้และรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อย่างยั่งยืนอีกด้วย

จาก https://www.naewna.com วันที่ 27 กันยายน 2566

 

กรมวิชาการเกษตรลุยต่อยอดวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ขยายผลสู่เกษตรกร

การวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาภาคเกษตร และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันสินค้าเกษตรไทยในเวทีโลก โดยกรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานสำคัญที่มีภารกิจด้านการวิจัยและพัฒนาด้านพืช โดยเฉพาะการผลิตพืชพันธุ์ดีที่พร้อมขยายผลต่อยอดผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์สู่เกษตรกรและหน่วยงานภายนอกที่สนใจ

นายสุรกิตติ ศรีกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการผลิตพืช กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า การวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรในทุกภาคของประเทศมาตั้งแต่ปี 2519 วัตถุประสงค์หลักของการปรับปรุงพันธุ์คือ ให้ผลผลิตสูงขึ้น ต้านทานโรคและแมลงศัตรูพืช มีคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาด ช่วยยกระดับรายได้ และคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ปัจจุบันโครงการปรับปรุงพันธุ์พืชและให้การรับรองพันธุ์ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มพืชเศรษฐกิจหลักที่นิยมปลูกกันทั่วประเทศ เช่น ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน กาแฟ อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ถั่วเขียว ถั่วเหลือง เป็นต้น

ทั้งนี้กว่าจะได้พันธุ์พืชใหม่ไปส่งเสริมแนะนำให้เกษตรกรปลูกจะต้องผ่านการพิจารณาตามขั้นตอนการรับรองพันธุ์พืชเป็นพันธุ์รับรอง พันธุ์แนะนำตามระเบียบกรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นระบบที่ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยจะต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณา กลั่นกรอง การตรวจสอบ ลักษณะประจำพันธุ์ ลักษณะดีเด่นทางการเกษตร และข้อมูลทางวิชาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจากคณะกรรมการระดับหน่วยงานในคณะต่าง ๆ และคณะสุดท้ายคือคณะกรรมการปรับปรุงพันธุ์พืชของกรมวิชาการเกษตรจะเป็นผู้อนุมัติเป็นพันธุ์รับรอง โดยการวิจัยและพัฒนาปรับปรุงพันธุ์จะใช้เวลาในแต่ละพันธุ์พืชประมาณ 5-15 ปี (แล้วแต่ชนิดของพืช)

ปัจจุบัน กรมวิชาการเกษตรได้ให้การรับรองพันธุ์พืชไปแล้วจำนวน 280 พันธุ์ โดยในขั้นตอนของการรับรองพันธุ์ และเป็นพันธุ์รับรองของกรมฯ นักปรับปรุงพันธุ์พืชต้องทำโครงการวิจัยขึ้นมา เพื่อให้ได้พันธุ์พืชที่ดี เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม เป็นพันธุ์ที่ตอบสนองต่อตลาดและผู้บริโภค ส่งต่อถึงเกษตรกร

 สำหรับทิศทางงานวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชของกรมวิชาการเกษตรในปีงบประมาณ 2567 นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้กำหนดนโยบายตามแนวทาง “ตลาดนำการวิจัย” โดยมี 5 ทิศทาง คือ 1.วิจัยและพัฒนาสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจ BCG โมเดล 2.วิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชที่เป็นที่ต้องการของตลาด 3.วิจัยเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมกับพื้นที่ และตอบสนองต่อผู้ใช้ 4.วิจัยและพัฒนาตามพระราชบัญญัติที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบทั้ง 6 ฉบับ และ 5.วิจัยและพัฒนาการแก้ปัญหาวิกฤตใหม่ ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คาร์บอนเครดิต โดยวิจัยพืชใหม่ ๆ เช่น แพลนท์เบส (Plant Based) หรือพืชโปรตีนต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันมีโครงการวิจัยทั้งหมด 289 โครงการที่จะดำเนินการในปี 2567-2568

จาก https://www.thansettakij.com ; วันที่ 14 กันยายน 2566

 

“ไชยา พรหมา “ประกาศดูแลเกษตรกรชาวไร่อ้อย

“ไชยา พรหมา “ประกาศดูแลเกษตรกรชาวไร่อ้อย รับจะช่วยเหลือปัญหาด้านเงินชดเชยในการตัดอ้อยสด วอนปลูกอ้อยลดการเผาอ้อย รวมถึงพืชอื่น ๆ

นายไชยา พรหมา รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลัง ผู้แทนสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เข้าพบเพื่อหารือประเด็นการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับเกษตรกรชาวไร่อ้อย ว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ดูแลและเร่งแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำนั้น ในวันนี้ได้รับฟังปัญหาของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย และพร้อมที่สะสางปัญหาและสานต่อโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างทันท่วงที

“สิ่งหนึ่งที่กระทรวงเกษตรฯ รับผิดชอบคือการดูแลพี่น้องเกษตรกร และในส่วนข้อเสนอของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยที่ขอให้กระทรวงเกษตรฯ ช่วยดูแลปัญหาด้านเงินชดเชยในการตัดอ้อยสด เพื่อลดปัญหามลภาวะ PM 2.5 ซึ่งการสานต่อโครงการดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยลดการเผาอ้อย รวมถึงพืชอื่น ๆ และทางกระทรวงเกษตรฯ จะดูแลเงื่อนไขนี้ให้เกิดความเรียบร้อย นอกจากนี้ เห็นควรแก้ไขพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 เนื่องจากผลผลิตจากอ้อยสามารถต่อยอดได้ในระดับอุตสาหกรรม รวมถึงสามารถสร้างงาน สร้างผลตอบแทน กำไร และผลประโยชน์ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยตัวจริง ทั้งนี้ จะขอรับข้อเสนอของเกษตรกรและนำไปหารือกับกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยได้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริงต่อไป”

นอกจากการสานต่อโครงการให้เงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยแล้ว เกษตรกรที่มาในวันนี้ได้ขอให้กระทรวงเกษตรฯ ช่วยสนับสนุนด้านอื่น ๆ  อาทิ พันธุ์อ้อย โรคพืช การดูแลพื้นที่ปลูกอ้อยในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) ซึ่งในอนาคตคาดหวังให้สามารถเปลี่ยนที่ดิน ส.ป.ก. เป็นโฉนดที่ดินที่สามารถแปลงเป็นต้นทุนในการทำการเกษตรได้ต่อไปด้วย

จาก https://www.dailynews.co.th วันที่ 14 กันยายน 2566

 

ชาวไร่อ้อยเล็งเข้าพบ "รมว.เกษตรฯ" หนุนย้ายสังกัดยกระดับการผลิต

เกษตรกรชาวไร่อ้อยดิ้น! เตรียมแนวทางเข้าพบ "ร.อ.ธรรมนัส" รมว.กระทรวงเกษตรฯ หวังนำพืชอ้อยอยู่ในความดูแลแทนกระทรวงอุตสาหกรรมในอนาคต เหตุมีงบประมาณที่จะดูแลและยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรได้ดีกว่า ส่งสัญญาณภัยแล้งฉุดการผลิตสู่ทิศทางขาลง

นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้แทนชาวไร่อ้อยในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยว่า ตัวแทนชาวไร่ทั่วประเทศอยู่ระหว่างหารือที่จะเข้าพบ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อหารือถึงแนวทางการสนับสนุนให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้ย้ายมาอยู่ในความดูแลของกระทรวงเกษตรฯ แทนจากขณะนี้ที่อยู่ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมเนื่องจากมีปัจจัยการสนับสนุนต่างๆ ค่อนข้างมาก สามารถยกระดับผลผลิตอุตสาหกรรมอ้อยให้มีศักยภาพมากขึ้นได้ในระยะยาว

“ชาวไร่อ้อยเองหารือเบื้องต้นแล้วเพราะเห็นว่ากระทรวงเกษตรฯ เองดูแลอุตสาหกรรมต้นน้ำภาคเกษตรโดยตรงอยู่และมีงบประมาณโดยตรงในการพัฒนา และยังมีโครงการเกษตรแปลงใหญ่ที่มีเม็ดเงินช่วยเหลือทั้งระบบที่ดีกว่า มีงบประมาณในเรื่องของการจัดสรรแหล่งน้ำ และอัตราดอกเบี้ยที่ช่วยเหลือเกษตรกรก็ต่ำกว่า เมื่อเทียบกับการอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงอุตสาหกรรม ในแง่ของกฎหมายอาจตราเป็น พ.ร.บ.ฯ ใหม่หรือปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อย ซึ่งยอมรับว่าใช้เวลาแต่หากรัฐเห็นด้วยทุกอย่างก็จะเร็วขึ้น” นายวีระศักดิ์กล่าว

ปัจจุบันไทยและทั่วโลกเผชิญกับปรากฏการณ์เอลนีโญ โดยปีนี้ไทยเจอกับภัยแล้งที่จะมีผลต่อการผลิตอ้อยในฤดูหีบปี 2566/67 ที่จะเปิดหีบในปลายปีนี้ โดยผลผลิตอาจลดต่ำกว่า 70 ล้านตันเมื่อเทียบกับปี 2565/66 ที่ผลผลิตอ้อยอยู่ระดับ 93.88 ล้านตัน และในฤดูถัดไปปี 2567/68 ยังคงมีแนวโน้มเป็นขาลงจากภาวะภัยแล้งที่จะรุนแรงขึ้นตามที่มีการคาดการณ์ไว้ ดังนั้นจึงเป็นแรงกดดันที่สำคัญสำหรับภาคเกษตรของไทยรวมถึงเกษตรกรเพาะปลูกอ้อยที่ผลผลิตเป็นขาลงในช่วงนี้ ประกอบกับชาวไร่บางส่วนยังคงขยายพื้นที่ไปปลูกมันสำปะหลังที่มีราคาสูงและดูแลง่ายกว่าการปลูกอ้อย

“ผลผลิตอ้อยที่ตกต่ำทำให้อินเดียประกาศงดการส่งออกน้ำตาลทรายในช่วง ต.ค.นี้ทำให้ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกได้ปรับตัวสูงขึ้น ก็คงจะต้องติดตามผลผลิตจากบราซิล แต่ของไทยเองชัดเจนว่าจะลดลงต่ำกว่าที่คาดไว้ที่เดิมมองไว้ถึง 80 ล้านตัน ซึ่งราคาน้ำตาลตลาดโลกที่สูงส่งผลให้ราคาอ้อยขั้นต้นปี 66/67 เฉลี่ยจะอยู่ระดับ 1,300 บาทต่อตันที่ความหวาน 10 ซีซีเอส แม้ว่าราคาจะดีแต่ในแง่ของปริมาณที่ลดลงและต้นทุนที่เพิ่มก็ไม่ได้ทำให้ชาวไร่ได้รับประโยชน์ได้เต็มที่นัก” นายวีระศักดิ์กล่าว

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาเงินสนับสนุนการตัดอ้อยสด 120 บาท/ตันของฤดูการผลิตปี 2565/66 ที่สิ้นสุดการปิดหีบแล้วแต่ชาวไร่อ้อยยังไม่ได้รับนั้นหลังจากที่เข้าหารือกับ รมว.อุตสาหกรรมคนใหม่เบื้องต้นได้รับที่จะไปหารือกับนายกรัฐมนตรี ส่วนในฤดูการผลิตปี 2566/67 ทุกฝ่ายคงจะต้องมาหารือในรายละเอียดของการดำเนินการอีกครั้ง

จาก https://mgronline.com วันที่ 12 กันยายน 2566

 

พาณิชย์-อุตฯ จับตาราคาน้ำตาลทราย สกัด‘แพง-ขาดแคลน’

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงกรณีที่ประเทศอินเดียซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลก เตรียมห้ามส่งออกน้ำตาลตั้งแต่เดือนต.ค. 2566 เพื่อสงวนไว้ใช้ในประเทศ หลังจากอินเดียประสบปัญหาภัยแล้ง ว่า ขณะนี้กรมการค้าภายใน ติดตามข่าวและสถานการณ์ราคาน้ำตาลอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำตาลทราย บริโภคภายในประเทศรวมทั้งราคาสินค้าที่ใช้น้ำตาลทราบเป็นวัตถุดิบในการผลิต เบื้องต้นได้ประสานและหารือร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องของภาวะราคาต้นทุนน้ำตาลทราย

ส่วนภาพรวมภาวะราคาสินค้าเกษตรสัปดาห์นี้ สำหรับข้าวเปลือกยังราคาทรงตัวสูงทำให้เกษตรกรได้ประโยชน์ โดยราคาข้าวเปลือหอมมะลิ 15,800 บาท/ตัน ข้าวปทุมธานี 13,700 บาท/ตัน ข้าวเจ้า 12,040 บาท/ตัน เป็นต้น มันสำปะหลังราคาเพิ่มขึ้นจาก 3.34 บาท/ก.ก. เป็น 3.40 บาท/ก.ก. ปาล์มน้ำมัน ราคาทรงตัวที่ 5.50 บาท/ก.ก. เนื้อหมูราคาปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 135-137 บาท/ก.ก. เนื้อไก่ ราคาลดลง เนื้อน่อง อยู่ที่ 80.31 บาท/ก.ก. สะโพก อยู่ที่ 82.13 บาท/ก.ก. ส่วนไข่ไก่ราคาคงที่ เบอร์3 อยู่ที่ 4.31-4.32 บาท /ก.ก.

ด้านร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า หลังจากที่อินเดียประกาศว่าจะห้ามส่งออกน้ำตาล ทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ราคาน้ำตาลในประเทศราคายังไม่เปลี่ยนแปลง ยังอยู่ที่ 24-25 บาท/ก.ก. เนื่องจากไทยเป็นผู้ผลิตน้ำตาลทรายได้เอง รวมทั้งไทยโดยคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม ทำหน้าที่พิจารณากำหนดต้นทุนราคาน้ำตาลทรายเองโดยคิดจากต้นทุนการปลูกอ้อยเป็นสำคัญ

เบื้องต้นได้หารือร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมเกี่ยวกับมาตรการรับมือเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยขณะนี้ ยังไม่มีปัญหาเรื่องราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศปรับเพิ่มขึ้น และปริมาณยังเพียงพอต่อการบริโภค ยังไม่ขาดแคลน โดยขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมจับตาอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับปริมาณการส่งออกน้ำตาลทราย ให้มีความสอดคล้องกับความต้องการบริโภคภายในประเทศด้วย โดยปัจจุบันไทยมีการส่งออกน้ำตาลทรายไปยังต่างประเทศมากกว่าการบริโภคภายในประเทศ

“เราเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำตาลทราย ไม่ใช่ผู้นำเข้าน้ำตาลทราย ดังนั้น เราคงไม่ปล่อยให้น้ำตาลทรายภายในประเทศปรับขึ้นราคาตามตลาดโลกไม่ได้ การจะปรับขึ้นราคาจำหน่ายปลีกจะดูจากต้นทุนการเพาะปลูกอ้อยเป็นหลัก”

ร.ต.จักรา กล่าวถึงภาวะราคาสินค้าอุปโภคบริโภคสัปดาห์นี้ ว่า ปุ๋ยเคมีราคาลดลงทุกชนิดตามความต้องการตลาดโลกที่ลดลง โดยแม่ปุ๋ยยูเรีย ลดลง 48% ฟอสเฟต ลดลง 39% โปแตส ลดลง 21% แต่จะต้องติดตามราคาพลังงานน้ำมันดิบในตลาดโลกอย่างใกล้ชิด เนื่องจากขณะนี้ราคาเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 90 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล รวมทั้งราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นวัตถุดิบของการผลิตปุ๋ย ส่วนยาปราบศัตรูพืชราคาปรับลดลงเช่นกัน เนื่องจากสต๊อกในประเทศผู้ผลิตอย่างจีนและอินเดียล้นตลาด ทำให้ต้องเร่งระบายขายออกในราคาถูก

ส่วนอาหารสัตว์ ราคาทรงตัว เนื่องจากกรมไม่อนุมัติให้มีการปรับขึ้นราคา ขณะที่ข้าวโพดซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญราคามีแนวโน้มอ่อนตัวลง ขณะที่กากถั่วเหลืองในช่วงครึ่งปีแรกราคาลดลง 2 บาท/ก.ก. ล่าสุดอยู่ที่ 20 บาท/ก.ก.

ทั้งนี้ กรมการค้าภายในได้ทำการเชื่อมโยงอาหารกุ้ง ราคาพิเศษจำนวน 3 หมื่นตัน จากโรงงานผลิตไปให้กับผู้เลี้ยง เพื่อลดภาระต้นทุนช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากถึง 24 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ช่วงตั้งแต่ 1 ม.ค.-7 ก.ย. 2566 กรมได้ดำเนินคดีผู้ที่กระทำผิด ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542 รวมทั้งสิ้น 390 ราย

จาก https://www.khaosod.co.th วันที่ 8 กันยายน 2566

 

เอลนีโญ” ถล่ม 5 พืชเกษตรวูบ 2.7 หมื่นล้าน วัดฝีมือแก้รัฐบาลเศรษฐา

ความท้าทายรอวัดฝีมือ รัฐบาลเศรษฐา แก้ “เอลนีโญ” เตรียมถล่ม 5 พืชเกษตรหลักของประเทศไทย ในช่วงครึ่งปีหลัง 2566 สศช. ประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจ วูบ 2.7 หมื่นล้าน พร้อมแนะนำแนวทางรับมือ

“รัฐบาลเศรษฐา” ของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน เจอโจทย์ใหญ่ รอวัดฝีมือตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้นเข้าบริหารประเทศอย่างเป็นทางการแล้ว กับปัญหาความแปรปรวนของสภาพอากาศจากสภาวะอากาศสุดขั้ว จนทำให้เกิดปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” (El Nino) กระทบต่อภาคการเกษตรของไทยตั้งแต่ปีนี้ เรื่อยไปจนถึงปีหน้า 2567

ล่าสุด สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานข้อมูลว่า ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 สภาวะ “เอลนีโญ” จะมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้น จากนั้นในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2567 จะมีกำลังอ่อนตัวลงและกลับมามี สภาวะเอลนีโญรุนแรงต่อเนื่องไปจนถึงเดือนเมษายน 2567

สำหรับประเทศไทยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 นั่นคือเดือนกรกฎาคม -กันยายน 2566 คาดว่า อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วประเทศมีแนวโน้มสูงกว่าค่าปกติ จากระดับปัจจุบันประมาณ 0.5 - 1.0 องศาฯ ขณะที่ปริมาณฝนสะสมทั่วประเทศมีแนวโน้มต่ำกว่าค่าปกติ สอดคล้องกับข้อมูลปริมาณน้ำฝนสะสมในช่วง 7 เดือนของปี 2566 ที่ต่ำกว่าระดับปกติในทุกพื้นที่ โดยต่ำกว่าค่าปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 30 ปีย้อนหลัง 5% ส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนสำหรับฤดูกาลเพาะปลูก 2566/67 มีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับต่ำและอาจจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคการเกษตร ทั้งนี้ ข้อมูลปริมาณน้ำใช้ได้จริงในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำรวมทั่วประเทศ ณ วันที่ 16 สิงหาคม 2566 อยู่ที่ 15,359 ล้านลูกบาศก์เมตร (หรือคิดเป็นสัดส่วน 21.7% ของความจุระดับ น้ำเก็บกักรวม) ต่ำกว่าระดับ 18,973 ล้านลูกบาศก์เมตร ในปี 2565 (สัดส่วน 26.7%) และค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี

แต่ยังคงสูงกว่าระดับน้ำในปี 2562 (สัดส่วน 18.5%) และปี 2558 และปี 2559 (สัดส่วน 15% และ 14.5% ตามลำดับ) ซึ่งถือเป็นปีที่สถานการณ์ภัยแล้งมีความรุนแรงและส่งผลให้การผลิตในภาคเกษตร ในปี 2558 และปี 2559 ปรับตัวลดลง 6.5% และ 1.2% ตามลำดับ เงื่อนไขดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะทำให้การผลิตภาคเกษตร ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ได้รับผลกระทบหากปริมาณฝนในช่วงที่เหลือของปีอยู่ในระดับต่ำ

เมื่อพิจารณาผลกระทบจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ โดยอาศัยข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประเมินแนวโน้มผลผลิตสินค้าเกษตรหมวดพืชผลสำคัญ 5 รายการหลักในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 (กรกฎาคม -ธันวาคม)

โดยเปรียบเทียบกับระหว่างกรณีฐานที่ไม่รวมปัจจัยความแปรปรวนของสภาพอากาศ ที่คาดการณ์ไว้ในเดือนพฤศจิกายน 2565 และกรณีรวมปัจจัยความแปรปรวนของสภาพ อากาศที่คาดการณ์ในเดือนมิถุนายน 2566 พบข้อมูลดังนี้

1.ข้าว

มีสัดส่วน 21.73% ของปริมาณผลผลิตภาคเกษตร คาดว่าจะมีผลผลิตจำนวน 25.50 ล้านตัน ลดลงจากผลผลิตจำนวน 26.79 ล้านตัน ที่คาดไว้เดิมในกรณีฐาน ซึ่งยังไม่รวมปัจจัยความแปรปรวนของสภาพอากาศ คิดเป็นการลดลง 4.8% จาก การคาดการณ์ครั้งก่อน และส่งผลให้มูลค่าข้าวลดลงจากกรณีฐาน 14,241.78 ล้านบาท

2.ยางพารา

มีสัดส่วน 20.23% ของปริมาณผลผลิตภาคเกษตร คาดว่าจะมีผลผลิตจำนวน 3.10 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากผลผลิตจำนวน 3.04 ล้านตันที่คาดไว้ หรือเพิ่มขึ้น 2.1% จากการคาดการณ์ครั้งก่อน ส่งผลให้มูลค่ายางพาราเพิ่มขึ้น 2,274.61 ล้านบาท

3.ปาล์มน้ำมัน

มีสัดส่วน 1.92% ของปริมาณผลผลิตภาคเกษตร คาดว่าจะมีผลผลิตจำนวน 8.03 ล้านตัน ลดลงจากผลผลิตจำนวน 8.82 ล้านตันที่คาดไว้ หรือลดลง 9% จากการคาดการณ์ครั้งก่อน ส่งผลให้มูลค่าปาล์มน้ำมันลดลง 3,803.79 ล้านบาท

4.อ้อย

มีสัดส่วน 3.31% ของปริมาณผลผลิตภาคเกษตร คาดว่าจะมีผลผลิตจำนวน 15.04 ล้านตัน ลดลง 35.7% จากการคาดการณ์ครั้งก่อน ส่งผลให้มูลค่าอ้อยลดลงเป็นจำนวน 10,436.26 ล้านบาท

5.มันสำปะหลัง

มีสัดส่วน 3.29% ของปริมาณผลผลิตภาคเกษตร คาดว่าจะมีผลผลิตจำนวน 8.67 ล้านตัน ลดลง 5.9% จากการคาดการณ์ครั้งก่อน ส่งผลให้มูลค่ามันสำปะหลังลดลงเป็นจำนวน 1,615.58 ล้านบาท

โดยรวมในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 คาดว่า ผลผลิตสินค้าเกษตรหมวดพืชผลสำคัญ 5 รายการหลักจะมีจำนวนรวม 60.33 ล้านตัน ลดลงจากการคาดการณ์ครั้งก่อนจำนวน 10.90 ล้านตัน ทำให้คาดว่ากรณีมีความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศจากเอลนีโญ จะส่งผลให้มูลค่าทางเศรษฐกิจของสินค้าเกษตร 5 รายการหลักมีแนวโน้มลดลงประมาณ 27,822.79 ล้านบาท

ดังนั้น ภายใต้แนวโน้มของการเผชิญสภาวะเอลนีโญในปัจจุบันที่อาจส่งผลกระทบให้เกิดภาวะภัยแล้งในระยะต่อไป ประเทศไทย จึงควรเตรียมความพร้อมโดยการเฝ้าระวัง ติดตาม และประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อการดำเนินมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เพียงพอต่อการผลิต

โดยให้ความสำคัญต่อการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่เพาะปลูก การเพิ่มศักยภาพการกักเก็บน้ำในระดับแปลง และการหาแหล่งน้ำสำรอง ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนชนิดและวิธีการปลูกพืชให้เหมาะกับพื้นที่

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 9 กันยายน 2566

 

ชาวไร่อ้อย พอใจ รมว.อุตสาหกรรมรับ เตรียมนำเรื่องหารือนายกฯ แก้ปัญหาจ่ายเงินค่าตัดอ้อยสด ด้าน พิมพ์ภัทรา ย้ำไม่ผูกพันงบปี 67

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 8 กันยายน นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายนรุณ สุขสมาน รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ประชุมร่วมกับตัวแทนสมาคมเกษตรกรชาวไร่อ้อย 38 แห่งจากทั่วประเทศ เพื่อ ขอรับทราบแนวทางการแก้ปัญหาอ้อยและน้ำตาล ทั้งระบบโดยเฉพาะกรณีเร่งด่วนเรื่อง ความชัดเจนนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม หลังการเปลี่ยนรัฐบาล เกี่ยวกับเงินสนับสนุนการตัดอ้อยสด เพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จำนวน 120 บาทต่อตัน และแนวทางการแก้ปัญหาภาวะภัยแล้งที่อาจส่งผลต่อการขาดแคลนน้ำตาล

โดยมี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีพื้นที่เกษตรกรทำไร่อ้อย อาทิ นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ,นายยศวัฒน์ มาไพศาลสิน สส.กาญจนบุรี พรรคภูมิใจไทยเข้าร่วมรับฟังข้อร้องเรียนด้วย

นายปารเมศ โพธารากุล ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ตัวแทนเกษตรกรชาวไร่อ้อย กล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวไร่อ้อยมักถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายที่ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 จากการเผาไร่อ้อย ทั้งที่จากข้อมูลระบุว่า ฝุ่นขนาดเล็กที่เกิดจากอ้อยไฟไหม้มีอยู่เพียงแค่ไม่ถึง 10% ของฝุ่นที่เกิดขึ้น

ด้านเกษตรกรชาวไร่อ้อย ยืนยันมีความยินดีที่จะช่วยลดปัญหา PM 2.5 โดยเข้าร่วมพันธสัญญาตามนโยบายภาครัฐในการตัดอ้อยสด ที่มีต้นทุนสูง และรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลจำนวน 120 บาทต่อตัน ซึ่งได้ดำเนินการมา 2 ปีแล้ว กระทั่งมาถึงช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างรัฐบาลเดิมสู่รัฐบาลใหม่ ทำให้เงินสนับสนุนดังกล่าวถูกชะลอออกไปจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับเงินดังกล่าว สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั้งประเทศที่ได้ลงทุนจ้างการตัดอ้อยสดไปแล้ว

ขณะเดียวกันกำลังจะถึงฤดูการหีบอ้อยใหม่ ประกอบกับภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ที่อาจจะทำให้เป็นอุปสรรคต่อเกษตรกร เพราะเกษตรกรต้องเตรียมพร้อมรับมือ ต้องใช้เงินทุน เรื่องเครื่องจักร หรือแรงงาน จึงอยากขอความอนุเคราะห์จากกระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการเรื่องเงินสนับสนุน การช่วยเหลือการตัดอ้อยสดจำนวน 120 บาทต่อตันของฤดูกาลที่ผ่านมาให้ถึงมือเกษตรกรภายในเดือนตุลาคม รวมทั้งขอความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายการจ่ายเงินสนับสนุนในรอบปีใหม่ด้วย

ด้าน นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ปัญหาเรื่องอ้อย เป็นปัญหาสำคัญที่ถูกพูดถึงมาโดยตลอดทั้งในรัฐบาล และในสภาผู้แทนราษฎร สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการจ่ายเงินล่าช้า เป็นเพราะติดช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านจึงทำให้เกิดล่าช้า โดยอยากชี้แจงว่าเงินสนับสนุน 120 บาทต่อตัน คือการลงทุนของรัฐ รัฐจึงอยากเห็นว่าการตัดอ้อยสดมากขึ้นจริง จนสามารถลดการเผาอ้อยลงได้ จึงอยากจะให้เกษตรกรสื่อสารออกมาว่าการที่รัฐสนับสนุนนั้น ทำให้ลดการเผาได้ตามเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งหากทำได้ก็เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาในการสนับสนุนต่อไป โดยสำหรับเงินสนับสนุนของรอบปีที่ผ่านมานโยบาย จะต้องใช้งบประมาณราว 8,000 ล้านบาท ที่ต้องขอวงเงินจากรัฐบาลใหม่ โดยงบประมาณดังกล่าวไม่ผูกพันกับงบประมาณใหม่ ปี 2567 ซึ่งหลังทราบตนและทีมทำงานได้นำปัญหาไปปรึกษากับนายกฤษฎา จินะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังแล้ว เพื่อหาแนวทางในการใช้กรอบวงเงิน ก่อนที่จะนำเข้าหารือ กับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีในการประชุม ครม.

อย่างไรก็ตาม อาจจะยังไม่ทันเดือนตุลาคม เนื่องจากมีความล่าช้าของการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล แต่จะพยายามเร่งให้ มีการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เพราะเข้าใจถึงความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยเป็นอย่างดี

 

“ ดิฉันจึงอยากเรียนให้กับทุกท่านทราบว่าหลังทราบปัญหา ทุกฝ่ายไม่ได้เพิกเฉย และได้ร่วมกันหาแนวทางแก้ ไขปัญหาให้ บางช่วงเวลาอาจจะติดกรอบระยะเวลาที่มีอุปสรรค แต่ขอให้มั่นใจในรัฐบาล และ ข้าราชการ กระทรวงอุตสาหกรรม ที่ตั้งใจทำงานเพื่อเกษตรกรชาวไร่อ้อย อย่างจริงใจ" นางสาวพิมพ์ภัทรากล่าว

ทั้งนี้ หลังจากรับฟังคำชี้แจงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เกษตรกรชาวไร่อ้อย แสดงความพอใจพร้อมกล่าวว่า ถือเป็นความชัดเจน หลังจากที่รอคอยคำตอบมานาน และมั่นใจว่า กระทรวงอุตสาหกรรมภายใต้การนำของ นางสาวพิมพ์ ภัทราวิชัยกุล จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาของเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้ ก่อนเดินทางกลับไป

จาก https://www.industry.go.th วันที่ 9 กันยายน 2566

 

รมว.อุตฯถกชาวไร่อ้อยเตรียมหารือนายกฯแก้เงินหนุนตัดอ้อยสด120บ./ตัน

ชาวไร่อ้อยตบเท้าหารือ”รมว.อุตสาหกรรม” หวังให้ช่วยสะสางเงินสนับสนุนตัดอ้อยสด 120 บาทต่อตัน ก.อุตฯย้ำพร้อมผลักดันเข้าหารือนายกฯ เร่งด่วน แต่ยอมรับอาจไม่ทันเดือนต.ค.66 นี้

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 8 กันยายน นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายนรุณ สุขสมาน รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ประชุมร่วมกับตัวแทนสมาคมเกษตรกรชาวไร่อ้อย 38 แห่งจากทั่วประเทศ เพื่อ ขอรับทราบแนวทางการแก้ปัญหาอ้อยและน้ำตาล ทั้งระบบโดยเฉพาะกรณีเร่งด่วนเรื่อง ความชัดเจนนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม หลังการเปลี่ยนรัฐบาล เกี่ยวกับเงินสนับสนุนการตัดอ้อยสด เพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จำนวน 120 บาทต่อตัน และแนวทางการแก้ปัญหาภาวะภัยแล้งที่อาจส่งผลต่อการขาดแคลนน้ำตาล โดยมี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีพื้นที่เกษตรกรทำไร่อ้อย อาทิ นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ,นายยศวัฒน์ มาไพศาลสิน สส.กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทยเข้าร่วมรับฟังข้อร้องเรียนด้วย

นายปารเมศ โพธารากุล ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ตัวแทนเกษตรกรชาวไร่อ้อย กล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวไร่อ้อยมักถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายที่ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 จากการเผาไร่อ้อย ทั้งที่จากข้อมูลระบุว่า ฝุ่นขนาดเล็กที่เกิดจากอ้อยไฟไหม้มีอยู่เพียงแค่ไม่ถึง 10% ของฝุ่นที่เกิดขึ้น โดยชาวไร่อ้อยพร้อมที่จะช่วยลดปัญหา PM 2.5 โดยเข้าร่วมพันธสัญญาตามนโยบายภาครัฐในการตัดอ้อยสด ที่มีต้นทุนสูง และรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลจำนวน 120 บาทต่อตัน ซึ่งได้ดำเนินการมา 2 ปีแล้ว กระทั่งมาถึงช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างรัฐบาลเดิมสู่รัฐบาลใหม่ ทำให้เงินสนับสนุนดังกล่าวถูกชะลอออกไปจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับเงินดังกล่าว สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั้งประเทศที่ได้ลงทุนจ้างการตัดอ้อยสดไปแล้ว

ขณะเดียวกันกำลังจะถึงฤดูการหีบอ้อยใหม่ ประกอบกับภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ที่อาจจะทำให้เป็นอุปสรรคต่อเกษตรกร เพราะเกษตรกรต้องเตรียมพร้อมรับมือ ต้องใช้เงินทุน เรื่องเครื่องจักร หรือแรงงาน จึงอยากขอความอนุเคราะห์จากกระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการเรื่องเงินสนับสนุน การช่วยเหลือการตัดอ้อยสดจำนวน 120 บาทต่อตันของฤดูกาลที่ผ่านมาให้ถึงมือเกษตรกรภายในเดือนตุลาคม รวมทั้งขอความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายการจ่ายเงินสนับสนุนในรอบปีใหม่ด้วย

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรมกล่าวว่า ปัญหาเรื่องอ้อย เป็นปัญหาสำคัญที่ถูกพูดถึงมาโดยตลอดทั้งในรัฐบาล และในสภาผู้แทนราษฎร สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการจ่ายเงินล่าช้า เป็นเพราะติดช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านจึงทำให้เกิดล่าช้า โดยอยากชี้แจงว่าเงินสนับสนุน 120 บาทต่อตัน คือการลงทุนของรัฐ รัฐจึงอยากเห็นว่าการตัดอ้อยสดมากขึ้นจริง จนสามารถลดการเผาอ้อยลงได้ จึงอยากจะให้เกษตรกรสื่อสารออกมาว่าการที่รัฐสนับสนุนนั้น ทำให้ลดการเผาได้ตามเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งหากทำได้ก็เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาในการสนับสนุนต่อไป

สำหรับเงินสนับสนุนของรอบปีที่ผ่านมานโยบาย จะต้องใช้งบประมาณราว 8,000 ล้านบาท ที่ต้องขอวงเงินจากรัฐบาลใหม่ โดยงบประมาณดังกล่าวไม่ผูกพันกับงบประมาณใหม่ ปี 2567 ซึ่งหลังทราบตนและทีมทำงานได้นำปัญหาไปปรึกษากับนายกฤษฎา จินะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังแล้ว เพื่อหาแนวทางในการใช้กรอบวงเงิน ก่อนที่จะนำเข้าหารือ กับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีในการประชุม ครม. อย่างไรก็ตาม อาจจะยังไม่ทันเดือนตุลาคม เนื่องจากมีความล่าช้าของการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล แต่จะพยายามเร่งให้ มีการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เพราะเข้าใจถึงความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยเป็นอย่างดี

“ ดิฉันจึงอยากเรียนให้กับทุกท่านทราบว่าหลังทราบปัญหา ทุกฝ่ายไม่ได้เพิกเฉย และได้ร่วมกันหาแนวทางแก้ ไขปัญหาให้ บางช่วงเวลาอาจจะติดกรอบระยะเวลาที่มีอุปสรรค แต่ขอให้มั่นใจในรัฐบาล และ ข้าราชการ กระทรวงอุตสาหกรรม ที่ตั้งใจทำงานเพื่อเกษตรกรชาวไร่อ้อย อย่างจริงใจ" นางสาวพิมพ์ภัทรากล่าว

จาก https://mgronline.com วันที่ 8 กันยายน 2566

 ชาวไร่อ้อยจ่อพบ "รมว.อุตฯ" คนใหม่เร่งยุติเงินอ้อยสด-รับมือน้ำตาลแพง

ชาวไร่อ้อยเตรียมตบเท้าเข้าพบ "พิมพ์ภัทรา" รมว.อุตสาหกรรมคนใหม่เร็วๆ นี้เร่งสางปมมาตรการสนับสนุนตัดอ้อยสด 120 บาท/ตัน ราคาตลาดโลกพุ่งและภัยแล้งส่อซ้ำเติม "น้ำตาล" ตึงตัวแนะบริหารราคาให้สมดุลส่งสัญญาณปรับขึ้น 3 สมาคม รง.น้ำตาลแนะ ปชช.อย่าตื่น ลั่นมีเพียงพอ ขณะที่ ก.อุตฯ ยันปรับแผนอ้อยไฟไหม้ไม่หนุนแบบเดิม

นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้แทนชาวไร่อ้อยในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ชาวไร่อ้อยอยู่ระหว่างประสานงานที่จะขอเข้าพบกับ น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเร็วๆ นี้ เพื่อแสดงความยินดีและหารือภาพรวมแนวทางการแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบเร่งด่วนโดยเฉพาะประเด็นหลัก การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) จากอ้อยไฟไหม้ด้วยการสนับสนุนวงเงินจากรัฐ 120 บาทต่อตันเพื่อส่งเสริมการตัดอ้อยสด และภาวะภัยแล้งที่อาจซ้ำเติมให้น้ำตาลทรายในประเทศขาดแคลนหากไม่มีการบริหารจัดการที่ดีพอ

ทั้งนี้ รัฐบาลที่ผ่านมาได้ดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดี “ลดฝุ่น PM 2.5” โดยสนับสนุนชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยส่งโรงงานในอัตรา 120 บาท/ตัน มาต่อเนื่องจนฤดูหีบปี 2565/66 ที่ปิดหีบไปเมื่อ 7 เม.ย. 66 รัฐกลับไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ตั้งแต่แรกเริ่มจนเปลี่ยนผ่านมาสู่รัฐบาลใหม่ และล่าสุดกระทรวงอุตสาหกรรมยังมีนโยบายปรับเปลี่ยนมาตรการในเชิงลงโทษมากกว่าสนับสนุน เช่น ชาวไร่ที่ส่งอ้อยไฟไหม้หรือมีสิ่งปนเปื้อนเข้าหีบจะถูกหักจากราคาอ้อยขั้นต้น 90 บาท/ตัน โรงงานที่รับอ้อยดังกล่าวถูกหัก 30 บาท/ตัน และจะสนับสนุนเฉพาะอ้อยสดที่ส่งหีบ 100% เท่านั้น ฯลฯ แม้จะหารือใน กอน.แต่ก็ยังไม่เป็นที่ยุติ

นอกจากนี้ยังจะหารือถึงแนวโน้มราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกล่าสุดที่น้ำตาลทรายขาวตลาดลอนดอน No.5 เมื่อรวมค่าพรีเมียมสูงถึง 760 เหรียญ/ตัน หรือคิดเป็นราว 28 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) เนื่องจากผลกระทบจากการงดส่งออกน้ำตาลของอินเดียที่จะเริ่มใน ต.ค. 66 ขณะที่ราคาน้ำตาลทรายของไทยหน้าโรงงานอยู่ที่ 19-20 บาท/กก. ส่วนขายปลีกเฉลี่ยอยู่ที่ 25-26 บาท/กก. อาจจูงใจให้มีการลักลอบนำน้ำตาลทรายส่งออกไปตามชายแดนประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้นเพราะเพื่อนบ้านมีราคาที่สูงกว่าไทย ซึ่งอาจทำให้น้ำตาลทรายในประเทศขาดแคลนแม้ว่ารัฐจะมีเครื่องมือในเรื่องของการกันสำรองไว้ (Buffer Stock) แล้วก็ตามเพราะฤดูการผลิตปี 2566/67 ยังเผชิญภัยแล้งที่ผลผลิตอ้อยของไทยจะลดต่ำไม่ถึง 70 ล้านตันที่จะมาซ้ำเติมอีกด้วย ดังนั้นรัฐจำเป็นต้องบริหารราคาน้ำตาลทรายในประเทศให้สมดุลกับราคาต่างประเทศ

นายรังสิต เฮียงราช ผู้อำนวยการ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า แม้ราคาน้ำตาลทรายดิบซื้อขายล่วงหน้าอยู่ที่ 22-23 เซ็นต์/ปอนด์ซึ่งถือเป็นราคาสูงจากส่วนหนึ่งเพราะอินเดียงดส่งออก แต่ไทยเจอภัยแล้งฤดูหีบปี 66/67 คาดว่าอ้อยจะเข้าหีบต่ำกว่า 80 ล้านตัน ซึ่งจะทำให้น้ำตาลหายไปอย่างต่ำ 2 ล้านตัน จากปีก่อน 10 ล้านตันและราคาตลาดโลกที่สูงกว่าในไทยจึงต้องติดตามการส่งออกตามแนวชายแดน แต่ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลยืนยันจะบริหารไม่ให้น้ำตาลขาดแคลนขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกจนกักตุนน้ำตาล และขอให้รัฐบริหารราคาน้ำตาลให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงฯ กำลังทบทวนมาตรการแก้ไขการเผาไร่อ้อยเพราะที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าเงินตัดอ้อยสด 120 บาท/ตันไม่ได้แก้ปัญหาได้ อ้อยไฟไหม้ยังคงสูงและกระทบต่อสิทธิของประชาชนกว่า 44 ล้านคน ในการเข้าถึงอากาศไร้ฝุ่นพิษ หรือ PM 2.5 จากการเผาอ้อยในช่วง 6 เดือนของทุกๆ ปีจึงจะสนับนุนแบบใหม่ให้กับชาวไร่ที่มิได้ลักลอบเผาไร่อ้อยของตนเองหรือไร่อ้อยของผู้อื่นตลอดช่วงฤดูการผลิตปี 2565/2566) ให้ได้รับการสนับสนุน ทั้งในรูปแบบที่ให้เป็นตัวเงิน (in cash) แก่ชาวไร่อ้อย และในรูปแบบที่ให้เป็นระบบการบริหารจัดการไร่อ้อยและการตัดอ้อยด้วยเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรม (in kind) ภายใต้วงเงินที่เหมาะสมและไม่เป็นภาระงบประมาณเกินความจำเป็น

จาก https://mgronline.com วันที่ 6 กันยายน 2566

 

ก.อุตฯ กร้าว! คุมเข้มอ้อยไฟไหม้จ่อปรับมาตรการใหม่ลด PM 2.5

ปลัดฯ อุตสาหกรรมห่วงควันพิษ PM 2.5 จากการเผาไร่อ้อย เปิดมาตรการใหม่ in cash & in kind ช่วยเกษตรกรส่วนใหญ่ที่ไม่เผาอ้อย ผ่านการให้เงินช่วยเหลือรูปแบบใหม่ พร้อมสนับสนุนเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมบริหารจัดการไร่อ้อย

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงฯ อยู่ระหว่างการทบทวนมาตรการและกลไกการบูรณาการในการจัดการกับปัญหาการเผาไร่อ้อย ทั้งในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด พร้อมกับการออกแบบมาตรการส่งเสริมรูปแบบใหม่ เพื่อให้ชาวไร่และผู้ตัดอ้อยดำเนินการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการและการเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายให้เป็นไปตามกฎหมาย ไม่กระทบต่อสิทธิของประชาชนกว่า 44 ล้านคน ในการเข้าถึงอากาศไร้ฝุ่นพิษหรือ PM 2.5 จากการเผาอ้อยในช่วง 6 เดือนของทุกๆ ปี

“ได้มีการบูรณาการทำงานโดยขอความร่วมมือให้กระทรวงมหาดไทยทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ถึงความพยายามร่วมกันของรัฐบาล ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่จะแก้ปัญหาฝุ่นพิษจากการเผาอ้อยให้เร็วที่สุด” นายณัฐพลกล่าว

นอกจากนี้ กระทรวงฯ อยู่ระหว่างการเสนอให้มีการกำหนดแนวทางการสนับสนุนส่งเสริมในรูปแบบใหม่ที่ตรงประเด็นและมีประสิทธิภาพอย่างครบวงจร ให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ปฏิบัติตามกฎหมาย (คือ ชาวไร่ที่มิได้ลักลอบเผาไร่อ้อยของตนเองหรือไร่อ้อยของผู้อื่นตลอดช่วงฤดูการผลิตปี 2565/2566) ให้ได้รับการสนับสนุน ทั้งในรูปแบบที่ให้เป็นตัวเงิน (in cash) แก่ชาวไร่อ้อย และในรูปแบบที่ให้เป็นระบบการบริหารจัดการไร่อ้อยและการตัดอ้อยด้วยเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรม (in kind) ภายใต้วงเงินที่เหมาะสมและไม่เป็นภาระงบประมาณเกินความจำเป็น เพื่อให้บรรลุเจตนารมณ์ของรัฐในการจัดการกับปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 อย่างยั่งยืน และมิให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายสร้างปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ต่อพี่น้องประชาชนกว่า 44 ล้านคนต่อไป

ทั้งนี้ การเผาอ้อยเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิด PM 2.5 ที่สำคัญ จากข้อมูลสถิติการลักลอบเผาอ้อย พบว่าฤดูการผลิตปี 2563/2564 มีอ้อยที่ถูกลักลอบเผาสูงถึง 17.61 ล้านตัน จากปริมาณอ้อยเข้าหีบ 66.66 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 26.42 ฤดูการผลิตปี 2564/2565 มีอ้อยที่ถูกลักลอบเผาสูงถึง 25.12 ล้านตัน จากปริมาณอ้อยเข้าหีบ 92.07 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 27.28 และฤดูการผลิตปี 2565/2566 พบว่ามีอ้อยที่ถูกลักลอบเผาสูงถึง 30.78 ล้านตัน จากปริมาณอ้อยเข้าหีบ 93.89 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 32.78 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นพื้นที่ที่เกิดการลักลอบเผาประมาณ 3.08 ล้านไร่

สะท้อนให้เห็นว่า ใน 2 ฤดูกาลผลิตที่ผ่านมา มาตรการสนับสนุนเงินช่วยเหลือในลักษณะการให้เงินแบบเดิมในอัตรา 120 บาทต่อตันอ้อย ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 และมติ ครม. เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 จำนวนเงินรวม 14,384.79 ล้านบาท ควบคู่กับมาตรการป้องปรามของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ยังมีประสิทธิภาพโดยรวมไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาให้อ้อยถูกเผาหมดไปตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลจึงเป็นที่มาให้ต้องปรับมาตรการที่เหมาะสม

จาก https://mgronline.com วันที่ 5 กันยายน 2566

ราคา ‘น้ำตาล’ จ่อพุ่ง! หลังอินเดียห้ามส่งออก

ราคาน้ำตาลในตลาดโลก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังจากอินเดีย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลก เตรียมห้ามส่งออกในฤดูกาลหน้า

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ รณรงค์ พูลพิพัฒน์ ระบุ ราคาน้ำตาลในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังจากอินเดีย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลก เตรียมห้ามส่งออกในฤดูกาลหน้า เพื่อให้มีปริมาณเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ โดยในปีที่ผ่านมา อินเดียส่งออกน้ำตาลรวม 6.1 ล้านตัน

จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 5 กันยายน 2566

พาณิชย์หวั่นราคาน้ำตาลตลาดโลกพุ่ง หลังอินเดียเจอภัยแล้งจ่อห้ามส่งออก

พณ.ออกโรงเตือน แนวโน้มราคาน้ำตาลตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งราคาสินค้าที่ใช้น้ำตาลเป็นส่วนประกอบจะปรับตัวเพิ่มตาม หลังอินเดียผู้ส่งออกรายใหญ่ เตรียมห้ามส่งออกน้ำตาลในฤดูกาลผลิตที่จะเริ่มขึ้นในเดือนตุลาคม 

 นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยวันนี้ (4 ก.ย.) ว่า อินเดีย ซึ่งเป็นหนึ่งใน ผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของโลก และด้วยขนาดประชากรประมาณ 1,400 ล้านคน จึงมีการบริโภคภายในประเทศมากที่สุดในโลก แต่ปีนี้ อินเดียประสบกับ ปัญหาภัยแล้ง จากสภาพภูมิอากาศที่ร้อนจัดในช่วงครึ่งปีแรก ต่อเนื่องด้วยภาวะฝนขาดช่วงในฤดูมรสุม โดยในเขตปลูกอ้อยหลักของอินเดียในรัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) ทางภาคตะวันตก และรัฐกรณาฏกะ (Karnataka)ทางภาคใต้  ซึ่งผลผลิตน้ำตาลของ 2 รัฐรวมกันคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของผลผลิตน้ำตาลทั้งหมดของอินเดีย

ทั้งนี้ จากภาวะปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึง 50% จึงส่งผลทำให้ผลผลิตน้ำตาลของฤดูกาลผลิตปี 2566/67 ลดลงเหลือ 31.7 ล้านตัน หรือลดลง 3.3% และอาจส่งผลต่อการเพาะปลูกในฤดูกาลผลิตปี 2567/68

นายรณรงค์ กล่าวว่า อินเดียมีผลิตน้ำตาลเพื่อการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก และผลิตเอทานอลจากอ้อยส่วนเกิน โดยในช่วงการผลิตปี 2565/66 รัฐบาลอินเดียได้อนุญาตให้ส่งออกน้ำตาล 6.1 ล้านตัน

อย่างไรก็ดี ในเดือน ก.ค. 66 อินเดียประสบสถานการณ์อัตราเงินเฟ้อค้าปลีกพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 15 เดือน อยู่ที่ 7.44% และอัตราเงินเฟ้อด้านอาหารอยู่ที่ 11.5% ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 3 ปี และคาดว่าปริมาณน้ำตาลของอินเดียอาจจะไม่เพียงพอที่จะจัดสรรโควตาการส่งออกสำหรับฤดูกาลหน้า (ซึ่งจะเริ่มขึ้นในเดือนต.ค. 66)

สำหรับประเทศไทย ปีการผลิต 2565/66 ไทยมีปริมาณอ้อยเข้าหีบประมาณ 93.88 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564/65 ที่ 1.97% และมีผลผลิตน้ำตาลปี 2565/66 ประมาณ 11.05 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564/2565 ที่ 8.88% โดยมีปริมาณการส่งออกน้ำตาลในช่วงม.ค.-ก.ค. 66 ประมาณ 5.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 2.4%

อย่างไรก็ตาม การที่อินเดียห้ามส่งออกน้ำตาล ย่อมส่งผลให้อุปทานน้ำตาลโลกลดลง และราคาน้ำตาลโลกปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งราคาสินค้าที่ใช้น้ำตาลเป็นส่วนประกอบ จะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามลำดับ

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 4 กันยายน 2566